Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) Taiwanese : Ang Lee ♥♥♥♥♡

(21/5/2022) กระบี่หยกฟ้าบันดาล ความยาวสองศอกเก้านิ้ว กว้างหนึ่งนิ้ว หนาสองจุดห้า ด้ามจับเคยประดับทับทิม ลวดลายแกะสลักสมัยพระเจ้าฉินอู่ (ครองราชย์ 310-307 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ไม่ใช่แค่รูปลักษณะงดงาม แต่ยังแข็งแกร่งทนทาน มีความเฉียบแหลมคมยิ่งนัก เป็นยอดศัสตราวุธที่ชาวยุทธจักรต่างเคารพยำเกรง ถึงอย่างนั้นก็มิได้การันตีว่าผู้ครองครอบจักยิ่งใหญ่เหนือใครใต้หล้า

暗石疑藏虎, 盤根似臥龍
Behind the rock in the dark probably hides a tiger, and the coiling giant root resembles a crouching dragon.

นักกวีจีนโบราณ Yu Xin (513–581)

卧虎藏龙 (อ่านว่า wò hǔ cáng lóng, ว่อหู่ฉังหลง) เสือหมอบมังกรซ่อน คือสำนวนจีนที่ใช้สื่อถึงบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ แต่เลือกปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ คนเก่งไม่สำแดงตัวออกมา คล้ายๆสำนวนไทย เสือซุ่ม, คมในฝัก ฯ ภายนอกดูนิ่งเงียบ สงบเสงี่ยม แต่เมื่อพูดหรือกระทำสิ่งใดออกมา จึงรู้ว่ามีความเฉียบคมคาย

ถ้าอ้างอิงตามเนื้อเรื่องราว บุคคลที่ถือเป็นเสือและมังกรก็คือ ลู่เสียวหู่ (รับบทโดย จางเจิ้ง) และอวี้เจียวหลง (รับบทโดย จางจื่ออี๋) ไม่ใช่แค่อัจฉริยภาพด้านการต่อสู้ที่ยังถูกซุกซ่อนเร้นไว้ แต่เพราะชื่อของพวกเขา หู่ (虎) แปลว่า เสือ, หลง (龙) แปลว่า มังกร เป็นการบอกใบ้(ผู้ชมที่รับรู้ภาษาจีน)อย่างตรงไปตรงมา

เมื่อกระบี่หยกฟ้าบันดาลตกอยู่มือของอวี้เจียวหลงจึงราวกับมังกรติดปีก ต่อสู้เอาชนะจอมยุทธมากมายที่เข้ามาขอท้าประลอง แต่เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า ศักยภาพแท้จริงของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ศัสตราวุธ แต่คือวิทยายุทธ ประสบการณ์ การปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้เธอจึงพ่ายแพ้ให้หยูซูเหลียน (รับบทโดย มิเชล โหยว) และหลี่มู่ไป๋ (รับบทโดย โจวเหวินฟะ) อย่างไร้หนทางโต้ตอบกลับ

ความลึกล้ำของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ต้องยกให้ไดเรคชั่นของผู้กำกับอังลี่ ที่ภายนอกแลดูเนิบนาบสงบงาม แต่กลับซุกซ่อนเร้นนัยยะ Zen ไว้มากมาย เมื่อไหร่เกิดการต่อสู้ก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้นรุกเร้าใจ ภาพสวยเพลงเพราะ ตัดต่อเยี่ยม นักแสดงสมบทบาท รายละเอียดต่างๆมีความประณีต วิจิตรศิลป์ สมบูรณ์แบบแทบจะไร้ที่ติ

หลายคนอาจครุ่นคิดว่า อังลี่ คือผู้กำกับที่สามารถเปรียบได้กับ ‘เสือหมอบมังกรซ่อน’ แต่เอาจริงๆลุงแกมีชื่อเสียงมาก่อนหน้านี้พอสมควรแล้วนะครับ (คือไม่ได้ซุกซ่อนเร้นอัจฉริยภาพของตนเองเลย) อาทิ The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ต่างได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film และผลงานโกอินเตอร์เรื่องแรก Sense and Sensibility (1995) เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขา คว้ามา 1 รางวัล

แต่ความสำเร็จอันล้นหลามของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆให้วงการภาพยนตร์มากมาย ทำเงินถล่มทลายเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา เข้าชิงแล้วคว้ารางวัล Oscar มากที่สุดขณะนั้น (ของหนังภาษาต่างประเทศ) และยังจุดประกายหนังแนวต่อสู้กำลังภายใน (Wuxia) ให้ได้รับความนิยมจากทั่วทุกมุมโลกขึ้นอีกครั้ง


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง หวางตู้หลู่, 王葆祥 (1909 – 1977) นักเขียนนวนิยายชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง ครอบครัวมีฐานะยากจน หลังเรียนจบมัธยมทำงานเป็นครูสอนหนังสือ เสมียนสมาคมพ่อค้า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Minyabao (民意报) เริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่ปี 1931 ในช่วงแรกๆมักเป็นแนวนักสืบ (Detective) ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ (Mystery) กระทั่งย้ายสะมำโนครัวมาอยู่เมืองชิงเต่า, มณฑลซานตง ค่อยหันมาเขียนนวนิยายกำลังภายใน (Wuxia) ช่วงระหว่างปี 1939-49 มีผลงานทั้งหมด 36 เรื่อง!

สำหรับผลงานชิ้นเอกเป็นที่รู้จักมากสุดของหวางตู้หลู่ คือซีรีย์กระเรียน-เหล็ก Crane-Iron Series, 鶴鐵系列 นวนิยายจำนวน 5 เล่ม นำเสนอเรื่องราวจอมยุทธพเนจร (ภาษาจีนเรียกว่า 游侠, youxia) พานผ่านช่วงเวลาของคนสี่รุ่น ประกอบด้วย

  • Crane Startles Kunlun (鶴驚崑崙) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1940-41
  • Precious Sword, Golden Hairpin (寶劍金釵) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1938-39, รวมเล่มเมื่อปี 1939
  • Sword Force, Pearl Shine (劍氣珠光) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1939-1940, รวมเล่มเมื่อปี 1941
  • Crouching Tiger, Hidden Dragon (臥虎藏龍) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1941-42, รวมเล่มเมื่อปี 1948
  • Iron Knight, Silver Vase (鐵騎銀瓶) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1942-44, รวมเล่มเมื่อปี 1948

น่าเสียดายตั้งแต่หลังสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49) หวางตู้หลู่ ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งห้ามเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ บีบบังคับให้กลายเป็นครูสอนหนังสือ แล้วโดนส่งไปใช้แรงงานเกษตรกรรมช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ กระทั่งล้มป่วยเสียชีวิตเมื่อปี 1977 (โดยไม่มีโอกาสหวนกลับไปพบเจอหน้าภรรยาและบุตร)


หลี่อัน, 李安 (เกิดปี 1954) หรือที่ใครๆรู้จักในชื่ออังลี่ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ชาว Taiwanese เกิดที่เมืองแต้จิ๋ว เขตผิงตง บนเกาะไต้หวัน ครอบครัวเป็นสมาชิกกองทัพสาธารณรัฐจีน อพยพหลบหนีพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1942-49), บิดาเป็นครูใหญ่โรงเรียน Provincial Tainan First Senior High School คาดหวังให้บุตรชายเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย แต่หลังสอบไม่ผ่านสองครั้งเลยถูกส่งไป National Arts School ค้นพบความหลงใหลด้านศิลปะและการแสดงจากภาพยนตร์ The Virgin Spring (1960)

เมื่อปี 1979, ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าเรียน University of Illinois at Urbana–Champaign (UIUC) ติดตามด้วย Tisch School of the Arts ณ New York University (NYU) รุ่นเดียวกับ Spike Lee ในตอนแรกสนใจด้านการแสดง ก่อนเปลี่ยนมาสาขาการกำกับ (เพราะพูดภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยชัด) โปรเจคจบ Fine Line (1984) สามารถคว้ารางวัล Wasserman Award: Outstanding Direction

หลังเรียนจบปักหลังอยู่ Manhattan, New York City ซุ่มพัฒนาบทภาพยนตร์ Pushing Hands และ The Wedding Banquet ส่งเข้าประกวดคว้ารางวัลที่หนึ่งและสอง เลยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ทะยอยกำกับเรื่องแรก Pushing Hands (1991) ติดตามด้วย The Wedding Banquet (1993)**คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, Eat Drink Man Woman (1994), จากนั้นโกอินเตอร์ผลงาน Sense and Sensibility (1995)***คว้ารางวัล Golden Bear ตัวที่สอง, The Ice Storm (1997), Ride with the Devil (1999)

ช่วงปี 1999, โปรดิวเซอร์ซูหลี่-คอง ชักชวนผู้กำกับอังลี่ มาสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวต่อสู้กำลังภายใน (Wuxia) ที่กำลังเสื่อมความนิยมลงไปพอสมควร ด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้ A Touch of Zen (1971) โปรเจคนี้เชื่อว่าจักสามารถเติมเต็มความเพ้อฝันตั้งแต่สมัยยังเด็ก จึงตอบตกลงโดยทันที

โดยนวนิยายที่อังลี่เลือกมาเป็นดัดแปลงก็คือ Crouching Tiger, Hidden Dragon (1948) เฉพาะเล่มสี่ซีรีย์กระเรียน-เหล็ก ที่โฟกัสเรื่องราวของอวี้เจียวหลง (รับบทโดย จางจื่ออี๋) เมื่อได้ครอบครองกระบี่หยกฟ้าบันดาล ก็ลุ่มหลงตนเองว่ามีวิทยายุทธเก่งกาจเหนือใคร สามารถเอาชนะผู้อื่นมากมาย แต่สุดท้าย…

ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับบรรดาเพื่อนสนิท/ขาประจำ ประกอบด้วย

  • หวัง ฮุย-ลิง (Eat Drink Man Woman, Lust, Caution) ชาวไต้หวัน เพราะเรื่องราวเล่าผ่านจอมยุทธหญิง มุมมองนักเขียนหญิงเลยมีความจำเป็นอย่างมากๆ
  • James Schamus (Sense and Sensibility, Hulk, Lust, Caution) โปรดิวเซอร์/นักเขียนชาวอเมริกา ช่วยขัดเกลาเรื่องราวผ่านมุมมองผู้ชมต่างชาติ
  • และ Kuo Jung Tsai ปรับแก้ไขรายละเอียดอื่นๆ

พื้นหลังยุคราชวงศ์ชิง (1636-1912) รัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (1735-96), เรื่องราวของหลี่มู๋ไป๋ (รับบทโดย โจวเหวินฟะ) จอมยุทธผู้ทรงคุณธรรม ตั้งใจจะวางกระบี่หยกฟ้าบันดาล ล้มเลิกการล้างแค้นศัตรูผู้เข่นฆ่าอาจารย์ เพื่อค้นหาความสงบสุขแห่งชีวิต มอบหมายให้หยูซูเหลียน (รับบทโดย มิเชล โหยว) จอมยุทธหญิงเจ้าของสำนักคุ้มภัย ส่งต่อกระบี่แก่ขุนนางผู้ใหญ่เพื่อเก็บรักษาไว้ แต่แค่เพียงค่ำแรกก็ถูกโจรฝีมือดีบุกเข้าขโมยออกจากถ้ำเสือ

อีกด้านหนึ่ง อวี้เจียวหลง (รับบทโดย จางจื่ออี๋) บุตรสาวขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ ภายนอกดูเหมือนกุลสตรีในตระกูลสูงศักดิ์ทั่วๆไป แต่แท้ที่จริงแล้วนางกลับเป็นผู้หลงใหลการฝึกฝนวิทยายุทธ โหยหาอิสรภาพ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบอยู่ภายใต้อาณัติคำสั่งใคร แถมยังเป็นลูกศิษย์นางจิ้งจอกหยก (รับบทโดย เจิ้งเพ่ยเพ่ย) แอบแฝงตัวเป็นข้ารับใช้

การมาถึงของหลี่มู๋ไป๋ เมื่อรับทราบข่าวสูญหายไปของกระบี่หยกฟ้าบันดาล มีความต้องการติดตามทวงคืน เมื่อได้ประลองยุทธ์กับหัวขโมยผู้นั้น รู้สึกประทับใจในอัจฉริยภาพ เชื่อว่าสามารถฝึกฝน สืบทอดต่อวิทยายุทธ แต่เมื่อรับรู้ว่าอาจารย์ของเธอคือนางจิ้งจอกหยก ความเคียดแค้นฝังหุ่นได้หวนกลับคืนมา ต้องการเข่นฆ่าล้างอีกฝั่งฝ่ายให้จงได้


ผู้กำกับอังลี่ ถือเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ ไม่ได้แค่โด่งดังในไต้หวัน แต่ยังประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถรวบรวมทุนสร้างจากสตูดิโอหลายๆประเทศ ประกอบด้วย

  • Columbia Pictures Film Production Asia, Sony Pictures Classics และ Good Machine International (สหรัฐอเมริกา)
  • China Film Co-Production Corporation (จีนแผ่นดินใหญ่)
  • EDKO Film (ฮ่องกง)
  • Zoom Hunt International Productions Company, Ltd (ไต้หวัน)
  • Asia Union Film and Entertainment Ltd. (ไม่สังกัดสัญชาติ)

ไม่ใช่แค่ในส่วนจัดหาทุนสร้างเท่านั้น อังลี่ยังชอบร่วมงานนักแสดง & ทีมงานไม่จำกัดสัญชาติ (พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่วเลยค่อนข้างได้เปรียบมากๆ) ไม่ว่าจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯ ซึ่งผลงานของเขาก็มักมีความเป็นสากล ร่วมสมัย สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั้งฝั่งตะวันออก-ตะวันตก … แต่ก็มีความเป็นส่วนตัว ‘ศิลปิน’ ในทุกๆโปรเจค


โจวเหวินฟะ, Chow Yun-Fat (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง เกิดที่เกาะลัมมา นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง บิดาทำงานบริษัทน้ำมัน Shell Oil Company เคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ), อายุสิบขวบอพยพย้ายสู่สลัมเกาลูน เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 รับจ้างทั่วไป บุรุษไปรษณีย์ เซลล์แมน คนขับแท็กซี่ จนกระทั่งได้เห็นประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์ค้นหานักแสดงฝึกหัด เซ็นสัญญาสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับซีรีย์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980), ส่วนภาพยนตร์แจ้งเกิดเรื่อง A Better Tomorrow (1986), ติดตามด้วย The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

รับบท หลี่มู๋ไป๋, 李慕白 จอมยุทธผู้ผดุงความยุติธรรม ฝีมือเลิศล้ำ ได้ครอบครองกระบี่หยกฟ้าบันดาล พยายามฝึนฝนตนเองให้บรรลุถึงสัจธรรม แต่ยังคงมีเรื่องยึดติดทางโลกอีกหลายอย่าง ทั้งการแก้แค้นให้อาจารย์ ค้นหาลูกศิษย์ถ่ายทอดวิทยายุทธ และพูดบอกความรู้สึกต่อหยูซูเหลียน

การหวนกลับสู่ยุทธจักรครานี้ของหลี่หมู่ไป๋ ช่างเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย เริ่มจากกระบี่หยกฟ้าบันดาลถูกลักขโมยไป เมื่อประมือกับจอมโจรบังเกิดความประทับใจในฝีมือ ครุ่นคิดรับเป็นลูกศิษย์ถ่ายทอดวิทยายุทธ ขณะเดียวกันเมื่อพบเจอศัตรูผู้เข่นฆ่าอาจารย์ หมายหมั้นปั้นมือในการเข่นฆ่าล้างแค้น แต่ทุกสิ่งอย่างกลับแทบไม่มีอะไรสำเร็จสมดังหวัง กระทั่งถูกพิษของนางจิ้งจอกหยก เลือกใช้ลมหายใจสุดท้ายพูดบอกความรู้สึกต่อหยูซูเหลียน

ตัวเลือกแรกของบทบาทนี้คือเจ็ทลี แต่ติดพันโปรเจค Romeo Must Die (2000) ไม่สามารถเดินทางมาถ่ายทำ, คนต่อไปคือหลี่หมิง หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงจีนบนเกาะฮ่องกง (Four Heavenly Kings of Cantopop) แต่ก็ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, สำหรับโจวเหวินฟะ ก่อนหน้านี้มีแต่รับบทเจ้าพ่อ นักฆ่า เซียนพนัน ยังไม่เคยเลยสักครั้งรับบทจอมยุทธ เล่นหนังกำลังภายใน ช่วงแรกๆเลยเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น กลัวผู้ชมอาจยังมีภาพจดจำ แต่แค่โกนศีรษะเท่านั้นละ บังเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมาทันที!

บุคลิกของโจวเหวินฟะ เหมาะกับบทบาทลักษณะนี้มากๆ ภายนอกดูสงบนิ่งเงียบ สงวนถ้อยคำวาจา แต่ภายในซุกซ่อนเร้นความว้าวุ่นวาย ครุ่นคิดเล็กคิดน้อยมากมาย คล้ายๆสำนวน ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ พยายามฝึกฝนเพื่อบรรลุสู่สัจธรรม แต่เมื่อมีบางสิ่งอย่างเข้ามาเหนี่ยวนำ ก็มิอาจทำให้ตนเองคลายความหมกมุ่น ต้องการให้อะไรๆดำเนินไปตามประสงค์ดั่งใจ จนกระทั่งเสี้ยววินาทีสุดท้ายของชีวิตถึงสามารถปล่อยวางทุกสิ่งอย่างลง

ปัญหาเดียวของโจวเหวินฟะคือการพูดแมนดาริน/จีนกลาง ด้วยสำเนียงปักกิ่ง เพราะเจ้าตัวเป็นชาวฮ่องกงสื่อสารกวางตุ้ง สำเนียงกวางเจา ถ่ายทำวันแรกซีนแรก 28 เทค ยากลำบากที่สุดในชีวิตเลยละ!

It’s awful.

โจวเหวินฟะ แสดงความเห็นต่อกำแพงภาษาของหนัง

มิเชล โหย่ว, Michelle Yeoh Choo Kheng (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติ Malaysian เกิดที่เมืองอีโปห์ รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ในครอบครัวชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเล่นเปียโนและงานศิลปะ พอเป็นวัยรุ่นเข้าเรียนสถาบัน Royal Academy of Dance ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งใจจะเอาดิบเอาดีด้านการเต้นบัลเลต์ แต่ภายหลังประสบอุบัติเหตุบริเวณหลังทำให้ความฝันล่มสลายลง, เมื่อปี 1983 ขณะอายุ 21 ปี เข้าร่วมประกวดนางงาม Miss Malaysia คว้ามงกฎชนะเลิศ จนมีโอกาสถ่ายโฆษณาร่วมกับเฉินหลง ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Yes, Madam (1985), Police Story 3: Super Cop (1992), โด่งดังจากบทสาวบอนด์ Tomorrow Never Dies (1997), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Memoirs of a Geisha (2005), Reign of Assassins (2010), Crazy Rich Asians (2018), Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021), Everything Everywhere All at Once (2022) ฯ

รับบท หยูซูเหลียน, 俞秀蓮 จอมยุทธหญิงเจ้าของสำนักคุ้มภัย ในอดีตเคยหมั้นหมายกับพี่น้องร่วมสาบานหลี่มู๋ไป๋ แต่เกิดเหตุบางอย่างให้ถูกเข่นฆาตกรรม เขาจึงคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เคียงข้าง จนเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ มองตารู้ใจ ทั้งๆภายในเกิดความรักใคร่ชื่นชอบพอ กลับมิหาญกล้าพูดบอกความในออกมา

แม้ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง เชี่ยวชาญสรรพวุธ วิทยายุทธรอบด้าน แต่ภายในกลับไม่ต่างจากหลี่มู๋ไป๋ เต็มไปด้วยความขี้ขลาดหวาดกลัว ไม่กล้าพูดบอกความรู้สึกในออกมา สามารถให้คำแนะนำผู้อื่น เรื่องของตนเองกลับปล่อยปละโชคชะตา เพียงช่วยเหลือสนับสนุน มีโอกาสอยู่เคียงชิดใกล้ชายคนรัก แค่นั้นก็เพียงพอเติมเต็มความต้องการหัวใจ … จริงๆนะหรือ?

ในบรรดานักแสดงหลักๆมีเพียงมิเชล โหย่ว ที่ตอบตกลงผู้กำกับอังลี่โดยไม่มีการต้องมองหาคนอื่นใด เพียงเพราะคำชักชวนว่า “Sense and Sensibility with martial arts”. ทำให้เธอทิ้งคิวงานอื่นๆเป็นปีๆ ตระเตรียมตัวเรื่องภาษา (เธอพูดภาษาแมนดารินได้ แต่ติดสำเนียง Malaysian/English) ซักซ้อมร่างกายสำหรับถ่ายทำคิวบู๊ ทุ่มเทขนาดพอได้รับบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament, ACL) บินไปผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา เสร็จแล้วรีบกลับมาถ่ายทำฉากที่ไม่ต้องใช้คิวบู๊ต่อ ระหว่างรอพักฟื้นโดยทันที

เรื่องวิชาหมัดมวย ซือเจ๊โหย่วน่าจะเป็นนักแสดงหญิงคนแรกๆของวงการภาพยนตร์! ทำการประยุกต์วิชาบัลเล่ต์ที่เคยฝึกฝน มาปรับใช้ในการต่อสู้ได้อย่างชดช้อยนางรำ ว่ากันว่าถึงขนาดสร้างความหวาดหวั่นกลัวเกรงให้เฉินหลง เพราะเธอเล่นจริง เจ็บจริง ทุ่มเทให้กับการแสดงไม่น้อยไปกว่ากัน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’

และที่มักไม่ค่อยพบเห็นจากมิเชล โหย่ว คือการแสดงความซับซ้อนทางอารมณ์ ต้องชมว่าทำออกมาได้น่าประทับใจ พยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นความรู้สึกภายใน (ความรักต่อหลี่มู๋ไป๋) ไม่ต้องการเปิดเผยมันออกไป แต่ใครๆ(ที่ไม่ใช่หลี่มู๋ไป๋)ย่อมสังเกตเห็นจากสีหน้า สายตา เต็มไปด้วยความหึงหวง ห่วงหาเป็นใย พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกสรรพสิ่งอย่าง ไม่สนความแตกต่างทางเพศประการใด จนกระทั่งลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเขา ผมรู้สึกว่าปฏิกิริยาของซือเจ๊ อาจเป็นวินาทีแห่งการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตก็ว่าได้!


จางจื่ออี๋, Zhang Ziyi (เกิดปี 1979) หนึ่งในสี่ ‘Four Dan’ นักแสดงหญิงสัญชาติจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง ฝึกฝนการเต้นรำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากนั้นเข้าโรงเรียน Beijing Dance Academy เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ National Youth Dance Championship จึงมีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ แสดงโฆษณา สามารถเข้าเรียนต่อ Central Academy of Drama และต้องตาแมวมองของผู้กำกับจางอี้โหมว แจ้งเกิดโด่งดังจากภาพยนตร์ The Road Home (1999) ติดตามด้วย Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Rush Hour 2 (2001), Hero (2002), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Memoirs of a Geisha (2005), Forever Enthralled (2009), The Grandmaster (2013) ฯลฯ

รับบท อวี้เจียวหลง, 玉嬌龍 บุตรสาวขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน เพื่อให้มีชีวิตสุขสบาย แต่งงานกับชายที่บิดาจับคู่ให้ แต่เธอนั้นขวนขวายการฝึกฝนวิทยายุทธ เป็นลูกศิษย์นางจิ้งจอกหยกที่แอบปลอมตัวทำงานข้ารับใช้ กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสพบเจอหยูซูเหลียน รับรู้เรื่องราวของกระบี่หยกฟ้าบันดาล เลยตัดสินใจปลอมตัวบุกเข้าไปโจรกรรม ประลองฝีมือกับหลี่มู๋ไป๋ แต่กลับถูกเขาพยายามเสี้ยมสอนสั่ง ให้การชี้แนะนำวรยุทธเสียอย่างนั้น!

ความลุ่มหลงในกระบี่หยกฟ้าบันดาล ทำให้อวี้เจียวหลงทอดทิ้งงานแต่งงาน รวมถึงแฟนหนุ่มเคยหมั้นหมายครองรักยังทะเลทรายโกบี แล้วออกเดินทางท่องยุทธจักร ประลองฝีมือกับผู้กล้าท้าชิงมากมาย แม้ได้รับชัยชนะแต่กลับไร้ซึ่งความน่าเคารพนับถือ จนกระทั่งมาถึงสำนักคุ้มภัยของหยูซูเหลียน การต่อสู้ครั้งนี้กำลังมีชีวิตเป็นเดิมพัน!

ดั้งเดิมบทบาทนี้ดั้งเดิมเป็นของซูฉี เห็นว่ามาร่วมเตรียมงานสร้างอยู่หลายสัปดาห์ แต่กลับถูกผู้จัดการส่วนตัวล็อบบี้ให้ถอนตัวจากโปรเจค เพื่อไปถ่ายโฆษณาเป็ปซี่ที่ญี่ปุ่น แม้ได้เงินมากกว่าแต่ความสำเร็จของหนังทำให้เจ้าตัวเสียความรู้สึกไม่น้อยเลยละ

การมาทีหลังของจางจื่ออี๋ ทำให้แทบไม่หลงเหลือเวลาเตรียมตัวซักซ้อมคิวบู๊สักเท่าไหร่ (เพราะต้องแบ่งเวลาไปฝึกฝนคัดจีนอีกต่างหาก) แต่เธอก็ใช้ประสบการณ์จากเคยร่ำเรียนเต้นระบำ มาปรับประยุกต์ใช้ในฉากต่อสู้ (คงได้รับคำแนะนำจากมิเชล โหย่ว) ซึ่งความสำเร็จล้มหลามของหนัง ทำให้ได้เล่นหนังแนวกำลังภายใน (Wuxia) อีกหลายๆเรื่องเลยละ

แซว: จางจื่ออี๋เป็นนักแสดงคนเดียวที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องการใช้สำเนียง ภาษาพูด เพราะเธอเกิด-เติบโตที่ปักกิ่ง พูดแมนดาริน/จีนกลาง ได้สบายๆอยู่แล้ว

บทบาทนี้ของจางจื่ออี๋ ได้กลายเป็น ‘ภาพจำ’ ติดตัวในความหน้าใสหัวใจทราม ภายนอกสร้างภาพว่าน่ารักน่าชัง ใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่สันดานธาตุแท้ นิสัยจริงๆกลับดื้อด้านเอาแต่ใจ ‘ตัวเล็กพริกขี้หนู’ มีความเผ็ดแซบ รสชาติจัดจ้าน แรดร่าน มักมากในกามคุณ (ชีวิตจริงก็มีข่าวลือว่าเธอรับงานขายตัวให้เศรษฐี/คนใหญ่คนโต เรียกว่าโฮโซโสเภณี) ไม่ค่อยรู้จักสำนึกบุญคุณคน

แต่เราควรต้องทำความเข้าใจเบื้องหลังของตัวละครด้วยนะครับ เพราะเคยการเลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน ไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ แถมกำลังถูกจับคลุมถุงแต่งงาน นั่นทำให้หญิงสาวไม่อาจยินยอมรับสภาพความจริง โชคดีมีโอกาสฝึกฝนวิทยายุทธจึงสามารถดิ้นรนหลบหนี ตะเกียกตะกายออกท่องโลกกว่าง แต่เพราะอาจารย์นางจิ้งจอกหยกเป็นบุคคลโฉดชั่วช้า เลยไม่เคยได้รับคำชี้แนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม จนหลงระเริง เหลิงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่งกาจเหนือใคร จนกระทั่งช่วงท้ายถึงได้รับบทเรียนสาสมแก่ใจ


จางเจิ้ง, Chang Chen (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese เกิดที่กรุงไทเป เป็นบุตรของนักแสดงชื่อดัง Chang Kuo-chu ทำให้เริ่มมีผลงานตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับเลือกจากผู้กำกับ Edward Yang ร่วมแสดง A Brighter Summer Day (1991), ผลงานเด่นๆ อาทิ Happy Together (1997), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), 2046 (2004), Three Times (2005), The Go Master (2006), รับบทซุนกวน Red Cliff (2008-09), The Grandmaster (2013) ฯ

รับบทจอมโจรเมฆทมิฬ (Dark Cloud) ลู่เสียวหู่, 羅小虎 อาศัยอยู่ในทะเลทรายโกบี เมื่อครั้นคาราวานของอวี้เจียวหลงเดินทางผ่านมา ซุ่มดักปล้นแล้วลักขโมยหวีหยก หญิงสาวตัดสินใจควบม้าออกไล่ล่า สามารถต่อสู้ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ จากศัตรูกลายเป็นคู่รัก หมายหมั้นจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ถึงอย่างนั้นคณะติดตาม(ของบิดาของอวี้เจียวหลง)ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะจนตรอก เธอเลยตัดสินใจหวนกลับบ้าน ทอดทิ้งชายหนุ่มเฝ้ารอคอยอย่างเวิ้งว้าง เจ็บปวดทุกข์ทรมาน เมื่อมิอาจอดรนทนไหวจึงบุกเข้าไปในเมือง ทำลายพิธีแต่งงาน แต่กลับได้รับคำตอบกลับที่รวดระทม

จอมโจรผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับแพ้ภัยหญิงสาว เพราะความรักราวกับยาพิษที่ค่อยๆกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ จนไม่เป็นอันกินอันนอน ต้องการได้ครอบครองอาศัยอยู่เคียงข้าง แต่เมื่อถูกเธอขับไล่ผลักไสส่ง ก็มิอาจอดรนทน เช่นนั้นแล้วยินยอมตายเสียยังดีกว่า!

นี่เป็นตัวละครที่เหมือนแค่ ‘วัตถุทางเพศ’ สำหรับตอบสนองกามารณ์หญิงสาว เลือกนักแสดงหน้าตาหล่อเหลา นำมาแต่งองค์ทรงเครื่องให้มีความป่าเถื่อนโฉดชั่วร้าย แต่จางเจิ้งก็โดดเด่นใน Charisma มาดแมน ลูกผู้ชาย ภายนอกดูยิ่งใหญ่เกรียงไกร ตรงกันข้ามกับจิตใจโหยหาใครสักคนพึ่งพักพิง จอมโจรเมฆทมิฬผู้เหี้ยมโหดก็แค่การสร้างภาพอยู่รอดเท่านั้น (ลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากตัวละครอื่นๆสักเท่าไหร่)

แซว: จางเจิ้งก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารเช่นกัน แม้สามารถพูดจีนแมนดาริน แต่ก็ติดสำเนียง Taiwanese ใช้เวลาปรับตัวสักพัก ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากสักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย ปีเตอร์ เปา, Peter Pau Tak-Hei (เกิดปี 1951) สัญชาติฮ่องกง เดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ที่ San Francisco Art Institute กลับมาเป็นตากล้องถ่ายทำ The Killer (1989), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Promise (2005), Perhaps Love (2005) ฯ

แม้พื้นหลังเรื่องราวอยู่ในสมัยราชวงศ์ฉิน (1644-1912) แต่จะไม่มีการระบุช่วงเวลาบ่งชี้ชัด อังลี่ให้คำอธิบายว่า ‘China of the imagination’ มากกว่าอ้างอิงตามประวัติศาสตร์ แต่หนังถ่ายทำล้วนยังสถานที่จริงๆทั้งหมด อาทิ หมู่บ้านหนานผิง (Nanping Village), ทะเลทรายโกบี (Gobi Desert), ป่าไผ่เมืองอันจี (Anji Bamboo Forest), เทือกเขาชางหยานซาน (Mount Cangyan) ฯลฯ

เราสามารถแบ่งไดเรคชั่นการถ่ายภาพออกเป็นสองส่วน

  • ฉากปกติทั่วไประหว่างตัวละครพูดคุยสนทนา จะมีความเนิบนาบเชื่องช้า กล้องขยับเคลื่อนติดตามตัวละครอย่างไม่เร่งรีบ เน้นจัดวางองค์ประกอบภาพ ทิวทัศน์สวยงามตา
  • เมื่อไหร่บังเกิดความขัดแย้ง นำไปสู่การต่อสู้รบราฆ่าฟัน กล้องจะมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว โฉบเฉี่ยว (แต่จะไม่ฉวัดเฉวียนหรือเขย่าสั่นจนดูไม่รู้เรื่อง) และพบเห็นมุมกล้องแปลกๆจากหลากหลายทิศทาง

งานภาพในหนังของอังลี่ มีเอกลักษณ์คือความละเอียด ละเมียดไม ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงการใส่ใจทุกๆรายละเอียด ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศก่อนนำเข้าเรื่องราวหลัก ค่อยๆดำเนินไปอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง เหมือนการยืนบนยอดไผ่ของหลี่มู๋ไป๋ ใช้ความนิ่งสงบสยบทุกการเคลื่อนไหว … นี่คงเป็นปรัชญาดำเนินชีวิตของอังลี่ด้วยกระมัง


สังเกตเครดิตชื่อหนังภาษาจีน บนตัวอักษรจะมีภาพป่าไผ่เขียวขจี กำลังพริ้วไหวตามสายลม นั่นคือสถานที่ที่เต็มไปด้วย ‘เสือหมอบมังกรซ่อน’ แฝงนัยยะปรัชญาเซ็นของการโอนอ่อนผ่อนปรน เหมือนผู้ที่เข้าถึงพุทธะ สามารถอยู่อย่างสามัญธรรมดาได้ในทุกสถานการณ์

ผมเคยเขียนถึงปรัชญา Zen อย่างคร่าวๆในภาพยนตร์ A Touch of Zen (1971) คัทลอกมาให้อ่านอีกครั้งจะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหา

ต้นไผ่อ่อนพลิ้วตามสายลมก็จริงอยู่ แต่ต้นไม้นี้ก็มีความมั่นคงเหนียวแน่มากในแต่ละลำ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ชนิดใดอย่างไร ต่างก็เหมือนกันหมด แต่เมื่อผ่าลำต้นของไผ่ออกแล้ว ปรากฏว่าไม่มีอะไรในกอไผ่นั้นเลย กลับเป็นแต่เพียงข้อปล้อง ช่วงกลางโล่ง

โดยทั่วไปแล้ว คนทั่วไปมักจะติดยึดอยู่กับวิธีคิด/ความเชื่อดั้งเดิมของตน ทำให้โอกาสแห่งการรับรู้สัจธรรมใหม่ลดลง ความยิ่งใหญ่ของ Zen อยู่ที่การทลายป้อมปราการอันแน่นหนาทางความคิดนี้ลงไป ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่าหมกมุ่นยึดติดกับสิ่งใด จงทำให้ความคิดมีอิสระไหลเลื่อน แปรเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ตลอดเวลา

สังเกตจากเครื่องแต่งกายของหลี่มู๋ไป๋และหยูซูเหลียน แสดงถึงความสมถะเรียบง่าย ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย มีอะไรก็ใส่อย่างนั้น แต่ก็แอบแฝงนัยยะบางอย่างเช่นกัน

  • ชุดสีเทาของหลี่มู๋ไป๋ สะท้อนสภาพจิตใจที่มีความหมองหม่น ยังไม่สามารถฝึกฝนทำสมาธิจนบรรลุถึงสัจธรรม เพิ่งตระหนักได้ว่าตนเองมีภาระทางโลกยังติดค้างคาใจ หวนกลับมาครานี้ก็เพื่อสะสางทุกสิ่งอย่าง
    • เราสามารถเปรียบเทียบการหวนกลับสู่ทางโลกของหลี่หมู๋ไป๋ ถึงผู้กำกับอังลี่ที่โกอินเตอร์อยู่สหรัฐอเมริกามาหลายปี (เห็นว่าลงหลักปักฐาน แต่งงาน น่าจะได้สัญชาติอเมริกันแล้วมั้งนะ) หวนกลับมาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ยังจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนภาระที่ค้างคาก็คือความเพ้อฝันวัยเด็ก ได้กำกับหนังแนว Wuxia สมดั่งใจ
  • สำหรับชุดของหยูซูเหลียน สีขาวแทนความบริสุทธิ์จริงใจ มีลวดลายเล็กๆน้อยๆก็เพื่อแสดงถึงความงดงามของอิสตรีเพศ (เพศหญิงย่อมหลงใหลในความงามเป็นธรรมดา)

ในช็อตนี้มีทั้งหมดสามภาพเขียนจีนห้อยแขวนฝาผนังแต่ผมขี้เกียจอธิบาย (ไล่เรียงน่าจะป่าไผ่, แม่น้ำแยงซี, สุสานบรรพบุรุษ) แต่ข้อความทั้งสี่แถวมีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้อย่างน่าสนใจ สามารถสื่อถึงความกลมกลืน ผสมผสานเป็นส่วนหนึ่ง ก็เหมือนประเพณีครอบครัวที่สืบสานต่อยอดมาถึงปัจจุบัน

  • The Tall (Qiao) Tree spreads thousands of branches, but don’t they have the same roots.
  • The Long (Yangtze) River flows into tens of thousand of distributaries, but all have the same source.
  • In Spring and Autumn sacrifices, follow the Ancient Sages’ Rites and Customs
  • Arraying Left and Right, trace One Family’s Generations of Continuity

รายละเอียดเล็กๆอย่างล้อเทียมเกวียนก็แฝงนัยยะซ่อนเร้น! คณะของหยูซูเหลียนกำลังผ่านเข้าประตูเมือง สังเกตว่ามันเคลื่อนหมุนไปตามร่องบนพื้นหิน แลดูคล้ายๆสายน้ำไหลตามลำคลอง สามารถสื่อถึงชีวิตที่ดำเนินไปตามครรลอง วิถีธรรมชาติ สืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่านี่คือ CGI (Computer Graphic Interface) ดูแล้วเป็นการผสมผสานสถานที่จริงๆ กรุงปักกิ่งเข้าไปด้วย (ในส่วนกำแพงเมืองทางเข้าด้านหน้า ที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน) แม้ผู้ชมได้พบเห็นแค่ไม่กี่วินาที แต่ก็เป็นการเปิดหูเปิดตา สร้างความตกตะลึง อ้าปากค้างเมื่อแรกพบเห็น (จะมีบทเพลงบิ้วอารมณ์ร่วมด้วยนะ)

เกร็ด: เครดิตในส่วน CGI มีการว่างจ้างสองบริษัทชื่อดัง

  • Manex Visual Effects (MVFX) โด่งดังจากทำการ VFX ให้ภาพยนตร์ What Dreams May Come (1998), The Matrix (1999)
  • Blue Sky Studios บริษัททำอนิเมชั่นสัญชาติอเมริกา (ก่อตั้งปี 1987 เพิ่งปิดตัวเมื่อปี 2019 เพราะโรคระบาด COVID-19) หลายคนอาจรู้จักจากแฟนไชร์ Ice Age

แวบแรกที่ผมเห็นอวี้เจียวหลง เกิดความฉงนว่าเธอโบ๊ะแป้งหน้าขาวเกินงามไปหรือเปล่า? แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับทรงผม เครื่องแต่งกาย (เห็นว่าใช้เวลานานถึง 2 เดือน กว่าจะเย็บถักเสร็จ) ก็ดูราวกับตุ๊กตา ‘A Doll House’ ที่ถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่อง สร้างภาพภายนอกให้ดูสวยงาม สมวิทยาฐานะบุตรสาวขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆด้วยความต้องการของตนเอง … จะมองว่าเป็นการปกปิด ซุกซ่อนเร้น ตัวตนแท้จริงของเธอก็ได้เช่นกัน

น่าเสียดายที่ภาพเขียนด้านหลังพบเห็นแค่บางส่วนเท่านั้น ผมครุ่นคิดว่าคือภาพขุนเขาทะเลสาป ซึ่งสามารถสะท้อนตัวตนของอวี้เจียวหลง ที่เป็นเหมือน ‘เสือหมอบมังกรซ่อน’ ยังอาศัยอยู่ตามป่าดงพงไพร ไม่ได้เปิดเผยความสามารถแท้จริงออกมา

ผู้กำกับอังลี่พยายามสร้างความพิเศษให้กระบี่หยกฟ้าบันดาล เมื่อไหร่ถูกชักออกจากคมฝัก จักต้องมีเสียง ‘Sound Effect’ หวีดแหลมแสบแก้วหู เพื่อแสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม และประวัติศาสตร์แห่งการเข่นฆ่าฟัน ผู้คนตกตาย(ด้วยคมดาบนี้)นับไม่ถ้วนในรอบหลายร้อยปี

เกร็ด: ผู้หลอมกระบี่ Green Destiny Sword คือเพื่อนบ้านของผู้กำกับอังลี่ ขณะเคยอาศัยอยู่เขตไถหนัน, ไต้หวัน

ยามค่ำคืนหนังนำเสนอฉากที่อวี้เจียวหลง ถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็ดหน้าเช็ดตา ปล่อยมวยผม ทั้งหมดนี้สามารถสื่อถึงการปลดเปลื้องภาพลักษณ์ภายนอก เพื่อเตรียมกลับเป็นตัวของตนเอง … สังเกตว่าหนังไม่มีถ่ายภาพสะท้อนในกระจกเลยนะครับ แต่ช็อตนี้กลับทำตัวเหมือนกระจกเสียเอง! เพื่อสะท้อนถึงตัวตนธาตุแท้จริงของสตรีทั้งสองที่ปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้

สำหรับคนที่เพิ่งรับชมหนังครั้งแรกจะยังไม่เอะใจหญิงรับใช้ ว่าแท้จริงคือนางจิ้งจอกหยก พูดให้คำแนะนำขณะนี้เพราะตระหนักว่าศัตรูนั้นอยู่ใกล้ อย่าทำอะไรกระโตกกระตาก อาจนำพาหายนะบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ฉากไล่ล่าบนหลังคา น่าจะถ่ายทำยังหมู่บ้านหนานผิง (Nanping Village) [สังเกตจากรูปลักษณะของหลังคา] มีการใช้เครนขนาดใหญ่ห้อยโหยสลิง (แล้วใช้ CGI ลบสายสลิง) ส่วนใหญ่จะเป็นนักแสดงเล่นเองเจ็บเอง น้อยครั้งถึงใช้สตั๊นแมนเข้าฉากแทน

คนที่ชื่นชอบอ่านนวนิยายกำลังภายในจีน การหลบหนี-ไล่ล่าบนหลังคา ถือเป็นฉากคลาสสิกทั่วๆไป แต่ข้อจำกัดของยุคสมัยก่อน (ที่ยังไม่มีเครนขนาดใหญ่) ทั้งยังเสี่ยงอันตราย จึงไม่ค่อยพบเห็นในภาพยนตร์ (โดยเฉพาะของ Shaw Brothers) สักเท่าไหร่

ในบทหนังจะไม่มีเขียนรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับการต่อสู้ ให้อิสระในการครุ่นคิดวางแผนแก่ หยวนเหอผิง, 袁和平 (เกิดปี 1945) ผู้กำกับ/นักออกแบบคิวบู๊ชาวฮ่องกง เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงาน Drunken Master (1978), Iron Monkey (1993), Fist of Legend (1994), โด่งดังระดับนานาชาติจากออกแบบ ‘action choreographer’ ให้ The Matrix (1999), Kill Bill (2003) ฯลฯ

การประมือครั้งแรกระหว่างจอมโจร (หรือก็คือ อวี้เจียวหลง) vs. หยูซูเหลียน มีสองสิ่งที่ผมแนะนำให้ลองสังเกต

  • เมื่อทั้งสองมาถึงบริเวณลานกว้าง (ระหว่างกำแพงชั้นใน-นอก) ฝั่งการต่อสู้ของจอมโจรจะอยู่ในเงามืด ขณะที่หยูซูเหลียนอยู่ฝั่งแสงสว่าง
  • และพอความห่างชั้นทางวิทยายุทธปรากฎเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จอมโจรจะถูกผลักถอยหลังชนกำแพง (เหมือนหมาจนตรอก กำลังจะไร้หนทางออก)

จางจื่ออี๋ ฝึกฝนการคัดอักษรจีน (Calligraphy) อยู่หลายเดือนเพื่อเข้าฉากนี้ฉากเดียว ไม่ใช่แค่ท่วงท่าขยับเคลื่อนไหว ตัวอักษรก็มาจากฝีไม้ลายมือของเธอจริงๆ พวกนวนิยายกำลังภายในนิยมชมชอบการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์นี้มากๆ การคัดลายมือ = ฝึกฝนวิทยายุทธ คงเพราะใช้การตวัดกวัดแกว่งเหมือนกันกระมัง

หนังพยายามทำให้การต่อสู้ระหว่างจิ้งจอกหยก vs. ศัตรูคู่อาฆาต ดูกระจอกงอกง่อย เหมือนการตะลุมบอน ต่างฝ่ายต่างล้มลุกคลุกคลาน สร้างเสียงหัวเราะตลกขบขันให้ผู้ชม ผิดกับการมาถึงของหลี่มู๋ไป๋ นำความสงบ สง่างาม น่าเกรงขาม เพียงตวัดดาบเบาๆก็ส่งอีกฝั่งฝ่ายถอยหลังไปไกล ช่างมีความแตกต่างห่างระดับชั้น ฟ้ากับเหว!

ความตายของชายผู้ต้องการล้างแค้นให้ภรรยา มีลักษณะเหมือนกรรมสนองกรรม จากการโยนอาวุธคู่ใจตรงเข้าไปหานางจิ้งจอกหยก แต่ถูกเธอรับได้แล้วเขวี้ยงขว้างกลับมา (เหมือนบูมเมอแรง) ทิ่มแทงบริเวณหน้าผากจนสมองหยุดทำงาน

นัยยะฉากนี้กล่าวถึงบุคคลผู้มีความโกรธเกลียดจนเลือดขึ้นหน้า หมกมุ่นเพียงแต่การเข่นฆ่าล้างแค้นศัตรู ทำให้สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิด ไร้สติสัมปชัญญะ ทำอะไรๆโดยขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ ผลลัพท์สุดท้ายก็เลยได้รับผลกรรมตอบสนองตามอารมณ์

สันชาตญาณหญิงของหยูซูเหลียน ทำให้ตระหนักไม่ยากว่าจอมโจรขโมยกระบี่หยกฟ้าดาลก็คืออวี้เจียวหลง เลยครุ่นคิดแผนการที่จะทำให้เธอจนมุม (แบบเดียวกับตอนหลังชนกำแพง) ด้วยการเชิญชวนมาแสดงความยินดีที่ห้องต้อนรับ สังเกตภายนอกหน้าต่างรายล้อมรอบด้วยก้อนหินปกปิดบังหนทางออกทุกทิศทาง! … ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้เธอเปิดเผยตัวตนนะครับ แค่พยายามบีบบังคับด้วยมารยา วาทะศิลป์ ให้คืนกระบี่แก่หลี่มู๋ไป๋

นี่เป็นอีกฉากเล็กๆที่เหมือนจะไม่มีอะไร บุตรสาวของชายที่ถูกนางจิ้งจอกหยกเข่นฆ่าเสียชีวิต เปิดประตูออกมาชักชวนให้เขาเข้าไปภายในบ้านร้าง คาดเดาไม่ยากว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น

เรื่องราวสามตัวละครรองนี้ (พ่อ-ลูกสาว-ชายแปลกหน้า) สะท้อนความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างหลี่มู๋ไป๋ หยูซูเหลียน และอดีตคู่หมั้นของเธอ เมื่อมีใครคนหนึ่งตกตายจากไป จึงหลงเหลือเพียงชาย-หญิง พึ่งพาอาศัยกันและกัน แตกต่างที่สาวน้อยคนนี้เลือกจะไม่ปกปิดซ่อนเร้นความต้องการของตนเอง ผิดกับหยูซูเหลียนที่ไม่เคยหาญกล้าพูดบอกอะไรต่อหลี่มู๋ไป๋ (อาจเพราะความแตกต่างทางชนชั้นทางสังคมด้วยกระมัง)

หลี่มู๋ไป๋เฝ้ารอคอยจอมโจรสาวขณะส่งคืนกระบี่หยกฟ้าบันดาล ต้องการให้คำแนะนำ เสี้ยมสอนสั่ง คาดหวังว่าเธอจะสามารถเป็นผู้สืบทอดวิทยายุทธ ปลดเปลื้องตนเองจากพันธนาการเหนี่ยวรั้ง (จากในห้องที่แสงสว่างภายนอกสาดส่องเข้ามา ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่จิตใจถูกกักขังอยู่ภายใน) แต่จนแล้วจนรอดด้วยความดื้อรันของอวี้เจียวหลง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ กลายเป็นตุ๊กตาของผู้ใด (บทเรียนจากครอบครัว) จึงพยายามดิ้นหลบหนี ปฏิเสธหัวชนฝา

สถานที่แห่งนี้จากคำอธิบายของตัวละครคือภายในวัด อวี้เจียวหลงเปรียบเทียบหลี่มู๋ไป๋ดั่งพระสงฆ์ นอกจากโกนศีรษะล้าน ยังทำการเทศนาสั่งสองโน่นนี่นั่น ซึ่งเธอปฏิเสธรับฟัง ต้องการแสดงออกว่าตนเองคือปีศาจ สนเพียงกระทำสิ่งชั่วช้าสามาลย์

Don’t talk like a monk just because you’re in a temple. Just fight!

อวี้เจียวหลง

ผมรวบรวมคำสอนของหลี่มู๋ไป๋ไว้ตรงนี้นะครับ เผื่อใครจะสนใจก็ลองครุ่นคิดทำความเข้าใจดูเอง

School is meaningless, the secret manual is meaningless even this sword.
lt is just a state of mind.

True strength is light as a feather.
No assistance, no growth.
No reaction, no explanation.
No control, no desire.
Give yourself up and find yourself again.
Here’s a lesson for you on life.

Learn to defeat movement with stillness.
That way you’ll be worthy of the Green Destiny.

ความละเมียดละไมในการกำกับของอังลี่ แม้แค่ฉากดราม่าเล็กๆนี้ระหว่างอวี้เจียวหลงสนทนากับนางจิ้งจอกหยก (ในคราบหญิงรับใช้) มีความสมบูรณ์แบบมากๆ

  • เริ่มต้นเมื่ออวี้เจียวหลงกลับเข้ามาในห้อง นางจิ้งจอกหยกเดินตรงเข้ามาหา เงาของเธอค่อยๆทาบลงบนใบหน้า แสดงถึงอิทธิพลที่ต้องการควบคุมครอบงำลูกศิษย์
  • อวี้เจียวหลงปฏิเสธรับฟังคำล่อลวง เลยปลีกตัวจากมาเดินเข้าหาหน้ากล้อง ต้องการทอดทิ้งอีกฝ่ายไว้เบื้องหลัง (ภาพด้านหลังถูกทำให้เบลอ หลุดโฟกัส) แต่นางจิ้งจอกหยกก็ติดตามมาข้างหลัง แล้วพูดย้ำเตือนสติบางอย่าง
  • คำพูดโน้มน้าวของนางจิ้งจอกหยก ราวกับพันธนาการที่คอยฉุดเหนี่ยวรั้งอวี้เจียวหลงให้สูญเสียอิสรภาพ เธอจึงพยายามดิ้นให้หลุดพ้น เดินตรงมายังแสงเทียนแห่งความหวัง จากนั้นมีการประมือเล็กๆเพื่อพิสูจน์ปีกกล้าขาแข็ง ‘ศิษย์ล้างอาจารย์’ ไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือนางอีกต่อไป
  • ตั้งแต่ที่อวี้เจียวหลงรับรู้ว่าสามารถก้าวข้ามผ่านนางจิ้งจอกหยก ทำให้เธอสูญเสียที่พึ่ง ไร้บุคคลคอยชี้แนะนำ นั่งลงตรงเก้าอี้เพราะยังคงยอมรับเธอเป็นอาจารย์ (ตอนนั้นยังเด็กเกิดประสีประสา) แต่มาวันนี้หลังจากพบเจอหลี่มู่ไป๋ ทำให้รับรู้ว่าถึงเวลาสามารถครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเองได้สักที

ฉากในทะเลทรายโกบี สูญเสียเวลาถ่ายทำค่อนข้างมาก ทั้งๆมันควรเป็นสถานที่ห่างไกลฝน แต่มันกลับตกอยู่บ่อยครั้งจนถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นความชุ่มชื้นบนพื้นผิวทราย ไม่ได้เหือดแห้งแล้งอย่างที่สมควรเป็นสักเท่าไหร่

หวีหยก ไม่รู้ว่าใครมอบให้อวี้เจียวหลง แต่ถือเป็นสิ่งของรักของหวงทางใจ (หวีเอาไว้ใช้จัดแต่งทรงผม สัญลักษณ์ของสร้างภาพภายนอกให้ดูดี มีมูลค่าราคาแพง) ถึงขนาดเมื่อถูกลักขโมยโดยจอมโจรเมฆทมิฬลู่เสียวหู่ ก็ควบขี่ม้าออกติดตามไล่ล่า พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงคืนมันกลับมา

ทะเลทรายโกบี คือดินแดนแห่งอิสรภาพ ใครก็ตามอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้ สามารถครุ่นคิดทำอะไรโดยไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร แต่ต้องแลกมากับความต่อสู้ดิ้นรน พิสูจน์ศักยภาพตนเองในการเอาตัวรอด คนอ่อนแอตกเป็นเหยื่อผู้เข้มแข็งแกร่ง ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ไร้ความศิวิไลซ์ หรือแม้แต่จิตสำนึกมโนธรรม

ทั้งโอเอซิสและถ้ำใต้ดิน ต่างคือสถานที่หาพบเจอได้ยาก สรวงสวรรค์หลบซุกซ่อนอยู่ภายในทะเลทราย นำพาความชุ่มชื่นฉ่ำให้กับชีวิต เพราะมนุษย์(และสรรพสัตว์)ต้องใช้น้ำในการบริโภค-อุปโภค ไม่สามารถขาดแคลนแม้แต่วันเดียว!

สถานที่หลบซ่อนตัวของจอมโจรเมฆทมิฬลู่เสียวหู่ สังเกตว่าเต็มไปด้วยสิ่งข้าวของหรูหรา เครื่องประดับระยิบระยับ ได้จากการดักปล้นคณะคาราวาน แต่มันแทบไม่มีมูลค่า คุณประโยชน์ใดๆต่อการดำรงชีวิตในท้องทะเลทราย เพียงตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเอง … อาหารและน้ำต่างหากที่คือปัจจัยสี่ ขาดไม่ได้!

เกร็ด: บทเพลงที่ลู่เสียวหู่ขับร้องขณะอวี้เจียวหลงกำลังอาบน้ำ คาดว่าน่าเป็นภาษา Uyghur ซึ่งชาวตุรกีน่าจะพอฟังออก

…yiriliyorida, gordum su guzel kiz havar guni
…bu guzel aylari, ey guzel kiz havali kiz.

…while she was singing softly, I saw that beautiful girl when sun goes down,
…this beautiful months, You beautiful girl, cool girl.

ลู่เสียวหู่และอวี้เจียวหลง พยายามหลบหนีคณะติดตามมาจนหลังชนภูเขา (นัยยะเดียวกับหลังชนกำแพง) ถึงจุดที่พวกเขามาถึงทางตัน ไร้หนทางไปต่อ มีเพียงการต่อสู้เผชิญหน้าหรือยินยอมพ่ายแพ้ หญิงสาวเลยตัดสินใจเสียสละตนเอง ทอดทิ้งความรัก (ไหลลอยไปดั่งสายน้ำ) แต่สำหรับชายหนุ่มกลับให้คำมั่นสัญญา (จักมั่นคงประดุจขุนเขา)

แซว: ใครที่ชอบสังเกตภาพเขียนประดับพื้นหลัง คงจดจำภูเขา ลำธาร มาช็อตนี้หนังเลยนำเสนอภาพถ่ายจากสถานที่จริง งดงามยิ่งกว่าเป็นไหนๆ

ลู่เสียวหู่บุกเข้ามาทำลายพิธีแต่งงานของอวี้เจียวหลง แต่เขาไม่ทันหลบหนีไปไหนก็ถูกควบคุมตัวโดยหลี่มู๋ไป๋และหยูซูเหลียน พาออกมายังนอกเมือง บริเวณที่เต็มไปด้วยเศษซากปรักหักพัง (สะท้อนสภาวะจิตใจของจอมโจรเมฆาทมิฬ หลังถูกหญิงคนรักบอกเลิกรา ทุกสิ่งอย่างเพ้อฝันไว้สูญสลายหมดสิ้น) ก้มหัว หน้าตาจ๋อย บอกเล่าความจริงทั้งหมดให้พวกเขาฟัง

ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่หลี่มู๋ไป๋ยินยอมช่วยเหลือลู่เสียวหู่ (ถึงขนาดเขียนจดหมายแนะนำตัว แล้วส่งให้ไปพักอยู่ที่สำนัก) อาจเพราะมองเห็นความมุ่งมั่น จริงใจ ซื่อสัตย์ในรัก เหมือนเป็นการเตือนสติเขาเองในความสัมพันธ์กับหยูซูเหลียน (เห็นคู่รักหนุ่ม-สาว เลยสามารถมองย้อนกลับหาตนเอง)

หลี่มู๋ไป๋เมื่อเดินทางมาถึงโรงเตี๋ยมบริเวณป่าไผ่ เหม่อมองออกไปพบเห็นสายลมพริ้วไหว โดยไม่รู้ตัวก่อบังเกิดความสงบสุขขึ้นภายใน และเมื่อเดินไปที่โต๊ะอาหาร เป็นครั้งแรกที่หาญกล้าเอื้อมจับมือหยูซูเหลียน (ด้วยข้ออ้างข้างๆคูๆ) ค่อยๆเรียนรู้ทำสิ่งตอบสนองความต้องการ ปล่อยวางมโนคติที่เคยเหนี่ยวรั้งพันธนาการ ให้ปลิดปลิวล่องลอยตามอย่างทิวทัศน์ด้านหลัง

ป่าไผ่ ถูกนำเสนอให้ดูเหมือนอยู่ภายในกรอบภาพวาด (จริงๆคือมองผ่านกรอบหน้าต่าง) สื่อถึงสิ่งที่ตัวละครยังคงทำได้แค่ครุ่นคิด เพ้อใฝ่ฝันถึง หลี่มู๋ไป๋โหยหาความสงบสุข แต่ยังมีหลายๆสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งไว้

การผจญภัยในยุทธจักรของอวี้เจียวหลง นำเสนอผ่านการต่อสู้สอง Sequence ภายนอก-ภายใน ร้านน้ำชาระหว่างทาง-โรงเตี๊ยมในเมือง ที่เน้นสร้างเสียงหัวเราะ ตลกขบขัน ทำออกมาให้มีความคลาสสิก เคารพคารวะหนังจีนกำลังภายใน (ถ้าโรงเตี๊ยมไม่พัง อย่าริอาจเรียกตัวเองว่าหนัง Wuxia!)

การประลองยุทธระหว่างอวี้เจียวหลง vs. หยูซูเหลียน คือบทพิสูจน์ว่าแม้มียอดศัสตราวุธก็ไม่ได้การันตีชัยชนะเหนือจอมยุทธผู้มากด้วยฝีมือ พานผ่านประสบการณ์มากมาย เข้าใจสัจธรรมแห่งการต่อสู้ แถมยังสามารถปรับตัว(ใช้หลากหลายอาวุธ)ในทุกๆสถานการณ์

  • ดาบคู่ ที่มีความคล่องแคล่ว เน้นการเคลื่อนไหวรวดเร็วฉับไว สามารถเป็นต่อกระบี่หยกได้สักพักใหญ่ๆ แต่ก็มิอาจเทียบความแหลมคมจนถูกตัดเป็นสี่ท่อน (อันละสองท่อน)
  • ทวน เป็นอาวุธที่ได้เปรียบเรื่องความยาว สามารถพุ่งโจมตีจุดอ่อนได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และยังใช้ฟาดฟัน/กระแทกคู่ต่อสู้ด้วยพละกำลัง แต่น่าเสียดายบริเวณด้ามทำจากแท่นไม้ เลยไม่สามารถรอดพ้นคมแหลมของกระบี่
  • ตะขอคู่ มีลักษณะเป็นดาบ แต่ปลายโค้งลงคล้ายตะขอสำหรับเกี่ยวเหนี่ยวอาวุธคู่ต่อสู้ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ถนัด สูญเสียจังหวะ แต่ถึงอย่างนั้นตะขอก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งความแหลมคมของกระบี่ลงได้
  • ง้าวเหล็กวงพระจันทร์ น้ำหนักมากเกินยกไหว
  • กระบองทองเหลือง แม้ความยาวเท่าดาบแต่มีน้ำหนักมากกว่าพอสมควร (แต่ก็ไม่หนักเท่าง้าวเหล็ก) มีหนามคมโดยรอบสำหรับใช้ฟาดฟัน ทำให้กระบี่หยกไม่สามารถตั้งรับ (จนมือสั่นสะท้าน) ถึงอย่างนั้นความทึ่มทื่อของกระบองก็มิอาจต้านทานความแหลมคม
  • สุดท้ายแล้วกระบี่ vs. กระบี่ ดั่งสำนวนนามยอกต้องเอาหนามบ่ง แลกเปลี่ยนความแหลมคม(ของกระบี่หยกฟ้าบันดาล)กับขนาดที่ใหญ่กว่า แต่ความรวดเร็วนั้นใกล้เคียงกัน สุดท้ายแล้วบทพิสูจน์แพ้-ชนะจึงอยู่ที่ฝีมือ ประสบการณ์ ไม่ใช่เพราะศัสตราวุธอีกต่อไป

ทุกอาวุธที่หยูซูเหลียนหยิบขึ้นมา ล้วนสามารถสร้างความเป็นต่อ เผชิญหน้าสู้กับกระบี่หยกฟ้าบันดาลได้ทั้งนั้น แต่เพียงเพราะสภาพทนทาน มิอาจต่อต้านความแหลมคม ล้วนจบลงด้วยการถูกตัดหั่นเป็นท่อนๆ … ถ้าอาวุธคุณภาพเดียวกัน ย่อมเห็นผลลัพท์ตั้งแต่กระบวนท่าแรกแล้วละ!

หลายๆครั้งใน Sequence นี้จะมีภาพถ่ายจากมุมสูง ‘Bird Eye’s View’ โดยเฉพาะตอนใช้ทวนและกระบอง ซึ่งสามารถทิ่มแทงคู่ต่อสู้ ทำให้ผู้ชมพบเห็นช่องว่างระยะห่าง อวี้เจียวหลงแทบไม่สามารถเข้าใกล้ประชิดตัวหยูซูเหลียน (ถือเป็นมุมกล้องที่แปลกตา แต่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมดีเยี่ยมมากๆ)

การต่อสู้ระหว่างอวี้เจียวหลง vs. หลี่มู๋ไป๋ บนยอดต้นไผ่ ไม่มี CGI ใช้เครนห้อยสลิง นักแสดงโลดโผดโบยบินด้วยตนเองทั้งหมด

Computers were used only to remove the safety wires that held the actors. Maybe a little stunt work, but most of the time you can see their faces. That’s really them in the trees.

ผู้กำกับอังลี่ ตอบคำถามนักวิจารณ์ Roger Ebert

ไผ่ เป็นต้นไม้ที่มีความสูงยาว เติบโตเร็ว อาศัยอยู่เป็นกอ(ละหลายต้น) เพื่อว่าเวลาลมพัดจะได้ช่วยกันพริ้วไหวตามแรงลม (รวมกันเราอยู่ แยกอยู่โดดเดี่ยวย่อมโดนโค่นล้ม) เมื่อมนุษย์ใช้วิชาตัวเบาขึ้นไปยืนด้านบน มันจะย้วยลงมาเพราะแรงกดน้ำหนักตัว แสดงถึงความโอนอ่อนผ่อนปรน สามารถปรับเปลี่ยนแปลงตนเองในทุกๆสถานการณ์

สัจธรรมจากการต่อสู้บนยอดไผ่ ณ จุดสูงสุดไม่ใช่การขยับเคลื่อนไหว แต่คือการปล่อยให้ตนเองให้พริ้วไหลไปตามแรงลม มองจากภายนอกจึงดูเหมือนหลี่มู๋ไป๋กำลังยืนนิ่งสงบ ผิดกับอวี้เจียวหลงพยายามโยกตัวไปมา จึงมิอาจปักหลักมั่นคง ค่อยๆสูญเสียความสามารถในการทรงตัว จนกระทั่งพลัดตกหล่นสู่ภาคพื้นดิน

เชื่อว่าหลายคนอาจเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับสำนวน ‘นิ่งสงบสยบทุกการเคลื่อนไหว’ มันไม่ได้แปลว่าต้องยืนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ ทำตัวเหมือนก้อนหินนะครับ แต่หมายถึงจิตที่สงบจักทำให้เราค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิต (ร่างกายสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ปกติ แต่ในลักษณะสอดพ้องทิศทางธรรมชาติ โอนอ่อนผ่อนปรนไปกับสิ่งต่างๆรอบข้าง) เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อองคุลีมาล ‘เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด’

หลี่มู่ไป๋พยายามเสี้ยมสอนให้อวี้เจียวหลง รู้จักปลดปล่อยตนเองจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติดต่อกระบี่หยกฟ้าบันดาล ด้วยการโยนทิ้งลงหน้าผาสูง แต่หญิงสาวเพราะยังมิอาจละวาง จึงเสี่ยงชีวิตกระโดดติดตามลงมา จนสามารถไขว่คว้ากลับมาครอบครอง แต่ก็หมดสูญสิ้นเรี่ยวแรง ได้รับบาดเจ็บสาหัส (เพราะการตกจากที่สูง)

การแสดงออกดังกล่าวของอวี้เจียวหลง ถือว่ามีเพียงสันชาติญาณ ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติเท่านั้น (วัยรุ่นใจร้อน) ไม่แม้แต่เสี้ยววินาทีจะขบครุ่นคิด ทบทวนคำพูดสอนของหลี่มู๋ไป๋ นั่นแสดงว่าความหมกมุ่นยึดติดในกระบี่ กลายเป็น’ยาพิษ’แพร่กระจายถึงจิตวิญญาณแล้วละ

สำหรับไคลน์แม็กซ์ของหนัง ดำเนินเรื่องภายในถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งสามารถสื่อถึงสภาพปรักหักภายในจิตใจตัวละคร มีเพียงบ่อน้ำแห่งความชุ่มฉ่ำ/สายฝนพรำอยู่บริเวณกึ่งกลาง ต่างคนต่างโหยหาต้องการบางสิ่งอย่าง แต่ไม่เคยพูดบอก แสดงออกมา ปกปิดซ่อนเร้นมันไว้ภายใน จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต

นางจิ้งจอกหยก ต้องการเข่นฆ่าอวี้เจียวหลง เพราะเป็นเด็กไม่รู้สำนึกบุญคุณตน แต่กลับได้รับการปกป้องจากหลี่มู๋ไป๋ ใช้พลังภายในผลักดันให้ล้มลงกระแทกไหใส่น้ำ (ภาชนะรองรับน้ำ สำหรับสร้างความสดชื่นให้ร่างกาย=สัญลักษณ์ของการสูญเสียชีวิต) แล้วใช้กระบี่ทิ่มแทงกลางหัวใจด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ในที่สุดก็แก้ล้างแค้นแทนอาจารย์ได้สำเร็จ แต่เสี้ยววินาทีแห่งการสูญเสียสติสัมปชัญญะนั้นเอง ทำให้เขาถูกเข็มพิษทิ่มแทงต้นคอ หลงเหลือลมหายใจอีกไม่มาก

ยาพิษของนางจิ้งจอกหยกถูกนำเสนอทั้งในเชิงรูปธรรม-นามธรรม,

  • เข็มพิษทิ่มแทงต้นคอของหลี่มู๋ไป๋ กำลังค่อยๆแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆร่างกาย สามารถขจัดได้ด้วยยาถอนพิษ แต่กว่าจะปรุงสำเร็จต้องใช้เวลาชั่วข้ามคืน
    • สามารถสะท้อนถึงมลภาวะทางจิตใจทั้งหลายของหลี่มู๋ไป๋ ล้วนเกิดจากการปล่อยปละละเลย จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ตั้งแต่เรื่องล้างแค้นนางจิ้งจอกหยก, มองหาศิษย์สืบทอดวิทยายุทธ และการพูดบอกความรู้สึกต่อหยูซูเหลียน ทั้งหมดล้วนช้าเกินไปทั้งนั้น!
  • พฤติกรรมของอวี้เจียวหลง ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง รับฟังคำโป้ปดหลอกลวงของนางจิ้งจอกหยกมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ราวกับยาพิษที่ค่อยแทรกซึมเข้าไปในจิตวิญญาณ แม้ภายนอกจะสร้างภาพให้ดูใสซื่อบริสุทธิ์ แต่จิตใจก็เต็มด้วยนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ หลงตนเองว่าฉันเก่งกาจเหนือใคร

ตั้งแต่การต่อสู้เริ่มต้นขึ้น อวี้เจียวหลงทำได้เพียงนั่งคุกเข่าอยู่เคียงข้างเศษซากปรักหักพัง ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวไปไหน (เพราะยังถูกพิษจากกำยาน) ได้รับการปกป้องโดยหลี่มู๋ไป๋ แต่เมื่อเขาถูกเข็มพิษของนางจิ้งจอกหยก บังเกิดความรู้สึกผิดอยากรุนแรง ต้องการไถ่โทษด้วยการอาสาปรุงยาถอนพิษ

แม้สุดท้ายแล้วความตั้งใจของเธอจะสายเกินไป แต่อวี้เจียวหลงก็ได้รับอีกบทเรียนสุดท้ายจากหยูซูเหลียน คือการอโหสิกรรม ยินยอมยกโทษให้อภัย ปล่อยละวางอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้น ไม่ให้มันบ่มฟักจนกลายเป็นยาพิษกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ จนสูญเสียสติสัมปชัญญะแม้เพียงเสี้ยววินาทีเดียว!

เสี้ยวลมหายใจสุดท้ายของหลี่มู่ไป๋ เลือกที่จะพูดบอกความรู้สึกภายในต่อหยูซูเหลียน นั่นเพราะเขาเพิ่งครุ่นคิดตระหนักขึ้นมาได้ แม้มันจะสายเกินไปมากๆ แต่ก็ยังดีกว่าตายไปขณะยังมีสิ่งนี้ติดค้างคาใจ และทำให้สามารถปล่อยปละละวาง ทิ้งตัวลงสู่สุขคติ (หรือจะมองว่าบรรลุสัจธรรมแห่งชีวิตก็ได้เช่นกัน)

วินาทีที่หลี่มู่ไป๋หมดสิ้นลมหายใจ หยูซูเหลียนโถมเข้าโอบกอด ร่ำไห้ จุมพิต ร่างกายของเธอบดบังแสงจากกองไฟ จนไม่เหลือแสงสีส้มๆอาบฉาบบนใบหน้าพวกเขาอีกต่อไป … การร่ำไห้ของมิเชล โหยว ตราตรึงขนาดทำให้ผู้กำกับอังลี่ ต้องขอตัวมิอาจกลั้นน้ำตานานกว่า 15 นาที

I knew those were real tears. A lot of pressures gushing out, months of repression, and perhaps a lifetime of hopeful thinking. All that effort comes up.

ผู้กำกับอังลี่ เล่าถึงการร่ำไห้ของหยูซูเหลียน

หลายคนอาจครุ่นคิดว่าช็อตสุดท้ายของหนัง อวี้เจียวหลงคิดสั้น กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย! แต่ผมมองฉากนี้ในเชิงสัญลักษณ์ถึงการตัดสินใจเลือกอิสรภาพชีวิต แทนที่จะถูกควบคุมครอบงำ หรืออาศัยอยู่เคียงคู่ชายคนรัก โบกโบยบินสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น (คือไม่ได้สื่อถึงความตายตรงๆ เพราะเธออาจสามารถรอดชีวิต แบบเรื่องที่ลู่เสียวหู่เคยเล่าให้ฟัง)

การกระโดดหน้าผาครานี้แตกต่างจากตอนก่อนหน้า ที่แสดงออกโดยสันชาติญาณ (เพราะความหมกมุ่นในกระบี่หยกฟ้าบันดาล) การกระทำครั้งนี้ของอวี้เจียวหลงผ่านการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เข้าถึงสัจธรรมแห่งการปล่อยวาง ไม่หลงเหลือพันธการใดๆฉุดเหนี่ยวรั้ง สามารถโบกโบยบินได้อย่างอิสรภาพ

ตัดต่อโดย Timothy S. Squyres (เกิดปี 1959) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับอังลี่ตั้งแต่ The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994), Sense and Sensibility (1995), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Hulk (2003), Lust, Caution (2007), Life of Pi (2012) ฯ

ผมรู้สึกว่าหนังพยายามดำเนินเรื่องโดยใช้ ‘กระบี่หยกฟ้าบันดาล’ เป็นจุดศูนย์กลางเรื่องราว เริ่มต้นอยู่ในความครอบครองของหลี่มู๋ไป๋ มอบหมายให้หยูซูเหลียนส่งต่อแก่ขุนนางผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ทันเก็บรักษาไว้ก็ถูกโจรลักขโมยกลายมาเป็นของอวี้เจียวหลง ซึ่งก็จะติดตามเธอออกผจญภัยในยุทธจักร ก่อนหวนกลับมาสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

  • ความพยายามปล่อยวางอดีตของหลี่มู๋ไป๋
    • หลี่มู๋ไป๋เดินทางกลับจากการฝึกฝน รำพันกับหยูซูเหลียนถึงขีดจำกัดของตนเอง มอบหมายให้เธอนำกระบี่หยกฟ้าบันดาล ส่งต่อแก่ขุนนางผู้ใหญ่
    • แรกพบเจอระหว่างหยูซูเหลียนกับอวี้เจียวหลง กลายเป็นพี่น้องแสร้งว่าสนิทสนม
    • ค่ำคืนนั้นโจรชุดดำเข้ามาลักขโมยกระบี่หยกฟ้าบันดาล ประมือกับหยูซูเหลียน แล้วได้รับการช่วยเหลือ(จากนางจิ้งจอกหยก)จนสามารถหลบหนีเอาตัวรอดไปได้
  • แต่อดีตก็ยังคงติดตามมาระราวี
    • เมื่อหลี่มู๋ไป๋เดินทางมาถึง รับรู้ว่ากระบี่ถูกขโมยไป เลยต้องการไล่จับโจรทวงคืนของๆตน
    • ค่ำคืนนั้นได้พบเจอศัตรูคู่อาฆาต ต้องการเข่นฆ่าล้างแค้นนางจิ้งจอกหยก แต่สามารถหลบหนีเพราะมีโจรชุดดำ(ที่ขโมยกระบี่)มาขัดขวางไว้ได้ทัน
    • หยูซูเหลียนครุ่นคิดแผนการทวงคืนกระบี่จากอวี้เจียวหลง ทำให้หลี่มู๋ไป๋มีโอกาสให้คำแนะนำ แสดงตัวว่ามีความสนใจเสี้ยมสอนสั่ง รับเธอเป็นศิษย์
    • จอมโจรเมฆาทมิฬ ลู่เสียวหู่แอบมาหาอวี้เจียวหลง
      • (Flashback) ย้อนอดีตระหว่างกำลังเดินทางข้ามทะเลทรายโกบี คาราวานของอวี้เจียวหลงถูกดัดปล้นโดยจอมโจรเมฆาทมิฬ
      • อวี้เจียวหลงควบขี่ม้าติดตามไล่ล่าลู่เสียวหู่ เพื่อทวงคืนหวีหยก โดยไม่รู้ตัวจากศัตรูกลายมาเป็นคู่รัก
      • เพราะถูกไล่ล่าโดยคณะผู้ติดตาม อวี้เจียวหลงจึงตัดสินใจหวนกลับบ้าน ทอดทิ้งให้ลู่เสียวหู่ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวอ้างว้าง ยังคงคร่ำครวญครุ่นคิดถึงแต่เธอ
    • ลู่เสี่ยวหู่บุกเข้ามาทำลายพิธีแต่งงานของอวี้เจียวหลง เลยถูกหลี่มู่ไป๋จับกุมตัว ส่งไปสำนักเพื่อสงบจิตสงบใจ
  • เจ้าของกระบี่คนใหม่ การท่องยุทธจักรของอวี้เจียวหลง
    • มีจอมยุทธมากมายเข้ามาท้าประลองฝีมือกับอวี้เจียวหลง แต่พวกเขาได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมสักเท่าไหร่
    • หลี่มู๋ไป๋และหยูซูเหลียน ต้องคอยเก็บกวาดความเสียหายที่อวี้เจียวหลงกระทำไว้
    • เมื่อหยูซูเหลียนกลับมาสำนักคุ้มภัย จึงได้มีโอกสประลองฝีมือกับอวี้เจียวหลง
    • การดวลดาบบนยอดป่าไผ่ระหว่าง หลี่มู่ไป๋กับอวี้เจียวหลง
    • และการเผชิญหน้าระหว่าง หลี่มู่ไป๋กับนางจิ้งจอกหยก
  • สิ้นสุดการเดินทางของอวี้เจียวหลง หวนกลับไปหาลู่เสียวหู่ แล้วตัดสินใจ…

หลายคนอาจรับรู้สึกว่า ฉากย้อนอดีต (Flashback) ระหว่างลู่เสียวหู่กับอวี้เจียวหลง ทำให้การดำเนินเรื่องขาดความต่อเนื่องลื่นไหล สูญเสียโมเมนตัม แถมใช้เวลาไม่น้อยอีกต่างหาก! แต่เหตุผลของ Sequence ดังกล่าวก็เพื่อเปิดเผย Crouching Tiger, Hidden Dragon (ชื่อทั้งสองตัวละครต่างหมายถึง Little Tiger และ Gorgeous Dragon) สิ่งหมอบซุกซ่อนภายในความทรงจำราชสีห์และมังกร … เรียกว่าเป็นส่วนสำคัญสุดๆของหนังเลยก็ว่าได้

ขณะที่ฉากพูดคุยสนทนาจะมีการลำดับเรื่องราวอย่างเนิบนาบเชื่องช้า เพื่อให้สอดคล้องจังหวะลมหายใจขณะทำสมาธิ แต่เมื่อไหร่เกิดความขัดแย้ง นำไปสู่การต่อสู้ รบราฆ่าฟัน ทุกสิ่งอย่างจะมีความเร่งรีบ ชีพจรเต้นแรง ร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ให้สอดคล้องเสียงรัวกลอง เพื่อสื่อถึงการประลองที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

การลำดับฉากต่อสู้ (Action Sequence) ถือว่าเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง ร้อยเรียงภาพจากทุกๆระยะใกล้-ไกล มุมกล้องจากหลากหลายทิศทาง ตัดสลับไปมาให้สอดคล้องจังหวะเสียงรัวกลอง ท่วงทำนองรุกเร้า ทำเอาผู้ชมแทบนั่งไม่อยู่ติดเก้าอี้ และที่ต้องถือว่ามาสเตอร์พีซคือฉากประลองบนยอดป่าไผ่ ซึ่งจะผิดแผกแตกต่างจากครั้งอื่นๆ มีความเนิบนาบเชื่องช้า ราวกับว่าหลี่มู่ไป๋ได้บรรลุสัจธรรมแห่งการต่อสู้ ‘นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว’


เพลงประกอบโดย ถันตุ้น, Tan Dun (เกิดปี 1957) คีตกวี นักแต่งเพลงชาวจีน เกิดที่ชานเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ในครอบครัวชาวนา ใช้เวลาว่างหัดเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ต่อมาได้หลบหนีเข้าเมืองร่ำเรียนวิโอล่ากับวงดนตรีคณะอุปรากรปักกิ่ง จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อ Central Conservatory of Music และได้ทุนปริญญาเอก Columbia University, เริ่มมีผลงานจากการประพันธ์อุปรากรจีน Symphony, Concerto, Chamber Music, Soundtrack ประกอบภาพยนตร์ อาทิ Don’t Cry, Nanking (1995), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Hero (2002), The Banquet (2006) ฯลฯ

ถันตุ้นมีระยะเวลาทำเพลงประกอบพร้อมบันทึกเสียงเพียงแค่ 2 สัปดาห์ (ฟังดูไม่สมเหตุสมผลกับสเกลหนังระดับนี้เลยนะ! คาดว่าอาจมีการว่าจ้างนักแต่งเพลงคนอื่นแล้วผู้กำกับอังลี่ไม่พึงพอใจในผลงาน เลยมีการเปลี่ยนแปลงแบบปัจจุบันทันด่วน) อาจดูเร่งรีบไปบ้าง แต่การผสมผสานดนตรีสากลร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน ทำได้อย่างกลมกลืนลื่นไหล และไม่รู้สึกฝืนธรรมชาติเลยสักนิด

มันอาจขัดต่อสามัญสำนึกของใครหลายคน ภาพยนตร์ที่มีพื้นหลังจีนโบราณ ไฉนกลับใช้เครื่องดนตรีสากลอย่างเชลโล่ (บรรเลงโดย Yo-Yo Ma), กีตาร์อะคูสติกส์, เบสไฟฟ้า ฯลฯ คือมันไม่ได้มีกฎตายตัวว่าหนังแนวพีเรียต ย้อนยุค ต้องใช้บทเพลงพื้นบ้านประจำถิ่นเท่านั้นนะครับ, ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับอังลี่ต้องการความเป็นสากล ‘ร่วมสมัย’ สามารถเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ตะวันออก-ตะวันตก เลยไม่ต้องการให้หนังมีความเป็นจีนเอ่อล้นเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ละทอดทิ้งเลยนะครับ หลายๆบทเพลงก็ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง ขลุ่ยจีน, ผีผา, ซอเอ้อหู ฯลฯ มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในฉากนั้นๆออกมามากกว่า

การได้ Yo-Yo Ma มาบรรเลงเชลโล่ประกอบหนัง การันตีความลุ่มลึกทางอารมณ์ของบทเพลง (เป็นนักเชลโล่ที่ใส่ความรู้สึกในการบรรเลง ถ่ายทอดผ่านสีหน้าท่าทางได้โคตรฟินสุดๆ) แค่เสียงแรกได้ยินใน Main Theme ก็ทำเอาผมขนลุกขนพอง สั่นสะท้านทรวงใน มอบสัมผัสแห่งความเวิ่งว่างเปล่า จิตวิญญาณล่องลอยไป โหยหาใครสักคนสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง เมื่อพบเจอก็สามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ ก้าวสู่จุดสูงสุดแห่งความเป็นนิจนิรันดร์

The Eternal Vow เป็นบทเพลงแฝงนัยยะผ่านท่วงทำนองได้อย่างลุ่มลึกซึ้ง น่าจะมีความไพเราะที่สุดของอัลบัมนี้แล้วละ! ตลอดทั้งเพลงบรรเลงเชลโล่โดย Yo-Yo Ma เป็นท่วงทำนองหลัก (ผมขอเทียบแทนตัวละคร หยูซูเหลียน) แล้วจะมีอีกเสียงที่จะคลอประสานผันแปรเปลี่ยนไปหลายครั้ง (แน่นอนว่าต้องเป็นตัวแทนของ หลี่มู๋ไป๋)

  • เริ่มจากการรัวเครื่องสาย ท่วงทำนองสนุกสนาน เปรียบได้กับอดีตของพวกเขาสมัยยังหนุ่ม-สาว เมื่อครั้นออกท่องโลก ผจญภัยในยุทธจักร พานผ่านช่วงเวลาสุดแสนงดงามมาด้วยกัน
  • เปลี่ยนมาเป็นออร์เคสตราบรรเลง จะมีความเร่งเร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุด ผมมองว่าคือช่วงเวลาตลอดภาพยนตร์เรื่องนี้ ภารกิจสุดท้ายที่กำลังจะได้พบเจอ ให้ความช่วยเหลือ อาศัยอยู่เคียงข้าง (จนถึงวินาทีสุดท้าย)
  • และท้ายสุดหลงเหลือเพียงบรรเลงเชลโล่ ด้วยท่วงทำนองหมดสิ้นหวัง เหมือนลมหายใจกำลังขาดห้วง ชายคนรักได้ลาจากโลกนี้ไป หลงเหลือ(หยูซูเหลียน)เพียงตัวคนเดียว แทบจะขาดใจตาย

สรุปแล้วชื่อเพลง The Eternal Vow มีท่วงทำนองที่สามารถสื่อแทนช่วงเวลา/คำมั่นสัญญาของคนสอง เมื่อพบเจอตกหลุมรัก-ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้าง-ก่อนจะต้องพลัดพรากจากกัน (จริงๆจะแทนด้วยคู่ของลู่เสียวหู่ และอวี้เจียวหลง ก็ได้เช่นกัน)

เสียงขลุ่ยอารัมบทค่ำคืนที่แสนเงียบเหงา จากนั้นจู่ๆใครบางคนปรากฎตัวขึ้น ท่าทางลับๆล่อๆ เต็มไปด้วยเลศนัย แอบเข้าไปลักขโมยกระบี่หยกฟ้าบันดาล ทำให้เกิดการปะทะประมือ พร้อมๆหาหนทางวิ่งหลบหนี เสียงรัวกลองสามารถแทนจังหวะการเต้นหัวใจ ซึ่งจะมีความเร่งรีบ รุกเร้าขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดฝ่ายหนึ่งก็สามารถเอาตัวรอดพ้นได้สำเร็จ

การมีเพียงเครื่องกระทบ กลองตีมือ (Hand Drum) ในฉากต่อสู้ไล่ล่า (ไม่มีออร์เคสตราหรือเชลโล่บรรเลงร่วมด้วย) เป็นเทคนิคสร้างจุดสนใจทางอารมณ์ (คล้ายๆสป็อตไลท์สาดส่องแสงขึ้นบนเวที ทำให้สายตาจับจ้องบุคคลที่อยู่เพียงบริเวณนั้น) ผู้ชมสัมผัสถึงความรุกเร้าในจังหวะของเสียง สั่นพ้องกับการเต้นของหัวใจ … เมื่อหัวใจเต้นแรงก็จะรู้สึกตื่นเต้นรุกเร้าใจ

To The South เป็นบทเพลงที่มีลักษณะคล้ายๆ The Eternal Vow แต่ใช้เสียงขลุ่ยผิวจีน (แทนเชลโล่) เป็นท่วงทำนองหลักพริ้วไหวไปมา ซึ่งสามารถเทียบแทนเจ้ามังกรน้อย อวี้เจียวหลง ระหว่างกำลังโบยบินออกท่องยุทธจักร มียอดฝีมือมากมายเข้ามารุมห้อมล้อม ขอท้าประลองฝีมือ ซึ่งเธอก็ได้แสดงความเจิดจรัสท่ามกลางการต่อสู้ (มีเสียงรัวกลองเป็นพื้นหลัง) เอาชนะศัตรูราบเรียบเป็นหน้ากลอง

เสียงขลุ่ยผิวจีน, Dizi Flute มอบท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ขี้เล่นซุกซน สะท้อนตัวตนของอวี้เจียวหลง เมื่อได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ออกเดินทางท่องยุทธจักร ประมือผู้คนมากมาย แม้พูดบอกไม่ชอบขี้หน้า ใช้กำลังกระทำร้ายอย่างเหี้ยมโหด แต่ก็ไม่มีใครตกตาย … ไดเรคชั่นฉากนี้ก็ทำออกมาเรียกเสียงหัวเราะ ผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดอยู่เล็กๆ

Through The Bamboo Forest ดังขึ้นระหว่างการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ระหว่างหลี่มู๋ไป๋ vs. อวี้เจียวหลง สังเกตว่าท่วงทำนองจะมีความเนิบนาบ โทนเสียงทุ้มต่ำ เป็นการสื่อถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด กลายเป็นยอดฝีมือ ยิ่งใหญ่เหนือใคร แต่แท้จริงแล้วเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตภายใต้สรวงสวรรค์ แค่ท่ายืนนิ่งๆของหลี่มู๋ไป๋ ก็สามารถสยบทุกการเคลื่อนไหวของอวี้เจียวหลง โดยแทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น

เอาจริงๆหนังลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทเพลงคำร้อง Ending Credit ก็ยังได้! แต่ผู้กำกับอังลี่ คงต้องการสร้างอีกจุดขายความร่วมสมัย ด้วยเนื้อคำร้องที่สามารถสร้างความซาบซึ้งกินใจ A Love Before Time มีทั้งฉบับจีนแมนดารินและภาษาอังกฤษ ขับร้อง(ทั้งสองฉบับ)โดย Coco Lee ชื่อจริง หลี่เหวิน, 李玟 (เกิดปี 1975) นักร้องสัญชาติฮ่องกง-อเมริกัน โด่งดังจากการให้เสียงพากย์มู่หลาน Mulan (1998) และขับร้องเพลงประกอบอนิเมชั่น Reflection ฉบับภาษาจีนกลาง

แม้ว่าบทเพลงนี้จะมีความเป็น ‘ดนตรีป็อป’ ที่หลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นเคย ได้ยินนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงทศวรรษ 90s แต่ต้องชมถันตุ้น สร้างความแตกต่างด้วยการใส่เครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน ผสมผสานคลุกเคล้าลงไปจนมีกลิ่นอายเฉพาะตัว เข้ากับเสียงร้องหวานๆของ Coco Lee ไพเราะทั้งฉบับจีนแมนดารินและอังกฤษ (แต่ผมชื่นชอบภาษาจีน ฟังแล้วรู้สึกลื่นไหลเป็นธรรมชาติมากกว่า)

If the sky opened for me
And the mountains disappeared
If the sea ran dry, turned to dust
And the sun refused to rise

I would still find my way
By the light I see in your eyes
The world I know fades away
But you stay.

As the earth reclaims its due
And the cycle starts anew
We’ll stay, always
In the love that we have shared before time

If the years take away
Every memory that I have
I would know the way
That would lead me back to your side

The North star may die
But the light I see in your eyes
Will burn there always
Lit by the love we have shared before time

When the forest turns to jade
And the stories that we’ve made
Dissolve away
One shining light will still remain

When we shared our earthly skin,
And when our real life begins,
There will be no shame
Just the love that we share before time

แถมให้กับการแสดงของ Coco Lee ขับร้องบทเพลง A Love Before Time ในงานประกาศรางวัล Oscar เมื่อปี 2001 ที่หนังได้เข้าชิงสาขานี้ด้วยนะครับ แต่พ่ายให้กับ Things Have Changed ขับร้องโดย Bob Dylan ประกอบภาพยนตร์ Wonder Boys (2000)

กระบี่หยกฟ้าบันดาล เป็นยอดศัสตราวุธที่ชาวยุทธจักรต่างเคารพยำเกรง มีความแข็งแกร่งทนทาน เฉียบแหลมคมยิ่งนัก ถึงอย่างนั้นก็มิได้การันตีว่าผู้ครองครอบจักยิ่งใหญ่เหนือใครใต้หล้า เพราะสิ่งสำคัญในการต่อสู้ไม่ใช่คมดาบ หรือปัจจัยแวดล้อมภายนอก แต่คือวิทยายุทธ ประสบการณ์ การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวบุคคลนั้นๆ

Crouching Tiger, Hidden Dragon เสือหมอบมังกรซ่อน ในบริบทของหนังจึงไม่ได้สื่อถึงแค่ตัวบุคคล อวี้เจียวหลงผู้เป็นดั่งมังกรด้านการต่อสู้ที่ซุกซ่อนเขี้ยวเล็บ ยังไม่เคยเปิดเผยตนเองต่อสาธารณะ, ขณะเดียวกันเราสามารถมองในเชิงนามธรรมถึงการปกปิดความรู้สึกนึกคิด หลบซ่อนอารมณ์ ยังเคยไม่เปิดเผยความต้องการของจิตใจออกไป

หลี่มู่ไป๋และหยูซูเหลียน ต่างเป็นเพื่อนสนิทสนม รับรู้จักกันมานมนาน จนมองตาแทบรู้ใจ สามารถให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกันและกัน แต่เพราะเหตุการณ์บางอย่างเมื่อครั้นอดีตทำให้ทั้งสองไม่เคยพูดบอก/แสดงออกความต้องการ ทั้งๆใครพบเห็นต่างรับรู้ปฏิสัมพันธ์ ต้องรอคอยถึงวันล้มหายตายจากเลยหรือไร ค่อยกล้าเอ่ยถ้อยคำนั้นออกมา

ไม่ต่างจากคู่ของลู่เสียวหู่และอวี้เจียวหลง แม้ทั้งสองจะเคยร่วมรักหลับนอน แลกเปลี่ยนคำมั่นสัญญา แต่เมื่อหญิงสาวตัดสินใจทอดทิ้งอีกฝั่งฝ่าย เลือกกระทำสิ่งเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน (ออกท่องยุทธจักร พิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถยิ่งใหญ่เหนือใคร) จึงพยายามปกปิดซ่อนเร้นความสัมพันธ์ ราวกับช่วงเวลาในทะเลทรายโกบีนั้น ไม่มีเคยอะไรบังเกิดขึ้นมาก่อน

จะว่าไปนางจิ้งจอกหยกก็แอบซุกซ่อนเร้น ทำงานเป็นคนรับใช้อวี้เจียวหลง เพื่อหลบหนีการถูกไล่ล่า เข่นฆ่าล้างแค้นของหลี่มู่ไป๋ พยายามฝึกฝนวิชาที่ลักขโมยมา แต่กลับถูกลูกศิษย์แอบนำคัมภีร์ไปศึกษา จนมีวิทยายุทธเหนือกว่าตน

ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับอังลี่ น่าจะตระหนักถึงหัวข้อสนใจ มักมีเรื่องราวที่ตัวละครเต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น ไม่สามารถแสดงออก พูดบอก เปิดเผยความต้องการภายในออกมา ด้วยเพราะเหตุผลบางอย่างให้ต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น เก็บกดทุกสิ่งไว้ใต้ความทรงจำ

  • Hulk (2003) แม้จะเป็นหนัง Superhero แต่ลักษณะของตัวละครนี้คือสะสมความโกรธเกลียด เมื่ออัดอั้นจนมิสามารถอดรนทนไหว จึงปะทุระเบิดออกมากลายเป็นยักษ์เขียว
  • Brokeback Mountain (2005) นำเสนอเรื่องราวความรักชาย-ชาย ที่ไม่สามารถเปิดเผยรสนิยมทางเพศต่อสาธารณะ ต้องปกปิดซ่อนเร้นไว้ มีเพียงเมื่อไปท่องเที่ยวยังเทือกเขาแห่งนี้ ถึงสามารถแสดงความต้องการแท้จริงออกมา
  • Lust, Caution (2007) หญิงสาวถูกฝึกฝนให้ใช้มารยายั่วราคะ เพื่อล้วงความลับจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่เธอกลับตกหลุมรักชายผู้นั้น มิอาจเปิดเผยความใน เลยยินยอมเสียสละตนเอง (แม้เป็นการทรยศหักหลังประเทศชาติ)

ผมพยายามครุ่นคิดหาว่าผู้กำกับอังลี่ มีความเก็บกดเรื่องอะไร? ทัศนคติของชาวตะวันตกต่อคนเอเชีย? พฤติกรรมเหยียดผิวของคนขาว? ความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่-เกาะไต้หวัน? ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนสองรุ่น? หรือเรื่องของความรักที่ไม่สามารถพูดบอกออกไป? คือมันตีความได้กว้างมาก และไม่มีข้อมูลเพียงพอจะคาดเดาจุดประสงค์แท้จริง

นั่นรวมถึงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของกระบี่หยกฟ้าบันดาล สามารถตีความได้ครอบจักรวาล ผมคิดเพ้อเจ้อไปไกลถึงระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธที่ถือว่ามีความทรงพลัง แต่ขึ้นอยู่กับบุคคล/ประเทศที่นำไปใช้ ก่อให้เกิดคุณาประโยชน์ หรือกลายเป็นยาพิษของมวลมนุษยชาติ

การเก็บกด ความรู้สึกอึดอัดอั้น เมื่อสะสมนานวันมันจะกลายสภาพเป็นเหมือนยาพิษ กัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ สร้างความระทมทุกข์ทรมาน ไม่ต่างจากตายทั้งเป็น จนกว่าจะสามารถแสดงออก พูดบอก เปิดเผยความในออกมา แม้เพียงชั่วขณะเสี้ยวลมหายใจเฮือกสุดท้าย ก็จักไม่มีอะไรให้สูญเสียดายอีกต่อไป

สาระข้อคิดของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) คือการชักชวนให้ผู้ชมเปิดเผยตัวตน แสดงศักยภาพ ความสามารถสู่สาธารณะ รวมถึงความรู้สึกภายในที่มีต่อใครสักคน เพราะยุคสมัยนี้ไม่มีเหตุผลอะไรต้องปกปิดซุกซ่อนเขี้ยวเล็บ ต่อให้เรื่องน่าอับอายก็แค่ยินยอมรับความเป็นตัวของตนเอง ถ้าหยูซูเหลียนมีความหาญกล้าสักหน่อย พูดบอกความต้องการหัวใจต่อหลี่มู่ไป๋ ก็อาจไม่ต้องระทมทุกข์ทรมาน เศร้าโศกเสียใจในวันที่เขาร่ำลาจากโลกนี้ไป

ให้ข้อสังเกตอีกนิดถึงสาระข้อคิดที่ผมอธิบายไป สะท้อนตัวตนของอังลี่ที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกอย่างมากๆ เพราะชนชาวเอเชียชื่นชอบวลี ‘เสือหมอบมังกรซ่อน’ ทำไมต้องโอ้อวดอ้าง เปิดเผยศักยภาพตนเองต่อสาธารณะ ถ้าเราดีพอและทำต่อไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งย่อมได้รับการยินยอมรับ ยกย่องสรรเสริญ กาลเวลาเท่านั้นคือบทพิสูจน์ ไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสน ต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางสงบสุขให้ชีวิตไม่ดีกว่าหรือ? … นี่คือปรัชญาของ raremeat.blog นะครับ


หนังเข้าฉายนอกสายการประกวด (Out of Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ติดตามด้วยนำออกฉายตามเทศกาลอื่นๆ Toronto, New York ฯ จนกลายเป็นภาพยนตร์ในกระแสหลัก กวาดรางวัล Best Foreign Language Film จากทั้ง Golden Globe, BAFTA, Critics’ Choice และสามารถเข้าชิง Oscar ถึง 10 สาขา คว้ามา 4 รางวัล (ปริมาณสูงสุดของหนังภาษาต่างประเทศขณะนั้น)

  • Best Picture พ่ายให้กับ Gladiator (2000)
  • Best Director
  • Best Adapted Screenplay
  • Best Foreign Language Film ** คว้ารางวัล
  • Best Cinematography ** คว้ารางวัล
  • Best Film Editing
  • Best Art Direction ** คว้ารางวัล
  • Best Costume Design
  • Best Original Score ** คว้ารางวัล
  • Best Original Song บทเพลง A Love Before Time

ด้วยทุนสร้าง $17 ล้านเหรียญ ในสหรัฐอเมริกาสามารถทำเงินได้ $128 ล้านเหรียญ สร้างสถิติภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศทำเงินสูงสุดตลอดกาล (จนปัจจุบัน ค.ศ. 2022 ก็ยังไม่มีเรื่องไหนโค่นบัลลังก์ลงได้) รวมรายรับทั่วโลก $213.5 ล้านเหรียญ ขณะนั้นสูงเป็นอันดับสองรองจาก Life is Beautiful (1999) ปัจจุบันหล่นไปไกลแล้วนะครับ

หนังได้รับการบูรณะแล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2016 (ในโอกาสครบรอบ 15 ปี) จัดเต็มคุณภาพ 4K ระบบเสียง 7.1ch ควบคุมดูแลโดยผู้กำกับอังลี่เองเลย สามารถหารับชมได้แทบทุกช่องทางออนไลน์ Amazon Prime, Apply, Google Play และโดยเฉพาะ Netflix ที่ยังมีการเข็นสร้างภาคต่อ Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny (2016) แล้วแต่ความชื่นชอบส่วนบุคคลนะครับ

Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) เป็นภาพยนตร์ที่ผมโคตรชื่นชอบตั้งแต่แรกรับชม ทั้งๆบอกเลยว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แค่ประทับใจฉากต่อสู้ (โดยเฉพาะบนยอดต้นไผ่) ภาพสวยเพลงไพเราะ และบรรดานักแสดงคนโปรด โจวเหวินฟะ, มิเชลล์ โหยว, จางจื่ออี๋ … ต้องรับชมต่อเนื่องไปพร้อมกับ Hero (2002) และ House of Flying Daggers (2004)

รับชมครานี้ในที่สุดก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระซุกซ่อนเร้นไว้ (เหมือนชื่อหนัง เสือหมอบมังกรซ่อน) บังเกิดความลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ ทำเอาขนลุกเนื้อเต้น เห้ย! มันลึกล้ำขนาดนี้เชียวหรือนี่ โดยเฉพาะไดเรคชั่นของผู้กำกับอังลี่ ไม่ย่อหย่อนไป(อาจถึงขั้นเหนือ)กว่า หูจินเฉวียน (King Hu) ผู้กำกับ A Touch of Zen (1971) ด้วยซ้ำนะ!

แนะนำคอหนังจีน แนวต่อสู้ (Martial Arts) กำลังภายใน (Wuxia) แฝงปรัชญา Zen, งานภาพสวยๆเหมาะกับคนเล่นกล้อง นักออกแบบงานศิลป์ ศิลปินวาดภาพงานศิลปะ, บทเพลงจีนเพราะๆ สำหรับผู้หลงใหลวัฒนธรรมจีนโบราณ, แฟนๆผู้กำกับอังลี่ นักแสดงนำโจวเหวินฟะ มิเชลล์ โหยว, จางจื่ออี๋ ไม่ควรพลาด!

จัดเรต 13+ กับการต่อสู้ เข่นฆ่าล้างแค้น รักโลภโกรธหลง

คำโปรย | ราชสีห์อังลี่ บรรจงสรรค์สร้าง Crouching Tiger, Hidden Dragon ให้กลายเป็นมังกรเจิดจรัสระดับวิจิตรศิลป์
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่งไคล้


Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

(12/2/2016) หนังเอเชียที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน hollywood ผลงานกำกับของ Ang Lee นำแสดงโดย Chow Yun-fat, Michelle Yeoh และ Zhang Ziyi เชื่อว่า 4 ชื่อนี้คงจะเป็นที่รู้จักของคนดูทั่วเอเชีย แต่กับ hollywood พวกเขาไม่ใช่นักแสดงที่หน้าตาคุ้นเคยนัก ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงประสบความสำเร็จในอเมริกาขนาดนั้น ผมจะลองมาวิเคราะห์ดูนะครับ

Ang Lee เกิดที่ Taiwan โตขึ้นมาในครอบครัวที่เคร่งครัวเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี พ่อของเขาต้องการให้ Ang Lee เป็น professor แต่เขาแกล้งทำเป็นสอบไม่ผ่านถึง 2 ครั้ง เพื่อตัวเองจะได้เข้าไปเรียน Art School แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชื่นชอบศาสตร์การแสดงคือการได้ดูหนังเรื่อง The Virgin Spring ของ Ingmar Bergman ภายหลังได้มีโอกาสเข้าเรียน Tisch School of the Arts ที่ New York University ร่วมชั้นเดียวกับ Spike Lee คงเพราะการได้ไปเรียนที่อเมริกานี่เอง ทำให้เขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นมาก เข้าใจวัฒนธรรม ความต้องการของคนดูที่อเมริกา หลังจากเรียนจบก็กลับประเทศ เริ่มทำหนัง ผมไม่เคยดูผลงานยุคแรกๆของ Ang Lee นะครับ แต่เท่าที่อ่านเจอ เรื่องราวที่เขาชอบทำ มักจะเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างความเชื่อ ประเพณี และยุคสมัย อารมณ์ที่เก็บซ่อนไว้ ผลงานยุคหลังๆของเขาก็ยังมีแนวคิดพวกนี้แฝงอยู่ หนัง hollywood เรื่องแรกของ Ang Lee คือ Sense and Sensibility (1995) หนังเข้าชิง Oscar 7 สาขา และหนังได้ Golden Globe Award สาขา Best Motion Picture – Drama

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ คือ Li-Kong Hsu เพื่อนตั้งแต่สมัยของ Ang Lee ชวนเขามาทำหนัง Wuxia เพื่อเติมเต็มความฝันวัยเด็กของทั้งคู่ Ang Lee รวบรวมทีมงานจากหลายสัญชาติในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยเลือกนิยายเล่มที่ 4 ของ Wang Dulu ที่ชื่อ Crouching Tiger, Hidden Dragon

เพราะความที่ Ang Lee เลือกที่จะใช้ทีมงานหลายสัญชาติ ทำให้เกิดความยากในการสื่อสาร ด้วยความที่ต้องการให้หนังเป็นภาษา Mandarin แต่ Chow Yun-fat เป็นคน Hong Kong พูด Cantonese ส่วน Michelle Yeoh เป็นคน Malaysia พูดอังกฤษ จะมีก็แต่ Zhang Ziyi ที่พูดภาษา Mandarin เป็นภาษาหลัก ตอนหนังฉายก็มีคนที่ฟังภาษาจีนออกที่จะรู้สึกขัดใจพอสมควร

ตัวละครของ Chow Yun-fat ผมรู้สึกว่านี่เป็นการแสดงที่แตกต่างจากปกติของเขาพอสมควร แต่ยังคงมีเสน่ห์เก็กๆบางอย่างที่ดึงดูดความน่าสนใจ ทุกวินาทีที่ปรากฏตัวในหนัง คนดูจะแทบละสายตาไปไม่ได้  สำหรับ Michelle Yeoh ตัวละครของเธอสะท้อนแนวคิดและสไตล์กำกับของ Ang Lee เน้นๆเลย เป็นตัวละครที่เก็บความรู้สึกบางอย่างไว้ข้างใน อยากที่จะทำอะไรตามใจแต่มีบางอย่างรั้งเธอไว้ ข้างนอกแข็งแกร่งแต่ข้างในอ่อนหวาน ส่วน Zhang Ziyi บทของเธอคือสาวน้อยจอมแก่น การแสดงของเธอไม่ว่าจะเรื่องไหนๆก็จะเป็นประมาณนี้ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณี

เรื่องราวของหนังวนเวียนอยู่กับดาบเล่มหนึ่ง ดาบเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ฆ่าฟัน ดาบมันมีหน้าที่เดียว คือ การฆ่า มันไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกผิด ดีหรือไม่ดี จะมีก็แต่คนที่ใช้มันจะเลือกได้ ถึงเรื่องราวของหนังจะวนเวียนอยู่กับดาบ แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องราวของดาบไม่เด่นเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัวในหนังต่างหากที่เด่นกว่า ชายเจ้าของดาบกับหญิงสาวเพื่อนร่วมสำนัก ยัยแก่นักฆ่ากับลูกศิษย์สาวคนสวย หญิงสาวกับจอมโจร ณ กลางทะเลทราย ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่สะท้อนถึงจุดยืนของตัวละคร อาทิ ความรักต้องห้าม ความอิจฉาริษยา และความรักของหนุ่มสาว จุดยืนที่แตกต่างนี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง การแก้แค้น และการทรยศหักหลัง หนังให้เวลากับการนำเสนอจุดเหล่านี้อย่างชัดเจนมากกว่าเรื่องราวของดาบอีก

ผมชอบตอนจบนะครับ มันดูเรียบง่ายและสวยงามมากๆ สำหรับผมมันซึ้งกินใจ เรียกน้ำตาคลอๆได้ บางคนอาจจะไม่รู้สึกเพราะหนังมันไม่ได้ทำให้เราฟูมฟาย มันเหมือนปุ๊ปปัป การต่อสู้จบ ถูกยาพิษ จะตายในอีก 1 ชั่วโมง นี่คือสไตล์หนังจีนเลยละครับ ที่ชอบทำอะไรแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัวแบบนี้ แต่ impact มันแรงมากๆ นี่ไม่ใช่หนังที่จบแบบ happy ending แต่จะรู้สึกอิ่มๆ ดูจบก่อนนอนหลับสบายแน่ๆ

ถ่ายภาพโดย Peter Pau ช่างภาพชาว Hong Kong เขาได้ Oscar สาขา Best Cinematographer จากหนังเรื่องนี้ด้วย มี 2 ฉากที่ผมชอบ 1คือภาพทะเลทราย ลมที่กัดเซาะหินจนกลายเป็นแกรนด์แคนยอน ฉากนั่นอยู่ในเมืองจีนแน่ๆ แต่ที่ไหนกัน 2ฉากการต่อสู้บนต้นไผ่ จริงๆผมไม่ชอบซีนนี้นะครับ มันช้า มันหน่วงแปลกๆ แต่ผมชอบการถ่ายภาพ คิดว่าคงใช้เครนล้วนๆ จอมยุทธกระโดดจากยอดไผ่หนึ่งไปอีกยอดไผ่หนึ่ง หน้านักแสดงที่เห็นยืนอยู่บนกอไผ่นั้น คือหน้านักแสดงจริงๆ ไม่ใช่ CG พวกเขาทุ่มเทกันมากๆ ภาพที่ออกมาเลยดูสมจริงสุดๆ

ตัดต่อโดย Tim Squyres ได้แค่เข้าชิง Oscar นะครับแต่ไม่ได้รางวัล เขาเป็นนักตัดต่อขาประจำของ Ang Lee เลย ทำด้วยกันทุกเรื่อง หนังที่ดังที่สุดของ Squyres คือ Gosford Park ของ Robert Redford ในหนังเรื่องนี้มีส่วนที่ทั้งชอบและไม่ชอบ ส่วนที่ชอบคือการตัดต่อฉากต่อสู้ที่รวดเร็ว ฉับไว สมจริง และทำให้คนดูลุ้นไปกับการต่อสู้ แต่ที่ผมไม่ชอบเลย คือการเล่าเรื่องที่ช้าเกินไป และหนังเสียเวลาไปกับการสร้างความสัมพันธ์ของตัวละคร สองจุดที่ผมไม่ชอบนี้บางคนอาจจะมองว่ามันคือจุดเด่นของหนังเรื่องนี้เลย ใช่ครับไม่ผิด ความใจเย็นคือจุดสำคัญของหนังให้เราซึมทราบความสวยงามของภาพ เสียง และเนื้อเรื่อง แบบใน A Touch of Zen หนังเรื่องนี้ถือว่าได้อิทธิพลมาพอสมควร แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะถูกรสนิยมของทุกคน

เพลงประกอบโดย Tan Dun แน่นอนว่าเขาต้องได้ Oscar สาขา Best Original Score แน่แท้ เขาคนนี้เรียกได้ว่าเป็นปรมาจารย์ชื่อดังมากๆคนหนึ่งของจีนนะครับ ตอน Olympic ที่ Beijing เขานี่แหละที่ได้รับหน้าที่ให้ทำเพลงประกอบ นอกจากนี้ยังมีงานประพันธ์ Orchrestra และ Opera ที่ดังหลายเรื่องที่เล่นในจีน สำหรับหนังถือว่าไม่ใช่งานประจำของเขา ผลงานเรื่องอื่นอาทิ Hero (2002) และ The Banquet (2010) สไตล์เพลงของเขาคือการผสมผสานธรรมชาติ เสียงสายน้ำ ลม เข้ากับเครื่องดนตรี เรียกสไตล์นี้ว่า “organic music” หรือ “music ritual” กับหนังเรื่องนี้ จะเน้นเสียงกลองเป็นหลักในฉากต่อสู้ (เด่นมากๆ) ส่วนฉากบรรยากาศจะใช้เครื่องดนตรี Tradition ที่หลากหลาย เช่น พิณ ฟลุต ผสมผสานกับเครื่องดนตรีฝั่ง Western เช่น Cello ให้อารมณ์โหยหวนตามความหมายของหนัง

ถ้าพูดถึง Wuxia เราอาจจะเห็นดูเรื่องราวที่คล้ายๆกันนี้ จากยุคหนึ่งของหนังจีน แต่กับชาวตะวันตก นี่ถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเขามากๆ เพราะจีนปิดประเทศมานาน หนังจีนจึงไม่ถูกส่งออกไปไกลถึงยุโรป อเมริกา ใกล้สุดก็บ้านเรา ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียว ซึ่งผิดกับผลงานของญี่ปุ่น ที่ก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษมีผู้กำกับระดับแนวหน้าและได้รับการยอมรับจากฝั่งตะวันตกอย่างมาก ความที่จีนเพิ่งกลับมาเปิดประเทศ ทำให้หนังจีนเริ่มถูกส่งออกไปทางตะวันตกมากขึ้น แต่หนังยุคก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ หนังจีนส่วนใหญ่จะออกไปทางดราม่า เล่าเรื่องราวระดับรากหญ้า ไม่มีเรื่องราวการต่อสู้ แฟนตาซี กำลังภายใน (เพราะมันเคยฮิตมา และหมดยุคไปแล้ว) ผู้กำกับจีนในช่วงก่อนหน้านั้นก็ไม่มีใครที่คิดจะไปกำกับหนัง hollywood (รักชาติสุดๆ) จะมีก็แต่ Ang Lee นี่แหละ เขาได้ผสมผสมผสานแนวคิด นำวัฒนธรรมของชาติตัวเองไปเผยแพร่ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม หนังเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้น

ชื่อหนัง Crouching Tiger Hidden Dragon เห็นว่าเป็น Chinese idiom ที่สะท้อนสถานที่หรือเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยบางสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ (ประมาณว่า เสือหมอบอยู่หน้าถ้ำ และมังกรนอนอยู่ในถ้ำ) ในหนังจะมี 2 ตัวละครที่ชื่อหมายถึงเสือและมังกรเลย คือ Xiaohu (เสือ) Jiaolong (มังกร) ถ้าอ้างอิงจากชื่อตัวละคร นี่ควรเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่ไปตกหลุมรักมหาโจร ณ กลางทะเลทราย แต่ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นสักเลย เสือ นี่ไม่ผิด อาจจะหมายถึงตัวละคร Xiaohu ของ Zhang Ziyi ได้ แต่กับมังกร ผมรู้สึกว่ามันเหมือน Yu Shu Lien ของ Michelle Yeoh มากกว่า เพราะทั้งสองมีความในใจบางอย่างที่เก็บซ่อนไว้ ไม่กล้าพูดออกไป และในหนังทั้งสองเหมือนจะมองหน้าก็เข้าใจกันฝ่ายตรงข้ามมีอะไรที่เก็บซ่อนไว้

ผมคิดว่าคนจีนเอง อาจจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ค่อยเหมือนหนังของประเทศตัวเองเท่าไหร่ ก็แน่ละ ถึงผู้กำกับ นักแสดงจะเป็นคนจีนทั้งหมด แต่การเล่าเรื่องมันคือยุโรป เพราะหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อขาย hollywood โดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าหนังตอบโจทย์คนดูได้ เราสามารถดูหนังเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องคิดอะไรให้ซ้ำซ้อน แค่เพลิดเพลินกับความสวยงาม ฉากต่อสู้ที่อลังการ แปลกใหม่ เป็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และจากผู้กำกับที่มีเคยมีผลงานเป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่รู้จัก รวมๆแล้วทำให้หนังเรื่องนี้ฮิต และประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีหนังภาษาต่างประเทศเรื่องไหนทำได้มาก่อน

เอาจริงๆปีนั้น หนังเรื่องนี้สามารถไปถึงระดับ Best Picture ของ Oscar ได้เลย แต่เพราะ ผมเชื่อว่ากรรมการ Oscar พยายามกีดกัดหนังภาษาต่างประเทศไม่ให้ได้รางวัลใหญ่ (ยังไม่เคยมีหนังเรื่องใดในประวัติศาสตร์ Oscar ที่เป็นภาษาต่างประเทศแล้วได้ Best Picture) รวมถึงสาขาผู้กำกับด้วย นี่เป็นการเข้าชิงครั้งแรกของ Ang Lee ซึ่งจริงๆแล้วเขาควรได้เข้าชิง Best Director ตั้งแต่ Sense and Sensibility ถือเป็นปีที่น่าผิดหวังสุดๆปีหนึ่งสำหรับ Oscar (ปีนั้น Gladiator ได้ Best Picture)

กระแสของหนังเรื่องนี้ ทำให้ชาวตะวันตกเริ่มสนใจหนังของเอเชียมากขึ้น ไม่ใช่แค่จีนนะครับ แต่ทั้งเอเชียเลย นักแสดงเชื้อสายเอเชียเริ่มได้รับบทในหนัง hollywood มากขึ้น และยังปูทางให้ผู้กำกับฝั่งเอเชียได้มีโอกาสกำกับหนังใหญ่

เห็นว่าภาคต่อของหนังเรื่องนี้ ชื่อ Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny กำลังจะฉายในเร็ววันนี้ ผ่านมา 16 ปีหลังจากหนังฉาย มีก็แต่ Michelle Yeoh เท่านั้นที่กลับมา ได้ Donnie Yen มาสมทบ กำกับโดย Yuen Woo-ping เขาเป็น choreography ชื่อดังมากๆ ผมเคยพูดถึงเขาอยู่ แต่มากำกับหนัง และใช้ภาษาอังกฤษ ความรู้สึกมันแปลกๆนะครับ ผมเห็นตัวอย่างแล้วถือว่าน่าสนใจดี ถ้าหนังออกมาดีผมจะมาบอกต่อนะครับ

ผมแนะนำ ให้ทุกคนได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้นะครับ จะดูพากย์ไทยหรือพากย์จีนก็ได้ แต่หนังอาจจะไม่สนุกเท่าไหร่ ฉากต่อสู้อาจจะไม่ตื่นตาตื่นใจสำหรับคนยุคใหม่ ก็ให้เข้าใจว่านี่คือหนังเรื่องสำคัญของจีนและของเอเชีย ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจหนังฝั่งตะวันออกมากขึ้น เป็นหนังที่ควรค่าแห่งการดูและเก็บสะสม

คำโปรย : “Crouching Tiger, Hidden Dragon โดย Ang Lee หนังจีนกำลังภายใน นำแสดงโดย Chow Yun-fat คนฝั่งยุโรป อเมริกายังพูดกล่าวชื่นชมว่าสวยงาม ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ แล้วคนเอเชียจะพลาดไปได้ยังไง”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: