Crash (1996) : David Cronenberg ♥♥
เริ่มต้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศคลุ้มคลั่ง โหยหาประสบการณ์เฉียดเป็นเสี่ยงตาย จนได้มีเพศสัมพันธ์ทั้งชาย-หญิง ประตูหน้า-หลัง และกับรถยนต์ คว้ารางวัล ‘Special’ Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และกลายเป็นแรงบันดาลใจ Julia Ducournau สรรค์สร้างผลงาน Titane (2021)
ผมยังไม่เคยรับชม Titane (2021) แต่แค่เห็นตัวอย่าง (trailer) ก็ชวนให้ตกตะลึง อึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง และยิ่งคำชมของประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้น Spike Lee ใครต่อใครก็น่าจะจินตนาการสิ่งบังเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
To be honest, I’ve never seen a film in my life, I have to say I’ve seen a lot of films, but this is the first film ever where a Cadillac impregnated a woman.
Spike Lee กล่าวถึง Titane (2021)
Crash (1996) ไม่ได้ทำใครตั้งครรภ์ –” แต่พยายามเปรียบเทียบอุบัติเหตุบนท้องถนน กับความรุนแรงอื่นๆในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเสรีภาพของการมีเพศสัมพันธ์ มนุษย์ยุคสมัยนี้-นั้น มักโหยหาประสบการณ์แปลกใหม่ เพื่อให้เกิดสัมผัสอันเร้าร้อน ถึงจุดสูงสุดไคลน์แม็กซ์ยิ่งๆขึ้นไป ‘Extremity’ ไม่รู้จะต้องการถึงสรวงสวรรค์ชั้นไหน
ผมรู้สึกว่า Crash (1996) มีแนวคิดละม้ายคล้าย Videodrome (1983) เปลี่ยนจากความหลงใหลในสื่อสารมวลชน มาเป็นคลั่งไคล้อุบัติเหตุทางท้องถนน แตกต่างตรงไม่มีภาพน่ารังเกียจขยะแขยง (มากสุดก็สภาพรถพัง ฟกช้ำ เข้าเฝือกเหล็ก ฯลฯ) แต่เชื่อว่าหลายคนอาจรับไม่ได้เมื่อพบเห็นสารพัดลีลาระหว่างเพศสัมพันธ์
ใครตามอ่าน raremeat.blog น่าจะพอรับรู้ว่าผมค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องทางเพศ ตราบใดที่มีความสวยงาม แลดูเป็นงานศิลปะชั้นสูง แต่สำหรับ Crash (1996) ทำเอาผมส่ายหัวรำคาญใจ แม้พยายามไล่ระดับประสบการณ์ทางเพศที่หลากหลาย แต่มันกลับไม่สามารถกระตุ้นอารมณ์ นำพาไปถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุดเหมือน Videodrome (1983) … คือหนังยังไปไม่ถึงจุดที่สามารถมอบความรู้สึก ‘Extremity’ ให้กับผู้ชมยุคสมัยนี้สักเท่าไหร่
ก่อนอื่นของกล่าวถึง James Graham Ballard (1930-2009) นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ เกิดที่ Shanghai International Settlement ย่านเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศจีน ใช้ชีวิตพานผ่าน Second Sino-Japanese War (1937-45) จากนั้นขึ้นเรือกลับเกาะอังกฤษ สอบเข้าวิทยาลัยแพทย์ King’s College, Cambridge ตั้งใจจะเป็นนักจิตวิทยา แต่พอเริ่มเขียนเรื่องสั้น The Violent Noon (1951) คว้ารางวัลอะไรสักอย่าง จึงตัดสินใจย้ายมาร่ำเรียนวรรณกรรมภาษาอังกฤษยัง Queen Mary College และเขียนนวนิยายไซไฟขนาดยาว The Wind from Nowhere (1961), The Drowned World (1962) ฯลฯ
ผลงานของ Ballard มักสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยามนุษย์ (Human Psychology), การมีเพศสัมพันธ์, สื่อสารมวลชน, และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งล้วนมีลักษณะปลุกปั่น ‘provocative’ จี้แทงใจดำ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ ผลงานเด่นๆ อาทิ Crash (1973), High-Rise (1975), Empire of the Sun (1984) ฯลฯ
I wanted to rub the human race in its own vomit, and force it to look in the mirror.
คำอธิบายนวนิยาย Crash (1973) ของ J.G. Ballard
เมื่อปี 1970, J.G. Ballard ได้จัดนิทรรศการชื่อว่า ‘Crashed Car’ ขึ้นที่ New Arts Lab ณ กรุง London ซึ่งประกอบด้วยเศษซากรถทั้งหมดสามคัน แลดูราวกับประติมากรรมชั้นสูง (แต่เขาไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าแค่นำเอารถที่ประสบอุบัติเหตุพุ่งชนกันบนท้องถนนมาจัดแสดงเท่านั้น!)
ปีถัดมา Ballard ได้สรรค์สร้างหนังสั้นแนวทดลองชื่อ Crash! (1971) นำไปเสนอต่อสถานีโทรทัศน์ BBC แม้จะไม่ได้รับโอกาสสรรค์สร้างเป็นซีรีย์หรือภาพยนตร์ แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาต่อยอดมาเป็นนวนิยาย Crach (1973)
The 20th Century reaches its highest expression on the highway. Everything is there: the speed and violence of our age, its strange love affair with the machine, with its own death. Are we just victims in a totally meaningless tragedy, or does it in fact take place with our unconscious and even conscious connivance? Each year, hundreds of thousands are killed in car crashes all over the world. Are these arranged deaths? Arranged by the colliding forces of our technological landscape, by our own unconscious fantasies about power and aggression?
To die in a car crash is a unique twentieth-century finale.
J. G. Ballard ผู้ประพันธ์นวนิยาย Crash (1973)
นำเสนอเรื่องราวการประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ‘sexual fetishism’ โหยหาประสบการณ์เสี่ยงเป็น ท้าความตาย จนกลายเป็นอาการผิดปกติทางจิต โรคกามวิปริต (Paraphilia)
- Symphorophilia เกิดอารมณ์ทางเพศจากการพบเห็นภาพรุนแรง ภัยพิบัติ รวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน
- Autassassinophilia เกิดอารมณ์ทางเพศจากการประสบเหตุการณ์เสี่ยงเป็น ท้าความตาย ถูกบีบคอ หรือตนเองประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน
ว่ากันว่าแรงบันดาลใจของ J.G. Ballard มาจากการพบเห็นข่าวอุบัติเหตุ/โศกนาฎกรรมของ Jayne Mansfield และ James Dean ซึ่งก็มีอ้างอิงกล่างถึงในนวนิยาย แถมจัดฉากการเสียชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมบังเกิดอารมณ์ร่วม … ทุกเหตุการณ์ที่ตัวละครมีเพศสัมพันธ์ ล้วนเป็น ‘cautionary tale’ ให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักถึงการแสดงออกที่ผิดปกติ กามวิปริต
Crash (1973)’s the first great novel of the universe of simulation.
นักวิจารณ์ Jean Baudrillard ในบทวิเคราะห์ Simulacra and Simulation
David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)
ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง
ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Scanners (1981), Videodrome (1983), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ
หลังเสร็จจาก M. Butterfly (1993) ผกก. Cronenberg ได้รับการทาบทามให้กำกับ The Juror (1996) แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่มีความสนใจเรื่องราวดังกล่าว แล้วครุ่นคิดถึงนวนิยาย Crash (1973) เคยอ่านผ่านตามาเมื่อหลายปีก่อน ชอบคำสบประมาทที่ว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่เหมาะแก่การนำมาสร้างภาพยนตร์ (อารมณ์เดียวกับ Naked Lauch เป็นนวนิยายที่ยากจะทำเป็นสื่ออื่น) เลยวางแผนดัดแปลงเป็นผลงานเรื่องถัดไป
I didn’t re-read the book carefully because it’s been my experience that you have to be prepared to betray the book in order to be faithful to it. And with Crash I really thought I was going to have to do what I did with Naked Lunch — do sort of a construct. Naked Lunch isn’t really just the book, its Burroughs’ life and this other preface that he wrote — all these other things. But to my surprise when I started Crash, it distilled into film terms pretty directly.
David Cronenberg กล่าวถึงการดัดแปลง Crash (1996)
การดัดแปลงนวนิยาย Crash (1973) ผกก. Cronenberg ค่อนข้างจะซื่อตรงเนื้อหาจากต้นฉบับ เพียงตัดทอนรายละเอียดที่ดูเฉิ่มเชยล้าหลัง เช่นความเพ้อฝันของ Robert Vaughan อยากขับรถพุ่งชน Elizabeth Taylor (Tayler แม้เป็น Superstar แห่งยุค 50s-60s แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นตอนเธอกลายเป็นคุณยายอายุ 60+ ไปแล้ว)
โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ James Ballard (รับบทโดย James Spader) มีความสัมพันธ์แบบเปิดกว้าง (open marriage) กับภรรยา Catherine Ballard (รับบทโดย Deborah Kara Unger) ต่างฝ่ายต่างมีชู้รัก เพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า (extramarital sex) กระทั่งวันหนึ่งระหว่างทางกลับบ้าน James ประสบอุบัติเหตุขับพุ่งชนรถสวนทางมา ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนคนขับรถอีกฝ่ายเสียชีวิตคาที่ ซึ่งก่อนเป็นลมหมดสติ พบเห็นบุคคลนั่งข้างๆ Helen Remington (รับบทโดย Holly Hunter) เหมือนจบใจโชว์หน้าอก ไม่สวมเสื้อชั้นใน
เมื่ออาการบาดเจ็บของ James ทุเลาบรรเทาลง บังเอิญพบเจอ Helen ยังสถานที่เก็บซากรถยนต์ ซึ่งระหว่างทางกลับพวกเขาก็ถาโถมเข้าใส่ ร่วมรัก มีเพศสัมพันธ์ แล้วเธอพาเขาไปรับชมการแสดง ‘performance arts’ รถชนกันของ Robert Vaughan (รับบทโดย Elias Koteas) แนะนำให้รู้จักสมาชิกที่ต่างชื่นชอบคลั่งไคล้ความรุนแรง ‘symphorophiliacs’ บังเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อพบเห็นอุบัติเหตุรถชนกัน
James Todd Spader (เกิดปี 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boston, Massachusetts มารดาเป็นครูสอนศิลปะ พออายุได้ 17 ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน มุ่งสู่ New York เพื่อเป็นนักแสดง Endless Love (1981), รับบทนำครั้งแรก Tuff Turf (1985), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Pretty in Pink (1986), Wall Street (1987), โด่งดังกับ Sex, Lies, and Videotape (1989) คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, ผลงานเด่นๆ อาทิ Stargate (1994), Crash (1996), Secretary (2002), Lincoln (2012) ฯลฯ
รับบท James Ballard โปรดิวเซอร์ผู้โหยหาความตื่นเต้น ประสบการณ์ทางเพศรุกเร้าใจ ไม่ยึดติดแนวคิดผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) ร่วมรักเลขาสาว แล้วต่อภรรยาตรงระเบียง กระทั่งเมื่อประสบอุบัติเหตุจึงราวกับได้พบเจอโลกใบใหม่ เลือกใช้ชีวิตกล้าเสี่ยง ท้าความตาย เพื่อเวลามีเพศสัมพันธ์จะได้ถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุดกว่าครั้งอื่นใด
Spader เป็นตัวเลือกแรก ตัวเลือกเดียวของผกก. Cronenberg (น่าจะเพราะ Sex, Lies, and Videotape) ไม่ต้องโน้มน้าวอะไรใดๆ เพราะเคยอ่านนวนิยายต้นฉบับ แค่ใคร่สงสัยว่าตนเองจะร่วมรักกับใครบ้าง
after all, I get to f*ck everybody in this movie don’t I?
James Spader
ใบหน้าของ Spader เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ใคร่อยากรู้อยากเห็น อยากลองทำโน่นนี่นั่น แสดงความอิจฉาริษยาทุกครั้งเมื่อต้องพบเห็นใครอื่นกำลังมีความสุขกระสันต์ พอถึงคราตัวเองก็ใส่ไม่ยั้ง ปลดปล่อยสัญชาติญาณ ต้องการเปิดประสบการณ์(ทางเพศ)ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา
ผมมองไม่เห็นพัฒนาการใดๆของ Spader พฤติกรรมต่างๆล้วนคาดเดาง่าย หมกมุ่นมักมาก สนเพียงตัณหาความใคร่ เพียงดำเนินชีวิตไปตามสัญชาติญาณ ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานสักเท่าไหร่ ถึงอ้างว่างเพียงนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ แต่เป็นตัวละครที่ไม่น่าติดตาม ไม่น่าจดจำ ไม่รู้จะทำอะไร เทียบไม่ได้กับ James Woods เรื่อง Videodrome (1983) ที่ยังมีภาพสุดอัปลักษณ์ติดตราฝังใจ
Deborah Kara Unger (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติแคนาดา เกิดที่ Vancouver, British Columbia แต่ไปเติบโตยัง Australia โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง National Institute of Dramatic Art จากนั้นเข้าสู่วงการโทรทัศน์ แสดงมินิซีรีย์ Bangkok Hilton (1989), Hotel Room (1993), แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Crash (1996), The Game (1997), The Hurricane (1999), Silent Hill (2006) ฯลฯ
รับบท Catherine Ballard แม้เป็นภรรยาของ James แต่ก็ยินยอมรับความสัมพันธ์แบบเปิดกว้าง (open marriage) ไม่ยึดติดแนวคิดผัวเดียวเมียเดียว โหยหาความตื่นเต้น เพศสัมพันธ์ที่รุกเร้าใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆแบบเดียวกับสามี และเมื่อเรียนรู้จากเขาเกี่ยวกับกลุ่มของ Robert Vaughan จึงใครอยากลิ้มลองความเจ็บปวดซาดิสม์-มาโซคิสม์ (Sado-Masochist)
น่าเสียดายที่ตัวละครไม่ได้มีมิติมากไปกว่าหญิงสาวแรดร่านราคะ แต่ต้องชมมารยาการแสดงของ Unger ด้วยสายตาจิกกัด ท่าทางยั่วเย้ายวน โดยเฉพาะคำพูดที่สามารถปลุกเร้า สร้างอารมณ์ให้ตัวละคร(และผู้ชม) แต่การพยายามเอาหมอนมาปิดบังหน้าอก (ขณะร่วมรักบนเตียง) มันช่างย้อนแย้งและน่าตลกขบขันอยู่ไม่น้อย
ผมรู้สึกว่า Unger เป็นนักแสดงมีศักยภาพพอจะประสบความสำเร็จ แต่อาจเพราะ Crash (1996) แทนที่จะแจ้งเกิดโด่งดัง กลับสร้างข้อจำกัดจากความสัมพันธ์เปิดกว้าง (open marriage) เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้น-นี้ ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถให้การยินยอมรับสักเท่าไหร่ โอกาสทางการแสดงของเธอจึงประปราย และไม่สามารถกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า
Elias Koteas (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติแคนาดา เกิดที่ Montreal, Quebec ในครอบครัวเชื้อสายกรีก, สำเร็จการศึกษาจาก American Academy of Dramatic Arts, New York มีผลงานการแสดง อาทิ Teenage Mutant Ninja Turtles (1990), Exotica (1994), Crash (1996), The Thin Red Line (1998), Ararat (2002), Zodiac (2007), Shutter Island (2010), Let Me In (2010) ฯลฯ
รับบท Robert Vaughan ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ บังเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อพบเห็นรอยบาดแผล ได้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย, เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิการแสดง ‘Performance arts’ เลียนแบบเหตุการณ์ที่ทำให้ James Dean ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พยายามโน้มน้าวชักชวน James Ballard เพื่อว่าตนเองจักได้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยา และทางประตูหลังกับเขา
ต้องชมเลยว่า Koteas เป็นคนที่มี Charisma ด้านการแสดงสูงไม่น้อย! ทั้งภาพลักษณ์เข้มๆ รอยสัก แผลเป็น ใบหน้าดูโหดเหี้ยม เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น (ในเรื่องที่ตัวละครให้ความสนใจ อุบัติเหตุ รอยแผล ความตาย) แสดงอารมณ์คลุ้มคลั่ง หื่นกระหาย มีความหลากหลาย รุนแรง ถือว่าโดดเด่นที่สุดในบรรดานักแสดงชุดนี้ก็ว่าได้
ตั้งแต่แสดงสีหน้าหื่นกระหายเมื่อพบเห็นรอยแผล เฝือกเหล็กของ Ballard นี่ก็สร้างความน่าฉงนสงสัยให้ตัวละครอย่างมากๆ กระทั่งการมาถึงของ ‘Performance arts’ สำแดงความลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งในในความเจ็บปวดซาดิสม์-มาโซคิสม์ (Sado-Masochist) แต่ไฮไลท์คงนี้ไม่พ้นอาการคลุ้มคลั่ง ขับรถพุ่งชนคนโน่นนี่นั่น ใครอยากเข่นฆ่าผู้อื่นให้ตกตายไปจริงๆ จากนั้นมาร่วมรักประตูหลัง … แค่รับชมการแสดงยังรู้สึกว่า Koteas เล่นหนักและเหนื่อย ขณะที่คนอื่นๆแค่ปล่อยตัวกายใจให้ล่องลอยไปมา
Holly Hunter (เกิดปี 1958) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Conyers, Georgia จบการแสดงที่ Carnegie Mellon University, Pittsburgh เริ่มต้นเป็นมีผลงานละครเวที อาศัยอยู่ห้องเช่าเดียวกับ Frances McDormand แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Burning (1981), แจ้งเกิดกับเรื่อง Raising Zrizona (1987), คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The Piano (1993) และเข้าชิงอีก 3 ครั้งจาก Broadcast News (1987), The Firm (1993), Thirteen (2003) ฯ
รับบท Helen Remington ทำงานกรมศุลกากรยังสนามบินแห่งหนึ่ง แม้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนสามีเสียชีวิต แต่ก็ไม่ติดใจอะไรกับ James Ballard หนำซ้ำยังยินยอมมีเพศสัมพันธ์ และนำพาให้เขารับรู้จัก Robert Vaughan พาท่องโลกที่ความรุนแรง ความเจ็บปวด กระตุ้นต่อมทางเพศ ได้หมดถ้าสดชื่น
ผมอ่านเจอว่า Hunter พยายามล็อบบี้ บีบบังคับ เรียกร้องอยากร่วมงาน ผกก. Cronenberg บทเล็กๆก็ไม่ว่า แค่ยื่นข้อเสนอมาก็จะตอบตกลงโดยทันที
บทบาทของ Hunter เหมือนจะเลือนหายไปตอนกลางเรื่อง หลังนำพา James Ballard ให้รู้จักกับ Robert Vaughan โผล่มาอีกทีก็พบเห็นกำลังสานสัมพันธ์สาว-สาวกับ Catherine ถือเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญสักเท่าไหร่ น่าเสียดายศักยภาพนักแสดงรางวัล Oscar เพียงใช้ความกล้า ท้าทาย เปลือยกายขณะมีเพศสัมพันธ์ เหมือนคนเก็บกดดันอัดอั้นมานาน อยากระบายตัณหาความใคร่ เปิดเผยสันดานธาตุแท้แบบไม่ต้องปกปิดซุกซ่อนอะไรใดๆ … เชื่อว่าบทบาทนี้คงสร้างความเพลิดเพลินใจให้ Hunter ได้เป็นอย่างดี เพราะผลงานเก่าๆโดยเฉพาะ The Piano ตัวละครของเธอโคตรจะเก็บกดทางเพศสุดๆ ‘sexual repression’
ถ่ายภาพโดย Peter Suschitzky (เกิดปี 1941) สัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Institut des hautes études cinématographiques เริ่มงานเป็นเด็กตอกสเลท, ควบคุมกล้อง, ถ่ายภาพเรื่องแรก It Happened Here (1964), โด่งดังจาก The Rocky Horror Picture Show (1975), Valentino (1977), The Empire Strikes Back (1980), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Dead Ringers (1988)
งานภาพของ Crash (1996) จะมีความเนิบนาบ เชื่องชักช้า ค่อยๆขยับเคลื่อนไหล ชวนให้น่าหลับใหล พยายามไม่สร้างความตื่นเต้นรุกเร้าใจ ซึ่งเป็นความต้องการ ‘anti-Hollywood’ ของผกก. Cronenberg เพื่อไม่ใช่ผู้ชมเกิดความบันเทิงเริงรมณ์ จากทั้งอุบัติเหตุรถชนกัน หรือหลากหลายรูปแบบเพศสัมพันธ์ … การพยายามทำให้ผู้ชมเซ็กซ์เสื่อม ไม่เกิดอารมณ์ใดๆ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมมองหนังในลักษณะนามธรรม (Subjective)
I wanted the dynamics of this film to be very much anti-Hollywood action movie.
David Cronenberg
มันอาจเป็นความตั้งใจที่ดีของผกก. Cronenberg ทำหนังให้น่าเบื่อ เพื่อผู้ชมจักไม่ลอกเลียนแบบตาม แต่นั่นคือจุดด้อยอย่างรุนแรง เพราะแม้เหตุการณ์ต่างๆมันมีความ ‘Extremity’ แต่ภาษาภาพยนตร์กลับไม่ตอบสนองความรู้สึกนั้น และผู้ชมยุคสมัยนี้ที่พานผ่านอะไรๆสุดโต่งมากมายในชีวิตประจำวัน ผมเลยรู้สึกว่ารับชม Crash (1997) แม้งโคตรน่าเบื่อหน่าย เพียงไม่กี่ฉากที่ยังพอมีความน่าสนใจ
พื้นหลังของนวนิยายคือกรุง London ทศวรรษ 70s แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ผกก. Cronenberg จึงต้องเปลี่ยนสถานที่มาเป็น Toronto, Canada ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาขับถเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น!
Opening Credit ของ Crash (1996) เมื่อเทียบกับหลายๆผลงานก่อนหน้า ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจสักเท่าไหร่ คาดว่าคงใช้โปรแกรมสามมิติ พยายามทำออกมาให้เหมือนผู้ชมนั่งอยู่ในรถยามค่ำคืน พบเห็นแสงไฟวูบวาบของคันที่กำลังสวนทางมา ส่วนตัวอักษรต้องการออกแบบให้คล้ายโครงเหล็ก (แต่ก็ไม่เหมือนสักเท่าไหร่นะ)
ภาพแรกของหนังคือ(โรงเก็บ)เครื่องบิน ซึ่งอาจทำให้หลายคนรู้สึกสับสนว่า Crash หมายถึงเครื่องบินชนกันหรือเปล่า? แต่พอกล้องเคลื่อนเลื่อนมาพบเห็นตัวละคร Catherine Ballard กำลังถอดเสื้อใน แล้วทำท่าเหมือน ‘ให้น้ำนม’
- หลายคนอาจตีความว่าคือการเกิดอารมณ์ทางเพศ ‘sexual fetishism’ กับเครื่องบิน
- แต่ผมมองว่าต้องการสื่อถึง มนุษย์คือผู้ให้กำเนิดเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกวันนี้ ซึ่งรวมถึงรถรา เครื่องบิน สิ่งอำนวยความสะดวกนานับประการ
ทั้งๆที่หนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติบนท้องถนน รถชนกัน แล้วทำไมฉากแรกนี้กลับนำเสนอภาพ(โรงเก็บ)เครื่องบิน? เพราะมันคือสิ่งที่นำพาไปมนุษยชาติไปถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุด ราวกับโบยบินอยู่บนสรวงสวรรค์ … เข้าใจความสองแง่สองง่ามที่อธิบายมานี้ไหมเอ่ย?
เพศสัมพันธ์ตรงระเบียงห้อง ถือเป็นรสนิยมของบางคู่รัก เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ หวาดกลัวว่าจะมีใครพบเห็นไหม สามารถกระตุ้นอารมณ์(ทางเพศ)ได้เป็นอย่างดี (แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีคนยืนมอง หรือแอบถ่าย ก็มักแสดงอาการเหนียงอาย รีบใส่สวมใส่เสื้อผ้าโดยพลัน ซะงั้น!)
แต่นัยยะของหนังโดยเฉพาะช็อตนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังมี ‘sex’ กับทิวทัศน์เมือง Toronto หรือคือความสุขกระสันต์กับความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษยชาติ ตึกรามบ้านช่อง ท้องถนนหนทาง ยานพานะ ฯลฯ
มันดูเป็นความจงใจของ Helen Remington หลังประสบอุบัติเหตุรถชน เมื่อปลดเข็มขัดนิรภัย เปิดเผยหน้าอกตนเองต่อสายตา James Ballard เหมือนว่าก่อนหน้านี้เธอกำลังทำอะไรบางอย่างกับสามี (ไปจินตนาการเอาเองนะครับ) และเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้อารมณ์ทางเพศพลุกพล่านขึ้นมา … ผมไม่แน่ใจว่า Helen รับรู้จัก Robert Vaughan มาก่อนหน้านี้หรือเปล่า แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงจากช็อตนี้แหละ บังเกิดอารมณ์ทางเพศหลังจากประสบอุบัติเหตุ เฉียดเป็นเฉียดตาย
การเข้าเฝือกด้วยโครงเหล็ก มันช่างดูเจ็บปวด น่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน จะมองว่ามันเป็น ‘body horror’ ก็คงได้กระมัง แถมช็อตนี้ยังจงใจวับๆแวมๆอวัยวะเพศของ James Ballard เพื่อสร้างความยั่วเย้ายวน ชวนให้เกิดอารมณ์ทางเพศ(จากความเจ็บปวด)ได้เช่นกัน
ถ้าโดยสามัญสำนึก อุบัติเหตุเลวร้ายขนาดนี้ย่อมต้องมีการฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล เรียกค่าทำขวัญ แต่ Helen กลับไม่สนใจใยดี เมื่อมีโอกาสพบเจอ James Ballard เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอดูออกในท่าทางซึนเดเระ พยายามยั่วเย้ายวน ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเขา (แทนค่าเสียหาย?)
หลังจากโถมตัวเข้าไปจูบ ทะยอยถอดเสื้อผ้า สิ่งถัดมาที่เธอทำก็คือเปิดหน้าอกให้เขายื่นมือมาจับ (แบบเดียวกับตอนประสบอุบัติเหตุ) จากนั้นย้ายไปร่วมรัก ลิงอุ้มแตงยังเบาะหลัง แล้วตัดไปยามค่ำคืน James กำลังมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา Catherine ในท่วงท่าเดียวกัน (การเลียนแบบ Copy-Paste สะท้อนวิถีของคนยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี มักทำอะไรซ้ำๆ แค่เปลี่ยนสินค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เพียงเท่านั้นก็สามารถประสบความสำเร็จ ไคลน์แม็กซ์ ถึงจุดสูงสุด)
ศิลปะสื่อการแสดงสด (Performance Arts) คือการผสมผสานสื่อหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน อาทิ การแสดง (Performance), ตัวบท (Text), ดนตรี (Music), เทคโนโลยี, สารสนเทศ ฯลฯ โดยมุ่งเน้นกระบวนการดำเนินกิจกรรม สร้างสรรค์ศิลปะซึ่งไม่มีความคงทนถาวร เกิดขึ้น-ดำเนินไป-และจบสิ้นลง ผลลัพท์หาใช่ผลผลิตศิลปวัตถุ (Art Object) แต่เน้นความสดใหม่ (Liveness) ของเหตุการณ์บังเกิดขึ้นระหว่างการแสดงนั้นๆ
ซีเควนซ์ที่ถือว่าน่าสนใจมากสุดของหนัง Robert Vaughan ทำการจำลองอุบัติเหตุ โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับโคตรนักแสดง James Dean ด้วยการให้รถสองคันพุ่งชนกันต่อหน้าผู้ชม … นี่คือลักษณะของ ‘performance arts’ สรรค์สร้างผลงานศิลปะ เพื่อกระตุ้นสัมผัสทางอารมณ์ สะท้อนอิทธิพลของเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์มีความระริกระรี้ โหยหาสิ่งสามารถตอบสนองตัณหาความใคร่ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ
แต่สังเกตว่าเหตุการณ์รถชนกันนี้ หนังพยายามนำเสนอออกมาอย่างง่ายๆ มุมกล้องเอียงๆ แทบไม่เห็นรายละเอียด ไร้ความตื่นเต้น ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเลยสักนิด! ด้วยจุดประสงค์ย้ำเตือนสติผู้ชม เหตุการณ์นี้หาใช่สิ่งสมควรสร้างความอภิรมณ์ บันเทิงเริงใจ โดยเฉพาะหนัง Action จาก Hollywood ล้วนสร้างค่านิยมผิดๆเพี้ยนๆ จนเห็นเรื่องพรรค์นี้กลายเป็นของธรรมดาสามัญไปเรียบร้อยแล้ว
ฉากที่ผมรู้สึกว่ากระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้อย่างตราตรึง ทรงพลัง (ไหนบอกว่าหนังพยายามทำให้ผู้ชมเซ็กซ์เสื่อม??) คือการสนทนาระหว่างเพศสัมพันธ์ สังเกตว่าสิ่งที่ Catherine เอ่ยกล่าวออกมานั้น มักเป็นเรื่องสร้างความอิจฉาริษยาให้ James สวมบทบาทเป็นยัยตัวร้าย พูดสิ่งขัดย้อนแย้งศีลธรรม ใคร่อยากมีเพศสัมพันธ์ชายอื่น เลยต้องถูกกำราบ กระแทกกระทั้นด้วยความรุนแรงขึ้นๆตามลำดับ
มาครุ่นคิดดู ยุคสมัยนั้นอาจยังมองว่าการสนทนาระหว่าง Sex มีความแปลกประหลาด พิศดาร ไม่ใช่สิ่งคนส่วนใหญ่เปิดใจยินยอมรับ แม้มันเป็นเรื่องบนเตียงระหว่างคนสอง ก็อาจสร้างความห่อเหี่ยวกระเจี้ยวหด … แต่ยุคสมัยนี้ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ แนะนำเลยว่าให้ลองทำกันดูนะครับ มันกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้มากๆทีเดียว
การถ้ำมอง ‘Voyeurism’ จับจ้องใครอื่นกำลังมีเพศสัมพันธ์ นี่เช่นกันสามารถกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ใคร่อยากทำอะไรแบบนั้นบ้าง แต่แทนที่จะแอบในห้องมืดๆ มองลอดผ่านรู James กลับเป็นคนขับรถมองผ่านกระจกหลังที่ Robert กำลังปั่มป้าม (กับโสเภณีและภรรยา)
ใครเคยรับชม Rear Window (1954), Peeping Tom (1960) น่าจะพอเข้าใจนัยยะ ‘Voyeurism’ ของภาพยนตร์ สื่อที่ลุกล้ำเข้ามาในชีวิต บันทึกความเป็นส่วนบุคคล แล้วนำมาเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน รวมถึงการรับชมในโรงหนังที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่ต่างจากการแอบถ้ำมอง สอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น
Robert มีเพศสัมพันธ์กับ Catherine ระหว่างกำลังล้างรถ (โดยมี James แอบถ้ำมองอยู่ที่นั่งคนขับ) ผมเกาหัวอยู่สักพักว่ามันแฝงนัยยะอะไร? จบกระทั่งพบเห็นทั้งสองกอดจูบลูบไล้ร่างกาย = อุปกรณ์ทำความสะอาดกำลังเช็ดๆถูๆภายนอกรถ พ่นน้ำ(กาม)ยาทำความสะอาด … บอกใบ้แค่นี้ก็พอกระมัง
แม้ฉากนี้ James กำลังมี Sex กับหญิงสาวขาพิการ แต่ผมกลับเห็นเหมือนเขากำลังร่วมรักกับขาเหล็ก เกิดอารมณ์ทางเพศกับวัตถุ ‘sex toy’ นี่เช่นกันคือสิ่งแปลกใหม่ คนสมัยนั้นยังยินยอมรับไม่ได้สักเท่าไหร่ (เดี๋ยวนี้พบเห็นได้ทั่วๆไป แทบจะเป็นอุปกรณ์ติดตัวสำหรับคนโสด)
หญิงสาวสวมขาเทียม คือสัญลักษณ์การผสมผสานระหว่างมนุษย์+วัตถุ ในลักษณะพึ่งพาอาศัย มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ยุคสมัยนั้นยังมีความยุ่งยากลำบาก แต่คุณประโยชน์ถือว่ามากมายมหาศาล และสามารถเปิดประสบการณ์ทางเพศสำหรับคนอยากลิ้มลอง แต่อาจจะหายากสักหน่อย
รอยสัก แผลเป็น และเสรีภาพทางเพศ ชาย-ชาย หญิง-หญิง ต่างก็เป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เช่นเดียวกัน หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่าการโดนประตูหลังมันเป็นเช่นไร เรื่องพรรค์นี้ยุคสมัยนี้มันเปิดกว้างมากๆ เกย์ กะเทย สาวเสียบ ทอมดุ้น ทอมควีน เลสคิง ฯลฯ สารพัดรสนิยมทางเพศให้เติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆ
(เอาจริงๆหนังข้ามรสนิยมทางเพศไปเยอะมากๆ อาทิ สวิงกิ้ง, Group Sex, MILF ฯลฯ ยังมีอีกเยอะที่สามารถกระตุ้นอารมณ์รุนแรงกว่านี้ ผมเลยมองว่าหนังตกยุคตกสมัย ไปไม่ถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุดสักเท่าไหร่)
เอาจริงๆผมมองว่านี่ควรจะเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนังด้วยซ้ำ คือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับรถยนต์ James สัมผัสลูบไล้พวงมาลัย บังเกิดอารมณ์ทางเพศ แล้วทำการช่วยตนเอง(ในรถยนต์) พบเห็นโดย Robert เลยขับรถพุ่งชน ถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุด น่าจะในวินาทีนั้นพอดิบดี
มันอาจไม่ใช่การมี Sex กับรถยนต์แบบที่ใครหลายคนจินตนาการ (หรือเร่าร้อนรุนแรง กระแทกกระทั้นแบบ Titane (2021)) แต่นี่น่าจะรุนแรงสุดเท่าที่คนสมัยนั้นสามารถยินยอมรับกระมัง เพื่อสื่อถึงการผสมผสาน กลายเป็นอันหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง … เพศสัมพันธ์มันคือการผสมรวมระหว่างสองสิ่ง คล้ายๆร่างสุดท้ายของ The Fly (1986) แต่สำหรับ Crash (1996) เน้นความสมจริง เลยไม่มีภาพ ‘body horror’ ที่สร้างความหลอกหลอนระดับนั้น
ความตายของ Robert Vaughan ก็เพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะ ‘cautionary tale’ ย้ำเตือนสติผู้ชมว่าการปล่อยตนเองให้หลงระเริงกับวัตถุ สิ่งข้าวของ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการขับรถโดยประมาท อาจนำพาหายนะ ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม แทนที่จะได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ กลับพลัดตกทางด่วนลงสู่ขุมนรก … คาดเข็มขัดนิรภัยก็อาจรอดชีวิต (เหมือนตอนต้นเรื่องที่ James และ Helen ต่างคาดเข็มขัดนิรภัย เลยไม่ได้พุ่งทะลุคันแบบสามีของเธอ)
James เบียดรถของภรรยา Catherine จนตกหล่นลงข้างทาง แต่แทนที่เขาจะเข้าไปช่วยเหลือ กลับโอบกอดจูบ แสดงความต้องการมีเพศสัมพันธ์ตรงนั้น โดยทันที! นี่สะท้อนความไม่ยี่หร่าต่ออะไรใคร สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุด จบสิ้นภาพยนตร์
นี่เป็นตอนจบที่ผมไม่รู้สึกว่าเป็นตอนจบสักเท่าไหร่ เพียงเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น (ตอนต้นเรื่อง James ประสบอุบัติเหตุ, มาตอนท้าย Catherine ก็กำลังจะได้รับประสบการณ์คล้ายๆกัน) ผิดกับผลงานเก่าๆของผกก. Cronenberg ไคลน์แม็กซ์มักเป็นการผสมผสานบางสิ่งอย่าง โคตรๆอัปลักษณ์พิศดาร สร้างความเกรี้ยวกราด แทบจะคลุ้มบ้าคลั่ง นำพาอารมณ์ผู้ชมไปจนถึงขีดสูงสุด
แต่เหตุผลที่หนังนำเสนออกมาเช่นนี้ ก็ด้วยความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มของผกก. Cronenberg ไม่ต้องการให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น เร้าอารมณ์จากภาพอุบัติเหตุ ความรุนแรง จงใจให้เซ็กซ์เสื่อม เพื่อมองเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงสัญลักษณ์/นามธรรม … เหมือนต้องการบอกว่าชีวิตคนเราไม่มีหรอกจุดสูงสุด ทุกสิ่งอย่างมันก็เวียนวนไป-วนมา Copy-Paste เกิดขึ้นซ้ำๆรอยเดิม อยู่ที่ตัวเราเองจะรู้สึกเพียงพอใจกับมันเมื่อไหร่ (ฉันอยากจะจบหนังตรงนี้ ก็จบลงแค่นี้)
ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ James Ballard หลังจากประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน พานผ่านประสบการณ์เฉียดความตาย หลังรักษาจนหายจากอาการบาดเจ็บ ได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ เรียนรู้จักสิ่งที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ ความกระตือรือร้น ตัณหาความใคร่ และเลือกใช้ชีวิตบนความเสี่ยง สุดเหวี่ยง ได้หมดถ้าสดชื่น!
- อารัมบท แนะนำตัวละคร
- นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง James Ballard และภรรยา Catherine Ballard
- อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับ James
- การแสดงของ Robert Vaughan
- หลังอาการบาดเจ็บทุเลาลง James มีโอกาสพบเจอภรรยาของคู่กรณี Helen Remington แล้วทั้งคู่ก็ถาโถมเข้าใส่
- Helen พา James มารับชมการแสดง ‘Performance arts’ ของ Robert Vaughan
- แล้วพาไปแนะนำตัว เข้าร่วมกลุ่มของ Robert
- การผจญภัยในโลกของ Robert Vaughan
- James ร่วมรักกับภรรยา พร้อมเล่าประสบการณ์ที่พบเจอ Robert จนสร้างความสนใจให้กับเธอ
- ครั้งหนึ่ง James เป็นคนขับรถ โดยเบาะหลังคือ Robert กำลังร่วมรักกับโสเภณี
- จากนั้นพาภรรยา Helen มาแนะนำ และปล่อยให้ร่วมรักกับ Robert บนเบาะหลัง
- ส่วน James ร่วมรักกับหญิงสาวขาพิการ
- เมื่อพบเห็นรอยสักของ Robert พวกเขาจึงเพศสัมพันธ์ทางประตูหลัง
- จุดจบของ Robert Vaughan
- Robert พยายามขับรถเบียด Helen แต่ถูก Robert ผลักดันจนเขาตกทางด่วน
- ต่อมา Robert พยายามเบียดรถของ Helen จนตกหล่นข้างทาง และเขาลงไปร่วมรักกับเธอ
ด้วยความตั้งใจ ‘anti-Hollywood’ ของผกก. Cronenberg ในส่วนของการตัดต่อ ก็คือปล่อยภาพดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า ไม่มี rapid shot หรือ fast-cutting หรือเทคนิคใดๆที่จักสร้างความตื่นเต้นเร้าใจแก่ผู้ชม อย่างฉากรถชนกันก็นำเสนอแบบเลี่ยงๆ เลือกมุมกล้องเฉียงๆ ไม่ถ่ายให้เห็นว่าบังเกิดอะไรขึ้น
แม้หนังจะพยายามไล่ระดับ นำเสนอประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจแก่ตัวละคร แต่การนำเสนอด้วยวิธีไม่สร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้ชม มันชวนให้หงุดหงิด โคตรรำคาญ ขัดย้อนแย้งกันเอง พบเห็นหลายครั้งจักเกิดความเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ ต่อให้แฝงนัยยะลุ่มลึกล้ำสักเพียงไหน ใครกันจะไปอยากครุ่นคิดตีความ
เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ
งานเพลงของ Crash (1996) ส่วนใหญ่จะใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้า (บรรเลงพร้อมๆกันน่าจะ 2-3 ตัวขึ้นไป) สร้างบรรยากาศอึมทึม ทะมึน มอบสัมผัสอันตราย ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทุกย่างก้าวเหมือนใครบางคนจับจ้องมอง ด้วยสายตาพิศวง ลุ่มหลงใหล ใคร่อยากปะทะ ขับรถพุ่งชน ประสบอุบัติเหตุ ได้รับความเจ็บปวด แล้วบังเกิดความสุขกระสันต์ พึงพอใจถึงสรวงสรรค์
เสียงก้อง (Echo) ของกีตาร์ไฟฟ้า คือสิ่งที่มอบสัมผัสอันตราย ขณะเดียวกันมันก็เหมือนลางสังหรณ์/สัญญาณเตือนภัย ทำให้มนุษย์เกิดความระแวดระวัง หวาดหวั่น เกรงกลัวความตาย จึงพยายามปกป้องกันภัย รักษาสติตนเองไว้จนกว่าจะถึงสถานที่ปลอดภัย
แม้บทเพลงจะมีความโดดเด่น สร้างเสียงเฉพาะตัวจากการใช้กีตาร์ไฟฟ้า แต่พอผมฟังอัลบัมนี้ไปได้สักพักก็เกิดความรำคาญ รู้สึกว่ามันหนวกหูเสียเหลือเกิน เป็นเสียงที่รบกวนสมาธิ สร้างความปั่นป่วนให้จิตวิญญาณ ไม่ค่อยเหมาะสำหรับฟังเพลินๆสักเท่าไหร่ … ประกอบเข้ากับหนัง ก็สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
โดยปกติแล้วเวลาประสบอุบัติเหตุ พบเห็นรถประสานงานชนกัน มีบุคคลหรือตัวเราได้รับบาดเจ็บสาหัส แทบทั้งนั้นก็จะเซ็กซ์เสื่อม ไร้ปฏิกิริยาอารมณ์(ทางเพศ)ร่วมใดๆ แต่ใครที่บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล รู้สึกพึงพอใจ เหมือนชีวิตได้รับการเติมเต็ม สุขกระสันต์ซ่าน(ทางเพศ)ถึงสรวงสวรรค์ นั่นถือเป็นความผิดปกติทางจิต โรคกามวิปริต (Paraphilia) อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางบำบัดรักษา
Late 20th-century western civilisation is like having been in a car crash. Everybody is traumatised, everybody is overwhelmed, and what happens is you just shut down. You still have to function and interrelate, but the passion, the emotion, even the sexuality is gone. The characters in this movie have the passion to recover what has been lost, and they must go to extremes to find it.
David Cronenberg
แต่เป้าหมายของหนังนั้น ไม่ได้ต้องการตีแผ่ปัญหาผู้ป่วยกามวิปริต บังเกิดอารมณ์ทางเพศจากการพบเห็นภาพความรุนแรง หรือประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน ซาดิสม์-มาโซคิสม์ (Sado-Masochist)
เราต้องมองเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ อุบัติเหตุ รถชน (Car Crash) ถือกำเนิดขึ้นจากวิวัฒนาการ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความสุขสบายแก่มนุษย์ชาติ จากนั้นเมื่อเกิดความเบื่อหน่าย เคยชินชา (จากความสะดวกสบายดังกล่าว) จักทำให้คนเรามองหาสิ่งสามารถกระตุ้นความสนใจ อยากรู้อยากเห็น เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อะไรๆทันยุคทันสมัย ตื่นเต้นเร้าใจ ตอบสนองความพึงพอใจยิ่งๆขึ้นกว่าเก่า
Throughout Crash I have used the car not only as a sexual image, but as a total metaphor for man’s life in today’s society. Needless to say, the ultimate role of Crash is cautionary, a warning against that brutal, erotic and over-lit realm that beckons more and more persuasively to us from the margins of the technological landscape.
J. G. Ballard
การนำเสนอประสบการณ์ทางเพศ(สัมพันธ์)ที่มีความแปลกใหม่ ทวีความรุกเร้าใจ ร่วมรักกับคนแปลกหน้า ยังสถานที่สาธารณะ แอบถ้ำมอง กับสิ่งของ รถยนต์ เพศเดียวกัน ฯลฯ ล้วนสะท้อนอิทธิพลของเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้า มันค่อยๆเข้ามามีบทบาทกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง ทิวทัศน์ภายนอก โลกทัศน์ภายใน รวมถึงวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่โหยหาอิสรภาพ เสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ซึ่งจะมีความผิดแผกแปลกประหลาด อัปลักษณ์พิศดารขึ้นเรื่อยๆ จนทำลายกรอบความคิด ทัศนคติ ความเชื่อที่เคยหมกมุ่นยึดติด ศรัทธาศาสนา อะไรที่มันโบราณคร่ำครึก็จะตกหล่นยุคสมัยไปโดยปริยาย
the film was a religious masterpiece.
Bernardo Bertolucci
(สิ่งที่อดีตนักวิจารณ์/ผู้กำกับ Bernardo Bertolucci กล่าวถึงนี้ไม่ใช่พุทธ-คริสต์-อิสลาม แต่ลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต่างจากการสร้างลัทธิ ศาสนาใหม่ ซึ่งสามารถทำลายวิถีความเชื่อศรัทธาอื่นๆ ทำให้มนุษย์หันมาเทิดทูนบูชาศาสตร์แห่งนิยมวัตถุเงินตรา)
นัยยะคล้ายๆกับ Videodrome (1983) ตัวละคร Max Renn มีความลุ่มหลงใหลต่อรายการโทรทัศน์ Videodrome ค้นพบว่ามันสามารถกระตุ้นความรู้สึก บังเกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้สามารถร่วมรักแฟนสาวได้อย่างถึงอกถึงใจ แต่เมื่อพานผ่านประสบการณ์ครั้งแรก จึงต้องการสัมผัสอันเร่าร้อนรุนแรงยิ่งๆขึ้นไปอีก … คงไม่ผิดอะไรจะมองว่า Crash (1996) คือภาคต่อทางจิตวิญญาณของ Videodrome (1983)
The characters in Crash —their project is a creative one, but it’s less formally an artistic process, it’s almost performance art.
David Cronenberg
ความสนใจของผกก. Cronenberg มองอุบัติเหตุ รถชนกัน (ทั้งการแสดงจัดฉาก และสตั๊นพบเห็นในภาพยนตร์) มีลักษณะไม่แตกต่างจาก ‘Performance arts’ ศิลปะสื่อการแสดงสด ซึ่งเป็นการผสมผสานศาสตร์การแสดงเพื่อผลลัพท์เคลือบแฝงเชิงศิลปะ ในบริบทของหนังคือการกระตุ้นสัมผัสทางอารมณ์ สะท้อนอิทธิพลของเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์มีความระริกระรี้ โหยหาสิ่งสามารถตอบสนองตัณหาความใคร่ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ
Crash (1996) ถือเป็นอารัมบทจุดเปลี่ยนยุคสมัยสุดท้ายของผกก. Cronenberg จากเคยนิยมชมชอบสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘body horror’ ที่มีความอัปลักษณ์ ขยะแขยง เหนือจริง (Surrealist) ทั้งไซไฟ ภาพหลอน เล่นยา ฯลฯ พัฒนามาเป็นเรื่องราวที่ใช้ความรุนแรงสุดโต่ง ‘Extremity’ บนพื้นฐานโลกความจริง จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ได้รับเสียงโห่ขับไล่จากผู้ชม แต่การตอบรับจากคณะกรรมการปีนั้นถือว่าดีมากๆ ถึงขนาดได้รับรางวัลพิเศษ Special Jury Prize เอาจริงๆน่าจะมีลุ้นคว้า Palme d’Or เสียงด้วยซ้ำ แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากประธานกรรมการ Francis Ford Coppola ซึ่งผกก. Cronenberg เชื่อว่าเขาคือบุคคลผู้ต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้หัวชนฝา พบเจอหน้ากันทีไรก็พยายามหลบเลี่ยงไม่ยอมพูดคุยสนทนา
I think he was the primary one. When I’m asked why (“Crash”) got this Special Jury Award, well, I think it was the jury’s attempt to get around the Coppola negativity, because they had the power to create their own award without the president’s approval. And that’s how they did it, but it was Coppola who was certainly against it.
David Cronenberg
ปล. โดยปกติแล้วเทศกาลหนังเมือง Cannes จะมีรางวัลสามใหญ่คือ Palme d’Or, Grand Prix และ Jury Prize นานๆครั้งถึงจะมอบ Special Jury Prize ซึ่งถือว่าเป็นกรณีพิเศษที่ไม่สามารถจัดเข้าพวกกลุ่มไหน (พูดง่ายๆก็คืออยากมอบนั่นเองแหละ)
ด้วยทุนสร้าง $9 ล้านเหรียญ แม้จะถูกแบนห้ามฉายในหลายๆประเทศ แต่ยังสามารถทำเงินรวมแล้วสูงถึง $23.2 ล้านเหรียญ ถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมากๆ และยังได้รับกระแสคัลท์ติดตามมาอีกต่างหาก
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K ผ่านการตรวจทานจากตากล้อง Peter Suschitzky อนุมัติโดยผกก. David Cronenberg เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เมื่อปี 2019 พร้อมๆรับรางวัล Golden Lion Honorary Award สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
เกร็ด: Martin Scorsese ให้การยกย่องยกย่อง Crash (1996) ติดอันดับ 8 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำทศวรรษ (Best Films of 1990s)
ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังอย่างรุนแรงกับหนัง แม้ช่วงแรกๆก็สร้างความระริกระรี้ กระปรี้กระเปร่า แต่พอพบเห็นซ้ำๆซากๆ แม้งก็ท่วงท่าเดิมๆ แค่เปลี่ยนคู่ขา เปลี่ยนลีลา มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ มันกลับไม่สามารถกระตุ้นอารมณ์ ปลุกความเร้าใจใดๆให้สูงขึ้นกว่าเดิม
วิธีการที่ผกก. Cronenberg พยายามทำให้ผู้ชมไม่เกิดอารมณ์ร่วม เซ็กซ์เสื่อม มันขัดย้อนแย้งกับเรื่องราวเกินไป ไม่มีทางที่ใครจะไม่รับรู้สึกอะไร แถมกาลเวลาทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นลดระดับลง หลงเหลือสภาพไม่ต่างจากหนังโป๊ทั่วๆไป ไม่สามารถไต่ระดับถึงไคลน์แม็กซ์ จุดสูงสุด (หนังโป๊สมัยนี้ยังมีความวิจิตรศิลป์มากกว่า Crash (1996) เสียอีกนะ!)
อีกทั้งหนังใช้ประโยชน์จากนักแสดงอย่าง Holly Hunter ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลยนะ!
Crash (1996) เหมาะกับคนเปิดกว้างเรื่องทางเพศ สามารถขบครุ่นคิดวิเคราะห์ในเชิงสัญลักษณ์ ใคร่สนใจหนังแนว Extremity และโดยเฉพาะ Titane (2021) น่าจะถือเป็น ‘accompany film’ สำหรับรับชมเคียงข้างกัน
จัดเรต 18+ เพศสัมพันธ์สุดเหวี่ยง หมกมุ่นกับความรุนแรง
Leave a Reply