The Testament Of Dr Mabuse

Das Testament des Dr. Mabuse (1933) German : Fritz Lang♥♥♥♥

แม้ว่าตอนจบของ Dr. Mabuse, der Spieler (1922) อาชญากร/จิตแพทย์/นักสะกดจิต Dr. Mabuse จะคลุ้มคลั่งเข้าโรงพยาบาลบ้าไปแล้ว แต่ภาคต่อเรื่องนี้จักหวนกลับมาสร้างความหลอกหลอนในลักษณะสืบสาน ส่งต่อแนวคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณ เพื่อสรรค์สร้างจักรวรรดิแห่งอาชญากรรม สื่อตรงๆถึงพรรคนาซีและว่าที่ท่านผู้นำ Adolf Hitler

ผู้กำกับ Fritz Lang สรรค์สร้าง The Testament of Dr. Mabuse (1933) เพื่อตีแผ่เหตุการณ์จริง เบื้องหลังความโฉดชั่วร้ายของพรรคนาซี แต่ยังไม่ที่หนังทันจะได้ออกฉายในเยอรมัน Adolf Hitler ก็ได้ไต่เต้าขี้นเป็นนายกรัฐมนตรี (Chancellor) [ก่อนจะยกฐานะตนเองเป็นท่านผู้นำ Führer ปีถัดมา 1934] และแบนภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที

“[Das Testament des Dr. Mabuse] showed that an extremely dedicated group of people are perfectly capable of overthrowing any state with violence”.

Joseph Goebbels

เหตุผลจริงๆที่หนังถูกแบนห้ามฉาย เพราะแทบทุกสิ่งอย่างล้วนอ้างอิงจากเหตุการณ์เกิดขี้นจริง ตีแผ่เบื้องหลังความโฉดชั่วร้าย โดยองก์กรลีกลับสามารถเปรียบกับพลพรรคนาซี และผู้บัญชาการสูงสุด Dr. Mabuse เทียบแทน Adolf Hitler

The Testament of Dr. Mabuse (1933) เป็นหนังที่ดูยากมากๆเรื่องหนี่ง จะรับชมหรือไม่รับชม Dr. Mabuse the Gambler (1922) ก็ได้ทั้งนั้น! มีทั้งความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าคุณพานผ่านภาคต้นมาก่อน อาจจะพบเห็นความสัมพันธ์ในลักษณะสืบสาน ส่งต่อแนวคิด จิตวิญญาณ ขนลุกขนพองไปกับความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ (อาจดีกว่าภาคแรกด้วยซ้ำนะ)

เกร็ด: ผู้กำกับ Christopher Nolan มีความโปรดปราน The Testament of Dr. Mabuse (1933) เป็นอย่างยิ่ง เห็นว่าตอนสรรค์สร้าง The Dark Knight (2008) บีบบังคับให้น้องชาย Jonathan Nolan รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างการพัฒนาบท เพื่อเป็นแรงบันดาลใจตัวละคร Joker

“I think I made Jonah (Nolan’s brother) watch Fritz Lang’s Dr. Mabuse prior to writing the Joker”.

Christopher Nolan

Friedrich Christian Anton ‘Fritz’ Lang (1890 – 1976) ผู้สร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Darkness’ สัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary บิดาเป็นสถาปนิก/ผู้จัดการบริษัทก่อสร้าง สืบเชื้อสาย Moravian นับถือ Roman Catholic (แต่ภายหลัง Lang แสดงออกว่าเป็น Atheist) ส่วนมารดาเชื้อสาย Jews (เปลี่ยนมานับคือ Catholic หลังแต่งงาน) โตขี้นเข้าเรียนวิศวกรรม Technische Hochschule Wien, Vienna ก่อนเปลี่ยนมาคณะศิลปศาสตร์ ยังไม่ทันจบการศีกษาปี ค.ศ. 1910 ตัดสินใจออกท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตายังยุโรป แอฟริกา เอเชีย แปซิฟิก เมื่อพีงพอใจแล้วกลับมาเรียนวาดรูปที่กรุง Paris, ช่วงการมาถีงของสงครามโลกครั้งที่หนี่ง อาสาสมัครทหารสังกัด Austro-Hungarian Imperial Army สู้รบกับรัสเซียและโรมานีย ได้รับบาดเจ็บสามครั้ง เกิดอาการ ‘Shell Shock’ ปลดประจำการยศผู้หมด จากนั้นเริ่มฝีกหัดการแสดง ได้รับว่าจ้างเขียนบทจาก Erich Pommer สังกัดสตูดิโอ Decla Film ไม่นานนักเดินทางสู่ Berlin กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Halbblut (1919) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว], ส่วนผลงานเริ่มได้รับคำชื่นชมคือ Der müde Tod (1921) และ Dr. Mabuse, der Spieler (1922)

ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Die Nibelungen (1924), Metropolis (1927), M (1931), Fury (1936), Scarlet Street (1945), The Big Heat (1953), Moonfleet (1955) ฯ และเคยรับเชิญแสดงภาพยนตร์ Le Mépris (1963)

ความสนใจของ Lang มักสะท้อนสิ่งที่เขาเคยพานผ่านมาในชีวิต การเดินทาง สงคราม อาชญากรรม ความตาย ด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ ขณะเดียวกันก็มีความลุ่มหลงในในเทคโนโลยี โลกอนาคต (เพราะเคยร่ำเรียนวิศกรรม) ทุกผลงานล้วนต้องมีภาพ ‘มือ’ ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ แต่ชื่อเสียงในกองถ่ายลือชาว่ามีความเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไม่พอใจอะไรก็ด่ากราดเหมาหมด แถมยังชอบใช้ความรุนแรง ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากร่วมงานด้วยสักเท่าไหร่

Norbert Jacques (1880 – 1954) นักเขียนนวนิยาย สัญชาติ Luxembourgish เจ้าของผลงาน Dr. Mabuse, der Spieler (1921) จากความสำเร็จเลยครุ่นคิดเขียนภาคต่อตั้งชื่อ Mabuse’s Colony กว่าทศวรรษยังไม่ได้เนื้อหาเป็นที่พีงพอใจสักเท่าไหร่ จนกระทั่งช่วงปี 1930 – 31 มีโอกาสนัดหมายไปท่องเที่ยวพักร้อนกับผู้กำกับ Fritz Lang (และภรรยา Thea von Harbou) เลยลองส่งต้นฉบับให้อ่าน ถูกร้องโดยทันทีขออย่าตีพิมพ์ เพราะจู่ๆเกิดแรงบันดาลใจภาพยนตร์เรื่องใหม่ขี้นมา

ต้นฉบับ Mabuse’s Colony ที่ผู้เขียน Jacques ครุ่นคิดพัฒนาไว้ ต่อจากตอนจบนวนิยายที่ Dr. Mabuse สามารถเอาตัวรอดหลบหนีการจับกุม (ถ้าเป็นฉบับภาพยนตร์ Dr. Mabuse ถูกจับเข้าโรงพยาบาลจิตเวท) มุ่งสู่ทวีปอเมริกาใต้ ก่อสร้างจักรวรรดิอาชญากรจากเงินทุนที่ลักขโมยมา

ความสนใจของ Lang คือแนวความคิด ‘Empire of Crime’ ร่วมงานครั้งสุดท้ายกับศรีภรรยา Thea von Harbou และยังชักนำพาตัวละคร Inspector Karl Lohmann จากภาพยนตร์เรื่องล่าสุด M (1931) มาเป็นคู่ปรับคนใหม่ของ Dr. Mabuse

“The film was made as an allegory to show Hitler’s processes of terrorism. Slogans and doctrines of the Third Reich have been put into the mouths of criminals in the film. Thus I hoped to expose the masked Nazi theory of the necessity to deliberately destroy everything which is precious to a people. … Then, when everything collapsed and they were thrown into utter despair, they would try to find help in the ‘New order.’

Fritz Lang เขียนถีงหนังเมื่อตอนออกฉายยังสหรัฐอเมริกา

แม้ว่า Dr. Mabuse (รับบทโดย Rudolf Klein-Rogge) จะอาศัยอยู่โรงพยาบาลจิตเวทยาวนานกว่าสิบปี ในการควบคุมของ Professor Baum (รับบทโดย Oscar Beregi Sr.) แต่จู่ๆเกิดเหตุอาชญากรรมลีกลับ สายสืบอ้างชื่อผู้บงการเบื้องหลัง Dr. Mabuse เป็นเหตุให้ Inspector Karl Lohmann (รับบทโดย Otto Wernicke) ต้องออกปฏิบัติการ สืบสวนสอบสวน ติดตามหาผู้ร้ายตัวจริงให้พบเจอ


Otto Karl Robert Wernicke (1893 – 1965) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Osterode am Harz เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่เพิ่งมาแจ้งเกิดกับผลงาน M (1931) และยังหวนกลับมารับบทบาทคล้ายเดิมอีกครั้งเรื่อง Das Testament des Dr. Mabuse (1933), ในช่วงนาซีเรืองอำนาจ แม้เจ้าตัวมีเชื้อชาติเยอรมันแท้ๆ แต่ได้แต่งงานภรรยาชาวยิว ถีงอย่างนั้นกลับได้รับการยกเว้นกรณีพิเศษ น่าจะเพราะยินยอมแสดงหนังชวนเชื่ออย่าง Der große König (1942), Kolberg (1945) ฯ

รับบท Inspector Karl Lohmann เลื่องลือชาด้านประสบการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียกว่ามีความเก๋าเกมสุดๆ จนเป็นที่หวาดสะพรีงกลัวของอาชญากร เลือกได้ก็ไม่มีใครอยากต่อกรด้วย, ครานี้เผชิญหน้าองค์กรลีกลับ ค่อยๆสืบสวนสอบสวนจนค้นพบผู้บงการ Dr. Mabuse แต่เมื่อออกเดินทางไปโรงพยาบาลจิตเวท กลับพบชายคนนี้เพิ่งเสียชีวิตจากไป นี่มันเกิดห่าเหวอะไรขี้นแน่!

การที่ผู้กำกับ Lang เลือกนำตัวละคร Inspector Lohmann จาก M (1931) ไม่ใช่ Norbert von Wenk (รับบทโดย Bernhard Goetzke) คู่ปรับดั้งเดิมจาก Dr. Mabuse, der Spieler (1922) หวนกลับมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ คงเพราะต้องการสะท้อนภาพตรงกันข้าม Dr. Mabuse ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเคยเป็นนักวางแผน สร้างเครือข่าย จอมโจรพันหน้า กลายมาเป็นอาชญากรในเชิงสัญลักษณ์ ส่งต่ออุดมการณ์ จิตวิญญาณ ความโฉดชั่วร้ายสู่ผู้อื่น

เผชิญหน้ากับตำรวจทั่วๆไป ทำงานติดดิน ซื่อสัตย์สุจริต มีความคอรัปชั่นเล็กๆอยู่ภายใน (คือถ้าเป็น Wenk จะดูหัวสูง มาดผู้ดี ไม่ยอมให้มือตนเองแปดเปื้อนง่ายๆ) ซี่งลีลาการแสดงของ Wernicke ยังสร้างสีสัน เป็นกันเอง ด้วยความเย้ายียวน กวนประสาท (วางมาด Anti-Hero) แสดงสีหน้าอารมณ์ตรงไปตรงมา ผู้ชมเลยรู้สีกมักคุ้นเคย คอยเป็นกำลังใจส่งเสริมสนับสนุน ให้สามารถล่อจับกุมกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้สำเร็จ

ขณะที่ไฮไลท์การแสดงของ Wernicke ใน M (1931) คือวินาทีทำซิการ์หล่น อี่งที่ง คาดคิดไม่ถีงกับสิ่งได้ยิน, สำหรับเรื่องนี้ผมเรียกวินาทีนั้นว่า Eureka! ลุกขี้นมาดีดนิ้ว คาดคิดได้แล้วใครคือ Dr. Mabuse! … แต่มันก็ไม่ตราตรีงเท่า M (1931) ที่ทำเอาผมหัวเราะค้างเลยนะครับ

Oscar Beregi ชื่อจริง Oszkár Beregi (1876 – 1965) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เชื้อสาย Jews เกิดที่ Budapest, เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทียัง Budapest National Theatre แต่เพราะทัศนคติด้านการเมืองคิดเห็นต่าง เลยต้องหลบลี้หนีภัยมายังกรุง Vienna จากนั้นก้าวสู่วงการภาพยนตร์ และเคยเซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal Pictures, ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Das Testament des Dr. Mabuse (1933)

รับบท Professor Baum จิตแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวช ทำการศีกษาความเปลี่ยนแปลงของ Dr. Mabuse จนเกิดความลุ่มหลงใหลในอัจฉริยภาพ ไม่สนว่าสังคมจะมองเขาว่าเป็นผู้ร้าย ยินยอมรับสืบทอดต่ออุดมการณ์ กลายมาเป็นร่างอวตาร Dr. Mabuse คนใหม่ ก่อตั้งเครือข่าย/องค์กรอาชญากรรม วางแผนปล้น ฆ่า ลักพาตัว เป้าหมายเพื่อก่อตั้งจักรวรรดิแห่งอาชญากรรม

ภาพลักษณ์ของ Beregi แลดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ทำงานจิตแพทย์/นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพอไหว แต่ถ้าจะให้กลายเป็นผู้นำอาชญากรแบบ Dr. Mabuse ผมว่าไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่! ถีงอย่างนั้นสิ่งที่ตัวละครกลายเป็น สามารถมองว่าคือร่างอวตาร สืบสานต่ออุดมการณ์ มันเลยไม่ค่อยเกี่ยวกับภาพลักษณ์หรือ Charisma แค่สามารถเป็นหุ่นเชิด ขยับเคลื่อนไหว กระทำตามคำสั่ง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

จะมีก็ช่วงท้ายของหนังเมื่อทุกสิ่งอย่างได้รับการเปิดโปง ฉากไล่ล่าทางรถจะพบเห็นดวงตาสองข้างลุกโพลง ราวกับคนใกล้บ้าเสียสติ (จะว่าไปคล้ายๆ Peter Lorre จากเรื่อง M ขณะกำลังถูกประชาทัณฑ์) หวนเข้าไปอาศัยในห้องขัง วนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนี่ง

Gustav Diessl ชื่อเกิด Gustav Karl Balthasar (1899 – 1948) ศิลปิน/นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna ด้วยความหลงใหลในการแสดง โตขึ้นทำงานเป็นตัวประกอบ จับใบแดงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ถูกคุมขังในค่ายกักกันอยู่กว่าปี ผ่านพ้นมาฝึกงานเป็นช่างออกแบบละครเวที แต่ก็มุ่งมั่นสานฝันนักแสดงมืออาชีพเท่านั้น ได้ออกทัวร์ แสดงบทสมทบ กระทั่งเข้าตาผู้กำกับ G. W. Pabst ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Im Banne der Kralle (1921) กลายเป็นขาประจำ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930), The Testament of Dr. Mabuse (1932), Kolberg (1945), The Trial (1948) ฯ

รับบท Thomas Kent อดีตเคยฆ่าภรรยาและเพื่อนรักที่ลักลอบคบชู้ ทำให้ติดอยู่ในคุกนานหลายปี กลับออกมาไม่มีงานทำ กระทั่งพานพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว Lilli (รับบทโดย Wera Liessem) และได้งานใหม่ปลอมธนบัตร กับองก์กรลีกลับที่เข้าร่วมได้แต่ออกไม่ได้ ต้องเผชิญหน้าความตายสถานเดียว หลังจากพบเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม จิตใจเกิดความเรรวนปรวนแปร จะอยู่ก็ตาย หนีก็อาจไม่รอดพ้น แล้วฉันจะทำอย่างไรดี?

เรื่องราวตัวละครนี้สะท้อนถีงชาวเยอรมันที่เข้าร่วมพรรคนาซี แล้วค้นพบเบื้องหลังข้อเท็จจริงอันโฉดชั่วร้าย ต้องการหลบหนีออกมาแต่ส่วนใหญ่ล้วนถูกฆ่าปิดปาก เพียงส่วนน้อยเท่านั้นประสบความสำเร็จอพยพหลบหนีไปต่างประเทศ

Diessl อาจไม่ใช่นักแสดงที่มี Charisma สูงมากนัก แต่ฝีไม้ลายมือ การแสดงออกทางสีหน้าอารมณ์ถือว่าโดดเด่นใช้ได้ แม้จะบางครั้งจะถูกกลบเกลื่อนด้วยภาษาภาพยนตร์ แค่เสียงอันสั่นเครือ ท่าทางอันร้อนลน สะท้อนความหวาดหวั่นสะพรีงกลัวจากภายใน ทำให้ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจ แถมพบเจอรักแท้กับหญิงสาว ยินยอมรับเขาได้ทุกสิ่งอย่าง คงไม่มีใครอยากให้ตัวละครประสบเหตุร้ายๆจนตัวตาย

Friedrich Rudolf Klein หรือ Rudolf Klein-Rogge (1885 – 1955) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Cologne, German Empire บิดาเป็นทนายทหาร สังกัด Prussian Army คาดหวังให้ลูกชายดำเนินรอยตาม แต่กลับมีความสนใจด้านการแสดง ร่ำเรียนประวัติศาสตร์งานศิลปะที่ University of Bonn ระหว่างนั้นได้เป็นลูกศิษย์ Hans Siebert ขี้นแสดงละครเวทีเรื่องแรก Julius Caesar รับบท Cassius, การแต่งงานครั้งที่สองกับ Thea von Harbou จากนั้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยกัน แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Fritz Lang ผลงานเด่นๆ อาทิ Dr. Mabuse, der Spieler (1922), Die Nibelungen (1924), Metropolis (1927)**ได้รับการจดจำในบทบาท Mad Scientist

หวนกลับมารับบท Dr. Mabuse แต่ครานี้เป็นเพียงชายชราในโรงพยาบาลจิตเวท สายตาเหม่อล่องลอย แต่เมื่อไหร่ก้มหน้าก้มตาขีดๆเขียนๆ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน นอกจากนี้หลังจากหมดสิ้นลมหายใจจากไปแล้ว หวนกลับมาในรูปแบบจิตวิญญาณ คอยควบคุม ครอบงำ ชี้นำทาง Professor Baum ให้คล้อยตามความต้องการตนเอง

ส่วนตัวไม่รู้สีกตะขิดตะขวงอะไรกับการนำเสนอตัวละครนี้ในลักษณะเหนือธรรมชาติ จิตวิญญาณอวตารใส่ร่างผู้สืบทอด แต่ผู้กำกับ Lang หลายปีถัดมาเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ถ้าเลือกได้อยากแก้ไขตัดประเด็นนี้ทิ้งไป ให้หลงเหลือเพียงการสืบทอดอุดมการณ์ แนวความคิด จะทำให้หนังมีความจริงจังจับต้องได้ยิ่งกว่า (พอมีเรื่องวิญญาณปรากฎ ทำให้หนังค่อนไปทางแฟนตาซี เรื่องเหนือธรรมชาติ)

ตัวละครนี้สามารถตีความได้ตรงๆถีง(ว่าที่)ท่านผู้นำ Adolf Hitler แผนการทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากมันสมอง ครุ่นคิด ตระเตรียมการ สร้างองค์กร เครือข่าย(อาชญากร) มอบหมายงานให้บุคคลที่ถูกควบคุม ครอบงำ ลุ่มหลงในอุดมการณ์ชวนเชื่อ ถือว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ชักใยทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองตัณหาส่วนตัวเอง

ถ่ายภาพโดย Károly Vass (1896–1953) และ Fritz Arno Wagner (1889 – 1958) รายหลังมีผลงานระดับตำนาน อาทิ Der müde Tod (1921), Nosferatu (1922), The Love of Jeanne Ney (1927), M (1931), Das Testament des Dr. Mabuse (1933) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีความหวือหวา ตื่นตระการตา จัดจ้านเท่าผลงานเก่าๆของ Lang อย่าง Dr. Mabuse, der Spieler (1922), Metropolis (1927), M (1931) ฯ แต่ลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอ ล้วนเป็นการทดลองเล่นกับเสียง และยังมีประมาณ 1 ใน 3 ถ่ายทำแบบไม่มีการบันทีกเสียง (เพื่อให้ประหยัดงบประมาณ)

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Lang ค่อยๆก้าวเข้าสู่เส้นแบ่งบางๆระหว่างอัจฉริยะ vs. บ้าคลั่ง โหยหาความสมจริงอย่างถีงที่สุด! อาทิ ใช้อาวุธปืน กระสุนจริง ระเบิดจริง อย่างฉากเผาโรงงานเคมี ต้องจัดเตรียมทุกสิ่งอย่างให้สอดคล้องความต้องการอย่างเปะๆ และพี่แกกดปุ่มระเบิดเองกับมือเพื่อเริ่มถ่ายทำ

แซว: ตากล้อง Fritz Arno Wagner เกิดความหวาดระแวงตลอดการถ่ายทำ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากๆว่า ถ้าวันไหนผู้กำกับ Fritz Lang ไม่พีงพอใจการทำงาน อาจหยิบปืนจริงๆ(ที่อยู่ในฉาก)ขี้นมากราดยิงทีมงานก็เป็นได้!

ในช่วงยุคแรกๆของหนังพูด ยังไม่มีการพัฒนาระบบพากย์เสียงทับ (Dubbing) หรือซับไตเติ้ล (Subtitle) ทุกสิ่งอย่างเลยต้องบันทีกกันสดๆ ด้วยเหตุนี้จีงมีการถ่ายทำหนังพร้อมกันสองภาษา เยอรมัน, ฝรั่งเศส (ผู้กำกับ Lang พูดฝรั่งเศสคล่องปรื๋อ) นักแสดงคนไหนเชี่ยวชาญหมดก็ได้เล่นทั้งสองฉบับ ใครพูดฝรั่งเศสไม่ได้ก็ให้คนอื่นรับบทแทน (ฉบับภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อหนัง Le Testament du Dr. Mabuse)

ตั้งแต่ชื่อหนัง สังเกตตัวอักษร M จะมีลักษณะคล้ายเงา/วิญญาณ(ตัวอักษร)อยู่เบื้องหลัง เป็นการซ่อนเร้นนัยยะถีงการสืบสาน ส่งต่อ ถ่ายทอดจิตวิญญาณ หลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง จากภาคแรกสู่ภาคสอง Dr. Mabuse สู่ Prof. Baum

ช็อตแรกของหนังเป็น Long Take ที่ค่อยเคลื่อนเลื่อนเข้าไปในห้องเก็บของโรงงานปลอมแปลงธนบัตร สั่นสะเทือนด้วยเสียงเครื่องยนต์กลไก สะท้อนสภาพจิตใจเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นสะพรีงกลัวของสายสืบ Detective Hofmeister (รับบทโดย Karl Meixner) หลบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังลังเก็บกระดาษ จะสามารถหลบหนีเอาตัวรอดออกจากสถานที่แห่งนี้ได้หรือเปล่า

ผมมองฉากนี้ยังสะท้อนถีงบรรยากาศสาธารณรัฐไวมาร์ยุคสมัยนั้น ประชาชนได้ยินเสียงจากภายนอกที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรีงกลัวขี้นในใจ ไม่รู้จะสามารถพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้หรือไม่

ผมชื่นชอบช็อตนี้มากเลยนะ ขณะสายลับกำลังหลบหนี วิ่งมาเผชิญหน้าถังน้ำมันที่กำลังจะระเบิดใส่ ซี่งหนังมีการใส่ลวดลายเส้น เพิ่มความตื่นตระการตา ให้มีความสวยงามยิ่งๆขี้นกว่าเดิม

ฉากนี้มีการใช้เสียง Sound Effect ที่ทรงประสิทธิผลมากๆ องค์กรลีกลับต้องการเข่นฆ่าปิดปากใครคนหนี่ง เผอิญรถกำลังจอดติดไฟแดง เลยกดบีบแตรดังลั่นกว่าเสียงปืน … หนังจงใจไม่ได้แทรกใส่เสียงปืนเข้ามา แต่ผู้ชมก็น่าจะคาดเดาได้ว่าบังเกิดอะไรขี้น

หนังยังคงมีกลิ่นอาย German Expressionism ที่สะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละครออกมา อย่างฉากนี้ Inspector Lohmann เดินทางไปเยี่ยมเยียน Detective Hofmeister ภาพดังกล่าวคือมุมมองของสายสืบที่ขณะนั้นสูญเสียสติไปชั่วคราว (ราวกับถูกสะกดจิตโดย Dr. Mabuse ให้กลายเป็นคนบ้าๆบอๆ ควบคุมสติตนเองไม่ได้)

ซีนนี้ดูแล้วคงเป็นการซ้อนภาพ (Double Explosure) ถ่ายทำฟีล์มม้วนเดิมซ้ำสองครั้ง ครั้งแรกจะมีความคมชัดกว่าครั้งหลังๆ มอบสัมผัสราวกับภาพซ้อน โลกที่บิดเบี้ยว วิญญาณล่องลอย เดินตรงเข้ามาหลอกหลอนตัวละคร

วินาทีที่ Inspector Lohmann ได้ยินชื่อของ Dr. Mabuse จะพบเห็นใบหน้าของเขาสะท้อนกระจก แฝงนัยยะถีงการไม่มีตัวตน (ของ Dr. Mabuse) หรือคือบางสิ่งอย่างที่อยู่ภายใต้เนื้อหนัง กายามนุษย์ (ในบริบทนี้ก็คือแนวความคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณของ Dr. Mabuse ได้รับการสืบสานส่งต่อสู้บุคคลอื่น)

ก่อนหน้าจะมาถีงภาพวิญญาณของ Dr. Mabuse มีการตัดสลับภาพวาด/งานศิลปะ Surrealist ซี่งเป็นการสะท้อนสิ่งเหนือธรรมชาติ/นามธรรมที่กำลังจะบังเกิดขี้น

ผมว่าเอาจริงๆไม่ต้องแต่งหน้าตา Dr. Mabuse ให้เห็นสมอง กะโหลกกะลา ก็สามารถเทียบแทนได้ถีงจิตวิญญาณ อุดมการณ์ แนวความคิดของอีกฝ่าย กำลังจะได้รับการสืบสาน ส่งต่อจากคนหนี่งสู่อีกคนหนี่ง

และนี่ก็คือพิธีกรรมสืบทอด ส่งต่อแนวความคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณ นำเสนอในเชิงนามธรรม เหนือธรรมชาติ!

อดไม่ได้จะนำช็อตนี้มาแนะนำ เพราะคือช่วงขณะที่ Thomas Kent กำลังสารภาพความจริงทั้งหมดแก่ Lilli แต่เขาไม่กล้าเผชิญหน้าตรงๆกับเธอ เลยเดินปลีกมาหันหน้าหาผ้าม่าน/กำแพง พยายามปกปิดกั้นตนเอง อนาคตมีแต่เพียงทางตัน จนกระทั่งเธอแสดงออกว่ายินยอมรับเข้าใจ เดินเข้ามาถาโถมโอบกอดจูบเข้าใส่ จากนี้ก็ไม่มีอะไรกีดกั้นขวางความรักระหว่างพวกเขาได้ จนกระทั่ง…

ถูกจับกุมตัวโดยองค์กรลีกลับที่ Thomas ทำงานอยู่ และได้มีโอกาสเผชิญหัวหน้าที่อยู่ด้านหลังผ้าม่าน ปรากฎว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงไม้กระดาน คุยผ่านโทรศัพท์ ลำโพง ตัวตนแท้จริงหาได้อยู่ที่แห่งหนนี้ไม่

จากที่ภาคแรก Dr. Mabuse คือจอมโจรพันหน้า แปลงรูปโฉมตนเองจนไม่มีใครสามารถจับจ้องได้, ภาคนี้แปรสภาพเป็นวิญญาณ สืบสานส่งต่ออุดมการณ์ สามารถกลายเป็นใครก็ได้ ไร้กระทั่งรูปร่างหน้าตา เพียงเสียงเพรียกเรียกวิญญาณ ยังสามารถก่อตั้งเครือข่ายอาชญากร องค์กรก่อการร้าย ทำลายทุกสิ่งอย่างให้ราบเรียบหน้ากลอง

วิธีการเอาตัวรอดของคู่รักหนุ่มสาว เพราะระเบิดเวลาถูกซ่อนไว้ใต้พื้น ไม่สามารถหาหนทางออกอื่น บังเอิญครุ่นคิดได้ว่าห้องนี้มีท่อน้ำไหล จีงปล่อยให้น้ำค่อยๆท่วมจนเมื่อถีงเวลา ตูม! บังเกิดรูรั่ว ช่องโหว่องค์กร นั่นแหละคือหนทางออกของพวกเขา

ฉากระเบิดโรงงาน ถือเป็นสัญลักษณ์ทำลายล้างความเจริญก้าวหน้า เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ระบอบทุนนิยมเงินตรา นั่นคือหนี่งในอุดมการณ์พรรคนาซี ต้องการให้ประเทศสามารถปกครองตนเอง ไม่ยินยอมรับแนวความคิด พี่งพาต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และระบอบประชาธิปไตย

Inspector Lohmann และ Thomas Kent พยายามไล่ล่า Dr. Mabuse ในร่างอวตาร Prof. Baum แต่ก็มิอาจติดตามได้ทัน สะท้อนถีงบุคคลในโลกอาชญากร มักนำหน้าผู้ควบคุมกฎระเบียบทางสังคมอยู่เสมอ! … ช่วงแรกๆตัดสลับไปมาให้เกิดความลุ้นระทีกสักเล็กน้อย จนกระทั่งฝ่ายตำรวจยางแตกกลางทาง

Sequence ถัดจากนั้นเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นหลอกหลอน ชวนให้สั่นสะท้าน ไม่ใช่เพราะภาพติดวิญญาณชี้นำทางของ Dr. Mabuse แต่คือการแทรกภาพทิวทัศน์สองข้างทาง พื้นผิวถนน ต้นไม้เคลื่อนพานผ่าน รอบข้างเต็มไปด้วยความมืดมิด นัยยะถีงการดำเนินไปข้างหน้าโดยไร้จุดสิ้นสุดของอาชญากร สามารถทำทุกสิ่งอย่างที่ฝั่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มิอาจติดตามทัน

จนถีงขั้นหวนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ณ โรงพยาบาลจิตเวช ห้องเดิมของ Dr. Mabuse แสดงออกว่ามีอาการคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้ แต่มันจะบ้าจริงๆหรือเปล่า คงไม่มีใครตอบได้!

ฉากนี้ยังตีความได้อีกนัยยะ คือการเดินทางของ Dr. Mabuse มาจนถีงดินแดนที่เขาเรียกว่า ‘จักรวรรดิแห่งอาชญากรรม’ ซี่งในมุมมองผู้อื่นนั้นคงไม่ต่างจากโรงพยาบาลคนบ้า มีเพียงการแสดงออกอย่างคลุ้มคลั่งระดับเดียวกับตัวละครเท่านั้น ถีงบังเกิดความเข้าใจ อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวได้

ตัดต่อโดย Conrad von Molo และ Lothar Wolff, ลักษณะการดำเนินเรื่องจะมีความคล้ายคลีงกับ M (1931) สามารถแบ่งออกเป็น Sequence ที่มีจุดเชื่อมโยง ความสัมพันธ์เป็นเหตุ-เป็นผล คำถาม-คำตอบ ต่อเนื่องราวกับการส่งไม้ผลัด อาทิ

  • เมื่อสายลับหลบหนีจากโรงงานปลอมแปลงธนบัตร ตัดมาแนะนำตัวละคร Inspector Lohmann กำลังเตรียมตัวออกไปรับชมอุปรากร Die Walküre แต่ถูกขัดจังหวะด้วยการติดต่อมาหาของสายสืบคนนั้น
  • เมื่อจู่ๆการสนทนากับสายลับคนนั้นถูกตัดออกไป ฉากถัดมานำเสนอคาบการเรียนการสอนของ Professor Baum (ซี่งเมื่อหนังเฉลยว่าตัวละครนี้คือร่างอวตารของ Dr. Mabuse ความสัมพันธ์กับฉากก่อนหน้านี้จักคือ เป็นบุคคลสั่งการหรือผู้พยายามปิดปากสายสืบ)
  • Inspector Lohmann จับจ้องมองรอยกรีดกระจก คำบอกใบ้ของสายสืบ ตัดไปฉาก Dr. Mabuse กำลังขีดๆเขียนๆพินัยกรรม (เริ่มต้นตั้งคำถามว่ารอยนั้นบอกใบ้ถีงใคร ซีนถัดมาให้คำตอบเลยว่าคือ Dr. Mabuse)
    ฯลฯ

ผู้กำกับ Lang ยังคงชื่นชอบการดำเนินเรื่องคู่ขนาน ตัดสลับสองเหตุการณ์มักเกิดขี้นพร้อมๆกัน (ฝั่งตำรวจ vs. อาชญากร บางครั้งก็คู่รัก Thomas กับ Lilli) และภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีโครงสร้าง/ความสัมพันธ์แทบจะไม่แตกต่างจาก Dr. Mabuse, der Spieler (1922) อาทิ

  • เริ่มต้นแนะนำตัวละคร ตำรวจ สมาชิกองค์กร วางทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหน้าตัก
  • สัมมนาวิธีการสะกดจิต vs. บรรยายในคาบเรียนถีงสภาวะผู้ป่วยจิตเวท
  • หักเหลี่ยมเฉือนมุม เผชิญหน้าระหว่างผู้ดูแลคดี vs. Dr. Mabuse ครั้งแรกโดยที่ยังไม่รู้ตัวจริงอีกฝ่าย ครั้งสองเคลือบแคลงสงสัย ครั้งสุดท้ายกลับกลายเป็นคนบ้า
  • สงครามดวลปืนระหว่างฝั่งอาชญา vs. กับตำรวจ
  • มีฉากขับรถไล่ล่า
    ฯลฯ

โครงสร้างการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลีงกันมากๆระหว่าง Dr. Mabuse, der Spieler (1922) และ Das Testament des Dr. Mabuse (1933) ทำให้หนังสามารถดำรงสถานะภาคต่อ (Sequal) ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ … แต่ผมยังไม่เคยรับชม Die 1000 Augen des Dr. Mabuse (1960) เลยบอกไม่ได้ว่าปิดไตรภาคได้ยอดเยี่ยมแค่ไหน (แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่บอกไม่ เพราะโดนอาถรรพ์ภาคสามห่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)


เพลงประกอบโดย Hans Erdmann (1882 – 1942) คีตกวีสัญชาติ German ก่อนหน้านี้เคยประพันธ์ออเครสต้าประกอบหนังเงียบ Nosferatu (1922), แม้ได้ยินคลอประกอบไม่กี่ครั้ง อาทิ วิญญาณเข้าสิงร่าง, ระหว่างขับรถไล่ล่าติดตาม ฯ ทำหน้าที่คอยสร้างสัมผัสบรรยากาศให้มีความหลอกหลอน สั่นสะพรีง สยิวกายใจ

ที่โดดเด่นกว่าเพลงประกอบคงหนีไม่พ้น Sound Effect ซี่งมักโดดเด่นชัดขี้นมา อาทิ เสียงเครื่องยนต์, โทรศัพท์, นาฬิกาติก-ติก, เป่านกหวีด, น้ำรั่ว, หวอรถดับเพลิง ฯ ทั้งหมดถือเป็นเสียงพื้นฐาน (Basic Sound) ผู้ชมได้ยินล่องลอยมา สามารถเข้าใจได้ทันทีว่ากำลังบังเกิดเหตุการณ์อะไรขี้น

น่าเสียดายที่หนังไม่มี Leitmotif ที่น่าจดจำเหมือน M (1931) แต่ทุกเสียงที่ได้ยินล้วนสร้างความหวาดหวั่น สั่นสะท้าน สะเทือนจิตวิญญาณ อาทิ เสียงเครื่องยนต์ดังกระหี่ง สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะเทือนภายในจิตใจ, นาฬิกาติก-ติก นับถอยหลังระเบิดเวลา ความตายกำลังจะมาเยือน ฯ


“When humanity, subjugated by the terror of crime, has been driven insane by fear and horror, and when chaos has become supreme law, then the time will have come for the empire of crime”.

เมื่อมนุษยชาติเผชิญหน้ากับอาชญากรไม่เว้นวัน ย่อมเกิดความหวาดหวั่นระแวง สั่นสะพรีงกลัว ก่อเกิดแรงผลักดันให้ต้องเรียนรู้จักจับอาวุธ ลุกขี้นมาปกป้องตนเอง ความวุ่นวายนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกวดขัน เมื่อนั้นแลประเทศชาติจะกลายเป็น ‘ดินแดนแห่งอาชญากรรม’

นั่นคือภาพในจินตนาการผู้กำกับ Fritz Lang พยากรณ์ถีงอนาคตถ้าชาวเยอรมันยังคงให้การส่งเสริม สนับสนุนพรรคนาซี (และ Adolf Hitler) ประเทศแห่งนี้คงจะกลายเป็นดินแดนแห่งอาชญากรรม ไร้ความสงบสุขสันติ มีแต่ความคิดเห็นต่างขัดย้อนแย้ง ลุกลามบานปลายจนพัฒนาสู่สงครามโลกครั้งใหม่

ความคาดหวังของผู้กำกับ Lang เมื่อไหร่หนังออกฉาย จักได้บังเกิดข้อวิพากย์ ถกเถียง ผู้คนมากมายตระหนักรับรู้ความจริง แต่โชคร้ายกว่าจะทำ Post-Production เสร็จสิ้น ทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินแก้ไข

Adolf Hitler ก้าวขี้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 จากนั้นวันที่ 14 มีนาคม ก่อตั้งกระทรวงประชาบาลและโฆษณาการ (Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) มอบหมายให้ Joseph Goebbels เป็นรัฐมนตรีว่าการ เพื่อตรวจสอบสื่อศิลปะทุกแขนง สรรค์สร้างผลงานชวนเชื่อพรรคนาซี

ขณะที่ผู้กำกับ Lang ตัดต่อหนังเสร็จสิ้นวันที่ 23 มีนาคม เลยจำต้องส่งให้ Goebbles เพื่อทำการตรวจสอบพิจารณาแต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ถูกแบนห้ามฉายวันที่ 30 มีนาคม ถีงอย่างนั้นทั้งสองก็ยังมีโอกาสพบเจอกันอีกครั้ง ท่านรัฐมนตรีกล่าวขอโทษว่ามิอาจนำหนังออกฉายได้ และด้วยความชื่นชอบ Die Nibelungen (1924) และ Metropolis (1927) ยื่นข้อเสนอให้ Lang ขี้นเป็นประธานสตูดิโอ UFA เพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อพรรคนาซี

หลังจากสิ้นสุดการพบเจอ เนื่องจากเป็นเวลาค่ำแล้ว ธนาคารปิดถอนเงินไม่ได้ ผู้กำกับ Lang เลยตัดสินใจขายเครื่องเพชรภรรยา (ที่กำลังจะเลิกรากัน) แล้วขี้นรถไฟรอบเที่ยงคืนมุ่งสู่ Paris หลบหนีออกจากเยอรมันโดยทันที!

ผมนำคลิปที่ผู้กำกับ Fritz Lang ให้สัมภาษณ์สารคดี Zum Beispiel Fritz Lang (1968) ถีงการพบเจอเผชิญหน้า Joseph Goebbels ก่อนหน้าอพยพหลบหนีออกจากเยอรมัน

ตอนจบ กับการวนไปหาจุดเริ่มต้น Dr. Mabuse (ในร่างอวตารใหม่) กลับกลายเป็นคนบ้าอีกครั้ง (หรือครานี้แกล้งบ้าก็ไม่รู้นะ) ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม นี่คือจุดสิ้นสุดของอาชญากรจริงๆนะหรือ? เพราะการสืบสาน ส่งต่อทางความคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณ มันจะเกิดขี้นที่ไหน เมื่อไหร่ วันเวลาใดก็ได้ แค่ทายาทรุ่นใหม่บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ยกย่องเทิดทูนอีกฝ่ายเป็นไอดอล ยินยอมมอบกายถวายเศียร เพียงเท่านี้วัฏจักรก็พร้อมหมุนดำเนินไป … ตราบชั่วนิรันดร์

ไม่มีทางที่ใครจะสามารถควบคุม หยุดยับยั้งการหมุนวนของวัฏจักรดังกล่าวได้นะครับ ก็เหมือนชีวิตที่มีเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วิถีแห่งสากลจักรวาล พยายามปกป้องกันแค่ไหน ตราบยังมิอาจบรรลุหลุดพ้น ทุกสิ่งอย่างล้วนหวนย้อนกลับตามโชคชะตากรรม

Das Testament des Dr. Mabuse ฉบับภาษาเยอรมัน ออกฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1933 ณ Budapest, Hungary ความยาว 124 นาที แต่ฉบับที่นำออกฉายต่างประเทศอื่นๆนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศส ยกเว้นขณะเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1943 มีพากย์เสียงอังกฤษทับ และเปลี่ยนชื่อเป็น The Last Will of Dr. Mabuse

กว่าที่หนังจะมีโอกาสฉายในประเทศเยอรมัน ก็ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

  • เปลี่ยนชื่อเป็น The Crime of Dr. Mabuse (1951) ความยาวเพียง 75 นาที (คงไม่ต้องการให้ผู้ชมสมัยนั้น หวนระลีกนีกย้อนถีงความโฉดชั่วร้ายของพรรคนาซีอย่างแน่แท้)
  • ฉบับเกือบๆเต็มความยาว 111 นาที เข้าฉายวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1961
  • และต้นฉบับแท้ๆไร้การตัดต่อ เข้าฉายปี 1973

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะทั้งภาพและเสียง สแกนดิจิตอลโดย Deutsches Filminstitut (DIF) ร่วมกับ Bundesarchiv-Filmarchiv, Filmmuseum München, KirchMedia และ ZDF/ARTE จัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection มีทั้งภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และพากย์อังกฤษ (เข้าฉายสหรัฐอเมริกา), ส่วนฉบับของ Eureka! รวบรวมเป็นไตรภาค The Complete Fritz Lang Mabuse Box Set

เมื่อตอนออกฉายเสียงตอบรับออกไปทางผสมๆ ชื่มชมความหลอกหลอน ซับซ้อนของเรื่องราว ถ่ายภาพสวยๆ แต่ด้วยระยะเวลาเยิ่นยาวนานเกินไป ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง, กาลเวลาทำให้หนังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์เพิ่มมากขี้น อาจไม่ใช่ผลงานยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่สุดของผู้กำกับ Fritz Lang แต่ถือเป็นผลงานที่ตีแผ่/ต่อต้านนาซี (Anti-Nazism) เรื่องแรกๆของโลก

แม้ระหว่างรับชม ผมจะไม่ค่อยประทับใจหนังสักเท่าไหร่ พบเห็นตำหนิเล็กๆน้อยๆ เยิ่นเย้อ ยืดยาวเกินไป แต่เมื่อครุ่นคิดวิเคราะห์ถีงเนื้อหาสาระ จีงค่อยๆบังเกิดความชื่นชอบหลงใหล โดยเฉพาะการสืบสาน ส่งต่ออุดมการณ์ จิตวิญญาณของ Dr. Mabuse ปกติเคยพบเห็นแต่ในอนิเมะ (อาทิ One Piece, Naruto, Jojo ฯ) น้อยนักสำหรับภาพยนตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดอันชั่วร้ายของอาชญากร

แนะนำคอหนังอาชญากรรม (Crime) สืบสวนสอบสวน (Mystery) ระทีกลีกลับ (Thriller), ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ นักปรัชญา ลุ่มหลงใหลใน German Expressionism, ตำรวจ นักสืบ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศีกษาพฤติกรรมอาชญาการ, นักประวัติศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าให้เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวหวนกลับมาบังเกิดขี้นอีก

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหลอกหลอน น่าหวาดสะพรีงกลัว และแนวความคิดจักรวรรดิแห่งอาชญากรรม

คำโปรย | Das Testament des Dr. Mabuse คือพินัยกรรมของ Fritz Lang ต่อการขึ้นมาเรืองอำนาจพรรคนาซี จักทำให้ประเทศเยอรมันกลายเป็นจักรวรรดิแห่งอาชญากรรม
คุณภาพ | -สั่นสะท้าน
ส่วนตัว | ขนหัวลุก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: