Death of a Salesman

Death of a Salesman (1951) hollywood : László Benedek ♥♥♥♥♡

ดัดแปลงจากบทละครเวทีที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20, ครอบครัวหนึ่ง พ่อ (รับบทโดย Fredric March) ใช้ชีวิตตามความฝัน American Dream ทำงานเป็นเซลล์แมนหวังที่จะก้าวหน้าร่ำรวยประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตจริงกลับล้มเหลวทุกสิ่งอย่าง ทั้งอุดมการณ์ การงาน และครอบครัว, ว่าไปหนังควรใช้ชื่อ ‘Death of an American Dream’ จะตรงตัวกว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

อาชีพ Salesman ในหนังเรื่องนี้อุปมาถึง ‘คนขายฝัน’ เป็นตัวแทนของชาวอเมริกัน ที่ใช้ชีวิตตั้งอยู่บนอุดมการณ์พื้นฐาน American Dream

มนุษย์ทุกคน(ควรจะต้อง)มีอุดมการณ์ หรือเป้าหมายของชีวิต ผมไม่ขอพูดถึงเรื่องของปลายทาง แต่จะกล่าวถึงลักษณะของคนที่ก้าวเดินสู่จุดหมาย
1) คนที่มองเห็นว่าทำได้ แล้วทำสำเร็จ
2) คนที่มองเห็นว่าทำได้ แต่ยอมแพ้หรือทำไม่สำเร็จ
3) คนที่มองไม่เห็นว่าทำได้ แต่ยังทำต่อไป
4) คนที่มองไม่เห็นว่าทำได้ ยอมแพ้ทำไม่สำเร็จ

ในบรรดาคน 4 ประเภทที่ยกมานี้ ประเภทแรกคงไม่มีอะไรต้องพูดถึง, ประเภทสองเรียกว่า บุญมีแต่กรรมบัง, ประเภทสี่มองได้ทั้งคนขี้แพ้/ยอมรับความจริง, หนังเรื่องนี้นำเสนอคนประเภทสาม เพ้อฝันถึงความสำเร็จทั้งที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ ดื้อด้านหัวรั้นลวงหลอกตนเอง คิดว่าสักวันความสำเร็จนั้นจะต้องมาถึง, จริงๆเราสามารถมองคนประเภทนี้ได้ทั้ง ดื้อด้านไร้สาระและน่านับถือในความไม่ยอมแพ้ แต่ในหนังจะเห็นตัวละครออกไปทางแบบแรกชัดกว่า

Death of a Salesman ดัดแปลงจากบทละครเวที เขียนโดย Arthur Miller ในปี 1949 เปิดการแสดงครั้งแรกที่ Broadway โดยผู้กำกับ Elia Kazan จำนวน 742 รอบการแสดง ได้รางวัล Pulitzer Prize for Drama กวาดเรียบ 5 รางวัล Tony Award รวมถึง Best Play แห่งปี

László Benedek (1905 – 1992) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Hungarian เป็นชาว Jews อพยพย้ายมาอยู่ Hollywood ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมไม่แพ้กัน คือ The Wild One (1953)

การดัดแปลงบทละครเวทีเป็นภาพยนตร์นี้ Benedek ได้ทำการแก้ไขปรับเปลี่ยน direction การเล่าเรื่องพอสมควร รวมถึงตัดฉากแรกที่เป็นการแนะนำอาชีพของ Salesman ออกไปด้วย ทำให้เจ้าของบทละคร Arthur Miller แสดงความเกรี้ยวกราดไม่พอใจอย่างมาก ‘Why the hell did you make the picture if you’re so ashamed of it?’ ว่ากันว่าเหตุผลที่ผู้กำกับต้องตัดออกนั้น เพราะต้องการให้ผู้ชมมองอาชีพเซลล์แมนเหมือนคนทั่วๆไป ไม่ได้มีคุณค่า ทรงเกียรติอะไรอย่างที่ Miller นำเสนอในละครเวที, อีกเหตุผลหนึ่ง เพราะฉากนั้นทำให้ดูเหมือนหนัง Anti-American เกินไป (อยากรู้จริงๆว่าเป็นยังไง)

ฉากแรกของหนัง ตัวละคร Willy Loman (รับบท Fredric March) กำลังขับรถกลับบ้านตอนกลางคืน ภาพ Close-Up ใบหน้า เห็นความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ไม่ใช่แค่ทางกายแต่ยังทางใจและจิตวิญญาณ ตัวละครนี้ต้องมีปัญหาอะไรแน่ๆ, ตรงกันข้ามกับช่วงท้ายตอนหนังใกล้จบ หนึ่งวันถัดมา Willy ขับรถอยู่หลังพวงมาลัยอีกครั้ง แต่ครานี้ยิ้มแป้นมีความสุข มารู้ที่หลังว่านั่นคือภาพสุดท้ายของตัวละครนี้ก่อนเสียชีวิต (ไม่มีที่ไหนบอกไว้ แต่น่าจะประสบอุบัติเหตุ)

Fredric March กับบทบาทที่อาจถือได้ว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต สีหน้าท่าทาง โดยเฉพาะสายตาในการรับบท Willy มีความหลอนลุ่มลึก ทำให้ผู้ชมเชื่อในความ ‘หลงตัวเอง’ เข้าใจผิดของตัวละครนี้ได้อย่างดี, March ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor กับหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ แต่ที่ไม่ได้รางวัลเพราะเขาได้มาแล้วถึง 2 ครั้ง จาก Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1931) และ The Best Years of Our Lives (1946) ถ้าได้อีกครั้งคง…

Mildred Dunnock รับบท Linda Loman ภรรยาของ Willy ที่ทุ่มเทความรักให้สามีมาก เธอรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นและยอมที่จะเล่นบทบาท ทำตามความต้องการของสามี (ทั้งๆที่รู้ว่าเขาผิด) แถมกลับตำหนิลูกชายที่ไม่ยอมดูแลเอาใจใส่พ่อ, ตัวละครนี้มีความหลงผิดไม่ต่างอะไรกับ Willy แต่เพราะเธอเป็นผู้หญิงอยู่กับบ้าน มันเลยไม่ดูรุนแรงเท่า

Dunnock เป็นนักแสดงหญิงสมทบมากฝีมือ ชื่นชอบการแสดงละครเวที และมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์เสียส่วนใหญ่ เคยเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress 2 ครั้ง จากหนังเรื่องนี้และBaby Doll (1956)

Kevin McCarthy รับบท Biff Loman ลูกชายของ Willy ตอนแรกดูเหมือนมีปมปัญหาอะไรบางอย่างกับพ่อ ทำให้ดูเป็นคนอึดอัดอั้น คับแค้นใจยังไงชอบกล อยากที่จะทำอะไรสักอย่างแต่ไม่สามารถทำได้ เมื่อความจริงเปิดเผยจะรู้ว่า Biff มีความต้องการอย่างมากที่จะออกไปจากเงาที่พ่อครอบงำเขาไว้

McCarthy ตอนรับบทนี้เป็นหน้าใหม่ในวงการ ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor แต่หลังจากนั้นในชีวิตก็ไม่เคยที่จะมีการแสดงไหนยอดเยี่ยมกว่านี้, ผลงานดังๆที่อาจทำให้คุณเคยเห็นหน้าเขา อาทิ Invasion of the Body Snatchers (1956), The Twilight Zone (1960) ฯ

ถ่ายภาพโดย Franz Planer ตากล้องยอดฝีมือเป็นชาว Jews เกิดที่ Karlsbad ถือสัญชาติ Austria-Hungary (ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐ Czech), มีผลงานดัง อาทิ Letter from an Unknown Woman (1948), Roman Holiday (1953), The Big Country (1958), Breakfast at Tiffany’s (1961) ฯ

หนังมีการใช้ Flashbacks ย้อนอดีตในการนำเสนอความทรงจำของ Willy โดยการผสมผสานเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน (reality) ซึ่งภาพลวงตานี้ ไม่เพียงแค่เล่าอดีต แต่ยังสะท้อนสิ่งที่ขาดหายไปในปัจจุบัน (หวนระลึกถึงอดีต ที่ถ้าทำแบบนั้นคงประสบความสำเร็จไปนานแล้ว), การเห็นภาพหลอน/พูดกับตัวเอง มองได้อีกอย่างคือ การหลีกหนีโลก ไม่ยอมรับความจริง (ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการโกหกหลอกลวงตนเอง)

ความโดดเด่นของงานภาพคือการจัดแสงเงา ที่ถ้าเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันจะมีความมืดหม่นกว่าปกติ เมื่อใดที่ Flashback ภาพย้อนอดีตปรากฎขึ้นมา แสงจะสว่างขึ้นโดยรอบ (ราวกับเป็นกลางวัน) ซึ่งจะมี 2-3 ครั้ง ที่ปัจจุบันและภาพอดีตย้อนหลังเกิดขึ้นพร้อมกันในช็อตเดียว ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่โดยใช้ความสว่างของแสง ให้ดูรู้เลยว่าตรงไหนมืดตรงไหนสว่าง ตรงไหนปัจจุบันตรงไหนคืออดีต

ผมค่อนข้างทึ่งกับการถ่ายภาพแบบนี้อย่างมาก ลึกล้ำแบบจินตนาการไม่ออกเลยว่า ละครเวทีมันจะสามารถทำแบบนี้ออกมาได้ยังไง, คือหนังมันยังมีการตัดต่อ เล่นมุมกล้องที่จำกัดการรับรู้ มองเห็นของผู้ชมได้ แต่กับละครเวที ต้องทำอย่างไรให้เห็นปัจจุบัน-อดีต เกิดขึ้นพร้อมกัน!

ช็อตไฮไลท์คือช่วงท้ายขณะ Willy สติแตกกำลังขับรถมองออกไปด้านหน้า ภาพแสง/หลอดไฟยามค่ำคืน ถูกปรับโฟกัสให้เห็นเหมือนดาวดาราเจิดจรัสจร้า จากนั้นค่อยๆเฟดหายลับไป, นี่คือขณะที่ Willy กำลังจะตาย ไม่ใช่ว่าขึ้นสวรรค์อยู่บนฟากฟ้านะครับ แต่คือวิสัยทัศน์การมองของเขา ไม่เห็นอะไรถูกต้องชัดเจนอีกแล้ว คือเห็นผิดเป็นถูก (ควรที่จะมองเห็นแสงไฟ ไม่ใช่ดาวดารา) ส่วนการเฟดจางหายแทนได้ด้วยการเสียชีวิต

ตัดต่อโดย Harry W. Gerstad กับ William A. Lyon ปกติสองคนนี้ไม่ได้ร่วมงานกันนะครับ เป็นนักตัดต่ออัจฉริยะทั้งคู่ ต่างเคยได้ Oscar: Best Edited มาคนละสองครั้ง, Gerstad จาก Champion (1949) และ High Noon (1952) ส่วน Lyon จาก From Here to Eternity (1953) และ Picnic (1955)

หนังใช้การเล่าเรื่อง 1 วันเต็มก่อนที่ Willy จะเสียชีวิตผ่านมุมมองของเขาล้วนๆ แต่มีการย้อนอดีตถอยไปกว่า 15 ปี ที่มักจะปรากฎแทรกเข้ามาเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว, มันจะมีวินาทีหนึ่งที่หนังตัดภาพย้อนไปในอดีตแล้ว แต่ผู้ชมยังรู้สึกว่านั่นคือปัจจุบัน แล้วกล้องมีการเคลื่อนไหวให้เห็นตัวละครหนึ่งที่มาจากอดีต เมื่อนั้นเราถึงค่อยรู้ว่าหนังเข้าสู่ช่วงย้อนอดีตแล้ว

นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้ผมเหวอหลายครั้งจนเกิดข้อสงสัยว่า ทำแบบนั้นได้อย่างไร จริงๆมันไม่ได้ยากซับซ้อนอะไรเลย ตรงไปตรงมาแต่ต้องใช้การสังเกตนิดหน่อยก็จะจับทางได้ (ผมมองว่าเทคนิคนี้ยากตรงงานภาพมากกว่า ไม่ได้ยากที่การตัดต่อ)

เพลงประกอบโดย Alex North คอมโพเซอร์ในตำนาน เข้าชิง Oscar 15 ครั้งไม่เคยได้รางวัล (จนต้องมอบ Honorary Award ให้) ผลงานดังๆอาทิ A Streetcar Named Desire (1951), Cleopatra (1963), Spartacus (1960), Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) ฯ

กับหนังเรื่องนี้ เพลงประกอบมานุ่มๆลุ่มลึกด้วยเสียงฟลุตเป็นหลัก มีไม่เยอะแต่กระชากอารมณ์ อึดอัดอั้นได้หลอกหลอนสุดๆ, ได้ยินบ่อยๆขณะเรื่องราวย้อนอดีตปรากฎขึ้น บทเพลงเหมือนตั้งใจให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่านั่นคืออดีตที่กลายเป็นปมในปัจจุบัน, ไฮไลท์ของเพลงอยู่ช่วงท้าย ตอนที่ Willy ขับรถสู่ความตาย หน้าของเขาหลอนยิ้มร่า บทเพลงจะทำให้จิตใจตกวูบ แทบจะรับรู้ได้เลยว่า นี่คือวินาทีสุดท้ายในชีวิตของ Salesman

American Dream คือความเพ้อฝันของคนอเมริกัน ถึงชีวิตที่ดีขึ้น ร่ำรวย และโอกาส ที่มาพร้อมกับความสามารถ, นี่ถือเป็นแนวคิดสำคัญของหนัง ตั้งคำถามว่ามันใช่วิธีคิดที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ โดยแต่ละตัวละครจะมีคำอธิบายความหมายของตนเอง

Willy Loman ผู้ถูกสังคมเสี้ยมสอนจนมีความเข้าใจว่า ความสำเร็จคืออาชีพก้าวหน้า ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก, เขาไม่ได้สนใจว่าชีวิตต้องมีความสุขหรือเปล่า แต่มองว่าเมื่อร่ำรวยแล้ว ชีวิตก็จะมีความสุขของมันเอง นั่นทำให้เมื่อเขาประสบความล้มเหลว ถูกไล่ออกจากงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าประกัน ฯ ชีวิตจึงจมอยู่ในความทุกข์ ไม่สามารถหาทางออกให้ตนเองได้

Ben พี่ชายของ Willy เป็นตัวแทนในอุดมคติของ American Dream คว้าโอกาส เอาชนะธรรมชาติ และได้โชคลาภ ดังประโยคคำพูดที่ว่า ‘When I was seventeen I walked into the jungle, and when I was twenty-one I walked out. And by God I was rich.’ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Ben ทำให้ Willy เกิดความอิจฉาริษยา เพ้อฝันต้องการทำให้ได้แบบพี่ชาย (แต่ก็ทำไม่ได้)

Biff ลูกชายที่ตอนแรกเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น มีพ่อเป็นแบบอย่างของ American Dream แต่เมื่อได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา จึงเลือกที่จะไม่ดำเนินรอยตาม, ความฝันใหม่ของ Biff คือการออกไปเริ่มต้นทำอะไรด้วยสองมือของตนเอง แต่ทุกครั้งเหมือนว่าแนวคิดเดิมของพ่อได้พยายามเหนี่ยวรั้งเอาไว้ จนถึงช่วงเวลาแตกหัก เขาจึงสามารถเอาชนะใจตนเองด้วยการปฏิเสธพ่อโดยสิ้นเชิง

ตอนจบเมื่อ Willy ได้ยินลูกแสดงออกอย่างนั้น เขาคิดว่า ‘My son still love me! Isn’t that a remarkable thing!’ ผมตีความประโยคนี้ว่า คือความตื้นตันใจ เพราะทั้งชีวิตของเขาเป็นคนไม่เอาไหน ทำผิดกับลูกไว้มาก แต่เขายังให้อภัยกล้าที่จะเอาชนะเริ่มต้นใหม่ พ่อแย่ๆอย่างเราคงไม่มีอะไรน่าดีใจไปกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจ …

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของ Willy กลายเป็นแบบนี้? กับคนที่รับชมหนังแล้ว ผมขอใช้เวลาครุ่นคำตอบนี้ดูเองก่อนสักนิดนะ เพราะถ้าเข้าใจด้วยตนเองจะเห็นเลยว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยมยังไง และนี่คือใจความสำคัญของหนังด้วย, ความต้องการของ Willy คือประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีชื่อเสียง ซึ่งในจุดหนึ่งของชีวิตเกือบแล้วที่จะทำได้ แต่เขาเลือกที่จะเป็นคนเลว อาทิ โกหกหลอกลวง, นอกใจภรรยามีชู้ ฯ วินาทีที่ลูกชายรับรู้ความจริงของพ่อ ได้ทำให้ชีวิตของเขาตกต่ำลงทันที ด้วยความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในใจ ปากพร่ำสอนให้ลูกเป็นคนดีแต่ตนกลับทำไม่ได้ ตัวเขาจึงจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน แถมยังไม่พยายามคิดค้นหาทำความเข้าใจแก้ไข จนปล่อยให้ทุกอย่างเลยเถิด สุดท้ายก็เลยกลายเป็นแบบบทสรุปในหนัง พ่อทำตัวไม่ดี พาลให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ ตกงาน ครอบครัวล่มจม ภรรยาเสียสติ ลูกไม่สามารถช่วยตนเองได้

ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่มีตัวเลขรายรับในอเมริกา $1.2 ล้านเหรียญ เห็นว่าขาดทุนย่อยยับ กระนั้นหนังได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์สูงมาก
– ฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice ได้รางวัล Volpi Cup for Best Actor (Fredric March)
– ได้ 4 รางวัล Golden Globe Awards
> Best Director
> Best Actor fot Drama (Fredric March)
> Best Cinematography – Black and White
> New Star of the Year (Kevin McCarthy)
– เข้าชิง Oscar 5 สาขา น่าเสียดายไม่ได้สักรางวัล
> Best Actor (Fredric March)
> Best Supporting Actor (Kevin McCarthy)
> Best Supporting Actress (Mildred Dunnock)
> Best Cinematography – Black and White
> Best Score – Adaptation or Treatment

เห็นว่าหนังเรื่องนี้หายไปจากสารบบนานมาก ไม่ได้ทำเป็น Home Video, VHS, หรือฉายในโทรทัศน์ เพิ่งจะเมื่อเดือนกันยายน 2011 ที่ได้มีการบูรณะขึ้นโดย Columbia Picture และ The Film Foundation คุณภาพถือว่าประมาณ 90% เหมือนว่าคนอเมริกาพยายามหลงลืมหนังเรื่องนี้ (เพราะมีเรื่องราวที่ทำลายความฝัน American Dream)

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ ในเรื่องราวแฝงข้อคิดลึกซึ้งถึงคนประเภทหลอกตนเอง, direction แนวการกำกับที่ใช้วิธีย้อนเล่าเรื่อง (Flashback) ได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล และการแสดงของ Fredric March ที่เหมือนคนบ้าใกล้ตายมากๆ

แนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดูจบแล้วให้ถามตัวเอง ‘ถ้าเป้าหมายชีวิตที่เคยวาดฝันไว้ รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีทางสำเร็จเป็นจริงได้ คุณจะยังดื้อด้านหลอกตัวเองทำต่อไปหรือยอมแพ้?’

แนะนำอย่างยิ่งกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาลักษณะอาการ ผู้ป่วยแบบนี้น่าจะพบเจอได้บ่อย, นักคิด นักปรัชญา ให้ได้รู้จักกับบุคคลประเภท ทำฝันไม่สำเร็จแต่ยังเพ้อต่อไป, และกับนักเรียน/นักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ หนังเรื่องนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวให้กับพวกเขา

หนังอาจจะหาดูยากสักหน่อย (แต่ใน Youtube มีอยู่) ถ้าหาฉบับนี้ดูไม่ได้ แนะนำให้หาฉบับฉายโทรทัศน์ของ Lee J. Cobb ปี 1966 หรือ Dustin Hoffman ปี 1985 เรื่องไหนก็ได้มาชมดู ได้ยินว่าสองฉบับนี้ตีความ นำเสนอได้ยอดเยี่ยมกว่าหนังเรื่องนี้เสียอีก!

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศ ความเครียด และการหลอกตัวเอง

TAGLINE | “Death of a Salesman จุดสิ้นสุดของคนขายฝันที่ชาวอเมริกันไม่อยากยอมรับ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องอันเหนือชั้นของผู้กำกับ László Benedek และการแสดงหลอนเต็มขั้นของ Fredric March ทำให้หนังแทบจะไร้ที่ติ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: