Dishonored (1931) hollywood : Josef von Sternberg ♥♥♥♡

ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับ Josef von Sternberg ที่จะตีตราสายลับว่าเป็นอาชีพไร้เกียรติ ‘Dishonored’ แต่มันคือมุมมองคนยุคสมัยนั้น (รวมถึงสตูดิโอภาพยนตร์) ยินยอมรับไม่ได้ต่อพฤติกรรมบุคคลสองหน้า ใช้มารยาลวงล่อหลอก ล้วงความลับผู้อื่น ไร้ซึ่งศีลธรรมจรรยา ทั้งๆพวกเขาและเธอต่างทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติบ้านเมือง

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า Dishonored (1931) คือภาพยนตร์แนวสายลับ (Espionage film) เรื่องแรกในยุคสมัยหนังพูด (Talkie) เลยหรือเปล่า? แต่คือผลงานที่จุดกระแสนิยม ‘Spy Film’ ถึงขนาดสตูดิโอ M-G-M เร่งรีบลอกเลียนแบบสร้าง Mata Hari (1931) ออกฉายปลายปีเดียวกัน ประสบความสำเร็จล้มหลาม แถมกลายเป็นต้นแบบแม่พิมพ์ แรงบันดาลใจ(หนังแนวสายลับ)มาจนถึงปัจจุบัน

เกร็ด: ในยุคหนังเงียบถ้าไม่นับ The General (1926) ที่ถูกมองเป็นแนวตลกขบขัน, Spione (1928) ของผู้กำกับ Fritz Lang น่าจะคือจุดเริ่มต้นภาพยนตร์สายลับอย่างจริงจัง!

ระหว่างรับชมผมโคตรสงสัยว่าทำไมหนังถึงใช้ชื่อ Dishonored (1931) กระทั่งพบเห็นปฏิกิริยาหลังใครต่อใครรับรู้ว่าตัวละครของ Marlene Dietrich คือสายลับ! เต็มไปด้วยความรังเกียจ ขยะแขยง ปฏิเสธต่อต้านอย่างรุนแรง สวยขนาดนั้นกลับถูกมองว่าอัปลักษณ์ … นั่นสะท้อนมุมมองคนยุคสมัยก่อนอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นสิ่งที่สังคมยังยินยอมรับไม่ได้ คืออาชีพที่ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ถูกตีตราว่าโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือไดเรคชั่นผู้กำกับ von Sternberg นำเสนอในลักษณะ ‘slow burn’ (แนวคิดเดียวกับ Underworld (1927)) ค่อยๆสร้างบรรยากาศนัวร์ๆ ตัวละครพูดคุยสนทนา เล่นลีลายั่วหยอกเย้า จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาขมวดปม ไขปริศนา หาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด ไคลน์แม็กซ์บังเกิดขี้นแค่เพียงเสี้ยวนาที … ใครเป็นแฟนหนังของ Quentin Tarantino น่าจะอมยิ้มเลยละ!

อีกไฮไลท์ของหนังคือลีลาการแสดงของ Marlene Dietrich น่าจะทำให้ใครหลายคนใจละลาย ลุ่มหลงในมนต์เสน่ห์ เล่ห์เพทุบาย ยินยอมศิโรราบอยู่แทบเท้า อยากล้วงความลับอะไรก็เอาไปเลยเถอะ สวยสังหาร (กว่า Greta Garbo เป็นไหนๆ)

แต่หนังมีข้อบกพร่องพอสมควรเลยละ ตัวละครชายแทบทุกคนล้วนพูดมาก หยาบช้า ตะโกนส่งเสียงโหวกเหวก โดยเฉพาะ Victor McLaglen เอาแต่แสยะยิ้มเยาะ เอ่ยคำถากถางเย้ยหยัน ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายสักนิด แม้งน่าถีบชิบหาย! แม้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Sternberg (สื่อถีงพวกผู้ชายเหล่านี้แหละที่ ‘Dishonored’) แต่ผมยังรู้สีกน่ารำคาญเกินไป


Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Orthodox Jewish อพยพสู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังไปๆกลับๆจนกระทั่งอายุ 14 ถึงปักหลักอยู่ New York City, พออายุ 17 ปีเข้าทำงานยัง World Film Company เริ่มต้นเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มหนัง ทั้งยังรับหน้าที่เป็นฉายภาพยนตร์ (film projectionist) กระทั่งการมาถึงของโปรดิวเซอร์ William A. Brady ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ พิมพ์ข้อความ (Title Card), ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Signal Corps จึงมีโอกาสถ่ายทำสารคดีข่าว, หลังจากนั้นได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Emile Chautard สรรค์สร้าง The Mystery of the Yellow Room (1919), และสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Salvation Hunters (1924) ด้วยทุนสร้างเพียง $4,800 เหรียญ (ถือเป็นหนัง Indy เรื่องแรกๆของโลก) 

เพราะความเรื่องมาก เอาแต่ใจ ไม่พึงพอใจการทำงานก็เดินออกกองถ่าย นั่นทำให้ Sternberg ระหองระแหงอยู่ใน Hollywood จนไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม จนกระทั่งได้รับโอกาสจากโปรดิวเซอร์ B. P. Schulberg แห่ง Paramount Pictures ว่าจ้างทำงานฝ่ายเทคนิค ที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพ แล้วโชคก็เข้าข้างเมื่อถูกมอบหมายให้ถ่ายซ่อม Children of Divorce (1927) เปลี่ยนแปลงจากเดิมประมาณครึ่งเรื่อง จากคุณภาพกลางๆกลายเป็นประสบความสำเร็จล้นหลาม สร้างความประทับใจจนมอบอิสรภาพสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘เรื่องแรก’ ที่ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร

ความสำเร็จอันล้นหลามอย่างคาดไม่ถึงของ Underworld (1927) ทำให้ Paramount Pictures จับเซ็นสัญญาระยะยาวโดยมอบอิสรภาพเต็มที่ในการสรรค์สร้างผลงาน ติดตามมาด้วย The Last Command (1928), The Docks of New York (1928), การมาถึงของยุคหนังพูดก็ยังประสบความสำเร็จกับ The Blue Angel (1930) ได้ค้นพบเจอ Marlene Dietrich ชักนำพามา Hollywood แจ้งเกิดกับ Morocco (1930)

กระแสตอบรับ von Sternberg & Dietrich เมื่อมาถึง Hollywood ถือว่าดีล้นหลาม โดยความสำเร็จของ Morocco (1930) ทำให้ Paramount Pictures เรียกร้องให้พวกเขาร่วมงานกันอีก (รวมทั้งหมด 6+1 ครั้ง) กลายมาเป็น Dishonored (1931), Shanghai Express (1932), Blonde Venus (1932), The Scarlet Empress (1934) และ The Devil is a Woman (1935) [+1 คือเรื่อง The Blue Angel (1930)]

สำหรับ Dishonored (1931) ได้แรงบันดาลใจจากสายลับ Mata Hari ชื่อจริง Margaretha Geertruida MacLeod (1876-1917) นักเต้น/โสเภณี สัญชาติ Dutch ที่กลายเป็นสายลับให้ German Empire ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อถูกจับโดยทหารฝรั่งเศส ถูกใส่ร้ายป้ายสีเป็นแพะรับบบาป ตัดสินใจโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

พัฒนาบทโดย Daniel Nathan Rubin (1892–1965) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ได้รับมอบหมายให้ดัดแปลงเรื่องราว X-27 ครุ่นคิดโดย Story by: Josef von Sternberg

เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1915 ณ กรุง Vienna, เรื่องราวของโสเภณี Marie Kolverer (รับบทโดย Marlene Dietrich) วันหนึ่งได้รับการทาบทามจากหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง (รับบทโดย Gustav von Seyffertitz) ชักชวนให้เป็นสายลับของ Austrian Secret Service ทีแรกก็เล่นตัวยื้อๆยักๆ แต่เมื่อได้ลิ้มลองภารกิจแรก เปิดโปงไส้ศึก Colonel von Hindau (รับบทโดย Warner Oland) ประสบความสำเร็จด้วยดี จึงถูกส่งไปจัดการสายลับรัสเซีย Colonel Kranau (รับบทโดย Victor McLaglen) คู่ปรับคนสำคัญที่รู้รักษาตัวรอด เฉลียวฉลาดเกินกว่าคนทั่วไปจะจับได้ไล่ทัน


Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Blue Angel (1930) แล้วออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นคู่ขาประจำ Josef von Sternberg ร่วมงานกันทั้งหมด 7 ครั้ง

รับบทโสเภณี Marie Kolverer ที่กลายมาเป็นสายลับ Agent X-27 ไม่ได้มีดีแค่เรือนร่าง ใบหน้าตา หรือความสามารถด้านการเล่นเปียโน แต่ยังเต็มไปด้วยมารยาร้อยเล่มเกวียน แรงดึงดูดทางเพศที่ทำให้บุรุษลุ่มหลงใหล ใคร่อยากได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ถึงอย่างนั้นถ้าเผลอตัวเมื่อไหร่ จะถูกล้วงความลับ เปิดโปงหนอนบ่อนไส้ จนกระทั่งพบเจอคู่ปรับ Colonel Kranau แรกๆก็มองเป็นศัตรูทั่วไป แต่หลังจากถูกจับได้ไล่ทัน โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก ถึงขนาดยินยอมให้ความช่วยเหลือ ปล่อยให้หลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ (เลยเป็นเหตุให้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตยิงเป้า)

I’ve had an inglorious life. It may become my good fortune to have a glorious death.

Marie Kolverer aka. Agent X-27

ผมมีความเพลิดเพลินทุกครั้งเมื่อได้รับชมความงดงามของ Dietrich ในผลงานของ von Sternberg นั่นเพราะการจัดแสง มุมกล้อง มอบสัมผัสที่ทำให้เธอเจิดจรัส เปร่งประกาย งดงามดั่งนางฟ้า (ร่วมงานกับ ผกก. คนอื่น มีแต่ทำให้ Dietrich ดูอัปลักษณ์ ยัยแรดร่าน โฉดชั่วร้ายลงเรื่อยๆ) ตรงกันข้ามกับมารยา ลีลาร้อยเล่มเกวียน สามารถลวงล่อหลอกใครต่อใครให้ตกหลุมรัก หลงติดกับ ซุกซ่อนเร้นจุดประสงค์/ความต้องการแท้จริงได้อย่างมิดชิด กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อสายไปแล้ว

บทบาทการแสดงช่วงแรกๆของ Dietrich มักมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน สังเกตจากสายตาดูเหงาหงอย เศร้าซึม โหยหาความรัก ใครสักคนเคียงข้างกาย ซึ่งสำหรับ Dishonored (1931) คือการสูญเสียอดีตสามี ทำให้กลายเป็นโสเภณี เมื่อทำงานเป็นสายลับ จริงๆแล้วไม่ควรตกหลุมรักใคร แต่เมื่อเผชิญหน้าคู่ปรับ(ที่เอาแต่ยิ้มเยาะ) กลับมิอาจควบคุมความต้องการจากภายใน ด้วยเหตุนี้เลยดูเหมือนว่า เธอยอมตายเพื่อรัก เป็นวิวัฒนาการ(ของ Dietrich)ที่น่าสนใจไม่น้อย

If Dietrich lives for love in The Blue Angel, and sacrifices for love in Morocco, she dies for love in Dishonored.

Andrew Sarris

Marlene Dietrich กับ Greta Garbo มักได้รับการเปรียบเทียบกันตลอดถึงความเป็นสวยสังหาร ‘femme fatale’ โดยเฉพาะบทสายลับ Agent X-27 vs. Mata Hari เอาจริงๆต่างคนก็ต่างสไตล์ Dietrich จะมีความยั่วเย้ายวน เซ็กซี่ สายตาจิกกัด เรียวขาน่าหลงใหล ขณะที่ Garbo จะระเริงรื่น ดูสนุกสนาน ปล่อยตัวกายใจ สายตาหวานแหวว ไม่ค่อยโชว์เนื้อหนังมังสาสักเท่าไหร่ … แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคนนะครับ ผมเองก็เลือกไม่ได้ว่าใครเจิดจรัสกว่า


Victor Andrew de Bier Everleigh McLaglen (1886 – 1959) นักแสดงสัญชาติ British เกิดที่ Stepney, East London ในครอบครัวมีพี่น้อง 8 คน ตอนอายุ 14 แอบไปสมัคร British Army ได้ประจำการเป็น Life Guards อยู่ที่ Windsor Castle แต่ถูกบังคับให้ออกเมื่อมีการค้นพบอายุแท้จริง, ย้ายมาอยู่ Canada เป็นนักมวย ขึ้นชกรุ่น Heavyweight ต่อมาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากรับบทขี้เมา นักเลง มีผลงานดังอย่าง What Price Glory? (1926), Dishonored (1931), ขาประจำร่วมงานผู้กำกับกับ John Ford อาทิ The Lost Patrol (1934), The Informer (1935) ** คว้า Oscar: Best Actor, Rio Grande (1950), The Quiet Man (1952) ฯลฯ

รับบท Colonel Kranau สายลับรัสเซีย รูปร่างกำยำ บึกบึน มีไหวพริบเป็นเลิศ เมื่อครั้นปลอมตัวเข้ามาสอดแนมในคาสิโน แม้ถูกล่อลวงโดย X-27 แต่พอสัมผัสถึงอันตราย ตัดสินใจหลบหนีเอาตัวรอดออกมาได้ทัน แถมยังแอบมาพบเธอที่ห้องพัก ก่อนค้นพบว่าแท้จริงคือสายลับ เมื่อมีโอกาสได้พบเจอกันอีก ล่อจับกุมในค่าพักทหารที่โปแลนด์ เตรียมประหารชีวิตวันรุ่งขึ้น กลับโดนนางวางยาสลบอย่างเสียท่า

เกร็ด: บทบาทนี้เดิมทีสตูดิโอต้องการให้ Gary Cooper แต่เจ้าตัวปฏิเสธจะร่วมงานผู้กำกับ Josef von Sternberg ที่มีความเรื่องมาก เลื่องลือชาในความยุ่งยาก

ภาพลักษณ์ของ McLaglen เหมาะสมกับตัวละครถึกๆ บ้าพลัง ใช้กำหมัดแก้ปัยหา ไม่ใช่บทบาทที่มีความเฉลียวฉลาด ไหวพริบเป็นเลิศแบบ Colonel Kranau และสิ่งที่ผมไม่เข้าใจที่สุดคือ ทำไมเอาแต่แสยะยิ้มเยาะ มันดูเสแสร้ง ผิดธรรมชาติ แม้อาจเป็นความจงใจเพื่อสื่อถึงพฤติกรรมสองหน้าของสายลับ แต่มันก็ดูอัปลักษณ์ เกินจริงไปมากๆ (Surreal)

และเคมีระหว่าง McLaglen กับ Dietrich ผมสัมผัสอะไรไม่ได้เลยสักนิด! มันเหมือนโฉมงามกับอสูร (Beauty and the Beast) โดยปกติไม่มีทางได้ครองคู่รักเหมือนเทพนิยาย แล้วทำไมเธอถึงยินยอมให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆเคยเป็นศัตรูเคยครุ่นคิดจะเข่นฆ่ากันมาก่อน … มันช่างเป็นความรักที่ผิดแผก บิดเบี้ยว สิ้นหวังเกินเยียวยา


ถ่ายภาพโดย Lee Garmes (1898 – 1978) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ทำงานมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ หนึ่งในขาประจำผู้กำกับ Josef von Sternberg ร่วมงานกันตั้งแต่ Morocco (1930), Dishonored (1931), Shanghai Express (1933) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Scarface (1932), Since You Went Away (1944), The Big Fisherman (1959) ฯ

หนังของ von Sternberg เลืองลือชาในการสร้างบรรยากาศ เต็มไปด้วยหมอก ควันบุหรี่ โดดเด่นเรื่องจัดแสง-เงา เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร จนกลายเป็นต้นแบบหนังนัวร์ (film noir)

แม้ว่าเรื่องราวของหนังมีพื้นหลังกรุง Vienna, ค่ายทหารโปแลนด์ ฯ แต่ทั้งหมดก็ปักหลักถ่ายทำอยู่ยังสตูดิโอ Paramount Pictures ออกแบบศิลป์โดย Hans Dreier (1885-1966) สัญชาติ German เคยทำงานอยู่ UFA Studios ก่อนย้ายติดตาม Ernst Lubitsch เดินทางมา Hollywood ตั้งแต่ปี 1923 แล้วปักหลักอยู่ Paramount Pictures, ได้ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Josef von Sternberg ตั้งแต่ Underword (1927), เคยเข้าชิง Oscar 23 ครั้ง คว้ามา 3 รางวัลจาก Frenchman’s Creek (1944), Samson and Delilah (1950) และ Sunset Boulevard (1950)


ใครเป็นแฟนคลับ Marlene Dietrich น่าจะตระหนักถึงเรียวขาที่คือจุดขายของเธอมาตั้งแต่ผลงานแรกๆ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เร่งรีบนำเสนอตั้งแต่ช็อตแรกๆ (เพราะเหมือนไม่มีโอกาสอื่นที่จะได้โชว์เรียว) เปิดมาก็สามารถทำให้ใครต่อใคร รับรู้โดยอัตโนมัติว่านั่นคือใคร

หนังไม่ได้นำเสนอออกมาตรงๆว่าตัวละครของ Marlene Dietrich ประกอบอาชีพอะไร แต่ผู้ชมก็น่าจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าคือโสเภณี เพราะมีหลายสิ่งอย่างบ่งชี้ค่อนข้างชัด พาผู้ชายขี้นมาห้อง ถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า (พบเห็นเพียงภาพเงา) โดยเฉพาะตุ๊กตาสองตัวนี้ที่เหมือนสร้างความรำคาญ แต่มันคือสัญลักษณ์ของชาย-หญิง กำลังระริกระรี้ ทำอะไรบางอย่าง (ร่วมรักหลับนอน)

การเล่นเปียโน ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกระจก (พบเห็นอยู่ด้านบนเปียโน) สำหรับสะท้อนอารมณ์ความรู้สีกตัวละคร ซี่งมักพบเห็นตัวละครของ Marlene Dietrich บรรเลงหลังจากเกิดเหตุการณ์บางอย่าง (ที่สร้างความขัดแย้ง ไม่พีงพอใจ) ระบายความอีดอัดอั้นที่อยู่ภายในจิตใจออกมา

อีกช็อตที่ผมนำมาคือ Close-Up ใบหน้าของตัวละคร หลังจากขับไล่หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง (เพราะครุ่นคิดว่าคงเป็นตัวปลอม สายลับส่งมาล่อซื้อใจ) เธอจีงระบายความรู้สีกออกมาผ่านสีหน้า และท่วงทำนองอารมณ์เพลง Iosif Ivanovici: Donauwellen Walzer สะท้อนชัยชนะ ความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้กระทำบางสิ่งอย่างเพื่อประเทศชาติ

ห้องทำงานของหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ประกอบด้วยหน้าต่างบานเกล็ด เมื่อแสงสาดส่องเข้ามาจะพบเห็นเงาอาบฉาบเหมือนกรงขัง สะท้อนถึงการทำงานในองค์กรที่ต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น เป็นความลับ, ส่วนการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ มีการกล่าวถึงอยู่หลายครั้งว่ากำลังทำหมึกล่องหน (ใช้มะนาวก็จบเรื่องแล้วนะ)

งานเลี้ยงปาร์ตี้ครั้งนี้ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของสายลับ ตั้งแต่การปลอมตัว สวมใส่หน้ากาก สื่อสารกันด้วยรหัสลับ ส่งข้อความผ่านลูกโป่ง เป่านกหวีด (party horn) คุยอะไรกันไม่รู้ แค่สามารถสื่อสารเข้าใจก็เพียงพอแล้วละ!

หนังแอบซ่อนใจความต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) อยู่พอสมควร! หนึ่งในนั้นคือชายขาพิการ (สวมหน้ากากโจรสลัด) ผลกระทบจากสงครามทำให้เขาไม่สามารถยืนเคารพเพลงชาติ Kaiserlied (ของชาว Austrian เคยนำมาใช้ระหว่างปี ค.ศ. 1795-1918)

เกร็ด: บทเพลงที่ได้ยินคลอประกอบในงานเลี้ยงก็คือ An der schönen, blauen Donau, Op. 314 หรือที่รู้จักในชื่อ The Blue Danube (1867) ประพันธ์โดย Johann Strauss

การใช้บุหรี่ซุกซ่อนรหัสของสายลับ แฝงนัยยะถึงสิ่งสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล (บุหรี่ มักได้รับการเปรียบเทียบเหมือน Sex เพราะเมื่อสูบเข้าไปจะสร้างความสุข กระสันต์ซ่าน ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์) ที่เมื่อส่งต่อไปถึงบุคคลเกี่ยวข้อง จะช่วยเหลือประเทศชาติมีโอกาสได้รับชัยชนะจากการสงคราม

ภายหลังจากล้วงความลับของ Colonel von Hindau สายลับสาวก็บรรเลงเปียโนบทเพลง Donauwellen Walzer (เดียวกับตอนขับไล่หัวหน้าหน่วยข่าวกรองออกจากห้องพัก) แสดงอาการกระยิ่มยิ้มถึงชัยชนะ รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ประสบความสำเร็จในการไขปริศนาภารกิจแรก

เมื่อความจริงถูกเปิดโปง Colonel von Hindau ตระหนักว่าตนเองคงไม่รอดพ้นการถูกจับกุม ตัดสินโทษประหารชีวิต เลยตัดสินใจเปิดตู้เซฟ พบเห็นภาพสะท้อนตัวตนแท้จริงในกระจก ก่อนได้ยินเสียงปืนลั่น ตัดสินใจเข่นฆ่าตัวตาย (ดีกว่าการถูกทรมาน เค้นเอาความลับ ตกอยู่ในสภาพตกตายทั้งเป็น)

ใช่ว่าทุกภารกิจของสายลับจะต้องสำเร็จลุล่วง ความล้มเหลวที่ไม่สามารถล้อมจับกุมตัว Colonel Kranau ทำให้หญิงสาวบรรเลงบทเพลง Beethove: Moonlight Sonata พบเห็นภาพสะท้อนเลือนลางบนหลังเปียโนช็อตนี้ แทนสภาพจิตใจที่ขุ่นมัว รู้สึกผิดหวังในตัวเอง

จากหญิงสาวที่ดูเริดเชิด เย่อหยิ่ง ทำตัวหัวสูงส่ง ปลอมตัวกลายเป็นสาวบ้านนอก แสดงออกป้ำๆเป่อๆ เล่นละคอนตบตาทหารรัสเซียได้อย่างแนบเนียนสุดๆ (ผมว่าบางคนก็อาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำไปนะ) ซึ่งเธอมักอยู่ตำแหน่งเบื้องบน เริ่มจากอยู่บนบันได พอได้เกี้ยวพา Colonel Kovrin ก็ปีนป่ายขึ้นชั้นบน ก่อนใช้เท้าย่ำเหยียบศีรษะก้าวลงมา … นัยยะน่าจะสื่อถึงเหนือการคาดการณ์ หรือมารยาหญิงทำให้บุรุษยินยอมศิโรราบ/สยบแทบเท้า

นี่เป็นช็อตที่ผมชอบสุดในหนังเลยนะ รู้สึกว่าสายตาจิกกัดของ Marlene Dietrich เหมือนเปี๊ยบกับเจ้าเหมียวตัวนี้ ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้มากมาย คนไทย(และเอเชียส่วนใหญ่)มักมองว่า แมวดำคือตัวแทนความตาย, ความหมายอื่นๆก็เช่น ตีนแมว (cat burgler), นางแมวยั่วสวาท, แมวเก้าชีวิต ฯ ก็แล้วแต่จะตีความเอานะครับ (ผมเข้าใจแค่ Dietrich = นางแมว ก็เพียงพอแล้วละ)

ว่าไปมันก็มีความหวาดกลัวในสายตาของตัวละครอยู่ด้วยนะ เพราะฉากนี้คือหลังถูกจับได้ไล่ทันโดย Colonel Kranau พรุ่งนี้เช้ามีแนวโน้มจะได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต แต่โชคชะตาทำให้นายพลเลือกที่จะครอบครองตัวเธอ นั่นคือโอกาสของนางแมว จะสามารถเอาตัวรอด หลบหนีพ้นได้อย่างไร

แม้รับรู้ว่ารุ่งเช้าอาจถูกประหาร แต่สายลับสาวก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่หวาดเกรงความตาย หันหลังให้กับทุกสิ่งอย่าง (พบเห็นแผ่นหลังของเธอสะท้อนบนกระจก) แล้วโอบกอดจูบ ครอบครองรักกับศัตรู ก่อนตัดภาพมายังเจ้าเหมียวเดินอยู่บนโต๊ะอาหาร (นางแมว/X-27 รับประทานจนอิ่มหนำ หรือคือได้รับการเติมเต็มจาก Sex)

วินาทีแห่งชัยชนะของสายลับสาว เมื่อสามารถลวงหลอกล่อ Colonel Kranau จนตนเองกำลังจะสามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันเลวร้าย นี่เป็นสองช็อตที่นำเสนอปฏิกิริยาของเธอ ใบหน้าแน่นิ่งแต่กระหยิ่มยิ้มภายใน แสงเงาอาบฉาบอย่างมีนัยยะความหมายลุ่มลึกล้ำ

  • ภาพแรกด้านหลังคือตารางทะแยง สื่อถึงการถูกควบคุมตัว ยังไม่สามารถหลบหนีพ้น แต่แสงบนศีรษะจะฟุ้งๆ สื่อถึงความคิดสุดบรรเจิด คาดไม่ถึง และกำลังจะทำให้เธอสามารถหลบหนีเอาตัวรอด
  • ภาพสองดานหลังดูเหมือนประตู อิสรภาพใกล้เปิดออก แต่เงามืดจะปกคลุมโดยรอบ แสดงถึงความไม่ค่อยดีใจที่ต้องหลบหนี เพราะลึกๆภายในจิตใจตกหลุมรักศัตรูคนนี้เข้าให้แล้ว

รหัสลับซุกซ่อนในบทเพลง (น่าจะแต่งขึ้นใหม่เลยนะ แต่ก็ไม่รู้ซ่อนเร้นรหัสอะไร) นี่ถือเป็นแนวคิดที่บรรเจิดสุดๆ ซึ่งยังแฝงนัยยะถึงการใช้เปียโนบรรเลงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร (ที่ผมอธิบายกระจกสะท้อนเปียโนมาตั้งแต่ต้นเรื่อง)

และหนังใช้การบรรเลงบทเพลงนี้ ซ้อนทับภาพเหตุการณ์ที่สายลับสาวเพิ่งจะพานผ่านมา สื่อถึงการทบทวนตนเอง หวนระลึกความทรงจำ มันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ระทึก หักเหลี่ยมเฉือนคม และตกหลุมรักในคราเดียวกัน

ช็อตที่ Colonel Kranau ถูกจับกุมตัว สังเกตว่ารายละเอียดด้านหลังของเขา อยู่ในตำแหน่งของหน้าต่าง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกรงขัง ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น หาหนทางหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ได้แน่นอน

แต่เรื่องของความรักเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร สายลับ X-27 กลับแอบให้ความช่วยเหลือ Colonel Kranau ให้สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ ซึ่งช็อตนี้ถ่ายย้อนแสงสาดส่องจากนอกหน้าต่าง พบเห็นพวกเขาปกคลุมอยู่ในความมืดมิด สะท้อนถึงสิ่งเป็นไปไม่ได้ สัมพันธภาพระหว่างศัตรูที่เคยครุ่นคิดเข่นฆ่ากันมาก่อน แต่นั่นคือความทรงจำที่หญิงสาวฝังจิตฝังใจ มิอาจลบลืมเลือน เลยครุ่นคิดอยากทำบางสิ่งอย่างเพื่อตอบแทนช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น … และนี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายสำหรับเธอ เปิดหน้าต่าง มอบอิสรภาพให้ชายคนรัก

นัยยะของฉากนี้ซ่อนเร้นถึงสาสน์ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ได้ด้วยเช่นกัน ต่อให้เคยครุ่นคิดจะเข่นฆ่ากัน แต่ถ้าเราสามารถมอบความรักระหว่างมิตร-ศัตรู ย่อมทำให้การต่อสู้ ความขัดแย้ง สงครามสิ้นสุดลง

ห้องคุมขังของสายลับสาว ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายโคตรหนังเงียบ The Passion of Joan of Arc (1928) ที่ดูขมุกขมัว หมองหม่น แสงจากนอกหน้าต่างสาดส่องเข้ามา มองเห็นเงาที่เป็นได้ทั้งไม้กางเขน และกรงขัง ส่วนบทเพลงที่หญิงสาวกำลังบรรเลงอยู่นั้น ซุกซ่อนเร้นความยินดีปรีดา พึงพอใจอย่างสูงสุดที่ได้กระทำสิ่งตอบสนองความปรารถนา สำเร็จลุล่วงด้วยดี ทำให้ไม่มีอะไรหลงเหลือคั่งค้างคา

ผนังกำแพงที่ดูมั่นคง สูงเสียดฟ้า สะท้อนถึงทัศนคติ ค่านิยม กฎกรอบจริยธรรมทางสังคม เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยเฉพาะความคิดเห็นเกี่ยวกับสายลับ อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าชาวโลกจะมองเห็นคุณประโยชน์ ความเสี่ยง การเสียสละชีวิตของพวกเขาและเธอเหล่านั้น เพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้น

Close-Up ใบหน้าของสายลับสาวก่อนถูกประหารยิงเป้า ไม่ได้มีความทุกข์เศร้าโศก หรือหวาดเกรงกลัวความตาย สังเกตดีๆจะมีรอยยิ้มแห่งความอิ่มสุข เบิกบานหฤทัย ภาคภูมิ/พึงพอใจในชีวิตที่ได้ทำบางสิ่งอย่างเพื่อตนเอง ประเทศชาติ และตอบสนองอุดมคติแห่งความรัก

ตาข่ายที่ปกปิดใบหน้าของหญิงสาว สามารถแทนด้วยทัศนคติของคนยุคสมัยก่อน ที่ยังคงอยู่ภายใต้กฎกรอบข้อบังคับ ถูกครอบงำโดยขนบธรรมเนียม ศีลธรรมจรรยา ด้วยเหตุนี้สายลับจึงถูกตีตราว่าเป็นอาชีพไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ตีตราว่ามีความโฉดชั่วร้าย ตัวอันตราย ต้องเข่นฆ่าให้ตกตาย

เกร็ด: ว่ากันว่าชีวิตจริง Mata Hari เมื่อถูกตัดสินประหารยิงเป้า เรียกร้องขอสวมใส่เดรส ขนมิ้งค์ ให้ตนเองมีความสวยเจิดจรัสก่อนลาจากโลกนี้ไป

ตัดต่อโดย Josef von Sternberg,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Agent X-27 ตั้งแต่ได้รับการชักชวนเข้าร่วม Austrian Secret Service มอบหมายภารกิจเปิดโปงหนอนบ่อนไส้ จับไต๋สายลับรัสเซีย ถูกส่งไปสอดแนมค่ายทหาร และการทรยศหักหลังจนถูกยิงเป้าประหารชีวิต

  • Marie Kolverer ได้รับการชักชวนเข้าร่วม Austrian Secret Service
  • ภารกิจแรก, เปิดโปงหนอนบ่อนไส้ Colonel von Hindau ประสบความสำเร็จ
  • ภารกิจสอง, ล้อมจับกุมตัวสายลับรับเซีย Colonel Kranau ประสบความล้มเหลว
  • ภารกิจสาม, ถูกส่งไปสอดแนมค่ายทหารที่โปแลนด์ แม้โดนจับกุมตัวแต่ก็สามารถหลบหนีเอาตัวรอด ถือว่าประสบความสำเร็จ
  • ภารกิจสุดท้าย, ประจำอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อพบเห็น Colonel Kranau ถูกจับกุมตัว เลยแอบให้ความช่วยเหลือ ส่วนตนเองได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต

การนำเสนอเรื่องราวในลักษณะ ‘slow burn’ ค่อยๆสร้างบรรยากาศ ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กระทั่งเมื่อถึงไคลน์แม็กซ์ของแต่ละภารกิจ ก็จะมีความรวดเร็วฉับไว สิ้นสุดลงแค่ไม่กี่เสี้ยวอึดใจ วิธีดังกล่าวอาจทำให้คอหนังปัจจุบันรู้สึกน่าเบื่อหน่าย ชวนให้หลับไหล แต่เราสามารถเรียกว่า ‘โครงสร้างพื้นฐานของหนังแนวสายลับ’ แทบทุกเรื่องล้วนมีสูตรสำเร็จลักษณะนี้ (ปราศจากวิปครีมแต่งหน้า เพียงก้อนเค้กและไส้ในเท่านั้นละ)


สำหรับเพลงประกอบ แทบทั้งหมดล้วนเป็น ‘diegetic music’ ต้องได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง วิทยุ เครื่องเล่น ขบวนพาเหรด หรือใครสักคนกำลังเล่นเปียโน เป็นฝีมือการบรรเลงของ Karl Hajos ชื่อจริง Hajós Károly (1889-1950) นักแต่งเพลงสัญชาติ Hugarian อพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1924 แล้วทำงานอยู่ Hollywood ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังพูด (Talkie) เคยเข้าชิง Oscar ทั้งหมดสองครั้ง Summer Storm (1944) และ The Man Who Walked Alone (1945)

มีสองบทเพลงชื่อดังที่ Marlene Dietrich บรรเลงบนเปียโนเพื่อแทนสภาวะทางอารมณ์ตัวละครขณะนั้น ประกอบด้วย

  • Beethoven: Sonata No.14 in C Sharp Minor, Op.27 No. 2 หรือที่ใครๆรู้จักในชื่อ Moonlight Sonata
    • บทเพลงนี้ X-27 บรรเลงหลังถูกคำสั่งล้มเลิกแผนการล่อจับกุม Colonel Kranau ที่สามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ แต่โดยไม่รู้ตัวสายลับรัสเซียคนนี้แอบเข้ามาในห้องพักของเธอ เฝ้ารอคอยที่จะสร้างความประหลาดใจเมื่อพบเห็น
    • อารมณ์ของบทเพลงนี้ สร้างบรรยากาศเศร้าซึม รู้สึกผิดหวังในตนเองที่ไม่สามารถบรรลุภารกิจ น่าจะเป็นความล้มเหลวครั้งแรกๆที่สร้างรอยบาดแผลเป็นในใจ ทำให้มิอาจหลงลืมชายคนนี้ได้ลง
  • Iosif Ivanovici: Donauwellen Walzer (1880) แปลว่า Waves of the Danube Waltz, ในสหรัฐอเมริกามักเรียกว่า The Anniversary Song
    • X-27 บรรเลงบทเพลงอยู่หลายครั้ง แต่ไฮไลท์คือครั้งสุดท้ายในห้องขัง ระบายความรู้สึกเศร้าๆแต่ก็ไม่เสียใจกับชีวิต เพราะได้ทำสิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจ ไม่หลงเหลืออะไรให้ต้องสูญเสียดาย

น่าเสียดายที่ผมหาฉบับบันทึกเสียง Donauwellen Walzer บรรเลงด้วยเปียโนล้วนๆไม่ได้ โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามีความไพเราะกว่าเต็มวงออเคสตร้าเสียอีก! … นั่นเพราะหนังเลือกใช้บทเพลงที่สอดคล้องเข้ากับเรื่องราว และบรรยากาศขณะนั้นได้อย่างลงตัวมากๆ

โลกยุคสมัยก่อนที่มนุษย์ยังคงยึดถือมั่นในกฎกรอบเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมจรรยา เลยหาใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะไม่สามารถยินยอมรับสายลับ ไส้ศึก นกสองหัว บุคคลที่ใช้ความกะล่อนปลิ้นปล้อน ลวงล่อหลอกผู้อื่นเพื่อให้ได้รับล่วงรู้บางสิ่งอย่าง ถูกตีตราว่าเป็นอาชีพไร้เกียรติ ศักดิ์ศรี มีความโฉดชั่วร้าย ต้องตีตนออกให้ห่างไกล

การจะเป็นสายลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ต้องเปี่ยมด้วยไหวพริบ ปณิธาน มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เก่งกาจในการหลบหนีเอาตัวรอด สังเกตจากแต่ละภารกิจของ X-27 ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยง อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีสิ่งใดสามารถคาดคิดถึง ต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ใช่ทุกครั้งจะประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง

มุมมองของผู้กำกับ Josef von Sternberg ไม่ได้มีอคติใดๆต่อสายลับ ตรงกันข้ามดูเหมือนจะเคารพยกย่องถึงการเสียสละตนเองเพื่อคนรัก เพื่อประเทศชาติ แม้ตัวตายแต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งลายคราม (ต้องสวมชุดขนสัตว์ แต่งหน้าทำผมให้สวยเริด ไม่เกรงกลัวความตาย ไม่อับอายอาชีพของตนเอง) แถมยังให้นายทหารคนหนึ่งระบายความอัดอั้น สื่อสาสน์ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars)

I will not kill a woman! I will not kill any more men either! Do you call this war? I call it butchery! You call this serving your country? You call this patriotism? I call it murder!

Young Lieutenant – Firing Squad

น่าจะทั้ง von Sternberg และ Dietrich ย่อมเคยได้รับการดูถูก พูดคำเหยียดหยาม ตีตราจากเชื้อชาติพันธุ์ ต้นกำเนิดชาวเยอรมัน (เพราะสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแห่งการเหยียด ‘Racism’ อยู่แล้วนะครับ) ในมุมของพวกเขาต่างไม่ใคร่สนใจอะไรพรรค์นี้อยู่แล้ว กลับตารปัตรตรงกันข้าม เห็นคนที่ทัศนคติคับแคบ มองโลกด้านเดียว กบในกะลาครอบ ตีตราอาชีพสายลับว่าเลวทรามต่ำช้า เหล่านี้ต่างหากที่ไร้เกียรติ ‘dishonored’ ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของตนเอง!

สายลับ ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นบุคคลอันตราย (แถมได้รับการฝึกฝนจนมีความครบเครื่อง เก่งกาจยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ!) แต่ไม่มีใครตำหนิต่อว่าถึงความไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ไร้ความเป็นมนุษย์อีกต่อไป เหตุผลหนึ่งอาจเพราะอิทธิพลของวงการภาพยนตร์ ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ผู้ชม ให้ตระหนักว่าพวกเขาก็ไม่ต่างคนธรรมดาๆทั่วไป ส่วนใหญ่ล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ประเทศชาติ มวลมนุษยชาติ (ฝั่งเราหรือเขาก็ไม่แตกต่างกันหรอกนะ)

แซว: ภาพยนตร์ที่ทำให้ชาวโลกปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออาชีพสายลับไปโดยสิ้นเชิง น่าจะคือแฟนไชร์ James Bond กระมัง!


แม้ว่าหนังไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่การที่สตูดิโอ M-G-M เร่งรีบสรรค์สร้าง Mata Hari (1931) เข็นออกฉายปลายปีเดียวกัน น่าจะการันตีความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่น้อยเลยละ!

เกร็ด: Jean-Luc Godard ขณะยังเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma มีความโปรดปราน Dishonored (1931) จัดอันดับสิบชาร์ท Top 10 Best American Films Ever Made

เกร็ด2: ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยัง แต่รวบรวมอยู่ใน Boxset ของ Criterion Collection ชื่อว่า Dietrich & von Sternberg in Hollywood มีทั้งหมด 6 เรื่อง คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม คมชัด ดีที่สุดแล้วกระมัง

Dishonored (1931) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความกลมกล่อมสักเท่าไหร่ของ Josef von Sternberg แต่ยังคงโดดเด่นในไดเรคชั่น การสร้างบรรยากาศ จัดแสง-เงา เรื่องราวพยายามท้าทายขนบทางสังคมยุคสมัยนั้น และทำให้ Marlene Dietrich เจิดจรัสอย่างทรงเสน่ห์ เท่ห์ไม่ซ้ำแบบใคร

คอหนังทั่วไปอาจไม่ชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้นัก เพราะคนส่วนใหญ่คงมีภาพจำหนังแนวสายลับ สวยสังหาร ต้องมีฉากแอ็คชั่น มันส์สนุกสนาน หักเหลี่ยมเฉือนคม ทรยศหักหลัง ฯลฯ แต่ถ้าเราฉีกกระชากรายละเอียดภายนอก ‘ป็อปคอร์น’ ให้หลงเหลือเพียงโครงสร้าง แก่นสาระ มันก็จะกลายเป็นแบบ Dishonored (1931) ที่มีเพียงตัวละคร การเผชิญหน้า พูดคุยสนทนา หักเหลี่ยมเฉือนคม ทรยศหักหลัง เท่านั้นเอง!

แนะนำคอหนัง ‘slow burn’ ช้าๆได้พร้าเล่มงาม (ให้ความรู้สีกคล้ายๆผลงานของ Quentin Tarantino) เรื่องราวของสายลับ สงครามโลกครั้งที่หนี่ง, ช่างภาพ ตากล้อง หลงใหลในการจัดแสง-เงา สร้างบรรยากาศประกอบฉาก, แฟนคลับ Marlene Dietrich และคลั่งไคล้ผลงานของผู้กำกับ Josef von Sternberg ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต pg กับอคติของผู้คนยุคสมัยนั้น

คำโปรย | สายลับไม่ใช่อาชีพที่ Dishonored แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บันทึกทัศนคติผู้คนยุคสมัยนั้น เก็บฝังเอาไว้ในไทม์แคปซูล
คุณภาพ | คลาสสิก-ไทม์แคปซูล
ส่วนตัว | หลายส่วนน่าสนใจ บางส่วนน่าเบื่อหน่าย

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: