
The Marriage of Maria Braun (1978)
: Rainer Werner Fassbinder ♥♥♥♥
เรื่องราวการไต่เต้า ก้าวสู่จุดสูงสุดของ Maria Braun (รับบทโดย Hanna Schygulla) สะท้อนอิทธิพลสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากเยอรมันราบเรียบเป็นหน้ากลอง ค่อยๆก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ จนกระทั่งหวนกลับมายิ่งใหญ่เทียบเท่าอดีตอีกครั้ง
นอกจากการเปรียบเทียบเรื่องราวของ Maria Braun ได้กับประเทศเยอรมัน (คงอ้างอิงถึงแค่ West German) ยังสามารถถือเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ซึ่งผลงานเรื่องนี้เรียกได้ว่าคือจุดสูงสุดในอาชีพการงาน กวาดรางวัลความสำเร็จมากมาย และทำเงินถล่มทลายสูงสุด! (ในบรรดาผลงานของเขาเอง)
ห้านาทีแรกของหนัง ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ A Time to Love and a Time to Die (1958) ของผู้กำกับ Douglas Sirk ซึ่งเราสามารถมองว่า The Marriage of Maria Braun (1978) คือภาคต่อทางจิตวิญญาณ หลังหญิงสาวพลัดพรากสามีที่เพิ่งพบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงาน ครองรักกันได้ไม่กี่ชั่วข้ามคืนระหว่างสงคราม เรื่องราวต่อจากนั้นคือการต่อสู้ดิ้นรน (ของหญิงสาว) หาหนทางเอาตัวรอดจากความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ผลักดันให้เธอต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง กลายเป็น Maria Braun ที่แตกต่างออกไป
ไฮไลท์ของหนังต้องยกให้ Hanna Schygulla ในบทบาท Maria Braun ที่ดูมีส่วนผสมของ Marlene Dietrich และ Jean Harlow แม้เต็มไปด้วยเล่ห์ เสน่ห์ มารยาหญิง แต่ก็ซื่อตรงต่อความต้องการของตนเอง ยึดถือมั่นในสถานะแต่งงาน (แม้ไม่เคยได้อยู่เคียงข้างสามี) พูดบอกทุกคนที่เธอมีความสัมพันธ์ด้วยว่า
I don’t care what people think. I do care what you think. And you’re not having an affair with me. I’m having an affair with you.
Maria Braun
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคุกเข่าคารวะ คือไดเรคชั่นผู้กำกับ Fassbinder โคตรจะลึกล้ำ สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยนัยยะซ่อนเร้น ถ้ารับชมแบบไม่ครุ่นคิดอะไรก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าคุณสามารถสังเกตพบเห็นลีลาเหล่านั้น โดยเฉพาะการนำเสนอคู่ขนานเสียงวิทยุ บทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง และไคลน์แม็กซ์ฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ อาจสร้างความอึ้งทึ่ง ตกตะลึง อ้าปากค้าง แม้งคิดได้ไงว่ะ! อยู่หลายครั้งทีเดียว
R. W. Fassbinder หรือ Rainer Werner Fassbinder (1945-82) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bad Wörishofen, Bavaria เพียงสามสัปดาห์หลังจากนาซี ประกาศยอมพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาเป็นแพทย์ที่มีความหลงใหลในการเขียนบทกวี ส่วนมารดาทำงานล่ามแปลภาษา (German <> English) ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุได้หกขวบ อาศัยอยู่กับแม่ที่มักส่งบุตรชายไปดูหนังเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงาน (และกุ๊กกิ๊กกับคนรักใหม่) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Fassbinder ชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ Jean-Luc Godard
ช่วงวัยรุ่นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แต่พยายามหลบหนีหลายครั้ง จนบิดาต้องพามาอาศัยอยู่ด้วยกัน กลางวันช่วยทำงานหาเงิน กลางคืนร่ำเรียนหนังสือ และค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทกวี ละคร เรื่องสั้น (จากอิทธิพลของบิดา), พออายุ 18 มุ่งหน้าสู่ Munich เข้าเรียนการแสดงยัง Fridl-Leonhard Studio ทำให้พบเจอว่าที่(นักแสดง)ขาประจำ Hanna Schygulla ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ บันทึกเสียง Sound Man เขียนบทละคร สร้างหนังสั้น เคยยืนใบสมัคร Berlin Film School แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, กระทั่งเมื่อปี 1967 มีโอกาสเข้าร่วม Munich Action-Theater ได้เป็นทั้งนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จากนั้นร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Aktion-Theater (แปลว่า Anti-Theater) สรรค์สร้างผลงานที่ผิดแผก แหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวงการละครเวที! กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Love Is Colder Than Death (1969) เป็นการทดลองแนว Avant-Garde ที่ได้รับเสียงโห่ไล่เมื่อฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Berlin แต่กลับมาคว้ารางวัล German Film Award ถึงสองสาขา
ในช่วงเวลา Avant-garde Period (1969–1971) ผู้กำกับ Fassbinder ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย French New Wave โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard สรรค์สร้างผลงานสิบกว่าเรื่องในระยะเวลา 2 ปีเศษๆ ด้วยไดเรคชั่นที่ไม่ประณีประณอมผู้ชม มีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ จึงมิอาจเข้าถึงบุคคลทั่วไป จนกระทั่งหลังเสร็จจาก Pioniere in Ingolstadt (1971) ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานสัมมนาที่ Münchner Stadtmuseum (Munich Film Archive) มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ของ Douglas Sirk อาทิ All That Heaven Allows (1955), Imitation of Life (1959) ฯลฯ บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางสรรค์สร้างผลงานของตนเองโดยทันที
ส่วนการเปลี่ยนผ่านจาก Melodrama Period (1971-76) สู่ช่วงเวลาโกอินเตอร์ International Period (1976–1982) จะไม่มีความแตกต่างในส่วนของเนื้อหาสาระ ประเด็นความสนใจ หรือไดเรคชั่นการกำกับ แต่ได้รับงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ร่วมทุนระดับนานาชาติ ทำให้สามารถขยายสเกลงานสร้าง และมีโอกาสเลือกนักแสดงที่เคยเพ้อใฝ่ฝันอยากพบเจอหน้าสักครั้ง
ช่วงระหว่างโปรดักชั่น Germany in Autumn (1978) ที่เป็น ‘anthology film’ ผู้กำกับ Fassbinder ได้มีโอกาสพบเจอเพื่อนผู้กำกับ Volker Schlöndorff, Alexander Kluge, Edgar Reitz ชักชวนร่วมกันพัฒนาโปรเจคชื่อว่า Die Ehen unserer Eltern (แปลว่า The Marriage of our Parents) ตั้งใจสำหรับเป็นซีรีย์ฉายทางโทรทัศน์ มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทให้ Klaus-Dieter Lang และ Kurt Raab แต่เพราะเจ้าตัววุ่นวายกับบางสิ่งอย่าง จนแผนการล่มไม่เป็นท่า
แรงบันดาลใจของ The Marriage of our Parents มาจากภาพยนตร์ A Time to Love and a Time to Die (1958) ต้องการนำเสนอเรื่องราว/ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นกับหญิงสาว/ภรรยา ในลักษณะคล้ายๆภาพยนตร์ Baby Face (1933)
War as a condition and breeding ground for an emotion, but I don’t want to have to imagine what would happen to the two of them if John [พระเอกจาก A Time to Love and a Time to Die (1958)] had survived the war.
Rainer Werner Fassbinder
นั้นเพราะผู้กำกับ Fassbinder กำลังทุ่มเทโปรเจคในฝัน ดัดแปลงนวนิยาย Berlin Alexanderplatz (1980) กลายเป็นซีรีย์ความยาว 14 ตอน (เทียบกับภาพยนตร์ 14 เรื่อง รวบรวมอยู่ใน miniseries เรื่องเดียว!) ระหว่างนั้นก็ไปกำกับภาพยนตร์ Despair (1978), In a Year of 13 Moons (1978)
ส่วนบทร่าง (Treatment) ของ The Marriage of our Parents ถูกส่งต่อให้ Peter Märthesheimer (1937-2004) ศาสตราจารย์ด้านการเขียนบท/Script Doctor สอนหนังสืออยู่ Film Academy Baden-Württemberg และเป็นที่ปรึกษาด้านการละคร University of Television and Film Munich ก่อนหน้านี้เคยเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์โทรทัศน์ให้ผู้กำกับ Fassbinder ตั้งแต่ Eight Hours Don’t Make a Day (1972-73), World on a Wire (1973), Martha (1974), I Only Want You to Love Me (1976) ฯลฯ
It all began when Fassbinder told me the plot of this story and wanted to know whether I thought it was exciting. Then he gave me a gushing, voluminous, schmaltzy manuscript to read that somebody in Hamburg had apparently written down.
Peter Märthesheimer
Märthesheimer ร่วมงานกับคู่ขา Pea Fröhlich (เกิดปี 1943) ที่เป็นนักจิตวิทยา กลายเป็นบทภาพยนตร์เรื่องแรกของทั้งคู่ และยังสานต่ออีกสองผลงาน The BRD Trilogy เรื่อง Lola (1981) และ Veronika Voss (1982)
ผู้กำกับ Fassbinder มีความประทับใจบทของ Märthesheimer & Fröhlich แทบไม่ได้แก้ไขเนื้อหาหลักๆอะไร (นอกจากปรับปรุง ตัดแต่งให้เข้ากับสถานการณ์ระหว่างถ่ายทำ) ยกเว้นเพียงฉากจบที่ดั้งเดิมนั้น Maria Braun (และสามี) ขับขี่รถด้วยความเร็วสูงเพื่อให้ประสบอุบัติเหตุ จงใจฆ่าตัวตาย! กลายมาเป็นสร้างความคลุมเคลือว่าบังเกิดอะไรกับเหตุการณ์แก๊สระเบิด (นัยยะก็เปลี่ยนมาเป็น ความสุขที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม)
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1943 ประเทศเยอรมัน, Maria (รับบทโดย Hanna Schygulla) ตอบตกลงแต่งงานกับนายทหารหนุ่ม Hermann Braun (รับบทโดย Klaus Löwitsch) ครองคู่อยู่ร่วมเพียงครึ่งวันหนึ่งคืน จากนั้นเขาต้องหวนกลับไปสู้รบแนวหน้า Eastern Front ปล่อยให้เธอต้องต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางรอดด้วยตนเอง จนกระทั่งสงครามสิ้นสุด ได้รับข่าวคราวการเสียชีวิต เลยทำงานเป็นโสเภณีเกี้ยวพาทหารผิวสีอเมริกัน Bill (รับบทโดย George Byrd) แล้วจู่ๆ Hermann ก็หวนกลับมาพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ แต่เพราะเธอยังคงรักเขาอยู่เลยใช้ขวดทุบตีศีรษะ กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ถึงอย่างนั้นชายคนรักกลับยินยอมรับโทษติดคุกแทนภรรยา
ด้วยความมุ่งมั่นในรักต่อสามี Maria เลยตัดสินใจเตรียมความพร้อมเพื่อวันที่เขาออกจากเรือนจำ จะได้มีชีวิตที่มั่นคงสุขสบาย ครั้งหนึ่งระหว่างโดยสารรถไฟชั้นหนึ่ง ใช้มารยาหญิงเกี้ยวพานักธุรกิจ Karl Oswald (รับบทโดย Ivan Desny) พิสูจน์ให้เห็นว่าตนเองมีศักยภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ค่อยๆได้รับความเชื่อมั่น ไต่เต้าจนกลายเป็นที่ปรึกษาบริษัท แต่ก็ขีดเส้นแบ่งความสัมพันธ์เพียงเมียน้อยไม่ใช่ภรรยา มีอารมณ์เมื่อไหร่ถึงค่อยโทรศัพท์เรียกหา
เมื่อถึงวันที่ Hermann ได้รับการปล่อยตัว Maria ก็มีเพรียบพร้อมบ้านหรู ร่ำรวยเงินทอง กลายเป็นเจ้าของกิจการ แต่เขากลับปฏิเสธไม่ยินยอมรับอะไรสักอย่างจากภรรยา ขอเวลาหลายปีจนกว่าตนเองจะพักพร้อม และสามารถตอบแทบความั่นคง ปรารถนาดี มอบทุกสิ่งอย่างคืนหลับให้เธอ … และเมื่อวันเวลานั้นมาถึง
Hanna Schygulla (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Königshütte, Silesia (ปัจจุบันคือ Chorzów, Poland) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บิดาอาสาสมัครทหารถูกจับคุมขังในค่ายกักกัน (ได้รับการปล่อยตัวปี 1948) ส่วนมารดาพาเธอมาลี้ภัยอยู่ Munich, โตขึ้นตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนยัง Fridl-Leonhard Studio พบเจอ ครองรักผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder กลายเป็นขาประจำในละครเวที และภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Effi Briest (1974), The Marriage of Maria Braun (1978), Passion (1982), Werckmeister Harmonies (2000), The Edge of Heaven (2008) ฯลฯ
รับบท Maria Braun แม้มีเวลาครองคู่สามี Hermann เพียงครึ่งวันหนึ่งคืน แต่ก็ยึดถือมั่นในสถานะภรรยา จิตใจไม่เคยผันแปรเปลี่ยนแม้ได้รับข่าวการสูญเสีย ร่วมหลับนอนใครอื่น หรือใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอกบุรุษ เพื่อให้ได้ตอบสนองเป้าหมายที่เธอเพ้อใฝ่ฝัน จนสามารถครอบครอบเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง น่าเดียดายเมื่อไต่เต้าถึงจุดสูงสุดนั้น กลับไร้โอกาสใช้ชีวิตอยู่กับชายคนรัก
พัฒนาการของ Maria Braun มีความน่าอัศจรรย์ใจอย่างมาก ผมขอแบ่งออกเป็นสี่ระยะ
- เริ่มจากช่วงระหว่างสงครามที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เต็มไปด้วยความห่วงหาอาลัย ทุกวันต้องถือแผ่นป้ายเฝ้ารอคอยสามี เผื่อว่าสักวันเขาจะรอดชีวิตกลับมา
- รอแล้วรอเล่า วันหนึ่งเลยเลิกจะเฝ้ารอคอย หลังสงครามทำงานเป็นโสเภณีในผับบาร์อเมริกัน เข้าหาทหารผิวสีอวัยวะเพศใหญ่ จนกระทั่ง Hermann หวนกลับมาพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ เลยกระทำสิ่งที่ต้องการพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าตนเองยังคงรักมากอยู่
- หลังจากที่ Hermann ยินยอมเสียสละรับผิดแทนเธอ Maria เลยต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบแทนเขา จึงใช้เล่ห์ เสน่ห์ มารยาหญิง เกี้ยวพาราสี พรอดรักให้หนุ่มๆลุ่มหลงใหล ไต่เต้าจนประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด
- แต่หลังจาก Hermann ได้รับการปล่อยตัวล่วงหน้า กลับปฏิเสธจะพบเจอ Maria นั่นทำให้เธอตกอยู่ในสภาพเคว้งขว้าง หมดสิ้นหวัง จากนั้งวางตัวหัวสูง เริดเชิดหยิ่ง ไม่ยี่หร่าอะไรใครทั้งนั้น จนกระทั่งเมื่อถึงวันชายคนรักหวนกลับมา จึงกลับกลายเป็นหญิงสาวเริงร่า ระริกระรี้ พร้อมจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
แม้ว่าลักษณะภายนอกของ Maria เสื้อผ้าหน้าผม รสนิยมแฟชั่น อาหารการกิน จะมีการพัฒนาจากต่ำสุดถึงสูงสุด แต่จิตใจของเธอกลับยังมั่นคงในรัก ยึดติดกับสถานะภรรยา ทุกครั้งเมื่อมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นใด พูดบอกออกไปตรงๆเป็นได้แค่เมียน้อย ชู้รัก ปฏิเสธคำขอแต่งงาน นั่นเป็นสิ่งหายากยิ่ง และไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายส่วนใหญ่จะยินยอมรับได้
ดั้งเดิมนั้นโปรดิวเซอร์คาดหวังนักแสดง Romy Schneider แต่เธอมีปัญหาติดเหล้า แถมยังเรียกร้องโน่นนี่นั่น ทำให้ผู้กำกับ Fassbinder ตัดสินใจหวนกลับไปหาอดีตคนรัก Schygulla แม้เคยแตกหักกันเมื่อครั้น Effi Briest (1974) ไม่ได้พบเจอร่วมงานกันหลายปี แต่เธอก็ยังยินดีหวนกลับมารับบทบาทที่ทำให้กลายเป็นตำนาน!
สิ่งน่าทึ่งในการแสดงของ Schygulla คือลีลาการพูด และปฏิกิริยาสีหน้าที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ (มีคำเรียก ‘poker face’) สามารถสร้างความหลงใหล ทำให้ใครๆตกหลุมรัก แล้วก็พูดดักทุกทิศทาง ไม่ยินยอมให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กระทำแล้วรู้สึกผิดต่อสามี (เป็นตัวละครที่มีความเฉลียวฉลาด และใช้มันได้อย่างคุ้มค่ามากๆ) นอกจากนี้จิตใจยังมีความซื่อตรง มั่นคง ไม่เคยผันแปรเปลี่ยน เพียงอิทธิพลจากสังคม สภาพแวดล้อมรอบข้าง พยายามเข้าควบคุมครอบงำ ให้หญิงสาวต้องพัฒนาเปลือกภายนอกให้กลายเป็นอย่างปัจจุบัน
ในมุมของผู้ชมปัจจุบัน อาจรู้สึกว่าการแสดงของ Schygulla ดูไม่เป็นธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นความจงใจในการปรุงปั้นแต่งตัวละคร Over-Acting เพื่อตระหนักว่าพฤติกรรมบางอย่างของเธอนั้นล้ำเส้น มากเกินไป ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะสามารถยินยอมรับ … อิสรภาพของเพศหญิง (Feminist) ก้าวถึงจุดสูงสุดก็จากภาพยนตร์เรื่องนี้นะแหละ!

หนังเริ่มต้นโปรดักชั่นเดือนมกราคม 1978 ถ่ายทำกันตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนผู้กำกับ Fassbinder จะใช้เวลาดัดแปลงบท Berlin Alexanderplatz (เพื่อให้ทันงานสร้างครึ่งปีหลัง) นี่เป็นช่วงการทำงานหนักสุดในชีวิตก็ว่าได้แล้วกระมัง ทำให้ต้องพึ่งโคเคนจำนวนมาก (ได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการกองถ่าย Harry Baer และนักแสดง Peter Berling ซึ่งก็เบิกจากทุนสร้างไปจ่ายค่าโคเคน!)
พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หนังใช้งบประมาณไปแล้วกว่า DEM 1.7 ล้านมาร์ค แต่ยังเหลือที่ไม่ได้ถ่ายทำอีกสองซีเควนซ์ใหญ่ๆ อารัมบท-ปัจฉิมบท ซึ่งต้องก่อสร้างฉากแล้วใช้ระเบิดทำลายล้าง นั่นเองทำให้ผู้กำกับ Fassbinder เพิ่งตระหนักว่าโปรดิวเซอร์ขายลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายหนัง(เพื่อรวบรวมทุนสร้าง)โดยไม่บอกกล่าวกับตนเอง สร้างความขัดแย้งไม่ลงรอย ถึงขนาดเรียกร้องสถานะ co-producer แล้วขับไล่ทีมงานเกือบทั้งหมดออกจากกองถ่าย (เพื่อลดต้นทุนหนัง)
The Marriage of Maria Braun is one of Fassbinder’s least happy experiences and the most decisive self-destructive episodes in Rainer’s life.
Thomas Elsaesser กล่าวถึงในหนังสืออัตชีวประวัติของ Rainer Werner Fassbinder
ถ่ายภาพโดย Michael Ballhaus (1935-2017) ตากล้องสัญชาติ German เกิดที่ Berlin เป็นบุตรของนักแสดง Lena Hutter กับ Oskar Ballhaus, ช่วงวัยเด็กมีโอกาสเป็นตัวประกอบภาพยนตร์เรื่อง Lola Montès (1955) จึงตัดสินใจเอาดีด้านการถ่ายภาพ เริ่มมีชื่อเสียงจากการร่วมงานผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ตั้งแต่ The Bitter Tears of Petra von Kant (1972)
Ballhaus ร่วมงานต่อเนื่องผู้กำกับ Fassbinder มาหลายปี จึงเกิดความเข้าใจในไดเรคชั่นของกันและกัน ถึงอย่างนั้น The Marriage of Maria Braun (1978) คือผลงานสุดท้ายของทั้งคู่ นั่นอาจเพราะ Ballhaus ต้องการมองหาความท้าทายใหม่ๆ ก่อนไปโกอินเตอร์กลายเป็นขาประจำ Martin Scorsese อาทิ The Last Temptation of Christ (1988), Goodfellas (1990), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), The Departed (2006) ฯลฯ
งานภาพของหนังยังคงจัดจ้านด้วยเทคนิค มุมกล้อง แสง-สี องค์ประกอบฉาก mise-en-scène แต่จะไม่โฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนเท่าหลายๆผลงานก่อนหน้า ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนดำเนินไปอย่างช้าๆ (สะท้อนการไต่เต้าของ Maria Braun ทีละก้าวอย่างมั่นคง)
สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือเมือง Coburg ที่แม้ได้รับผลกระทบจากสงครามน้อยมากๆ แต่ตึกแห่งไหนถูกทำลาย สภาพปรักหักพัง ก็คงไว้เช่นนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน, ส่วนสองฉากใหญ่ อารัมบท-ปัจฉิมบท กลับมาสร้างฉากถ่ายทำยังกรุง Berlin
การทำ Opening Title ให้มีความสไตลิสต์ ตัวอักษรสีแดง แลดูคล้ายกับอนุสรณ์สถานที่จารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ คงต้องการมอบสัมผัสหายนะ ภยันตราย ความตายจากสงคราม คลอประกอบด้วยเสียงระเบิดตูมตาม และทารกน้อยกรีดร้องไห้ (สามารถแทนด้วยผู้กำกับ Fassbinder ที่ถือกำเนิดช่วงสงครามพอดิบดี)
ใครที่ตระหนักว่าผู้กำกับ Fassbinder มีความหลงใหลคลั่งไคล้ Douglas Sirk พบเห็นฉากนี้ย่อมตระหนักได้ทันทีถึงภาพยนตร์ A Time to Love and a Time to Die (1958) ซึ่งตัวเขาก็มีความเชื่อมั่นแนวคิดเดียวกันว่า สงครามคือจุดเริ่มต้นของความรัก และทุกสิ่งอย่าง (ถ้าไม่มีสงคราม ความรักก็ไม่ทางบังเกิดขึ้น)
Remarque (ผู้แต่งนวนิยาย A Time to Love and a Time to Die) is saying that if it weren’t for the war this would be eternal love. Sirk is saying if it weren’t for the war this would not be love at all.
Rainer Werner Fassbinder กล่าวถึง A Time to Love and a Time to Die (1958)

การเอาขนมปังชุบน้ำ จากแข็งกระด้างให้อ่อนนุ่ม จะทำให้เหมือนมีปริมาณมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งช่วยให้ท้องอิ่มในช่วงข้าวยากหมากแพง ซึ่งก็มีแฝงนัยยะถึงการโอนอ่อนผ่อนปรน จะสามารถดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอดได้ … แนวคิดคล้ายๆน้ำเต็มแก้วที่ไม่สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ถ้าเราทำตัวเหมือนแก้วเปล่า หรือขนมปังนุ่มๆชุบน้ำ ย่อมสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้าได้กับทุกสถานการณ์
เกร็ด: ช่วงท้ายฉากนี้เสียงประกาศจากวิทยุดังขึ้นขัดจังหวะก่อนรับฟังบทเพลง Beethoven: Symphony No.9 คือรายการแจ้งชื่อบุคคลสูญหาย ซึ่งนามกร Adler แปลว่า Eagle หรือคือตราสัญลักษณ์ของประเทศเยอรมัน
For each of the names listed here, there is some news. 5821: Adler, first name unknown…

บ่อยครั้งที่หนังถ่ายผ่านประตู หน้าต่าง หรืออะไรสักอย่างที่ดูเหมือนกรอบห้อมล้อมตัวละครกำลังครุ่นคิด พูดคุย หรือกระทำบางสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ซึ่งช่วงองก์แรกๆจะยังมีช็อตที่ถ่ายผ่านผนังกำแพงที่พังทลาย เศษซากปรักหักพัง พบเห็นคนในนั้นกำลังหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน อย่างช็อตนี้มารดาเลือกหาเสื้อผ้าสำหรับนำไปแลกเปลี่ยนเสบียงกรัง

จากเคยเป็นหญิงสาวที่เหมือนจะใสซื่อบริสุทธิ์ ยึดมั่นในรัก ต้องการคงสถานะแต่งงาน แต่ความทุกข์ยากลำบากจากสงคราม ทำให้เธอต้องปรับเปลี่ยนแปลงตนเองทีละนิด อย่างฉากนี้ให้เพื่อนชายแต่งหน้าทาแป้งขาว (ปกติบังตัวตน ซุกซ่อนเร้นความต้องการแท้จริงไว้ภายใต้) ทรงผมเหมือนสุนัขพุดเดิ้ล ซึ่งก็สะท้อนสถานะตัวละครขณะนั้น เป็นได้เพียงสัตว์เลี้ยงของบุรุษ เยอรมันกำลังจะตกเป็นขี้ข้าอเมริกัน (จากความพ่ายแพ้สงครามโลก)

ผู้กำกับ Fassbinder มารับเชิญ (Cameo) ในบทคนเร่ขายของ (Peddler) ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ขายคือหนังสือของ Heinrich von Kleist (1777-1811) นักกวี นักเขียนสัญชาติ German มีผลงานเด่นๆอย่าง The Marquise of O (1808) ฯ
Kleist เหมือนจะเป็นไอดอลของผู้กำกับ Fassbinder เพราะชายคนนี้ฆ่าตัวตายตามแฟนสาว Henriette Vogel ที่ป่วยหนักระยะสุดท้าย (เห็นว่าทั้งสองรักกันมากๆ ต่างเขียนจดหมายลาตายคนละฉบับ และตัดสินใจปลิดชีวิตไปพร้อมๆกัน)
เกร็ด: สูทของคนเร่ขายของ ก่อนหน้านั้นพบเห็นคุณปู่ของ Maria ลองสวมใส่ครั้งสุดท้าย ก่อนนำมาแลกเปลี่ยนขายทอดตลาดมืด

สถานที่ที่เคยเป็นโรงเรียน ห้องพละ ยิมนาสติก กลับกลายเป็นผับบาร์สำหรับทหารอเมริกัน (นี่น่าจะหลังสงครามสิ้นสุดแล้วนะครับ) เอาจริงๆแค่การเดินเข้าไปโหนบาร์ของ Maria ก็น่าจะทำให้หลายคนตระหนักว่านี่เป็นสถานที่เหมาะสำหรับกิจกรรมโลดโผน ออกกำลังกาย ขายตัว (เพราะการร่วมรัก มันต้องใช้ลีลา ความยั่วเย้ายวน และต้องฝึกฝนร่างกายให้มีความยืดหยุ่น)

จากเคยไปรอคอยสามีที่สถานีรถไฟทุกวี่วัน ในที่สุดก็ตัดสินใจเพียงพอแล้ว พร้อมยอมรับโชคชะตา ทอดทิ้งป้ายค้นหา ไม่ต้องการได้ยินเสียงกระฉึกกระชัก ราวกับจังหวะเต้นของหัวใจ ต่อจากนี้จะขอเริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้ลึกๆยังคงโหยหา คาดหวังว่าเขาจักสามารถรอดชีวิตกลับมา

ความสัมพันธ์ระหว่าง Maria กับทหารอเมริกันผิวสี หลังจากพบเจอก็นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการที่เธอนำพาเขาลัดเลาะเดินขึ้นเนินเขา (ไปยังอพาร์ทเม้นท์ของครอบครัว) สื่อถึงความสนิทสนมที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น และการฝึกฝนสนทนาภาษาอังกฤษ เริ่มจะสื่อสารเข้าใจกัน
การเลือกนักแสดงผิวสีเป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกา ดูเป็นการตบหน้าชาวอเมริกันที่ยุคสมัยนั้นยังคง White Supremacy แต่เอาจริงๆน่าจะเพราะรสนิยมทางเพศของผู้กำกับ Fassbinder คงติดใจความใหญ่ยาว ‘เจ้าโลก’ มีพลังขับเคลื่อนรสรักได้หนำใจกว่า (คู่ขาของ Fassbinder ส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีนะครับ)
ถ้าเรามองว่า Maria คือตัวแทนของเยอรมัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร/สหรัฐอเมริกา จำเป็นที่เธอต้องได้รับการพึ่งพา ความช่วยเหลือ ยินยอมก้มหัวศิโรราบ สภาพไม่ต่างอะไรจากโสเภณี จนกระทั่งเมื่อสามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้ระดับหนึ่ง (สามีเดินทางกลับมา) จึงสามารถตัดขาดความสัมพันธ์ ส่วนทารกเสียชีวิตตอนคลอด สื่อถึงการไม่สามารถมีอนาคตร่วมกันได้อีกต่อไป

ผมคุ้นๆว่าไม่เคยพบเห็น Maria ร่ำร้องไห้นะครับ แต่เมื่อไหร่เธอ (หรือตัวละครอื่น) มีความเศร้าโศกา สูญเสียบางสิ่งอย่าง จะเปิดก็อกน้ำ(สัญลักษณ์แทนคราบน้ำตา)ให้หลั่งไหลรินออกมาแทน … พบเห็นอยู่หลายครั้งทีเดียวนะ

หลังจาก Maria รับทราบข่าว(ปลอม)การเสียชีวิตของสามี เธอตรงมาหาชู้รักทหารอเมริกันผิวสี ได้รับการโอบกอด แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกห่าง ถูกบดบังด้วยบรรดาคู่เต้น/คู่รักหญิงสาวเยอรมัน-ทหารหนุ่มอเมริกา คลอประกอบบทเพลง Moonlight Serenade … ฉากนี้ทำให้ระลึกถึงภาพยนตร์ Wings (1927) มีฉากในตำนานทิศทางตรงกันข้ามนี้อยู่ (แต่ผมว่าผู้กำกับ Fassbinder น่าจะได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ Josef von Sternberg มากกว่า)

หลังจาก Bill รับรู้ว่า Maria ตั้งครรภ์บุตรของตนเอง เขาสอบถามเธอว่าแน่ใจแล้วหรือ เพราะตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นติดตามมาในอนาคต (จากการที่มารดาผิวขาว มีบุตรผิวสี ในสหรัฐอเมริกายังยอมรับ ‘Miscegenation’ เรื่องพรรค์นี้ไม่ค่อยได้) หลังจากเขาอุ้มเธอเข้ามาในห้อง ใบหน้าอาบฉาบด้วยเงามืดสลับสว่างจากบานเกล็ด แสดงถึงความสองจิตสองใจ

แต่เมื่อ Maria บอกกล่าวว่าฉันไม่สนอะไรใคร ความรักเป็นเรื่องของสองเรา ต่างคนต่างถาโถมเข้าใส่ โอบกอดจูบ ถอดเสื้อผ้า ชุดชั้นในทีละชิ้น โดยไม่รู้ตัว Hermann จู่ๆกลับมาถึงบ้าน ยืนค้างอยู่ตรงประตู ไม่รู้จะแสดงปฏิกิริยาเช่นไร ซึ่งกว่าทั้งสองจะตระหนักได้ว่ามีใครจับจ้องมอง ก็ไม่หลงผ้าผ่อนปกปิดเรือนร่างกาย
นี่เป็นฉากที่ทำให้ผมอ้าปากค้างในไดเรคชั่นผู้กำกับ Fassbinder ต้องการสร้างความกระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะผู้ชมจะสังเกตได้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า Hermann ยืนจับจ้องมองอยู่ตรงประตู แต่เขาไม่คิดจะทำอะไรเลยหรือ? แล้วเมื่อไร่สองคนนี้จะเริ่มตระหนักได้เสียที?
มองในเชิงสัญลักษณ์การหวนกลับมาของ Hermann หมายถึงเยอรมันที่เริ่มปลุกตื่นจากหายนะ ฟื้นคืนสติหลังพ่ายแพ้สงคราม อะไรหลายๆอย่างค่อยๆกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้พวกเขาสามารถฉุกครุ่นคิด ทบทวนสิ่งต่างๆ และพร้อมเผชิญหน้าความจริง

แบบเดียวกับ Chinese Roulette (1976) ที่พอสามีจับได้ว่าภรรยานอกใจ ก็ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาเกรี้ยวกราดอะไรออกมา แค่หลังจากพวกเขาตระหนักสิ่งบังเกิดขึ้น Hermann จึงเดินเข้ามาจุดบุหรี่ มืดสั่นๆ ค่อยๆแสดงอาการคลุ้มคลั่ง เกือบจะควบคุมตนเองไม่อยู่ จนกระทั่ง Maria ตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง แล้วภาพช็อตนี้ใบหน้าอาบฉาบแสง-เงา สาดส่องผ่านบานเกล็ด (แบบเดียวกับ Bill ก่อนหน้านี้) รอยยิ้มดูอิ่มเอิบเบิกบาน ดีใจได้พบเห็นชายคนรัก ขณะเดียวกันก็อมทุกข์ทรมาน รู้สึกผิดต่อเขาอย่างรุนแรงที่กระทำสิ่งผิดคำมั่นสัญญา
ปฏิกิริยาสีหน้าของ Maria ช็อตนี้ถือว่าสมบูรณ์แบบมากๆ เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ซับซ้อน ตีความได้หลากหลาย สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากรอยยิ้มก็คือความโล่งอกดีใจ ที่สามี/ชายคนรักยังคงมีชีวิตอยู่ การทุบศีรษะทหารอเมริกาเพื่อต้องการพิสูจน์ตนเองว่า ฉันพร้อมที่จะครองคู่เคียงข้างเธอในฐานะสามีภรรยา … ในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ ชาวเยอรมันพร้อมที่จะกลับมาเป็นเยอรมัน! (ตอนประเทศเยอรมันพ่ายแพ้สงคราม ก็ถูกชาติพันธมิตรค่อยๆเข้ามาปรับเปลี่ยน ควบคุมครอบงำ สร้างโลกทัศนคติใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็แทบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน’ความเป็นเยอรมัน’ของชาวเยอรมันไปได้)

เหตุผลที่ Hermann ยินยอมรับโทษทัณฑ์แทน Maria ค่อนข้างจะทำความเข้าใจยากสักนิด ผมมองว่าเพราะเขาตระหนักถึงความรักที่เธอยังคงมีให้ แต่เพราะชีวิตหลังสงคราม (Post-War) นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เลยต้องพยายามหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน ใช้เรือนร่างกายแลกเปลี่ยนความสุขสบาย
แต่ปฏิกิริยาของ Hermann ก็ดูเหมือนรับไม่ได้ต่อพฤติกรรมของ Maria แสดงอาการขยะแขยง ท้องไส้ปั่นป่วน ซึ่งเราสามารถมองว่าเขาอาสารับโทษทัณฑ์ เพราะต้องการที่จะตีตนออกห่าง ทรมานตนเอง ใช้เวลาครุ่นคิด ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง (แบบเดียวกับตอนที่หลังจากได้รับการปล่อยตัว ก็ต้องขอเวลาที่จะก่อร่างสร้างตนเองขึ้นมาเทียบเท่า/เคียงข้างเธอ)
ผมชอบฉากการสนทนาในเรือนจำนี้อย่างมาก ทุกคนต่างตะโกนโหวกเหวกจนฟังไม่รู้เรื่อง แต่แล้วจู่ๆก็เงียบลงเพราะคำถามของ Hermann แล้วเธอจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร? ตราบยังมีลมหายใจก็ต้องดิ้นรนต่อไป
นัยยะการถูกควบคุมขังของ Hermann สื่อถึงการยังต้องปกปิดซ่อนเร้น ‘ความเป็นเยอรมัน’ จนกว่าสถานการณ์โลกจะค่อยๆสงบลง ทหารพันธมิตรถอนกำลังจากผืนแผ่นดินแดนแห่งนี้ เมื่อวันนั้นมาถึง ชาวเยอรมันก็จักสามารถกลับมาเป็นเยอรมันได้อย่างแท้จริงอีกครั้ง

ทีแรกผมรู้สึกเสียดายที่หนังตัดจบพล็อตบุตรชายผิวสีของ Maria แต่มันก็มีวี่แววมาตั้งแต่ต้องการให้หมอติดมอร์ฟีนเป็นคนทำคลอด พอมาถึงช็อตนี้ถ่ายในสถานีรถไฟใต้ดิน (จุดตกต่ำสุดของตัวละคร) มุมกล้องเอียงเล็กๆ สื่อถึงโลกทัศน์ที่บิดเบี้ยว มันเหมือนว่าความตายของทารกน้อยไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อเธอเลยสักนิด!
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เหมือนต้องการสื่อว่าอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมันกับสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถกลายเป็นทองแผ่นเดียวกันได้ เพราะชาวเยอรมันไม่ยินยอมถูกกลืนกิน ตกเป็นเมืองขึ้น หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งภายใต้อิทธิพลของประเทศอื่นใด

ทั้งขบวนชั้นหนึ่งมีพื้นที่ว่างเปล่ามากมาย Maria กลับตรงเข้าหา Karl Oswald เพราะได้ยินว่าเป็นนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ จึงต้องการสร้างความฉงนสงสัย ใช้มารยาเสน่ห์ ด้วยการแสร้งว่าหลับตาลงนอน ทำให้เขารู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ไม่อาจพูดบอกกระทำอะไร จนกระทั่งเธอแสดงความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ จึงซื้อใจได้สำเร็จ
การแสร้งว่าหลับนอนของ Maria เหมือนต้องการสื่อถึง ‘ยักษ์หลับ’ หรือคือชาวเยอรมันที่มีศักยภาพ ความสามารถ เฝ้ารอคอยโอกาสที่จะเรียนรู้วิถีของโลก ไต่เต้าสู่ความสำเร็จ นำพาประเทศชาติหวนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ธุรกิจของ Karl เกี่ยวกับเสื้อผ้า นำเข้า-แปรรูป-ส่งออกเครื่องแต่งกาย (ล้อกับตอนที่ Maria เป็นโสเภณี อาชีพที่ต้องปลดเปลื้อง ถอดเสื้อผ้า) เป็นกิจการเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้เลิศหรู ดูดี ปกปิดซ่อนเร้นตัวตนภายใน มีทั้งชุดทำงาน ชุดลำลอง ชุดเดรส สูทหรู ใส่ได้ตั้งแต่ชนชั้นล่าง-กลาง-สูง (ล้อกับการไต่เต้าของ Maria ก็ได้เช่นกัน)

นี่เป็นช็อตที่สื่อถึงความตั้งใจแท้จริงของ Maria แทนจะแปลภาษา (เยอรมัน<->อังกฤษ) ตามที่นายจ้างว่ามา กลับปรับเปลี่ยนให้สนองความต้องการ/ครุ่นคิดเห็นของตนเอง (เลยพบเห็นภาพของทั้งสองด้านหลัง เบลอหลุดโฟกัส) และเธอยังเป็นผู้กุมชะตาข้อตกลงนี้แต่เพียงผู้เดียวในภายหลังอีกต่างหาก … อยากรู้จริงๆว่าไปตกลงอะไรลับหลังกับนักธุรกิจชาวอังกฤษผู้นี้กัน?
แซว: มารดาของผู้กำกับ Fassbinder ทำอาชีพนักแปลภาษา นี่เลยเป็นการอ้างอิงถึงชีวประวัติของเขาอยู่เล็กๆ

Maria แบ่งแยกความสัมพันธ์กับ Karl Oswald ผู้น่าสงสาร! การงานก็คือส่วนของการงาน เมื่อเกิดความต้องการทางเพศก็สามารถตอบสนองตัณหากันและกัน แต่ไม่ใช่เรื่องความรัก ครองคู่แต่งงาน เพราะเธอยืนกรานว่าตนเองมีสามีอยู่แล้ว … เป็นการใช้ข้ออ้างสถานะแต่งงาน สร้างบรรทัดฐานความสัมพันธ์ กีดกันไม่ใช่แค่คนรอบข้าง แต่ยังตัวเธอเอง (สร้างกำแพงขึ้นมาห้อมล้อม ปกปิดธาตุแท้ตัวตน จนกว่าจะประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด ไม่ยินยอมให้ใครผู้ใดมาทำลายความเพ้อฝันนั้น)

กิจกรรมหนึ่งที่ Maria นิยมชมชอบหาเวลาว่างเสียเหลือเกิน คือออกไปเตร็ดเตร่ตามตึกรามบ้านช่องที่มีสภาพปรักหักพัง มองผิวเผินเหมือนต้องการหวนระลึกความหลัง/ทรงจำสมัยยังเด็กๆสาวๆ แต่ผมครุ่นคิดว่าเธอต้องการย้ำเตือนสติตนเองถึงหายนะของเยอรมัน คือแรงผลักดันให้ต้องต่อสู้ดิ้นรน สร้างความมั่นคงทางอาชีพการงาน(และฐานะการเงิน) จนกว่าจะไต่เต้าถึงจุดสูงสุด เพรียบพร้อมทุกสิ่งอย่าง

ไม่ใช่แค่ Maria ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะผลกระทบจากสงคราม แต่ยังสมาชิกในของครอบครัวของเธอทั้งหมด
- ขณะที่คุณปู่กลายเป็นอนุสรณ์สถาน นับถอยหลังใกล้ถึงวันลงโลง
- มารดาพบรักครั้งใหม่ ปลดปล่อยตนเองจากความตึงเครียด ระบายออกผ่านความสัมพันธ์อันเร่าร้อน ไม่ต้องปกปิดซุกซ่อนความต้องการของตนเองอีกต่อไป
- พี่สาว Betti ค่อยๆหมดรักต่อ Willi เกิดความเหินห่าง ไม่ลงรอย ใกล้ถึงวันสิ้นสุดความสัมพันธ์
- ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ล้อกับภาพยนตร์ Chinese Roulette (1976)
จะมีช่วงขณะหนึ่งในงานวันเกิดมารดา Maria ต้องแหวกว่าย หมุนวน พานผ่านบรรดาญาติพี่น้อง กว่าจะเคลื่อนตัวมาถึง Karl Oswald เป็นการสื่อถึงวังวนชีวิตของหญิงสาว ที่ต้องไต่เต้า ก้าวไปข้าง จนกว่าจะถึงเป้าหมาย ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดต่อไป
สำหรับบทเพลงดังประกอบพื้นหลังคือ Capri-Fischer ขับร้องโดย Rudi Schuricke เป็นบทเพลงภาษาเยอรมันที่โด่งดังระดับโลก คำร้องท่อนฮุคมีการเอ่ยชื่อ Marie โปรดอย่าหลงลืมกัน! นี่สามารถสื่อถึงทั้งครอบครัว และชายคนรัก (Hermann กับ Karl) … แต่ลึกๆผมรู้สึกน่าจะพุ่งเป้าไปที่มารดา เพราะนี่คืองานเลี้ยงวันเกิดของเธอ และฉากถัดๆมาปฏิเสธชักชวนมาอยู่ร่วมชายคา บ้านหลังใหม่ (กลายเป็นว่า Maria จงใจหลงลืมมารดาของตนเองเรียบร้อยแล้ว!)
When the red sun sinks into the sea near Capri
And from the sky the pale crescent of the moon twinkles
The fishermen take their boats out to sea
And they lay out the nets in a wide arc
Bella, bella, bella, bella Marie, stay true to me
I’ll be back tomorrow morning
Bella, bella, bella, bella Marie, never forget me
Bella Marie

ผมรู้สึกว่าการ(แอบ)พบเจอกันระหว่าง Karl Oswald กับ Hermann คือเหตุผลทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทางต่างประเทศ ไม่ยินยอมพบเจอ Maria อ้างว่าเพื่อค้นหาตัวตนเอง ต้องการเป็นบุคคลที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่สถานะต่ำต้อยกว่าเธอ
Maria ที่เดินทางมารับ Hermann แต่กล้องถ่ายออกมาจากด้านใน พบเห็นแทบทุกช็อตของเธอราวกับถูกคุมขังในเรือนจำ สื่อถึงชีวิตได้สูญสิ้นความหวัง เป้าหมาย และอิสรภาพไปโดยสิ้นเชิง

บ้านที่อุตส่าห์สะสมเงินทอง ตั้งใจจะให้เป็นสรวงสวรรค์ ครองรักอยู่กับสามีชั่วนิรันดร์ แต่หลังจากเขาหลบหนีหายตัวไป มันเลยมีสภาพเหมือนกรงขัง ถ่ายจากด้านนอกติดรั้วเหล็ก ยังคงสื่อถึงการสูญสิ้นอิสรภาพ ไร้ซึ่งเป้าหมาย และความหวังในการดำรงชีวิตสืบไป
เหตุผลที่ Maria ไม่ชักชวนมารดามาอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้ เพราะเธอต้องการอิสรภาพของตนเอง (แม้จะอยู่ในกรงขังก็ตามเถอะ) ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยใคร อยากใช้ชีวิต ทำอะไร ก็สามารถตามใจ

สิ่งหลงเหลือสำหรับ Maria คืออาชีพการงาน แม้สามารถไต่เต้าจนได้รับตำแหน่งสำคัญในบริษัท มีเลขานุการ (ที่พึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่) และห้องทำงานส่วนตัว แต่ยังพบเห็นแสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา แลดูลักษณะเหมือนกรงขัง อีกแล้ว! นี่เป็นการสื่อว่าแม้เธอจักก้าวสู่จุดสูงสุด(ในอาชีพการงาน) กลับหาใช่ได้รับอิสรภาพดั่งใจหวัง ยังคงเต็มไปด้วยภาระหน้าที่ มีอะไรๆมากมายให้ต้องรับผิดชอบ จะหยุดพักผ่อนยังต้องคิดหน้าคิดหลัง ไม่สามารถไปตายเอาดาบหน้าเหมือนก่อนได้อีกต่อไป
นี่คือจุดสูงสุดในมุมมองผู้กำกับ Fassbinder ไม่ใช่ว่าชีวิตจักได้รับอิสรภาพ แต่คือหน้าที่การงาน ภาระรับผิดชอบจะกลายเป็นพันธนาการผูกมัดรัดตัว ได้รับความคาดหวังสูงลิบลิ่ว ต้องสรรค์สร้างผลงานถัดไปให้ดีกว่าปัจจุบัน

การเสียชีวิตของ Karl Oswald ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของ Maria อยู่ไม่น้อย หลังรับประทานอาหารเสร็จระหว่างเดินกลับถึงกับเซถลา (สื่อถึงการสูญเสียความมั่นคงในชีวิตของ Maria) แต่ที่น่าฉงนยิ่งกว่าคือพนักงานชาย-หญิงกำลังพรอดรักอยู่หลังฉาก เหมือนต้องการจะล้อเลียนสิ่งที่เธอสูญเสียไป นั่นคือบุคคลผู้คอยเติมเต็มความเก็บกดทางเพศ/ความต้องการทางกาย จากนี้จะไม่มีใครใช้เป็นที่ระบายตัณหาราคะ

การกลับมาของ Hermann สร้างความระริกระรี้ แรดร่าน จน Maria แทบไม่สามารถควบคุมตนเอง เปลี่ยนมาสวมใส่ชุดชั้นใน ยั่วราคะ โหยหาสามีที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์กันมาหลายสิบปี (ก็ตั้งแต่วันแต่งงาน) แต่ก็ถูกขัดจังหวะด้วยการอ่านพินัยกรรมของ Karl Oswald
ทั้ง Sequence นี้ดำเนินคู่ขนานกับเสียงบรรยายการแข่งขัน 1954 FIFA World Cup จัดที่ประเทศ Switzerland รอบชิงชนะเลิศเป็นการพบเจอกันระหว่าง West Germany ปะทะ Hungary ผ่านมา 84 นาทีเสมอกันอยู่ 2-2 จนกระทั่ง Helmut Rahn ยิงประตูออกนำ 3-2 ทำให้อีก 6 นาทีสุดท้าย คือช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย ก่อนสามารถยันสกอร์ได้จนหมดเวลา มีคำเรียกชัยชนะ/แชมป์โลกครั้งแรกของเยอรมันนั้นว่า Miracle of Bern
ชัยชนะการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้น ถือเป็นจุดสูงสุดของประเทศเยอรมัน สะท้อนตรงๆกับเรื่องราวของ Maria Braun ซึ่งก็ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตเช่นกัน

การอ่านพินัยกรรมของ Karl Oswald สังเกตว่าทั้ง Maria และ Hermann ต่างมีปฏิกิริยา/ภาษาภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน
- Maria จะมีเงาอาบฉาบเรือนร่างของเธอ ลวดลายดูเหมือนรั้วเหล็ก สื่อถึงสภาพจิตใจที่คงรู้สึกเหมือนถูกกักขัง สูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง … ผมครุ่นคิดว่า Maria ตระหนักถึงความรู้สึกแท้จริงของตนเองที่มีต่อ Karl การสูญเสียจึงสร้างความรวดร้าว ทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่มองว่าตอนจบเธอฆ่าตัวตาย นี่น่าจะคือเหตุผลสำคัญเลยละ!
- Hermann พบเห็นภาพสะท้อนในกระจก ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้รับรู้จัก เคยทำงานกับ Karl แต่กลับได้รับมรดกส่วนหนึ่ง ภายในจิตใจลึกๆคงไม่ต้องการสักเท่าไหร่


มันเกิดอะไรขึ้นกับตอนจบของหนัง? Maria เผลอเรอหรือจงใจเปิดแก๊สทิ้งไว้? ขณะเข้าไปในห้องครัวต้องการจุดบุหรี่ Hermann พบเห็นอะไรถึงตะโกนลั่น Nein! (แปลว่า ไม่!)
ผมเกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่า ฉากจบดั้งเดิมของสองนักเขียน Peter Märthesheimer & Pea Fröhlich คือ Maria จงใจขับรถพุ่งชน/ตกข้างทาง พยายามฆ่าตัวตายพร้อมกับ Hermann เพื่อสื่อถึงการไม่สามารถยินยอมรับสภาพของตนเองขณะนั้น ปากอ้างว่ายังรักสามี แต่ความรู้สึกจริงๆเหมือนจะเริ่มมีใจให้ Karl
ตอนจบในภาพยนตร์ของผู้กำกับ Fassbinder สร้างความคลุมเคลือว่าเป็นการจงใจฆ่าตัวตาย หรือประสบอุบัติเหตุคาดไม่ถึง จุดประสงค์เพื่อสร้างสัมผัสของการสูญเสีย โศกนาฎกรรม ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจที่ตัวละครไม่มีโอกาสได้สมหวังในรัก และเป็นการล้อกับตอนต้นเรื่อง เวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง!

นอกจากช็อตแรกของหนังที่คือ Adolf Hitler (แล้วถูกระเบิดกระจุยกระจาย) ภาพท้ายๆของหนังก็มีการร้อยเรียงท่านผู้นำเยอรมัน (Chancellor) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วย
- Konrad Adenauer (1949-63)
- Kurt Georg Kiesinger (1966-69)
- Willy Brandt (1969-74)
- คนปัจจุบันขณะนั้น Helmut Schmidt (1974-82) จะเปลี่ยนจาก Invert Shot กลายเป็นภาพปกติ






ตัดต่อโดย Juliane Lorenz (เกิดปี 1957) สัญชาติเยอรมัน ภรรยาคนสุดท้ายของผู้กำกับ Fassbinder ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Bolwieser (1977) จนถึงผลงานสุดท้าย และกลายมาเป็นหัวหน้า Rainer Werner Fassbinder Foundation ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ และสินทรัพย์ทั้งหมด
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Maria ตั้งแต่เข้าพิธีแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกับ Hermann Braun จากนั้นร้อยเรียงเหตุการณ์ในลักษณะก้าวกระโดดไปข้างหน้า ‘Time Skip’ นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่มีความสำคัญ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อตัวละคร
- อารัมบท, พิธีแต่งงาน จดทะเบียนสมรสระหว่าง Maria และ Hermann
- องก์หนึ่ง, ช่วงระหว่างสงคราม ไม่รู้ว่า Hermann เป็นตายร้ายดีเช่นไร
- Maria มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า Hermann จะสามารถรอดชีวิตกลับมา จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดก็ยังไร้ข่าวคราวใดๆ
- เมื่อมีข่าวว่า Hermann เสียชีวิตจากไป เธอเลยเข้าหาทหารอเมริกันผิวสี แต่เขาก็หวนกลับมาช่วงขณะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม
- องก์สอง, Hermann ยินยอมรับผิดแทน Maria รับโทษติดคุก
- Maria เลือกจะใช้ชีวิตแทน Hermann ด้วยการเข้าหา Karl Oswald ไต่เต้าจนประสบความสำเร็จ
- องก์สาม, หลังจาก Hermann ได้รับการปล่อยตัว
- Hermann ปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับ Maria ขอเวลาเพื่อให้ตนเองเตรียมตัวให้คู่ควร
- Maria ณ จุดสูงสุด แต่ชีวิตกลับไม่มีอะไรเป็นดั่งฝัน
- และการหวนกลับมาพบเจอระหว่าง Hermann กับ Maria
หนังไม่ได้ลงรายละเอียดชี้ชัดว่าเรื่องราวดำเนินไประยะเวลาเท่าไหร่ แต่เราสามารถประเมินคร่าวๆเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1943 กระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดปี 1945, Hermann ติดคุกก็น่าจะนานหลายปี เมื่อได้รับการปล่อยตัวย่อมต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆกว่าตั้งตัว ประสบความสำเร็จ มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งฉากสุดท้ายได้ยินเสียงพากย์การแข่งขันฟุตบอล World Cup นัดชิงชนะเลิศ เมื่อปี 1954
การดำเนินเรื่องในลักษณะกระโดดไปข้างหน้าเรื่อยๆ ‘Time Skip’ มีข้อเสียคือผู้ชมไม่รู้สึกสนิทสนมมักคุ้นตัวละครมากนัก เพียงเห็นพฤติกรรม การแสดงออกในแต่ละช่วงเวลาที่มีพัฒนาการผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆเท่านั้น ซึ่งในกรณีของ Maria Braun พฤติกรรมไม่ยี่หร่า สนหัวใครอื่น ทำตัวล่องลอยไปเรื่อยๆ ปฏิเสธลงหลักปักฐานกับใครอื่น (เพราะตนเองแต่งงานมีสามีอยู่แล้ว) สอดคล้องเข้ากับไดเรคชั่นนี้ได้อย่างลงตัว
เพลงประกอบโดย Peer Raben (1940-2007) หนึ่งในเพื่อนสนิท เคยเป็นคู่ขาผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder และร่วมก่อตั้ง Aktion-Theater มีผลงานร่วมกัน (ทั้งภาพยนตร์และละครเวที) หลายเรื่องทีเดียว
งานเพลงของ Raben จะมีความกลมกลืนไปกับพื้นหลัง สำหรับเสริมเติมแต่งฉากที่ขาดองค์ประกอบ diegetic music หรือ sound effect เพื่ออธิบายความรู้สึก ข้อเท็จจริง สิ่งซุกซ่อนเร้นในฉากนั้นๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้เครื่องดนตรีอย่าง Accordion, Xylophone ฯลฯ เพื่อมอบสัมผัสทางอารมณ์ให้เด่นชัดเจนยิ่งขึ้น
Peer Raben arrange musical passages in such a way that a subjective emotional perspective is contrasted with an objective musical commentary.
Thomas Elsaesser
สไตล์ของ Fassbinder นิยมที่จะใช้ดนตรีคลาสสิก หรือบทเพลงป็อปชื่อดัง เพื่อสร้างบรรยากาศร่วมสมัยให้ผู้ชมรู้สึกมักคุ้นเคย และสามารถเปรียบเทียบ ทำความเข้าใจนัยยะซ่อนเร้นนั้นๆได้โดยง่าย อาทิ
- Beethoven: Symphony No.9
- Glenn Miller: In The Mood (1944) และ Moonlight Serenade (1944)
- ดังขึ้นในบาร์อเมริกัน
- Rudi Schuricke: Capri-Fischer (1943)
- ดังขึ้นในงานเลี้ยงวันเกิดของมารดา
- Zarah Leander: Nur nicht aus Liebe weinen (1939) แปลว่า Just don’t cry out of love
- Maria ขับร้องกับช่างแต่งหน้าทำผม
- และ Maria กอดคอร้องประสานเสียงกับเพื่อนสาว ขณะปีนป่ายขึ้นไปบนซากปรักหักพัง
- Caterina Valente: Ganz Paris träumt von der Liebe (1971) แปลว่า Love Dreams in Paris
- ดังขึ้นขณะ Maria และ Willi ปีนป่ายขึ้นไปบนซากปรักหักพัง
นอกจากบทเพลงก็ยังมีการใช้เสียง Sound Effect เด็กร้องไห้ ระเบิดตูมตาม ข่าวสารดังจากวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ เพื่อต้องการเชื่อมความสัมพันธ์กับเรื่องราว ท้าทายผู้ชมให้ครุ่นคิด หานัยยะซ่อนเร้นนั้นๆ
ผมนำเอาบทเพลง Nur nicht aus Liebe weinen ต้นฉบับขับร้องโดย Zarah Leander ประกอบภาพยนตร์ Es war eine rauschende Ballnacht (1939) [ภาษาอังกฤษมีสองชื่อ It Was a Gay Ballnight บางครั้งก็เรียกว่า The Life and Loves of Tschaikovsky] ได้ยินขณะ Maria และเพื่อนสาว ปีนป่ายขึ้นไปบนซากปรักหักพัง แล้วกอดคอกันขับร้องท่อนฮุค ประชดประชันถึงคนรักของตนเอง
Nur nicht aus Liebe weinen,
Es gibt auf Erden nicht nur den einen.
Es gibt so viele auf dieser Welt
Ich liebe jeden, der mir gefällt!Just don’t cry for love
There isn’t just one on earth.
There are so many in this world
I love anyone I like!
The Marriage of Maria Braun (1978) นำเสนอช่วงชีวิตแต่งงานของ Maria Braun ที่แม้ไม่เคยได้ครองคู่อยู่ร่วมสามี Hermann Braun แต่ด้วยจิตใจแน่วแน่ ปณิธานมั่นคง อาจเพราะเคยหลงผิดไปครั้งหนึ่ง (เมื่อได้รับทราบข่าวว่าสามีเสียชีวิต) จึงไม่ยินยอมสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาอีกต่อไป แม้ร่างกายเสพสำราญชายอื่น ความรักของฉันจักไม่มีวันเปลี่ยนแปลงใจ
ปากอ้างว่ารักสามี ยึดถือมั่นในสถานะแต่งงาน แต่ร่างกายกลับเสพสำราญชายอื่น ปรับเปลี่ยนไม่ซ้ำหน้า มุมมองคนยุคก่อนคงตีตราโสเภณี ยัยแม่มด ต้องตีตนให้ออกห่าง … กาลเวลาได้ปรับเปลี่ยนแปลงค่านิยมสังคมเสียใหม่ สิทธิสตรีทำให้หญิงสาวมีอิสรภาพ สามารถครุ่นคิดกระทำอะไรก็ได้ตามใจ ร่างกายเป็นของตัวฉัน อยากจะแรดร่าน ขายตัว ใช้มันเพื่อสร้างฐานะ ไต่เต้าสู่ความสำเร็จ ผิดตรงไหนกัน?
ผมมองเหตุผลที่ Maria Braun กลายเป็นหญิงสาวมีความทะเยอทะยาน ต้องการไปให้ถึงจุดสูงสุด มาจากความรู้สึกผิดที่เคยนอกใจสามี เมื่อได้รับข่าวการเสียชีวิตก็ตรงรี่เข้าหาทหารอเมริกัน แต่เมื่อเขากลับยังมีชีวิต แถมอาสารับโทษทัณฑ์ นั่นสร้างความมุ่งมั่นที่จักตอบแทนบุญคุณ ด้วยการมอบอนาคต ความสุขสบาย เมื่อก้าวออกมาจากเรือนจำ หลังจากนั้นจะคือสรวงสวรรค์
หรือจะมองอีกเหตุผลว่า เป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้คู่รัก สามี-ภรรยาต้องพลัดพรากจาก ใช้ชีวิตอย่างทนทุกข์ยากลำบาก นั่นเป็นสิ่งค่อยๆเสี้ยมสอน หล่อหลอม สร้างความเข้มแข็งให้ Maria Braun โหยหาชีวิตที่มีความมั่นคง พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออนาคตจักไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอีกต่อไป และเกษมสำราญกับชายคนรักที่ยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อตนเอง
แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่สามีของเธอจะยินยอมรับไม่ได้ เพราะบุรุษมักมี ‘ศักดิ์ศรี’ ค้ำคอ ไม่ต้องการให้ใครต่อใครดูถูก มองว่าต่ำต้อยกว่าภรรยา ต้องใช้เวลาค่อยๆปรับตัว สร้างฐานะ พิสูจน์ตนเองเพื่อสามารถยืนอยู่เคียงข้างเธออย่างเสมอภาคเท่าเทียม
ถ้าเรามองหนังระดับมหภาค จะพบเห็นการนำเสนอเคียงคู่ขนานเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์เยอรมัน ประกอบด้วย สงครามโลกครั้งที่สอง, ยุคสมัย Great Depression, ปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจ Wirtschaftswunder (แปลว่า Economic miracle) หรือ Miracle on the Rhine และชัยชนะฟุตบอลโลก 1954
เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนมีความสอดคล้องพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของ Maria Braun ตั้งแต่ทนทุกข์ยากลำบากในช่วงระหว่างสงครามโลก, หลังจากนั้นต้องพึ่งพาทหารอเมริกันดิ้นรนเอาตัวรอด, แล้วค่อยๆก่อร่างสร้างตนขึ้นใหม่ ฟื้นฟูกิจการ ประสบความสำเร็จอย่างปาฏิหารย์ และเมื่อถึงจุดสูงสุดก็กำลังจะได้ครองรักสามีอีกครั้ง
ตอนจบของหนังมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า เหตุการณ์แก๊สระเบิดเป็นอุบัติเหตุหรือความพยายามฆ่าตัวตาย? ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Fassbinder แค่ต้องการเวียนวนหวนกลับมาสู่จุดเริ่มต้น เพื่อสะท้อนถึงความไม่จีรังยั่งยืน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จุดสูงสุดนั้นไม่มีอยู่จริง (มันเป็นเพียงก้าวเริ่มต้นของชีวิตใหม่) นี่เป็นการวิพากย์วิจารณ์สภาพสังคมเยอรมันยุคสมัยใหม่ นอกจากไม่มีใครเรียนรู้จากความผิดพลาด หนำซ้ำกลับยังสร้างภาพ ลวงหลอกตนเอง ยึดติดกับอดีตที่ยิ่งใหญ่ (Maria ยึดติดกับสถานะแต่งงาน แต่ความต้องการของร่างกาย-จิตใจ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง!) เฉกเช่นนั้นแล้วอนาคตต่อไปย่อมมีแนวโน้มจะดำเนินไปยังทิศทาง ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ หรอกหรือ?
ตัวละคร Maria Braun ยังสามารถเทียบแทนถึงผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder (พี่แกเป็นคนสองเพศในตนเอง ต่อให้แทนตนเองด้วยเพศหญิงก็ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงอะไร) ถือกำเนิดขึ้นช่วงระหว่างสงคราม แม้ตอนนั้นยังเป็นทารกไร้เดียงสา แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย Great Depression เติบโตขึ้นอย่างทุกข์ยากลำบาก นั่นเป็นสิ่งค่อยๆเสี้ยมสอน หล่อหลอม สร้างความเข้มแข็งแกร่ง จนเกิดความทะเยอทะยาน ต้องการไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์
The Marriage of Maria Braun (1978) ก็ถือเป็นก้าวสูงสุดในอาชีพการงานของผู้กำกับ Fassbinder ประสบความสำเร็จทั้งเสียงตอบรับและรายได้หนัง แต่ไม่ใช่หลังจากนี้จะค่อยๆตกต่ำลงนะครับ นี่เพิ่งคือเริ่มต้นของจุดสูงสุดเท่านั้น … หลังจากนี้ยังมีซีรีย์ Berlin Alexanderplatz (1980) และ Veronika Voss (1982)**คว้ารางวัล Golden Bear
หนังใช้ทุนสร้างตั้งต้น DEM 1.975 ล้านมาร์ค เห็นว่าหมดไปกับค่าโคเคนของผู้กำกับ Fassbinder หลายแสนมาร์ค! … แต่ก็ยังน้อยกว่าผลงานก่อนหน้า Despair (1978) ที่เป็นโปรเจคระดับนานาชาติ ใช้งบประมาณสูงถึง DEM 6 ล้านมาร์ค (=$2.6 ล้านเหรียญ)
ความที่ Despair (1978) เมื่อเข้าฉายสายการประกวดหลัก เทศกาลหนังเมือง Cannes แล้วได้รับความ ‘despair’ เสียงตอบรับย่ำแย่พร้อมเสียงโห่ไล่ ผู้กำกับ Fassbinder ที่เพิ่งเสร็จสิ้นตัดต่อ The Marriage of Maria Braun (1978) นำเอาหนังไปจัดฉาย midnight screen ในค่ำคืนต่อมาโดยทันที ปรากฎว่าได้รับการยืนปรบมือ ‘standing ovation!’ อยู่หลายนาที พร้อมเสียงชื่นชมระดับ Masterpiece กลบเกลื่อนหายนะจากผลงานเรื่องก่อนไปหมดสิ้น!
The entire crowd marched together to the Carlton, built up a fortress of chairs around the celebrated Rainer, put on a show of ‘cordially’ slapping each other on the back—‘Germany is finally back on track in the movie business!’—and whetted their knives clandestinely behind their leather armchairs in order to thrust them into the backs of their rivals.
Peter Berling นักแสดง/โปรดิวเซอร์ที่ได้รับชม The Marriage of Maria Braun (1978) ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes กล่าวถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อจากนั้น
ต่อมาหนังได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ามาทั้งหมด 3 รางวัล ประกอบด้วย
- Silver Bear for Best Actress (Hanna Schygulla)
- Outstanding Single Achievement รางวัลพิเศษมอบให้ทีมงานทั้งหมด
- Reader Jury of the ‘Berliner Morgenpost’
การพลาดรางวัล Golden Lion ให้กับ David (1979) ของ Peter Lilienthal สร้างความไม่พึงพอใจให้ Fassbinder แถมหนังยังไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศเยอรมันเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ซึ่งตกเป็นของ The Glass Cell (1978) กำกับโดย Hans W. Geißendörfer ด้วยเหตุนี้จึงทำการเลื่อนฉายหนังมาปี 1979 แต่ยังถูกกระแสของ The Tin Drum (1979) ที่เพิ่งคว้ารางวัล Palme d’Or เลยหมดโอกาสโดยสิ้นเชิง
ถึงอย่างนั้นหนังก็ยังได้เข้าชิง Golden Globe: Best Foreign Language Film แต่พ่ายให้กับ La Cage aux Folles (1978) ของ Édouard Molinaro
ส่วนรายรับของหนังฝั่ง West German ขายตั๋วได้กว่า 900,000+ ใบ บางที่ยืนโรงฉายยาวนานกว่า 20 สัปดาห์ ประมาณรายรับ $3 ล้านเหรียญ, และเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกาทำเงินได้ $2.6 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังเยอรมันทำเงินสูงสุดขณะนั้น (ที่เคยเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 4K สามารถหาซื้อ/รับชมได้จาก Criterion Collection รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น The BRD Trilogy ร่วมกับ Lola (1981) และ Veronika Voss (1982)
เกร็ด: BRD ย่อมาจาก Bundesrepublik Deutschland ซึ่งชื่อทางการภาษาเยอรมันของ West German ซึ่งทั้งสามผลงานล้วนสะท้อนถึงสภาพสังคม (ของเยอรมัน) ยุคหลังสงครามโลกสิ้นสุด (Post-War)
ส่วนตัวชื่นชอบความลุ่มลึกล้ำในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Fassbinder ทำให้หนังมีความสลับซับซ้อน ซ่อนด้วยมิติพิศวง เป็นมากกว่าแค่เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ สามารถเทียบเท่าสถานะประเทศเยอรมันขณะนั้นได้อย่างยิ่งใหญ่ ทรงพลัง! นอกจากนี้ก็ลีลาการแสดงของ Hanna Schygulla กลายเป็นดาวดาราเจิดจรัสบนฟากฟ้า
แนะนำคอหนังดราม่า, โรแมนติก, Feminist, นักประวัติศาสตร์ ศึกษาวิถีชีวิต สภาพสังคมยุคหลังสงครามของประเทศเยอรมัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักตัดต่อ ศึกษาไดเรคชั่นของ Rainer Werner Fassbinder ที่มีความลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อน ท้าทายให้ค้นหานัยยะซ่อนเร้นภายใต้
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศสงครามโลก เศษซากปรักหักพัง มารยาหญิง การไต่เต้าสู่จุดสูงสุดที่ไม่สนว่าต้องแลกมาด้วยอะไร
Leave a Reply