Das Boot

Das Boot (1981) West German : Wolfgang Petersen ♥♥♥♥

อภิมหากาพย์การสู้รบด้วยเรือดำน้ำ U-boats ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) ที่แม้นำเสนอผ่านมุมมองทหารเรือ Nazi Germany แต่ไม่ว่าผู้ชมฝั่งฝ่ายไหนล้วนสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน ใครกันจะอยากถูกเข่นฆ่า ใจความต่อต้านสงคราม (Anti-Wars)

Das Boot (1981) คือหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมัน ด้วยทุนสร้างสูงสุดตลอดกาล (ขณะนั้น) ทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ขณะนั้น) เป็นหนังต่างประเทศเข้าชิง Oscar มากสาขาที่สุด (ขณะนั้น) และสามารถใช้เป็นบทเรียน ‘ตำราภาพยนตร์’ สำหรับศึกษาวิธีการนำเสนอเพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ก็ไม่รู้ศัตรูอยู่ไหน แต่สามารถทำให้ผู้ชมเสียวสันหลัง สั่นสะท้านทรวงในอยู่ตลอดเวลา

ใครที่ต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มีหลากหลายทางเลือกพอสมควร

  • ฉบับปี 1981 “Original Theatrical Cut” ความยาว 149 นาที
  • BBC Miniseries” ความยาว 300 นาที เพราะงบประมาณส่วนหนึ่งได้จากสถานีโทรทัศน์ จึงมีการตัดต่อแบ่งออกเป็นตอนๆ ซึ่งมีอยู่สองแบบ
    • ฉบับปี 1984 ฉายช่อง BBC2 ของประเทศอังกฤษ มีทั้งหมด 6 ตอนละ 50 นาที
    • ฉบับปี 1985 ฉายในประเทศเยอรมัน มีทั้งหมด 3 ตอนละ 100 นาที
  • ฉบับปี 1997 “Director’s Cut” นำบางส่วนจาก Miniseries มาแต่งเติมเพิ่มเข้าไปใน Original Theatrical Cut จนได้ความยาว 209 นาที ถือว่ายังพอไหวสำหรับฉายโรงภาพยนตร์
  • ฉบับปี 2004 “The Original Uncut Version” คือการนำเอาฉบับ Miniseries มามัดรวมโดยตัดทิ้ง Intro-Outro หลงเหลือความยาว 293 นาที

ผมตัดสินใจรับชม BBC Miniseries เพราะสามารถแบ่งดูได้หลายวัน (ขอเตือนไว้ก่อนว่า แต่ละตอนแม้งก็จบแบบอารมณ์ค้างๆคาๆ Cliffhanger เหลือเกินนะ!) ก็แล้วแต่เลยว่าใครสะดวกแบบไหน ใจจริงอยากแนะนำให้หลีกเลี่ยง Original Theatrical Cut เพราะมีรายละเอียดถูกตัดต่อออกไปเยอะมากๆ (หายไปครึ่งหนึ่งของฉบับเต็ม!) แต่คิดดูว่าฉบับนั้นยังได้เข้าชิง Oscar ถึง 6 สาขา! แสดงว่าคุณภาพต้องดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว มั้งนะ

หลังจากรับชม Das Boot (1981) บอกเลยว่าทำให้ผมไม่คิดหาดูหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำใดๆอีกต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์แบบ นำเสนอแทบทุกสิ่งอย่างในยุทธนาวี(ใต้น้ำ)จนเต็มอิ่ม ไม่หลงเหลือความน่าสนใจอื่นใด The Hunt for Red October (1990), Crimson Tide (1995), U-571 (2000) ก็แค่หนัง Blockbuster สไตล์ Hollywood สนุกแบบความบันเทิงทั่วๆไป … แล้วแต่รสนิยมส่วนบุคคลนะครับ แค่ผมคงไม่เขียนถึงหนังเรือดำน้ำเรื่องอื่นอีกแล้วละ


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Lothar-Günther Buchheim (1918-2007) ศิลปิน นักเขียน นักสะสม ค้าขายผลงานศิลปะ, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม (War correspondent) เมื่อปี 1941 ได้รับมอบหมายถ่ายภาพภารกิจเรือดำน้ำ (U-boats) ในปฏิบัติการครั้งที่ 7 ของเรือ U-96 ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic)

ภายหลังสงครามสิ้นสุด Buchheim ก็นำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมาเขียนนวนิยายอัตชีวประวัติ Das Boot (1973) แปลว่า The Boat โดยปรับเปลี่ยนชื่อตัวละครทั้งหมด กลายเป็น Leutnant Werner ปรากฎว่าขายดีเทน้ำเทท่า (Best-Selling) จนทำให้ต้องเขียนต่อกลายเป็นไตรภาค และยังเผยแพร่ภาพถ่ายระหว่างสงครามอีกกว่า 5,000 ภาพ

  • Das Boot (1973) แปลว่า The Boat
  • U-Boot-Fahrer (1985) แปลว่า U-Boat Sailors
  • Zu Tode Gesiegt (1988) แปลว่า Victory in the Face of Death

ความที่เป็นนวนิยายขายดีจึงมีโปรดิวเซอร์ทั้งจากอเมริกัน/เยอรมัน ติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ ก่อนตกเป็นของ Günter Rohrbach จาก Bavaria Film เมื่อปี 1976 ในตอนแรกใคร่สนใจผู้กำกับทางฝั่ง Hollywood เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์คุมงานสร้างขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นที่มีข่าวออกมาคือ John Sturges (The Magnificent Seven, The Great Escape) เล็งนักแสดงนำ Robert Redford ไม่ก็ Paul Newman แต่สุดท้ายบอกปัดเพราะไม่พึงพอใจบทดัดแปลงสักเท่าไหร่


Wolfgang Petersen (1941-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Emden บิดาเป็นทหารเรือ เติบโตขึ้นภายใต้สภาพปรักหักพัก ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของ Nazi Germany ตั้งแต่เด็กเมื่อได้รับของขวัญกล้อง 8mm ก็มีความสนใจด้านนี้เป็นอย่างมาก โตขึ้นมีโอกาสกำกับละครเวทียัง Ernst Deutsch Theater และร่ำเรียนภาพยนตร์ Film and Television Academy ณ Berlin จากนั้นทำงานวงการโทรทัศน์ เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Tatort (1971–77), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก One or the Other of Us (1974), ติดตามด้วยผลงานชิ้นเอก Das Boot (1981), จากนั้นตัดสินใจมุ่งสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ In the Line of Fire (1993), Air Force One (1997), The Perfect Storm (2000), Troy (2004), Poseidon (2006) ฯลฯ

เหตุผลที่ผู้กำกับ Petersen ได้รับเลือกให้กำกับ Das Boot (1981) เพราะโปรดิวเซอร์มีความประทับใจในผลงาน One or the Other of Us (1974) ซึ่งเป็นแนว Psychological Thriller เชื่อว่าน่าจะสามารถสร้างบรรยากาศลุ้นระทึก ตึงเครียด เข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของทหารเรือได้เป็นอย่างดี

Petersen ทำการดัดแปลงนวนิยายด้วยตนเอง นั่นสร้างความบาดหมางให้ผู้แต่งนวนิยาย Buchheim แม้ยังคงเป็นที่ปรึกษาหนังร่วมกับกัปตันเรือ U-96 ตัวจริงๆ Heinrich Lehmann-Willenbrock และต้นหน Hans-Joachim Krug แต่เห็นบอกว่าไม่ค่อยชอบผลลัพท์ของหนังสักเท่าไหร่

เกร็ด: เหตุการณ์จริงในเรือดำน้ำ U-96 สมาชิกส่วนใหญ่สามารถเอาตัวรอดชีวิตจนสิ้นสุดสงคราม แต่สถานะของเรือลำนี้หลังปฏิบัติการที่ 11 ได้ถูกปลดประจำการเมื่อปี 1943 และโดนโจมตีโดยเครื่องบินรบอเมริกา (US Air Force) ขณะเทียบท่า Wilhelmshaven จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทรเมื่อปี 1945


พื้นหลังปี ค.ศ. 1941, เรื่องราวของ Leutnant Werner (รับบทโดย Herbert Grönemeyer) ได้รับมอบหมายให้ทำรายงาน/บันทึกภาพภารกิจปฏิบัติการเรือดำน้ำ U-96 ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) โดยมีกัปปิตัน …ไม่มีชื่อ… (รับบทโดย Jürgen Prochnow)

เริ่มออกเดินทางจากท่าเรือ La Rochelle ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ล่องลอยคออยู่ในมหาสมุทรแอตเลนติก พานผ่านประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย พบเจอพายุมรสุม โจมตีเรือขนส่ง หลบหนีเรือพิฆาต จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร และสามารถเอาตัวรอดจากช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) ตลอดระยะเวลาสามเดือน ตั้งแต่ตุลาคมกลับขึ้นฝั่งอีกครั้งวันคริสต์มาสอีฟ

เกร็ด: จะมีเพียงเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officer) ที่ใช้คำเรียกตำแหน่งแทนชื่อตัวละคร กัปปิตัน, รองกัปปิตัน, ต้นหน, หัวหน้าห้องเครื่อง ส่วนลูกเรือทั้งหมดจะมีคำเรียกชื่อตามปกติ


Jürgen Prochnow (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Berlin แล้วไปเติบโตยัง Düsseldorf, บิดาเป็นวิศวกร ต้องการให้บุตรชายโตขึ้นทำงานธนาคาร แต่เขากลับสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เป็นตัวประกอบ/ช่างไฟสตูดิโอ Düsseldorfer Schauspielhaus แล้วไปร่ำเรียนต่อด้านการแสดงยัง Folkwang University แล้วเริ่มมีผลงานละครเวที เข้าสู่วงการโทรทัศน์ช่วงทศวรรษ 70s ร่วมงานผู้กำกับ Petersen ครั้งแรกซีรีย์ Tatort ตอน Jagdrevier (1973), ตามด้วยภาพยนตร์ One or the Other of Us (1974), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lost Honour of Katharina Blum (1975), Das Boot (1981), จากนั้นโกอินเตอร์เรื่อง Dune (1984), Beverly Hills Cop II (1987), The English Patient (1996), Air Force One (1997), The Da Vinci Code (2006) ฯลฯ

รับบทกัปปิตันเรือดำน้ำ U-96 ชายวัยกลางคนผู้มากประสบการณ์ พานผ่านสมรภูมิรบมาหลายครั้ง เต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณ เอ่อล้นด้วยบุคลิกภาพผู้นำ เมื่อพบเห็นลูกเรือหน้าละอ่อนก็บ่นพึมพำ แสดงทัศนคติต่อต้านนาซี (Anti-Nazi) ออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังปฏิบัติตามคำสั่งเบื้องบนอย่างเคร่งครัด แม้รับรู้ว่าคือหายนะ จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร ก็ยังสามารถนำพาทุกคนหวนกลับถึงฝั่ง

เกร็ด: Rutger Hauer เป็นนักแสดงอีกคนที่ผู้กำกับ Petersen ติดต่อไป แต่บอกปัดปฏิเสธเพราะกำลังจะเล่นหนัง Blade Runner (1982)

ภาพลักษณ์ของ Prochnow เหมาะกับบทบาทที่ต้องใช้บุคลิกภาพผู้นำ เพราะดูเป็นคนพานผ่านร้อนผ่านหนาว พานผ่านอะไรๆมามาก เต็มไปด้วยริ้วรอยประสบการณ์ แต่ที่โดดเด่นสุดๆคือการเก็บซ่อนเร้นความรู้สึกภายใน แม้ขัดแย้ง/ครุ่นคิดเห็นต่างต่อภาระหน้าที่ ไม่ได้ใคร่อยากเสียสละเพื่อชาติ แต่ก็มิอาจต่อต้านขัดขืนคำสั่งเบื้องคน ถึงอย่างนั้นกลับไร้เฉดแห่งความหวาดสะพรึงกลัว เชื่อมั่นในตนเองและศักยภาพลูกเรือทุกคน ต่อให้จมลงใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร ก็ยังสามารถตะเกียกตะกาย เอาตัวรอดหวนกลับถึงฝั่ง


Herbert Arthur Wiglev Clamor Grönemeyer (เกิดปี 1956) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติ German เกิดที่ Göttingen แล้วไปเติบโตยัง Bochum ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ร่ำเรียนเปียโนและแต่งเพลงจากโรงละครใกล้บ้าน Schauspielhaus Bochum มีโอกาสขึ้นแสดงคอนเสิร์ต ออกอัลบัม แสดงภาพยนตร์บ้างประปราย อาทิ Das Boot (1981), Spring Symphony (1983) ฯลฯ

รับบท Leutnant Werner นายทหารหนุ่มได้รับมอบหมายบันทึกภาพ รายงานประสบการณ์จากปฏิบัติการยุทธนาวี ด้วยความยังละอ่อนวัยไร้เดียงสา ช่วงแรกๆก็เต็มไปด้วยกระตือรือร้น สนใจโน่นนี่นั่น นานวันก็เริ่มเบื่อหน่ายเพราะไม่มีอะไรทำ กระทั่งเมื่อเผชิญหน้าศัตรู หลบหนีเอาตัวรอดหางจุกตูด พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายหลายครั้ง ก็ตระหนักว่าสมรภูมิรบคือการกระทำของคนเสียสติ รอดชีวิตมาได้โคตรโชคดีเหลือหลาย!

เกร็ด: ความที่หนังใช้เวลาถ่ายทำเกือบปี! ผู้กำกับ Petersen สั่งให้ทุกคนห้ามออกไปไหนตอนกลางวัน (ทหารที่อยู่ในเรือดำน้ำ แทบไม่มีโอกาสสัมผัสแสงอาทิตย์) ปล่อยหนวดไว้เครา นั่นคือสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นพัฒนาการทางกายภาพของนักแสดงจริงๆ

ในบรรดาคณะนักแสดงชุดนี้ ตัวละคร Werner ถือว่ามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดแล้ว ทั้งภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ จากใบหน้าเกลี้ยงเกลา หล่อเหล่า(มั้งนะ) ใสซื่อไร้เดียงสา เลยมักถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง กลายมาเป็นหนวดครึ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวด เต็มไปด้วยความตึงเครียดจริงจัง (Grönemeyer ดูแก่ลงไปหลายปี) โดยเฉพาะตอนจมอยู่ก้นเบื้องมหาสมุทร พยายามช่วยเหลือทุกสิ่งอย่างเท่าที่สามารถทำได้ พอฟื้นตื่นหวนกลับขึ้นมาก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่ง นั่นคือประสบการณ์อันโชกโชนที่จักทำให้เขาเติบโต เข้มแข็งแกร่ง บังเกิดสายสัมพันธ์เดียวกับลูกเรือทุกคน


ถ่ายภาพโดย Jost Vacano (เกิดปี 1934) ตากล้องสัญชาติเยอรมัน เริ่มต้นทำงานวงการโทรทัศน์ ตั้งแต่ทศวรรษ 60s จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ The Lost Honor of Katharina Blum (1975), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Das Boot (1981) ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography, ต่อมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Paul Verhoever อาทิ RoboCop (1987), Total Recall (1990), Showgirls (1995), Starship Troopers (1997) ฯ

ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น งานสร้างของหนังเต็มไปด้วยความท้าทาย ใช้เวลาเตรียมงานถึงสองปี ถ่ายทำอีกหนึ่งปี ต้องสร้างเรือน้ำขนาดเท่าของจริงขึ้นมาสองลำ สำหรับถ่ายภายนอก สามารถแล่นได้จริงในท้องทะเล (จอดอยู่ที่ท่าเรือ La Rochelle) และภายในเรือดำน้ำที่ต้องตั้งอยู่บนเครื่องไฮโดรลิก (สร้างขึ้นในสตูดิโอ Bavaria Studios, Munich) สามารถโครงเคลงไปมาได้ 45 องศาอย่างสมจริง … หมดเงินไปกับค่าก่อสร้างเรือดำน้ำทั้งหมด $15 ล้านเหรียญ

แซว: เรือดำน้ำลำดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยไม้ สามารถใช้งาน/ถ่ายทำได้ดีบริเวณน้ำนิ่งสงบ แต่ก่อนถ่ายทำฉากสุดท้ายของหนังเกิดเหตุพายุมรสุมอย่างรุนแรง ทำให้เรืออัปปางลง ทีมงานต้องเก็บกู้ ปรับปรุงซ่อมแซม สูญงบประมาณไปอีกไม่น้อย (แต่ก็ยังดีกว่าสร้างใหม่)

ส่วนโมเดลจำลองก็มีสร้างขึ้นหลากหลายขนาด อัตราส่วน 1/6 (ยาว 11.2 เมตร), 1/12 (ยาว 5.6 เมตร), 1/24 (ท่าเรือ Vigo) ซึ่งก็ต้องติดตั้งเครื่องยนต์ให้สามารถขับเคลื่อน/ดำน้ำได้จริง เพื่อสำหรับถ่ายทำในสถานการณ์ต่างๆ กลางมหาสมุทร และภายใต้พื้นผิวน้ำ

นอกจากนี้มันจะมีฉากที่ต้องเผชิญหน้าพายุมรสุม นั่นถ่ายทำในแท้งค์น้ำขนาดใหญ่ แล้วสร้าง Special Effect ให้เกิดคลื่นลม พายุฝน ไม่มีใครเสี่ยงเอาโมเดลจำลองมาเผชิญหน้าพายุจริงๆ

LINK: http://www.modelshipsinthecinema.com/2011/07/das-boot-1981.html

หนึ่งในความท้าทายของหนัง คือการถ่ายทำภายในเรือดำน้ำ เพราะเป็นสถานที่คับแคบ แค่เดินสวนกันยังยากลำบาก แถมยุคสมัยนั้นกล้อง Hand Held มีขนาดค่อนข้างใหญ่ สายไฟระโยงระยาง ขยับเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยความยุ่งยาก (ยังไม่มีการประดิษฐ์ Camera Rig ขึ้นมาด้วยนะ) เลยมีการประดิษฐ์ Gyroscopes สำหรับควบคุมการสั่นไหวของกล้อง (ใช้ขณะเคลื่อนเลื่อนกล้อง ติดตามนักแสดง ทำให้ภาพไม่สั่นไหวเกินไป) และต้องทำการซักซ้อมนักแสดงให้สามารถขยับเคลื่อนไหวอยางคล่องแคล่ว หลบหลีกกล้องไปในตัวด้วยเช่นกัน

และด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังมากๆ ทำให้ไม่สามารถบันทึกเสียง ‘sound-on-film’ ช่วงหลังการถ่ายทำนักแสดงจึงต้องไปพากย์เสียงใหม่ เห็นว่ามีสองฉบับภาษาอังกฤษและเยอรมัน (นักแสดงทุกคนล้วนพูดได้ทั้งสองภาษา)

เกร็ด: สตูดิโอ Bavaria Studios ยังคงเก็บรักษาฉาก/โมเดลจำลองเรือดำน้ำนี้ไว้ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สามารถเข้าไปเยี่ยมชม ดูตัวอย่างจากในลิ้งค์ https://www.argunners.com/visit-das-boot-1981-set-bavaria-film-studios/

ระเบิดใต้น้ำถือเป็นอีกความท้าทายของหนัง เพราะต้องคำนวณขนาดและปริมาณระเบิดใช้ให้เพียงพอดี ไม่ให้อานุภาพและแรงระเบิดทำลายโมเดลจำลองที่สร้างขึ้น ถ่ายทำในแท้งค์น้ำขนาดลึก 5 เมตร ด้วยกล้องที่สามารถบันทึกภาพ 1,500 fps (frames per second) เมื่อนำมาฉายด้วยความเร็วปกติ (25 -29 fps) จักทำให้เห็นพบเห็นการระเบิดแบบสโลโมชั้น (ในความเป็นจริงคือเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายเลยก็ว่าได้ ตูมปุ๊ปก็ตายปั๊ป)

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังใช้ฟิลเลอร์หรือไปใช้สารเคมีย้อมสีตอนหลังถ่ายทำ เพื่อให้ภาพถ่ายใต้ท้องทะเลมีโทนสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย มอบสัมผัสถึงอันตราย ทุกวินาทีที่เรือดำน้ำจมอยู่ใต้มหาสมุทร มันจะมีแรงกดดันที่พร้อมคร่าชีวิตพวกเขาได้ตลอดเวลา

ด้วยระยะเวลาโปรดักชั่น 1 ปีเต็มๆ การถ่ายทำเลยใช้วิธีเรียงตามลำดับเหตุการณ์ (Chronological order) เพื่อนำเสนอพัฒนาการ(ทางกายภาพ)ของลูกเรือเคียงคู่กันไปด้วย โดยผู้กำกับ Petersen สั่งให้นักแสดงทุกคนห้ามโดนแสงแดดตอนกลางวัน (เพราะลูกเรือจะอยู่แต่ภายในเรือดำน้ำ ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับแสงสว่างสักเท่าไหร่) ทำให้ผิวพรรณดูซีดเซียว รวมถึงปล่อยหนวดไว้เครา (เพราะทรัพยากรน้ำจืดมีจำกัด เลยไม่มีใครนิยมโกนกัน ซึ่งนั่นทำให้ตัวละครดูมีวัยวุฒิเพิ่มขึ้นด้วย)

แซว: ความที่หนังถ่ายทำแบบเรียงลำดับเหตุการณ์ (Chronological order) ทำให้เรือดำน้ำขนาดเท่าของจริงที่จอดเทียบท่าเรือ La Rochelle ต้องถูกทิ้งขว้างไว้หลายเดือน จู่ๆวันหนึ่งมันได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องลอย ก่อนค้นพบว่าถูกหยิบยืมไปใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ Raiders of the Lost Ark (1981) ของผู้กำกับ Steven Spielberg

เรือดำน้ำจาก Raiders of the Lost Ark (1981)

เอาจริงๆหนังไม่มีรายละเอียดใดๆให้ต้องครุ่นคิดวิเคราะห์เลยนะ ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินไปกับการนำเสนอที่เน้นสร้างบรรยากาศ ความตึงเครียด เก็บกดดัน แต่มันก็พอมีอยู่ 4-5 ฉาก ที่ชวนให้น่าพูดถึงอยู่บ้าง

เมื่อพบเห็นเรือขนส่งของศัตรูกำลังมอดไหม้ ยังมีคนมากมายอยู่บนเรือ หน้าที่ตามคำสั่งคือต้องจัดการทำลาย แล้วผู้ยังรอดชีวิตล่องลอยคออยู่ละ? ก็ต้องปล่อยไว้แบบนั้น จะให้พาขึ้นเรือดำน้ำงั้นเหรอ เสบียง อากาศ ขนาดอันคับแคบ นั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว … การตัดสินใจของกัปปิตัน ตั้งคำถามความถูกต้องเหมาะสมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว สงครามไม่ใช่สถานที่ที่เราจักสามารถมีมนุษยธรรม!

การต้อนรับที่ท่าเรือ Vigo เต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย สร้างภาพให้ดูดี สนเพียงยกย่องบุคคลผู้รอดชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษ (มีเพียงต้นหนที่แต่งกายเต็มยศเลยถูกทักผิด) ไม่ว่าผมดูยังไงก็เหมือนงานเลี้ยงส่ง(ไปตาย) เพราะภารกิจที่ได้รับหลังจากนี้ มีเพียงคนสิ้นคิดเท่านั้นจะไม่รู้ว่าคือหายนะ ด้วยเหตุนี้กัปปิตันจึงต้องการส่ง Leutnant Werner และ Johann กลับขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

กัปปิตันรับรู้ตัวดีว่าการเผชิญหน้าศัตรูผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) เพื่อเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ ด้วยความกว้างเพียง 13 กิโลเมตร คือป้อมปราการทางธรรมชาติชั้นดี ส่วนความลึกมีตั้งแต่ 300-900 เมตร (ถ้าช่วงขณะกระแสน้ำลง ก็อาจตื้นเขินลงได้อีกกระมัง) นี่จึงคือภารกิจไปตาย! แต่เพราะไม่อาจขัดขืนคำสั่งเบื้องบน จึงพยายามเสแสร้งบอกกับลูกเรือว่าง่ายๆ สบายๆ ล่อหลอกให้พวกเขาตายใจ ยินยอมมุ่งหน้าเข้าสู่สนามรบ ช่างเป็นผู้นำที่ … น่ายกย่องในการเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่มืดบอดต่อสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์

สำหรับคนที่ไม่รับรู้จักช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) อยู่ตำแหน่งพินสีแดง คือระยะห่างแคบที่สุดระหว่างทวีปยุโรปกับแอฟริกา สเปน-โมร็อกโค และเป็นหนึ่งในช่องแคบที่มีการจราจรทางเรือคับคั่งที่สุดในปัจจุบัน

ไคลน์แม็กซ์ของหนังคือการจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร สามารถอุปมาอุปไมยถึงสงครามคือจุดตกต่ำสุดของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหนล้วนประสบความพ่ายแพ้ สูญเสียชีวิต หมดสิ้นทรัพย์สิน ทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่ถ้าพวกเรายังมีสติ ค่อยๆซ่อมแซมแก้ไข ไม่ย่นย่อท้อแท้ ทุ่มเทพยายาม ย่อมสามารถทำให้เรือดำน้ำฟื้นคืนชีพ หวนกลับมาใช้งาน และล่อยลอยขึ้นสู่พื้นผิวน้ำได้สำเร็จ

ถ้าเราตัดทิ้งประเด็นสงครามของหนัง นี่คือฉากที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (และประเทศชาติ) ก่อนหน้านี้แม้เคยขัดแย้ง(ภายใน)อะไรกันมา แต่เมื่อทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เมื่อสามารถร่วมแรงรวมใจ ไม่ทอดทิ้งกัน ย่อมสามารถเอาตัวรอดพานผ่านอุปสรรคขวากหนามได้อย่างแน่นอน!

ในต้นฉบับนวนิยายและบทหนัง เมื่อเรือดำน้ำจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส แต่เพราะระหว่างถ่ายทำหนึ่งในนักแสดง Jan Fedder พลัดตกลงมาตรงบันได กระดูกซี่โครงหัก นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Petersen แทรกใส่ฉากนี้เพื่อให้เขายังมีส่วนร่วมกับหนัง … แต่ก็ต้องแลกกับการเดินทางไปกลับกองถ่าย-โรงพยาบาล แทบจะทุกวี่วัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์/คู่ขนานกับเรือดำน้ำที่กำลังจมสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร ต่างได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นเดียวกัน!

แม้ลูกเรือ U-96 จักสามารถเอาตัวรอดชีวิตจากการจมสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร แต่ใครต่อใครกลับต้องตกตายเพราะถูกโจมตีจากเครื่องบินรบ และยังทำให้เรือดำน้ำต้องอัปปางลง เหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายๆสำนวนไทย ‘หนีเสือปะจระเข้’ เอาตัวรอดจากหายนะหนึ่งมาพบเจออีกหายนะหนึ่ง นี่แสดงให้เห็นถึงวังวนของสงคราม เราไปเข่นฆ่าเขา เขาย่อมต้องการล้างแค้นเอาคืน โต้ตอบกลับ หรือคือกฎแห่งกรรม

ตัดต่อโดย Johannes Maria Bernhard ‘Hannes’ Nikel (1931-2001) สัญชาติเยอรมัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Das Boot (1981) [ทุกฉบับเลยนะครับ], Stalingrad (1993) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Leutnant Werner (หรือก็คือผู้แต่งนวนิยาย Lothar-Günther Buchheim) เมื่อโดยสารเรือดำน้ำ U-96 พบผ่านประสบการณ์ต่างๆ เฉียดเป็นเฉียดตาย ในยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก ทำให้ตัวละครบังเกิดพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ

เนื่องจากผมรับชมฉบับ BBC Miniseries จำนวน 6 ตอนละ 50 นาที เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเนื้อหามีความแตกต่างจาก Original Theatrical Cut และ Director’s Cut มากน้อยเพียงไหน ก็เลยขอแบ่งเรื่องราวโดยอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแล้วกันนะครับ

  • ตอนที่ 1
    • การมาถึงของ Leutnant Werner พบเห็นปาร์ตี้สุดเหวี่ยง ค่ำคืนสุดท้ายก่อนออกปฏิบัติภารกิจ
    • แนะนำเรือดำน้ำ U-96 ออกเดินทางจากท่า La Rochelle และการซักซ้อมเตือนภัย
  • ตอนที่ 2
    • ช่วงเวลาแห่งความเคว้งคว้าง น่าเบื่อหน่าย ล่อยลอยคออยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแอตแลนติก
    • พบเจอเรือพิฆาต หลบลี้หนีเอาตัวรอด
  • ตอนที่ 3
    • หลังหลบหนีจากเรือพิฆาต จำต้องเผชิญหน้าลมพายุรุนแรง
    • โจมตีเรือขนส่งของศัตรู จากนั้นเอาตัวรอดจากเรือพิฆาต
  • ตอนที่ 4
    • พบเจอเรือขนส่งของศัตรูที่ลุกไหม้ แต่ยังไม่จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร จำต้องทำลายทิ้ง ไม่มีมนุษยธรรมในการสงคราม
    • ได้รับคำสั่งให้ไปเติมเชื้อเพลิง เสบียง เทียบยังท่าเรือ Vigo
  • ตอนที่ 5
    • การต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษที่ Vigo
    • หาหนทางบุกฝ่าผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar)
  • ตอนที่ 6
    • หาหนทางเอาตัวรอดจากการจมลงใต้มหาสมุทร
    • เมื่อสามารถหวนกลับขึ้นมา เข้าเทียบท่า La Rochelle นึกว่ารอดแล้วแต่กลับประสบโศกนาฎกรรม

เทคนิคตัดต่อที่หนังใช้บ่อยมากๆสำหรับนำเสนอบรรยากาศตึงเครียด สร้างความกดดันให้บังเกิดขึ้น โดยเฉพาะขณะหลบซ่อนตัวจากเรือพิฆาต นอกจากความเงียบสงัด เสียงโซนาร์อันขนลุกขนพอง คือการร้อยเรียงปฏิกิริยาใบหน้าของบรรดาลูกเรือ มักไล่เรียงจากกัปปิตัน, ต้นหน, Leutnant Werner (คนนี้ขาดไม่ได้) และสมาชิกคนอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องให้ครบทั้งหมด แต่แค่เพียง 4-5 คน ก็กินเวลาไปหลายวินาทีแล้ว

หลังพานผ่านสถานการณ์ตึงเครียด เฉียดเป็นเฉียดตาย ก็จะเข้าสู่โหมดผ่อนคลาย พูดคุยเล่น รับประทานอาหาร ฯลฯ นี่เป็นวิธีพักฟื้นสภาพจิตใจทั้งบรรดาลูกเรือและผู้ชมได้เป็นอย่างดี เพื่อตระเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ต่อไปที่จักทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

หลังจากรับชมฉบับ BBC Miniseries ผมรู้สึกว่า Das Boot เหมาะสำหรับฉายรูปแบบโทรทัศน์มากๆ เพราะสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ด้วยลำดับเหตุการณ์ที่ค่อยๆทวีความตื่นเต้น รุกเร้าใจ (แถมการจบตอนแบบค้างๆคาๆ Cliffhanger ทำให้โคตรอยากติดตามตอนต่อไป) อีกทั้งระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ชมบังเกิดความสัมพันธ์/สนิทสนมกับตัวละคร อยากติดตาม ให้กำลังใจ จนสามารถเอาชีพรอดจากปฏิบัติการครั้งนี้ได้สำเร็จ … คือถ้าเป็นภาพยนตร์ 300 นาที มันมีจังหวะอารมณ์ขึ้นๆลงๆบ่อยครั้งเกินไป ยาวนานเกินไป จักทำให้ผู้ชมรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ง่วงหงาวหาวนอน มีอะไรๆสามารถตัดออกได้เยอะทีเดียว

สิ่งที่ผมมองว่าฉบับ BBC Miniseries (น่าจะ)ทำออกมาได้ดีกว่าภาพยนตร์ คือการใช้เวลาเพื่อสร้างตื่นเต้น ลุ้นระทึก (ภาพยนตร์มักถูกจำกัด/ควบคุมเวลาไม่ให้เยิ่นยาวนานเกินไป) ยกตัวอย่างเช่น

  • ช่วงการล่องลอยคออย่างไร้จุดหมายกลางมหาสมุทร เยิ่นยาวนานจนผู้ชมเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย (ไม่ต่างจากตัวละคร)
  • เมื่อถูกเรือพิฆาตเล่นเกมจิตวิทยา ความเงียบสงัดใต้ผืนน้ำ ยิ่งเนิ่นนานยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียด (ผู้ชมก็รู้สึกกดดัน)
  • ไฮไลท์คือตอนอยู่ใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร ซึ่งเป็นการแข่งขันกับเวลา เพราะไม่รู้ว่าเรือลำนี้จะอดรนทนต่อแรงกดดันใต้ผิวน้ำได้นานเท่าไหร่ มีอากาศหลงเหลือเพียงพอไหม (สภาพแต่ละคนเหมือนซอมบี้มากๆ)

เพลงประกอบโดย Klaus Doldinger (เกิดปี 1936) นักแซกโซโฟน/ทำเพลงภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Berlin เข้าเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ขวบที่ Düsseldorf conservatory ในตอนแรกมีความสนใจเปียโน คาริเน็ต ก่อนค้นพบความสนใจ American Jazz เลยหันมาเอาจริงจังกับแซกโซโฟน ก่อตั้งวง Passport ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Baal (1970), Das Boot (1981), The Neverending Story (1984) ฯลฯ

ผมแอบประหลาดใจอย่างมากๆ เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลแนวถนัดของ Doldinger คือ Jazz และ Classic แต่บทเพลงที่ได้ยินจนมักคุ้นหูใน Das Boot (1981) กลับมีกลิ่นอายสไตล์ Techno เต็มไปด้วยเสียงเครื่องสังเคราะห์ ประสานออร์เคสตรา (พร้อมโซนาร์) มอบสัมผัสอันหลอกหลอน ภายใต้ผืนผิวน้ำที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน ภยันตรายล้อมรอบทุกทิศทาง

ในอัลบัมมีอยู่ประมาณ 30 บทเพลง แต่ผมขอเลือกมาแค่ 4-5 เพลงดังขึ้นบ่อยครั้งจนติดหู ดูแค่ตอนตอนสองตอนก็จดจำท่วงทำนองได้แล้ว! เริ่มต้นที่ Anfang แปลว่า Beginning ซึ่งก็คือ Main Theme ได้ยินแทบทุกครั้งเมื่อเรือกำลังทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือขณะเคลื่อนแล่นไป(บนผิวน้ำ)

บทเพลง Titel แปลว่า Title เริ่มต้นด้วยเสียงโซนาร์ดังกึงก้อง สร้างความสั่นสยอง ขนหัวลุกพอง เพราะมันคือเสียงที่มอบสัมผัสอันตราย ความตายใกล้เข้ามาเยือน กัปปิตันจักสามารถเล่นเกมจิตวิทยากับเรือพิฆาต เอาตัวรอด หลบหนีพ้นได้สำเร็จหรือไม่

ในฉบับภาพยนตร์คงได้ยินบทเพลงนี้เพียงครั้งเดียวตอน Opening Credit แต่ฉบับ Miniseries ถ้าไม่กระโดดข้ามไปเสียก่อนก็คงฟังจนมักคุ้นหูเช่นกัน เป็นการสร้างบรรยากาศนำเข้าสู่เรื่องราวแต่ละตอนได้อย่างหลอกหลอน ตราตรึง น่าประทับใจมากๆ และเป็นการรวบรวมเอาท่วงทำนองหลักๆ มายัดเยียดใส่จนแทบหมดสิ้น

เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างที่น่าเต้นตื่น ทำให้เรือดำน้ำต้องเร่งความเร็ว (ขณะยังอยู่บนพื้นผิวน้ำ) บทเพลง U-96 มีลักษณะเหมือนการเตรียมประจัญบาน เต็มไปด้วยความฮึกเหิม ท่วงทำนองรุกเร้าใจ ฉันกำลังจะได้เผชิญหน้าศัตรู ต่อสู้นำชัยชนะสู่ประเทศชาติ

Erinnerung แปลว่า Memory ใช้เสียงกีตาร์แทนความรู้สึกของบรรดาลูกเรือ เมื่อออกเดินทางมาระยะเวลาหนึ่ง ย่อมเกิดอาการครุ่นคิดถึงบ้าน คร่ำครวญถึง(หญิงสาว)ที่ตกหลุมรัก จินตนาการเพ้อใฝ่ เฝ้ารอคอยวันเวลาจักได้อยู่เคียงข้างอีกสักครั้ง … นี่น่าจะเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะ ซาบซึ้ง ตราตรึง กินใจที่สุดในอัลบัมนี้นะครับ

อีกบทเพลงแถมท้าย It’s a Long way To Tipperary (1912) ต้นฉบับแต่งโดย Jack Judge และ Harry Williams คือบทเพลง Marching หรือ Patriotic Song ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (และสองด้วยมั้ง) ซึ่งเนื้อคำร้องเป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับชาวอังกฤษเดินทางสู่ Tipperary, Ireland (ซึ่งไกลโคตรๆ) แต่ในหนังขับร้องประสานเสียงโดยทหารเรือเยอรมัน (ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษ) ถือเป็นการล้อกับการเดินทางที่แสนยาวไกล และภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

It’s a long way to Tipperary,
It’s a long way to go.
It’s a long way to Tipperary,
To the sweetest girl I know!
Goodbye, Piccadilly,
Farewell, Leicester Square!
It’s a long long way to Tipperary,
But my heart’s right there.

Francois Truffaut said it is impossible to make an anti-war film, because films tend to make war look exciting. In general, Truffaut was right. But his theory doesn’t extend to “Das Boot.”

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4

Das Boot (1981) แม้นำเสนอเหตุการณ์สู้รบสงคราม ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก สามารถยิงตอร์ปิโดทำลายเรือขนส่งศัตรู มีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่นั่นไม่ทำให้กัปปิตัน ลูกเรือ หรือแม้แต่ผู้ชมรับรู้สึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เพราะทุกครั้งเมื่อเผชิญหน้าเรือพิฆาต ต้องหนทางหลบหนีหางจุกตูด ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องลึกมหาสมุทร อธิษฐานภาวนาให้(กัปปิตัน)สามารถชิงไหวชิงพริบ เอาตัวรอดพ้นจากศัตรูผู้ล่าดังกล่าว

เมื่อกัปปิตัน ลูกเรือ และผู้ชม ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย สภาพจิตใจมีความตึงเครียด เก็บกดดัน จะเริ่มตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของชีวิต นี่ฉันมาทำบ้าบอคอแตกอะไรอยู่ในสถานที่แห่งนี้? ชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ไม่ได้มีความหมายห่าเหวใดๆ เมื่อเราเข่นฆ่าผู้อื่น ผู้อื่นย่อมสามารถเอาคืน เข่นฆ่าเราได้เช่นเดียวกัน

เช่นนั้นแล้วมนุษยชาติทำสงครามไปเพื่ออะไร? นั่นคือใจความของหนังที่ต้องการต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ต่อต้านการทหาร (Anti-Military) ต่อต้านนาซี (Anti-Nazi) ทำไมเราต้องนำพาตนเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย จมอยู่ใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจเลยสักนิด เสียสละเพื่อประเทศชาติ เพื่อผู้นำ***มันคุ้มกันแล้วหรือ?

แต่คนที่อยู่ฝั่งซ้าย/อนุรักษ์นิยม ก็คลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกันนะ เพราะเป็นการจำลองสถานการณ์จริง สิ่งที่ทหารเรือ/เรือดำน้ำจักต้องประสบพบเจอ ทำให้สามารถเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมพร้อมรับมือ จัดการสภาวะทางอารมณ์ของตนเอง อีกทั้งยังเสี้ยมสอนยุทธวิธีรบ (แม้ปัจจุบันจักแตกต่างไปมากก็ตามที) สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทหารหาญ ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณชื่นชอบก็ตามสบาย

มองโลกในปัจจุบัน สงครามกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ สำหรับข่มขู่ อวดอ้าง ท้าทายศัตรูขั้วตรงข้าม โดยไม่สนหลักมนุษยธรรม เพียงความชอบทำของตนเอง โชคยังดีที่สารขัณฑ์เป็นประเทศโลกที่สาม ไม่จำต้องเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายใด ปล่อยให้หมาอำนาจกัดกันเอง … แต่เราก็ต้องเอาตัวเองให้รอดเสียก่อนสินะ!

แซว: ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกว่าเรือดำน้ำของ Nazi Germany เหมือนไม่ได้มีศักยภาพในการรบสักเท่าไหร่ ทำได้เพียงลอบโจมตี ซ่อนตัว และหลบหนีหัวซุกหัวซุน (แต่เรือดำน้ำยุคสมัยนี้ก้าวล้ำไปไกลมากๆแล้วนะครับ มีอุปกรณ์พรางตัว หลบซ่อนเรดาร์/โซนาร์ บรรทุกจรวดพิสัยไกล หรือแม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ต้องหวาดเกรงกลัวเรือพิฆาตอีกต่อไป) นั่นคงเพราะข้อจำกัดยุคสมัยนั้น งบประมาณ เทคโนโลยี และความดื้อรั้น/หลงตนเองของชนชั้นผู้นำ ครุ่นคิดว่าเชื้อชาติพันธุ์ของฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร แต่แท้จริงแล้วยังห่างจากนานาอารยะอยู่ไกลลิบลิ่ว

Wolfgang Petersen แม้ไม่ได้เป็นผู้กำกับที่มีความเป็นศิลปิน (auteur) แต่ก็มีความรู้ในศาสตร์ภาพยนตร์อย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึงสภาพจิตวิทยา วิธีนำเสนอสภาวะทางอารมณ์ตัวละคร ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาภาพยนตร์ที่ไม่ได้สลับซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลาอันเหนือชั้น ผู้ชมสามารถสัมผัสความรู้สึกนึกคิด ราวกับตนเองตกอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ถือเป็นความบันเทิงที่สมดุลกับคุณค่าทางศิลปะ

ผลงานเด่นๆดังๆของผู้กำกับ Petersen ล้วนละเล่นจิตวิทยาตัวละคร สร้างสถานการณ์ ภัยพิบัติ/ธรรมชาติ แล้วหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด Outbreak (1995), Air Force One (1997), The Perfect Storm (2000), Poseidon (2006) ล้วนเป็นผลงานเน้นความบันเทิง ตื่นเต้นเร้าใจ ด้วยสเกลงานสร้างระดับ Blockbuster … ตอนสมัยวัยรุ่นผมชอบแทบทุกผลงานเลยนะ แต่ตอนนี้คงไม่มีเวลาเขียนถึงนะครับ


ด้วยทุนสร้าง DM 32 ล้านมาร์คเยอรมัน (=$18.5 ล้านเหรียญ) เป็นภาพยนตร์ทุกสร้างสูงสุดในประเทศเยอรมันขณะนั้น ซึ่งกว่าจะถูกโค่นสถิติก็เมื่อ Perfume: The Story of a Murderer (2006) ด้วยการใช้งบประมาณ $63.7 ล้านเหรียญ

สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $11.48 ล้านเหรียญ ถือเป็นสถิติหนังต่างประเทศทำเงินสูงสุดขณะนั้น! ก่อนถูกแซงโดย Life Is Beautiful (1997), รวมรายรับทั่วโลก $84.9 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2020 =$220 ล้านเหรียญ) ซึ่งก็น่าจะเป็นภาพยนตร์สัญชาติเยอรมันสูงสุดตลอดกาลเช่นกัน (อันหลังนี้ไม่คอมเฟิร์มนะครับ)

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar ถึง 6 สาขา (ถูก SNUB สาขา Best Film แถมไม่ได้เป็นตัวแทน West German ลุ้นรางวัล Best Foreign Language Film) แม้ไม่ได้สักรางวัล แต่ก็เป็นอีกสถิติหนังภาษาต่างประเทศที่มีลุ้นรางวัลมากสุดขณะนั้น ก่อนถูกแซงโดย Life Is Beautiful (1997)

  • Academy Award
    • Best Director
    • Best Screenplay – Based on Material from Another Medium
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing
    • Best Sound
    • Best Sound Effects Editing
  • BAFTA Award: Best Film Not in the English Language
  • Golden Globe Awards: Best Foreign Film

แต่รางวัลที่ถือว่าเซอร์ไพรส์สุดๆน่าจะเป็นคือ International Emmy Award: Outstanding Drama มอบให้ฉบับ BBC Miniseries ที่ฉายทางโทรทัศน์เมื่อปี 1984-85 เรียกว่าประสบความสำเร็จทั้งจอเงิน(ภาพยนตร์)และจอแก้ว(โทรทัศน์)

เมื่อตอนที่ผู้กำกับ Peterson ตัดต่อฉบับ Director’s Cut และ The Original Uncut Version ก็ได้มีการฟื้นฟูบูรณะฟีล์มหนัง และบันทึกเสียงใหม่ (นักแสดงทั้งหมดกลับมาให้เสียงพากย์เยอรมันและอังกฤษ) จัดจำหน่าย Blu-Ray ครั้งแรกเมื่อปี 2010 และล่าสุดพบเห็น Das Boot Complete Edition วางขายปี 2018 (ไม่มีเขียนว่า ‘digital restoration’ น่าจะแค่สแกนใหม่เฉยๆนะครับ)


เอาจริงๆผมไม่มีแผนที่จะรับชม/เขียนถึง Das Boot (1981) แต่ต้องถือว่าเป็นโชคชะตาล้วนๆ เพราะการเสียชีวิตของผู้กำกับ Wolfgang Petersen ทำให้ลองค้นหาข้อมูลและพบเจอภาพยนตร์เรื่องนี้ความยาว 300 นาที! เลยตั้งใจทำการทดลองแบ่งดูเป็นวันๆ (แบบ Miniseries) เตรียมตัวเองก่อนเริ่มรับชม Sátántangó (1994)

ผมใช้เวลารับชม Das Boot (1981) ทั้งหมด 4 วัน (วันแรกดูตอนเดียวแต่โคตรหงุดหงิดเพราะจบแบบค้างๆคาๆ วันถัดๆมาเลยดูตอนครึ่ง เพื่อตัดปัญหา Cliffhanger ทิ้งไปเลย!) แม้ภาพรวมจะรู้สึกขาดความต่อเนื่องไปบ้าง แต่หนังยาวๆแบบนี้ดูรวดเดียวไม่จบก็ไม่เป็นไรหรอกนะครับ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ก็คือวิธีการสร้างบรรยากาศลุ้นระทึก ตึงเครียด ชวนให้ระลึกนึกถึงเทคนิคของ Dr. Stangelove (1964) สร้างความสั่นสะท้านทรวงใน เสียวสันหลังวูบวาป ทั้งๆนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองทหาร Nazi Germany แต่ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าพวกเขาก็มนุษย์เหมือนกัน ไม่มีใครอยากรับคำสั่งฆ่าตัวตาย ต้องการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีพรอดทั้งนั้น … ถือเป็นหนึ่งในหนังต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

แนะนำคอหนังสงคราม (Wars Film) ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars), อาชีพทหารเรือ ใฝ่ฝันอยากประจำการในเรือดำน้ำ, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังเกตสภาวะทางอารมณ์ทหารหาญ, ช่างภาพ ตากล้อง ศึกษาการถ่ายภาพในสถานที่คับแคบ, โดยเฉพาะคนทำงานสายภาพยนตร์ เรียนรู้วิธีสร้างความตื่นเต้น ตัดต่อลุ้นระทึก และการใช้เสียงเพื่อบรรยากาศตึงเครียด

จัดเรต 18+ กับการสงคราม ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน

คำโปรย | Das Boot อภิมหากาพย์การสู้รบด้วยเรือดำน้ำ ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Wolfgang Petersen
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: