Do the Right Thing (1989) : Spike Lee ♥♥♥♥
สิ่งที่ตัวละครของ Spike Lee (เล่นเองกำกับเอง) แสดงออกในช่วงท้าย มีความเหมาะสมควรถูกต้องหรือไม่? นี่กลายเป็นคำถามสุดคลาสสิกของหนังที่คงไม่มีใครตอบได้ กระนั้นผู้กำกับให้ข้อสังเกตหนึ่งว่า นักข่าวที่เคยสัมภาษณ์คำถามนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวขาวไม่เคยมีชาวผิวสี นี่มันสื่อได้ถึงอะไรกันแน่, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“Not one person of color has ever asked me that question”.
– Spike Lee
ถึงผมไม่ใช่คนผิวขาวแต่ต้องบอกเลยว่าโคตรสงสัย ไม่ใช่การกระทำนั้นของตัวละคร/ฝูงชน มีความถูก-ผิดประการใด แต่เพราะเหตุใดเขาถึงแสดงออกมาเช่นนั้น, ในทัศนคติส่วนตัว คำว่าถูก-ผิด มันอยู่ที่มุมมองของคนไม่ใช่หลักสัจธรรมสากล พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารับรู้ว่า การคิด-พูด-กระทำ จะได้รับผลกรรมตอบสนองเช่นไร จากนั้นถึงค่อยชี้แนะแบ่งแยกว่า อะไรดีสมควรทำ ความชั่วควรต้องหลีกเลี่ยง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ คือการสะท้อนปัญหา/สภาพสังคมของประเทศอเมริกา ‘Racism’ ความเหยียดหยามดูถูกดูแคลนผู้อื่น นี่คือสิ่งฝังรากลึกอยู่ภายในจิตใจของผู้คนตั้งแต่วันสร้างชาติ มันอาจเจือจางลงในปัจจุบันแต่คงไม่มีวันสูญหายหมดสิ้น คำถามจริงๆที่ควรเกิดขึ้นหลังรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทิศทางของชาวอเมริกันกับสิ่งเป็นอยู่ มันถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือยัง?
มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์หัวรุนแรงอนุรักษ์นิยมสมัยนั้น เขียนบทความโจมตีภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า จะเป็นชนวนเหตุให้ชาวผิวสีก่อการจราจล และยังกล่าวต่ออีกว่าพวกเขาคงไม่มีสติปัญญามากพอจะสามารถแบ่งแย่งสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์กับชีวิตจริงได้ นี่แหละครับประเทศแห่งเสรีภาพ
Shelton Jackson ‘Spike’ Lee (เกิดปี 1957) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Atlanta, Georgia แม่เป็นครูสอนหนังสือวิชาศิลปะและวรรณกรรม พ่อ William James Edward Lee III เป็นนักดนตรีแต่งเพลง Jazz เติบโตขึ้นในย่าน Gravesend, Brooklyn เข้าเรียน Morehouse College ตามด้วยปริญญาโทวิจิตรศิลป์สาขาภาพยนตร์&โทรทัศน์ Tisch School of the Arts ที่ซึ่งหลังจบมาได้เป็นอาจารย์สอนอยู่สักพักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก She’s Gotta Have It (1985) ด้วยทุนสร้าง $175,000 เหรียญ ใช้เวลาถ่ายทำ 2 สัปดาห์ แต่ทำเงินเฉพาะในอเมริกา $7 ล้านเหรียญ
ผลงานลำดับที่ 3 ของ Lee ได้แรงบันดาลใจจากวันอากาศร้อนสุดใน New York City สูงสุดเคยพบเจอกับตัวเองคือ 95 องศาฟาเรนไฮต์ (=35 องศาเซลเซียส) ปกติมันมักจะไม่ใช่แค่วันเดียวแต่ทั้งสัปดาห์ และเป็นช่วงเวลาที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้นสูงมาก (อากาศร้อนมันเลยทำให้คนหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายขึ้นกว่าเดิม)
Lee ใช้เวลาพัฒนาบทภาพยนตร์เพียง 2 สัปดาห์ ได้แรงบันดาลเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ที่ตัวเขาและชาวผิวสีพบเจอได้บ่อยๆ
– วัยรุ่นผิวสีคนหนึ่งถูกขับไล่ออกจากร้านขายพิซซาแถวๆ Howard Beach เห็นว่ากลายเป็นที่โจษจันไปทั่วระแวกนั้น ทำให้ไม่มีชาวผิวสีคนไหนเข้าอุดหนุนใช้บริการร้านนั้นอีกเลย
– อีกเหตุการณ์หนึ่งปรากฎอยู่บน Graffiti ผนังกำแพง “Tawana told the truth” นี่อ้างถึงเหตุการณ์ Tawana Brawley หญิงสาววัยรุ่นผิวสีถูกลักพาตัวไปข่มขืนเมื่อปี 1987 แต่คดีก็ยังเงียบหายจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราว 1 วันเต็มๆของชุมชน Bedford-Stuyvesant, Brooklyn ย่านคนผิวสี, Mookie (รับบทโดย Spike Lee) ทำงานเป็นเด็กส่งพิซซ่าในร้านของ Sal (รับบทโดย Danny Aiello) ชาวอิตาเลี่ยนผิวขาวที่เปิดกิจการมานานถึง 25 ปี ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งใดๆ เว้นเสียแต่ลูกชายคนโต Pino (รับบทโดย John Turturro) มักแสดงความรังเกียจต่อต้านคนผิวสีค่อนข้างเด่นชัด ขณะที่น้อยชายอีกคน Vito (รับบทโดย Richard Edson) สนิทสนมกับ Mookie เป็นอย่างดี
ละแวกชุมชนนี้ประกอบด้วย
– Tina (รับบทโดย Rosie Perez) แฟนสาวของ Mookie มีลูกด้วยกันแล้วหนึ่งคน แม้จะมีความสวยเซ็กซี่แต่อารมณ์ฉุนเฉียวปากจัด ด่าแม่ด่าสามีต่อหน้าลูกแบบไม่สนใจ อนาคตเด็กมันจะดีขึ้นกว่านี้ไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน
– Jade (รับบทโดย Joie Lee, น้องสาวของผู้กำกับ แต่รับบทพี่สาว –“) น่าจะเป็นคนที่มีความรู้ เฉลียวฉลาด รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่สุดในระแวกชุมชนนี้แล้วละ ด้วยเหตุนี้จึงไปเข้าตา Sal เหมือนจะจงใจเกี้ยวพาราสี แต่ก็ถูกทั้ง Mookie และลูกคนโต Pino ทัดทามหักห้ามไว้
– Da Mayor (รับบทโดย Ossie Davis) แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกเทศมนตรี วันๆกินแต่เบียร์ ทำตัวไร้แก่นสาน แต่มีจิตใจดีชอบช่วยเหลือผู้อื่น
– Mother Sister (รับบทโดย Ruby Dee) แม่บ้าน/เจ้าของตึกเช่า วันๆก็ไม่ค่อยทำอะไรนอกจากนั่งเหม่อลอยอยู่ตรงหน้าต่าง เฝ้าจับจ้องมองผู้คนเดินทางไปมาสัญจร (เอาแต่มองแล้วพูดวิพากย์วิจารณ์ ไม่เคยเข้าไปยุ่งมีส่วนร่วมกับใคร)
– Radio Raheem (รับบทโดย Bill Nunn) ชายหนุ่มร่างใหญ่ที่วันๆแบกวิทยุพกพา เปิดเสียงดนตรีดังลั่นก่อความรบกวนผู้อื่นไปทั่ว พูดจาหยาบคายแต่ก็ไม่มีพิษภัยกับใครถ้าไม่กระทำชั่วร้ายตอบ
– Smiley (รับบทโดย Roger Guenveur Smith) ชายผิวขาวที่สติสตางค์ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ วันๆเดินไปทั่วเที่ยวขายรูปภาพของ Malcolm X และ Martin Luther King, Jr. สองไอดอลของชาวผิวสี
– Buggin’ Out (รับบทโดย Giancarlo Esposito) ชายหนุ่มมาดกร่างหัวรุนแรง ชอบหาเรื่องคนอื่นไปทั่ว คับข้องใจที่ร้านพิซซ่าของ Sal ไม่มีรูปภาพวีรบุรุษผิวสีติดอยู่บ้าง จึงโวยวายเสียๆหายๆ ต้องการบอยคอตร้านแห่งนี้ สุดท้ายแล้ว…
เกร็ด: เห็นว่าในฉบับร่างแรกของบทหนัง Sal เข้าใจเหตุผลการกระทำของ Mookie เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ช่วยเหลือชีวิตไว้ไม่ให้ถูกสังคมรุมประชาทัณฑ์ แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นถึงทำให้ Lee ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบดังกล่าว
เกร็ดไร้สาระ: หนังมีคำว่า Fuck ทั้งหมด 240 ครั้ง (เฉลี่ยนาทีละ 2 คำ)
ผู้กำกับ Spike Lee เขียนบท Mookie ให้กับตนเองโดยเฉพาะ เด็กส่งพิซซาที่วันๆขี้เกียจคร้าน ขาดความรับผิดชอบ สนใจแต่สิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์/ความสุขของตนเองหน่ายเดียว กระนั้นด้วยความเป็นคนประณีประณอม หลายครั้งจึงสามารถเกลี้ยกล่อมหักห้ามยอมความกับเพื่อนๆได้ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งแตกหัก ก็มิอาจทนรั้งความอัดอั้นทรมานนั้นออกมาได้
กับคนที่รู้จัก Spike Lee อาจไม่คิดว่าเขาเป็นคนหัวอ่อนประณีประณอมแบบตัวละครนี้หรอกนะ ตัวจริงคือโคตร ‘motherfucker’ พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา กวนส้นตีนยิ่งกว่าหลายเท่า แต่ไม่แน่ว่าบทบาทนี้อาจเป็นตัวตนแท้จริงที่ถ้าคุณไม่ใช่ชาวผิวสีอาจไม่ได้พบเห็นหรอกนะ
Daniel Louis Aiello Jr. (เกิดปี 1930) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York City, สู่วงการภาพยนตร์โดยรับบทเล็กๆเรื่อง The Godfather Part II (1974) แต่คำพูดแค่ ‘Michael Corleone says hello!’ ก็ทำให้เขามีโอกาสได้รับบทนำ อาทิ Defiance (1980), Once Upon a Time in America (1984), สมทบ The Purple Rose of Cairo (1985), โด่งดังสุดคงคือ Do the Right Thing (1989) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor
รับบท Salvatore Fragione ย่อๆว่า Sal เจ้าของกิจการร้านพิซซ่า เปิดมากว่า 25 ปี จนเป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของคนในละแวก แต่เขาต้องสู้ศึกสองด้าน เพราะลูกชายคนโต Pino พยายามเกลี้ยกล่อมให้พ่อเลิกกิจการ (เพราะตัวเองรังเกียจต่อต้านคนผิวสี) ขณะที่กับ Mookie ก็รักเอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนไม่คิดอยากย้ายหนีไปไหน
ความต้องการแรกของ Lee คือ Robert De Niro แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะแสดงบทบาทคล้ายกันนี้มาเยอะเลย กระนั้นก็ได้ขอภาพมาประดับกำแพงบรรพบุรุษของ Sal, สำหรับ Aiello ในตอนแรกก็เกือบจะบอกปัดแล้วเช่นกัน เพราะคิดว่าบทเจ้าของร้านพิซซ่า คงไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่
นี่เป็นตัวละครที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย วันๆต้องพบกับความแปรปรวนทางอารมณ์มากมาย ทั้งๆมีจิตใจดีไม่ชอบวุ่นวายขัดแย้งกันใคร แต่กลับถูกบีบบังคับกดดันจนสูญเสียสติยั้งคิด สุดท้ายเลยต้องใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา พาลก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมตามมา
ผมชอบด้านอ่อนไหวของตัวละครนี้มากกว่าตอนเกรี้ยวกราดอีกนะ โดยเฉพาะตอนเกี้ยวพาราสี Jade (พี่สาวของ Mookie) การแสดงของ Aiello มีความเป็นธรรมชาติมากเลยละ ถึงจะสูงวัยมีอายุแต่คารมเป็นต่อจริงๆ
เท่ห์สุดของนักแสดงหนังเรื่องนี้ ต้องยกให้ Samuel L. Jackson ในบทนักจัดรายการวิทยุ Mister Señor Love Daddy มักพบเห็นเป็นพื้นหลังอยู่ในตึกแอร์เย็นช่ำ แต่แสร้งทำเป็นบอกว่าร้อนซะงั้น
ถ่ายภาพโดย Ernest Dickerson เพื่อนสนิทร่วมชั้นเรียนของ Lee ทำงานร่วมกันในยุคแรกๆจนถึง Malcolm X (1992) แล้วผันตัวเป็นผู้กำกับภาพยนตร์/ซีรีย์โทรทัศน์
เรื่องราวเกิดขึ้น 1 วันเต็มๆ เช้าจรดเย็น(และยามค่ำคืน) ถ่ายทำยังถนน Stuyvesant Avenue บริเวณชุมชน Bedford-Stuyvesant, Brooklyn สถานที่ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้น-ตกดิน ในทิศทางคู่ขนานกับถนน และมีการทาสีตึกเน้นส้มกับแดง เพื่อเพิ่มสัมผัสความอบอ้าวเร่าร้อนให้กับหนัง
ช็อตนี้ไม่รู้ใช้เทคนิควิธีการอะไรถึงสามารถจับภาพไอร้อนลอยขึ้นเหนือพื้น แค่เห็นก็เหงื่อชุ่มโชกแล้ว
ไดเรคชั่นของงานภาพ มักถ่ายจากด้านหน้าตรงๆในทุกๆระยะ Long Shot, Medium Shot, Close-Up นักแสดงแม้พูดคุยสนทนาก็มักหันหน้าเข้าหากล้อง มีลักษณะเหมือนพวกการ์ตูนแก๊ก (ที่ตัวละครจะหันหน้าหาผู้อ่านเสมอๆ)
สามเกลอข้างถนน (รับบทโดยสามคอมเมเดี้ยน Robin Harris, Paul Benjamin, Frankie Faison) เห็นว่าแทบทั้งหมดเป็นการดั้นสด Ad-Lib ครุ่นคิดอะไรได้ก็บ่นพึมพึงไร้สาระออกมา, สังเกตดูเงาร่มนะครับ มันบังแดดเสียที่ไหน
เมื่อใดที่การสนทนากำลังออกรสเข้มข้น มักจะใช้ภาพระดับ Close-Up ยื่นหน้าเข้ามาเต็มๆ แถมเป็น Dutch Angle มุมเอียงกระเท่เล่ สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวทางอารมณ์ และอาการลุ่มร้อนใจของตัวละครออกมาด้วย
ในบรรดามุกตลกของหนัง ที่ผมชอบสุดคือฉากนี้ วิทยุของ Radio Raheem ถ่านหมด เข้าไปซื้อถ่านที่ร้านของชาวเกาหลี พูดคุยกันธรรมดาไม่รู้เรื่องต้องมีคำว่า Motherfucker อยู่ในประโยคตลอด ขณะหนึ่งเจ้าของร้านชาวเกาหลีสวนกลับว่า “Motherfuck you!”
สำหรับช็อต Close-Up ที่เป็นการถ่ายหน้าตรงๆ (ไม่ใช่ Dutch Angle เอียงกระเท่เล่) กลับใช้เป็นการแสดงความคิดเห็นของตัวละครออกมาตรงๆจากภายในเลยละ (นี่ไม่ใช่ Dream Sequence นะครับ แต่มีลักษณะคล้ายๆ Expression การพูดระบายความคับค้องในใจของตัวละครออกมา ให้สมมติว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะในหัวของพวกเขาเท่านั้น)
“You gold teeth, gold chain wearing, fried chicken and biscuit eating, monkey, ape, baboon, big thigh, fast running, high jumping, spear-chucking, three-hundred-and-sixty-degree basketball dunking, titsun, spade, Moolignan. Go the fuck back to Africa. Go the fuck back to Africa. Go the fuck back to Africa…”
หลายคนอาจไม่ทันสังเกต บางครั้งนอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้ากล้องแล้ว พื้นหลังยังมีเรื่องราวบางอย่างแทรกอยู่ด้วย, อย่างช็อตนี้ Mother Sister นั่งอยู่ตรงริมหน้าต่าง จับจ้องเฝ้ามองทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนน
แซว: เห็นช็อตนี้แล้วนึกขึ้นมาได้ นี่เป็นหนังแจ้งเกิดเรื่องแรกของ Martin Lawrence รับบทตัวละครชื่อ Cee เป็นก๊วนอันธพาลที่วันๆหาเรื่องป่วนคนอื่นไปทั่ว งานการไม่ยอมทำ (มันแก๊งค์หมาหมู่เลยนะเนี่ย)
สนับมือ Love-Hate ได้กลายเป็นเครื่องประดับสุดฮิตของชาวผิวสีทศวรรษนั้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง The Night of the Hunter (1955) ที่ตัวละครของ Robert Mitchum ผู้เป็นบาทหลวง สักไว้ที่นิ้วมือทั้งสองข้าง (ไว้สำหรับหลอกเด็ก)
เห็นว่าเมื่อตอนรอบปฐมทัศน์ BlacKkKlansman (2018) ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ผู้กำกับ Lee นำสนับมือจากหนังเรื่องนี้สวมใส่เดินเข้างาน
ไดเรคชั่นฉากนี้ค่อนข้างเจ๋งเลยละ, สองพี่น้อง Pino กับ Vito พูดคุยโต้เถียงชกต่อยกันในห้องเก็บของ ถ่ายด้วยกล้อง Hand Held ภาพสั่นๆ หลอดไฟดวงเดียวหมุนโคลงเคลง ทั้ง Turturro และ Edson ต่างโยกเยกตัวไปมาเหมือนนักมวย สะท้อนถึงความลุ่มร้อนใจของทั้งคู่
คือฉากนี้เกิดขึ้นในห้องเก็บของ ซึ่งสะท้อนกับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ การต่อสู้ระหว่าง
– Pino/Turturro ตัวแทนของความเกลียดชังคนผิวสี (HATE)
– Vito/Edson ตัวแทนของความรัก/ยอมรับคนผิวสี (LOVE)
ข้ามมาการเผชิญหน้าตอนจบของ Mookie กับ Sal นี่เป็นมุมกล้องที่เท่ห์มากๆ ตั้งไว้กับพื้นเงยขึ้นมา ทั้งสองยืนกร่างเหมือนนักมวยขณะเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากันบนเวที พื้นหลังคือร้านพิซซ่าหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
อะไรคือความเป็นธรรมของฉากนี้?
– การเสียชีวิตของคนผิวสีหนึ่ง กับร้านคนผิวขาวที่พังย่อยยับ
– ค่าแรงของฉัน กับศักดิ์ศรีความเป็นคน
ตัดต่อโดย Barry Alexander Brown ผู้กำกับ/นักตัดต่อ ขาประจำของ Lee อยู่ช่วงหนึ่ง
หนังใช้ชุมชน Bedford-Stuyvesant, Brooklyn เป็นจุดหมุน ร้อยเรียงเรื่องราวของตัวละครต่างๆ สามารถแบ่งซอยออกเป็นตอนสั้นๆมากมาย พยายามไกล่เกลี่ยความสำคัญไปให้ถ้วนทั่ว แต่ไฮไลท์หลักก็คือ Mookie เพราะคือบุคคลที่เป็นกลาง หัวเลี้ยวหัวต่อของเรื่องราว
การตัดต่อเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่งสุดของหนัง คือก็ไม่รู้กี่เรื่องย่อยๆร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ช่วงแรกๆอาจยังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่เมื่อพบเห็นบ่อยครั้งก็รู้จักมักคุ้นเคย เข้าใจตัวตนลักษณะนิสัยตัวตนของพวกเขา กลายเป็นเหมือนเพื่อนข้างบ้านโดยทันที
สำหรับเพลง Soundtrack โดย Bill Lee พ่อของผู้กำกับ (ทั้งสองร่วมงานกันจนถึงประมาณ Jungle Fever (1991) ก่อนมีความขัดแย้งอะไรกันสักอย่างเลยแยกทางใครทางมัน) ใช้ดนตรี Jazz ช่วยเติมเต็มอารมณ์ให้หนังได้อย่างนุ่มนวล คลอประกอบเป็นพื้นหลัง เช่นฉากที่ Sal คุยเปิดอกกับ Pino เรื่องชาวผิวสี เสียงแซกโซโฟนนุ่มๆให้สัมผัสที่อ่อนไหวเห็นใจ แต่พอการมาถึงของ Smiley สร้างความรำคาญปั่นป่วน เสียงแซ็กโซโฟนดังขึ้นด้วยทำนองสับสนวุ่นวายอลม่าน
การเผชิญหน้าช่วงท้ายระหว่าง Mookie กับ Sal ณ ซากปรักหักพักหน้าร้านพิซซ่า เริ่มต้นจัดเต็มด้วยเสียงแซกโซโฟนทำนองสับสนวุ่นวายอลมาน สะท้อนความขัดแย้งภายในใจของทั้งคู่ แต่ภายหลังเมื่อเกิดความเข้าใจกันและกัน ท่วงทำนองเปลี่ยนไป เสียงไวโอลินประสานเสียงค่อยๆดังขึ้น วันใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น
Main Song/Opening Credit ผู้กำกับ Lee ส่งคำของต่อวงฮิปฮ็อป Public Enemy ให้ช่วยแต่งเพลงใหม่ประกอบหนัง
“I wanted it to be defiant, I wanted it to be angry, I wanted it to be very rhythmic. I thought right away of Public Enemy”.
ได้มาเป็น Fight the Power ขับร้องโดยวงฮิปฮ็อป Public Enemy เต้นโดย Rosie Perez ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Ann-Margret, in Bye Bye Birdie (1963) ด้วยท่า Shadowboxing สะท้อนความเกรี้ยวกราดรุนแรงที่อยู่ภายในชาวผิวสีออก
ยอดขายเกือบๆ 500,000 ก็อปปี้ เพลงนี้ติดอันดับ 40 ชาร์ม AFI’s 100 Years…100 Songs
ชอบสุดของหนังเพลง Can’t Stand It แต่งโดย David Hinds ขับร้องโดยวง Steel Pulse จากประเทศอังกฤษ เป็นแนว Roots Reggae (แขนงย่อยของ Reggae บทเพลงมักเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ/ชีวิตประจำวัน/รากฐานของมนุษย์) เปิดช่วงสงกรานต์บ้านเราเข้ากันดีเลย
แซว: ฉากที่ใช้เพลงนี้ก็นะ เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างเมามัน
ด้วยสภาพอากาศอันเร่าร้อนอบอ้าว สะท้อนความอึดอัดอั้นเดือดพลุกพล่านของชาวผิวสีต่อสภาพสังคมอเมริกันช่วงนั้น สะสมคลั่งอยู่ภายในพร้อมพรั่งพรูระบายออก รอเพียงใครสักคนเป็นชนวนต้นเหตุ จากนั้นทุกสิ่งอย่างก็จะดำเนินไปตามรอยวิถีของมัน
สังเกตว่าชาวผิวสีในหนังเรื่องนี้ วันๆไม่เห็นทำอะไรนอกจากรวมกลุ่มทำตัวเถลไถล เรื่อยเปื่อย ขนาดคนทำงานอย่าง Mookie ยังทิ้งความรับผิดชอบไปทำโน่นนี่นั่น ผิดกลับ Sal เจ้าของร้านพิซซ่า และสองคู่รักเกาหลีเปิดร้านขายของอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ต่างจริงจังกับธุรกิจของตนเองอย่างมาก (ไม่มีธุรกิจของชาวผิวสีในย่านนี้เลยนะ), นี่สะท้อนถึงพื้นฐานความแตกต่างทางวิถีเชื้อชาติ คือมันก็ไม่ผิดอะไรหรอกนะที่จะดำรงชีวิตแบบนั้น แต่ในมุมของชาวตะวันตก/คนผิวขาว/โลกทุนนิยม เหล่านี้คือพวกขี้เกียจสันหลังยาว พึ่งพาไม่ได้ นำพาความเสื่อมถอยให้ประเทศและมนุษยชาติ
วิถีทางเชื้อชาติที่แตกต่างกันนี้แหละ คือสาเหตุความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ชาวผิวขาวเป็นผู้มีความคิดอ่านเฉลียวฉลาด เมื่อพบเห็นชาวผิวสีแอฟริกันเป็นพวกป่าเถื่อน ขี้เกียจสันหลังยาว จึงจับนำมาเป็นทาสรับใช้เพราะมีเรี่ยวแรงพละกำลังมากกว่า ลากพามาถึงประเทศอเมริกัน อะไรๆก็ยังคล้ายเดิมไม่แตกต่างจากอดีตกาลมากนัก
แต่เมื่อวิถีของโลกเปลี่ยนไป การมาถึงของ Martin Luther King Jr. (1929 – 1968) และ Malcolm X (1925 – 1965) ทำให้ชาวผิวสีเริ่มกล้าที่จะใช้สิทธิ์เสียงของตนเองมากขึ้น
– Mister Señor Love Daddy นักจัดรายการวิทยุ คือตัวแทนของผู้ป่าวประกาศ ให้โอกาสผู้อื่นได้มีสิทธิ์ออกเสียง
สามตัวละครนี้คือผู้พยายามยัดเยียด’เสียง’ของตนเองให้ผู้อื่นได้รับทราบได้ยิน
– Radio Raheem เป็นเจ้าของวิทยุพกพาที่สามารถเปิดเพลงกระหึ่ม บีบบังคับให้ผู้อื่น (ที่ไม่ได้อยากฟังเพลงของหมอนี่หรอก) ต้องทนรับฟังเสียงของเขา
– Buggin’ Out ต้องการให้ Sal ติดภาพไอดอลของชาวผิวสีบนกำแพงร้านของเขาบ้าง (คือมันก็เป็นสิทธิ์ของ Sal ที่จะไม่ติด การกระทำของเขาคือความพยายามยัดเยียด’เสียง’ของตนเองให้ผู้อื่นต้องคล้อยตาม)
– Smiley คือคนที่ไม่มีสิทธิ์เสียงอะไร พูดก็ติดอ่าง แต่ต้องการมีส่วนร่วมส่ง ‘เสียง’
ชะตากรรมของ Radio Raheem ว่าไปสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Martin Luther King Jr. และ Malcolm X เสียด้วยเลยนะ บุคคลที่พยายามส่งเสียงของตนเองให้ผู้อื่นได้รับทราบ สุดท้ายแล้ว…
สำหรับ Mookie บุคคลที่วางตัวเป็นกลางตลอดเวลา สุดท้ายแล้วไฉนตัดสินใจเลือกข้าง โยนถังขยะเข้าไปในร้านพิซซ่าของ Sal?
– เพื่อช่วยชีวิต Sal ไม่ให้ถูกฝูงชนผู้เกรี้ยวกราดรุมประชาทัณฑ์
– เพราะความเกรี้ยวกราดโกรธ ทนไม่ได้ที่เห็นเพื่อนร่วมเชื้อชาติพันธุ์ถูกเข่นฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตา เป็นตัวแทนของฝูงชนทำลายทรัพย์สินของ Sal ที่เขาคิดว่าคือสาเหตุต้นตอของทุกสิ่งอย่าง
ความจงใจของ Lee ที่เปลี่ยนการกระทำของ Mookie ให้มีความคลุมเคลือนี้ กลายเป็นประเด็นปลายเปิดคาราคาซังของหนัง ทำให้เกิดข้อถกเถียงขัดแย้งขึ้นมากมาย อาจในระดับที่ผู้กำกับเองคงคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ ซึ่งมูลเหตุน่าจะเพราะชื่อหนัง ได้วางกรอบบางอย่างให้ผู้ชมมุ่งความคิดไปในทิศทางนั้น นั่นเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมควรหรือเปล่า?
“ชีวิตจงทำในสิ่งถูกต้อง?” อะไรกันละคือสิ่งถูกต้อง! นี่ถือเป็นประโยคที่มีความคลุมเคลืออย่างยิ่ง ไม่ได้สะท้อนอะไรเลยนอกจากการกระทำ บางครั้งถ้าใครคนหนึ่งทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม แต่ภายในจิตใจของเขาหวังผลประโยชน์อื่นตอบแทน แล้วนั่นคือสิ่งถูกต้องหรือเปล่า?
คำสอนโบราณบ้านเรา ‘จงทำดีละเว้นความชั่ว’ ฟังดูอาจไม่ต่างอะไรจาก ‘ชีวิตจงทำในสิ่งถูกต้อง’ แต่ผมว่ามันยังสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่า เพราะมีหลักศีลธรรมในการแยกแยะอะไรดีอะไรชั่ว แต่ในสังคมชาติตะวันตก มันไม่มีบรรทัดฐาน (นอกจากความรู้สึกส่วนตน) ในการตัดสินว่าอะไรถูกผิด
กระนั้นผมก็ยังขอจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเชื่อว่าผู้ชมจะมีโอกาสครุ่นคิดถึง ‘ความถูกต้อง’ ถึงแม้จะเป็นอะไรที่ฟังดูไม่ถูกต้อง แต่การได้ครุ่นคิดตั้งคำถาม ก็ถือว่ามีประโยชน์มากล้นเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า
แต่ก็อย่าเสียเวลาไปครุ่นคิดมากว่ามันถูกผิดประการใดนะครับ เพราะนั่นเป็นคำถามไม่มีคำตอบจริงๆ ขึ้นอยู่กับมุมมองโลกทัศน์ของคุณเอง
– ถ้ามองว่าการกระทำของ Mookie เพื่อช่วยเหลือเพื่อน นั่นย่อมถูกต้องเหมาะสมควร
– ตรงกันข้ามการทำลายทรัพย์สินข้าวของผู้อื่น แม้จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ นั่นหาได้ถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย
ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลก $37.3 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar เพียง 2 สาขา
– Best Supporting Actor (Danny Aiello)
– Best Original Screenplay
แม้ปีนั้น Driving Miss Daisy (1989) จะคว้า Oscar: Best Picture แต่การพลาดโอกาสเข้าชิงของ Do the Right Thing ในหลายๆสาขาสำคัญ สะท้อนถึง #OscarSoWhite ได้เป็นอย่างดี
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องที่อดีต ปธน. Barack Obama เล่าให้ฟังว่ารับชมกับ Michelle Obama ในวันเดทแรกเมื่อปี 1989
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ในแง่ของไดเรคชั่น การถ่ายภาพ และตัดต่อ โดดเด่นเป็นลีลาเฉพาะตัว สัมผัสได้ถึงพลังงานอันเอ่นล้น และความกวนโอ้ยบาทา ‘motherfucker’ ของผู้กำกับ Spike Lee
จัดเรต R กับความรุนแรง Racism โป๊เปลือย และภาษาหยาบคาย
Leave a Reply