Diary of a Chambermaid (1964)
: Luis Buñuel ♥♥♡
Jeanne Moreau รับบทสาวใช้ (Chambermaid) เดินทางจาก Paris สู่คฤหาสถ์หลังใหญ่ในชนบท พบเจอกับด้านมืดของเจ้านาย และเพื่อนคนใช้ แต่แทนที่เธอจะหวาดหวั่นกลัวต่อต้าน กลับถาโถมเข้าใส่, หนังของ Luis Buñuel อย่าคาดหวังว่าคุณจะได้พบเจออะไรสวยงาม หรือเต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมศีลธรรมสูงส่ง
กับเรื่องนี้ถือว่าจัดเต็ม ในแง่ความไม่สนหัว คุณธรรม-ศีลธรรม จริยธรรม-มโนธรรม อะไรก็แล้วแต่ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดกรอบเกณฑ์ ครอบงำจิตสำนึกของผู้อื่น, ถือเป็นความท้าทายในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะสามารถทนต่อการกระทำอันวิปริต บ้าคลั่ง พิศดาร ที่เกิดจากสันชาตญาณของมนุษย์ได้หรือเปล่า และถ้านั่นเป็นด้านมืดของตัวคุณเอง จะสามารถยินยอมรับได้ไหม ว่าฉันก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน
มันมีบางสิ่งอย่างที่เหมือนจะค้างคาในหนัง เด็กหญิงสาวตัวเล็กๆถูกข่มขืนฆ่าในป่า ใครกันที่เป็นฆาตกร? หนังไม่ได้พูดนำเสนอออกมาตรงๆ แต่ด้วยภาษาภาพยนตร์เพียงพอคาดเดาได้ว่าใคร แต่กลับไม่สามารถยืนยันมั่นใจ 100% เพราะหลักฐานไม่เพียงพอมัดตัว มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ซึ่งการที่ Buñuel จงใจให้เกิดความก่ำกึ่งให้กับเหตุการณ์นี้ สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว บัดซบทางจิตใจให้เกิดขึ้นอย่างยิ่ง
หลังเสร็จจากสร้าง The Exterminating Angel (1962) ปีถัดมา Buñuel ได้มีโอกาสพบกับโปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศส Serge Silberman ที่ได้ชักชวนให้ดัดแปลงนิยายเรื่อง Jounral d’une femme de chamber เขียนโดย Octave Mirbeau ตีพิมพ์รวมเล่มเมื่อปี 1900 โดยก่อนหน้านี้เคยได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง
– Dnevnik gornitchnoi (1916) หนังเงียบสัญชาติ Russian กำกับโดย Mikhail Martov
– Diary of a Chambermaid (1946) หนัง Hollywood พูดภาษาอังกฤษ กำกับโดย Jean Renoir นำแสดงโดย Paulette Goddard และ Burgess Meredith
ซึ่งศตวรรษนี้ก็มีสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
– Diary of a Chambermaid (2015) หนังฝรั่งเศส โดยผู้กำกับ Benoît Jacquot นำแสดงโดย Léa Seydoux
หลังจากได้อ่านนิยายเรื่องนี้ Buñuel ก็เกิดความสนใจดัดแปลง แต่เขาไม่เคยรับชมฉบับของ Jean Renoir มาก่อนและไม่คิดที่จะดูด้วย เพราะอาจได้รับอิทธิพลบางอย่างต่อฉบับที่กำลังจะสร้าง, กับคนที่เคยรับชมหนังทั้งสองเรื่อง มีคำพูดเปรียบเทียบที่น่าจะอธิบายได้ตรงสุด
”If Renoir’s version plays out like a happy-go-lucky fairy tale, Buñuel’s take is noticeably more Grimm.”
Buñuel ต้องการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ใน Mexico โดยมี Silvia Pinal นักแสดงขาประจำจาก Viridiana (1961) และ The Exterminating Angel (1962) รับบทนำ แต่โปรดิวเซอร์ Silberman ยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็ง ต้องสร้างหนังเรื่องนี้ที่ฝรั่งเศสเท่านั้น
ตอนที่ Buñuel นำ The Exterminating Angel (1962) ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีก่อน ได้มีโอกาสพบเจอกับ Jean-Claude Carrière ชายหนุ่มนักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ผู้มีผลงานแต่งเรื่องสั้นจากภาพยนตร์ให้กับ Jacques Tati และกำกับหนังสั้นเรื่อง Heureux Anniversaire (1963) ร่วมกับ Pierre Étaix คว้า Oscar: Best Live Action Short Film, ซึ่งการได้พบเจอร่วมงานกันครั้งนี้ เกิดความถูกคอ ทำให้ทั้งสองกลายเป็นขาประจำ ผู้กำกับ-นักเขียน จนถึงภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Buñuel
พื้นหลังของหนังดำเนินเรื่องในช่วงกลางทศวรรษ 30s ยุคสมัยที่เรื่องของการเมืองฝั่งซ้าย-ขวาจัด มีความรุนแรง ฝั่งหนึ่งเห็นด้วยสนับสนุน Nazi ต่อต้านชาวยิว อีกฝั่งก็ชาตินิยมจัด, หญิงสาว Célestine (รับบทโดย Jeanne Moreau) เดินทางจาก Paris มาเป็นคนใช้ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ในชนบท ที่ซึ่งประกอบด้วย
– Madame Monteil (รับบทโดย Françoise Lugagne) คุณนายจอมเจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมากเอาแต่ใจ สนแต่เรื่องเงินๆทองๆ วางตัวเป็นใหญ่ในบ้านโดยไม่เห็นหัวใครทั้งนั้น ถือเป็นคนมีความซาดิส ชื่นชอบทรมานผู้อื่น (โดยเฉพาะสามีตัวเอง)
– Monsieur Monteil (รับบทโดย Michel Piccoli) ทั้งๆที่เป็นสามีของ Madame Monteil แต่กลับถูกกดหัวจนโงไม่ขึ้น มีความต้องการทางเพศสูง โปรยเสน่ห์หวังสาวใช้เพื่อบำบัดกามกิจ พอไม่สมหวังสุดท้ายใครก็ได้หมดขอให้เป็นเพศหญิง, ตัวละครนี้ไม่ได้เป็นยิวนะครับ แต่เพราะความซ้ายจัดเลยถูกเหมารวมไปซะงั้น!
– Monsieur Rabour (รับบทโดย Jean Ozenne) พ่อของ Madame Monteil เป็นชายสูงวัยที่มีความเก็บกดหลงใหลในรองเท้าเสื้อผ้า น้ำเสียงของอิสตรี โดยเฉพาะสาวใช้ ชอบเรียกเธอว่า Marie (เหมือนพระแม่มารีย์) ** สิ่งที่ Monsieur Rabour หลงใหลเรียกว่า Fetish การเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ อาทิ ชุดชั้นใน, รองเท้า ฯ
จะเห็นว่าเจ้านายทั้งสาม ต่างมีความวิปริตในจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องเพศที่มีการแสดงออกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งก็พยายามที่จะไปลงระบายกับคนใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มาใหม่
Jeanne Moreau (1928 – 2017) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เติบโตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, ตอนอายุ 16 เกิดความสนใจด้านการแสดง เข้าเรียนร้องเล่นเต้นที่ Conservatoire de Paris จากนั้นเป็นนักแสดงละครเวที แจ้งเกิดกับภาพยนตร์เรื่อง Elevator to the Gallows (1958) ของผู้กำกับ Louis Malle โด่งดังที่สุดคงเป็น Jules et Jim (1962) ของผู้กำกับ François Truffaut
รับบทสาวใช้ Célestine คนสวยอย่างเธอ เดินทางจาก Paris สู่ชนบท มันต้องมีลับลมคมในอะไรบางอย่างแน่ๆ สังเกตจากสายตาการมอง ชอบที่จะจับจ้องค้นหาเฉพาะสิ่งที่มีความน่าสนใจ น้ำเสียงการอ่านหนังสือที่ไม่ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น จิตใจถือว่าเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ชื่นชอบความเสี่ยงท้าทาย ตื่นเต้นอันตราย ชอบเล่นกับไฟ โดยไม่สนว่านั่นจะเป็นสิ่งถูกหรือผิด
กระนั้นก็มีสิ่งหนึ่งที่เธอเหมือนจะยินยอมไม่ได้ นั่นคือเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนฆ่า … ราวกับว่าตัวเธอวัยเด็กเคยผ่านพบเจอลักษณะเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้มา เลยทำให้ค่อนข้างรักเอ็นดูเด็กหญิงคนนี้ ซึ่งพอได้รับรู้การตาย ค้นพบเข้าใจบางอย่าง เลยมีความต้องการแก้แค้นเอาคืน ด้วยวิธีการที่คนจิตปกติทั่วไปคงทนทำไม่ได้แน่
การแสดงของ Moreau ลึกล้ำแบบหลุดโลก ดูเหมือนจะไม่ได้ทุ่มเทจดจ่ออยู่กับตัวละครนัก แต่ผลลัพท์กลับทรงพลัง สมจริง แนบเนียน ลงตัว, สายตาที่ชอบกวาดมองไปมา บางครั้งล่องลอยด้วยความเหน็ดเหนื่อยเบื่อล้า บางครั้งตื่นเต้นครึกครื้นเฮฮา พอได้รับความพึงพอใจชัยชนะก็กระหยิ่มยิ้มแย้ม ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจโดยแท้
Georges Géret (1924 – 1996) นักแสดงหนุ่มสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lyon, เริ่มต้นจากเป็นช่างเครื่องยนต์ที่ Ministry of Finance ขณะเดียวกับก็เป็นนักแสดงในโรงละครเวทีสมัครเล่น ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Léo Joannon ชักชวนมาเล่นหนังเรื่อง Le Défroqué (1954) ก่อนมีผลงานร่วมกันอีกหลายครั้ง โด่งดังที่สุดคงเป็น The Diary of a Chambermaid (1964)
รับบท Joseph คนขับรถที่ทำงานในคฤหาสถ์หลังนี้มากว่า 10 ปี เป็นคนหัวรุนแรง ขวาจัด ชาตินิยม และต่อต้านชาวยิว, เหตุผลที่ตกหลุมรัก Célestine เพราะ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ แค่มองตาก็รับรู้เข้าใจตัวตนของอีกฝ่ายว่ามีความคล้ายคลึงกันตน นี่เป็นคำพูดที่ไม่ผิดเลยนะครับ
ถึงจะเป็นคนหัวรุนแรงแต่มีอุดมการณ์หนักแน่นจริงจัง กับคนที่เข้าข้างอยู่ฝ่ายเดียวกับตนคงไม่มีวันคิดคนทรยศ ผิดกับศัตรูหรือคนที่เห็นต่างก็จะเกลียดชังขี้หน้าต่อต้านไม่ยอมรับ, นิสัยชอบระแวดระวังภัยตัวเองตลอดเวลาราวกับเป็นคนโรคจิต คงเพราะเขาเป็นคน… จริงๆนะแหละ เลยจำเป็นต้องรอบคอบมีสติตลอดเวลา ซึ่งเมื่อถูก Célestine ทรยศหักหลัง ก็ถอดใจจากเธอ แล้วไปทำตามความฝันเปิดบาร์ร้านอาหารอยู่ที่ Cherbourg กับสาวคนใหม่
Daniel Ivernel (1920 – 1999) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, รับบท Captain Mauger ชาตินิยมขวาจัดเช่นกัน มีความขัดแย้งไม่ชอบหน้ากับ Monsieur Monteil แต่ก็หลงเสน่ห์ของ Célestine ขอเธอแต่งงาน กระนั้นเมื่อได้แต่งแล้ว ชีวิตเธอก็กลายเป็นนกในกรง เต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย กลับกลายเป็นเหมือน Madame Monteil ไม่ผิดเพี้ยน
ถ่ายภาพโดย Roger Fellous, นี่เป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ Buñuel ถ่ายทำด้วย Anamorphic Widescreen คงเพราะสไตล์หนังของเขามักเล่าเรื่องในพื้นที่จำกัด/ในห้องหับ ภาพขนาดยาวๆจึงไร้ประโยชน์ วุ่นวายยุ่งยากสิ้นดี
ในฉากที่เด็กหญิง Claire (รับบทโดย Dominique Sauvage) ก่อนจะถูกข่มขืนฆ่า [ผมเรียกซีนนี้ว่า หนูน้อยหมวกแดง] จะมีการตัดให้เห็นสัตว์สองชนิด คือหมูป่าและกระต่าย เราสามารถตีความหมายได้ว่า กระต่ายคือเด็กหญิง และหมูป่าคือคนที่ฆ่าข่มขืนเธอ, กับภาษาภาพยนตร์แบบนี้ หลายคนคงเชื่อมั่นการันตีได้ว่าผู้ร้ายคือใคร แต่มันก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะไม่มีภาพของเหตุการณ์จริงตัดให้เห็น (ก็แน่ละมันจะถ่ายให้เห็นได้อย่างไร) แต่ถ้าใช่จริงๆก็ต้องยอมรับว่า ชายคนนั้นปกปิดหมกเม็ดหลักฐานได้อย่างมิดชิดเลยละ!
ตัดต่อโดย Louisette Hautecoeur, หนังใช้มุมมองของสาวใช้ Célestine เป็นหลัก ช่วงแรกๆเป็นการแนะนำตัวละคร มีการตัดสลับระหว่างฝั่งคนใช้กับฝั่งเจ้านาย พอผ่านช่วงนี้ไปเรื่องราวจะดำเนินไปเรื่อยๆแบบไม่รู้วันเดือนปี เหมือนจะผ่านไปนานแต่ก็อาจไม่นาน (หนังของ Buñuel ก็มักเป็นแบบนี้ สนใจ Space มากกว่า Time)
ตอนจบของหนัง กับการเดินขบวนของกลุ่มขวาจัด ตะโกนว่า ‘Vive Chiappe’ นี่เป็นเหตุการณ์จริงในเมือง Cherbourg ปี 1934 เมื่อหัวหน้าตำรวจ (Chief of Police) Jean Chiappe ที่เป็น Fascist ขวาจัด ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเดินขบวน, Buñuel เคยมีประวัติกับ Chiappe เมื่อครั้นหนังเรื่อง L’Âge d’Or (1930) ที่ถูกชายผู้นี้สั่งแบน ห้ามฉาย และทำลายฟีล์มภาพยนตร์ นัยยะตอนจบเป็นการตอกย้ำสมน้ำหน้านะครับ ไม่ได้ยกย่องเชิดชูชื่นชมแต่ประการใด
“Sexual perversion repulses me, but I can be attracted to it intellectually.”
– Luis Buñuel
การแปรสภาพของความต้องการทางเพศ นี่ฟังดูเป็นประเด็นน่าสนใจทีเดียว เมื่อสังเกตว่าแทบทุกตัวละครในหนัง แต่ละคนเหมือนจะไม่สุขสมหวังในชีวิต Sex เอาเสียเลย ด้วยความเครียด/หมกมุ่น จำเป็นต้องหาทางระบายออก บางคนจึงต้องแปรสภาพความต้องการนั้นสู่รูปแบบอื่น
เห็นเด่นชัดสุดคงเป็น Monsieur Rabour กับพฤติกรรม Fetish คนที่ชื่นชอบดูหนังโป๊คงรู้จักคำนี้ดี จริงๆนี่ไม่ถือเป็นความวิปริตทางเพศเสียเท่าไหร่นะครับ ถ้าสามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบแบบตัวละครที่หมกมุ่นอยู่แต่ในห้องหับของตนเอง แต่ถ้าเป็นแบบพวกขโมยชุดชั้นในจีสตริง สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เช่นนี้ใครๆก็มักมองว่าเป็นโรคจิต จำต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยด่วน
สำหรับสาวใช้ Célestine จะถือว่าความต้องการทางเพศของเธอมีความอัปลักษณ์พิศดารที่สุดเลยก็ว่าได้ ยินยอมเสียตัวให้กับคนที่เธอคิดว่าเป็นฆาตกร นี่ผมไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาบรรยายรสนิยมของเธอเลยนะ มันเป็นความตื่นเต้นเร้าใจหรือฝืนกัดฟันทนไว้ นี่ก็บอกไม่ได้มองไม่ออกแม้แต่น้อย … ศัพท์วัยรุ่นล่าสุด ‘สวยหั่นศพ’ กับคดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ เพราะความสวยแรงของเธอ มีคนบางกลุ่มคลั่งไคล้หลงใหลชื่นชอบ WTF! ผมคงไม่เสียเวลาครุ่นคิดอธิบายรสนิยมของคนกลุ่มนี้นะครับ
นอกจากประเด็นการแปรสภาพความต้องการทางเพศแล้ว Buñuel ยังเล่าเรื่องคู่ขนานกับปัญหาการเมืองในยุคสมัยนั้น ที่มีความไม่นิ่งแน่นอนใจ (Sex วิปริต = การเมืองที่ผิดปกติ) สองอย่างนี้ถือว่าสะท้อนกันอย่างลงตัว และยังมีเอี่ยวเรื่องของศาสนา (ในสไตล์ของผู้กำกับ) กับตัวละครบาทหลวงหนึ่งเดียวของหนัง ที่เมินเฉยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น (Catholic Church that would turn a blind eye to the Holocaust.) นี่คือความบ้าคลั่งของพวกชาตินิยมขวาจัดในฝรั่งเศส ที่ประวัติศาสตร์ผ่านมาแล้ว ล้มเหลวพ่ายแพ้ย่อยยับโดยสิ้นเชิง!
ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้แม้แต่น้อย แรกๆก็ดูน่าสนใจดีเพราะ Jeanne Moreau ได้สร้างความน่าฉงนสงสัยในการกระทำพฤติกรรมของตัวละคร แต่เมื่อหนังค่อยๆเปิดเผยสาเหตุผลเบื้องหลัง (ที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ) ก็ไม่หลงเหลือความดีงามใดๆให้ผมอดรนทนต่อไปได้ แม้แต่การกระทำของเธอที่ทำให้ผู้ร้ายถูกจับกุม สุดท้ายหนังกลับทำให้ ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’ มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวบัดซบไม่คุ้มค่าเสียนี่กระไร
แนะนำกับคอหนังดราม่าแรงๆ สะท้อนด้านมืดในจิตใจของมนุษย์, หลงใหลในชุด Maid, จิตแพทย์ นักจิตวิทยาวิเคราะห์จิตใจของตัวละคร, แฟนๆผู้กำกับ Luis Buñuel นักแสดงนำ Jeanne Moreau, Michel Piccoli ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับแนวคิด และสิ่งที่หนังกลายเป็น
Leave a Reply