Contact (1997) : Robert Zemeckis ♥♥♥♥♡
วิทยาศาสตร์ ศาสนา การเมือง คือสามสิ่งที่มนุษย์พยายามแบ่งแยกแยะออกจาก แต่ในความเป็นจริงกลับมีรากฐาน และเป้าหมายปลายทางเดียวกัน คือเพื่อค้นหาสัจธรรมแห่งชีวิต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
วิทยาศาสตร์-ศาสนา ยังพอครุ่นคิดทำความเข้าใจไม่ยากเท่าไหร่ว่ามีพื้นฐาน วัตถุประสงค์ เป้าหมายปลายทางเดียวกัน เพื่อพิสูจน์ค้นหาข้อเท็จจริงของชีวิต ไขความลับของจักรวาล แต่เรื่องของการเมืองนี่สิ มันเกี่ยวอะไรด้วย?
นี่คงต้องอ้างอิงความเชื่อของชาวตะวันตก โลกถือกำเนิดขึ้นโดยพระบิดา/พระเจ้าผู้สร้าง มนุษย์ก็เช่นกันจากเลือดเนื้อเชื้อไขพลังลมปราณ แรกๆก็ปล่อยให้อาศัยอยู่ในสวนอีเดน จนกระทั่งถูกยั่วเย้ายวนให้หลงผิดกินแอปเปิ้ลผลไม้แห่งองค์ความรู้ จึงถูกขับไล่ออกจากสรวงสวรรค์ … นี่ไงละเรื่องของการเมืองที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับศาสนา (และวิทยาศาสตร์ก็พยายามพิสูจน์ค้นหาว่าพระเจ้ามีตัวตนจริงๆหรือเปล่า)
การท้าพิสูจน์ความเชื่อเรื่องพระเจ้า แทบทั้งนั้นมักจะมาจากการเปรียบเทียบเข้ากับชีวิต เช่นกว่า
– เด็กถือกำเนิดจากพ่อ-แม่ = มนุษยชาติก็ย่อมต้องถือกำเนิดจากพระเจ้าผู้สร้าง
– ความรักของพ่อ-แม่ ยิ่งใหญ่ประเมินค่าไม่ได้ = ความรักของพระผู้เป็นเจ้าต่อมวลมนุษย์ทุกคน จึงคือสิ่งสูงสุด
– ความรักเป็นสิ่งมีตัวตนแต่จับต้องไม่ได้ = พระผู้เป็นเจ้าก็เช่นกัน แต่เราสามารถรับรู้ ซาบซึ้ง ในสัมผัสแห่งความรักของพระองค์
ฯลฯ
เฉกเช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้เมื่อตอนที่ Ellie (รับบทโดย Jodie Foster) เดินทางไปสัมผัสรับรู้การมีตัวตนของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิต่างดาว แต่เมื่อไม่มีหลักฐานใดๆให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน ข้อเรียกร้องเพียง ‘ความเชื่อ’ ว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาล สามารถเทียบได้กับหลักศรัทธาของศาสนา เสี้ยมสอนให้มนุษย์รับรู้ว่าพระเจ้ามีตัวตนอยู่จริง
ในมุมของผมมองเป็นความน่าทึ่งอัศจรรย์ใจ ที่มนุษย์เราสามารถ ‘เชื่อ’ อะไรๆได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ทั้งๆหลายแนวคิดของวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนี้ สามารถล้มล้างการมีตัวตนของพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว (โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการ) แต่คนกลุ่มนั้นกลับยังหาทางดิ้นพร่านเอาตัวรอด เบี่ยงเบงความสนใจ จับแพะชนแกะนำโน่นนี่นั่นมาอ้าง มันช่างเป็นโลกทัศนคติที่น่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน
Contact เป็นภาพยนตร์ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้มากๆ แต่ไม่ใช่ในเรื่องเปรียบเทียบกับศาสนาหรือความเชื่อศรัทธา วินาทีแห่งการค้นพบเจอ ติดต่อสื่อสาร เดินทางไปมาหาสู่กับสิ่งมีชีวิตต่างดาว แม้จะออกในเชิงนามธรรมตรงกันข้ามกับ Close Encounters of the Third Kind (1977) หรือ Star Trek: First Contact (1996) ที่ได้พบเจอตัวจริงๆเดินทางมายังโลกครั้งแรก เป็นความทะเยอทะยานของผู้สร้างเพื่อตั้งคำถามวิวัฒนาการของมนุษย์ ระหว่างความเจริญทางเทคโนโลยีกับจิตใจคน แบบไหนจะทำให้เราก้าวหน้าไปไกลได้มากกว่า?
ถึงกระนั้นสำหรับคนที่เคยอ่านนวนิยาย Contact (1985) ของ Carl Sagan คงรู้สึกผิดหวังโดยสิ้นเชิง เพราะหนังปรับเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างจนแทบไม่เหลือเค้าโครงแนวคิดตั้งต้น แต่เพราะผมไม่เคยอ่านนิยายย่อมมิสามารถแสดงทัศนคติความเห็นต่างนั้นได้
เท่าที่หาข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับนวนิยาย ใจความคือการค้นหาความจริงของธรรมชาติได้ด้วยคณิตศาสตร์ โดยใช้ความฉงนสงสัยเกี่ยวกับค่าพาย (3.1427…) มันจะไม่มีจุดสิ้นสุดจริงๆนะหรือ?
Carl Edward Sagan (1934 – 1996) นักดาราศาสตร์/ฟิสิกส์/จักรวาลวิทยา สัญชาติอเมริกัน เคยทำงานเป็นวิศวกร NASA, บุกเบิกโครงการ Search for Extra-Terrestrial Intelligence (SETI), นอกจากนี้ยังเคยคว้ารางวัล Pulitzer Prize จากหนังสือเรื่อง The Dragons of Eden (1977) และสร้างซีรีย์ Cosmos: A Personal Voyage (1980) คว้าสองรางวัล Emmy Award
Sagan เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับ Contact เมื่อประมาณปี 1979 เริ่มจากเขียน Treatment กว่าร้อยหน้าร่วมกับว่าที่ภรรยา Ann Druyan ตั้งใจให้เป็นภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดยเพื่อนสนิท Lynda Obst
“Carl’s and my dream was to write something that would be a fictional representation of what contact would actually be like, that would convey something of the true grandeur of the universe”.
– Ann Druyan
เพื่อความสมจริงของเรื่องราว Sagan ติดต่อขอคำแนะนำจาก Kip Thorne นักฟิสิกส์ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับรูหนอน การเดินทางในอวกาศ ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ความที่โปรดักชั่นหนังเริ่มล่าช้า ยังไม่สามารถหาทุนสร้าง/ผู้กำกับได้สักที เลยเปลี่ยนใจมาพัฒนาเป็นนวนิยายวางขายปี 1985 ถูกซื้อลิขสิทธิ์โดยสตูดิโอ Warner Bros.
ปี 1989, Obst ต้องการผลักดันโปรเจคนี้อย่างจริงจัง ติดต่อ Roland Joffé ให้มาขัดเกลาบทพร้อมกำกับ แต่ไม่นานถอนตัวออกไปเพราะความเห็นต่าง ส่งบทหนังให้ Robert Zemeckis ครั้งแรกตอบปฏิเสธเพราะรับไม่ได้กับตอนจบ
“The first script [for Contact] I saw was great until the last page and a half… and then it had the sky open up and these angelic aliens putting on a light show and I said, ‘That’s just not going to work”.
– Robert Zemeckis
ปี 1993, ว่าจ้าง George Miller เซ็นสัญญากำกับจากบทหนังของ James V. Hart, Michael Goldenberg ได้นักแสดง Jodie Foster, Ralph Fiennes แต่ความที่ Pre-Production เชื่องช้ายาวนาน และคงจะถลุงเงินเกินไปด้วย Miller เลยกึ่งๆถูกไล่ออก (Miller ไม่พึงพอใจอย่างยิ่งที่ถูกไล่ออก ถึงขนาดยื่นฟ้อง WB จบด้วยการจ่ายค่าเสียหายตอบแทน) หวนกลับไปหา Zemeckis หลังจากอ่านบทใหม่เกิดความพึงพอใจอย่างมาก หวนกลับมาด้วยข้อแม้อิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่
เกร็ด: สุดท้ายแล้ว Carl Sagan มีส่วนร่วมกับหนังเพียงแค่การนำเสนอวิทยาศาสตร์ให้มีความถูกต้องเหมาะสม แต่เขาไม่ทันมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างการถ่ายทำ พลันด่วนเสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 1996 ด้วยโรคปอดบวม
Robert Lee Zemeckis (เกิดปี 1952) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois พ่อเป็นชาว Lithuanian ส่วนแม่มาจาก Italian ครอบครัวนับถือ Roman Catholic อย่างเคร่งครัด
“the truth was that in my family there was no art. I mean, there was no music, there were no books, there was no theater… The only thing I had that was inspirational, was television—and it actually was”.
ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเล่นกล้อง 8mm ถ่ายทำ Stop-Motion สร้าง Special Effect ตัดสินใจแน่วแน่อยากเป็นผู้กำกับหลังจากรับชม Bonnie and Clyde (1967) แต่ครอบครัวไม่อนุญาต กระนั้นระหว่างเรียน Northern Illinois University เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเป็นนักตัดฟีล์มข่าว โฆษณา จนสามารถย้ายไปเรียนที่ School of Cinematic Arts ของ University of Southern California ทำโปรเจคนักศึกษาคว้ารางวัล Student Academy Award เข้าตาผู้กำกับ Steven Spielberg อาสาเป็น Mentor ดูแลโปรดิวเซอร์ให้ภาพยนตร์เรื่องแรก I Wanna Hold Your Hamd (1978), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Romancing the Stone (1984), Back to the Future Trilogy, Who Framed Roger Rabbit (1988), คว้า Oscar: Best Director เรื่อง Forrest Gump (1994), ผลงานอื่นๆ อาทิ Contact (1997), Cast Away (2000), The Polar Express (2004), Flight (2012) ฯ
ความสนใจของ Zemeckis แม้เติบโตผ่านยุคสมัย French New Wave แต่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่เคยอยู่ในความใคร่สนใจ อยากเพียงสร้างภาพยนตร์แนว Hollywood รับอิทธิพลจากไอคอนดัง Clint Eastwood, James Bond, Walt Disney, และคงจะรวมถึง Spielberg ด้วยกระมัง
Dr. Ellie Arroway (รับบทโดย Jodie Foster) มีความหลงใหลในฟากฟ้า ดวงดาว อวกาศมาตั้งแต่เด็ก ทำงานให้กับ SETI ขณะนั้นประจำการอยู่ที่ Arecibo Observatory, Puerto Rico ระหว่างนั้นมีโอกาสพบเจอ Palmer Joss (รับบทโดย Matthew McConaughey) หลงใหลในความคิดเห็นทัศนคติ แต่ภายหลังทราบว่าเขาคือนักปรัชญาคริสเตียน ขั้วตรงข้ามนักวิทย์-ศาสนา ต่อมาเมื่อหน่วยงานของตนเองถูกขับไล่ที่โดย David Drumlin (รับบทโดย Tom Skerritt) เลยตัดสินใจย้ายหนีไปยัง Very Large Array, New Mexico
ความโชคดีเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่งสามารถรับสัญญาณสื่อสาร ส่งตรงจากกลุ่มดาว Vega ระยะห่างเพียง 26 ปีแสง เริ่มต้นด้วยรหัสจำนวนเฉพาะ กลายมาเป็นสะท้อนสัญญาณโทรทัศน์แรกที่มนุษยชาติส่งออกนอกอวกาศ แทรกซ้อนด้วยรหัสอ่านออกมาได้หลายร้อยพันหมื่นหน้า ไขปริศนาจนพบแบบแปลนลึกลับ คาดคิดว่าอาจคือรูหนอนที่สามารถส่งคนเดินทางไปอีกฟากฝั่งหนึ่งของจักรวาล
Alicia Christian ‘Jodie’ Foster (เกิดปี 1962) นักแสดงสองรางวัล Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Accused (1988) และ The Silence of the Lambs (1991) เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มีผลงานทั้งภาพยนตร์, ซีรีย์, ซิทคอม เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจาก Taxi Driver (1976) ของผู้กำกับ Martin Scorsese, ผลงานเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ อาทิ Contact (1997), Anna and the King (1999), Panic Room (2003), The Brave One (2007) ฯ ช่วงหลังๆไม่ค่อยเห็นมีผลงานการแสดงเท่าไหร่ และผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
รับบท Dr. Eleanor ‘Ellie’ Ann Arroway สาวแกร่งที่มีความเฉลียวฉลาดระดับอัจฉริยะ สามารถทำงานอะไรที่ไหนก็ได้แต่กลับเลือกตามความเพ้อฝันส่วนตัว ค้นหามนุษย์ต่างดาว/สิ่งมีชีวิตทรงภูมิเหนือกว่า จนวันหนึ่งโชคชะตาเข้าข้างพบเจอสัญญาณลึกลับส่งตรงเข้ามา แต่กลับถูกแย่งชิงผลงานตัดหน้าอย่างน่าหงุดหงิดใจ กระนั้นก็มีใครบางคนให้การส่งเสริมผลักดันเธอจนยังสามารถอยู่ในเกม และกลายเป็นหนึ่งในตัวแทนผู้มีแนวโน้มสูงสุดที่จะออกเดินทางสู่จักรวาลอีกฟากฝั่งหนึ่ง
จากเด็กหญิงสามารถรับบทแรดแรง กลายมาเป็นสาวตัวกระเปี๊ยกที่ทั้งเก่ง ฉลาด มาดด็อกเตอร์ นี่ก็ตั้งแต่คว้ารางวัล Oscar เรื่อง The Silence of the Lambs (1991) แทบจะเป็น Typecast ไปแล้วกระมัง, ผมชื่นชอบความเนิร์ดของตัวละครนี้จัง เป็นตัวของตนเองสูงมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ พบเห็นต้องถือแบกโน่นนี่นั่นตลอดเวลา แต่เพราะความทุ่มเทตั้งมั่นทะเยอทะยาน แม้ถูกสังคมกีดกันขัดขวาง ก็มีอีกบางคนให้การช่วยเหลือส่งเสริม สุดท้ายแม้จะแทบไม่ได้รับคำตอบอะไรเกี่ยวกับชีวิต แต่ได้เปิดโลกทัศน์ประสบการณ์ตนเองสู่ความไม่รู้จักจบสิ้น
ตัวจริงของ Foster เป็นคนไม่นับถือศาสนาใดๆแบบตัวละคร และเคยมีนักข่าวสัมภาษณ์ถาม ถ้าได้รับโอกาสให้ออกเดินทางสู่อวกาศแต่ไม่สามารถกลับมาสู่โลก เธอบอกขอผ่านโดยทันที
“I’m perfectly happy to be ignorant. Let the mysteries of the universe be clear to someone else”.
Matthew David McConaughey (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Uvalde, Texas โตขึ้นเข้าเรียน University of Texas at Austin จบสาขาวิทยุ-โทรทัศน์-ภาพยนตร์ เริ่มทำงานเป็นนักแสดงโฆษณาโทรทัศน์, บทเล็กๆภาพยนตร์เรื่อง Dazed and Confused (1993), เริ่มมีชื่อเสียงจาก A Time to Kill (1996), Amistad (1997), Contact (1997), ได้รับความนิยมอย่างสูงจนเป็น Type-Cast กับแนว Roms-Coms อาทิ The Wedding Planner (2001), How to Lose a Guy in 10 Days (2003), Failure to Launch (2006), Ghosts of Girlfriends Past (2009), ผันมารับบทดราม่า The Lincoln Lawyer (2011), Mud (2012), Magic Mike (2012), The Wolf of Wall Street (2013), Interstellar (2014) และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Dallas Buyers Club (2013)
รับบทโดย Palmer Joss นักปรัชญาศาสนา เขียนหนังสือประสบความสำเร็จโด่งดังจนได้กลายเป็นที่ปรึกษา ปธน. เพราะวัยเด็กเคยได้สัมผัสถึงการมีตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า จึงเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในแรงกล้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก Ellie อาจเพราะเธอคือขั้วตรงข้ามที่เติมเต็มโลกทัศนคติของเขาให้สมบูรณ์ พยายามอย่างยิ่งจะขัดขวางไม่ให้เธอไป แต่สุดท้ายก็มิอาจหักห้ามโชคชะตา และเมื่อฟังคำจากปากเธอสะท้อนเข้าหาตัวเอง เชื่ออย่างสนิทใจในสิ่งที่หญิงสาวพบเจอมา
ตัวจริงของ McConaughey เป็น Roman Catholic ไม่แน่ใจว่าเคร่งครัดไหม ดูแรกๆไม่ค่อยเหมือนพระเท่าไหร่ แต่ไปๆมาๆเว้ยเห้ยใช่เลย! ถ้าใส่ชุดบาทหลวงย่อมสร้างศรัทธาต่อผู้พบเห็นได้มากทีเดียว, มันจะมีวินาทีหนึ่งช่วงท้าย เมื่อตอนตัวละครได้ยินฟังคำพูดจากการผจญภัยของ Ellie ทำให้ผมนึกถึง Interstellar ฉากนั้นขึ้นมา (ตอนที่ตัวละครอ่านจดหมาย 23 ปี พบเห็นการเติบโตของลูกๆแทบจดจำไม่ได้!) การแสดงออกทางสีหน้าดวงตา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างซาบซึ้งถึงทรวง!
Thomas Roy Skerritt (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan เรียนจบจาก Wayne State University และ University of California, Los Angeles ภาพยนตร์เรื่องแรก War Hunt (1962), เลื่องชื่อกับ MAS*H (1970), Alien (1979), A River Runs Through It (1992) ,Contact (1997), Top Gun (1986) ฯ
รับบท David Drumlin ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดี ในตอนแรกมีความต้องการยกเลิกทุนสนับสนุน SETI เพราะมองว่าเป็นการกระทำอันไร้สาระประโยชน์ แต่เมื่อมีการค้นพบสัญญาณจากนอกอวกาศ เสนอหน้าแอบอ้างว่าตนคือเจ้าของโปรเจค แถมยังอาสาสมัครเพื่อเป็นตัวแทนมนุษยชาติออกเดินทางมุ่งสู่จักรวาลอันไกลโพ้น สุดท้ายได้รับผลกรรมตอบสนองในความเห็นแก่ตัวของตนเอง
บทส่งอย่างมากให้ตัวละครนี้กลายเป็นที่จงเกลียดจงชัง เพราะความเห็นแก่ตัว กลับกลอก ปอกลอก มาดภายนอกดูสงบนิ่ง แต่จิตใจเลวทรามเกินให้อภัย, จริงๆต้องถือว่า Drumlin คือมุมสะท้อนอีกด้านหนึ่งของ Ellie แต่ก่อนคงเป็นคนเอ่อล้นด้วยความทะเยอทะยานเพ้อฝัน ประสบการณ์เสี้ยมสั่งสอนให้เขาเรียนรู้จักโลกความเป็นจริง โชคชะตาจับพลัดนำพาให้โอกาสนั้นมาถึง เล่นเกมการเมืองจนสามารถเอาชนะกลายเป็นตัวแทนหนึ่ง
ถ่ายภาพโดย Don Burgess ขาประจำของ Zemeckis ผลงานเด่นๆ อาทิ Forrest Gump (1994), Contact (1997), Cast Away (2000), Spider-Man (2002), Enchanted (2007), Source Code (2011) ฯ
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงอย่าง Very Large Array (VLA), New Mexico และ Arecibo Observatory, Puerto Rico ส่วนภายในสร้างฉากขึ้นที่สตูดิโอของ Warner Bros. และ Culver Studios
เข็มทิศ ของแถมขนมอันน่าทึ่งที่สลับสับเปลี่ยนมือไปมา ล้วนมีนัยยะสำคัญสื่อถึงการค้นหาทิศทางของตัวละคร บุคคลผู้มีความจำเป็นสูงสุดขณะนั้นจะครอบครองมันไม้
– แรกสุดเมื่อ Palmer แกะออกจากถุงขนม ส่งให้ Ellie รับและส่งคืน ราวกับว่าจะให้เขาออกค้นหาติดตามเธอ
– หลังจากร่วมรักหลับนอน Palmer ทิ้งเข็มทิศให้กับ Ellie หลังจากสูญเสียการงาน หวังว่าคงนำทางให้เธอค้นพบหนทางดิ้นรน และพวกเขามีโอกาสพบเจอกันอีก
– เมื่อรู้ตนเองว่าคงไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทน Ellie ส่งคืนเข็มทิศให้ Palmer ที่กำลังหลงทาง ในการตัดสินเลือกบุคคลผู้มีนิสัยกลับกลอกหลอกลวงเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ
– ก่อนที่ Ellie จะได้รับโอกาสเดินทาง Palmer ส่งมอบเข็มทิศให้เธออีกครั้ง เพื่อใช้มันนำทางกลับบ้าง
– พบเห็นครั้งสุดท้ายระหว่างอยู่บนกระสวยเดินทางผ่านรูหนอน เอื้อมมือไขว่คว้า ซึ่งมันก็ได้ช่วยเหลือเธอให้อยู่รอดปลอดภัยจากเก้าอี้ที่กำลังจะหลุดพัง
Sequence อันสุดแสนพิลึกพิลั่น เด็กหญิง Ellie (รับบทโดย Jena Malone) วิ่งไปที่ตู้กระจกเพื่อหยิบยามาช่วยเหลือพ่อเป็นลมชักล้มลงแต่ไม่ทันกาลเสียแล้ว, ประเด็นคือว่านี่เป็นฉากสโลโมชั่นที่ตอนแรกเหมือนจะเคลื่อนนำหน้าตัวละคร แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นภาพสะท้อนในกระจก ถ่ายทำยังไงถึงออกมาแบบนี้?
คำตอบก็ถือ เริ่มต้นถ่ายทำแบบปกตินะแหละ กล้องเคลื่อนถอยหลังขณะที่เด็กหญิงวิ่งไปข้างหน้า จากนั้นนำฟีล์มไปทำการ Flip สะท้อนกับกระจก แล้วถ่ายอีกเทคหนึ่งขณะกำลังเอื้อมมือไปข้างหน้า (บนพื้นหลัง Blue Screen) แล้วนำมาซ้อนทับกัน (สังเกตแขนเสื้อภาย มือที่เอื้อมกับภาพในกระจกคนละสีกันเลย)
ทำไมถึงต้องฉากนี้มีความพิศวงขนาดนั้น? เพราะนี่คือความทรงจำของ Ellie ที่สะท้อนอยู่ภายใต้จิตสำนึก ถ้าฉันสามารถรีบวิ่งไปหยิบยาได้เร็วกว่านี้ คงช่วยเหลือพ่อไม่ให้ต้องเสียชีวิตในวันนั้น … ซึ่งลักษณะการเอื้อมมือไขว่คว้า แปรสภาพมาเป็นความใฝ่ฝันของเธอที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิตต่างดาว
หนังหมดงบไปมากกับการสร้าง Visual Effect ปริมาณมหาศาล ซึ่งก็ได้ใช้บริการของ
– WETA Digital ของ Peter Jackson ในส่วนรูหนอน (Wormhole)
– Industrial Light & Magic ของ George Lucas
– Sony Pictures Imageworks
– Effects Associates
– และ Pixar’s RenderMan
สำหรับกระสวย ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงเรขาคณิตสิบสองหน้า (Dodecahedron) ส่วนสถานีออกแบบให้มีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ของอะตอม สามวงที่หมุนรอบคงแทนด้วยอิเล็กตรอน (นี่คือสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์เลยนะ)
ชุดของ Ellie ผู้กำกับ Zemeckis บอกว่าแรงบันดาลใจให้เหมือนชุดเกราะของ Joan of Arc หญิงแกร่งกำลังไปออกรบ … เอิ่ม ใกล้เคียงอยู่นะ!
ฉากนี้ถ่ายทำโดยให้ Foster แสดงสีหน้าอารมณ์หลายๆแบบ สุข เศร้า ดีใจ เสียใจ ฯ แล้วนำมาซ้อนทับใส่ Visual Effect เข้าไป (ถ้าใครสังเกตหน่อย จะพบเห็นใบหน้าวัยเด็กของตัวละครด้วย)
จากที่เทปอัดเป็นเวลาถึง 18 ชั่วโมง ในนิยายต้นฉบับจะเสียเวลาไปกับการเดินทาง ซึ่งจะมีไปๆหยุดๆ พักกลางทางอยู่หลายรอบเพื่อให้ชื่นชมทิวทัศน์สวยๆโดยรอบ แต่หนังจะเยิ่นเย้อยืดยาวนานขนาดนั้นไม่ได้ใช่ไหมละ แค่นี้ก็ถือว่ารวบรัดตัดตอนสุดๆแล้ว
ฉากนี้ถ่ายทำโดยใช้ Blue Screen ทั้งหมด สร้างภาพออกมาให้มีลักษณ์เกินจริง สีคมเข้มชัดกว่าปกติ ราวกับ ‘ฝันกลางวัน’
“the thought was that this beach would have a heightened reality. One that might make the everyday world seem like a vague daydream”.
ชายหาดคือบริเวณรอยต่อระหว่างท้องทะเลกับผืนแผ่นดิน ปกติแล้วมักใช้สื่อความหมายถึง ความเป็น-ตาย หรือการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ตีความถึงสองโลก ความฝัน-ความจริง มนุษย์-ต่างดาว ฯ
สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ Ellie พบเจอ มาในรูปลักษณ์ของพ่อ (รับบทโดย Theodore Arroway) บุคคลที่เธอโหยหายใคร่อยากพบเจอเป็นที่สุด แม้ไม่นานก็รับรู้ว่านั่นไม่ใช่ตัวจริง แต่ก็ทำให้เกิดสัมผัส ‘Contact’ ระหว่างสองเผ่าพันธุ์/อารยธรรมได้
การใช้ภาพลักษณ์ของพ่อ แทนตัวละครต่างดาว นี่สะท้อนเข้ากับแนวคิด พระบิดา/พระเจ้าผู้สร้าง ที่หนังต้องการสะท้อนเรื่องราวแนวคิดของ ‘ศรัทธา’ วิทยาศาสตร์-ศาสนา เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินเคียงคู่กันไปได้ ถ้าไม่เกิดอคติขัดข้องแย้งเกินไป
ตัดต่อโดย Arthur Schmidt สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Zemeckis ผลงานเด่นๆ อาทิ Coal Miner’s Daughter (1980), Back to the Future Trilogy, Contact (1997), Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl (2003), คว้า Oscar: Best Film Editing เรื่อง Who Framed Roger Rabbit (1988), Forrest Gump (1994)
หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Dr. Ellie Arroway เริ่มต้น Prologue ด้วยความทรงจำวัยเด็ก และมีการหวนระลึก Flashback เมื่อขณะพ่อเสียชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ที่เหลือจะเป็นการดำเนินไปข้างหน้า หลายครั้งก้าวกระโดด Time Skip แบบไม่ล่วงรู้วันเวลา
สำหรับฉากของ Bill Clinton หลายคนอาจฉงนสงสัย ตัวจริงมารับเชิญแสดงในหนังนะยังไง? ไม่เลยนะครับ ผู้กำกับ Zemeckis ได้กระทำการอันก้าวร้าว ด้วยการนำหลายๆฟุตเทจแถลงการณ์ของ Clinton มาตัดต่อร้อยเรียงใหม่ ซึ่งสามารถใช้พูดแทนสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังได้อย่างเปะๆ ประกอบด้วย แถลงการณ์ค้นพบอุกาบาตที่ Antarctica เมื่อปี 1984 และได้รับการค้นพบโดย NASA ว่ามาจากดวงอังคาร (ประเด็นคือ ทีมงานไม่ได้ขออนุญาตด้วยละ สร้างความขุ่นเคืองให้กับ ปธน. ขณะนั้นอย่างร้าวฉานเลย!)
เพลงประกอบโดย Alan Silvestri สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Zemeckis อีกเช่นกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Back to the Future (1985), Predator (1987), Who Framed Roger Rabbit (1988), The Bodyguard (1992), Forrest Gump (1994), Contact (1997), The Polar Express (2004) , The Avengers (2012), Ready Player One (2018) ฯ
Silvestri เป็นนักแต่งเพลงที่ถูก Underrated มากๆอีกคนหนึ่ง มีสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน หลายๆคนได้ยินปุ๊ปน่าจะจดจำได้โดยทันที แต่กลับยังไม่เคยคว้ารางวัล Oscar เข้าชิงเพียงสองครั้ง เป็นไปได้อย่างไร!
ระยิบระยับไปกับประกายแสงดาวนับล้านๆดวงบนฟากฟ้า เสียงขลุ่ยทำนองโหยหวนล่องลอยสายลม ไวโอลินประสานเสียงขึ้นให้เอ่อล้นด้วยความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ‘Awful Waste Of Space’ ถ้าจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล จักไม่มีสิ่งมีชีวิตต่างดาวอื่นปรากฎอยู่บนนั้นอีกสักดวงหนึ่ง
ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ
– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒, อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
reference: http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=5985&Z=6056&pagebreak=0
เรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว หาได้อยู่ในความใคร่สนใจของผู้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง รับรู้ว่ามี/ไม่มีแล้วได้ประโยชน์อันใด? กระตือรือล้นไปแล้วจิตใจเราจะดีงามขึ้นเช่นนั้นหรือ? ในพระไตรปิฏกที่ยกอ้างมาก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน จักรวาลคือสถานที่แห่งความเป็นไปได้กว้างใหญ่ไพศาล พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ตั้งแต่กว่า 2500 ปีก่อน กลับยังมีคนอีกมากมายหลงงมงาย ‘ไม่เชื่อ’ หมกมุ่นครุ่นคิดต้องการพบเจอให้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น!
อาจเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยนี้ สร้างความหยิ่งผยองจองหองให้เกิดขึ้นภายในจิตใจมนุษย์ เพราะโอกาสที่เราจะได้พบเจอต่างดาว พิสูจน์ว่าพวกเขามีตัวตนจริงๆใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ทั้งๆที่ก็หาใช่เรื่องต้องพิสูจน์กันสักนิด! … ลองครุ่นคิดกลับกันดูนะครับ สมมติว่าเราเกิดในอนาคตห่างไกลแบบ Star Wars/Star Trek ชีวิตประจำวันเดินสวนมนุษย์ต่างดาวเป็นเรื่องปกติ นั่นมันไม่ใช่เรื่อง ‘ความเชื่อ’ ว่าพวกเขามีตัวตนอีกต่อไปหรอกหรือ เวลาคนรุ่นนั้นมองย้อนกลับมาถึงชนรุ่นหลัง จักครุ่นคิดรู้สึกกับ’ความเชื่อ’ของคนยุคสมัยนี้กัน?
วิทยาศาสตร์กับศาสนาอื่น (ที่ไม่ใช่พุทธ) ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน เพราะการค้นพบข้อเท็จจริงที่สามารถหักลบล้างความเชื่อปรัมปราเดิม ย่อมทำให้ฝูงชนค่อยๆหมดสูญสิ้นเลื่อมศรัทธา เมื่อถึงจุดๆหนึ่งย่อมถึงการล่มสลาย จากนั้นวิถีความเชื่อใหม่จักถือกำเนิดขึ้น เวียนวนดำเนินไปตามวัฏจักรของมัน
แล้วทำไมวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา ถึงสามารถไปด้วยกันได้? นั่นเพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้มนุษย์เกิดความใคร่สนใจทางโลกมากนัก หลายๆคำถาม-ตอบที่เกี่ยวกับจักรวาล ล้วนตรัสออกมาในทางคลุมเครือ เบี่ยงเบน ถามต่อว่ารับรู้ไปแล้วมีประโยชน์อันใด? แต่หลายครั้งก็ทรงตอบแบบตรงๆในมุมที่คงไม่มีใครไหนพิสูจน์ได้หรอก (อาจจะมองในเชิงอุปมาอุปไมยก็ยังได้) ซึ่งนั้นเป็นเหตุให้ไม่เกิดการขัดแย้งต่อทุกๆสรรพสิ่งที่ได้รับการค้นพบพิสูจน์ และขณะเดียวกันพุทธศาสนาเรียกได้ว่า ‘วิทยาศาสตร์ทางจิต’ เพราะนำเสนอลำดับขั้นตอนอย่างครบถ้วนชัดเจนเหมือนกระบวนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กำหนดปัญหา-ตั้งสมมติฐาน-ตรวจสอบสมมติฐาน-วิเคราะห์ข้อมูล-สรุปผลการทดลอง ไม่แตกต่างอะไรกับอริยสัจ ๔ ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค
แม้พุทธศาสนาจะนำเสนอถึงสัจธรรมความจริง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ย่อมเกิดการล่มสลายเช่นกัน ณ เวลาที่มวลมนุษย์ให้ความสนใจสิ่งอื่นมากกว่าปรับปรุงพัฒนาจิตใจของตนเอง แต่ก็เป็นศาสนาหนึ่งเดียวที่สอนไม่ให้ยึดติดความเชื่อใดๆทางโลก (กาลามสูตร ๑๐) ท้าพิสูจน์และชี้นำวิธีการด้วยหลักวิทยาศาสตร์ (อริยสัจ ๔) ถ้าอยากพบเห็นเข้าถึงสัจธรรมความจริง ก็จงฝึกฝนจิตตนเองให้เรียนรู้จักการมีสติ สมาธิ ครุ่นคิดให้เกิดปัญญา ปล่อยวางตัวตน เมื่อมันสามารถลอยขึ้นหลุดออกจากร่าง ไปดวงจันทร์ ดาวอังคาร Vega กระจิบจ้อย พบเห็นทักทายมนุษย์ต่างดาว เดินชนกระทบไหล่เราก็มีถมไป
ของแบบนี้พูดพร่ำเพรื่อใครกันจะไปเชื่อ ก็แบบเหตุการณ์ช่วงท้ายที่ Ellie ประสบพบเจอเข้ากับตนเอง ทั้งๆเดินทางผ่านรูหนอน พบเจอมนุษย์ต่างดาวจริงๆ กลับถูกสังคมครหากังขา ‘ไม่เชื่อ’ ถ้าอยากรับรู้ความจริงต้องลิ้มลองรสด้วยตนเอง ถกเถียงโต้แย้งจากคนอื่นทำไมให้เสียเวลา อารมณ์ เมื่อยกล้ามเนื้อปากเปล่าๆ
ส่วนประเด็นการเมืองนะเหรอ? นั่นเป็นสิ่งที่ก็พบเห็นแต่โลกทัศนคติของชนที่ปลักเชื่อในเรื่องของพระบิดา/พระเจ้าผู้สร้าง มีอำนาจสูงสุดล้นฟ้า ทำอะไรก็ได้กับลูกหลานมนุษย์, พุทธศาสนาไม่มีสอนเรื่องการแบ่งฐานะชนชั้นวรรณะ สูง-ต่ำ นรก-สวรรค์คือสิ่งที่เกิดจากผลบุญกรรม กระทำอะไรไว้ย่อมได้รับการตอบคืนสนองเช่นนั้น เรียกว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งหมดไม่ว่าจะมนุษย์-สัตว์-ผี
“95 percent of the world’s population believes in a supreme being in one form or another”.
ช่างเป็นสมมติฐานตัวเลขที่เว่ออลังไปหน่อยนะ แต่ก็อาจใกล้เคียงความจริง และผมค่อนข้างดีใจที่ตนเองอยู่ในส่วนต่าง 5% ไม่มีอะไร/ใครไหน สร้างมนุษย์ขึ้นมานอกจากตัวตนเราเอง, อาจเพราะเหตุนี้ด้วยกระมังทำให้ผมซาบซึ้งในคำตอบของ Ellie จิตใจของเธอช่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง มีความสูงส่งเหนือกว่าทุกบุคคลรายล้อมรอบข้าง แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะว่า คณะกรรมการคัดเลือกสรรคนอย่าง David Drumlin ให้เป็นตัวแทนมนุษยชาติ ช่างน่าเศร้าสลดสิ้นหวังโดยแท้
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ทำให้มนุษย์ได้พบเจอชาวต่างดาวหรอกนะครับ เพราะนั่นเป็นสิ่งทำให้จิตใจของคนตกต่ำลงเรื่อยๆ หวาดระแวง คิดมุ่งหวังร้าย ก็แบบกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา พิจารณาความมั่นคงปลอดภัยของตนเองไว้ก่อน ถ้าพวกเขามาหาแล้วโดนยิงนิวเคลียร์โต้ตอบใส่ก่อน ใครไหนจะอยากติดต่อสื่อสารด้วย
พัฒนาการทางด้านจิตใจต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็พยายามสื่ออกมาในทิศทางนั้น ก้าวเล็กๆของมนุษยชาติ จำต้องเกิดจากความเชื่อมั่นศรัทธาเสียก่อน ว่าพวกเขามีตัวตนจริงๆ มิได้ตั้งใจมาประทุษร้าย เพราะมันจะเพื่ออะไร? รังแกสิ่งมีชีวิตอ่อนแอกว่า? เฉพาะคนนิสัยไม่ดี/เต็มไปด้วยเล่ห์ลับลวงเท่านั้นแหละ ถึงจะมองผู้อื่นในแง่โฉดชั่วอันตรายขนาดนั้น
Robert Zemeckis เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบทำหนังแนวไซไฟ หลงใหลในความเพ้อฝัน อนาคตเป็นไปได้ แน่นอนว่าเขาคงต้องอยากพบเห็นมนุษย์ต่างดาวตัวเป็นๆ ขณะเดียวกันก็ครุ่นคิดตั้งคำถาม วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปไกล จะสามารถดำเนินเคียงคู่ไปกับศาสนา ดั่งกาย-ใจ ได้หรือเปล่า? Contact ในศรัทธาอันแรงกล้าของเขา บอกว่าย่อมต้องเป็นไปได้ เพราะต่างมีรากฐาน-เป้าหมายปลายทางในสิ่งเดียวกัน
ด้วยทุนสร้างสูงถึง $90 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $100.9 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $171.1 ล้านเหรียญ ขาดทุนพอสมควร, ได้เข้าชิง Oscar: Best Sound พ่ายให้กับ Titanic (1997)
Contact เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมอึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง เมื่อตอนรับชมครั้งแรกสมัยยังเด็กๆ เหตุให้ตกหลุมรักคลั่งไคล้แนว Sci-FI เพ้อฝันอยากเดินทางสู่สุดขอบจักรวาลอีกด้านหนึ่ง, พอเติบโตขึ้นพบเห็นมุมมองแตกต่างของหนังแม้ไม่ค่อยชื่นชอบฝั่งนั้นสักเท่าไหร่ แต่ยังคงประทับใจในความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทิ้งประเด็นคำถามข้อคิดไว้มากมาย แม้มิอาจเทียบเท่าต้นฉบับนิยาย ก็ยังจัดเป็นหนังไซไฟชั้นเลิศ! งดงามทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คนเคยอ่านนวนิยายอาจไม่รู้สึกว่าเหมาะสมเท่าไหร่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับคนทั่วไปจะสามารถเปิดโลกทัศน์ จินตนาการ ชักชวนให้ครุ่นคิดติดตาม ถกเถียงเห็นต่าง เกิดประเด็นคำถามขึ้นมากมายที่อยากค้นหาคำตอบ และเกิดความใคร่สนใจใน ‘วิทยาศาสตร์’ มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
แนะนำโดยเฉพาะคอหนังไซไฟ ผสมศาสนา และการเมือง, นักคิด นักปรัชญา นักศาสนา นักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ หลงใหลในฟากฟ้าดวงดาว, แฟนๆผู้กำกับ Robert Zemeckis, นักแสดงนำ Jodie Foster, Matthew McConaughe ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG ต่อพฤติกรรมแย่ๆของมนุษย์บางคน
Leave a Reply