
The Marquise of O… (1976)
,
: Éric Rohmer ♥♥♥♥
The Marquise of O… สูญเสียสามีไปหลายปี จู่ๆตั้งครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ แม้พยายามอ้างความบริสุทธิ์ใจ แต่ถูกครอบครัวขับไล่ ผลักไส ไม่ยินยอมรับพฤติกรรมสำส่อน ก่อนค้นพบว่าบุคคลข่มขืนเธอนั้นคือ … มนุษย์ทุกคนล้วนมีดี-ชั่วในตัวเอง, คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
เกร็ด: marquess (อังกฤษ), marquis (ฝรั่งเศส) คือบรรดาศักดิ์สืบตระกูลของยุโรป, ภริยาของมาร์ควิส จะเรียกว่า marchioness (อังกฤษ), marquise (ฝรั่งเศส)
- ในจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) มีฐานะสูงกว่าท่านเคาน์ (Count) และเอิร์ล (Earl) แต่ต่ำกว่าดยุก (Duke)
- แต่เฉพาะจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) จะเหมารวมถึงตำแหน่งผู้ปกครองอาณาจักร
ผู้ดีมีสกุล แม้คือบรรดาศักดิ์อันเชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูล แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ ขนบประเพณี ศีลธรรมทางสังคมห้อมล้อมกรอบไว้ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ตกหลุมรัก หรือกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของหัวใจ
ใครเคยพานผ่าน ‘Six Moral Tales’ ของผู้กำกับ Éric Rohmer ย่อมต้องพยายามสังเกตหาสิ่งที่เป็นสาระข้อคิด … แต่ก็อาจพบเจอความผิดหวัง นั่นเพราะ The Marquise of O (1976) เพียงนำเสนอเรื่องขบขัน ตลกร้าย (Dark Comedy) ของยุคสมัยที่ผู้คนยึดถือมั่นในกฎกรอบ ขนบประเพณี ใช้ข้ออ้างศีลธรรมมาตัดสินผู้อื่น เมื่อเทียบกับปัจจุบันภายหลังการปฏิวัติทางสังคม Mai ’68 ทำให้เรารู้สึกโคตรๆโชคดีที่เกิดมาในโลกเสรี
ผมรู้สึกว่าหนังค่อนข้างจะดูยาก เพราะศัพท์แสง วิธีการดำเนินเรื่อง และนอกจากฉากแรกก็แทบไม่มีแอ็คชั่นอะไร แต่ความบ้าระห่ำของ The Marquise of O (1976) คือคลื่นใต้น้ำที่เชี่ยวกราก สร้างความปั่นป่วนทางอารมณ์ อาจรุนแรงยิ่งเสียกว่า The Age of Innocence (1993) ด้วยซ้ำนะ!
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Heinrich von Kleist (1777-1811) นักเขียนนวนิยาย/บทละครเวที สืบเชื้อสาย House of Kleist เกิดที่ Frankfurt, Kingdom of Prussia โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมายและปรัชญา Viadrina University กระทั่งมีโอกาสรับรู้จัก Goethe, Schiller, Wieland เลยตัดสินใจเริ่มเขียนหนังสือ มีผลงานทั้งเรื่องสั้น-เรื่องยาว Tragedy, Comedy ส่วนใหญ่ด้วยลักษณะ Romanticism และเมื่อพบเจอหญิงสาว Henriette Vogel สานสัมพันธ์กันอย่างสนิทสนม แต่เพราะเธอล้มป่วยระยะสุดท้าย เขาเลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตเคียงข้างกัน
สำหรับ Die Marquise von O … (นี่คือชื่อต้นฉบับเยอรมัน) ผลงานโด่งดังที่สุดของ Kleist เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากประกาศบนหน้าหนังสือพิมพ์ หญิงหม้ายกำลังมองหาชายที่ทำตนเองตั้งครรภ์ แต่เรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นการครุ่นคิดแต่งขึ้นใหม่ ปรับเปลี่ยนสถานที่พื้นหลัง ใช้นามสมมติ Maqruise of O…, Count F., Colonel G. ไม่ได้อ้างอิงบุคคลหรือเหตุการณ์จริงประการใด!
แน่นอนว่าเมื่อได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสาร Phöbus เมื่อปี ค.ศ. 1808 ก่อเกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง เพราะเรื่องราวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับ เพียงกาลเวลาไม่กี่ทศวรรษถัดจากนั้น ถึงยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอก ‘Masterpiece of German Literature’
เพราะความวรรณกรรมเลื่องชื่อ ย่อมเคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง หลายภาษา
- The Marquise of O (1920) หนังเงียบกำกับโดย Paul Legband
- La Marquise d’O (1959) ภาพยนตร์โทรทัศน์ ฉบับภาษาฝรั่งเศส กำกับโดย Claude Barma
- Die Gräfin von Rathenow (1973) ภาพยนตร์โทรทัศน์ ฉบับภาษาเยอรมัน กำกับโดย Peter Beauvais
- La marquise d’O (1976) ภาพยนตร์ฉบับภาษาเยอรมัน สร้างโดยผู้กำกับฝรั่งเศส Éric Rohmer
- Die Marquise von O (1989) ภาพยนตร์โทรทัศน์ ฉบับภาษาเยอรมัน กำกับโดย Hans-Jürgen Syberberg
- Julietta – Es ist nicht wie du denkst (2001) ภาพยนตร์ภาษาเยอรมัน กำกับโดย Christoph Stark
- Il seme della discordia (2008) ฉบับภาษาอิตาเลี่ยน กำกับโดย Pappi Corsicato
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมทำหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
ผกก. Rohmer รับรู้จักเรื่องสั้น La Marquise d’O… (ชื่อภาษาฝรั่งเศส) มาตั้งแต่สมัยยังเป็นครูสอนหนังสือ เคยครุ่นคิดอยากดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (ถือเป็น ‘dream project’ ก็ว่าได้) เมื่อเสร็จจาก ‘Six Moral Tales’ เลยวางแผนให้เป็นโปรเจคลำดับถัดไป!
ด้วยความสำเร็จอย่างล้นหลามจากสองผลงานสุดท้ายของ ‘Six Moral Tales’ เรื่อง Claire’s Knee (1970) และ Love at the Afternoon (1972) ทำให้ผกก. Rohmer สามารถมองหาโปรดิวเซอร์/สตูดิโอที่พร้อมยอมทุ่มทุนให้โปรเจคในฝันนี้ แถมยังยืนกรานต้องใช้นักแสดงเยอรมัน พูดภาษาเยอรมัน และถ่ายทำที่เยอรมัน
I remember a conversation with Éric Rohmer when I asked him why he didn’t direct in French – and I soon realized that I hadn’t yet understood his thinking. For him it was more important to learn German for Kleist and the material he was interested in than not being able to stage Kleist in his own language. At the same time, I almost felt the teacher in him, he pointed out to me that the French language was not more melodic than the German, as I thought, but on the contrary the modulation of the German language was greater.
ส.ส. Christian Schmidt ที่เดินทางมาเยี่ยมกองถ่ายและมีโอกาสพูดคุยผกก. Éric Rohmer
บทหนังของ Rohmer เห็นว่ามีความซื่อตรง เคารพต้นฉบับของ Kleist ดัดแปลงมาเกือบจะเป๊ะๆ ซึ่งวิธีการที่เขานำเสนอผ่านสื่อภาพยนตร์ ก็พยายามทำออกมาให้รู้สึกเหมือนกำลังเปิดอ่านหนังสือ แปลข้อความเป็นคำพูดและการกระทำ แค่นั้นเองละ!
It wasn’t simply the action I was drawn to, but the text itself. I didn’t want to translate it into images, or make a filmed equivalent. I wanted to use the text as if Kleist himself had put it directly on the screen, as if he were making a movie … Kleist didn’t copy me and I didn’t copy him, but obviously there was an affinity.
Éric Rohmer
แซว: ไม่รู้เหมือนกันว่า Rosemary’s Baby (1968) หรือ The Marquise of O (1976) ที่ดัดแปลงจากต้นฉบับนวนิยายได้ซื่อตรงกว่ากัน?
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19th เรื่องราวเกิดขึ้น ณ เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของอิตาลี ภายใต้ Kingdom of Prussia ปกครองโดย Colonel G. (รับบทโดย Peter Lühr), การมาถึงของกองทัพรัสเซียระหว่าง Napoleonic Wars (1803-15) ทำให้ต้องศิโรราบต่อ Count F. (รับบทโดย Bruno Ganz) แต่ระหว่างนั้นเองทหารนอกรีตกลุ่มหนึ่ง พยายามฉุดกระชาก ต้องการข่มขืน Marquise O. (รับบทโดย Edith Clever) โชคยังดีได้รับการช่วยเหลือจากท่านเคาน์
ระหว่างที่ Marquise O. กำลังตกอยู่ในภาวะผวา (Shell Shock) ยังไม่สามารถฟื้นคืนสติจากเหตุการณ์ดังกล่าว Count F. เมื่อมีโอกาสอยู่ร่วมกันสองต่อสอง จึงมิอาจหักห้ามใจตนเอง หลายวันต่อมาจึงรีบเร่งเดินทางมาสู่ขอ พยายามโน้มน้าว ชักแม่น้ำทั้งห้า แต่ก็ถูก Colonel G. บอกให้รั้งรีรอ คบหากันไปก่อน
แล้วจู่ๆ Marquise O. ก็ค้นพบว่าตนเองตั้งครรภ์ แต่เธอยืนกรานความบริสุทธิ์ ไม่เคยประพฤติตัวสำส่อน ร่วมรักหลับนอนกับชายอื่นใด ถึงอย่างนั้นกลับถูกครอบครัวขับไล่ ผลักไส ตีตราว่าร้าย ทำให้ต้องหลบหนีไปพักอาศัยอยู่บ้านชนบทห่างไกล แล้วลงประกาศหนังสือพิมพ์ ค้นหาว่าใครกันคือพ่อของเด็ก แล้วมีอีกประกาศตอบกลับ(จาก Count F.) วันเวลาดังกล่าวนี้ขอนัดมาพบเจอ
Edith Clever (เกิดปี 1940) นักแสดงชาวเยอรมัน เกิดที่ Wuppertal, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Otto-Falckenberg-Schule แล้วมีผลงานละครเวที Theater der Freie Hansestadt Bremen, แจ้งเกิดโด่งดังจากภาพยนตร์ The Marquise of O… (1976), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Left-Handed Woman (1977), Parsifal (1982), Die Nacht (1985) ฯลฯ
รับบท Marquise of O หม้ายสาวลูกสอง ยังคงสวยไม่สร่าง เคยตั้งใจไว้ว่าจะไม่แต่งงานใหม่ แต่แล้วจู่ๆกลับตั้งครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ พยายามแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่กลับถูกครอบครัวขับไล่ ผลักไส เลยประกาศหาชายที่เป็นพ่อของเด็ก ยินยอมรับได้ถ้าเป็นคนโฉดชั่วร้าย แต่กลับกลายเป็น Count F. ที่เคยช่วยเหลือเธอเอาไว้ เกิดความโล้เล้ลังใจ แต่หลังแต่งงาน คลอดบุตร ก็ค่อยๆยินยอมรับสภาพความจริง
Marquise of O เป็นหญิงสาวไร้ซึ่งรอยยิ้ม มีเรื่องให้เคร่งเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลอยู่ตลอด แม้ช่วงแรกๆยังมีครอบครัวคอยปกป้อง แต่หลังจากพบว่าตนเองตั้งครรภ์ ทุกคนต่างพยายามขับไล่ ผลักไส ตีตราว่าร้าย เมื่อหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว พยายามทำตัวเข้มแข็ง แต่ก็ดูไร้เรี่ยวแรง และแทบหมดสูญสิ้นศรัทธา เมื่อพบว่าบุคคลข่มขืนตัวเองคือชายที่เคยเชื่อว่าเป็นคนดี!
ต้องชมทีมงานคัดเลือกนักแสดง ไม่รู้ไปพบเจอ Clever มาจากแห่งหนไหน (นี่คือเป็นผลงานแจ้งเกิด!) อายุอานามถือว่ากำลังดี มีรูปลักษณ์ของหญิงวัยกลางคน และยังคงสวยไม่สร่าง โดยเฉพาะการแสดงถือว่าจัดจ้าน สามารถถ่ายทอดความรู้สึกผ่านสีหน้า ภาษากาย เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง
Bruno Ganz (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติ Swiss เกิดที่ Zürich, Switzerland แต่ข้ามมาเป็นนักแสดงที่ West Germany เริ่มจากละครเวที มีชื่อเสียงจาก Summerfolk (1976), The Marquise of O… (1976), แล้วกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ Wim Wenders อาทิ The American Friend (1977), Wings of Desire (1987), Faraway, So Close! (1993) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Nosferatu the Vampyre (1979), Downfall (2004), The Manchurian Candidate (2004), The Reader (2008), Unknown (2011) ฯ
รับบท Count F. จากวีรบุรุษที่เคยช่วยเหลือ Marquise of O กลายมาเป็นชายหนุ่มคลั่งรัก มิอาจอดกลั้นฝืนทน เลยพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครองคู่แต่งงาน แต่ก็มิอาจต้านทานขนบกฎกรอบทางสังคม จนความผิดพลาดที่เคยกระทำได้รับการเปิดเผย จึงจำต้องยืดอกแสดงรับผิดชอบ และเฝ้ารอคอยจนกว่าเธอจักสามารถยกโทษให้อภัย
ถ้าพูดตามภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ ‘ความรักเป็นสิ่งมิอาจหักห้ามใจตนเอง’ แต่เพราะ Count F. ถือกำเนิดในยุคสมัยที่ชาวโลกยังยึดถือมั่นในกฎกรอบ ขนบประเพณี การแสดงออกของเขาจึงถือเป็นสิ่งต้องห้าม (taboo) ผู้คนไม่ให้การยอมรับ ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงามของสังคม
ผมเคยแต่รับชมผลงานของ Ganz เมื่อย่างเข้าวัยกลางคน เพิ่งมาตระหนักว่าสมัยหนุ่มๆก็หล่อไม่เบา บทบาท Count F. นี่คือวัยสะรุ่นคลั่งรัก สีหน้าสายตาดูหื่นกระหาย ต้องการเธอมาครอบครองให้จงได้ ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความอึดอัดอั้น คลุ้มบ้าคลั่งที่ซุกซ่อนเร้นภายใน ให้ตายเถอะโรบิน! นี่น่าจะเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Ganz ก่อนกาลมาถึงของ Downfall (2004)
ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros Cuyás (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงานขาประจำ Éric Rohmer และ François Truffaut ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ
งานภาพของ Almendros แทบไม่ได้มีลูกเล่น ลวดลีลา ส่วนใหญ่ตั้งกล้องไว้เฉยๆ หรือขยับเคลื่อนเลื่อนอย่างช้าๆ แต่มีความโคตรๆๆงดงามราวกับภาพวาดศิลปะยุคสมัย Neoclassicism (1760s-1850s) โดดเด่นจากการใช้แสง-สี (ด้วยแสงธรรมชาติทั้งหมด) และรายละเอียด ‘mise-en-scène’ เห็นว่ารับอิทธิพลจากจิตรกร Jean-Auguste-Dominique Ingres (1780-1867) และ Johann Heinrich Füssli (1741-1825)
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ผกก. Rohmer ไม่ได้ต้องการดัดแปลงหรือตีความอะไรจากเรื่องสั้น The Marquise of O เพียงนำรายละเอียดทั้งหมด มาทำเป็นภาพขยับเคลื่อนไหว ให้ราวกับผู้แต่ง Heinrich von Kleist กำลังสรรค์สร้างสื่อภาพยนตร์เท่านั้นเอง!
หนังใช้เวลาโปรดักชั่นสามเดือนเต็มระหว่างพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม ค.ศ. 1975 โดยสถานที่ถ่ายทำปักหลักอยู่ Obernzenn, Middle Franconia ทางตอนกลางของประเทศเยอรมัน และและปราสาท Rotes Schloss Obernzenn และ Blaues Schloss Obernzenn (Red & Blue Castle) เป็นที่พักอาศัยของ Marquise of O


การมาถึงของวีรบุรุษ เป็นช็อตสุดคลาสสิกที่ทำการตั้งสป็อตไลท์ไว้ไกลๆด้านหลัง แล้วสาดส่องเข้าหานักแสดง เพิ่มเติมก็คือเอ็ฟเฟ็กควัน เพื่อสร้างสัมผัสลึกลับ เหนือธรรมชาติ พระเอกขี่ม้าชุดขาวคนนี้โผล่มาจากไหนกัน?
ไม่รู้เพราะผมรับชมภาพยนตร์มาเยอะหรือเปล่า พอเห็นช็อตนี้ปุ๊ปก็หลุดหัวเราะขึ้นทันที เพราะรู้สึกว่าแม้งโคตรเฉิ่ม เอากันง่ายๆแบบนี้เลยเหรอ … จริงๆก่อนหน้านี้ก็มีหลายๆรายละเอียดที่ชวนหัวร่อ แต่จนกระทั่งการฉุดกระชาก ยื้อๆแย่งๆ และพระเอกโผล่ออกมา ทำให้ผมเพิ่งตระหนักว่านี่คือภาพยนตร์ (Dark) Comedy

หลายๆช็อตฉากหนังมีความพยายามจัดองค์ประกอบ ‘recreate’ เลียนแบบภาพวาดงานศิลปะ อย่างช็อตนี้ระหว่างที่ Marquise of O กำลังตกอยู่ในภาวะผวา (Shell Shock) ยังไม่ได้สติหวนกลับคืนมาหลังเหตุการณ์โดนฉุดกระชาก ซึ่งเมื่อ Count F. เข้ามาพบเห็น ก็มิอาจควบคุมกิเลสตัณหา … หนังพยายามชี้นำอย่างชัดเจนเลยว่า Count F. (ที่ก่อนหน้านี้เป็นวีรบุรุษ)กลายมาเป็นผู้ข่มขืน Marquise of O จนตั้งครรภ์
ภาพวาดที่ผมนำมาเปรียบเทียบชื่อว่า The Nightmare (1781) ผลงานของ Henry Fuseli จิตรกรชาว Swiss หญิงสาวกำลังนอนหลับลึก โดยไม่รู้ตัวมีสัตว์ปีศาจหน้าเหมือนลิง (incubus) และม้าทำตาสัปดล สร้างความรู้สึกหลอนๆ อีโรติก ดูราวกับกำลังฝันร้าย


ฉากบอกเล่าความตายของ Count F. สังเกตรายละเอียดด้านหลังพบเห็นเก้าอี้วางกระจัดกระจาย รูปภาพหล่นจากฝาผนัง หน้าต่างยังปิดมิดชิดด้วยไม้ เพื่อถึงสภาพปรักหักพังหลังการสู้รบกับกองทัพรัสเซีย และจิตใจของผู้รับฟังราวกับถูกทิ่มแทงให้ตกตาย
แต่ตัวจริงของ Count F. เพียงแค่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนั้นเรื่องเล่าดังกล่าวจึงเป็นเพียงความเข้าใจผิด … จะว่าไปหนังเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ตัวละครครุ่นคิดเพ้อเจ้อ มโนไปเองมากมาย กว่าจะได้ครอบครองรักกัน ก็มีเรื่องป่วนๆชวนหัว พยายามปกปิดข้อเท็จจริงกันจ้าละหวั่น!
สำหรับภาพวาดด้านหลัง น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดไม่ได้ แต่ทำให้รับรู้จักงานศิลปะ ‘Capriccio’ ภาพวาดแนวสถาปัตยกรรม มักอ้างอิงจากโบราณสถาน ผสมผสานเข้ากับจินตนาการของจิตรกร ได้รับความนิยมในช่วง Renaissance และ Baroque, โดยผลงานเลื่องชื่อ Capriccio of Classical Ruins (1730) วาดโดย Giovanni Paolo Panini (1691-1765) สถาปนิก/จิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน


ผมตั้งใจจะไม่ลงรายละเอียด ‘mise-en-scène’ แต่อย่างฉากการมาถึงของ Count F. ก็มีอะไรหลายๆอย่างสำหรับคนช่างสังเกต
- ตำแหน่งที่นั่งของ Count F. ด้านหลังพบเห็นเครื่องดนตรีพิณ สื่อถึงเรื่องราวที่เขากำลังพูดเล่าหลังจากถูกยิง ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง ฟังดูน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
- แต่สำหรับ Marquise of O สังเกตว่านั่งเยื้องด้านหลังมารดา สามารถสื่อถึงความยังต้องการการปกป้องจากครอบครัว
- ขณะที่ Colonel G. แทบทุกช็อตของชายคนนี้มักถ่ายติดนาฬิกา สื่อถึงความพยายามถ่วงเวลา ไม่ต้องการให้ Count F. เร่งรีบร้อนเกินหน้าเกินตา



ตอนรับชมผมไม่รับรู้จักภาพร่าง La toilette (1774) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส Nicolas Joseph Voyez (1742-1806) แต่พอพบเจอชื่อภาพที่แปลว่า The Toilet มันช่างสอดคล้องคำด่าทอที่มารดาพ่นใส่บุตรสาว (คล้ายๆสำนวนไทย ‘มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน’) ไม่พึงพอใจพฤติกรรมสำส่อน ตั้งครรภ์แล้วยังมาอ้างความบริสุทธิ์ ไม่รู้ใครเป็นพ่อเด็ก มันได้เสียที่ไหนกัน?
Papillon voltigent de toilette en toilette,
Et la maîtresse et la soubrette;
L’homme à la mode veut captiver à la fois,
Et ces amans du jour se tromperont tous troisแปลจาก Google Translate
Butterfly flutters from toilet to toilet,
And the mistress and the maid;
The fashionable man wants to captivate at the same time,
And these lovers of the day will all be wrong


ระหว่างที่ Marquise of O พยายามร่ำร้องขอบิดา ถึงขนาดทรุดลงแทบเท้า (สื่อถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของสตรีเพศ) ไม่ต้องการถูกขับไล่ออกจากบ้าน, แต่ Colonel G. กลับยืนหลังพิงกำแพง หยิบปืนลั่นไก เต็มไปด้วยความยึดถือมั่น ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน ไม่ยินยอมรับบุตรสาวสำส่อน หน้ามืดตามัวโดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น, ส่วนมารดาเมื่อได้ยินเสียงปืนก็เป็นลมล้มพับ ราวกับตนเองถูกยิง ซะงั้น!
มุมกล้องช็อตนี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะถ่ายจากอีกห้องเพื่อให้พบเห็นบานประตู และหน้าต่างอยู่ทางซ้ายมือ (คล้ายๆผลงานศิลปะของ Johannes Vermeer) ซึ่งสามารถสื่อถึงความเย่อหยิ่งทะนงตน ยึดถือมั่นในศีลธรรมของครอบครัว ปฏิเสธยินยอมรับ Marquise of O เพราะพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ เลยพยายามปิดประตูขับไล่ ไม่ต้องการให้เข้ามาในห้องทำงานแห่งนี้ (ที่ต้องถ่ายให้เห็นประตู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยก กีดกัน)

หลังจากมารดาตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับบุตรสาว เร่งรีบออกเดินทางมาบ้านต่างจังหวัด พยายามพูดกล่าวคำขอโทษ และถึงขนาดทรุดนั่งลงบนพื้น นี่เป็นสิ่งที่โดยปกติแล้วคงไม่มีใครทำกัน (ถ้าเทียบกับบ้านเราคงประมาณ มารดากราบเท้าบุตรสาว) เป็นภาษากายแฝงนัยยะถึงการยินยอมรับความผิดพลาด รู้สึกผิดต่อทุกสิ่งบังเกิดขึ้น!
จริงๆซีเควนซ์นี้มี ‘mise-en-scène’ ที่ดูเพลินมากๆ แต่ผมขอเลือกอธิบายเฉพาะช็อตนี้ที่ใช้ภาษากายแสดงความรู้สึกสำนึกผิดของมารดา ออกมาอย่างคาดไม่ถึง (ว่าจะกล้าทำแบบนี้)

ตรงกันข้ามกับฟากฝั่งบิดา แน่นอนว่าผกก. Rohmer ย่อมไม่สามารถทำให้ตัวละคร Colonel G. พูดกล่าวคำขอโทษ หรือลดตัวลงมาแทบเท้า เราจึงพบเห็นเพียงเอาผ้าปิดหน้า (น้ำตาก็ไม่ให้เห็น!) แล้วแอบไปโอบกอดจูบกันอย่างดูดดื่มด่ำยามค่ำคืน … สังคมยุคสมัยนั้น บุรุษจะลดตัวลงมาต่ำกว่าสตรีไม่ได้เป็นอันขาด!
(ใครเคยรับชมผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Rohmer ย่อมตระหนักว่าการแสดงออกภาษากายลักษณะนี้ ไม่ได้แปลว่าต้องเกิดอารมณ์ทางเพศเสมอไปนะครับ)
สังเกตว่าทั้งสองฉากที่ Marquise of O สามารถคืนดีกับมารดา-บิดา ยังมีความตรงกันข้ามอื่นอีก อาทิ เฉดสีฟ้า-ส้ม, กลางวัน-กลางคืน, พบเห็นแสงจากภายนอก-เชิงเทียนในคฤหาสถ์ ฯลฯ


วิหารแห่งนี้คือ Die Kirche Mariä Himmelfahrt ตั้งอยู่ยัง Sondernohe เมืองทางตอนใต้ของ Germany (คนละสถานที่กับ Obernzenn, Middle Franconia) โบสถ์หลังเดิมก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1408 ก่อนได้รับการปรับปรุงเป็นวิหารอัสสัมชัญ (Assumption of Mary) เมื่อปี ค.ศ. 1779 และมีการวาดภาพ Holy Trinity โดย Anton Winterstein เมื่อปี ค.ศ. 1792

ตัดต่อโดย Cécile Decugis อีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave โด่งดังจาก Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Éric Rohmer ตั้งแต่ My Night at Maud’s (1969), Claire’s Knee (1970), Love in the Afternoon (1972) ฯลฯ
หนังเริ่มต้นด้วยลักษณะของ ‘frame story’ หรือ ‘story within story’ ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ผู้ดีชาวเยอรมันกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Marquise of O ลงประกาศติดตามหาชายที่ทำเธอตั้งครรภ์ … อารัมบทลักษณะนี้จะทำให้ผู้ชมเกิดข้อฉงนสงสัย มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร ชักชวนให้ครุ่นคิดค้นหาข้อเท็จจริง
เกร็ด: ต้นฉบับเรื่องสั้นของ Heinrich von Kleist สองบรรทัดแรกจะมีเพียงข้อความที่ใช้ประกาศลงบนหน้าหนังสือพิมพ์! แล้วเข้าสู่เรื่องราวของ Marquise of O โดยทันที
เรื่องราวหลักของหนังนำเสนอผ่านมุมมองของ Marquise of O ตั้งแต่ค่ำคืนบุกรุกรานจากทหารรัสเซีย ระหว่างกำลังถูกฉุดกระชาก ได้รับความช่วยเหลือจาก Count F. ซึ่งพอสงครามผ่านพ้น เขาหวนกลับมาสู่ขอแต่งงาน ขณะที่บิดาพยายามหาหนทางยื้อยัก เธอก็ตระหนักว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ เรื่องวุ่นๆทั้งหลายจึงบังเกิดขึ้น!
- อารัมบท, ประกาศหนังสือพิมพ์ของ Marquise of O
- การมาถึงของสงคราม
- Marquise of O กำลังถูกฉุดกระชาก ได้รับความช่วยเหลือจาก Count F.
- ระหว่างพักรักษาตัวจากภาวะผวา (Shell Shock) โดยไม่รู้ตัวถูกข่มขืนแล้วตั้งครรภ์
- Marquise of O ต้องการกล่าวขอบคุณ Count F. แต่กองทัพรัสเซียได้จากไปแล้ว และต่อมารับทราบข่าวว่าเขาถูกแทงเสียชีวิต
- การฟื้นคืนชีพ/หวนกลับมาของ Count F.
- วันหนึ่ง Count F. ก็หวนกลับมาสู่ขอแต่งงาน Marquise of O แต่ถูกบิดาของเธอพยายามหาหนทางยื้อยัก ชักแม่น้ำทั้งห้า ไม่ต้องการให้มันเร่งรีบ ขัดต่อขนบประเพณี
- หลังจากสามารถโน้มน้าว Count F. เดินกลับไปเตรียมความพร้อมให้ตนเอง, Marquise of O ก็ตระหนักว่ากำลังตั้งครรภ์ เลยถูกครอบครัวขับไล่ ผลักไส ไม่ยินยอมรับฟังความบริสุทธิ์ใจ เธอจึงพาลูกเต้าย้ายออกไปบ้านต่างจังหวัด
- Marquise of O ลงประกาศบนหน้าหนังสือพิมพ์
- เมื่อ Count F. เดินทางกลับมา ยังคงยืนกรานอยากแต่งงานกับ Marquise of O แต่เธอกลับดื้อดึงดัน
- Marquise of O ลงประกาศหาชายที่ทำตนเองตั้งครรภ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วได้รับคำตอบกลับจะมาพบเจอในวันเวลาดังกล่าว
- Marquise of O สามารถปรับความเข้าใจกับครอบครัว หวนกลับมาที่บ้านอีกครั้ง
- และ Count F. ก็เปิดเผยความจริงทั้งหมดแก่ Marquise of O
ทุกๆเรื่องราวของหนังจะมีการ Fade-in และ Fade-out เพื่อบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านหนังสือทีละบท ทีละตอน (บางครั้งจะข้อความปรากฎขึ้น จะมองว่าเป็นชื่อตอนก็ยังได้) แต่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ชอบเทคนิคนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันทำให้ขาดความต่อเนื่องลื่นไหล ดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ … แต่นี่คือวิธีการที่ผกก. Rohmer พยายามแปลรายละเอียดจากต้นฉบับเรื่องสั้น ให้กลายมาเป็นสื่อภาพยนตร์อย่างตรงไปตรงมาที่สุด!
ในต้นฉบับเรื่องสั้น จะไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ข่มขืน ผู้อ่านก็ไม่สามารถครุ่นคิดคาดเดาจนกระทั่งเฉลยตอนจบ แต่ภาพยนตร์จะมีการบอกใบ้ฉากนั้นอย่างชัดเจน ทำให้ขาดความลึกลับ ไม่ได้ต้องลุ้นระทึกอะไร ซึ่งผมมองว่าผกก. Rohmer ต้องการให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับความตลกร้าย (Dark Comedy) มากกว่าจะมัวขบครุ่นคิด เสียเวลาค้นหาว่าคือชายคนนั้นใคร … กล่าวคือ เพราะรับรู้อยู่แล้วว่าคือใครทำ Marquise of O ตั้งครรภ์ ผู้ชมจึงสามารถสังเกตพฤติกรรม เข้าใจเหตุผลการแสดงออกอย่างเร่งรีบร้อนรนของ Count F. ได้อย่างน่าขบขัน
Marquise of O… หญิงหม้ายผู้เคราะห์ร้าย สูญเสียสามี ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ ครอบครัวไม่ให้การยอมรับ สังคมมองเป็นเรื่องตลกขบขัน นั่นเพราะยุคสมัยนั้น ‘ชายเป็นใหญ่’ จึงสร้างกฎกรอบ ขนบประเพณี ข้ออ้างทางศีลธรรม เพื่อใช้ควบคุมครอบงำ กดขี่ข่มเหงสตรีเพศให้ศิโรราบอยู่ภายใต้
ผมครุ่นคิดว่า Heinrich von Kleist เขียนเรื่องสั้นนี้ไม่ได้ต้องการให้เป็น (Dark) Comedy แต่คือ Tragedy เพื่อสะท้อนความหมกมุ่นยึดติดต่อกฎกรอบ ขนบประเพณี ข้ออ้างทางศีลธรรม ซึ่งคงนำจากประสบการณ์ส่วนตัวที่สืบเชื้อสาย House of Kleist ทำให้ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง พี่น้องฝ่ายหญิงยิ่งแล้วใหญ่ ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เสรีภาพในการแสดงออก เป็นเพียงวัตถุทางเพศของบุรุษ นั่นคือเหตุผลที่พอเขาเติบโต เรียนจบ ตัดสินใจออกจากบ้าน ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยววงศ์ตระกูลสักเท่าไหร่
กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านมาจนถึง Mai ’68 ปีแห่งการปฏิวัติทางสังคมของฝรั่งเศส เมื่อหญิงสาวไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบ ขนบประเพณี ข้ออ้างทางศีลธรรมอีกต่อไป! ผกก. Rohmer สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการให้เป็น Tragedy แต่คือ (Dark) Comedy เมื่อมองผ่านมุมมองผู้ชมสมัยใหม่ เรื่องราวของ Marquise of O มันช่วงชวนหัว ตลกร้าย … แต่บางคนอาจขำไม่ออกสักเท่าไหร่
- Marquise of O ไม่ต้องการแต่งงานใหม่ เพราะยึดถือคำสัตย์สาบานเคยให้ไว้เมื่อตอนแต่งงาน (ชาวคาทอลิกที่เคร่งครัด แม้คนรักตายจากไปก็มักปฏิเสธแต่งงานใหม่)
- แม้ว่า Marquise of O จะแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อครอบครัวรับรู้ว่าเธอตั้งครรภ์ แสดงปฏิกิริยาโกรธ รังเกียจ ขับไล่ผลักไส ไม่สามารถยินยอมรับพฤติกรรมสำส่อน ขัดแย้งต่อขนบประเพณี หลักศีลธรรมอันดีงาม
- ใครต่อใครเมื่อพบเห็นประกาศบนหน้าหนังสือพิมพ์ ต่างหัวเราะขบขัน ทำให้วงศ์ตระกูลสูญเสียชื่อเสียง หน้าตาในสังคม
‘มนุษย์ทุกคนล้วนมีดี-ชั่วในตัวเอง’ ภาพภายนอกของ Count F. ที่ใครต่อใครรวมถึง Marquise of O เคยยกย่องว่าคือวีรบุรุษหาญกล้า แท้จริงแล้วอาจคือบุคคลฉกฉวยโอกาส “wolf in sheep’s clothing” คนไม่ดีที่แสร้งทำเป็นดี ปีศาจร้ายที่มิอาจควบคุมตนเอง ร่วมรักหลับนอน/ข่มขืนกระทำชำเรา
Count F. รับรู้ว่าการกระทำของตนเองเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่ด้วยวิทยฐานะ/บรรดาศักดิ์ค้ำคอ จึงพยายามไถ่โทษด้วยการเร่งรีบสู่ขอแต่งงาน โดยไม่สนคำตีตราว่าร้ายผู้ใด (ก็เพราะตนเองนะแหละคือต้นสาเหตุปัญหา) แต่ Marquise of O กลับยื้อยักเล่นตัว ทำให้เขาจำต้องเปิดเผยความจริง พร้อมรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างที่บังเกิดขึ้น
ผมครุ่นคิดว่าสิ่งที่ผกก. Rohmer ต้องการเสี้ยมสอนผู้ชมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการจะก้าวข้ามสิ่งเลวร้ายจากอดีต (Count F. ข่มขืน Marquise of O) เราต้องรู้จักเผชิญหน้าความจริง ยินยอมรับความผิดพลาด (แม้ว่า Count F. จะพยายามเร่งรีบสู่ขอแต่งงานเพื่อปกปิดการกระทำดังกล่าว แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จำต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด) ถึงสามารถเริ่มต้นใหม่ มีอนาคตที่สดใส
หรือคือ … วิถีทางสังคมอันเลวร้ายจากอดีต ก่อนการมาถึง Mai ’68 เราสามารถศึกษาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ไว้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต คนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม ประธานกรรมการปีนั้น Tennessee Williams มอบรางวัล Grand Prix (ที่สอง) เคียงข้างกับ Cría cuervos (1976) [รางวัล Palme d’Or ปีนั้นตกเป็นของ Taxi Driver (1976)] แต่น่าเสียดายที่ทุนสร้างสูบลิบลิ่ว กลับมียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียงแสนกว่าใบเท่านั้น (135,077 ใบ)
เพราะหนังร่วมทุนสร้างฝรั่งเศส-เยอรมัน เลยได้เข้าชิง German Film Award จำนวน 4 สาขา คว้ามาถึง 3 รางวัล
- Best Actor (Bruno Ganz) ** คว้ารางวัล
- Best Actress (Edith Clever) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Edda Seippel)
- Best Production Design ** คว้ารางวัล
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 2K ไม่แน่ใจว่าหารับชมออนไลน์ได้เปล่า (ยังไม่มีใน Criterion) แต่พบเห็นแผ่น Blu-Ray ของค่าย Film Movement, DigiPack และรวมแพ็กเก็จของ Arrow ตั้งชื่อว่า The Éric Rohmer Collection มีทั้งหมดสิบเรื่องที่สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1976-93
แม้วิธีการดำเนินเรื่องของหนังอาจสร้างปัญหาให้ใครหลายคน แต่ถ้าสามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจเหตุผลของการนำเสนอ ก็อาจค้นพบความงดงามที่ซุกซ่อนเร้น เหมือนดั่งคลื่นใต้น้ำที่เชี่ยวกราก สามารถสร้างความปั่นป่วนท้องไส้ ลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ เพลิดเพลินไปกับความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ โปรดักชั่นงานสร้าง ภาพถ่ายสวยๆ และภาษาเยอรมันที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่จักสัมผัสถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชนชั้นสูง
(The Marquise of O… เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมตระหนักถึงสำเนียงภาษาเยอรมัน ฟังดูเย่อหยิ่ง ทะนงตน และทรงพลัง นั่นอาจคือเหตุผลที่อุปรากรของชนชั้นสูงนิยมเลือกใช้ภาษาเยอรมัน)
แนะนำคอหนัง Period Drama ช่วงศตวรรษที่ 19th, ช่างภาพ ตากล้อง จิตรกร ชื่นชอบงานศิลปะ, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ เสื้อผ้าหน้าผม โปรดักชั่นงานสร้าง, และใครเคยอ่านวรรณกรรมของ Heinrich von Kleist ลองหามารับชมดูนะครับ
จัดเรต 15+ กับคลื่นใต้น้ำที่เชี่ยวกราก อารมณ์ปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง
Leave a Reply