Cría Cuervos (1976)
: Carlos Saura ♥♥♥♥
อดีตเป็นสิ่งคงอยู่กับเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต, เรื่องราวของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ รับบทโดย Ana Torrent (จาก The Spirit of the Beehive) ความสูญเสียแม่ทำให้เธอวางยาพิษฆ่าพ่อ และเมื่อน้า/แม่เลี้ยงคนใหม่ปฏิบัติต่อตนเองอย่างย่ำแย่ จึงกำลังจะตัดสินใจลงมืออีกครั้ง
ดวงตาอันใสบริสุทธิ์เดียงสาของ Ana Torrent หาได้ล่วงรับรู้เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนทำนั้นชั่วร้าย ไม่ถูกต้องเหมาะสมควร มันเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นผลักภายใน ‘สันชาติญาณ’ อดีตเคยพบเห็นแม่ทนทุกข์ทรมาน ทะเลาะโต้เถียงกับพ่อแอบลักลอบมีชู้ ถูกขังราวกับนกในกรง จนที่สุดตรอมใจตาย! นี่ไม่ใช่การฆ่าล้างแค้นเอาคืน แต่เกิดจากความครุ่นคิด ‘ถ้าไม่มีพ่อสักคน แม่คงมีความสุขกว่านี้’
หน้าหนังเช่นนั้น แต่เนื้อในใจความสะท้อนมุมมองผู้กำกับ Carlos Saura ต่อช่วงเวลารอยต่อประเทศสเปน ยุคสมัยใกล้สิ้นสุดระบอบเผด็จการจอมพล Francisco Franco (1892 – 1975) เคยประกาศว่า “หากตนสิ้นชีวิตไปแล้ว ขอให้มีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่โดยแต่งตั้งให้ Juan Carlos พระราชนัดดาของกษัตริย์องค์สุดท้ายขึ้นครองราชย์”
ท้าวความตั้งแต่สงครามกลางเมืองสเปน, Spanish Civil War (1936-39) ชัยชนะของฝ่ายชาตินิยม ‘Nationalists’ ทำให้จอมพล Franco ยกฐานะตนเองขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐสเปน (Caudillo of Spain) ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอยู่ข้างฝ่ายอักษะ แต่ภายหลังตีตนออกห่างจนสามารถเอาตัวรอดจากความพ่ายแพ้ในสงคราม ตามด้วยขัดขวางต่อการเข้ามาของระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้สเปนสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจตะวันตกได้เป็นอย่างดี
มุมมองของต่างชาติ จอมพล Franco แทบจะเรียกได้ว่า ‘รัฐบุรุษ’ ผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล วางรากฐาน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออนาคตของสเปน และเมื่อตนเองสิ้นชีวิตส่งไม้ต่อให้กษัตริย์ Juan Carlos ใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ทำการปรับเปลี่ยนแปลงประเทศ จนความเป็นเผด็จการได้สาปสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยหลงเหลือ (อารมณ์ประมาณ Code Geass ที่ Lelouch กลายเป็นเผด็จการแล้วยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วตนเองเสียสละเพื่อมวลมนุษยชาติ)
ตรงกันข้ามกับประชาชนชาวสเปนที่มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลากว่าสามทศวรรษ ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของจอมผล Franco รับรู้ถึงความโหดโฉดชั่วร้าย คอรัปชั่น ใครเห็นต่างจักถูกไล่ล่าฆ่าปิดปาก ไม่มีใครล่วงรู้ตัวเลขแน่นอนว่ามีผู้เสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าย่อมทำให้ใครๆโกรธเกลียดเคียดแค้นฝังหุ่น ‘ตายทั้งเป็น’ เฝ้ารอคอยคาดหวังว่าทุกสิ่งอย่างจักจบสิ้นลงสักวัน
เราสามารถเปรียบเทียบง่ายๆ พ่อของ Ana ก็คือจอมพล Franco ที่สูญเสียชีวิตตอนต้นเรื่อง, น้า/แม่เลี้ยงคนใหม่ แทนด้วยกษัตริย์ Juan Carlos, แต่เรื่องราวของหนังคือการพยากรณ์อนาคตจากปี 1975 – 76 ที่สะท้อนกึ่งๆอัตชีวประวัติผู้กำกับ มันเลยมิได้สอดคล้องประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่
ถึงกระนั้นความ Masterpiece ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือไดเรคชั่นการนำเสนอของผู้กำกับ Saura อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ความจริง-เพ้อฝัน นี่ฟังดูคล้ายๆ 8½ (1963) ของผู้กำกับ Federico Fellini แต่หนังไปไกลกว่านั้นตรงที่ ทุกสิ่งอย่างซ้อนทับเข้าด้วยกันอย่างลงตัว!
อีกอย่างหนึ่งคือ หนังมีตอนจบที่หักมุมแบบคาดคิดไม่ถึง! ซึ่งผมตั้งใจที่จะไม่เฉลย และชี้ชักนำผู้อ่านแบบผิดๆไปตลอดบทความนี้ ใครดูหนังแล้วลองกลับมาอ่านอีกรอบ อาจพบเห็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไป
Carlos Saura Atarés (เกิดปี 1932) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Spanish เกิดที่ Huesca, Aragón พ่อประกอบอาชีพทนายความ/รับราชการ แม่เป็นนักเปียโน พี่น้องสี่คนตนเองลำดับที่สอง วัยเด็กผ่านสงครามกลางเมือง (Spanish Civil War) ด้วยความทรงจำลางเลือน หลังจากนั้นถูกส่งไปอาศัยอยู่กับย่าและน้าที่ Huesca ซึ่งมีความเข้มงวด ขวาจัด และเคร่งศาสนา
ด้วยความสนใจในภาพยนตร์ ไม่ได้ร่ำเรียนจากไหน เริ่มต้นจากการสร้างสารคดีสั้น Flamenco (1955) ด้วยลักษณะ Neorealist สะท้อนปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ แต่ค่อยๆพัฒนาขึ้นจนเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ อุปมาอุปไมยเพื่อให้ผ่านกองเซนเซอร์อันเข้มงวด กระทั่ง La caza (1966) คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้รับจับตามองอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ
ผลงานเด่นๆ อาทิ
– Peppermint Frappé (1968) คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director
– La Prima Angélica (1973) คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– Cría Cuervos (1975) คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– Mamá cumple 100 años (1979) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
– Deprisa, deprisa (1981) คว้ารางวัล Golden Bear
– Carmen (1983) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
– Tango (1998) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
ฯลฯ
Saura เกิดความสนใจสร้าง Cría Cuervos ตั้งแต่ล่วงรู้ข่าวคราวของจอมพล Francisco Franco ป่วยหนักด้วยโรคพาร์กินสัน เคลื่อนไหวช้า อาการสั่นๆทั่วร่างกาย ใกล้ถึงวันลงโลง ตระหนึกขึ้นได้ว่าคือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญของประเทศสเปน จึงนำเอาช่วงเวลาชีวิตวัยเด็กที่แสนเศร้าของตนเอง พัฒนาขึ้นเป็นบทภาพยนตร์
“Cría Cuervos is a sad film, yes. But that’s part of my belief that childhood is one of the most terrible parts in the life of a human being. What I’m trying to say is that at that age you’ve no idea where it is you are going, only that people are taking you somewhere, leading you, pulling you and you are frightened. You don’t know where you’re going or who you are or what you are going to do. It’s a time of terrible indecision”.
– Carlos Saura
เรื่องราวของ Ana (รับบทโดย Ana Torrent) เด็กหญิงอายุ 8 ขวบ เริ่มต้นเดินลงจากบันไดตรงไปที่ห้องของพ่อ ได้ยินเสียงกุ๊กกิ๊กเหมือนคู่รักดังออกมาก จากนั้นผู้ชายก็กลับออกอาการเหมือนอะไรมาจุกคอ สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้ผู้หญิงคนนั้นรีบเผ่นหนีออกมา จากนั้นเธอเดินเข้าไปในห้องหยิบแก้วใบหนึ่งล้างทำความสะอาด … ไม่ต้องบอกก็พอคาดเดาได้ มันต้องมีสิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
พินัยกรรมของพ่อได้ขอให้น้าสะใภ้ Paulina (รับบทโดย Mónica Randall) ช่วยดูแลลูกๆทั้งสามหลังจากเขาเสียชีวิต นั่นทำให้ Ana หวนระลึกถึงแม่ (รับบทโดย Geraldine Chaplin) ไม่ค่อยพึงพอใจเมื่อพบเห็นทั้งสองมีอะไรหลายๆอย่างคล้ายคลึงกัน (ก็พี่น้องอ่ะนะ!) อุปโหลกว่าเธอคงไม่ใช่คนดี จึงครุ่นคิดกระทำการชั่วร้ายอีกครั้งหนึ่ง
นำแสดงโดย Ana Torrent Bertrán de Lis (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติ Spanish เกิดที่ Madrid ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Victor Erice แสดงนำเรื่อง El espíritu de la colmena (1973) สองปีถัดมาแสดง Cría cuervos (1976) จากนั้นก็ตัดสินใจเอาดีด้านนี้ ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Elisa, vida mía (1977), Sangre y arena (1989), Tesis (1996), Yoyes (1999), The Other Boleyn Girl (2008) ฯ
รับบท Ana การได้พบเห็นแม่ดิ้นรนทุกข์ทรมาน สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับตนเอง หลังจากเสียชีวิตจากไปจึงโกรธเกลียดชิงชังพ่อ ครุ่นคิดว่าคือต้นตอสาเหตุเลยกระทำการปิตุฆาต แต่แทนที่อะไรๆจะดีขึ้นกลับพบเห็นภาพหลอนปรากฎขึ้นในสายตา ตัวเองจากอนาคตมองย้อนกลับมา ละม้ายคล้ายคลึงกับน้า Paulina เลยหลงเข้าใจผิดว่าคงไม่แตกต่างจากพ่อ เลยตัดสินใจจะเข่นฆาตกรรมเธออีกคนหนึ่ง
ดวงตาของ Torrent ช่างเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก! เพราะความใสบริสุทธิ์เดียงสา ตรงกันข้ามการกระทำอันเต็มไปด้วยความชั่วร้าย หาได้รับรู้เข้าใจสิ่งเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะอะไร? ทำไม? แค่ว่ามันเกิดจากแรงผลักดันภายใน ‘สันชาติญาณ’ เคยรับรู้พบเห็นเข้าใจแบบนี้ หวนกลับมาเจอสิ่งคล้ายคลึงซ้ำๆ เกิดการตอกย้ำผลลัพท์ย่อมไม่แตกต่างจากเดิม
Geraldine Leigh Chaplin (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน ลูกสาวคนที่สี่ของ Charlie Chaplin กับภรรยาคนที่สี่ Oona O’Neill เกิดที่ Santa Monica, California เมื่อตอนอายุได้ 8 ขวบ พ่อถูกขับออกจากอเมริกา เลยอพยพย้ายไป Switzerland, สนใจด้านบัลเล่ต์ เป็นนักเต้นที่ดีแต่รู้สึกว่าตนเองเริ่มต้นช้าเกินไป ต่อมากลายเป็นโมเดลลิ่ง พบเจอโดย David Lean ได้โอกาสแสดงนำ Doctor Zhivago (1965), แต่คู่บารมีของเธอคือผู้กำกับ Carlos Saura ร่วมงานกันถึง 8 ครั้ง อาทิ Peppermint Frappé (1967), Ana and the Wolves (1973), Cría Cuervos (1976), Elisa, vida mía (1977) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ Remember My Name (1978), Chaplin (1992), Talk to Her (2002), The Orphanage (2007) ฯ
รับบทแม่ และ Ana ตอนโต
– แม่ (Chaplin ให้เสียงสเปน ด้วยสำเนียงอังกฤษ) แม้จะรักลูกๆทั้งสามสุดหัวใจ แต่ตนเองราวกับนกในกรงขัง แต่ชีวิตแต่งงานไม่เป็นสุขทำให้มโนเพ้อภพอ้างโน่นนี่นั้น ทั้งๆมิได้ป่วยอะไรร้ายแรงกลับดีดสะดิ้งปางตาย สาเหตุการเสียชีวิตมิได้บอกกล่าวไว้ คาดคิดว่าคงหมดอาลัยตรอมใจมากกว่าล้มป่วยใดๆ
– Ana ตอนโต (ให้เสียงโดย Julieta Serrano) ด้วยน้ำเสียงเหนื่อยๆเหนือยๆ สีหน้าเศร้าโศก ราวกับชีวิตพานผ่านทุกข์หนักๆมามาก ครุ่นคิดตระหนักได้ถึงความโง่เขลาเบาปัญญาเมื่อครั้นยังอ่อนเยาว์วัย
ข้อสังเกตระหว่างแม่ กับ Ana ตอนโต นอกจากสำเนียงเสียงพูดแล้ว ลักษณะการปรากฎตัวก็แตกต่าง
– แม่มักพบเห็นขยับเคลื่อนไหว เดินไปเดินมา พูดคุยสนทนากับ Ana วัยเด็ก
– Ana ตอนโต จะนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ พูดสบตากล้อง ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับใครทั้งนั้น (เหมือนแค่พูดเล่าให้ผู้ชมฟัง)
Chaplin เป็นนักแสดงที่ฝีมือจัดจ้านไม่น้อย (ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Liv Ullmann) สามารถแสดงสองบทบาทขั้วตรงข้าม กายภาพ-มโนภาพ ร่างกาย-จิตใจ เติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัว
– รับบทแม่ ต้องชมพลังทางการแสดง ขับเคลื่อนไหว ร่างกายเจ็บปวด พูดเสียงสั่นๆ ระบายความอัดอั้นทุกข์ทรมานออกมา
– ขณะที่ Ana ตอนโต ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ใช้แค่สายตาและคำพูดสื่อสารทางอารมณ์กับผู้ชม
Mónica Randall (เกิดปี 1942) นักแสดงหญิงสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona, ผลงานเด่นๆ อาทิ Cristina Guzmán (1968), The Three Musketeers (1970), Family Portrait (1976), Cría Cuervos (1976) ฯ แต่ช่วงหลังๆเน้นรับงานแสดงละครโทรทัศน์เสียมากกว่า
รับบท Paulina น้าของ Ana (พี่สาวแม่) ตามพินัยกรรมระบุไว้ให้เป็นผู้ดูแลคฤหาสถ์หลังนี้และเด็กๆทั้งสาม ก็ไม่รู้ว่าเธอกับพ่อมีสัมพันธ์เกินเลยขนาดไหน แต่ได้อยู่บ้านหลังใหญ่นี้ก็บ่งบอกความสำคัญอยู่ไม่น้อย ซึ่งพอเข้ามาพร้อมกับย่า ต้องการปรับเปลี่ยนโน่นนั่นให้เหมาะสมกับตนเอง อีกทั้งพยายามเสี้ยมสั่งสอน ชี้แนะนำเด็กๆ ซื้อใจ … แต่เหมือนจะไม่ค่อยสำเร็จสักเท่าไหร่
ภาพลักษณ์และจริตของ Randall เหมาะกับบทที่เหมือนตัวร้ายนี้มาก ท่วงท่าลีลา สายตาจิกกัด บ่งบอกถึงลับลมคมใน บางสิ่งอย่างชั่วร้ายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ แต่ความเป็นจริงอาจไม่มีอะไรเลยก็ได้ เพราะสิ่งที่หนังนำเสนอคือมุมมองสายตาของเด็กหญิง Ana รู้สึกไม่ถูกชะตากับใครก็เห็นผู้นั้นชั่วร้ายเลวทรามไปเสียหมด
ถ่ายภาพโดย Teo Escamilla (1940 – 1997) ตากล้องสัญชาติ Spanish ก่อนหน้านี้เป็นช่างภาพนิตยสาร Sábado Gráfico ก่อนผันตัวมาถ่ายทำภาพยนตร์ แจ้งเกิดกับ Cría Cuervos (1976) ผลงานเด่นๆ อาทิ El amor brujo (1986), El Dorado (1988), Montoyas y Tarantos (1989)
ลักษณะของงานภาพผมของเรียกว่า ‘Children Gaze’ ในสายตาของเด็กหญิงวัย 8 ขวบ จับจ้องมองผู้ใหญ่ บางครั้งเธออยู่ในซีนแต่ราวกับไม่มีใครมองเห็น ซึ่งนั่นอาจเป็นอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ความจริง-ความฝัน ทุกสิ่งอย่างซ้อนทับกันได้ทั้งหมด
แทบทุกอย่างของหนังจะเข้าสูตร 3 อาทิ พี่น้องสามคน, พ่อมีรักสามเส้า, เปิดตู้เย็นสามครั้ง, ตัวละครคำพูดซ้ำๆ 3 หน, บทเพลงยังได้ยิน 3 รอบ! ฯ นี่คงเป็นการสะท้อนแนวคิด อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต กลมกลืนเข้าหากันอย่างลงตัว
Long Take ฉากแรกของหนัง กล้องค่อยๆแพนไปรอบๆบ้าน ได้ยินเสียงพร่ำบอกรัก กระซิบกระซาบของชาย-หญิง จากนั้นเคลื่อนถึงตรงบันได พบเห็นเด็กหญิงสาวกำลังเดินลงมา จบสิ้นที่ใบหน้าของเธอ ครึ่งหนึ่งอาบเงามืดมิด บางสิ่งอย่างชั่วร้ายซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ
ดวงไฟที่อยู่ด้านหลัง Ana สะท้อนสิ่งที่คือแสงสว่างแห่งชีวิต สำหรับเธอถือว่าเลยผ่านพ้นมาแล้ว ก็ตั้งแต่สูญเสียแม่ และครั้งนี้คือพ่อ อนาคตกำลังเผชิญหน้ากับความมืดมิด มิอาจคาดเดาอะไรได้
หลังจากชำระล้างแก้วลบล้างหลักฐานฆาตกรรม สิ่งที่ Ana กระทำต่อไปคือเปิดตู้เย็น ซึ่งต่อแต่ช็อตนี้ที่แม่ปรากฎตัวขึ้นมาครั้งแรก (ผู้ชมจะรับรู้ทีหลังว่า เธอสูญเสียชีวิตตายจากไปแล้ว!)
การเปิดตู้เย็น จึงสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการเปิดเล่าความทรงจำ/จินตนาการของเด็กหญิง ภายในประกอบด้วยเสบียงกรัง ผักกาด และซูมเข้าไปเห็นตีนไก่ (ลักษณะคล้ายๆตีนอีกา สัตว์สัญลักษณ์ของชื่อหนัง)
นี่เป็นฉากที่อาจสร้างความฉงนงงงวยให้ใครหลายคน มันคือการจินตนาการฆ่าตัวตายของ Ana ร่างกายเธอยืนอยู่ตรงสวนในบ้าน เงยหน้ามองดาดฟ้าตึกตรงข้าม พบเห็นอีกตัวตนเองมองย้อนกลับลงมา ทำท่ากระโดด กล้องส่ายไปส่ายมา แต่ไม่ยอมตกลงถึงพื้น … นี่ก็แปลว่า จิตใจของเด็กหญิง ฆ่าตัวตายยังทำไม่สำเร็จเลย!
ฉากเล่นสนุกสนานของเด็กๆ ด้วยการแต่งหน้าทาปาก สวมวิก สะท้อนว่าพวกเธออยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่เร็ววัน จักได้ไม่ต้องจมปลักคุดคู้อยู่ในบ้านหลังนี้ … แต่เหมือนน้องคนเล็กยังไม่ประสีประสาเท่ากับพี่สองคน ที่ถึงวัยอยากรู้อยากลอง ฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน
มีอีกฉากหนึ่งที่ผมไม่ได้แคปรูปมา Ana เล่นกับตุ๊กตาทารก และให้คนใช้เปิดหน้าอกโชวนม เป็นการสะท้อนความใคร่รู้ใคร่สงสัยเรื่องเพศ ไม่แตกต่างกัน!
ว่าดวงตาของ Ana Torrent หลอกหลอนแล้วนะ มาเจอฉากนี้ของ Geraldine Chaplin ใบหน้าตอบๆ ทาลิปแห้งๆ แถมหันเอียงศีรษะ สั่นสะท้านหัวใจเลยละ
ฉากนี้ค่อนข้างน่าสงสัยทีเดียวว่าคือ จินตนาการของ Ana หรือเหตุการณ์จริง? เพราะต่อมาผู้ชมจะรับรู้ว่า แม่ไม่ได้เจ็บป่วยหนักอะไร การดิ้นรนทุกข์ทรมานและเลือกไหล ราวกับแค่อาการป่วยจิต ตรอมใจ หรือจินตนาการของเด็กหญิงเฉยๆกันแน่
ฉากนี้ก็สร้างความน่าพิศวงเหมือนกันว่า Ana พบเห็นด้วยตาหรือจินตนาการขึ้นมา? เพราะพ่อ-แม่ ราวกับมองไม่เห็นเธอกำลังจับจ้องมอง เดินผ่านไปมาเรียกร้องความสนใจก็แล้วด้วยนะ กลับยังคงเพิกเฉยไม่สนใจ
90% ของหนัง ดำเนินเรื่องภายในรั้วบ้านแห่งนี้ (สะท้อนถึงประเทศสเปนในยุคสมัยจอมพล Franco) ซึ่งจะมีหลายครั้งกล้องถ่ายแพนนิ่งจากด้านนอก เต็มไปด้วยรถรา เสียงเครื่องยนต์บีบแตร คาคั่งไปด้วยความวุ่นวาย ตรงกันข้ามกับภายในที่แม้เขียวขจีแต่กลับว่างเปล่า
สระน้ำที่ว่างเปล่า คือสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่ไม่เคยได้รับการเติมเต็ม ข้างใต้นั้นมีเพิงหมาแหงนของ Ana สำหรับหลบซ่อนเร้น เล่นกิจกรรม โลกส่วนตัวของตนเอง
ระหว่างออกเดินทางไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด ขณะที่คนอื่นๆมองไปข้างหน้า มีเพียง Ana นั่งหลังรถมองกลับไปด้านหลัง อดีตคือสิ่งที่เธอโหยหาต้องการ ขอแม่สุดที่รักคืนมาได้ไหม!
เรื่องราวของย่า ถือเป็นตัวแทนชาวสเปนรุ่นเก่าก่อน พานผ่านอะไรๆมามากจนไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนด้วยลำแข้งตนเอง ป่วยโรค Alzheimer หลงลืมสิ่งต่างๆ พูดไม่ได้ (ไร้อำนาจ/สิทธิ์เสียง/ถูกสังคมหลงลืม) ถึงกระนั้นก็ยังจดจำตนเองได้จากภาพวันวานที่หอมหวาน
Roni คือหนูแฮมสเตอร์ที่สะท้อนจิตวิญญาณของ Ana ถูกจับขังในกรง และไม่รู้สาเหตุอะไรถึงได้เสียชีวิต เธอจึงจัดพิธีฝังศพ เหมือนจะเพื่อเคารพคารวะหนังเรื่อง Jeux interdits (1952)
พ่อมอบอาวุธปืนให้เป็นของขวัญ Ana นี่ราวกับการส่งมอบความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น ที่แม้คนไม่ล่วงรู้ประสีประสา (อย่าง Ana) ยกมันขึ้นมาจ่อ ก็มีอำนาจข่มขู่ต่อรองผู้อื่นได้!
ฉากนี้น่าครุ่นคิดมากๆว่า ถ้าตอนนั้นความตั้งใจของ Ana คือเข่นฆาตกรรมน้า Paulina เธอจะยิงหรือเปล่า? เพราะขณะนี้เธอมองมันเป็นเพียงของเล่น ที่ระลึกจากพ่อ แค่ต้องการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเท่านั้นเอง
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ระหว่างที่ Ana นั่งฟังเพลง ขับร้องตาม จากนั้นอยู่ดีๆยกมือขึ้นมาปัดแต่งทรงผม ทำหน้าทำตาเล่นสวยกับกล้อง ก่อนตัดสินใจบางสิ่งอย่างด้วยความแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ฉันจะลงมืออีกครั้ง!
คือมันเป็นการขยับเคลื่อนไหว แสดงออกที่ออกมาจากภายใน สันชาตญาณ โดยไม่มีเหตุผลเด่นชัดเจนว่าเพื่ออะไร อารมณ์ไหน ซึ่งคำพูดการตัดสินใจของเธอ บ่งบอกแค่ว่า ฉันต้องทำบางสิ่ง ทนอยู่แบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว!
Sequence สุดท้ายของหนัง เปิดเทอมใหม่ เด็กๆออกเดินทางไปโรงเรียน นี่เป็นการสะท้อนอนาคตฟ้าใหม่ของสเปน ที่ต้องเปิดประเทศติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก และภาพช็อตนี้ที่ควรเป็นโรงเรียน แต่ดูเหมือนโดมของโบสถ์ศาสนาคริสต์เสียมากกว่า … คงประมาณอะไรจะเกิดก็คงได้แต่สวดภาวนา อธิษฐานให้ชาติบ้านเมืองสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆได้
ตัดต่อโดย Pablo Gonzalez del Amo, หนังทั้งเรื่องเล่าในมุมมองสายตาของเด็กหญิง Ana ซึ่งก็จะผสมผสานคลุกเคล้าระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ความจริง-ความฝัน บางครั้งพบเห็นซ้อนทับในช่วงขณะเวลาเดียวกัน
สำหรับเพลงประกอบก็เข้าสูตรสาม! มีทั้งหมด 3 บทเพลง 3 สไตล์ เปียโนคลาสสิก (Opening), เพลงพื้นบ้านสเปน และป๊อปร่วมสมัย (Ending) ซึ่งก็จะได้ยินเพลงละ 3 รอบเช่นกัน
เริ่มจากเดี่ยวเปียโนบทเพลง Cançons i danses (1918-1972) แต่งโดย Frederic Mompou (1893 – 1987) นักเปียโน คีตกวีสัญชาติ Spanish ซึ่งหนังเลือกท่อนโด่งดังสุด No. 6 Cantabile espressivo; E-flat minor มอบสัมผัสอันโหยหวน ครุ่นคิดถึงแทบขาดใจ ยิ่งตอนแม่เล่นให้ Ana รับฟัง รวดร้าวจับจิตใจ
¡Ay, Maricruz! คือเพลงพื้นบ้าน Copla (ของสเปน) แต่งโดย Joaquín Valverde, Rafael de León, y Manuel L. Quiroga บรรเลงโดย Imperio Argentina, บทเพลงนี้มอบสัมผัสที่คือ Nostalgia ได้ยินเมื่อเปิดให้คุณย่ารับฟัง
Porque te vas (1974) แปลว่า Why are you leaving, แต่งโดย José Luis Perales, ขับร้องโดย Jeanette, เสียงเล็กแหลมๆเหมือนนกน้อย มอบสัมผัสอันโหยหา ครุ่นคิดถึง เพราะเธอได้ร่ำลาจากไป ฉันจึงติดอยู่ที่นี่ราวกับนกในกรง
การเลือกบทเพลงนี้เป็น Closing Credit ก็เพื่อย้อนแย้งกับตอนต้นที่เปิดด้วยเปียโนคลาสสิก อนาคตของประเทศสเปนคือเพลงป็อป ยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่เก่าก่อนล้าหลัง หรือพื้นบ้านประจำชาติอีกต่อไป
หลายๆสิ่งอย่างที่ผู้ใหญ่พูด-แสดงออก ถ้ามันรุนแรง กระแทกกระทั้นความรู้สึก/จิตใจ พบเห็นผ่านสายตาเด็กน้อย ก็มักจดจำตราตรึงฝังลึกภายใน สะสมเก็บกดกลายเป็นพลังงานบางอย่าง โดยไม่รู้ตัวระบายออกด้วยสันชาติญาณ อดีตเคยรับรู้/กระทำได้อย่างนี้ ปัจจุบันถ้ามันย้อนรอยเดิมคงไม่มีอะไรแตกต่าง
แต่จริงๆมันมิได้จำเป็นใช่ไหมละ! พ่อเคยทำตัวแย่ๆลักลอบมีชู้นอกใจแม่ พบเห็นน้าแสดงออกพฤติกรรมคล้ายๆกัน เด็กหญิงเลยได้ข้อสรุปเหมารวมไปแบบนั้น นี่คือตรรกะความเข้าใจแบบเด็กๆ ซึ่งความจริงน้าอาจนิสัยดียิ่งกว่าพ่อก็ยังได้! แต่แค่เศษเสี้ยวความเข้าใจก็ทำให้เกิดความหลงผิดไปไกล
สิ่งที่เกิดขึ้นหักมุมตอนจบ ไม่เพียงสร้างความช็อคตกตะลึงงัน แต่จักทำให้เด็กหญิงค่อยๆรับเรียนรู้ว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพท์แบบเดียวกันเสมอไป! พ่อก็คือพ่อ น้าก็คือน้า หาใช่คนๆเดียวกัน
Cría Cuervos มาจากสุภาษิตของสเปน “Cría cuervos y te sacarán los ojos”. แปลว่า Raise ravens, and they’ll take out your eyes ใกล้เคียงสุดของสำนวนไทยคงคือ ชาวนากับงูเห่า/หมองูตายเพราะงู ซึ่งในบริบทของหนังเปรียบเทียบถึง ใครสักคนที่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงดูแลเด็ก, หรือเคยทำอะไรแย่ๆไว้กับคนอื่น แล้วความทรงจำนั้นกลับมาหลอกหลอนเอาคืนตนเอง
เกร็ด: ตอนออกฉายหนังใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Raise Ravens แต่ปัจจุบันออก DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection ก็เปลี่ยนมาใช้ Cría Cuervos กันหมดแล้ว
ในบริบทของชื่อหนัง Cría Cuervos น่าจะสื่อตรงๆถึงเด็กหญิง Ana เคยเข้าใจว่าตนเองได้กระทำบางสิ่งอย่างอันชั่วร้าย มันจึงกลายเป็นภาพหลอกหลอนติดตาจนถึงปัจจุบัน, ขณะเดียวกัน สามารถหมายถึงน้า/แม่เลี้ยงคนใหม่ Paulina ดูเธอไม่เหมาะกับการเลี้ยงดูแลเด็กสักเท่าไหร่
มุมมองของผู้กำกับ Carlos Saura พยากรณ์การมาถึงของกษัตริย์ Juan Carlos (น้า/แม่เลี้ยงคนใหม่) อาจไม่แตกต่างอะไรจากจอมพล Francisco Franco แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะมีสองสิ่งที่พระองค์ต้องเผชิญหน้าท้าพิสูจน์
– ภายใน, ทำอย่างไรให้เกิดการยินยอมรับ (จากคนในครอบครัว)
– ภายนอก, สัมพันธ์กับคนนอก เตรียมพร้อมเปิดประเทศ (เด็กๆเปิดเทอมใหม่ไปโรงเรียน)
ก็อยู่ที่ว่า หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 จะนำพาประเทศชาติก้าวเดินต่อไปทิศทางใด สามารถเอาชนะใจชาวสเปน ลบภาพอดีตอันหลอกหลอนของจอมพล Franco ได้หรือเปล่า!
ประวัติศาสตร์สเปนในช่วงเปลี่ยนเวลาผ่านนี้ถือว่าน่าทึ่งทีเดียว ราวกับว่าได้มีการตระเตรียมตัว วางแผนกันมานานแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดี Juan Carlos หลังจากเสร็จขึ้นครองราชย์ ทรงริเริ่มการปฏิรูปทลายระบอบ Franco นำไปสู่การอนุมัติรัฐธรรมนูญแห่งสเปน ค.ศ. 1978 สถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ สำเร็จรวดอย่างรวดเร็วไว
ถ้านั่นเป็นวิสัยทัศน์ แผนการของจอมพล Francisco Franco เผด็จการเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวข้ามผ่านสงครามโลก และเปลี่ยนแปลงระบอบการประเทศสู่ประชาธิปไตย โดยมีตนเองเป็นแพะรับบาป ศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งโกรธเกลียดชัง จากนั้นทุกสิ่งอย่างจักมุ่งสู่ความสงบสุขสันติ ก็น่าครุ่นคิดว่าจะยกย่องให้เป็นมหาวีรบุรุษหรือจอมมารผู้ชั่วช้าสามาลย์ดี?
ในสเปน ปีที่หนังออกฉายถือว่าสดๆร้อนๆภายหลังจอมพล Francisco Franco เพิ่งเสียชีวิตไม่กี่เดือน ประสบความสำเร็จล้นหลาม ทำเงินสูงสุดอันดับ 6 ของปีนั้น
ต่อด้วยเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Grand Prix (ที่ 2) เคียงคู่ The Marquise of O (1976) และปลายปีเข้าชิง Golden Globes: Best Foreign Film พ่ายให้กับ A Special Day (1976)
ส่วนตัวชื่นชอบค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจการแสดงอันใสบริสุทธิ์ของ Ana Torrent และไดเรคชั่นผู้กำกับ Cría Cuervos บัญญัติภาษาใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม
แนะนำคอหนังดราม่าครอบครัว โศกนาฎกรรม, สนใจประวัติศาสตร์ประเทศสเปน, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ทำความเข้าใจผลกระทบเกิดขึ้นภายในตัวละคร, รู้จักผู้กำกับ Carlos Saura และนักแสดงนำ Ana Torrent, Geraldine Chaplin ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ในบรรยากาศแห่งความตาย
Leave a Reply