Day of the Dead

Day of the Dead (1985) hollywood : George A. Romero ♥♥♡

เมื่อวันแห่งความตายคืบคลานเข้ามา เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? จากที่ George A. Romero วาดฝันให้หนังปิดไตรภาค Living Dead เรื่องนี้ มีความยิ่งใหญ่อลังการระดับ Gone With The Wind แต่กลับสร้างได้แค่คุดคู้อุดอู้อยู่ในฐานทัพใต้ดิน ภายใต้จิตสำนึกของตนเอง

ผ่านมาอีกทศวรรษนับจากความสำเร็จอันล้นหลามของ Night of the Living Dead (1968) กับ Dawn of the Dead (1978) ก็ถึงคราที่ George A. Romero จะทำการปิดไตรภาค Living Dead เสียที ด้วยประสบการณ์ชีวิต การทำงานสะสมเพิ่มสูงขึ้น เช่นกันกับความเพ้อฝันทะเยอทะยาน คิดว่าคงได้สร้างหนังที่เป็นไปตามความต้องการเสียที แต่กลับถูกตัดทอนงบประมาณลงเรื่อยๆ จากฝันใหญ่ๆค่อยๆลดขนาดลงเหลือกระจิดริด นี่คือผลลัพท์ของผลงานที่เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานใจ ทำไมโลกเราถึงเต็มไปด้วยคนที่มีความคิดเผด็จการ ขัดแย้ง เห็นต่างขนาดนี้

ถึงผมดูหนังของ Romero มาไม่กี่เรื่อง แต่คิดว่า Day of the Dead เป็นเรื่องที่ใกล้หัวใจของเขาสุดแล้ว ความฝันที่พังทลาย บรรจงแต่งเติมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจตนเอง, Romero ไม่เคยพูดอะไรแบบนี้ออกมานะครับ แต่คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้จากความโคตรอึดอัดทรมานในการรับชมหนังเรื่องนี้

เริ่มต้นประมาณปลายปี 1983 – 1984 ความตั้งใจแรกสุดของ Romero ต้องการให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะ “the Gone with the Wind of zombie films” นักวิทยาศาสตร์อาศัยอยู่บนพื้นดิน ในป้อมปราการล้อมรอบด้วยลวดหนามไฟฟ้า ส่วนกองทัพหลับนอนอย่างปลอดภัยอยู่ใต้ดิน เรื่องราวเกี่ยวกับกองกำลังมนุษย์กลุ่มเล็กๆ และทหารซอมบี้ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ร่วมกันต่อสู้จนกลายเป็นสงครามระหว่าง มนุษย์ vs ซอมบี้ (พล็อตค่อนข้างคล้ายๆกับ War for the Planet of the Apes เลยนะครับ)

เกร็ด: พล็อตคล้ายๆกันนี้ถูกพัฒนาต่อกลายเป็นหนัง Land of the Dead (2005) ภาคต่อไปของแฟนไชร์นี้

ด้วยบทหนังจำนวน 200 กว่าหน้า ประเมินว่าใช้ทุนสร้าง $7 ล้านเหรียญ ซึ่งสตูดิโอผู้จัดจำหน่ายจะยินยอมมอบเงินเต็มจำนวนถ้าทำให้หนังได้เรต R แต่ Romero กลับไม่สนใจ เพราะไม่ต้องการสร้างข้อจำกัดให้ตนเอง นี่ทำให้งบประมาณถูกหั่นลงเหลือครึ่งหนึ่ง บังคับให้เขาต้องหวนกลับไปปรับปรุงแก้ไขบทภาพยนตร์ ตัดโน่นนี่นั่นออกมากมายเพื่อให้ได้คลอบคลุมงบประมาณ จนฉบับสุดท้ายเหลือเพียง 88 หน้ากระดาษเท่านั้น!

ผ่านไปนานเท่าไหร่ไม่รู้กับ Zombie Apocalypse ที่คงแผ่กระจายปกคลุมทั่วโลก, เสี้ยวส่วนหนึ่งของผู้รอดชีวิต หลบซ่อนตัวอาศัยอยู่ฐานทัพใต้ดิน Everglades, Florida ประกอบด้วยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ทหารและพลเรือน แต่ราวกับโรงพยาบาลบ้า ผู้นำทหารปกครองด้วยความเผด็จการ, หัวหน้านักวิทยาศาสตร์มือเปลื้อนเลือดตลอดเวลา, แทบทุกวันต้องมีการชกต่อยตี คลุ้มคลั่งเสียสติ ฯ พวกเขาจะมีชีวิตคุดคู้อุดอู้อยู่ในสถานที่แห่งนี้ได้อีกนานเท่าไหร่

Lori Cardille (เกิดปี 1954) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา มักมีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ โด่งดังจาก The Edge of Night (1978-1979) รับงานภาพยนตร์บ้างประปราย

รับบท Dr. Sarah Bowman นักวิทยาศาสตร์ ผู้หญิงคนเดียวในหนัง, เธอเป็นหญิงแกร่งที่มีความเย่อหยิ่งทะนงตน พยายามมองโลกในแง่ดี แต่ภายในมีความอ่อนไหวอ่อนแอ อีกทั้งแฟนหนุ่มที่พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ การทดลองที่ไม่เคยสำเร็จ สร้างความเครียด เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า (ต้องกินยา -อะไรสักอย่าง- ให้รู้สึกผ่อนคลายอยู่เรื่อยๆ)

ภาพลักษณ์ของ Cardille ดูเป็นหญิงแกร่งที่มีความเป็นเอกเทศน์พอสมควร ดูแล้วเหมาะกับเป็นโสดเสียมากกว่า ซึ่งทีแรกผมก็คิดแบบนี้ แต่กลายเป็นว่ามีแฟนอยู่แล้ว ที่มีสภาพปวกเปียกตรงกันข้ามกับเธอเลย เคมีของพวกเขาไม่เข้ากันสักนิด ราวกับว่าหมดรักกันแล้ว ทนอยู่เพราะไม่รู้จะทำยังไงต่อไป

Joseph Pilato (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Boston, Massachusetts พ่อเป็นนัก Trombonist เล่นกับ Les Brown Orchestra ทำให้เขามีความชื่นชอบเล่นกีตาร์, Accordian และทรัมโบน โตขึ้นตั้งใจจะเป็นทนายความ แต่ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถด้านการแสดงเลยมุ่งไปทางนั้น ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Romero ผลงาน debut เรื่อง Dawn of the Dead (1978) รับบทเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ท่าเรือ ทีแรกก็คิดว่ารับบทเดิมแต่ที่ไหนได้

รับบท Captain Henry Rhodes เลื่อนขั้นมาเป็นผู้นำทหารเพราะผู้นำคนก่อนกลายเป็นซอมบี้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยความเป็นคนขี้ขลาดเขลาอ่อนแอภายใน คล้ายกับ Dr. Sarah Bowman จึงแสดงออกภายนอกด้วยความก้าวร้าวรุนแรง เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความหวาดกลัวยำเกรง คิดว่าตัวเองเจ๋งแน่ แต่พอไม่มีอาวุธปืนเท่านั้นแหละ วิ่งแจ้นหนีซอมบี้หางจุกตูด แม้แต่เพื่อน/ลูกน้อง ก็ไม่สนใจอะไร

สาเหตุคงเพราะปรากฎการณ์ Zombie Apocalypse ค่อยๆกัดกินภายในจิตใจ ทำให้เริ่มเสียสติ ควบคุมความอ่อนแอภายในไม่ค่อยได้ วิธีการเดียวคือแสดงออกมาในสิ่งตรงข้าม, ผมไม่เห็นการแสดงของ Pilato จะมีพรสวรรค์ พรแสวงอะไรเลยนะครับ เหมือนเขาถ่ายทอดออกมาจากตรงเอง แค่ภาพลักษณ์ก็โหดร้ายลึก แค่ต้องตะโกนขึ้นเสียง พูดคำหยาบคายตลอดเวลาเท่านั้น

Terry Alexander (เกิดปี 1947) นักแสดงผิวสีสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan ผลงานส่วนใหญ่เป็นนักแสดงละคร/ซีรีย์โทรทัศน์

รับบท John คนขับเครื่องบินที่มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา สนแต่ความสุขสบาย และอิสรภาพของตนเอง คงกลัวตายอยู่แหละแต่ถ้าถึงที่สุดแล้วก็คงสามารถปล่อยวางตัวเองได้

เป็นอีกครั้งที่ Romero เลือกนักแสดงผิวสีมารับบทที่มีความสุภาพ อ่อนโยน เข้าใจวิถีของมนุษย์ ราวกับเป็นสัญลักษณ์แทนด้วยความต้องการของเขาเอง น่าเสียดายที่สำเนียงของ Alexander อะไรก็ไม่รู้ ฟังไม่ได้สดับแม้แต่น้อย

บอกตามตรงผมค่อนข้างมีปัญหากับเหล่านักแสดงที่รับบทเป็นมนุษย์อย่างมาก แทบทั้งนั้นล้วน Over-Acting ตะโกนโหวกเหวก พูดจาหยาบคาย กระแทกอารมณ์ใส่กันตลอดเวลา และหงุดหงิดสุดๆกับสำเนียงอะไรก็ไม่รู้ของ Alexander เห็นว่าเป็นการผสมสำเนียง Jamaican กับ Irish ไม่ยักรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย

ซึ่งตัวละครที่ผมกลับประทับใจสุดในหนังคือ Bub the Zombie รับบทโดย Sherman Howard (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois มีชื่อเสียงจากเป็นนักแสดงละครเวที American Conservatory Theater ที่ San Francisco ตามด้วยละคร/ซีรีย์โทรทัศน์ เคยสวมบท Lex Luther ในซีรีย์ Superboy (1989-1992)

Bub เป็นซอมบี้ที่น่าเลี้ยงไว้ที่บ้านมาก มีความใสเหมือนลูกแมวน้อย ซื่อสัตย์รักเจ้านายเหมือนสุนัข สติปัญญาระดับเด็ก 3 ขวบ ชื่นชอบ Beethoven: Symphony No. 9, อ่านนิยาย Salem’s Lot (1975) ของ Stephen King ฯ ไม่ใช่แค่การ MakeUp ระดับตำนานของ Tom Savini แต่คือการแสดงของ Howard ที่ทำให้ Bub ดูเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นกว่ามนุษย์คนอื่นๆที่พบเจอในหนังเสียอีก

ถ่ายภาพโดย Michael Gornick นี่เป็นการร่วมงานครั้งสุดท้ายกับ Romero นับจาก Dawn of the Dead (1978), Martin (1978), Knightriders (1981), Creepshow (1982) ซึ่งจากนี้ก็จะผันตัวไปเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์

ฉากเปิดเรื่องถ่ายทำที่ Fort Myers, Florida ส่วนฉากใต้ดิน ถ่ายทำยังเหมืองใต้ดินใกล้ๆกับเมือง Wampum, Pennsylvania ซึ่งภายในนั้นมีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 50 องศาฟาเรนไฮต์ (=10 องศาเซลเซียส) นี่ทำให้อุปกรณ์ประกอบฉากที่มีประกายไฟไม่สามารถใช้งานได้ และเพราะการเดินทางขึ้นๆลงๆเหมืองเสียเวลาค่อนข้างมาก นักแสดง/ทีมงาน จึงอาศัยหลับนอนอยู่ที่นั่นตลอดการถ่ายทำ

สีสันของงานภาพมีความกลมกลืนลงตัวตามยุคสมัย สีแดงนอกนอกจากเลือดแล้ว ยังมีหมวกนิรภัย, หลอดไฟทางออกฉุกเฉิน กล่าวคือเป็นสีแสดงถึงความอันตราย จะไม่เห็นเกลื่อนกลาดทั่วไป, ขณะที่ซอมบี้จะไม่ใช่แค่ทาสีเทาอย่างเดียวแล้ว อย่าง Bub เหมือนว่าจะตัวสีเขียว แตกต่างจากซอมบี้อื่นๆพอสมควร

และคงเพราะยุคสมัยแห่งการเซนเซอร์ได้หมดลงไปแล้ว กลายเป็นการจัดเรตติ้งอายุ เราจึงเห็นการตายของตัวละครและซอมบี้ในรูปแบบต่างๆ มีความน่าขยะแขยงมากขึ้น อาทิ ยิงปืนทะลุหัวเห็นเลือดพุ่งด้านหลัง, พลั่วทะลุปาก, เหล่าทหารส่วนใหญ่มักจะถูกรุมกระฉาก ดึงแขนขาตับไตไส้พุงศีรษะไปคนละทิศละทาง ฯ

ตัดต่อโดย Pasquale Buba ที่เคยร่วมงานกับ Romero ตั้งแต่ Knightriders (1981) ผลงานเด่นสุดคือ Heat (1995), หนังใช้มุมมองของ Dr. Sarah Bowman ในการเล่าเรื่องทั้งหมด เริ่มต้นจากในความฝัน และช่วงท้ายจบลงที่ ราวกับว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงความทรงจำเท่านั้น

เพลงประกอบโดย John Harrison ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลง ได้ร่วมงานกับ Romero เป็นผู้ช่วยผู้กำกับใน Night of the Living Dead(1968), Creepshow (1982) ซึ่งกับ Knightriders (1981) ได้เป็นผู้ขันอาสาทำเพลงประกอบให้ เกิดความชื่นชอบประทับใจ เลยขอให้เขาทำเพลงให้กับหนังเรื่องนี้อีกครั้ง

ผมขอเรียกลักษณะของบทเพลงว่า Zombie Rock แทบจะทุกเพลงประกอบใช้ดนตรี Rock เป็นพื้นฐาน มีเสียงกลอง ลีดกีตาร์ คีย์บอร์ด บางครั้งก็จะใส่เสียงสังเคราะห์ (Electronic) เข้าไปด้วย นี่คือสไตล์ดนตรีแห่งทศวรรษ 80s ให้สัมผัสที่แตกต่างให้กับภาพลักษณ์ของซอมบี้ เต็มเปี่ยมด้วยความบ้าคลั่ง เสียสติแตก ไม่ได้มีบรรยากาศหลอนหลอกเสีย แต่จะสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจเสียมากกว่า

บทเพลงตอนจบของหนังชื่อ The World Inside Your Eyes (โลกในสายตาของเธอ) ขับร้องโดย Sputzy Sparacino ให้สัมผัสที่ต่างจากอารมณ์ของหนังโดยสิ้นเชิงเลยนะครับ คงเพราะฉากสุดท้ายกลุ่มผู้รอดชีวิตขับเฮลิคอปเตอร์มาถึงชายหาดแห่งหนึ่ง มันคือช่วงเวลา/สถานที่แห่งการปลดปล่อย บทเพลงเลยมีความผ่อนคลาย อะไรๆจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็ให้มันเป็นไป หมดสิ้นภาระความเครียด เริ่มปลดปล่อยอะไรๆให้วางลงได้บ้างแล้ว

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการมีอำนาจ ครอบครอง เป็นเจ้าของ รับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ Zombie Apocalypse บีบบังคับให้คนกลุ่มหนึ่งต้องอาศัยอยู่ใต้ดิน เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยไร้ค่า ที่ถูกซอมบี้กลายเป็นผู้มีอำนาจ ปริมาณเหนือกว่า กำจัดฆ่าล้างอย่างไรก็ไม่หมด นี่ทำให้คนบางกลุ่มเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจของตนเองได้

ข้อเสนอแนะของนักวิทยาศาสตร์คือการประณีประณอม เรียนรู้ศึกษาลักษณะทางชีวภาพ/กายภาพของซอมบี้ (นี่คล้ายๆผู้กำกับนำแรงบันดาลใจจาก The Thing from Another World) แทนที่เราจะปฏิเสธต่อต้าน หรือต้องการเอาชนะทำลายล้าง ก็เปลี่ยนเป็นหาทางสื่อสารทำความเข้าใจ หรือควบคุมชี้ชักนำ ให้มนุษย์และซอมบี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนขัดแย้งซึ่งกันและกัน

เหล่าทหารหาญไม่มีวันเข้าใจตรงนี้ พวกเขาถูกเสี้ยมส่อนให้ในหัวสมองมีแต่ชัยชนะ ฆ่าทำลายล้างทุกสิ่งอย่างที่เป็นปรปักษ์ศัตรู ห้ามประณีประณอม หรือแสดงความอ่อนแอออกมาให้ผู้อื่นเห็น (เพราะจักไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น)

เปรียบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฐานทัพใต้ดิน กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมอง/จิตใจ/จิตใต้สำนึกของมนุษย์ วิเคราะห์ตามหลักของ Sigmund Freud (มองแบบนี้หนังจะคล้ายหนังเรื่อง Repulsion) กลุ่มของตัวละครในหนังแบ่งได้เป็น
– ทหาร: เปรียบได้กับ Id คิดตัดสินใจตามสันชาติญาณล้วนๆ เต็มไปด้วยความรุนแรง
– นักวิทยาศาสตร์: มีความเฉลียวฉลาด เต็มไปด้วยตรรกะเหตุผล เปรียบได้กับ Super Ego
– พลเรือน (คนขับเครื่องบิน, สื่อสาร): อยู่กึ่งกลาง ไม่เข้าข้างทั้งฝั่งทหารและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ มีสติปัญญาครุ่นคิด รับรู้ความต้องการของตนเองได้ เปรียบได้กับ Ego ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Id กับ Super Ego

ขณะที่ Zombie เปรียบได้กับสิ่งกระตุ้นเร้าภายนอก ที่เข้ามาทำให้ Id และ Super Ego เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงแตกต่างตรงกันข้าม แต่ไม่ใช่สำหรับ Ego ที่วางตัวเป็นกลาง ไม่เดือดเนื้อร้อนใจใดๆ สนแต่ความพึงพอใจของตนเองเท่านั้น

สำหรับนางเอกที่แม้จะเป็นฝั่งนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้ทำการเรียนรู้ ปรับตัว เข้าใจความต้องการของทุกฝ่าย (ทหาร/พลเรือน) จนได้ค้นพบตัวเอง สามารถลดมานะทิฐิ ปล่อยวางจากสิ่งที่เคยยึดถือมั่นไว้ สู่ความฝันที่จ้องมองรูปในปฏิทิน แม้ฉากสุดท้ายจะไปที่ชายหาดริมทะเล ก็ถือเป็นสุขกายใจได้เช่นกัน

มนุษย์เราเกิดมามีชีวิต ก็ควรต้องรู้จัก”ใช้ชีวิต” ด้วยนะครับ อย่าหมกมุ่นเอาแต่เรียน ทำงานงกๆ ไม่เคยโงหัวขึ้นมาดูความสวยงามโลกภายนอกบ้าง, บางคนชีวิตอาจเคยเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก เลยประสงค์ที่จะทำให้ตัวเองเคร่งเครียด เหน็ดเหนื่อย จริงจังกับชีวิตตลอดเวลา ลองถามตัวเองว่าสักวันหนึ่งเมื่อได้สุขสบาย มีครบทุกสิ่งอย่าง แล้วอะไรต่อ?? ‘รอวันตาย’ ใครตอบแบบนี้ผมละเศร้าแทนเลยนะครับ

มันมีอะไรมากมายในโลกใบนี้ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยพบเจอ อย่ามัวแต่ปิดขังตัวเองอยู่ในห้องหรือจิตใจของตัวเอง ออกไปสำรวจ ค้นหา เดินทางสู่โลกกว้าง พักผ่อนคลายปลดเปลื้องทิ้งความทุกข์ เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าไว้เบื้องหลัง ทำตัวเxยๆบ้างบางเวลา ให้รู้สึกว่าชีวิตที่เกิดมานี้คุ้มค่า ไม่เสียชาติเกิด ตายไปจะได้พึงพอใจ จากโลกนี้ไร้ห่วงติดหลังมากมาย … พอตายไปแล้วก็ปล่อยวางจากความเป็นมนุษย์ด้วยนะครับ ไม่ใช่ยังยึดติดโน่นนี่นั่น ฉันยังไม่ได้อะไรทำตามใจอยากเลย นึกได้ตอนนั้นทุกอย่างก็สายไปแล้ว

สิ่งที่ผู้กำกับ Romero แทรกใส่นำเสนอไว้ในหนังเรื่องนี้ คงคือสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาเอง ความคาดหวังที่จะได้ทำอะไรยิ่งใหญ่ แต่กลับ… นี่มันช่างทุกข์ทรมาน เจ็บปวดราวร้าว ราวกับถูกซอมบี้ฉีกขาดร่างออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเจ้าตัวคงก็มีความเข้าใจ ถึงสามารถบอกกับตนเอง อย่าไปครุ่นคิดเจ้าสิ่งนี้มากให้มันปวดหัวเลย ผ่อนคลาย ปลดปล่อยวางเสียบ้างสิ! แต่ก็ไม่รู้พี่แกทำได้ตามที่พูดหรือเปล่านะครับ หรือแค่สอนบอกตัวเองแล้วปากว่าตาขยิบ

ด้วยทุนสร้าง $3.5 ล้านเหรียญ ในอเมริกาทำเงินได้ $5.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $34 ล้านเหรียญ ก็ยังถือว่าพอเอาตัวรอดได้อยู่ ซึ่งหนังมาได้กำไรล้นหลามตอนกลายมาเป็น VHS, DVD, Blu-ray กลายเป็นกระแส Cult ยอดนิยมเรื่องหนึ้ง

เหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะความที่มันอึดอัด เครียด ทุกข์ทรมานเสียเหลือเกิน ราวกับต้องมานั่งทนฟังใครสักคน (ผู้กำกับ Romero) พูดบ่นถึงความลำบากกายใจที่ได้รับผ่านมาในชีวิต นี่ทำให้ผมปวดหัวหนักอึ้ง นี่มันหนัง Horror หรือ Drama เล่าปัญหาชีวิตกันแน่เนี่ย! ซึ่งข้อบกพร่องร้ายแรงสุดของหนัง คือสาสน์ที่แฝงอยู่ ว่ากันตามตรงเทียบความยิ่งใหญ่ไม่ได้ทั้ง Night of the Living Dead (1968) หรือเสี้ยวหนึ่งของ Dawn of the Dead (1978)

คิดว่าสิ่งที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบหนังเรื่องนี้ คือ Special Effect การแต่งหน้าของ Tom Savini ที่ถือว่าสมบูรณ์แบบเลยละ และความดราม่า กระแทกกระทั้นทางอารมณ์ ที่สะท้อนสันดานของมนุษย์กลุ่มหนึ่งออกมาได้อย่างถึงพริกถึงขิง!

แนะนำกับคอหนัง Horror, วันสิ้นโลก, Zombie Apocalypse, นักแต่งหน้า ทำ Special Effect ทั้งหลาย ศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการ, แฟนๆผู้กำกับ George A. Romero ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับพฤติกรรมเxยๆของมนุษย์ และการฉุดกระฉาก(ลากคนตาย)ของซอมบี้

TAGLINE | “Day of the Dead ฝันกลางวันของ George A. Romero ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรงบ้าคลั่ง แต่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจะอยากเห็น”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: