Death Note

Death Note (2006-2007) Anime Series : Tetsurō Araki 

จากมังงะชื่อดัง กลายเป็นอนิเมชั่นซีรีย์ความยาว 37 ตอน และดัดเป็นภาพยนตร์/ซีรีย์คนแสดงนับครั้งไม่ถ้วน, ไลท์ ยางามิ นักเรียน ม.ปลาย ได้พบสมุดโน้ตกระชากวิญญาณ ที่เมื่อเขียนชื่อใครก็ตามลงไป เขาผู้นั้นจะเสียชีวิต, เรื่องราวตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรม คุณค่าของคน และการตัดสินผู้อื่น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมจะขอเขียนรีวิวเรื่องนี้ ในเชิงทดลอง วิเคราะห์แนวคิดทั้งหมดนะครับ เพราะนี่เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่สามารถหาอ่านบทวิจารณ์ได้เยอะแยะมากมาย เขียนไปรังแต่จะซ้ำรอยคนอื่น

Death Note สมุดมรณะ, สมุดแห่งความตาย จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นปริศนา รู้แค่ว่าเป็นหนังสือของยมทูตผู้เบื่อหน่าย วันๆไม่รู้ทำอะไรก็เลยแกล้งทำหนังสือตกบนโลกมนุษย์ แล้วให้คนที่ค้นพบได้กลายเป็นยมทูต มันคงน่าสนุกไม่น้อย

ใน Death Note มีกฎ/คำแนะนำที่เขียนไว้หลายข้อ (ที่จะค่อยๆถูกเปิดเผยออก) เพื่อเป็นการชี้ชักนำให้ผู้ใช้ ให้สามารถเข้าใจวิธีการใช้งานหนังสือเล่มนี้ได้ถูกต้อง, กฎที่มีใน Death Note มีเป็นร้อยๆข้อเลย ถ้าใครอยากรู้ทั้งหมดก็ตามไปอ่านในลิ้งค์นะครับ

กฎทั้งหมดของ Death Note: http://www.kartoon-discovery.com/focus/deathnote/focus10_page2.php

กฎหลักของ Death Note คือ 5 ข้อแรก
– คนที่ถูกเขียนชื่อลงในบันทึกนี้จะต้องตาย
– ถ้าจำหน้าของคนที่ถูกเขียนชื่อไม่ได้จะไม่มีผลใดๆ จึงไม่มีผลต่อคนที่ชื่อหรือนามสกุล เหมือนกัน
– หากเขียนสาเหตุการตายหลังชื่อภายใน 40 วินาที ตามเวลาโลกมนุษย์ ก็จะเป็นไปตามนั้น
– ถ้าไม่เขียนสาเหตุการตายจะกลายเป็นการตายเพราะหัวใจวายทั้งหมด
– หากเขียนสาเหตุการตาย จะมีเวลาให้อีก 6 นาที 40 วินาที เพื่อลงรายละเอียดสภาพการตาย

สำหรับกฎข้ออื่นๆ ผมขอจำแนก แยกเป็นหมวดหมู่ ดังนี้
– กฎทั่วไปที่อธิบายความสามารถของหนังสือ อาทิ
> ทันทีที่โน้ตสัมผัสกับโลกมนุษย์ บันทึกก็กลายเป็นวัตถุของโลกมนุษย์
> เดธโน้ตที่ถูกฉีกออกมา จะทั้งหน้า หรือ แค่ชิ้นส่วนเล็กๆก็มีคุณสมบัติใช้ได้เช่นกัน
> เดธโน้ตจะสามารถอยู่ในโลกมนุษย์ได้นานเป็นเวลาเดียวกันแค่ 6 เล่มเท่านั้น
ฯลฯ

– กฎของสิ่งที่เขียน วิธีการเขียน
> หากดูแล้วเป็นตัวหนังสือแล้วละก็ จะใช้อะไรเขียนลงในเดธโน้ตโดยตรงก็ได้ จะเป็นเครื่องสำอางค์ หรือ เลือด ก็ได้ไม่มีปัญหา
> ไม่ว่าจะเขียนชื่อลงไปมากเท่าไหร่ หน้ากระดาษในเดธโน้ตก็ไม่มีวันหมด
> ถึงจะใช้ยางลบหรือน้ำยาลบคำผิดลบชื่อ หรือตัวอักษรที่เขียนลงบนเดธโน้ตไป ก็ไม่มีความหมาย
ฯลฯ

– กฎที่พูดถึง การตาย/วิธีตาย
> สภาพการตายที่เขียนลงในเดธโน้ต ต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในทางกายภาพ กับมนุษย์ผู้นั้น หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้นั้นแล้วไม่ผิดแปลกอะไร
> ขอบเขตของรายละเอียดสภาพการตายที่สามารถเป็นไปได้นั้นต้องตรวจสอบและพิสูจน์เอาเอง
> ในกรณีที่ระบุลงไปแค่ว่า “เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ” แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุการตาย หลังจากที่เขียนเสร็จ 6 นาที 40 วินาที เหยื่อจะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตภายในระยะเวลาอันสั้นสุด
> ในกรณีที่เขียนว่าตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หากระบุเพียงเวลาตายโดยไม่กำหนดโรค เหยื่อจะล้มป่วยจนถึงแก่ความตายในเวลาที่กำหนดด้วยโรคที่เหมาะสม ทว่า เวลาเสียชีวิตที่เดธโน้ตสามารถบังคับได้ มีกำหนดอยู่ที่ภายในเวลา 23 ในตามเวลาโลกมนุษย์
ฯลฯ

– กฎที่พูดถึงสิทธิ์ หน้าที่ของยมทูต เช่น
> ยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ตไม่มีสิทธิ์ช่วยเหลือหรือขัดขวางความตายทีกำหนดไว้แล้วในบันทึกนี้
> ยมทูตไม่มีหน้าที่อธิบายวิธีใช้เดธโน้ตหรือกฎที่จะใช้กับผู้ครองเดธโน้ตนี้ใดๆทั้งสิ้น
> ยมทูตสามารถยืดอายุขัยให้ตัวเองได้ด้วยการเขียนชื่อมนุษย์ลงในเดธโน้ต แต่มนุษย์ทำเช่นนั้นไม่ได้
ฯลฯ

– กฎเกี่ยวกับเจ้าของหนังสือ
> ผู้ใช้บันทึกเล่มนี้ จะไม่ได้ไปทั้งสวรรค์และนรก
> ผู้ครอบครองบันทึกเล่มนี้ จะสามารถมองเห็นและได้ยินยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ต
> ผู้ครอบครองเดธโน้ต จะถูกยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ตติดตามไปจนกว่าจะตาย
ฯลฯ

– กฎเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในหนังสือ/การยืมคืน/เปลี่ยนแปลงเจ้าของ เช่น
> ในกรณีที่ทำเดธโน้ตหายหรือถูกขโมยไป หากนำกลับคืนมาไม่ได้ภายในเวลา 490 วัน ก็จะสูญเสียสิทธิความเป็นเจ้าของไป
> คุณสามารถให้คนอื่นยืมเดธโน้ตไปได้ โดยสิทธิในความเป็นเจ้าของยังคงอยู่ คนที่ยืมไปจะให้คนอื่นยืมต่อก็ได้
> ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของเดธโน้ตเสียชีวิตในขณะที่เดธโน้ตถูกยืมไป สิทธิในความเป็นเจ้าของจะถูกโอนไปยังผู้ที่ครอบครองมันอยู่ในเวลานั้น
ฯลฯ

บรรดากฎทั้งหลายที่ผมยกมา แยกมาให้เห็น แล้วจัดเป็นหมวดหมู่นี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นๆ ว่านี่มันก็คล้ายกับกฎหมาย ที่เป็นข้อกำหนดของบางสิ่งบางอย่าง นี่แสดงให้เห็นว่า การจะแค่เขียนชื่อแล้วทำให้ใครสักคนต้องตาย กลับมีวิธีการ ข้อจำกัดมากมาย ไม่ใช่แค่เขียนชื่อแล้วตาย นั่นเพราะชีวิตมีกฎเกณฑ์และวิถี ที่ต้องดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ตามกฎสากลของจักรวาล (ตามจินตนาการของผู้สร้าง)

เราสามารถมอง Death Note แทนได้ด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ในหนัง/อนิเมะ จะมีการพูดถึงพระเจ้า หรือ คิระ (Kira มาจากคำว่า Killer คือการฆ่า ในที่นี้เปรียบกับผู้พิพากษา ผู้ตัดสินชีวิต เป็น/ตาย), ผมเปรียบ Death Note กับพลังอำนาจ อาวุธ หรือเครื่องจักร ที่มีหน้าที่ สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นได้, ผู้ครอบครอง Death Note จักคือ ผู้มีอำนาจ สูงศักดิ์ในยศฐานะ ตำแหน่ง ชื่อเสียง หรือเป็นคนที่สามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้, การใช้ Death Note จึงคือ การใช้พลัง ใช้อำนาจ เพื่อที่จะการควบคุม ครอบงำ สั่งการ ให้สิ่งที่ตนต้องการ บังเกิดขึ้นได้ (ไม่ว่าจะโดยวิธีใด)

ถึง Death Note จะมีกฎวิธีการใช้มากมาย แต่หาได้มีข้อห้ามในการใช้ อาทิ ห้ามเขียนชื่อญาติพี่น้อง, ผู้มีบุญคุณ ฯ นั่นเพราะกฎของ Death Note ไม่ได้ครอบคลุมถึงศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรมของผู้ใช้ และการตายไม่ใช่เรื่องของจิตสำนึก ถูกต้องไม่ถูกต้อง เหมาะสมไม่เหมาะสม แต่เป็นเรื่องของชีวิต มีเกิดก็ต้องมีตายเป็นสัจธรรม, ผมขอเปรียบ Death Note กับมีดดาบ ซึ่งมี 2 คมเสมอ หนึ่งคมคือใช้เพื่อฆ่าฟัน ทำลายล้าง อีกคมหนึ่งสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่าง ตัดต้นไม้ แล่เนื้อ ทำอาหาร ฯ หนึ่งคือเพื่อทำลาย สองคือเพื่อสร้าง ดังสำนวนที่ว่า ‘ดาบสองคม’

การมีอยู่ของ Death Note ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หรือสิ่งผิด เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ (จากกฎการสร้างของผู้เขียน) ในโลกที่มีหนังสือมรณะเล่มนี้ ก็เปรียบเสมือนนิยาย/ไดอารี่ ที่ถ้าผู้เขียนอยากให้ใคร ตัวละครไหนตาย ก็จักเขียนชื่อ คำอธิบาย ภาพจินตนาการ และวิธีการตายลงไป เท่านี้คนๆนั้น ตัวอักษรที่รวมกลายเป็นชื่อ ก็จักสิ้นสภาพการมีตัวตนลง, มันอยู่ที่ผู้เขียน เจ้าของ คนที่จดบันทึก จะมีความคิดอ่าน จิตสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี ความต้องการเช่นใด ก็เขียนบรรยายใส่ลงไป, ผมเปรียบการมีอยู่ของ Death Note เหมือนภัยธรรมชาติ อันเกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้เป็นการทำลายล้าง ซึ่งถ้ามีใครสักคนที่เป็นผู้ครอบครอง และมีอำนาจนี้ จักถือว่ามีสถานะเสมือน เทียบเท่าพระเจ้า ที่ผู้ควบคุมชีวิตของมนุษย์

มนุษย์เป็นผู้งมงายในเรื่องเหนือธรรมชาติ เมื่อเห็นอะไรที่ผิดแปลกจากปกติก็จักยกย่อง นับถือ เทิดทูน หลงใหล จากความเชื่อกลายเป็นลัทธิกลายเป็นศาสนา, นี่ทำให้ผมนึกหวนถึง ‘ศาสนา’ เกิดขึ้นมาได้ยังไง? … ตามตำนานเล่าว่า ศาสนาเกิดจาก ‘ความเชื่อ’ ที่ตกทอดยาวนานสืบต่อมา มนุษย์ยุคหิน ได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เกิดความกลัว ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมโนคิดขึ้นว่า พระเจ้าผู้สร้างแสดงความเกรี้ยวกราดโกรธา เพื่อเป็นการขอขมา ให้พระเจ้ายกโทษ และยุติความน่าสะพึงกลัวนี้ จึงเกิดเป็นประเพณี วิถี (เช่น บูชายันต์, สวดมนต์อ้อนวอน) ทำสืบต่อกันเรื่อยมา กลายเป็นเรื่องเล่า กลายเป็นตำนาน จนสุดท้ายกลายเป็นศาสนา, ไม่รู้กี่หมื่นกี่พันปี กว่าที่มนุษย์จะเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ หาคำตอบให้กับความเชื่อหรือสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ แต่มันยังอีกเยอะนักที่เรายังไม่รู้ มองไม่เห็น หาคำตอบไม่ได้, ‘ความกลัว’ จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้มนุษย์เกิด ‘ความเชื่อ’

การมีตัวตนของ L คือเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับเรื่องราว, ด้วยความที่ L สามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปแบบ วิธีการ เป็นสูตร เป็นกราฟ เป็นสมการ (อัจฉริยะมากๆ) นี่ต้องเกิดจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ถ้าภัยธรรมชาติ จะไม่สามารถคำนวณ หรือพยากรณ์การเกิดขึ้นได้ชัดเจน)

มนุษย์มีเกิดและมีตายเป็นสัจธรรม มีคนดีก็ต้องมีคนชั่ว นี่เป็นสัจธรรมเช่นกัน แต่การที่คนๆหนึ่งไปเบียดเบียน ทำร้าย หรือฆ่าอีกคนหนึ่งให้ตาย นี่ไม่ใช่สัจธรรม เรียกว่า ‘การกระทำ’ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสามัญ ฆ่า/ข่มขืน/ชิงทรัพย์ หรือวิธีอสามัญ เช่น สมุดมรณะ, L เป็นคนที่มองว่า อะไรที่ผิดธรรมชาติ และมีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม, เพราะมนุษย์มีทั้งที่ดีและไม่ดี จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินคนอื่น ด้วยบรรทัดฐานของตนเองได้ (แม้พระเจ้าก็อาจมีทั้งดีและไม่ดี แต่นั่นเป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์) ฟังดูอาจขัดแย้ง เพราะ L เอง ก็ถือเป็นมนุษย์ แต่จะไปตัดสิน Kira ได้ยังไง, ผมคิดว่าเพราะ L รู้อยู่แล้วว่า Kira คือมนุษย์ กับมนุษย์ด้วยกัน ย่อมมีสิทธิ์ตัดสินในวิธีสามัญ ไม่ใช่วิธีอสามัญ

เมื่อ L ได้รู้การมีตัวตนของ Death Note เขาไม่ได้แสดงความรังเกียจหรือหวาดกลัว (แค่คิดไม่ถึงว่าจักรวาลจะมีสิ่งของลักษณะนี้อยู่) นี่แสดงถึว่า เขามองผู้ใช้ และการมีตัวตนของ Kira เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวิถีธรรมชาติของมนุษย์ เป็นภัยขั้นรุนแรงต่อมนุษย์ จักคือฆาตกรโรคจิตที่น่ากลัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกควบคุมตัว จองจำ ตัดสินโทษ หรือประหารชีวิต

สำหรับไลท์ ยางามิ นักเรียนกฎหมายที่มีความเฉลียวฉลาด (ระดับอัจฉริยะ) และมีความคับข้องใจในระบบของโลกที่เป็นอยู่, เมื่อเขาได้ครอบครอง Death Note มันคือการค้นพบวิธีจัดการกับความถูก-ผิด ความยุติธรรม ที่รวดเร็วทันใจ สนองความต้องการของตนเป็นที่สุด, ผมคิดว่าไลท์รู้ตัวเอง นับตั้งแต่ได้ครอบครองสมุดมรณะเล่มนี้ ว่าตนไม่มีทางได้ไปสวรรค์หรือนรก ไม่ใช่คนดี ต้องเห็นแก่ตัว แต่เพื่ออุดมการณ์ที่สูงสุด เขาเลยยอมแลก(เกือบ)ทุกสิ่งทุกอย่าง ในสิ่งที่จักทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น

การกระทำของไลท์เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า? นี่น่าคิดนะครับ เพราะไลท์ทำในสิ่งที่ตัวเขาเชื่อว่าถูก จุดประสงค์คือต้องการสร้างโลก Utopia ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนกลัวจะกระทำความผิด เพราะถ้าถูกจับ ติดคุกก็จะถูกคิระฆ่าตายทันที, ถ้าคุณศึกษาและเข้าใจนิยามของโลก Utopia อย่างลึกซึ้ง จะพบว่า มันไม่เป็นไปไม่ได้หรอกที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติ เพราะจิตใจมนุษย์ทุกคน มีส่วนที่เป็น ‘ด้านมืด’ อยู่ทุกคน ถ้าต้องอาศัยอยู่ในโลกที่ ‘เก็บกด’ ด้านมืดนั้นแล้ว เวลาที่มันระเบิดออกมา จาก Utopia จะกลายเป็น Distopia ไปโดยทันที

ผู้ชมทั่วไปคงรู้สึกคล้ายๆกันคือ ไลท์มันไม่ใช่คนดีหรอก ผมถือว่าไลท์ เป็นคนตรรกะเพี้ยน มองใน 3 ส่วน
– ศีลธรรม, การฆ่าคน ถือเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมอยู่แล้วไม่ว่าจะศาสนาไหน ความเชื่ออะไร, การฆ่าไม่ได้จำเป็นว่าต้องลงมือด้วยตนเอง จากการยืมมือ ไหว้วาน หรือโดยทางอ้อม อย่าง Death Note ถือว่าเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการฆ่าคน ดังนั้นไลท์ ผิดศีลธรรมเต็มๆ

– จริยธรรม, ไลท์ถือว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก แม้จิตใจจะมีความตั้งใจดี แต่แสดงพฤติกรรมต่อหน้าผู้คนอย่างหนึ่ง แล้วลับหลังกลับแสดงออกอย่างหนึ่ง

– มโนธรรม, ในจิตใจของไลท์ แม้จะมีความตั้งใจดี แต่ด้วยวิธีการฆ่าคน ถือเป็นสิ่งที่สังคมอารยะ จิตใจของคนยอมรับไม่ได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง จากอุดมการณ์แปลสภาพกลายเป็นอะไรไม่รู้ (คนที่หมกมุ่นอยู่กับอะไรสักอย่าง วันหนึ่งก็จะลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงที่ตนทำสิ่งนั้น)

อุดมการณ์ก็เหมือนงานศิลปะ ถ้าจะให้มันยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ควรที่จะให้มีขอบเขตใดๆเกิดขึ้น, แต่ใช่ว่าทุกงานศิลปะจะเป็นที่ยอมรับกับบางสังคม ไม่ใช่ทุกประเทศในโลกที่ยอมรับศิลปะเปลือยแบบเปิดเผย เช่นกันกับอุดมการณ์ของไลท์ ฟังดูมันอาจยิ่งใหญ่ แต่เขาเลือกทำให้โลกหมุนรอบตามเขา และยกตัวเองเป็นพระเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทะยานขึ้นสูงแล้วตกลงต่ำที่สุด ณ เวลาที่พ่ายแพ้ มันจึงไม่มีใครสามารถยอมรับในอุดมการณ์ ตัวตนของตัวเขาได้อีก

ตอนจบของมังงะและอนิเมะ กับฉากในตำนาน ท่าไลท์ว่ายน้ำ นี่เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆนะครับ, ผมมองว่าเป็นการตะเกียกตะกาย ของเปรตตนหนึ่งที่กำลังถูกขุมนรกดึงดูดลงไป พยายามดิ้นเอาตัวรอดขึ้นมา แต่กลับไม่มีใครสนใจที่ช่วยเหลือ หรือเห็นใจ (ส่วนใหญ่สมน้ำหน้า) ปล่อยให้ถูกธรณีสูบ ดับดิ้นไปเช่นนั้นแล เป็นกรรมสนองกรรมโดยแท้

ความตั้งใจของผู้สร้าง Tsugumi Ohba ต้องการจบ Death Note ที่ ไลท์ vs L (แล้ว L ชนะ) แต่เพราะกองบรรณาธิการของ Jump วิงวอน อ้อนขอให้ยืดเรื่องราวออกไป เพราะ Death Note กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง รีบจบไปรังแต่จะเสียโอกาส, Ohba ยอมยืดไปอีกกว่า 50 ตอน ใส่เมลโล่และเนียร์เข้ามาแทน แต่ก็ไม่สามารถสร้างเรื่องราวให้มีความน่าสนใจกับผู้อ่านได้เท่าไหร่ สุดท้ายจึงขอบรรณาธิการ จบเรื่องในที่สุด

ว่าไปผมก็ดู Death Note มาก็หลายฉบับเหมือนกัน ทั้งหมดที่เห็นสร้าง ณ ขณะนี้ ประกอบด้วย
– ฉบับอนิเมชั่นซีรีย์ ความยาว 37 ตอน ออกฉาย 3 ตุลาคม 2006 – 26 มิถุนายน 2007
– ฉบับภาพยนตร์คนแสดง
> Death Note (2006) กำกับโดย Shūsuke Kaneko ออกฉาย 17 มิถุนายน 2006
> Death Note 2: The Last Name (2006) ออกฉาย 28 ตุลาคม 2006
> L: Change the World (2008) ออกฉาย 9 กุมภาพันธ์ 2008
> Death Note: Light Up the New World (2016) ออกฉาย 29 ตุลาคม 2016
> Death Note (2017) ฉบับของอเมริกา ยังไม่มีกำหนดออกฉาย
– ฉบับฉายทางโทรทัศน์
> Death Note (2015) จำนวน 11 ตอน ออกฉาย 5 กรกฎาคม – 13 กันยายน 2015
> Death Note: New Generation (2016) เป็น mini-series ออกฉาย 16 กันยายน – 30 กันยายน 2016
> ฉบับละครเพลง
– Death Note: The Musical (2015) รอบปฐมทัศน์วันที่ 6 เมษายน 2015

ใครเป็นแฟนเดนตายของ Death Note คงดูไม่เบื่อเลย, แต่เท่าที่ดูมาหลายฉบับ สนุกที่สุดคงเป็นต้นฉบับมังงะ แต่งโดย Tsugumi Ohba วาดภาพโดย Takeshi Obata ตีพิมพ์ลงใน Weekly Shōnen Jump ระหว่าง 1 ธันวาคม 2003 – 15 พฤษภาคม 2006 รวมเล่มได้ทั้งหมด 12+1 เล่ม มียอดขาย (ถึงปี 2015) 30 ล้านเล่ม

ส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบเรื่องราวลักษณะนี้เท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านรุนแรงเหมือน Battle Royale (2000) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง, Death Note แฝงความคิดอันน่าทึ่ง เกี่ยวกับอำนาจและวิธีการใช้ ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักไว้ในส่วนลึกของหัวใจ

ผมรู้สึกทึ่งและชื่นชมผู้แต่ง Tsugumi Ohba ที่สามารถสร้างเรื่องราว ผูกเรื่องให้ซับซ้อนขนาดนี้ แฝงแนวคิด ปรัชญา จิตวิทยา ได้อย่างน่าทึ่ง และสนุกสนาน, ผมทันตอนมังงะตีพิมพ์นะครับ แต่ตอนนั้นยังไม่เริ่มอ่านมังงะแบบจริงจัง เลยพลาดโอกาสได้พบความตื่นเต้นในแต่ละสัปดาห์ที่ตีพิมพ์ เรื่องราวที่สุดพลิกผัน ไม่มีทางคาดเดาได้ว่าตอนต่อไปจะเป็นยังไง นี่คือมังงะที่สนุกที่สุดเรื่องหนึ่งในศตวรรษนั้นเลย

ถ้าคุณเป็นคนชอบเรื่องราวแนวจิตวิทยา ปรัชญา นักสืบ เรื่องเหนือธรรมชาติ แฝงแนวคิดการใช้ชีวิต ความถูกต้องเหมาะสมถูกผิด และการตัดสินคน ลองหาฉบับไหนมาดูก็ได้ ตามความชื่นชอบส่วนตัวเลย

จัดเรต 15+ กับแนวคิด และความรุนแรงหลายๆอย่างๆ

TAGLINES | “Death Note เป็นเรื่องราวที่แฝงความคิดอันน่าทึ่ง เกี่ยวกับอำนาจและวิธีการใช้ ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักไว้ในส่วนลึกของหัวใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: