Curse of the Golden Flower (2006) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♡

ความอร่ามของพระราชวัง(ดอก)ทอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงคติรวมหมู่ (Collectivism) เมื่อผู้คนสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกระทำสิ่งต่างๆเพื่อเป้าหมายส่วนรวม จักสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้ประเทศชาติ, นี่คือภาพยนตร์ที่ทำให้รัฐบาลจีนเลือกจางอี้โหมว มาเป็นผู้กำกับพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008

ถ้าไม่นับ Red Cliff (2008-09) ที่แยกฉายสองภาค Curse of the Golden Flower (2006) ถือเป็นภาพยนตร์จีนทุ่มทุนสร้างสูงสุดในทศวรรษ 2000s หมดสิ้นไปกับการก่อร่างสร้างพระราชวังทองขึ้นทั้งหลัง! ตัดเย็บชุดเกราะนับพัน (แค่ชุดของฮ่องเต้ก็หลักล้านหยวนแล้วนะ) ค่าแรงตัวประกอบประมาณหมื่นๆคน ขณะที่ CGI กลับถูกลดทอนให้เหลือปริมาณน้อยที่สุด … ผู้กำกับจางอี้โหมวบอกว่า ยังไม่ค่อยประทับใจคุณภาพของ VFX จากประสบการณ์ Hero (2002) และ House of Flying Daggers (2004) จึงต้องการถ่ายทำด้วยคนจริงๆ สถานที่จริงๆ ให้มากที่สุด

ประมาณทศวรรษที่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างกงลี่ และจางอี้โหมว จากคนเคยรักน้ำต้มผักว่าหวาน กลายเป็นรังเกียจเดียดชังน้ำตาลยังว่าขม กาลเวลาก็ทำให้ทั้งคู่ผ่อนคลายอคตินั้นลง ถึงอย่างนั้นการให้กงลี่รับบทฮองเฮา(อี)ดอกทอง ที่เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม โฉดชั่วร้ายกาจ คิดก่อกบฎหักหลังพระสวามี นั่นยังคงคือ’ภาพจำ’ของจางอี้โหมวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ร่วมงานครั้งสุดท้าย Shanghai Triad (1995)

รวมถึงทัศนคติต่อรัฐบาลจีน พรรคคอมมิวนิสต์ ของผู้กำกับจางอี้โหม่ว จากเคยเต็มไปด้วยอคติอันเกรี้ยวกราดสังเกตจากผลงานยุคแรกๆ Red Sorghum (1988), Ju Dou (1990) ค่อยๆโอนอ่อน ประณีประณอม ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง To Live (1994) กระทั่งเมื่อเริ่มพบเห็นการเปลี่ยนแปลง The Road Home (1999) สามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต Hero (2000) และสำหรับ Curse of the Golden Flower (2006) ชัดเจนเลยว่าสนับสนุนแนวคิด คติรวมหมู่ (Collectivism) ประเทศชาติสำคัญกว่าตัวบุคคล ปัจเจกนิยม (Individualism) … สะท้อนค่านิยม ความเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน!

เป็นความโคตรโชคดีของผมที่มีโอกาสเคยรับชม Curse of the Golden Flower (2006) บนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ แม้ตอนนั้นบอกเลยว่าดูไม่รู้เรื่อง … จริงๆหนังก็ไม่ได้มีเรื่องราวสลับซับซ้อนขนาดนั้น เพียงว่าความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง ชุดเกราะเหลืองทองอร่าม มันละลานตาจนกลบเกลื่อนเนื้อหาสาระในส่วนตัวบุคคล ปัจเจกนิยม (Individualism) จนแทบหมดสิ้น


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลังเสร็จากภาพยนตร์โปรโมทการท่องเที่ยวมณฑลยูนนาน Riding Alone for Thousands of Miles (2005) ผู้กำกับจางอี้โหมวมีความสนใจในการดัดแปลงบทละครอมตะ Thunderstorm (1933) แต่งโดยนักเขียนนามปากกา เฉาหยู (1910-96) แรกเริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร Litery Quarterly (wenxue jikan) แล้วพัฒนากลายเป็นละครเวทีเมื่อปี 1935 เปิดการแสดงที่เมืองจี่หนาน, เมืองนานจิง, นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงโตเกียว, ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามช่วงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง Second Sino-Japanese War (1937-45)

เฉาหยู, 曹禺 หนึ่งในนักเขียนบทละครคนสำคัญของประเทศจีน นามปากกาของ Wan Jiabao, 萬家寶 (1910-96) เกิดที่เฉินเจียง มณฑลหูเป่ย์ บิดาทำงาานเป็นเลขานุการประจำตัว ประธานาธิบดีหลี่หยวนหง (1864-28) เติบโตขึ้นที่เมืองเทียนจิน ทำให้มีโอกาสรับชมละครเวทีจากชาติตะวันตกมากมาย รวมไปถึงการแสดงอุปรากรจีนก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โตขึ้นเข้าศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ Nankai University แต่แค่เพียงปีเดียวย้ายมาร่ำเรียนวรรณกรรมตะวันตก Tsinghua University หลงใหลผลงานของ Anton Chekhov, Maxim Gorky นำมาปรับปรุงพัฒนาบทละครเรื่องแรก Thunderstorm (1933)

Thunderstorm, 雷雨 (อ่านว่า Léiyǔ) บทละครเวทีที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘เสาหลักสำคัญ’ ของวรรณกรรมสัจนิยมจีน เรื่องราวของตระกูลพ่อค้าโจว ที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย ทันยุคทันสมัย หลงใหลในวัฒนธรรมตะวันตก ภายนอกสร้างภาพให้ดูดี แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หัวหน้าครอบครัววางแผนเข่นฆาตกรรมภรรยา ที่แอบลักลอบสมสู่ (Incest) กับบุตรชาย ซึ่งได้มีความสัมพันธ์สาวใช้ รับรู้ภายหลังว่าเธอคือบุตรนอกสมรสของบิดา … สมาชิกตระกูลนี้ช่างเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ไม่รู้จิตใจทำด้วยอะไร คิดคดทรยศหักหลังกันเอง ผลลัพท์สุดท้ายย่อมมุ่งหน้าสู่หุบเหวแห่งการล่มสลาย

ความนิยมในบทละครนี้ทำให้ได้รับการดัดแปลงสื่ออื่นมากมาย ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ถึงสองเรื่อง

  • The Thunderstorm (1957) ฉบับฮ่องกง (ภาษากวางตุ้ง) กำกับโดย Ng Wui, เป็นบทบาทแจ้งเกิด Bruce Lee (ในบทที่ไม่ใช่แนวต่อสู้)
  • Thunderstorm (1996) ฉบับจีนแผ่นดินใหญ่ (ภาษาแมนดาริน) กำกับโดย Ho Yi

แต่ผู้กำกับจางอี้โหมว ไม่ได้ต้องการนำบทละครดังกล่าวมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ตรงๆ ใช้เป็นโครงสร้างความขัดแย้งภายในราชสำนัก ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย สู้รบประหัดประหาร ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ แก่งแย่งชิงอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน, พัฒนาบทร่วมกับ Zhihong Bian และ Nan Wu

เกร็ด: ฉบับฉายในประเทศจีนจะไม่มีการระบุช่วงเวลาพื้นหลังของหนัง แต่ฉบับฉายต่างประเทศขึ้นข้อความ ค.ศ. 928 ยุคสมัยราชวงศ์ถัง (จริงๆอยู่ช่วงระหว่าง ค.ศ. 618-907) ความผิดเพี้ยนดังกล่าวเหมือนจงใจจะบอกว่า ไม่ต้องไปสนใจหรอกว่าเรื่องราวอยู่ในยุคสมัยไหน!

สำหรับชื่อหนังเริ่มต้นจาก Autumn Memories แล้วเปลี่ยนมาเป็น Chongyang ตามด้วย Chrysanthemum Killing กระทั่งความสำเร็จล้นหลามของแฟนไชร์ Lord of the Ring ผู้กำกับจางอี้โหมวเลยพยายามมองหาชื่อที่ฟังแล้วดูยิ่งใหญ่ทรงพลัง

滿城盡帶黃金甲 (อ่านว่า Mǎnchéng jìndài huángjīnjiǎ) แปลตรงตัว The Whole City is Clothed in Golden Armor, ทั้งเมืองเต็มไปด้วยกราะสีทองเหลืองอร่าม นำจากบทกวีของ Huang Chao (835-884) ทหาร/พ่อค้า ผู้นำกลุ่มปฏิวัติในสมัยราชวงศ์ถัง ประพันธ์บทกวีชื่อว่า On the Chrysanthemum, after failing the Imperial Examination (เรียกย่อๆ Chrysanthemum)

待到秋來九月八 When autumn comes on Double Ninth Festival,
我花開後百花殺。my flower [the chrysanthemum] will bloom and all others perish.
沖天香陣透長安 When the sky-reaching fragrance [of the chrysanthemum] permeates Chang’an,
滿城盡帶黃金甲 the whole city will be clothed in golden armour.

บทกวี Chrysanthemum ประพันธ์โดย Huang Chao (835-884)

ชื่อภาษาอังกฤษ Curse of the Golden Flower ไม่รู้เหมือนกันมาจากไหน ส่วนชื่อภาษาไทยถือว่าใช้ได้ ศึกชิงบัลลังก์วังทอง ฟังดูดีกว่าถ้าแปลตรงๆ คำสาปของ(อี)ดอกทอง ซึ่งอาจสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้หลายๆคน


เรื่องราวกล่าวถึงเทศกาลฉงหยาง (วันที่ 9 เดือน 9) ก่อนที่ดอกเบญจมาศจะผลิบานทั่วพระราชวังทอง ฮองเฮา (รับบทโดย กงลี่) กับองค์รัชทายาทเหยียนเสียง (รับบทโดย หลิวเย่) แอบลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวมายาวนาน ตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องนัก องค์รัชทายาทจึงครุ่นคิดหาหนทางหลบหนีออกจากพระราชวัง หวังไปอยู่กินกับนางกำนัลเสี่ยวฉาน (รับบทโดย หลีเหมิ่น) บุตรสาวของหมอหลวง ไม่ใคร่สนอยากจะเป็นฮ่องเต้สักเท่าไหร่

ฮ่องเต้ (รับบทโดย โจวเหวินฟะ) รับล่วงรู้สิ่งต่างๆบังเกิดขึ้นเป็นอย่างดี ตั้งใจว่าหลังเทศกาลฉงหยางจะแต่งตั้งองค์ชายรองเหยียนเจี๋ย (รับบทโดย เจย์โชว์) ขึ้นมาเป็นรัชทายาทแทน แต่ก่อนหน้านั้นมอบหมายให้บัญชาการราชองค์รักษ์ (ในค่ำคืนเทศกาลฉงหยาง) เพื่อพิสูจน์ความซื่อสัตย์จริงใจว่าไม่ได้เข้าข้างกลุ่มกบฎที่ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังก็คือฮองเฮา เอาเวลาไปถักดอกเบญจมาศเพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ


โจวเหวินฟะ, Chow Yun-Fat (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง เกิดที่เกาะลัมมา นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง บิดาทำงานบริษัทน้ำมัน Shell Oil Company เคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ), อายุสิบขวบอพยพย้ายสู่สลัมเกาลูน เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 รับจ้างทั่วไป บุรุษไปรษณีย์ เซลล์แมน คนขับแท็กซี่ จนกระทั่งได้เห็นประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์ค้นหานักแสดงฝึกหัด เซ็นสัญญาสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับซีรีย์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980), ส่วนภาพยนตร์แจ้งเกิดเรื่อง A Better Tomorrow (1986), ติดตามด้วย The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

รับบทฮ่องเต้ ผู้สนเพียงสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่จิตใจมีความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ครุ่นคิดแผนการลอบสังหารฮองเฮา (ด้วยการวางยาพิษให้สิ้นใจตายอย่างช้าๆ) พร้อมใช้ความรุนแรงกระทำร้ายบุตรชายที่ขัดขืนต่อต้าน จัดการกลุ่มกบฏที่ต้องการยึดครองราชบัลลังก์อย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน!

แต่ก่อนที่ชายคนนี้จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ เป็นเพียงแค่ผู้บัญชาการทหารระดับล่าง ใส่ร้ายป้ายสีภรรยา เข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูลของตนเอง เพื่อโอกาสแต่งงานเจ้าหญิงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังอาจเป็นผู้เข่นฆาตกรรมฮ่องเต้องค์ก่อน รวมถึงรัชทายาทคนอื่นๆ เพื่อเปิดทางให้ตนเองขึ้นนั่งบนราชบัลลังก์วังทอง

บทบาทนี้แทบจะคือ ‘ภาพจำ’ ของโจวเหวินฟะมาตั้งแต่เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (เคยเล่นรับบทกษัตริย์, ฮ่องเต้ อยู่บ่อยครั้งทีเดียว) เป็นบุคคลที่ Charisma ในการวางท่วงท่าทาง แสดงสีหน้าเย่อหยิ่งจองหอง ชอบใช้น้ำเสียงดุดัน (แดกดัน) ถือเป็นผู้นำที่น่ายำเกรงขาม และมีความดุดัน เข้มแข็งแกร่ง สวมเครื่องแบบฮ่องเต้หนักกว่า 40 กิโลกรัม! ก็เลยต้องนั่งแสดงวิทยายุทธอย่างไร้เทียมทาน


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบทฮองเฮา ผู้เต็มไปด้วยอคติต่อฮ่องเต้ที่พยายามวางยาพิษตนเอง จนครุ่นคิดแผนการก่อกบฎ รวบรวมบุคคลผู้ฝักใฝ่(ในฮ่องเต้องค์ก่อน)ตระเตรียมการโค่นล้มราชบังลังก์ แต่ปัญหาคือพระโอรสทั้งหลาย

  • ลักลอบสานสัมพันธ์สวาทกับองค์รัชทายาท (ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆทางสายเลือด) หวังจะควบคุมครอบงำ โน้มน้าวให้ร่วมก่อการกบฎโค่นล้มราชบัลลังก์
  • ส่วนพระโอรสคนรอง ติดพระมารดางอมแงม พูดจาโน้มน้าวเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เลือกข้างตนเอง นำทหารราชองค์รักษ์บุกเข้ามาในพระราชวังค่ำคืนเทศกาลฉงหยาง
  • สำหรับโอรสพระองค์เล็กนั้นถูกมองข้าม เพราะยังไม่รู้ประสีประสา ไร้ซึ่งพลังอำนาจ ความสามารถในการกระทำอันใด

เมื่อวันเวลานั้นมาถึง เหตุการณ์ไม่คาดคิดบังเกิดขึ้นมากมาย ทุกสิ่งอย่างที่ฮองเฮาอุตสาหะเตรียมการไว้ ก็ถูกฮ่องเต้จับได้ไล่ทัน พระโอรสทั้งสามก็ยังม้วยมรณา ชีวิตราวกับต้องคำสาป จะดำรงชีพอยู่ต่อไปเพื่ออะไร

ทศวรรษผ่านไปหลังการร่วมงานครั้งสุดท้ายระหว่างกงลี่ และจางอี้โหมว ถ่านไฟเก่าคงมอดดับไปหมดสิ้น อคติเคยมีมาก็เจือจางหาย หลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ทางอาชีพนักแสดง-ผู้กำกับ พวกเขายังคงเข้าใจธาตุแท้กันและกัน เพราะบทบาทนี้คือ ‘ภาพจำ’ ที่จางอี้โหมวยังครุ่นคิดว่ากงลี่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

ที่ผมแอบประหลาดใจเล็กๆก็คือ กงลี่ย่อมรับรู้ตนเองถึงทัศนคติดังกล่าว แต่ยังชื่นชอบจะเล่นบทบาทร้ายๆ จริตแรงๆ ภายในเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แสดงอาการอึดอัดอั้น เกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง! … คงเพราะการร่วมงานจางอี้โหมวที่รู้ไส้รู้พุง ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ มันเลยไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยับยั้งช่างอารมณ์ สามารถปลดปล่อยตัวเอง สวมบทบาทตัวละคร กลายเป็นอีกหนึ่งสุดยอดการแสดง บีบเค้นคั้นจิตวิญญาณผู้ชม

แซว: ผมชื่นชอบฉากที่ฮ่องเต้บีบบังคับให้ฮองเฮาดื่มยาพิษมากๆ มันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกงลี่ กับจางอี้โหมว และเหตุผลที่เธอยินยอมกลับมาร่วมงานอีกครั้ง ‘ฉันเคยดื่มยาพิษนี้มาหลายแก้ว จะบอกปัดตอนนี้ไม่สายเกินไปหรอกหรือ?’


หลิวเย่, Liu Ye (เกิดปี 1978) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน โตขึ้นเข้าเรียนสาขาการแสดง Central Academy of Drama แจ้งเกิดตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก Postmen in the Mountains (1999), ติดตามด้วย Lan Yu (2000), Sky Lovers (2002), Purple Butterfly (2003), The Foliage (2003), The Promise (2005), Curse of the Golden Flower (2006), City of Life and Death (2009) ฯ

รับบทรัชทายาทเหยียนเสียง เป็นคนอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ไม่เคยคิดอยากเป็นฮ่องเต้ ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา เพียงต้องการหลบหนีจากฮองเฮา (ที่มีความสัมพันธ์ชู้สาว) เพื่อไปครองรักนางกำนัลเสี่ยวฉาน บุตรสาวของหมอหลวงที่แต่งงานกับอดีตภริยาคนเก่าของฮ่องเต้ (ครุ่นคิดว่าถูกกำจัดปิดปากไปนานแล้ว ถูกปกปิดมานานหลายสิบปี!) นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ผมละอึ้งทึ่งในการแสดงของหลิวเย่อย่างมากๆ (ประทับใจพอๆกับกงลี่เลยละ) ตั้งแต่ภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถยืนหยัดด้วยตนเอง หรือโต้ตอบขัดขืนคำสั่งพระบิดา-พระมารดา โดยไฮไลท์มีสองช่วงขณะ ล้วนเป็นการไม่สามารถยินยอมรับความจริง

  • ครั้งแรกแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระมารดา (ในการก่อกบฎ) เลยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ก็รอดชีวิตมาได้ … ผมรู้สึกว่า ตัวละครอาจแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจมากกว่า
  • และอีกครั้งเมื่อตระหนักถึงความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกับนางกำนัล (Incest) ทำให้ตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว หมดอาลัยตายอยาก ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรอีกต่อไป

แซว: ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าองค์รัชทายาทมีปม Electra Complex หรือเปล่านะ (ตรงกันข้ามกับ Oedipus Complex ที่รักแม่เกลียดพ่อ, Electra Complex คือรักพ่อเกลียดแม่) เพราะฮองเฮาไม่ใช่พระมารดาแท้ๆ ความสัมพันธ์ชู้สาวจึงไม่ได้เลวร้ายเหมือนประเด็นต้องห้าม ส่วนพระบิดาที่แม้ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ ก็โหยหาความรัก/ต้องการการยินยอมรับอย่างมากๆเลยละ


เจย์โชว์ ชื่อจริง โจวเจี๋ยหลุน (เกิดปี 1979) นักร้อง นักแสดง ได้รับฉายา ‘King of Mandopop’ เกิดที่กรุงไทเป เกาะไต้หวัน, บิดาทำงานวิจัย มารดาเป็นครูสอนศิลปะ ค้นพบว่าบุตรชายหลงใหลในเสียงเพลง เลยส่งไปเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โปรดปรานโชแปง พอเข้าเรียนมัธยมก็เริ่มเขียนเพลง สนใจทฤษฏีดนตรี แต่ยังไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากทำงานอะไร เมื่อปี 1998 มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ Super New Talent King เล่นเปียโนให้เพื่อนขับร้อง แม้ไม่ได้รับรางวัลแต่ไปเข้าตาผู้จัดงาน ชักชวนมาแต่งเพลงในสังกัด Alfa Music เรียนรู้การบันทึกเสียง มิกซิ่ง งานเบื้องหลัง ออกอัลบัมแรก Jay (2000) ได้เสียงตอบรับดีเยี่ยม

การแสดงอาจไม่ใช่ด้านถนัดของเจย์โชว์ แต่เขาต้องการขยายฐานแฟนๆไปยังต่างประเทศ เริ่มต้นจาก Initial D (2005) สามารถคว้ารางวัล Best Newcomer Actor จากทั้ง Golden Horse Award และ Hong Kong Film Award, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Curse of the Golden Flower (2006), แสดง & กำกับ Secret (2007), The Green Hornet (2011) ฯ

รับบทองค์ชายรองเหยียนเจี๋ย ถูกฮ่องเต้ส่งไปปกครองแว่นแคว้นอื่นนานถึงสามปี คาดว่าคงต้องการให้เรียนรู้ทักษะการบริหารประเทศ เพื่อจักรับช่วงต่อแทนองค์รัชทายาท (ที่ไม่ได้มีศักยภาพสามารถใดๆ) แต่ความรักภักดีขององค์ชายรองกลับมีให้พระมารดามากกว่า เมื่อรับทราบว่าทรงถูกพระบิดาวางยาพิษ เลยใช้โอกาสที่ได้รับหมอบหมายพระบัญชาราชองค์รักษ์ บุกเข้ามาจะโค่นล้มราชบัลลังก์

หลายคนอาจครุ่นคิดว่าองค์ชายรองดูปกติสุดในราชวงศ์นี้ แต่ผมสังเกตความรักที่มีให้พระมารดา และการแสดงออกเต็มไปด้วยอคติต่อพระบิดา ช่างมีความละม้ายคล้ายปม Oedipus Complex (รักแม่ เกลียดพ่อ) ถึงขนาดครุ่นคิดจะโค่นล้ม เข่นฆ่าฮ่องเต้ด้วยพระองค์เอง … นี่ก็ไม่ปกติหรอกนะ!

ผมไม่รับรู้สึกถึงการแสดงใดๆของเจย์โชว์เลยนะ แค่ปรากฎตัว เห็นหน้าหล่อๆ ไว้หนวดเครา ไร้ปฏิกิริยาอารมณ์ร่วมใดๆ แต่สิ่งต้องชื่นชมคือฝีไม้ลายมือด้านการต่อสู้ เห็นว่า 99% เล่นเองเจ็บเองทั้งหมด ยอมรับในความทุ่มเทเพื่อคิวบู๊ที่ดูอลังการงานสร้างจริงๆ


ถ่ายภาพโดย จ้าวเสี่ยวติ้ง, Zhao Xiaoding (เกิดปี 1968) ตากล้องชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beijing Film Academy สำเร็จการศึกษาปี 1989 จากนั้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ผู้ช่วยตากล้อง (Camera Assissantant) จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวถ่ายทำคลิปโปรโมทการประมูลจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000, เลยได้เป็นผู้ช่วย Christopher Doyle ถ่ายทำ Hero (2002), และได้รับเครดิตถ่ายภาพ House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006), The Flowers of War (2011), Shadow (2018) ฯ

แทบทุกช็อตฉากของ Curse of the Golden Flower (2006) มีความสวยงาม อร่ามตา ชวนให้อ้าปากค้างอยู่ตลอดเวลา ต้องปรบมือให้ผู้กำกับศิลป์ Tingxiao Huo ร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวตั้งแต่ Hero (2002), House of Flying Daggers (2004) แต่นั่นก็เป็นข้อด้อยด้วยเช่นกัน เพราะจักดึงดูดความสนใจผู้ชมไปจากเนื้อเรื่องราวหลัก และเมื่อพานผ่านไปสัก 30 นาที ก็จักเริ่มมักคุ้นชินสายตา ทำให้ความน่าหลงใหลของหนังค่อยๆลดน้อยลงตามกาลเวลา

นี่ทำให้ผมนึกถึงพวกหนังสัตว์ประหลาดที่ชอบยื้อๆยักๆ อารัมบทอะไรก็ไม่รู้ยืดยาวนาน จนกว่าจะถึงฉากสำคัญต่อสู้กันถึงค่อยเปิดเผยหน้าตาเอเลี่ยน คิงคอง ก็อตซิลล่า ฯ แต่นั่นคือเทคนิควิธีการสร้างความดึงดูด จูงจมูกผู้ชม ให้เรียนรู้จักคุณค่าของการรอคอย เพราะถ้าเร่งรีบร้อนเปิดเผยสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นตั้งแต่เริ่มต้น ความน่าสนใจของหนังก็จักค่อยๆลดน้อยลงไป … เหมือนพระราชวังทองแห่งนี้ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เริ่มรู้สึกเบื่อๆหน่ายๆ ราวกับได้พบเห็นทุกสิ่งอย่างหมดสิ้นแล้ว

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับจางอี้โหมว ที่ผมรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้ายคลึง Curse of the Golden Flower (2006) ไม่ใช่ Hero (2002) หรือ House of Flying Daggers (2004) แต่คือ Raise the Red Lantern (1992) เพราะส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องในสถานที่ปิด (มองข้ามหลุมฟ้าสะพานมังกรไปก่อนนะครับ) ทุกช็อตฉากล้วนมีการจัดวางองค์ประกอบ ให้มีความสมมาตรซ้าย-ขวา บน-ล่าง เรื่องราวก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คิดคดทรยศหักหลัง แก่งแย่งชิงภายใน จุดแตกต่างก็คือ ความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) vs. คติรวมหมู่ (Collectivism)

ขณะที่ Raise the Red Lantern (1992) มีนักแสดงหลักสิบ ทีมงานรวมๆแล้วคงไม่ถึงร้อย แต่ Curse of the Golden Flower (2006) แค่ตัวประกอบสวมชุดเกราะก็นับพัน ขณะยืนแถวเรียงรายต้อนรับนั่นก็ 20,000+ คน (ไม่ได้ใช้ CGI) นี่ยังไม่รวมทีมงานก่อสร้างพระราชวัง ช่างแต่งหน้าทำผม ดีไซเนอร์ตัดเย็บเสื้อผ้า ไม่น้อยกว่า 1,000+ คน! นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคติรวมหมู่ ไม่มีทางบุคคลเดียวจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่านี้!

จะว่าไปภาพยนตร์ ไม่ว่าจะทุนสูง-ต่ำ ล้วนมีลักษณะของคติรวมหมู่ (Collectivism) คือต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น นักแสดง ตากล้อง ผู้กำกับ ฯ แม้ปัจจุบันคนๆเดียวสามารถทำทุกสิ่งอย่าง (แบบพวก Content Creator) แต่ก็จะมีข้อจำกัดทางความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมาย สื่อที่นำเสนอ ฯลฯ


หนังออกแบบพระราชวังทอง โดยอ้างอิงสถาปัตยกรรมจากพระราชวังของราชวงศ์ถัง (618–907) ก่อสร้างขึ้นที่สตูดิโอ Hengdian World Studios โรงถ่ายหนังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก! จนได้รับฉายา ‘Hollywood แดนตะวันออก’ ตั้งอยู่เมืองเหิงเติ้น มณฑลเจ้อเจียง เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1996 กินอาณาบริเวณเกือบๆ 500,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 30 ฉากภายนอก, 130 สตูดิโอภายใน, นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร เปิดสาธารณะให้เข้าเยี่ยมชม … ผมอ่านเจอว่าถ้าใครอยากไปท่องเที่ยว ควรวางโปรแกรมอย่างน้อย 3 วัน!

ส่วนอีกสถานที่ของหนัง หมอหลวงถูกส่งไปปกครองเมืองซูโจว ถ่ายทำยังหลุมฟ้าสะพานมังกร (Three Natural Bridges) ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติหลุมฟ้า เมืองอู่หลง นครฉงชิ่ง

จุดขายหนึ่งของหนังก็คืออกตูมๆของสาวๆ ชัดเจนว่าเป็นความจงใจรัดแน่นให้อวบอึ๋ม เพื่อสื่อถึงความหมกมุ่นในกามคุณของราชสำนักแห่งนี้ ที่ใครต่อใครสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน แต่ประเทศชาติจักสามารถธำรงอยู่ได้ก็เพราะมวลชน ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างแข็งขัน บุรุษคือทหารหาญสวมชุดเกราะสู้รบสงคราม (ภายนอก) อิสตรีดั่งช้างเท้าหลัง นางกำนัลจัดการงานบ้านงานเรือน ปรนเปรอปรนิบัติบุรุษ (ภายใน)

ยาพิษ สามารถสื่อถึงการใช้อำนาจเพื่อสนองความพึงพอใจ บีบบังคับให้ผู้อื่นต้องกระทำสิ่งๆนั้น ทั้งๆรู้ว่าไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เป็นอันตราย อาจถึงแก่ความตาย ผู้ใต้สังกัดก็มิอาจขัดขืนต่อต้าน จำต้องศิโรราบแทบเท้า กล้ำกลืนยาพิษลงคอ ไม่สามารถหลบหลีกหนีโชคชะตากรรม

เราสามารถเปรียบเทียบ ‘ยาพิษ’ กับนโยบายแย่ๆของคอมมิวนิสต์สมัยก่อน อาทิ การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62), ปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ฯ ภายนอกตามหลักการฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้ประเทศก้าวถอยหลังไปเป็นทศวรรษๆ

แซว: ลีลาการเสวยพระโอสถของฮองเฮา ไม่ใช่แค่ยกมาดื่ม แต่ต้องวางท่วงท่า ใช้พระหัตถ์บดบัง แล้วตามด้วยพระสุธารส (น้ำดื่ม) และผ้าเช็ดพระโอษฐ์ เรียกว่าเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ตามขนบประเพณียึดถือปฏิบัติมายาวนาน ไม่สามารถยืดหยุ่นผ่อนคลาย อดีตเป็นเช่นไร อนาคตจักต้องดำเนินไปเช่นนั้น

ชุดเกราะทองของฮ่องเต้ ทำจากแผ่นทองคำจริงๆ เฉพาะส่วนศีรษะน้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัม ทั้งชุดก็น่าจะเกิน 100+ กิโลกรัม (ด้วยเหตุนี้จึงใช้การนั่งต่อสู้ ลุกเดินยังยากลำบาก แต่ก็สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของความมั่นคงดั่งภูผา ไม่โอนอ่อนผ่อนปรนต่อสิ่งต่างๆโดยง่าย) ออกแบบโดย Jessie Dai และ Chung-Man Yee ได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design

แต่แพงสุดของหนังคือชุดมังกรและฟีนิกซ์ (ของฮ่องเต้ & ฮองเฮา) ที่สวมใส่ในงานพิธีฉงหยาง เพราะใช้ทองคำ 18K มาทำเป็นเส้นด้ายสำหรับถักทอ ช่างตัดเย็บ 80 คน ใช้เวลานานกว่าสองเดือน น้ำหนัก 40 กิโลกรัม ประเมินมูลค่า 1.8 ล้านหยวน

บัลลังก์ซาวน่า (จริงๆแค่ชุดที่สวมใส่ก็ซาวน่าดีๆแล้วนะ) เพื่อสร้างความอบอุ่น ผ่อนคลาย จากบรรยากาศที่หนาวเหน็บในราชสำนัก ใครต่อใครต่างครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย โดยเฉพาะฮองเฮาที่ควร(มอบความอบอุ่น)เคียงข้างกาย กลับมีความเยือกเย็นชาอย่างที่สุด

Chrysanthemum (ดอกเบญจมาศ หรือดอกเก็กฮวย) มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘ดอกไม้ทองคำ’ ภาษาจีนคือ 菊花, จวี๋ฮวา เป็นดอกไม้มงคลที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชนชาวจีนอย่างมาก ทั้งใช้เป็นไม้ประดับ ลำต้นรักษาโรคตับ บำรุงประสาท ใบและดอกมีสรรพคุณรักษาโรคนิ่ว ต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงวัณโรค ตามความเชื่อชาวจีนคือดอกไม้มงคล สัญลักษณ์ของสารทฤดู (ฤดูใบไม้ร่วง) ในช่วงเดือน 9 และมักใช้ตัวแทนของความงดงาม ยั่งยืนยาว

(ถ้าที่ญี่ปุ่นจะยกให้เบญมาศเป็นดอกไม้แห่งจักพรรดิ และสัญลักษณ์แห่งความรักมั่นคงยืนยาว)

ในหนังใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มกบฎ ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ โดยคาดหวังว่าทหารราชองค์รักษ์สวมชุดเกราะทอง จะสามารถยึดครอบครองพระราชวังแห่ง นำพาประเทศก้าวสู่ใบไม้ผลิ … แต่สุดท้ายก็เป็นได้เพียงสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงหล่นลงพื้น พร้อมธารโลหิตไหลนองท่วมพระราชวัง

เกร็ด: ไม่มีใครนั่งนับหรอกนะครับว่าใช้ดอกเบญจมาศไปเท่าไหร่ มีรายละเอียดแค่อาณาบริเวณ 10,000 ตารางเมตร ก็น่าจะไม่น้อยกว่าแสนๆดอก

That Heaven is round.
The earth is square.
The law of the Heavens dictates the rule of earthly life under the circle, within the square, everyone has his proper placement.
This is called natural law.
Emperor, Courtier, Father, Son, loyalty, filial piety, ritual and righteousness all relationships obey this law.

ทีแรกผมครุ่นคิดว่าหนังแปลผิดนะ มันควรจะโลกกลม สวรรค์แบนไม่ใช่หรือ? แต่พอครุ่นคิดไปมามันอาจสื่อถึงการตารปัตรทางคิดของคนยุคสมัยก่อนก็เป็นได้ (ที่ยังเชื่อว่าโลกแบน) สวรรค์คือศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสรรพชีวิตล้วนต้องดำเนิตามกฎธรรมชาติ ฮ่องเต้เปรียบได้กับสมมติเทพ มีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้า สามารถสั่งให้ใครกระทำอะไรก็ได้ทุกสิ่งอย่าง

หลายคนอาจจับจ้องอยู่แค่ตรงโต๊ะสี่เหลี่ยมแล้วมีวงกลมอยู่กึ่งกลาง แต่ให้มองไปที่พรมพื้นด้วยนะครับ รอบใหญ่สุดคือวงกลม (= สรวงสวรรค์) ขณะทั้งสมาชิกราชวงศ์นี้ต่างนั่งภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม (=โลก) ยังตำแหน่งที่สะท้อนถึงวิทยาฐานะ/ความสำคัญของบุคคล ฮ่องเต้นั่งอยู่เบื้องหน้า เคียงข้างซ้าย-ขวาคือฮองเฮากับรัชทายาท ส่วนพระโอรสที่เหลือนั่งอยู่ห่างไกลจากพระบิดา

แซว: ลำดับการนั่งแบบนี้ชวนให้ผมนึกถึงอัศวินโต๊ะกลม ที่ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่พอเป็นโต๊ะเหลี่ยมก็แสดงว่าต่างคนต่างมีขีดจำกัดการใช้อำนาจ และต้องอยู่ภายใต้บุคคลนั่งหัวโต๊ะ

เอาจริงๆผมไม่คิดว่าเหตุผลที่ฮ่องเต้ส่งหมอหลวง (และครอบครัว) ไปปกครองเมืองซูโจว เพราะต้องการจะลอบสังหารทั้งชั่วโคตรหรอกนะ ดูแล้วเหมือยยังคงรักอดีตภรรยา เลยอยากชดใช้ความผิดในอดีตให้ได้อยู่สุขสบายบั้นปลายชีวิต แต่เพราะการแสดงออกของฮองเฮา สอดรู้สอดเห็น พูดทำเป็นเหมือนรับล่วงรู้ลับลมคมใน ทำให้ฮ่องเต้จำต้องตัดสินใจสั่งนักฆ่าในสังกัด จัดการปิดปาก เข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูล!

ความพยายามกระทำอัตนิวิบาต เกิดจากไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมพระมารดาที่ต้องการก่อกบฎ โค่นล้มราชบัลลังก์ อันจะทำให้องค์รัชทายาทต้องขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ (นั่นไม่ใช่ความต้องการของเจ้าตัวแม้แต่น้อย!) และใครๆย่อมต้องครุ่นคิดว่าแผนการทั้งหมดเป็นของพระองค์เอง … เมื่อไม่สามารถครุ่นคิดหาหนวิธีทางออก เหลือบมองไปเหมือนกริชก็เลยหยิบมาทิ่มแทง พลาดหัวใจไปนิดเดียวเอง

ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฮองเฮาแต่งองค์ทรงเครื่องไม่เป็น กลายเป็นยัยเซิ้งปล่อยผม กะจิตกะใจไม่อยู่กับเนื้อกะตัว แถมเข้าร่วมร่วมงานพิธีฉงหยางช้ากว่าใคร แต่งหน้าทำผมไม่เสร็จสักที (สะท้อนสภาวะทางจิตใจที่เต็มไปด้วยความขลาดหวาดกลัว ขัดแย้งภายใน และร่างกายที่อ่อนแอลงเพราะยาพิษ)

นี่เป็นช็อตเล็กๆขณะฮ่องเต้เดินทางมาเยี่ยมเยือนองค์รัชทายาท จัดย้อนแสงสว่างอย่างนี้ราวกับสวรรค์โปรด พระเจ้าเดินลงมาจากฟากฟ้า แสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ (ของฮ่องเต้) ไม่มีใครใต้หล้าสามารถเทียบเคียง

แม้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท แต่พระโอรสองค์โตไม่ได้ใคร่สนในราชบัลลังก์ พยายามพูดบอกพระบิดาหลายครั้งแต่ขออะไรก็ไม่เคยได้รับ ถึงอย่างนั้นยังทรงรัก เป็นห่วงเป็นใย เดินทางมาเยี่ยมไข้ครั้งนี้ถือว่าพิสูจน์ความจริงใจ เลยยินยอมเปิดเผยแผนการของพระมารดา ไม่ต้องการให้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์

ผมขอไม่วิเคราะห์รายละเอียดการต่อสู้ใดๆ เพราะมันก็ไม่ได้มีเงื่อนงำหรืออะไรสลับซับซ้อน ชวนให้นึกสำนวน 十面埋伏, สือเมี่ยนหมายฟู่ (ที่แปลว่าถูกห้อมล้อมสิบทิศ, ศัตรูรอบด้าน) จากภาพยนตร์ House of Flying Daggers (2004) ไปเพลิดเพลินกับความงดงามอลังการ ตื่นตระการในหนังเอาเองดีกว่านะครับ

แซว: จะว่าไป The Warlord (2007) ก็นำเสนอฉากไคลน์แม็กซ์ในลักษณะคล้ายๆกันนี้

แต่ที่อดพูดถึงไม่ได้ก็เจย์โชว์ เล่นคิวบู๊เอง(แทบ)ทั้งหมด ใช้เวลาถ่ายทำทั้งซีเควนซ์ยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ แต่ฉากยากสุดคือเมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว ‘หมาจนตรอก’ กวัดแกว่งอาวุธต่อสู้ทหารชุดดำอย่างคลุ้มบ้าพลัง ต้องใช้เวลาถึง 4-5 วัน (หั่นดาบไปกว่า 1,800+ เล่ม!) ตัวประกอบนับพัน กว่าจะได้ผลลัพท์ตามต้องการ

แม้หนังไม่นำเสนอโชคชะตากรรมของฮองเฮา ผู้ชมคงคาดเดาไม่ยากเท่าไหร่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่สิ่งสุดท้ายที่ทรงทำก็คือโยนยาพิษลงบนตราสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศที่อยู่กึ่งกลางโต๊ะ หลอมละลายราวกับเหล็กถูกกรดกัดกร่อน แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังออกมา สื่อสัญลักษณ์ถึงการเสื่อมสลาย ต้องคำสาป! ถ้าตามบริบทของหนังจะหมายถึงความล้มเหลวของกลุ่มก่อการกบฎ กัดกร่อนบ่อนทำลายความสงบสุขของประเทศชาติ … แต่หลายคนอาจครุ่นคิดเห็นว่าคือการสัญลักษณ์การล่มสลายของราชวงศ์ ระบอบกษัตริย์ เผด็จการ มองแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ!

ตัดต่อโดย Long Cheng อดีตนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า University of Shanghai for Science and Technology แล้วไปเรียนต่อภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา Temple University เคยคว้ารางวัล Music Video ยอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัย เดินทางกลับประเทศจีนกลายเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Time to Remember (1988), House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องพานผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด แต่ใช้พระราชวังทองคือจุดหมุนเรื่องราวทั้งหมด ฮ่องเต้, ฮองเฮา, รัชทายาท และองค์ชายสอง ขณะที่องค์ชายเล็กจะไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่ (เหมือนเรื่องราวที่ก็ไม่ค่อยถูกให้ความสนใจ) แต่มักแอบซ่อนหลบฉากอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าทิศทางดำเนินเรื่องมีลักษณะเหมือนการ ‘ส่งไม้ผลัด’ จากเหตุการณ์หนึ่งสู่เหตุการณ์หนึ่ง จักต้องมีบางสิ่งอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

  • แนะนำตัวละคร
    • เริ่มจากองค์ชายเล็กมาเยี่ยมเยือนพระมารดา
    • พอฮองเฮาทราบข่าวว่าองค์รัชทายาทอยาก(หลบหนี)เดินทางไปต่างเมือง จึงเร่งรีบเพื่อไปหยุดยับยั้ง โน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ
    • ฮ่องเต้เดินทางไปรับองค์ชายรอง ทดสอบฝีมือ แล้วเตรียมมอบหมายภาระใหม่
    • องค์ชายรองเยี่ยมเยียนพระมารดา แล้วไปสอบถามถึงอาการเจ็บปวดจากพี่ๆน้องๆ
  • ครอบครัวพร้อมหน้า
    • งานเลี้ยงต้อนรับองค์ชายรอง เสวยพระกระยาหารร่วมกันพร้อมหน้า
    • ฮ่องเต้บีบบังคับให้ฮองเฮาต้องรับประทานยา(พิษ)
    • องค๋รัชทายาทเข้าเฝ้าฮ่องเต้ เพื่อทูลขอโอกาสไปเปิดหูเปิดตานอกพระราชวัง
    • ความสัมพันธ์ระหว่างรัชทายาทกับนางกำนัล แต่ถูกพระมารดาจับได้ไล่ทัน
    • ฮองเฮาได้รับแจ้งถึงสมุนไพรพิษที่ใส่ในยา (จากอดีตคนรักฮ่องเต้)
    • ฮ่องเต้ได้พบเจออดีตคนรักอีกครั้ง เมื่อรับทราบสิ่งบังเกิดขึ้นจึงต้องการปูนบำเน็จส่งหมอหลวงไปปกครองเมืองซูโจว
  • จุดแตกหักความขัดแย้ง
    • วันถัดมาฮองเฮาเข้าพบประชันฮ่องเต้ พูดกล่าวถึงหญิงคนนั้น (น่าจะตระหนักว่าเธอคนนั้นคือใคร)
    • องค์ชายรองตัดสินใจก่อกบฎเพื่อพระมารดา
    • ฮองเฮาพยายามโน้มน้าวองค์รัชทายาทให้ร่วมก่อกบฎ แต่ทรงควบม้าติดตามนางสนมมาถึงเมืองซูโจว
    • ค่ำคืนนั้นนักฆ่า (ของฮ่องเต้) บุกเข้ามาลอบสังหารหมอหลวง แต่ยังพอมีผู้รอดชีวิต
    • รัชทายาทเดินทางกลับมาเผชิญหน้าฮองเฮา ร้องขอให้ล้มเลิกแผนการ พอไม่สำเร็จก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย (พยายามเรียกร้องความสนใจ)
  • เทศกาลฉงหยาง
    • ฮ่องเต้เสด็จมาเยี่ยมเยือนองค์รัชทายาท รับฟังเรื่องราวทั้งหมด
    • เริ่มต้นพิธีการในเทศกาลฉงหยาง
    • ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ลอบสังหารมาเผชิญหน้ากับฮ่องเต้ เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับองค์รัชทายาท
    • องค์ชายเล็กเข่นฆาตกรรมรัชทายาท (พยายามเรียกร้องความสนใจเช่นกัน)
    • ทหารราชองค์รักษ์นำโดยองค์ชายรอง ยกทัพบุกเข้ามาในวัง
    • การต่อสู้ เข่นฆ่า หายนะ ความตาย
  • ปัจฉิมบท, ครอบครัว(ที่เหลือ)รวมตัวกันพร้อมหน้า ฮ่องเต้มอบทางเลือกแก่องค์ชายรอง เลือกที่จะ…

ช่วงเทศกาลฉงหยาง มีนำเสนอความขัดแย้งด้วยวิธีการเปรียบเทียบ จุลภาค vs. มหภาค ซึ่งสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของ Individualism vs. Collectivism ด้วยวิธีการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • ความขัดแย้งภายในราชสำนัก ฮ่องเต้ vs. ฮองเฮา & พระโอรสทั้งสาม
  • การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังสำรองส่วนพระองค์ (reserve army of the Emperor) vs. กลุ่มก่อการกบฎ & ทหารราชองค์รักษ์ (Imperial Guards)

ถึงแม้ความขัดแย้ง ‘หักมุม’ ภายในราชสำนักจะเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด สั่นสะท้านทรวงใน แต่พอตัดไปภาพการต่อสู้เข่นฆ่าทหารนับร้อยพัน มันกลับทำให้ความรู้สึกดังกล่าวค่อยๆจืดเจือจางลง จนแทบไม่หลงเหลืออารมณ์ร่วมใดๆ (กับแค่การเสียชีวิตของโอรสไม่กี่พระองค์ เทียบได้อย่างไรกับความตายทหารนับร้อยพัน!) นั่นอาจทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจว่า หนังสูญเสียพลังในการดำเนินเรื่องจากความล้นหลาม ‘overwhelmed’ ของภาพมหาชน

แต่ถ้าเราครุ่นคิดถึงเหตุผลที่หนังนำเสนอด้วย ‘ภาษาภาพยนตร์’ ดังกล่าว ก็จักพบเห็นความสำคัญของส่วนรวม (Collectivism) ที่มากล้นกว่าตัวบุคคล (Individualism) เรื่องราวการทรยศหักหลักของสมาชิกในราชสำนัก แม้งโคตรไร้สาระเมื่อเทียบกับชีวิตเป็นอยู่ของประชาชน


เพลงประกอบโดย Shigeru Umebayashi (เกิดปี 1951) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kitakyushu, Fukuoka จากเคยเป็นหัวหน้าวงร็อค EX หลังจากยุบวงจึงหันมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Yumeji (1991), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Fearless (2006), Curse of the Golden Flower (2006), Hannibal Rising (2007), The Grandmaster (2013) ฯ

ด้วยสเกลงานสร้างอลังการขนาดนี้ แน่นอนว่าเพลงประกอบย่อมต้องพยายามทำให้ยิ่งใหม่ไม่แพ้กัน! ด้วยการจัดเต็มวงออร์เคสตร้า (ผสมผสานทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน & สากลตะวันตก) และมุ่งเน้นประสานเสียงคอรัส เพื่อสร้างพลัง ความฮึกเหิม เทียบแทนมวลชน

ถ้ารับฟังแบบแยกเพลงในอัลบัม Soundtrack ก็อาจทำให้ขนลุกขนพอง สั่นสยิวกายอยู่บ่อยครั้ง แต่พอรับชมในหนังผมกลับไม่ได้รู้สึกตราประทับใจขนาดนั้น นั่นเพราะบทเพลงยังมีพลังไม่เพียงพอจะโดดเด่นไปกว่าความอลังการงานสร้าง! หลายครั้งถูกลดระดับเสียง โดนกลบเกลื่อนจาก ‘Sound Effect’ ด้วยกระมัง นอกจากท่วงทำนองสร้างบรรยากาศ ฉากการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ค่อนข้างน่าผิดหวัง

เมื่อเทียบกับ Lord of the Ring ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองติดหูตั้งแต่ครั้งแรกได้ยิน พอมาถึงฉากสงครามเมื่อตัวละครนั้นๆทำการต่อสู้รบ บทเพลง Character’s Song จะถูกขับเน้นให้เด่นดังขึ้น ผู้ชมจึงเกิดความตราตรึงและทรงพลังมากๆ … ผิดกับ Curse of Golden Flower ไม่มีอะไรแบบนั้นให้น่าจดจำสักเท่าไหร่

บทเพลงไพเราะสุดของหนังก็คือ Curse of the Golden Flower ใช้เสียงขลุ่ยที่สามารถเทียบแทนความรู้สึกของการสูญเสีย จิตวิญญาณล่องลอยไป สงคราม ความขัดแย้ง ก่อการกบฎ ทุกสิ่งอย่างที่ฉันกระทำมานี้เพื่ออะไรกัน สุดท้ายกลับต้องสูญเสียเดิมพัน ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง … นี่คือคำสาปของผู้คิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น ทำอะไรไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นกลับคืนสนอง

ถึงแม้ว่า Soundtrack จะมีความไพเราะแต่ก็ยังไม่โดดเด่นเพียงพอประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ผิดกับบทเพลง 菊花台 (อ่านว่า Júhuā tái) ชื่อภาษาอังกฤษ Chrysanthemum Terrace (ทุ่งดอกเบญจมาศ) ขับร้อง/แต่งโดยเจย์โชว์ ต้องชมเลยว่าตราตรึง (เนื้อร้อง)ลุ่มลึกซึ้ง สำบัดสำนวน งดงามดั่งบทกวี

Your tears glisten with pain in their fragility
The pale crescent hooks the past
The endless night has crystallised into frost
Who is it in the loft, destitute with cold hopelessness?

The rain slowly patters on the vermillon window
My life is a tattered page battered by the winds
Far-off dreams fading into mist
Your image has been dissipated by the wind

Wilted chrysanthemums are spread across the floor; even your smile has turned faintly yellow
The falling flowers induce sadness, and my thoughts languish
In the passing of the north wind and the dusk, your shadow lingers on
And standing by the lake, I only have my own reflection for company

Responding to the dusk, the flowers shed their brilliant shine
They wilter on life’s path, meeting a tragic fate
Don’t cross the river in melancholy
You may spend a lifetime drifting, never reaching the shore

Whose empire is it now? The sound of horse hoofs thunders in the distance.
My resplendent armour decays with the hounds of time
Your soft sigh heralds the first ray of dawn
The conclusion to another restless night

Wilted chrysanthemums are spread across the floor; even your smile has turned faintly yellow
The falling flowers induce sadness, and my thoughts languish
In the passing of the north wind and the dusk, your shadow lingers on
And standing by the lake, I only have my own reflection for company

วันที่ 9 เดือน 9 เทศกาลฉงหยาง คือช่วงเวลาที่ดอกเบญมาศผลิดอกออกบาน สีเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง ซึ่งหนังใช้เป็นสัญลักษณ์เดียวกับชุดเกราะทองอร่ามของราชองค์รักษ์ นำโดยฮองเฮา(อี)ดอกทองที่ต้องการก่อกบฎ โค่นล้มราชบัลลังก์ แต่สุดท้ายกลับประสบความล้มเหลว ทหารเลวทุกคนถูกประหารชีวิต เลือดไหลนองท่วมพระราชวัง ก่อนเช้าวันถัดมาทำเหมือนไม่มีอะไรเคยบังเกิดขึ้น

เรื่องราวในราชสำนักแห่งนี้ ช่างเต็มไปด้วยความวิปริต ผิดมนุษยมนา แบ่งฝักฝ่ายออกเป็น #ทีมฮ่องเต้ vs. #ทีมฮองเฮา ต่างใช้เล่ห์เพทุบาย ต้องการกำจัดศัตรูครุ่นคิดเห็นแตกต่าง เพราะฝั่งหนึ่งใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง บีบบังคับให้ทุกคนต้องยินยอมศิโรราบอยู่แทบเท้า อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามต่อสู้ดิ้นรน ขัดขืนต่อต้าน แสวงหาพื้นที่แห่งอิสรภาพเพื่อสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตน

ผู้ชมฝั่งประชาธิปไตย น่าจะรู้สึกว่าการกระทำของฮ่องเต้เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม โฉดชั่วร้าย เผด็จการ บ้าอำนาจ เช่นนั้นแล้วมันผิดอะไรที่ฮองเฮาจะต่อต้าน ต้องการดิ้นรน โหยหาอิสรภาพส่วนตน ให้การส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มกบฏ, แต่สำหรับชนชาวจีนส่วนใหญ่ (และประเทศฝั่งคอมมิวนิสต์) ต่างมองพฤติกรรมของฮองเฮามีความอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ยินยอมรับไม่ได้ (โดยเฉพาะการสมสู่กับเครือญาติ) การพยายามต่อสู้ขัดขืนโชคชะตา สุดท้ายแล้วก็มิสามารถโค่นล้มราชบังลังก์ ทหารตกตายนับพัน ที่ทำมาทั้งหมดมันช่างสูญเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง!

ตั้งแต่ Hero (2002) ติดตามด้วย House of Flying Daggers (2004) ผมรู้สึกว่าผู้กำกับจางอี้โหมว พยายามแสดงทัศนคติต่อต้านการชุมนุมประท้วง ใช้กำลังความรุนแรง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตน โดยไม่เคยทำประโยชน์ใดๆให้ประเทศชาติ

Curse of the Golden Flower (2006) นำเสนอคำสาป/ผลกรรมของกลุ่มกบฎ ที่ต้องการทำการปฏิวัติ โค่นล้มราชบัลลังก์ แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถสู้รบปรบมือ ทหารหาญถูกเข่นฆ่าตกตาย ประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน แล้วทุกสิ่งกระทำมานี้มันจะมีประโยชน์อะไร? ต่อต้านขัดขืนไปทำไม? ถ้าไม่ประสบความสำเร็จย่อมหลงเหลือเพียงความขื่นขม ตรอมตรมจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

ผมเชื่อว่าหลายคนคงมีปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อหาสาระดังกล่าว เพราะการกระทำสิ่งตอบสนองอุดมการณ์ ถึงพ่ายแพ้ตกตายก็ยังดีกว่ายินยอมก้มหัวให้ทรราชย์! แต่เราควรต้องทำความเข้าใจ ‘มุมมอง’ ของผู้สร้างว่านี่คือทัศนคติส่วนบุคคลที่แตกต่างกันไป มันเป็นสิทธิ์ของเขาจะมีความเชื่อมั่นแบบนั้น ไม่มีถูก-ไม่มีผิด เพราะโลกเราสามารถแบ่งออกสองฝั่งฝ่าย เหมือนเหรียญสองด้าน หยิน-หยาง ซ้าย-ขวา อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ฯลฯ ถกเถียงกับคนมีความคิดเห็นตรงข้าม ทำอย่างไรก็ไม่มีวันได้รับชัยชนะ (มีแต่คนโง่เท่านั้นละที่ยังคงดื้อรั้น)

อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนทัศนคติของผู้กำกับจางอี้โหมว คือการนำเสนอพลังของคติรวมหมู่ (Collectivism) ไม่มีทางที่ปัจเจกบุคคล (Individualism) จะสามารถต่อสู้เอาชนะ องค์ชายสองแม้วิทยายุทธเก่งกาจสักเพียงใด ก็ไม่สามารถบุกฝ่าวงห้อมล้อมได้ด้วยตัวคนเดียว! นี่สะท้อนหลักการ/อุดมคติ ‘ชวนเชื่อ’ ของพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกร้องให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี พร้อมใจกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ ก้าวไปด้วยกันเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืนเป็นปึกแผ่น

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจเหตุผล ทำไมจางอี้โหมวได้รับมอบหมายกำกับพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008? นั่นเพราะประสบการณ์ในการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ที่สามารถผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้กลายเป็นสิ่งร่วมสมัยที่จับต้องได้

ใช้เวลาวางแผนตระเตรียมงานเกือบๆ 2 ปี ซักซ้อมนักแสดงกว่า 15,000+ คน (มาด้วยใจไม่ได้รับค่าจ้าง) ใช้งบประมาณมากกว่า $100 ล้านเหรียญ (พอๆหนัง Blockbuster เรื่องหนึ่งเลยนะ!) ผลลัพท์กลายเป็นพิธีเปิดมหกรรม(ไม่ว่าจะกีฬาหรืออะไรก็ตาม)ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สร้างมาตรฐานไว้สูงมากๆจนยากจะมีประเทศไหนสามารถทำออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่า ถ้าใครเกิดไม่ทัน ยังไม่เคยรับชม ลองค้นหาใน Youtube ได้เลยนะครับ เป็นสี่ชั่วโมงกว่าๆที่คุ้มค่าการเสียเวลาอย่างแน่นอน!

เกร็ด: นอกจากโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008 จางอี้โหมวยังได้รับอีกโอกาสอีกครั้งในการกำกับพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว Beijing 2022 Winter Olympics ก็ถือว่ายังคงยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน!


ด้วยทุนสร้าง $45 ล้านเหรียญ (แซงหน้า The Promise (2005) ที่ใช้งบประมาณ $35 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินถล่มทลายภายในประเทศ 295 ล้านหยวน (ทำลายสถิติหนังจีนทำเงินสูงสุดแทนที่ Hero (2002)) แต่รายรับต่างประเทศกลับค่อนข้างน่าผิดหวัง ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้เพียง $6.57 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $72 ล้านเหรียญ น่าจะยังไม่เพียงพอทำกำไรกลับคืนมา

หนังได้เป็นตัวแทนประเทศจีนส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นกลับเข้าชิงสาขา Oscar: Best Costume Design ต้องถือว่าสมควรไม่น้อย (จริงๆก็น่าจะเข้าชิง Best Art Direction ด้วยนะ!)

แม้ว่า Curse of the Golden Flower (2006) เป็นหนังที่ดูไม่ค่อยสนุก ผมเองก็เกือบฟุบหลับกลางเรื่อง แต่เราสามารถเพลิดเพลินไปกับความอลังการงานสร้าง ออกแบบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม นักแสดงเล่นดีทุกคน (โดยเฉพาะกงลี่) ฉากต่อสู้ก็พอใช้ได้ คือถ้าไม่คาดหวังอะไร ก็ย่อมไม่ผิดหวังอะไรเช่นกัน (แต่ถ้าได้ดูบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลยละ)

แนะนำคอหนังมหากาพย์ (Epic) ต่อสู้กำลังภายใน (Wuxia) ดราม่าในราชสำนัก (Tragedy), โดยเฉพาะนักออกแบบ สถาปนิก แฟชั่นดีไซเนอร์ เสื้อผ้าหน้าผม, หลงใหลประวัติศาสตร์จีนย้อนยุค (Costume Period), แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว นักแสดงนำโจวเหวินฟะ กงลี่ และแฟนคลับเจย์โชว์ ห้ามพลาดเด็ดขาด!

ในปีเดียวกันนั้นมีภาพยนตร์อีกเรื่อง The Banquet (2006) ชื่อไทย ศึกสะท้านภพสยบบัลลังก์มังกร ดำเนินเรื่องในยุคสมัยห้าวงศ์สิบรัฐ เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในราชสำนัก พล็อตละม้ายคล้ายกับ Curse of the Golden Flower (2006) นำแสดงโดยจางจื่ออี๋, เกอโหย่ว, โจวซวิ่น, เพลงประกอบโดยถันตุ้น เผื่อใครสนใจลองหามาเปรียบเทียบดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับความวุ่นวายในครอบครัว ทรยศหักหลัง เพศสัมพันธ์ เข่นฆาตกรรม เลือดอาบท่วมจอ

คำโปรย | ความอร่ามของ Curse of the Golden Flower กลบเกลื่อนวิสัยทัศน์ด้านอื่นๆของผู้กำกับจางอี้โหมว จนหมดสิ้น!
คุณภาพ | อร่าม
ส่วนตัว | แค่ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: