Devdas (1936) : Pramathesh Barua ♥♥♡
(mini Review) ก่อนยุโรปจะมีผู้กำกับดังชื่อ Robert Bresson ในอินเดียมีผู้กำกับดังนามว่า Pramathesh Barua ที่ได้ประดิษฐ์เทคนิค กระชากวิญญาณออกจากตัวนักแสดง สิ่งที่หลงเหลือจะคือธรรมชาติของภาพยนตร์
เชื่อว่าหลายคนเมื่อได้รับชมหนังเรื่องนี้จะเกิดข้อกังขา นักแสดงไร้ความสามารถเสียเหลือเกิน บทพูดราวกับท่องจำมาตรงๆซื่อๆ การเคลื่อนไหวก็แข็งทื่อราวกับหุ่น หาได้มีความสมจริงเทียบได้กับเทคนิคสวมวิญญาณ Method Acting ที่พบได้เกลื่อนกลาดในยุคสมัยปัจจุบันนี้เลย
ผมครุ่นคิดอยู่นานทีเดียว ว่านี่เป็นความจงใจหรือไร้สามารถของผู้กำกับ, เมื่อมองปีที่สร้างภาพยนตร์ 1936 ข้อกังขานี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะยุคสมัยนั้นการสร้างภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่ในขั้นลองผิดลองถูกกับยุคสมัยใหม่ที่เพิ่งจะเปลี่ยนผ่าน อย่างเทคนิค Method แอ็คตงแอ็คติ้งอะไร ยังไม่เป็นที่รู้จักบังเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ จึงยากที่นักแสดงจะสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครได้อย่างถ่องแท้ ผลลัพท์ก็อาจจะออกมามึนๆเหมือนหนังเรื่องนี้, แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกความเป็นไปได้ ถ้าผู้กำกับมีวิสัยทัศน์พอ กล้าที่จะทดลอง ค้นหาสร้างสรรคเทคนิค วิธีการทางภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ เช่นว่า นำรูปแบบลักษณะของการแสดงละครเวที มาปรับใช้สร้างภาพยนตร์, หรือให้นักแสดงทำตัวเป็นหุ่น พูดกระทำโดยไร้อารมณ์ความรู้สึก ฯ
นี่ทำให้ผมนึกถึงหนังของ Robert Bresson ที่พยายามจะกระชากวิญญาณของนักแสดงออกมา จงเป็นหุ่นที่มีแค่การเคลื่อนไหว อย่าเป็นมนุษย์หรือสวมวิญญาณของสิ่งมีชีวิตใดๆ เพราะผู้กำกับชาวฝรั่งเศสคนนี้มีความเชื่อว่า ภาพยนตร์คือธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งไร้จิตวิญญาณ การนำสิ่งที่เป็นวิญญาณของนักแสดงโยนทิ้งไป จะทำให้ภาพยนตร์มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด!
เกร็ด: ใครสนใจหนังของ Robert Bresson ลองไปหา A Man Escaped (1956), Pickpocket (1959), Au Hasard Balthazar (1966) ฯ
เมื่อคิดแบบนี้ก็จะพอมองเห็นว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่นักแสดงที่ไร้ความสามารถ แต่คือ direction แนวทางความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการนำเสนอออกมารูปแบบนั้น นี่แปลว่า Pramathesh Barua อาจคือหนึ่งในสุดยอดผู้กำกับที่คนทั่วโลกไม่รู้จัก!
กับคำถามสำคัญถัดมา ผู้กำกับนำเสนอแบบนี้เพื่ออะไร? สำหรับคนที่ฟังภาษา Hindi ไม่ออกอาจจะรับรู้ยากสักนิด ให้ลองสังเกตการพูดของตัวละครดูนะครับ มักจะมีอารมณ์ความรู้สึกแทรกใส่ในน้ำเสียง วิธีการพูดอยู่เสมอ และหลายครั้ง Sound Effect มักจะแทนอารมณ์บางอย่างของตัวละคร เช่นเสียงหวูดรถไฟ เสียงปืน เสียงหวนแซ่ ฯ, นี่แปลว่า เหตุผลที่ผู้กำกับจงใจให้นักแสดงเล่นแบบแข็งทื่อไม่เป็นธรรมชาตินี้ ก็เพราะต้องการเล่าเรื่องด้วย ‘เสียง’ประกอบภาพ เสมือนการได้รับฟัง/อ่าน Devdas แต่แทนที่จะเป็นจากหนังสือฉบับนิยาย ก็กลายเป็นภาพยนตร์ตัวหนังสือที่เคลื่อนไหว
Pramathesh Chandra Barua (1903 – 1951) นักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Gauripur เริ่มจากการเป็นนักแสดงในเครือจักรภพอังกฤษ ได้เดินทางไป London, Paris ฯ เก็บหอมรอมริดเป็นทุนจัดซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ กลับบ้านเกิดก่อตั้งสตูดิโอ Barua Pictures Limited มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังเงียบ Apradhi (1931) กำกับโดย Debaki Bose ได้รับเสียงวิจารณ์ยอดเยี่ยม,
สำหรับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Barua คือ Devdas ฉบับภาษา Bengali สร้างขึ้นปี 1935 กำกับและนำแสดงประกบคู่กับภรรยา Jamuna Barua จนทำให้ต้องมีการสร้างซ้ำอีก 2 ฉบับเป็นภาษา Hindi กับ Assamese ฉายปี 1936 และ 1937 ตามลำดับ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งหมด
Devdas ฉบับภาษา Bengali ปัจจุบันหลงเหลือเพียง 40% ของฟีล์มต้นฉบับเท่านั้น เพราะหนังฉายที่รัฐ Bengali ก่อนยุค 40s ได้ถูกทำลายในช่วงแบ่งแยกอินเดีย Partition of India ปี 1947 (ปัจจุบันบางส่วนของ Bengali กลายเป็นประเทศ Bangladesh) ส่วนฉบับภาษา Hindi ฉายที่ Mumbai จึงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี,
เนื่องจาก Barua ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญการพูดภาษา Hindi จึงได้ส่งมอบบท Devdas ให้กับ Kundan Lal Saigal ชายผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น Superstar คนแรกก่อนยุคสตูดิโอ bollywood, ส่วนภรรยา Jamuna Barua กลับมารับบทเดิมอีกครั้ง และได้ Rajkumari มาสมทบในบท Chandramukhi
นอกจากการแสดงที่มีความแตกต่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือการถ่ายภาพ ที่มีลักษณะเหมือน ‘รับชมจากโรงละครเวที’ ทุกฉากนักแสดงจะหันหน้าเข้าหาพูดกับกล้อง/ผู้ชม อยู่เสมอๆ และในฉากๆนั้นมักมีแค่ช็อตเดียว/ภาพเดียว/มุมมองเดียว ไม่ค่อยมีการตัดสลับเพื่อเปลี่ยนมุมมองทิศทาง (นี่สามารถมองเปรียบได้คือหน้ากระดาษ ที่ผู้ชมจะได้เห็น/อ่าน/รับฟัง)
เกร็ด: ช่างภาพนิ่งของหนังคือ Bimal Roy ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์ Devdas ของตนเองในปี 1955
การตัดต่อก็มีลูกเล่นขณะเปลี่ยนภาพ เช่น เคลื่อนภาพขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา (คล้ายๆกับผ้าม่านเปิดปิด ขณะเปลี่ยนฉากการแสดงละครเวที, หรือการเปิดหนังสือจากด้านซ้ายไปขวา), เทคนิคอื่นที่เห็นอาทิ Fade, Cross-Cutting ฯ เรียกว่ามีครบทุกเทคนิคที่สมัยนั้นคิดได้
และสำหรับบทเพลงประกอบ จะมีเพียงนักเดินทางสองพ่อลูกที่บังเอิญผ่านมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ขับร้องบทเพลงที่มักจะสะท้อนเรื่องราวเหตุการณ์ ความรู้สึกของตัวละครอย่างตรงไปตรงมา (หนังจะไม่มี Soundtrack ประกอบ มีแค่เพลงเสียงร้องไม่กี่เพลง เพื่อใช้เติมเต็มเรื่องราวเท่านั้น)
สำหรับใจความของหนัง ผมขอยกไปเขียนรวมในบทความ Devdas เรื่องอื่นนะครับ จะได้ไม่ต้องเล่าซ้ำหลายรอบ
Devdas ฉบับปี 1935 เมื่อออกฉายได้รับการประเมินความสำเร็จระดับ All-Time Hit อันส่งให้ Pramathesh Barua โด่งดังพลุแตก และยังถือเป็นการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ของอินเดียครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้นของกระแสนำเอาวรรณกรรมชื่อดังดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์
Sarat Chandra Chatterjee เจ้าของบทประพันธ์ Devdas บ่อยครั้งที่ไปชมหนังเรื่องนี้ที่ New Theatres, Calcutta บอกกับผู้กำกับว่า
“It appears that I was born to write Devdas because you were born to recreate it in cinema.”
ส่วนตัวกับหนังฉบับนี้รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้มีความชื่นชอบประทับใจนัก โดยเฉพาะ direction ของหนังวิธีนี้ ผมเคยอธิบายเหตุผลที่ไม่ชอบหนังของ Robert Bresson อย่างรุนแรงไปแล้วนะครับ จริงอยู่ที่แนวคิดนี้มีความน่าสนใจอยู่ แต่วิธีการที่จะทำให้นักแสดงไร้วิญญาณนั้น เป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย ซึ่งพอเห็นเทคนิคนี้เกิดขึ้นกับหนังเรื่องอื่น… เลยจะไปชอบได้ยังไง
และความที่เรื่องราวของหนัง มีหลายส่วนที่เปลี่ยนไปจากนิยายต้นฉบับค่อนข้างมาก ผมคงไม่ชี้ให้เห็นแต่ถ้าคุณดู Devdas มาหลายฉบับแล้วก็น่าจะเห็นได้เองเลย, ซึ่งส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้หนังขาดๆเกินๆไปพอสมควร บางช่วงเยิ่ยเย้อ บางช่วงเร็วเกิ้น โดยรวมถือว่าพอใช้ ยอดเยี่ยมในยุคสมัยนั้น ถือได้ว่ากาลเวลาทำให้คุณภาพของหนังลดลงมาก
แนะนำกับแฟนหนัง รู้จักนิยายวรรณกรรมเรื่อง Devdas, สนใจแนวทาง direction ของหนังก็ลองหามาศึกษารับชมดูนะครับ
จัดเรต PG ในความมึนเมาไร้แก่นสานของ Devdas
Leave a Reply