Days of Heaven (1978) : Terrence Malick ♥♥♥♥
งานภาพของหนังเรื่องนี้ ถ่ายทำตอน ‘magic hours’ ช่วงเวลาสนธยาฟ้าสว่างก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเหนือพื้นดิน และยามโพล้เพล้หลังตะวันลับขอบฟ้าแต่ยังหลงเหลือความสว่างอยู่ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 25 นาทีต่อวัน ได้ผลลัพท์งานภาพที่ตราตะตรึง เห็นแสงสีทองส่องผ่านทุ่งรวงข้าว งดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์
แสงสว่างเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายภาพ เพียงแค่แสงอย่างเดียวก็สามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของภาพวาด/ภาพถ่ายได้, สำหรับคนเล่นกล้องเป็นคงรู้จัก ‘Magic Hours’ ชั่วโมงวิเศษแห่งการถ่ายภาพ คือช่วงขณะก่อนพระอาทิตย์โผล่ขึ้นพ้นขอบฟ้า และ/หรือ ตะวันลับไปแล้วแต่ยังไม่หมดแสง แค่เพียงไม่กี่นาทีต่อวัน ภาพที่ถ่ายออกมาจะมีสีเหลืองทองอร่าม สภาพแสงนุ่มนวล ฟุ้งกระจายจากการที่ไม่มีเงามืดของวัตถุ เป็นความสวยงามที่หาจากช่วงเวลาอื่นไม่ได้อีกแล้ว
เกร็ด: หลายคนมักเข้าใจผิดสลับกับคำว่า Golden Hours ซึ่งจะตรงข้ามกับ Magic Hours, ชั่วโมงทองของการถ่ายภาพ คือช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนลับขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย (พระอาทิตย์ต้องปรากฎขึ้นบนท้องฟ้าแล้วเท่านั้น ถึงเรียก Golden Hours)
Days of Heaven น่าจะคือภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่เน้นการถ่ายทำในช่วงเวลา Golden Hours ซึ่งผู้กำกับ Terrence Malick หลังจากนี้ยังมีอีกสองสามเรื่องที่ก็ใช้ช่วงเวลานี้ สร้างภาพยนตร์อีกเช่นกันคือ The New World (2005), The Tree of Life (2011) ฯ นอกจากนี้ยังมี The Milagro Beanfield War (1988) ของผู้กำกับ Robert Redford ฯ
Terrence Frederick Malick ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา, เกิดปี 1943 ที่ Ottawa, Illinois พ่อแม่เป็นนักธรณีวิทยา (geologist) สำรวจหาน้ำมัน ปู่ทวดเป็นชาว Lebanese/Assyrian อพยพจาก Urmia (ปัจจุบันคือ Iran) นับถือคริสเตียนเคร่งครัด โตขึ้นเข้าเรียนปริญญาตรี สาขาปรัชญา (philosophy) จากวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College), ทำงานและเรียนต่อโทที่ Magdalen College, Oxford แต่เพราะความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ จึงลาออกกลับอเมริกา มาเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่ Massachusetts Institute of Technology รับงาน Freelance เป็นนักข่าว (journalist) เขียนบทความลงนิตยสารรายสัปดาห์ The New Yorker และ Life
ระหว่างนั้นก็เข้าเรียน Master of Fine Arts (MFA) ที่ AFI Conservatory, Los Angeles (ไม่แน่ใจว่ารุ่นแรกของสถาบันนี้เลยหรือเปล่า) ทำให้มีโอกาสกำกับหนังสั้นเรื่องแรก Lanton Mills (1969) รู้จักว่าที่นักแสดงดังอย่าง Jack Nicholson เพื่อนโปรดิวเซอร์ผู้ร่วมงาน Jack Fisk, Mike Medavoy ฯ เรียนจบเคยเป็น Ghost-Writing ไม่ได้เครดิตจากบทหนัง Dirty Harry (1971), Drive, He Said (1971) ส่วนที่ได้เครดิตอาทิ Pocket Money (1972), The Gravy Train (1974) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ขึ้นมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Badlands (1973) นำแสดงโดย Martin Sheen และ Sissy Spacek
ปี 1975 ระหว่างการเดินทางไป Cuba (ก็ไม่รู้ไปทำอะไร) Malick พูดคุยสนทนากับโปรดิวเซอร์ Bert Schneider ถึงโปรเจคเรื่องถัดไปที่เขาพัฒนาขึ้น ใช้ชื่อว่า Days of Heaven ขอทุนสร้างจาก Paramount Pictures สูงถึง $3 ล้านเหรียญ
พื้นหลังปี 1916 เล่าในมุมมองของเด็กหญิงสาว Linda เรื่องราวของ Bill (รับบทโดย Richard Gere) และ Abby (รับบทโดย Brooke Adams) คู่รักที่เดินทางหลบหนีจาก Chicago ระหว่างทางที่ Texas Panhandle ตัดสินใจกระโดดลงรถไฟเพื่อทำงานเก็บเกี่ยวให้กับ -เศรษฐีไร้ชื่อ- (รับบทโดย Sam Shepard) ซึ่งได้ค่อยๆตกหลุมรักกับ Abby, Bill ได้เกลี้ยกล่อมให้เธอยินยอมแต่งงาน เพื่อหวังฮุบสมบัติในอนาคตอันใกล้
ความตั้งใจแรกของ Malick ต้องการให้ Dustin Hoffman และ/หรือ Al Pacino รับบทนำ แต่ทั้งคู่บอกปฏิเสธ จึงจำเป็นต้องว่าจ้างนักแสดงหน้าใหม่ขณะนั้น
Richard Tiffany Gere (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania มีความชื่นชอบเป่าทรัมเป็ตและกีฬายิมนาสติก เข้าเรียน University of Massachusetts Amherst ด้วยทุนกีฬา เลือกสาขาปรัชญาแต่ดันเรียนไม่จบ ตัดสินใจสู่วงการแสดง เริ่มจากละครเวทีเรื่อง Grease (1973) ฉบับ London เล่นหนัง Hollywood เริ่มมีชื่อเสียงจาก Looking for Mr. Goodbar (1977) [แต่เขาแสดงใน Days of Heaven ก่อนตั้งแต่ปี 1975 แค่ post-production กว่าจะเสร็จก็ 3 ปีให้หลัง]
ต้องถือว่า Days of Heaven ทำให้ชื่อและใบหน้าของ Gere ได้รับการจับจ้องจากสาวๆ กรี๊ดลั่น ซึ่งผลงานถัดๆมาเรื่อง American Gigolo (1980) ได้ทำให้กลายเป็น Sex Symbol จนเคยได้รับการโหวตจากนิตยสาร People ว่าเป็น Sexiest Man Alive เมื่อปี 1999
รัับบท Bill ชายหนุ่มหน้าใสแต่ใจนักเลง ภาพลักษณ์ภายนอกพยายามทำให้ดูดี แต่ข้างในเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นชั่วร้าย เช่นกันกับความสัมพันธ์ต่อ Abby ที่บอกใครๆว่าเป็นพี่น้อง แต่การแสดงออกเกินเลยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่งตัวเขาก็ได้ใช้ประโยชน์จากการหลอกลวงนี้อย่างคุ้มค่า … กระนั้น ความที่เป็นคนเลวโดยสันดาน มีหรือจะไม่พลั้งเผลอถูกเปิดเผยตัวตนออกมา ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ผู้เสียหายก็จะตามล่าเอาคืนอย่างถึงที่สุด
การแสดงของ Gere ไม่ค่อยมีอะไรน่าประทับใจให้กล่าวถึงเสียเท่าไหร่ ความใสๆของพี่แกดูจะผิดที่ผิดทาง เว้นเพียง passion กับนางเอกนั้นชวนให้เซ็กซี่หลงใหล แต่กับความหึงหวง การกระแทกทางอารมณ์ หรือขณะต่อสู้กับเศรษฐีหนุ่ม มันเหมือนว่าตัวของเขาจะไร้ซึ่งจิตวิญญาณความรู้สึกโต้ตอบ
Gere เคยให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พึงพอใจการทำงานกับ Malick เสียเท่าไหร่ เพราะเมื่อปี 1976 เสียเวลาหลายเดือนถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ก็คิดว่าคงเสร็จสิ้นจบไปแล้ว แต่อีกปีถัดมาถูกเรียกให้ไปถ่ายซ่อมถึงสองสัปดาห์ และปรากฎว่าที่เห็นในหนังออกฉาย กว่าครึ่งมาจากการถ่ายซ่อม นี่มันหมายความว่าอะไรกัน!
Brooke Adams (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ทุนต่ำ แจ้งเกิดภาพยนตร์กับ Days of Heaven (1978) และ remake ของ Invasion of the Body Snatchers (1978) ฯ มีผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ไม่ค่อยมีอะไรให้น่าพูดถึงจดจำเสียเท่าไหร่
รับบท Abby หญิงสาวจนๆ คาดว่าน่าจะเคยเป็นเด็กหญิงโสเภณี ได้รับการช่วยเหลือโดย Bill ทำให้ตกหลุมรักหลงใหล แต่เขากลับขอเธอให้แต่งงานกับเศรษฐีหนุ่ม แม้ไม่เต็มใจแต่ก็ยินยอม ไปๆมาๆกลับค่อยๆเริ่มตกหลุมรักตีตัวออกห่าง จน Bill รู้สึกได้ แต่คืนวันแห่งความสุขใช่ว่าจะคงอยู่ตลอดกาล
การแสดงของ Adams นอกจากความใสบริสุทธิ์ น่ารักน่าชัง หนุ่มๆเห็นคงหลงใหลคลั่งไคล้ ก็มีส่วนของมโนธรรมที่ค้ำคอ เพราะกาลเวลาและความทุ่มเท ทำให้มองเห็นคุณค่าความตั้งใจ แปรสภาพเปลี่ยนเป็นความรัก หญิงสาวคงลำบากใจไม่น้อยกับการเลือกระหว่างพวกเขาทั้งสอง
Samuel Shepard Rogers III (1943 – 2017) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับ ภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอเมริกัน นิตยสาร New York Magazine ยกย่องว่าคือ ‘the greatest American playwright of his generation.’, เกิดที่ Fort Sheridan, Illinois ในครอบครัวครูและชาวนา โตขึ้นเรียนจบทำงานเลี้ยงสัตว์อยู่แถวๆ Mt. San Antonio College ทำให้ได้รู้จัก Samuel Beckett ดนตรี Jazz และ Abstract Expressionism ตัดสินใจตามทัวร์ออกท่องอเมริกาสู่ New York ได้รับโอกาสกลายเป็นนักเขียนบทละคร Off-Off-Broadway มีผลงานที่กลายมาเป็นอมตะหลายเรื่อง อาทิ Buried Child (1978) คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama, True West (1983), Fool for Love (1984), A Lie of the Mind (1986) ฯ
สำหรับบทบาทในวงการภาพยนตร์ ได้รับคัดเลือกแจ้งเกิดกับ Days of Heaven (1978) ตามมาด้วยผลงานเด่นๆอย่าง Resurrection (1980), The Right Stuff (1983) [เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor], August: Osage County (2013), Mud (2013) ฯ
รับบทเศรษฐีหนุ่ม เจ้าของฟาร์มเกษตรในย่าน Texas Panhandle อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายตามลำพังไร้คู่ครอง, ไม่รู้จริงหรือเปล่ากับคำที่หมอบอกว่า จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ก็ยังเห็นร่างกายแข็งแรงกระชุ่มกระชวย คงเพราะการแต่งงานทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น ไม่เคร่งเครียดเกินไป แต่พอเมื่อได้สังเกต เรียนรู้ พบเห็นความจริง ก็ถูกความอิจฉาริษยาครอบงำ ต้องการตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม
การแสดงของ Shepard ค่อยข้างมีภาษีดูดีกว่า Gere พอสมควร โดยเฉพาะสายตาริษยาอัดอั้นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเจ็บปวดร้าวราน ปฏิกิริยาการแสดงออกที่สามารถฆ่าคนตายได้โดยทันที ทรงพลังหนักแน่นสมจริง
Malick เป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อ ในเรื่องไม่ค่อยแคร์นักแสดง/การแสดงเท่าไหร่ โยนสิ่งที่จะถ่ายทำ เตรียมพร้อมทุกสิ่งอย่างให้ บทสนทนาคิดพูดเองทำเอง อยากปล่อยอะไรก็แสดงออกมา ไม่ว่าจะดีแย่อย่างไร ผลลัพท์สุดท้ายไม่ได้อยู่ที่พวกเขา แต่เป็นกระบวนการหลังถ่ายทำ Post-Production ที่อาจจะตัดเอาส่วนดีๆออก เลือกส่วนแย่ๆไม่สำคัญมาใส่ มีความเป็นไปได้ว่าหนังที่ถ่ายทำกับผลลัพท์สุดท้าย อาจเป็นคนละเรื่องกันเลย!
ถ่ายภาพในเครดิตและผู้ขึ้นรับรางวัล Oscar: Best Cinematography คือ Nestor Almendros ขาประจำของ Éric Rohmer และ François Truffaut ที่ Malick ชื่นชมหลงใหลจากผลงานเรื่อง The Wild Child (1970) ทั้งสองได้ข้อสรุปตรงกันคือจะถ่ายทำโดยใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุด ด้วยกล้อง Panavision ขนาด Widescreen (1.85:1) ซึ่งก็ได้เลือกเวลา Magic Hours แม้จะต้องใช้เวลาถ่ายทำเป็นเดือนๆ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าความงดงาม เพื่อให้ผลลัพท์ออกมาทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า Glossy (เป็นมันเงาวาว)
หนังเริ่มถ่ายทำช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1976 ถึงพื้นหลังจะคือ Texas แต่ไปถ่ายทำฉากภายนอกที่ Whiskey Gap, Alberta ส่วนฉากตอนท้ายของหนังถ่ายทำที่ Heritage Park Historical Village, Calgary
จากคำบอกเล่าของ Almendros ตารางการถ่ายทำจะไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ วันไหนสภาพท้องฟ้าปลอดโปร่ง ก็จะสามารถถ่ายทำได้ ขณะเดียวกันวันที่ไม่มีแสงทีมงานก็จะว่างไม่ได้ทำอะไรทั้งวัน นี่สร้างความหงุดหงิดคับข้องใจให้กับทีมงานของ Hollywood บางคนถึงขนาดต่อว่าผู้กำกับและตากล้องทำงานไม่เป็น ไร้ซึ่งความเป็นมืออาชีพ
ตามกฎของ A.S.C. สมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์แห่งอเมริกา Almendros ซึ่งเป็นชาว Spanish (ขณะนั้นยังไม่ได้ A.S.C.) จึงไม่ได้รับอนุญาติให้จับกล้อง แต่เป็นผู้วางแผนทิศทาง การเคลื่อนไหว มุมกล้อง โดยเขาจะยืนควบคุมให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ ในตอนแรกได้ John Bailey มาเป็น Camera Operator แต่เพราะความล่าช้าของโปรเจค และติดคำสัญญาต้องไปถ่ายทำภาพยนตร์อีกเรื่อง จึงส่งไม้ต่อให้ Haskell Wexler เข้ามาเป็นผู้ถือกล้องแทน (ได้รับเครดิตเป็น Additional Photography), เห็นว่าระหว่างการถ่ายทำ สายตาของ Almendros ค่อยๆสูญเสียการมองเห็น ต้องใส่แว่นกันแดดหนาเตอะเพื่อทำงาน แต่ก็ไม่ถึงขั้นบอดไปเลยนะครับ ยังทำงานเป็นตากล้องได้อีกหลายปี
หลายช็อตหลายฉากของหนังได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด อาทิ House by the Railroad (1925) ของ Edward Hopper (1882 – 1967) จิตรกร Realist สัญชาติอเมริกัน, ก่อนหน้านี้ Alfred Hitchcock เคยนำภาพนี้ไปใช้เป็นแบบบ้านในหนังเรื่อง Psycho (1960)
ไม่ได้เหมือนกันเปะๆ แต่มีความคล้ายคลึง ออกแบบสร้างโดย Jack Fisk จากไม้อัด เน้นทาสีน้ำตาลอ่อน/น้ำตาลเข้ม เพื่อความกลมกลืนกับสีรวงข้าวสาลี และการถ่ายภาพช่วงเวลา Magic Hours
ฉากภายใน ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของ Johannes Vermeer (1632 – 1675) จิตรกรสัญชาติ Dutch ขึ้นชื่อเรื่องวาดภาพภายใน และการจัดแสงที่โดดเด่น ผลงานเอกคือ Girl with a Pearl Earring (1665)
ส่วนฉากภายนอกรับอิทธิพลจาก Andrew Wyeth (1917 – 2009) จิตรกร Realist สัญชาติอเมริกา, หนึ่งในผลงานเด่นคือ Christina’s World (1948) เห็นแล้วคุ้นๆกับหลายช็อตในหนังทีเดียว
ช็อตไฮไลท์ของหนัง, ที่เราเห็นในคือ นักแสดงยืน/เดินท่ามกลางฝูงตั๊กแตนแห่บินขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่แท้จริงแล้วนี่เป็น Reverse Shot ให้นักแสดงเดินถอยหลัง แล้วใช้การทิ้ง peanut shells ลงจากเฮลิคอปเตอร์, นี่เป็นช็อตที่มีความเนียนหลอกตาได้อย่างสมจริง
ไม่ใช่ว่าหนังทั้งเรื่องถ่ายทำแต่ในช่วงเวลา Magic Hours นะครับ ฉากกลางวัน/กลางคืน ปกติทั่วไปก็มีอยู่หลายฉาก ลองสังเกตที่เงาของตัวละครดูก็ได้ ช็อตไหนที่ไม่เห็นแสดงว่าถ่ายทำช่วงชั่วโมงวิเศษ ถ้าเห็นก็คือถ่ายทำช่วงเวลาทั่วๆไป, สำหรับฉากภายใน เห็นว่าบางซีนที่เห็นแสงส่องจากด้านนอก ก็มาจาก Magic Hours เช่นกันนะครับ
ตัดต่อโดย Billy Weber ที่ใช้เวลากว่า 2 ปีถึงเสร็จสิ้น คงทำการทดลองผิดลองถูกอะไรหลายๆอย่าง เพราะ Malick ไม่ต้องการยึดเรื่องราวตามบทหนังที่เขียนไว้ แต่ให้มีการปรับเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราว ฟุตเทจที่ถ่ายทำไว้ ซึ่งพอเขาได้พบเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอ เลยมีการถ่ายซ่อมใหม่ถึง 2 สัปดาห์ ด้วยความชัดเจนว่าต้องการอะไร เหตุนี้ส่วนที่ถ่ายซ่อมจึงมีถูกนำไปใช้ในหนังน่าจะแทบทั้งหมด
เดิมนั้น Malick มีความต้องการให้หนังเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพเท่านั้น ‘visual movie’ ทำออกมาคล้ายหนังเงียบ แต่พบว่ามันยากเกินไปที่คนส่วนใหญ่จะสามารถเข้าใจได้ จึงตัดสินใจแทรกเสียงบรรยายของ Linda (รับบทโดย Linda Manz) ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า หนังเล่าเรื่องในมุมมองของเธอต่อการได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ ซึ่งพอดีสอดคล้องกับชื่อหนัง Days of Heaven วันวานแห่งความสุขสมหวัง เปรียบดั่งความทรงจำแสนหวานของเด็กหญิงสาวนี้เอง
(เห็นว่าฉากที่ถ่ายซ่อมส่วนใหญ่ จะเน้นการสนทนาพูดคุยสื่อสาร มากกว่าตอนถ่ายทำปีก่อน ที่ตัวละครมักจะไม่ค่อยพูดอะไร เน้นการกระทำนี่โน่นนั่นออกมา)
เพลงประกอบโดย Ennio Morricone คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน นี่คือผลงานเรื่องแรกที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score, การทำงานของ Morricone จะเขียนเพลงขึ้นจากคำอธิบาย บรรยายของผู้กำกับต่อสิ่งที่กำลังจะสร้าง แทบทุกครั้งเสร็จงานก่อนหนังเริ่มถ่ายทำ ซึ่งก็แล้วแต่เลยว่าจะเลือกนำเพลงที่แต่งขึ้น ไปปู้ยี้ปู้ยำยังไงก็ได้ในหนัง,
Morricone เล่าให้ฟังถึงการทำงานกับ Malick มีความเรื่องมาก ‘demanding’ คงเพราะความไม่รู้จักคุ้นเคย เลยให้คำอธิบายโดยละเอียดถึงขนาด จังหวะนี้ขอฟลุตสามตัว … นี่เป็นสิ่งบ้าบอคอแตก แต่สะท้อนถึงความละเอียดอ่อนของผู้กำกับซึ่ง Morricone ก็บ้าจี้เขียนเพลงขึ้นตามคำขอ เล่นให้ฟังจนเจ้าตัวรู้ว่าที่คิดนั้นใช้จริงไม่ได้ จึงยินยอมเลือกตามฉบับที่เขียนขึ้นเพื่อหนัง
เพลงประกอบของหนังได้แรงบันดาลใจจาก Musical Suite ของ Camille Saint-Saëns (1835 – 1921) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ยุค Romantic ชื่อเพลง The Carnival of the Animals มีทั้งหมด 14 movement เลือกตอนที่ 7 ชื่อ Aquarium, นำต้นฉบับมาให้ฟังก่อนเลยนะครับ เชื่อว่าหลายคนต้องคุ้นหูแน่ๆ
ฟังเทียบกับบทเพลงชื่อ Harvest อาจไม่ได้มีความคล้ายคลึงกันเท่าไหร่ แต่ถ้าตั้งใจอย่างยิ่งจะพบว่ามีความใกล้เคียงกันมากๆอยู่ แตกต่างด้วยเครื่องดนตรี จังหวะทำนอง แต่เมโลดี้คล้ายกันมากๆ
Happiness น่าจะเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะที่สุดของหนัง โดยเฉพาะเสียงฟลุตสร้างสัมผัสที่อิ่มเอิบเป็นสุขใจ ประกอบเข้ากับงานภาพสีเหลืองทองอร่าม มันช่างเหมือนอยู่ในดินแดนแห่งสรวงสวรรค์โดยแท้
นอกจากนี้นักกีตาร์ Leo Kottke ที่ออกตัวยื่นข้อเสนอแต่งเพลงประกอบให้กับหนังแต่ได้รับการปฏิเสธ มีบทเพลงหนึ่งที่นำมาใช้ ชื่อว่า Enderlin ดังขึ้นขณะทั้งสามออกเดินทางล่องบนรถไฟ เป็นแนว Country ผจญภัย
สำหรับหลายๆคน อดีตคือภาพความทรงจำ/ประสบการณ์ที่แสนหวาน อิ่มเอิบสุขใจทุกครั้งที่ได้หวนระลึกนึกย้อน เป็นช่วงเวลาที่ราวกับได้อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ พระเจ้าได้ทำให้โลกใบนี้กลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์
อดีตคือสิ่งที่ผ่านเลยพ้น จบสิ้นสูญไปแล้ว เรื่องราวใจความของหนังล้วนเกี่ยวกับการสูญเสียเช่นกัน,
– Bill พบเจอตกหลุมรักกับ Abby แล้วสูญเสียเธอไปให้กับคนอื่น
– เศรษฐีหนุ่มพบเจอตกหลุมรัก Abby แล้วสูญเสียตัวเองให้กับความอิจฉาริษยา
– Abby พบเจอชายสองคน ตกหลุมรัก แต่ก็สูญเสียพวกเขาไปทั้งหมด (โดยที่ตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย)
– Linda เด็กหญิงอายุ 13 สูญเสียทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะความสุขสบายที่ตนเคยได้รับ
ผู้กำกับ Terrence Malick คงเคยมีชีวิต ความทรงจำที่เป็นสุขมาก่อนตอนสมัยยังเป็นเด็ก แต่เพราะการที่ครอบครัวพบเจอแต่โศกนาฎกรรม -น้องชายนักกีตาร์ฆ่าตัวตายก่อนวัยอันควร- เหตุการณ์อันเศร้าสลดสะเทือนใจ แปรสภาพจากความสุขเป็นทุกข์ สรวงสวรรค์ที่เคยอาศัยอยู่กลายเป็นนรกบนดิน สิบปีผ่านไป Malick คงยังยากจะทำใจ เพราะอดีตเป็นสิ่งไม่สามารถหวนคืนแก้ไขได้ มีแต่จะสูญเสียจากไป
ราวกับจุดสิ้นสุดวันโลกาวินาศ ตั๊กแตน/โรคระบาดทำลายพืชผลผลิต, เปลวไฟที่มอดไหม้เผาผลาญทุกสิ่งอย่าง, ฆาตกรรม, หลบลี้หนี และช็อตสุดท้ายถูกยิง ใบหน้ากระแทกเข้ากับผืนน้ำ (จมลงสู่ความมืดมิด) นี่เป็นการเปรียบจุดสิ้นสุดของความทรงจำอันแสนหวาน/วัยเยาว์ กับจุดสิ้นสุดของโลก
ช็อตสุดท้ายของหนัง Linda ออกเดินตามทางรถไฟร่วมกับเพื่อนคนใหม่ ชีวิตยังไม่ถึงคราจบสิ้น จำเป็นที่จะต้องก้าวเดินต่อไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
ชื่อหนังนำมาจากข้อความในไบเบิล Deuteronomy 11:21
“That your days may be multiplied, and the days of your children, in which the LORD swore to your fathers to give them as the days of heaven upon the earth.”
Days of Heaven ออกฉายที่เทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Director ถือเป็นผู้กำกับสัญชาติอเมริกันคนที่สองถัดจาก Jules Dassin เรื่อง Rififi (1955) ที่คว้ารางวัลนี้, กระนั้นหนังไม่ทำเงินในอเมริกา รายรับเพียง $3.4 ล้านเหรียญ เกินทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญเล็กน้อยเท่านั้น
เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Costume Design
– Best Sound
– Best Music, Original Score
แม้จะไม่ทำเงิน แต่ Charlie Bluhdorn ผู้บริหารของ Gulf+Western บริษัทแม่ของ Paramount หลังจากรับชมหนัง เกิดความชื่นชอบ ตกหลุมรักคลั่งไคล้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดให้ทุนตั้งต้นกับโปรเจคถัดไปเป็นเงิน $1 ล้านเหรียญแก่ Malick ไม่ว่าจะเรื่องราวอะไร แต่ผู้กำกับตอบแทนโดยการเลิกทำหนัง หายหน้าออกไปจากวงการ 20 ปี กลับมาสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป The Thin Red Line (1998)
ส่วนตัวค่อนข้างคลั่งไคล้ในภาพและเสียงของหนัง แต่ผิดหวังในส่วนเรื่องราวและการแสดงที่มีความธรรมดาเกินไป แถมมีความเป็นอเมริกันชนมากไปเสียด้วย เลยทำให้แค่ชื่นชอบหนังในระดับทั่วไปเท่านั้น, กระนั้นนี่ถือเป็นหนึ่งใน Masterpiece ของผู้กำกับ Terrence Malick ที่ได้ทำการปฏิวัติวงการ และเป็นผู้ให้กำเนิดกระแส ‘visual movie’ แค่เพียงภาพสวยๆก็สามารถขายได้ เหนือทุกสิ่ง
แนะนำกับคอหนังแนวชิลๆ กินลมชมวิวท่องชนบล ซึมซับบรรยากาศ ภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ, ช่างภาพ นักเล่นกล้อง นี่เป็นเรื่องที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด, แฟนๆของผู้กำกับ Terrence Malick นักแสดง Richard Gere, Sam Shepard และเพลงประกอบเพราะๆของ Ennio Morricone
จัดเรต 13+ กับชู้รักและความอิจฉาริษยา
Leave a Reply