Veronika Voss (1982) German : Rainer Werner Fassbinder ♥♥♥♥

อดีตดาราดัง Veronika Voss กำลังถูกหลงลืม ค่อยๆสูญเสียตนเอง ได้รับการลวงล่อหลอกโดยจิตแพทย์ให้เสพติดมอร์ฟีน หวังกอบโกยทุกสิ่งอย่างหลังเธอเสียชีวิต, ภาคสุดท้ายของ BRD Trilogy นี่คือ Sunset Boulevard (1950) ฉบับสะท้อนการล่มสลายของประเทศเยอรมัน และจุดจบของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder

Fassbinder’s opiated take on Sunset Boulevard, Veronika Voss makes Billy Wilder’s movie look like a children’s special. Voss’s drug overdose/suicide eerily foreshadows Fassbinder’s own later that same year infusing deep tragedy and new meaning to the term ‘a film about film’.

Ashim Ahluwalia

ผมคงไม่ถึงขั้นแสดงความเห็นว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่ากัน ต่างมีไดเรคชั่นที่โดดเด่น แตกต่าง เอกลักษณ์เฉพาะตัว ขณะที่ Sunset Boulevard (1950) มอบสัมผัสล่องลอยเหมือนฝัน กล่าวถึงวิถี Hollywood ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป, Veronika Voss (1982) จะมีความคลุ้มบ้าคลั่งในลักษณะ ‘เหนือจริง’ และสะท้อนประวัติศาสตร์เยอรมันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยไม่มีใครคาดคิดถึง จุดจบของ Veronika Voss (1982) คือสิ่งบังเกิดขึ้นจริงกับ Rainer Werner Fassbinder เพียงไม่กี่เดือนหลังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Golden Bear เสพโคเคนเกินขนาด ไม่รู้อุบัติเหตุหรือจงใจฆ่าตัวตาย จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 37 ปี หลงเหลือภาพยนตร์ 40 เรื่อง 2 ซีรีย์ 3 หนังสั้น และอีก 24 บทละคร

แวบแรกที่เห็นหนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ก็สร้างความประหลาดใจให้ผมอยู่เล็กๆ เพราะยุคสมัยนั้นถือว่าหมดกระแสนิยมไปแล้ว อีกทั้งค่าใช้จ่ายอาจแพงกว่าฟีล์มสีด้วยซ้ำนะ! แต่เหตุผลที่ผู้กำกับ Fassbinder ยืนกรานต้องถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเคารพคารวะ Sunset Boulevard (1950) ดาวดาราที่ใกล้ลาลับขอบฟ้า จะให้ระยิบระยับด้วยสีสันมันคงไม่ใช่แล้วละ


R. W. Fassbinder หรือ Rainer Werner Fassbinder (1945-82) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bad Wörishofen, Bavaria เพียงสามสัปดาห์หลังจากนาซี ประกาศยอมพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาเป็นแพทย์ที่มีความหลงใหลในการเขียนบทกวี ส่วนมารดาทำงานล่ามแปลภาษา (German <> English) ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุได้หกขวบ อาศัยอยู่กับแม่ที่มักส่งบุตรชายไปดูหนังเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงาน (และกุ๊กกิ๊กกับคนรักใหม่) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Fassbinder ชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ Jean-Luc Godard

ช่วงวัยรุ่นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แต่พยายามหลบหนีหลายครั้ง จนบิดาต้องพามาอาศัยอยู่ด้วยกัน กลางวันช่วยทำงานหาเงิน กลางคืนร่ำเรียนหนังสือ และค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทกวี ละคร เรื่องสั้น (จากอิทธิพลของบิดา), พออายุ 18 มุ่งหน้าสู่ Munich เข้าเรียนการแสดงยัง Fridl-Leonhard Studio ทำให้พบเจอว่าที่(นักแสดง)ขาประจำ Hanna Schygulla ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ บันทึกเสียง Sound Man เขียนบทละคร สร้างหนังสั้น เคยยืนใบสมัคร Berlin Film School แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, กระทั่งเมื่อปี 1967 มีโอกาสเข้าร่วม Munich Action-Theater ได้เป็นทั้งนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จากนั้นร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Aktion-Theater (แปลว่า Anti-Theater) สรรค์สร้างผลงานที่ผิดแผก แหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวงการละครเวที! กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Love Is Colder Than Death (1969) เป็นการทดลองแนว Avant-Garde ที่ได้รับเสียงโห่ไล่เมื่อฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Berlin แต่กลับมาคว้ารางวัล German Film Award ถึงสองสาขา

ในช่วงเวลา Avant-garde Period (1969–1971) ผู้กำกับ Fassbinder ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย French New Wave โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard สรรค์สร้างผลงานสิบกว่าเรื่องในระยะเวลา 2 ปีเศษๆ ด้วยไดเรคชั่นที่ไม่ประณีประณอมผู้ชม มีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ จึงมิอาจเข้าถึงบุคคลทั่วไป จนกระทั่งหลังเสร็จจาก Pioniere in Ingolstadt (1971) ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานสัมมนาที่ Münchner Stadtmuseum (Munich Film Archive) มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ของ Douglas Sirk อาทิ All That Heaven Allows (1955), Imitation of Life (1959) ฯลฯ บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางสรรค์สร้างผลงานของตนเองโดยทันที

ส่วนการเปลี่ยนผ่านจาก Melodrama Period (1971-76) สู่ช่วงเวลาโกอินเตอร์ International Period (1976–1982) จะไม่มีความแตกต่างในส่วนของเนื้อหาสาระ ประเด็นความสนใจ หรือไดเรคชั่นการกำกับ แต่ได้รับงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ร่วมทุนระดับนานาชาติ ทำให้สามารถขยายสเกลงานสร้าง และมีโอกาสเลือกนักแสดงที่เคยเพ้อใฝ่ฝันอยากพบเจอหน้าสักครั้ง

ช่วงระหว่างโปรดักชั่น Lola (1981) ผู้กำกับ Fassbinder ได้พูดคุยสองนักเขียน Peter Märthesheimer และ Pea Fröhlich ถึงโปรเจคถัดไป ต้องการสรรค์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับนักแสดงคนโปรด Sybille Schmitz เคยมีชื่อเสียงโด่งดังช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วกลายเป็นดาวดับหลังจากนั้น

I have a tender feeling toward her—I understand her in all the things she has done wrong. She has let herself be destroyed. Maybe that has something to do with me. You say to yourself, Okay, don’t let yourself be wrecked like that, but still, it could happen to me. There are people who are just waiting for me to collapse.

Rainer Werner Fassbinder

Sybille Maria Christina Schmitz (1909-55) นักแสดงสัญชาติ German Max ช่วงระหว่างร่ำเรียนการแสดงอยู่ยัง Deutsches Theater Berlin เคยหมั้นหมายกับ Max Reinhardt แต่ยังไม่ทันแต่งงานก็แยกทางกัน จากนั้นมีผลงานหนังเงียบ Überfall (1928), Diary of a Lost Girl (1929), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Vampyr (1932), โด่งดังมากๆในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กับบทบาทสวยสังหาร ‘femme fatales’ ข่าวลือว่าเคยมีความสัมพันธ์ลับๆกับ Joseph Goebbels แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดทั้งติดเหล้า ติดยา ป่วยโรคซึมเศร้า (เหมือนจะถูก Blacklist ด้วยกระมัง) เคยพยายามฆ่าตัวตายเลยต้องเข้ารักษาคลินิคจิตเวช ที่มีจิตแพทย์/แฟนสาว Dr. Ursula Moritz สั่งจ่ายมอร์ฟีนจนเสพติด แล้วเสียชีวิตจากรับประทานยานอนหลับเกินขนาด เมื่ออายุเพียง 45 ปี

เกร็ด: แม้ว่า Schmitz จะเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1955 แต่ผู้กำกับ Fassbinder หาได้รับรู้ข่าวคราวดังกล่าว เคยต้องการให้เธอรับบทมารดาเรื่อง The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ไม่แน่ใจเพราะการออกติดตามหาครั้งนั้นถึงค่อยรับรู้ความจริง หรือเพิ่งมาทราบสิ่งบังเกิดขึ้นเมื่อไม่นานก่อนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

Märthesheimer และ Fröhlich ใช้เวลาพัฒนาบทร่างแรก 6 สัปดาห์ ตั้งชื่อ Working Title ว่า Das Süsse Sterben แปลว่า Sweet Death แต่หลังจากมีการปรับแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติม ถึงเปลี่ยนมาใช้ Die Sehnsucht der Veronika Voss แปลว่า The Longing of Veronika Voss หรือเรียกชื่อย่อ Veronika Voss (1982)

เกร็ด: ผู้กำกับ Fassbinder ก็อยากใช้ชื่อหนัง Sybille Schmitz แต่คงติดปัญหาลิขสิทธิ์อย่างแน่นอนเลยต้องเปลี่ยนมาเป็น Veronika Voss


พื้นหลังปี 1955 ณ กรุง Munich, Robert Krohn (รับบทโดย Hilmar Thate) นักข่าวกีฬา วันหนึ่งระหว่างเดินทางกลับอพาร์ทเม้นท์ ขึ้นรถราง U-Bahn พบเจอกับอดีตนักแสดงสาวชื่อดัง Veronika Voss (รับบทโดย Rosel Zech) สภาพของเธอดูรุกรี้รุกรน เหมือนกำลังหลบหนีใครบางคน เลยเข้าไปให้ความช่วยเหลือ สานสัมพันธ์ โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักกันและกัน

จากนั้นเรื่องราวชีวิตของ Veronika Voss ก็ค่อยๆประจักษ์ต่อ Krohn เธออาศัยอยู่ในคลินิคจิตเวชของ Dr. Marianne Katz (รับบทโดย Annemarie Düringer) เสพติดมอร์ฟีน เลิกรากับสามีนักเขียนบท สูญเสียความสามารถด้านการแสดง ระหว่างที่เขาพยายามหาหนทางช่วยเหลือเธอ (ออกมาจากคลินิคแห่งนั้น) แฟนสาว Henriette (รับบทโดย Cornelia Froboess) ถูกฆ่าปิดปาก และการเสียชีวิตของ Voss ก็ทำให้เขาสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง


Rosalie Helga Lina Zech (1940-2011) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin แล้วไปเติบโตที่ Hoya หลังเรียนจบมัธยมเข้าศึกษาการแสดงยัง Max Reinhardt School for Acting จากนั้นได้เข้าร่วมคณะละครเวที Southeast Bavarian Municipal Theater (ปัจจุบันคือ Landestheater Niederbayern), ติดตามด้วยภาพยนตร์โทรทัศน์ The Tenderness of Wolves (1973) แม้เพียงบทบาทเล็กๆแต่มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ชักชวนมาร่วมงานอยู่หลายครั้ง อาทิ Lola (1981), Veronika Voss (1982) ฯ

รับบท Veronika Voss อดีตเคยเป็นนักแสดงที่มีความเจิดจรัส เป็นที่รู้จัก ชื่อเสียงโด่งดัง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองชีวิตเธอก็ค่อยๆตกต่ำ เลิกราสามี ติดเหล้า ติดยา ถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตายหลายครั้ง แล้วพอรักษาตัวในคลินิคจิตเวช ยังถูกจิตแพทย์ให้มอร์ฟีนจนเสพติด กลายเป็นคนรุกรุกรี้รน กระวนกระวาย ไม่สามารถควบคุมตนเอง หวาดระแวงใครต่อใครไปทั่ว จนกระทั่งจับพลัดจับพลูพบเจอชายแปลกหน้า Robert Krohn ให้ความช่วยเหลือเพียงกางร่มในค่ำคืนฝนตกหนัก เกิดความประทับใจเพราะเขาไม่ได้คาดหวังสิ่งตอบแทนอะไร

Voss พยายามสร้างภาพให้ตนเองดูดีในสายตาของ Krohn แต่มันกลับยิ่งเปิดเผยความผิดปกติที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน จุดประสงค์แท้จริงคงแค่ต้องการเพื่อน ใครบางคนสามารถพึ่งพักพิง กลับถูกกีดกันโดย Dr. Marianne Katz ใช้มอร์ฟีนคือสิ่งหลอกล่อ ไม่ได้เสพแล้วจะขาดใจตาย สุดท้ายเมื่อไม่หลงเหลืออะไร หลังงานเลี้ยงอำลาก็พร้อมแล้วที่จะจากโลกนี้ไป

ความตั้งใจแรกของผู้กำกับ Fassbinder อยากได้อีกนักแสดงขาประจำ Margit Carstensen ให้มารับบท Veronika Voss ซึ่งถ้าใครเคยรับชม The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ก็น่าจะตระหนักถึงความสามารถอันโดดเด่นในบทบาทลักษณะนี้ (Self-Destruction) แต่ไม่รู้เพราะคิวงานหรืออะไร ส้มหล่นใส่ Rosel Zech กลายเป็นผลงานได้รับการจดจำสูงสุดของเธอโดยปริยาย

ขณะที่ Carstensen เป็นนักแสดงที่สามารถใช้ทั้งเรือนร่างกายถ่ายทอดความอ่อนแอ สภาพหมดสิ้นหวัง (เป็นคนที่ใช้ body acting ได้อย่าง sexy มากๆ), Zech มีใบหน้าที่ดูซูบซีด เปราะบาง เหมือนแก้วกระจก กระทบกระทั่งนิดหน่อยก็แตกละเอียด พังทลาย … นี่คือความแตกต่างทางกายภาพที่ผมรู้สึกว่าการได้ Zech เป็นความโชคดีอย่างคาดไม่ถึง เป็นภาพลักษณ์(อาจ)เหมาะสมกว่า Carstensen เสียอีกนะ

ส่วนด้านการแสดงนั้นพูดยากสักหน่อย เพราะอาการวอกแวก รุกรี้รุรน ผู้ชมสังเกตได้ไม่ยากว่าเธอมีอาการเหมือนคนลงแดง เมา(ยา)ค้าง บางครั้งดู Over-Acting ดัดจริตเกินไปด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองจากบริบทรอบข้างที่อะไรๆต่างเว่อวังอลังการ แสงสะท้อนระยิบระยับ มอบสัมผัส ‘เหนือจริง’ (surreal) การแสดงของ Zech จึงสามารถกลืนเข้ากันหนังได้อย่างกลมกล่อม

มันอดไม่ได้ที่คอหนังจะต้องเปรียบเทียบระหว่าง Zech กับ Gloria Swanson จากเรื่อง Sunset Boulevard (1950) แม้ว่าทั้งสองมีความแตกต่างในการเข้าถึงบทบาท วิธีการแสดง ในทิศทางตรงกันข้าม (Swanson ดูล่องลอยอยู่บนความเพ้อฝัน, Zech มีความคลุ้มคลั่งในลักษณะ ‘เหนือจริง’) แต่คนมักตัดสินกันที่ Charisma และความน่าจดจำ ซึ่งสองอย่างนี้ Swanson คือตำนานที่มาก่อนเลยยิ่งใหญ่กว่า ขณะที่ Zech ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วยซ้ำนะ

Hilmar Thate (1931-2016) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Dölau, Saalkreis แล้วไปเติบโตยัง Halle (Saale) ระหว่างนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักแสดงสมัครเล่น Francke Foundations และตัดสินใจเอาจริงเอาจังเมื่อเข้าเรียน Staatliche Hochschule für Theater und Musik Halle, จากนั้นเริ่มมีผลงานละครเวที Stadttheater Cottbus, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Konrad Wolf ตั้งแต่ Once Is Never (1955), ผลงานเด่นๆ อาทิ Veronika Voss (1982), Paths in the Night (1999) ฯ

รับบท Robert Krohn นักข่าวสายกีฬา จับพลัดจับพลูพบเจอหญิงสาวคนหนึ่งยืนท่ามกลางสายฝน เขาจึงให้ความช่วยเหลือเรียกมาหลบฝนในร่ม โดยเหมือนไม่ได้จดจำ ใส่ใจว่าเธอคือใคร (นั่นเพราะไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในความสนใจ) ด้วยความยังสวยสาวจึงสร้างความประทับใจให้เขา แม้ครองรักอยู่กินกับแฟนสาว Henriette แต่เมื่อโอกาสมาถึงมีหรือจะปิดกั้น ถึงอย่างนั้นการนำตัวเข้าไปพัวพันกับ Veronika Voss ชักนำพาให้ชีวิตสูญเสียแทบทุกสิ่งอย่าง

ตัวละครนี้สามารถเทียบแทนมุมมองของผู้ชม ที่มีโอกาสเข้าไปล่วงรับรู้ พบเห็น ทราบถึงสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Veronika Voss ช่วงต้นก็ดูเพลิดเพลินอย่างน่าหลงใหล จากนั้นเมื่อล้วงลึก เข้าถึงความจริงที่ถูกซุกซ่อนเร้นไว้ ก็ได้รับการโต้ตอบอย่างเจ็บปวด สูญเสียเงินทอง สิ่งข้าวของ กระทั่งชีวิตแฟนสาว กลายเป็นความเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง ก่อนหมดสิ้นหวังเพราะไม่อาจทำอะไรตอบโต้ได้สักอย่างเดียว!

แซว: เหตุผลที่ตัวละครนี้คือนักข่าวสายกีฬา นอกจากเหตุผลแพ้-ชนะ ที่หนังพยายามพูดอธิบาย ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆใน BRD Trilogy น่าจะตระหนักถึงความบ้าบอลของผู้กำกับ Fassbinder มีการอ้างอิงฟุตบอลโลกถึงสองครั้ง เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน!

ความตั้งใจดั้งเดิมของผู้กำกับ Fassbinder ตัวละครนี้เป็นนักข่าวสายอาชญากรรม (ไม่ใช่สายกีฬา) คือบุคคลผู้สืบเสาะหาการเสียชีวิตของ Sybille Schmitz (อารมณ์คล้ายๆ Citizen Kane และ The Third Man ที่ตัวละครดำเนินเรื่องคือนักข่าวได้รับมอบหมายให้สืบค้นหาเบื้องหลังความจริง) ซึ่งนักแสดงที่ครุ่นคิดไว้คือ Armin Mueller-Stahl (ร่วมงานผู้กำกับ Fassbinder ตั้งแต่ Lola (1981)) แต่พอปรับแก้ไขบทเสียใหม่ ส้มหล่นใส่ Hilmar Thate ขณะที่ Mueller-Stahl เปลี่ยนมารับบทอดีตสามี/นักเขียนบทภาพยนตร์ของ Veronika Voss ซึ่งทั้งสองจะมีการเผชิญหน้ากันด้วยนะ

ภาพลักษณ์ของ Thate ทำให้ผมระลึกถึงหนึ่งในนักแสดงขาประจำของผู้กำกับ Fassbinder คือ Klaus Löwitsch มักได้บทตัวละครหน้าตาซื่อๆ ที่ต้องจับพลัดจับพลู ทั้งๆกรูไม่ได้กระทำผิดอะไร แต่กลับมีเหตุให้ต้องประสบเรื่องร้ายๆ โศกนาฎกรรมเข้ากับตนเอง สร้างความรู้สึกสงสารเห็นใจให้กับผู้ชม

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้สึกว่า Thate มีฝืไม้ลายมือด้านการแสดงที่โดดเด่นสักเท่าไหร่ ดูทึ่มๆทื่อๆ ตอนแสดงอาการเกรี้ยวกราดก็ดูคลุ้มคลั่งเสียสติแตกเกินไป แต่นั่นคือความจงใจของผู้กำกับ Fassbinder เพื่อสร้างความ ‘เหนือจริง’ ผู้ชมสามารถจับต้อง เข้าถึงปฏิกิริยาอารมณ์ตัวละครได้โดยทันที


ถ่ายภาพโดย Xaver Schwarzenberger (เกิดปี 1946) ตากล้องสัญชาติ Austrian ร่วมงานผู้กำกับ Fassbinder ตั้งแต่ Berlin Alexanderplatz (1980) จนถึงเรื่องสุดท้าย

ขณะที่ Lola (1981) เน้นการจัดแสง ใส่สีสัน สร้างโลกที่ดูฉูดฉาด จนมีสภาพ ‘เหนือจริง’, Veronika Voss (1982) ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ เล่นกับแสงสะท้อนระยิบระยับ มุมกล้องพยายามหาอะไรก็ไม่รู้มาบดบังวิสัยทัศน์ เป็นการสร้างความ ‘เหนือจริง’ ที่มีความ ‘เหนือจริง’ ขึ้นไปอีกระดับ

งานภาพในหนังของผู้กำกับ Fassbinder เท่าที่ผมรับชมมาประมาณสิบกว่าเรื่อง ต้องยกอันดับหนึ่งให้ Veronika Voss (1982) (อันดับสอง Chinesisches Roulette (1976) และสาม The Bitter Tears of Petra von Kant (1972)) เพราะการใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำ ทำออกมาได้อย่างน่าอึ่งทึ่ง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และยังออกแบบฉากให้สอดคล้องรับกับความเป็นขาว-ดำ ได้อย่างลงตัว สมบูรณ์แบบ … นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมมองว่าเหนือชั้นกว่า Sunset Boulevard (1950)

สำหรับเหตุผลการเลือกใช้ฟีล์มขาว-ดำ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเรื่องราวของดาวดับ (ชีวิตขาลงของ Veronika Voss) จะให้เต็มไปด้วยสีสันคงไม่ใช่กระมัง แสงระยิบระยับของภาพขาว-ดำ นอกจากมอบสัมผัสคลาสสิก ยังให้ความรู้สึกเลือนลางห่างไกล ความยิ่งใหญ่จากอดีตหลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำ ภาพถ่ายจากวันวาน


ตัวอักษรตอน Opening Credit มีลักษณะซ้อนสองชั้น ดูผิวเผินเหมือนแสง-เงา แต่บางครั้งต่างฝ่ายต่างสามารถขยับเคลื่อนไหวไปทิศทางของตนเอง ซึ่งผมมองว่าต้องการสื่อถึงระยะห่างระหว่างสองสิ่ง สองช่วงเวลา อดีต-ปัจจุบัน หรือคือ Veronika Voss ที่ยังคงถวิลหาความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งวันวาน

แล้วปัจจุบันมันควรจะเป็นตัวอักษรที่มีความคมชัดหรือเลือนลาง? อันนี้คงเป็นอิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ อดีตเคยเกรียงไกรแต่มันช่างห่างไกลความทรงจำ ปัจจุบันแม้เลือนลางแต่คมชัดจับต้องได้มากกว่า

ผู้กำกับ Fassbinder สวมแว่น ติดหนวดปลอม แต่มีหรือผู้ชมจะจดจำไม่ได้! สำหรับภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่นี้ (นักแสดงก็หน้าคุ้นๆทั้งนั้น) แม้เพียงไม่กี่เสี้ยววินาที แต่ก็สะท้อนสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น บทสรุปหนังทั้งเรื่องก็ว่าได้!

เกร็ด: มันมี ‘Top Ten List’ สิบนักแสดงหญิงที่ผู้กำกับ Fassbinder ชื่นชอบโปรดปราน แต่ผมหามาได้เพียง 3 ชื่อเท่านั้นประกอบด้วย Joan Crawford, Vivien Leigh และ Sybille Schmitz

ระหว่างที่ Voss รับชมภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตตนเองอยู่นั้น เธอหลับตาลงครุ่นคิดถึงความทรงจำเมื่อวันวาน พบเห็นภาพในกองถ่ายภาพยนตร์ ระยิบระยับด้วยแสงไฟ ผู้กำกับสั่งคัท ช่างเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ … เรียกว่ากำลังเพ้อฝันถึงความยิ่งใหญ่ของตนเองในอดีต ขวนขวายไขว่คว้า ต้องการได้มันมาครอบครองอีกสักครั้งหนึ่ง

สายฝนคือสิ่งสัญลักษณ์ที่อยู่ตรงกันข้ามความระยิบระยับ นอกจากก้อนเมฆที่บดบังความงดงามของฟากฟ้า แต่หยาดฝนที่ตกลงมาเปรียบกับดาวดาราร่วงล่นสู่พื้นโลกา ธารน้ำตาแห่งความสูญเสีย เศร้าโศก หมดสิ้นหวัง ไม่หลงเหลืออะไรให้ใครเงยหน้าขึ้นเชยชม

การเลือกสถานที่พื้นหลังก็สอดคล้องกับเรื่องราวไม่น้อย สวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ มองไม่เห็นจุดสูงสุด ยอดไม้ด้านบน หญิงสาวก็แค่คนเดินดิน หาใช่ดาวดาราบนฟากฟ้าที่มืดมิดขณะฝนพรำ

เมื่อตอน Krohn ร่ำจากลา Voss ภาพถ่ายด้านหลังรถราง ธารน้ำตกไหลลงมาจากบนหลังคา สองมุมมองที่ต่างมีความเลือนลาง(จากสายน้ำ)พยายามจับจ้องมองความทรงจำสีจางๆ แม้เพียงช่วงเวลาเล็กๆที่เขาให้ความช่วยเหลือหญิงแปลกหน้า กลับสร้างตราประทับฝังจิตฝังใจต่อกันไม่รู้ลืมเลือน … คงไม่ได้คาดหวังจะมีโอกาสพบเจอกันอีก แต่นี่มันเพิ่งแค่จุดเริ่มต้องของโชคชะตากรรมเท่านั้นเอง

ตำแหน่ง ทิศทาง มุมกล้องระหว่างที่ Krohn และ Voss อยู่ในร้าน Café Privileg สังเกตว่ามีลักษณะแอบๆ ด้อมมอง เหมือนพวกเขาต้องการปกปิด ซุกซ่อนเร้นความสัมพันธ์ ไม่ต้องการให้ใครต่อใครล่วงรับรู้ โดยเฉพาะ Paparazzi อาจทำให้ชื่อเสียงของพวกเข้าเสียหายโดยไม่รู้ตัว … มีอะไรให้ต้องเสียกัน

ไฮไลท์แรกของฉากนี้คือการที่ Voss อยู่ดีๆเรียกร้องให้บริกรดับไฟแล้วจุดเทียน กล่าวถึงการใช้แสง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงความงดงามบนใบหน้า … นี่ถือเป็นมายาของภาพยนตร์ การจัดแสงคือศาสตร์ที่สามารถสื่อแทนอารมณ์บุคคล สร้างบรรยากาศแวดล้อม หรือซุกซ่อนเร้นนัยยะอะไรบางอย่าง

Light and shadow, those are the secrets of the cinema.

Veronika Voss

ไฮไลท์ที่สองของฉากนี้คือร้านขายเครื่องประดับ กล้องถ่ายผ่านตู้โชว์กระจกใส ใบหน้าของ Voss จัดวางตำแหน่งที่น่าสนใจไม่น้อย สามารถสื่อถึงภาพความทรงจำของเจ้าของร้าน ยังคงจดจำอดีต เพ้อฝันถึงวันวาน มีโอกาสได้พบเจอนักแสดงคนโปรด ยื่นขอลายเซ็นต์ อนุญาตให้ทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง … เมื่อตระหนักได้ถึงแฟนคลับที่ยังจดจำตนเอง Voss ก็แสดงความกระหยิ่มยิ้มอย่างภาคภูมิใจ สวมบทบาทการแสดง เล่นเป็นตนเองขึ้นมาโดยทันที

เกร็ด: นักแสดงที่เล่นเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องประดับ Lilo Pempeit (หรือ Liselotte Eder) คือมารดาผู้กำกับ Fassbinder

คลินิคจิตเวช ภายในออกแบบด้วยโทนสีขาวโพลน แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ รูปปั้นแกะสลัก หรือแม้แต่เปียโน ก็ยังเลือกใช้สีขาว ชวนให้ผมนึกถึงโลกอนาคตองก์สุดท้ายของ 2001: A Space Odyssey (1968) เหมือนต้องการจะสื่อถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้สิ่งชั่วร้ายเจือปน แต่ความรู้สึกดังกล่าวล้วนคือมายา ภาพลวงตา แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ซุกซ่อนเร้นภัยอันตราย ความตาย ใครหลงเข้ามาติดกับดัก ก็อาจไม่สามารถรอดชีวิตกลับไป

Voss เป็นผู้หญิงที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจไม่น้อย แสร้งว่าไม่ยี่หร่า แต่ก็พยายามสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ ถึงขนาดมาเฝ้ารอคอย Krohn ตรงบันไดอพาร์ทเม้นท์ แม้เขามากับแฟนสาว ยังหน้าด้านไม่สนอะไร … ประเด็นก็คือ Krohn ยินยอมทำตามคำร้องขอของเธอนะสิ สันชาตญาณบุรุษ หักห้ามได้ที่ไหน

เริ่มต้นนั้น Voss ยืนอยู่บนสุดของบันได ขณะที่ Krohn และ Henriette ก้าวเคียงข้างกันขึ้นมาถึงบริเวณกึ่งกลาง นั่นสะท้อนถึงสถานะทางสังคมของพวกเขา จากนั้นนักแสดงสาวก้าวลงมาลากพาเขาออกไป นั่นคือการลดตัวลงมาโดยไม่สนวิทยฐานะ เพื่อสนองตัณหา ความพึงพอใจ อะไรอย่างอื่นไม่สนทั้งนั้น

Voss นำพา Krohl มายังคฤหาสถ์หลังเก่า เคยอาศัยอยู่ร่วมสามีนักเขียนบท Max Rehbein (รับบทโดย Armin Mueller-Stahl) ซึ่งหนังทำการเปรียบเทียบช็อตต่อช็อต อดีต-ปัจจุบัน เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ ละม้ายคล้ายคลึงระหว่างสองตัวละคร จากเคยงดงามระยิบระยับ ถูกปกคลุมด้วยผ้าสีดำ นำพาความมืดมิด บรรยากาศหมองหม่น สภาพไม่ต่างจากปราสาทร้าง/คฤหาสถ์ผีสิง

เพียงแค่แจกันตกแตก ก็ทำให้ Voss สูญเสียสติแตก นั่นไม่ใช่แค่หมดฤทธิ์ยาแน่ๆนะครับ แต่สามารถสื่อถึงเธอไม่สามารถปลดปล่อยวางจากอดีต ยังคงยึดติด ถือมั่น ทุกสิ่งอย่างต้องอยู่ที่ทางของมัน ห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามแก้ไข เพราะเหล่านั้นคือไม่กี่สิ่งที่ยังหลงเหลือในชีวิต

ระหว่างทางกลับ นอกจากโครงรถที่แบ่งแยก Voss และ Krohn ยังมีแสงไฟที่เดี๋ยวสว่าง-เดี๋ยวมืด ของรถที่ขับสวน-แซง สาดส่องใบหน้าหญิงสาว ความมืดปกลุมชายวัยกลางคน สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกพวกเขาที่เต็มไปด้วยความสับสน กระวนกระวาย ผู้ชมก็ยังอาจไม่เข้าใจว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตัวละคร

Krohn เลือกจะไม่เดินทางกลับอพาร์ทเม้นท์ หลับนอนในรถจนฟ้าสว่าง เมื่อตื่นขึ้นก็ได้รับการชักชวนขึ้นไปรับประทานอาหารเช้า สังเกตว่ามุมกล้องแต่ละช็อตช่างละม้ายคล้ายตอนนัดเดทกับ Voss ดูแอบๆ หลบซุกซ่อน เหมือนจิตแพทย์ Dr. Marianne Katz ไม่ได้อยากเปิดเผยรายละเอียดอะไรสักเท่าไหร่ แค่เปลือกภายนอกที่พอมองออกด้วยสายตาเท่านั้น

สำหรับ Günther Kaufmann รับเชิญบทบาท G.I. (Galvanized Iron แต่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าคือ Government Issue หรือ Ground Infantry) ปรากฎตัวครบสามภาค BRD Trilogy ล้วนด้วยเหตุผลเดียวกันคือ การแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ’อเมริกัน’ในเยอรมัน

แจกันราชวงศ์หมิง คือวัตถุโบราณ สิ่งของเก่าแก่ มีมูลค่าทางใจต่อบุคคลที่มีความชื่นชอบหลงใหล ในบริบทของหนังนอกจากคือสัญลักษณ์ของอดีต ความทรงจำที่แสนหวานของ Veronika Voss ผมครุ่นคิดว่ามันอาจเป็นของปลอม ลอกเลียนแบบ เพราะสามารถหาซื้อ-ขาย ได้ไม่ยากเท่าไหร่ สามารถสื่อถึงมายาคติ ทุกสิ่งอย่างที่เธอครุ่นคิดล้วนไม่ต่างจากภาพลวงหลอกตา

สำหรับสองตา-ยาย Johanna Hofer และ Rudolf Platte คือนักแสดงรุ่นใหญ่ตั้งแต่ยุคหนังเงียบโน่นนี่เลย ขณะนั้นก็ยังรับงานแสดงอยู่บ้างประปราย บทบาทพวกเขาคือตัวแทนชาวเยอรมันรุ่นดึกดำบรรพ์ (เปิดร้านขายวัตถุโบราณ) ที่ไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงความตายที่กำลังย่างกรายมาถึงเท่านั้น (ประสบโชคชะตาและจุดจบแบบเดียวกับ Veronika Voss)

Voss มีโอกาสได้รับเชิญบทบาทเล็กๆ มารดาอ่านจดหมายการสูญเสียบุตรชาย กล้องที่ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าไป เร่งรัดให้เธอต้องบีบเค้นคั้นน้ำตาออกมา จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถกระทำได้สักที กระทั่งผู้กำกับสั่งให้ใช้น้ำตาเทียม แต่นั่นคือความสูญเสียศักดิ์ศรีการเป็นนักแสดงของตนเอง … เรื่องราวเล็กๆของฉากนี้สื่อถึงการยังคงยึดติด ถือมั่นตัวตนจากอดีต ซึ่งพอไม่สามารถถ่ายทำฉากนี้สำเร็จ ความขัดแย้งภายในจึงทำให้เธอเป็นลมล้มพับ ยินยอมรับสภาพตนเองขณะนั้นไม่ได้อีกต่อไป

แซว: จริงๆฉากนี้ Fassbinder น่าจะมารับเชิญเล่นเป็นผู้กำกับด้วยตนเอง แต่กลับเลือก Peter Zadek ให้มารับบทแทน

การเผชิญหน้าระหว่าง Krohn และอดีตสามี Rehbein เริ่มต้นตั้งแต่ Voss เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ หนังพยายามนำเสนอพวกเขาในลักษณะสองมุมมอง ตัดสลับไปมา สะท้อนการกระทำของกันและกัน (แบบเดียวกับฉากคฤหาสถ์หลังเก่า) ดูเหมือนว่าอดีตสามียังคงห่วงโหยหาอดีตภรรยา แต่เขาก็ยินยอมรับว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรเพื่อเธอ (เหมือนช็อตที่ถ่ายผ่านเก้าอี้ มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง) หลังจากพูดคุยปรับความเข้าใจกับ Krohn ก็พร้อมสนับสนุนหลัง ช่วยเหลือผลักดัน ย้ายมานั่งดื่มเบียร์อยู่เคียงข้าง คาดหวังว่าเขาจะสามารถทำบางสิ่งอย่างเพื่อเธอได้สำเร็จ

ก่อนจบฉากนี้ทั้งสองยืนขึ้น โอบกอด อำนวยอวยพรขอให้โชคดี แต่พบเห็นแสงไฟกระพริบติดๆดับๆ (จริงๆคือพัดลมบนเพดาน หมุนช้าจนบดบังแสงสว่างเป็นจังหวะๆ) สะท้อนสภาพจิตใจพวกเขาเต็มไปด้วยความหวาดวิตก กระวนกระวาย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาหนทางช่วยเหลือหญิงคนรักยังไง (ให้เอาตัวรอดพ้นจากคลินิคนรกนั่น)

เกร็ด: เสียงที่เหมือนพากย์ฟุตบอลคลอประกอบพื้นหลังนั้น เท่าที่ผมหาข้อมูลได้เห็นว่าเป็นการวิเคราะห์ผลการแข่งขัน ความพ่ายแพ้ของทีม Bayern München (กับใครก็ไม่รู้นะ) โดยผู้บรรยายกีฬา Sammy Drechsel

Henriette อาสาที่จะเสี่ยงภัย แสร้งว่าเป็นคนไข้มีปัญหาทางจิต เข้าไปขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ Dr. Marianne Katz สังเกตว่าภายในคลินิกจะมีการเปิดแสงไฟให้ขยับเคลื่อนไหวไปมา เหมือนต้องการสะกดจิต สื่อถึงชีวิตคือภาพมายา ลวงหลอกตา (แลดูคล้ายกล้องสลับลาย kaleidoscope) สถานที่แห่งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน

แต่เธอหารู้ไม่ว่า Dr. Marianne Katz ตระหนักถึงแผนการของพวกเขาที่ต้องการล้วงความลับ จึงจงใจเซ็นใบเบิกจ่ายยามอร์ฟีน แล้วจัดการตลบแตลง เสแสร้งสร้างเหตุการณ์ ก่อเกิดความหมดสิ้นหวังแก่ Krohn ไม่สามารถโต้ตอบเอาคืน ทำอะไรได้ทั้งนั้น

Sunset Boulevard (1950) มีฉากตอนจบที่ Norma Desmond เดินลงบันไดมาพูดประโยคคลาสสิก “All right, Mr. DeMille, I’m ready for my close-up” สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านถึงทรวงใน

Veronika Voss (1982) มีฉากนี้ที่ตัวละครขับร้องบทเพลง Memories Are Made of This ด้วยน้ำเสียงแบบเดียวกับ Marlene Dietrich เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ฉันอยากตาย ชีวิตหมดสิ้นหวังอาลัย สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านถึงทรวงใน ไม่แตกต่างกัน!

บรรยากาศของฉากนี้ เต็มไปด้วยกลิ่นอายสไตล์หนังของ Josef von Sternberg คละคลุ้งด้วยควันบุหรี่ การจัดแสง-ใช้สีเข้มๆ เต็มไปด้วยมิติ ลวดลาย และความระยิบระยับ ตัวละครตระหนักถึงความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา แต่พร้อมเผชิญหน้าอย่างไม่หวาดกลัวเกรงอะไร

ผมมีความสองจิตสองใจเล็กๆว่านี่คือฉากหลังงานเลี้ยง หรือในจินตนาการของ Voss เพราะมีการตัดสลับไปมาระหว่างเธอกำลังถูกคุมขังในห้องพัก สองจิตสองใจว่าจะครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตายหรือไม่?

แต่ถ้าสังเกตดีๆผมเลือกนำสองช็อตที่ตำแหน่งของ Voss มีอิทธิพลต่อบุคคลรอบข้าง

  • ภาพแรก Vos นั่งอยู่ตำแหน่งสูงสุด สามารถสื่อถึงอดีต ความสำเร็จ ทำให้ใครต่อใครรายห้อมล้อม คอยปกป้องอยู่รอบข้าง แต่ดูแล้วบุคคลเหล่านั้นก็สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตนเท่านั้น
  • ภาพหลัง Vos นอนพังพาบอยู่บนเตียง สามารถสื่อถึงสภาพปัจจุบันนั้น หลงเหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังคงอยู่เคียงชิดใกล้ (แทบไม่มีเลยนะ) แถมคนส่วนใหญ่ล้วนหันหน้าหนี แสดงถึงก็สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์หลังความตาย เฉกเช่นเดียวกัน

หลังจาก Veronika Voss รับประทานยานอนหลับเกินขนาด มีการใช้เทคนิค Iris shot กรอบวงกลมค่อยๆห้อมล้อมใบหน้าหญิงสาว (ว่าไปก็ดูเหมือนเม็ดยาอยู่นะ) สื่อถึงชีวิตที่ค่อยๆมืดมิด แล้วดับสิ้นลง จากนั้นตัดไป ‘match-action cut’ ปรากฎภาพของ Robert Krohn กำลังรับประทานยาคลายเครียด แก้ปวดหัว ก่อนหยิบอ่านหนังสือพิมพ์ หน้าหนึ่งขึ้นว่าอดีตนักแสดงดังกินยาฆ่าตัวตาย

เกร็ด: ก่อนที่ Veronika Voss จะกินยาฆ่าตัวตาย มันจะมีความพยายามในการดิ้นรน หาหนทางหลบหนี ขีดๆเขียนๆข้อความขอความช่วยเหลือ แต่ผู้กำกับ Fassbinder ตัดทิ้งออกไปเพื่อสร้างความคลุมเคลือว่าตัวละครต้องการฆ่าตัวตาย หรือเพราะอุบัติเหตุกินยาเกินขนาดกันแน่ (คือถ้ามีฉากนั้น ผู้ชมอาจมองว่าเธอไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย เหตุเกิดเพราะความโชคร้าย)

Back to Munich to the 1860 stadium.

Robert Krohn

เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้สักอย่าง สิ่งหลงเหลือสำหรับ Krohn คือความกีฬาฟุตบอล คำพูดของเขาเหมือนจะสื่อถึงทีมโปรด TSV 1860 München ใครติดตาม Bundesliga ช่วงทศวรรษ 2000s น่าจะมักคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่ปัจจุบัน 2021 ร่วงหล่นไปอยู่เยอรมันลีกา 3 อาจจะกู่ไม่กลับแล้วกระมัง

เกร็ด: ฉากจบดั้งเดิมเห็นว่ายาวกว่านี้ และมีบทเพลงภาษาเยอรมันดังขึ้นจากวิทยุ ไม่มีระบุว่าเพลงอะไร แต่แปลคำร้องได้ว่า

Forget about the big wishes
There’s no sense in that
Forget about the stars in heaven
That’s where they belong

ซึ่งเมื่อ Krohn ได้ยินบทเพลงดังกล่าว ตะโกนบอกให้คนขับแท็กซี่ปิดวิทยุโดยพลัน “Turn it off! Turn it off immediately!”

ตัดต่อโดย Juliane Lorenz (เกิดปี 1957) สัญชาติเยอรมัน ภรรยาคนสุดท้ายของผู้กำกับ Fassbinder ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Bolwieser (1977) จนถึงผลงานสุดท้าย และกลายมาเป็นหัวหน้า Rainer Werner Fassbinder Foundation ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ และสินทรัพย์ทั้งหมด

แม้ชื่อหนังจะคือ Veronika Voss แต่ก็แบบเดียวกับ Lola (1981) ที่ไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร(ที่เป็นชื่อหนัง)สักเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายตาของ Robert Krohn จับพลัดจับพลูมาพบเจอเธอ สานสัมพันธ์ ตกหลุมรัก แล้วค่อยๆรับล่วงรู้เบื้องลึก ปัญหาแท้จริง ต้องการให้ความช่วยเหลือ แต่กลับถูกโต้ตอบจนสูญเสียแทบทุกสิ่งอย่าง

  • อารัมบท, อดีตที่แสนงดงาม ระยิบระยับของ Veronika Voss
  • องก์หนึ่ง, หญิงสาวท่ามกลางสายฝน
    • Robert Krohn พบเจอหญิงสาวท่ามกลางสายฝน เข้าไปให้ความช่วยเหลือ พาขึ้นรถรางกลับบ้าน
    • แม้จะมีหญิงสาวคนรักอยู่แล้ว แต่ Krohn ก็ไม่ปัดโอกาสที่จะนัดรับประทานอาหาร สานความสัมพันธ์กับหญิงสาวสวย
    • Krohn ตระหนักถึงความผิดปกติบางอย่างของ Voss จึงลองขุดคุ้ย สืบเสาะ จากเพื่อนนักข่าวสายบันเทิง ติดตามมาจนถึงอพาร์ทเม้นท์ที่กลับเป็นคลินิคจิตเวช
  • องก์สอง, แจกันที่แตกร้าว
    • Voss เดินทางมาหา Krohn ที่อพาร์ทเม้นท์ ฉกแย่งชิงเขาจากแฟนสาว พาไปยังคฤหาสถ์หรูของตนเองที่มีเพียงสิ่งข้าวของเก็บเก่า
    • เพียงแค่ทำแจกันโบราณตกแตกก็ทำให้ Voss ถึงกับคลุ้มคลั่งเสียสติ เรียกร้องขอกลับไปหา Dr. Marianne Katz
    • Krohn ตัดสินใจหลับนอนอยู่ในรถ เฝ้ารอคอยการกลับมาของ Dr. Marianne Katz เมื่อยามเช้าตรู่ แล้วรับฟังสิ่งบังเกิดขึ้นกับสภาพจิตใจของ Voss
    • Henriette ติดตามมาหา Krohn อาสาช่วยหาซื้อแจกันอันใหม่ พร้อมนำกลับไปวางยังคฤหาสถ์ของ Voss
  • องก์สาม, ผลลัพท์ของความสอดรู้สอดเห็นมากเกินไป
    • Henriette อาสาสืบทราบความจริงจาก Dr. Marianne Katz ผลลัพท์ทำให้เธอต้องพบกับโศกนาฎกรรม
    • Krohn พยายามที่จะทวงคืนความยุติธรรม แต่ก็ไม่สิ่งใดสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบคดี
  • องก์สี่, งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา
    • แผนการขั้นสุดท้ายของ Dr. Marianne Katz เริ่มจากจัดงานเลี้ยงอำลา Veronika Voss
    • เมื่อเธอถูกกักขังอยู่ตัวคนเดียวในห้อง ผลลัพท์สุดท้ายจึงคือการฆ่าตัวตาย
  • ปัจฉิมบท, อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

แทนที่จะจำกัดตนเองด้วยเทคนิคเปลี่ยนฉาก (film transition) เพียงการปรับโฟกัส เบลอ-ชัด แบบ Lola (1981) มาคราวนี้จัดเต็มไม่มีซ้ำรูปแบบ เคลื่อนไปทางซ้าย-ขวา บน-ล่าง หมุนวงกลม ขยับเหมือนที่ปัดน้ำฝน กรอบสี่เหลี่ยม ดาวกระจาย ฯลฯ ครุ่นคิดอะไรได้ก็ใส่เข้ามา ให้ความรู้สึกต้องการล้อเลียนแบบ Star Wars (1977) สร้างสัมผัสสไตลิสต์ ให้สอดคล้องความระยิบระยับ มุมกล้องประหลาดๆ ดูมีความน่าตื่นตาตื่นใจเพิ่มขึ้นมา

แต่ความแฟนซีของการเปลี่ยนฉากนั้น แลกกับผู้ชมต้องคอยสังเกตเอาเองว่า เรื่องราวขณะนั้นคือปัจจุบันหรือย้อนอดีต (Flashback) ความทรงจำของ Veronika Voss มักนำเสนอแทรกเข้ามาเคียงคู่ขนานกับฉากๆนั้น เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาอันน่าจดจำในอดีต (ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งบังเกิดขึ้นปัจจุบัน) อาทิ Voss พา Krohn มายังคฤหาสถ์หลังเก่า ก็จะมีภาพย้อนอดีตที่เธอเคยใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม(อดีต)สามี เมื่อครั้นเคยอาศัยอยู่(ในคฤหาสถ์หลังนี้)


เพลงประกอบโดย Peer Raben (1940-2007) หนึ่งในเพื่อนสนิท เคยเป็นคู่ขาผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder และร่วมก่อตั้ง Aktion-Theater มีผลงานร่วมกัน (ทั้งภาพยนตร์และละครเวที) หลายเรื่องทีเดียว

งานเพลงของ Raben มักเป็นส่วนที่ถูกมองข้ามจากคนส่วนใหญ่ เพราะไม่ได้มีท่วงทำนองติดหู น่าจดจำ เน้นความกลมกลืนไปกับพื้นหลัง สำหรับเสริมเติมแต่งฉากที่ขาดองค์ประกอบ diegetic music หรือ sound effect เพื่ออธิบายความรู้สึก ข้อเท็จจริง สิ่งซุกซ่อนเร้นในฉากนั้นๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้เครื่องดนตรีอย่าง Accordion, Xylophone, Harmonica ฯลฯ เพื่อมอบสัมผัสทางอารมณ์/สื่อนัยยะฉากนั้นๆให้เด่นชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับ Veronika Voss (1982) เริ่มต้น Opening Credit ด้วยวงออเคสตร้าเพื่อมอบความรู้สึกอลังการงานสร้าง เหมือนอดีตที่เคยยิ่งใหญ่ของ Veronika Voss แล้วบทเพลงหลังจากนั้นจะค่อยๆลดความน่าตื่นเต้น จืดจางลงทีละนิด ช่วงครึ่งหลังราวกับกำลังถูกกลืนกินโดยบทเพลงภาษาอังกฤษ (แทนที่จะเลือกบทเพลงขับร้องภาษาเยอรมัน) ซึ่งก็แฝงนัยยะถึงการเข้ามาของทหารอเมริกัน พยายามจะควบคุมครอบงำ สร้างอิทธิพลเหนือกว่าประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม


Memories Are Made of This (1955) แต่งโดย Terry Gilkyson, Richard Dehr, Frank Miller, ต้นฉบับขับร้องโดย Mindy Carson ร่วมกับ Ray Conniff’s Orchestra and The Columbians กระทั่งฉบับขับร้องโดย Dean Martin ติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 ยาวนานถึง 5 สัปดาห์

ในประเทศเยอรมันบทเพลงนี้ถูกแปล เปลี่ยนชื่อมาเป็น Heimweh (1956) แปลว่า Homesickness, คำร้องโดย Ernst Bader, Dieter Rasch, ขับร้องโดย Freddy Quinn ได้รับความนิยมล้นหลาม(ในเยอรมัน)เช่นกัน ติดอันดับ 1 ยาวนานถึง 14 สัปดาห์ มียอดขายทั่วโลกกว่า 8 ล้านก็อปปี้ (มากกว่าฉบับของ Dean Martin เสียอีกนะ!)

ฉบับในหนังขับร้องภาษาอังกฤษโดย Rosel Zech (ผู้รับบท Veronika Voss) ด้วยซ้ำเสียงเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย กร้านโลก ทำราวกับใกล้ถึงจุดจบ วาระสุดท้ายแห่งชีวิต (เหตุการณ์ในหนังมันก็เช่นนั้นจริงๆ) นี่เป็นการเคารพคารวะลีลาการใช้เสียงของขุ่นแม่ Marlene Dietrich จนอาจทำให้หลายคนขนหัวลุกพอง หลอกหลอน สั่นสะท้านถึงทรวงใน

เกร็ด: บทหนังดั้งเดิม บทเพลงที่ Veronika Voss ขับร้องประกอบฉากนี้คือ Ich weiß, es wird einmal ein Wunder gescheh`n (แปลว่า I Know a Miracle Will Happen) แต่งโดย Bruno Balz, Michael Jary, ขับร้องโดย Zarah Leander, ประกอบภาพยนตร์ Die große Liebe (1942) [นี่คือภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสุดของเยอรมันในช่วง Nazi เรืองอำนาจ] ไม่มีคำอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าหนังต้องการสะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้นที่ ‘อเมริกัน’ ค่อยๆกลืนกิน ‘เยอรมัน’

ไคลน์แม็กซ์ของหนังก่อนการฆ่าตัวตายของ Veronika Voss จะมี 2 บทเพลงในช่วงขณะนี้ดังขึ้นจากวิทยุ (ทั้งหมดล้วนเป็นบทเพลงขับร้องภาษาอังกฤษ) ประกอบด้วย

  • Voss ตื่นขึ้นเพราะเสียงระฆัง น่าจะบาทหลวงกำลังทำพิธีมิสซาอยู่กระมัง
  • เมื่อ Voss ต้องการออกไปนอกห้องพัก แต่กลับถูกกักขังไว้ภายใน Johnny Horton: The Battle of New Orleans สื่อถึงความขัดแย้ง/การต่อสู้ภายในจิตใจ เพราะร่างกายขาดมอร์ฟีน ฉันจะอดรนทนได้นานสักเพียงไหน
  • หลังจากอาการสงบอยู่สักพัก Voss แต่งหน้าทาปากระหว่างรับฟังบทเพลง The Berlin Ramblers: High On A Hilltop สุดท้ายก็มิอาจอดรนทนอาการอยากยา เปิดลิ้นชักหยิบเอายานอนหลับออกมารับประทาน

High On A Hilltop ต้นฉบับแต่ง/ขับร้องโดย Tommy Collins (1930-2000) รวมอยู่ในอัลบัม This Is Tommy Collins (1959), ผมพยายามค้นหาฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย The Berlin Ramblers แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เลยนำต้นฉบับแท้ๆมาให้รับฟังก็แล้วกัน

ความหลอกลวงของบทเพลงนี้ High on A Hilltop เหมือนจะแปลว่าสูงสุดบนยอดเขา แต่บุปผาชนจะตระหนักได้ทันทีตั้งแต่ท่วงทำนอง ลีลาการขับร้อง และเนื้อเพลงนี้แม้งสายเขียวนี่หว่า! ซึ่งสะท้อนเข้ากับอาการเสพติดยาของ Veronika Voss มิอาจอดรนทนต่ออาการลงแดง จะเป็นจะตาย เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย

High on a hilltop overlooking a city
I can see the bright lights as they gleam
And somewhere you’re dancing in some dingy bar room
And the lure of the gay life takes the place of our dream

High on a hilltop my heart cries, Oh Lord
Forgive her she knows not the way
And give me the power to believe and some day
High on a hilltop together we’ll pray

I can vision a rounder with a line so smooth
And a promise of riches for you
But you see not the danger cause you’re silly with booze
And high on a hilltop I see a devil in you

The Longing of Veronika Voss สิ่งที่(อดีต)นักแสดงดัง Veronika Voss ครุ่นคำนึง ถวิลหา นั่นก็คือความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีต เคยประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ชื่อเสียงโด่งดัง เจิดจรัสดั่งดาวดาราค้างฟ้า เงินทองไหลมาเทมา อาศัยอยู่คฤหาสถ์หรูร่วมกับ(อดีต)สามี เพลิดเพลินไปกับคำสรรเสริญเยินยอจากบรรดามิตรสหาย แฟนคลับภาพยนตร์

แต่ปัจจุบันนั้นสภาพของ Veronika Voss ได้สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง! หนังไม่ได้อธิบายเหตุผลตรงๆว่าเพราะอะไร แต่ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ย่อยยับเยินของเยอรมัน ทำให้วิถีชีวิต แนวความคิด โลกทัศนคติของผู้คนปรับเปลี่ยนแปลงไป จิตใจเต็มไปด้วยความกระวนกระวาย สตูดิโอก็แอบ Blacklist (เพราะข่าวลือว่าเธอเคยมีสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงของนาซี) เลยหันไปพึ่งพายาเสพติด สามีก็ไม่สามารถอดรนทนรับไหว เธอจึงกลายเป็นคนวิตกจริต คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถครุ่นคิดกระทำ ควบคุมตนเองได้อีกต่อไป

ตัวละคร Veronika Voss สามารถเปรียบเทียบแทนวิถีเยอรมันยุคสมัยก่อน(สงครามโลกครั้งที่สอง) เคยมีความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ขจรไกล ระยิบระยับเจิดจรัสสว่างไสว แต่ความพ่ายแพ้สงครามโลก ทำให้เยอรมันกลายเป็นดาวดับอับแสง หมดสิ้นเรี่ยวแรง พลังกำลัง (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) ไม่หลงเหลือความภาคภูมิจากอดีต สูญเสียอัตลักษณ์ (ความเป็นเยอรมัน) ถูกควบคุมครอบงำจากผู้ชนะสงคราม มีสภาพไม่ต่างจากคนมึนเมา ติดยา ตกอยู่ในสภาพวิตกจริต หวาดระแวง กระวนกระวายว่าตนเองอาจได้รับข้อหาสนับสนุนนาซี ติด Blacklist โดนยึดทรัพย์ หรือทำให้อับอายขายขี้หน้าประชาชี

การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาภายหลังสงคราม คือหนึ่งในอิทธิพลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชาวเยอรมัน ในมุมมองของผู้กำกับ Fassbinder ครุ่นคิดว่าทำให้พวกเขาขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิต (พบเห็นทหารอเมริกันผิวสี กระทั่งในคลินิคจิตเวช) ถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม (ได้ยินแต่บทเพลงภาษาอังกฤษ, แจกันต้องของราชวงศ์หมิง ฯ) กำลังสูญเสียอัตลักษณ์ จนแทบไม่หลงเหลือ ‘ความเป็นเยอรมัน’ เมื่อครั้นอดีตอีกต่อไป

แต่ความตายของ Veronika Voss ไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก สหรัฐอเมริกา หรือบุคคลอื่นใด แท้จริงแล้วกลับคือคนใน ชาวเยอรมันด้วยกันเองนี่แหละ บรรดาอีแร้งกา ไฮยีน่า พวกที่แสวงหาผลประโยชน์จากความทุกข์ยากลำบากของประชาชน! ผมมองจิตแพทย์ Dr. Marianne Katz และผองเพื่อน คือตัวแทนกลุ่มผู้นำใหม่ของเยอรมันสมัยนั้น [ซึ่งก็คือ Konrad Adenauer (1876-1967) ท่านผู้นำ (Chancellor) แห่ง West German ระหว่างปี 1949-63] ท่าทีเหมือนมีความประณีประณอม กลับเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น สนเพียงกอบโกยและพวกพวกพ้อง อาจเป็นหุ่นเชิดชักของพวกอเมริกันด้วยซ้ำ

ในบรรดา BRD Trilogy แม้ว่า Veronika Voss (1982) สร้างขึ้นลำดับสุดท้าย แต่ถ้าสังเกตจากช่วงเวลาพื้นหลัง ค.ศ. 1955 จะเกิดขึ้นก่อนหน้า Lola (1981) ดำเนินเรื่อง ค.ศ. 1957 และเป็นเรื่องราวเดียวที่ไม่ได้กล่าวถึง Wirtschaftswunder (50s-70s) หรือที่เรียกว่า Economic Miracle ปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน (West German) แต่จะมีความละม้ายคล้าย The Marriage of Maria Braun (1978) เมื่อตัวละครไต่เต้าถึงจุดสูงสุด ก็จะพบเจอสัจธรรมแห่งชีวิต

เรื่องราวของ Veronika Voss (1982) สามารถมองเป็นวงเวียน ‘วัฏจักรแห่งชีวิต’ สำหรับบุคคลผู้มีความมักมาก ทะเยอทะยาน เต็มไปด้วยความเพ้อใฝ่ฝัน พยายามปีนป่ายไปให้ถึงจุดสูงสุด ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง มักโดยไม่รู้ตัว วันหนึ่งจะค่อยๆสูญเสียโน่นนี่นั่นทีละเล็ก ชีวิตค่อยๆตกต่ำลง และหวนวนกลับสู่เริ่มต้นอีกครั้ง

บอกตามตรงว่าผมไม่อยากจินตนาการเลยว่า ถ้าผู้กำกับ Fassbinder อายุยืนยาวสัก 60-70 ปี จะสามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์ได้กี่เรื่อง (เกินร้อยแน่ๆ) เอาแค่เพียงมีชีวิต 37 ปี อยู่ในวงการภาพยนตร์ 13 ปี (1969-82) ยังสรรค์สร้างผลงาน 40 เรื่อง! มันจะเร่งรีบร้อน ‘Fass’ ไปไหน

ช่วงระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้(มั้งนะ) ผู้กำกับ Fassbinder เพิ่งได้รับทราบข่าวคราวการเสียชีวิตของอดีตแฟนหนุ่ม El Hedi ben Salem ในเรือนจำตั้งแต่ปี 1977 (เพื่อนๆของ Fassbinder ปกปิดข่าวไว้ เพราะคาดคิดว่าเขาคงต้องสูญเสียใจมากแน่ๆ) นั่นเองทำให้เขาสรรค์สร้าง Querelle (1982) เพื่ออุทิศให้ และกลายเป็นผลงานเรื่องสุดท้าย โดยไม่มีใครรับรู้ว่าคืออุบัติเหตุหรือจงใจฆ่าตัวตาย … ไม่แตกต่างจากโชคชะตากรรมของ Veronika Voss สักเท่าไหร่

แต่สิ่งน่าขนลุกขนพองที่สุดของ Veronika Voss (1982) คืองานเลี้ยงอำลาครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะน้ำเสียงร้องของ Rosel Zech มีความเหน็ดเนื่อย เบื่อหน่าย หมดสิ้นหวังอาลัย มันส่งเสียงกึกก้องอย่างทุกข์ทรมาน ออกมาจากจิตวิญญาณผู้กำกับ Fassbinder ฉันอยากตาย!!! นั่นคือคำพยากรณ์ชีวิตของเขาเองหรือไร มันช่างหลอกหลอน สั่นสะท้านถึงทรวงใน


หนังใช้ทุนสร้าง DEM 2.6 ล้านมาร์ค เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคนแสดงความเห็นว่าเนื้อเรื่องค่อนข้างน่าเบื่อ ไร้ฉากน่าตื่นเต้น แต่สุดท้ายก็สามารถคว้ารางวัล Golden Berlin Bear (นี่ถือเป็นรางวัลใหญ่สุดในชีวิตที่เคยได้รับของผู้กำกับ Fassbinder แล้วนะครับ)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ High-definition สามารถหาซื้อ/รับชมได้จาก Criterion Collection รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น The BRD Trilogy ร่วมกับ The Marriage of Maria Braun (1978) และ Lola (1981)

ผมรู้สึกว่าการที่ Veronika Voss (1982) เหมือนจะไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนักในปัจจุบัน เมื่อเทียบอีกสองผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Fassbinder ประกอบด้วย Ali: Fear Eats the Soul (1974) และ The Marriage of Maria Braun (1978) เพราะเรื่องราวมีความละม้ายคล้ายคลึง Sunset Boulevard (1950) การเปรียบเทียบทำให้คนส่วนใหญ่มักมองว่าต้นฉบับยอดเยี่ยมกว่า แต่มันก็ไม่จำเป็นเช่นนั้นเสมอไป

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าในแง่คุณภาพ ความประณีต วิจิตรศิลป์ ภาพรวมยอดเยี่ยมกว่า Ali: Fear Eats the Soul (1974) และ The Marriage of Maria Braun (1978) เสียด้วยซ้ำ! โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยความงดงาม ระยิบระยับ ใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำ ได้โดดเด่นกว่าหนัง Hollywood ส่วนใหญ่เสียอีก (รวมไปถึง Sunset Boulevard (1950) ด้วยนะ!)

แนะนำคอหนัง Drama บรรยากาศลึกลับ หลอกหลอน, นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที มีอะไรๆให้เป็นบทเรียนสนใจมากมาย, ช่างภาพ ตากล้อง หลงใหลในฟีล์มขาว-ดำ, โดยเฉพาะใครชื่นชอบ Sunset Boulevard (1950) ลองหามาเปรียบเทียบดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง

คำโปรย | โชคชะตากรรมของ Veronika Voss คือจุดสูงสุดของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder จากเคยระยิบระยับ เจิดจรัสบนฟากฟ้า ก่อนตกลงมากลายเป็นดาวดับ ไม่แตกต่างกันเลยสักนิด!
คุณภาพ | ยิยั
ส่วนตัว | รวดร้าวราน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: