The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) : Rainer Werner Fassbinder ♥♥♥♡
ภาพยนตร์แนว Chamber Drama ดำเนินเรื่องภายในสถานที่แห่งเดียว (แบบเดียวกับ Rear Window, 12 Angry Men) อพาร์ทเม้นท์ของ Petra von Kant นำเสนอการพบเจอ ตกหลุมรัก เลิกร้างรา และความเศร้าโศกาต่อจากนั้น
- Rope (1948), Rear Window (1954) กำกับโดย Alfred Hitchcock
- 12 Angry Men (1957) กำกับโดย Sidney Lumet
- So Close to Life (1958) กำกับโดย Ingmar Bergman
- The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) กำกับโดย Rainer Werner Fassbinder
- Autumn Almanac (1984) กำกับโดย Béla Tarr
- Tape (2001) กำกับโดย Richard Linklater
- Shirin (2008) กำกับโดย Abbas Kirostami
ฯลฯ
มีภาพยนตร์นับไม่ถ้วนใช้เพียงสถานที่แห่งเดียวในการถ่ายทำ! ข้อจำกัดดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของผู้สร้างในการครุ่นคิดเรื่องราว คัดเลือกนักแสดงมีศักยภาพเพียงพอ นำเสนอด้วยเทคนิคลีลา โดยเฉพาะภาษาภาพยนตร์! จะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าผู้กำกับคนนั้นมีอัจฉริยภาพมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่ได้รับรู้ล่วงหน้ามาก่อนว่า The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) คือภาพยนตร์แนว Chamber Drama กระทั่งเมื่อรับชมผ่านไปสิบนาทีกว่าๆก็เริ่มเอะใจ เลยลองกดข้ามๆไป แล้วก็ห่อละเหี่ยวอย่างเซ็งๆ … คือการจะดูหนังประเภทนี้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจพอสมควร เพราะต้องใช้สมาธิในการรับฟังบทสนทนา สังเกตรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แล้วครุ่นคิดหาความสัมพันธ์กับเรื่องราวทั้งหมด
แม้ว่า The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) จะมีความลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อนทางอารมณ์ โดยเฉพาะการแสดงเจิดจรัสของ Margit Carstensen แต่ผมกลับไม่ค่อยชอบภาพรวมหนังสักเท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งเพราะไม่ได้เตรียมตัวอย่างที่บอกไป และเนื้อหาสาระเหมือนพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง (ของผู้กำกับ Fassbinder)
ใครติดตามบทความของ rearmeat.blog น่าจะรับรู้ว่าผมโคตรไม่ชอบหนังที่ผู้สร้างนำเอาพฤติกรรมแย่ๆของตนเอง มาพยายามแก้ตัว แก้ต่าง หาข้ออ้างความชอบธรรม ฉันตบตีภรรยาด้วยเหตุผล บลา บลา บลา … มันอยู่ที่ไดเรคชั่นผู้กำกับด้วยนะครับ สร้างความแตกต่างตรงกันข้ามเลยละ
- The Merchant of Four Seasons (1971) นำเสนอเหตุผลมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิด บังเกิดความใจเหตุผลที่ตัวละคร Hans ทุบตีกระทำร้ายภรรยา จนสามารถยินยอมรับ ให้อภัยตัวละคร
- แต่ไม่ใช่กับ The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) มีเพียงคำพูดยกยอปอปั้น กล่าวถึงอุดมการณ์ ความเพ้อฝันส่วนตน จากนั้นเมื่อพบเจอ ตกหลุมรัก แล้วถูกสาวคนนั้นหักอก แสดงอาการระทมทุกข์ทรมาน แถมระรานชาวบ้านชาวช่อง มันจึงมีเพียงความน่าสมเพศ น้ำเน่า ไร้ราคาให้สงสารเห็นใจ
R. W. Fassbinder หรือ Rainer Werner Fassbinder (1945-82) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bad Wörishofen, Bavaria เพียงสามสัปดาห์หลังจากนาซี ประกาศยอมพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาเป็นแพทย์ที่มีความหลงใหลในการเขียนบทกวี ส่วนมารดาทำงานล่ามแปลภาษา (German <> English) ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุได้หกขวบ อาศัยอยู่กับแม่ที่มักส่งบุตรชายไปดูหนังเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงาน (และกุ๊กกิ๊กกับคนรักใหม่) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Fassbinder ชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ Jean-Luc Godard
ช่วงวัยรุ่นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แต่พยายามหลบหนีหลายครั้ง จนบิดาต้องพามาอาศัยอยู่ด้วยกัน กลางวันช่วยทำงานหาเงิน กลางคืนร่ำเรียนหนังสือ และค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทกวี ละคร เรื่องสั้น (จากอิทธิพลของบิดา), พออายุ 18 มุ่งหน้าสู่ Munich เข้าเรียนการแสดงยัง Fridl-Leonhard Studio ทำให้พบเจอว่าที่(นักแสดง)ขาประจำ Hanna Schygulla ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ บันทึกเสียง Sound Man เขียนบทละคร สร้างหนังสั้น เคยยืนใบสมัคร Berlin Film School แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, กระทั่งเมื่อปี 1967 มีโอกาสเข้าร่วม Munich Action-Theater ได้เป็นทั้งนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จากนั้นร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Aktion-Theater (แปลว่า Anti-Theater) สรรค์สร้างผลงานที่ผิดแผก แหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวงการละครเวที! กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Love Is Colder Than Death (1969) เป็นการทดลองแนว Avant-Garde ที่ได้รับเสียงโห่ไล่เมื่อฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Berlin แต่กลับมาคว้ารางวัล German Film Award ถึงสองสาขา
ในช่วงเวลา Avant-garde Period (1969–1971) ผู้กำกับ Fassbinder ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย French New Wave โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard สรรค์สร้างผลงานสิบกว่าเรื่องในระยะเวลา 2 ปีเศษๆ ด้วยไดเรคชั่นที่ไม่ประณีประณอมผู้ชม มีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ จึงมิอาจเข้าถึงบุคคลทั่วไป จนกระทั่งหลังเสร็จจาก Pioniere in Ingolstadt (1971) ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานสัมมนาที่ Münchner Stadtmuseum (Munich Film Archive) มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ของ Douglas Sirk อาทิ All That Heaven Allows (1955), Imitation of Life (1959) ฯลฯ บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางสรรค์สร้างผลงานของตนเองโดยทันที
ความสำเร็จในรายรับของ The Merchant of Four Seasons (1972) สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้กำกับ Fassbinder ว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผลงานลำดับถัดมาเลยต้องการท้าทายศักยภาพตนเอง หวนกลับไปหาบทละครเวที Die bitteren Tränen der Petra von Kant (เคย)เปิดการแสดงยัง Deutsche Akademie der Darstellenden Künste or Experimenta ณ Frankfurt เมื่อช่วงปี 1971 ลองดูสิว่าจะสามารถนำเรื่องราวใช้เพียงสถานที่แห่งเดียว เมื่อกลายเป็นภาพยนตร์ ‘สไตล์ Sirk’ จักถูกนำเสนอออกมาลักษณะใด
เกร็ด: บทละครดังกล่าว ผู้กำกับ Fassbinder ครุ่นคิดพัฒนาขึ้นระหว่างออกเดินทางขึ้นเครื่องบินจากกรุง Berlin สู่ Los Angeles ในระยะเวลา 12 ชั่วโมง
เรื่องราวของ Petra von Kant (รับบทโดย Margit Carstensen) แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง อาศัยใช้ชีวิต ทำงานอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ยัง Bermen โดยมีผู้ช่วยสาว Marlene (รับบทโดย Irm Hermann) คอยทำงานรับใช้ทุกสิ่งอย่าง, Petra แต่งงานมาแล้วสองครั้ง สามีแรกคือคนที่เธอรักมาก แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะกำลังตั้งครรภ์บุตรสาว Gaby, สามีคนที่สองเคยรักกันช่วงแรกๆ แต่เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก กลับรู้สึกรังเกียจ ขยะแยง ยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายไม่ได้ จึงตัดสินใจหย่าร้าง
เหตุการณ์ในหนังเริ่มต้นเมื่อ Petra มีโอกาสพบเจอนางแบบสาว Karin Thimm (รับบทโดย Hanna Schygulla) ตกหลุมรักแรกพบ เลยชักชวนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เธอกลับชอบเล่นตัว เล่นแง่เล่นงอน สนเพียงสิ่งตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง ทำให้ธาตุแท้ของ Petra ค่อยๆเปิดเผยความอิจฉาริษยา ซาดิสต์ เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย อารมณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อต้องเลิกราห่างจากไกล ยิ่งระบายความอึดอัดอั้น พร้อมกระทำสิ่งเลวร้ายต่อทุกผู้คนรอบข้าง
Margit Carstensen (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Kiel โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Hochschule für Musik und Theater Hamburg จนมีโอกาสเล่นละครเวที Deutsches Schauspielhaus (German Playhouse), เมื่อปี 1969 ย้ายมาเข้าร่วม Theater am Goetheplatz ที่กรุง Bremen มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder เลยกลายเป็นเพื่อนสนิท ขาประจำ ร่วมงานกันทั้งละครเวที ซีรีย์ และภาพยนตร์ อาทิ The Bitter Tears of Petra von Kant (1972), Martha (1974), Chinese Roulette (1976) ฯลฯ
รับบท Petra von Kant นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง (ที่ไม่เคยเห็นทำงานอะไร) หลังจากสูญเสียรักแท้ ค่อยๆบังเกิดทัศนคติบิดเบี้ยวต่อความรัก รวมถึงการใช้ชีวิตที่เริ่มไม่ยี่หร่าอะไรใคร แสดงความเย่อหยิ่งทะนงตน หลงตัวเอง สนเพียงเสียงเรียกร้องของหัวใจ กระทั่งแรกพบเจอ Karin Thimm โดยไม่รู้ตัวบังเกิดความลุ่มหลงใหล พยายามโน้มน้าว เกี่ยวพาราสี ชักจูงเธอมาครองคู่อยู่ร่วมรัก แต่กลับได้เพียงแค่บางครั้งคราว เมื่อสาวคนรักร่ำลาจากไป แสดงอาการเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง แถมยังระรานทุกผู้คนรอบข้าง ดูแล้วน่าสมเพศเวทนา
Carstensen มาจากฝั่งละครเวที ลีลาของเธอจึงค่อนข้างดูปรุงปั้นแต่ง แตกต่างจากสายภาพยนตร์ที่มักมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นบทบาท Petra von Kant ต้องการการแสดงที่ก้าวผ่านสามัญสำนึก โดยเฉพาะอาการหลงตัวเอง (narcissistic) คลุ้มบ้าคลั่งเสียสติแตก มันจึงต้อง Overacting เพื่อสร้างความสมจริง ทรงพลัง!
พลังการแสดงของ Carstensen สามารถเทียบชั้นนักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์อย่าง Marlene Dietrich หรือ Joan Crawford โดยเฉพาะการผันแปรเปลี่ยนทางอารมณ์ เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวชัง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งมันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเหนือการควบคุม
แต่ที่ผมชื่นชอบสุดในบทบาทนี้กลับคือช่วงเวลาตกหลุมรัก ขณะเกี้ยวพาราสี Karin ไม่ใช่แค่คำพูดโน้มน้าว หว่านล้อม ชักแม่น้ำทั้งห้า แต่ยังทำสายตา รอยยิ้ม ริมฝีปากแสดงอาการลุ่มหลงใหล … ยอมใจจริงๆเรื่องความเลี้ยวลดคดเคี้ยว พยายามที่จะไม่ประเจิดประเจ้อ เหมือนกลัวการถูกบอกปัดปฏิเสธ แต่รสนิยมหญิง-หญิง ใช่ว่าพูดบอกออกมาตรงๆไม่ดีกว่าหรือใคร (คือพอมันกินแห้วก็เลยแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงแบบนี้ละ)
แซว: หนังขึ้นเครดิตนักแสดงผิดเป็น Margit Cartensen เหมือนจะตกอักษร s ไปตัวหนึ่ง Carstensen
Irmgard ‘Irm’ Hermann-Roberg (1942-2020) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Munich หลังเรียนจบทำงานเป็นเลขานุการนิตยสาร Quick ตามด้วยบริษัท General German Automobile Club (ADAC) กระทั่งมีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ทั้งๆไม่เคยมีประสบการณ์/ฝึกฝนด้านการแสดง กลับได้รับชักชวนให้มาเล่นหนังสั้น The City Tramp (1968) แล้วกลายเป็นคนรัก จับให้โด่งดังกับภาพยนตร์ The Merchant of Four Seasons (1972), The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ฯ
รับบท Marlene สาวรับใช้รองมือรองเท้า Petra มานานหลายปี ยินยอมถูกกดขี่ พูดขึ้นเสียง หยาบคาย แต่ด้วยความรักที่ไม่เคยพูดบอก เพียงแสดงออกทางสีหน้าอย่างพึงพอใจ ขอแค่สักวันได้มีโอกาสเคียงข้าง ครองคู่ ร่วมรักหลับนอน แต่เมื่อตระหนักว่าวันนั้นไม่มีทางมาถึง จึงเก็บข้าวของ ปืน และตุ๊กตา ร่ำลาจากไป
ผมรู้สึกว่าสายตาผู้กำกับ Fassbinder ในชีวิตจริงมอง Hermann ไม่แตกต่างจากตัวละครนี้สักเท่าไหร่ แม้เคยมีความรัก สัมพันธ์ต่อกัน แต่ก็เพียงแค่ไซด์ไลน์ ตัวประกอบ ไม่ได้มีสิทธิ์เสียง อิทธิพล สามารถพูดแสดงความคิดเห็นอะไร
แต่แม้ไม่มีบทพูดสักประโยค Hermann กลับสามารถใช้ภาษากายสื่อสาร ไม่ใช่แค่สีหน้าแสดงอารมณ์ กิริยา ท่วงท่าขยับเคลื่อนไหว เมื่อได้รับคำสั่งจาก Petra จะมีความยื้อยัก เชื่องชักช้า กว่าจะออกตัวได้ต้องเสียเวลาประมวลผลเสียก่อน … มองเผินๆดูเหมือนคนทึ่มๆ เฉื่อยชา แต่ผมรู้สึกว่าเธอต้องการบอกอะไรบางอย่างกับ Petra ฉันไม่ใช่ขี้ข้าที่จะยินยอมถูกกดหัว ถึงอย่างนั้นกลับยังยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งทุกครั้งไป
เราสามารถมองว่า Marlene คือตัวแทนของผู้ชม เข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ พบเห็นพฤติกรรมสุดวิปลาสของ Petra แล้วแสดงปฏิกิริยาที่สะท้อนเรื่องเล่า เหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และช่วงท้ายเมื่อเก็บข้าวของยัดใส่กระเป๋า นอกจากสื่อถึงตอนจบของหนัง ยังแทนความรู้สึก(ผู้ชม)ต่อเรื่องราวทั้งหมดได้เช่นกัน
Hanna Schygulla (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Königshütte, Silesia (ปัจจุบันคือ Chorzów, Poland) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บิดาอาสาสมัครทหารถูกจับคุมขังในค่ายกักกัน (ได้รับการปล่อยตัวปี 1948) ส่วนมารดาพาเธอมาลี้ภัยอยู่ Munich, โตขึ้นตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนยัง Fridl-Leonhard Studio พบเจอ ครองรักผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder กลายเป็นขาประจำในละครเวที และภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Effi Briest (1974), The Marriage of Maria Braun (1978), Passion (1982), Werckmeister Harmonies (2000), The Edge of Heaven (2008) ฯลฯ
รับบท Karin Thimm เพื่อนของ Sidonie แนะนำให้รู้จักกับ Petra, ภายนอกดูเป็นหญิงสาวร่าเริง สดใส เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา แต่เมื่อรับฟังเรื่องเล่าบิดาเข่นฆาตกรรมมารดาแล้วผูกคอฆ่าตัวตาย เป็นไปได้อย่างไรที่เธอคนนี้เหมือนจะเติบโตขึ้นโดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆทั้งนั้น
ตัวตนของ Karin เป็นหญิงสาวที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่แน่ใจว่ามีรสนิยม Bisexual หรือเปล่า แต่สังเกตว่าพยายามบอกปัดข้อเสนอ สรรหาข้ออ้างหลบหลีกคำเรียกร้องของ Petra ยกเว้นเพียงสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการ เงินๆทองๆ ที่พักอาศัยหลับนอน แล้วจู่ๆมาเปิดเผยถึงสามี ชายคนรัก เมื่อทราบข่าวก็รีบแจ้นออกเดินทางไปหา ไม่ยี่หร่าความรู้ใดๆของ Petra ราวกับความสัมพันธ์ของพวกเธอคือเรื่องล้อเล่นสนุกสนานเท่านั้น
ผมค่อนข้างจะง่วงๆวิงเวียนเมื่อหนังเข้าสู่องก์หลังๆ เลยไม่สามารถสังเกตเห็นตัวตนของ Karin ได้สักเท่าไหร่ แต่อาจเพราะ Schygulla จงใจสร้างความคลุมเคลือ (ต่อทั้ง Petra และผู้ชม) เล่นแง่เล่นงอน ให้เกิดความฉงนสงสัย ว่าธาตุแท้จริงเธอรู้สึกเช่นไรกับ Petra
ในบรรดาคณะนักแสดงของผู้กำกับ Fassbinder จะมีก็แต่ Schygulla ที่ทั้งรักทั้งเกลียดชัง ชื่นชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น แต่ไม่ยินยอมเติมเต็มความต้องการของเขา (พฤติกรรมแบบเดียวกับตัวละครเปะๆ) เลยถูกขึ้นเสียง ด่าทอ ตอนสรรค์สร้าง Effi Briest (1974) ถึงขนาดขับไล่ออกจากกองถ่าย (แต่ก็เรียกตัวกลับมาถ่ายทำต่อให้เสร็จ หลายเดือนถัดจากนั้น)
I can’t stand the sight of your face any more. You bust my balls.
Rainer Werner Fassbinder พูดกับ Hanna Schygulla ในกองถ่าย Effi Briest (1974)
ถ่ายภาพโดย Michael Ballhaus (1935-2017) ตากล้องสัญชาติ German เกิดที่ Berlin เป็นบุตรของนักแสดง Lena Hutter กับ Oskar Ballhaus, ช่วงวัยเด็กมีโอกาสเป็นตัวประกอบภาพยนตร์เรื่อง Lola Montès (1955) จึงตัดสินใจเอาดีด้านการถ่ายภาพ เริ่มมีชื่อเสียงจากการร่วมงานผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder อาทิ The Bitter Tears of Petra von Kant (1972), Chinese Roulette (1976), The Marriage of Maria Braun (1978), แล้วยังโกอินเตอร์กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Martin Scorsese อาทิ The Last Temptation of Christ (1988), Goodfellas (1990), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), The Departed (2006) ฯลฯ
การถ่ายทำของหนังที่มีเพียงหนึ่งฉากเดียวต้องใช้การครุ่นคิดอย่างมาก เลือกมุมกล้อง ขยับเคลื่อนอย่างไร Tracking-Panning-Zooming จัดแสง-เงามืด สีสัน จัดวางรายละเอียด องค์ประกอบฉาก ทำอย่างไรถึงสามารถสื่อสารภาษาภาพยนตร์ ให้สอดคล้องกับเรื่องราวและการแสดงในพื้นที่จำกัด
ก่อนอื่นเลยคงต้องพูดถึงภาพวาดขนาดใหญ่ที่อยู่กึ่งกลางห้อง Midas and Bacchus (ค.ศ. 1630) ผลงานเลื่องชื่อของ Nicolas Poussin (1594-1665) จิตรกรแห่งยุคสมัย French Baroque โด่งดังกับภาพวาดอ้างอิงศาสนา ปรัมปรา เทพนิยาย อย่างภาพนี้นำเสนอการพบเจอระหว่าง Bacchus (หรือ Dionysus) เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่น และการทำไวน์ ระหว่างเดินทางมาถึงอาณาจักรของพระราชา Midas ได้รับการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจประธานพรให้ข้อหนึ่ง ซึ่งก็ได้ขอเมื่อตนเองสัมผัสจับต้องสรรพสิ่งใดจักกลายเป็นทองคำ ผลจากความละโมบโลภมากนั้น สร้างความหมดสิ้นหวังให้ Midas เพราะไม่ทันระวังจับต้องบุตรสาวของตนเองกลายร่างเป็นทองคำ (ภาพนี้น่าจะเป็นตอนก่อนที่พระราชา Midas จะรับพรจาก Dionysus กระมัง)
ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าบทเรียนความละโมบโลภมันเกี่ยวกับอะไรหนังเรื่องนี้ แต่ถ้ามองจากรายละเอียดของภาพ ร่างกายเปลือยเปล่าของ Bacchus ไม่มีความละอายให้ต้องปกปิดบัง สามารถดื่มด่ำ สนุกสนาน ครื้นเครง โดยไม่ต้องสนอะไรใครทั้งนั้น น่าจะสะท้อนตัวตนของ Petra von Kant หรือผู้กำกับ Fassbinder ได้อย่างชัดเจน
Opening Credit พบเห็นเจ้าเหมียวสองตัวนั่งๆนอนๆอยู่ตรงบันได แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจะไม่พบเห็นพวกมันอีกเลย ไม่เคยเข้ามาก่อนกวน ไม่พบเห็นคลอเคลียเจ้าของ ไม่รู้ไปหลบซ่อนอยู่แห่งหนไหน ส่วนการเปรียบเทียบก็ไม่รู้เหมือนกัน Petra-Marlene หรือ Petra-Karin หรืออาจไม่ได้จะสื่อถึงอะไรเลยก็ได้ แต่ถ้ามองแมวคือสัตว์สัญลักษณ์ มันชอบที่จะเคล้าคลอเคลีย เรียกร้องความสนใจ ภายนอกดูสง่างาม ขี้เล่นซุกซน แต่ลึกๆมันก็แอบเหี้ยมโหดร้าย ทั้งเล็บและฟันสามารถกระทำร้ายผู้อื่นได้เช่นกัน
แซว: นอกจากห้องนอน-ทำงานของ Petra ก็ยังไม่พบเห็นห้องหับอื่นเช่นกัน ประตู
ห้องนอน สามารถตีความเชิงสัญลักษณ์ได้หลากหลายมากๆ เปรียบเทียบกับความฝัน(ร้าย) ตัวละครตกอยู่ในอาการสะลึมสะลือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่สามารถควบคุมตนเอง หรือจะมองว่าคือสถานที่ของจิตใต้สำนึก ตัวตนเองที่ถูกกักขังอยู่ภายใต้ (พบเห็นเงาบานเกร็ดสาดส่องแสงสว่างจากภายนอกเข้ามาภายใน) นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อน ร่วมรักหลับนอน หรือแม้แต่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
การแต่งหน้าทำผม สื่อถึงการสร้างภาพภายนอกให้ดูดี ปกปิดบังสันดาน/ธาตุแท้จริงของตนเอง, ขณะที่ลวดลายเสื้อผ้า สะท้อนมูลค่าของตัวละคร สภาวะจิตใจ และต้องการจากภายใน
ห้องหับนี้เต็มไปด้วยหุ่นลองเสื้อผ้า ซึ่งจะมีสภาพเปลือยเปล่า ไม่ได้สวมใส่อะไร แม้พวกมันไม่มีชีวิต ไร้จิตวิญญาณ มิอาจขยับเคลื่อนไหว แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนบุคคลภายนอก คนทั่วไป (รวมถึงผู้ชมเอง) คอยจับจ้องมองเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ … แนวคิดเดียวกับ Ali: Fear Eats the Soul (1974) เปลี่ยนจากตัวประกอบยืนแน่นิ่ง มาเป็นหุ่นลองเสื้อผ้า ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความไม่ยี่หร่า ตัวละครไม่สนอะไรใครทั้งนั้น
โดยปกติแล้วเรื่องเล่าของตัวละคร กล้องมักจะจับจ้องใบหน้าผู้พูดจนกว่าจะจบหัวข้อสนทนา แต่บางครั้งจะเคลื่อน เลื่อน ซูมมิ่ง ให้เห็นสาวรับใช้ Marlene ที่แม้กำลังลงสี พิมพ์ดีด กลับตั้งใจรับฟัง ให้ความสนใจ ล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างของ Petra และแสดงปฏิกิริยาออกมาผ่านสีหน้า กระหยิ่มยิ้ม บูดบึ้ง แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ
Marlene เป็นบุคคลที่ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงการมีตัวตนของเธอได้ตลอดเวลา ถ่ายให้เห็นร่วมช็อตบ่อยครั้ง หรือไม่ก็ได้ยินเสียงเคาะแป้นพิมพ์ดีดดัง ระลึกเตือนสติอยู่ตลอดเวลาว่ามีบุคคลที่สามอยู่ในห้อง … แต่ Petra ก็ยังไม่เคยใคร่สนใจ มองเธอแค่เพียงคนนอก ตัวประกอบ ไม่ได้มีความเป็นมนุษย์ระดับเดียวกัน
ช่วงองก์สอง Petra และ Karin สังเกตว่าจะมีความแตกต่างตรงกันข้าม กระจกสะท้อนทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่วิกน้ำตาล-บลอนด์ ชุดเดรสดำ-ขาว อุปนิสัยจริงจัง-ระเริงรื่น โหยหาอิสรภาพ-มีพันธนาการเหนี่ยวรั้ง(สวมปลอกคอ) อดีตมีความอบอุ่น-สูญเสียครอบครัวตั้งแต่เล็ก สูญเสีย/ทอดทิ้งสามี-ยังคงโหยหารักมาก ฯลฯ และเมื่อทั้งสองนั่งอยู่ร่วมเตียงเดียวกันช็อตนี้ หันใบหน้าคนละทิศทาง และตำแหน่งหน้า-หลัง สื่อถึงประเภทความสัมพันธ์ ผู้นำ-ผู้ตาม ฝ่ายหนึ่งต้องการครอบครอง อีกฝั่งโหยหาอิสรภาพ
แซว: ทั้งๆหนังมีเพียงนักแสดงหญิง ไม่เคยพบเห็นหน้าบุรุษเข้ามายังสรวงสวรรค์แห่งนี้ แต่ผู้กำกับ Fassbinder ก็หาวิถีทางให้ตนเองมารับเชิญ (Cameo) ด้วยภาพถ่ายในนิตยสารที่ Karin กำลังเปิดอ่านอยู่
เมื่อ Petra รับรู้ตนเองว่าไม่สามารถเหนี่ยวรั้ง Karin เธอทิ้งตัวลงนอนบนเตียง กล้องถ่ายตำแหน่งที่คานไม้แบ่งแยกสองสาวออกจากกัน สร้างความแตกต่างยืน-นอน บน-ล่าง มิอาจครองคู่อยู่ร่วมกันได้อีก
พอเข้าสู่องก์สี่ จะมีการเคลื่อนย้ายเตียงนอนขยับไปฟากฝั่งหนึ่ง แล้วปูพรมขนสัตว์ สร้างพื้นที่ว่างสำหรับจัดงานเลี้ยงวันเกิด แต่ Petra กลับนอนกลิ้งเกลือกแบบไม่สนใจแขกเหรื่อ กุลีกุจอเหมือนหมาสั่นกระดิ่งเมื่อได้ยินเสียงกริ่งโทรศัพท์ เผื่อว่าหญิงคนรัก Karin จะติดต่อมาอวยพรวันเกิด ขอแค่นั้นฉันก็สงบใจ … แต่รอคอยนานเท่าไหร่ ก็ไม่ยินยอมติดต่อมาสักที
ส่วนใหญ่ขององก์นี้ มุมกล้องวางราบกับพื้น เพื่อสื่อถึงจุดตกต่ำของ Petra แทบไม่สามารถลุกขึ้นยืน จนท้ายสุดหมดสิ้นสภาพ ในระดับเดียวกับเท้าผู้อื่น (ส่วนบุตรสาว Gabriele นั่งคุกเข่าด้านหลัง เธอก็มีสภาพไม่แตกต่าง สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา จิตใจห่อเหี่ยวจากพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของมารดา)
เหตุผลที่ Marlene ตัดสินใจทอดทิ้ง Petra ไม่ใช่เพราะพฤติกรรมซาดิสต์ เห็นแก่ตัว หลงตนเองของนายจ้าง (ก็ทนมานานแล้ว ทำไมถึงจะทนต่อไปไม่ได้อีก) แต่ตระหนักถึงความรักที่ไม่มีวันได้รับ ถูกปฏิเสธไม่ให้ล่วงล้ำความสัมพันธ์ แสดงความเย่อหยิ่งทะนง ด้วยสายตาดูถูกคนชั้นต่ำ นั่นเป็นการกระทำที่เธอมิอาจทนไหว ขยะแขยง น่ารังเกียจ ยินยอมรับไม่ได้อีกต่อไป
หนึ่งในสิ่งของที่ Marlene เก็บใส่กระเป๋าคือ ปืน คงจะเตรียมไว้เข่นฆ่าหรือกระทำอัตวินิบาต (ไม่น่าเป็นการเอาไว้ป้องกันตัวนะครับ) นั่นแสดงถึงความหวาดระแวง วิตกจริต และจงรักภักดีต่อ Petra ถ้าพบเห็นอีกฝั่งฝ่ายมิอาจอดรนทนต่อเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ก็พร้อมปลิดชีวิต หรือลาจากโลกนี้ไปด้วยกัน
อีกสิ่งหนึ่งคือตุ๊กตาเด็ก ของขวัญวันเกิด (มอบให้โดย Sidonie) นี่คงเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทน Petra เพราะมีรูปร่างละม้ายคล้าย (มั้งนะ) เก็บไว้ดูเป็นของต่างหน้าเท่านั้นเอง
ตัดต่อโดย Thea Eymèsz หรือ Thea Eymeß (1936-2015) สัญชาติ German เกิดที่ Munich คนรู้จักของ Peer Rabin แนะนำต่อให้ผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ร่วมงานกันตั้งแต่ Gods of the Plague (1970)
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้อพาร์ทเม้นท์ของ Petra von Kant เป็นจุดหมุน ประกอบด้วยสองสมาชิกหลัก Petra กับสาวรับใช้ Marlene และจะมีใครต่อใครแวะเวียนเข้ามาหา, สามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์+ปัจฉิมบท
- องก์หนึ่ง, อดีตของ Petra
- เริ่มต้นด้วยนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง Petra กับ Marlene
- Petra คุยโทรศัพท์กับมารดา
- การมาถึงของ Sidonie เล่าความหลัง ย้อนอดีตถึงสามีแต่ละคน และความต้องการต่อไปในชีวิต
- แรกพบเจอ Karin ชักชวนเธอให้มาหาอีกวันถัดไป
- องก์สอง, Petra พยายามเกี้ยวพาราสี Karin
- (เสิร์ฟผลไม้) รับฟังเรื่องเล่าของ Karin ที่จะค่อยๆเปิดเผยออกมา
- (เสิร์ฟไวน์) Petra เกิดความลุ่มหลงใหลต่อ Karin พยายามเกี้ยวพา ชักชวนเธอมาอาศัยอยู่ร่วมกัน
- องก์สาม, การจากลาของ Karin
- (ดื่มวอดก้า) Petra พยายามหาหนทางสัมผัสลูบไล้ ครอบครองเป็นเจ้าของ Karin แต่กลับถูกเธอบอกปัดปฏิเสธทุกหนทาง
- กระทั่งโทรศัพท์ถึง Karin ระริกระรี้ต้องการเดินทางไปหาสามี Petra แสดงความกระอักกระอ่วน ไม่พึงพอใจ เริ่มใช้คำด่าทอ และกระทำร้ายร่างกาย
- องก์สี่, วันเกิดของ Petra แต่คือความโหยหา ทุกข์ทรมาน เพราะไม่ได้มี Karin อยู่เคียงข้าง
- Petra เฝ้ารอคอยโทรศัพท์อวยพรวันเกิดจาก Karin แต่กลับเป็นใครต่อใครที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจ
- การมาถึงของบุตรสาว Gabriele, ติดตามมาด้วย Sidonie และมารดา Valerie
- Petra ในสภาพมึนเมา หมดสิ้นหวัง แสดงความเกรี้ยวกราด ระรานทุกผู้คน ควบคุมตนเองไม่ได้อีกต่อไป
- ปัจฉิมบท, Petra เมื่อได้รับโทรศัพท์จาก Karin ก็สามารถสงบลงได้สักที
- การจากไปของ Marlene ไม่อาจอดรนทน Petra ได้อีกต่อไป
ส่วนใหญ่ของหนังจะมีลักษณะเป็น Long Take กล้องจับจ้องตัวละคร ปล่อยให้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงค่อยมีการตัดสลับสับเปลี่ยนมุมมอง จะไม่มีการตัดไปตัดมา Action-Reaction ระหว่างเรื่องเล่านั้นๆ แต่ถ้าต้องการนำเสนอปฏิกิริยาของใครบางคน (โดยเฉพาะ Marlene) ก็จะใช้เทคนิคการเคลื่อนภาพ Tracking-Panning-Zooming เลื่อนกล้องเข้าหาบุคคลนั้นแทน
หนังไม่ถือว่ามีเพลงประกอบ แต่จะใช้บทเพลงที่เปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ‘diegetic music’ ประกอบด้วย
- Smoke Gets Into Your Eyes ทำนองโดย Jerome Kern, คำร้องโดย Otto A. Harbach, ฉบับที่หนังนำมาใช้ขับร้องโดย The Platters เมื่อปี 1959 และติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Top 100
- ดั้งเดิมเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของละครเพลง Roberta (1933) เคยได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์โดย Fred Astaire & Ginger Rogers เมื่อปี 1935
- เพลงนี้ดังขึ้นองก์แรก หลังจาก Petra ลุกขึ้นจากเตียง สูบบุหรี่ ควันฟุ้งกระจาย ท่วงทำนองรำพันถึงความรัก ทุกครั้งย่อมทำให้หัวใจลุกไหม้ดังสุมกองไฟ ไม่ว่าขณะพบเจอหรือพลัดพรากจาก ฝุ่นควันล่องลอยเข้าดวงตา ทำให้ธารน้ำตาหลั่งไหลริน
- แซว: คำร้องบทเพลงนี้ชวนให้นึกถึง หมอกและควัน ของป๋าเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์
- In My Room (1966) แต่งโดย Lee Pockriss & Paul Vance, ขับร้องโดย The Walker Brothers
- เกร็ด: ท่อนแรกของบทเพลงนี้นำจาก J.S. Bach: Toccata and Fugue in D minor BWV 565
- ดังขึ้นองก์สอง ช่วงระหว่าง Petra พยายามเกี้ยวพาราสี Karin ทำให้เธอลุกขึ้นมาโยกเต้น เริงระบำ ปล่อยตัวกายใจดื่มด่ำไปกับไวน์หรู
- Un dì felice (แปลว่า One day, happy) บทเพลง duet จากองก์แรกอุปรากร La Traviata (1853) แปลว่า The Fallen Woman, ประพันธ์โดย Giuseppe Verdi
- ดังขึ้นช่วงท้ายองก์สี่ Petra ในสภาพหมดสิ้นหวัง สูญเสียทุกสิ่งอย่าง ทอดทิ้งกายลงบนพื้น ราวกับตกตายทั้งเป็น
- The Great Pretender (1955) แต่งโดย Buck Ram, ขับร้องโดย The Platters บทเพลงนี้เคยไต่ถึงอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Top 100
- ดังขึ้นช่วงท้ายของปัจฉิมบท ระหว่าง Marlene กำลังเก็บข้าวของยัดใส่กระเป๋า เพื่อสื่อถึงทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการ ‘The Great Pretender’ ของ Petra von Kant
แซว: มีอีกเสียงหนึ่งไม่เชิงว่าเป็นบทเพลง แต่ได้ยินคลอประกอบพื้นหลังบ่อยครั้งเพื่อย้ำเตือนถึงบุคคลที่สาม Marlene กำลังนั่งพิมพ์ดีดอยู่ไม่ห่างไกล
The Bitter Tears of Petra von Kant นำเสนอความขมขื่น คราบน้ำตาของ Petra von Kant เมื่อได้พบเจอบุคคลที่หลงใหล ตกหลุมรักใคร่ แต่ไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของ แค่ชั่วครั้งคราวแล้วร่ำลาจากไป หลงเหลือเพียงความเจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมานทรวงใน แสดงอาการเกรี้ยวกราด แถมยังระรานบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยอีกต่างหาก
คงไม่เรื่องยากนักที่ผู้ชมจะตระหนักว่า Petra von Kant คือตัวตายตัวแทนผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ด้วยรสนิยม Bisexual ได้หมดทั้งชาย-หญิง เลยมีทั้งคนรัก ชู้รัก คู่ขา เป็นบุคคลที่ไม่สามารถควบคุมตัณหา ความต้องการของตนเองได้เลย ตรงเข้าไปเกี้ยวพาราสี ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งเมื่อไหร่อีกฝั่งฝ่ายต้องการบอกเลิกรา เขาก็พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อยั้งยื้อ ติดตามตื้อ ง้องอนขอคืนดี ถ้าไม่ยินยอมอีกก็ใช้กำลังความรุนแรง พูดถ้อยคำด่าทอ จนสร้างความขยะแขยงให้ใครต่อใคร รับไม่ได้ต่อพฤติกรรมเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้
Margit Carstensen น่าจะคือหนึ่งในบุคคลที่ Fassbinder ไม่อาจครอบครองเป็นเจ้าของ ดั่งสำนวน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ มองตาเข้าใจกันและกัน ว่าอีกฝั่งฝ่ายมีสันดานธาตุแท้เช่นไร ด้วยเหตุนี้เธอจึงมักได้รับบทนำในละครเวที ภาพยนตร์ ตัวตายตัวแทน/อวตารผู้กำกับ ได้เหมือนชะมัด!
ผู้กำกับ Fassbinder พยายามนำเสนอความอัปลักษณ์ พิศดารของตนเองผ่านตัวละคร Petra von Kant
- องก์แรก นำเสนอมุมมอง แนวความคิด ทัศนคติต่อความรัก ผมไม่ได้ตั้งใจฟังเท่าไหร่เลยจับใจความได้แค่นี้แหละ
- องก์สอง วิธีการที่เขาใช้เกี้ยวพาราสี ด้วยลีลาชักแม่น้ำทั้งห้า พูดจาหว่านล้อม อ้อมโลก คาดหวังว่าอีกฝั่งฝ่ายจะตระหนักถึงความต้องการของตนเอง
- องก์สาม เมื่อความต้องการไม่ได้รับการเติมเต็ม อารมณ์ความรู้สึกก็เริ่มกลับตารปัตร จากเคยใช้คำพูดพรอดรักก็ด่าทอตำหนิต่อว่า เคยสัมผัสอย่างนุ่มนวลเปลี่ยนมาใช้กำลังความรุนแรง
- องก์สี่ คือสภาพหลังสูญเสียคนรัก ไม่อาจยินยอมรับความจริง ดื่มจนมึนเมา แสดงพฤติกรรมเกรี้ยวกราด ระรานผู้อื่นไปทั่ว
- จนกระทั่งเมื่อคลื่นลมสงบ เพียงเสียงของเธอก็ช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งหมด
เรื่องราวของหนังสามารถเรียกว่า ‘วัฎจักรแห่งรัก’ ครึ่งแรก-ครึ่งหลังนำเสนอสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้าม จากสัมผัสอันนุ่มนวล คำพูดอ่อนหวาน ต้องการครอบครองกันและกัน แต่เมื่อไหร่หมดสิ้นความรัก ความพึงพอใจ กลายเป็นใช้ความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย แสดงอาการรังเกียจขยะแขยง ยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายไม่ได้อีกต่อไป
ความรักเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Fassbinder ขาดไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาตกอยู่สภาพตายทั้งเป็นเมื่อต้องสูญเสียมันไป โอ้ละหนอโลกใบนี้ ทำไมช่างมีความเหี้ยมโหดร้าย ไร้ความแน่วแน่มั่นคง จิตใจคนผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
มาครุ่นคิดโดยละเอียดผมก็ตระหนักว่า ผู้กำกับ Fassbinder ไม่ได้ต้องการสร้างความชอบธรรม(ให้ตนเอง) แต่คือนำเสนอความอัปลักษณ์ พิศดารของ ‘ความรัก’ ในมุมมอง แนวความคิด ทัศนคติของเขาเอง แม้นั่นคือสัจธรรม(ที่ชาวตะวันตกไม่ค่อยยินยอมรับ) บริบทของหนังกลับดูเป็นการสรรหาข้ออ้าง ปัดความรับผิดชอบ ‘โลกใบนี้ทำให้ฉันเป็นอย่างนี้’ นี่มันเลวร้ายยิ่งกว่า(การสร้างความชอบธรรม)เสียอีกนะ!
แซว: ตอนแรกผมครุ่นคิดว่า Petra von Kant อ่านว่า Petra วอน Cunt (ไม่น่าจะต้องแปลมั้งนะ) แต่เมื่อลองค้นหาความหมายของ Kant ภาษาเยอรมันแปลว่า Cant (ไม่ใช่ can’t นะครับ) หมายถึงพื้นที่ลาดเอียง หรือบุคคลที่ชอบคุยโวโอ้อวด ก็ใกล้เคียงตัวละครอยู่นะ
cant (noun.) hypocritical and sanctimonious talk, typically of a moral, religious, or political nature.
Google Translate
แม้โปรดักชั่นจะมีขนาดเล็ก ใช้เวลาถ่ายทำเพียงสิบวัน แต่สิ้นเปลืองงบประมาณไปพอสมควร DEM 325,000 เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือ แต่ช่วงปลายปีเข้าชิง German Film Award คว้ามา 3 รางวัล
- Outstanding Feature Film
- Best Actress (Margit Carstensen) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Eva Mattes) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Irm Hermann)
- Best Cinematography ** คว้ารางวัล
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 4K ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Michael Ballhaus สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมทาง Criterion Collection พร้อมผลงานอื่นๆอีกเป็นโขยงของผู้กำกับ Fassbinder
หลายคนอาจสงสัยว่า ผมทนดูหนังที่เต็มไปด้วยความระทมทุกข์ทรมานไม่ได้หรืออย่างไร? ส่วนตัวหาได้อคติกับภาพยนตร์ลักษณะนี้นะครับ มันขึ้นอยู่กับไดเรคชั่นของผู้กำกับว่าต้องการแก้ต่างให้ตนเอง? ชักชวนให้สัมผัสถึงความเจ็บปวด? หรือพรรณาออกมาด้วยกวีนิพนธ์? มันมีหลากหลายวิธีนำเสนอ ซึ่งสามารถสะท้อนความตั้งใจแท้จริง(ของผู้สร้าง)
สำหรับ The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ผมมองเห็นเพียงข้ออ้างโน่นนี่นั่นของผู้กำกับ Fassbinder เพราะเขาเป็นคนหมกมุ่นในความรัก ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุภาพ-เดี๋ยวหยาบคาย การแทรกใส่ตัวละครสาวรับใช้ นั่นน่าจะคือปฏิกิริยาคนส่วนใหญ่ เหมือนตอนปัจฉิมบทเก็บข้าวของยัดใส่กระเป๋า โคตรดีใจที่หนังจบลง!
ถึงอย่างนั้นในส่วนคุณภาพของหนัง ต้องยอมรับว่ามีความลงตัว กลมกล่อม โดดเด่นในทุกๆองค์ประกอบ บท การแสดง ถ่ายภาพ องค์ประกอบฉาก แต่คงต้องให้ราคาผู้กำกับ Fassbinder ที่ได้ค้นพบไดเรคชั่นของตนเอง เข้าถึงศาสตร์ภาพยนตร์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบแต่ก็ใกล้แล้วละ
แนะนำคอหนัง Drama, Romantic ความรักที่เจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน, Chamber Drama ชื่นชอบ Rear Window, 12 Angry Men ไม่ควรพลาดเลยละ! แนะนำเฉพาะอย่างยิ่งกับนักแสดง ตากล้อง นักศึกษาภาพยนตร์ มีอะไรให้ศึกษาเรียนรู้มากทีเดียว
จัดเรต 18+ ความหมกมุ่น มักมาก เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา วาจาหยาบคาย กระทำร้ายร่างกาย-จิตใจ
Leave a Reply