Come and See (1985) : Elem Klimov ♠♠♠♠♠
(3/1/2024) เด็กชายวัย 14 ปี มีความกระตือรือล้นอยากอาสาสมัครพลพรรคโซเวียต (Soviet Partisan) ต่อสู้ทหารเยอรมัน (Nazi Germany) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สิ่งที่เขา(และผู้ชม)จักได้พบเห็นนั้นกลับคือนรกบนดิน ความสิ้นหวังของมนุษยชาติ
ระวังสับสนกับสารคดี เอหิปัสสิโก (พ.ศ. ๒๕๖๔) ที่ก็ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Come and See ตีแผ่เบื้องหลังวัดพระธรรมกาย … เอหิปสฺสิโก มีความหมายถึงการชักชวน, เรียกให้มารับชม, ท่านจงดูธรรมนั้นเถิด, ในทางพุทธศาสนาก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ควรบอกกล่าวกับผู้อื่น เชิญชวนให้มาศึกษาเรียนรู้ แล้วนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน
Иди и смотри อ่านว่า Idzi i hliadzi แปลอังกฤษ Come and See คือโคตรภาพยนตร์จากสหภาพโซเวียต ตีแผ่ความโฉดชั่วร้ายของทหารเยอรมัน (Nazi Germany) หลังเข้ายึดครอง Belarusian SSR (ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ปัจจุบันแยกตัวออกมาเป็นประเทศ Belarus) ได้กระทำการ … หลายคนน่าจะพอเดาได้ระดับหนึ่ง แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงสปอย ลองหามารับชมดูก่อน แล้วคุณอาจเข้าใจเหตุผลที่ใครต่อใครให้คำกล่าวขวัญ
No one would ever make the mistake of saying that about Elem Klimov’s “Come and See.” This 1985 film from Russia is one of the most devastating films ever about anything.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie
Elim Klimov’s seriously influential, deeply unsettling Belarusian opus. No film – not Apocalypse Now, not Full Metal Jacket – spells out the dehumanizing impact of conflict more vividly, or ferociously … An impressionist masterpiece and possibly the worst date movie ever.
นักวิจารณ์ Phil de Semlyen จากนิตยสาร Empire
ความยอดเยี่ยมของหนังไม่ใช่แค่ประเด็นต่อต้านสงคราม (Anti-War) นำเสนอภาพเหตุการณ์ที่สร้างความสิ้นหวังให้กับตัวละคร(และผู้ชม) แต่ยังลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ เต็มไปด้วยการถ่ายภาพใบหน้านักแสดงประชิดใกล้ (Close-Up Shot) ผมค่อนข้างรู้สึกว่าผกก. Klimov รับอิทธิพลจากภรรยาผู้ล่วงลับ Larisa Shepitko โดยเฉพาะภาพยนตร์ The Ascent (1977) ระบายความอัดอั้น อารมณ์สิ้นหวัง (จากการสูญเสียเธอคนรัก) และหลังจากนี้เขาจึงไม่หลงเหลือเรี่ยวแรง พละกำลัง กาย-ใจ ครุ่นคิดทำอะไรได้อีก … Come and See (1985) คือผลงานเรื่องสุดท้ายของผกก. Klimov
Elem Germanovich Klimov, Элем Германович Климов (1933-2003) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Stalingrad ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (Battle of Stalingrad) มารดาพาลูกๆแหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Volga หลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ! โตขึ้นเข้าศึกษาการกำกับภาพยนตร์ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Efim Dzigan ระหว่างนั้นได้พบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงานกับเพื่อนร่วมรุ่น Larisa Shepitko
หลังเรียนจบสรรค์สร้างภาพยนตร์(ขนาดยาว)เรื่องแรก Welcome, or No Trespassing (1964) แต่ถูกแบนห้ามฉาย! Adventures of a Dentist (1965) โดนกองเซนเซอร์จำกัดรอบไม่กี่สิบโรงหนัง, Agony (1975) ก็ไม่รอดพ้นการแบน แต่ภายหลังสามารถนำออกฉายในยุโรปตะวันตก ค.ศ. 1981, เลยต้องผันตัวมาสรรค์สร้างสารคดี Sport, sport, sport (1970), And Still I Believe… (1974)
ช่วงปี ค.ศ. 1977, ผกก. Klimov มีความสนอกสนใจหนังสือสองเล่มของนักเขียน Ales Adamovich ชื่อจริง Aleksandr Mikhailovich Adamovich, Аляксандр Міхайлавіч Адамовіч (1927-94) สัญชาติ Belarusian
- นวนิยาย Хатынская аповесць (1972) แปลว่า The Khatyn Story
- จดบันทึก (Memoir) Я з вогненнай вёскі (1977) แปลว่า I am from the Fiery Village
เมื่อมีโอกาสพบเจอ พูดคุยกับ Adamovich ถึงรับรู้ว่าสิ่งที่เขียนนำจากประสบการณ์ส่วนตัว อัตชีวประวัติ! เคยพบเห็น พานผ่าน เอาตัวรอดจากเหตุการณ์หายนะเหล่านั้น จึงชักชวนมาร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์ โดยตั้งชื่อ Working Title ไว้ก่อนว่า Kill Hitler!
I had been reading and rereading the book I Am from the Fiery Village, which consisted of the first-hand accounts of people who miraculously survived the horrors of the fascist genocide in Belorussia. Many of them were still alive then, and Belorussians managed to record some of their memories onto film…
And then I thought: the world doesn’t know about Khatyn! They know about Katyn, about the massacre of the Polish officers there. But they don’t know about Belorussia. Even though more than 600 villages were burned there!
And I decided to make a film about this tragedy. I perfectly understood that the film would end up a harsh one… The events with the people, the peasants, actually happened as shown in the film. [It] doesn’t have any professional actors. Even the language spoken in the film is Belarusian. What was important was that all the events depicted in the film really did happen in Belarus.
I understood that this would be a very brutal film and that it was unlikely that people would be able to watch it. I told this to my screenplay co-author, the writer Ales Adamovich. But he replied: “Let them not watch it, then. This is something we must leave after us. As evidence of war, and as a plea for peace.
Elem Klimov
แน่นอนว่าเมื่อยื่นบทหนังให้กับกองเซนเซอร์ Goskino (State Committee for Cinematography) ย่อมถูกบอกปัดปฏิเสธ โดยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “too realistic”, “aesthetics of dirtiness” และ “naturalism” อธิบายง่ายๆก็คือ เรื่องราวมีความสมจริงเกินไป???
การเสียชีวิตของภรรยา Larisa Shepitko เมื่อปี ค.ศ. 1979 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ชีวิตของผกก. Klimov แทบหยุดอยู่นิ่ง สูญสิ้นความกระตือรือล้น ดื่มสุราหัวราน้ำ ก่อนตัดสินใจสรรค์สร้างสารคดีขนาดสั้น Larisa (1980) และสานต่อโปรเจคสุดท้ายของเธอ Farewell (1983)
ทศวรรษ 80s คือช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองของสหภาพโซเวียตเริ่มสั่นคลอน ใกล้ถึงกาลล่มสลาย ผกก. Klimov เล็งเห็นโอกาสดังกล่าวจึงยื่นขออนุมัติโปรเจคจาก Mosfilm โดยไม่ผ่านกองเซนเซอร์ Goskino แล้วร่วมทุนสร้างกับ Belarusfilm บทหนังพัฒนาเสร็จนานแล้วจึงสามารถเริ่มต้น Pre-Production ได้โดยทันที!
สำหรับชื่อหนัง Иди и смотри, Come and See นำจากหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) เล่มที่ 27 หรือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ ได้ยินกล่าวชักชวนให้เฝ้าดูการทำลายล้างจากฝีมือของ Four Horsemen of the Apocalypse ในวันสิ้นโลกาวินาศ
And when he had opened the fourth seal, I heard the voice of the fourth beast say, “Come and see!” And I looked, and behold a pale horse: and his name that sat on him was Death, and Hell followed with him. And power was given unto them over the fourth part of the earth, to kill with sword, and with hunger, and with death, and with the beasts of the earth.
Revelation 6:7-8
พื้นหลัง ค.ศ. 1943 ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน Belarusian ขณะนั้นถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมัน (Nazi Germany), นำเสนอเรื่องราวของเด็กชาย Flyora (รับบทโดย Aleksei Kravchenko) อายุประมาณ 14 ปี มีความกระตือรือล้นอยากเข้าร่วมพลพรรคโซเวียต (Soviet Partisan) ต่อสู้กับทหารเยอรมัน แต่ยังไม่ทันเริ่มต้นก็ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้รอคอย(ทอดทิ้ง)อยู่ในฐานบัญชาการ เลยเอาเวลาไปเกี้ยวพาราสีนางพยาบาลสาว Glasha (รับบทโดย Olga Mironova)
ระหว่างที่ Flyora นำพา Glasha แวะเวียนมาที่บ้าน พบเห็นจานอาหารยังอุ่นๆแต่กลับไม่พบเจอใคร ครุ่นคิดว่ามารดาและน้องๆคงหลบหนีไปอยู่เกาะ (แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่) บุกฝ่าโคลนตน จนพบบรรดาผู้หลบลี้หนีภัย (แต่ไม่เจอมารดาและน้องๆ) จึงเข้าร่วมภารกิจติดตามหาเสบียงกรัง แต่สิ่งที่เขากำลังจะได้พบเจอนั้นคือนรกบนดิน ความสิ้นหวังของมนุษยชาติ
ในส่วนของนักแสดงผกก. Klimov ทั้งหมดล้วนคือชาวบ้านชาวช่อง ไม่ก็อดีตพลพรรคโซเวียต จากละแวกที่เดินทางไปถ่ายทำยัง Belarusian SSR (หนังทั้งเรื่องใช้การพากย์ทับภาษา Belarusian) พวกเขาหลายคนเคยพานผ่านประสบการณ์เลวร้ายดังกล่าว ยินดีให้ความร่วมมืออย่างถึงที่สุด! แต่สิ่งท้าท้ายยิ่งกว่าคือการค้นหานักแสดงนำ และยังต้องเตรียมการรับมือเพื่อไม่ให้เด็กชายกลายเป็นคนเสียสติแตก
I perfectly understood that the film would end up a harsh one. I decided that the central role of the village lad Flyora would not be played by a professional actor, who upon immersion into a difficult role could have protected himself psychologically with his accumulated acting experience, technique and skill. I wanted to find a simple boy fourteen years of age. We had to prepare him for the most difficult experiences, then capture them on film. And at the same time, we had to protect him from the stresses so that he wasn’t left in the loony bin after filming was over, but was returned to his mother alive and healthy.
Elem Klimov
Aleksei Yevgenyevich Kravchenko, Алексе́й Евге́ньевич Кра́вченко (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow ครอบครัวหย่าร้างตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่กับมารดา ชื่นชอบการเล่นกีตาร์ หลงใหลสไตล์ดนตรีแจ๊ส หลังเรียนจบมัธยมต้น เข้าทำงานในโรงโม่เพราะไม่ต้องการให้มารดาต้องแบกภาระรับผิดชอบตนเอง จนกระทั่งอายุ 13-14 ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ Come and See (1985)
รับบท Florian Gaishun ชื่อเล่น Flyora เด็กชายมีความกระตือรือล้นอยากอาสาสมัครพลพรรคโซเวียต แต่เพราะอายุยังน้อยเลยถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้รอคอย(ทอดทิ้ง)อยู่ในฐานบัญชาการ แต่ไม่นานก็ได้พบเห็นเหตุการณ์หายนะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ถูกทหารเยอรมันล้อมจับ ผลักดันเข้าไปในโบสถ์โรงนา โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดออกมา ถึงอย่างนั้นก็มิอาจลบเลือนภาพพบเห็น ติดตา ฝังใจ ทำอย่างไรก็ไม่ลบเลือนหาย
การถ่ายทำของหนังเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก ใช้เวลาโปรดักชั่นนานถึง 9 เดือน ซึ่งระหว่างนั้น Kravchenko ยังต้องควบคุมอาหาร ทานให้น้อย จนร่างกายผ่ายผอม ซีดเซียว ผิวหนังแห้งเหี่ยว ส่วนผมขาวเกิดจากการย้อมสี (ให้เหมือนคนอายุ 70 ปี) ไม่ใช่เครียดหนักจนผมหงอก … เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สะท้อนสภาพจิตใจตัวละครได้อย่างทรงพลังมากๆ
ผกก. Klimov ว่าจ้างนักจิตวิทยาให้ติดตามประกบ Kravchenko เพราะหวาดกลัวว่าเนื้อหาของหนังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทีแรกครุ่นคิดจะทำการสะกดจิตแต่เห็นว่าล้มเหลว เลยปรับเปลี่ยนวิธีการมาฝึกสมาธิ สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย (เทคนิคชื่อว่า Autogenic Training) ทำให้สามารถแสดงปฏิกิริยาอารมณ์ที่รุนแรงออกมาได้อย่างสมจริง และดูเป็นธรรมชาติมากๆ
[Kravchenko’s acting] could have had a very sad ending. He could have landed in an insane asylum. I realized I had to inject him with content which he did not possess. This is an age when a boy does not know what true hatred is, what true love is. In the end, Mr. Kravchenko was able to concentrate so intensely that it seemed as if he had hypnotized himself for the role.
เกร็ด: ค่าจ้างของ Aleksei Kravchenko ได้รับเพียง 3,200 รูเบิล เทียบค่าเงินปีนั้นประมาณ 192 ดอลลาร์
หลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Kravchenko ตัดสินใจหวนกลับไปเรียนต่อ ตามด้วยอาสาสมัครทหารเรือสามปี แล้วฝึกฝนการแสดงยัง Boris Shchukin Theatre Institute เป็นลูกศิษย์ของ Alla Kazanskaya มีผลงานละคอนเวที ภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ และได้รับเลือกศิลปินแห่งชาติ ค.ศ. 2020
ถ่ายภาพโดย Aleksei Borisovich Rodionov, Алексей Борисович Родионов (เกิดปี 1947) ตากล้องสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เริ่มจากทำงานผู้ควบคุมกล้อง ออกแบบโปรดักชั่น ไต่เต้าจนได้รับเครดิตช่างภาพ Farewell (1983), Come and See (1985), Orlando (1992), Admiral (2008) ฯ
งานภาพของหนังมีส่วนผสมของ Realism, Hyperrealism และ Surrealism นำเสนอภาพเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นจริง ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยนักแสดงสมัครเล่น/ชาวบ้านละแวกนั้น เพียงแสงสีจากธรรมชาติ (Naturalistic Color) ถ่ายทำด้วยกล้อง Steadicam เคลื่อนติดตามตัวละคร รู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่ในความฝันร้าย สั่นๆสะท้านทรวงใน
ผมไม่ค่อยแน่ใจสไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Klimov (จะว่าไปก็ไม่เคยรับชมผลงานเรื่องอื่นของพี่แกเลยนะ) แต่ความที่อะไรหลายๆอย่างของ Come and See (1985) ละม้ายคล้ายคลึง The Ascent (1977) ทั้งเรื่องราว สถานที่พื้นหลัง และโดยเฉพาะการถ่ายภาพใบหน้าตัวละครระยะประชิดใกล้ (Close-Up) ทำให้ผู้ชมพบเห็นปฏิกิริยาอารมณ์ ดีใจ-เศร้าโศก เจ็บปวด-สิ้นหวัง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ “ใบหน้า/ดวงตา เปรียบดั่งหน้าต่างของจิตวิญญาณ” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายที่บังเกิดขึ้น สะท้อนสภาพจิตใจตัวละครได้อย่างทรงพลังมากๆ
จริงๆแล้วผกก. Klimov พยายามปรับปรุงการเทคนิคถ่ายภาพใบหน้าตัวละครระยะประชิดใกล้ ให้แตกต่างจากผลงานของภรรยา Larisa Shepitko เน้นจัดวางองค์ประกอบให้อยู่กึ่งกลาง มีความสมมาตร และนักแสดงมักสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ทำเหมือนคอยจับจ้อง/สื่อสารกับผู้ชม
หนังใช้เวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 9 เดือน! ที่ล่าช้าอาจเพราะเลือกสถานที่ถ่ายทำยัง Belarusian SSR มีความทุรกันดารห่างไกล เส้นทาง การขนส่งสมัยนั้นยังยุ่งยากลำบาก แถมฉากส่วนใหญ่อยู่ในป่า หนองบึง ละแวกไม่ห่างไกลจาก Khatyn และ Fiery Village (สถานที่พื้นหลังจากผลงานของนักเขียน Ales Adamovich)
หนังเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพใบหน้าระยะใกล้ (Close-Up) ชายสูงวัยกำลังพร่ำบ่น ตำหนิต่อว่าเด็กๆที่หลบซ่อนตัว แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น กลับขุดคุ้ยหากระบอกปืน เร่งรีบร้อน อยากตายกันนักหรืออย่างไร?
Flyora เด็กชายอายุ 14 อยู่ในช่วงวัยกำลังอยากรู้อยากเห็น อยากลองอยากเป็น พบเห็นบิดาออกไปสู้รบสงคราม ก็ครุ่นคิดอยากเลียนแบบทำตาม (เป็นการเรียกร้องความสนใจรูปแบบหนึ่ง), ขณะเดียวกันการขุดหาสมบัติ กระบอกปืน นี่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของพวกเขา ครุ่นคิดว่าสงครามไม่แตกต่างจากเกมการละเล่นสนุกสนาน สวมบทบาททหาร/อาสาสมัครพลพรรคโซเวียต เข่นฆ่าศัตรูเพื่อให้ได้รับชัยชนะ ถือเป็นความยิ่งใหญ่ ภาคภูมิใจ ไม่รับรู้เดียงสาถึงโศกนาฎกรรม ความตาย พฤติกรรมโฉดชั่วร้ายของมนุษย์
มุมกล้องพยายามจับจ้องปฏิกิริยา สีหน้าของมารดา แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องการให้บุตรชายอาสาสมัครพลพรรคโซเวียต พยายามพูดโน้มน้าวให้ครุ่นคิดถึงตนเอง หัวอกมารดา น้องๆ และบิดาที่ไม่รู้เป็นตายร้ายดี นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำไมต้องเสียสละตนเอง เช่นนั้นแล้วเข่นฆ่ากันให้ตายเสียยังดีกว่า … ฟากฝั่งของ Flyora สังเกตว่านั่งหลบมุม ปกคลุมอยู่ในความมืดมิดแทบตลอดเวลา
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาไฟล์ภาพเคลื่อนไหว GIF ลองไปสังเกตในหนังเอาเองก็แล้วกัน ภาพช็อตนี้แทนมุมมองกล้องถ่ายภาพนิ่ง แต่มีการใช้เทคนิค Dolly Zoom (หรือ Vertigo Shot, Jaws Effect ฯ) ให้กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง พร้อมๆกับการซูมเข้าหา (Zoom In) โดยปกติมักทำกันเร็วๆ แต่ภาพยนตร์เรื่องต้องการสร้างสัมผัสการถ่ายภาพนิ่ง ก็เลยขยับเคลื่อนและซูมอย่างช้าๆ (ยังเพื่อให้พอดิบพอดีกับท่อนเพลงมาร์ช The Sacred War)
ด้วยความที่อายุน้อยสุดในกลุ่ม Flyora จึงโดนใช้งานไม่ต่างจากเบ๊ คนใช้รับ ยืนเฝ้ายามกลางคืน ขัดอ่างอาบน้ำ พอจะออกปฏิบัติภารกิจ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้สลับรองเท้ากับชายอีกคน และตนเองถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ในมุมของเด็กชายย่อมรู้สึกไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่ เหมือนโดนดูถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับความสนใจ
มันคงคือธรรมเนียมของหนังสงคราม เพื่อไม่ให้ผู้ชมรู้สึกตึงเครียดจนเกินไป นางพยาบาลจึงต้องสวยสาว เป็นที่หมายปองของใครต่อใคร (รวมถึงพระเอก) ซึ่งช่วงเวลาโรแมนติกเล็กๆที่ Flyora อยู่เคียงข้าง Glasha ผ่านร้อนผ่านฝน ผ่านประสบการณ์เฉียดตาย (แล้วแต่ผู้ชมจะจินตนาการว่าทั้งสองได้ร่วมรักกันหรือเปล่า) ผมครุ่นคิดว่าผกก. Klimov ต้องการรำพันถึงภรรยาผู้ล่วงลับ Larisa Shepitko
แซว: เราสามารถตีความรักครั้งแรก/การเสียความบริสุทธิ์ (ทางร่างกาย) = Loss of Innocence (ทางจิตใจ)
ไม่ใช่แค่ภาพแต่ยังรวมถึงการใช้เสียงที่มีความโคตรๆสมจริง! ระเบิดถูกทิ้งลงมาระยะประชิดใกล้ ทำให้ Flyora เกิดอาการอื้ออึง หูดับ ไม่ได้ยินอะไรนอกจากเสียงหวีดแหลม แสบแก้วหู จนต้องยกมือปิดหูทั้งสองข้าง ผู้ชมก็เฉกเช่นเดียวกัน! นี่ต้องชื่นชมการออกแบบเสียง และผสมเสียง ทำออกมาได้อย่างสมจริงมากๆ ผมไม่แน่ใจเครดิตขึ้นแค่ Sound Engineer โดย Viktor Mors
Flyora ชักชวน Glasha แวะเวียนมาที่บ้าน แต่กลับไม่พบเจอใคร ซุปยังอุ่นๆ แล้วจู่ๆเขาได้ยินเสียงหวีดแหลม (คล้ายๆฉากถูกทิ้งระเบิดก่อนหน้า) ยืนขึ้นเอามือปิดหู ทำให้ใบหน้าปกคลุมอยู่ในความมืดมิด วิ่งออกมาภายนอก จับจ้องนกยื่นอยู่บนบ่อน้ำ แล้วยื่นหน้าเข้าไปพบเห็นภาพสะท้อน … ใครเคยรับชม Ivan’s Childhood (1962) น่าจะมักคุ้นกับช็อตคล้ายๆกันนี้ ซึ่งเป็นการบอกใบ้ถึงหายนะ ความตาย ฝันร้าย
นี่เป็นซีนเล็กๆแฝงความหมายลึกล้ำ นั่นเพราะโดยปกติแล้วหนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง(สายตา)ของ Flyora แต่สังเกตว่าวินาทีนี้เขาไม่เคยหันกลับไปมองด้านหลัง มีเพียง Glasha (และผู้ชม)พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ซึ่งการที่หนังตัดไปภาพช็อตนั้น นักวิจารณ์ Roger Ebert แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ “All he sees is horror, and all he doesn’t see is horror, too.”
หลายคนอาจพยายามตีความซีเควนซ์นี้ในเชิงสัญลักษณ์ บลา บลา บลา แต่เห็นว่านำจากประสบการณ์ตรงของผกก. Klimov เมื่อครั้นวัยเด็ก มารดานำพาลูกๆหลบหนีจากสงครามโลกครั้งที่สอง (Battle of Stalingrad) แหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Volga ด้วยความเหน็ดเหนื่อย หนักหนา สาหัสสากรรจ์
แม้ว่าซีนก่อนหน้านี้ Flyora จะไม่ได้หันหลังกลับไปมอง พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ! แต่การบุกฝ่าโคลนเลนของเขา (และ Glasha) สามารถเทียบแทน ‘Psychological Strain’ เหมือนมีบางสิ่งอย่างพยายามฉุดเหนี่ยวรั้ง สร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า(ทั้งร่างกาย-จิตใจ) ต้องใช้เรี่ยวแรง พละกำลังอย่างมากๆ เพื่อให้ก้าวดำเนินต่อไปข้างหน้า
แซว: ท่าทางแหวกว่ายผ่านโคลนเลย มันดูเหมือนการฉีกคร่าพรหมจรรย์(ของสาวบริสุทธิ์) นี่ก็อาจตีความถึง ‘loss of innocence’ ได้ด้วยกระมัง
หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าชายคนนี้คือใคร เพราะสภาพไหม้เกรียม ถูกเผาทั้งเป็น? เขาคือชายสูงวัยที่ปรากฎตัวตั้งแต่ภาพแรกของหนัง เคยพยายามพูดเตือนสติ Flyora ไม่ให้ขุดคุ้ยปืนริมชายหาด อาจทำให้เครื่องบินสอดแนมสังเกตเห็น แล้วส่งทหารเข้ามายังหมู่บ้านละแวกนี้ (อันนี้ผมคาดเดาขึ้นเองนะครับ)
วินาทีที่ Flyora ตระหนักว่าหายนะบังเกิดขึ้นอาจเพราะตัวตนเอง เขาตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง อับอายขายหน้า เอาศีรษะมุดแผ่นดินหนี ก่อนที่ Glasha จะฉุดดึงกลับขึ้นมา พาไปอาบน้ำอาบท่า ตัดแต่งทรงผมเสียใหม่ เหน็บใส่โครงกระดูก Adolf Hitler แทนสัญลักษณ์ให้คนเก่าตายจากไป แล้วตนเองได้ถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่ … ผมมองคล้ายๆการทำขวัญ เรียกจิตวิญญาณให้หวนกลับมา
หลังได้ถือกำเนิด เกิดใหม่ Flyora ตัดสินใจร่วมภารกิจติดตามหาเสบียงกรัง (ใครเคยรับชม The Ascent (1977) น่าจะมักคุ้นเรื่องราวในส่วนนี้เป็นอย่างดี) ยามพลบค่ำสามารถปล้นวัวตัวหนึ่ง แต่ไม่ทันไรกลับถูกกราดยิง เห็นว่าเลือกใช้กระสุนจริง เพราะต้องการให้ถูกเจ้าวัวล้มลงเสียชีวิต … แต่กระสุนปืนก็เฉียดศีรษะนักแสดงเพียงไม่ถึงสิบเซนติเมตร!
แซว: ผมรับชมภาพยนตร์รัสเซียมาหลายเรื่อง พบเห็นฉากฆ่าสัตว์ต่อหน้ากล้องอยู่หลายครั้ง จุดประสงค์เพื่อนำเสนอความเหี้ยมโหดร้ายของมนุษย์ แต่พวกเขาไม่วุ่นๆวายๆเหมือนพวกอเมริกัน องค์กรคุ้มครองสัตว์ เพราะเรื่องพรรค์นี้ถือว่าธรรมดาสามัญ
ผมไม่ค่อยอยากสปอยซีเควนซ์นั้นมากนัก เลยกระโดดข้ามมาวินาทีนี้ที่ใครต่อใคร (รวมถึงผมเอง) คาดคิดว่า Flyora คงไม่น่าจะเอาตัวรอดได้แน่ แต่หลังจากเงามืด/ควันดำเคลื่อนพานผ่าน ถ่ายรูปเสร็จสรรพ ทหารเยอรมันเหล่านี้ก็ร่ำลาจากไป ปล่อยให้เด็กชายตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก … หลอกให้อยากแล้วจากไป
วินาทีที่ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร ทหารเยอรมันถูกลอบโจมตีจนย่อยยับ! เริ่มต้นด้วยกล้องถ่ายมุมเงยพบเห็นต้นเบิร์ช (Birch) สัญลักษณ์ของรัสเซีย/สหภาพโซเวียต (แทนความยิ่งใหญ่ ไม่มีวันสั่นคลอน) เด็กชายเดินเข้ามาหน้ากล้อง ก้มลงมองภาคพื้น ใบไม้แห้งเหี่ยว (ความตาย) กล้องค่อยๆเงยขึ้น (Tilt Up) พบเห็นหายนะ ความพ่ายแพ้ของทหารเยอรมัน
ตอนรับชมผมไม่ทันสังเกตเห็นภาพแรกมีการใช้เลนส์ Split Diopters แบ่งครึ่งบนล่าง ระยะไกล-ใกล้มีความคมชัด (บริเวณกึ่งกลางภาพจะเบลอๆ) แสดงถึงความแปลกแยก แตกต่าง เหมือนว่า Flyora หมดความสนใจในการสู้รบสงครามชั่วขณะ หันหลังมาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังเดินเข้ามา (ไม่น่าจะใช่ Glasha) เลือดไหลระหว่างขา ก่อนหน้านี้เธอถูกรุมข่มขืน (Gang Rape) เลยตกอยู่ในอาการไม่รู้ตัวชั่วขณะ (Dissociative Fugue หรือ Fugue State) … ในบริบทนี้สามารถสื่อว่า Flyora ก็มีอาการไม่รู้ตัวชั่วขณะเฉกเช่นเดียวกัน
ครั้งหนึ่งหลังฉายหนัง ผกก. Klimov มีการพูดคุยตอบคำถามกับผู้ชม แล้วชายสูงวัยคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นชาวเยอรมัน เคยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ลุกขึ้นกล่าวสารภาพความจริง …
I was a soldier of the Wehrmacht; moreover, an officer of the Wehrmacht. I traveled through all of Poland and Belarus, finally reaching Ukraine. I will testify: everything that is told in this film is the truth. And the most frightening and shameful thing for me is that this film will be seen by my children and grandchildren.
ภายหลังการชำระแค้นทหารเยอรมัน ระหว่างเตรียมออกเดินทางไปต่อ Flyora กลับหยุดยืนอยู่บริเวณใต้สะพานข้าม ภาพแรกใช้เลนส์ Split Diopters แบ่งออกเป็นซ้าย-ขวา ใบหน้าเด็กชายระยะใกล้ vs. เพื่อนกำลังเดินจากไป (เพื่อนคนที่ร่วมขุดหากระบอกปืน) นี่แสดงให้ถึงความแปลกแยก แตกต่าง นัยยะเดียวกับซีนก่อนหน้า แสดงถึงการหมดความสนใจในสงครามชั่วขณะ (ยืนหันหลังให้กับเพื่อน)
นั่นเพราะ Flyora พบเห็นรูปภาพ Adolf Hitler จึงบังเกิดความเคียดแค้น คลุ้มคลั่ง กราดยิงปืนใส่ พร้อมตัดสลับกับ Archive Footage (ส่วนใหญ่นำจากภาพยนตร์ชวนเชื่อ Triumph of the Will (1935)) ภาพการสู้รบ สงคราม และ Adolf Hitler ในลักษณะพลิกกลับซ้าย-ขวา (Flip Image) และเล่นถอยหลัง (Playback) ราวกับต้องการลืมเลือนอดีต ลบล้างความทรงจำ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ใครไหนสามารถกระทำได้
อาการคลุ้มคลั่งของ Flyora ยุติลงเมื่อปรากฎภาพของ Klara Hitler กำลังโอบอุ้มบุตรชาย Adolf Hitler นั่นคงทำให้เขาหวนระลึกถึงมารดาตนเอง จึงตัดสินใจหยุดยิง สติสตางค์หวนกลับคืนมาอีกครั้ง … แต่ภาพถ่ายนี้ไม่มีอยู่จริง! เห็นว่าเป็นการตัดต่อระหว่างสองภาพนิ่ง Klara & Adolf Hitler ยุคสมัยนั้นที่ยังไม่มีโปรแกรม Photoshop ทำออกมาได้อย่างแนบเนียนจริงๆ
ตัดต่อโดย Valeriya Belova ผลงานเด่นๆ อาทิ Belorussky Station (1971), You and Me (1971), The Ascent (1977), Office Romance (1977), Farewell (1983), A Cruel Romance (1984), Come and See (1985) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเด็กชาย Flyora นำพาผู้ชมไปพบเห็นเหตุการณ์หายนะแห่งมนุษยชาติ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากทหารเยอรมันยึดครอบครอง Belarusian SSR ตระเวนไปยังหมู่บ้านต่างๆ แล้วกระทำการ @#$%^ เข่นฆ่าล้างผู้บริสุทธิ์มากมายนับไม่ถ้วน
- เด็กชายผู้ไม่รู้ประสีประสา
- Flyora ร่วมกับเพื่อนอีกคน พยายามขุดคุ้ยหากระบอกปืน เพื่ออาสาสมัครเข้าร่วมพลพรรคโซเวียต
- มารดาพยายามหักห้ามปราม ก่อนที่บุตรชายจะออกเดินทางไปกับพลพรรคโซเวียต
- มาถึงค่ายบัญชาการ ได้รับภารกิจเฝ้ายาม แต่วันถัดไปกลับถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง
- นางพยาบาลสาว Glasha เกี้ยวพาราสี พรอดรักกับ Flyora
- โศกนาฎกรรมจากหางตา
- ระหว่างที่ Flyora และ Glasha วิ่งเล่นในป่า เครื่องบินทิ้งระเบิดผ่านมา โชคยังดีทั้งสองเอารอดได้หวุดหวิด
- Flyora พา Glasha แวะเวียนกลับมาที่บ้าน พบเห็นอาหารยังอุ่นๆ แต่ไม่รู้มารดาหายตัวไปแห่งหนไหน
- ครุ่นคิดว่ามารดาคงไปหลบภัยยังเกาะกลางบึง จึงบุกฝ่าโคลนเลนไปถึง
- ร่วมกับผู้ลี้ภัย ทำหุ่นไล่กาฮิตเลอร์ จากนั้นออกเดินทางไปติดตามหาเสบียงกรัง
- จากสี่เหลือเพียงสอง สามารถลักขโมยวัวชาวบ้านได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลบหนีไปไหนไกล
- ขุมนรกบนดิน
- รุ่งสางวันถัดมาหมอกลงหนาจัด ทำให้ Flyora สามารถหาหนทางหลบหนีออกมา
- แต่แล้วทหารเยอรมันก็ทำการห้อมล้อม ตรวจค้น จับกุม
- จากนั้นไล่ต้อนชาวบ้านชาวช่องเข้าไปยังโบสถ์โรงนา (Barn Church)
- Flyora ตัดสินใจปีนป่ายหนีออกมา
- การล้างแค้นเอาคืนทหารเยอรมัน
- เหมือนว่ากองกำลังหนุนของสหภาพโซเวียตเดินทางมาถึง ทำให้สามารถโต้ตอบเอาคืนกองทัพเยอรมัน
- Flyora กลายเป็นหนึ่งในผู้ชี้ตัวอาชญากรสงคราม
- แต่สงครามยังคงดำเนินต่อไป Flyora ระบายอารมณ์ด้วยการกราดยิงไปยังรูปภาพ Adolf Hiter ตัดสลับกับฟุตเทจจากสงคราม
เพลงประกอบโดย Oleg Grigorievich Yanchenko, Олег Григорьевич Я́нченко (1939-2002) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย สำเร็จการศึกษาจาก Moscow Conservatory (สาขาเปียโน ออร์แกน และการแต่งเพลง) จากนั้นไปเรียนต่อออร์แกนยัง Vienna Conservatory (University of Music and Performing Arts Vienna) และ Haarlem Summer Academy, จากนั้นปักหลักอาศัยอยู่ Minsk ก่อตั้งวง Minsk Chamber Orchestra (ปัจจุบันคือ Belarusian State Chamber Orchestra, BelSCO) ทั้งยังเป็นนักดนตรี Soloist ให้กับ Moscow Symphony Orchestra และเมื่อปี 1987 ยังก่อตั้งสมาคม Association of Organists and Organ Masters of Russia (ASSOR)
ด้วยความที่หนังมีการผสมผสานเพลงคลาสสิกชื่อดัง Mozart, Wagner, Strass II, ดนตรีมาร์ช ปลุกใจรักชาติ, ร้อง-เล่น-เต้น ทำนองสนุกสนาน ฯ เช่นนั้นแล้วผลงานเพลงของ Yanchenko ซุกซ่อนอยู่แห่งหนไหน? คำตอบคือช่วงเวลาแห่งหายนะทั้งหลาย แหวกว่ายข้ามหนองบึง, ชาวบ้านถูกกวาดต้อนเข้าโบสถ์โรงนา, กองเพลิงกำลังมอดไหม้ ฯ เมื่อผสมผสานเข้ากับ ‘Sound Effect’ อันอึ้งอึง จะยิ่งสร้างอารมณ์บีบเค้นคั้น อัดอั้น หายใจไม่ทั่วท้อง หัวใจหล่นวูบไปที่ตาตุ่ม
งานเพลง Yanchenko เอาจริงๆแทบจะไม่มีความจำเป็นต่อหนังสักเท่าไหร่ เพราะแค่เสียงธรรมชาติ ความอื้ออึงของ ‘Sound Effect’ ก็สร้างสัมผัสหายนะมากเพียงพอแล้ว แต่ผกก. Klimov คงต้องการบีบเค้นคั้นอารมณ์ ให้ถึงขีดสุดความสิ้นหวัง ในลักษณะของ Expressionism
ด้วยเหตุนี้ผมเลยจะขอเลือกสองสามบทเพลงไฮไลท์ ที่น่าจดจำกว่าผลงานของ Yanchenko, เริ่มจากเพลงมาร์ช The Sacred War (1941) หรือ Arise, Great Country! แต่งโดย Alexander Alexandrov (ผู้แต่งเพลงชาติสหภาพโซเวียต) นี่ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงได้รับความนิยมสูงสุดในกองทัพสหภาพโซเวียต ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ช่วงท้ายของหนังระหว่างร้อยเรียงฟุตเทจสงคราม ได้ยินสองบทเพลงของ Richard Wagner ประกอบด้วยอุปรากร Tannhäuser (1845) และบทเพลง Walkürenritt or Ritt der Walküren แปลว่า Ride of the Valkyries จากเพลงประกอบอุปรากร (Music Drama) เรื่อง Die Walküre (1870)
ด้วยท่วงทำนองที่สร้างความฮึกเหิม ลำพอง บังเกิดพละพลังเข้าประหัดประหารศัตรู Tannhäuser Overtune และ Ride of the Valkyries จึงมักถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ Nazi Germany ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และเห็นว่ายังเคยเปิดกระจายเสียงทางวิทยุ สำหรับกองพลยานเกราะและกองทัพอากาศ เตรียมพร้อมก่อนเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม
เกร็ด: การเลือกใช้ Ride of the Valkyries ยังถือเป็นการเคารพคารวะ Apocalypse Now (1979) ของผกก. Francis Ford Coppola ที่ก็มีความบ้าระห่ำไม่แพ้กัน
และบทเพลงได้รับการกล่าวขวัญมากสุดของหนัง ดังขึ้นตอนจบ บทเพลงสุดท้ายประพันธ์ขึ้น(ไม่เสร็จ)ก่อนตายของ Mozart: Lacrimosa (1971), นักวิจารณ์ Roger Ebert ตั้งคำถามการเลือกใช้เพลงนี้ได้อย่างน่าสนใจ ในมุมของผู้ชมให้ความรู้สึกเหมือนการปลดปล่อยจากความสิ้นหวังที่รับชมมา แต่สำหรับเด็กชาย Florya ไม่น่าจะเคยได้ยินบทเพลงนี้ด้วยซ้ำ เขาควรจะรับรู้สึกเช่นใดกัน?
There’s a curious scene here in a wood, the sun falling down through the leaves, when the soundtrack, which has been grim and mournful, suddenly breaks free into Mozart. And what does this signify? A fantasy, I believe, and not Florya’s, who has probably never heard such music. The Mozart descends into the film like a deus ex machina, to lift us from its despair. We can accept it if we want, but it changes nothing. It is like an ironic taunt.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
การเลือกใช้บทเพลงนี้ของผกก. Klimov ถือว่ามีความยิ่งใหญ่หลายประการ เพราะโดยไม่รู้ตัว มันคือภาพสุดท้าย เพลงสุดท้าย ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย และยังตีความถึงคำอธิษฐานถึงภรรยาผู้ล่วงลับได้ด้วยเช่นกัน!
เกร็ด: Lacrimosa แปลว่าการไว้อาลัยและร่ำลา นั่นคือเมื่อการพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงกาลสิ้นสุด ทุกสิ่งอย่างบนโลกเหลือเพียงเถ้าถ่านจากการมอดไหม้ทำลายล้าง ขออธิษฐานให้ทุกสรรพสิ่งที่ดับสูญสิ้นไป ได้หลับใหลสู่นิรันดร์ – อาเมน
LINK: https://raremeat.blog/mozart-requiem/
Come and See (1985) ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ตรงของ(ผู้แต่งนวนิยาย) Ales Adamovich ยังรวมถึงผกก. Klimov อาจไม่ได้เหมือนกันอย่างเปะๆ แต่ถือว่ามีความละม้ายคล้ายคลึง มันคือขุมนรกไม่แตกต่างกัน
As a young boy, I had been in hell. The city was ablaze up to the top of the sky. The river was also burning. It was night, bombs were exploding, and mothers were covering their children with whatever bedding they had, and then they would lie on top of them. Had I included everything I knew and shown the whole truth, even I could not have watched it.
Elem Klimov
บุคคลใดมีชีวิตเติบโตพานผ่านช่วงสงคราม พบเห็นเหตุการณ์หายนะ พฤติกรรมโฉดชั่วร้ายของมนุษย์ รวมถึงความตายของผู้คนรอบข้าง นั่นคือสิ่งติดตา ฝังจิตวิญญาณ ไม่มีวันลบเลือนลาง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและโดยอ้อม ซึ่งสำหรับศิลปินสรรค์สร้างงานศิลปะ จักสามารถพบเห็นอิทธิพลดังกล่าว(ถ่ายทอดออกมาผ่านผลงาน/ภาพยนตร์)ได้อย่างชัดเจน
เราสามารถมอง Come and See (1985) คือความทรงจำเกี่ยวกับสงคราม รวบรวมภาพเหตุการณ์ที่เกิดจากพฤติกรรมโฉดชั่วร้ายของมนุษย์ เป้าหมายถึงผู้ชมปัจจุบัน ลูกหลานในอนาคต คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น สามารถตระหนักถึงข้อเท็จจริง หายนะที่เราควรหลีกเลี่ยง ไม่ใช่กระตือรือล้น ลุกรี้ลุกรน กระหายการต่อสู้ ไม่ใช่พวกพ้องต้องเป็นศัตรู มีแต่พวกบ้าอำนาจถึงนำพาประเทศชาติเข้าสู่มหาสงคราม
Come and See is a memory about war. A people’s memory about the war. And it was meant to be a people’s film. That is, the recollections of the most horrible moments of the war. On the other hand, the main thrust, the main point, of this film was directed towards the present. It stands as a warning for all about war itself. Or, I might say, a passionate warning against war.
A Japanese friend, upon seeing the film at the Moscow film festival, said: “Your Belarusian village is like our Hiroshima. And that the whole world could once again become an Hiroshima.”
หลายคนอาจมองว่าหนังมีลักษณะต่อต้านชาวเยอรมัน (anti-German) แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผกก. Klimov ต้องการโจมตีถึงระบอบเผด็จการ (Anti-Fascist) ต่อต้านสงคราม (Anti-War) และต่อยอดคำถามถึงความเป็นมนุษย์ ขีดสุดที่สามารถยินยอมรับไหว
To come right to the point, Come and See is both an anti-fascist film and an anti-war film. Although some have also implied that it is an anti-German film, too. This is not true. It was never meant to be an anti-German film. So I’ll emphasize it once more: it is an antifascist and an antiwar film. Another very important purpose in the making of that film was to talk about a human being. What is a human being all about? What are the limitations of a human being? What are the extremes to which a human being can be brought?
นอกจากประเด็นเรื่องสงคราม Come and See (1986) ยังสามารถตีความถึงการปลดปล่อย ระบายอารมณ์สิ้นหวังของผกก. Klimov ภายหลังสูญเสียภรรยาสุดที่รัก ไม่ต่างจากโบสถ์โรงนาที่ถูกเผามอดไหม้ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เต็มไปด้วยความสิ้นหวังอาลัย … ผมนึกภาพวาด The Scream (1893) ผลงาน Expressionism ของจิตรกร Edvard Munch สามารถเทียบแทนภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ผกก. Klimov ต้องการกรีดร้อง ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในออกมา
ความสำเร็จของ Come and See (1986) นำพากระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงมาให้กับวงการภาพยนตร์สหภาพโซเวียต เริ่มต้นด้วยผกก. Klimov ได้รับเลือกจากผองเพื่อนผู้กำกับ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ First Secretary of the Filmmakers’ Union และขึ้นเป็นประธาน Fifth All–Russian Congress of Soviets แม้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆแค่สองปี แต่สิ่งที่เขาสนใจคือรื้อฟื้นภาพยนตร์เก่าๆ(ทั้งของตนเองและผู้กำกับอื่นๆ)ที่เคยถูกแบน อนุญาตให้นำออกฉายได้สักที! นั่นถือเป็นจุดถดถอยของ Soviet Cinema และการมาถึงของยุคสมัยใหม่มีคำเรียกว่า черну́ха อ่านว่า Chernukha
หลังจากลงจากตำแหน่งผกก. Klimov ยังมีความต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีผลงานอันใด บทสัมภาษณ์เมื่อปี ค.ศ. 2000 กล่าวไว้ว่า
After ‘Come and See,’ I lost interest in making films. Everything that was possible I felt I had already done. I think of lines written by Andrei Platonov to his wife, ‘Toward the impossible our souls fly.’
In ‘Come and See,’ what I ended up filming was a lightened-up version of the truth. Had I included everything I knew and shown the whole truth, even I could not have watched it.”
ผกก. Klimov เสียชีวิตจากอาการสมองขาดออกซิเจน (Brain/Cerebral Hypoxia) เห็นว่าอยู่ในอาการโคม่าถึงหกสัปดาห์ ก่อนเสียชีวิตวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2003 สิริอายุ 70 ปี ร่างกายฝังอยู่ยัง Troyekurovskoye Cemetery
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนัง Moscow International Film Festival สามารถสร้างความตกอกตกใจให้แก่ผู้ชม/นักวิจารณ์ กวาดมาสองรางวัลใหญ่ Golden Prize และ FIPRESCI Prize (ของนักวิจารณ์), มียอดจำหน่ายตั๋วในสหภาพโซเวียต 28.9 ล้านใบ ประมาณการรายรับทั่วโลก $21 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม น่าเสียดายไม่ผ่านเข้ารอบใดๆของ Oscar: Best Foreign Language Film
กาลเวลาทำให้ Come and See (1985) กลายเป็นอมตะ! ได้รับการโหวตจากหลากหลายสำนัก ติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล “Greatest Movie of All-Time” อาทิ
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ #154 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ #104 (ร่วม)
- Sight & Sound: Director’s Poll 2022 ติดอันดับ #41 (ร่วม)
- ผู้กำกับโหวตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิ Laszlo Nemes (HUN), Ruben Östlund (SWE), Paweł Pawlikowski (PL), Sally Potter (ENG)
- Empire: The 500 Greatest Movies of All Time (2008) ติดอันดับ #60
- Empire: The 100 Best Films Of World Cinema (2010) ติดอันดับ #24
ปัจจุบันหนังได้การบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 เข้าฉายเทศกาลหนัง Venice Classic คว้ารางวัล Best Restored Film สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel
เอาจริงๆผมไม่เคยครุ่นคิดจะหวนกลับมารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้หรอกนะ เพราะยังรู้สึกหลอกหลอน จดจำภาพติดตา ฝังใจ ถ้าไม่เพราะเพิ่งเขียนถึงผลงานภรรยาผู้ล่วงลับ Larisa Shepitko เลยเกิดความเอะใจว่า Come and See (1985) อาจมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง ซึ่งก็สามารถตีความได้เช่นนั้นจริงๆ
นั่นทำให้การหวนกลับมารับชมครานี้ อาจไม่ได้หลอกหลอนเทียบเท่าความประทับใจแรก (First Impression) แต่สามารถพบเห็นลูกเล่น ลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ และอิทธิพลภรรยา เธอคือโลกทั้งใบของผกก. Elem Klimov ต่อจากนี้จึงไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไป
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ชักชวนกันมาเชยชม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงหายนะจากสงคราม อย่ามองเป็นเพียงสนุกสนาน เครื่องมือของพวกผู้มีอำนาจ เราควรช่วยกันต่อต้าน หยุดยับยั้ง ไม่ให้ประวัติศาสตร์บังเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม
จัดเรต NC-17 จากความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่งของ Holocaust ที่จะทำให้ผู้ชมตกอยู่ในความสิ้นหวัง
คำโปรย | Come and See ชักชวนมารับชมหายนะของมนุษยชาติ ความสิ้นหวังของผู้กำกับ Elem Klimov ที่จักทำให้จิตวิญญาณมอดไหม้ หลงเหลือเพียงเถ้าถ่าน
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | จิตวิญญาณมอดไหม้
Come and See (1985) : Elem Klimov ♥♥♥♥♡
(28/6/2016) ฤาว่านี้จะเป็นหนังสงครามที่ดีที่สุดในโลก ได้รับการเปรียบเทียบระดับเดียวกับ Ivan’s Childhood (1962) และ Apocalypse Now (1979), เป็นแรงบันดาลใจให้ Steven Spielberg สร้าง Schindler’s List (1993) และ Saving Private Ryan (1998), ถ้าคุณอายุเกิน 18 และเตรียมใจพร้อมดูหนังที่นำเสนอความจริงที่โหดร้าย ลองเข้ามาหาชมดู “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ส่วนตัวผมเป็นคนไม่ค่อยชอบดูหนังแนวสงคราม แต่ก็มีเหตุให้ต้องได้ดูอยู่เรื่อยไป, สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากหนังประเภทนี้ คือมักมีเรื่องราวที่เป็นโศกนาฎกรรม (Tragedy) แทบจะทั้งนั้น และหนังสงครามทุกเรื่อง จะต้องเตรียมใจพบกับความอึดอัด ขยะแขยง เศร้าสลด กับหนังสงครามที่ดี ไม่ควรที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกยิ้มกริ่ม ยกย่อง เชิดชู หรือภาคภูมิ เพราะทุกชัยชนะมันแลกมาด้วยความเสียสละ เลือดเนื้อและความตาย หนังสงครามที่ดีต้องทำให้คุณรู้สึกกลัวจนหัวหด เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน รู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เกิดในยุคนั้น และจะต้องจดจำไม่ให้มันกลับมาเกิดยุคนี้
Come and See เป็นหนังที่ทำให้ผมขยาดแนวสงครามมากๆ (แม้รู้ตัวว่าจะยังต้องดูอีกมาก) เพราะหนังนำเสนอความชั่วร้ายของมนุษย์ ที่พวกเขาทำเช่นนั้นจริงๆในประวัติศาสตร์ ผมไม่รู้พวกนาซีคิดอะไรและทำเช่นนั้นได้ยังไง (ไม่อยากรู้และไม่อยากคิดให้เข้าใจด้วย) มีคำพูดหนึ่งของผู้กำกับที่โดนใจผมมากๆ “สิ่งที่น่ากลัวและละอายใจที่สุดสำหรับผม คือหนังเรื่องนี้จะถูกส่งต่อและลูก หลานของพวกเราจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น”
“I will testify: everything that is told in this film is the truth. And the most frightening and shameful thing for me is that this film will be seen by my children and grandchildren.”
นี่คือดาบสองคม เพราะความที่ทุกสิ่งในหนังคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มันคือการบันทึกประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันนี่คือสิ่งที่คนรุ่นก่อนไม่อยากให้กับคนรุ่นถัดไปได้เห็นความชั่วร้ายที่เคยเกิดขึ้นในโลก, บอกตามตรงว่าผมก็ไม่อยากแนะนำหนังเรื่องนี้กับใครเลยนะครับ ใจความของมันโหดร้าย ทารุณ เจ็บปวด แต่ผมก็อยากส่งต่อความจริง สิ่งที่เคยเกิดขึ้นนี้ ให้กับใครทุกคนได้รับทราบ ดั่งสำนวน ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ เพื่อไม่ให้ ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ จึงต้องแนะนำให้กับคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีวุฒิภาวะสูง ดูแลตัวเองได้ ถ้ามีโอกาส “ต้องดูหนังเรื่องนี้ให้ได้ก่อนตาย”
กำกับโดย Elem Klimov ชาวรัสเซีย เขาเกิดใน Stalingrad (ปัจจุบันคือ Volgograd) ในช่วง Battle of Stalingrad ทำให้เขาและครอบครัวต้องอพยพหนีหัวซุกหัวซุนออกจากบ้านข้ามแม่น้ำ Volga ด้วยแพไม้ เอาตัวรอดอย่างลำบาก, นี่เป็นประสบการณ์ที่ผู้กำกับนำมาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนสร้างหนังเรื่องนี้
Klimov ถือว่าเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้โด่งดังมากนักใน Russia ผลงานเขาก็มีไม่เยอะ แต่มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่งงาน Larisa Shepitko ซึ่งก็เป็นผู้กำกับเช่นกัน (รู้สึกว่าชื่อเธอดังกว่าสามีอีก), ตลอดชีวิตของ Klimov ทำหนัง 5 เรื่อง (เรื่องแรกถูกแบน, เรื่องสองถูกจำกัดโรงฉาย, เรื่องสามถูกเซนเซอร์, เรื่องที่สี่สร้างตอนภรรยาเสีย เลยไม่อยากเอาออกฉาย) Come and See เป็นหนังเรื่องสุดท้าย ซึ่งเขาเกิดความเอือมระอาต่อระบบการขออนุญาติสร้าง/ฉายหนังในรัสเซีย เห็นว่ากว่าที่หนังเรื่องนี้จะสร้างได้ ใช้เวลา 8 ปีกว่าบทหนังจะได้รับอนุญาติ, ปี 2000 มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ถาม Klimov ว่าทำไมไม่ทำหนังออกมาอีก เขาตอบว่า “ผมหมดความสนใจในการทำหนัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากทำ ผมได้ทำหมดแล้ว” (I’ve lost interest in making films. Everything that was possible I felt I had already done.), Klimov เสียชีวิตเมื่อปี 2003
เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ชัยชนะของรัสเซียต่อเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลรัสเซียมอบหมายให้ Klimov สร้างหนังเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นการระลึกถึงชัยชนะ ซึ่งเขาได้บังเอิญอ่านหนังสือเรื่อง “I Am from the Burning Village” ที่เป็นเรื่องราวอันสุดปาฏิหารย์ของคนที่รอดตายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน Belorussia, Klimov ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ และพบว่ามีผู้รอดชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ การพบกับพวกเขา รับฟังเรื่องราวและเห็นแววตาที่ยังคงทนทุกข์ทรมาน ไม่อาจลืมเลือนช่วงเวลานั้นได้ ทำให้ Klimov ตระหนักขึ้นมาว่า โลกเรายังไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น พวกเราคนรัสเซียรู้ เราควรจะต้องเผยแพร่เรื่องราวนี้แก่ชาวโลก เขาจึงตัดสินใจสร้างหนังเรื่องนี้
บทภาพยนตร์โดย Ales Adamovich ชาว Belarusian เป็นนักเขียน, นักวิจารณ์, อาจารย์ปรัชญา ภาษาศาสตร์ และเป็นเคยเป็นสมาชิกของ Supreme Soviet ในช่วง 1989–1992, ซึ่ง Klimov และ Adamovich ตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่ตั้งของเรื่องจาก Belorussia เป็น Flyora เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของผู้คนในหมู่บ้าน
ผู้กำกับตัดสินใจเลือกนักแสดงหน้าใหม่ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อน เด็กชายอายุ 14 ที่สามารถเตรียมพร้อมให้รับมือกับประสบการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา Aleksei Kravchenko เด็กชายที่ได้ถูกรับเลือก, ในตอนแรก Klimov จ้างนักจิตวิทยาเพื่อจะให้สะกดจิต Kravchenko ในฉากที่มีความรุนแรง จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขา แต่โชคร้ายที่สะกดจิตไม่สำเร็จ ทำให้ Kravchenko ต้องแสดงความตื่นตระหนกออกมาจริงๆ, หนังใช้การถ่ายทำแบบต่อเนื่องเรียงลำดับฉาก (Chronological Sequence) รวมเวลาถ่ายทำถึง 9 เดือน เพื่อให้ Kravchenko เติบโตขึ้น แต่กลายเป็นว่าเขาต้องอดอาหาร ทำร่างกายให้ซูบผอม, ช่วงท้ายๆของการถ่ายทำ ผมของเขากลายเป็นสีเทาเพราะความเครียดและร่างกายขาดสารอาหาร, โชคยังดีที่ Kravchenko สามารถกลับไปมีชีวิตเป็นปกติได้ ไม่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจมากเกินไป และหลายปีต่อมาได้กลายเป็นนักแสดงยอดฝีมือคนหนึ่งของรัสเซีย
นำหญิงก็เช่นกัน Olga Mironova เธอได้รับคัดเลือกเพราะสายตาที่ดูไร้เดียงสา ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง, ในฉากระหว่างเด็กชายพบเจอกับเด็กหญิง มันมีหลากหลายอารมณ์เกิดขึ้นในขณะนั้น เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งสีหน้า สายตา รอยยิ้ม ที่ถ่ายทอดเป็นอารมณ์ออกมาได้อย่างสมจริงมากๆ
เกร็ด: สัตว์เลี้ยงของนายพล German คือ Red Slender Loris ไม่ใช่ลิงนะครับ พื้นเพอยู่ในป่าฝนของประเทศ Sri Lanka และใกล้สูญพันธ์แล้ว
ถ่ายภาพโดย Aleksei Rodionov นี่เป็นหนังที่มีงานภาพแบบตรงไปตรงมา ดูแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ เพราะหลายครั้งที่ถ่าย medium close-up shot เห็นใบหน้า สีหน้า แววตาของนักแสดงแบบเต็มจอภาพ ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกออกมาได้แบบเต็มๆ, ฉากแรกของหนัง ปกติแล้วจะเป็นกล้องที่หมุน แต่หนังตั้งกล้องไว้เฉยๆ (บันทึกภาพความจริง ตรงไปตรงมา) แล้วให้คนหมุนตัวเข้าหากล้อง (เหมือนให้ผู้ชมหันหน้าเข้าหา เผชิญความจริงที่หนังกำลังนำเสนอ), ฉากที่ผมชอบที่สุด ขณะที่ผู้คนถูกกวาดต้อนให้เข้าไปอยู่ในโรงนา กล้องเคลื่อนไหวไปพร้อมๆกับนักแสดง ทำให้รู้สึกถึงความทรงพลังของภาพ ความแออัดยัดเยียด เบียดเสียดและความวุ่นวาย เชื่อว่าหลายคนคงคาดเดาได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ผมใจแป้วตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นแล้วละครับ กด Stop ทำใจอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะดูต่อ, ช่วงท้ายของหนังมีการนำภาพ Archive Footage จากเหตุการณ์จริงมาตัดประกอบใส่ในหนังด้วยนะครับ เราจะเห็น Hitler ที่ทำอะไรถอยหลัง เป็นการนำเสนออะไรที่แปลกทีเดียว, หนัง russia แทบทุกเรื่องที่ผมดูมา จะมีการถ่ายภาพที่เจ๋งมากๆ น่าคิดนะครับว่าทำไม?
ตัดต่อโดย Valeriya Belova ขณะที่เด็กชายกลับมาที่บ้าน ไม่มีใครอยู่เลย แต่มีซุปที่ยังอุ่นๆอยู่ เด็กชายรีบตักกินโดยไม่คิดอะไร แต่เด็กหญิงกลับกินไม่ลง พอนึกขึ้นมาได้ว่า คนในหมู่บ้านน่าจะหนีไปหลบซ่อนอยู่ไหนเขาออกวิ่งไม่หันหลังกลับมา เด็กหญิงวิ่งตามแต่เธอวิ่งช้ากว่า และหันกลับไปด้านหลังครั้งหนึ่ง, โอ้แม่เจ้า! ทำไมเด็กชายช่างโชคดีขนาดนี้ที่ไม่ได้เห็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ แค่ชั่วเวลาประมาณ 2-3 วินาที ก่อนหนังตัดเปลี่ยนฉาก นี่เป็นช่วงเวลาที่เปะมากๆ เพราะถ้านานกว่านี้ผู้ชมจะคิดทันว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เพราะเห็นแค่ชั่วแวบเดียวทำให้เกิดความไม่แน่ใจ แต่อาการของหญิงสาวได้ตอกย้ำสิ่งที่เราคิดว่า ต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ, ฉากนี้ผมไม่กล้ากดย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นผ่านๆครั้งเดียวพอแล้วในชีวิต ไม่อยากเห็นอีก
ต่อเนื่องกับฉากเมื่อสักครู่ เด็กชายวิ่งนำเด็กหญิงมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยโคลนตม เขาตัดสินใจเดินฝ่าข้ามหนองแห่งนี้ เสียง Sound Effect ลากเสียงโน๊ตค่อยๆดังขึ้น จิ้งหรีดเรไร กบเขียดเซ็งแซ่ อยู่ดีๆไวโอลินบรรเลงขึ้นแทรกเบาๆแล้วหายไป เสียงลากโน๊ตก็กระหึ่มดังขึ้นจนสุดลำโพง, ฉากนี้ถือว่าอารมณ์ต่อเนื่องกันมานะครับ เด็กชายยังไม่รู้ความจริงว่าครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร แต่เด็กหญิงรู้แล้ว มันเหมือนว่าทั้งสองกำลังค่อยๆเดินจมดิ่งลงสู่หนองบึง และดิ้นรนอย่างทุกข์ทรมานเพื่อขึ้นอีกฝั่งหนึ่ง, นี่ถือเป็นการนำเสนอภาพอารมณ์ของตัวละครผ่านการกระทำ (Expression) ก่อนที่ฉากถัดมาพอเด็กชายรู้ความจริง เขาก็แสดงออกมาผ่านสีหน้า และวิธีการถ่ายภาพที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนล่องลอย … นั่นไม่จริงใช่ไหม มันคือความฝันใช่หรือเปล่า!
หนังใช้ Sound Effect ได้ทรงพลังมากๆ ผมได้ยินเสียงลากโน๊ตบ่อยครั้ง (ที่มักจะค่อยๆดังขึ้นเรื่อยๆจนกระหึ่มลำโพง) นี่เป็นเสียงที่ทรงพลังมากๆ ใช้ขณะที่ต้องการสร้างบรรยากาศของความเจ็บปวดที่อัดแน่นอยู่เต็มอก, นอกจากนี้หนังสร้างข้อจำกัดการได้ยินให้กับคนดูบ่อยครั้ง อาทิ ตอนที่เครื่องบินรบทิ้งระเบิดตกลงใกล้ๆ เราจะได้ยินเสียงวี๊ดยาวๆ หรือไม่ก็เงียบลง (เหมือนตอนหูดับ) นี่เพื่อให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจริงๆ, ตอนไฟไหม้ เราก็จะได้ยินแต่เสียงไฟไหม้ เสียงเพลงประกอบและเสียงพูดคุย แต่จะขาดเสียงที่สำคัญไป 1 เสียง (คืออะไรน่าจะคาดเดากันได้)
เพลงประกอบโดย Oleg Yanchenko ที่มักจะแทรกอยู่ในจุดที่เราไม่ค่อยสังเกต มีเพลงดังๆอย่าง Johann Strauss II: Blue Danube, Richard Wagner: Tannhäuser Overture และ Ride of the Valkyries, Mozart: Lacrimosa, เพลง March ของ Soviet ที่ชื่อ The Sacred War, และฉากที่ Glasha เต้น เป็นเพลงประกอบจากหนังเรื่อง Circus (1936) ของ Grigori Aleksandrov
ในฉากที่ Glasha เต้น มันเหมือนว่าเสียงฝนตกจะดังกว่าเสียงเพลงอีกนะครับ และก็ยังมีเสียงอะไรอื่นอีกก็ไม่รู้แทรกอยู่ นี่เป็นอะไรที่โคตรแปลกประหลาดเลยละ ผมไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนทำกับเสียงประกอบได้เหมือนจะมั่วซั่วขนาดนี้มาก่อน แต่คิดว่ามันมีเหตุผลที่ทำแบบนี้อยู่นะครับ คือหนังใช้ Sound Effect สร้างบรรยากาศ แสดงอารมณ์และความรู้สึก (ปกติเรามักจะได้ยินเพลงประกอบใช้เพื่อสร้างบรรยากาศ แต่หนังเรื่องนี้ใช้ Sound Effect สร้างอารมณ์ประกอบ) นี่เป็นเทคนิคที่ยากจะคุ้นเคย มันไม่ได้มีความไพเราะ ลื่นหู น่าฟังเลย แต่มันเสริมบรรยากาศของหนัง ให้เมื่อถึงตอนฉากที่มีการขับเคลื่อนทางอารมณ์แรงๆ จะยิ่งทำให้เจ็บปวดลึกไปถึงขั้วหัวใจ
ผมพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงฉากที่ถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนังนะครับ อยากให้ไปค้นพบดูเองว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ขนาดทำให้ผมเกือบนอนไม่หลับ เป็นภาพหลอนติดตาที่จะไม่ถูกลบเลือนง่ายๆ, นี่ทำให้หนังไม่เหมาะกับทุกคนนะครับ ผู้กำกับ Klimov เคยพูดไว้ว่า “นี่เป็นหนังที่โหดร้าย และอาจมีคนที่ไม่สามารถดูได้” เขาคุยเรื่องนี้กับคนเขียนบท Adamovish ตอบว่า “คนที่ดูไม่ได้ก็ไม่ต้องดู นี่เป็นบางสิ่งที่เราต้องทิ้งไว้ เป็นหลักฐานของสงคราม และเพื่อความสงบสุขของคนรุ่นถัดไป” (Let them not watch it, then. This is something we must leave after us. As evidence of war, and as a plea for peace.) เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ถ้าคุณทนดูเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังไม่ได้ก็อย่าฝืนนะครับ ไม่เช่นนั้นคุณจะได้หลอนแบบจิตหลุดเลย
ตอนแรกหนังใช้ชื่อว่า Kill Hitler ที่ต้องเปลี่ยนเพราะความไม่เหมาะสม และมัน Negative เกินไป, ชื่อหนังภาษารัสเซียคือ Idi i smotri แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงๆจะได้ว่า Go and look แต่ใช้คำว่า Come and See ที่มาจากบทที่ 6 ของ The Apocalypse of John ของ Book of Revelation (คำทำนายวันสิ้นโลก ในคริสตศาสนา) เกี่ยวกับการทำลายล้างที่เกิดจาก Four Horsemen ของ Apocalypse (ผมไม่ขอแปลนะครับ เพราะสำนวนมันจะไม่ได้)
And when he had opened the fourth seal, I heard the voice of the fourth beast say, Come and see! And I looked, and behold a pale horse: and his name that sat on him was Death, and Hell followed with him. And power was given unto them over the fourth part of the earth, to kill with sword, and with hunger, and with death, and with the beasts of the earth.
อารมณ์หลังจากดูหนังจบ ผมคุ้นๆว่าเทียบเท่ากับตอนดู Apocalypse Now (1979), Schindler’s List (1993) และซีรีย์ Band of Brothers ภาพหลอนๆจำติดตาไม่ลืมเลือน และรู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เกิดในยุคสมัยของสงคราม, คนที่มีชีวิตอยู่ตอนนั้น หรือรอดชีวิตมาได้ถือว่าโชคร้ายกว่าคนที่เสียชีวิตอีก เพราะเขาต้องจดจำ แบกรับความรู้สึกของความโชคร้าย ความสูญเสีย และเห็นความชั่วร้ายของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ความเมตตาปราณีต่อเพื่อนร่วมโลก
ดูหนังจบ ขอให้ระลึกไว้ว่า นี่คือสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้น ถือเป็นด้านมืดของมนุษย์ จดจำและขออย่าให้มันเกิดขึ้นอีก
แนะนำกับผู้ใหญ่ที่ชอบดูหนังแนวสงคราม หรือกำลังศึกษาประวัติศาสตร์ของรัสเซียขณะถูกนาซีรุกราน, หนังมีเทคนิคที่แปลกประหลาดแต่เจ๋งโคตรๆ แนะนำกับคนสายภาพยนตร์ ดูเพื่อศึกษาเทคนิค วิธีการ, จัดเรต 18+ ไม่เหมาะกับเด็ก
Leave a Reply