Diary of a Country Priest (1951) : Robert Bresson ♥♥
นี่เป็นหนัง Catholic ที่ดีมากๆ การแสดงของ Claude Laydu ได้รับการยกย่องว่า ‘เป็นคนที่สมควรไปสวรรค์มากที่สุด’ แต่ถ้าคุณไม่ใช่ชาวคริสต์หรือไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า นี่อาจเป็นหนังที่ไม่มีคุณค่าอะไรสักเท่าไหร่
เคียงข้างกับ The Passion of Joan of Arc (1927) ทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนัง Catholic ที่ยอดเยี่ยมที่สุด, ก็แน่ละนำเสนอฮีโร่ผู้มีความเชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างแรงกล้า แต่กลับถูกปฏิบัติเหมือนเป็นคนนอกรีต ไม่ได้รับการยอมรับ ตกนรกทั้งเป็น เรื่องราวของพวกเขา ตอนยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอจากไปแล้วและความจริงถูกเปิดเผย จึงได้รับการกล่าวถึงย้อนหลัง ในฐานะสาวกเอกผู้มีศรัทธาแรงกล้าแท้จริง
ผมไม่เคยเห็นหนังเกี่ยวกับศาสนาพุทธลักษณะนี้เลยนะครับ คงไม่มีใครกล้าสร้างเป็นแน่เพราะจะถูกคนบางกลุ่ม มองเป็นการลบหลู่เสื่อมศรัทธา ผมละอยากเอาหนังเรื่องนี้ให้พวกเขาพิจารณาดูเสียจริง คือมันก็มีมุมหนึ่งที่เป็นการดูถูกศรัทธาในศาสนานะ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอแบบอย่าง ของคนที่เชื่อถือยึดมั่นในแก่นแท้ของศาสนาที่ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน
“การจะนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่ดียิ่งใหญ่ จำเป็นต้องนำเสนอสิ่งชั่วร้ายที่สุดเคียงคู่กันด้วยเสมอ”
ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ในปี 1936 ของ Georges Bernanos, เรื่องราวของบาทหลวงหนุ่มคนหนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่ที่โบสถ์ใน Ambricourt ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เขาพยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่น
สำหรับนักแสดงในหนัง นี่เป็นครั้งแรกของ Bresson ที่เริ่มใช้นักแสดงสมัครเล่นไร้ประสบการณ์ เพื่อทดลองกับทฤษฎี ‘หุ่น’ ที่สร้างขึ้น เว้นแต่นักแสดงนำชายที่เลือกคนมีชื่อเสียงเสียหน่อย แต่ก็เป็นการแสดงหนังครั้งแรกของเขาเช่นกัน
นำแสดงโดย Claude Laydu นักแสดง/พิธีกร สัญชาติ Belgian รับบทบาทหลวงหนุ่มแห่ง Ambricourt (หนังไม่มีชื่อเรียกอื่น), ตัวละครนี้มีความเคร่งครัดและศรัทธาในพระเจ้าอย่างมาก ถือว่าเงินที่ได้จากการบริจาคของประชาชน ไม่ใช่เงินสำหรับเขา อาหารการกินจึงขอแค่พอเพียงแบบประหยัด มีเพียงขนมปัง ซุปและไวน์ (แต่ก็ประหยัดเกินไปน่ะ) นี่ส่งผลให้ร่างกายของเขาอ่อนแอ จนกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร สภาพร่อแร่ใกล้ตาย แต่ก็ยังทำหน้าที่ตนเองอย่างสุดความสามารถ (กระนั้นคนใน Ambricourt กลับคิดว่าบาทหลวงคนนี้ขี้เมา และเห็นแก่ตัว)
ด้วยทฤษฎีของ Bresson ได้ถอดวิญญาณออกจาก Laydu หมดสิ้น จนเขาแทบไม่เหลืออะไร กลายเป็นเหมือนผีตายซากเดินได้ แต่ในร่างเปล่าๆนั้นเอง เหมือนว่าบางครั้งราว พระเจ้าได้แอบเข้าไปสิงสถิตย์อยู่โดยไม่รู้ตัว เช่น ขณะขอจดหมายของ Chantal, ตอนอธิบายเรื่องพระเจ้าแก่ Countess ฯ (เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัวว่าคิด/ทำ/พูด เช่นนั้นออกไปได้ยังไง) ด้วยเหตุนี้เอง ชาว Catholic ทั้งหลายที่ดูหนังเรื่องนี้ ต่างยกย่องสรรเสริญการแสดงของ Laydu ถึงขนาดเรียกว่า ‘เป็นการแสดงที่สมจริงยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ (ตามความเห็นส่วนตัว การแสดงของ Laydu ยอดเยี่ยมแต่ยังไม่ใช่ที่สุดแน่นอน)
ถ่ายภาพโดย Léonce-Henri Burel, แม้การเคลื่อนกล้องแบบ ‘สไตล์ Bresson’ จะปรากฎเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่โดยรวมถือว่ามีความสวยงาม โดดเด่น ถึงขนาดได้รางวัล Best Cinematography จากเทศกาลหนังเมือง Venice, เน้นถ่ายภาพ mid-shot แบบเงยขึ้นเล็กน้อย (กล้องมักจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา) แต่ละฉากส่วนใหญ่ มักจะมีนักแสดงเพียง 1-2 คนที่อยู่ในเฟรมเดียว (หลายคนก็มีนะครับ แต่จะไม่เห็นนานนัก) ถ้าสองคนสนทนากัน จะมีการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางการหันหน้าของนักแสดง สวนกัน/คนละทิศทาง/ตั้งฉาก 90 องศา (นี่คล้ายกับหนังของ Ingmar Bergman หลายๆเรื่อง)
ตัดต่อโดย Paulette Robert, หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบาทหลวงทั้งหมด ที่ได้พบเจอกับเรื่องราวต่างๆ เล่าผ่านไดอารี่ที่จดบันทึกไว้, หนังตัดให้เห็นภาพข้อความ ขณะเขียน/ขีดฆ่า/ฉีกทิ้ง บ่อยครั้งมาก แทบจะทุกครั้งเพื่อคั่นเรื่องราวแต่ละช่วง ซึ่งเมื่อจบแต่ละตอน จะมีการเปลี่ยนฉากโดยการเฟด/Iris Shot, การตัดต่อลักษณะนี้เรียกว่า ‘คลาสสิก’ นะครับ ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยม ตกยุคไม่ค่อยมีใครทำกันแล้วไปแล้ว
ว่าไปหนังเรื่องนี้ถือว่ายาว (115 นาที) และดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า ปกติหนังของ Bresson จะขึ้นชื่อเรื่องความสั้น (ไม่เกิน 80-90 นาที) และดำเนินเรื่องเร็ว ตัดต่อฉับไวไหลลื่น, ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะ Bresson ต้องการเคารพนิยายต้นฉบับให้มากที่สุด จึงสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ตรง และจะถึอ ‘สไตล์ Bresson’ ยังไม่เบ่งบานเท่าไหร่กับหนังเรื่องนี้
เพลงประกอบก็เช่นกัน โดย Jean-Jacques Grünenwald ไม่แน่ใจว่านี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ Bresson ใส่เพลงประกอบในระหว่างเล่าเรื่องหรือเปล่า, เพลงประกอบสร้างบรรยากาศ ให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก เข้าใจถึงจิตใจของตัวละคร ซึ่งก็คือ บาทหลวง มีความโหยหวน ด้วยทำนองเรียบง่าย โน๊ตไม่เยอะ ฟังแล้วอึดอัด เหมือนคนใกล้ตาย … คือมันก็เพราะ เข้ากับหนังนะครับ แต่ถ้านำมาฟังเพลินๆ คงไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่
ใจความของหนังเรื่องนี้ จริงๆคือเรื่องของความเชื่อ ศรัทธา ศาสนาล้วนๆ แต่ผมขอมองอีกแบบ คือการนำเสนอเรื่องราวของฮีโร่คนหนึ่ง ผู้มีความประสงค์ดี และตั้งใจทำแต่สิ่งดีๆ แต่คนรอบข้างกลับมองถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นชอบ พูดจาว่ากล่าวติฉินนินทา คนทั่วไปคงทนไม่ได้และพยายามแก้ตัว แต่คนที่ดีแท้ เขาไม่จำเป็นต้องแก้ต่างอะไร ความดีเป็นของจริง ไม่ต้องให้ใครมาพิสูจน์ หรือเราต้องโอ้อวด เปิดเผยให้ผู้อื่นเห็น คนแบบนี้เรียกว่า ‘ดีแท้’
ฟังดูก็ถือว่าเป็นหนังที่ใจความดีมากๆเรื่องหนึ่ง กระนั้นส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ ประเด็นศาสนาก็มีส่วนนิดหน่อย แต่หลักๆคือวิธีการเล่าเรื่อง และบรรยากาศของหนัง ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัดทรมาน เหมือนกำลังจะขาดใจตาย แบบฮีโร่ของหนัง, ผมเป็นคนไม่ชอบวิธีการทรมานขณะดูหนังแบบนี้นะครับ จะว่าเป็นอคติส่วนหนึ่งกับผู้กำกับ Bresson ก็ได้ (กระนั้นหนังเรื่อง Pickpocket ผมก็ชมเขาแบบออกนอกหน้าเลยนะ ว่าเป็นหนังที่ดีมีประโยชน์มากๆ) คือเขาสร้างฮีโร่ ให้มีตำหนิ และทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงตำหนินั้น รู้ถึงความเจ็บปวดทรมาน ยากลำบาก (อารณ์แบบนี้ คงต้องการให้รู้สึกเหมือนตอนพระเยซูถูกตรึงกางเขนหรือ Joan of Arc ถูกทรมานเพื่อให้พูดโกหก) และแถมพอฮีโร่สามารถเอาชนะคนอื่นได้ แต่กลับแพ้ภัยตนเองแบบโง่ๆ นี่เรียกว่า เดินขัดขาตัวเองล้ม ผมว่ามันไร้ค่าสิ้นดี
ประเด็นศาสนา ขณะที่บาทหลวงพูดคุยกับ Countess บอกตามตรง ผมฟังไม่รู้เรื่องว่าพวกเขาสนทนาอะไรกัน และไม่คิดอยากทำความเข้าใจด้วย เพราะรู้สึกมันเป็นประเด็นทางความเชื่อ ศรัทธาต่อศาสนาล้วนๆ, ส่วนตัวผมไม่มีอคติอะไรในทัศนะของหนังนะครับ กับคนที่พยายามวิ่งหนีมาตลอดชีวิต แล้วใครคนหนึ่งสามารถทำให้เธอหันหน้าเข้าหาความจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสอน ชี้แนะแนวทางของศาสนาใด ถือว่าใช้ได้หมด เป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม, แต่กระนั้น สิ่งที่หนังพูดถึงนี้ เรื่องดินแดนของพระเจ้า การตาย สรวงสวรรค์ มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของศาสนานั้นๆ ใช่ว่าคนจากศาสนาอื่นจะสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องพรรค์นี้ได้ เชื่อว่าบางคนอาจเกิดอคติด้วยซ้ำ เพราะช่วงเวลานั้น คือหนังสอนศาสนาแบบชัดๆเลย
จิตใจของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ เลือกฟังความข้างเดียว ใช้ชีวิตบนความเชื่อของตนเอง เห็นแก่ตัว เวลาอดรนทนใจอะไรไม่ได้ก็ต้องระบายออกมา ทำอะไรผิดก็ต้องแก้ต่าง, แต่ถ้าคุณเจอคนที่ จิตใจสงบ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ชอบการโต้เถียง โต้ตอบ (แม้ฮีโร่ในหนังจะไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ แต่การไม่แสดงอะไรออกมา สามารถมองได้ว่า มีอะไรบางอย่างดนใจ) คนพวกนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะเขาเข้าใจวิถีของชีวิต เข้าใจจิตใจมนุษย์โดยแท้, เวลามีคนมาด่าผม ก็ไม่เคยเดือดเนื้อทุกข์ร้อนใจอะไร รับฟังคำวิพากย์ ไม่ใช่อารมณ์ คิดทบทวน ถ้ามันเลวร้าวปรับปรุงได้ก็จะรับฟัง แต่ถ้าไม่ ก็หาได้สนใจ เอาจิตใจไปติดกับความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นโดยคนอื่น … ในทางคริสต์ การปล่อยวางคือ เชื่อมั่นในพระเจ้า คาดหวังดินแดยอาณาจักรของพระองค์ กับคนที่มีศรัทธาในความเชื่อนี้อันแรงกล้า ก็จะไม่มีอะไรให้ต้องเดือดเนื้อ ทุกข์ร้อนใจ เป็นได้ดั่ง บาทหลวงและ Countess ที่เข้าใจตนเองในที่สุด
แต่ถ้าจะบอกให้หนังตัดประเด็นศาสนาทิ้งไป นี่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะแก่นหลักของหนังคือสอนศาสนา ต่อให้ผมพูดอ้อมโลกว่าเป็นเรื่องของฮีโร่ มองยังไงมันก็เป็นเรื่องของศรัทธา ความเชื่อ และพระเจ้าอยู่ดี, Bresson ทำหนังเรื่องนี้ด้วยศรัทธาแรงกล้า ทั้งๆที่ตัวเขาเป็น Christian ไม่รู้ทำไมถึงเลือกทำหนัง Catholic (Catholic เชื่อในวิถีเดิม อนุรักษ์นิยม ส่วน Christian เชื่อในวิถีใหม่)
หนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice แม้จะไม่ได้ Golden Lion แต่ได้รางวัล International Award (ปัจจุบันไม่มีรางวัลแล้ว ถ้าเทียบคงอันดับ 2 Grand Prize) และรางวัล Best Cinematography
ประโยคคำพูดเด็ดในหนังมี 2 Quote
– ‘God is not a torturer’ = พระเจ้าไม่ใช่ผู้ทรมานมนุษย์ ** นี่เป็นคำพูดโปรดของ Martin Scorsese
– ‘All is grace.’ = ทั้งหมดเป็นพระคุณ(ของพระเจ้า)
ถ้าคุณเป็น Catholic นับถือศาสนาคริสต์ นี่เป็นหนังที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่ถ้าไม่ก็ไม่จำเป็นนะครับ
แนะนำกับคนชอบหนังแนวศาสนา, ปรัชญา, ดราม่าประเภทแก้ปัญหาชีวิต, แฟนหนัง Robert Bresson และ Claude Laydu ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับคำพูดที่เสียดสี แทงใจดำเจ็บปวด และบรรยากาศหนังที่แสนอึดอัด
[…] 1. Diary of a Country Priest (1951) : Robert Bresson ♥♥ […]