Coraline

Coraline (2009) hollywood : Henry Selick ♥♥♥

โลกคู่ขนานที่ Coraline ค้นพบ มันคือความจริงหรือเพียงในความฝันของเด็กหญิง ก็แล้วแต่คุณจะคิดจินตนาการไปแบบใด, ภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอน้องใหม่ Laika สร้างโดยผู้กำกับ The Nightmare Before Christmas (1993) ผู้ใหญ่รับชมคงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่เด็กๆคงขนหัวลุกพอง เหมือนหนัง Horror ในยุคคลาสสิก

ผมอยากจะรู้เสียจริงเลย เทรนด์ของเรื่องราวลักษณะนี้มันเริ่มต้นจากไหน ‘ใครสักคนหนึ่งได้พบเจอเรื่องราวเหนือธรรมชาติ แต่สามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งเกิดขึ้นเฉพาะในความฝันจินตนาการ’ พบเจอได้บ่อยกับแนว Fantasy และ Horror (โดยเฉพาะยุคคลาสสิก) สำหรับภาพยนตร์ที่มีใจความคล้ายกันนี้ในทศวรรษล่าสุด อาทิ Spirited Away (2001), Pan’s Labyrinth (2006), Alice in Wonderland (2010), Song of the Sea (2014) ฯ

นี่ทำให้ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังมากๆกับนิยายต้นฉบับ Coraline (2002) ของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ Neil Gaiman ที่สามารถคว้า Hugo Award: Best Novella, Nebula Award: Best Novella, Bram Stoker Award: Best Work for Young Readers กวาดรางวัลใหญ่แทบจะทุกสำนัก เพราะเรื่องราวมิได้มีความ Original แม้แต่น้อย, แต่ผมก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินหนังสือเล่มนี้เพราะไม่เคยอ่าน มันอาจมีความสวยงามทางวรรณกรรมอยู่สูงก็เป็นได้ แค่เกิดความผิดหวังจากเรื่องราวที่มิได้มีอะไรใหม่ให้น่าค้นหาแม้แต่น้อย

Henry Selick (เกิดปี 1952) ผู้กำกับอนิเมชั่น Stop-Motion ชื่อดัง เกิดที่ Glen Ridge, New Jersey ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหลในผลงานของ Lotte Reiniger เรื่อง The Adventures of Prince Achmed (1926) และสัตว์ประหลาดใน The 7th Voyage of Sinbad (1958) โตขึ้นเลือกเข้าเรียนศิลปะที่ Syracuse University ตามด้วย Central Saint Martins College of Art and Design และ California Institute of the Arts ระหว่างเรียนได้ฝึกงาน ‘in-betweener’ กับ Walt Disney ทำอนิเมชั่นเรื่อง Pete’s Dragon (1977), The Small One (1978) จบออกมาได้กลายเป็นพนักงานเต็มตัวเรื่อง The Fox and the Hound (1981) ทำให้ได้รู้จักร่วมงานกับ Tim Burton มีผลงานร่วมกันคือ The Nightmare Before Christmas (1993) กับ James and the Giant Peach (1996)

ช่วงประมาณกลางปี 2004 ได้รับการทาบทามจากสตูดิโออนิเมชั่นน้องใหม่ LAIKA ก่อตั้งโดย Phil Knight หนึ่งใน co-founder ของบริษัท Nike (ขายรองเท้ากีฬาชื่อดัง) มีสำนักงานอยู่ที่เมือง Oregon, Selick ได้งานเป็น Supervising Director สร้างอนิเมชั่น 3d ขนาดสั้นเรื่องแรก Moongirl (2005) ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลมากมาย จึงยื่นเสนอโปรเจคถัดมา Coraline ที่ตัวเขาได้รับการทาบทามโดยตรงจากผู้เขียน Neil Gaiman ตั้งแต่ตอนหนังสือออกวางขาย

Gaiman เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นโดยนำแรงบันดาลใจจากลูกสาววัย 5 ขวบของตนเอง -ไม่รู้เพราะเจ้าตัวมัวแต่ทำงานไม่ค่อยสนใจลูกหรือเปล่า- วันหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความฝันตัวเอง พบเจอเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ Holly แม่ของเธอถูกลักพาตัวโดยแม่มด ที่ดันหน้าตาคล้ายแม่ของเธอ เรื่องราวนี้สร้างความตกตะลึงให้ Gaiman อย่างมาก คิดตามเห็นภาพเป็นฉากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจินตนาการของเด็กๆจะบรรเจิดเลิศไปไกลได้ขนาดนี้

นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Selick พัฒนาบทดัดแปลงด้วยตนเอง ในตอนแรกพิจารณาจากความยาวของหนังสือแล้ว คงได้อนิเมชั่นความยาวประมาณ 47 นาที แต่หลังจากตัดสินใจเพิ่มเติมตัวละคร Wybie เข้าไป ทำให้ได้ความยาวเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และทำให้ตอนจบชีวิตดูมีความหวังมากขึ้นด้วย

เรื่องราวของเด็กหญิงจอมแก่น Coraline Jones (พากย์เสียงโดย Dakota Fanning) กับครอบครัว ย้ายจาก Pontiac, Michigan สู่ Ashland, Oregon เช่าห้องพักอยู่ที่ Pink Palace Apartments มีเพื่อนบ้านประกอบด้วย
– Miss Spink/April Spink (พากย์เสียงโดย Jennifer Saunders) กับ Miss Forcible/Miriam Forcible (พากย์เสียงโดย Dawn French) ทั้งสองเป็นอดีตนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่ง แต่ปัจจุบันเกษียนแล้ว หมกตัวอาศัยอยู่ในห้องใต้ดิน เลี้ยงสุนัขไว้มากมายแต่สตั๊ฟไว้ไม่ยอมให้ตาย และมีความรู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ล่วงรู้อนาคต
– Mr. Bobinsky/Sergei Alexander Bobinsky (พากย์เสียงโดย Ian McShane) เป็นอดีตผู้ชำระบัญชี (Liquidator) ของ Chernobyl ปัจจุบันคงเกษียนแล้วเช่นกัน เป็นเจ้าของคณะละครสัตว์หนูกระโดด (Jumping Mice Circus) ชื่นชอบกายกรรมโลดโพน ทั้งๆที่พุงพุ้ยยุ้ยขนาดนั้น
– Wyborne ‘Wybie’ Lovat (พากย์เสียงโดย Robert Bailey Jr.) เด็กชายอายุ 11 หลานเจ้าของ Pink Palace เป็นเด็กเนิร์ดที่ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น เพราะไม่มีใครเพื่อน แต่พอได้รู้จักกับ Coraline ทำให้พูดปากเปียกปากแฉะไม่ยอมหยุด
– แมวดำไร้ชื่อ มีความยิ่งผยอง ยโสโอหัง แต่ลึกๆแล้วเป็นห่วงเป็นใย Coraline อย่างยิ่ง

เพราะความที่ครอบครัวของ Coraline พ่อแม่ต่างง่วนอยู่กับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์
– แม่ Mel Jones (พากย์เสียงโดย Teri Hatcher) เอาแต่นั่งทำงานจนบั้นท้ายใหญ่
– พ่อ Charlie Jones (พากย์เสียงโดย John Hodgman) คอยืดจนยาวเหมือนยีราฟ

พวกเขาหาได้มีเวลาสนใจกับ Coraline แม้แต่น้อย นั่นทำให้ค่ำคืนหนึ่งเด็กหญิงสาวเกิดความฝัน/พบเจอกับอุโมงค์ทะลุมิติ ผจญภัยเข้าไปโผล่ยังอีกโลกหนึ่งที่ช่างตรงกันข้ามเสียทุกอย่าง พบเจออีกแม่ (Other Mother) ที่ให้ความรักเอ็นดู และอีกพ่อ (Other Father) ที่สนุกสนานกับการใช้ชีวิต แต่การจะอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ตลอดกาล เธอต้องยินยอมให้ถอดลูกตา เย็บกระดุมใส่ แต่เด็กหญิงจะยินยอมทำเช่นนั้นหรือไม่

ดวงตาคือหน้าต่างของจิตใจหรือดวงวิญญาณ การถูกเปลี่ยนแปลงสภาพเย็บเป็นกระดุม นั่นหมายถึงไร้ซึ่งตัวตน กลายสภาพเป็นเพียงของเล่นตุ๊กตา ไม่สามารถคิดกระทำอะไร เคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองอีกต่อไป

สังเกตว่าอีกโลกแทบทุกอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม แม้แต่ไฝของแม่ก็อยู่คนละด้าน ราวกับว่านี่เป็นโลกในกระจก จึงเห็นเป็นภาพสะท้อน

ขณะที่ตัวตนแท้จริงของอีกแม่ (ชื่อจริงของเธอคือ Beldam แปลว่า a malicious, ugly woman) มีลักษณะคล้ายกับแมงมุม สัตว์ที่สามารถพ่นชักใย ควบคุมบงการ ชี้ชักนำทุกสิ่งอย่าง มักชอบรอคอยให้ใครก็ตามตกหลุม เชื่อใจคล้ายตาม กลายเป็นเหยื่อ เมื่อนั้นก็จะจับมัดม้วนพันธการ กลายเป็นอาหารลาบปากในอนาคตต่อไป

ถ่ายภาพโดย Pete Kozachik ด้วยทีมงานที่มีเยอะขึ้น และประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้นด้วย ทำให้สัปดาห์ๆหนึ่งสามารถถ่ายภาพได้ 90-100 วินาที [ตอน The Nightmare Before Christmas สัปดาห์หนึ่งได้ประมาณ 10 กว่าวินาทีเท่านั้น!] แต่ก็ยังใช้เวลา pre-production นานถึง 2 ปี และถ่ายทำอีก 18 เดือน, และเนื่องจากมีความต้องการทำให้เป็นสามมิติ จึงใช้กล้อง Stereoscopic 3D (กล้องสองตัวตั้งเอียงเล็กน้อยเพื่อให้เห็นความลึก) เพื่อความสะดวกในการแปลงภาพ ถือเป็นครั้งแรกที่ใช้กล้องสามมิติถ่ายทำ Stop-Motion อนิเมชั่น

ด้วยสเกลการสร้างมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถ่ายทำใน Warehouse ที่ Hillsboro, Oregon กินพื้นที่กว่า 17,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 52 เวที สร้างฉากทั้งหมด 130 เซ็ต แค่ miniature ของ Pink Palace ความสูง 12.8 เมตร มีทั้งหมด 3 หลัง ไหนจะสวนพฤกษศาสตร์ และจำลองเมือง Ashland, Oregon ขึ้นมาอีก

สำหรับโมเดลวัตถุต่างๆที่เห็น ทุกชิ้นสร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Polyjet Matrix System โดยโปรแกรม CAD (Computer-Aided Design) นี่ถือเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันของวงการ Stop-Motion อนิเมชั่น ที่ไม่ได้ใช้การปั้นขึ้นรูป แต่เนื่องจากยังเป็นเครื่องพิมพ์สีขาว-ดำ จึงยังมีการนำมาลงสีด้วยมือ [เป็น ParaNorman (2012) คือ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องแรก ที่ลงสีจากการพิมพ์สามมิติเลย], เช่นกันกับการแสดงออกทางสีหน้าของตัวละคร ที่แต่เดิมมักใช้การเปลี่ยนหัว หรือไม่ก็สร้างกลไกเคลื่อนไหว กระพริบตา ขยับปากเองได้ กับเรื่องนี้ใช้การพิมพ์สีหน้า Facial Expression ซึ่งมีการประมาณว่ามากถึง 208,000 ชิ้น (เหมือนจะไม่มีใช้ซ้ำเลยสินะ) กับคนที่จินตนการไม่ออกว่าเป็นแบบใด ดูจากภาพเอานะครับ

สไตล์ของอนิเมชั่นเรื่องนี้ Selick ได้บังเอิญค้นพบผลงานของนัก Illustrator สัญชาติญี่ปุ่น Tadahiro Uesugi ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้สี (Color Palette) จึงชักชวนมาร่วมทำงานออกแบบ

“Design with your own ideas; but we would like to see something we’ve never seen before!”

จากที่คิดว่าเป็นโปรเจคเล็กๆใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์คงเสร็จ แต่กลับล่วงเลยมาเป็นปี เพราะ Uesugi ได้กลายเป็นผู้ออกแบบแทบทุกสิ่งอย่าง อาทิ ฉาก, พื้นหลัง, หรือแม้แต่ภาพร่างดำเนินเรื่อง ฯ

“at the beginning, it was supposed to be a small project over a few weeks to simply create characters; however, I ended up working on the project for over a year, eventually designing sets and backgrounds, on top of drawing the basic images for the story to be built upon.”

– Tadahiro Uesugi

ที่เป็นไฮไลท์ได้รับการพูดถึงมากสุดคือ การออกแบบ Pink Palace ที่มีความสลับซับซ้อน และพอใส่สีชมพูเข้าไป มันเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงทีเดียวกับโทนอนิเมชั่นเรื่องนี้

ตัดต่อโดย Christopher Murrie นอกจาก Prologue ใช้การเล่าเรื่องในมุมมองสายตาของ Coraline ทั้งหมด สิ่งที่เธอพบเจอ ตื่นขึ้นมากลางดึก/หรือจะมองว่าในความฝันจินตนาการของเด็กหญิงก็ได้

ไม่แน่ใจว่าเดิมนั้นอนิเมชั่นเรื่องนี้ตั้งใจให้เป็น Musical หรือเปล่า เพราะมอบหมายให้ Bruno Coulais นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส เขียนให้ทั้งหมด 10 เพลง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนโทนหนัง เหลือเพียงบทเพลงเดียวเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ ชื่อ Other Father Song ขับร้องโดย John Linnell

ขณะที่ Soundtrack บันทึกเสียงโดย Hungarian Symphony Orchestra ร่วมกับ Children’s Choir of Nice บทเพลง End Credit มีทำนองสะท้อนความใคร่สงสัยอยากรู้อยากลองของเด็ก ซึ่งคงไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก Coraline, เสียงคอรัสคำร้องที่ได้ยิน เห็นว่าเป็น gibberish lyric คำร้องที่หาความหมายไม่ได้ นี่เช่นกันเป็นการสะท้อนพฤติกรรมของเด็กๆ ที่หลายครั้งก็ไร้สาระเกินจะหาความหมายใดๆได้

ถึงผมจะบอกไปตั้งแต่ต้นว่า โลกคู่ขนานที่ Coraline ค้นพบ อาจคือความจริงหรือเพียงในความฝันของเด็กหญิงก็ได้ แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ค่อนข้างจะปลายปิดชัดเจนว่ามาจากจินตนาการของเธอเองล้วนๆ ผู้ใหญ่ที่ดูหนังเป็นน่าจะจับจุดได้ไม่ยาก แต่สำหรับเด็กๆแล้วคงไม่น่าจะแยกออกได้แน่ เกิดความลังเลฉงนสงสัย แต่ก็โน้มเอียงไปในทางว่าพูดไปผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจ

จินตนาการของเด็กๆ ว่ากันตามตรงมักบรรเจิดสดใส กว้างใหญ่ไร้ขอบเขตกว่าผู้ใหญ่นัก เพราะพวกเขายังมิถูกเจือปนด้วยกิเลสตัณหา รับรู้ความเป็นไปได้ไม่ได้ ทำไมบางสิ่งทำได้ บางสิ่งทำไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาจะค่อยๆเรียนรู้ สร้างกรอบขอบเขตข้อจำกัดของชีวิตขึ้นมา พอโตขึ้นก็จะ … กลายเป็นเหมือนพ่อแม่ ผู้ใหญ่

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก หรือลูกไม่เข้าใจพ่อแม่ นั่นเพราะวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง ทำให้กระบวนการคิด-รับรู้-เข้าใจ มิอาจอยู่ระดับเดียวกันได้ ขนาดคนอายุเท่ากัน เติบโตในสังคมแบบเดียวกัน ใช่ว่าจะมีความคิดเห็นเหมือนเข้าใจกันเลย นี่เป็นสิ่งที่ผู้เป็นพ่อ-แม่ ต้องทำความเข้าใจให้มากกว่าลูก มากๆเลยนะครับ เพราะคุณเป็น’ผู้ใหญ่’ จำเป็นอย่างยิ่งต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พวกคุณเริ่มต้นขึ้นมา การปล่อยปละทิ้งขว้างไม่ให้ความสนใจ มันเลวร้าวยิ่งกว่าหมาข้างถนนที่ยังรักลูกตัวเองเลยนะ

มอง Coraline แบบผู้ใหญ่ คือเรื่องราวความเพ้อฝันของเด็กหญิง ที่ต้องการมีชีวิตเป็นอยู่ดีกว่านี้ โหยหาพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่น เอ็นดูสนใจใส่ เพื่อนๆที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อนบ้านที่เป็นมิตรไม่เห็นแก่ตัว สามารถพึ่งพิงได้เมื่อมีปัญหา

มอง Coraline แบบเด็กๆ คือเรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิง เพื่อที่จะเรียนรู้เติบโตขึ้น มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถพึ่งพาตัวเองและให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้

“Coraline [was] a huge risk. But these days in animation, the safest bet is to take a risk.”

– Henry Selick

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $60 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $75.2 ล้านเหรียญ [เป็นภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่นทำเงินสูงสุดอันดับ 2 ในอเมริกา] รวมทั่วโลก $124.6 ล้านเหรียญ น่าจะเพียงเท่าทุน คงหวังกำไรจากช่องทางอื่น

เท่าที่ผมสังเกตกับภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่น ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยทำกำไรกันเสียเท่าไหร่ นั่นเพราะทุนสร้างที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องการรายรับอย่างมากเพื่อให้อย่างน้อยเท่าทุน แม้จะทำเงินทั่วโลกเกิน $100 ล้านเหรียญก็ใช่ว่าจะได้กำไร แถมการแข่งขันเมื่อเทียบกับกระแสนิยม 3D อนิเมชั่นในยุคสมัยนี้ ต้องบอกเลยว่าผู้ชมรุ่นใหม่ เด็กๆ มักจะมองข้าม Stop-Motion เพราะความสมจริงที่สู้ไม่ได้ แถมเรื่องราวมักมีความจำเพาะเฉพาะทาง กลุ่มเป้าหมายจึงมักเป็นผู้ใหญ่ ศิลปิน และผู้ชื่นชอบหลงใหลเท่านั้น

แล้วมันจะมียุคสมัยที่ Stop-Motion อนิเมชั่น ได้รับความนิยมทำเงินมหาศาลถล่มทลายเทียบเท่า 3D อนิเมชั่นไหม? ส่วนตัวคิดว่าโอกาสนั้นย่อมมีอยู่แล้ว แต่จนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาข้อจำกัดที่มีอยู่ของ Stop-Motion โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของผู้สร้างที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างแคบมากๆ ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นก็มีเพียงสายมืดฝั่ง Tim Burton, Henry Selick กับสายสว่างของ Wes Anderson แต่เหมือนว่าสตูดิโอ Laika จะเริ่มจับจุดนี้ได้ กับทศวรรษนี้มีผลงานอย่าง The Boxtrolls (2014) หรือ Kubo and the Two Strings (2016) แม้จะไม่ทำกำไรเท่าไหร่ แต่ก็นำเสนอความแตกต่างให้เกิดขึ้น เช่นนี้แนวโน้มอนาคตต่อไป น่าจะมีสักเรื่องที่ได้รับความนิยม ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแน่ๆ

เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature ต้องถือว่าเป็นปีที่สายแข็งลุ้นไม่ขึ้นจริงๆ ประกอบด้วย Fantastic Mr. Fox, The Princess and the Frog, The Secret of Kells ส่วนเรื่องที่คว้ารางวัลคือ Up

เหตุผลที่ส่วนตัวไม่ค่อยชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แม้โปรดักชั่นจะถือว่าโดดเด่น สวยงามน่าประทับใจ แต่เพราะพล็อตเรื่องช่างแสนธรรมดา น่าเบื่อหน่ายสิ้นดี หาความท้าทายอะไรให้ผมใช้สมองครุ่นคิดแทบไม่ได้ (แต่ถ้าคุณรับชมหนังแนวนี้มาไม่เยอะ อาจไม่เกิดอคติเอียนเลี่ยนแบบผมหรอกนะ) คงต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กๆโดยเฉพาะ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถทนดูจนจบได้

แนะนำกับคออนิเมชั่น Stop-Motion ชื่นชอบเรื่องราว Dark Fantasy, Horror, เกี่ยวกับเด็กๆ, แฝงข้อคิดน่าสนใจ, แฟนๆผู้กำกับ Henry Selick ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆอายุต่ำกว่า 12 นี่เป็นภาพยนตร์ที่สอนให้เรียนรู้จักความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คิดตัดสินใจด้วยตนเอง และสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้

จัดเรต pg กับบรรยากาศหลอนๆ น่าสะพรึง ขนหัวลุกพอง

TAGLINE | “Coraline เป็นภาพยนตร์ Stop-Motion อนิเมชั่นที่มีความสวยงามในบรรยากาศอันหลอกหลอนสะพรึงขนหัวลุกพอง แต่เนื้อเรื่องเหมาะกับเด็กๆ ผู้ใหญ่คงจะเบื่อๆ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: