Deewaar (1975) : Yash Chopra ♥♥♥♥♡
สงครามแย่งชิงแม่ของลูกชายสองคน Amitabh Bachchan รับบทลูกคนโต ดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวสุขสบาย ลักลอบนำเข้าของเถื่อนผิดกฎหมาย Shashi Kapoor รับบทลูกคนเล็ก มีชีวิตสุจริต เลือกอาชีพเป็นตำรวจ สุดท้ายแม่เลือกใครคงคาดเดาได้ไม่ยาก แต่การต้องเห็นลูกทั้งสองต่อสู้ฆ่าแกงกัน คงไม่มีแม่ที่ไหนทำใจได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Deewaar แปลว่า The Wall, กำแพง สิ่งที่กั้นแบ่งระหว่างตัวละครของ Bachchan กับ Kapoor สองพี่น้องครอบครัวเดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว สวรรค์นรก ตรงกันข้ามสุดขั้ว, จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ลักษณะนี้ในอินเดีย มาจาก Mother India (1957) และ Gunga Jumna (1961) ซึ่งต้องบอกว่ารับอิทธิพลมาอย่างเยอะ เนื้อเรื่องคล้ายคลึงกันแทบจะเปะๆ แตกต่างที่พื้นหลัง แนวหนังและใจความสำคัญ, กับ Deewaar เป็นการสะท้อนสถานการณ์การเมืองของอินเดียยุคสมัยนั้น เมื่อสองหนุ่มเติบโตขึ้นในสังคมอุดมคอรัปชั่น ช่วงเวลาที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธา อึดอัดอั้น คับแค้นข้องใจ กำแพงทางนามธรรมนี้จึงบังเกิดขึ้นเพื่อแบ่งแยกคุณธรรม-มโนธรรม-จริยธรรมทางสังคม
คงต้องเกริ่นถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอินเดียในช่วงเวลานั้นสักนิด,
– เริ่มจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947,
– ทศวรรษ 50s เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาฟื้นฟู (reconstruction) ผู้คนเต็มไปด้วยความหวังและมองโลกในแง่ดี,
– ทศวรรษ 60s สิ่งที่อังกฤษทิ้งไว้เริ่มแสดงผลกระทบ กอปรกับการรุกคืบของจีนปี 1962, สงคราม India-Pakistan ปี 1965 นี่เป็นช่วงเวลากระแสชาตินิยมลุกฮือขึ้นอีกครั้ง,
– ทศวรรษ 70s เริ่มจาก Bangladesh แยกตัวออกจาก Pakistan, ช่วงปี 1972-73 เกิดมรสุมครั้งใหญ่ อาหารขาดแคลน ราคาข้าวพุ่งสูง, ปี 1973-74 ราคาน้ำมันพุ่งทะยาน ผู้คนตกงาน เหล่านี้เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดและความคอรับชั่นของรัฐบาล ส่งผลให้ผู้คนตกงาน รวมกลุ่มชุมนุมประท้วง, ปี 1974 รัฐบาลกู้ยืมเงินจาก IMF เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นการสร้างช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างคนรวย-คนจน, ปี 1975-77 (21 เดือน) นายกรัฐมนตรี Indira Gandhi ประกาศสภาวะฉุกเฉิน ‘National Emergency’ ออกมาตรการขัดขวาง จัดการกลุ่มบุคคลผู้ต่อต้านรัฐบาลด้วยการใช้อำนาจเด็ดขาดรุนแรง ถือเป็นยุคมืดของประเทศอินเดียโดยแท้
ช่วงเวลาที่หนังเรื่องนี้สร้างขึ้น ตรงกับสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น คดโกงกิน สนแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนหัวประชาชนผู้ทุกข์ยากลำบาก ตกงานหางานทำไม่ได้ ใครก็ตามที่สามารถหาช่องทางรวยสำเร็จ ก็จะไม่สนซึ่งคุณธรรมศีลธรรม มุ่งเดินตรงไปทางนั้น
หนึ่งในผู้มีชื่อเสียงจากช่องโหว่นี้คือ Mastan Haider Mirza หรือ Haji Mastan (1926 – 1994) เกิดที่ Panaikulam, Ramanathapuram (ปัจจุบันคือ Tamil Nadu) เบื้องหน้าคือนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เบื้องหลังคือหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ลักลอบนำเข้าของเถื่อนผิดกฎหมาย, Mastan เป็นคนชื่นชอบการเข้าสังคมงานเลี้ยง พบปะนักการเมือง นักธุรกิจ เป็นเพื่อนกับนักแสดง Bollywood (อาทิ Dilip Kumar, Raj Kapoor, Dharmendra, Feroz Khan, Sanjeev Kumar ฯ) เรียกว่ารอบข้างเต็มไปด้วยเส้นสายมากมาย นิยมสวมเสื้อสีขาว รองเท้าขัดมัน สูบซิการ์ราคาแพง และขับรถ Mercedes Benz
เกร็ด: Haji Mastan ถือเป็น Celebrity Gangster คนแรกของเมือง Bombay ที่ใครๆสมัยนั้นน่าจะเคยรู้จักหรือได้ยินชื่อ
Yash Raj Chopra (1932 – 2012) ผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘King of Romance’ ผู้ก่อตั้ง Yash Raj Film หนึ่งในสตูดิโอใหญ่ทรงอิทธิพล ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศ, เกิดที่ Lahore (ปัจจุบันเป็นประเทศ Pakistan) ลูกสุดท้องคนที่แปด ความฝันแรกคือเป็นวิศวกรแต่เมื่อสอบไม่ติด จึงหันไปสนใจสร้างภาพยนตร์ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วย I. S. Johar และ Baldev Raj Chopra (พี่ชายคนรอง) กำกับหนังเรื่องแรก Dhool Ka Phool (1959) ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์
ใครเป็นคอหนัง Bollywood ตัวยงอาจเกิดความสงสัย Yash Chopra เนี่ยนะทำหนังสะท้อนการเมือง ชายผู้นี้ได้รับฉายาว่า ‘King of Romance’ ไม่ใช่หรือ?, ช่วงแรกๆในวงการภาพยนตร์ของ Chopra ก่อนที่จะแต่งงานกับ Pamela Singh เคยทำหนังแนวอื่นๆตามความสนใจของตนเอง หนึ่งในนั้นคือ Dharmputra (1961) เรื่องราวเกี่ยวกับการแบ่งแยกอินเดีย (Partition of India) สามารถคว้ารางวัล National Film Awards: Best Feature Film in Hindi ต้องถือว่า Chopra เป็นผู้มีความสนใจเรื่องราวทางการเมืองมาตั้งแต่แรก เพิ่งจะมาเน้นหนังโรแมนติกก็หลังจากได้พบเจอคู่รักภรรยาของตนเอง จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ
สำหรับหนังเรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจจาก Haji Mastan ที่คงได้เคยพบเจอตัวจริงในงานเลี้ยง จดจำภาพลักษณ์ที่ยากจะลืมเลือน ซึ่งพอเบื้องหลังความจริงได้รับการเปิดเผย Mastan ถูกจับคุมขังในช่วงประกาศสภาวะฉุกเฉิน (1975 – 77) ผู้กำกับ Chopra จึงเกิดความสนใจเรื่องราวที่อ้างอิงจากชีวประวัติของชายผู้นี้
มอบหมายให้ Salim-Javed คู่หูดูโอนักเขียนบท Salim Khan และ Javed Akhtar ที่ได้สร้างชื่อให้กับตัวเองตั้งแต่ Andaz (1971), Haathi Mere Saathi (1971), Zanjeer (1973), Majboor (1974) ฯ ไฮไลท์ในอาชีพคือปี 1975 ที่มีสองผลงาน Masterpiece คือ Sholay (1975) และ Deewaar (1975), เห็นว่าค่าตัวของพวกเขาในหนังเรื่องนี้สูงถึง 8 Lakh (800,000 รูปี) เป็นค่าตัวที่สูงพอๆกับนักแสดงเกรด A ในสมัยนั้นเลย
Vijay (รับบทโดย Amitabh Bachchan) และ Ravi (รับบทโดย Shashi Kapoor) ลูกชายของ Anand Verma (รับบทโดย Satyen Kappu) ผู้นำสหภาพแรงงาน (Trade Union) ที่ถูก Blackmail โดยเจ้าของบริษัท ทำให้ต้องทรยศหักหลังเพื่อนร่วมงานจนต้องหนีหัวซุกหัวซุนอย่างไร้จุดหมาย ทิ้งลูกชายทั้งสองไว้กับแม่ Sumitra Devi (รับบทโดย Nirupa Roy) จำต้องต่อสู้ดิ้นรนทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ลูกๆทั้งสองเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ มีอนาคตสดใส
Amitabh Harivansh Rai Shrivastava Bachchan (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Allahabad, Uttar Pradesh มีพ่อ Harivansh Rai Srivastava เป็นนักกวีภาษาฮินดีชื่อดังแห่งยุค ตอนแรกตั้งชื่อให้ว่า Inquilaab มาจากบทกวีในช่วงปฏิวัติอินเดีย มีความหมายว่า ‘Long live the revolution.’ แต่โชคดีที่เพื่อนพ่อ Sumitranandan Pant รู้เข้าจึงแนะนำชื่อใหม่ให้เป็น Amitabh ที่แปลว่า ‘the light that will never die.’ แสงที่ไม่มีวันดับ ส่วนนามสกุลมาจากแม่ Teji Bachchan (Bachchan แปลว่า child-like) พ่อชอบที่จะนำใช้เป็นนามปากกาของตัวเอง
ผลงานเรื่องแรกเป็นการให้เสียงบรรยายในหนังของ Mrinal Sen เรื่อง Bhuvan Shome (1969) ที่คว้ารางวัล National Film Award สาขา Best Feature Film, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Saat Hindustani (1969) มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Zanjeer (1973) ในภาพลักษณ์ ‘The Angry Young Man’ ผลงานดังอื่นๆ อาทิ Namak Haraam (1973), Sholay (1975), Amar Akbar Anthony (1977), Don (1978) ฯ จนได้รับการยกย่องเรียกว่า ‘Shahenshah of Bollywood’ หรือ Star of the Millennium
รับบท Vijay ชายหนุ่มที่ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวโดยไม่สนถูกผิด เพราะชีวิตเคยพบเจอแต่ความยากลำบาก จึงเกิดความหลงใหลในสิ่งสะดวกรวดเร็ว ไม่คำนึงถึงความถูกผิด ศีลธรรมจรรยา
นี่เป็นตัวละครได้แรงบันดาลใจจาก Haji Mastan เริ่มต้นเป็นคนงานท่าเรือใน Bombay เลื่อนตำแหน่งขึ้นกลายเป็นผู้ลักลอบขนของเถื่อน โด่งดังจากการหลอกศัตรูคู่แข่ง Bakhia (ในหนังคือตัวละคร Samant) ด้วยตัวคนเดียว ได้เงินมากว่า 5 Lakh (500,000 รูปี) แต่ Mastan ไม่มีน้องชายนะครับ ส่วนที่เหลือคือการเขียนเพิ่มขึ้นมา
ภาพลักษณ์ของ Bachchan นั้นเท่ห์ระเบิด เพราะเสื้อสีแดงที่ข้างหน้ายาวเกินมันไม่เท่ห์ เลยจับผูกไว้ ถกแขนเสื้อขึ้นนิดนึง ผู้คนเลียนแบบกันเป็นทิวแถว, สำหรับ ‘The Angry Young Man’ เรื่องนี้ถือว่าเต็มพิกัด เป็นจุดสูงสุดของชื่อฉายานี้เลยก็ว่าได้ ตัวละครเต็มไปด้วยความอ่อนไหวรุนแรง ยึดมั่นในความเชื่ออุดมการณ์ของตนเอง ขณะที่แฟนสาวถูกฆ่า จิตใจเจ็บปวดรวดร้าว แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธา ฉันจะต้องทำทุกอย่างเพื่อล้างแค้นเอาคืน
ฉากจบของตัวละครนี้ เห็นว่าผู้กำกับ Chopra จงใจไม่ให้บทแก่ Bachchan ต้องการให้เขาดั้นสด บรรยายความรู้สึกเฮือกสุดท้ายออกมา ผลลัพท์ปรากฎว่า … เหนือชั้นจริงๆปู่ Big B
Bachchan ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ควบคู่ไปกับ Sholay ที่ต่างก็ใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะเสร็จสิ้น โดย Sholay มักถ่ายตอนกลางวัน ส่วน Deewaar ไม่ค่อยมีฉากด้านนอกนัก มักถ่ายตอนกลางคืน
Shashi Kapoor (เกิดปี 1938) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, West Bengal ลูกคนที่สามสุดท้องของ Prithviraj Kapoor น้องชาย Raj Kapoor และ Shammi Kapoor ตามติดพ่อตั้งแต่เด็ก เป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์อาทิ Aag (1948), Awaara (1951) ของพี่ชาย Raj Kapoor ได้รับบทนำเดี่ยวครั้งแรกกับ Dharmputra (1961) ผลงานดังๆ อาทิ Kabhi Kabhie (1976), Junoon (1978), Kalyug (1980), New Delhi Times (1988), Muhafiz (1993) ฯ
รับบท Ravi น้องชายที่มีความเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยคิดออกนอกลู่นอกทาง แต่เพราะหางานการปกติทั่วไปทำไม่ได้ จึงลงเอยด้วยการเป็นตำรวจ และพบว่าพี่ชายของตนทำงานผิดกฎหมาย
สิ่งที่ทำให้พี่กับน้องคู่นี้แตกต่างกันสุดขั้ว ทั้งๆที่ห่างกันแค่ 1-2 ปี คือวุฒิภาวะในครอบครัว, Vijay คนพี่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อ ได้ถูกส่งต่อมายังตัวเอง จึงเกิดความก้าวร้าวต่อต้าน ยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัวและน้องชาย โดยไม่สนว่าตัวเองต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ถูกผิดกับการกระทำ, ขณะที่น้อง Ravi เพราะความที่ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน มีแม่และพี่ที่คอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือตลอดเวลา ทำให้สามารถเดินตามวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม เลือกใช้ชีวิตตามหน้าที่อุดมการณ์มากกว่าสันชาติญาณเอาตัวรอด
การแสดงของ Kapoor แม้จะไม่โดดเด่นทรงพลังเท่ากับ Bachchan แต่ถือว่าเป็นผู้เติมเต็มอีกด้านหนึ่งของหนัง คือความถูกต้องเหมาะสมทางคุณธรรรม-ศีลธรรม และสติปัญญา, ใบหน้าเข้มๆของ Bachchan ดูเหมือนโจรผู้ร้าย(จริงๆนะ) ส่วนหน้าละมุ่น เสียงนุ่มๆของ Kapoor ดูเหมือนผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ระดับความสูงต่ำก็ต่างกันพอสมควร เป็นสองนักแสดงที่มีความตรงกันข้ามโดยแท้
Nirupa Roy (1931 – 2004) นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘Queen of Misery’ เกิดที่ Valsad, Gujarat ย้ายมาอยู่ Mumbai ตอนอายุ 15 ปี มักได้รับบทตัวประกอบ คว้ารางวัล Filmfare Award: Best Supporting Actress ถึง 3 ครั้ง กับ Munimji (1956), Chhaya (1962), Shehnaai (1965) กับหนังเรื่องนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ ‘แม่’ ที่ทำให้เธอกลายเป็น type-cast ไปอีกเป็นทศวรรษ จนได้รับยกย่องว่าเป็น ‘greatest Mother of all time in Bollywood’
รับบท Sumitra Devi แม่ผู้เสียสละทำทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก เหน็ดเหนื่อยกายใจ แต่ไม่เคยคิดย่อท้อ เมื่อเห็นลูกเติบโตขึ้นได้ดีก็มีความสุขใจ แต่พอรับรู้ว่าลูกไม่ใช่คนดีสุจริต ย่อมหัวใจแตกสลาย
ภาพลักษณ์ของแม่นี้ ถือว่าต่อยอดจาก Mother India (1957) เสียสละความสุขของตนเองเพื่อลูกน้อยได้เติบใหญ่ ความแตกต่างอยู่ที่ เรื่องนั้นแม่จะเป็นผู้ตัดสินโชคชะตาชีวิตตอนจบ แต่กับเรื่องนี้จะไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น เพียงยืนมองดูอยู่ห่างๆ ยินยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นจาก … อะไรก็ไม่รู้ ความผิดของตัวเองหรือเปล่าไม่ทราบได้
การแสดงของ Roy ครึ่งแรกจะเหนื่อยกาย จากการทำงานยกปูนแบกอิฐ ก่อร่างสร้างฐาน ส่วนครึ่งหลังจะเหนื่อยใจ เพราะต้องทนเห็นลูกรักทั้งสองขัดแย้งต่อสู้ทำร้ายกันเอง นี่ไม่ใช่สิ่งที่แม่จะสามารถทนเห็นรับสภาพได้แม้แต่น้อย
ถ่ายภาพโดย Kay Gee มีลีลาการถ่ายภาพตามเทรนด์ยุคสมัยนั้น ซูมเข้าออก-แพนกล้องซ้ายขวา-แล้วซูมเข้าออกอีกครั้ง นี่เป็นเทคนิคที่มีจุดเริ่มต้นจากหนังเรื่อง The 400 Blows (1959) ของผู้กำกับ François Truffaut
การถ่ายภาพแบบนี้เป็นการสร้างภาษาให้กับหนัง มักมีนัยยะถึงสองสิ่งที่ต้องการโฟกัสมากเป็นพิเศษ (จึงทำการซูมเข้าออกคนแรก เคลื่อนหาคนสอง แล้วซูมเข้าออกอีกครั้ง) ซึ่งพอดีตรงกับหนังเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับพี่น้องสองคน เรื่องราวมักเคลื่อนจากพ่อ-แม่ไปหาลูก และพี่ไปหาน้อง, นี่ถือเป็นภาษาการถ่ายภาพที่ตรงกับเรื่องราวใจความของหนังอย่างยิ่ง
นอกจากโดดเด่นเรื่องการซูม/เคลื่อนกล้องแล้ว การจัดแสงถือว่ามีนัยยะสำคัญ เพราะส่วนใหญ่ของหนังเป็นการถ่ายภายใน มักถ่ายทำตอนกลางคืนที่สตูดิโอ, ช่วงแรกๆจะมีความสว่างสดใส หลังๆเมื่อความชั่วร้ายเริ่มปรากฎ ภาพจะค่อยๆมืดหม่นลง เรียกว่าเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก จิตใจของตัวละครออกมา
ตัดต่อโดย T.R. Mangeshkar และ Pran Mehra หนังแบ่งออกได้เป็น 3 องก์ เล่าเรื่องราวคู่ขนานกัน ตัดสลับไปมาระหว่างพี่น้อยที่จะสะท้อนตรงกันข้าม ให้เวลาพอๆกันเลยละ
– องก์แรก เป็นเรื่องของพ่อแม่ การสูญสิ้นเกียรติศักดิ์ศรีของพ่อ และการเสียสละเหน็ดเหนื่อยยากลำบากของแม่
– องก์สอง จะเน้นเรื่องของ Vijay กับการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด ไต่เต้าจนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มใต้ดิน
– องก์สาม จะเน้นเรื่องของ Ravi กับการเป็นตำรวจ ที่ตัดสินใจยึดมั่นในอุดมการณ์ และการต่อสู้กับพี่ชายเพื่อสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
สำหรับ Prologue/Epilogue เป็นงานมอบเหรียญเชิดชูเกียรติคุณให้กับตำรวจผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในหน้าที่ แต่ Ravi ได้ตัดสินใจให้แม่ของตนเป็นผู้ขึ้นมารับรางวัลนี้แทน เรื่องราวของหนังจะเป็นการเล่าย้อนหลัง ราวกับมุมมองสายตาของเธอ
เพลงประกอบโดย R. D. Burman คำร้องโดย Sahir Ludhianvi, กับหนังเรื่องนี้จะเน้น Soundtrack มากกว่าเพลงร้อง เพื่อสร้างบรรยากาศ ชี้ชักนำพาอารมณ์ให้กับผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งต้องบอกว่ามีความทรงพลังอย่างยิ่ง เน้นเครื่องดนตรี Pop/Rock โซโล่กีตาร์ไฟฟ้า ทรัมเป็ต กลอง ฯ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยพื้นหลังของหนัง
มีฉากหนึ่งของหนัง เชื่อว่าอาจมีแต่ชาวอินเดียเท่านั้นจะตระหนักได้ เมื่อ Vijay กับ Ravi เผชิญหน้าพบกันที่ใต้สะพาน Soundtrack จะเป็นทำนองเพลง Saare Jahaan Se Achcha นี่ไม่ใช่เพลงชาติอินเดียนะครับ แต่เป็นบทเพลง March/Patriotic ภาษา Urdu ที่เหล่าทหารหาญนิยมขับร้องขณะเดินทัพสวนสนาม กับประโยคแรกสุดของเพลง ‘Better than the entire world, is our Hindustan,’ นัยยะของทำนองนี้เป็นการนำเสนอความแตกต่างสุดขั้วของสองพี่น้อง ที่มีลักษณะเป็น Nationalist (Ravi) กับ Anti-Nationalist (Vijay)
ขณะที่เพลงเสียงร้องก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน โดยเฉพาะ Keh Doon Tumhe (=Should I tell you) ขับร้องโดย Kishore Kumar กับ Asha Bhosle บทเพลงเกี้ยวกันระหว่าง Ravi กับ Veera (รับบทโดย Neetu Singh)
ส่วนบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุด I’m Falling In Love With A Stranger ขับร้องโดย Ursula Vaz นักรัองแจ๊สสาว นี่เป็นทำนองที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้ยินมาก่อนในหนัง Bollywood เป็นขณะที่ Anita พบเจอตกหลุมรักกับ Vijay ในบาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเขารอคอยความตายอยู่ แต่เธอคือนางฟ้าที่ช่วยชีวิตไว้
ฉบับในหนังจะถูกขัดจังหวะด้วยเสียงสนทนาของ Vijay กับ Anita ผมนำฉบับเต็มๆ ต้นฉบับของเพลงนี้มาให้ฟัง
ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องถือเป็นเรื่องปกติในครอบครัว เพราะมนุษย์เราล้วนมีความแตกต่างกันทางความคิด ทัศนคติ อุดมการณ์ ฯ แต่ถ้ามันรุนแรงถึงขนาดส่งผลกระทบภายนอก ต่อผู้อื่น ประเทศชาติ นี่เป็นสิ่งยากยิ่งจะสามารถคิิดตัดสินใจแก้ไขทำอะไรได้
หนังตั้งคำถามกับ ศักดิ์ศรี/อุดมการณ์ กับ ความต้องการพื้นฐาน/ครอบครัว สร้างให้สองตัวละครพี่น้องมีพื้นหลังจากครอบครัวเดียวกัน แต่เติบโตผ่านบริบททางสังคมที่แวดล้อมแตกต่าง ซึ่งความห่างแบบสุดขั้วนี้ มันเหมือนว่ามีปัจจัยภายนอกรุนแรงมากที่เป็นตัวกระตุ้น
คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะเข้าใจ ถ้าคุณรับรู้เข้าใจประวัติศาสตร์เบื้องต้นของประเทศอินเดียจากที่ผมเกริ่นไปตั้งแต่แรก ปัจจัยที่ว่านี้ก็คือความคอรับชั่นโกงกินของรัฐบาลผู้นำประเทศ ที่สนแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนปากท้องการดำรงชีพของประชาชน ทำทุกอย่างเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจการปกครอง,
ใจความของหนัง นำเสนอมุมมองการดิ้นรนของผู้คน ในยุคสมัยที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองผู้นำคอรับชั่น เราสามารถเป็นได้ทั้งผู้แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธาออกมาแบบ Vijay หรือสงบสุขุมเยือกเยือนอย่างมีสติแบบ Ravi แต่มันจะมีผลพวงของการเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ให้เราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปฝั่งตรงข้ามไปเสมอ
คำว่า Deewaar, The Wall ในอีกนัยยะอาจหมายถึง ช่องว่าง/กำแพง ที่แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน กลุ่มผู้นำปกครองประเทศกับประชาชน แทนที่หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มันจะค่อยๆแคบลงหรือเบาบาง กลับมีแต่ยิ่งขยายห่างไปเรื่อยๆ แบบหนังเรื่องนี้
สำหรับแม่ … เราสามารถมองได้แบบหนังเรื่อง Mother India เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของผืนแผ่นดินอินเดีย ซึ่งสาเหตุที่เธอไม่สามารถตัดสินกระทำอะไร เพียงแค่เฝ้ามองและอธิษฐาน ก็เพราะเหตุผลนี้แหละ, ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผลลัพท์ของการต่อสู้ย่อมต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ สูญเสีย ผู้คนล้มตาย แบบนี้จะไม่ให้ผืนแผ่นดินแม่ หลั่งน้ำตา แสดงความเศร้าเสียใจออกมาได้อย่างไร
ไม่มีรายงานทุนสร้าง ประมาณทำเงินได้ ₹7.5 Crore (= $1.2 ล้านเหรียญ) ยืนโรงฉายกว่า 100 สัปดาห์ ถือว่าระดับ Super Hit, เข้าชิง Filmfare Award 9 สาขา คว้ามา 7 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Film ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Amitabh Bachchan)
– Best Supporting Actor (Shashi Kapoor) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Nirupa Roy)
– Best Story ** คว้ารางวัล
– Best Dialogue ** คว้ารางวัล
– Best Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Sound ** คว้ารางวัล
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหลงรักหนังเรื่องนี้ ติดใจในการแสดงมาดนิ่งลุ่มลึกของ Amitabh Bachchan, การกำกับ direction ของ Yash Chopra ที่ถึงจะเชยคลาสสิก แต่มีประสิทธิผลทรงพลัง สร้างความแตกต่างจากผลงานอื่นๆของปู่มากทีเดียว และคำพูดบทสนทนาเจ๋งๆของตัวละครที่ลงตัวสมบูรณ์แบบ
อาจเพราะผมรับชมหนังเรื่องนี้ นี่ก็รอบที่ 3 แล้ว ทำให้รู้สึกเต็มอิ่มหนำ ดื่มด่ำครบอรรถรส พบเห็นความลงตัวที่สวยงาม สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะกลิ่นอายรสสัมผัสที่แตกต่างจากหนัง Bollywood ทั่วๆไป ชักชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล ชื่นชอบมากเป็นพิเศษ
แนะนำกับคอหนังแนว Crime Drama, ตำรวจ-ผู้ร้าย, สะท้อนชีวิต สังคม การเมือง ของประเทศอินเดียในทศวรรษ 70s, แฟนๆผู้กำกับ Yash Chopra นักแสดง Amitabh Bachchan, Shashi Kapoor และบทเพลงเพราะๆของ R.D. Burman ห้ามพลาดทั้งปวง
จัดเรต 15+ กับความรุนแรง ขัดแย้งพี่น้อง และการตัดสินเลือกระหว่างถูกผิด
Leave a Reply