Day of Wrath (1943) : Carl Theodor Dreyer ♥♥♥
ระหว่างบุคคลที่ตนรัก กับศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ชักชวนให้ผู้ชมเลือกข้าง แล้วนำเสนอผลกระทบเกิดขึ้นตามมา ซึ่งต่างลงเอยด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียดตัวเอง ไหนละฝั่งฝ่ายที่ถูกต้อง มันช่างมืดหมองทุกทิศทางตัดสินใจ!
สร้างขึ้นช่วงระหว่างนาซีเข้ายึดครองประเทศเดนมาร์ก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความเข้าใจผิดๆ ครุ่นคิดว่าเรื่องราวล่าแม่มดคงสื่อถึงการเข่นฆาตกรรมชาวยิว แต่ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer อธิบายกับนักวิจารณ์ Tom Milne
“any such political overtones to the film were strictly unintentional”
ซึ่งพอไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่ผู้กำกับ Dreyer ต้องการเปรียบเทียบถึง จึงหลงเหลือการตั้งคำถามความเชื่อศรัทธาของมนุษย์ และสะท้อนถึงตัวตนเอง มีชีวิตเติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรม สะสมความโกรธเกลียดพ่อ-แม่เลี้ยง อยากสาปแช่งให้ตายๆไปเสียได้ก็ดี แต่ลึกๆก็รู้สึกผิดไม่สมควร เลยระบายทุกห้วงอารมณ์ใส่ลงภาพยนตร์เรื่องนี้แทน
รับชมยุคสมัยปัจจุบัน Day of Wrath ยังคงเป็น Art Film เทคนิคล้ำเหนือกาลเวลา แถมมีความโดดเด่นเฉพาะตัว สไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Dreyer พัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนใกล้ถึงจุดสูงสุด แต่เมื่อเทียบกับ The Passion of Joan of Arc (1928), Ordet (1955), Gertrud (1964) ที่เหนือฟ้ายังมีฟ้า! กระนั้นความเจิดจรัสท่ามกลางนภา ยังสามารถเรียกเต็มปากเต็มคำว่า Masterpiece
แซว: เชื่อว่าหลายๆคนคงครุ่นคิดเล่นๆ Day of Wrath (1943) ดูเหมือนภาคต่อ/ฉบับขยายเนื้อเรื่องราวจาก The Passion of Joan of Arc (1928) ส่วนตัวก็รู้สึกเช่นนั้น แต่ถ้าคุณเคยรับชมผลงานยุคหนังเงียบของ Dreyer อาทิ Præsidenten (1919), Master of the House (1925) จะยิ่งพบเห็นความคล้ายคลึงยิ่งกว่าอีก!
Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาว Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark แม่เป็นคนรับใช้ตั้งครรภ์กับเจ้านาย พยายามทำแท้งลูกคนที่สองแต่ตกเลือดเสียชีวิต สองปีแรกอาศัยอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งว่าได้รับอุปการะเลี้ยงดูแต่พ่อแม่บุญธรรมไม่ใคร่สนใจใยดีสักเท่าไหร่ เสี้ยมสั่งสอนให้สำนึกบุญคุณต่ออาหารอิ่มท้องและหลังคาพักผ่อน ด้วยเหตุนี้พออายุ 16 จึงหนีออกจากบ้าน ด้วยความเฉลียวฉลาดเรียนเก่งเลยได้ทำงานเป็นนักข่าว ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงหนังเงียบ ผลงานยุคแรกๆ Præsidenten (1919), Master of the House (1925), La Passion de Jeanne d’Arc (1928) ฯ
น่าเสียดายที่ผลงานของ Dreyer แม้คุณภาพสูงแต่ไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน ด้วยเหตุนี้จึงสร้างหนังได้แค่ทศวรรษละเรื่อง แแต่ก็ล้วนได้รับการยกย่องระดับ Masterpiece ประกอบด้วย Vampyr (1932), Day of Wrath (1943), Ordet (1955) และ Gertrud (1964)
สไตล์ของ Dreyer มีลักษณะของ Minimalist มักเป็น Long Take ด้วยการให้นักแสดงขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า แล้วกล้องติดตามตัวละครไปมาไม่ค่อยหยุดอยู่นิ่ง ขณะที่เรื่องราวมักชักชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า … แต่เห็นว่าจริงๆแล้ว Dreyer มิใช่คนเคร่ง/นับถือศาสนาประการใด
Day of Wrath ดัดแปลงจากบทละครเวที Anne Pedersdotter (1908) สร้างโดย Hans Wiers-Jenssen (1866 – 1925) นักเขียนสัญชาติ Swedish โดยเรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ปี ค.ศ. 1590 ภรรยาหม้าย Anne Pedersdotter ของบาทหลวงผู้ล่วงลับ Absalon Pederssøn Beyer ถูกแม่ยายกล่าวหาว่าคือแม่มด จึงถูกเผาทั้งเป็นที่เมือง Bergen, Norway
เกร็ด: Anne Pedersdotter เป็นบุคคลมีตัวตนจริงๆในประวัติศาสตร์ ปรากฎบนเอกสารบันทึกการไต่สวนขึ้นศาล/สารภาพบาป ว่ากันว่าน่าจะคือแม่มดโด่งดังที่สุดศตวรรษนั้น แต่เรื่องราวของบทละครและภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่งเติมเสริมขึ้นใหม่หมด
Dreyer มีโอกาสรับชมการแสดงละครเวที Anne Pedersdotter เมื่อปี 1925 เกิดความต้องการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่นั้น แต่ก็ติดขัดไม่สามารถหาทุนสร้างได้สักที โชคดีมาถึงเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเข้ายึดครองประเทศเดนมาร์ก ยินยอมขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อสร้างหนังเรื่องนี้
พื้นหลัง ค.ศ. 1623 หมู่บ้านชนบทเล็กๆประเทศเดนมาร์ก, Herlofs Marte (รับบทโดย Anna Svierkier) ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด จึงเดินทางไปขอความช่วยเหลือ Rev. Absalon Pederssøn (รับบทโดย Thorkild Roose) แต่เขากลับเลือกผลักไสตัดสินโทษเผาทั้งเป็น เลยโดนสาปแช่งเพราะเธอล่วงรับรู้ความจริงบางอย่างเกี่ยวกับภรรยาคนที่สองของเขา Anne Pedersdotter (รับบทโดย Lisbeth Movin)
Absalon เก็บเอาความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวนั้น หมกมุ่นสะสมอยู่ในใจ โดยไม่รู้ตัวว่า Anne กำลังคบชู้กับลูกชายจากภรรยาคนแรก Martin (รับบทโดย Preben Lerdorff Rye) ซึ่งเมื่อความจริงได้รับเปิดเผย ทำให้ทุกสิ่งอย่างเคยเชื่อมั่นพังทลายหมดสูญเสียสิ้น
Rev. Absalon Pederssøn บาทหลวงผู้มีความยึดถือมั่น ศรัทธาแรงกล้าในพระศาสนา ครุ่นคิดเชื่อว่าตนเองตัดสินใจถูกที่เผานางแม่มด Herlofs Marte แต่หลังจากถูกเธอ Blackmail กล่าวถึงแม่ของภริยาคนปัจจุบัน เกิดเป็นความหวาดหวั่นวิตกสั่นสะพรึงกลัว ตระหนักขึ้นได้ว่าตนเองสูงวัยไม่คู่ควรภรรยายังสาว และเมื่อสภาพจิตใจตกต่ำถึงขีดสุด ฟังคำพูดเสียดแทงความจริง ไม่สามารถยินยอมรับได้เลยหัวใจวายตาย (หรือจะมองว่าถูกมนต์ดำทำร้าย คงไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่), รับบทโดย Thorkild Roose (1874 – 1961) นักแสดง/ผู้กำกับละครเวที สัญชาติ Danish มีผลงานภาพยนตร์ประปราย ได้รับการจดจำสูงสุดก็เรื่องนี้จากภาพลักษณ์ผอมแห้งเหมือนโครงกระดูก สีหน้าอมทุกข์ภายในเต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวาย สวมใส่ปลอกคอ Ruff Collars ถือว่าคงความเย่อหยิ่งทะนงตนไว้ เชื่อว่าอะไรๆต้องดีขึ้นแต่กลับยิ่งเลวร้ายตกต่ำทรามลง
Anne Pedersdotter ภรรยายังสาวของ Rev. Absalon เริ่มต้นเต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายไม่ต่างอะไรจากนกในกรง แถมยังถูกแม่สามีกวดขันเข้มงวดจนอยากดิ้นให้หลุดจากพันธการ กระทั่งการมาถึงของ Martin บุตรชายที่อายุมากกว่าตน ไม่สนว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถาโถมความรักเข้าใส่ดั่งพายุเฮอร์ริเคน ต้องการสาปแช่งสามีให้ดับดิ้นสูญตายจากไป ใครจะครุ่นคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง, รับบทโดย Lisbeth Movin (1917-2011) นักแสดงหญิงสัญชาติ Danish หลังจากแจ้งเกิดโด่งดังกับ Day of Wrath (1943) ก็เวียนวนอยู่ในวงการทั้งภาพยนตร์และละครเวที ช่วงแรกๆสวมหมวกถูกครอบงำจากสามี(และแม่สะใภ้) ใบหน้าบึ้งตึงทะมึนด้วยความอึดอัดทรมาน กระทั่งเมื่อตกหลุมรักแรกพบ ค่อยๆปลดปล่อยตนเองไปกับรอยยิ้มความสุขสำราญ นกน้อยได้รับอิสรภาพโบยบิน แต่สุดท้ายกลับหลงเหลือเพียงความผิดหวังเคียดแค้น ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็แค่ภาพลวงตาเท่านั้นใช่ไหม!
Martin ลูกชายจากภรรยาคนแรกของ Rev. Absalon เดินทางกลับบ้านพบเจอคุณแม่ยังสาว Anne โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักแรกพบ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ เพราะเธอคือภริยาพ่อ มิอาจก้าวข้ามผ่านขอบเขตแห่งศีลธรรม และภายหลังเมื่อบิดาล่วงลับจากไป โบ้ยใส่ร้ายความผิด จมปลักตนเองอยู่ในความมืดมิด, รับบทโดย Preben Lerdorff Rye (1917 – 1995) นักแสดงสัญชาติ Danish โลดแล่นในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความหล่อเหลากระชากใจ ทำให้แสดงบทโรแมนติกได้หวานฉ่ำ แต่กรรมค่อยๆทำให้อมทุกข์ ปลักความขัดย้อนแย้งเกิดขึ้นภายใน สุดท้ายสายตามืดบอดสนิท ตัดสินใจเลือกอยู่ฝั่งฝ่ายตรงกันข้ามเธอ
Merete เธอคือจอมเผด็จการที่ชอบพูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม อ้างทำไปเพื่อความสุขของลูกชาย Rev. Absalon โกรธเกลียดเคียดแค้น Anne มองเป็นเสนียดจัญไร และเมื่อเขาต้องพลัดพรากไป พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อขจัดมารผจญ, รับบทโดย Sigrid Neiiendam (1873 – 1955) สัญชาติ Danish โคตรนักแสดงละครเวทีประจำอยู่ที่ Royal Danish Theatre มีผลงานภาพยนตร์บ้างประปราย ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการจดจำสูงสุดจากบทแม่ผู้มีความจงเกลียดจงชังลูกสะใภ้ ถ่ายทอดผ่านสีหน้า ท่วงท่าทาง และจริตน้ำเสียง สามารถทำให้ผู้ชมโกรธเกลียดชิงชัง อยากแช่งชั่งให้มีอันเป็นไปโดยไว … แต่ก็ไม่ยอมตายสักทีสินะ!
ถ่ายภาพโดย Karl Andersson สัญชาติ Swedish,
ตัดต่อโดย Anne Marie Petersen, Edith Schlüssel
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Dreyer ตอนเช้าจะให้นักแสดงซักซ้อมตระเตรียมการจนพร้อมสรรพ จากนั้นช่วงบ่ายค่อยเริ่มการถ่ายทำเพียง 1-2 เทคก็เสร็จสิ้น ซึ่งมักเป็น Long Take ช็อตละหลายนาที แต่ถึงกระนั้นหนังเรื่องนี้พบเห็นการตัดต่อ สลับเปลี่ยนมุมมอง หรือไม่ก็ดำเนินเรื่องคู่ขนานกับอีกเหตุการณ์
ความเชื่องช้าของหนังไม่ใช่จากการถ่ายภาพหรือตัดต่อ แต่คือนักแสดงค่อยๆขยับเคลื่อนไปอย่างมีสติ นับก้าว นับจังหวะลมหายใจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศความตึงเครียด หงุดหงิน ร้อนรนให้กับผู้ชม … นี่คือการสร้าง ‘Pace’ ลมหายใจของหนัง ซึ่งถือว่ามีความจำเพาะเจาะจงสูงมากๆ สามารถใช้คำเรียก ‘สไตล์ Dreyer’ มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก!
นอกจากความเชื่องช้าและ Long Take หนังยังมีอีกโคตรจุดเด่นคือการจัดแสง-เงา บางสิ่งอย่างอาบฉาบพื้นหลัง หรือใบหน้าตัวละครอย่างมีนัยยะสำคัญ
เริ่มต้นด้วยการลงนามในบันทึก/ประกาศ ดูคล้ายๆ The Passion of Joan of Arc (1928) เพื่อนำเสนอเรื่องราว/ช่วงเวลาของหนังนี้ มีการอ้างอิงบุคคลมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ รวมถึงพิธีกรรมล่าแม่มดที่แสนอัปลักษณ์ชั่วช้า คือค่านิยมสามัญของคนยุคสมัยนั้น
เริ่มต้นมาด้วย Long Take กล้องเคลื่อนติดตาม Herlofs Marte ตั้งแต่เปิดตู้หยิบยาชูกำลังมาให้ จากนั้นเดินไปเปิด-ปิดประตูหน้า แล้วหลบหนีทางประตูหลัง ในจังหวะที่เชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบร้อนแต่ประการใด
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆของฉากนี้ คือผู้ชมจะได้ยินเพียงเสียงอะไรก็ไม่รู้ดังจากข้างนอก ตระหนักได้ว่าบางสิ่งอย่างกำลังเดินทางตรงมาหาสาวใหญ่รายนี้ นั่นสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวให้เธอ จนต้องค่อยๆเดินหลบหนีออกประตูหลัง
การเริ่มต้นด้วยความเชื่องช้าระดับนี้ คงต้องการปรับลมหายใจของผู้ชม ใครลุ่มร้อนรนมาควรต้องสงบจิตเสียก่อน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ เร่งรีบไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งมีนัยยะสะท้อนถึง บางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นภายนอก(จิตใจ) สามารถส่งอิทธิพล แผ่ปกคลุมความหวาสะพรึงกลัวให้ผู้อยู่อาศัยภายใน
การหลบหนีของ Herlofs Marte มาสิ้นสุดที่ช็อตนี้ เงาด้านหลังมีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง สื่อถึงทางตัน ไม่สามารถไปต่อได้อีก
ผู้ชมจะไม่พบเห็นการใช้กำลัง หรือขณะเข้าจับกุมตัว แต่จักได้ยินเสียงกรีดร้อง และพบเห็นปฏิกิริยาตัวละครอื่นที่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นกลัว ทำไมต้องใช้ความรุนแรงกันด้วยนะ!
ความอยากรู้อยากเห็น ใคร่ฉงนสงสัยของ Anne Pedersdotter ต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปกับ Herlofs Marte เลยแอบย่องมาที่วิหาร/โบสถ์ กล้องค่อยๆเคลื่อนติดตามจากมุมหนึ่ง ผ่านเสามากมาก มาจนถึงห้องทำงานของสามี, สถาปัตยกรรมการออกแบบฉาก ดูออกไปทาง German Expressionism มากกว่า Dutch Baroque เสียอีกนะ (แต่ก็ดูคล้ายๆคลึงกันนะแหละ)
ช็อตนี้อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เงาวาทยากรที่กำลังกวัดไกวบาตอน อาบลงบนโน๊ตเพลงที่กำลังซักซ้อม สะท้อนการมีตัวตนของผู้นำ ผู้ควบคุม(วง) หรือจะมองไปถึงพระเจ้าผู้สร้างโลกเลยก็ยังได้
ใกล้เคียง The Passion of Joan of Arc (1928) ก็คงฉากการไต่สวนและทรมาน Herlofs Marte กล้องเคลื่อนผ่านบาทหลวงหน้าตาเห่ยๆมาจนถึงช็อตนี้ แต่ผู้ชมจักไม่เห็นการทรมาน (คือผมจินตนาการไม่ออกเลยนะว่า ทรมานยังไง?) เอาแค่ว่ามีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ตระหนักเข้าใจได้แค่นั้นคือพอ!
นี่คือสิ่งที่โคตรสร้างสรรค์ใน ‘สไตล์ Dreyer’ ไม่นำเสนอภาพการกระทำ ใช้ความรุนแรง แค่มีองค์ประกอบอื่นรายล้อม ก็สามารถสร้างบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึงกลัว และผู้ชมจินตนาการถึงสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นนั้น
ก่อนการเผาทั้งเป็น ช็อตนี้สังเกตใบหน้าของ Herlofs Marte มีเงาใบไม้อาบฉาบโบกสะบัดพริ้วไหวไปมา นั่นน่าจะสื่อถึงความโล้เล้ลังเลใจของเธอ ว่าจะเปิดเผยชื่อนางแม่มดคนต่อไปดีไหม เพื่อเอาคืน Rev. Absalon Pederssøn ที่ไม่ยินยอมช่วยเหลือตนให้รอดพ้นการความตายนี้
หลังจากถ่ายทำฉากนี้เกือบเสร็จ ผู้กำกับ Dreyer เหมือนจะจงใจปล่อยนักแสดงถูกมัดไว้ไม่ได้คลายเชือกออก แล้วให้ทีมงานคนอื่นๆไปพักรับประทานอาหารกลางวัน ขากลับมาปรากฎว่าสุมควันกำลังลุกลามมาถึง ดวงตาพองโตด้วยความหวาดสะพรึงกลัว … ช็อตนั้นปรากฎอยู่ในหนังด้วยนะ!
Anne Pedersdotter จับจ้องมองการเผาทั้งเป็นทางหน้าต่าง ด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยความหวาดสะพรึงกลัว ช็อตนี้แสดงว่าเธอไม่ต่างอะไรกับนกในกรง โหยหาอิสรภาพ แต่ไม่ใช่แบบนั้นที่ต้องตายทั้งเป็นอย่างแน่นอน
ในฉากที่มีการสนทนายาวๆ จะพบเห็นตัวละครเดินจากซ้าย-ขวา ย้ายตำแหน่งหน้า-หลัง ยืนนั่งสูง-ต่ำ และยังเงามืด-แสงสว่าง เหล่านี้คือการสร้างมิติความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร มีความใกล้ชิด-ห่างไกล รักมาก-โกรธเกลียดแค่ไหน
ผมขอเลือกช็อตนี้มาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง Rev. Absalon Pederssøn และ Anne Pedersdotter นั่ง-ยืน หันซ้าย-ขวา เหลือบมองแต่ไม่สบตา ถือว่ามีความขัดแย้งเห็นต่าง ใกล้ที่จะเลิกราแยกทาง (เพราะหญิงสาวลักลอบมีชู้กับ Martin, ขณะที่ชายสูงวัยจมปลักอยู่กับความหวาดระแวง)
รอยยิ้มหวานของ Lisbeth Movin ทำเอาผมใจละลายไปเลย ซึ่งพอประกบคู่กับภาพปักหญิงสาวด้านหน้า นัยยะถึงตัวตนแท้จริง ไม่มีหลบซ่อนปกปิดบัง
ในมุมตรงกันข้ามกับ Martin จะเห็นว่าภาพปักผู้หญิงนั้นหันหลัง นัยยะถึงหมอนี่มันไม่ใช่ลูกผู้ชายตัวจริง พอถึงคราทุกข์ยากลำบากทางกาย ก็สะบัดตูดเชิดหน้า เลือกสิ่งที่สร้างความพึงพอใจให้ตนเองมากกว่า
ภายหลังการเสียชีวิตช็อคตายของ Rev. Absalon Pederssøn ถ่ายย้อนแสงช็อตนี้สะท้อนเยื่อใยความสัมพันธ์ระหว่าง Anne กับ Martin ปกคลุมด้วยความมืดมิด ไร้ซึ่งแสงสว่างนำทางความรักพวกเขาทั้งสองอีกต่อไป
โคตรของโคตรการเคลื่อนกล้องโยกย้ายปรับเปลี่ยนด้านไปมาของไคลน์แม็กซ์ฉากนี้ เพื่อแบ่งแยกตัวละครออกเป็นสองฝั่งฝ่ายชัดเจน บีบบังคับให้ Martin ต้องเลือกข้างระหว่าง ยาย Merete vs. หม้ายสาวที่ตนตกหลุมรัก Anne สุดท้ายแล้วจะเลือกใคร?
– ถ้าเลือกเข้าข้างยาย Merete ถือว่าเป็นตัวแทนพระผู้เป็นเจ้า ความถูกต้องตามหลักศีลธรรมมโนธรรม
– ถ้าเลือกข้าง Anne นั่นคือความรัก พิศวาส ชู้สาว แม่มด ต่อต้านศาสนา ไร้ศีลธรรมมโนธรรม
ผมไม่รู้หรอกนะว่านี่มันสัญลักษณ์ของอะไร? แต่การกลายมาเป็นช็อตนี้เริ่มจากเงาไม้กางเขน สัญลักษณ์ของพระเจ้าผู้สร้างโลก จากนั้นปรากฎสองแหลมที่ดูเหมือนหลังคาครอบลงมา จึงได้ข้อสรุปส่วนตัวว่า สรวงสรรค์/อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า
ซึ่งการนำมาเป็นช็อตสุดท้ายของหนังนี้ ราวกับสะท้อนศรัทธาความเชื่อในพระเจ้าของผู้กำกับ Dreyer นี่คือสิ่งสูงสุดแห่งสัจธรรมความจริงในจักรวาลของเขา
เพลงประกอบโดย Poul Schierbeck นักแต่งเพลง/เล่น Organ สัญชาติ Danish ปกติสอนดนตรีอยู่ที่ Royal Danish Academy of Music ร่วมงานกับ Dreyer สองครั้ง Day of Wrath (1943) และ Ordet (1955)
งานเพลงมีลักษณะของ Expressionism สะท้อนสิ่งที่คืออารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร Anne Pedersdotter ณ ช่วงขณะนั้น ดังขึ้นในห้วงเวลาสุข-ทุกข์ ฉงนสงสัย หวาดระแวง อมทุกข์เศร้าหมอง ฯ แต่งแต้มเรื่องราวให้แลดูมีสีสัน และขณะว่างเปล่า(ไร้เสียงเพลง) ร่วมสร้างบรรยากาศตึงเครียด อยู่ไม่เป็นสุขให้กับผู้ชม
ผิดแผกก็คงมีแต่ Opening/Closing ท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นเคือง ราวกับปีศาจกำลังเข้าบุกโจมตีโลก ทำลายล้างทุกสิ่งอย่่างขวางหน้าให้วอดวายดับสิ้นสูญ
ความไร้เดียงสาของมนุษย์ก่อเกิดจากคำกล่าวอ้าง ‘ไม่รู้’ นั่นทำให้คนหลงผิด แถมยังหลงเชื่อในสิ่งมิอาจเข้าใจ ปลุกปั้นสร้างตำนาน เรื่องเล่าขาน ภาพลวงตา เพื่อตนเองจักได้พบเป้าหมาย ตอบคำถามปรัชญา ฉันเกิดมาทำไม? ตายแล้วไปไหน? ชีวิตมีจุดประสงค์อันใด?
ยุคสมัยแห่งการล่าแม่มด คือการขับไล่ ผลักไส บุคคลที่มีความครุ่นคิดเห็นต่าง กระทำนอกรีตในสิ่ง ‘สังคม’ ขณะนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับได้! มันอาจแต่งเติมเสริมเรื่องแฟนตาซีเหนือธรรมชาติ ขณะเดียวกันเป็นไปได้ว่าก็แค่พฤติกรรมแสดงออก ปฏิเสธความเชื่อศรัทธาการมีตัวตนของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นเอง
ใครกันแน่คือแม่มด? ลองวิเคราะห์ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม
– Herlofs Marte ทั้งๆที่ถูกตีตราหน้าว่าคือนางแม่มดผู้ชั่วร้าย แถมยังเคยพยายาม Blackmail เพื่อให้หลุดรอดพ้นโทษเผาทั้งเป็น แต่สุดท้ายกลับไม่ยอมเอ่ยปากบอกชื่อใคร … นี่แม่มดจริงๆนะหรือ?
– Anne Pedersdotter แสดงออกด้วยจิตอันมาดร้าย (อธิษฐานให้สามีประสบเหตุอันเป็นไป) และการกระทำนอกรีตศีลธรรม (คบชู้กับบุตรชาย) มุมหนึ่งสามารถเรียกได้ว่า สาวหัวก้าวหน้า แต่ยุคสมัยนั้นถูกเหมารวมว่าแม่มด
– มารดาของ Anne เธอยินยอมรับสารภาพด้วยตนเองว่าคือแม่มด นี่สะท้อนความเชื่อเรื่องแฟนตาซีเหนือธรรมชาติ แต่จริงหรือเปล่าไม่มีใครบอกได้แน่
– แม่สามี Merete ผู้มีฝีปากจัด มองโลกในแง่ร้าย โกรธเกลียดชังลูกสะใภ้ ภาพลักษณ์นอก-ใน ไม่ต่างอะไรกับแม่มด/นางปีศาจตัวจริงเสียงจริง!
ความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียด มองมุมหนึ่งเสมือนการลงทัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่ขณะเดียวกันสามารถมองได้เป็นเรื่องของจิตวิทยา
– Rev. Absalon Pederssøn ได้ครอบครองภรรยา Anne โดยไม่ได้สนความรู้สึกนึกคิด จิตใจของเธอแม้แต่น้อย ซึ่งเมื่อถูกตลบหลังโดย Herlofs Marte เกิดความวิตกจริตหวาดระแวง เสียชีวิตด้วยสภาพทางจิตย่ำแย่ ยินยอมรับไม่ได้กับสิ่งบังเกิดขึ้น
– Anne Pedersdotter จากเคยถูกคุมขังดั่งนกในกรง เมื่อค้นพบเจอเป้าหมายแห่งรัก รอยยิ้มเสียงหัวเราะร่า มันช่างน่าเบิกบานสำราญเสียจริง แต่แล้วทุกสิ่งอย่างก็พังทลายลง จมปลักอยู่กับความโกรธเกลียดเคียดแค้นเพราะความจอมปลอมหลอกลวง
– Martin จากชายหนุ่มร่าเริงสดใส ค่อยๆจมอยู่ความขัดย้อนแย้งเกิดขึ้นภายในจิตใจ ตกหลุมรักแต่เธอคนนั้นคือภรรยาพ่อ สุดท้ายตัดสินใจเลือกข้างฝั่งที่ตนเองครุ่นคิดว่าถูกต้องที่สุด
การเลือกข้างของ Martin สะท้อนสิ่งที่ครอบงำความคิด จิตวิญญาณของเขา นั่นคือความถูกต้องตามหลักศีลธรรม มโนธรรม หรือคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้า หลงเชื่อว่าเธอคนนี้คือนางแม่มดชั่วร้ายกาจ ใช้มารยาเสน่ห์มนต์ดำหลอกล่อ และเข่นฆาตกรรมพ่อให้ช็อคตายทั้งเป็น
พระเจ้า ถือว่ามีลักษณะของเผด็จการเบ็ดเสร็จ ‘Totalitarian’ ออกกฎให้เฉพาะบุคคลที่ทำตามคำสอนเท่านั้นถึงได้รับเลือกให้หวนกลับไปอาศัยในผืนแผ่นดินแดนสรวงสวรรค์ อาณาจักรอีเดนของพระองค์ ใครที่นอกรีตนอกรอยจักถูกผลักไสถีบส่ง สมัยก่อนมีคำเรียกนางแม่มด โชคชะตากรรมคือเผาทั้งเป็นเพื่อชำระล้างบาป
ด้วยเหตุนี้ผมเลยมอง Day of Wrath (1943) เป็นภาพยนตร์ที่เพ้อเจ้อพกลมทั้งเพ! ทุกสิ่งอย่างจมปลักกับภาพมายาแห่งความเชื่อ ระหว่างรักและศรัทธา เลยไม่แปลกที่ผลลัพท์ของการเลือกข้าง ต่างลงเอยด้วยความมืดมิดหมองหม่น ส่งทอดต่อกันไปอย่างนั้นไม่รู้จักจบสิ้น สุดท้ายแล้วจะมีใครได้กลับขึ้นสวรรค์ไหม ผมว่าไม่น่าสักกะคนเดียวเลยนะ!
ตอนที่หนังออกฉายได้เสียงตอบรับย่ำแย่ สาเหตุหลักๆเพราะความเชื่องช้าน่าเบื่อหน่าย สุดท้ายก็เลยไม่ทำเงินขาดทุนย่อยยับเยิน แถมด้วยเนื้อในใจความต่างเข้าใจกันผิดๆว่าสื่อถึงชาวยิว ทำให้ Dreyer ต้องอพยพหลบหนีไปยังประเทศสวีเดน
ชื่อเสียงของหนังค่อยๆได้รับการยอมรับขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา นักวิจารณ์หลายสำนักยกย่อง Masterpiece (แต่ก็พอมีบ่นเรื่องความเชื่องช้าอยู่เหมือนกัน)
ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์จากประเทศเดนมาร์ก เรื่องยอดเยี่ยมที่สุด
ส่วนตัวโคตรเกลียดหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เต็มไปด้วยความอึดอัดทุกข์ทรมาน หงุดหงิดรำคาญคำถามเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธา แต่ก็ต้องยินยอมรับว่าคือ Art Film ที่มีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ ด้วยไดเรคชั่นผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer
แนะนำคอหนัง Art House ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธา จิตวิทยาการล่าแม่มด พื้นหลังทศวรรษที่ 16 และแฟนๆคลั่งไคล้ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความเชื่อศรัทธา กิจกรรมล่าแม่มด
Leave a Reply