Corpse Bride (2005) hollywood : Tim Burton, Mike Johnson 

ชีวิตมักพบเจอเรื่องไม่คาดฝันเสมอ แต่คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าแต่งงานกับศพ/คนที่ไม่ได้รัก แล้วใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตราบจนวันตาย ต่อให้คำอ้างของผู้ใหญ่ อยู่ไปเดี๋ยวก็รักกันเอง ใช่ว่าจะจริงเสมอไป และโลกสมัยนี้คงไม่ค่อยมีใครยอมรับเรื่องแบบนี้ได้แล้วแน่

ในปีที่ชื่อของผู้กำกับ Tim Burton และนักแสดงคู่บุญ Johnny Depp ยังขายได้อยู่ หลังจาก Charlie and the Chocolate Factory (2005) ออกฉายเดือนกรกฎาคม ผมก็ตั้งหน้าตั้งตารอชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่เข้าฉายเดือนกันยายน ตื่นตาตื่นใจกันความงามจากภาพสุดแปลกประหลาด การเคลื่อนไหวติดๆขัดๆสร้างอารมณ์สุดพิลึก เพิ่งมารู้เอาตอนหลังว่านั่นคือ Stop-Motion (คือตอนแรกคิดว่าเป็น 3d) เอาหุ่นมาตั้งเรียงไว้ในฉากแล้วถ่ายรูป ขยับนิดนึงแล้วถ่ายรูป 20-25 ภาพต่อวินาที นาทีหนึ่งประมาณ 1,500 รูป ชั่วโมงหนึ่งก็กดชัตเตอร์ 9,000 ครั้ง แล้วนำมาเรียงร้อยต่อเนื่องกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว OMG! มันต้องใช้เวลา-ความพยายาม สักเท่าไหร่กันถึงจะสามารถสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องหนึ่งสำเร็จได้

นับแต่นั้นมาผมก็เกิดความหลงใหลใคร่ศึกษาเรียนรู้ อึ้งทึ่งกับกระบวนการสร้าง Motion-Capture รู้ตัวเองว่าคงทำแบบนั้นไม่ได้แน่ คงได้แต่ชื่นชมยกย่อง คารวะผู้สร้างถึงความพยายาม อดทน เหน็ดเหนื่อย กว่าจะได้ภาพยนตร์ออกมาสักเรื่องหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของ Stop-Montion อนิเมชั่น เริ่มจาก Albert E. Smith กับ J. Stuart Blackton สร้างภาพยนตร์เรื่อง The Humpty Dumpty Circus (1897) นำเอาของเล่นและหุ่นสัตว์ทั้งหลาย มาถ่ายทำกายกรรมเคลื่อนไหวทีละช็อต น่าเสียดายฟุตเทจสูญหายไปแล้ว, เรื่องที่โด่งดังในยุคแรกๆก็คือ The Haunted Hotel (1907) กำกับโดย J. Stuart Blackton ต้นไม้ ประตูหน้าต่าง ถ้วยชาม หรือแม้แต่สายฟ้า สามารถเคลื่อนไหวเองได้

ในอเมริกา บุรุษผู้แรกที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Stop-Motion คือ Willis O’ Brien (1886 – 1962) ผู้สร้างสรรค์ผลงาน อาทิ The Lost World (1925), King Kong (1933), Mighty Joe Young (1949) [คว้ารางวัล Oscar: Best Visual Effects] ฯ ถือเป็นผู้สร้างเสาหลัก Milestone ของวงการ Stop-Motion โดยแท้

และบุคคลที่นำ Stop-Motion พัฒนาสู่จุดสูงสุดของความเป็นเลิศทางศิลปะคือ Raymond Frederick ‘Ray’ Harryhausen (1920 – 2013) ลูกศิษย์เอกของ O’Brien สร้างสรรค์ผลงานดัง อาทิ The Beast from 20,000 Fathoms (1953), It Came from Beneath the Sea (1955), Jason and the Argonauts (1963), The Golden Voyage of Sinbad (1973), Clash of the Titans (1981) ฯ

เกร็ด: จะมีช็อตหนึ่งในหนัง บนเปียโนที่ Victor เล่นก่อนพบกับ Victoria มีป้ายสลักชื่อ Harryhausen ปรากฎอยู่ นี่เป็นการคารวะบุคคลในตำนาน (Idol ของ Tim Burton) และเห็นว่า Harryhausen ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือนยังสตูดิโอโรงถ่าย ตามคำเชิญของผู้กำกับด้วยละ

Timothy Walter Burton (เกิดปี 1958) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ นักเขียน/อนิเมเตอร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Burbank, California ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้าน Gift Shop มีของเล่นมากมาย ทำให้ Burton นิยมชมชอบเล่นกล้องถ่ายภาพทำหนังสั้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นำมาทำเป็น Stop-Motion อนิเมชั่น โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of the Arts ศึกษา Character Animation (CalArts) จบออกมาสมัครงานที่ Walt Disney ทำงานเป็น animator วาดภาพ storyboard ออกแบบ concept artist ให้กับอนิเมชั่นเรื่อง The Fox and the Hound (1981), Tron (1982), The Black Cauldron (1985) ฯ สร้างอนิเมชั่น/Stop-Motion ขนาดสั้น อาทิ Vincent (1982), Frankenweenie (1984) ฯ จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Pee-wee’s Big Adventure (1985), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Beetlejuice (1988), Batman (1989), Edward Scissorhands (1990), Batman Returns (1992)

แม้จะเป็นเพียงโปรดิวเซอร์ของ The Nightmare Before Christmas (1993) แต่ถือเป็นผู้ริเริ่มตั้งไข่โปรเจคนี้ให้ได้รับการสร้างขึ้นจนออกฉาย และขณะใกล้เสร็จสำเร็จ Burton ได้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งจาก Joe Ranft ผู้เป็น Storyboard Supervisor ชื่อ Shivhei ha-Ari เขียนโดย Rabbi Yitzchak Luria รวบรวมเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวยิวรัสเซีย (Jewish Folk Story/Russian Folktale) ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 มีตอนหนึ่งชื่อ The Finger ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังจะแต่งงาน ขณะฝึกหัดท่องคำสัตย์สาบาน เผลอเอาแหวนสวมใส่นิ้วนางของศพหญิงสาว (เพราะคิดว่าเป็นเพียงกิ่งไม้) ทันใดนั้นร่างของเธอผุดลุกขึ้นจากหลุมตอบรับคำ ด้วยความตกใจหวาดสะพรึงกลัว เจ้าบ่าวพา Corpse Bride ไปหา Rabbi ประจำเมือง ที่ได้ตัดสินประกาศว่า ‘คนตายมิอาจทวงสิทธิ์เหนือคนเป็น’ ทำให้ร่างของศพสาวแหลกละเอียดสลายกลายเป็นผุยผง มิอาจกลับขึ้นมามีชีวิตได้อีก

แต่กว่าโปรเจคนี้จะเป็นรูปเป็นร่าง และ Burton มีเวลาเหลือสร้างก็ทศวรรษถัดมา หลังเสร็จจาก Big Fish (2003) กำลังเตรียมงาน Charlie and the Chocolate Factory (2005) ได้พูดคุยตกลงกับ Mike Johnson ที่เคยทำงานเป็น Stop-Motion อนิเมเตอร์เรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993) กับ James and the Giant Peach (1996) ให้ขึ้นมา co-directing ควบคุมดูแลงานประจำวันในกองถ่าย ส่วน Burton จะกำกับ direction ทิศทางของหนัง

“In a co-directing situation, one director usually handles one sequence while the other handles another. Our approach was more organic. Tim knew where he wanted the film to go as far as the emotional tone and story points to hit. My job was to work with the crew on a daily basis and get the footage as close as possible to how I thought he wanted it.”

– Mike Johnson

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้บริการของ Henry Selick ที่เป็นตัวตายตัวแทนของ Burton กำกับ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993) และ James and the Giant Peach (1996) ผมว่าเหตุผลคงตรงไปตรงมา ดังแล้วแยกวง หรือไม่ก็คงมีความขัดแย้งทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง Selick ขณะนั้นเมื่อปี 2004 ได้งานเป็น Supervising Director ให้กับสตูดิโอ Stop-Motion เปิดใหม่ Laika Entertainment ไม่เคยหวนกลับมาช่วยงาน Burton อีกเลย

เกร็ด: เห็นว่า Laika Entertainment รับงานจากเรื่องนี้เป็น Contract work ด้วยนะครับ น่าจะเป็นโปรเจคแรกๆของสตูดิโอเลยละ ก่อนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Coraline (2009), ParaNorman (2012), Kubo and the Two Strings (2016) ฯ

เรื่องราวมีพื้นหลังในยุค Victorian Era (1837 – 1901) ประเทศอังกฤษ, Victor Van Dort (พากย์เสียงโดย Johnny Depp) ชายหนุ่มลูกพ่อค้าขายปลาจนร่ำรวยเงินทอง ถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับ Victoria Everglot (พากย์เสียงโดย Emily Watson) ลูกสาวของครอบครัวชนชั้นสูง แต่กำลังตกยากเพราะขาดทุนทรัพย์ใช้หนี้ แม้การพบเจอกันทำให้พวกเขาตกหลุมรักแรกพบ แต่เพราะความขี้อาย ป่ำๆเป๋อๆ ไม่แน่ใจในตัวเองของ Victor ทำให้ไม่สามารถท่องสัตย์สาบานระหว่างแต่งงานกับ Victoria ด้วยความผิดหวังในตัวเอง วิ่งหนีเข้าไปในป่า คราวนี้ซักซ้อมพูดได้คล่องปล๋อ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยไม่รู้ตัวได้แต่งงานกับ Emily (พากย์เสียงโดย Helena Bonham Carter) ศพสาวที่ถูกฆาตกรรมวันแต่งงาน ผุดลุกขึ้นมาตอบรับกลายเป็นสามี-ภรรยา เรื่องวุ่นๆทั้งหลายจึงเกิดขึ้น

วันหนึ่งในกองถ่าย Charlie and the Chocolate Factory ผู้กำกับ Burton เดินเข้าหา Johnny Depp ยื่นบทภาพยนตร์ Corpse Bride หลังอ่านจบก็เกิดความชื่นชอบสนใจ ตอบตกลงรับคำให้เสียงพากย์ ก็คาดว่าคงอีกสักพักที่จะได้เริ่มงานนี้ แต่แล้วไม่กี่วันถัดมา Burton ก็เดินมาบอกว่า ‘คืนนี้เราจะไปบันทึกเสียงพากย์ Corpse Bride กัน’ สร้างความตกตะลึงงัน ไม่ทันตั้งตัว Depp มีเวลาเตรียมพร้อมไม่ถึง 15 นาที แล้วก็เข้าห้องบันทึกเสียงเลย

Victor Van Dort ชายหนุ่มขี้อาย กลัวๆกล้าๆยังขาดความมั่นใจในตนเอง โชคดีได้พบเจอหญิงสาวที่มีความคล้ายคลึงกับตน มองตารับรู้เข้าใจ เป็นรักแรกพบที่หาเจอได้ยาก แต่ลึกๆแล้วเหมือนว่าเขายังมีความลังเลไม่แน่ใจอยู่ ความสะเพร่าเลินเล่อและโชคชะตาที่พลิกผันแต่งงานกับศพสาว ทำให้เขาเรียนรู้ความผิดพลาด ค้นพบเจอความต้องการตั้งใจจริงของตนเอง คราวนี้แหละช้างสารก็มิอาจฉุดรั้งไว้ได้

Depp ก็คือ Depp วันยังค่ำ แม้แค่ได้ยินเสียงแต่ก็สะท้อนตัวตนของเขาอย่างชัดเจน (ภาพลักษณ์ที่หลายคนรู้สึกว่าเหมือน แต่หุ่นของ Victor สร้างขึ้นก่อน Burton เลือก Depp ให้มาพากย์เสียงตัวละครนะครับ ถือเป็นความบังเอิญล้วนๆที่ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันมากๆ) แต่ผมก็ไม่เคยเห็น Depp รับบทตัวละครไหน (ใน Live-Action) มีท่าทางเจี๋ยมเจี้ยม เคอะๆเขินๆ พูดจาติดๆขัดๆแบบนี้ (ปกติจะรับบทตัวละครสุดเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน ปากร้าย บุคลิกพิศดาร) ก็อยากเห็นเหมือนกันนะ แต่คิดว่าคงไม่เข้ากับภาพลักษณ์ของพี่แกเสียเท่าไหร่

ชีวิตสมรสของ Tim Burton แต่งงานกับ Lena Gieseke เมื่อปี 1987 หย่าขาดปี 1991 จากนั้นมีคู่ขาคือ Lisa Marie Smith ระหว่างปี 1993–2001 และล่าสุดกำลังเกี้ยวพาจีบกับ

สำหรับ Helena Bonham Carter แม้ขณะนั้น (ตั้งแต่ปี 2001) จะเป็นคู่ขาของ Tim Burton แต่การเลือกเธอมาพากย์เสียง Corpse Bride มาจากการ Audition และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์กว่าจะรู้ผล เพราะเขาต้องเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ให้เห็นผลลัพท์จากการเลือกใช้เสียงของเธอ [นี่ผิดกับ Depp ที่พอเสนอชื่อไปปุ๊ปอนุมัติปั๊ปเลย]

Emily หรือ Corpse Bride หญิงสาวสุดสวยสดใสร่าเริงเป็นมิตรกับผู้คน ถูกฆาตกรรมขณะยังเป็นเจ้าสาวในวันแต่งงาน ทำให้สถานะยังโสดซิง ตายแล้วเลยไม่สามารถปลดปล่อยใจไปผุดเกิดใหม่ได้ การบังเอิญแต่งงานกับ Victor ได้เติมเต็มความฝันเป็นเจ้าสาว แต่เพราะเขาไม่ได้รักจะให้ทำอย่างไร เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอจึงพร้อมเสียสละปล่อยเขาไป ขณะที่ชายหนุ่มก็พร้อมเสียสละบางอย่างเพื่อเธอเช่นกัน นั่นทำให้ Emily ได้พบกับเจ้าบ่าวตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด

เสียงพากย์ของ Helena Bonham Carter มีความยียวนกวนแรด ตามประสาลีลาท่าทางของเธอ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ใครเคยรับชมผลงานอย่าง Harry Potter รับบท Bellatrix Lestrange หรือผลงานประจำกับ Tim Burton ย่อมมีความคุ้นเคยเป็นอยางดี แต่ตัวจริงของเธอไม่ได้แรงขนาดนั้นนะครับ แค่รสนิยมความชื่นชอบ สไตล์การแต่งตัว มันออกดาร์คๆโกธิคสักหน่อย

Emily Watson นักแสดงหญิงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ที่โด่งดังกับภาพยนตร์เรื่อง Breaking the Waves (1996), Hilary and Jackie (1998), Gosford Park (2001), Red Dragon (2002) ฯ พากย์เสียง Victoria Everglot น้ำเสียงหวานๆ มีความเพ้อฝัน คาดหวังสิ่งดีงามในชีวิต แต่เป็นดั่งนกน้อยในกรง ไม่สามารถดิ้นหลุดหนีไปไหนได้ การได้พบเจอเป็นคู่หมั้นของ Victor เติมเต็มความฝันของตนเอง พร้อมที่จะทุ่มเทกายใจให้ แต่เพราะเขาพบเจอกับสิ่งเหนือธรรมชาติไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้บางสิ่งอย่างอันชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้าหาเธอ

การออกแบบตัวละคร สังเกตว่าพวกมนุษย์จะเป็นโทนสีขาว-เทา-ดำ สะท้อนถึงความจืดชืด น่าเบื่อหน่าย ทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิต, สำหรับพ่อ-แม่ ของทั้ง Victor และ Victoria จะมีรูปลักษณ์ตรงกันข้าม

ฝั่งของ Victor: พ่อจะหัวใหญ่คางลีบ (สามเหลี่ยมคว่ำ) หัวล้าน คิ้วชี้ขึ้น ร่างผอมบาง, ส่วนแม่จะหน้าผากแคบแก้มยุ้ย (สามเหงี่ยมหงาย) ผมม้วนมัด คิ้วชี้ลง ร่างท้วนบวม

ฝั่งของ Victoria: พ่อจะอ้วนกลมป้อมตัวเตี้ย, ส่วนแม่ผอมบาง คางยาว ผมชี้โด่ง สูงลีบ

ส่วนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Victor คล้ายคลึงกับ Depp มากที่สุดก็คือดวงตาอันเหลอหลา มีรอยดำคล้ำเหมือนคนไม่ได้หลับนอนมาหลายวัน กอปรเข้ากับท่าทางอันเฟอะฟะ พูดจาติดๆขัดๆ … แต่ว่าไปภาพลักษณ์นี้ก็คล้ายกับ Tim Burton เวลาหวีผมเนียบๆเหมือนกันนะ

ขณะที่ Victoria เธอมีใบหน้าที่กลมกว่า Victor (เหมือนหัวผักกาด) ลักษณะสมมาตรลงตัวพอดี มักมีแสงสว่างส่องลงมา ทำให้เหมือนนางฟ้าทั้งน้ำเสียง รูปลักษณ์ และจิตใจ

ขณะที่ Corpse Bride และเหล่าสมาชิกของคนตายทั้งหลาย ล้วนเต็มไปด้วยสีสันสดใส เน้นเขียว-เหลือง-น้ำเงิน เป็นสถานที่ตรงกันข้ามกับโลกมนุษย์โดยสิ้นเชิง

ตัวละคร Emily ใช้โทนสีน้ำเงินทั้งตัว เว้นปากทางลิปสติกสีแดง ทรงผมหยิกย้อย กระเซอะกระเซิง แขนข้างหนึ่งเป็นโครงกระดูก เอวบางร่างน้อย ใบหน้ามีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ สุขทุกข์ ฯ

ถ่ายภาพโดย Pete Kozachik, เป็นอนิเมชั่น Stop-Motion เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลรุ่น Canon EOS-1D Mark II จำนวน 32 ตัว หน่วยความจำ 1 GB สามารถถ่ายภาพได้ 100 ช็อต ใช้เลนส์ของ Nikon ขนาด 14mm – 105mm ด้วยเหตุนี้จึงสามารถปรับโฟกัส ใกล้ไกลได้ ซูมเข้าออก แถมด้วย Green-Screen เพื่อนำไปใส่ Visual Effect ประกอบได้ ใช้เวลาถ่ายทำ 55 สัปดาห์ ถ่ายภาพทั้งหมด 109,440 รูป แล้วนำไปเรียบเรียงตัดต่อในโปรแกรม Apple’s Final Cut Pro (เรื่องแรกของโลกเช่นกัน)

Burton เลือกสตูดิโอ 3 Mills Studios ที่ East London ในการก่อสร้างฉากถ่ายทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ แทนที่จะเป็น Hollywood เพราะตัวเขาถ่ายทำ Charlie and the Chocolate Factory ที่กรุง London อยู่ไม่ห่างไกลกันมาก

ปกติแล้วส่วนหัวของหุ่นมักจะใช้การดึงออกเปลี่ยน สร้างเป็นร้อยๆศีรษะเมื่อต้องการแสดงสีหน้า/การพูดของตัวละคร แต่นี่เป็นครั้งแรกของโลกอีกเช่นกัน ที่มีการสร้างกลไกสำหรับขยับตา หูและปากสามารถเคลื่อนขยับได้ทีละนิด (ใช้กลไกไขลานติดในหู) แม้จะสร้างความยุ่งยากมากกว่าเดิม แต่ทำให้ลักษณะการแสดงออกของสีหน้าเปลี่ยนไปมาก (แต่เฉพาะกับ 3 ตัวละครหลัก Victor, Victoria และ Corpse Bride เท่านั้น)

 “[This technique] enables us to get much more expressive performances than you could with replacement animation, Little paddles and gears allow us to get the tiny increments. Put an Allen key inside an ear and Victor smiles; put it inside the other ear and he frowns.”

– Mike Johnson ให้สัมภาษณ์กับ VFXWorld Magazine

สิ่งที่ยุ่งยากวุ่นวายสุดในการถ่ายทำคือ ผ้าคลุมหน้าของ Corpse Bride โดยเฉพาะขณะเดินที่ต้องพริ้วไหวดังสายน้ำอยู่ตลอดเวลา, ใช้การทดลองอยู่ 4 เดือน ก็ได้วิธีการคือ เอาเส้นลวดขนาดเล็กๆบางๆถ่ายภาพมองไม่เห็นติดผ้าคลุมหน้าไว้ เท่านี้ก็สามารถควบคุมการพริ้วไหวของผ้าผืนบางนี้ได้แล้ว

“When she gently takes off her veil and we see her for the first time, it becomes a glamour-girl shot, The most difficult thing was having Corpse Bride walk with a veil because it has to be transparent, it has to animate and it has to be very fluid … like it was under water.”

สำหรับเพลงประกอบ ใช้บริการของ Danny Elfman แต่เพราะต้องทำงานควบคู่ไปกับ Charlie and the Chocolate Factory จึงได้ว่าจ้าง John August ให้มาช่วยแต่งคำร้องบางบทเพลง

นครแห่งความตาย โดดเด่นเรื่องสีสันและดนตรี Jazz เต็มไปด้วยชีวิตชีวา (ทั้งๆที่ตายกันไปหมดแล้วเนี่ยนะ!) ไฮไลท์คือบทเพลง Remains of the Day ตัวละคร Bonejangles หลังจากสรรหานักร้องนับสิบ บันทึกเสียงไปแล้วสาม แต่มิได้เป็นที่พึงพอใจของผู้กำกับ สุดท้าย Danny Elfman เลยได้โชว์ลูกคออีกครั้ง

สำหรับ Theme Song มีบรรยากาศความหลอนสะพรึง โลกความจริงที่แสนโหดร้าย แต่ในนั้นก็ประกายแห่งความหวังอยู่เล็กๆ, มีท่อนหนึ่งที่เป็นการ Solo เปียโน (เป็นบทเพลงที่ Victor เล่นขณะพบเจอ Victoria ครั้งแรก) มีสัมผัสคล้ายบทเพลง Beethoven: Moonlight Sonata สะท้อนความโดดเดี่ยว อ้างว้าง เดียวดาย แต่เมื่อได้พบเจอหญิงสาวราวกับพลันได้พบแสงสว่างที่สวยงามสดใส

การสร้างให้โลกมนุษย์กับโลกคนตายต่างกันสุดขั้วแบบนี้ เป็นการสะท้อนถึงยุคสมัย Victoria ที่ผู้คนมักจะยึดมั่นในกรอบกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ไม่มีใครคิดกล้าที่จะฝ่าฝืน ความตายเปรียบได้กับอิสรภาพ เสรีทางความคิดที่สามารถกระทำทุกอย่างดั่งใจ จึงมีสีสันและดนตรี Jazz เขย่าวิญญาณ เรียกว่าไม่มีกฎอะไรมาบังคับคนตายได้อีกแล้ว

การเลือกคู่ครอง ความสนใจก็เช่นกัน ไม่รู้ตั้งแต่ยุคสมัยไหนที่มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับเรื่องการแต่งงานขึ้นมา บุตรชายสาวจำเป็นต้องอยู่ในภาระของพ่อแม่/สังคม ในการเลือกคู่ครองให้กับลูกของตน โดยพิจารณาความเหมาะสมจากชนชั้นฐานะ ความเชื่อศาสนา และเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ฯ นี่ทำให้คนรักกันไม่ได้ครองคู่ แต่งงานเพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์สมัยหนึ่งจะยึดถือติดมั่นกับวิถีประเพณีแนวคิดนี้อย่างเหนียวแน่นผ่อนปรนไม่ได้

แล้วยุคสมัยแห่งอิสรภาพก็หวนกลับคืนสู่มนุษย์อีกครั้ง คาดการณ์ว่าคงเริ่มตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของประเทศอเมริกา ดินแดนแห่งโลกเสรี ผู้คนมากมายหลายถิ่นเผ่า ไม่มีเหตุผลใดๆที่มนุษย์จำต้องยึดถือมั่นในระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมใดหนึ่ง พบเจอหน้าถูกชะตาก็ฉุดคร่าควรได้ครองคู่ จะยื้อยักรีรอขังตัวอยู่ในกรอบล้าสมัยทำไม ไม่นานนักแนวคิดนี้ก็ค่อยๆเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก แม้จะยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่น่าจะกลายเป็นส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ไปแล้ว

การจับพลัดจับพลูของ Victor แต่งงานกับเจ้าสาวที่เป็นศพไร้ลมหายใจ มองได้เป็นการสะท้อนการแต่งงานแบบคลุมถุงชน เพราะเจ้าบ่าวสาวไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง หาได้ตกหลุมรักชอบคอ แต่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยแหวนนิ้วนางและประเพณี ก็ไม่ต่างอะไรกับอยู่กินร่วมรักซากศพคนตาย ไร้ซึ่งความสุขในชีวิต

Corpse Bride คือเรื่องราวของการค้นหาความต้องการของตัวเอง และตัดสินใจเลือก เปรียบเทียบกับคู่ครองที่มาจากการจับพลัดจับพลู/คลุมถุงชน
– Emily คือเจ้าสาวที่ -ให้ตายเถอะ- Victor ไม่ได้มีความต้องการแม้แต่น้อย แต่กลับได้มาครอบครองแบบไม่มีสิทธิ์เลือก ตัวเขาในตอนแรกก็ปฏิเสธขันแข็ง แต่ต่อมาค่อยๆรู้สึกเห็นใจและพร้อมยินยอมเป็นผู้เสียสละ
– Victoria คือว่าที่เจ้าสาว Victor พบหน้าถูกชะตา แม้ไม่มีสิทธิ์เลือกแต่มีสิทธิ์ตัดสินใจ กระนั้นเขายังลังเลไม่แน่ใจในตัวเอง ทำให้พลาดโอกาสแต่งงาน นั่นทำให้เขาได้เรียนเข้าใจ และมีความกล้าตัดสินใจเลือกในสิ่งถูกต้องสมควร

การได้เติมเต็มสิ่งที่ตนเองต้องการ ทำให้ Emily กลายเป็นอิสระ ได้ไปผุดไปเกิดใหม่, ขณะที่ Victor ก็คงได้ลงเอยแต่งงานกับ Victoria สมตามประสงค์ แม้ไม่ใช่คู่ครองที่เลือกเอง แต่ก็หมดสิ้นความลังเล ตัดสินใจเลือกด้วยตนเองว่าจะแต่งงานกับเธอ

นับตั้งแต่ Edward Scissorhands (1990) ที่ Burton รู้จักร่วมงานกับ Johnny Depp ก็ได้ใช้บริการเขาให้เป็นตัวตายตัวแทนภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งกับเรื่องนี้ตัวละครเสียงพากย์ของ Depp จับพลัดจับพลูแต่งงานกับ Corpse Bride หรือตัวละครเสียงพากย์ของ Helena Bonham Carter คู่ขาของตนขณะนั้น นี่ต้องเป็นการสะท้อนความต้องการของ Burton ออกมาอย่างแน่นอน กล่าวคือ ฉันยินยอมอยู่กินร่วมกับเธอ แต่มิได้หมายความว่าจะเอามาเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย, และยังเป็นการแสดงทัศนะเรื่องการแต่งงาน มันหาได้จำเป็นต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกรอบที่สังคมเคยวางไว้ ก็อยู่ที่ตัวเราเองจะเป็นผู้ตัดสินใจ อิสระในการเลือก

Burton แต่งงานกับ Lena Gieseke เมื่อปี 1987 เลิกราปี 1991 นี่คงเป็นรอยร้าวจดจำฝังใจ ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยแต่งงานอีก แต่ใช้ชีวิตเป็นคู่ขาร่วมกับ Lisa Marie Smith (1993–2001) และ Helena Bonham Carter (2001–2014) รายหลังคงรักมาก นิสัยภาพลักษณ์เพี้ยนๆบ้าๆบอคล้ายกัน ถึงขนาดมีลูกด้วยกันสองคน แต่กลับหย่ากันโดยไม่มีชี้แจงสาเหตุ กระนั้นยังเห็นร่วมงานกันอยู่ได้

ด้วยทุนสร้างตัวเลขกลมๆ $40 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ทั่วโลก $117.2 ล้านเหรียญ กำไรเพียงเล็กน้อย, เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature Film แต่พ่ายให้กับ Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit (2005) ตัวเต็งปีนั้นที่ก็เป็นอนิเมชั่น Stop-Motion อีกเรื่อง

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก หลงใหลในเสียงพากย์ การเคลื่อนไหว และพล็อตสุดประหลาด แม้มันจะไม่ค่อยมีสาระอะไรเท่าไหร่นอกจากความบันเทิงรมย์ แต่คือเรื่องที่ทำให้ผมรู้จักคลั่งไคล้กับ Stop-Motion เลยขอยกไว้ในฐานเข้าใจ

แนะนำกับคออนิเมชั่น Stop-Motion ทั้งหลาย, ชื่นชอบแนว Romance Horror, Musical, Fantasy เกี่ยวกับโครงกระดูก ผีๆสางๆ, แฟนๆผู้กำกับ Tim Burton และนักพากย์นำ Johnny Depp, Helena Bonham Carter ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg เด็กๆดูแล้วจะสยิวกาย หลอนๆกับภาพหัวกระโหลกและความตาย

TAGLINE | “Corpse Bride อนิเมชั่น Stop-Motion สุดเพี้ยนของผู้กำกับ Tim Burton ใช้ร่างอวตาร Johnny Depp ครองรักกับ Helena Bonham Carter ที่ฟื้นขึ้นจากหลุม”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: