Doctor Zhivago

Doctor Zhivago (1965) British : David Lean 

รถไฟของรัสเซียสายหนึ่ง ได้นำพา Doctor Zhivago ผจญภัยข้ามผ่านท้องทุ่งหิมะ อันขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา และปราสาทหิมะที่สวยงามราวกับเทพนิยาย, David Lean ยกทีมงานมาแทบทั้งชุด หลังเสร็จจาก Lawrence of Arabia (1962) ที่ถ่ายความร้อนระอุแห้งเหือดของทะเลทราย Doctor Zhivago เปลี่ยนขั้วองศา ถ่ายความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกของของโลกอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์

นับตั้งแต่ Gone With The Wind (1939) ที่ถือว่าเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกสุดอลังการคลาสสิก ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง (Civil Wars) ของประเทศอเมริกา ก็มีหนังลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย และในช่วงกลางยุค 60s ก็มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉกเช่นเดียวกันเลย เปลี่ยนพื้นหลังจากอเมริกาเป็นรัสเซีย นั่นคือ Doctor Zhivago ภาพยนตร์รักโรแมนติกสุดอลังการคลาสสิก เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการปฏวัติรัสเซีย (Russian Revolution) ยุคเปลี่ยนผ่านระหว่าง Tsar กลายมาเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำโดย Vladimir Lenin

ด้วยทุนสร้าง $11 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นหนังทุนสูงสมัยนั้น หนังทำเงินไปล้นหลามกว่า $111.7 ล้านเหรียญ ทั่วโลกรวมแล้วคงเกินกว่า $200 ล้านเหรียญ, ถึงกระนั้นก็เป็นได้แค่หนังทำเงินสูงสุดอันดับ 2 ของปี (รองจาก Sound of Music) เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน (2016) เท่ากับ $1,068 ล้านเหรียญ ใน Boxofficemojo ติดอันดับ 9 หนังปรับค่าแล้ว ทำเงินสูงสุดตลอดกาล

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Doctor Zhivago ของนักเขียนรางวัลโนเบล Boris Pasternak กวีชาวรัสเซีย, หลังจากตีพิมพ์หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกในปี 1917 ก็มีแฟนๆผู้คลั่งไคล้ Pasternak ในสหภาพโซเวียตมากมาย แต่พอในยุค 30s กลับถูกทางการแบน เพราะมองว่ามีใจความต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์, Pasternak เริ่มต้นเขียน Doctor Zhivago หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กว่าจะเสร็จสิ้นก็ปี 1956 ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง ชีวิตของเขาเอง ความขัดแย้งระหว่างภรรยากับเมียน้อย เป็นรักสามเส้า นำเสนอมุมมอง ความต้องการที่เขาต้องการให้ผู้หญิงทั้งสองเป็น แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ สหภาพโซเวียตจะยอมให้ตีพิมพ์ได้ยังไง และพื้นหลังของนิยาย ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง มองได้ว่าเป็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์, ด้วยเหตุนี้ Pasternak จึงแอบลักลอกนำต้นฉบับ ไปตีพิมพ์ที่อิตาลี วางขายทั่วยุโรปในปี 1957 แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1958 ได้รับความนิยมอย่างสูง ติดอันดับนิยายขายดีของ New York Times 26 สัปดาห์ติดต่อกัน จนได้รางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม (Literature) ในปีเดียวกันนั้นเอง [ปกติ Nobel Prize จะมอบให้กับนักเขียนในฐานะผลงานทั้งชีวิต แต่กับ Pasternak มันมองเห็นชัดเจน ว่ามอบให้เพราะ Doctor Zhivago นี้แหละ]

การประกาศมอบรางวัลโนเบล ให้กับวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเชิงต่อต้านโซเวียต (anti-Soviet) ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตกับชาวตะวันตก, เห็นว่า Pasternak จำใจต้องปฏิเสธไม่รับรางวัล (เพราะถูกทางการโซเวียตกดดันอย่างหนัก) แต่หลังจากนั้นไม่นาน สงสัยเพราะ CIA ลักลอบนำนิยายเล่มนี้ เข้าไปวางขายใต้ดินในสหภาพโซเวียต จนได้รับความนิยมอย่างลับๆ ทางการจึงทำการขับไล่ Pasternak ออกนอกประเทศ, ความเครียดส่งผลต่อสุขภาพ และเสียชีวิตในปี 1960 (Docter Zhivago จึงคือนิยายเรื่องสุดท้าย)

David Lean หลังเสร็จจาก Lawrence of Arabia (1962) ได้มองหาโปรเจคถัดไปที่จะทำ หลังจากได้อ่าน Doctor Zhivago ก็แสดงความสนใจอยากดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์, ร่วมกับ Robert Bolt ที่เคยดัดแปลง Lawrence of Arabia ร่วมกันมาก่อน เพื่อพัฒนานิยายเล่มนี้ให้กลายเป็นบทภาพยนตร์

เรื่องราวกึ่งชีวประวัติของหมอ Zhivago ที่ได้ตกหลุมรักหญิงสาวสองคน หนึ่งคือ Tonya เพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก และ Lara ที่เป็นรักแรกพบ, ด้วยหน้าที่ของหมอ ในช่วงสงครามกลางเมืองยุคเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของรัสเซีย ทำให้จับพลัดจับผลู ประสบพบเจอ แยกจาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีไหมช่วงเวลา สถานที่ที่อยู่แล้วจักเป็นสุขทั้งกายใจ ตอนจบ Zhivago จะลงเอยกับใคร…

Omar Sharif เป็นนักแสดงคนแรกที่เซ็นต์สัญญา เขาชื่นชอบนิยายและมีความสนใจบท Pasha แต่ไปๆมาๆ Lean กลับขอให้เขารับบทเป็น Zhivago เสียเอง, ความตั้งใจแรกของ Lean คือจะให้ Peter O’Toole (พระเอก Lawrence of Arabia) รับบทนำ แต่ได้รับการบอกปัด ต่อมาติดต่อ Max von Sydow, Paul Newman และ Michael Caine ที่เคยมาทดสอบหน้ากล้อง แล้วเป็นผู้แนะนำให้ Omar Sharif รับบทนำ

Dr. Yuri Andreyevich Zhivago ว่ากันตามตรง ควรเป็นคนรัสเซีย ผิวขาวซีด ผมบลอนด์/แดง ตาสีน้ำเงิน แต่ Sharif ผิวเข้ม ผมดำ ตาสีน้ำตาล เขาเป็นชาวอิยิปต์ หน้าตาเหมือนชาวอาหรับมากกว่า, แต่เอาเถอะ ถึงรูปลักษณ์ไม่ใช่ แต่การแสดงถือว่าใช้ได้ Sharif นำเสนอออกมาได้น่าหลงใหล มันมีประกายในแววตาของเขา ที่เวลาทุกข์ เศร้าโศก ดีใจ เสียใจ ข้างในเป็นอย่างไร ผู้ชมจะรู้สึกเช่นนั้นได้ด้วย

สำหรับบท Lara Antipova เห็นว่า Lean เกิดความประทับใจนักแสดงหญิงสาว ชาวอังกฤษ Julie Christie ที่เพิ่งแจ้งเกิดกับหนังเรื่อง Billy Liar (1963) ในความสวยสะคราญ และความเฉลียวฉลาด, บทนี้มีนักแสดงที่เคยอยู่ในความสนใจคือ Jane Fonda, Sarah Miles และ Yvette Mimieux

Lara ในช่วงแรกๆ สามารถเรียกได้ว่าเป็น อีดอกทอง มีชู้กับผู้ชายที่เป็นสามีของแม่ (แต่ผมว่าควรต้องโทษฝ่ายชายมากกว่า ที่กึ่งๆบังคับฝืนใจเธอ) หลังแต่งงาน ถูกสามีทิ้ง เธอก็ดูเหมือนจะเป็นผู้หญิงที่เฉลียวฉลาดขึ้น มีความเป็นผู้ดีบ้าง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นชู้รักกับ Zhivago ที่มีภรรยาแล้วอยู่ดี, การแสดงของ Christie ดูเป็นผู้หญิงร่านที่เฉลียวฉลาด แต่ผู้ชมจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ดิ้นรนทรมานเมื่อเห็นเธอร้องไห้ อิ่มใจเมื่อเห็นเธอเป็นสุข

Tonya Gromeko รับบทโดย Geraldine Chaplin (ลูกสาวของ Charlie Chaplin กับ Oona O’Neill), นักแสดงที่เคยอยู่ในความสนใจคือ Andrey Hepburn

Tonya ผู้สดใสบริสุทธิ์ แต่ถือเป็นหญิงสาวอาภัพรัก, คงเพราะเธอเป็นเพื่อนกับ Zhivago อยู่บ้านเดียวกันตั้งแต่เด็ก รู้จัก เข้าใจกันเป็นอย่างดี มันเลยเสมือนเพื่อนพี่น้องมากกว่าหญิงคนรัก นั่นทำให้ตอน Zhivago พบกับ Lara ครั้งแรก นั่นคือการตกหลุมรักหลงใหลจริงๆ แต่เพราะที่บ้านมี Tonya อยู่แล้ว จิตสำนึกจึงพยายามยับยั้ง รีรอ … แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถอดกลั้นได้ เพราะคนที่ Zhivago รักแท้จริงนั้นมีเพียง Lara เท่านั้น

สำหรับนักแสดงมีชื่ออื่นๆอาทิ
– Rod Steiger รับบท Victor Ipolitovich Komarovsky ชายร่างใหญ่ที่มากด้วยกิเลสตัณหา เป็นคนที่ทำลายความบริสุทธิ์ใสซื่อของ Lara ให้ขาดสะบั้นลง, บทนี้ผู้กำกับเคยติดต่อ Marlon Brando และ James Mason แต่ทั้งคู่บอกปัด
– Tom Courtenay รับบท Pasha Antipov / Strelnikov ชายหน้าตาติ๋มๆ ใส่แว่น Harry Potter ดูเหมือนคนที่ไม่สมประกอบ แต่ใครจะไปคิดว่าเขาจะกลายเป็นผู้นำกลุ่มปฏิวัติที่ (เกือบ) จะยิ่งใหญ่ได้, บทนี้ Robert Bolt เคยพยายามล็อบบี้ให้ Albert Finney ได้ แต่สุดท้ายผู้กำกับเลือก Coutenay ที่หนุ่มแน่นกว่า
– Alec Guinness รับบทพี่ชายของ Zhivago มีตำแหน่งเป็นพลโท (Lieutenant General) ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก เป็นแค่คนนำเล่าเข้าเรื่องเท่านั้น

ถ่ายภาพโดย Freddie Young กับงานภาพสไตล์ Impressionist เน้นความสวยงามตระการตา อลังการงานสร้างไว้ก่อน, เดินทีเห็นว่า Nicolas Roeg จะเป็นตากล้องให้กับหนัง แต่เพราะความเห็นไม่ลงรอยกับผู้กำกับเลยถอนตัวไป

ตอนที่ Young ถ่าย Lawrence of Arabia เขาทำการทดลองถ่ายภาพ ไกลสุดเท่าที่กล้องสามารถบันทึกภาพได้ในท้องทะเลทราย, เช่นกันกับหนังเรื่องนี้ ในพายุหิมะ ท้องทุ่งขาวโพลน ไกลสุดเท่าที่กล้องจะสามารถบันทึกภาพมองเห็นได้ ด้วยเลนส์ Panavision (Anamorphic Widescreen) ฟีล์ม 70mm, Metrocolor ถ้าคุณมีโอกาสได้รับชมในโรงภาพยนตร์จอใหญ่ สักครั้งในชีวิตไม่ควรพลาดเลย

ส่วนการถ่ายภายใน มีการเล่นกับแสงเงาที่ค่อนข้างชัด (เกินไปเสียหน่อย) ในโรงพยาบาลหลังสงคราม ระหว่าง Zhivago และ Lara ฝั่งของหญิงสาว แสงจะสว่างสดใส ตรงข้ามกับฝั่งของ Zhivago ที่ค่อนข้างมืด มีแสงสว่างส่องคาดดวงตาของเขาเท่านั้น นี่แสดงถึงว่าในใจของ Zhivago จับจ้อง มองเพียงหญิงสาวคนเดียวเท่านั้น, นี่ดูเหมือนภาพ Expressionst แต่มองเป็น Impressionist ก็ได้เช่นกัน

ในความร่านของ Lara สวมชุดสีแดง (เสียความบริสุทธิ์) ไปหา Victor Ipolitovich Komarovsky ที่ห้องของเขา (คงไม่ต้องบอกว่าทำอะไร) ภาพในกระจกสะท้อนตัวตนของเธอ ที่ในใจจริง คงไม่อยากให้ชีวิตเป็นแบบนี้

กับช็อตที่ทำให้ผมนึกถึงภาพ Impressionist รูปดอกทานตะวันของ Van Gogh, ตอนที่ Lara จากลา Zhivago ที่โรงพยาบาลในช่วงสงคราม ดอกทานตะวันกำลังร่วงโรย (เราจะเห็นดอกทานตะวันบนสะพรั่งอีกครั้ง ทั่วทุ่งที่บ้านของ Zhivago ครึ่งหลังของหนังนะครับ)

สำหรับช็อตที่ผมชอบที่สุด คือขณะ Lara อยู่ในห้องของ Pasha จุดเทียนไขริมหน้าต่าง แล้วความร้อนค่อยๆละลายน้ำแข็งที่เกาะติดกระจก เห็นแม่คะนิ้งเป็นเกร็ดดอกไม้สวยสะพรั่ง กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าถ่ายให้เห็นภายในห้องว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง (แต่ไม่มีเสีย) ผมถือว่าช็อตนี้สวยงามที่สุดในหนัง ยิ่งกว่าเดินฝ่าพายุ หรือภาพปราสาทหิมะเสียอีกนะครับ [ไม่ใช่ภาพนี้นะครับ แต่หาได้แต่แบบนี้]

ถึงเรื่องราวจะดำเนินเรื่องในรัสเซีย แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำได้ (ตอนนั้นสงครามเย็นกำลังคุกรุ่น) หนังถ่ายทำที่สเปน (ที่เดียวกับ Lawrence of Arabia) แต่ปีนั้นดันร้อนสุดในรอบ 50 ปี จึงแทบหาสถานที่ที่มีหิมะถ่ายไม่ได้เลย, ฉากภายในแทบทั้งหมด จึงถ่ายทำในสตูดิโอ สร้างฉากขึ้นมา สำหรับปราสาทหิมะขาวโพลนทั้งหลัง ใช้ขึ้ผึ้ง (beeswax) แทนหิมะ (จะคงทนอยู่ได้หลายวันกว่า) ถ่ายทำที่จังหวัด Soria ประเทศสเปน, เขื่อนตอนต้นเรื่อง/ตอนจบ ถ่ายทำที่ Aldeadávila Dam อยู่ระหว่าง Spain กับ Portugal (เขื่อนใช้ควบคุมน้ำไหล, น้ำ=กาลเวลา, มีนัยยะหมายถึง คนรุ่นใหม่ ต่อไปจักคือผู้ควบคุม ตัดสินชะตาอนาคตของประเทศชาติ)

เทียบงานภาพระหว่าง Lawrence of Arabia และ Doctor Zhivago, ผมชื่นชอบ Lawrence of Arabia มากกว่ามากๆ เพราะความสวยงามที่เป็นธรรมชาติ ผิดกับ Doctor Zhivago ที่ดูรู้ว่าปั้นแต่ง มีการออกแบบ สร้างฉากขึ้นใหม่จำนวนมากกว่า ขาดไม่สมจริงในระดับเชื่อถือได้ และอลังการน้อยกว่าด้วย

ตัดต่อโดย Norman Savage, เปิดเรื่องมา พี่ชายของ Zhivago (นำแสดงโดย Alec Guinness) ออกตามหาหลานสาวที่หายไปของ Zhivago เพื่อรับเลี้ยงอุปถัมถ์ จนได้พบกับ Tanya Komarova (รับบทโดย Rita Tushingham) จึงได้ตัดสินใจเล่าเรื่องราวของพ่อแม่เธอให้ฟัง, หนังทั้งเรื่องถือเป็นการเล่าย้อนอดีต (Flashback) ที่จะมีการตัดสลับระหว่าง Zhivago กับ Lara (แต่ถ้ามองเรื่องราวของการย้อนอดีต จะเห็นเป็นเรื่องราวของ Zhivago เสียส่วนใหญ่)

ลีลาการตัดต่อของ Savage ยังคงชักช้า เนิบนาบ แบบเดียวกับ Lawrence of Arabia เป็นความจงใจที่จะค่อยๆสร้างบรรยากาศ ให้ผู้ชมได้สัมผัส ซึมซับความงดงามได้อย่างเต็มอิ่ม แต่การโชว์ของของหนังสองเรื่องนั้นต่างกัน
– Lawrence of Arabia ความสวยงาม อลังการ ยิ่งใหญ่ของทะเลทราย จะปรากฎเห็นตั้งแต่ต้นๆเรื่อง นี่ทำให้เกิดความตราตรึงที่ติดตา ไปจนจบเรื่อง (แม้ครึ่งหลังความอลังการจะเปลี่ยนไป แต่คนก็ยังจดจำความสวยงามของครึ่งชั่วโมงแรกไว้ได้ไม่ลืมเลือน)
– Doctor Zhivago กว่าที่จะได้เห็นการโชว์ของงานภาพ ที่งดงาม ตระการตา ก็เข้าสู่ช่วงครึ่งหลัง, ช่วงแรกๆเป็นดราม่าแนะนำตัวละครให้รู้จัก ค่อยๆสะสมความคุ้นเคย จนปล่อยออกในช่วงท้าย กล่าวคือ เราจะค่อยๆเห็นหนังเรื่องนี้สวยขึ้นตามเวลาที่ดำเนินไป ไม่สวยตะลึงแบบ Lawrence of Arabia (แต่ก็อาจอ้าปากค้างได้เหมือนกัน เมื่อเห็นปราสาทหิมะขาวโพลน)

เพลงประกอบโดย Maurice Jarre มีความไพเราะงดงามเป็นอมตะ สวยงามดังบทกวี, ผมสังเกตเห็นในหนัง จะไม่มีบทกลอนใดๆดังขึ้นเลย คือมีแบบตัวละครกวาดสายตาอ่าน แต่ไม่มีการพูดออกมา แต่ขณะที่กำลังอ่านนั้น มันจะมีเสียงเพลงบรรเลงดังขึ้นมา นี่ทำให้ผมตระหนักได้ว่า บทเพลงนี่แหละที่คือ บทกลอนของหนัง ไพเราะงดงามจับใจดังบทกวี

Balalaika เครื่องสายพื้นบ้านของรัสเซีย มันก็เหมือน Banjo, Guitar แค่ส่วนท้องเป็นสามเหลี่ยม วิธีการเล่น นิยมดีดโน๊ตตัวเดิมซ้ำๆรัวหลายครั้ง เกิดเป็นเสียงเหมือนลูกคอ สั่นสะท้าน, ความไพเราะของ Balalaika ในหนังจะมีหลากหลายความรู้สึกมาก อาทิ กับภาพเกร็ดน้ำแข็ง แม่คะนิ้งสวยสะพรั่งเหมือนดอกไม้น้ำแข็ง, สายลมพริ้วไหว โบกโชยในท้องทุ่งดอกทานตะวัน, ลมพายุหิมะสีขาว กรีดแทง หนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจ ฯ

สำหรับ Lara’s Theme ผมเรียกลักษณะเพลงนี้ว่า Impressionist ได้ยินแล้วรู้สึกตราตรึง ประทับจับใจ นี่เป็น Theme ที่มีความไพเราะที่สุด และเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของผมด้วยนะครับ

ถ้าเทียบเพลงประกอบ ระหว่าง Lawrence of Arabia กับ Doctor Zhivago ที่แต่งขึ้นโดย Maurice Jarre เหมือนกัน ถึงบรรยากาศมันจะคนละ feeling กันเลย แต่ส่วนตัวชอบ Doctor Zhivago มากกว่า เพราะความหวาน โหยหวน เจ็บปวดมันเสียดแทงเข้าไปในใจ มากกว่าความอลังการขนลุกของ Lawrence of Arabia

เกร็ด: เพลงประกอบหนัง นอกจาก Oscar, Golden Globe แล้ว ยังได้รางวัล Grammy Award ด้วยนะครับ

กับคนที่ช่างสังเกตหน่อย จะได้ยินเสียงหวูดรถไฟอยู่ตลอดแทบทั้งเรื่อง (โดยเฉพาะตอนต้นเรื่อง) นี่คงเป็นการเปรียบเทียบ การเดินทางของหนัง ผ่านช่วงเวลาต่างๆของชีวิต ประวัติศาสตร์ชาติรัสเซีย และเพื่อเป็นการค้นหาตัวละครที่หายไป (คือลูกของ Zhivago และ Lara) เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเดาได้ เด็กหญิงที่ปรากฏตัวต้นเรื่อง/ท้ายเรื่อง -คัดเลือกนักแสดงมาให้หน้าตาคล้ายขนาดนั้น- ถ้าไม่ใช่ลูกของทั้งสอง มันก็คงไม่ใช่แล้วละครับ

แล้วมันมีอะไรกับการเดินทางครั้งนี้? รักแท้ การค้นพบ พลัดพราก และสูญเสีย, ระหว่าง Lara กับ Tanya ที่ผมเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า หญิงที่ Zhivago รักแท้จริงคือ Lara ส่วน Tanya เปรียบเสมือนเพื่อน/น้องสาว ที่ถึงมีพยานรักด้วยกัน ก็ใช่ว่าจิตใจเขาจะเป็นของเธอ (มันเหมือนหน้าที่เสียมากกว่า) กับผู้ชายแบบนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่คงด่าแช่ง ว่าสองจิตสองใจ แต่ไม่ลองแทนหัวใจตัวเองด้วย Lara ดูละครับ ผมคิดว่าเธอก็รับ Zhivago ด้วยชีวิตเช่นกัน แม้ช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันมีเพียงน้อยนิด แต่คือช่วงเวลาที่ตราตรึง ประทับใจ (Impression) ที่สุดแล้ว

สงครามกับความรัก เป็นความน้ำเน่าที่เข้ากันที่สุดแล้ว กับคนที่ผ่านช่วงเวลาสงครามมา ได้สูญเสียเพื่อน/ครอบครัว/คนรัก ย่อมสามารถรับสัมผัส ความรู้สึกของการพลัดพราก แยกจาก พบเจอได้เป็นอย่างดี ชีวิตที่พบความเป็น/ตาย อยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นใครก็ต้องมองหาแสงสว่าง เพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้, นี่น่าจะคือเหตุผลที่หนัง สงคราม+โรแมนติก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในทศวรรษก่อน เพราะมันโดนใจ แทงใจ กระแทกใจผู้ชมในยุคนั้นมากที่สุดนั่นเอง

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ เราสามารถแทน Doctor Zhivago ได้ด้วยตัวผู้เขียนนิยายเอง Boris Pasternak เป็นการแทรกตัวเองเข้าไปในประวัติศาสตร์ แล้วแสดงทัศนะ ความคิดเห็น ต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นออกมา, อย่างตอนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ มีการประหารชีวิต Tsar พ่อของ Tanya แสดงความเห็นว่า ‘ต้องทำกันขนาดนี้เลยเหรอ?’ ในมุมของสามัญชน นี่อาจเป็นคำพูดทั่วไปที่ย่อมต้องมีใครคิดแบบนี้ แต่กับนิยาย/ภาพยนตร์ ซึ่งเข้าถึงสาธารณชนได้มากกว่า มันจึงมีลักษณะเป็นการสอน ชวนเชื่อ ปลูกฝัง นี่ย่อมเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิยายเล่มนี้ถูกแบบในรัสเซียอย่างแน่

ถึงหนังจะไม่มีการเอ่ยบทกลอนของ Zhivago ขึ้นมาเลย แต่มันทำให้ผมเกิดความใคร่สนใจ อยากรู้จักกับ Boris Pasternak พอสมควร จึงลองไปหาบทกลอนของเขามาอ่าน และได้บทหนึ่งที่มีน่าสนใจมาก ชื่อ Nobel Prize รำพันถึงความเจ็บปวดทรมาน เอามาแทรกให้อ่านดู ใครสนใจเพิ่มเติม คลิกตามลิ้งค์ไปอ่านเองนะครับ

Nobel Prize

All is lost, I’m a beast in a pen.
There are people and freedom outside,
But the hunters are already at hand
And I haven’t a way to take flight.

The bank of a pond… woods at night
And the trunk of the pine lying bare.
I am trapped and cut off on each side.
Come what comes, I simply don’t care.

Am I a murderer, a villain, a creep?
Of what crime do I stand here condemned?
The whole world listens, ready to weep
At my words of my beautiful land.

Even now, at the edge of the tomb,
I believe in the virtuous fate,–
And the spirit of goodness will soon
Overcome all the malice and hate.

Boris Pasternak แปลโดย Andrey Kneller, 1959

reference: http://poetsofmodernity.xyz/POMBR/Russian/Pasternak.htm
reference: https://sites.google.com/site/poetryandtranslations/boris-pasternak/nobel-prize

หนังเข้าชิง Oscar 10 สาขา ได้มา 5 รางวัล (สายเทคนิคทั้งหมด)
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Tom Courtenay)
– Best Adapted Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Editing
– Best Art Direction** ได้รางวัล
– Best Costume Design** ได้รางวัล
– Best Original Score** ได้รางวัล
– Best Sound

ได้เข้าชิง Golden Globe Award 5 สาขา กวาดเรียบ นี่เป็นสถิติได้รางวัลสูงสุด เทียบเท่า Love Story (1970), The Godfather (1972), One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) และ A Star Is Born (1976)
– Best Picture – Drama
– Best Director
– Best Actor (Omar Sharif)
– Best Screenplay
– Best Original Score

ตอนหนังออกฉาย ได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่ง โดยเฉพาะเคมีระหว่างคู่พระนางที่ไม่ค่อยสมจริง (และการคัดเลือกนักแสดง ที่เอานักแสดงอังกฤษมาเล่นเป็นคนรัสเซีย) กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้รับการยกย่องให้กลายเป็นหนังคลาสสิกสุดอลังการ เคยติดอันดับ 38 AFI’s 100 Years… 100 Movies เมื่อปี 1998 (น่าเสียดาย จัดอันดับครั้งล่าสุด ปี 2007 ตกจากลิสไปเสียแล้ว)

ส่วนตัว แค่ชอบ หนังเรื่องนี้ ในงานออกแบบ ถ่ายภาพ และเพลงประกอบ ที่มีความงดงามตระการตา ไพเราะเสนาะหู แต่เรื่องราวของหนังเป็นข้อด้อยที่ผมไม่ประทับใจเอาเสียเลย มันเหมือน Gone With The Wind (1939) ลมที่พัดมาแล้วผ่านไป ซึ่ง Doctor Zhivago เปรียบเสมือนลมหนาว ที่นำพาความเย็นยะเยือก พัดผ่านมาแล้วทิ้งความหนาวเหน็บอยู่ข้างในจิตใจ ดูจบแล้วรู้สึกเย็นชา ไร้ความรู้สึก นี่มิใช่ความรู้สึกที่น่าอภิรมณ์เสียเท่าไหร่

ถ้าคุณเป็นคนชอบหนังประเภท Epic อลังการงานสร้าง ออกแบบสวยๆ ถ่ายภาพเลิศ เพลงประกอบสุดไพเราะ, แฟนหนังของ David Lean, Omar Sharif, Julie Christie, Geraldine Chaplin และ Alex Guinness ไม่ควรพลาด

แนะนำอย่างยิ่งกับคนชื่นชอบประวัติศาสตร์ Russia หนังนำเสนอช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ขณะสิ้นยุคสมัย Tsar เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง แดง, ขาว ฯ การใช้ชีวิตของประชาชนในระดับรากหญ้า ที่ตกอยู่ท่ามกลางระหว่างความขัดแย้ง

จัดเรต 13+ กับความโหดเหี้ยมรุนแรง ของทั้งขาวและแดง

TAGLINE | “Doctor Zhivago ของผู้กำกับ David Lean มีความอลังการงานสร้างในทุกๆด้าน ยกเว้นเรื่องราวที่เปรียบเหมือนลมหนาวพัดมาแล้วผ่านไป ทิ้งความเย็นยะเยือกไว้ในขั้วหัวใจ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: