Dead of night

Dead of Night (1945) British : Alberto Cavalcanti, Charles Crichton, Robert Hamer, Basil Dearden ♥♥♥♥

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรสั่งห้ามฉายภาพยนตร์แนว Horror กลัวจะไปสร้างความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวต่อผู้คน แต่สตูดิโอ Ealing Studios ก็ริหาญกล้า Dead of Night (1945) ลองส่วนผสมเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) ควบคู่จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ใช้ประโยชน์จากการเล่าเรื่องแบ่งเป็นตอนๆ ‘Anthology film’ โคตรหลอกหลอน สั่นสะท้าน Masterpiece

แม้ว่า Dead of Night (1945) จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้วิธีการแบ่งออกเป็นตอนๆ (เหมือน)ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างกระแสนิยม ‘horror anthology film’ ติดตามมาด้วย Kwaidan (1964), Black Sabbath (1963), โดยเฉพาะหนังผีเมืองไทย ตั้งแต่ ผีสามบาท (พ.ศ. ๒๕๔๔), อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (พ.ศ. ๒๕๔๕), สาม-สี่-ห้าแพร่ง ฯลฯ

เกร็ด: ภาพยนตร์แนว ‘horror anthology film’ เริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัย German Expressionism มีอยู่สามเรื่องดังๆ Eerie Tales (1919), Destiny (1921) [กำกับโดย Fritz Lang] และ Waxworks (1924)

แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีเรื่องไหนใช้ที่ประโยชน์จาก ‘anthology film’ ได้อย่างคุ้มค่า ครบอรรถรส สมบูรณ์แบบไปมากกว่า Dead of Night (1945) นั่นเพราะการขมวดปมไคลน์แม็กซ์ อาจกลายเป็นหนี่งในแรงบันดาลใจ Mulholland Drive (2001) [นี่ผมบอกใบ้มากไปรีป่าวเนี่ย]

ในบรรดา 5-6 เรื่องสั้นของหนัง นอกจากไคลน์แม็กซ์ที่ขอละไว้ก่อนก็แล้วกัน ไฮไลท์คือตอนชื่อ ‘The Ventriloquist’s Dummy’ เรื่องราวของนักพากย์/เชิดตุ๊กตา (คล้ายๆเจ้าขุนทอง, The Muppet Show ฯ) ที่เหมือนว่าเจ้าของ vs. หุ่น กำลังมีความขัดแย้งอะไรบางอย่าง ในเชิงจิตวิเคราะห์บอกได้แค่ว่าเขาเป็นคนสองบุคลิกภาพ แต่ไฉนบางครั้งเจ้าหุ่นมันสามารถเปลี่ยนเจ้าของ ส่งเสียงออกมาได้เอง … Chucky หรือเปล่าเนี่ย!


Ealing Studios สตูดิโอสัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งโดย Basil Dean เมื่อปี 1929 ดั้งเดิมใช้ชื่อ Associated Talking Pictures Ltd. ก่อนเปลี่ยนเจ้าของ Michael Balcon และใช้ชื่อปัจจุบัน (Ealing Studio) เมื่อปี 1938, เลื่องลือในโคตรผลงาน Comedy สไตล์ผู้ดี(อังกฤษ) อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), The Lavender Hill Mob (1951), The Ladykillers (1955) ฯ แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับใบสั่งจากกองเซนเซอร์ให้สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ เกี่ยวกับสงคราม เน้นความสมจริง และห้ามหนัง Horror ที่จักทำให้ผู้ชมบังเกิดความหวาดสะพรีงกลัว

หลังจากมีผลงานตามใบสั่งมาหลายเรื่อง อาทิ Went the Day Well? (1942), The Foreman Went to France (1942), Undercover (1943), San Demetrio London (1943) ฯลฯ เมื่อถีงจุดๆหนี่งโปรดิวเซอร์ Michael Balcon ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย อยากทดลองทำอะไรๆอย่างอื่นดูบ้าง จีงเกิดแนวความคิดรวบรวมผู้กำกับ/เขียนบท นักแสดง ทีมงานหัวกะทิของสตูดิโอขณะนั้น ร่วมกันสรรค์สร้าง ‘anthology film’ นำเสนอเรื่องราวที่คาบเกี่ยวระหว่างเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ยังสามารถใช้หลักจิตวิเคราะห์ครุ่นค้นหาเหตุผลของสิ่งบังเกิดขี้น

Balcon มอบหมายให้สองนักเขียนประจำสตูดิโอ John Baines และ Angus MacPhail ครุ่นคิดมองหาเรื่องราวที่น่าสนใจ มีทั้งบทดั้งเดิม ดัดแปลงเรื่องสั้น นวนิยายชื่อดัง รวมแล้วได้ 5-6 เรื่อง ทีแรกตั้งใจจะให้ผู้กำกับละเลื่อง แต่ตอนนั้นมีว่างานแค่สี่คน เท่าไหนเท่านั้น

เรื่องราวหลัก

กำกับโดย Basil Dearden ชื่อจริง Basil Clive Dear (1911-1971) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westcliff-on-Sea, Essex เรียนจบด้านการกำกับละครเวที ทำงานเป็นผู้ช่วย Basil Dean จากนั้นเขียนบท This Man Is News (1938), ผู้ช่วยผู้กำกับ Penny Paradise (1938), To Hell with Hitler (1940), พอย้ายมาสังกัด Ealing Studios เริ่มกำกับ Black Sheep of Whitehall (1942), The Bells Go Down (1943), Dead of Night (1945), The Captive Heart (1946), Sapphire (1959) ** คว้ารางวัล BAFTA: Best British Film

เรื่องราวของ Walter Craig (รับบทโดย Mervyn Johns) สถาปนิกได้รับคำชักชวนจาก Elliot Foley (รับบทโดย Roland Culver) เจ้าของบ้านพักต่างอากาศหลังเล็กๆ ตั้งอยู่เมือง Kent ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ เกิดความประหลาดใจเมื่อได้พบเจอกับบรรดาแขกเหรื่อ เพราะทั้งหมดล้วนคือบุคคลที่อยู่ในความฝันของตนเอง

นำแสดงโดย David Mervyn Johns (1899-1992) นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Pembroke, Pembrokeshire, เริ่มต้นจากละครเวทีในช่วงทศวรรษ 20s, ภาพยนตร์เรื่องแรก Lady in Danger (1934), ต่อมากลายเป็นขาประจำ Ealing Studios ผลงานเด่นๆ อาทิ Went the Day Well? (1942), Dead of Night (1945), Scrooge (1951) ฯ

Craig เป็นชายร่างเล็กที่แรกเริ่มเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น พิศวงสงสัย คาดไม่ถึงกับสิ่งที่พบเจอ จะละม้ายคล้ายทุกความฝันยามค่ำคืน แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปสักพักเริ่มบังเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ต้องการไปจากสถานที่แห่งนี้ กลับยังคงถูกฉุดเหนี่ยวรั้ง และในที่สุดเมื่อมิอาจอดรนทน จึงกระทำการ … ก่อนตื่นขึ้นจากความฝันร้าย

การดำเนินไปของตัวละครนี้ สะท้อนปฏิกิริยาผู้ชมออกมาตรงๆเลยละ แรกเริ่มเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น (ว่าหนังคืออะไร จะดำเนินไปเช่นไร) พอดำเนินผ่านไปเรื่อยๆเริ่มหวาดหวั่น วิตกกังวล ไม่ค่อยแน่ใจตนเองว่าจะอยากรู้สิ่งบังเกิดขึ้นต่อไปสักเท่าไหร่ และช่วงท้ายก็แทบคลุ้มบ้าคลั่ง เสียสติแตก พร้อมๆเรื่องราวและตัวละคร ก่อนตื่นขึ้น หนังจบ หวนกล้บสู่โลกความเป็นจริง

บางคนอาจจะนับ หรือไม่นับ เรื่องราวหลัก ‘frame story’ ให้เป็นตอนหนึ่งของหนัง (ผมเลยจงใจเขียน 5-6 ตอน) เอาจริงๆผมชื่นชอบไคลน์แม็กซ์มากกว่าตอน The Ventriloquist’s Dummy เสียอีกนะ! เพราะมันเป็นการประมวลผล สรุปรวมทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน แถมลีลาไดเรคชั่น ทิศทางมุมกล้อง ภาษาภาพยนตร์ ครบครื่อง หลากหลาย คลุ้มบ้าคลั่งอย่างที่สุด … เป็นตอนจบ ‘Anthology film’ ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็นมา

The Hearse Driver

กำกับโดย Basil Dearden ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น The Bus-Conductor ตีพิมพ์ลง The Pall Mall Magazine เมื่อปี 1906 รวบรวมอยู่ในหนังสือ The Room in the Tower, and Other Stories (1912) แต่งโดย Edward Frederic Benson (1867 – 1940) นักเขียนชาวอังกฤษ

เรื่องราวของนักแข่งรถ Hugh Grainger (รับบทโดย Anthony Baird) ประสบอุบัติเหตุรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัส ระหว่างพักรักษาตัวค่ำคืนหนึ่งพบเห็นสิ่งที่เป็นเหมือนลางบางเหตุ เมื่อถึงวันกลับบ้านขณะกำลังขึ้นรถโดยสาร บุคคลที่ตนเคยเห็นในฝันครั้งนั้นทำให้เขาเกิดความหวาดระแวง ยับยั้งชั่งใจ ปฏิเสธไม่ขึ้นรถ และไม่ทันไรคนขับก็เลี้ยวหลบตกลงเนินเสียชีวิตแทบยกคัน

นำแสดงโดย Anthony Baird (1919–95) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Hillhead, Glasgow เริ่มจากเป็นละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Dead of Night (1945) กลายเป็นนักแสดง ‘Stock Actor’ ของ Ealing Studios โดยพลัน

แม้ประสบอุบัติเหตุอาการ(เหมือนจะ)สาหัส แต่หลักจากพ้นขีดอันตรายก็เริ่มสำแนงนิสัยเจ้าชู้ประตูดิน เกี้ยวพาราสีนางพยาบาล แค่ว่าค่ำคืนหนึ่งนั้นเหมือนพบเห็นลางบอกเหตุ สารถีกลายมาเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขณะเดียวกันนักจิตวิทยาแนะนำว่าอาจเป็นอาการ ‘Shell Shock’ หวาดกลัวการขึ้นยานพาหนะเสียมากกว่า

ช็อตที่ถือว่าสัญลักษณ์ของตอนนี้ คือวินาทีที่ Hugh Grainger รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เวลาเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตัดสินใจลุกขึ้นจากเตียง เงาจากแสงไฟกำลังค่อยๆมีขนาดเล็กลง (ในบริบทนี้ เงาของตัวละครสามารถสะท้อนถึงความหวาดกลัว สิ่งซ่อนเร้นภายในจิตใจ) กระทั่งเดินมาถึงหน้าต่าง เปิดผ้าม่าน จู่ๆวิวทิวทัศน์ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป

The Christmas Party

กำกับโดย Alberto de Almeida Cavalcanti (1897-1982) สัญชาติ Brazillian เกิดที่ Rio de Janeiro, บิดาเป็นนักคณิตศาสตร์ ตัวเขาเป็นเด็กเฉลียวฉลาด อายุ 15 ร่ำเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย แต่เพราะไปโต้ถกเถียงอาจารย์จึงโดนขับไล่ออก ถูกส่งตัวมา Geneva, Switzerland ร่ำเรียนสถาปัตยกรรม พออายุ 18 มุ่งสู่ Paris มาเป็นนักออกแบบภายใน กระทั่งมีโอกาสรับรู้จัก Marcel L’Herbier ร่วมสรรค์สร้าง L’Inhumaine (1924) เลยบังเกิดความสนใจภาพยนตร์, กำกับเรื่องแรก Rien Que les Heures (1926), ย้ายมาปักหลังประเทศอังกฤษ ทำงานอยู่ GPO Film Unit ถึงเจ็ดปี และเข้าร่วม Ealing Studios ผลงานเด่นๆอย่าง Yellow Caesar (1941), Went the Day Well? (1942), Dead of Night (1945), Nicholas Nickleby (1947) ฯ

พัฒนาเรื่องราวโดย Angus MacPhail นำจากเหตุการณ์จริง เด็กชาย Francis อายุ 4 ขวบ ถูกฆาตกรรมโดย Constance ลูกพี่ลูกน้อง (Half-Sister) ขณะนั้นอายุ 16 ปี ในค่ำคืนวันคริสต์มาส ณ Road Hill House เมื่อปี 1860, เธอถูกจับกุมตัวแล้วส่งไป Australia เพิ่งเสียชีวิตปี 1944

เรื่องราวตอนนี้เล่าโดย Sally O’Hara (รับบทโดย Sally Ann Howes) ขณะกำลังเล่นซ่อนหาในงานเลี้ยงวันคริสต์มาสกับ จับพลัดจับพลูขึ้นไปบนห้องใต้หลังคา แล้วมีโอกาสพบเจอเด็กชาย Francis นั่งร้องห่มร้องไห้ไม่รู้เสียใจเรื่องอะไร เธอจึงพูดจากเกลี้ยและกล่อมให้เข้านอน ขับร้องเพลงก่อนร่ำลาจากไป

นำแสดงโดย Sally Ann Howes (เกิดปี 1930) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St Jonn’s Wood, London บิดาคือ Bobby Howes, มารดาคือ Patricia Malone ต่างเป็นนักร้อง/นักแสดงชื่อดัง ลูกไม้จึงหล่นไม่ไกลต้น แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Thursday’s Child (1943), เซ็นสัญญา Ealing Studios มีผลงาน The Halfway House (1944), Dead of Night (1945), Nicholas Nickleby (1947), My Sister and I (1948), Anna Karenina (1948) ฯ พออายุ 18 ย้ายไปเซ็นสัญญา 7 ปีกับ The Rank Organisation แต่หลังจากนั้นก็เอาดีด้านละครเวที West End, Broadways, และซีรีย์โทรทัศน์

“I would have liked a film career, but I didn’t pursue it – I just loved connecting with an audience. The theatre is a drug. The problem is that to be remembered, you have to do films”.

Sally Ann Howes

เด็กสาวยังอยู่ในช่วงวัยเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนพบเจอนั้นคืออะไร แต่หลังจากตระหนักได้ว่าเด็กชาย Francis เสียชีวิตจากไปกว่าร้อยปีแล้ว ค่อยบังเกิดความหวาดกลัวติดตามมา … แต่ไม่นานลืมเลือน หลงเหลือเพียงความทรงจำ/ฝันร้ายในค่ำคืนหนึ่งก็เท่านั้น

ผมค่อนข้างชื่นชอบการแสดงของ Howes อนาคตของเธอน่าจะสดใสแน่ๆ แต่ก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะเลือกเส้นทางสายละครเวที มีผลงานภาพยนตร์แค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งค่อยๆถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา (ไม่ต่างจากโศกนาฎกรรมของ Francis สักเท่าไหร่)

ไฮไลท์ของตอนนี้คือช่วงระหว่างเด็กหญิงพลัดหลงเข้ามาในห้องของ Francis แสงสว่างสลัวๆช่างมีความลึกลับ พิศวง น่าสงสัย (วินาทีที่ใจดีสู้เสือ วางมาดพี่สาวที่แสนดี น่ารักน่าชังสุดๆเลย) ไพเราะมากๆตอนเธอขับร้องเพลงกล่องเด็กชายเข้านอน ก่อนค่อยๆเดินออก ปิดประตู รับรู้อีกทีว่าทั้งหมดนี้ไม่มีอยู่จริง!

The Haunted Mirror

กำกับโดย Robert Hamer (1911 – 1963) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kidderminster แฝดเทียมกับ Barbara Hamer, ตั้งแต่เด็กเป็นคนเฉลียวฉลาด ได้รับทุนการศึกษาจาก Corpus Christi College, Cambridge แต่ไปทำเรื่องบางอย่างเลยถูกไล่ออก ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นนักตัดต่อ สร้างชื่อกับ Jamaica Inn (1939), ย้ายมา Ealing Studios กลายเป็นผู้ช่วย และกำกับเรื่องแรก Pink String and Sealing Wax (1946), ผลงานเด่นๆ อาทิ It Always Rains on Sunday (1947), Kind Hearts and Coronets (1949), School for Scoundrels (1960) ฯ

เรื่องราวของ Joan Cortland (รับบทโดย Googie Withers) ซื้อกระจกโบราณบานหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิดให้ว่าที่สามี Peter (รับบทโดย Ralph Michael) แต่เขาอ้างว่ามองเห็นภาพสะท้อนห้องเก่าๆ เตียงไม้สี่เสา และเตาพิงไฟ สืบทราบจากร้านขายของเก่าพบว่า เจ้าของเดิม Francis Etherington เคยรัดคอฆาตกรรมภรรยา เพราะต้องสงสัย/หวาดระแวงว่าคบชู้ชายอื่น

นำแสดงโดย Ralph Michael ชื่อจริง Ralph Champion Shotter (1907-94) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Edmonton, London เริ่มต้นจากละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก False Evidence (1937), อาสาสมัครทหารอากาศ เป็นพลแม่ปืนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, ผลงานเด่นๆ อาทิ Dead of Night (1945), A Night to Remember (1958), Empire of the Sun (1987) ฯ

รับบท Peter Cortland หลังได้รับของขวัญจากแฟนสาว เมื่อเริ่มส่องกระจกพบเห็นภาพสะท้อนดังกล่าว บังเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ถึงขนาดเคยครุ่นคิดจะเลื่อนกำหนดแต่งงานออกไปก่อน โดยไม่รู้ตัวอิทธิพลจากกระจกค่อยๆส่งผลกระทบ ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งสูญเสียความเป็นตัวของตนเอง จู่ๆรัดคอภรรยา (เพราะเชื่อว่าเธอกำลังคบชู้นอกใจ) แต่หลังจากกระจกใบนั้นแตกสลาย ทุกสิ่งอย่างกลับกลายเป็นปกติโดยพลัน

Georgette Lizette Withers (1917-2011) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Karachi, British India (ปัจจุบันคือประเทศ Pakisatan) บิดาเป็นกัปตัน Royal Navy พอแต่งงานย้ายมาปักหลักอยู่ Birmingham, เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 12 เข้าศึกษา Italia Conti Academy of Theatre Arts และเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ Windfall (1935), รับบทนำครั้งแรก All at Sea (1935), โด่งดังอย่างมากใสช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง One of Our Aircraft Is Missing (1942), The Silver Fleet (1943), Dead of Night (1945), หลังแต่งงานย้ายไปปักหลักอยู่ Australia โด่งดังจากละครเวที และซีรีย์ Within These Walls (1974-78)

รับบท Joan Cortland เมื่อเริ่มสังเกตเห็นความกระวนกระวาย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของสามี ซักไซ้ไล่เรียงจนตระหนักว่าอาจเพราะกระจกใบนี้ แม้ไม่ค่อยอยากจะเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเท่าไหร่ ก็ยังหวนกลับไปสอบถามประวัติจากพ่อค้า และเมื่อกลับมาบ้านวันนั้นพบเห็นเขามีพฤติกรรมไม่ต่างจาก Francis Etherington ด้วยสันชาตญาณเลยตัดสินใจทุบทำลายกระจก แล้วทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับสู่ปกติโดยพลัน

ผมค่อนข้างชอบเคมีของทั้ง Michael และ Withers ทั้งสองเข้าขากันดี แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครจะดูระหองระแหงก็ตามที ฝ่ายชายหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนพบเห็นจนเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ขาดสติครุ่นคิดไตร่ตรอง แต่ฝ่ายหญิงเป็นศรีภรรยาที่ดีมากๆ เอาใจใส่สามี ไม่ปล่อยให้ปัญหาเล็กๆมาบ่อนทำลายความสัมพันธ์ (บางคนอาจรู้สึกว่าเธอค่อนข้างจะเจ้ากี้เจ้าการพอสมควร) และต้องชมเลยคือสันชาตญาณการแก้ปัญหา แม้ไม่อยากเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ก็ไม่หลบหลู่/ปฏิเสธในสิ่งที่ตนพบเห็น

กระจกคือสิ่งสัญลักษณ์ที่มักสะท้อนตัวตน ภายในจิตใจคนออกมา ซึ่งสิ่งบังเกิดขึ้นกับตัวละคร Peter Cortland อาจเพราะความเคร่งเครียด หวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดเล็กคิดน้อยมากเกินไป ซึ่งการทุบทำลาย(กระจก) ตีความได้ว่าเป็นการละทอดทิ้งตัวตน(ดั้งเดิม) แล้วเริ่มต้นชีวิต(คู่)ใหม่

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตทริคของหนัง สิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพสะท้อนบนกระจก แต่คือตัวละครอยู่ข้างในฉากนั้น (สร้างฉากด้านหลังกระจก) ส่วนกระจกจริงๆมันก็มีอยู่นะ ราคาค่อนข้างสูงจึงมีโอกาสทุบแตกแค่เพียงครั้งเดียว!

The Golfer’s Story

กำกับโดย Charles Ainslie Crichton (1910-99) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wallasey, Cheshire สำเร็จการศึกษาประวัติศาสตร์ University of Oxford แต่เลือกทำงานเป็นนักตัดต่อภาพยนตร์ เริ่มจาก Men of Tomorrow (1932), Things to Come (1936) ฯ กระทั่งย้ายมาสังกัด Ealing Studios มีโอกาสกำกับเรื่องแรก For Those in Peril (1944), โด่งดังกับ Dead of Night (1945), The Lavender Hill Mob (1951), เข้าชิง Oscar: Best Director จากเรื่อง A Fish Called Wanda (1988)

เหตุการณ์ตอนนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น The Story of the Inexperienced Ghost (1902) แต่งโดย Herbert George Wells (1866 – 1946) โคตรนักเขียนนวนิยายไซไฟ สัญชาติอังกฤษ อาทิ The Time Machine (1895), The Invisible Man (1897), The War of the Worlds (1898) ฯ

นี่เป็นเรื่องเล่าของเจ้าภาพ Eliot Foley ขณะทำงานเป็นแคดดี้ให้สองนักกอล์ฟอาชีพ George Parratt (รับบทโดย Basil Radford) และ Larry Potter (รับบทโดย Naunton Wayne) ต่างเป็นเพื่อนในชีวิตจริง ศัตรูในสนามแข่ง แถมยังตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน Mary Lee (รับบทโดย Peggy Bryan) แต่มีเพียงใครคนเดียวเท่านั้นจะสามารถครองคู่รักกับเธอ จึงท้าพนัน 18 หลุม ผู้พ่ายแพ้จักต้องสูญหายตัวไปชั่วนิรันดร์

Arthur Basil Radford (1897-1952) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chester, ฝึกฝนการแสดงยัง Royal Academy of Dramatic Art เริ่มมีผลงานละครเวทีตั้งแต่ปี 1924, ภาพยนตร์เรื่องแรก Barnum Was Right (1929)

Naunton Wayne ชื่อจริง Henry Wayne Davies (1901-70) นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Pontypridd, Glamorgan เริ่มต้นจากมีผลงานละครเวที, ภาพยนตร์เรื่องแรก The First Mrs. Fraser (1932)

Redford และ Wayne ก่อนหน้านี้เคยร่วมแสดงภาพยนตร์ The Lady Vanishes (1938) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ในบทคู่หูนักกีฬา Cricket ที่มีความยียวนกวนบาทา สร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม จนมีโอกาสได้รับเชิญในหลากหลายผลงานตลอดช่วงทศวรรษ 40s จำนวนไม่ต่ำกว่าสิบๆเรื่อง (มักจะเปลี่ยนกีฬาไปเรื่อยๆ)

ทำไมต้องกอล์ฟ? นี่เป็นกีฬาที่มีความผ่อนคลาย ต้องใช้เวลา สมาธิ และความแม่นยำ ผมรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้ายเครื่องบินทิ้งระเบิด ต้องออกเดินทางจากฐานทัพระยะไกลๆ กว่าจะถึงเป้าหมาย เล็งเป้า แล้วยิง/ทิ้งระเบิด ช่างเงียบสงัดแต่สามารถสร้างความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัว และผู้พ่ายแพ้อาจถึงแก่ความตาย (ถ้าไม่โดนยิงตก สถานที่ดังกล่าวก็อาจราบเรียบเป็นหน้ากลอง)

แม้ว่าสามตอนที่ผ่านมาจะมีความน่าสนใจพอสมควร แต่เรื่องที่ทำให้ผมเกิดความประทับใจหนังโคตรๆก็คือตอนนี้ วินาทีหักมุม ตลบหลังผู้ชม ชวนให้ระลึกถึงสี่-ห้าแพร่ง ของโต้ง บรรจง ขึ้นมาโดยพลัน! หนังผีไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด หลอนหลอน เขย่าประสาทผู้ชมตลอดเวลา ตลกชวนหัว ฮาตกเก้าอี้ ก็สามารถจัดเข้าพวกได้เหมือนกัน … เรียกว่ามีความครบเครื่อง อรรถรส หลากหลายสีสัน ภาพช็อตนี้ อมยิ้มกริ่ม

ส่วนนัยยะของมนุษย์สลับผี ผมมองถึงความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวละคร เพราะทั้งสองราวกับเป็นกระจกสะท้อนกันและกัน แต่เมื่อต้องต่อสู้ แข่งขัน ผู้ชนะเพียงบุคคลเดียว มันจึงจำเป็นต้องมีอีกฝั่งยินยอมเสียสละ ถึงอย่างนั้นใครคนหนึ่งกลับโป้ปดหลอกลวง กลกลวงให้อีกฝ่ายประสบความพ่ายแพ้ ตัวเขาจึงค่อยๆเกิดความหวาดระแวง(ในตนเอง) พบเห็นภาพหลอน เริ่มสับสน และสูญเสียตัวตนเองในที่สุด (เป็นส่วนผสม/ร่องรอยต่อระหว่าง The Haunted Mirror และ The Ventriloquist’s Dummy ได้ลงตัวมากๆ)

The Ventriloquist’s Dummy

กำกับโดย Alberto Cavalcanti, จากบทของ John Baines

Dr. van Straaten (รับบทโดย Frederick Valk) เล่าเรื่องราวผู้ป่วยจิตเวช/นักเชิด Maxwell Frere (รับบทโดย Michael Redgrave) มีความขัดแย้งกับหุ่น Hugo Fitch ราวกับพวกเขาเป็นคนละคน! หลังจากได้พบเจอ Sylvester Kee (รับบทโดย Hartley Power) นักเชิดหุ่นชาวอเมริกัน Hugo แสดงความต้องการทอดทิ้ง Frere เพื่อไปอยู่กับ Kee สร้างความไม่พึงพอใจ โกรธเกลียด อิจฉาริษยา ถึงขนาดใช้อาวุธปืนกระทำร้าย (Kee) โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากแต่เขาก็ถูกจับส่งโรงพยาบาลจิตเวช มาอยู่ในความดูแลของ Dr. van Straaten

ตอนนี้ขอพูดถึงแค่ Sir Michael Scudamore Redgrave (1908-85) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bristol, เป็นบุตรของ Roy Redgrave และ Margaret Scudamore ต่างเป็นนักแสดงชื่อดัง(ในยุคหนังเงียบ), หลังเรียนจบทำงานสอนหนังสือ Cranleigh School เคยกำกับเด็กๆให้แสดงละครเวที Shakespere โดยตนเองรับบทนำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งตัดสินใจกลายเป็นนักแสดงเต็มตัว ภาพยนตร์เด่นๆเรื่องแรก The Lady Vanishes (1938), ได้รับคำชมล้นหลามกับ Dead of Night (1945), เข้าชิง Oscar: Best Actor เรื่อง Mourning Becomes Electra (1947), และภาพยนตร์ The Browning Version (1951) คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

แม้ว่า Ventriloquist จะเป็นเพียงการแสดง แต่สำหรับ Maxwell Frere หุ่นที่เขาเชิดชัก Hugo Fitch ราวกับมีชีวิต ความครุ่นคิด จิตวิญญาณของตนเอง ไม่สามารถควบคุมคำพูด การกระทำ หลายครั้งเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอย แปรสภาพสู่อิจฉาริษยา ไม่พึงพอใจอีกฝั่งฝ่าย และในที่สุด Frere ก็หักดิบด้วยการทำลาย Hugo … แต่ใครกันแน่ที่ยังมีชีวิตอยู่

การแสดงของ Redgrave มีความหลอกหลอน ตราตรึง ทรงพลังมากๆ ถ่ายทอดตัวตนออกทางสีหน้า แรกๆก็ดูปกติทั่วไป ค่อยๆออกอาการเพลียๆ เหนื่อยอ่อนล้า ตาลอยๆ วอกแวกไปมา จากนั้นผู้ชมก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความผิดปกติ หวาดระแวง วิตกจริต คลุ้มคลั่งขึ้นเรื่อยๆจนมีสภาพไม่ต่างจากคนบ้า และไฮไลท์คือหลังการทำลาย Hugo อ้ำๆอึ้งๆ ขยับปากส่งเสียเหมือนหุ่น สร้างความฉงนสงสัยว่าบังเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร

เกร็ด: Redgrave ร่ำเรียน ฝึกฝนการแสดงจาก Arthur Brough นักเชิดหุ่น Ventriloquist ชาวอังกฤษ ซึ่งยังเป็นผู้ออกแบบสร้าง Hugo และให้เสียง(หุ่น)แทนด้วย

เรื่องราวตอนนี้ค่อนข้างตึงเครียด หนักอึ้ง และหลอกหลอนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการขยับเคลื่อนไหว คำพูดจาของเจ้าหุ่น Hugo ดึงดูดความสนใจให้บังเกิดความรู้สึกแปลกๆ ราวกับมันมีชีวิต จิตวิญญาณอยู่จริงๆ ซึ่งนั่นเปิดอิสระผู้ชมในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ ว่าคืออีกบุคลิกภาพตัวละคร หรือมีเรื่องเหนือธรรมชาติซ่อนเร้นเบื้องหลัง

นี่น่าจะเป็นช็อตสื่อแทนตอนนี้ได้ใกล้ที่สุด, Frere แนบครึ่งใบหน้าบนกระจก (เพื่อว่าตัวตนของเขามีเพียงครึ่งเดียว) และภาพถ่ายของ Hugo วางอยู่ตำแหน่งหน้าอก (เจ้าหุ่นตัวนี้คืออีกครึ่งตัวตนของเขา) นั่นทำให้การทุบทำลายหุ่นช่วงท้าย ก็เท่ากับชายคนนี้ได้สูญเสียตนเองไปครึ่งหนึ่ง

ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe (1913-2016) สัญชาติอังกฤษ ประจำอยู่ Ealing Studios ช่วงทศวรรษ 40s-50s อาทิ Dead of Night (1945), Kind Hearts and Coronets (1949), The Lavender Hill Mob (1951) ฯ แต่หลังจากก้าวออกมาก็โด่งดังกลายเป็นตำนานกับไตรภาค Indiana Jones ผลงานเด่นอื่นๆ The Blue Max (1967), The Lion in Winter (1969), Jesus Christ Superstar (1974), The Great Gatsby (1975), Julia (1979) ฯ

ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น และสถานการณ์ตึงเครียดจากสงครามโลกครั้งที่สอง หนังจึงต้องสร้างฉากถ่ายทำทั้งหมดในสตูดิโอ Ealing Studios ตั้งอยู่ย่าน Ealing Green, West London ส่วนฉากภายนอกล้วนนำจาก Archive Footage ไม่ได้ออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนใด

ก่อนที่ Slocombe จะได้รับการจดจำจากภาพทิวทัศน์สวยๆ เต็มไปด้วยสีสัน ดูสดชื่นมีชีวิตชีวา ช่วงระหว่างทำงานยัง Ealing Studios โดดเด่นเรื่องการสร้างบรรยากาศ จัดแสง-เงา ทิศทางมุมกล้อง และลีลาขยับเคลื่อนไหว (ให้เครดิตกับ Jack Parker) ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว

แต่ละตอนของหนังล้วนมีไฮไลท์การถ่ายภาพ ดังที่นำเสนอผ่านมาแล้ว ถ้าให้ผมเลือกไฮไลท์ย่อมต้องคือช่วงไคลน์แม็กซ์ที่เป็นการละเลงทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งมุมเอียง (Dutch Angle), มุมสูง (Bird Eye View), ภาพบิดๆเบี้ยวๆ, เคลื่อนกล้องเร็วๆ ฯ ให้ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘visual excitement’ หลากหลาย ครบเครื่อง บรรเจิดในความคิดสร้างสรรค์

ตัดต่อโดย Charles Hasse (1904–2002), เรื่องราวเริ่มต้นด้วย ‘frame story’ มุมมองตัวละคร Walter Craig ออกเดินทางสู่ชนบท Kent ได้รับการทักทายจากเจ้าภาพ Elliot Foley พบเจอสมาชิกคนอื่นๆ จากนั้นแต่ละคนจะเล่าเรื่องราวจากความทรงจำ (Flashback) ถึงเหตุการณ์ที่บังเอิญมีความสัมพันธ์กับสิ่งกำลังบังเกิดขึ้น

  • อารัมบทนำเข้าเรื่องราว Walter Craig เดินทางถึงชนบท
  • The Hearse Driver (บังเกิดขึ้นกับตัว)
    • ใช้การดำเนินเรื่องแบบตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน เพื่อให้นักจิตวิทยาวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นกับ Hugh Grainger ทีละเล็กละน้อย (Step-by-Step)
  • The Christmas Party (พบเห็นกับตา)
    • เริ่มต้น-สิ้นสุดด้วยภาพกองไฟในเตาผิง เด็กๆกำลังเล่นไล่จับ Sally O’Hara เข้าไปในห้องเก็บของ ราวกับสามารถย้อนเวลาไปอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน
  • The Haunted Mirror (จากคนใกล้ชิด และเคยพบเห็นครั้งหนึ่ง)
    • Joan Cortland นำของขวัญกระจกโบราณมาให้ว่าที่สามี แต่เขากลับมองเห็นภาพสะท้อนคือสิ่งเกิดขึ้นในนั้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน
  • The Golfer’s Story (เรื่องราวของคนรู้จัก)
    • Eliot Foley ระหว่างกำลังเปิดขวดไวน์ เล่าเรื่องสองคู่หูนักกอล์ฟ ตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน ท้าพนันใครพ่ายแพ้ดวล 18 หลุม จะต้องเสียสละลาจากเธอไปชั่วนิรันดร์
  • The Ventriloquist’s Dummy (เรื่องเล่าของเรื่องเล่ามาอีกที)
    • มีลักษณะ Flashback ซ้อน Flashback เริ่มจาก Dr. van Straaten เล่าถึงหนึ่งในผู้ป่วยจิตเวช จากนั้นย้อนอดีตกลับไปที่จุดเริ่มต้นเหตุการณ์
  • ประมวลผล/บทสรุปถึงสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นยังสถานที่แห่งนี้
  • ปัจฉิมบท Walter Craig ตื่นขึ้นจากความฝัน และออกเดินทางสู่ชนบท กลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ทุกครั้งระหว่างเรื่องเล่า ‘Anthology story’ จะต้องหวนกลับมาหาเรื่องราวหลัก ‘frame story’ เพื่อให้มีพบเห็นปฏิกิริยาผู้ฟัง เกิดการโต้ถกเถียง แสดงออกความคิดเห็น และจิตวิเคราะห์โดย Dr. van Straaten ถึงความเป็นไปได้ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น


เพลงประกอบโดย Georges Auric (1899 – 1983) คีตกวีอัจฉริยะชาวฝรั่งเศส เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มีความเชี่ยวชาญเปียโน ชื่นชอบเขียนบัลเล่ต์ กระทั่งการมาถีงของภาพยนตร์ สนิทสนม Erik Satie และ Jean Cocteau ผลงานเด่นๆ อาทิ À nous la liberté (1931), La Belle et la Bête (1946), Moulin Rouge (1952), Roman Holiday (1953), Le Salaire de la peur (1953), Rififi (1955), The Innocents (1961) ฯ

งานเพลง Auric มีความรุนแรงเกรี้ยวกราด ด้วยลักษณะ ‘Expressionist’ แสดงออกทางอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ชี้ชักนำทางผู้ชมว่าขณะนี้ควรรับรู้สีกเช่นไร ค่อยๆไต่ระดับความตื่นเต้น น่าสะพรีงกลัวขี้นเรื่อยๆ และเมื่อมีบางสิ่งอย่างเลวร้ายบังเกิดขี้น ก็จักโหมโรงออเคสตร้าบดขยี้หัวใจอย่างทรงพลัง

ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ผู้ชมสมัยนี้ต้องจำแนกแยกแยะ Dead of Night (1945) ว่าคือหนังแนว Horror สามารถสร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสยองถีงขั้วหัวใจ ต่อให้ใช้หลักจิตวิเคราะห์ คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อถีงจุดๆหนี่งย่อมรู้สีกว่าฟังไม่ขี้นเลยสักนิด ถีงอย่างนั้นก็แล้วแต่มุมมองทัศนคติของคุณเอง เป็นภาพยนตร์เปิดกว้างสุดๆในการตีความว่า ผีหลอกหรือหลอกผี

แม้ว่าไคลน์แม็กซ์ตอนจบ เหมือนจะทำให้ประเด็นผีๆ สูญเสียสิ้นความสำคัญไป (เพราะบางคนอาจครุ่นคิดว่า เรื่องราวทั้งหมดเกิดขี้นในความฝันตัวละคร) แต่ลักษณะการดำเนินเรื่องแบบ Möbius strip เริ่มต้น-สิ้นสุดยังตำแหน่งเดียวกัน แล้วไฉนสิ่งที่ควรเป็นแค่ความฝัน กลับมาบรรจบพบเหตุการณ์จริงอีกครั้ง … นี่ก็ถือเป็นอิสรภาพในการครุ่นคิดตีความอีกเช่นกัน

เกร็ด: Möbius strip แถบหรือริบบิ้นที่มีด้านเพียงด้านเดียวและขอบเพียงข้างเดียว, สิ่งน่าสนใจทางคณิตศาสตร์ก็คือ ไม่ว่าเราจะเลือกสองจุดใดๆบนแถบ เราสามารถที่จะลากเส้นเชื่อมต่อสองจุดนั้นได้โดยที่ไม่ต้องยกปากกาหรือว่าลากเส้นผ่านขอบ ลักษณะดังกล่าวถูกค้นพบโดย Johann Benedict Listing และ August Ferdinand Möbius เมื่อปี 1858 ทั้งคู่ต่างเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน

ความสัมพันธ์ของแต่ละเรื่องราว นอกจากถูกนำไปผสมผสานคลุกเคล้าช่วงไคลน์แม็กซ์ ยังสังเกตได้ว่า

  • แต่ละตอนต้องมีคนตายอย่างน้อยหนี่งศพ! (ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตในช่วงเวลาของเรื่องเล่า อาจเป็นเหตุการณ์เกิดขี้นพานผ่านมาแล้วก็ได้เหมือนกัน)
    • The Hearse Driver คนขับและผู้โดยสารตกถนนเสียชีวิต
    • The Christmas Party เด็กชายถูกฆาตกรรมเมื่อนานมาแล้ว
    • The Haunted Mirror เจ้าของกระจกคนก่อนฆ่ารัดคอภรรยา
    • The Golfer’s Story ก็ไม่รู้ใครตาย
    • The Ventriloquist’s Dummy ฆ่าจิตใต้สำนีกตนเอง
    • เรื่องราวหลัก ฆ่ารัดคอนักจิตวิทยา
  • ต้องมีเหตุการณ์สำคัญๆบางอย่างเกิดขี้นตอนกลางคืน (แต่ไม่จำเป็นว่าต้องมีความตายเกิดขี้นตอนกลางคืน)
    • The Hearse Driver พบเห็นลางสังหรณ์ตอนสามทุ่มห้าสิบ กลายเป็นตีสี่สิบห้า
    • The Christmas Party ค่ำคืนวันคริสต์มาส
    • The Haunted Mirror ภาพที่อยู่ในกระจกเป็นเวลากลางค่ำคืนเสมอ
    • The Golfer’s Story หลังแต่งงานกำลังได้เข้าเรือนหอ ตอนสี่ทุ่มเปะๆ
    • The Ventriloquist’s Dummy ปลุกตื่นขี้นมาตอนตีสี่ครี่ง
    • เรื่องราวหลัก เริ่มต้นฆาตกรรมตอนทุ่มห้าสิบห้านาที

มองจากภาพรวมของหนัง เราสามารถครุ่นคิดตีความแต่ละเรื่องราวด้วยหลักจิตวิเคราะห์ หรือไม่จะเชื่อว่าเป็นเรื่องผีๆสางๆ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ อย่างไหนก็ได้เช่นกัน นี่แปลว่าใจความของ Dead of Night (1945) คือการชักชวนให้ผู้ชมมองโลกทั้งสองด้าน อย่าตัดสินบางสิ่งอย่างแค่เพียงเปลือกภายนอก มันอาจไม่มีคำตอบที่ถูก แต่ก็ไม่มีความคิดที่ผิดเฉกเช่นเดียวกัน

Dead of Night เป็นคำที่สื่อถีงช่วงเวลาดึกดื่น เงียบสงัด (มันไม่มีการกำหนดช่วงเวลาเป็นตัวเลขเปะๆ แต่หลายตอนในหนังมักเวียนวนอยุ่แถวๆ 4 ทุ่มถีงตี 4 ก็ยีดเอาช่วงเวลานี้เลยก็แล้วกัน) พอดิบพอดีกับตัวละครกำลังนอนหลับฝัน(ร้าย) ขณะเดียวกันชื่อหนังดังกล่าวยังสามารถมองในลักษณะ Dead และ Night ดังที่ผมแยกแยะให้เห็นว่าทุกเรื่องราวต้องมีคนตาย และเหตุการณ์สำคัญๆในช่วงเวลายามค่ำคืน

ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้ชมสมัยนั้นอาจตีความชื่อหนัง Dead of Night คือความทรงจำอันเลวร้ายในทุกๆค่ำคืน ยิ่งดึกดื่นยิ่งเงียบสงัด เพราะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกคนต้องคอยเงี่ยหูฟัง สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นเมื่อไหร่ต้องรีบเร่งหลบหนีเข้าหลุมหลบภัย ไม่เช่นนั้นหายนะอาจมาเยือนโดยไม่รู้ตัว … ซึ่งทั้ง 5-6 เรื่องราว ล้วนมีความสัมพันธ์กับสงคราม สะท้อนผลกระทบที่อาจบังเกิดกับบุคคลผู้พานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว

  • ความสัมพันธ์กับสงครามโลก
    • The Hearse Driver นำเสนออาการ ‘Shell Shock’ หลังเอาตัวรอดชีวิตจากเหตุการณ์เฉียดตาย
    • The Christmas Party เด็กๆแม้พานผ่านช่วงเวลาน่าสะพรึงกลัว (เห็นผี/ภาพหลอน) แต่ก็ไม่เก็บนำมาฝังใจ ประเดี๋ยวก็ลืมเลือน แค่เพียงความทรงจำ/ฝันร้ายเท่านั้นเอง
    • The Haunted Mirror ความหวาดระแวงที่จะถูกทรยศหักหลัง (โดยเฉพาะชาวยิว)
    • The Golfer’s Story สับสนในอัตลักษณ์ของตนเอง
    • The Ventriloquist’s Dummy ความขัดแย้งของจิตใต้สำนึก
    • เรื่องราวหลัก ทุกสิ่งอย่างราวกับฝันร้าย

และการนำเสนอแบบ Möbius strip เพื่อสะท้อนถึงค่ำคืนของสงคราม ที่ยังคงเวียนวนอยู่อย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกวี่ทุกวัน ไม่รู้เมื่อไหร่(สงคราม)จะจบสิ้นสุดลง … แต่วันที่หนังออกฉาย 9 กันยายน 1945 สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการได้เพียง 7 วันเท่านั้น (2 กันยายน 1945)


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง นิตยสาร Kinematograph Weekly บอกกล่าวแค่เพียง ‘perform well’ และติด Top 10 ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษทำเงินสูงสุดแห่งปี

ว่ากันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics) Fred Hoyle, Hermann Bondi และ Thomas Gold ครุ่นคิดทฤษฎี ‘Steady-state model’ จักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ทุกอย่างว่ายเวียนวนหวนกลับมาหาจุดเริ่มต้น

Universe might be just like Dead of Night, where you can come in at any time. Perhaps the universe had no beginning and will have no end!

Thomas Gold

การจะหารับชม Dead of Night (1945) ให้สังเกตความยาวของหนังให้ดีๆ ต้นฉบับแท้จริง ‘UK version’ ระยะเวลา 105 นาที แต่ฉบับฉายสหรัฐอเมริกา ‘US version’ จะมีตัดออกสองเรื่อง (The Christmas Party และ The Golfing Story) เหลือแค่ 77 นาที

ฟีล์ม Negative ต้นฉบับของหนัง สูญหายไปในเหตุการณ์ไฟไหม้ Ealing Studios เมื่อปี 1954 แต่ก็ยังมีฟีล์มที่นำออกฉายอยู่มากมาย คุณภาพโดยรวมค่อนข้างย่ำแย่เมื่อกลายเป็น VHS และฉายทางโทรทัศน์, ได้รับการบูรณะโดย Studiocanal เมื่อปี 2014 และ ‘digital restoreation’ คุณภาพ 4K โดย Kino Lorber เมื่อปี 2019 (แต่ก็ยังติดอีกปัญหาคือเสียงที่เป็น mono ไร้หนทางแก้ไขจริงๆ)

โดยส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ค่อยชอบ ‘anthology film’ เพราะมันเหมือนการวัดดวงของผู้สร้าง สมมติมี 3 เรื่องย่อย หนี่งห่วย สองกลางๆ สามยอดเยี่ยม แล้วผมจะให้คะแนนภาพรวมของหนังยังละเนี่ย แต่นั่นไม่ใช่ในกรณีของ Dead of Night เพราะเมื่อทั้ง 5 เรื่องได้รับการขมวดปมไคลน์แม็กซ์ เราสามารถมองภาพรวมเป็นอันหนี่งเดียวอันเดียวกันทั้งหมด! … เหมือนกับ Mulholland Drive (2001) ที่เปิดประเด็นค้างๆคาๆไว้มากมาย แต่เมื่อตัวละครตื่นขี้นจากความฝัน ทุกเรื่องราวทั้งหมดนั้นสามารถขมวดปม มุ่งสู่บทสรุปได้อย่างสมเหตุสมผล

ใครเป็นแฟนหนัง Horror แล้วยังไม่ได้รับชม Dead of Night บอกเลยว่าเสียชาติเกิดอย่างแน่นอน, และแนะนำโดยเฉพาะกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา มีอะไรๆให้ครุ่นคิดจิตวิเคราะห์อย่างสนุกสนาน

จัดเรต 15+ กับความโคตรหลอกหลอนสั่นสะท้านถึงทรวงใน

คำโปรย | Dead of Night คือภาพยนตร์ที่ใช้ประโยชน์จาก ‘Anthology film’ โคตรหลอกหลอน สั่นสะท้าน มาสเตอร์พีซ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | โคตรหลอกหลอน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: