Comrades: Almost a Love Story (1996)
: Peter Chan ♥♥♥♥♡
คนอายุเกิน 30+ น่าจะรู้จักกับ เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว ภาพยนตร์จีนรักโรแมนติก กำกับโดย Peter Chan ที่มีเพลงประกอบอันสุดไพเราะจากเติ้งลี่จวิน (Teresa Teng) ราชินีเพลงจีนที่โด่งดังที่สุดในยุค 70s-80s โดยเฉพาะเพลงเถียนมี่มี่ (Tián Mì Mì) ที่เป็นอมตะตลอดกาล
ผมเกิดทันหนังเรื่องนี้นะ แต่ตอนนั้นยังจำความได้ไม่มากเท่าไหร่ คือจำข่าวที่เติ้งลี่จวินเสียชีวิตในเมืองไทยได้ และเพลงเถียนมี่มี่ สมัยนั้นได้ยินบ่อยจนแทบจะร้องตามได้, น่าเสียดายที่กาลเวลาทำให้ตำนานเริ่มถูกลืมเลือน วัยรุ่นสมัยนี้ไม่มีโอกาสได้รู้จักเธอเสียเท่าไหร่แล้ว ถือเป็นนักร้องคนสำคัญมากๆที่สุดคนหนึ่งของประเทศจีน ถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า ‘มีชาวจีนอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินเพลงของเติ้งลี่จวินที่นั่น’, หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ชีวประวัติของเธอนะครับ เป็นหนังรักโรแมนติกที่ใช้เพลงของเติ้งลี่จวินเป็นชื่อหนังและประกอบเรื่องราว
ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้ จะมองเห็นว่าเป็นหนังรักแท้สุดโรแมนติก หวานปานจะกลืนกิน ของคนสองคนที่ตกหลุมรัก แล้วพลัดพราก ก่อนที่จะได้มาพบกันอีกครั้งสิบปีให้หลัง, แต่เดี๋ยวก่อนนะ จะบอกว่าตอนผมดูครั้งล่าสุดนี้ ได้แอบเห็นประเด็นของหนังที่แฝงซ่อนไว้ โดยใช้อิทธิพลจากบทเพลงของเติ้งลี่จวินเป็นจุดเชื่อม นั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และอังกฤษ เมื่อแทนสามประเทศนี้ด้วยตัวละครหลักทั้ง 3-4 คน จะพบว่าลงตัวเปะๆเลย แสดงว่าใจความสำคัญของหนัง แท้จริงแล้วไม่ใช่รักโรแมนติก (ดังชื่อหนัง Almost a Love Story) แต่เป็นการแสดงความรู้สึก รักแท้ต่อเจ้าของที่แท้จริงในเขตปกครองฮ่องกง
ผู้กำกับ Peter Chan ถือว่าได้ใส่ทัศนคติของตัวเองเข้าไปในหนังเข้าเต็มๆเลย เพราะขณะนั้นฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ, เมื่อวิเคราะห์ถึงแนวคิดของหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมเชื่อว่า เขาได้อิทธิพลมาจาก Wong Kar-Wai แน่ๆ (Wong Kar-Wai สร้าง Days of Being Wild ด้วยการแทนเรื่องราวของความโหยหาความรัก กับความต้องการกลับคืนอ้อมอกแผ่นดินแม่ของฮ่องกง) การพลัดพราก แยกจาก โหยหา และกลับมาพบเจอ นี่ถือเป็นสาสน์รักของ Chan ที่ตะโกนออกมาว่า ‘ฮ่องกงคือแผ่นดินของจีน ถึงตอนนี้จะต้องพลัดพราก แต่สักวันเราต้องได้พบกันอีก’
เขียนบทโดย Ivy Ho หรือ Ivy Ho Sai-Hong นักวิจารณ์ในฮ่องกงต่างชื่นชม Ho ในฐานะนักเขียน ว่ามีความสันทัดในการแฝงแนวคิด เรื่องราวที่มีมิติซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้ง (As a writer, Ho excels as a miniaturist.) ในช่วงที่จีนแผ่นดินใหญ่ข้าวยากหมากแพง หนุ่มสาวต่างหวังจะมาขุดทองที่ฮ่องกง พระเอกมาเพื่อทำงานหาเงิน ตั้งตัวสำเร็จจะได้แต่งกับแฟนสาว ส่วนนางเอกมาเพื่อเก็บหอมรอมริบและหาแฟนหนุ่มที่พึ่งพาได้แต่งงาน เมื่อทั้งสองได้พบกัน เพราะความเหงาในดินแดนที่ห่างไกล ความรักจึงก่อตัวขึ้น
นำแสดงโดยจางม่านอวี้ (Maggie Cheung) รับบทหลี่เฉียว (Li Qiao) หญิงสาวที่มาจากกวางโจว (Guangzhou) พูดกวางตุ้งได้ (Cantonese) จึงสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ในฮ่องกง, จางม่านอวี้ถือว่าเป็นสุดยอดนักแสดงหญิงชาวฮ่องกงที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่สามารถคว้า Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes (จากเรื่อง Clean-2004 กำกับโดยสามีเธอเอง) และ Silver Lion: Best Actress ของเทศกาลหนังเมือง Berlin จากหนังเรื่อง Centre Stage (1992), ในเวทีประกาศรางวัลของ Hong Kong Film Award และ Golden Horse Award (ของไต้หวัน) เธอถือสถิตินักแสดงหญิงที่ได้รางวัลเยอะที่สุด แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้จางม่านอวี้ กวาดเรียบทุกสำนัก ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
ผมรู้จักจางม่านอวี้ครั้งแรกก็จากหนังเรื่องนี้นะครับ ตามด้วย In the Mood for Love (2000) และ Days of Being Wild (1990) ใบหน้าเธอจีนแท้มากๆ ทรงกลม ตาชั้นเดียว ผมม้วนหยิกๆ เวลาผมนึกหน้าหน้าอาหมวยจีน ใบหน้าของเธอกับกงลี่ จะผุดขึ้นมาทีนที, กับหนังเรื่องนี้ เธอมักเรียกพระเอกว่าสหายรัก (Comrades) ไม่ใช่คนรัก ทั้งๆที่ชายหญิงสองคนหลับนอนด้วยกัน กลับมองว่าเป็นแค่เพื่อนแก้เหงา ไม่ใช่แฟน นี่ไม่ใช่แนวคิดของคนจีนดั้งเดิมแน่ๆ เปรียบได้เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (หรือคนฮ่องกง)
หลี่หมิง (Leon Lai-ming) หนึ่งในจตุรเทพของฮ่องกง เกิดที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แล้วออกเดินทางมาฮ่องกง กลายเป็นนักร้องนักแสดงชื่อดังมากๆคนหนึ่ง, ชีวประวัติหลี่หมิงก็เหมือนกับตัวละคร หลี่เสี่ยวจิน (Li Xiao-Jun) เป็นหนุ่มบ้านนอกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ออกเดินทางไปแสวงโชคที่ฮ่องกง แต่เพราะความบ้านนอก นิสัยบ้านๆ ซื่อๆของเขา ทำให้ทุกอย่างดูผิดที่ผิดทางไปเสียหมด, ตัวละครนี้เป็นตัวแทนของคนจีนในยุคหลังการปฏิวัติ เมื่อได้พบกับอะไรใหม่ๆที่เข้ามาในชีวิต ก็เกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ลองผิดลองถูก จนเมื่ออยู่ไปสักพัก ก็สามารถเข้าที่เข้าทาง เข้ารูปเข้ารอย ปรับตัวเองสู่โลกยุคใหม่ได้
การเจอกันระหว่าง หลี่เฉียวกับหลี่เสี่ยวจิน พื้นหลังคือเป็นคนจีนเหมือนกัน คนหนึ่งมีความคิดสมัยใหม่ อีกคนยังอยู่หลังเขาแต่กำลังพยายามปรับตัว สิ่งที่เชื่อมกันระหว่างทั้งสองคือ ความชื่นชอบในบทเพลงของเติ้งลี่จวิน
เติ้งลี่จวิน (Teresa Teng) เกิดที่เมืองเป่าจง มณฑลหยุนหลิน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีชื่อเสียงจากการเป็นนักร้องบทเพลงรัก สามารถร้องได้หลายภาษา ทั้งไต้หวัน จีนกลาง จีนกวางตุ้ง ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ นี่เองทำให้เธอกลายเป็นที่จดจำทั่วทั้งเอเชียตะวันออก ในหมู่ชาวจีนทั้งในประเทศจีน ไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก รวมถึงในหมู่ชาวญี่ปุ่น เกาหลี ชาวไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย, ในช่วงต้นของทศวรรษ 80s ความตึงเครียดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันยังคงคุกรุ่น เหล่านักร้องจากทั้งไต้หวันและฮ่องกงถูกแบนในประเทศจีน กระนั้นเติ้งลี่จวินก็ยังคงมีชื่อเสียงไม่เสื่อมคลาย เพลงของเธอถูกเปิดทุกที่ ตั้งแต่สถานเริงรมย์จนถึงสถานที่ราชการ จนทางการต้องสั่งแบนเพลงของเธอ, เติ้งลี่จวินได้เดินทางไปเปิดการแสดงตามประเทศต่างๆทั่วโลก แต่เธอกลับไม่เคยไปแสดงในสาธารณรัฐประชาชนจีนเลย จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 90s พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เชิญเธอไปเปิดการแสดง น่าเสียดายที่ยังไม่ทันความฝันจะกลายเป็นความจริง ก็ดันมาเสียชีวิตเสียก่อน
ในหนังจะมี 2 เพลงดังที่สุดของเธอคือ เถียน มี่มี่ (Tián mì mì แปลว่า หวานปานน้ำผึ้ง) และเพลง เยว่เหลียงไต้เปี่ยวหวอเตอซิน (Yuè liang Dài biǎo Wǒ de Xīn แปลว่า พระจันทร์แทนใจฉัน), เติ้งลี่จวิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ขณะอายุได้ 42 ปี ด้วยโรคหอบหืด ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย พิธีศพถูกจัดขึ้นแบบรัฐพิธี โลงศพถูกคลุมด้วยธงชาติสาธารณรัฐจีน โดยอดีตประธานาธิบดีลีเต็งฮุย (Lee Teng-hui) มีประชาชนจำนวนหลายพันเข้าร่วมพิธีด้วยความอาลัยรัก
ผมถือว่า เติ้งลี่จวิน คือตัวละครหนึ่งในหนังนะครับ ที่ไม่ได้มาในรูปเป็นตัวเป็นตน (มีปรากฎกายแวบนึง) เปรียบเหมือน MacGuffin ที่ได้รับการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ และมีอิทธิพลต่อเรื่องราว ตัวละครอย่างมาก, จะว่าถ้าไม่ได้เพลงรักของเติ้งลี่จวิน แล้วละก็ หลี่เฉียวกับหลี่เสี่ยวจินคงไม่มีวันได้พบรักกันเป็นแน่, เช่นกันกับจีน ฮ่องกง ไต้หวัน บทเพลงของเติ้งลี่จวินก็มีอิทธิพลเหนือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งๆที่เจ้าตัวไม่เคยเหยียบแผ่นดินจีนสักครั้ง แต่มีแฟนเพลงมากมายมหาศาลที่อาลัยเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของเธอ นี่ถือเป็นการสูญเสียที่เสียหายหนักมาก ถ้าเทียบว่าโลกตะวันตกมี Elvis Presley ฝั่งโลกตะวันออกก็เติ้ลลี่จวินนี่แหละ ระดับตำนานเท่าเทียมกันเลย
Kristy Yang รับบทเสี่ยวถิง (XiaoTing) แฟนสาวของหลี่เสี่ยวจิน ที่พอได้แต่งงานแล้วก็อยู่กันไม่ได้นาน เพราะเขาไม่ได้รักเธอแท้จริง, ผมเปรียบตัวละครนี้กับ จีนยุคสมัยก่อนปฏิวัติ ที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแลจากจีนสมัยใหม่, คงมีบางคนที่รู้สึกอคติต่อหนัง เพราะการทิ้งขว้างเสี่ยวถิงแบบไม่ใยดี นี่ไม่ใช่หลักมนุษยธรรมที่ดีเลย แต่ถ้ามองในมุมวิเคราะห์ จะพบว่านี่เป็นทัศนคติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ประเทศต้องก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่หันหลังกลับไปมองอดีตเด็ดขาด นี่เป็นประเด็นเปรียบเทียบที่หนังนำเสนอออกมาตรงๆ ใครเกิดอคติก็ทำใจไปนะครับ ตัวละครนี้สร้างมาให้เป็นนางรองถูกหักอกตั้งแต่แรก
เฉิงจื้อเหว่ย์ (Tsang Chi-wai) อีกหนึ่งนักแสดงคุณภาพที่ร่วมสมทบ ในบทเจ้าพ่อมาเฟียที่อุปถัมภ์หลี่เฉียว, เฮียเฮิงจื้อเหว่ย์แกเล่นหนังบทบาทอื่นไม่ได้จริงๆนะครับ ไม่งั้นจะได้ฉายา ‘เจ้าพ่อ’ แห่งวงการภาพยนตร์ฮ่องกงได้ยังไง, ตัวละครนี้ผมพยายามมองให้เป็นตัวแทนของประเทศอังกฤษ แต่ก็ทำไม่ได้ (เพราะอังกฤษเป็นประเทศผู้ปกครองเกาะฮ่องกง) คือมันดูเหมือนอเมริกามากกว่า โดยเฉพาะมิกกี้เมาส์ เป็นตัวแทนของอเมริกาที่ชัดมาก, บทเล็กๆของพี่แก ที่มีมิกกี้เมาส์มาแย่งซีน เด่นขนาดคว้ารางวัล Best Supporting Actor จาก Hong Kong Film Award
สำหรับเหตุผลที่หนังต้องไปถ่ายถึงอเมริกา ผมคิดว่า เป็นการคาดการณ์ความรุ่งโรจน์ในอนาคตของฮ่องกง ต้องเป็นแบบ New York แน่ๆ เหมือนคำพูดที่ตัวละครของเฉิงจื้อเหว่ย์พูด นี่หนีมาอเมริกาแท้ๆ แต่เหมือนอยู่ในฮ่องกง, และที่ New York มีอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพอยู่ เป็นนัยที่แสดงถึง ‘อิสระ’ ของฮ่องกง ขณะที่หนังฉาย เหลือเวลาอีกไม่นานที่อังกฤษจากฮ่องกงไป เมื่อนั้นเหมือนกับพวกเขาจะได้กลับบ้าน (มีตัวละครหนึ่งที่พูดเช่นกัน ว่าคนจีนอย่างเราๆ สุดท้ายก็อยากกลับบ้าน)
ผมจะเปรียบเทียบหนังดังนี้นะครับ, ฮ่องกงเคยเป็นดินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อน (หลี่เฉียวกับหลี่เสี่ยวจิน) จากนั้นถูกอังกฤษยึดครอง (หลี่เฉียวได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าพ่อมาเฟีย) ผ่านไปหลายทศวรรษ สุดท้ายอังกฤษก็คืออำนาจการปกครองฮ่องกงให้จีน (หลี่เฉียวพบกับหลี่เสี่ยวจินตอนจบ), นี่ย่อแบบสุดๆ เลยนะครับ ผมคิดว่าถ้าคนที่ชอบวิเคราะห์หนัง เห็นแค่ 3 จุดนี้ ก็น่าจะสามารถเอาไปวิเคราะห์ต่อเองได้ทั้งเรื่องแล้ว ว่าใจความที่แฝงอยู่ของหนังคืออะไร ให้ผมบอกหมดดูหนังจะไปสนุกอะไร
เกือบลืมไป หนังมี Christopher Doyle ตากล้องขาประจำของ Wong Kar-Wai ด้วย แต่พี่แกไม่ได้มาเป็นตากล้องนะครับ รับบทเป็น Cameo เป็นฝรั่งที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง (Doyle เป็นลูกครึ่ง Australia-Hong Kong หน้าเลยออกไปทางฝรั่ง) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และติดหญิงไทย (ในเครดิตหนัง คนรับบทคือ Michelle Gabriel ไม่รู้ว่าเธอเป็นคนไทยหรือเปล่านะ)
ถ่ายภาพโดย Jingle Ma, หนังเรื่องนี้ถือว่าถ่ายได้ใกล้ชิดตัวละครมากๆ เน้นภาพ Mid Shot และ Close-Up ในห้องที่คับแคบทำให้รู้สึกอึดอัด, ผมว่าหนังเรื่องนี้อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Wong Kar-Wai ถ่าย In the Mood for Love (2000) ได้อึดอัดมากๆ (มันก็แบบนี้แหละครับ ผู้กำกับเก่งๆ มักจะชอบแลกเปลี่ยนแนวคิด แรงบันดาลใจ อิทธิพลซึ่งกันและกัน), ฉากบนถนน ทั้งฮ่องกงและอเมริกา น่าจะแบบ off road เก็บภาพความสับสนวุ่นวายจริงๆ ถ่ายภาพมีลักษณะแอบถ่ายอย่างเยอะ นักแสดงเลยดูลุกลี้ลุกรนเสียหน่อย, ฉากในตำนานคือ ตอนซ้อนท้ายจักรยาน กล้องเคลื่อนตาม (tracking shot) แล้วนางเอกอยู่ดีๆก็ร้อง เถียนมี่มี่ ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นี่เป็นซีนที่ดูธรรมดา แต่เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่
ตัดต่อโดย Chan Ki-hop และ Kwong Chi-Leung, หนังใช้เวลาเป็นจุดอ้างอิงดำเนินเรื่อง เริ่มต้นจาก 1 มีนาคม 1986 พระเอกนางเอกพบกันบนรถไฟฟ้าสู่ฮ่องกง แต่ยังไม่ได้รู้จักกัน และ 8 พฤษภาคม 1995 (วันเสียชีวิตของเติ้งลี่จวิน) ทั้งคู่เจอกันอีกครั้งที่มหานครนิวยอร์ค ขณะต่างก็ยืนอยู่หน้าร้านขายโทรทัศน์, ครึ่งแรกใช้การเล่าเรื่องเป็นคำบรรยายผ่านความคิด ขณะเขียนจดหมายของพระเอก เป็นมุมมองของเขาต่อสิ่งที่ได้พบเจอในฮ่องกงล้วนๆ พอจดหมายฉบับสุดท้ายจบลง หนังเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องเป็นตัดสลับเรื่องราวระหว่างพระเอกและนางเอก เป็นแบบนี้ไปจนจบเรื่อง, เหตุที่เล่าเรื่องแบบนี้ เพราะช่วงแรกของหนัง คู่พระนางแทบจะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่พอจดหมายฉบับสุดท้ายถูกส่ง จึงเริ่มแยกจากกัน ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันแล้ว (หนังเลยเล่าเรื่องให้เห็นทั้งสองมุมมอง) ซึ่งกว่าจะกลับมาบรรจบอีกครั้ง ก็ตอนจบเลย
เพลงประกอบโดย Chiu Jun-Fun และ Chiu Tsang-Hei, หัวใจของหนังเรื่องนี้คือเพลงประกอบที่สุดไพเราะ ด้วยการนำเพลงของ เติ้งลี่จวิน มาเรียงเรียงใหม่ มีทั้งร้องใหม่ ดัดแปลงทำนอง และมีครั้งหนึ่งได้จะยินเสียงร้องของเติ้งลี่จวินจริงๆ, ผมเลือก original มาให้ฟังนะครับ มันมีอีกเวอร์ชั่น cover ที่ใช้ในหนัง แล้วหลี่หมิงร่วมร้องด้วย ลองไปหาฟังเอาเองแล้วกัน
นอกจากประเด็นเรื่อง ‘รักแท้’ กับฮ่องกงเป็นแผ่นดินจีนแล้ว ผมขอพูดประเด็นอื่นบ้างนะครับ เช่น ความ Nostalgia ของหนัง ถึงตอนผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกจะอายุ 10+ กว่าๆ แต่ประเด็นอย่าง ATM ใบแรก บ้านผมก็เป็นนะครับ อารมณ์เห่อขอใหม่ แล้วดันใส่รหัสผิด (ขนาดเมืองไทยมีรหัสแค่ 4 ตัวนะครับ ยังจำผิดได้ ในหนังเห็นกดๆอยู่ไม่รู้ตั้งกี่ตัว), ในหนังเห่อ McDonald บ้านผมเห่อ KFC สั่งไก่กินครั้งแรกใช้มือหยิบกิน ช้อนส้อมใช้ลำบากเกิ้น มองไปโต๊ะข้างๆมีแต่ผู้ดี ใช้ช้อนส้อมมีดหั่นไก่กิน ฯ
สมัยก่อนเงินหายากนะครับ คนที่ตั้งใจอดทนทำงานอย่างแข็งขัน เก็บหอมรอมริด ชีวิตย่อมค่อยๆพัฒนาในทางที่ดีขึ้น สักวันก็จะประสบความสำเร็จ แต่อย่าหวังกับรวยทางลัด เช่น การพนันหรือเล่นหุ้นจะหมดตัวได้ง่ายๆ (นี่คงสอนคนสมัยนี้ไม่ค่อยได้เท่าไหร่) ผมมาคิดดู ประเด็นพวกนี้หาไม่ค่อยได้แล้วกันหนังสมัยนี้ เหมือนยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเร็วมาก ผู้คนไม่อดอยากยากลำบากเหมือนแต่ก่อน อย่างน้อยคือไม่อดตายแน่ๆ ประเด็นพวกสอนชีวิตอะไรพวกนี้ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไม่ผ่านสมองเหมือนแต่ก่อน, เช่นกันกับอิทธิพลของหนังก็ลดลงนะครับ สมัยก่อนสื่อภาพยนตร์ถือว่ามีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก บอกซ้ายไปซ้าย บอกขวาไปขวา เห็นอะไรก็เชื่อหมดแบบนั้น สมัยนี้มีสภาพกลายเป็น ‘แค่’ ความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ยากที่จะปลูกฝังหรือสอดแทรกแนวคิดอะไรดีๆลงไป ถ้าไม่มีความบันเทิงผสมอยู่ด้วย ก็มักเข้าไม่ถึงผู้ชมสมัยใหม่
หลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นมา บอกเลยว่ารสนิยมของผมต่อหนังแนวรักโรแมนติกลดลงมาก คงเพราะได้ผ่านช่วงวัยคึกคะนองที่มีความต้องการครอบครอง โหยหา ทั้งแรงขับทางกายและทางใจ, ปัจจุบันเมื่อโตขึ้น ฮอร์โมนที่กระตุ้นความต้องการลดลง ทำให้จิตใจสงบลง จากที่เคยเห็นว่า ต้องการเป็นที่สุด เริ่มรู้ว่า มันก็ไม่ได้สำคัญอะไรเท่าไหร่, ผมคิดว่าหนังแนวรักโรแมนติกที่ดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ต้องโดนใจวัยรุ่นนะครับ แต่สามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้ อย่างหนังเรื่องนี้ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นจะเห็นอย่างหนึ่ง โตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเห็นอีกอย่าง นักคิดวิเคราะห์อย่างผมก็จะเห็นไปอีกเรื่องนึงเลย นี่แหละครับที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นหนังรักโรแมนติกที่ดี และสาเหตุนี้กระมังที่ทำให้หนังกลายเป็นตำนาน
นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆ คนวัย 30+ แทบทั้งนั้นน่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้จัก และอาจเคยหลงใหลชื่นชอบ ผมก็คนหนึ่งที่เคยหลงรักหนังเรื่องนี้ กลับมาดูครั้งนี้แม้ไม่ได้หลงมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รักน้อยลง (กระนั้นก็แอบรู้สึก ส่วนโรแมนติกของหนังเริ่มดูไร้สาระ) กับวัยรุ่นสมัยนี้ น่าอาจเป็นหนังที่เริ่ม ‘ล้าสมัย’ แต่ยังไม่ตกยุคแน่นอน ถ้าคุณเป็นคนเชื้อสายจีน เกินในจีน ฮ่องกงหรือไต้หวัน ผมจะบอกว่านี่เป็น ‘หนังที่ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’ แต่ถ้าคุณเป็นคนไทย ไม่ถึงขั้นนั้นก็ได้ ลองถามพ่อแม่พี่น้องที่อายุ 30+ ดู เชื่อว่าแทบทั้งนั้นจะรู้จักเถียนมี่มี่ และ เติ้งลีจวิน ถ้าคุณอายุเกินแล้วยังไม่ได้ดู ควรอย่างยิ่งที่จะหามาดูนะครับ ตามร้านขายแผ่นหนังทั่วไปน่าจะยังมีขายถมๆในกอง 3 แผ่นร้อยแน่
หนังออกฉายในฮ่องกง 2 พฤศจิกายน 1996 ทำเงินได้HK$15,557,580 ในงานประกาศรางวัล Hong Kong Film Awards เข้าชิง 11 สาขา ได้ 9 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Maggie Cheung)
– Best Supporting Actor (Tsang Chi-wai)
– Best Screenplay
– Best Cinematography
– Best Art Direction
– Best Costume Design
– Best Original Music Score
พลาดไปคือ
– Best Actor (Leon Lai-ming)
– Best Newcomer (Kristy Yang)
ขณะที่ Golden Horse Film Awards ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Actress (Maggie Cheung)
แนะนำกับคนที่ชอบหนังรักโรแมนติก ถ้ามันตรงกับชีวิตคุณจะได้ตกหลุมหลงรักแน่, นักประวัติศาสตร์ คนเชื้อสายจีนทั้งหลาย ที่อยากเห็นภาพหลัง วิถีชีวิตของคนฮ่องกงยุคก่อน และทัศนคติความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่, แฟนหนังของผู้กำกับ Peter Chan, หลี่หมิง (Leon Lai-ming), จางม่านอวี้ (Maggie Cheung), และคนชอบฟังเพลงเพราะๆ จากราชินีเสียงทองเพลงจีนเติ้งลี่จวิน (Teresa Teng)
จัดเรต 13+ มี love scene ด้วย passion, โสเภณีและความรุนแรงนิดหน่อย
Leave a Reply