Death on the Nile (1978)
: John Guillermin ♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนิยายชุดสายสืบ Hercule Poirot ของ Agatha Christie รวมโคตรดาราแห่งยุค พาไปพักผ่อนยังประเทศอิยิปต์ ล่องแม่น้ำไนล์, ชื่นชมพิระมิด, สฟิงซ์, Karnak, Abu Simbel, หุบเขากษัตริย์ (The Valley of the Kings) ฉงนสงสัยกับใครเป็นฆาตกร? นำแสดงโดย Peter Ustinov, Bette Davis, Mia Farrow, Olivia Hussey, Jane Birkin, Maggie Smith ฯ ถ่ายภาพสวยๆโดย Jack Cardiff และเพลงประกอบเพราะๆของ Nino Rota
ถ้าคุณเคยรับชมภาพยนตร์เรื่องอื่นๆของตัวละคร Hercule Poirot มาแล้ว ให้พยายามลบภาพที่เคยจดจำนั้นออกไปก่อนโดยสิ้นเชิงเลยนะครับ เพราะ Peter Ustinov กับการรับบทนักสืบผู้โด่งดังที่สุดในจักรวาลของ Agatha Christie ตีความตัวละครนี้ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร กล่าวคือได้แบบว่าเหมือน ‘Ustinov อย่างยิ่ง’ แล้วคุณจะไม่เกิดอคติกับหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่
Hercule Poirot เป็นตัวละครที่นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษ Agatha Christie รักยิ่ง เพราะทำให้เธอประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งแต่ The Mysterious Affair at Styles (1920) จนถึงเรื่องสุดท้าย Curtain (1975) ในระยะเวลา 55 ปี ไขปริศนาปรากฎตัวในนิยาย 33 เรื่อง, 1 บทละคร และ 50 ตอนเรื่องสั้น ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายครั้งทีเดียว
– แรกสุดคือไตรภาคของผู้กำกับ Leslie S. Hiscott นำแสดงโดย Austin Trevor ประกอบด้วย Alibi (1931), Black Coffee (1931), Lord Edgware Dies (1934) น่าเศร้าที่ทั้งสามเรื่องสูญหายไปแล้วตลอดกาล
– The Alphabet Murders (1965) กำกับโดย Frank Tashlin นำแสดงโดย Tony Randall
– Murder on the Orient Express (1974) กำกับโดย Sidney Lumet นำแสดงโดย Albert Finney
– มีอยู่ 6 เรื่องที่นำแสดงโดย Peter Ustinov
> Death on the Nile (1978) กำกับโดย John Guillermin
> Evil Under the Sun (1982) กำกับโดย Guy Hamilton
> Thirteen at Dinner (1985) ภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์
> Dead Man’s Folly (1986) ภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์
> Murder in Three Acts (1986) ภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์
> Appointment with Death (1988) กำกับโดย Michael Winner
หลังความล้มเหลวทั้งรายรับและคำวิจารณ์ของ Appointment with Death (1988) ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ Hercule Poirot ในโลกภาพยนตร์ ทั้งๆที่ต้นฉบับมีเรื่องราวอีกมากมายเหลือเฟือ จะทำให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ James Bond เลยก็ยังได้ แต่เพราะไม่มีโปรดิวเซอร์ผลักดัน ฉบับหนังก็เลยสิ้นสุดลงตรงนี้
ล่าสุดก็มีการจับนำเอา Murder on the Orient Express มาสร้างใหม่ปี 2017 กำกับโดย Kenneth Branagh ไม่แน่ว่าถ้าหนังประสบความสำเร็จ อาจมีการนำเรื่องราวของ Poirot มาสร้างใหม่อีกก็ได้ (แต่ดูแล้วน่าจะยากพอสมควร)
สำหรับ Death on the Nile สร้างโดย John Guillermin (1925 – 2015) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London โตขึ้นเข้าเรียน University of Cambridge แต่ลาออกมาสมัครเป็นทหารอากาศ Royal Air Force (R.A.F) หลังออกมาผันตัวทำงานสายภาพยนตร์ เริ่มจากเรียนรู้สร้างสารคดีที่ฝรั่งเศสอยู่หลายปี กลับสู่ London ร่วมกับ Robert Jordan Hill ก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆ กำกับหนังร่วมกันเรื่อง High Jinks in Society (1949) มีชื่อเสียงจาก Town of Trial (1957), The Whole Truth (1958), Tarzan’s Greatest Adventure (1959), Never Let Go (1960) ฯ ได้มีโอกาสรู้จักกับ Darryl F. Zanuck ทำให้ได้สร้างหนัง Hollywood โด่งดังสุดกับ The Towering Inferno (1954), The Bridge at Remagen (1959), The Blue Max (1966), King Kong (1976), Death on the Nile (1978) ฯ
ดัดแปลงจากนิยายชื่อ Death on the Nile วางขายปี 1937 เมื่อ Hercule Poirot เดินทางไปพักร้อนที่ Cairo, ประเทศอิยิปต์ ระหว่างกำลังล่องเรือ S.S. Karnak บนแม่น้ำไนล์ ได้มีโอกาสพบเจอกับ
– ทายาทมหาเศรษฐีสาว Linnet Ridgeway (รับบทโดย Lois Chiles) นิสัยเย่อหยิ่งยโสโอหัง จองหองอวดดี จนใครๆต่างเกลียดขี้หน้า แถมยังไปแย้งผัวแฟนเพื่อนมาอีก
– Jacqueline de Bellefort (รับบทโดย Mia Farrow) กำลังตกหลุมรักคู่หมั้น Simon Doyle แต่กลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด โดย Linnet ชิงตัดหน้าแต่งงานกับแฟนหนุ่มเสียอย่างนั้น
– Simon Doyle (รับบทโดย Simon MacCorkindale) ชายหนุ่มรูปหล่อ ตอนแรกเป็นแฟนกับ Jacqueline แต่พอพบเจอกับ Linnet ที่ร่ำรวยกว่า ก็ยินยอมผลีกาย
– Louise Bourget (รับบทโดย Jane Birkin) สาวใช้ส่วนตัวของ Linnet ตกหลุมรักชายคนหนึ่งแบบโงหัวไม่ขึ้น แต่ถูกเจ้านาย Blackmail บอกว่าเขาแต่งงานแล้ว แถมไม่ยอมให้ค่าจ้างเพื่อเธอจะได้กลายเป็นอิสระ (จริงๆการกระทำของ Linnet นั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วแต่นะ แต่คำพูดท่าทางการแสดงออกที่เหมือนยัย Bitch มันเลยน่าหมั่นไส้เหลือเกิน)
– Marie Van Schuyler (รับบทโดย Bette Davis) รับบทขุ่นแม่ขี้อิจฉา ที่มีความหลงใหลในมุก สร้อยคอสุดหรูหราของ Linnet มีความต้องการได้มาครองครอบ [เหมือนว่าตัวละครของ Davis จะน่าหมั่นไส้ที่สุดในหนังเลยนะครับ]
– Miss Bowers (รับบทโดย Maggie Smith) คนรับใช้ พยาบาลส่วนตัวของขุ่นแม่ พ่อของเธอเคยถูกพ่อของ Linnet กลืนกินธุรกิจจนล้มละลาย แม้มันเป็นเรื่องผ่านมานานแล้ว แต่เกียรติยศของครอบครัว เป็นไปได้หรือเปล่าที่จะแสร้งทำหลงลืม
– Dr. Bessner (รับบทโดย Jack Warden) หมอสัญชาติ Swiss เจ้าของคลินิกเล็กๆ แต่ถูกกล่าวหาโดย Linnet ว่าเป็นหมอไร้ฝีมือและจรรยาบรรณ เขาจึงร้องขอให้เธอถอนคำพูดนั้น
– Andrew Pennington (รับบทโดย George Kennedy) ทนายความส่วนตัวของ Linnet มีความต้องการให้เธอเซ็นสัญญาอะไรสักฉบับหนึ่ง เพื่อหวังฮุบกิจการหรือหลอกเอาเงิน
– Salome Otterbourne (รับบทโดย Angela Lansbury) นักเขียนชื่อดังที่กำลังมีปัญหาขัดแย้งกับ Linnet ถูกเธอขู่กรรโชกสั่งฟ้องนิยาย น่าจะเพราะถูกพาดพิงไม่ตรงกับความจริง
– Rosalie Otterbourne (รับบทโดย Olivia Hussey) ลูกสาวของ Salome ติดตามแม่มาท่องเที่ยว พาลให้ต่อต้าน Linnet ตามไปด้วย พลันตกหลุมรักกับชายหนุ่มรูปงาม James Ferguson
– James Ferguson (รับบทโดย Jon Finch) นักเดินทางสุดหล่อที่บังเอิญผ่านมา เป็นคนฝีปากกล้า พูดจาห้าวหาญตรงไปตรงมา เหมือนจะไม่มีอะไรแต่รังเกียจต่อต้านเศษสวะของสังคมอย่างออกนอกหน้า
มันเป็นความมหัศจรรย์เหลือล้นในนิยายของ Agatha Christie ที่ผู้คนทั้งหลายในการเดินทางล่องเรือ S.S. Karnak ต่างมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง สัมพันธ์กับทายาทมหาเศรษฐีสาว Linnet Ridgeway เชื่อว่าหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงคาดเดาได้ ว่าใครน่าจะเป็นผู้เสียชีวิต ก็เล่นสร้างศัตรูความขัดแย้งไปทั่วขนาดนี้ ถูกฆาตกรรมถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เกร็ด: ตอนแรกโปรดิวเซอร์ต้องการเปลี่ยนชื่อหนังเรื่องนี้ให้เป็น Murder on the Nile เพื่อล้อกับ Murder on the Orient Express แต่เป็นผู้กำกับยืนกรานขอใช้ชื่อตามนิยายจะดีกว่า เลยกลายเป็นคำโปรยในใบปิด The only thing that could follow “Murder” is “Death”.
ในตอนแรก Albert Finney ได้รับการติดต่อให้กลับมารับบท Poirot หลังจาก Murder on the Orient Express (1974) แต่เจ้าตัวยอมแพ้กับการแต่งหน้าที่สร้างความลำบากทรมานให้อย่างยิ่ง และขณะถ่ายทำบนรถไฟมีความร้อนอบอ้าว ยิ่งถ้าไปถ่ายยังอิยิปต์ไม่ร้อนตับแตกยิ่งกว่านี้อีกหรือ จึงบอกปัดปฏิเสธไม่หวนคืนกลับมารับบทนี้อีก ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งยวดเลยละ
Sir Peter Ustinov ชื่อเต็ม Peter Alexander von Ustinov (1921 – 2004) นักแสดง นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London พ่อเป็นชาว Russian เชื้อสาย Jewish ตอนแรกไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงมากนัก แต่เพื่อจะไม่ต้องไปโรงเรียนโดนเพื่อนดูถูกรังแก เริ่มต้นกับละครเวทีที่ Players’ Theatre สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จับพลัดจับพลูได้เป็นนักแสดงในหนังชวนเชื่อเรื่อง One of Our Aircraft Is Missing (1942), หลังสงครามรับบทสมทบ We’re No Angels (1955) ตามด้วย Quo Vadis (1951), Spartacus (1960), Topkapi (1964), Logan’s Run (1976), Death on the Nile (1978) ฯ
การตีความ Hercule Poirot ในทัศนะของ Ustinov นักสืบร่างพุ้ยสัญชาติ Belgian ชอบพูดจาความยียวนกวนประสาท ต้วมเตี้ยมเชื่องช้า ขี้เกียจสันหลังยาว ขาดความกระตือรือล้น ไม่ค่อยเหมือนคนเฉลียวฉลาดทรงภูมิสักเท่าไหร่ แต่เรื่องไหวพริบปณิธาน ชอบสอดรู้สอดจัดว่าเห็นเป็นเลิศ, ผมรู้สึกว่า Ustinov ใส่ความเป็นตัวของตนเองลงไปใน Poirot อย่างเต็มๆ ไม่ได้ปั้นประดิษฐ์ สวมบทบาท หรือกลายเป็นตัวละครแม้แต่น้อย นี่ขนาดว่าลูกสาวของผู้เขียน Rosalind Hicks (Christie ตอนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว) ตอนเห็น Ustinov ซักซ้อมบทกล่าวว่า
“That’s not Poirot! He isn’t at all like that!”
Ustinov ที่บังเอิญได้ยิน ตอบกลับ
“He is now!”
ก็ไม่รู้ผู้สร้างภาคอื่นๆมีความชื่นชอบหลงใหลอะไรกับ Ustinov ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยน (ขณะที่เจ้าตัวก็ไม่คิดที่จะเลิกรับ) ทำให้ได้รับบทนี้ต่อเนื่องยาวนานสุดถึง 6 เรื่อง (เป็นภาพยนตร์ 3 เรื่อง ฉายโทรทัศน์อีก 3 เรื่อง)
สำหรับนักแสดงที่เป็นไฮไลท์ขอพูดถึงอีกคนคือ María de Lourdes ‘Mia’ Villiers Farrow (เกิดปี 1945) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles เป็นลูกคน 3 จาก 7 คนของผู้กำกับ John Farrow สัญชาติ Australian กับแม่ Maureen O’Sullivan นักแสดงสัญชาติไอริช, ตอนอายุ 9 ปีติดเชื้อโปลิโอ รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดเลยมีความต้องการเป็นแม่ชี (nun) แต่กลับได้เริ่มอาชีพนักแสดงจากเป็นตัวประกอบ Guns at Batasi (1964) คว้ารางวัล Golden Globe Award: New Star of the Year – Actress, โด่งดังกับ Rosemary’s Baby (1968), John and Mary (1969), Follow Me! (1972), The Great Gatsby (1974) ฯ
รับบท Jacqueline de Bellefort หญิงสาวตัวเล็กน่ารักที่มีความบ้องๆ บ้าๆบอๆ เพื่อนสนิทของ Linnet แต่พอได้นำพาคู่หมั้นแฟนหนุ่ม Simon Doyle มาให้รู้จักกลับถูกแย่งผัว ทำให้เกิดความอาฆาตมาดร้าย กลายเป็นหญิงโรคจิตที่คอยจ้องติดตามจองล้างจองผลาญ ก่อกวนไม่ให้พวกเขาได้พบเจอความสุขในชีวิต เรื่องราวบานปลายถึงขั้นพกปืน กินเหล้าเมาแล้วหยิบขึ้นมายิงอดีตคนรักหนุ่ม โชคดีแค่เฉียดๆไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เป็นลมล้มพับหมดสติ ตื่นขึ้นมาตอนเช้าอะไรๆก็แปรเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง
การแสดงของ Mia Farrow แม้ยังติดกลิ่นอาย Typecast มาจาก Rosemary’s Baby (1968) มีทั้งความสดใสซื่อบริสุทธิ์ และหลอกๆหลอนๆชวนให้ขนหัวลุกพอง แต่ถือว่าแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ (เด่นกว่า Ustinov เป็นไหนๆ) กว่าเธอจะสลัดภาพลักษณ์บทบาทแบบนี้หลุดก็เมื่อครั้นได้อยู่กินร่วมแต่งงานกับ Woody Allen อีกปีสองปีถัดจากนี้
ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff ตากล้องสัญชาติอังกฤษคนแรกที่ถ่าย Technicolor เรื่อง Wings of the Morning (1937) กลายเป็นขาประจำของ The Archers อาทิ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948), ผลงานอื่น อาทิ The African Queen (1951), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956), Conan the Destroyer (1984) ฯ
งานภาพจะค่อนข้างสว่าง เน้นโทนสีน้ำตาลอ่อน ที่เหมือนกับทะเลทราย ก้อนหินดินลูกรัง ให้สัมผัสของการผจญภัย Adventure, นี่อาจเพราะเป็นสีจากพระอาทิตย์/ท้องฟ้าของประเทศอิยิปต์ ที่ตอนกลางวันร้อนตับแตก ช่วงบ่ายอุณหภูมิสูงถึง 130 องศาฟาเรนไฮต์ (54 องศาเซลเซียส) ทำให้ต้องหยุดพัก เพราะกล้องร้อนจัดถ่ายทำไม่ได้, Betty Davis แซวตามประสาของเธอว่า
“In the older days, they’d have built the Nile for you. Nowadays, films have become travelogues and actors stunt men”.
ตัดต่อโดย Malcolm Cooke, หนังใช้การเล่าเรื่องโดยเริ่มจาก Linnet Ridgeway ขณะที่ Hercule Poirot จะด้อมๆมองๆ แอบซ่อนไม่ได้อยากจะพบเจอใคร แต่พวกเขาและเธอก็ผ่านเข้ามาในสายตาเขาโดยตลอด ซึ่งพอเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น หลังจากนั้นจะใช้มุมมองของ Poirot ในการเล่าเรื่องทั้งหมด
มีการใช้ Flashback จำลองสถานการณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ แทรกใส่ระหว่างการสนทนาของ Poirot กับผู้ต้องสงสัย/ผู้โดยสารบนเรือ นี่ทำให้ผู้ชมเห็นภาพแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้จริงไม่ต้องจินตนาการไปเอง แต่มันก็แอบเป็นการเฉลยอยู่กลายๆ ว่าสิ่งพวกนี้ไม่น่าจะเป็นข้อสรุปแท้จริงของตอนจบ (เพราะตอนจบมันคงต้องมีอีก Flashback ที่ทำให้ผู้ชมอึ้งทึ่งคาดไม่ถึงไปเลย)
ตอนผมนั่งดูเครดิตต้นเรื่อง พอขึ้นชื่อเพลงประกอบโดย Nino Rota ทำเอาขนลุกซู่ขึ้นทันที ก็ว่าอยู่ทำไมมีความไพเราะเพราะพริ้งโดดเด่นเกินหน้าเกินตาขนาดนี้ ให้สัมผัสกลิ่นอายของอิยิปต์ ลึกลับหลงใหล พิศวงน่าค้นหา จินตนาการเห็นภาพพิระมิด สฟิงค์ และท้องทะเลทรายกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา
ในการทำงานของ Rota จะเขียนเพลงขึ้นก่อนตามคำแนะนำของผู้กำกับ แล้วปล่อยอิสระให้ไปเลือกใช้ใส่เอาเองในหนัง, ซึ่งในส่วนที่มีเพลงประกอบ
– ครึ่งแรกมักเป็นขณะภาพทิวทัศน์สวยๆ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของอิยิปต์
– ครึ่งหลังช่วงฆาตกรรม มักดังเบาๆเป็นพื้นหลังพร้อมกับ Flashback เพิ่มความลึกลับพิศวงให้กับสิ่งที่ Poirot จินตนาการขึ้น
Death of the Nile คือภาพยนตร์ที่นำเสนอความบันเทิงของการสืบสวนสอบสวน ค้นหาผู้กระทำความผิด ใครกันที่เป็นฆาตกร ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดติดตาม หาคำตอบร่วมด้วยช่วยกัน, แต่กับหนังเรื่องนี้โดยส่วนตัวรู้สึกว่า คำตอบของ Hercule Poirot ไม่ได้มาจากหลักฐาน แต่เป็นสมมติฐาน เพราะตอนจบเขาได้ทำการวัดดวงด้วยการอ้างถึงวิธีการตรวจสอบกระสุนดินปืน Moulage Test [เทคนิคนี้ไม่มีจริงนะครับ] นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดออกได้เองแม้แต่น้อย เพราะหลักฐานไม่เพียงพอให้เกิดคำตอบ และหนังยังมีอีกปริศนาหนึ่งที่ค้างคาไว้ ใครกันที่ผลักหินให้ตกลงมา (ใน Flashback สมมติฐานคือทนายความ Andrew Pennington แต่ตอนเฉลยช่วงท้ายไม่ได้มีการพูดถึงแม้แต่น้อย)
ด้วยทุนสร้าง $7.92 ล้านเหรียญ เฉพาะในอเมริกาทำเงินได้ $14.5 ล้านเหรียญ เหมือนจะแค่เท่าทุน แต่ในตลาดโลกกำไรล้นหลาม เลยไม่แปลกที่จะมีการสร้างภาคต่อตามมาอีกหลายเรื่อง, หนังได้เข้าชิง Golden Globe Award สาขา Best Foreign Language Film (จากประเทศอังกฤษ) และได้ Oscar 1 สาขา Best Costume Design
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้โปรดักชั่นจะเหมือนหนังเกรด B ไปเสียหน่อย แต่ดูสนุกเปี่ยมด้วยความบันเทิง ลุ้นระทึกครุ่นคิดค้นหาใครคือฆาตกร, การแสดงของ Mia Farrow ถือว่าเซอร์ไพรส์ผมมากกว่า Peter Ustinov เสียอีกนะ, ภาพถ่ายอิยิปต์สวยๆ (เห็นแล้วอยากไป) และประกอบเพลงสุดพริ้งโดย Nino Rota ฟินมากๆ
แนะนำกับคอหนังสายสืบ ค้นหาฆาตกร, แนว Mystery ลึกลับซับซ้อน, สนใจประเทศอิยิปต์ อยากไปท่องเที่ยว รู้จักสถานที่ต่างๆ, ชื่นชอบตัวละคร Hercule Poirot จากนิยายของ Agatha Christie, หลงใหลในบทเพลงเพราะๆของ Nino Rota, แฟนๆของ Peter Ustinov, Mia Farrow, Betty Davis ฯ ไม่ควรพลาด
จัดเรต pg ไม่ค่อยมีพิษเพศภัยกับเด็กๆนัก ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำเรื่องการฆาตกรรม
Leave a Reply