Come Drink with Me

Come Drink with Me (1966) Hong Kong : King Hu ♥♥♥♡

หงส์ทองคะนองศึก คือภาพยนตร์แจ้งเกิด เจิ้งเพ่ยเพ่ย (Cheng Pei-pei) ‘ราชินีนักบู๊อันดับหนึ่งตลอดกาลของจีน’ ร่วมงานผู้กำกับ หูจินเฉวียน (King Hu) สร้างปฐมบทหนังแนว Wuxia จนได้รับฉายา ‘บิดาแห่งภาพยนตร์จีนกำลังภายในยุคใหม่’, อยากรู้ว่ายุคสมัยความยิ่งใหญ่ของ Shaw Brothers เริ่มต้นได้อย่างไร ชักชวนให้มาดื่มด่ำกับหนังเรื่องนี้

ก่อนที่แนวหนังหนึ่งจะได้รับความนิยม กลายเป็นกระแสเทรนด์ ยิ่งใหญ่ระดับทศวรรษ/ศตวรรษ ล้วนต้องมีจุดเริ่มต้นครั้งแรก, สำหรับแนว Wuxia (Wu = การต่อสู้, Xia = ผู้กล้า รวมความหมายอาจเรียกว่า ‘จอมยุทธ์’ คงไม่ผิดกระไร) ถือว่ามีมานานแล้วในวงการนวนิยาย และการแสดงอุปรากร เช่น งิ้ว ฯ วงการภาพยนตร์ก็ตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ แต่ยังไม่เคยได้รับความนิยมกลายเป็นกระแสหลักเสียเท่าไหร่, จนกระทั่งการมาถึงของ Come Drink with Me (1966) ที่ได้พลิกโฉม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการนำเสนอ ถือเป็นหนังแนว Wuxia เรื่องแรกของทศวรรษใหม่ ก่อให้เกิดกระแสความนิยมคลั่งไคล้ ทำเงินถล่มทลาย มีฤาสตูดิโอค่ายหนังยุคสมัยนั้นทั้งหลาย จะไม่คิดหาทางตักตวงแสงหาผลประโยชน์มากที่สุด

เกร็ด: รู้สึกว่าภาษาไทย จอมยุทธ หรือ จอมยุทธ์ สามารถใช้แทนได้เหมือนกัน

King Hu, หูจินเฉวียน (1932 – 1997) ผู้กำกับ/เขียนบท/นักแสดงสัญชาติจีน ได้รับสมญานามว่า ‘บิดาแห่งภาพยนตร์จีนกำลังภายในยุคใหม่’, เกิดที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน ตอนเด็กๆมีความชื่นชอบหลงใหลในงิ้ว (Beijing Opera) โดยเฉพาะเรื่องที่มี Martial Arts ผสมอยู่ด้วย อาทิ ไซอิ๋ว ฯ ย้ายมาอยู่ฮ่องกงตอนอายุ 18 เริ่มทำงานเป็นนักวาดภาพออกแบบโฆษณา จัดพลัดพลูได้เป็นนักแสดงหนังเรื่องแรก Humiliation (1954) เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers ในฐานะนักแสดง นักเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่อง The Love Eterne (1963), The Story of Sue San (1964) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Sons of the Good Earth (1965) และผลงานลำดับที่สองเป็นแนว Wuxia เรื่องแรก Come Drink with Me (1966)

สไตล์การกำกับของ King Hu รับอิทธิพลมาจากความหลงใหลในงิ้วปักกิ่ง ทำการปรับประยุกต์วิธีการให้กลายเป็นภาพยนตร์ มี 2-3 อย่างที่สามารถสังเกตได้ อาทิ
– นักแสดงจะมีลีลาวาทะที่คมคาย การเคลื่อนไหวที่พร้อมเพียงเป็นจังหวะ
– เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แม้จะแต่หน้าไม่เข้มเท่าแต่มีความสมจริง เรียกว่า Costume Period
– เพลงประกอบ ใครเคยฟังงิ้วก็จะรับรู้ได้ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนล้วนๆ
ฯลฯ

นอกจากนี้ King Hu ยังมีความสนใจใน ปรัชญา(ขงจื้อ), ธรรมชาติ(Zen), ศาสนา(พุทธ) และการเมืองของประเทศจีน ฯ ได้ทำการผสมคลุกเคล้าเข้าไป ทำให้หนังมีความลึกซึ้ง ลึกล้ำ และอยู่เหนือกาลเวลา

สำหรับผลงานเอกของ King Hu มีทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบด้วย Come Drink with Me (1966), Dragon Inn (1967) และ A Touch of Zen (1971) ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังจีน ห้ามพลาดสักเรื่องเดียว

Come Drink with Me เรื่องราวมีพื้นหลังสมัยราชวงศ์หมิง (1368–1644) บุตรชายของผู้ตรวจการถูกกลุ่มโจรพยัคฆ์ลักพาจับตัวไป พวกมันเรียกร้องค่าไถ่ด้วยการปล่อยตัวหัวหน้าของตนภายใน 5 วัน แลกกับการไม่ฆ่าตัวประกัน หงษ์ทองผู้เป็นน้องสาวได้แอบปลอมตัวเป็นชาย นัดพบเสือยิ้มกับเสือหยกที่โรงเตี้ยมแห่งหนึ่ง เจรจาท้าต่อยตีเพื่อช่วยเหลือพี่ แต่อะไรๆไม่เคยง่ายดายขนาดนั้น แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากแมวเมา ชายขอทานแปลกหน้าที่เบื้องหลังไม่ธรรมดา แต่ยังมีหลวงจีนเหลียงคุน ผู้มีวรยุทธ์ลึกล้ำอยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง

สำหรับนักแสดง ถือเป็นการลองผิดลองถูกครั้งแรกของ King Hu ตัดสินใจคัดสรรเลือกหานักแสดงงิ้วที่พอมีฝีมือ ถอดองค์ทรงเครื่องหน้างิ้วออก จับใส่ชุดเหมือนคนธรรมดาสามัญ เรียนรู้หมัดมวยเพลงดาบ รำไปฟันไปให้เข้าจังหวะสอดคล้อง … มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า กับการนำเสนอภาพยนตร์รูปแบบนี้

เจิ้งเพ่ยเพ่ย, Cheng Pei-pei (เกิดปี 1946) นักแสดงสาวสัญชาติจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ โตขึ้นอพยพย้ายมาอยู่ฮ่องกง เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Lovers’ Rock (1964) [เป็นตัวแทนของประเทศจีนส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่เข้ารอบใดๆ] จากนั้นมีผลงานตามมาอีกหลายเรื่อง, King Hu เป็นผู้คัดเลือกเธอเองกับมือหลังจากได้เห็นท่ารำมวยในหนังเรื่องหนึ่ง รู้สึกถึงพลังการแสดงออกที่ไม่เหมือนใคร และเธอก็มีพื้นฐานการแสดงงิ้วมาก่อนด้วย

“ท่าน (King Hu) ได้หาครูมวยมาช่วยฝึกสอนท่ารำหมัดมวยต่อสู้ในการแสดง และแนะนำเรื่องจังหวะต่างๆ ทำให้ฉันได้ประโยชน์ไม่น้อยจากการเรียนรู้ที่จะเป็นจอมยุทธ์ในหนังเรื่องนี้”

เธอยังให้สัมภาษณ์กล่าวถึงลักษณะพิเศษในการทำงานของผู้กำกับดัง ชอบที่จะนำนักแสดงเข้าไปในห้องตัดต่อเพื่อได้เห็นกระบวนการทำงาน ทำให้นักแสดงเข้าใจในแต่ละฉากจะประกอบด้วยภาพจังหวะไหนบ้าง และต้องอาศัยเทคนิคอะไรในการแสดง

รับบทหงษ์ทอง/Chang Hsuan-yen/Golden Swallow จอมยุทธหญิงฝีมือเด่น ชอบแต่งตัวเป็นชาย แม้วิทยายุทธจะไม่ได้เป็นเลิศที่หนึ่งแต่ไร้ซึ่งความหวาดกลัว กล้าบุกถิ่นรังโจรแต่โดยลำพัง แม้ถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บสาหัส โชคดีได้แมวเมา ชายขอทานแปลกหน้าวิทยายุทธลึกล้ำให้การช่วยเหลือ

ภาพลักษณ์ของเจิ้งเพ่ยเพ่ย มีความน่ารักจิ้มลิ้มขณะเดียวกันก็เข้มแข็งแกร่ง (แข็งนอกอ่อนใน) แม้จะแต่งเป็นชายแต่ใครก็คงดูรู้ว่าเธอเป็นหญิง โดดเด่นสุดคงเป็นคิวบู๊ ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงจะสามารถแสดงออกได้เทียบเท่าหรือมากกว่าผู้ชายเสียอีก นี่ทำให้เธอมีความเปร่งประกายเจิดจรัสจ้า สมแล้วหลังจากหนังเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องเป็น ‘ราชินีหนังบู๊’ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วผืนแผ่นดินเอเชีย

ผลงานเด่นอื่นๆของเจิ้งเพ่ยเพ่ย อาทิ Golden Swallow (1968) [ภาคต่อของ Come Drink with Me], Brothers Five (1970), Painted Faces (1988), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ฯ

เยี่ยหัว, Yueh Hua (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ โตขึ้นเรียนจบอพยพย้ายมาอยู่ฮ่องกงเมื่อปี 1962 เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers มีผลงานเรื่องแรก The Lark (1965) และได้รับบทนำครั้งแรกจากหนังเรื่องนี้

แมวเมา/Fan Da-pei/Drunken Cat ชายขอทานขี้เมาแปลกหน้า ที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัย ชื่นชอบการขับร้องเพลงและเล่นสนุกกับเด็กๆ แต่ตัวจริงกลับเป็นจอมยุทธ์ยอดฝีมือ ศิษย์เอกของสำนัก …(อะไรสักอย่าง), อุปนิสัยเป็นคนจิตใจดี น้ำใจงาม มีความกตัญญูรู้คุณคนยิ่ง แต่ขาดเขลา เพราะหลวงจีนเหลียงคุน ศิษย์พี่ผู้ให้การรับเลี้ยงดูแล กลับเป็นคนชั่วช้าต่ำทราม ทำให้เขาลังเลไม่แน่ใจในตัวเอง ต้องเลือกระหว่างคุณธรรมกับความถูกต้อง

การแสดงของเยี่ยหัว ได้สร้างภาพลักษณ์ของจอมยุทธ์ขี้เมาได้อย่างยอดเยี่ยม มาดกวนๆแต่คมคายยิ่งนัก นี่เรียกว่าคมในฝัก/เสือซ่อนเล็บโดยแท้, จงอย่าตัดสินคนที่ภายนอก เพราะลึกๆแล้วเขาอาจเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าผู้ใด

สำหรับฝั่งตัวร้าย ชาน เฟยหง ลิต, Chan Hung-lit (1943 – 2009) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ อพยพมาอยู่ฮ่องกง เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers มักได้รับบทตัวร้ายเลื่องชื่อในช่วงทศวรรษ 60s – 80s

รับบทไอ้เสือหน้าหยก/Jade Faced Tiger รองหัวหน้าโจรพยัคฆ์ (หัวหน้าคือคนถูกจับคุมขังอยู่) ฝีมือเก่งกาจ โหดโฉดชั่วเลือดเย็น ฆ่าได้ไม่เว้นเด็กหรือนักบวช, สวมชุดสีขาว ถือพัดซ่อนเข็มพิษ วางมาดเย่อหยิ่งจองหองอวดดี แต่พอเจอคนจริงเข้าก็เป็นเหมือนลูกแมว

เกร็ด: คนจีนมักจะถือว่า สีเขียว (เหมือนหยก) เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ไม่ได้แปลว่าตัวละครมีใบหน้าสีเขียวนะครับ

ใบหน้าของ Chan Hung-lit ถูกเขียนแต่งเข้มมาก โดยเฉพาะคิ้วที่เชิดขึ้นสูงทำให้ดูเหมือนตัวโกงชัดเลยละ (นี่ถือเป็นอิทธิพลที่ได้จากงิ้ว) การแสดงก็คมคาย ยอดเยี่ยมไม่แพ้ Chun Shih นักแสดงขาประจำของ King Hu ในเรื่อง Dragon Inn และ A Touch of Zen ต้องถือว่าทั้งสองถอดแบบราวกับพิมพ์เดียว แต่อยู่กันคนละขั้วตรงข้าม

ผลงานเด่นอื่นๆของ Chan Hung-lit อาทิ Snake Fist Fighter (1973), Come Drink with Me (1966), Pian shu da wang (1971) ฯ

หยาง ชิห์-ชิง, Yang Chih-ching (1919–1984) นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติจีน เกิดที่ Hubei, สาธารณรัฐจีน อพยพสู่ฮ่องกงเช่นกัน มีผลงานดัง อาทิ The Enchanting Shadow (1960), Duel of the Iron Fist (1971), Vengeance (1970) ฯ

รับบทหลวงจีนเหลียงคุน (Abbot Liao Kung) ศิษย์รุ่นพี่สำนักเดียวกันกับแมวเมา วิทยายุทธถือว่าระดับสูงสุด แต่กลับหน้ามืดตามัวเมา หลงใหลในอำนาจ, อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณจะเชื่อ เจ้าตัวอ้างว่า แมวเมาขโมยไม้ไผ่ทองคำซึ่งเป็นสิทธิ์ของตนไป ส่วนแมวเมาอ้างว่า เหลียงคุนเป็นคนฆ่าอาจารย์เพราะต้องการเป็นเจ้าสำนัก แต่ผมเชื่อว่าใครๆคงรับรู้ความจริงได้ว่าใครเป็นฝ่ายโกหก

การต่อสู้ในหนังเรื่องนี้ ออกแบบโดย Han Yingjie ที่เคยออกแบบท่าเต้นของ The Love Eterne (1963) ด้วยความต้องการของ King Hu ที่ว่า ‘ฉากต่อสู้มีลักษณะเหมือนการเต้นรำ’, ในสายตาผู้ชมสมัยใหม่ ฉากการต่อสู้ของหนังเรื่องนี้มีความเชื่องช้าอืดอาด น่าง่วงหลับ ไม่ตื่นเต้นเหมือนสมัยนี้ที่ทุกอย่างรวดเร็วสมจริง แต่ลีลาจะมีภาษาจังหวะที่สามารถอ่านออกตีความได้ชัด เช่นว่า ก่อนเริ่มโจมตีจะต้องทำท่าง้างดาบแล้วกระโดดพุ่ง, ตอนตายพอโดนแทงก็จะมียืนค้างแข็ง ก่อนถูกผลักดิ้นสองสามทีแล้วค่อยหมดลม ฯ นี่มันอาจดูตลกขาดความสมจริง แต่ต้องถือว่ามีความคลาสิกมากๆ

ถ่ายภาพโดย Tadashi Nishimoto ตากล้องระดับตำนานสัญชาติญี่ปุ่น ที่ Shaw Brothers ยืมตัวมาจากค่ายหนังญี่ปุ่นพร้อมกล้องถ่ายภาพ และพี่แกก็อยู่ฮ่องกงยาวเลยละครับ ตั้งแต่ The Love Eterne (1963) หลังจากนี้ยังเคยได้ร่วมงานกับบรูซ ลี ถ่ายหนังเรื่อง The Way of the Dragon (1972)

ปกติแล้วหนังของ Shaw Brothers มักถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด แต่หนังเรื่องนี้มีหลายฉากที่ถ่ายทำยังสถานที่จริง โดยเฉพาะกับฉากถ่ายภายนอก ต้องการวิวทิวทัศน์ธรรมชาติของจริงเท่านั้น

แต่ก็มีบางฉาก เหมือนจะสร้างเมืองขึ้นนอกสตูดิโอ (หรืออาจจะเป็นเมืองที่มีอยู่จริงก็ได้)

กับบางฉากที่ต้องมีการใช้ Special Effect เข้าช่วย บ้านของแมวเมา ฉากนี้สร้างขึ้นในสตูดิโอนะครับ เพื่อให้สามารถควบคุมการจัดแสง มุมมอง ทิศทางการเคลื่อนไหวของกล้องได้โดยง่าย

ฉากในโรงเตี๊ยม ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง โดดเด่นในมุมมอง ทิศทาง การเคลื่อนไหว และลูกเล่นลีลา (เกมท้าประลอง) ที่ใช้การตัดต่อเข้าช่วย, ช็อตที่ผมนำมานี้ กล้องจะค่อยๆเคลื่อนออกจากจากหงษ์ทอง ที่ค่อยๆถูกรายล้อมด้วยลูกกระจ๊อกโจรพยัคฆ์

แต่ละเกมที่โจรพยัคฆ์กลุ่มนี้เล่นกับหงษ์ทอง มีนัยยะแฝงอยู่ด้วย
– ทุ่มด้วยไหสุรา เพราะต้องการมอมเมา
– โยนเงิน ใช้ตะเกียบรับ ต้องการยัดเงินใต้โต๊ะ
– ทุ่มเก้าอี้ใส่ เพื่อให้นั่งลงคุยกันดีๆ

ผมค่อนข้างประทับใจ Direction ของงานภาพขณะที่หงษ์ทองถูกเข็มพิษ ตัวเธอโยกไปมา สายตาพร่ามึนมัว กล้องหมุนรอบเป็นวงกลมโดยรวดเร็ว (เห็นแล้วชวนให้มึนงงคล้ายจะเป็นลมตามตัวละคร) พอลืมตาขึ้นมา จะมีช็อตภาพสีเขียวเหลืองเบลอๆค่อยๆจางหายไป (ผมสังเกตช็อตนี้ น่าจะเป็นการใช้ผ้าผืนบางๆขาดๆสองสีเขียวเหลือง ถ่ายแบบโฟกัสเพดานด้านหลัง ทำให้เห็นผ้าเบลอหลุดโฟกัส แล้วค่อยๆดึงขึ้น)

โดยรวมของงานภาพถือว่าเป็นการทดลองปรับเข้ากับการแสดงเคลื่อนไหวของงิ้ว ที่ถือว่าทำออกมาได้ลื่นไหลลงตัว แต่เพราะข้อจำกัดในแง่การสร้างของ Shaw Brothers ทำให้หนังไม่มีช็อตภาพสวยๆแบบ Dragon Inn หรือ A Touch of Zen ที่ผู้กำกับให้เวลาผู้ชม ค้นหาสัมผัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (คือ การสร้างฉากขึ้นเองแบบหนังเรื่องนี้ ถือเป็นการฝืนธรรมชาติขัดต่อหลัก Zen)

ตัดต่อโดย Hsing-Lung Chiang นักตัดต่อยอดฝีมือสัญชาติจีน สังกัด Shaw Brothers มีผลงานดังอย่าง Five Fingers of Death (1972), Five Deadly Venoms (1978), Return to the 36th Chamber (1980)

หนังมีการตัดต่อที่คลาสสิกมาก แต่อาจดูมักง่ายเชยไปหน่อยกับผู้ชมสมัยนี้ อาทิ โยนเหรียญ/ขว้างดาบ/ยิงธนู เราจะเห็นขณะที่ตัวละครปล่อยอาวุธ แล้วตัดไปให้เห็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามเลย เช่น เหรียญวางเรียงกัน, ถูกแทง, ธนูปักอก ฯ นี่เพราะสมัยนั้นความสมจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก กระนั้นหนังยังใส่ความรุนแรงเข้าไปด้วยการเทสีเลือดไหล

(หลังจากหนังเรื่องนี้ เหมือนว่า King Hu จะไม่อภิรมย์กับการสาดเทสีเลือดอีกแล้วนะครับ เขาพยายามหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งกับ Dragon Inn และ A Touch of Zen เพราะถือเป็นการเพิ่มความรุนแรงให้กับหนังโดยไม่จำเป็น)

เพลงประกอบโดย Eddie H. Wang กับ Zhou Lan-ping, หนังใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนบรรเลงเล่นบทเพลงงิ้วทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเข้ากับองค์ประกอบการแสดงของหนัง ที่มีกลิ่นอายสัมผัสของ Beijing Opera อยู่

ผมค่อนข้างชอบบทเพลงที่แมวเมาร้อง แอบมีความหมายนัยยะซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งจะตรงกับเรื่องราวของหนังพอดี แถมเป็นคำใบ้ให้กับหงส์ทอง ที่ถ้าคนไม่รู้ภาษาจีนคงยากจะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร (คิดว่าที่หนังต้องมีเพลงร้อง เพื่อเข้ากับเทรนด์ยุคนั้นของหนังจีน ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวงิ้ว/Musical ทำให้ต้องมีร้องเพลงประกอบ)

เกร็ด: ตามตำนานเล่าว่า เฉินหลง (Jackie Chan) เป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กขอทานร้องเพลง แต่ใครคนไหนเหมือนจะไม่มีใครรู้

Come Drink with Me มีสองเรื่องราวที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน
– หงษ์ทอง ต้องการช่วยพี่ชายที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มโจรพยัคฆ์
– หลวงจีนเหลียงคุน ออกตามหาแมวเมาที่ถือครองไม้ไผ่ทองคำ สิทธิ์ในการครอบครองของตน

ซึ่งสองเรื่องราวนี้มีลักษณะสะท้อนตรงกันข้าม เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันแบบไขว้สลับ กล่าวคือ
– แมวเมาให้การช่วงเหลือหงษ์ทอง
– หลวงจีนเหลียงคุนให้การสนับสนุนกลุ่มโจรพยัคฆ์

ใจความสำคัญเป็นการสะท้อนคุณค่า/คุณธรรมของมนุษย์ต่อเหตุการณ์ที่ 1)ได้เปรียบเป็นเจ้าของ 2)เสียเปรียบต้องช่วงชิง, กับฝั่งของหงษ์ทองแมวเมา ด้วยความที่เป็นคนดี มีคุณธรรมประจำใจ พวกเขาเกิดจิตสำนึกที่จะให้อภัย ให้โอกาส ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงกับข้ามกับฝั่งหลวงจีนและโจรพยัคฆ์ ถึงจะพลาดพลั่งแต่ยังมีชีพ ก็ไม่สนใจที่จะกลับตัว ฉกฉวยสนแต่ผลประโยชน์ความต้องการของตนเอง

อาจทำความเข้าใจยากสักหน่อยนะครับ จริงๆมันก็แค่ ธรรมมะชนะอธรรม, คนดีย่อมให้โอกาส คนชั่วย่อมฉวยโอกาส ฯ ก็แค่นี้แหละ แต่การเล่าเรื่องนำเสนอด้วยลีลาสลับซับซ้อน เป็นสิ่งที่ทำให้หนังมีมิติ ลึกล้ำ น่าสนใจค้นหา ซึ่งผมก็เกิดความอภิรมณ์เริงใจพอสมควร เพราะหนังไม่ได้มีความตื้นเขินไร้สาระ ชวนให้ครุ่นคิดค้นหาคำตอบ มันอาจจะไม่รู้เรื่องหรือไม่สนุก แต่อย่างน้อยดูจบก็มีอะไรให้วิเคราะห์พูดถึงได้

ซึ่งหนังเรื่องนี้ King Hu ยังได้ทำการสอดแทรกทัศนะความคิดเห็น แนวคิดทางการเมืองของตนเองเข้าไปด้วยแบบเต็มๆ, ผมรู้สึกว่าเขาค่อนข้างต่อต้านผู้นำซุนยัตเซ็น แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าข้างเจียงไคเช็ก ที่ตอนนั้นต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่กรุงไทเป ไต้หวัน โดยการเปรียบเทียบผู้นำทั้งสองนี้ จะคือสุดยอดฝีมือร่วมสำนัก
– หลวงจีนเหลียงคุน ผู้มีวรยุทธ์ลึกล้ำ เปรียบได้กับ ซุนยัตเซ็น
– แมวเมา ศิษย์น้องร่วมสำนึกที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุน เปรียบได้กับ เจียงไคเช็ก

ใครศึกษารู้จักประวัติศาสตร์ของประเทศจีน จะรู้ว่าทั้ง ซุนยัดเซ็นและเจียงไคเช็ก คือเพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่ต้องแตกคอเพราะแนวคิดสุดโต่งทางการปกครองของทั้งคู่ ขณะที่ซุนยัดเซ็นทำทุกอย่างเพื่อสนองอำนาจมืดของตนเอง เจียงไคเช็กได้ถูกขับไล่หลบหนีลี้ภัยไปอยู่กรุงไทเป ไต้หวัน พยายามที่จะสร้างประเทศของตนเองขึ้นมา, อาจมีหลายคนสงสัยว่า ตอนจบของหนัง แมวเมาฆ่าเหลียงคุนไม่ใช่เหรอ … นี่เป็นการแสดงทัศนะความต้องการของผู้กำกับ King Hu นะครับ ที่ต้องการให้ซุนยัดเซ็นพ่ายแพ้ และเจียงไคเช็กกลับมาเรืองอำนาจ แต่ความจริงหลายคนคงรู้ว่า นี่เป็นสิ่งไม่ได้เกิดขึ้น

ไม้ไผ่ทองคำ เป็นสิ่งสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณแท้จริงของชาวจีน, การทำให้แมวเมา ต้องมีมุมที่ว่า อยากที่จะให้โอกาสเหลียงคุน ไม่ต้องการฆ่ารุ่นพี่ร่วมสำนักที่ติดหนี้บุญคุณมา มองในมุมทั่วไปคือการมีคุณธรรมของตัวละคร แต่ในประเด็นแฝงคือ ฉันก็เป็นคนจีน ไม่อยากที่จะฆ่าฟันพี่น้องผืนแผ่นเดียวกัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็…

สำหรับหงษ์ทอง สหายหนึ่งเดียวของแมวเมา เปรียบก็แทนด้วยประเทศฮ่องกง ที่ก็มีแนวการปกครองไปในแนวทางเดียวกัน การลักพาตัวพี่ชายมองว่ามีนัยยะที่จีนขายเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษเป็นตัวประกัน, ส่วนโจรพยัคฆ์และพรรคพวก แทนบรรดาชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หัวเมืองต่างๆที่มีพวกมาก แต่ต้องคอยทำตามตกอยู่ใต้คำสั่งของฝ่ายอธรรม

ประเด็นแฝงทางการเมืองนี้ จะโดดเด่นชัดมากกับหนังเรื่อง Dragon Inn ซึ่ง King Hu ได้ตัดสินใจอพยพย้ายตัวเองจาก Hong Kong ไปทำหนังที่ไต้หวัน ประหนึ่งคงหวังจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลของเจียงไคเช็ก (เพราะพี่แกเล่นทำหนังส่อเสียดสี ต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อย่างเข้มข้นเหลือเกิน)

ด้วยความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ มีหรือจะไม่ถูกสร้างภาคต่อ แต่ตอนนั้น King Hu ลาจาก Shaw Brothers ไปแล้ว และเยี่ยหัวก็ตัดสินใจไม่กลับมารับบท ทำให้เจิ้งเพ่ยเพ่ยฉายเดี่ยว ประกบพระเอกใหม่ Jimmy Wang ในหนังเรื่อง Golden Swallow (1968) แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าเรื่องนี้ แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลามไม่แพ้กัน

ส่วนตัวแค่ชมชอบหนังเรื่องนี้ คงเพราะผมเกิดการเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นของ King Hu อย่าง Dragon Inn และ A Touch of Zen ที่ทำออกมาได้ดีเยี่ยมกว่ามาก (ผมดู Come Drink with Me หลังสุด มันเลยเป็นความช่วยไม่ได้ที่ต้องเปรียบเทียบ) และเหมือนว่า หนังยังอยู่ในขั้นทดลองค้นหาสิ่งที่ความสนใจของตนเอง เลยยังมีขาดๆเกินๆ สนุกบ้างน่าเบื่อบ้าง แต่ถือว่ามีความบันเทิงเข้าขั้น และความสวยงามชั้นเยี่ยม

แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้ฟันดาบ ชื่นชอบแนวกำลังภายใน Wuxia, นักคิดนักปรัชญา ชื่นชอบผู้กำกับ King Hu, นักแสดงดังอย่างเจิ้งเพ่ยเพ่ย, เยี่ยหัว ไม่ควรพลาดเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบดูงิ้ว เห็นจังหวะการเคลื่อนไหวและเพลงประกอบของหนังแล้ว สัมผัสได้หรือเปล่าว่าหนังได้อิทธิพลมา

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการต่อสู้ และความตาย

TAGLINE | “Come Drink with Me คือคำชักชวนแรกของหนังแนว Wuxia โดยผู้กำกับ King Hu และนักแสดงนำ Cheng Pei-pei แม้ไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบแต่มีความคลาสสิก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: