Crash (2004) : Paul Haggis ♥♥♥♡
ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ฐานะ ชนชั้นทางสังคม เป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดการกระทบกระทั่ง กระแทก’ชน’กัน จนเกิดปฏิกิริยาโกรธ เกลียด เหยียดหยาม ไม่พยายามครุ่นคิดเข้าใจหัวอกผู้อื่น
ผมว่า Crash เป็นภาพยนตร์ที่เจ๋งมากๆเรื่องหนึ่ง คล้ายๆ Short Cuts (1993), Magnolia (1999) ฯ ร้อยเรียงเรื่องราวจากหลากหลายกลุ่มผู้คน ผสมผสานคลุกเคล้าให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมบางอย่าง ปัญหาคือการคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้าตัวเต็งหนึ่ง Brokeback Mountain (2005) เป็นความอัปยศเกือบๆที่สุดแห่งสถาบัน Academy Award
“Was [Crash] the best film of the year? I don’t think so. Crash, for some reason, affected people, it touched people. And you can’t judge these films like that. I’m very glad to have those Oscars. They’re lovely things. But you shouldn’t ask me what the best film of the year was because I wouldn’t be voting for Crash”.
– ผู้กำกับ Paul Haggis ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2015
นิตยสาร Film Comment เมื่อปี 2014 มีการจัดอันดับ Worst Winners of Best Picture Oscars ผลสำรวจปรากฎว่า
1) Crash
2) Slumdog Millionaire
3) Chicago
Paul Edward Haggis (เกิดปี 1953) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ London, Ontario ครอบครัวเป็นเจ้าของ The Gallery Theatre ตั้งแต่เด็กเลยเกิดความลุ่มหลงใหลในสายงานนี้ มีความชื่นชอบผู้กำกับ Alfred Hitchcock, Jean-Luc Godard หลังจากมีโอกาสรับชม Blowup (1966) ของ Michelangelo Antonioni มีความต้องการเป็นตากล้องแฟชั่น เข้าเรียนถ่ายภาพยัง Fanshawe College จบแล้วมุ่งสู่ Hollywood เริ่มต้นจากเขียนบทรายการโทรทัศน์ โปรดิวเซอร์ซีรีย์ โด่งดังจากดัดแปลงบท Million Dollar Baby (2004), และภาพยนตร์ Crash (2004)
แรงบันดาลใจของ Crash เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ผู้กำกับ Haggis ตื่นขึ้นกลางดึกหวนระลึกนึกถึงเมื่อหลายปีก่อน 1991 ขากลับจากเดินทางไปรับชม The Silence of the Lambs ถูกชายผิวสีสองคนดักโจรกรรมขโมยรถ Porsche กลายเป็นปม Trauma ฝังลึกในใจ โกรธเกลียดเหยียด ผ่านมาหลายปีจึงค่อยๆครุ่นคิดขึ้นเองได้ ทำไมฉันถึงเหมารวมคนดำทั้งหมดคือความชั่วร้าย
ร่วมงานกับนักเขียนขาประจำ Bobby Moresco พัฒนาบทภาพยนตร์เสร็จสิ้นในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นำไปพูดคุย Don Cheadle อาสาแสดงนำและเป็นโปรดิวเซอร์ช่วยหาทุนสร้างให้
เรื่องราวหลักๆของหนังประกอบด้วย
– นักสืบ Graham Waters (รับบทโดย Don Cheadle) เริ่มต้นกำลังมี Sex กับสาวละตินเพื่อนร่วมงาน แต่กลับไม่ครุ่นคิดสานสัมพันธ์ลึกซึ้ง สาเหตุเพราะมีแม่ติดยา ตำหนิต่อว่าตนเองทอดทิ้งน้องชาย Peter (รับบทโดย Larenz Tate) หนีออกจากบ้านกลายเป็นอาชญากรข้างถนน
– Farhad (รับบทโดย Shaun Toub) ชายสูงวัยชาวเปอร์เซีย และลูกสาว Dorri (รับบทโดย Bahar Soomekh) เดินทางไปซื้อปืนสำหรับป้องกันตัว เหตุเกิดเมื่อกลอนประตูร้านของพวกเขามีสภาพไม่ค่อยแข็งแรง ติดต่อนักซ่อมกุญแจ Daniel Ruiz (รับบทโดย Michael Peña) แต่ปัญหาอยู่ที่บานประตู สื่อสารไม่เข้าใจเป็นเหตุให้ค่ำคืนนั้นถูกโจรปล้นทำลายข้าวของ หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง
– ทนาย Rick Cabot (รับบทโดย Brendan Fraser) และภรรยา Jean (รับบทโดย Sandra Bullock) ถูกชายผิวสีสองคนปล้นชิงรถ SUV ไปต่อหน้าต่อตา แถมติดตามตัวไม่ได้เสียที สร้างความหวาดหวั่นสั่นกลัว หญิงสาวพบเห็นใครไม่ใช่ผิวขาวเหมารวมแสดงการเหยียดหยามออกมา
– Anthony (รับบทโดย Ludacris) ชายผิวสีผู้ต้องการร่ำรวยทางลัด ร่วมออกปล้นรถ SUV กับ Peter (รับบทโดย Larenz Tate) โดยมีเป้าหมายเฉพาะคันคนขาว แต่หนึ่งในเป้าหมายกลับเป็น Cameron Thayer (รับบทโดย Terrence Howard) ผู้กำกับภาพยนตร์ผิวสี รู้สึกผิดหวัง อับอายขายขี้หน้าต่อตนเองเป็นอย่างมาก
– นายตำรวจ John Ryan (รับบทโดย Matt Dillon) มีพ่อป่วยไม่สบายโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ วันนั้นขับรถสายตรวจร่วมกับ Tom Hansen (รับบทโดย Ryan Phillippe) เรียกจอดรถ SUV ของ Cameron Thayer และภรรยา Christine (Thandie Newton) หาข้ออ้างโน่นนี่นั่นทำการเหยียดหยามลวนลาม วันถัดมาโดยพบเห็นอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ พยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือ แต่คนติดอยู่ในนั้นคือ Christine
ฯลฯ
ในบรรดาทีมนักแสดง Ensemble Cast โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้น Matt Dillion ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เริ่มต้นมาด้วยการเป็นตำรวจจอมเหยียด สร้างความขยะแขยงโกรธเกลียดให้ใครหลายๆคน แต่ฉากถัดๆมาเมื่อตัวละครเริ่มเล่าถึงอดีต เบื้องหลัง ความทุกข์ทรมานของพ่อ และที่สุดคือให้ความช่วยเหลือหญิงสาวผิวสี … คนที่เขาลวนลามกับมือเองเมื่อคืนก่อน ให้ตายเถอะ! มันช่างเป็นวินาทีกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บอกไม่ได้ว่าควรจะรู้สึกแสดงออกเช่นไรดี
จริงๆมีอีกคนต้องชื่นชมไม่แพ้กัน นั่นคือ Thandie Newton หญิงสาวผิวสีที่ถูกตัวละครของ Dillion ลูบไล้ลวนลาม หลังจากนั้นเต็มไปด้วยความขุ่นเคืองสามีที่กลับเพิกเฉยเฉื่อยชา นี่ฉันแต่งงานกับหมาข้างถนนหรืออย่างไร! ไฮไลท์เกิดขึ้นขณะประสบอุบัติเหตุติดอยู่ในรถ แม้หัวคว่ำหกคะเมนตีลังกา พอรับรู้ว่านายตำรวจที่กำลังช่วยเธอคือหมอนี่ วินาทีแรกย่อมปฏิเสธขัดขืน แต่ความเป็นตายกลับทำให้มนุษย์คลายอคติทั้งหมดสิ้นเคยมีมา
แซว: Sandra Bullock บทบาทน้อยสุดในหนัง ประมาณ 5 นาทีได้กระมัง แต่กลับค่าตัวสูงสุด แถมชื่นบนเครดิตบนสุดอีกต่างหาก!
ถ่ายภาพโดย J. Michael Muro สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ James Cameron ผลงานเด่นๆ อาทิ The Abyss, Terminator 2: Judgment Day, True Lies, คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Dances with Wolves, Titanic
สไตล์ถนัดของ Muro คือใช้กล้อง Steadicam จัดแสงธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้โดดเด่นมากกับฉากกลางคืน ปรับโฟกัสระยะใกล้-ไกล พบเห็นแสงไฟกลมๆระยิบระยับประดับพื้นหลัง ราวกับดวงวิญญาณ ภยันตรายกำลังคืนคลานเข้าหา
หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า ช่วงกลางๆเรื่องตัวละครของ … มีพูดถึงการขึ้นโดยสารรถประจำทาง
“You have no idea why they put them great big windows on the sides of buses, do you?
One reason only. To humiliate the people of color who are reduced to ridin’ on ’em”.
ปากดีหนักหนาว่าจะไม่มีวันปล้นรถ ทำร้ายคนผิวสีด้วยกันเอง แต่เมื่อผิดพลาดพลั้งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หมอนี่เลยโดยสารรถประจำทาง ยินยอมรับความอับอายขายขี้หน้าต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตัดต่อโดย Hughes Winborne สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Crash (2004), The Pursuit of Happyness (2006), The Help (2011), Guardians of the Galaxy (2014) ฯ
จุดหมุนของหนังคือเมือง Los Angeles ในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เริ่มต้นจากกลางคืนวันที่สอง ย้อนกลับไปเมื่อวาน และสิ้นสุดเหตุการณ์วันพรุ่งนี้
หนังประกอบขึ้นจากหลากหลายเรื่องราว/กลุ่มคน/สถานที่ ซึ่งการเชื่อมต่อเปลี่ยนฉาก มักมีบางสิ่งอย่างสำหรับส่งไม้ผลัด อาทิ
– กำลังขับรถผ่าน พบเห็นอีกเหตุการณ์จึงนำเข้าสู่เรื่องราวนั้น
– ตัวละครตรงรี่ไปเปิดประตู ตัดไปอีกเรื่องราวที่เริ่มต้นจากตอนเปิดประตู
ฯลฯ
สำหรับเพลงประกอบ เครดิตโดย Mark Isham นักทรัมเป็ต Synthesist สัญชาติอเมริกัน โดดเด่นแนว Jazz กับ Electronic สร้างสรรค์บทเพลงที่มีสัมผัสแห่งความเวิ้งว้างว่างเปล่า ราวกับสุญญากาศ จิตวิญญาณมนุษย์ค่อยๆถูกครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง ภยันตรายรายล้อมแทบทุกทิศทาง … แต่นั่นอยู่ที่มุมมองทัศนคติของตัวคุณเอง
คงไม่มี Soundtrack ไหนของหนังจะทรงพลังไปกว่า A Really Good Cloak ราวกับว่ามีเทพเทวดา เสื้อกันกระสุนล่องหนจริงๆปกคลุมเสียงกรีดร้องอย่างสโลโมชั่นและปฏิกิริยาสีหน้าอันตื่นตระหนัก ก่อนเด็กหญิงจะเงยหน้าขึ้นพูดประโยคอึ้งทึ่ง “It’s a really good cloak”.
แซว: มีคำวิจารณ์ใน Comment ของ Youtube ยกย่องฉากนี้ว่า “Most Wrenching Scenes in the history of American film”.
ชื่อหนัง Crash ไม่ใช่แค่ขับรถหรือเดินชนจนเกิดอุบัติเหตุ ยังหมายถึงการเผชิญหน้าระหว่างสองกลุ่ม อันก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน ลุกลามบานปลายเหมารวมทั้งหมดว่าคือชนวนสาเหตุ
Crash นำเสนอเรื่องราวของคนผิวขาว-ผิวเหลือง-ผิวสี เอเชีย-เปอร์เซีย-ละติน ตำรวจ-อาชญากร ฐานะร่ำรวย-ยากจน สูงวัย-เด็กหญิง ทั้งหมดมีความแตกต่างเป็นพื้นฐาน ชนวนสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง โกรธเกลียดกลายเป็นเหยียด เหมารวมสิ่งร้ายๆทั้งที่เป็นเรื่องตัวบุคคล เมื่อถึงจุดๆหนึ่งถูกย้อนแย้งบางสิ่งเข้ากับตัว ถึงค่อยตระหนักครุ่นคิดขึ้นเองได้
สิ่งดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกสิ่งดีงาม-ชั่วร้ายที่ตัวละครกระทำในครึ่งแรก ล้วนส่งผลกระทบย้อนแย้งเข้ากับตัวในครึ่งหลัง
– ตำรวจจอมเหยียด ให้ความช่วยเหลือหญิงผิวสีที่ตนลวนลาม
– ตำรวจหนุ่มผู้มากด้วยอุดมการณ์ กลับเข่นฆ่าคนดีไม่ได้ครุ่นคิดร้ายประการใด
– อาชญากรลักขโมยรถ ปลดปล่อยแรงงานทาสผิดกฎหมาย
– ชายสูงวัยชาวอิหร่าน หงุดหงิดโทโสต่อคนซ่อมกุญแจ ตั้งใจจะยิงปืนขู่ฆ่า พลั้งพลาดโดนเด็กหญิง โชคดีกระสุนเปล่า สำนึกตัวได้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องสมควร
– หญิงสาวพูดจาเหยียดหยาม แสดงอาการหวาดกลัวเกรงชนชาติอื่นๆ เมื่อตกบันไดได้รับการช่วยเหลือจากคนรับใช้ คงเกิดความเข้าใจไม่ใช่ทุกคนจะชั่วร้ายเลวทราม
ฯลฯ
ไม่มีตัวละครไหนใน Crash ที่คือผู้ก่อเหตุ ทั้งหมดคือ ‘เหยื่อ’ ถูกกระทำจากบริบททางสังคม ผลพวงกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์หนึ่งสู่เหตุการณ์หนึ่ง พลังบวกกลายเป็นลบ ตั้งใจดีกลับได้ผลร้ายๆ หลังจากผ่านช่วงเวลาอันน่าอับอาย ทุกสิ่งอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม
แม้หนังออกฉายเทศกาล Toronto International Film Festival ตั้งแต่ปี 2004 แต่สตูดิโอ Lions Gate ผู้จัดซื้อไม่ได้นำออกฉายปลายปีนั้น ล่วงเลยข้ามปี 2005 เลยได้ลุ้น Oscar อีกหนึ่งปีถัดมา
ด้วยทุนสร้าง $6.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $53.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $98.4 ล้านเหรียญ แม้ประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่เป็นหนังรางวัล Oscar: Best Picture ทำเงินน้อยสุดในอเมริกานับตั้งแต่ The Last Emperor (1987) [ก่อนตามด้วย The Hurt Locker (2008)]
เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Supporting Actor (Matt Dillon)
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Original Song บทเพลง In the Deep
เกร็ด:
– Paul Haggis คือคนแรกคนเดียวที่เขียนบทหนังคว้ารางวัล Oscar: Best Picture สองปีติด (ปีก่อนจาก Million Dollar Baby)
– เรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้า Oscar: Best Picture แต่ไม่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Golden Globe Awards
– ชื่อหนังพยางค์เดียวจำนวนอักษรน้อยสุด เคียงข้าง Wings (1927)
ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่คว้า Oscar: Best Picture ผมเชื่อว่าน่าจะได้รับยกย่องสรรเสริญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา โดยเฉพาะการมาถึงของ #OscarSoWhite และ #MeToo มีใจความต่อต้านการเหยียด เหมารวมแทบทุกสิ่งอย่าง
แต่ประเด็นคือหนังคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้าตัวเต็งหนึ่ง Brokeback Mountain น่าจะด้วยสาเหตุเดียวเท่านั้น คือสมาชิก Academy ยังยินยอมเปิดรับเรื่อง ‘รักร่วมเพศ’ ไม่ได้ อคติเกิดขึ้นจากความเห็นต่าง เป็นโชคชะตากรรมของหนังที่แสน Ironic นักเชียว!
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้พอสมควรเลยละ จี๊ดมากๆตอนตำรวจจอมเหยียดให้ความช่วยเหลือสาวผิวสีที่ตนลวนลาม ความ Ironic ดังกล่าว สอนใจใครต่อใครไม่น้อยทีเดียว
แนะนำคอหนัง Drama แนววิพากย์สังคม แฝงข้อคิดดีๆต่อการใช้ชีวิต, นักตัดต่อ ผู้สร้างภาพยนตร์, รวมทีมนักแสดง Sandra Bullock, Don Cheadle, Matt Dillon, Terrence Howard, Thandie Newton ฯ
จัดเรต 18+ กับการเหยียดหยาม ลวนลาม พฤติกรรมอันน่าละอาย
Leave a Reply