Days of Being Wild (1990)
: Wong Kar-Wai ♥♥♥♥♡
ผลงานหนังเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai กับการร่วมงานครั้งแรกของตากล้องคู่ใจ Christopher Doyle, หนังเรื่องนี้จะพาคุณไปพบกับความบ้า หลุดโลกของชีวิตชายคนหนึ่ง (Leslie Cheung) ที่เหมือนสัตว์ป่าหลุดจากกรง หลบซ่อนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่, จุดเริ่มต้นของสไตล์ Wong Kar-Wai ที่แฝงความรู้สึกโหยหาแผ่นดินแม่ของ Hong Kong ได้ยอดเยี่ยมที่สุด
Days of Being Wild น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับ Wong Kar-Wai ที่ผมน่าจะได้ดูเมื่อเกือบสิบปีก่อน ตอนนั้นค่อนข้างชอบแต่รู้สึกสับสนกับตอนจบเล็กนั้น เลยทิ้งรสสัมผัสอันเฝือนๆเอาไว้, กลับมาดูครั้งนี้ ทำให้สิ่งที่อาจเคยเป็นข้อสงสัยในอดีต ได้รับการไขกระจ่างหมดแล้ว ส่วนตัวคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะดูง่ายที่สุดในไตรภาค (อีกสองเรื่องคือ In the Mood for Love และ 2046) หลายๆอย่างพบว่ามันชัดสุดๆเลย หรือเพราะผมมีประสบการณ์การดูหนังเยอะขึ้นก็ไม่รู้ ทำให้สามารถเข้าใจที่มาที่ไป เหตุผลและใจความของหนังได้ทะลุปรุโปร่งเลย
หนังของ Wong Kar-Wai แต่ละเรื่อง มักจะมีกลิ่นอาย หรือความสัมพันธ์ที่เหมือนจะต่อเนื่องกับเรื่องอื่นๆอยู่เสมอ บางครั้งแค่เดินสวนกัน เจอหน้ากันแปปหนึ่ง หนังเรื่องนั้นจบไปแล้ว แต่ดันแล้วไปสานสัมพันธ์กันต่อในหนังอีกเรื่อง, ตัวละครของ Andy Lau ในหนังเรื่องนี้ตอนพี่แกปรากฎตัวมาครั้งแรก ผมหันมองดูเวลา ผ่านไป 30 นาทีเกือบเปะ คล้ายๆกับตอนที่ตัวละครของ Tony Leung Chiu-wai โผล่มาหลังจบครึ่งแรกของ Chungking Express, ฉาก Bromance ความสัมพันธ์ระหว่าง Leslie Cheung กับ Andy Lau แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าเพื่อน แต่กลิ่นอายนี้เหมือนจะถูกขยายความใน Happy Together ที่ Leslie Cheung กลายเป็นคนรักของ Tony Leung Chiu-wai
หลังจาก As Tears Go By (1988) หนัง debut ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai ที่ได้รับการเปรียบเทียบคล้ายกับ Mean Streets (1973) ของ Martin Scorsese, แม้หนังจะประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นหนังทำเงิน (มากที่สุดในบรรดาหนังของ Wong Kar-Wai จนกระทั้ง The Grandmaster) แต่หนังยังคงอยู่ในวนเวียนรูปแบบเดิมๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในวงการภาพยนตร์ Hong Kong, หนังเรื่องถัดมา Wong Kar-Wai จึงต้องการที่จะทำอะไรแปลกออกไป สร้างสรรค์สิ่งที่ต่างจากขนถธรรมเนียมเดิม กลายมาเป็น Days of Being Wild ที่ถือเป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับ ที่ใส่ความเป็นส่วนตัวเข้าไป ที่ถึงขนาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับวงการหนัง Hong Kong เลยทีเดียว
มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบ Wong Kar-Wai ว่าคล้ายๆกับ Jean-Luc Godard ทั้งแนวคิด วิธีการ และอิทธิพลที่เขามีต่อวงการภาพยนตร์, สิ่งที่ Wong Kar-Wai ทำกับวงการหนัง Hong Kong คือการเปิดโลกทัศน์ นำเสนอประเภทของภาพยนตร์แนวใหม่ ที่ก่อนหน้านั้นมีแต่หนังกำลังภายในของ Shaw Brothers หรือไม่ก็หนัง gangster, mafia ให้มีหนังประเภทที่แสดงความเป็นตัวของตนเอง (Personal film), ยุคของ Wong Kar-Wai ถูกเรียกว่า Hong Kong New Wave (หรือ Hong Kong Second Wave) เช่นกันกับยุคของ Jean-Luc Godard ที่มีชื่อว่า French New Wave
เรื่องราวดำเนินขึ้นใน Hong Kong ยุค 60s นำแสดงโดย Leslie Cheung หนุ่ม Playboy (ที่ได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น James Dean แห่ง Hong Kong) ด้วยความเจ้าชู้ประตูดิน ที่ทำให้หญิงสาวตกหลุมรักแล้วหักอกอย่างง่ายดาย พื้นหลังของตัวละครนี้ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงที่เป็นโสเภณี ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเผลอหลุดปากบอกไปว่า เขาไม่ใช่ลูกของเธอ นั่นทำให้เกิดปมจากการขาดความรักความเข้าใจ ทำไมแม่แท้ๆถึงทิ้งเขา แม่เลี้ยงก็ไม่ยอมบอกว่าแม่แท้ๆคือใครอยู่ที่ไหน แถมยังแสดงนิสัยมั่วผู้ชายไปเรื่อย, ด้วยเหตุนี้ ตัวละครนี้จึงแสวงหาความรักของผู้หญิงไม่ใช่เพื่อเป็นเพื่อนคู่กายแต่เป็นเพียงเพื่อนคู่ขา ถ้าฉันเจ็บเธอก็ต้องเจ็บด้วย เหมือนเพื่อเป็นการทำร้ายตัวเอง (maso) เรียกร้องความสนใจต่อแม่ที่ไม่เคยใยดี มองเป็นการแก้แค้นศัตรูทางเพศก็ได้เช่นกัน (มองผู้หญิงเป็นเพศที่ชั่วร้าย)
ที่น่าสงสารคือนางเอกทั้งสอง ที่ดันตกหลุมรักพระเอกอย่างหักปลักหัวปลำ พอถูกเลิกก็ไม่สามารถทำใจยอมรับความจริงได้, ค่านิยมของผู้หญิงสมัยก่อนเป็นแบบนี้นะครับ ไม่ยอมตกหลุมรักใครง่ายๆ (เล่นตัว) พอรักแล้วก็ไม่ยอมเลิก (หึงหวง), แต่ผมรู้สึก Wong Kar-Wai จงใจนำเสนอภาพความน่าสมเพศของผู้หญิงออกมาแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเขามีอคติอะไรนะครับ แต่เพื่อสะท้อนความรู้สึกโหยหาของ Hong Kong ถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (ตัวละครของ Leslie Cheung มีปมความเจ้าชู้ก็จากแม่เลี้ยง[อังกฤษ] และต้องการตามหาแม่แท้ๆ[จีนแผ่นดินใหญ่]), เหตุที่มีผู้หญิง 2 คน ผมคิดว่าคนหนึ่งแทนด้วย Hong Kong ส่วนอีกคนแทนด้วย Taiwan (ตัวละครของ Maggie Cheung น่าจะแทนด้วย Taiwan เพราะไม่ได้หวนหาต้องการกลับไปหาพระเอกอีกแล้ว ส่วนตัวละครของ Carina Lau แทนด้วย Hong Kong ที่ถึงจะถูกบอกเลิกแล้วแต่ไม่ยอมเลิกง่ายๆ ตามพระเอกไปถึง Philippines)
ตัวละครของ Andy Lau ที่เดิมมีอาชีพเป็นตำรวจก่อนกลายเป็นกะลาสีล่องเรือไปทั่วโลก เขาเคยได้ปลอบตัวละครของ Maggie Cheung ตอนที่เธอถูกหักอก ผมไม่แน่ใจตัวละครนี้จะแทนด้วยญี่ปุ่นหรืออเมริกา ที่เหมือนการพยายามเข้าแทรกแซงประเทศอื่นไปทั่ว (พูดแบบนี้ใครๆคงคิดว่าเป็นอเมริกา) แต่เอาว่าเป็นประเทศโลกที่ 3 แล้วกัน
ทำไมต้องไป Philippines มีประเทศอื่นมากมายในโลก ทำไมถึงเลือกประเทศนี้? South-East Asia สมัยก่อนถูกมองว่าเป็นเหมือนป่า (Jungle) คล้ายๆกับที่เรามอง Amazon ปัจจุบัน เหตุเพราะความล้าหลังต่อโลกที่เปลี่ยนไป และความไม่รู้จักมักคุ้น, ภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมากในอดีต เราเห็นหนังจากยุโรป/อเมริกา/จีน/ญี่ปุ่น ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิต ผู้คนในประเทศต่างๆ แต่สมัยก่อนแทบไม่มีหนังไทย/มาเลเซีย/อินโน/ฟิลิปปินส์ แถว SEA ที่บันทึกภาพวิถีชีวิตของฝั่งเราไปฉายทั่วโลกเลย นั่นทำให้ทัศนคติของประเทศต่างๆทั่วโลกต่อ South-East Asia เหมือนดินแดนที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ, ฉากป่า ไปถ่ายกันที่ Philippines (จริงๆคงประเทศไหนใน SEA ก็ได้แหละ ไม่ได้มีความพิเศษอะไร), ซึ่งคำว่า Wild ในชื่อหนัง นอกจากแทนความหมายของป่า ยังแทนด้วยนิสัยของตัวละคร Leslie Cheung ที่เหมือนกับสัตว์ป่า เลี้ยงไม่เชื่อ ทำตามใจและใช้สัญญาตญาณขับเคลื่อน (ทางเพศ)
นกเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของอิสระภาพ (Freedom) ในหนังพยายามพูดถึงนกชนิดหนึ่งที่ไม่มีขา (มีด้วยเหรอนกประเภทนี้) มันสามารถบินโดยไม่ต้องหยุดพัก นอนกับสายลม แตะพื้นครั้งเดียวในชีวิตคือ ตอนตาย, 2 ตัวละครชายของหนัง ทั้ง Leslie Cheung และ Andy Lau สามารถเปรียบได้กับนกทั้งคู่ ที่พอเกิดมาก็บินอย่างเดียว ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ต่างกันที่ตัวละครของพี่ Lau รู้ตัวตั้งแต่แรกว่าชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร แต่กับตัวละครของ Cheung เหมือนจะไม่รู้ตัว, การกระทำหรือบิน นี้เป็นนามธรรมนะครับ ตีความเป็นอะไรก็ได้ ความรัก, ความคิด, ความรู้สึก, การกระทำ, การแสดงออก, การใช้ชีวิต ฯลฯ ไม่ได้มีความหมายเจาะจง แค่แทนตนเองด้วยนกในแง่ของอิสระภาพเท่านั้น
ส่วนเวลา ทำไมต้อง 3 โมง? อันนี้ผมยังคิดไม่ตก มีคนตั้งเขียนทฤษฎีสามโมงคือเศษหนึ่งส่วนสี่ แต่ผมยังหาอ่านไม่ได้เลยไม่รู้ว่าคืออะไร, ในเว็บต่างประเทศ มีการวิเคราะห์ถึง ‘เวลา’ ในหนังเป็นสัญลักษณ์แทน ‘อารมณ์’ (Emotion) ที่มีความช้าเร็ว สุขทุกข์ รอคอย ค้นหา ไม่มีเริ่มต้นสิ้นสุด เป็น infinite เหมือนสายน้ำ, เวลาทำให้ชีวิตมี ความหวัง/ผิดหวัง, จดจำ/ลืมเลือน, พบเจอ/แยกจาก, เกิด/ตาย, เริ่มต้น/จบสิ้น, ใครชอบคิดลองคิดหาเหตุผลดูเองนะครับ ทำไมต้อง 3 โมงวันที่ 16 เมษายน 1960
ชายสองคนบนรถไฟ ที่เป็นการเดินทางไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คนหนึ่งใกล้ตาย อีกคนหนึ่ง… ไม่รู้สิ, ตอนที่ตัวละครของ Andy Lau ถามเรื่องเวลากับ Leslie Cheung ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าเขาจำได้ ‘มีบางสิ่งที่มนุษย์ต้องจดจำ’ คำพูดนี้โดนใจผมที่สุดในหนัง มากกว่าเรื่องนกอีกนะครับ, ผมไม่ได้เป็น playboy แบบตัวละครของพี่ Cheung แต่เป็นคนที่ไม่ชอบจดจำอะไรง่ายๆ เพราะมันไม่มีอะไรให้น่าจดจำขนาดนั้น (เบอร์โทรศัพท์ตัวเองยังจำไม่ได้เลย) คำพูดนี้เป็นการย้ำเตือนผมเองว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจะไร้ค่า มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ควรค่าต่อการจดจำทั้งชีวิตบ้าง คุณมีหรือเปล่า ความทรงจำที่ชาตินี้จะไม่มีวันลืมเลือน?
ที่พี่ Cheung ขอให้พี่ Lau บอกหญิงสาวว่าเขาจำวันนั้นไม่ได้แล้ว นี่แสดงถึงเขาเริ่มเข้าใจตัวเองแล้วนะครับ น่าจะวินาทีที่พี่ Lau ย้ำเตือนเรื่องนกไร้ขากับเขา ว่าแท้จริงมันคืออะไร คนประเภทนี้ต้องพูดออกมาดังๆเท่านั้นถึงจะคิดได้ และยิ่งขณะก่อนตาย เขาคงระลึกอยู่ว่าตัวเองทำอะไรแย่ๆไว้บ้าง และมีอะไรที่ควรค่าต่อการคิดถึงเป็นครั้งสุดท้าย
ตัวละครของ Tony Leung Chiu-wai ที่โผล่มา 3 นาทีสุดท้ายตอนท้าย ที่ไม่มีใครเข้าใจว่าจะโผล่มาทำไมแค่นั้น, สมัยก่อนวงการภาพยนตร์ Hong Kong การที่นายทุนจะจ่ายเงินค่าทำหนัง ผู้สร้าง/ผู้กำกับหนังต้องไปคุยกับนายจ้าง บอกว่าจะมีใครนำแสดง ซึ่งถ้ามีนักแสดงชื่อดังอย่าง Tony Leung Chiu-Wai พวกเขาก็คิดว่าหนังจะขายได้ดี ถึงให้ทุนสร้าง นี่คือเหตุผลที่ Wong Kar-Wai ต้องใส่พี่เหลียงเข้าไปในหนัง ทั้งๆที่ไม่มีบทของเขาก็เถอะ เพื่อทำตามสัญญากับนายทุน ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ แอบหวังว่าจะทำภาคต่อด้วยโดยให้พี่ Leung เป็นพระเอกต่อ จึงทำเป็นปลายเปิดไว้, ตอนจบในบริบทของหนังคือการเตรียมตัวออกเดินทางครั้งใหม่ของตัวละครใหม่ เราจะเห็นพี่ Leung แต่งตัว เตรียมตัว หวีผม เสร็จปิดไฟเดินออกจากห้อง แล้วหนังก็จบลง ค้างคาไว้แบบงงๆ ใครอยากเข้าใจว่ามีอะไรต่อ หา In the Mood for Love มาดูต่อนะครับ
ถ่ายภาพโดย Christopher Doyle, นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของ Wong Kar-Wai กับ Doyle ที่อาจยังไม่ได้มีงานภาพสีสันฉูดฉาด แต่ก็สามารถมองเห็นเค้ารางของแนวคิด ที่กำลังค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างช้าๆ, จุดเด่นของ Doyle คือการเคลื่อนกล้องไปมาเข้าออก ที่มีความกลมกลืนกับการกระทำของตัวละคร มีการวางตำแหน่ง สร้างจังหวะที่ลงตัว และแสงสีเงา ที่สะท้อนความรู้สึกของภาพ บรรยากาศและอารมณ์ของตัวละคร, ฉากที่ผมชอบที่สุดคือตอน Leslie Cheung ลุกขึ้นมาเต้นชาช่า (Cha-Cha) ฉากก่อนหน้านั้นเราจะเห็นเขากำลังนอนเบื่อๆ แล้วอยู่ดีๆตัดไปเหมือนตื่นขึ้นเปลี่ยนอารมณ์ เปิดเพลง เต้นประกอบแนวยั่วยวน มุมกล้องไม่ได้ถ่ายหน้าตรง แต่ถ่ายสะท้อนผ่านกระจก ค่อยๆเคลื่อนกล้องเข้าไปช้าๆ Leslie Cheung เต้นลัลล้าราวกันคนที่ฟื้นคืนชีพ, อีกฉากที่ถือว่าสุดยอดไม่แพ้กันคือตอนจบ ตอนที่ Tony Leung Chiu-wai กำลังแต่งตัว 2 นาที ผมได้ยินว่า Roger Ebert ที่ยังไม่เคยได้ดูหนังเรื่องนี้ มีคนส่งคลิป Youtube ฉากนี้ให้เขาดู แล้วเกิดความประทับใจ ชื่นชอบมาก จนอยากหาหนังมาดู (ไม่รู้ได้ดูหรือเปล่านะครับ)
ตัดต่อโดย Kai Kit-wai และ Patrick Tam, หนังของ Wong Kar-Wai เรื่องนี้ให้ตายเถอะ! มีการตัดต่อแบบไม่บันยะบันยังเลย โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ฟิลิปปินส์ ตัดต่อแบบฉากต่อฉาก อยู่ดีๆนึกอยากย้อนอดีตก็ย้อนเลย 1 ฉากเต็มๆ แล้วตัดกลับมาปัจจุบันที่ Hong Kong หมดฉากตัดไปฟิลิปปินส์ ตามการเดินทางของหนังแทบไม่ทันเลย, ถ้าคุณเป็นคนประเภทชอบความต่อเนื่อง เจอหนังเรื่องนี้เข้าไปมึนตึบแน่นอน เพราะกระโดดแบบว่าตามใจฉันมากๆ ไม่ง้อคนดู แต่ถ้าคุณดูหนังเก่งๆ จะไม่หลงสับสนอะไรเลยนะครับ มันเหมือนมีเหตุผลสนับสนุนการทำแบบนั้นอยู่แล้วว่าทำไม ตั้งใจดูหน่อยก็สามารถเข้าใจเองได้
สิ่งหนึ่งที่ผมต้องชมการตัดต่อ คือช่วงจังหวะการเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องของหนัง ที่สามารถเปลี่ยนจาก 1 ไป 2 ได้อย่างแนบเนียน นี่ผมพูดถึงชั่วโมงแรกของหนึ่ง ที่ครึ่งชั่วโมงแรกเราจะเห็น Leslie Cheung เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินผ่านมุมมองของเขา แต่อยู่ดีๆพี่ Andy Lua ก็โผล่มา แล้วหนังเปลี่ยนไปเล่ามุมมองของเขาเลยแบบเนียนๆ ทีแรกผมนึกว่าเปลี่ยนแล้วจะเปลี่ยนเลยไม่กลับมาอีกแบบ Chungking Express ที่สองเรื่องแยกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ Days of Being Wild ยังคงให้ Leslie Cheung เป็นพระเอกตัวละครหลักอยู่ ซึ่งพอจบช่วงของ Andy Lua มุมมองของหนังก็ตัดกลับมาที่ Leslie Cheung อีกครั้ง
เพลงประกอบโดย Terry Chan, Leuribna-Lombardo และ Oflyne หนังเรื่องนี้มีเพลงดังแห่งยุค 60s อยู่หลายเพลง, จริงๆผมไม่คุ้นเพลงยุคนี้เท่าไหร่นะครับ เกิดไม่ทัน และเป็นยุคที่ผมชอบน้อยที่สุดด้วย, เดิมที Wong Kar-Wai ตั้งใจจ้างนักดนตรีใน Hong Kong แต่สมัยนั้นมีแต่วงที่ชอบเล่นแนวอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเขาอยากได้เสียงดนตรีแบบดั้งเดิม จึงเลือกเพลงอย่าง Always In My Heart ของ Los Indios Tabajaras ที่มีอารมณ์ชิลๆ ราวกับกำลังไปเที่ยวทะเล, Maria Elena เพลง Mumbo ที่ Leslie Cheung เต้น, Perfidia, El Cumbanchero, My Shawl, Siboney ไฮไลท์อยู่ที่เพลง Jungle Drums ของ Xavier Cugat ผมเลือกเพลงนี้มาให้ฟังกัน บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าจริงๆเลยละ
ดนตรีให้จังหวะแบบเหงาๆ โดดเดี่ยว ฟังคนเดียวแล้วโหยหวน ฟังในวงเหล้าคงร้องไห้ทุกข์ระทม (ถ้าคุณเป็นคนอกหัก), สำหรับผมรู้สึกหนังเรื่องนี้มันเศร้าไปสักหน่อยนะครับ และหลายๆฉากทำร้ายความรู้สึกได้เจ็บปวดมากๆ แต่นั่นคือหน้าหนัง ซึ่งพอมาวิเคราะห์ลงลึกก็ทำเอาผมทึ่งและหลงรักหนักเลยละ
หน้าหนังที่เราเห็นจะคือชายหนุ่มหักอกหญิงสาว แต่แก่นแท้ของหนังคือความรู้สึกของคน จีน-ฮ่องกง-อังกฤษ นี่ไม่ใช่ประเด็นเล็กๆเลยนะครับ เป็นเหตุผลอันยิ่งใหญ่มากๆที่ทำให้หนังเรื่องนี้ติดชาร์ทยอดเยี่ยมของจีน ฮ่องกงอันดับสูงมากๆ ยิ่งคนที่เกิดทันสมัยนั้น อาศัยอยู่ใน Hong Kong หรือ Taiwan ดูหนังเรื่องนี้จะได้ความรู้สึกแบบเดียวกับตอนเสียเอกราชให้อังกฤษ พรากจากแผ่นดินแม่ แม้จะคนจีนเหมือนกัน แต่กลายเป็นคนละประเทศ
มองมุมนี่จะเห็น นี่เป็นหนังประวัติศาสตร์ของ Hong Kong เลยนะครับ ที่จดบันทึกอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนสมัยนั้นไว้, หลังจาก Hong Kong ได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ กลับคืนสู่อ้อมอกของแผ่นดินแม่ใหญ่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 มันคงไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะสร้างด้วยความตั้งใจ และอารมณ์ความรู้สึกเดียวกับที่ Wong Kar-Wai สร้างหนังเรื่องนี้อีกแล้ว
ผมเขียนวิจารณ์ In the Mood for Love ไปแล้ว จึงต้องขอพูดเปรียบเทียบกันหน่อย เพราะเพิ่งมองเห็นจุดสังเกตุบางอย่าง คือ In the Mood for Love สร้างหลัง Hong Kong ได้รับอิสรภาพ กลับคืนสู่แผ่นดินแม่แล้ว, นี่ทำให้อารมณ์ของ Wong Kar-Wai เปลี่ยนไปมากนะครับ และสิ่งที่เขานำเสนอใน In the Mood for Love ไม่ใช่อารมณ์โหยหา แต่เป็นความลังเลไม่แน่ใจ เพราะเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนั่งคงเป็นความรู้สึกของเขาจริงๆ และการทำ 2046 ปิดไตรภาค ที่เป็นเรื่องเกิดขึ้นในอนาคตอันไกลโพ้น แสดงถึง Hong Kong ในยุคที่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีความทรงจำหรือความรู้สึกต่อการตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแล้ว ต้องบอกว่า Wong Kar-Wai ล้ำมากๆที่คิดไกลถึงขนาดนี้ จะมีผู้กำกับเอเชียยุคนี้กี่คนกันครับที่สามารถทำแบบนี้ได้ ผมเคยดู 2046 แล้วนะครับแต่จำไม่ได้ เห็นหลายคนไม่ค่อยชอบ ไว้มีโอกาสดูแล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
ตอนหนังฉาย หนังทำเงินไม่ได้เลย (ขาดทุนย่อยยับ) ซึ่งทำให้แผนสร้างภาคต่อพับไป กว่าจะเริ่มสร้างได้ก็ช้าไปถึง 10 ปี แต่หนังก็กวาดรางวัลมากมาย ถูกใจนักวิจารณ์อย่างมาก จนได้รับการจัดอันดับให้ติด Top 5 แทบทุกชาร์ทหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของประเทศจีน หรือ Hong Kong
ถ้าคุณอายุ 40-50 ที่ได้เคยผ่านช่วงเวลานั้นมา หนังจะมีอีกอารมณ์หนึ่งคือ Nostalgia กลิ่นอาย รสสัมผัส บรรยากาศ นี่เป็นหนังที่จะทำให้ควรหวนระลึกถึงวันคืนในอดีต (ผมเกิดก่อนหนังเรื่องนี้ไม่กี่ปีเอง ยังเป็นเด็กเล็กอยู่เลยถือว่าไม่ทันยุคของหนังเรื่องนี้นะครับ เลยไม่เกิดอารมณ์ Nostalgia เท่าไหร่)
ถ้าคุณยังไม่เคยดูหนังของ Wong Kar-Wai อยากจะเริ่มดู แนะนำให้เริ่มที่ Chungking Express หรือ In the Mood for Love ก่อนนะครับ แล้วค่อยมาดู Days of Being Wild ดูครบหมด 3 เรื่องนี้ก็น่าจะจับสไตล์ของผู้กำกับได้แล้ว ดูเรื่องไหนต่อก็ได้แล้ว
ถ้าคุณเป็นแฟนหนังของ Wong Kar-Wai ชอบในสไตล์ เทคนิค ชอบลิ้มลองหนังรสชาติแปลกๆ นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่แสดงความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับออกคนนี้ ไม่ควรพลาดเด็ดขาด, ใครชอบนักแสดง Leslie Cheung, Maggie Cheung, Carina Lau, Andy Lua และ Tony Leung Chiu-wai ที่โผล่มาแปปหนึ่ง ทุกคนมีบทบาทที่ได้แสดงความสามารถกันหมดนะครับ, ภาพสวยๆ ตัดต่อคมๆ เพลงเก่าๆ
นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะสำหรับเด็กเลยนะครับ เพราะภาพการนำเสนอที่มีความรุนแรง และแนวคิดของตัวละครที่ปลูกฝังนิสัยแย่ๆบางอย่าง จัดเรต 15+
Leave a Reply