Day for Night (1973)
: François Truffaut ♥♥♥♥
หนังเกี่ยวกับการสร้างหนัง เพื่อคนรักหนังและคนทำหนัง แต่ไม่ใช่สำหรับผู้กำกับ Jean-Luc Godard ที่รอบปฐมทัศน์เดินออกกลางคันอย่างหัวเสีย เขียนจดหมายต่อว่า François Truffaut ว่าทำหนังเรื่องนี้อย่าง ‘หลอกลวง’ เป็นเหตุให้มิตรภาพของทั้งสองขาดสะบั้น ไม่เคยได้พูดคุยกันอีกในชาตินี้
บอกตามตรงว่า หลังจากได้รับรู้เรื่องราวความบาดหมางขัดแย้งระหว่างสองสหายรัก Jean-Luc Godard กับ François Truffaut ที่บุกเบิก French New Wave ด้วยกันมา แล้วอยู่ดีๆแตกคอไม่พูดคุยกันอีกเพราะหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมรู้สึกสนใจประเด็นนี้มากกว่าตัวหนังเสียอีก อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตามอ่านต่อไปนะครับ
นักข่าว: “Wasn’t it a hard film to make? Lots of trouble during the shooting?”
ทีมงาน: “Not at all! It went fine! And we hope audiences enjoy seeing it as much as we enjoyed making it!”
François Roland Truffaut (1932 – 1984) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์/นักเขียนบท/นักแสดง และนักวิจารณ์สัญชาติฝรั่งเศส, เกิดที่ Paris ชีวิตวัยเด็กไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ (แบบหนังเรื่อง The 400 Blows) ใช้ภาพยนตร์เป็นสิ่งหลีกหนีความทุกข์ยาก โตขึ้นได้งานเป็นนักวิจารณ์ในนิตยสารใหม่ Cahiers du cinéma ร่วมกับ Jean-Luc Godard, Jacques Rivette, Claude Chabrol ฯ ได้รับฉายาในวงการว่า ‘The Gravedigger of French Cinema’ เป็นเหตุให้เทศกาลหนังเมือง Cannes เคยต้องแบน Truffaut ไม่ให้เข้าร่วมงานในฐานะนักวิจารณ์ (แต่พอผันตัวมากำกับภาพยนตร์ ก็ได้เข้าร่วมหลายครั้ง)
ด้วยความไม่พึงพอใจผลงานภาพยนตร์ฝรั่งเศสในยุคนั้นของ Truffaut ได้เขียนบทความวิพากย์ ‘A Certain Trend of French Cinema’ ว่าด้วยเทรนด์ของหนังฝรั่งเศสจะขึ้นอยู่กับแค่ผู้กำกับดังแห่งยุคไม่กี่คน อาทิ Jean Renoir, Robert Bresson, Jean Cocteau, Jacques Becker, Abel Gance, Max Ophuls, Jacques Tati, Roger Leenhardt นี่ทำให้ผู้กำกับดังอื่นที่ไม่ติดในลิส เกิดอาการของขึ้นยอมรับไม่ได้ กลายเป็นกรณีพิพาทโต้เถียงอย่างรุนแรง
ใครสนใจอ่านบทความนี้ เป็นภาษาอังกฤษ: http://www.newwavefilm.com/about/a-certain-tendency-of-french-cinema-truffaut.shtml
นี่เองทำให้ Truffaut ต่อมาได้สร้างทฤษฎี ‘auteur theory’ นิยามคำว่า ‘ศิลปิน’ ในวงการภาพยนตร์ คือบุคคลผู้ซึ่งสามารถกำกับควบคุม นำเสนอผลงานสะท้อนตัวตน ความสนใจของตนเองออกมาได้อย่างโดดเด่นชัดเจน
“here are no good and bad movies, only good and bad directors”
Truffaut เคยพูดแซวว่า ‘หนังห่วยสุดของ Jean Renoir ยังน่าสนใจกว่าหนังดีที่สุดของ Jean Delannoy’ นั่นเพราะเขาเชื่อว่า ผู้กำกับคือกลไกจักรเคลื่อนชิ้นสำคัญที่สุดของภาพยนตร์ ตราบใดที่สามารถควบคุมวิสัยทัศน์ให้อยู่ในความสนใจของตนเองได้ ก็ล้ำค่ากว่า Director-for-Hire หรือคนที่สร้างภาพยนตร์ตามกระแสไปที เพื่อเงินเพื่อความอยู่รอด
ส่วนตัวผมค่อนข้างสนับสนุนทฤษฎีนี้นะครับ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทยช่วงหนึ่ง ที่บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลายต่างพยายามหาข้ออ้างว่า ที่หนังไทยมีคุณภาพห่วยเป็นผลมาจากบทภาพยนตร์ ทั้งที่จริงๆแล้ว บุคคลที่สมควรถูกต่อว่าตำหนิมากสุดคือ ‘ผู้กำกับ’ ที่ไม่สามารถรักษามาตรฐานศักยภาพความเป็น ‘ศิลปิน’ ของตนเองต่อเนื่องไปได้ -Orson Welles ได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถทำบทหนังห่วยๆอย่าง Touch of Evil ให้กลายเป็นโคตรหนังอมตะได้- ถ้าคุณเป็นผู้กำกับที่เก่งจริง ทำไมถึงจะสร้างหนังจากบทห่วยๆไม่ได้, แต่ประเด็นนี้จะไปโทษผู้กำกับอย่างเดียวคงไม่ถูกแน่ เพราะมันอยู่ที่พฤติกรรมตลาดของประเทศเราด้วย ที่นิยมบริโภคภาพยนตร์ไร้คุณค่ามากกว่าส่งเสริมสาระ
กลับมาที่ Truffaut เมื่อถึงจุดๆหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 50s ก็อดรนทนต่อไปไม่ได้แล้ว ร่วมกับเพื่อนนักวิจารณ์ทั้งหลายจาก Cahiers du cinéma ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์เพื่อท้าพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเอง ถือกำเนิดขึ้นเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหว (Movement) ที่มีชื่อว่า French New Wave ผลลัพท์ก็คือเป็นการปฏิวัติพลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง เป็นการบ่งบอกว่าทฤษฎีทั้งหลายที่กล่าวอ้างเหล่านี้เป็นสิ่งถูกต้อง นำไปใช้พัฒนาต่อยอดได้จริง
นับจาก Les Quatre Cents Coups (1959) ผู้กำกับ Truffaut ได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์เฉลี่ยปีละเรื่อง แทบทั้งนั้นจะประสบความสำเร็จ เสียงวิจารณ์ตอบรับค่อนข้างดี จนกระทั่งมาถึง Day for Night (1973) ก็ยังถือเป็นผลงาน ‘สไตล์ของ Truffaut’ ทำเงินได้ กวาดรางวัลมากมาย แต่มีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไป ซึ่งบุคคลแรกที่พบเห็น คือเพื่อนสนิทใกล้ตัวที่สุด Jean-Luc Godard
เรื่องราวของหนังเป็น film within film ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ‘Je vous presente Pamela’ (Meet Pamela) อันประกอบด้วยทีมผู้สร้างทั้งหลาย นักแสดง, โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ, ทีมงานเบื้องหลัง ฯ นำเสนอการทำงาน ความสัมพันธ์ ชีวิตส่วนตัว ทุกสิ่งอย่างในช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน
สำหรับหนังซ้อนหนัง Meet Pamela มีเรื่องราวคือ หญิงสาวชาวอังกฤษได้แต่งงานกับชายหนุ่มชาวฝรั่งเศส เมื่อได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของสามี เกิดตกหลุมรักพ่อสามี ลักลอบนอกใจมีชู้ จนกลายเป็นเรื่องราวโศกนาฎกรรม
ด้วยสไตล์ของ Truffaut นำแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของตนเอง แถมรับบทเป็นผู้กำกับ Ferrand ศูนย์กลางของเรื่องราวที่ต้องคอยตอบคำถาม ชี้ชักนำพา สื่อสารสัมพันธ์ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้การถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถดำเนินต่อไป สำเร็จลุล่วงลงได้, กระนั้นตัวละคร Ferrand ก็ไม่ใช่ Truffaut นะครับ เป็นตัวแทนของ ‘ผู้กำกับ’ ธรรมดาสามัญ พบเจอได้ทั่วๆไป
ผมคิดว่าสิ่งที่ Godard มองเห็นในหนังเรื่องนี้แล้วเกิดความคับข้องใจก็คือตัวละคร Ferrand ที่ Truffaut สร้างขึ้นรับบทเองนี้ มีความขัดแย้งในตัวเอง, ใจความในจดหมายฉบับแรกที่ส่งให้ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการขาดหายไปของ ‘การวิพากษ์’ กล่าวคือ Truffaut ได้ทำในสิ่งเดียวกับบุคคลที่เคยเขียนวิจารณ์ถึง ตำหนิต่อว่า ทำไมผู้กำกับถึงคือคนเดียวที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด!
“Yesterday I saw La Nuit americaine. Probably no one else will call you a liar, so I will. Its no more an insult than ‘fascist’, it’s a criticism, and it’s the absence of criticism that I complain of in the films of Chabrol, Ferreri, Verneuil, Delannoy, Renoir, etc. You say: films are trains that pass in the night, but who takes the train, in what class, and who is driving it with an ‘informer’ from the management standing at his side? Directors like those I mention make film-trains as well. And if you aren’t referring to the Trans-Europ, then maybe it’s a local train or else the one from Munich to Dachau, whose station naturally we aren’t shown in Lelouch’s film-train. Liar, because the shot of you and Jacqueline Bisset the other evening at Chez Francis is not in your film, and one can’t help wondering why the director is the only one who doesn’t screw in La Nuit americaine.”
ไม่ใช่ว่า Ferrand ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดนะครับ ภาพย้อนอดีตวัยเด็กจะมีฉากหนึ่ง ที่เด็กชายแอบลักลอบขโมยภาพจากหนัง Citizen Kane ซึ่งมีนัยยะว่า เขาวาดฝันที่จะกลายเป็น Orson Welles คนต่อไป แต่พอโตขึ้นจากสภาพที่เห็น ไม่เพียงเป็นไปไม่ได้ แต่ยังต้องดิ้นรนพยายามสร้างหนังออกมาดีที่สุดจากสิ่งที่มี นี่ถือเป็นการวิพากย์ลักษณะหนึ่ง สงสัย Godard ออกจากโรงหนังเร็วเกินไปก่อนถึงฉากนี้แน่
จริงๆแล้วไม่ใช่ Truffaut ที่เปลี่ยนไป แต่เป็น Godard ต่างหากหลังจากหมดยุคช่วงรุ่งเรืองของตนเอง ก็ค่อยๆหันหลังให้กับผู้ชมและภาพยนตร์ เลือกทำหนังที่มีความเป็นส่วนตัวมากเกินไป, เพื่อนสนิทของ Godard ทั้งหลายต่างรับรู้ว่า นับตั้งแต่เลิกรากับภรรยา Anna Karina ก็เหมือนจะทำใจไม่ได้ แม้จะรีบแต่งงานใหม่กับ Anne Wiazemsky แต่ก็ไม่ได้รักเธอมากเท่า (Wiazemsky ก็ทนอยู่กับ Godard ก่อนเลิกกันปี 1979) เพื่อเบี่ยงเบนความซึมเศร้าทั้งปวง Godard หันเหความสนใจไปเรื่องการเมือง/การปฏิวัติระดับโลก แสดงความเห็นต่อต้านสงครามภายในของประเทศ Brazil, Greece ทั้งๆที่อยู่คนละซีกโลกดันไปเสือกเรื่องชาวบ้าน หรือตอนเหตุการณ์ Mai 68 ก็เป็นตัวตั้งตัวตีให้ยุติการจัดงานเทศกาลหนังเมือง Cannes, มันเลยไม่แปลกที่เมื่อ Godard เห็นหนังเรื่องนี้ ในใจอาจเกิดความอิจฉาเล็กๆ และรู้สึกต่อต้านการแสดงความรักของ Truffaut ต่อโลกภาพยนตร์ที่เขาเคยรัก แต่ปัจจุบันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด
มันคงเป็นความอัดอั้นตันใจที่ฝังอยู่ในใจมาสักพักของ Truffaut ต่อ Godard เมื่อถูกตำหนิต่อว่ากล่าวหาความเป็นคนโกหกหลอกลวงก็ของขึ้น สวนกลับไปอย่างแรง
“And because of that letter I feel the time has come to tell you, at length, that in my opinion you’ve been acting like a shit”.
ในจดหมายที่ตอบกลับ มีการวิพากย์ถึงหนังเรื่องล่าสุดของ Godard ที่พยายามคัดเลือกนักแสดงมีชื่อ Jane Fonda ในหนังเรื่อง Tout va bien (1972) โดยคำโปรยที่ว่า ‘to make a movie, movie stars are needed’ ใครกันแน่ที่หลอกตัวเอง
“I don’t give a shit what you think of La nuit americaine, what I find deplorable on your part is the fact that, even now, you continue to go and see such films, films whose subject-matter you know in advance will not correspond to either your conception of the cinema or your conception of life.”
เอาเป็นว่าคร่าวๆแค่นี้พอนะครับ การจะค้นหาบทสรุปว่าใครผิดใครถูกในการถกเถียงนี้ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เพราะคงไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวของทั้งสองเอง ซึ่งความขัดแย้งนี้เป็นเหตุให้พวกเขาไม่เคยพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนจดหมายกันอีกเลย แม้ Godard จะพยายามหาโอกาสตามงานเทศกาลหนังแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่ง Truffaut เสียชีวิตจากเนื้องอกในสมองเมื่อปี 1984 ก็ทำให้ Godard รู้สึกเสียใจมากที่ค้างคาความขัดแย้งกับอดีตเพื่อนรักคนนี้ไว้ ถึงขนาดเขียนบทความอุทิศ ชื่นชม (และขอโทษ) ความยาวหลายหน้ากระดาษ
จดหมายฉบับเต็ม: [CLICK HERE]
สำหรับ Day for Night ถือได้ว่าเป็นหนังกึ่งๆ Ensemble Cast รวมดารานักแสดงที่พอมีชื่อสมัยนั้นหลายคนเข้าร่วมไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย
Jacqueline Bisset นักแสดงสาวสัญชาติอังกฤษ ที่ขณะนั้นกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงจาก Airport (1970), รับบท Julie Baker นักแสดงหญิงดาวรุ่ง ที่แอบแต่งงานแล้วกับสามีสูงวัย Bertrand เป็นคนใจเร็วและสติแตกง่าย ในหนังซ้อนหนังรับบทเป็น Pamela นางเอกของเรื่องที่ก็ซ้อนรักกับผู้ชายสองคน (สามีและพ่อสามี)
นักแสดงหน้าใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการก็มักเป็นแบบนี้ คือยังไม่สามารถปรับตัวรับ เข้ากับชื่อเสียงความสำเร็จได้ดีนัก ทำให้บางครั้งเมื่อเกิดความผิดพลาดพลั่ง ผิดหวังรุนแรง มักเกิดอาการสติแตกควบคุมตัวเองไม่ได้ ใครก็ตามที่ช่วยเหลือให้ผ่านช่วงเวลานี้ มักจะกลายเป็นคนรัก (เพราะนี่คือช่วงเวลาบอบบางอ่อนแอที่สุด ใครมาทำอะไรดีๆให้ก็รับน้ำใจหมด) … แต่มักจะไม่นานก็อาจได้ผิดหวังอีก นี่คือวิธีของดาวดารา
Valentina Cortese นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน เธอเคยร่วมงานกับ Federico Fellini เรื่อง Juliet of the Spirits (1965), รับบท Séverine นักแสดงค่อนข้างสูงวัยที่ติดเหล้าอยากหนัก จนจดจำบทพูดของตนเองไม่ค่อยได้ ในหนังซ้อนหนังรับบทแม่ของ Alphonse และภรรยาของ Alexandre
ตัวละครนี้เป็นตัวแทนของนักแสดงหน้าเก่าที่ยังพอมีชื่อเสียงอยู่ ชีวิตคงเคยผ่านพบประสบความสำเร็จ และล้มเหลวตกต่ำ จึงมีความสามารถในการเผชิญหน้ารับความผิดพลาดพลั้ง สามารถเอาตัวรอดแก้ไขปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง ในรายนี้คือใช้สุราเป็นของคู่กาย ดื่มมากไปหน่อยก็สามารถหลงลืมความทุกข์ได้ (แต่ก็พลอยเป็นภาระให้ผู้อื่น)
การแสดงของ Cortese ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลยนะครับ แค่ฉากเดียวพูดซ้ำไปซ้ำมา เปิดประตูผิดบานทุกที ถึงขนาดได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress เลยละ
Jean-Pierre Aumont นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีชื่อจากการแสดงละครเวทีที่อเมริกา รับบท Alexandre เหมือนว่าระหว่างเขากับ Séverine จะเคยมีอะไรๆร่วมกันมาสมัยยังเคยโด่งดังประสบความสำเร็จที่ Hollywood กลับมาร่วมงานกันครั้งนี้ได้หวนระลึกความทรงจำเก่าๆ, ในหนังซ้อนหนังรับบทชู้รักของ Pamela
Alexandre เป็นตัวแทนของนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จ และไม่มีชื่อเสีย แม้เบื้องหลังคงมีลับลมคมในบ้าง แต่ในมาดนิ่งลึกเป็นผู้ใหญ่ ใครๆก็นับถือ … เพราะเหตุนี้ความที่เหมือนจะดีเกินไป เล่นหนังเรื่องไหนมักต้องถูกทำให้ตาย และหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน (พี่แกเล่นปักธง Death Flag มาตั้งแต่หัววันเลย)
Jean-Pierre Léaud นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Truffaut ที่ร่วมเป็นร่วมตายกันตั้งแต่หนังเรื่องแรก รับบท Alphonse นักแสดงหนุ่มไฟแรง แต่ต้องอกหักเพราะแฟนสาวหนีไปกับหนุ่มสตั๊นแมน เช่นกันกับในหนังซ้อนหนัง เป็นสามีของ Pamela แต่เธอดันลักลอบมีชู้กับพ่อของเขา ตอนจบก็เลยต้องทำปิตุฆาต
ความสำเร็จชื่อเสียงของ Alphonse ไม่ได้การันตีว่าชีวิตจะมีความสุขกายใจ ก็เหมือนหนัง debut เรื่องแรกของ Léaud ที่ Truffaut ทำให้เขาเสียเด็กไปเลย เลยจำต้องคอยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ชี้แนะนำช่วยเหลือดูแล (เสมือนเป็นผู้ปกครอง) ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง, ซึ่งในส่วนนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอัตชีวประวัติของ Léaud กับผู้กำกับ Truffaut ตรงๆเลยละ
ถ่ายภาพโดย Pierre-William Glenn ใน ‘สไตล์ของ Truffaut’ ยังคงมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ แพนกล้องแล้วซูมเข้าหรือซูมออก (ถือว่า Truffaut เป็นผู้ประดิษฐ์เทคนิคนี้จากหนังเรื่อง The 400 Blows), การแช่ภาพ (Freeze Frame), การเคลื่อนกล้องไปมา ใช้เครน และช็อตสุดท้ายย่อมต้องเป็นบนเฮลิคอปเตอร์
ตัดต่อโดย Martine Barraquè-Curie, Yann Dedet จะถือว่าตัวละครผู้กำกับ Ferrand จะคือจุดหมุนของหนัง และใช้เสียงบรรยายของ Truffaut เองด้วย, หนังมีบางช่วงที่จะใช้ภาพและเพลงคลาสสิกเล่าเรื่องโดยไม่มีบทพูด เพื่อเป็นการรวบรัดเร่งเวลา ให้หนังมีความกระชับขึ้น ได้ความยาว 115 นาที ถือว่ากำลังพอดีเลยละ
เพลงประกอบโดย Georges Delerue ขาประจำของ Truffaut, ฉากแรกของหนังเราจะได้ยินเสียงของ Delerue ที่มา Cameo พูดคอมเมนต์ต่อนักดนตรี ก่อนเริ่มต้นการบรรเลงเพลง,
“Let’s all be quiet and play well. Slowly and relaxed, in my tempo. From the beginning. Strike up together. Here you can speed up. Don’t leave any gaps. There, now all together. Hold that last chord. No sentimentality. Just play the notes.”
ผมชอบบทเพลงคลาสสิก Impressionist ของหนังในช่วงรวบรัดเรื่องราวมาก ชื่อเพลง Le Cinema Règne (Cinema Rules) แทบไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ เพราะ ‘Cinema is King!’ คือทุกสิ่งทุกอย่าง
Ferrand: Making a film is like a stagecoach ride in the old west. When you start, you are hoping for a pleasant trip. By the halfway point, you just hope to survive.
ตัวละคร Ferrand น่าจะคือตัวแทนของผู้กำกับธรรมดาทั่วๆไป ที่ตอนเริ่มต้นก่อนเข้าวงการหรือเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ มักเต็มไปด้วยพลัง ศักยภาพ ความเพ้อฝัน ต้องการเป็นดั่ง Orson Welles คนต่อไป แต่เมื่อได้พบเจอเรียนรู้จักโลกกว้างความเป็นจริง ต่อสู้ดิ้นรน ถ้าต้องการเอาตัวรอดในวงการภาพยนตร์ ก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงคล้อยตาม ความทะเยอทะยานที่เคยเต็มเปี่ยมเริ่มค่อยๆลดลงเจือจาง จนถึงจุดๆหนึ่งอาจเริ่มคิดว่า ได้แค่นี้ก็บุญโขแล้ว
นี่คือปัญหาโลกแตกของวงการภาพยนตร์ กับเมืองไทยยิ่งเห็นได้ชัด ผมไม่อยากเอ่ยนามผู้กำกับท่านใดให้เกิดความคับข้องระคายใจ ถ้าคุณติดตามวงการหนังไทยมานานก็คงรับรู้ได้ดี ประมาณ 90% เลยด้วยที่ หนังเรื่องแรกๆพวกผู้กำกับหน้าใหม่ทั้งหลายเหล่านี้ยอดเยี่ยมเจ๋งมากๆ แต่ผลงานลำดับถัดมาก็ค่อยๆด้อยคุณภาพลงเรื่อยๆ จิตวิญญาณความตั้งมั่นทุ่มเทเริ่มจางหาย ไหนจะภาระรับผิดชอบต่อชีวิต ทำหนังอย่างเดียวหาเงินเลี้ยงลูกไม่ได้ แบบนี้มันจะ…ได้ยังไง
ผู้กำกับ François Truffaut ไม่ได้มีความใกล้เคียงกับ Ferrand เลยนะครับ คือพี่แกสามารถสร้างภาพยนตร์ได้ตามอยาก ในความสนใจ ด้วยวิธีการของตนเอง ตา่มทฤษฎี’ศิลปิน’ที่คิดค้นเขียนไว้เปะๆ ซึ่งการสร้าง Day for Night ประหนึ่งเป็นการชี้ให้เห็นปัญหาของวงการภาพยนตร์ เพราะผู้กำกับส่วนใหญ่ก็เป็นแบบ Ferrand เช่นกันกับนักแสดงทั้งหลาย น้อยคนจะเป็นดาวค้างฟ้า น้อยยิ่งกว่าผู้กำกับที่จะกลายเป็น ‘ศิลปิน’ โดยแท้
เมื่อปี 1974 หนังได้เข้าชิงและคว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film
และปี 1975 เข้าฉายในอเมริกา และได้เข้าชิงอีก 3 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Director
– Best Supporting Actress (Valentina Cortese)
– Best Writing, Original Screenplay
สาเหตุที่เข้าชิง 2 ปีติด เพราะหนังที่เข้าชิงสาขาต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องได้ฉายในอเมริกา (แค่ฉายในประเทศนั้นๆก่อนเดือน … สามารถเป็นตัวแทนได้หมด) ซึ่งในกรณีที่ยังไม่ได้เข้าฉายในอเมริกา ปีถัดมาจะสามารถมีโอกาสลุ้นเข้าชิง Oscar สาขาอื่นได้, มีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วนะครับ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่หนังซ้อนหนังแบบนี้น่าจะทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้อย่างบ้าคลั่ง เมื่อครุ่นคิดดูก็พบว่า เพราะหนังทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ต่อต้านโดยสิ้นเชิง, กล่าวคือในโลกภาพยนตร์ใบนี้ของ Truffaut เต็มไปด้วยอัปลักษณ์ พิศดาร ผู้คนเห็นแก่ตัว สนใจแต่ผลประโยชน์ตนเอง จ้องหน้าคนนี้ถูกใจชวนไปมี Sex เห้ย! นี่เหรอตัวตนแท้จริงของวงการภาพยนตร์
Bertrand: Aren’t we one big family?
Alexandre: So were the people in Greek tragedies!
หนังเรื่องนี้ยิ่งกว่าโศกนาฎกรรมอีกนะครับ แต่เพราะในโลกภาพยนตร์ ทุกสิ่งถูกออกแบบสร้างสรรค์ให้มีความสวยงามเกินจริง แต่กระบวนการสร้างขึ้นให้กลายเป็นนั้น ล้วนเต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคความวุ่นวาย แค่ผู้ชมจะไม่มีโอกาสรับรู้มองเห็นเบื้องหลังเหล่านั้น, เหมือนดั่งจากกลางวันทำให้เป็นกลางคืน (Day for Night) โลกเบื้องหลังความจริงตรงกันข้ามกับสิ่งที่เห็นในโลกภาพยนตร์โดยสิ้นเชิง
ไม่น่าเชื่อว่าบางคนสามารถมีชีวิต อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเรื่อยๆ เด็กใหม่ก็พยายามดิ้นรนปรับตัว ทนไม่ได้ก็กรีดกรายสติแตก คนไหนอยู่มานานๆก็จะรู้วิธีปกป้องเอาตัวรอดได้ นี่หรือคือโลกภาพยนตร์ที่ใครๆแสวงหา กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับที่ใครๆต่างวาดฝันยิ่งนัก
เกร็ด: Day for Night หรือ La Nuit américaine เป็นชื่อเทคนิคการถ่ายภาพหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ เพราะตอนนั้นถ่ายทำหนังตอนกลางคืนไม่ได้ (แสงไม่พอ) จึงมีการคิดค้นเลนส์ชนิดหนึ่ง ทำให้สามารถถ่ายตอนกลางวันแล้วได้ภาพออกมาเห็นเหมือนตอนกลางคืน
แนะนำกับคนรักหนังทุกท่าน ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย หลงใหลชื่นชอบหนังสัญชาติฝรั่งเศส โดยเฉพาะของผู้กำกับ François Truffaut และแฟนๆนักแสดงอย่าง Jacqueline Bisset, Jean-Pierre Aumont, Valentina Cortese, Jean-Pierre Léaud ไม่ควรพลาดเลย
โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน ผู้มีความฝันต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิง/ภาพยนตร์ ให้หาหนังเรื่องนี้มารับชมศึกษาไว้นะครับ นี่คือการตีแผ่เบื้องหลังโลกความจริงของวงการ ที่อาจทำให้คุณหลงใหลคลั่งไคล้ หรือไม่ก็เกลียดต่อต้านไปเลย
จัดเรต pg กับการมั่วทั้งหลายในหนัง
Leave a Reply