Deep Red

Deep Red (1975) Italian : Dario Argento ♥♥♥♥

สังคมยุคสมัยก่อนที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า บางครั้งปกครองอย่างกดขี่ข่มเหง กักเธอไว้ในกรงขัง ใช้ความรุนแรงจนฝ่ายหญิงสะสมความโกรธเกลียดชัง อัดแน่นคลุ้มคลั่งอยู่ภายใน เมื่อถึงวันทนไม่ได้ปะทุระเบิดออกมา ลามระบาดไม่ใช่แค่ครอบครัวรอบข้าง แต่ยังทุกผู้คนที่สามารถสัมผัสล่วงรู้ได้

Deep Red เป็นภาพยนตร์ที่โดยส่วนตัวไม่รู้สึกถึงสาระประโยชน์สักเท่าไหร่ คือก็มีบ้างในประเด็นเสมอภาคเท่าเทียมชาย-หญิง ‘Feminist’ แต่โดยรวมถือเป็น High-Art มุ่งเน้นขายบันเทิงรมณ์ นำเสนอความตายอย่างมีชั้นเชิงศิลปะ และไดเรคชั่นของ Dario Argento สมคำเลื่องลือชา ‘พูดถึง Giallo คือพูดถึง Argento หรือ พูดถึง Argento ก็คือ Giallo’ โดดเด่นเหนือชั้นกว่าผู้กำกับร่วมรุ่น Mario Bava หรือ Lucio Fulci เป็นไหนๆ

ผมค่อนข้างอึ้งทึ่งในความสลับซับซ้อนทางความคิดของผู้กำกับ Argento มีอะไรมากมายให้สามารถวิเคราะห์ตีความหมาย มากกว่าแค่สิ่งพบเห็นด้วยตาฉาบหน้า ดั่งชื่อหนัง Deep Red สีแดง/เลือดที่อยู่ลึกเข้าไปภายใน และตอนจบหลายคนอาจฉงนสงสัยถึงแรงจูงใจของฆาตกร แต่ถ้าคุณสังเกตเห็นเกล็ดขนมปังที่โรยรายไว้ตลอดเรื่อง ก็จักค้นพบเข้าใจสิ่งเกิดขึ้นกับตัวละครแทบจะโดยทันที

Dario Argento (เกิดปี 1940) ผู้สร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของฉายา ‘the Italian Hitchcock’ เกิดที่กรุง Rome ลูกชายของโปรดิวเซอร์ Salvatore Argento ตั้งแต่เด็กมีความสนใจหลงใหลในเทพนิยาย Brothers Grimm และ Edgar Allan Poe สมัยเรียนมัธยมทำงานไปด้วยเป็นนักวิจารณ์ เขียนบทความลงนิตยสาร/หนังสือพิมพ์ เลือกไม่เข้าเรียนต่อมหาลัยเพราะได้งานเขียนบท ร่วมกับ Bernardo Bertolucci เรื่อง Once Upon a Time in the West (1968), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Bird with the Crystal Plumage (1970) กลายเป็นเสาหลักไมล์ ‘Milestone’ ให้กับแนว Giallo กลายเป็นตำนานในประเทศอิตาลี

หลังเสร็จจาก Animal Trilogy ทดลองเปลี่ยนแนวตนเองไปกำกับแนวตลก The Five Days (1973) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง! จำเลยต้องหวนกลับมาตายรังยัง Giallo ใช้เวลาเป็นปีๆครุ่นคิดเขียนบทหนัง Deep Red ด้วยตนเอง ได้ความยาวกว่า 500 หน้า นำไปให้พ่อและพี่ชายอ่าน ทั้งคู่ตกตะลึงกับความยาว แสดงความหวาดหวั่นวิตกว่าผู้ชมอาจไม่รับรู้เรื่องถึงความตั้งใจ ร่วมงานกับ Bernardino Zapponi ตัดทอนโน่นนี่นั่นจนเหลือประมาณ 321 หน้ากระดาษ (ก็ยังเยอะอยู่ดีนะ)

เหตุการณ์เริ่มต้นเทศกาลคริสต์มาส พบเห็นเงาหนึ่งกำลังทิ่มแทงอีกเงาหนึ่งล้มลงเสียชีวิต ได้ยินเสียงกรีดร้อง มีดตกลงบนพื้น และเท้าของเด็ก (ก็ไม่รู้ชาย-หญิง) ก้าวย่างกรายเข้ามา

หลายปีถัดไป, ครูสอนดนตรีแจ๊สสัญชาติอังกฤษ Marcus Daly (รับบทโดย David Hemmings) อาศัยทำงานอยู่ในกรุงโรม วันหนึ่งระหว่างเดินทางกลับบ้าน พบเจอเพื่อนนักดนตรีขี้เมา Carlo (Gabriele Lavia) ต่างได้ยินเสียงกรีดร้อง ทีแรกก็ไม่คิดว่ามีอะไร แต่หญิงสาวจากบนอพาร์ทเม้นต์ ถูกคนร้ายชุดดำจับศีรษะกระแทกกระจกหน้าต่างเสียชีวิต รีบวิ่งขึ้นไปช่วยแต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว ได้รับคำแนะนำจากตำรวจให้กลับประเทศไปได้แล้ว แต่มีนักข่าวสาว Gianna Brezzi (รับบทโดย Daria Nicolodi) ตามตื้อไม่เลิก ครุ่นคิดว่าเขาอาจเป็นเหยื่อรายต่อไป (เพราะพบเห็นการกระทำของฆาตกรคนนั้น)

David Edward Leslie Hemmings (1941-2003) นักแสดง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Guildford, Surrey เริ่มต้นเป็นนักร้อง English Opera Group ผ่านงานละครเวที ปรากฎตัวภาพยนตร์เรื่องแรก The Rainbow Jacket (1954), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Blowup (1966), The 14 (1973), Deep Red (1975), Gladiator (2000)

รับบท Marcus Daly ครูสอนเปียโนที่ไม่พอต้องดิ้นรนอะไรมาก เลยมีโลกทัศน์ศิลปิน ใช้ชีวิตเสพย์ศิลป์ สร้างสรรค์ผลงานเน้นคุณภาพมากกว่าเน้นขาย ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมขึ้นต่อหน้าต่อตา เลยไม่หวั่นเกรงที่จะเผชิญหน้าค้นหาคำตอบฆาตกร

การแสดงออกซึ่งอารมณ์ศิลปินของ Hemmings ขึ้นชื่อลือชากลายเป็นตำนานกับ Blowup (1966) ซึ่งบทบาทเรื่องนี้คงต้องเรียกว่า Typecast แทบไม่แตกต่างกัน แถมมีหลายฉากเคารพคารวะหนังเรื่องนั้นด้วยนะ ผู้กำกับคงไม่ได้คาดหวังอะไรอื่นนอกจากให้เขาเป็นตัวของตนเองเพียงพอ

Daria Nicolodi (เกิดปี 1950) นักเขียน นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน ขณะนั้นเป็นภรรยาของผู้กำกับ Dario Argento เกิดที่ Florence เข้าสู่วงการจากแสดงซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ แสดงในผลงานของสามีทั้งหมด 5 เรื่อง Deep Red (1975), Inferno (1980), Tenebrae (1982), Phenomena (1985), Opera (1987)

รับบทนักข่าวสาวจอมจุ้น Gianna Brezzi ปรากฎตัวครั้งแรกทำตัวไม่ประสีประสา เสนอยื่นหน้าเสือกจุ้นเข้ามา แค่เพียงเพื่อตนเองจะได้เขียนข่าวเลยยินยอมทำทุกอย่าง, ไม่รู้เหมือนกันว่าไปหลงเสน่ห์ Marcus Daly อะไรเข้า พยายามอ่อยเหยื่อ หลอกล่อเข้าถ้ำเสือ และเสี้ยมสอนชี้ชักนำให้เข้าใจถึงสิทธิสตรี ท้าดวลงัดข้อชนะแบบโกงถึงสองครั้งครา ขับรถเต๋ากระป๋องก็แบบว่าเบาะตัวเองยังอยู่สูงกว่า รอดไม่รอดโอกาส 50-50 เลยสินะ

Nicolodi ไม่ใช่นักแสดงที่มีฝีมือโดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่ภาพลักษณ์เค้าโครงใบหน้า พิมพ์เดียวกับ Jamie Lee Curtis, Vera Farmiga เหมาะสำหรับเล่นหนัง Horror เวลาแสดงความหวาดสะพรึงกลัวออกมา ช่างสวยดูมีเสน่ห์ และขอบตาดำขลับของเธอ หลอกล่อให้หลายๆคนครุ่นคิดว่าต้องเป็นฆาตกรแน่ๆ

ถ่ายภาพโดย Luigi Kuveiller สัญชาติอิตาเลี่ยน เคยเป็นคนควบคุมกล้องหนังเรื่อง L’Avventura (1960), Barabbas (1961) ขณะที่เครดิตถ่ายภาพเด่นๆ อาทิ A Quiet Place in the Country (1968), Deep Red (1975) ฯ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือ Turin ผู้กำกับให้เหตุผลว่า สถานที่แห่งนี้มีกิจกรรม Satanists มากที่สุดในทวีปยุโรป,
ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่ Incir De Paolis Studios, Lazio

แม้สีแดงจะโดดเด่นชัดในหนัง แต่ยังไม่ถึงขั้นฉูดฉาด เข้มข้น จัดจ้านเหมือนผลงานถัดไป Suspiria (1977) เน้นความกลมกลืนระหว่างแสงสว่าง-ความมืด และหลายๆฉากจัดตกแต่งภายแฝงนัยยะสำคัญบางอย่าง

ความโดดเด่นของการถ่ายภาพอยู่ที่ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Argento หลายครั้งด้วยเทคนิคถ่ายภาพมุมมองบุคคลที่ 1 แทนสายตาฆาตกร (ถ้าพบเห็นมือกระทำการฆาตกรรม นั่นเป็น Argento แสดงเอง จะได้ไม่ต้องเสียเวลากับนักแสดง) ค่อยๆซูมเข้าเพื่อสร้างสัมผัสถึงภยันตรายค่อยๆคืบคลานเข้าหา จับจ้องเพ่งเล่น ‘จิตอาฆาต’ ผู้ชมเกิดอาการอกสั่น สะพรึง หวาดวิตกแทนตัวละคร จะรอดไหมหว่า??

ขอเริ่มที่ช็อต Prologue นี้ก่อนแล้วกัน นี่เป็นวิธีการนำเสนอที่ปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการ เข้าใจไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น พบเห็นเงาของสองคนกำลังเข่นฆ่าฟันแทงกัน จากนั้นมีดตก ก้าวย่างของเด็ก ร้อยละร้อยเชื่อว่าไอ้เวรนี่ต้องฆ่าใครสักคนในวันคริสต์มาสแน่ๆ!

แนะนำพระเอกว่าเป็นนักเปียโนแจ๊ส ซ้อมดนตรีในห้องโถงประหลาด รายล้อมด้วยเสาสถาปัตยกรรมโรมันโบราณ, ความน่าสนใจของฉากนี้คือคำแนะนำ การเล่นดนตรีที่ดีไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ ถูกต้องเปะๆทุกโน๊ต ท่วงทำนอง จังหวะ แบบนั้นมันหุ่นยนต์โปรแกรมแล้ว! มนุษย์ควรต้องใส่จิตวิญญาณ อารมณ์ ความผิดพลาด นั่นแหละคือความสมบูรณ์แบบแท้จริง!

หลายๆฉากของหนังเป็น Long Take สร้างสัมผัสให้ผู้ชมหายใจยาวๆ เกิดความรู้สึกปั่นป่วนไม่ทั่วท้อง (เมื่อไหร่มันจะคัทหว่า?) อย่างฉากนี้กล้องเคลื่อนมาจากด้านนอก ผ่านผ้าม่าน จากนั้นซูมเข้าไปที่สามคนบนเวที ฉากสีแดงเจิดจรัสมากๆ ลึกเข้าไปในห้วงแห่งจิตวิญญาณ ‘Deep Red’

ฉากนี้เป็นสร้างความเข้าใจให้ผู้ชมเกี่ยวกับ ‘จิตสังหาร’ โดยตัวละครที่มีโทรจิต สัมผัสพิเศษ สามารถรับพลังล่องลอยอยู่ท่ามกลางอากาศธาตุได้ และคงเป็นความต้องการทดลองเล่นของฆาตกร เลยส่งจิตสังหารของตนเองพุ่งไป ปรากฎว่าหญิงสาวผู้นั้นสามารถรับได้ นั่นคงสร้างความตื่นตระหนกเล็กๆจนต้องลุกออกจากที่นั่งไปเข้าห้องน้ำ และจากนั้นเลยจำเป็นต้องฆาตกรรมปิดปาก

ฉากนี้น่าจะเป็นการสร้างขึ้นในสตูดิโอแน่ๆ เพราะลักษณะร้านอาหารมีความคล้ายคลึงกับผลงานภาพวาด Nighthawks (1942) ของ Edward Hopper [จดจำได้จาก Blade Runner (1982)]

ผลงานของ Hopper มอบสัมผัสที่เป็น Futurist จินตนาการถึงสถาปัตยกรรมโลกอนาคต จะมีความเป็น Minimalist เน้นความเรียบง่ายแต่ดูหรูหรามีสไตล์ แต่ถึงกระนั้นข้างในเป็นบาร์ขายเหล้า มอบเมาโลกีย์ ด้านมืดของชีวี ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามเสียกระไร

รูปปั้นแกะสลักที่ดูเหมือนผลงานของ Michelangelo Buonarroti แบ่งแยกชายสองคนให้ออกห่างจากกัน โดยกล้องจะค่อยๆถอยหลังไปเรื่อยๆ แสดงถึงระยะความสัมพันธ์ระหว่าง Marcus กับ Carlo ซึ่งกับคนที่ล่วงรู้ตอนจบแล้วน่าจะเข้าใจสาเหตุผลทำไม? นัยยะความหมายของฉากนี้ช่างตรงเผง!

ในมุมมองผมเอง รูปปั้นนี้ทำตัวเหมือนทวยเทพแอบจับจ้องมอง ‘Peeping Tom’ รับชมดูการกระทำของมนุษย์ มุมมองบุคคลที่ 3 ไม่สามารถกระทำการใดๆได้ เหมือนผู้ชมภาพยนตร์ก็ไม่ปาน

หนึ่งในฉาก Long Take ที่เจ๋งเป้งมากๆ ตั้งกล้องตำแหน่งนี้แล้วซูมเข้าไปให้ลึกที่สุด พบเห็นตัวละครกำลังเดินตรงเข้าหากล้อง พูดคุยสนทนากันเรื่อยเปื่อย, ความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับเทคนิคนี้ คล้ายคลึงกับ The Graduate (1967) ตัวละครกำลังเดินก็จริงอยู่ แต่มีความเชื่องช้าจนเหมือนไม่ได้เคลื่อนไปไหน นี่เป็นการสะท้อนความคืบหน้าสืบสวนสอบสวนค้นหาตัวฆาตกร วันเวลาดำเนินเดินไปข้างหน้า แต่อะไรๆกลับดูเอื่อยเฉื่อยพิกล

ความ Feminist-ist ของหนังเรื่องนี้ เด่นชัดมากๆตั้งแต่รถเต่าโกโรโกโสของนางเอก เปิดประตูได้ฝั่งเดียว นั่งๆอยู่เบาะยุบ ที่กันแดดหล่นลงมา ผู้หญิงอยู่ตำแหน่งสูงกว่า เป็นผู้ขับเคลื่อน พาผู้ชายไปส่งยังเป้าหมาย

หลายๆช็อตของหนัง จะมีตัวละครที่เหมือนแฝงนัยยะบางอย่าง แต่กลับหาความสำคัญอะไรไม่ได้สักนิด แค่เพียงตัวประกอบฉากเด่นๆคอยดึงดูด เบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมเท่านั้นเอง

แต่เท่าที่ผมสังเกตดู อย่างหญิงสาวที่กำลังแต่งหน้าด้านซ้ายมือนี้ ตัวละครเด่นๆในหลายๆช็อต มักมีความเป็นเอกเทศ ‘Individual’ ตัวคนเดียวแบบไม่ค่อยสุงสิงกับใคร อารมณ์เหงาๆเปล่าเปลี่ยว เฝ้ารอคอยบางสิ่งอย่าง … นี่อาจสะท้อนโลกอนาคตในจินตนาการของผู้กำกับ Argento ที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นปัจเจกบุคคล ตัวใครตัวมัน มักไม่ค่อยพึ่งพิงพาต่อใคร (ก็ตอนที่หญิงสาวกรีดร้องต้นเรื่อง แทบไม่มีใครอยากสนใจเหลียวแล แหงนมองดู ให้ความช่วยเหลือ เป็นโลกที่มีความส่วนตัวสูงมากๆ)

การแข่งขันงัดข้อ ถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ระหว่างชาย-หญิง ถ้าวัดกันด้วยสรีระร่างกาย โดยปกติทั่วไปสตรีไม่มีทางเอาชนะบุรุษได้เลย แต่ด้วยเล่ห์ กล มายา ความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง โลกสมัยนี้ถือกันว่ายินยอมรับได้ เฉกเช่นนั้นถ้าเธออยากเป็นช้างเท้าหน้าก็ตามสบาย ดูแลเอาตนเองให้รอดแล้วกันเป็นพอ

Clara Calamai (1909 – 1998) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน ประสบความสำเร็จโด่งดังมากในยุค 40s เกิดที่ Prato, Tuscany แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Pietro Micca (1938), โด่งดังเป็นที่รู้จักกับ Ossessione (1943), The Adulteress (1946) ** คนแรกที่คว้ารางวัล Nastro d’Argento: Best Actress (เทียบเท่ากับ Oscar ของประเทศอิตาลี) รีไทร์จากวงการเมื่อปี 1967 หวนกลับมาอีกครั้งเดียวกับ Deep Red (1975)

ภาพทั้งหมดที่ติดบนฝาผนังนี้ คือบทบาทการแสดงจริงๆของ Calamai แต่กาลเวลาทำให้ค่อยๆถูกหลงลืมเลือน แบบตัวละครของเธอ Martha (แม่ของ Carlo) ไม่แตกต่างกัน ทั้งยังถูกสามีกดขี่ข่มเหง วางอำนาจบาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงจุดฟิวส์ขาด ระเบิดเวลาจึงเริ่มทำงาน

หลายคนคงคิดว่าบุคคลผู้นี้คือชาย แต่แท้จริงแล้วผู้รับบท Ricci คือนักแสดงหญิง Geraldine Hooper พอเขียนขอบตา ม้วนๆผมหยิกๆ ก็สามารถหลอกผู้ชมให้หลงเข้าใจผิดได้ … เฉกเช่นเดียวกันกับเพศของฆาตกร เริ่มต้นมาใครๆมักครุ่นคิดว่าต้องเป็นผู้ชาย แล้วทำไมผู้หญิงถึงเป็นไปไม่ได้ละ!

เหตุการณ์เมื่อครั้นวัยเด็ก ทำให้ชีวิตของ Carlo เต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน ภาพวันนั้นยังคงตราตรึงฝังลึกในใจ กินเหล้าเมามายต้องการลาจากโลกนี้ไป แต่เมื่อไหร่สร่างเมา ฟื้นคืนสติ เลยต้องอาศัยร่วมรักหลับนอนกับเพื่อนชายคนนี้ (ให้ถือว่าเป็นพวกเขาเกย์นะครับ) นี่เป็นการสะท้อนความผิดปกติภายในจิตใจของเขา เมื่อผู้หญิง(แบบแม่)ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพักพิงอะไรได้ คนรักเพศเดียวกันเท่านั้นถึงสามารถตอบโจทย์ตนเอง

เหตุที่ฆาตกรต้องการเข่นฆ่า Marcus Daly ในฉากนี้ ไม่ได้จากเพราะเขาเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เมื่อการฆาตกรรมครั้งก่อน แต่คือก่อนหน้านี้ 2-3 ฉาก เมื่อได้ไปเยี่ยมใครบางคน แล้วแสดงพฤติกรรมแบบว่า มิได้ใคร่สนใจอยากสนิทสนมชิดเชื้อด้วยสักเท่าไหร่ กลายเป็นความขุ่นเคืองไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่

ไดเรคชั่นของฉากนี้ไม่ธรรมดาทีเดียว โดยเฉพาะ Long Take กล้องค่อยๆเคลื่อนจากด้านหลังตัวละคร ผ่านประตู เลี้ยวลดซ้ายขวา ไปจนถึงลูกบิดหน้าห้อง ฆาตกรกำลังค่อยๆเปิดตัวเข้ามา นี่ถ้าไม่ได้สันชาติญาณเอาตัวรอด อารมณ์ศิลปินสูงมากๆทำให้เกิดสติและสมาธิ คาดว่าอาจได้ม่องเท่งไปแล้วละ!

เรื่องราวของนักเขียนนวนิยาย House of the Screaming Child โดย Amanda Righetti (รับบทโดย Giuliana Calandra) มีลักษณะคล้ายหนังซ้อนหนัง แต่เป็นหนังสือที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ฆาตกรรมจริงๆ ด้วยเหตุนี้เธอเลยโดนฆ่าปิดปาก เพราะอาจเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อตำรวจ

การใช้เข็มเป็นอาวุธ สำหรับจะทิ่มแทงฆาตกร อันนี้ชัดเจนเลยว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ Halloween (1978) มองเป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ เพื่อใช้ตอบโต้ทำร้ายศัตรู แต่ปรากฎว่าฆาตกรผู้นั้น แท้จริงแล้วเป็น…

ผมค่อนข้างมั่นใจมากๆว่า ต้นไม้สีขาวประกอบฉากนี้ ต้องนำจาก The Bird with the Crystal Plumage (1970) แน่ๆ ซึ่งในบ้านหลังนี้ยังพบเห็นกรงนก ซึ่งวินาทีที่มันได้รับอิสรภาพออกมา กลับจู่โจมตีทำร้ายเจ้าของ ราวกับว่าสะสมความอึดอัดอั้น คับข้องแค้นใจไว้มาก เลยต้องการล้างแค้นทำร้าย

เมื่อพูดถึงฉากฆาตกรรมในห้องน้ำ มักชวนให้ระลึกถึง Les Diaboliques (1955) กับ Psycho (1960) ขึ้นมาทุกที เอาว่ามันก็ยังมีวิธีให้ผู้ชมรู้สึกลวกร้อน มอดไหม้ไปกับมันได้อยู่อีก

ความตายของตัวละครจากการถูกกดจมน้ำร้อน ใบหน้าบูดบวมแดงปลั่ง นี่คล้ายการกระชากทำลายหน้ากาก เปิดเผยตัวตนแท้จริงอันเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์ เห็นแก่ตัว แทนที่จะนำความจริงไปพูดคุยแจ้งตำรวจ กลับแสวงหาผลประโยชน์เขียนเป็นนิยาย น่าจะขายดีไม่น้อยเลยมีคนพอรู้จัก

กระนั้นก่อนตายก็ได้ทอดทิ้งคำใบ้บางอย่างซ่อนเร้นไว้ ต้องใช้สติปัญญาครุ่นคิดพอสมควรถึงขบออกค้นพบเจอ

มนุษย์มีหลายสิ่งพยายามปกปิดบังซ่อนเร้น แต่ถ้าเป็นเรื่องความชั่วมักไม่สามารถหลบซ่อนได้อย่างมิดชิด การกระเทาะปูนซีเมนต์ ทำลายกำแพงห้องหับ สัญลักษณ์แทนการค่อยๆค้นพบเจอข้อเท็จจริงบางอย่างที่ใครบางคนไม่อยากให้ผู้อื่นรับรู้เห็น และเมื่อสิ่งนั้นได้รับการเปิดเผย หายนะ โศกนาฎกรรม กรรมสนองกรรม มันย่อมย้อนกลับคืนมา

หลายคนอาจครุ่นคิดความหมายของภาพนี้ เด็กชายถือมีดเข่นฆ่าแทงพ่อจนเลือดอาบ แต่นั่นยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเมื่อปูนซีเมนต์ด้านซ้ายกะเทาะหลุดออกมา ภาพของแม่ทำมือเหมือนจะเป็นผู้เขวี้ยงขว้างมีดนั้น ทำให้ความหมายของภาพเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

กับคนที่ดูถึงตอนย้อนอดีต Flashback เฉลยที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้ จักล่วงรู้คำตอบว่า เด็กชายไม่ใช่คนแทงแต่คือแม่ และการที่เขายกมีดขึ้นมา นั่นแค่จับจ้องมอง รับชมดูอาวุธเท่านั้นเอง

การทำลายตุ๊กตาเด็ก เหมือนเพื่อเป็นการบอกให้มนุษย์รู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว แต่ความจริงก็คือ ต่อให้วัยวุฒิ คุณวุฒิ อะไรวุฒิๆทั้งหลายพัฒนาขึ้น ทุกคนก็ยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวตนเอง

ผมชอบการนำเอาตุ๊กตาเด็กมาใช้เป็นองค์ประกอบของหนังมากๆ มันสร้างความบริสุทธิ์ เดียงสา อยากทำลายให้เติบโต แต่มันก็จักอยู่คู่กับเราตราบจนวันตาย

การตายของศาสตราจารย์ผู้พูดมาก Professor Giordani (รับบทโดย Glauco Mauri) ก็สนองตามกรรมดีแต่ปาก ถูกจับเอาทิ่มแทงกับขอบมุมโต๊ะ สามเหลี่ยม ฟันหลอหมดหล่อ และกริชแทงคอด้านหลัง เลือดหยดติ๋งๆ

ความตายของ Carlo สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อวัยเด็ก ผู้โชคร้ายที่พบเห็นโศกนาฎกรรมขึ้นกับตา ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถูก’เกี่ยว’ด้วยลวดเล็กจากหลังรถบรรทุก ลากไถลกระแทกโน่นนี่นั่น และวินาทีสุดท้ายโดนล้อรถเหยียบทับศีรษะเละเป็นโจ๊ก

ถึงตอนยังเป็นเด็กจะมิได้เกี่ยวเนื่องอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่ ความพยายามปกปิดซ่อนเร้นตัวตนแท้จริงของตนเอง(และแม่) เป็นเหตุให้เขากลับกลายมาเป็นผู้เกี่ยวข้อง ศีรษะถูกบดขยี้ทำลาย เพราะความคิดอันเห็นแก่ตัวตนเอง

ความน่าสนใจของช็อตนี้ ไม่เพียงทำให้พระเอกค้นพบคำตอบของฆาตกรตัวจริงที่มองข้ามไป แต่ยังสะท้อนถึงจิตใจอันชั่วร้ายของมนุษย์ที่เพ่นพ่านอยู่เต็มโลกไปหมด มองไม่เห็นด้วยตา ต้องใช้กระจกวิเศษแบบช็อตนี้ ถึงพบเห็นผี ปีศาจ สัตวประหลาด อัปลักษณ์เต็มไปหมด ราวกับกำลังอาศัยอยู่ในขุมนรกก็ไม่ปาน

ความตายของฆาตกรตัวจริง ถูกสร้อยรัดคอเกี่ยวติดกับลิฟท์ขาลง ตัดศีรษะขาดเป็นสองท่อน เลือดอาบน้ำลายไหลทะลัก, คอขาด มักเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียสิ้นอัตลักษณ์ ตัวตน ความเพ้อฝันทะเยอทะยาน มิอาจได้ทำสิ่งสนองความปรารถนาตนเองอีกต่อไป

ไดเรคชั่นของฉากนี้ ผู้ชมจะพบเห็นวินาทีที่คอของหุ่น ถูกสร้อยคอดึงรัดตัดขาดเลือดทะลัก แต่ก็แค่นั้นนะครับ ไม่เห็นศพ ไม่เห็นศีรษะหลุดจากร่าง หรือตัวไร้หัว แค่ภาพของสร้อยพร้อมเลือดอาบช็อตนี้ ติดบนลิฟท์ที่กำลังค่อยๆเคลื่อนลง จบท้ายด้วย Ending Credit ใบหน้าพระเอกสะท้อนกับกองเลือดสีแดง แต่แค่ก็นี้เชื่อว่าทำให้หลายคนกรีดกราย คอหด เสียววาบ

ตัดต่อโดย Franco Fraticelli สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Argento ผลงานเด่นๆ อาทิ The Bird with the Crystal Plumage (1970), Deep Red (1975), Seven Beauties (1976), Suspiria (1977), Boys on the Outside (1990) ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Marcus Daly เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายครั้งนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งของฆาตกร ครั้งหนึ่งเล่าผ่านตัวละคร Prof. Giordani ได้รับการร้องขอให้ไปสืบเสาะค้นหาความจริงยังบ้านของนักเขียน Amanda Righetti และช่วงท้ายมีการย้อนอดีตเพื่อเฉลยสิ่งเกิดขึ้นที่ Prologue

หลายครั้งของหนังมีการแทรกภาพตุ๊กตาวูดู ภาพวาด ลูกแก้ว มีด ฯ เหล่านี้คือของเล่นของฆาตกร ปรากฎขึ้นซ้ำๆเพื่อท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ สำคัญอะไรของเรื่องราว จะถูกนำไปใช้อย่างไร

สำหรับเพลงประกอบ ตอนแรกผู้กำกับติดต่อนักเปียโนแจ๊ส Giorgio Gaslini แต่ได้ผลลัพท์ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ (มีการดึงมาใช้ 3 บทเพลง) พยายามพูดคุยกับ Pink Floyde ก็ไม่สำเร็จ หวนกลับอิตาลีพบเจอวง Goblin แนว Progressive Rock พูดคุยกับหัวหน้าวงอย่างถูกคอเลยจับเซ็นสัญญาร่วมงานกันครั้งแรก ก่อนกลายเป็นขาประจำที่ได้กลายเป็นตำนานร่วมกัน

บทเพลงไม่ได้เน้นสร้างความ ‘Horror’ หวาดสะพรึงกลัว แต่เต็มไปด้วยความลึกลับพิศวง มันอะไรกันหว่าที่กำลังจะเกิดขึ้น มุ่งเน้นสไตล์ ความแปลกหู สร้างสัมผัสรสชาติใหม่ให้เกิดขึ้นขณะรับชม … ใครเคยดู Suspiria (1977) ได้ยินปุ๊ปน่าจะรับรู้ได้ทันทีว่าเพลงนี้ Goblin แน่ๆ

สำหรับเพลงกล่อมเด็กที่โคตรหลอกหลอน พบเห็นจากปกชื่อ Canioncine Per Bambini (แต่ค้นใน Google บอกที่ถูกคือ Canzoncine Per Bambini) แต่เอาว่ามันคือ Nursery Rhyme Song ช่วยเสริมสร้างเงื่อนไข บรรยากาศของการฆาตกรรม กล่าวคือ ถ้าเพลงนี้ไม่ดังขึ้น ฆาตกรก็จะไม่สามารถลงมือเข่นฆ่าทำร้ายใครได้

ให้ตายเถอะ การันตีว่าหลายคนพอได้ยินเพลงนี้จะส่ายหัว ไม่เห็นมันจะเข้ากับหนังตรงไหน?? แต่จะบอกว่ามันเป็นการสร้างบรรยากาศโคตรเจ๋งเป้งมากๆ (โดดเด่นกว่า Main Theme เสียอีกนะ) การผจญภัยในบ้านผีสิงไม่ได้จำเป็นต้องหลอกหลอน สั่นสะพรึงกลัว แต่มีความลุ้นระทึก ตราตรึง เสียงเบสและกีตาร์ทำเอาหัวใจเต้นตุบๆ เต็มไปด้วยความพิลึก คลุ้มคลั่ง บ้าบอคอแตก

Deep Red นำเสนอสิ่งที่คั่งค้างคาฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของทุกสิ่งมีชีวิต เมื่อมันสะสมอัดแน่นจนถึงจุดแตกหัก ก็ถึงคราระเบิดทะลักคลุ้มคลั่งออกมา ทำลายล้างได้ทุกสิ่งอย่างรอบข้างกาย คนใกล้ตัว และอาจถึงผู้บริสุทธิ์ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยเลย ต้องคอยมารับเคราะห์กรรมแห่งความโชคร้าย

โดยประเด็นหลักที่หนังนำเสนอ และถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Dario Argento พบเห็นได้ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก คือความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ ‘Feminist’ แต่ก็เช่นกันอีกนะแหละ ทำไมถึงต้องให้ผู้หญิงเล่าเรื่อง ในเมื่อผู้ชายทั้งแท่งนำเสนอมุมมองดังกล่าวได้ชัดเจนกว่า (คงเพราะ Argento เป็นผู้ชาย จะให้ทำหนัง Feminist ในมุมของผู้หญิง คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว)

ผู้หญิงมักเก็บสะสมความอึดอัดอั้นในเรื่องความขัดแย้ง แตกต่างทางเพศไว้ค่อนข้างสูง ต้องการอิสรภาพโบยบิน เสรีเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกบีบบังคับ จำกัด ครอบงำ หรือจิกหัวตอบสนองความรุนแรง โลกยุคสมัยนี้ได้เสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำทาง มีตัวแบบอย่างให้สตรีเกิดความกล้า เรียนรู้จักสิทธิ และสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง เหตุนี้จึงไร้ซึ่งความจำเป็นอีกต่อไปที่จะพึ่งพาบุรุษดั่งช้างเท้าหน้า ฉันเองก็เดินนำได้ เรื่องอะไรจะยินยอมถูกขุมขังไว้ในกรง ราวกับถูกฆ่าให้ตายทั้งเป็น

การงัดข้อระหว่างชาย-หญิง ข้อเท็จจริงนั้นเห็นๆอยู่ การเอาตัวรอดของสตรีไม่ใช่ใช้กำลังเสนอหน้า แต่คือสติปัญหา เฉลียวฉลาด หลักแหลม รู้หลบเป็นปีก กติกาคือข้อจำกัดวิถีปฏิบัติ แต่มิใช่สิ่งจำเป็นต้องเห็นพ้องคล้อยตามเสมอไป เพื่อผลประโยชน์ โอกาส สนองความต้องการส่วนตนเอง สุขของฉันไม่ใช่เรื่องคนอื่น … โลกอนาคตมันก็มีแนวโน้มเป็นแบบนี้

เมื่อใดที่ชาย-หญิง สามารถเป็นอิสระต่อกัน ไม่จำต้องแต่งงานครองคู่ก็สามารถอยู่เป็นโสดโดดเดี่ยว อนาคตแห่งความเป็นปัจเจกชน Individualism ก็จะแบบตัวประกอบหนังเรื่องนี้ แทบไม่พบเห็นใครมีปฏิสัมพันธ์กับใคร (นอกจากลูกค้ากับบ๋อย) ถามตรงๆมันน่าอยู่ตรงไหน หลอนๆ หลอกๆ มนุษย์ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างอุดมคติ สมบูรณ์แบบ

การจะปลูกฝังแนวคิดเสมอภาคเท่าเทียมให้กับคนรุ่นใหม่ จำต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็กเล็ก … ไม่ใช่ให้พบเห็นการฆาตกรรมแบบในหนัง แล้วเติบโตขึ้นกลายเป็นเกย์/กระเทย/เพศที่สาม นั่นเป็นเหตุการณ์สะท้อนสิ่งที่ผมพูดบอกไป คือถ้าอยากให้พวกเขาเติบโตขึ้นมีโลกทัศนคติเช่นไร การเสี้ยมสั่งสอนชี้ชักนำของพ่อ-แม่ ผู้ใหญ่ มีความสำคัญมากๆ เพราะมันจักส่งผลกระทบต่อรสนิยมทางเพศของพวกเขาเมื่อเติบโตบรรลุนิติภาวะ

Profondo rosso หรือ Deep Red แปลว่าสีแดงเข้ม ตรงๆเลยก็คือสีของเลือด แต่นี่ไม่ได้สื่อถึงแค่ความตายเท่านั้น ยังหมายรวมถึง ‘ชีวิต’ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกิดมามีเท่าเทียมกันหมด แต่ทำไมพอเติบโตขึ้นถึงค้นพบความแตกต่าง ชาย-หญิง สูง-ต่ำ ดำ-ขาว เรียกรู้จักสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่ดีกว่าหรือ

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง รายรับถล่มทลายล้นหลามในอิตาลีประมาณ ₤3,709,000,000,000 ล้าน Lire มากกว่า The Bird with the Crystal Plumage (1970) เกือบๆสองเท่าตัว ขึ้นแท่นน่าจะเป็นหนัง Giallo ทำเงินสูงสุด(ขณะนั้น)

เข้าฉายในอเมริกาเห็นว่าถูกตัดออก 22 นาที ส่วนใหญ่เป็นฉากเลือด ความรุนแรง โรแมนติกระหว่างคู่พระนาง และ Sequence ของ House of the Screaming Child, ทำเงินได้ประมาณ $630,000 เหรียญ

อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ โดดเด่นชัดมากกับแฟนไชร์ Halloween, Saw, The Conjuring, Evil Dead II, Scanners (1981) ของผู้กำกับ David Cronenberg, Kill Bill: Vol. 1 (2003) ของผู้กำกับ Quentin Tarantino ฯ

ถึงสาระจะไม่ค่อยมี แต่โดยส่วนตัวค่อนข้างชอบความสลับซับซ้อนของหนังอย่างมากทีเดียว ครุ่นคิดตามจนเกือบๆปวดหัว ประทับใจไดเรคชั่นของผู้กำกับ งานภาพ และเพลงประกอบที่สร้างมิติให้กับตนเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครและคงไม่มีใครเหมือน

แนะนำคอหนัง Giallo, Thriller Horror Mystery, แนวอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน ค้นหาตัวฆาตกร, หลงใหลในงานศิลปะ ภาพวาด ดนตรี, แฟนๆผู้กำกับ Dario Argento และนักแสดงนำ David Hemmings, Daria Nicolodi ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับการฆาตกร คลุ้มคลั่ง เสียสติแตก

TAGLINE | “Deep Red น่าจะเป็นภาพยนตร์ลึกล้ำที่สุดของ Dario Argento นำเสนอความตายได้อย่างมีชั้นเชิงศิลปะขั้นสูง”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: