Devdas 2002

Devdas (2002) Indian : Sanjay Leela Bhansali ♥♥♡

หนังทุนสร้างสูงสุดในอินเดียขณะนั้น หมดไปกับค่าสร้างฉาก เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่งดงามตระการ สะท้อนแสงระยิบแวววับ แต่ภายในกลับกลวงโบ๋มืดหม่นดั่งตัวละคร Devdas (รับบทโดย Shah Rukh Khan) ที่ทำได้เพียงร่ำคร่ำครวญ โหยหายในรัก Parviti/Paro (รับบทโดย Aishwarya Rai) แต่มิอาจได้ครอบครอง

Devdas ฉบับของ Sanjay Leela Bhansali เป็นที่รู้จักทั่วโลกเพราะเป็นภาพยนตร์ Bollywood ที่ได้ไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้จะไม่ได้รางวัลอะไร แต่ก็ทำให้ผู้ชมยุโรป/อเมริกา และทั่วโลก ได้เปิดโลกทัศน์อีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครได้พบเห็น

ในช่วงที่หนังทุนสูง Blockbuster ทางฝั่ง Hollywood กำลังย่างกรายเข้าสู่ยุคสมัย Visual Effect อันตระการตา แต่สำหรับประเทศอินเดีย หนังทุนสูงมักจะหมดไปกับโปรดักชั่นงานสร้างเสียมากกว่า อันประกอบด้วย ฉากที่ยิ่งใหญ่อลังการ เสื้อผ้าตัดเย็บประณีตบรรจง เครื่องประดับระยิบแวววับ และปริมาณตัวประกอบร้องเล่นเต้น ฯ ถือได้ว่าเป็นแนวทางสร้างหนังทุนสูงในวิธีที่ต่างออกไป ซึ่งก็ให้ผลลัพท์แตกต่างกันมากทีเดียว, ส่วนตัวแล้วประทับใจในหนังโปรดักชั่นสวยๆ มากกว่า Visual Effect ล้ำๆเสียอีก เพราะบางสิ่งอย่าง เมื่อเกิดการรับรู้เข้าใจว่าสร้างขึ้นด้วยมือจับต้องได้ จะทำให้เกิดความอึ้งทึ่ง ตราตะลึง อ้าปากค้าง ยิ่งเสียกว่างานภาพ Visual Effect เว่อๆล้ำจินตนาการ เพ้อฝันเป็นไหนๆ

Sanjay Leela Bhansali (เกิด 24 กุมภาพันธ์ 1963) เกิดที่ Mumbai, มีพ่อ Navin Bhansali เป็นโปรดิวเซอร์หนังเกรด B ที่ไม่ค่อยหลงเหลือถึงปัจจุบันแล้ว  บั้นปลายชีวิตติดเหล้าอย่างหนักจนเสียชีวิต (หนังเรื่องนี้อุทิศให้กับพ่อของเขา), ส่วนแม่ Leela Bhansali เป็นคนเข้มงวดเจ้ากี้เจ้าการ (Sanjay นำชื่อแม่มาเป็นชื่อกลางของตนเอง)

Bhansali เริ่มต้นในวงการจากการเป็นผู้ช่วย Vidhu Vinod Chopra ในหนังเรื่อง Parinda (1989), 1942: A Love Story (1994) และ Kareeb (1998) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Khamoshi: The Musical (1996) หนังไม่ทำเงินแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างดี, ภาพยนตร์ลำดับที่สอง Hum Dil De Chuke Sanam (1999) นำแสดงโดย Aishwarya Rai, Salman Khan และ Ajay Devgan ประสบความสำเร็จล้นหลาม คว้ารางวัลต่างๆมากมาย และทำให้ Bhansali กลายเป็นผู้กำกับดาวรุ่งพุ่งแรง ได้รับความไว้วางใจให้สร้างผลงานลำดับถัดมา Devdas ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดในอินเดียขณะนั้น

ผมมีโอกาสรับชมหนังของ Bhansali มาก็หลายเรื่อง แม้ส่วนตัวจะไม่ค่อยประทับใจใน direction เสียเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นผู้กำกับที่มีแนวทางความสนใจของตนเองอย่างชัดเจน, หนังของ Bhansali มักมีเรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคม ความขัดแย้งระหว่างค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี ซึ่งตัวละครหลักมักต้องการที่จะแหกคอกนอกกฎ ทำตามประสงค์ของใจตนเอง โหยหาความรัก ไม่ยอมก้มหัวทำตามคำของผู้อื่น

Devdas ต้นฉบับเป็นนวนิยายภาษา Bengali เขียนโดย Sarat Chandra Chattopadhyay หรือ Sarat Chandra Chatterjee (1876 – 1938) ตั้งแต่ตอนอายุ 17 (ปี 1901) แต่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1917, ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Prakash Kapadia

ตัวเลือกแรกของผู้กำกับในบท Devdas คือ Salman Khan ที่เคยร่วมงานจาก Hum Dil De Chuke Sanam (1999) แต่เหมือนพี่แกจะไม่ว่าง เลยมาตกที่ Shah Rukh Khan ที่เพิ่งเสร็จจาก Kabhi Khushi Kabhie Gham… (2001) มีเวลาว่างพอดี

Shah Rukh Khan เจ้าของฉายา ‘King of Bollywood’ หนึ่งในสาม King Khan แห่ง Bollywood ยุคปัจจุบัน (อีกสองคือ Aamir Khan และ Salman Khan), หลังโด่งดังเป็นอมตะจากพระเอกยุค Romantic Hero ช่วงปี 1999–2003 SRK เริ่มมองหาการแสดงที่ท้าทายความสามารถมากขึ้น เรียกว่า Career Challenges มีทั้งที่ล้มเหลว (เช่น Ashoka the Great) และประสบความสำเร็จล้นหลามหลายเรื่อง ซึ่งหนังที่ได้รับการพูดถึงมากสุดก็คือ Devdas

หนังฉบับนี้ Devdas เรียนจบนอก พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ตกหลุมรัก Parviti มาตั้งแต่แรก คาดหวังจะได้แต่งงานกัน แต่ทั้งครอบครัวแสดงความต่อต้านไม่เห็นด้วยแบบผู้ร้ายเด่นชัดเจน, ช่วงครึ่งหลัง Dev จมดำดิ่งลงสู่ความทุกข์โศกเศร้า เมามายหัวราน้ำไร้สำนึก กลายเป็นคนชาติชั่วที่พร้อมออกเดินทางทิ้งโลกอย่างไร้เยื่อใย

ผมเคยที่จะชอบ ไม่ชอบ กลับมาชอบ กลับมาไม่ชอบ SRK อยู่หลายครั้ง คือผลงานของพี่แกมีทั้งที่ดี ดีมากๆ เลว เลวมากๆ คุณภาพแกว่งไปมาแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ ปัจจุบันออกไปในทางชื่นชมมากกว่า เพราะเริ่มเข้าใจความตั้งใจของพี่แกแล้ว, SRK เป็นนักแสดงที่เอาใจแฟนๆเป็นอย่างมาก คือไม่จำเป็นว่าผลงานนั้นๆจะออกมาดีเลิศ แค่ให้ปรากฎตัวเห็นหน้าเท่านี้ก็เกิดพอแล้ว และบทที่รับต้องไม่เกินขอบเขตความสามารถของตน (ไม่งั้นเล่นไปก็ขายหน้าเปล่าๆ)

กับบท Devdas ผมว่า SRK แสดงได้น่าขายน่ามากนะครับ แม้นักวิจารณ์หลายสำนักจะยกย่องในความทุ่มเทที่น่าประทับใจ แต่ถ้าคุณเคยรับชม Devdas (1955) นำแสดงโดย Dilip Kumar มาแล้วละก็ แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘คนละชั้น’,
– Kumar ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดผ่านทางสีหน้าและแววตา
– SRK ผ่านดวงตาอันบ้องแบ้วและการกระทำ

เห็นการแสดงของ SRK จะรู้สึกเจ็บปวดทรมานทางกาย แต่ Kumar เจ็บลึกถึงทรวง

Aishwarya Rai หรือปัจจุบัน Aishwarya Rai Bachchan นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย ผู้ชนะการประกวด Miss World ปี 1994 ได้รับการยกย่องว่า ‘the most beautiful woman in the world’ เมื่อเข้าวงการบันเทิงกลายเป็นนักแสดงยอดฝีมือ ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการ Celebrities, การได้แต่งงานกับ Abhishek Bachchan ลูกชายของ Amitabh Bachchan ถือเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ และทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในคนดังที่สุดของประเทศอินเดีย

แต่ก่อนหน้าทั้งสองจะแต่งงานกัน Rai เคยคบหากับ Salman Khan หว่านขนมจีบกันตั้งแต่ Hum Dil De Chuke Sanam (1999) ตามมาด้วยหนังเรื่องนี้ ซึ่งระหว่างถ่ายทำ เห็นว่า Rai ประสบอุบัติเหตุ คนที่ประคบประหงมดูแลก็ Salman คนนี้แหละ (ก็ไม่รู้ทำไมเลิกกันนะครับ ผมไม่ทันตามข่าวช่วงนี้เท่าไหร่)

Parvity/Paro ฉบับนี้ไม่แตกต่างจากเรื่องอื่นมากนัก แค่จะมีลีลาการเล่นตัวมากกว่าปกติเสียหน่อย, จุดเด่นของ Rai คือสายตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจากภายใน ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ขณะที่ต่อมาโหยหาดิ้นรนทรมานก็ทุกข์โศกเศร้าร้าวทรวง เป็นนักแสดงที่มีดวงตาสวยจริงๆ

หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็น ‘foothold’ ของ Aishwarya Rai ที่ทำให้เธอกลายเป็น Superstar ค้างฟ้าโดนพลัน

Madhuri Dixit นักแสดง นักเต้นสาวมากฝีมือ เกิดที่ Mumbai ตั้งใจจะเป็นนักจุลชีววิทยา (microbiologist) แต่เพราะความโดดเด่นในการเต้นตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จึงถูกชักชวนเข้าวงการภาพยนตร์ มีผลงานเรื่องแรก Abodh (1984) ก่อนประสบความสำเร็จกับ Tezaab (1988), Parinda (1989), Hum Aapke Hain Koun..! (1994), Raja (1995), Dil To Pagal Hai (1997) ฯ

เลือกมารับบท Chandramukhi ก็จากความสามารถทางการเต้นที่โดดเด่น, ซึ่งการเต้นของเธอในเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องจากนักออกแบบท่าเต้น Pandit Birju Maharaj (choreographer ผู้ออกแบบท่าเต้นให้เธอในบทเพลง Kaahe Chhed) ว่าเป็นนักเต้นที่ครบเครื่องสุดใน Bollywood, ‘the best Bollywood dancer due to her versatility.’

Chandramukhi ในฉบับอื่นๆมักจะสร้างปริศนาให้ผู้ชม เหตุใดเธอถึงตกหลุมหลงใหล Devdas แบบมืดมัวโงหัวไม่ขึ้น แต่หนังเรื่องนี้ถือว่าชัดมาตั้งแต่ครั้งแรกๆที่พบกัน และการเพิ่มฉากที่ Chandramukhi ร้องเล่นเต้นกับ Parvity เหมือนการยอมรับระหว่าง ‘แฟนหลวง’กับ’แฟนน้อย’ ซึ่งทั้ง Dixit และ Rai ออกลีลาท่าเต้นในบทเพลง Dola Re Dola ถือได้ว่าเป็นการเต้นระดับ Masterpiece

ถ่ายภาพโดย Binod Pradhan ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติเนปาล (ปัจจุบันถือสัญชาติอินเดียไว้ด้วย) รู้จักกับ Bhansali ตั้งแต่ตอนเป็นผู้ช่วย Vidhu Vinod Chopra มีผลงานดังๆอาทิ Parinda (1989), 1942 A Love Story (1994), Munna Bhai M.B.B.S. (2003), Rang De Basanti (2006),  Bhaag Milkha Bhaag (2013) ฯ

งานภาพมีลีลาโฉบเฉียวลื่นไหล สีสันสดใสสะท้อนแสงระยิบระยับ ออกแบบสร้างฉากอลังการยิ่งใหญ่และสิ้นเปลือง, ผมรู้สึกสถานที่คฤหาสถ์ในหนัง ไม่มีความเหมือนต้นศตวรรษ 1900s สักเท่าไหร่ มีความเว่อมากๆ จนรู้สึกล้นเกินไป (ว่าไปออกแบบฉากลักษณะนี้ก็คล้ายหนังของ Baz Luhrmann อยู่เหมือนกัน) อย่างรังโสเภณีของ Chandramukhi เห็นว่าขุดทะเลสาบสร้างเมืองกันเลยทีเดียว, หรืออย่างห้องของ Paro เห็นว่าใช้กระจกชิ้นเล็กๆกว่า ร้อยล้านชิ้น (โคตรเว่อ!)

เครื่องประดับ กำไรข้อมือ/ข้อเท้า แหวน ทอง ตุ้มหู … ชุดที่ Dixit ใส่ในบทเพลง Kahe Chedd Mohe เห็นว่าหนักกว่า 30 กิโลกรัม แต่เธอออกลีลาได้ขนาดนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเลย, Rai ก็ประสบปัญหาเช่นกัน ใส่ตุ้มหูที่มีน้ำหนักมากขณะเต้น Dola Re Dola จนถลอกเลือดออก แต่เธอรอจนถ่ายทำเสร็จค่อยบอกทีมงาม นับถือความทุ่มเทเลย

ตัดต่อโดย Bela Sehgal, หนังตัดช่วงวัยเด็กของ Devdas กับ Paro ออกไป แต่จะมีแทรกใส่เป็น Flashback ย้อนอดีตเห็นภาพอยู่หลายครั้ง (แต่จะไม่เห็นหน้าของ Devdas วัยเด็ก) กระนั้นแทนที่หนังจะสั้นลงกลับมีความยาวเพิ่มขึ้น เพราะผู้กำกับได้ใส่เรื่องราวแต่งขึ้นใหม่ และอีกหลายบทเพลงเข้าไป (นี่น่าจะเป็น Devdas ฉบับยาวที่สุด)

ฉากแรกของหนังมี direction ที่น่าสนใจ เป็น long take ถ่ายคนในครอบครัว Mukherjee กำลังวุ่นวายเมื่อรับรู้การกำลังจะกลับบ้านของ Devdas แต่กลายเป็นว่ารอเก้อ เพราะชายหนุ่มตัดสินใจแวะหา Paro ก่อน, แต่นี่กลับเป็นฉากที่ผมไม่ประทับใจเอาเสียเลย เพราะเริ่มต้นผู้ชมยังไม่ทันปรับตัวพร้อมรับชมหนัง ก็พบเจอความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นก่อนแล้ว … จริงอยู่เราอาจเปรียบเทียบการนำเสนอนี้กับหนัง Action สมัยใหม่ที่ เปิดเรื่องมา James Bond ต้องทำภารกิจอะไรสักอย่างก่อนเข้าเรื่องเสมอ เป็นการเรียกน้ำย่อย … แต่กับหนังเรื่องนี้น้ำย่อยของผมมันไม่ออกสิครับ กลายเป็นน้ำลายฟูมปากมึนตึบ อะไรกันว่ะ! กว่าจะเริ่มจับหลักของหนังได้ก็เมื่อตอนคู่พระนางพบเจอกันครั้งแรก

ผมรู้สึกว่าหนังมีความยาวเวิ่นเว้อไปมากๆ ครึ่งแรกถือว่ากระชับใช้ได้อยู่ ปัญหาคือครึ่งหลังที่นับตั้งแต่ Devdas ปล่อยตัวเองให้จมอยู่ในความทุกข์เศร้าหมอง หนังก็วนเวียนอยู่กับประเด็นนั้น ตอกย้ำซ้ำไปมาจนผู้ชมรู้สึกมึนเมามายตามตัวละครไปด้วย โดยเฉพาะบทเพลงดวลเหล้าของสองหนุ่มถัดจาก Dola Re Dola จะความประทับใจแรงกล้าของบทเพลงดังเกล่า ดับวูบสู่ความผิดหวังของความผิดที่ผิดทาง มันจำเป็นต้องมีฉากกินเหล้าจนหมดขวดนั้นด้วยหรือ! นี่ทำเอาอารมณ์ของหนังสะดุดจนไม่สามารถประติดประต่อได้อีกจนจบเลย

เพลงประกอบโดย Ismail Darbar เห็นว่าใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งในการแต่งเพลง เพื่อสร้างมิติความซับซ้อนให้กับหนังอย่างลึกซึ้ง แต่เข้าห้องอัดจริงๆใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้น, บทเพลงมีความร่วมสมัยพอสมควร ไม่ได้ใช้เฉพาะเครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย แต่เพราะ Devdas ภาคนี้จบนอกมา จึงมีบางบทเพลงที่จะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีคลาสสิกประกอบด้วย

ผมเลือกมา 3 บทเพลงไฮไลท์ของหนัง ได้รับการยกย่องกล่าวถึงมากที่สุด, เริ่มจาก Kahe Chedd Mohe แต่งคำร้อง/ทำนองโดย Birju Maharaj ขับร้องโดย  Kavita Krishnamurthy นี่เป็นบทเพลงเปิดตัว Chandramukhi เห็นแวบแรกทำให้ผมนึกถึง Mughal-E-Azam (1960) เลยละ direction ก็ใช่ มีความคล้ายกับ Pyar Kiya To Darna Kya พอสมควรเลย

สำหรับไฮไลท์ของหนังคือบทเพลง Dola Re Dola (แปลว่า sway, แกว่งไปมา) แต่งคำร้องโดย Nusrat Badr ขับร้องโดย Kavita Krishnamurthy กับ Shreya Ghoshal ออกแบบท่าเต้นโดย Saroj Khan, เมื่อคนรักหลวง กับคนรักน้อยของ Devdas มาพบกัน ทั้งสองเหมือนเข้าใจกันเป็นอย่างดี เพราะต่างก็ไม่ได้ครอบครองชายหนุ่มที่ตนรัก แต่รู้รับรักของเขา, นี่เป็นบทเพลง Duet ที่ทำให้ภาพลักษณ์หนังจากอินเดียในสายตาชาวโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คงมีหลายคนคิดว่าหนังเต้นมันจะมีอะไรมากมาย แต่พอได้ฟังเพลงนี้ พบเห็นพลังในการเต้น เคลื่อนกล้อง direction โปรดักชั่น ความตระการตา สวยงาม ทรงพลัง ยิ่งเสียกว่าหนังเพลงในตำนานของ Hollywood/ยุโรป เรื่องไหนๆเสียอีก

รับชมผ่านคลิปมันอาจไม่ทำให้คุณอึ้งทึ่งสักเท่าไหร่ เพราะยังไม่เข้าใจที่มาที่ไปของฉากนี้ ดูในหนังจะประทับใจมากกว่า เพราะจะเข้าใจเรื่องราวบางอย่างที่นำมาก่อนจะถึงบทเพลงนี้ ซึ่งคือเหตุทำให้บทเพลงนี้มีความทรงพลังมากพอสมควร

เกร็ด: ใครดู Bajirao Mastani (2015) มาแล้ว คงเกิดความเปรียบเทียบ Dola Re Dola กับ Pinga Pinga เป็นแน่ (ผมชอบ Dola Re Dola กว่ามากๆเลยนะครับ)

การตีความของผู้กำกับ Sanjay Leela Bhansali ได้ทำการขยี้ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ไปถึงจุดที่พอไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ด่าพ่อล่อแม่ สาปแช่งให้มีอันเป็นไป ต่อหน้าต่อตาแบบไร้ยางอาย (ภาษาวัยรุ่นเรียก ‘ดราม่า’) นี่ถือเป็นความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในภาพยนตร์/วรรณกรรมยุคก่อน ที่มักใช้การแอบๆ แบบมีนัยยะลุ่มลึกกว่า แต่เพราะโลกปัจจุบันมนุษย์เรามีภูมิต้านทานคุ้มกันเรื่องพรรค์นี้สูงขึ้นเรื่อยๆ มันเลยเหมือนเป็นความจำเป็นที่ก็ต้องยกระดับความเข้มข้น คือถ้าไม่ถึงระดับ “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” … กับหนังเรื่องนี้ ผมมองเห็นโลงศพจริงๆเลยละครับ

ฉากที่แม่ของ Praviti เต้นฉายเดี่ยวท่ามกลางฝูงกระหังในบ้าน Mukherjee เป็นฉากที่ผมรู้สึกสงสารในความน่าอับอายขายหน้าของเธอเป็นที่สุด แต่การกระทำสาปแช่งต่อมา นี่เรียกว่าไร้ยางอายสามัญสำนึก อะไรกันเสียหน้าแค่นี้ต้อง’มาก’ขนาดนั้นเลยเหรอ … ก็เข้าใจนะครับ บางคนเจอสถานการณ์แบบนี้เข้ากับตัว ย่อมต้องอยากตอบโต้อะไรรุนแรงถึงที่สุด แต่ถ้าคุณทำแบบนี้ชัดเจนเลยว่าหน้ามืดตามัว’ขาดสติ’ เอาความโมโหโทโสเป็นที่ตั้ง แบบนี้เรียกว่า’คนพาล’ ไม่น่าคบหาอย่างยิ่ง

ซึ่งเมื่อถึงช่วงครึ่งหลัง ‘กรรมตามสนอง’ ผู้ชมจะรู้สึกสะใจชิบหาย สมน้ำหน้าพวกคนหัวสูง ที่หลงตัวเอง เห็นแก่ตัว บลา บลา บลา, วินาทีที่ผมรู้สึกเกิดความคิดเช่นนี้ ความไม่ชอบต่อต้านหนังเกิดขึ้นโดยทันที

นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่า ‘มากเกินไป’ เพราะความต้องการให้ผู้ชมเข้าใจปัญหาครอบครัว/สังคม นี้อย่างลึกซึ้ง จึงนำเสนอความรุนแรงบ้าคลั่งในระดับสูงสุด, ถ้าคุณรับชม Devdas มามากกว่า 1 ฉบับ น่าจะรับรู้ได้ว่า ไม่จำเป็นต้องดราม่าขนาดนี้ ก็สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงสาสน์ที่ต้องการสื่อได้ … แต่มันคงไม่ใช่ในความคิดของผู้กำกับ Sanjay Leela Bhansali สินะ

กับหนังที่มีใจความ เสนอแนะนำให้ผู้ชมคิดเป็น มองเห็น เข้าใจความแตกต่างของบุคคล ชนชั้น ยุคสมัย การนำเสนอให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสมควร แต่ไม่ใช่โยนฟืนใส่ไฟ ยุยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เปรียบก็เหมือนการใส่ฟืนให้กองไฟที่กำลังไหม้หมอดบ้าน ด้วยความหวังดีแทนที่จะช่วยดับไฟ กลับไปเพิ่มเชื้อให้กระพือปะทุความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้มันสมควรตรงไหน!

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาคือการตีความของผู้กำกับ Sanjay Leela Bhansati ที่ถ้าคุณเคยอ่านนวนิยาย หรือรับชมหนังเรื่องอื่นมาก่อนแล้วมารับชมฉบับนี้ ก็น่าจะพอมองเห็นเข้าใจความแตกต่างที่ผมยกมา ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็น’ส่วนตัว’ ของผู้กำกับค่อนข้างมาก มันไม่ผิดอะไรที่จะตีความลักษณะนี้นะครับ ก็อยู่ที่รสนิยมความชื่นชอบของคุณเอง ผมแค่แสดงความเห็น ไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่

ด้วยทุนสร้าง ₹544 Crore  สูงสุดสมัยหนัง หนังทำเงินสูงสุดแห่งปีในอินเดีย ₹68.19 Crore รวมทั่วโลก ₹99.8 Crore (=$15 ล้านเหรียญ) ถือว่า Super Hit, คว้า 5 รางวัล National Film Award
– Best Popular Film Providing Wholesome Entertainment
– Best Art Direction
– Best Female Playback Singer บทเพลง Bairi Piya
– Best Choreography
– Best Costume Design

Filmfare Award เข้าชิง 16 จาก 13 สาขา คว้าได้ 10 รางวัล
– Best Film **ได้รางวัล
– Best Director **ได้รางวัล
– Best Actor (Shah Rukh Khan) **ได้รางวัล
– Best Actress (Aishwarya Ra) **ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Jackie Shroff)
– Best Supporting Actress (Madhuri Dixit) **ได้รางวัล
– Best Supporting Actress (Kirron Kher)
– Best Cinematographer **ได้รางวัล
– Best Art Direction **ได้รางวัล
– Best Choreography **ได้รางวัล
– Best Music
– Best Lyrics
– Best Female Playback บทเพลง Dola Re Dola **ได้รางวัล
– Best Female Playback บทเพลง Maar Daala
– Best Female Playback บทเพลง Bairi Piya
– Best Scene of the Year **ได้รางวัล

และหนังเป็นตัวแทนของอินเดีย ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบใดๆ

ส่วนตัวไม่ได้เกิดความชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ในความ’มาก’เกินไปของหนัง มันขยี้หัวใจรุนแรงเกินไป, บางสิ่งอย่างไม่จำเป็นต้องพูดแสดงออกมาตรงๆ แค่กระทำเป็นนัยให้รับรู้เห็นได้เข้าใจ แบบนี้จะมีความลึกล้ำ รุนแรง ถึงทรวงยิ่งกว่า

แต่ที่ไม่ถึงกับเกลียดเพราะมีบทเพลงอย่าง Kahe Chedd Mohe กับ Dola Re Dola ที่ตราตรึงติดใจเสียเหลือเกิน ยอมให้กับโปรดักชั่นของหนังที่งดงามเจิดจรัสอลังการยิ่ง

แนะนำกับคอหนัง Bollywood รู้จักวรรณกรรม Devdas ชื่นชอบเรื่องราวลักษณะดราม่า ปวดใจปวดตับ โศกนาฎกรรมแบบ Romeo & Juliet, แฟนหนัง Sanjay Leela Bhansali นักแสดงนำอย่าง Shah Rukh Khan, Aishwarya Rai, Madhuri Dixit ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับคำพูดการกระทำที่รุนแรงเกินตัว

TAGLINE | “Devdas ฉบับปี 2002 ความมากล้นของ Sanjay Leela Bhansali ทำให้มิติของหนังลดลง แต่สะใจคนดูมากขึ้น ในความงดงามอลังการเว่อ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: