Die Puppe (1919) : Ernst Lubitsch ♥♥♥♡
เรื่องราวโรแมนติก แฟนตาซี ชวนหัว ที่มีกลิ่นอาย ‘Lubitsch’s Touch’ อยู่เล็กๆ, ชายหนุ่มทายาทมหาเศรษฐีพยายามหลบหนีการแต่งงาน ถูกเสี้ยมสอนจากคณะบาทหลวงให้สมรสกับหุ่น (Die Puppe) สร้างโดยนักประดิษฐ์ชื่อดังที่ผลงานมีความสมจริงอย่างมาก แต่ด้วยความจับพลัดจับพลูบางอย่าง หุ่นสาวตนนั้นกลับดันมีชีวิตขึ้นมา!
เมื่อพูดถึงยุคทองแห่งวงการภาพยนตร์เยอรมัน ‘Golden Age of German Cinema’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึง ‘German Expressionism’ ในช่วงยุคสมัยหนังเงียบ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่น กลายเป็นอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ไปทั่วทุกมุมโลก กลบเกลื่อนผลงานเรื่องอื่นๆ(ของเยอรมัน)ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นแทบหมดสิ้น
หนึ่งในนั้นคือผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch (ก่อนอพยพย้ายสู่ Hollywood เมื่อปี 1922) ที่กำลังได้รับการพัฒนาขึ้นจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรียกว่า ‘Lubitsch’s Touch’ อาทิ Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919), Madame DuBarry (1919), Die Bergkatze (1921), Das Weib des Pharao (1921) ฯ
‘Lubitsch’s Touch’ ในยุคหนังเงียบจะมีความแตกต่างจากหนังพูดพอสมควร เพราะตัวละครไม่สามารถเอ่ยกล่าวคำพูดอันเฉียบคมคายออกมา (แต่ข้อความปรากฎบน Title Card ก็พอพบเห็นความสองแง่สองง่ามอยู่บ้าง) การขยับเคลื่อนกล้องยังมีข้อจำกัดอยู่มาก (ในยุคหนังพูด งานภาพในหนังของ Lubitsch จะมีความพริ้วมากๆ) แต่จิตวิญญาณในส่วนความล่อแหลม เรื่องต้องห้าม จิกกัดขนบวิถีสังคม นั่นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แล้วตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้
เอาจริงๆผลงานของ Lubitsch ไม่ได้มีสาระข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตแม้แต่น้อย (เรียกได้ว่าเนื้อเรื่องราวโคตรไร้สาระ!) แต่จัดเป็นความบันเทิงระดับสูง ที่สะท้อนความสนใจ(ของผู้กำกับ) ล้อเลียน เสียดสีสังคม หมกหมุ่นด้วยมุกเสื่อมๆ สองแง่สองง่าม มุ้งเน้นให้ผู้ชมรู้สึกพักผ่อนคลาย ระบายความอึดอัดอั้นที่อยู่ภายใน หัวเราะร่าออกมาโดยไม่ต้องอายใคร
Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish บิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้รับการคาดหวังให้สืบสานต่อกิจการ แต่กลับเลือกทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการแสดง เล่นเป็นตลกในสังกัด Max Reinhardt ณ Deutsches Theater ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนบท กำกับ และเข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Ideal Wife (1913)
สำหรับ Die Puppe หรือ The Doll ร่วมพัฒนาบทกับนักเขียนขาประจำ Hanns Kräly (1884 – 1950) ดัดแปลงจาก La poupée (1896) อุปรากรตลก (Opéra Comique) จำนวน 3 องก์ ประพันธ์โดย Edmond Audran (1840 – 1901) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ร่วมกับ Maurice Ordonneau (1854 – 1916) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Der Sandmann (1816) แต่งโดย E.T.A. Hoffmann (1776 – 1822) นักเขียนชื่อดังสัญชาติเยอรมัน [ผู้ประพันธ์ The Nutcracker and the Mouse King]
เกร็ด: Hanns Kräly เดินทางมา Hollywood ร่วมกับ Ernst Lubitsch และเคยคว้ารางวัล Oscar: Best Writing เรื่อง The Patriot (1928)
ในบรรดาผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Lubitsch มีความชื่นชอบโปรดปราน Die Puppe (1919) เป็นอย่างมาก ให้คำนิยามหนังว่า
“pure fantasy; most of the backdrops were only made of cardboard, some even made of paper. To this day I consider this film to be one of the most imaginative that I have ever made”.
Ernst Lubitsch
เรื่องราวของ Lancelot (รับบทโดย Hermann Thimig) ถูกลุง Baron of Chanterelle (รับบทโดย Max Kronert) บีบบังคับให้แต่งงานเพื่อมีทายาทสืบวงศ์สกุล แต่เจ้าตัวตอบปฏิเสธเสียงขันแข็ง หลบหนีไปพึ่งใบบุญบาทหลวงในโบสถ์แห่งหนึ่ง วันหนึ่งหลวงพ่อพบเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์เรียกร้องขอให้ชายหนุ่มกลับบ้านไปแต่งงานแล้วจะมอบค่าตอบแทน $300,000 เหรียญ จึงครุ่นคิดวางแผนเพื่อฮุบสมบัติดังกล่าว โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลาให้เข้าพิธีสมรสกับหุ่นสาวซึ่งสร้างโดยนักประดิษฐ์ชื่อดัง Hilarius (รับบทโดย Victor Janson) ซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก โดยมีบุตรสาว Ossi (รับบทโดย Ossi Oswalda) เป็นตัวแบบอย่างให้หุ่นตัวดังกล่าว สามารถขยับเคลื่อนไหวไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป
Hermann Thimig (1890 – 1982) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna ในครอบครัวนักแสดง ได้รับการฝึกหัดเล่นละครเวทีตั้งแต่เด็ก กระทั่งแจ้งเกิดกับ Meiningen Court Theatre เมื่อปี 1910 เข้าตา Mex Reinhardt จึงมีโอกาสแสดงยัง Deutsches Theater, ภาพยนตร์เรื่องแรก Die Gräfin Heyers (1916) ผลงานเด่นๆ อาทิ Die Puppe (1919), Die Bergkatze (1921), L’Opéra de quat’sous (1931) ฯ
รับบท Lancelot ทายาทมหาเศรษฐีแต่กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับชื่อ ขี้ขลาดตาขาว ปฏิเสธการเผชิญหน้า พยายามหลบหนีการแต่งงาน หลงเชื่อคารมคนง่าย ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดสักเท่าไหร่ แต่โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้ได้ตกหลุมรักหุ่นสาว และฝันเป็นจริงเมื่อเธอกลายมาเป็นผู้หญิงมีชีวิตและจิตวิญญาณ
ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงออกทางสีหน้า ‘Expression’ อย่างตรงไปตรงมาของตัวละครนี้มากๆทีเดียว แรกเริ่มตั้งแต่ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน ทำหน้าเหยเกจะร้องไห้ (ไม่ได้มีความเป็นลูกผู้ชายสมชื่ออัศวิน Lancelot เลยสักนิด!) ขณะที่ไฮไลท์คือตอนทำหน้าเอ๋อเหรอ ป้ำๆเป๋อๆ หุ่นสาวตนนี้ทำไมชอบแสดงออกเหนือความคาดหมายตนเองนัก ก็ไม่รู้จะสมเพศหรือเห็นใจ หมอนี่ช่างโง่งมเสียประไร เมื่อไหร่จะครุ่นคิดตระหนักได้ เสียดายของเป็นอย่างยิ่ง!
Ossi Oswalda ชื่อจริง Oswalda Amalie Anna Stäglich (1897 – 1947) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เจ้าของฉายา ‘German Mary Pickford’ เกิดที่ Niederschönhausen, German Empire ตั้งแต่เด็กฝึกหัดเป็นนักบัลเล่ต์ แล้วกลายเป็นนักเต้นละครเพลง ภาพยนตร์เรื่องแรก Nächte des Grauens (1916) เข้าตานักเขียน Hanns Kräly แนะนำเธอให้ผู้กำกับ Ernst Lubitsch กลายเป็นขาประจำในช่วงแรกๆ อาทิ Ich möchte kein Mann sein (1918), Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919) ฯ
รับบท Ossi (และ Die Puppe/The Doll) บุตรสาวของนักประดิษฐ์ชื่อดัง Hilarius เป็นนางแบบให้ผลงานชิ้นเอกของบิดา แต่เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อหุ่นตนนั้นตกพื้นแตกกระจาย เธอเลยปลอมตัวกลายเป็นหุ่นแทน และถูกจับพลัดจับพลูให้แต่งงานกับ Lancelot แรกๆแม้ไม่ยินยอม แต่สุดท้ายก็ปล่อยตัวปล่อยใจ
ด้วยเรือนร่างเล็ก ไว้ผมม้วนหยักศก นิสัยขี้เล่นซุกซน ร่าเริงเหมือนเด็กน้อย นั่นคือสิ่งทำให้ Oscalda แลดูเหมือน Mary Pickford อยู่เล็กๆ ซึ่งเหมือนเป็นความจงใจของผู้กำกับ Lubitsch เพื่อให้ผู้ชมตกหลุมรักตัวละคร เกิดความเห็นอกเห็นใจ เป็นกำลังใจ และลุ้นระทึก รอคอยให้เธอทำอะไรบางอย่างเพื่อลวงหลอก ตบตา จบเรื่องราวจับพลัดจับพลูแบบ Happy Ending
Oswalda เคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเองมีความรู้สึกบางอย่างกับผู้กำกับ Lubitsch แต่เขากลับไม่เคยคิดจริงจัง เลยมิอาจสานความสัมพันธ์ใดๆให้มากเกินไปกว่าเพื่อนร่วมงาน
ถ่ายภาพโดย Theodor Sparkuhl (1894 – 1946) สัญชาติ German ขาประจำช่วงแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch จากนั้นไปแจ้งเกิดโด่งดังที่ฝรั่งเศส และเซ็นสัญญา Paramount Pictures มุ่งสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1931 ผลงานเด่นๆ อาทิ La Chienne (1931), Beau Geste (1939), The Glass Key (1942) ฯ
ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ทำให้งานภาพของหนังเพียงตั้งกล้องทิ้งไว้ กำหนดระยะ ทิศทาง มุมกล้อง แล้วให้เหตุการณ์ดำเนินไปในขอบเขตที่กำหนด แต่เนื่องด้วยเรื่องราวเป็นแนวแฟนตาซี ผู้กำกับ Lubitsch จึงได้ร่วมงานกับนักออกแบบ Kurt Richter เพื่อสรรค์สร้างฉาก พื้นหลัง พอมีกลิ่นอายของ German Expressionism อยู่เล็กๆ (แต่หนังเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็น Expressionism นะครับ)
แรกเริ่มต้น ผู้กำกับ Lubitsch (ตัวจริงๆเลยนะครับ) ทำการก่อสร้างบ้านตุ๊กตา สามารถเทียบแทนได้ถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์(เรื่องนี้) ทำสิ่งไม่มีชีวิตให้กลายมามีจิตวิญญาณ ขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง
ฉากเจ้าสาวไล่ล่าเจ้าบ่าว ชวนให้ผมระลึกนึกถึง Seven Chances (1925) ของ Buster Keaton แต่ความตื่นเต้นลุ้นระทึกกลับเทียบกันไม่ได้สักนิด นั่นเพราะการที่กล้องตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ปล่อยให้ตัวละครวิ่งสลับฟันปลาไปมา มันเป็นข้อจำกัดการถ่ายภาพยุคสมัยนั้น แต่ให้มองว่าลักษณะของหนังเหมือนสมุดภาพเคลื่อนไหว เพลิดเพลินไปกับ Comedy ที่ผู้ชมสมัยนั้นคงต่างฮาตกเก้าอี้เป็นทิวแถว
หนังมีการเสียดสีล้อเลียนคริสตจักรได้อย่างโฉดชั่วร้ายมากๆ สังเกตว่าบาทหลวงทุกคนมีรูปลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ ปากอ้างว่างไม่ค่อยมีเงินกลับรับประทานอาหารปริมาณมากเกินพอดี (แถมแบ่งปันให้ Lancelot เพียงน้อยนิด) และตอนที่พบเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ แสดงออกด้วยความละโมบโลภมากขึ้นมาโดยทันที ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสะท้อนนิสัยบริโภคนิยม บุคคลเหล่านี้เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน สนเพียงผลประโยชน์อิ่มหนำส่วนบุคคลเท่านั้น
แซว: ลองสังเกตประตูทางเข้าโบสถ์ มีรูปทรงเรียวแหลมสูง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของ German Expressionism แสดงถึงความคอรัปชั่น โฉดชั่วร้าย ของบุคคลผู้อาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้
Lubitsch’s Touch ในยุคหนังเงียบจะมีลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากหนังพูด นั่นคือความพร้อมเพรียงของกลุ่มนักแสดงตัวประกอบ โดยเฉพาะในฉากตุ๊กตาเต้นรำ แม้มิได้งดงามถึงขั้นกล้องสลับลาย (kaleidoscope) แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจ ตลกขบขันให้ผู้ชมเล็กๆ
เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกต ม้าสองตัวที่ลากจูงดูยังไงก็ไม่เหมือนม้า น่าจะเป็นตัวประกอบสวมผ้าคลุม คาดว่าคงจะล้อเลียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแรงงานมนุษย์
หลังจากพานพบเจอเรื่องเหนือความคาดหมายมากมาย ทำให้ Lancelot เพ้อใฝ่ฝันอยากให้หุ่นตนนี้นั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ซึ่งการซ้อนภาพหญิงสาวนั่งอยู่ตรงหน้าต่าง และ Ossi ตัวเป็นๆกำลังย่องเข้ามาหาด้านข้างซ้าย อาจเรียกช่วงเวลาขณะนี้ว่า ความจริงและความฝันได้ซ้อนทับกัน!
ลูกโป่งลอยฟ้า หลายคนอาจนึกถึงอนิเมชั่น Up (2010) แต่ผมนึกถึง Le Ballon Rouge (1956) ที่ผู้กำกับ Albert Lamorisse สามารถล่องลอยขึ้นฟ้าด้วยลูกโป่งจริงๆ (ห้อยจากเฮลิคอปเตอร์ก็ตามเถอะ)
เมื่อครุ่นคิดถึงข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จะพบว่าฉากนี้ไม่ได้ใช้เทคนิคน่าตื่นตาตื่นใจอะไรเลยนะครับ แค่ให้นักแสดงห้อยต่องแต่งบนเชือก(และลูกโป่ง) แล้วท้องฟ้าพื้นหลังใช้การวาดภาพบนกระดาษผืนแผ่นใหญ่ที่สามารถม้วนหมุนขณะถ่ายทำ เพียงเท่านี้ก็มอบสัมผัสตัวละครกำลังลอยละล่องขึ้นท้องฟ้า
ผมมองนัยยะของฉากนี้คือ จินตนาการอันล่องลอยของ Hilarius นี่รวมไปถึงการนอนละเมอเพ้อฝันยามค่ำคืน (เป็นตัวละครที่ครุ่นคิดมากจนผมหงอก เก็บเอาไปฝัน จินตนาการไปไกล) ซึ่งวินาทีที่ลูกโป่งแตกหมด ตกลงพื้น ทำให้ลงมาเผชิญหน้าโลกความจริง มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอลูกสาว ซึ่งได้แต่งงานกับชายผู้มาซื้อตุ๊กตาคนนั้น
Der Puppe, หุ่น คือสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นตามความครุ่นคิดจินตนาการ ไม่ว่าจะรูปลักษณะหน้าตา อากัปกิริยาขยับเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ความครุ่นคิดแสดงออก ล้วนเป็นไปตามคำสั่งที่ผู้สร้างกำหนดไว้
มนุษย์ แตกต่างจากหุ่นไม่ใช่เพราะความสามารถในการเรียนรู้ ครุ่นคิด หรือสติปัญญา (ก็ดูอย่าง Alpha Go สามารถเอาชนะผู้เล่นโกะมืออาชีพได้สบายๆ) แต่คือ ‘จิตวิญญาณ’ สามัญสำนึกทางมโนธรรม ศีลธรรม ทำให้การตัดสินใจเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผิดกับหุ่นซึ่งทุกการกระทำล้วนเป็นไปตามโปรแกรม วัตถุประสงค์ของผู้สร้าง
ยุคสมัยนี้ใครๆย่อมสามารถครุ่นคิดได้ว่า มนุษย์แตกต่างจากหุ่น แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ?
- Baron of Chanterelle พยายามบีบบังคับให้ Lancelot ทำตามคำร้องขอ แต่งงาน มีทายาทสืบวงศ์สกุล
- บาทหลวงสนเพียงเงินทอง สุขสบายอิ่มท้อง พยายามเสี้ยมสั่งสอน ชี้แนะนำให้ Lancelot ยินยอมแต่งงาน
- Hilarius สรรค์สร้างหุ่นที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามคำสั่ง เหมือนมนุษย์ตัวเป็นๆ
ขณะที่หญิงสาว Ossi ปลอมตัวเป็นหุ่น (รูปธรรม) ขยับเคลื่อนไหวร่างกายตามคำสั่ง, Lancelot ราวกับหุ่นที่ถูกเชิดชักใยโดยลุง/บาทหลวง (นามธรรม) พยายามควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอนสั่ง ให้กระทำในสิ่งสนองผลประโยชน์ตนเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นดั่งหุ่นที่ผู้กำกับ Ernst Lubitsch สรรค์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความครุ่นคิด จินตนาการ ต้องการส่วนตน ให้ผู้ชมเกิดความบันเทิงรมณ์ หัวเราะขบขัน เสียดสีข้อเท็จจริงหลายๆอย่างในชีวิตประจำวัน
ลองถามตัวคุณเองดูว่า ฉันกำลังเป็นหุ่นของใครอยู่หรือเปล่า? ไม่ใช่ในเชิงรูปธรรมนะครับ ผมตั้งคำถามถึงในเชิงนามธรรม เคยถูกพ่อ-แม่ พี่-น้อง ครูอาจารย์ หัวหน้า หรือใครสักคนควบคุมครอบงำความคิด/การกระทำของเราเองบ้างหรือเปล่า?
ผมไม่เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยนะครับ! แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า คุณจะสมยินยอมรับที่จะกระทำสิ่งนั้นอย่างเต็มใจ หรือเต็มไปด้วยขัดย้อนแย้งความต้องการหรือเปล่า? ถ้าเป็นแบบหลังนั่นคือการกดขี่ บีบบังคับ ใช้กำลังด้วยยิ่งแล้วใหญ่ นั่นไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่ยังสามัญสำนึกความเป็นคน มีเพียงหนทางออกเดียวเท่านั้นคือลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้อง อารยะขัดขืน และที่สุดคือการปฏิวัติ
แน่นอนว่าหนังถูกต่อต้านจากคริสตจักรอย่างรุนแรง ถึงขนาดตีตรา ‘disgrace’ และบอกว่าคือจุดตกต่ำของวงการภาพยนตร์
“The plot of this work, which proves the low point of our contemporary cinema with a sad example, is nothing more than an outrageous mockery of the Catholic religious life”.
แม้หนังจะยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบในสไตล์ ‘Lubitsch’s Touch’ แต่ถือเป็นความบันเทิงระดับสูงที่โคตรล่อแหลม ส่อเสียด ลับคมศักยภาพในการครุ่นคิดสองแง่สองงาม ซึ่งสิ่งทำให้ผมหัวเราะตกเก้าอี้ของหนังคือ
“Familiarize yourself with the mechanism. Always dust her well don’t forget to oil her every two weeks”.
ลองสลับสับเปลี่ยนจากหุ่นยนต์กลไกเป็นมนุษย์ดูสิครับ เผื่อจะเข้าใจคำว่า ‘หยอดน้ำมัน’ คือการที่ชาย-หญิงกระทำอะไรกัน?
จัดเรต PG กับมุกเสื่อมๆ ล่อแหลม ส่อเสียด เด็กๆอาจครุ่นคิดไม่เข้าใจ แต่มันสามารถปลูกฝังอะไรบางอย่างโดยไม่รู้ตัว
Leave a Reply