Destiny

Destiny (1921) German : Fritz Lang ♥♥♥♥

ถึงความรักจะยิ่งใหญ่เหนือทุกสิ่ง แต่จักไม่สามารถเปลี่ยนแปลง’โชคชะตา’ฟ้าดินได้, นี่คือผลงาน Masterpiece เรื่องแรกของปรมาจารย์ผู้กำกับ Fritz Lang ที่พยายามใช้ความรักเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อเรียกประเทศเยอรมนีขณะนั้น) ไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบสงครามโลกครั้งที่ 1 หวนกลับคืนย้อนมาเกิดขึ้นซ้ำอีก แต่สุดท้ายมันอยู่กับฟ้าดินจะบันดาล เพราะถ้าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดยังไงก็ต้องเกิด

โศกนาฎกรรม (Tragedy) คือ วรรณกรรมโดยเฉพาะประเภทละคร ที่ลงท้ายด้วยความเศร้าโศก ไม่สมหวัง มักมีตัวละครสำคัญถูกทำให้เสียชีวิตจากไป ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ โอ้ละหนอทำไม! โชคชะตาฟ้าดิน (ผู้เขียน) ถึงได้กระทำแบบนี้กับตัวละครที่รักยิ่งได้ลงคอ

ในชีวิตจริง มีเรื่องราวมากมายหลายครั้งเต็มไปหมดที่สามารถเรียกได้ว่า โศกนาฎกรรม แต่ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างที่สุดของมวลมนุษยเกิดขึ้นแล้วถึง 2 ครั้งคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เป็นสิ่งที่ฟ้าดินเป็นผู้กำหนด ไม่มีใครสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงป้องกันได้ (จริงๆเหรอ!)

Friedrich Christian Anton ‘Fritz’ Lang (1890 – 1976) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติเยอรมัน ได้รับการยกย่องฉายา ‘Master of Darkness’ เกิดที่ Vienna (ขณะนั้นเป็นดินแดนของ Austria-Hungary) พ่อเป็นสถาปนิก แม่เป็นชาว Jews เปลี่ยนมานับถือ Roman Catholics อย่างเคร่งครัด, โตขึ้นเรียนวิศวโยธาที่ Technical University of Vienna ไม่ทันจบตัดสินใจออกท่องโลกกว้างสู่ยุโรป แอฟริกา เอเชีย แล้วไปเรียนวาดรูปอาศัยอยู่กรุงปารีส

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เดินทางกลับบ้านเกิด สมัครเป็นทหารอาสาในกองทัพของ Austrian สู้กับรัสเซียและโรมาเนีย บาดเจ็บหนัก 3 ครั้ง และเกิด Shell Shock กลายเป็นภาพหลอนติดตาไม่รู้ลืม, สงครามจบตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเขียนบทไม่นานก็ได้เป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก Halbblut (1919) น่าจะสูญหายไปแล้ว

ด้วยความรู้ด้านสถาปัตยกรรม และความทรงจำอันโหดร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เขามีความหลงใหลในการวาดภาพออกแบบสร้างฉากพื้นหลัง ตึกรามบ้านช่องในลักษณะลัทธิสำแดงพลัง ตีแผ่ด้านมืดของตนเองและโลกออกมา ซึ่งพอดีตรงกับยุคสมัยนิยม German Expressionist ทำให้ผลงานภาพยนตร์ของ Lang ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

ปี 1919 แต่งงานกับภรรยาคนแรก Lisa Rosenthal ปีถัดมาได้พบกับนักเขียนหญิงมากฝีมือ Thea von Harbou ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ Destiny ขณะเดียวกันก็ลักลอบเป็นชู้กับเธอ, คืนหนึ่ง Rosenthal พบเห็นทั้งสองกำลังพรอดรักคาหนังคาเขา ยอมรับไม่ได้ … ตำรวจมาถึงที่บ้าน ร่างของเธอในอ่างอาบน้ำกระสุนทะลุอกจากปืน Revolver ของสามีไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เป็นการฆ่าตัวตาย/อุบัติเหตุ/หรือ… พวกเขาปิดข่าวไว้อย่างมิดชิด, สองปีจากนั้น Lang แต่งงานกับ von Harbou

ต้องถือว่า Thea von Harbou คือคู่บารมีของ Lang โดยแท้ เธอเป็นทั้งนักเขียนและนักแสดง ร่วมงานกันตลอดตั้งแต่ปี 1921 – 1933 ผลงานชิ้นเอกของทั้งคู่ประกอบด้วย Destiny (1921), Dr. Mabuse, der Spieler (1922), Die Nibelungen (1924), Metropolis (1927), Woman in the Moon (1929), และ M (1931) แต่เพราะ Harbou เป็นนาซีที่เลือดข้นมาก ทำให้ Lang ต้องตัดสินใจหย่า (ทั้งๆที่คงรักอยู่) ลี้ภัยไปปารีส และอพยพไปอยู่อเมริกา

หนังของ Lang ทุกเรื่อง มีใจความลึกๆมองได้คือต่อต้านสงคราม (และนาซี) แต่มักแอบซ่อน ไม่นำเสนอพูดออกมาอย่างชัดเจนนัก, สำหรับ Destiny (1921) เรื่องนี้อ้อมโลกไปถึงประเทศจีน ประเทศอาหรับ ไกลมากๆ เพื่อบอกว่า ‘ความรักไม่มีการแบ่งแยกศาสนา ชนชั้น ชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ความตายก็มิอาจขวางกั้น’

ต้นฉบับภาษาเยอรมันใช้ชื่อหนังว่า Der müde Tod: ein deutsches volkslied in 6 versen (Weary Death: A German Folk Story in Six Verses, เรื่องเล่าพื้นบ้านเยอรมันใน 6 ท่อน) ความหมาย 6 ท่อน คือฟีล์ม 6 ม้วน (reel) หรือ 6 เรื่องราว (ม้วนละเรื่อง) สมัยนั้นม้วนหนึ่งมีความยาวประมาณ 15 นาที รวมความยาวหนังแล้วประมาณ 90 นาที

ม้วนที่ 1 Prologue, Death: คู่รักหญิงสาวพบเจอกับชายคนหนึ่งดูหน้าตาหน้ากลัว มารู้ต่อมาว่าคือ Death ‘ความตาย’, เริ่มต้นจะเป็นการเล่าย้อนอดีตของ Death ได้ทำการซื้อที่ดินบริเวณสุสานสำหรับสร้างกำแพง คนทั่วไปจะมองไม่เห็นอะไร ยกเว้นคนตายจะมีประตูหนทางสู่ยมโลก

ม้วนที่ 2 Prologue, Lover: Death ได้มานำทางแฟนหนุ่มผู้หมดซึ่งอายุขัยสู่ยมโลก หญิงสาวด้วยความเศร้าโศก รวดร้าวจึงพยายามทำทุกวิถีทาง ขอร้องต่อรองกับความตายเพื่อโอกาสพบเจอกับคนรักอีกสักครั้ง

สิ่งที่ Death ยอมให้ต่อรองก็คือ มีเทียนไข 3 เล่มที่กำลังใกล้มอดดับ ถ้าหญิงสาวสามารถช่วยคู่รักไหนให้รอดพ้นจากโชคชะตาความตาย(จากตน)ได้ ก็จะยินยอมให้เธอได้พบกับคนรัก

ม้วนที่ 3 First Light: ณ ดินแดนอาหรับยุคกลาง (Medieval), Frank (น่าจะนับถือคริสต์) ชายนอกศาสนา ตกหลุมรัก Zobeide เจ้าหญิงนับถือศาสนาอิสลาม, จะเป็นไปได้หรือเปล่ากับความรักต่าง’ศาสนา’

ม้วนที่ 4 Second Light: ณ งานเทศกาล Carnival ที่เมือง Venice ในยุค Renaissance, Gianfrancesco อาชีพพ่อค้า ตกหลุมรักหญิงสาวชั้นสูง Monna Fiametta ที่หมั้นหมายอยู่กับ Girolamo, จะเป็นไปได้หรือเปล่ากับความรักต่าง’ชนชั้น’

ม้วนที่ 5 Third Light: ณ เมืองจีนยุคเก่า (Ancient Chinese), ผู้วิเศษได้จดหมายเชิญจากพระจักรพรรดิให้มอบของขวัญวันเกิด เดินทางขึ้นพรมไปกับลูกศิษย์ทั้ง 2 Tiao Tsien กับ Liang ที่ตกหลุมรักกัน แต่พอพระจักรพรรดิพบเห็น Tiao Tsien ต้องการครองครองเธอ, จะเป็นไปได้หรือเปล่ากับความรักที่ต่าง’ชาติพันธุ์’ (Tian Tsien เป็นผู้วิเศษ, Liang เป็นมนุษย์ธรรมดา)

ม้วนที่ 6 Epilogue: มันเหมือนว่า Death จะรู้อยู่แล้วว่า โชคชะตาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาแค่เล่นเกมยื้อเวลาเพื่อหาทางพูดโดยอ้อมบอกความจริงนี้แก่เธอก็เท่านั้น, กระนั้นมันมีอีกวิธีหนึ่งจริงๆ ซึ่งจะเฉลยในตอนจบ ซึ่งผมขอไม่สปอยแล้วกันว่าคืออะไร ลองคาดเดากันดูนะครับว่าคืออะไร

สำหรับนักแสดงจะใช้ชุดเดิมทั้ง 3+1 เรื่อง เพื่อเป็นการเปรียบเทียบสะท้อนเรื่องราว จะมองได้ว่าคือการอวตาร หรือกลับมาเกิดภพชาติ ก็ยังได้
– Bernhard Goetze รับบท Death, คนขุดหลุมศพ, ทาสผิวสี, นักธนู
– Lil Dagover รับบทหญิงสาว, Zobeide, Monna Fiametta, Tiao Tsien
– Walter Janssen รับบทชายหนุ่ม, Frank, Gianfrancesco, Liang

Bernhard Goetze ในบท Death ด้วยใบหน้านิ่งเครียดเย็นชา มองงานของตนดั่งคำสาปไร้วันสิ้นสุด นี่เป็นบทบาทได้รับการยกย่องสุดสุดของหนัง กลายเป็นสัญลักษณ์อมตะแห่ง’ความตาย’ ขนาดที่ F. W. Murnau สร้าง Faust (1926) ตัวละคร Memphisto ในลักษณะคล้ายๆกัน, โด่งดังสุดคง Ingmar Bergman นำตัวละครนี้ไปใช้ในหนังเรื่อง The Seventh Seal (1957)

Lil Dagover นักแสดงหญิงมากฝีมือ ที่แจ้งเกิดกับ The Cabinet of Dr. Caligari (1920), รับบทหญิงสาวที่มีความกระชุ่มกระชวยในรัก แต่พอสามีหนุ่มเสียชีวิตก็ทุกข์ทรมานโศกเศร้า ด้วยความเชื่อมั่นในรักแท้ คิดว่าสามารถเอาชนะเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง จึงตัดสินใจกระทำการทุกสิ่งอย่าง ต่อรองรับคำท้ากับความตายอย่างไม่กลัวเกรง ใช้ทุกโอกาสอย่างคุ้มค่าจนสามารถเข้าใจว่า ‘ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้’, บทบาทโดดเด่นสุดคงเป็น Monna Fiametta ที่มีความเย่อหยิ่งทะนงตน ถึงขนาดคิดวางแผนฆ่าคู่หมั้น Girolamo เพือครองรักกับ Gianfrancesco แน่นอนว่าต้องไม่สำเร็จ

Walter Janssen นักแสดงชายที่แจ้งเกิดกับหนังเรื่องนี้ แต่บทบาทแทบไม่มีอะไรน่าพูดถึง ทุกเรื่องราวตัวละครของเขาจะต้องเป็นผู้ตามหลังหญิงสาวตลอด สงสัยเพราะความรักจึงยินยอมให้เธอชี้ชักนำพา แต่โชคชะตาก็เล่นตลกแบบไม่ให้โอกาสสักครั้งเดียว

โดยไม่รู้ตัว หนังแฝงประเด็น Feminist แต่คงไม่ถือว่าแปลกอะไร เพราะ Thea von Harbou ผู้เขียนบทภาพยนตร์คือผู้หญิง เธอจึงแอบใส่ความคิด ตัวของตนเองสอดแทรกลงไป, ผู้ชมสมัยนั้นคิดว่าคงจะไม่รู้ตัวจริงๆ มองว่าเป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่พยายามแสวงทวงคืนคนรัก แต่ถ้าสังเกตกับทุกการกระทำล้วนเป็นการชี้ชักนำ สอดแทรกแนวคิด บทบาทของเพศหญิงที่เป็นไปไม่ใช่แค่ช้างเท้าหลัง แต่สามารถกลายเป็นสนองความรัก นำพาชายหนุ่มได้

ถ่ายภาพโดย Fritz Arno Wagner ผู้ขึ้นชื่อเรื่อง ‘portrayal of horror’ มีผลงานร่วมกับ Lang อีก 2 เรื่องคือ Nosferatu (1922) และ M (1931),

ถึงกล้องจะไม่เคลื่อนไหว แต่มีการจัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบ ตำแหน่งภาพได้อย่างเปะๆ มีนัยยะสำคัญ ขณะที่การออกแบบฉาก เมือง พื้นหลัง มีความโดดเด่นด้วยสไตล์ German Expressionist ที่ได้รับการกล่าวถึงสุดคือ กำแพงขนาดใหญ่ ประตูสู่ยมโลก

เทคนิคที่นิยมใช้คือการซ้อนภาพ เห็นหนึ่งชัดหนึ่งลางๆ มีนัยยะแทนด้วยวิญญาณของมนุษย์, ซีนหนึ่งที่อึ้งไปเลย ในยมโลก (หรือจะเรียกว่าคฤหาสถ์แห่งความตาย ที่เต็มไปด้วยเทียนไขอายุ) เด็กชายในอุ้มมือของ Death มีการจัดวางตำแหน่งซ้อนภาพได้เปะมากๆ

การใช้สีภาพก็มีนัยยะสำคัญเช่นกัน กลางวัน (สีปกติ), กลางคืน (สีฟ้า/น้ำเงิน), โลกวิญญาณ (สีเหลือง) ,ไฟไหม้ (ใช้ภาพสีแดง) ฯ เป็นการใช้สีให้เกิดอารมณ์ร่วมกับเรื่องราว

 

Luis Buñuel ตอนที่สร้าง Un Chien Andalou (1929) ฉากสองคู่รักถูกฝังในทรายเป็นการทำเพื่อคารวะหนังเรื่องนี้ โดยพูดถึงอิทธิพลของเขาหลังจากรับชมหนังเรื่องนี้

“When I saw Destiny, I suddenly knew that I wanted to make movies. It wasn’t the three stories themselves that moved me so much, but the main episode – the arrival of the man in the black hat (whom I instantly recognised as Death) in the Flemish village – and the scene in the cemetery. Something about this film spoke to something deep in me; it clarified my life and my vision of the world.”

เกร็ด: ว่ากันว่านี่คือหนึ่งในหนังโปรดของ Alfred Hitchcock

ฉากพรมบินได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับ F. W. Murnau สร้าง Faust (1926) ในลักษณะคล้ายๆกัน, Douglas Fairbanks ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ไม่ได้ตั้งใจเอาไปสร้างใหม่ แต่เพื่อนำฉากนี้ได้ไปใช้ในหนังเรื่อง The Thief of Baghdad (1924) และเรื่องต่อๆมา The Thief of Bagdad (1940), Aladdin (1992) ฯ

ตอนที่หนังออกฉายในเยอรมัน เห็นว่าได้รับเสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ทำเงินไม่ค่อยได้ด้วย แต่พอส่งออกไปฉายฝรั่งเศสกับอเมริกา มีการตัดต่อให้สั้นลงเล็กน้อย กลับได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ทำเอาบรรดานักวิจารณ์ในเยอรมันหน้าเสียต้องกลับมารับชม นำออกฉายใหม่ ถึงไม่เข้าใจก็เออออห่อหมกไปด้วย คราวนี้หนังกลับสู่บ้านเกิดทำเงินถล่มทลาย

นัยยะที่ Fritz Lang สอดแทรกใส่ในหนังเรื่องนี้ เป็นการชักชวนให้ชาวเยอรมัน (โดยเฉพาะนาซี) ไม่เกิดความรังเกียจกีดกันต่อมนุษย์ชาติ ดั่งความรักที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกศาสนา ชนชั้น ชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งความตายก็มิอาจพรากคนที่รักกันได้, แต่อย่างที่รู้กันว่า Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มไปด้วยความรังเกียจชาวยิว เหยียดเชื้อชาติ มองว่าตัวเองสูงศักดิ์เหนือกว่าใคร

นี่แสดงว่าชาวเยอรมันสมัยนั้นเข้าไม่ถึงหนังเรื่องนี้สักนิด! ดูอย่างนักวิจารณ์และการที่หนังไม่ทำเงินตอนออกฉายครั้งแรก แทนที่ความพ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 1 จะทำให้พวกเขารู้จักเจียม ครุ่นคิดพิจารณาตัวเอง แต่กลับยิ่งเพ้อคลั่ง ความเท่าเทียมอะไรไร้สาระ ไม่ให้รังเกียจชนชาติอื่นเป็นไปไม่ได้ พวกข้านี่แหละสูงสุดแห่งโลก, จิตใจของพวกเขาต่อต้าน ไม่ยอมรับแนวคิดของหนังเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง!

ผมค่อนข้างเห็นใจผู้กำกับ Fritz Lang เพราะเขาเคยเห็น’นรก’ มาแล้ว จึงรู้ซึ้งถึงคุณค่าการยังมีชีวิตอยู่ พยายามชี้ชักนำชาวเยอรมันด้วยภาพยนตร์ให้ต่อต้านไม่ยินยอมรับสงคราม แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่สนใจ ไม่ยินยอมรับ จนสุดท้ายเขาต้องอพยพลี้หนีภัยออกมา ไม่เคยมีโอกาสกลับสู่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองอีกเลย

นี่เป็นหนังที่ผมตกหลุมรักตั้งแต่ม้วนแรกเลยละ ประทับใจในวิสัยทัศน์ของ Fritz Lang และบทภาพยนตร์ของ Thea von Harbou มีความลึกซึ้งล้ำอย่างคาดไม่ถึง (เธอเป็นคนเขียนบทหนังเรื่อง Metropolis ด้วยนะครับ) แต่ที่หลงใหลสุดๆก็คือ การได้เห็นอะไรหลายๆอย่างที่กลายเป็นอิทธิพลต่อภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป โดยเฉพาะ Death หนังเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นเลยสินะ!

แนะนำกับคอหนังเงียบ หลงใหลในสไตล์ German Expressionist ของ Fritz Lang และเรื่องราวโศกนาฎกรรมความรัก ที่มีความลึกซึ้ง ซาบซึ้ง กินใจ

จัดเรต 13+ กับความอิจฉาริษยา และความตาย

TAGLINE | “ใน Destiny ของ Fritz Lang ความรักไม่ได้ชนะทุกสิ่ง แต่เราเลือกเปลี่ยนตัวเองเพื่อความรักได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: