Devi (1960)
: Satyajit Ray ♥♥♥
ก้าวเข้าสู่ยุคที่สองของ Satyajit Ray หลังจากเสร็จสิ้น The Apu Trilogy วิพากย์วิจารณ์วิถีความเชื่อ งมงายในศรัทธาศาสนา เมื่อพ่อเพ้อฝันว่าบุตรสาวเป็นเทวดากลับชาติมาเกิด (Devi แปลว่า Godness) ก้มลงกราบแทบเท้า เทิดทูนยกขึ้นเหนือเกล้ากระหม่อม แต่ความจริงเป็นเช่นไร ใครพบเห็นย่อมตระหนักเข้าใจได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Devi เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมชาวไทยมากๆเลยนะ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงลุ่มหลงใหลในความเชื่อ ศรัทธา งมงายต่อสิ่งตนเองไม่ล่วงรับรู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่า แค่ฟังเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา หรือเห็นว่าน่าเคารพยกย่อง แลดูศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็แห่กันไปไทมุง ขูดหวย ขอเลขท้ายงามๆสักสองสามงวด
ศรัทธาในพระบางรูป วัดบางแห่ง สงฆ์บางนิกายก็เฉกเช่นกัน ยกยอปอปั้น ทุ่มเงินบริจาคนับพันหมื่นล้าน แต่เมื่อความจริงหลายๆได้รับการเปิดเผยอย่างเด่นชัด ถูกจับได้ว่าเสพเมถุนต้องลาสิกขา ลองถามใจตนเองดูสิว่า ความรู้สึกเมื่อถูกทรยศหักหลัง มันเจ็บปวดรวดร้าวสาหัสประการใด
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อ! แม้แต่คำสอนของพระองค์เอง อยากรับรู้ อยากเข้าใจ จงใคร่ครุ่นคิด ฝึกฝน ปฏิบัติ พิสูจน์สัจธรรมความจริงด้วยตัวตนเอง แล้วคุณจะไม่กลายเป็นบุคคลผู้ลุ่มหลงใหลงมงายในสิ่งอธิบายไม่ได้ทั้งหลาย
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)
ผลงานภาพยนตร์ของ Ray สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่ช่วง
– ช่วงแรก The Apu Trilogy (1955-59) ซึ่งจะรวมไปถึง Parash Pathar (1958) และ Jalsaghar (1958) เพราะไม่เคยมีประสบการณ์สร้างภาพยนตร์มาก่อน จึงเป็นช่วงขณะทดลองผิดลองถูก ค้นหาความสนใจของตนเอง
– ช่วงสอง British Raj (1959-64) มักนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาสังคม/ความขัดแย้ง/แตกต่างของชาวอินเดีย อิสตรีถูกควบคุมครอบงำจากบุรุษ และพื้นหลังภายใต้อาณานิคมสหราชอาณาจักร ผลงานเด่นๆ อาทิ Devi (1960), Teen Kanya (1961), Kanchenjungha (1962), Mahanagar (1963), Charulata (1964) ฯ
– ช่วงสาม New Direction (1965-82) สร้างสรรค์ผลงานที่มีความหลากหลาย แฟนตาซี, ไซไฟ, นักสืบ, ประวัติศาสตร์, ซึ่งมักเกี่ยวกับการสำรวจตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ เผชิญหน้าด้านมืดที่อยู่ภายในจิตใจ ผลงานเด่นๆ อาทิ Nayak (1966), Goopy Gyne Bagha Byne (1969), Aranyer Din Ratri (1970), Ashani Sanket (1973), Shatranj Ke Khilari (1977) ฯ
– Last Phase (1983-92) ด้วยสุขภาพที่เริ่มย่ำแย่ หัวใจล้มเหลวในกองถ่าย แต่ก็ยังโหยหาอยากสร้างภาพยนตร์ หลงเหลือเพียงความตั้งใจสวนทางกับคุณภาพผลงาน
ต้นฉบับของ Devi (1899) คือเรื่องสั้นที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง! แต่งโดย Prabhat Kumar Mukherji (1875 – 1932) นักเขียนชื่อดังชาว Bengali
แต่จริงๆแล้วเห็นว่า Mukherji ได้รับคำแนะนำเรื่องสั้นดังกล่าวจาก Rabindranath Tagore (1861 – 1941) นักคิด/นักเขียนชาว Bengali เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ซึ่งเกิดในครอบครัววรรณะพราหมณ์ พานพบเห็นรับรู้ความไม่ชอบมาพากล แต่ถ้าตนเองจะเป็นผู้เขียนเรื่องราวดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมอย่างแน่นอน
Mukherji เขียนเรื่องสั่น Devi ด้วยการยกพื้นหลังย้อนไปศตวรรษก่อนหน้า 1790s เพื่อมิให้พาดพิงความเชื่อศรัทธาของนักอ่านยุคสมัยปัจจุบันนั้น (ตีพิมพ์ปี 1899) ซึ่งพอมาถึงการดัดแปลงฉบับภาพยนต์ของ Satyajit Ray ก็ทำแบบเดียวกันคือย้อนเวลาไปหนึ่งศตวรรษ กลายมาเป็น 1860s
Dayamoyee (รับบทโดย Sharmila Tagore) แต่งงานครองรักกับ Umaprasad (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) แต่ยังต้องพักอาศัยอยู่บ้านพ่อสะใภ้ Kalikinkar Choudhuri (รับบทโดย Chhabi Biswas) ผู้มีความเชื่อศรัทธา อุทิศทั้งชีวิตให้พระแม่กาลี กระทั่งวันหนึ่งฝันเห็นภาพของ Dayamoyee เข้าใจว่าเธอเป็นร่างอวตารของกาลิกา ก้มลงกราบแทบเท้า เทิดทูนเหนือเกล้ากระหม่อม จนใครๆต่างหลงเชื่อตามว่าเธอเป็นเทวดากลับชาติมาเกิดจริงๆ แต่ไม่ใช่กับ Umaprasad เมื่อเดินทางกลับจากไปร่ำเรียนตต่อยังประเทศอังกฤษ พยายามปลุกทุกคนให้ตื่นจากความเพ้อเจ้อไร้สาระดังกล่าว
ในช่วง British Raj ของผู้กำกับ Ray จะเริ่มนำนักแสดงที่มักคุ้นเคย หวนกลับมาร่วมงานกันหลายครั้งอีกจนกลายเป็นขาประจำ
Sharmila Tagore จากเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959) เรื่องนี้รับบทศรีภรรยาผู้โชคร้าย (ของ Soumitra Chatterjee เหมือนเดิมเลยนะ) ได้รับการยกยอปอปั้นจากบิดากลายเป็นอวตารพระแม่กาลี แรกๆเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัว แต่ค่อยๆยินยอมรับ ปล่อยตัวปล่อยใจ เพราะไม่อยากขัดขืนในความเชื่อศรัทธา แม้สามีจะพยายามปลุกให้ตื่นกลับไม่ยอมฟื้นลืมตา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่าง สำนึกตัวได้ก็สายเกินแก้ไข, บทบาทของ Tagore ถือว่ามีเนื้อมีหนังจับต้องได้มากกว่าเดิม และเริ่มที่จะใช้ความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ผ่านสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เหนียงอายไร้เดียงสาเหมือนเก่าก่อน ซึ่งตอนเธอแสดงอาการคลุ้มคลั่งออกมา ผู้ชมคงแทบเสียสติแตกไม่ต่างกัน
Soumitra Chatterjee จากบทบาทใน Apur Sansar (1959) กลับชาติมาเกิดได้แต่งงานเป็นศรีภรรยาของ Sharmila Tagore ยังคงเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง เฟื่องเรื่องการศึษา เหมือนจะสอบได้ทุนไปเรียนต่ออังกฤษ แต่พอหวนกลับมาบ้านพบเห็นความลุ่มหลงงมงายของพ่อ พยายามปลุกตื่นศรีภรรยา แต่เมื่อเธอมิอาจหาญกล้า แล้วฉันจะทำอะไรต่อไปได้, ผมเองยังคงติดตรา Chatterjee ในบทบาท Apu ผู้ใสซื่อไร้เดียงสา เรื่องนี้ถือว่ากลับตารปัตรเพราะพยายามใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา พิจารณาความเชื่อด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ แต่เพราะศรีภรรยามิอาจก้าวข้ามศรัทธาลวงตานั้น ตัวเขาเลยค่อยๆเลือนลางจางหาย โผล่มาอีกทีช่วงท้าย ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข
Chhabi Biswas จากบทบาทพระราชาผู้ทะนงในศักดิ์ศรี Jalsaghar (1958) กลับมาคราวนี้กลายเป็นพ่อผู้ลุ่มหลงงมงายในความเชื่อศรัทธา แค่เพียงปรากฎภาพความฝัน ก็มโนเพ้อภพไปไกล มันอาจเป็นความจริงแต่นั่นไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ได้ เมื่อเกิดปาฏิหารย์เล็กๆทุกสิ่งอย่างเกินเลยเถิดไปใหญ่ และสุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความจริง จะยังหลงเหลืออะไรในตนเอง, เป็นบทบาทลักษณะคล้ายเดิมของ Biswas ตัวละครมีความเย่อหยิ่งทะนงในบางสิ่ง กระทั่งเมื่อความจริงมาถึงทุกสิ่งอย่างพลันล่มสลาย ซึ่งใบหน้าแห่งความงมงาย สายตาเหม่อล่องลอย ดูราวกับคนบ้าไร้สติ ปลุกยังไงก็ไม่ตื่น พอฟื้นขึ้นมาภายในก็มีแต่ความเวิ้งว่างเปล่า
ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),
ความโดดเด่นของ Mitra คือการเคลื่อนไหลกล้องที่เป็นธรรมชาติ และสัมผัสของแสงที่อาบผิวตัวละครด้วยเทคนิค ‘Bounce Light’ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครออกมาด้วย
Opening Credit ร้อยเรียงรูปปั้นพระแม่กาลี ตั้งแต่ขึ้นรูป ทาสี ประดับเครื่องแต่งกายจนมีความสวยงามวิจิตร สะท้อนถึงภาพความเชื่อ/ศรัทธาพระเจ้า เป็นสิ่งที่มนุษย์ปั้นแต่ง รังสรรค์สร้างขึ้นมาให้มีตัวตน
นกแก้วเลียนเสียงพูด ‘แม่’ ร้องเรียก Dayamoyee มาให้อาหาร ราวกับมันล่วงรับรู้ว่าเธอคือเทวดากลับชาติมาเกิด (มองในแง่ของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาตินะครับ)
ผู้หญิงอินเดียในยุคสมัยก่อน จะเป็นช้างเท้าหลัง รองมือรองเท้ารับใช้บุรุษ แต่หลังจากพ่อเพ้อฝันว่าเธอคือเทวดากลับชาติมาเกิด ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม พนมมือกราบแทบเท้าศิโรราบ (สังเกตว่าเท้าของหญิงสาว หยิกจิกด้วยความหวาดสะพรึงกลัว กรีดกรายฝาผนัง แทบจะยินยอมรับไม่ได้กับสิ่งบังเกิดขึ้น)
ฉากความฝันของพ่อ เริ่มจากพบเห็นภาพตาสามดวงของพระแม่กาลีล่องลอยมา ซ้อนเข้ากับใบหน้าของ Dayamoyee เพียงเท่านี้แหละก็ทำให้เขาครุ่นคิดว่า เธอคือกาลิกากลับชาติมาเกิดใหม่
เมื่อถูกลากพาตัวมานั่งยังแท่นบูชา สีหน้า อารมณ์ของ Dayamoyee เต็มไปด้วยความอ่อนเปลี้ยเพลียใจ ไม่อยากเชื่อตนเอง แต่ก็ไม่ขัดขัดศรัทธา ครั้งหนึ่งควันพวงพุ่งคลุ้งใบหน้า ก็ไม่รู้จะครุ่นคิดเอายังไงต่อไปเช่นกัน
แม้ว่า Dayamoyee จะได้รับการยกยอปอปั้นขนาดนั้น แต่หญิงอื่นหรือลูกหลาน กลับตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากถูกคุมขัง ช็อตลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งทีเดียวในหนัง
จะบอกว่าผมขำกลิ้งกับฉากนี้มากๆ เพราะมันไดเรคชั่นแบบเดียวกับ Apur Sansar (1959) เมื่อขณะที่ชายหนุ่ม Apu จับพลัดจับพลูแต่งงานเจ้าสาว ค่ำคืนแรกในห้องหอ เดินไปเดินมารอบเตียงด้วยความกระวนกระวายใจ
มาเรื่องนี้บุตรชาย Umaprasad กำลังพูดคุยสนทนากับพ่อ Kalikinkar Choudhuri ด้วยความว้าวุ่นกระวนกระวาย เดินวนไปเวียนมารอบเตียงในห้องนอน ซึ่งทั้งสองถือว่ามีความครุ่นคิดเห็นแตกต่างตรงข้าม ไม่สามารถเวียนมาบรรจบกันได้โดยดี
Umaprasad เลยวางแผนที่จะพาภรรยา Dayamoyee หลบหนีออกจากบ้าน แต่เธอกลับถูกเหนี่ยวรั้งด้วยมุ้ง ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นพันธการ
แต่ก็สามารถลากพาตัวเธอมาถึงท่าเรือริมแม่น้ำ บริเวณชายทุ่งหญ้าสูงซึ่งเป็นสถานที่แห่งการตัดสินใจครั้งสุดท้าย สังเกตความสูงของทั้งสอง ขณะโอบกอดคางของ Umaprasad วางลงบนศีรษะของ Dayamoyee ได้พอดิบพอดี สะท้อนถึงหญิงสาวไม่สามารถขัดขืนโชคชะตาฟ้า หวาดสะพรึงกลัวต่ออนาคตที่จะติดตามมาหลอกหลอน ถ้าตนเองเป็นพระแม่กาลีกลับชาติมาเกิดจริงๆ
หลังจากความจริงได้ถูกเปิดเผย สภาพของพ่อทรุดลงนั่งตรงประตูทางเข้าห้องพระ Umaprasad ยืนอย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งมุมกล้องนี้ติดโคมระย้าห้อยลงมา นี่นะหรือสวรรค์ชั้นฟ้า แค่เอื้อมมือก็ราวจับต้องได้
แสงสว่างที่จร้าอย่างผิดปกติ สะท้อนถึงจิตใจของ Dayamoyee ที่กำลังฟุ้งซ่าน คลุ้มคลั่ง ควบคุมตนเองไม่อยู่ มิอาจยินยอมรับความจริงต่อเหตุการณ์บางอย่างที่เพิ่งบังเกิดได้
ด้วยเหตุนี้เธอเลยออกวิ่งหนี หายลับไปกับหมอกควันชายทุ่ง เป็นตายร้ายดีไม่มีใครสามารถบอกได้
ตอนจบดั้งเดิมของหนัง ผู้กำกับ Ray ถ่ายทำไว้คือ Dayamoyee จมน้ำเสียชีวิต แต่เพราะฟุตเทจดังกล่าวราวกับถูกเทวดาดลบันดาล มีเหตุเป็นไปไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ แต่ก็ยังมีตอนจบอีกแบบถ่ายทำไว้ Dayamoyee ตรอมใจอยู่ริมหาด(ก่อนฆ่าตัวตาย) โชคยังดี Umaprasad เข้ามาช่วยเหลือได้ทัน แต่เขาก็ตัดทิ้งฉากจบนั้นออกก่อนหนังฉายรอบปฐมทัศน์ หลงเหลือเพียงความคลุมเคลือนี้ ไม่บอกว่าโชคชะตาของหญิงสาวคืออะไรกันแน่
ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยมี Dayamoyee ที่กลายเป็น Devi คือจุดศูนย์กลางของเรื่องราว รายล้อมด้วยสามี Umaprasad, พ่อ Kalikinkar Choudhuri และครอบครัวพี่สะใภ้ ประกอบเข้ามาในบ้านแห่งพระแม่กาลี
น่าจะเป็นครั้งแรกของผู้กำกับ Ray ที่ได้ทดลองแทรกความฝันของพ่อ Kalikinkar Choudhuri และการหวนระลึกความทรงจำของ Dayamoyee กำลังครุ่นคิดถึงใบหน้าสามี Umaprasad เข้ามาระหว่างการดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง ซึ่งผลงานถัดๆไปจะเริ่มทดลองการลำดับเรื่องราวรูปแบบใหม่ๆ
– Teen Kanya (1961) สามเรื่องราวไม่ต่อเนื่องกัน แต่มีบางสิ่งอย่างสัมพันธ์กัน
– Kanchenjungha (1962) นำเสนอในลักษณะ Hyperlink Film หลายมุมมองเรื่องราว ร้อยเรียงดำเนินไปด้วยจุดร่วมบางสิ่งอย่าง
เพลงประกอบโดย Ustad Ali Akbar Khan (1922 – 2009) นักเล่น Sarod ระดับตำนาน รุ่นราวคราวเดียวกับ Ravi Shankar มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์บ้างประปราย
ความแตกต่างระหว่าง Sarod กับ Sitra คือความละมุนลุ่มลึกของเสียงที่จะไม่แหลมแสบแก้วหูเท่า มักนำเอาไปบรรเลงท่วงทำนองมีความวาบหวิว อ่อนไหว สั่นสะท้านหัวใจกว่า แต่ชื่อเสียงนั้นอาจเป็นรอง (เพราะ Ravi Shankar โด่งดังกว่า)
ซึ่งงานเพลงของหนังเต็มไปด้วยบรรยากาศทะมึน อึมครึม วาบหวิวหัวใจ สะท้อนความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งที่อยู่ภายใน มันเป็นสิ่งมิอาจพูดบอกออกมาได้ ฉันเป็นเทวดากลับชาติมาเกิดจริงหรือเปล่า ใครกันจะไปล่วงรับรู้ความจริง (นอกจากบุคคลผู้นั้นเอง)
Sound Effect เสียงกระดิ่ง ระฆัง พึมพับบทสวดมนต์ กอปรกับกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไปยังใบหน้าตัวละคร สีหน้าเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นวิตก มันช่างหลอกหลอน ขนลุกขนพอง สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
ทำไมมนุษย์ถึงมีความเชื่อ? เพราะเมื่อเราไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง ย่อมเกิดความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวต่อสิ่งนั้น พยายามหาหนทางรับรู้เข้าใจ แต่เมื่อค้นพบคำตอบไม่ได้ก็ครุ่นคิดจินตนาการเพ้อฝัน สร้างภาพมายาลวงหลอกตา อ้างว่าโน่นนี่นั้น แสร้งทำเป็นเข้าใจในความลวง ยังดีกว่ากลวงเพราะรับรู้เห็นความจริงที่โหดร้าย
ความเชื่อต่อศาสนาเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดในโลก เพราะทำให้มนุษย์โง่งมงาย มักใช้ข้อกล่าวหลักคำสอน เพื่อสนองผลประโยชน์ส่วนตัวนั้นๆ ปฏิเสธความจริงพบเห็นอยู่ตรงหน้า ใครว่าอะไรมาก็พ้องตามอย่างขาดสติ ไร้ปัญญา
พระโคตมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมต่อชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ถึงกาลามสูตร ๑๐ หลักแห่งความเชื่อที่ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน อันประกอบด้วย
- มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
- มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
- มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
- มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
- มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
- มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
- มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
ความเชื่อผิดๆสามารถเอาชนะด้วยการครุ่นคิดด้วยสติปัญญา เราต้องเป็นผู้กล้าที่จะเผชิญหน้ายินยอมรับสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่โอนอ่อนผ่อนตามกระแสสังคม ขนบประเพณี หรือคำที่ผู้ใหญ่ว่ากล่าวมา ต่อให้ถูกตราหน้า ‘ศิษย์ล้างครู’ แต่การหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว รังจะทำให้ดวงตามืดบอด ชีวิตตกต่ำไร้ค่าลงเรื่อยๆ
ผู้กำกับ Ray นอกจากวิพากย์วิจารณ์ความเชื่อศรัทธาศาสนาอย่างตรงไปตรงมา หนังยังสะท้อนถึงความขัดแย้งแตกต่างระหว่าง วิถีชีวิตดั่งเดิม vs. ค่านิยมสมัยใหม่ บุคคลผู้มีการศึกษาสูง ความรู้เข้าใจในวิทยาศาสตร์ จักไม่งมงายต่อสิ่งมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนรุ่นก่อนที่ยังหมกมุ่นกับภาพลวงตา จึงมิอาจลงรอย เห็นพ้องต่อมุมมองความจริง
ความเชื่อศรัทธาศาสนาในระดับงมงาย ยังสามารถสะท้อนถึงความหมกมุ่นทางจิต (Psychological Obsession) อาจถึงขั้นคลุ้มคลั่งเสียสติเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ความผิดหวังราวกับการตกจากที่สูง จักสร้างรอยบาดแผล/ความพิการให้เกิดขึ้นภายใน ไม่มีใครสามารถเยียวยารักษาหาย เลวร้ายอาจกลายเป็นบ้า ไม่ยินยอมเผชิญหน้ากับความจริง
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือมุมมองอิสตรีในประเทศอินเดีย ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง ต้องคอยปรนเปรอรับใช้บุรุษ แต่เมื่อใดได้รับการยกย่องเป็นพระแม่กาลี ทุกอย่างกลับตารปัตรย้อนแย้ง เทิดทูนบูชาเหนือเกล้ากระหม่อม นี่สะท้อนถึงค่านิยมที่ผิดพลาดของสังคม ทำไมไม่มีใครมองผู้หญิงทุกคนเหมือนดั่งเทวดา ให้ความรัก เอ็นดู ทะนุถนอม เธอไม่ใช่ขี้ข้าทาสรับใช้ใคร เมื่อไหร่ความเสมอภาคเท่าเทียมจักบังเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเสียที!
เมื่อหนังออกฉายในอินเดีย เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง อันเนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่มองว่าเนื้อหามีลักษณะลบหลู่ anti-Hinduism ซึ่งเป็นศาสนาหลักของประเทศ ลามไปถึงรัฐสภามีการถกเถียงจะอนุญาตให้นำออกฉายต่างประเทศหรือเปล่า … แต่ก็ให้นะครับ ออกไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา
ถึงแนวคิดของหนังจะน่าสนใจ โคตรเหมาะสำหรับคนไทย แต่ผมกลับไม่ค่อยชื่นชอบพอสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องราวนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ถ่ายทอดออกมาในเชิงวิพากย์วิจารณ์ ‘ชวนเชื่อ’ ชี้ชักนำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ ศรัทธาที่เกิดขึ้นเป็นไม่ถูกต้องสถานเดียว!
สิ่งที่ผมอยากได้มากกว่าคือความคลุมเคลือไปจนจบ (เหมือน Rashômon ไม่เฉลยความจริงคืออะไร) หญิงสาวเป็น Devi กลับชาติมาเกิดจริงหรือเปล่า? นั่นจะไม่สร้างกระแส anti-Hinduism แต่ให้ผู้ชมฉุกครุ่นคิดเข้าใจในมุมมองของตนเองมากกว่า
จัดเรต 15+ กับความเชื่อศรัทธาเปื้อนด้วยคำลวง และอาการคลุ้มคลั่งเสียสติเมื่อค้นพบความจริง
Leave a Reply