Diary of a Lost Girl

Diary of a Lost Girl (1929) German : G. W. Pabst ♥♥♥♥

บันทึกชีวิตของ Louise Brooks เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้ายทารุณ ถูกข่มขืนจนท้อง พ่อมีเมียใหม่เป็นคนใช้ ส่งตัวเข้าสถานพินิจ (ดัดสันดาน) ทำงานในซ่องโสเภณี เพื่อนสนิทฆ่าตัวตาย ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คนส่วนใหญ่ก่อนมีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มักต้องเคยดู Pandora’s Box (1929) ผลงาน Masterpiece ที่ทำให้ผู้กำกับ G. W. Pabst กลายเป็นตำนาน และ Louise Brooks คือ Iconic แห่งยุคสมัย Flapper

แต่หลายคนก็อาจผิดหวังกับ Diary of a Lost Girl เพราะไม่สามารถสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้ยิ่งใหญ่กว่าหรือเทียบเท่า Pandora’s Box กระนั้นลองมองว่าหนังเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนเติมเต็ม หรือคือ Prequel ก่อนแม่หญิงผมบ็อบจะแก่นแก้วกร้านโลก ย่อมต้องเคยสดใสซื่อไร้เดียงสามาก่อน ค่อยๆถูกความชั่วร้ายของสังคมและโลกกัดกร่อนเสี้ยมสอนขัดเกลา จนเมื่อถึงวันหนึ่งก็ไม่สนอะไรแม้งแล้ว ปลดปล่อยทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองตัณหาต้องการของตนเองเท่านั้นเป็นพอ

Georg Wilhelm Pabst (1885 – 1967) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Bohemia, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) พ่อเป็นพนักงานรถไฟเลยวาดฝันโตขึ้นอยากเป็นวิศวกร แต่เลือกเข้าเรียนการแสดงยัง Vienna Academy of Decorative Arts จบออกมาทัวร์ยุโรปและอเมริกา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารแต่ไม่ทันไรถูกจับเป็นนักโทษเชลยสงครามที่เมือง Brest (French Prison Camp) กลายเป็นผู้จัดการแสดง Theatre Group ของค่ายกักกันนั้น, หลังสิ้นสุดสงครามหวนคืนสู่ Vienna ได้งานผู้จัดการโรงละคร Neue Wiener Bühne เข้าตา Carl Froelich ชักชวนสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นผู้ช่วยและกำกับเองเรื่องแรก The Treasure (1923), โด่งดังกับ Joyless Street (1925) ทำให้ Greta Garbo กลายเป็นดาวดาราดวงใหม่ขึ้นมาทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), Diary of a Lost Girl (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930), Young Girls in Trouble Director (1939), The Comedians Director (1941) ฯ

ความสนใจในทศวรรษหนังเงียบของ Pabst มักเกี่ยวกับเพศหญิง นำเสนอสภาวะทางอารมณ์จิตใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งเห็นต่าง ทางการเมือง เรื่องต้องห้ามของสังคม ขนบวัฒนธรรม กับความต้องการส่วนตน รสนิยมทางเพศ แฟชั่น และการแต่งตัว

สำหรับ Diary of a Lost Girl ดัดแปลงจากนิยายขายดี Bestselling ชื่อเดียวกัน Tagebuch einer Verlorenen (1905) แต่งโดย Margarete Böhme (1867 – 1939) นักเขียนสัญชาติ German, เพราะความที่ผู้อ่านต่างคิดว่านี่คือบันทึกจริงๆของหญิงสาวชื่อ Thymian เลยทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ตีพิมพ์ครั้งแรก 30,000 เล่ม ขายหมดในเวลา 4 เดือน แถม Böhme ยังอ้างว่าตนเองเป็นแค่บรรณาธิการของหนังสือ (จริงๆเธอเขียนเรื่องนี้ อ้างอิงบางส่วนจากชีวประวัติของตนเอง)

“Perhaps the most notorious and certainly the commercially most successful autobiographical narrative of the early twentieth century”.

เพราะความสำเร็จของหนังสือทำให้มีภาคต่อ Dida Ibsens Geschichte (1907), ละครเวทีเมื่อปี 1906, หนังสือล้อเลียน, และสองครั้งกับฉบับภาพยนตร์
– Tagebuch einer Verlorenen (1918) กำกับโดย Richard Oswald นำแสดงโดย Erna Morena และ Conrad Veidt น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว
– Tagebuch einer Verlorenen (1929) กำกับโดย G. W. Pabst นำแสดงโดย Louise Brooks

พื้นหลังประมาณปี 1890, เรื่องราวชีวิตของ Thymian (รับบทโดย Louise Brooks) ลูกสาวเจ้าร้านขายยา เมื่อวันรับศีลกำลัง (Confirmation) [การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ, หรือจะมองว่าวันที่โตเป็นสาว มีประจำเดือนแล้วก็ได้] ตอนเช้าพบเห็นแม่บ้านคนเก่า Elisabeth เก็บข้าวของเพ่นหนีออกจากบ้านเพราะถูกข่มขืนจนท้อง ตอนเย็นพบเจอในสภาพศพจมน้ำตาย สร้างความสับสนวุ่นวายร้าวฉานให้กับเด็กหญิงเป็นอย่างมาก โดยไม่รู้ตัวหมดสติ ปล่อยให้ผู้ช่วยของพ่อ Meinert ข่มขืนจนท้อง สร้างความอับอายขายหน้าให้วงตระกูล จนต้องนำลูกที่คลอดออกมาส่งให้หมอตำแยเลี้ยง แล้วบังคับให้เธอไปอยู่ในสถานพินิจดัดสันดาน

ณ สถานที่แห่งนั้นเคร่งครัดด้วยกฎระเบียบยิ่งกว่าค่ายฝึกทหาร นำโดยหญิงสาวจอมเผด็จการ (ที่ดูยังไงก็เป็นเลสเบี้ยน) และผู้ช่วยชายร่างยักษ์หัวโล้น ชอบใช้กำลังบีบหลังคอหญิงสาว (ทำเหมือนจับคอลูกแมวน้อย) โชคดีที่ Thymian ได้รับการช่วยเหลือจาก Count Osdorff (รับบทโดย André Roanne) ที่ถูกครอบครัวถีบส่งไม่แลเหลียว และเพื่อนสาวที่ติดคุกด้วยกัน Erika หนีออกมาได้สำเร็จ แล้วไปอาศัยอยู่กับแม่เล้ายังซ่องโสเภณี

หลังจากที่ขายลูกสาวแท้ๆให้กับสถานพินิจ พ่อแต่งงานกับแม่บ้านคนใหม่ มีลูกน้อยน่ารักสองคน วันหนึ่งหวนมาพบเจอ Thymian เห็นเธอในสภาพโสเภณีเกิดความรับไม่ได้ แต่นั่นเพราะเขาทำตัวเองแท้ๆ สามปีถัดจากนั้นหลังเสียชีวิตเขียนในมรดกพินัยกรรม ยกร้านให้กับผู้ช่วย Meinert และเงินมรดกก้อนมหาศาลให้ลูกสาว แต่เธอนั้นเลือกมอบมันให้คนรักของพ่อที่ถูกเฉดส่งออกจากบ้าน เพราะไม่อยากให้ต้องผจญชีวิตในทางตกต่ำเหมือนตนเอง

แต่เพราะการกระทำอันมีกรุณาของ Thymian ทำให้เพื่อนสนิท Count Osdorff ตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย (เพราะอะไรไปหาเหตุผลในหนังเองนะครับ) เป็นเหตุให้เธอรู้จักคุณลุงของเขา ที่อาสาช่วยเหลือตอบแทนด้วยการแต่งงานกัน มีชีวิตสุขสบายจนกระทั่งคราหนึ่ง ได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่ม Society for the Rescue of Endangered Female Youth ที่ควบคุมดูแลสถานพินิจที่ตนเคยอาศัยอยู่ การหวนกลับไปครั้งนั้นทำให้พบเจอเพื่อนเก่าจดจำหน้าได้ ด้วยความอดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว พาเธอเดินออกจากสถานที่แห่งนั้น

Mary Louise Brooks (1906 – 1985) นักเต้น นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cherryvale, Kansas วัยเด็กมีพรสวรรค์ด้านการเล่นเปียโน โตขึ้นเข้าร่วมเป็นนักเต้นกลุ่ม Denishawn ที่ Los Angeles แค่เพียงปีเดียวถูกไล่ออกจากความขัดแย้ง จากนั้นได้เพื่อนสนิทใช้เส้นสายกลายเป็นนักเต้น Broadway เรื่อง Ziegfeld Follies เข้าตา Paramount Picture จับเซ็นสัญญา 5 ปี ภาพยนตร์เรื่องแรก The Street of Forgotten Men (1925), แต่ส่วนใหญ่ได้รับบทรอง Girl-Next-Door, นักเต้นกายกรรม Cabaret ฯ

ปี 1928 ตัดสินใจหนีท่องยุโรปเพราะความขัดแย้งกับสตูดิโอหลังเซ็นสัญญาฉบับใหม่ ได้รับการติดต่อจาก G. W. Pabst แสดงนำรับบท Lulu เรื่อง Pandora’s Box (1929) เพราะความ Erotic ที่ดูเป็นธรรมชาติน่าหลงใหล แต่ภายในกลับดูใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ซึ่งหลังจากความสำเร็จล้นหลาม เลยขอให้ร่วมงานกันต่ออีกครั้งใน Diary of a Lost Girl (1929)

เกร็ด: ตอนอายุ 9 ขวบ Brooks เคยถูกเพื่อนบ้านใช้ความรุนแรง(น่าจะข่มขืน) เขียนบอกในหนังสือชีวประวัติ นั่นเป็นเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถตกหลุมรักใครในชีวิตได้เลย ดื่มหนักตั้งแต่อายุ 14 คบหาได้ทั้งชาย-หญิง และความสุขในการร่วมรัก นุ่มนวลไม่เคยเพียงพอ รุนแรงเร่าร้อนเท่านั้นถึงตอบสนองกามารณ์ของตนเองได้

รับบท Thymian Henning หญิงสาวผู้มีความสดใสซื่อไร้เดียงสา เพราะพ่อเป็นแบบอย่างแย่ๆให้กับตนเอง ทั้งยังถูกกีดกันผลักไสออกจากชีวิต ทุกครั้งเวลาถูกชายหนุ่มรุมหอมแก้มหรือเต้นรำ จะตัวแข็งทื่อหลับตาปี๋เหมือนคนหมดสติควบคุมอะไรไม่ได้ (มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ แทนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเธอได้สาปสูญหายไปจากเรือนร่างกาย) กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆช่วงครึ่งหลังของหนัง จึงเหมือนว่าเริ่มสามารถครุ่นคิดตัดสินใจทำอะไรได้ด้วยตนเองแล้ว โดยเฉพาะขณะมอบเงินมรดกก้อนโตให้กับอดีตภรรยาของพ่อที่เคยโคตรเกลียดริษยา เพราะไม่อยากให้พวกเขาต้องมาตกต่ำระกำชีวิตแบบตนเอง

การแสดงของ Brooks แทบจะตรงกันข้ามกับตอน Pandora’s Box (1929) ที่เต็มไปด้วยความแก่นกร้านโลก กระนั้นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกภายในดวงตายังคงสดใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา นั่นออกมาจากธรรมชาติจริงๆของเธอเลยละ

หลายคนมีทัศนคติต่อ Brooks ในทิศทางที่ว่า ไม่เห็นเธอแสดงจะอะไรออกมาเลย ‘doing nothing’ แต่แท้จริงแล้วนั่นคือความ Modern แตกต่างจากนักแสดงอื่นร่วมสมัยที่ทำตัวเหมือนยืนอยู่ต่อหน้ากล้อง แต่เธอเป็นคนเดียวที่ปรากฎตัวเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในฉากๆนั้น

ไดเรคชั่นที่ Pabst ใช้กับนักแสดง Brooks เขียนไว้ในหนังสือชีวประวัติ Lulu in Hollywood (1982) บอกว่าเขาไม่เคยพูดคุยรายละเอียดใดๆ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแสดง หรือมีการซักซ้อมเตรียมการล่วงหน้า

“He wanted the shocks of life to release unpredictable emotions. Every actor has a natural animosity toward every other actor, present or absent, living or dead”.

เพราะความสนใจของเขา คือธรรมชาติของทัศนคติ ความรู้สึก/ขัดแย้ง ที่นักแสดงแต่ละคนมีให้ต่อกัน, อย่างฉากหนึ่งที่ Brooks ต้องสวมชุดราตรีขณะเต้นรำ เขาไม่อนุญาตให้เธอสวมใส่อะไรไว้ภายใน ก็ไม่เห็นจำเป็นอะไร ‘No one will know.’ ผู้กำกับตอบว่า ‘The actor will know.’

ความยิ่งใหญ่ของ Brooks ไม่ได้รับการค้นพบในอเมริกา แต่เป็นนักวิจารณ์ฝรั่งเศส น่าจะเริ่มจาก Henri Langois ผู้ก่อตั้ง Cinematheque François น่าจะเป็นคนแรกที่พูดว่า

“There is no Garbo, there is no Dietrich, there is only Louise Brooks!”

อิทธิพลต่อวงการ อาทิ
– Anna Karina เรื่อง Vivre sa vie (1962),
– Liza Minnelli เรื่อง Cabaret (1972),
– Melanie Griffith เรื่อง Something Wild (1986),
– Uma Thurman เรื่อง Pulp Fiction (1994)
ฯลฯ

ถ่ายภาพโดย Sepp Allgeier (White Hell of Pitz Palu) และ Fritz Arno Wagner (Destiny, Nosferatu, M, The Testament of Dr. Mabuse), ลักษณะของงานภาพและการออกแบบ ยังคงเป็น German Expressionism ที่แม้จะมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละครออกมา

ตัดต่อโดย G. W. Pabst, ใช้มุมมองของ Thymian ที่จดบันทึกลงในไดอารี่ ของขวัญวันรับศีลกำลัง ซึ่งบางครั้ง Title Card จะเป็นภาพข้อความจากลายมือที่อยู่ในบันทึก/จดหมายนั้นๆด้วย

หลังจากที่หญิงสาวได้พบเห็นอดีตคนใช้ในสภาพศพจมน้ำ ออกวิ่งจากหน้าร้านขายยาเผ่นขึ้นไปชั้นสองของบ้าน กล้องเคลื่อนติดตามหมุนรอบบันไดอย่างรวดเร็ว (ถือเป็น Expression แสดงอารมณ์อย่างหนึ่ง) จากนั้นไปหยุดพบเห็นพ่อกำลังโอบกอดสาวใช้คนใหม่ ช็อตนี้คือปฏิกิริยาตกตะลึงไร้คำพูด แล้วลมล้มพับหมดสิ้นเรี่ยวแรงลงทันที

สถานพินิจ (ดัดสันดาน) หนังทำการสะท้อนความเคร่งครัดที่ต้องอยู่ในกฎระเบียบ ราวกับมนุษย์หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวตามคำสั่งของผู้คมราวกับตั้งโปรแกรมมา ก้มหน้าก้มตาก้มหัวสยบยอมทุกสิ่งอย่าง มิอาจสามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ หรือกระทำการใดนอกเหนือข้อกำหนดตกลงได้

นี่ผมไม่แน่ใจนักว่า Pabst ต้องการเปรียบเทียบทั้งฉากนี้กับประเทศเยอรมันยุคสมัย Weimar Republic (1919 – 1933) หรือเปล่านะ แต่คุ้นๆว่ามันก็ไม่ได้ถึงขั้นเลวร้ายปานนั้น เมื่อเทียบกับตอน Nazi ขึ้นเถลิงอำนาจ แต่สามารถมองเป็นการพยากรณ์คล้ายๆกับ Metropolis (1927) ถ้าโลกกำลังมุ่งสู่ยุคสมัยที่ทุกอย่างมีกฎระเบียบแบบแผน ผู้คนจะต่างอะไรกับหุ่นกระป๋องตัวหนึ่ง

มุมกล้องสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก Expression ออกมาได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะช็อตนี้ มุมเงยถ่ายใบหน้าของผู้คุมหญิง เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งผยอง เริดเชิด โอหังอวดดี ชอบดูถูกดูแคลนผู้อื่น

Brooks เรียกฉากนี้ว่า ‘orgasm scene’ ตัดสลับระหว่างหญิงสาวในสถานดัดสันดาน กำลังเคลื่อนขยับท่วงท่าออกกำลังกาย ตัดสลับกับใบหน้าของผู้คุมสาวที่มีความสุขล้นเหลือเกินที่ได้เห็นผู้อื่นทุกข์ทรมาน, ฉากนี้จะไปล้อกับในซ่องโสเภณี ที่หญิงสาวแสดงท่วงท่าออกกำลังกาย มันชวนให้ Orgasm ไม่ต่างกัน

ทุกครั้งเมื่อหญิงสาวถูกผู้ชายกอดจูบลูบไล้สัมผัสตัว ท่าทางที่เหมือนคนหมดสติของเธอมีลักษณะเหมือนการศิโรราบ สมยอมต่อทุกการกระทำ ซึ่งหนังพยายามสื่อให้เห็นว่า สภาพตอนโดดข่มขืนต้นเรื่อง กับขณะทำงานในซ่องโสเภณี มันก็ไม่ได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย

ความน่าสนเท่ห์ของช็อตนี้คือโคมไฟอันใหญ่ที่อยู่ด้านหลังทั้งสอง ราวกับแสงสว่างของชีวิตกำลังถูกบดบังอับแสงอยู่ ซึ่งวินาทีที่ฉากนี้จบลงก็คือ ปิดแสงไฟดับมืดมิด

มีการใช้เลนส์ Soft Focus มีความเบลอๆ เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมา, หลังจากพ่อตาย Thymian หวนกลับบ้านเพื่อฟังพินัยกรรม บ้านหลังนี้ตกเป็นของลูกจ้างคนสนิท Meinert ที่ขับไล่ไสส่งอดีตภรรยาใหม่ของพ่อ ต้องออกเดินทางในวันฝนตก (สภาพอากาศ ก็ถือเป็น Expression อย่างหนึ่งเช่นกัน) เมื่อหญิงสาวเห็นสภาพของเธอ ภาพ Close-Up ด้วยเลนส์ Soft Focus ให้สัมผัสอันน่าสงสารเห็นใจ อดไม่ได้ที่จะต้องเสียสละบางสิ่ง

แซว: พินัยกรรมฉบับนี้มันแปลกๆนะ ยกร้านค้าให้ผู้ช่วย แล้วเมีย/ลูกของตนเองละ ไม่ใยดีหลงเหลืออะไรให้เลยรึ?

ความตกต่ำในประเทศเยอรมันยุคสมัยนั้น อันเนื่องจากผลกระทบจากความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และการมาถึงของ Great Depression ผู้คน/วัยรุ่นสมัยใหม่ อพยพเข้าสู่เมืองหลวง ประชากรในกรุง Berlin เพิ่มสูงถึง 4.2 ล้านคน (สูงพอๆกับ Paris และ London) และอาชีพหาเงินง่ายรวยเร็วสุดก็คือโสเภณี มีจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 30,000 คน

Sexual Revolution คือสิ่งที่กำลังเพาะบ่มฟักตั้งแต่ปลายทศวรรษ 20s (แต่กว่าจะเกิดขึ้นจริงจัง ก็ตอนทศวรรษ 60s – 80s) จุดเริ่มต้นมาจากทัศนคติที่ว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิ์เสรีในการเลือกใช้ชีวิต ทำงาน คู่ครอง หรือร่วมหลับนอนกับใคร ไม่ใช่เพียงผู้ชายเท่านั้นจะเป็นเจ้าของ ช้างเท้าหน้า หรือควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่าง

แม้หนังเรื่องนี้จะไม่เชิงเป็น Sexual Freedom แบบ Pandora’s Box แต่ได้นำเสนอหนึ่งในสาเหตุผลของทัศนคติ Sexual Revolution ที่อาจจะเกิดขึ้นได้, ถ้าชีวิตที่ผ่านมาของหญิงสาวประสบพบเจอความสุข ได้รับความรักอบอุ่นอย่างเพียงพอ ก็คงไม่มีความจำเป็นใดให้ต้องโหยหาอิสรภาพให้กับชีวิต แต่เมื่อมีพ่อไม่เอาใจใส่ดูแล มักมากในกามคุณ ถูกลูกจ้างล่อลวงข่มขืน ส่งตัวเข้าสถานพินิจดัดสันดาน หนทางออกเดียวเท่านั้นของเธอ คือปลดปล่อยตัวเองให้อยู่ในโลกอันไร้ซึ่งกฎกรอบกักขังหน่วงเหนี่ยว เสรีภาพแลกมากด้วยความสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

ชื่อหนังคำว่า ‘Lost’ สิ่งที่สูญหาย หลงทางไปของหญิงสาวมองได้คือ ความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ดูแล หรือจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสา กระนั้นสิ่งที่ตัวละครของ Louise Brooks ถ่ายทอดออกมา กลับมีเพียงความโลกสวยใสซื่อ น่ารักเอ็นดู เว้นแค่เพียงขณะศิโรราบสยบยอมต่อบุรุษเพศ ที่ราวกับวิญญาณของเธอได้สาปสูญหายไปโดยสิ้นเชิง

“A little more love and no-one would be lost in this world”.

นี่คงเป็นบทสรุปของผู้กำกับ Pabst ต่อปัญหาทุกสิ่งอย่างในสังคม ประเทศชาติ และโลกของเรา ถ้ามนุษย์รู้จักมอบความรัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณาปราณีที่ดีต่อกัน คงไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมาน สูญเสียจิตวิญญาณ หรือหลงทางหายตัวไปในมุมมืดมิดของชีวิต

หลังจากหนังออกฉาย ได้กลายเกิดเป็นกระแสต่อต้านมากมายเพราะความโจ่งแจ้งโจ๋งครึ่งของเรื่องราว ถูกนำไปตัดต่อฉากโน่นนี่นั่นออกมากมายจนแทบไม่หลงเหลืออะไร กระนั้นยังโชคดีที่ต้นฉบับ Negative ยังสมบูรณ์ดีเมื่อได้รับการค้นพบ และบูรณะคุณภาพ 2K โดย Kino Classics

สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือการแสดงอันเป็นธรรมชาติสุดๆของ Louis Brooks ว่าไปมากกว่าความดัดจริตเดียงสาใน Pandora’s Box เสียอีกนะ และหลายๆไดเรคชั่นของ G. W. Pabst น่าสนใจมากทีเดียว

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถือเป็นนิทานสอนใจสำหรับสาวๆ และพ่อ-แม่ ผู้ปกครองทั้งหลาย อย่ามัวเห็นแก่ตัวสนแต่ความต้องการของตนเอง เผื่อแพร่ความรักความอบอุ่นให้ลูกๆและคนอื่นบ้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา ปฏิบัติแสดงออกต่อผู้อื่น ให้เหมือนสิ่งที่ตนต้องการได้รับ

แนะนำกับคอหนังเงียบ สะท้อนปัญหาครอบครัว สังคม เกี่ยวกับโสเภณี, นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานสถานพินิจ เกี่ยวกับหนุ่มสาววัยรุ่น, รู้จักผู้กำกับ G. W. Pabst และแฟนๆนักแสดง Louise Brooks ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับสิ่งสื่อถึงความชั่วร้ายต่างๆในสังคม ข่มขืน โสเภณี ฆ่าตัวตาย

TAGLINE | “Diary of a Lost Girl แม้จะเคยสูญหายไป แต่ G. W. Pabst ก็ค้นพบ Louise Brooks ประดับเป็นดาวดาราค้างฟ้า”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: