Dil To Pagal Hai (1997)
: Yash Chopra ♥♥♡
ภาพยนตร์โรแมนติกสุดน้ำเน่า ที่อาจทำให้คุณเกิดความเชื่อมั่นในรักแท้ ว่าต้องมีสักคนบนโลกเกิดมาเป็นคู่ของฉัน, นำแสดงโดย Shah Rukh Khan ระหว่างเพื่อนสาว Karisma Kapoor กับหญิงสาวแห่งโชคชะตา Karisma Kapoor สุดท้ายจะได้ใครไปครอง
Dil To Pagal Hai ถือว่าเป็นหนังอินเดียคลาสสิก คุณภาพยังใช้ได้แม้จะค่อยๆเสื่อมลงไปตามกาลเวลา แต่ความหวานเลี่ยนน้ำตาลมดขึ้นเต็มพิกัด, ต้องขอบอกไว้ก่อน ผมไม่ชอบแนวนี้เลยนะครับ คือถ้ามันมีความน่าสนใจแฝงข้อคิดลึกซึ้งแบบ Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995), Rab Ne Bana Di Jodi (2008) ฯ อาจถึงระดับคลั่งไคล้หลงใหลเลยละ แต่กับเรื่องนี้หรืออย่าง Kuch Kuch Hota Hai (1998) แนวเพ้อฝัน หญิงสาวในจินตนาการ โหยหาคู่รักแท้ฉันอยู่ไหน … แบบนี้ส่ายหัวบอกเลยว่าไม่
คงกับคนประเภทชื่นชอบการเพ้อฝัน หลงใหลคลั่งไคล้สิ่งต่างๆรอบตัว ปล่อยกายใจให้ยึดติดกับโลกภายนอก หรือเกิดในสังคม/โลกที่วิถีชีวิตถูกจำกัดในกรอบวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อบางอย่าง (แบบอินเดีย) ที่เมื่อรับชมหนังเรื่องนี้จะรู้สึกโหยหา เพ้อฝัน ต้องการประสบพบเจอ ได้ครอบครองแบบนั้น, มันก็มีหนังแนวนี้หลายเรื่องใน Bollywood ที่ผมรับชม แล้วตัดสินใจไม่เขียนถึงเพราะรู้สึกเสียเวลาอย่างยิ่ง แต่กับเรื่องนี้ที่ต้องเขียนถึง เพราะหนังทำรายได้สูงสุดแห่งปี ตอนฉายกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายสำนัก โอ้ชิท! หนังน้ำเน่าแบบนี้เนี่ยนะ
Yash Raj Chopra (1932 – 2012) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘King of Romance’ ผู้ก่อตั้ง Yash Raj Film หนึ่งในสตูดิโอใหญ่ทรงอิทธิพล ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศ, เกิดที่ Lahore (ปัจจุบันเป็นประเทศ Pakistan) ลูกสุดท้องคนที่แปด ความฝันแรกคือเป็นวิศวกรแต่เมื่อสอบไม่ติด จึงหันไปสนใจสร้างภาพยนตร์ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วย I. S. Johar และ Baldev Raj Chopra (พี่ชายคนรอง) กำกับหนังเรื่องแรก Dhool Ka Phool (1959) ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์ ตามมาด้วย Dharmputra (1961) ที่สามารถคว้ารางวัล National Film Awards: Best Feature Film in Hindi ไปครองได้
จากความสำเร็จหลายๆเรื่องติดกัน ปี 1971 Yash Chopra ก่อตั้งสตูดิโอ Yash Raj Films ของตัวเอง สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Daag: A Poem of Love (1973) ประสบความสำเร็จล้นหลาม, สำหรับผลงานที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece ของผู้กำกับคือ Deewaar (1975) ไว้ใกล้ๆวันแม่แล้วจะเขียนถึงนะครับ
สไตล์ของ Yash Chopra มีลักษณะ: พระเอกมีความแน่วแน่ตั้งมั่น, โรแมนติก อ่อนไหว, มีชีวิต lifestyle ที่โดดเด่นแตกต่าง, เพลงประกอบเพราะๆ มักจะมีพื้นหลังเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม (นิยมไปถ่ายต่างประเทศ)
ภาพยนตร์ 4 เรื่องสุดท้ายของ Yash Chopra ล้วนร่วมงานกับพระเอกหนุ่ม Shah Rukh Khan เริ่มจาก Darr (1993), Dil To Pagal Hai (1997), Veer-Zaara (2004) และ Jab Tak Hai Jaan (2012) ถ่ายโอนกิจการงานของสตูดิโอให้กับลูกชาย Aditya Chopra สานต่อถึงปัจจุบัน, เสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2012 จากโรคไข้เลือดออก
หลัง Aditya Chopra เสร็จจาก Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995) ก็เริ่มมองหาโปรเจคถัดไป นำแนวคิดหนังเรื่องใหม่ไปพูดคุยกับพ่อ ‘เกี่ยวกับผู้กำกับละครเพลงที่ตกหลุมรักหญิงสาวในจินตนาการของตน’ พอ Yash ได้ยินก็เกิดความสนใจอย่างยิ่ง ถึงขนาดต้องการสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง (ลูกชายเลยหลีกทางให้พ่อ)
เรื่องราวของคนสามคน ที่มีทัศนคติต่อความรักแตกต่างกันสิ้นเชิง
– Rahul (Shah Rukh Khan) ชายหนุ่มผู้ไม่เชื่อเรื่องความรัก และการแต่งงาน, มีนิสัยขี้เล่นเอาแต่ใจ จินตนาการแต่ไม่เพ้อฝัน ทีจริงก็มีความจริงจัง อยากได้อะไรต้องให้เปะๆ
– Pooja (Madhuri Dixit) หญิงสาวผู้เชื่อว่ารักแท้มีจริง ใครสักคนถูกสร้างมาเพื่อฉัน, มีนิสัยเพ้อฝัน ล่องลอย เล่นบ้างแต่จริงจังเสียส่วนใหญ่
– Nisha (Karisma Kapoor) หญิงสาวผู้เชื่อว่าความรักคือมิตรภาพ ที่สักวันจะแปรสภาพกลายเป็นความจริง, เป็นสาวแก่นที่มีฝีมือทางการเต้นโดดเด่น ทีเล่นเป็นเล่น ทีจริงก็จริงจัง
แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่ Rahul จะเข้าในความหมายของความรัก?, Pooja จะได้พบกับชายในฝัน? และ Nisha จะได้พบความจริง? มีเพียงคู่เดียวเท่านั้นที่จะสมหวัง แต่จะเป็นใครที่สมหวังต้องไปลุ้นเอาเอง
Shah Rukh Khan ร่วมงานครั้งที่สองกับ Yash Chopra ในบทที่หลายๆคนคงรู้สึกว่ามีการแสดงยอดเยี่ยมสมจริง แต่เจ้าตัวกลับบอก ไม่สามารถตามทันเรื่องราวของตัวละครได้เลย, ผมคิดว่าตัวละครนี้ค่อนข้างตรงกันข้ามกับนิสัย บุคลิก ตัวตนของ SRK พอสมควร เพราะเขาเป็นคนสุภาพมากๆ ไม่น่าจะเล่นหัว จ้ำจี้ ปลิ้นปล้อน กับผู้หญิงแบบตัวละครในหนังแน่ๆ
สิ่งที่ทำให้ Rahul เข้าในความหมายของความรัก เพราะความที่ได้จินตนาการถึงหญิงสาวในอุดมคติชื่อ มายา (Maya) ตัวละครในการแสดงละครเวทีเรื่องใหม่ มันเลยไม่แปลกที่เมื่อความฝันนั้นกลายเป็นจริง จะเป็นไปได้ยังไงไม่ตกหลุมรัก ครานี้ละโงหัวไม่ขึ้นเลย
ว่าไปนี่ก็คล้ายๆกับเรื่องราวของ Pygmalion เป็นชื่อบุคคลในปรัมปรากรีก มีอาชีพช่างแกะสลัก (sculptor) ที่เมื่อได้สร้างผลงานชิ้นเอกจากจินตนาการ Propoetides แกะสลักจากงาช้าง (Ivory) เกิดความหลงใหลจนตกหลุมรัก แล้วรูปปั้นนั้นก็กลับมีชีวิตขึ้นมา, ต่างกันที่ Pooja มีตัวตนอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากจินตนาการของ Rahul ที่กลายเป็นจริง ในส่วนนี้จึงมองได้คือการ ‘ค้นพบ’ มากกว่าสร้างขึ้นมา
Madhuri Dixit นักแสดงที่ได้รับการยกย่องเรื่องลีลาการเต้น ว่ามีความสวยงามโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งใน Bollywood, ครั้งที่สองกับการประกบ SRK ดวงตาของเธอเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม กอปรกับ passion การเต้นที่เร้ารุนแรง สามารถกระชากใจผู้ชมให้คลั่งไคล้ในตัวเธอ
Pooja ราวกับคนมีสัมผัสที่หก นับครั้งไม่ถ้วนที่เสียงผิวปากของ Rahul สร้างความพิศวงสงสัย ผู้ชมคงรับรู้ได้ว่านั่นคือสัญญาณ แต่เธอกลับลังเลไม่แน่ใจ นั่นนะหรือคือเสียงเรียกของความรัก, ตอนท้ายเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจเลือก น่าแปลกที่หญิงสาวผู้มีอุดมการณ์ความเชื่อมั่นในรักแท้เต็มเปี่ยม กลับโลเลไม่มั่นใจ ไม่สามารถตัดสินใจเลือกเสียอย่างนั้น
Karisma Kapoor นักแสดงสาวมากฝีมือ ที่มักรับบทตัวละครรุ่นใหม่ คิดอ่านเป็นของตัวเอง, Karisma เป็นหลานแท้ๆของผู้กำกับชื่อดัง Raj Kapoor พี่สาวของ Kareena Kapoor เกิดที่ Mumbai ภาพยนตร์เรื่องแรก Prem Qaidi (1991) โด่งดังที่สุดกับภาพยนตร์ Blockbuster เรื่อง Raja Hindustani (1996) ประกบ Aamir Khan และได้รับการยกย่องสูงสุดกับ Dil To Pagal Hai (1997) คว้ารางวัล National Film Award: Best Supporting Actress
Karisma เป็นหนึ่งในนักแสดงที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จที่สุดในทศวรรษ 90s (ถือว่าโด่งดังพอๆกับ Dixit เลยนะครับ) แต่ทศวรรษถัดมาก็ห่างหายร้ารา (ไปเลี้ยงลูก) กลับมาแสดงภาพยนตร์บ้างประปราย ปล่อยให้น้องสาว Kareena ปัจจุบันถือว่าเจิดจรัสจ้า เป็นที่รู้จักมากกว่าพี่สาวเสียอีก
Nisha ลีลาการเต้นผมว่าไม่สวยเท่าไหร่ แต่ความบ้าคลั่งจัดเต็ม มีเท่าไหร่ใส่ไม่ยั้ง นั่นทำให้ร่างกายของเธออ่อนแอเปราะบางจนได้รับอุบัติเหตุขาพลิก ความทุ่มเทมากเกินพอดี นี่คือผลลัพท์ที่ได้ตอบแทน, สะท้อนกับความเชื่อมั่นของตัวละครที่มีมากเกินไป คิดว่ามิตรภาพนี่แหละสักวันจะแปรสภาพกลายเป็นรัก แต่สุดท้ายกลับทำให้เธอพบแต่ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพราะสูญเสียชายที่รักมากสุดไป
ความโดดเด่นของ Karisma ที่แม้จะเป็นบทรอง แต่สามารถแย่งซีนความโดดเด่นจาก Madhuri ได้เยอะมากๆ เล่นรับส่งเข้าขาบ้าๆบอๆกับ SRK ได้อย่างจริงจัง, เห็นว่าเธอเป็นตัวเลือกประมาณที่ 5 ของผู้กำกับ Yash Chopra ที่เล็ง Juhi Chawla, Kajol, Dulhania, Urmila Matondkar แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธทั้งหมด, ผมประทับใจสีหน้าอมทุกข์โศกเจ็บปวดทรมานของ Karisma มันรวดร้าวไปถึงทรวง ถ้าคุณเคยรับชมการแสดงของเธอใน Raja Hindustani (1996) ฉากช่วงท้ายถ้าไม่หลั่งน้ำตาออกมาก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว
ถ่ายภาพโดย Manmohan Singh ขาประจำของ Yash Raj Film มีผลงานเด่น อาทิ Chandni (1989), Darr (1993), Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995), Mohabbatein (2000) ฯ
ส่วนใหญ่ของหนังเป็นการถ่ายภาพภายใน สีสันสดเข้มกับการออกแบบฉาก เสื้อผ้า และชุดเต้นของตัวละครที่เป็นไปตามแฟชั่นยุคสมัย, ส่วนภาพถ่ายภายนอกธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ ประกอบเพลงวิ่งข้ามเขา มีความสวยงามอลังการ (ตามสไตล์ของหนัง Yash Raj Film), เมือง Baden-Baden ที่ประเทศ German ก็มีความคลาสสิกไม่น้อย ได้กลิ่นอายยุโรปเต็มๆเลย
มีช็อตพิศวงหนึ่ง เมื่อคู่ Rahul กับ Pooja ปรากฎร่วมกันในฉาก แล้วมีร่างโคลนของพวกเขาเดินวนไปรอบๆ, ทีแรกผมคิดว่าหนังใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพขึ้นฉากด้านหลัง แต่มีช็อตหนึ่งไม่น่าใช่เพราะกล้องมีการเคลื่อนไหว และตัวละครเดินวนอ้อมไปข้างหลัง คงเป็นการใช้เทคนิค Blue Screen ทำให้สามารถซ้อนภาพของนักแสดงได้
ตัดต่อโดย V. Karnik ขาประจำของ Yash Raj Film เช่นกัน
ฉากแรกของหนัง Intro เป็นการแนะนำแนวคิดทัศนะของตัวละคร Rahul กับ Pooja ที่ต่างกันสุดขั้ว, ผมรู้สึกว่าเป็นฉากที่มีประโยชน์ทีเดียว เพราะทำให้เรารู้จักตัวตน เข้าใจนิสัยความคิดของพวกเขา ก่อนหนังจะเริ่มต้นเสียอีก
ภาพของคู่รักทั้งหลายที่ปรากฎตอน Open Credit
– คู่ที่ 7 คือ Aditya Chopra กับ(อดีต)ภรรยา Payal Khanna
– คู่ที่ 24 คือ Yash Johar กับภรรยา Hiroo Johar
– คู่สุดท้าย ผู้กำกับ Yash Chopra กับภรรยา Pamela Chopra
ขณะที่ Rahul จินตนาการถึง Maya หญิงสาวในฝันที่ยังไม่เคยพบเจอ ภาพตัดไปที่ Pooja หญิงสาวใครก็ไม่รู้ ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วตัดกลับมา มีคือเทคนิค Montage มีความหมายบอกเป็นนัยว่า Maya ก็คือ Pooja นะแหละ, มีการใช้เทคนิคการตัดต่อแบบนี้หลายครั้งมากในหนัง เหมือนกลัวผู้ชมจะไม่รู้ว่าพวกเขาเกิดมาคู่กัน ผมเรียกการกระทำนี้ว่า ‘Act of God’ หรือ ‘Act of Director’ เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ ให้ผู้ชมรับได้รู้เป้าหมายของสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อน จากนั้นค่อยเอาใจจดจ่อ ลุ้นช่วยให้พวกเขาได้สมหวัง
เพลงประกอบโดย Uttam Singh คำร้องโดย Anand Bakshi, ความไพเราะของบทเพลงมีความคลาสสิกร่วมสมัย มีการผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย กับ กีตาร์, กลองชุด ฯ ทำให้หลายเพลงยังรู้สึกว่ามีความสดใหม่ (แม้จะผ่านไปเป็นทศวรรษแล้ว)
ผมค่อนข้างชอบฉากเดี่ยวกลองของพระเอก SRK (พี่แกฉายเดี่ยวเองเลย) สงสัยเพราะผ่านยุคสมัยของ Whiplash (2014) มาแล้ว ทำให้เข้าใจภาษากลอง ที่ตีโต้ สื่อสารกับนักเต้นได้เป็นอย่างดี
บทเพลงชื่อหนัง Dil To Pagal Hai (แปลว่า The Heart Is Crazy, หัวใจดวงนี้กำลังเป็นบ้า) ขับร้องโดย Lata Mangeshkar, Udit Narayan, ดนตรีออกไปทางสนุกสนานครึกครื้น แสดงถึงจิตใจความรู้สึกที่ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งได้ มันดิ้นไปมาเพราะกำลังตกหลุมในความรักคลั่งไคล้ ราวกับคนบ้า
เสียงร้องของ Lata Mangeshkar ช่างน่าหลงใหลจริงๆ ไม่ว่ายายจะอายุเท่าไหร่ก็ยังสามารถร้องได้เสียงนี้ นี่เรียกว่า’อมตะ’
อีกบทเพลงไฮไลท์คือ Are Re Are (แปลว่า Oh My!, Oh My!) ขับร้องโดย Lata Mangeshkar, Udit Narayan จริงๆผมแอบรำคาญเสียง รูรู้รู ที่ได้ยินตลอดเรื่อง (คือทำนองของเสียงผิวปากด้วย) ใจความเพลงเป็นเหมือนเสียงอุทานของพระเอก อุ้ยตาย! ไม่คิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นความรัก
ถึงเพลงจะมีความไพเราะ มีความสนุกสนาน แต่ท่าเต้น -เอามือกุมขมับ- โคตรเชย ผมรู้สึกน่าขบขันเป็นอย่างมาก ไม่ค่อยประทับใจสักเท่าไหร่
Dil To Pagal Hai เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน
– Rahul เพ้อฝันถึงหญิงสาวในอุดมคติ Maya วาดฝันว่าเธอมีอยู่จริง
– Pooja เพ้อฝันถึงรักแท้ว่ามีจริง ใครสักคนถูกสร้างมาเพื่อคู่กับฉัน
– Nisha เพ้อฝันถึงมิตรภาพ สักวันคงสามารถแปรสภาพเปลี่ยนเป็นความรัก
คงเช่นกันกับ Yash Chopra ผมรับชมหนังของผู้กำกับคนนี้มา 2-3 เรื่อง ในช่วงก่อนปู่แกแต่งงาน มีผลงานเจ๋งๆหลากหลายแนว แต่พอได้แต่งงาน (ตอนอายุ 38) จากนั้นแกก็เพ้อหนักเลยละครับ สนแต่ทำทำหนังโรแมนติกจนได้ฉายา ‘King of Romance’
ขอเกริ่นเรื่องการแต่งงานสักนิด ด้วยอายุที่ใกล้ย่างเข้าเลข 4 แล้วยังหาคู่ชีวิตไม่ได้ พี่ชาย Baldev Raj Chopra เลยต้องเดือดร้อนต้องจัดหาคู่ให้น้อง รู้จักเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ นัดหมายพบเจอ ตกลงแต่งงาน … Yash Chopra แต่งงานกับ Pamela Singh ตามประเพณีดั่งเดิมของอินเดีย อาศัยอยู่ด้วยกันจนแก่เถ้า รักกันมากราวกับเกิดมาเป็นคู่ชีวิตกัน
คงนับตั้งแต่การแต่งงาน ที่เป็นจุดเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจ ปรัชญาชีวิตของ Yash Chopra ทำให้เขามีความเชื่อเรื่องพรหมลิขิต รักแท้ คนเราเกิดมามีเพศชายหญิง ยังไงก็ต้องมีคู่หากันเจอ แบบหนังเรื่องนี้แหละ
คนรักระหว่างโชคชะตาฟ้าพรหมลิขิต กับผู้ที่อยู่เคียงข้างกับเรามานาน, ถ้ามีให้ผมเลือกยังไงก็คงขอคนแรกเพราะ ‘ความรัก เป็นสิ่งเห็นแก่ตัว’ จำเป็นต้องเอาความรู้สึก ความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจอาทรให้กับผู้อื่นได้ กับคนที่ทำในสิ่งตรงกันข้ามนี้ ไม่ใช่คนมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแต่ประการใด ผมเรียกว่า ‘คนไม่เห็นคุณค่าของความรัก’ นี่ไม่ใช่ห้วงอารมณ์แห่งรักแท้ๆ แต่แฝงด้วยผลประโยชน์บางอย่าง
การได้รักคนที่ไม่รักเรา ใช่! ที่มันเจ็บปวดทรมาน เพราะบุญบารมีวาสนาของเราในชาตินี้มีไม่เพียงพอสำหรับเขา คำปลอบโยนที่ดีที่สุด ‘ถ้ารักมาก ก็ต้องสามารถปล่อยเขาให้มีความสุข’ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ไม่มีใครช่วยได้ด้วย มีความรักย่อมต้องพบกับความทุกข์เป็นธรรมดา
แต่ใช่ว่าชีวิตจะสิ้นสุดถ้าไม่ได้รัก มันมีสิ่งอื่นมากมายในโลก กว้างขวางใหญ่โต ไม่แน่หรอกสักวันคนที่รักเรา ทำให้เราตกหลุมรัก อาจได้พบเจอรู้จักแล้วพบรัก ตราบใดไม่ยอมแพ้ ชีวิตก็ไม่มีจบสิ้น
ด้วยทุนสร้างประมาณ ₹9 Crore หนังทำเงินทั่วโลก 71.86 Crore (=$11 ล้านเหรียญ) ถือว่าประสบความสำเร็จระดับ Blockbuster ทำเงินสูงสุดของปี
คว้า 3 รางวัล National Film Award
– Best Popular Film Providing Wholesome Entertainment
– Best Supporting Actress (Karisma Kapoor)
– Best Choreographer
Filmfare Award ได้มา 8 รางวัล
– Best Film **ได้รางวัล
– Best Director
– Best Actor (Shah Rukh Khan) **ได้รางวัล
– Best Actress (Madhuri Dixit) **ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Akshay Kumar)
– Best Supporting Actress (Karisma Kapoor) **ได้รางวัล
– Best Dialogue **ได้รางวัล
– Best Art Direction **ได้รางวัล
– Best Music Director **ได้รางวัล
– Best Playback Singer, Male
ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องเท่าไหร่ แต่ไม่ถึงขั้นต่อต้านรับไม่ได้ มีหลายอย่างที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะการแสดง และบางบทเพลงที่ไพเราะติดหู ช่วยหนังไว้เยอะทีเดียว, ส่วนเรื่องราว พล็อตหนัง เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ‘น้ำเน่า’ ใครไม่ชอบแนวนี้หลีกเลี่ยงไปเลยนะครับ
อีกปัญหาที่ผมพบคือโปรดักชั่นหนังที่ค่อยๆเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา เสื้อผ้าหน้าผมตกยุคสมัย ลีลาท่าทางการเต้น สมัยนี้ใครยังแดนซ์แบบนั้นคงได้ถูกล้อว่าตกยุคแน่ กระนั้นนี่เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า’คลาสสิก’ … แต่หนังออกไปทางกระแส Cult film นะครับ
แนะนำกับวัยรุ่นทั้งหลายที่อยู่ในวัยเพ้อฝัน เชื่อมั่นโหยหาในรักแท้, อาจช่วยเป็นกำลังใจให้คนที่เพิ่งอกหักได้ด้วย อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง เพราะคนที่ใช่เป็นคู่แท้ มีอยู่แน่แต่อาจแค่ยังไม่ได้พบเจอ, แฟนหนัง Bollywood คลั่งไคล้ Shah Rukh Khan, Madhuri Dixit และ Karisma Kapoor ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความเพ้อฝัน และการถึงเนื้อถึงตัวมากไปหน่อยของ SRK กับ Karisma Kapoor
Leave a Reply