Dog Day Afternoon (1975)
: Sidney Lumet ♥♥♥♥
บ่ายวันหนึ่งท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวย่าน Brooklyn, New York City โจรกระจอก 3-1=2 คน เหลือเพียง Al Pacino และ John Cazale ร่วมกันออกปล้นธนาคาร ยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรภายนอกกลับมีตำรวจกิ๊กก๊อกยิ่งกว่า แทนที่จะซุ่มดักรอจับตอนหลบหนี กลับยกโขยงนับร้อยห้อมล้อมรอบ ไม่นานนักข่าวก็กรูเข้ามา พร้อมผู้ชมเชียร์หลายร้อยพัน กลายเป็น Events สุดร้อนแรงแห่งปี, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เกร็ด: Dog Days of Summer แปลว่า ช่วงร้อนที่สุดแห่งปี, สำนวนนี้มาจากดาว Sirius ในกลุ่มดาวหมาใหญ่ เมื่อสมัยโบราณมักขึ้นพร้อมดวงอาทิตย์ บริเวณซีกโลกเหนือ จะพอดีตรงกับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม กลางฤดูร้อนของทุกปี ชาวยุโรปจึงมีความเชื่อกันว่า อากาศอันร้อนอบอ้าวเป็นผลพวงอิทธิพลจากดาว Sirius เลยกลายเป็นคำอุปมาอุปไมย เปรียบช่วงเวลา ‘Dog Day’ กับการกระทำอะไรไม่ค่อยประสบความสำเร็จ พบเจอแต่ความยากลำบาก
ด้วยเหตุนี้ Dog Day Afternoon จึงหมายถึง การเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างในช่วงบ่ายร้อนจัด มักเป็นเหตุให้ประสบความล้มเหลวอยู่เสมอ
What you are about to see is true — It happened in Brooklyn, New York on August 22, 1972.
ตอนที่หนังขึ้นต้นเรื่องด้วยข้อความดังกล่าว ประมาณสักสิบนาทีผ่านไปผมเริ่มเกิดความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง รอดูจนจบแล้วค่อยค้นหาข้อมูล ก็พบว่ามันเป็นเรื่องจริง จริงๆด้วย! แล้วก็กุมขมับขำไม่ออก โจรกระจอกปล้นธนาคารมันไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์จริงๆๆ และด้วยเหตุผลการปล้นที่โคตรจะ WTF! ด้วยเหตุนี้เลยกลายเป็นตำนานทั้งกับ
– จะเป็นโจรปล้นธนาคาร ต้องดูหนังเรื่องนี้แล้วอย่าเลียนแบบตามในความกระจอกโง่เง่า
– เห็นว่าเป็นหลักสูตรหนึ่งของนักเรียนตำรวจ สถานการณ์ฝึกหัดให้รู้จักจัดการรับมือ ที่ไม่ใช่กิ๊กก๊อกสิ้นคิดแบบในหนัง
ในแง่ของภาพยนตร์ การแสดงของ Al Pacino กลายเป็นตำนานอีกบทหนึ่ง (พลาด Oscar: Best Actor ให้กับ Jack Nicholson เรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest) ตรงกันข้ามสุดขั้วกับ The Godfather สองภาคแรกที่เพิ่งแสดงเสร็จสิ้นมา ประกอบกับไดเรคชั่นของ Sidney Lumet จะเรียกว่าเป็น ‘Actor’s Picture’ ก็ยังได้
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดจาก Frank Pierson (1925 – 2012) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆก่อนหน้า อาทิ Cat Ballou (1965), Cool Hand Luke (1967) ฯ เกิดความสนใจบทความของ P. F. Kluge ในนิตยสาร LIFE ฉบับวันที่ 22 กันยายน 1972 ชื่อเรื่อง The Boys in the Bank (นี่เป็น Working Title ของหนังก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Dog Day Afternoon) ซึ่งได้ทำการรวบรวมเรื่องราวรายละเอียดจากการสัมภาษณ์ตัวประกันที่อยู่ในเหตุการณ์ปล้นธนาคาร Chase Manhattan Bank สาขา Gravesend, Brooklyn ของ John Wojtowicz และ Salvatore Naturale เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1972 ทั้งๆควรเป็นการปล้นเพียงสิบนาที แต่ยืดเยื้อยาวนานไปกว่า 14 ชั่วโมง
ผู้จัดการธนาคาร Robert Barrett ในบทความนั้นแสดงความเห็นว่า
“I’m supposed to hate you guys [Wojtowicz/Naturale], but I’ve had more laughs tonight than I’ve had in weeks. We had a kind of camaraderie.”
ขณะที่หัวหน้าพนักงานธนาคาร Shirley Bell เล่าว่า
“[If] they had been my house guests on a Saturday night, it would have been hilarious.”
John Stanley Wojtowicz (1945 – 2006) เกิดที่ New York City, พ่อสัญชาติ Polish ส่วนแม่เชื้อสาย Italian-American เรียนจบทำงานเป็นพนักงานธนาคาร พบเจอแต่งงานกับภรรยา Carmen Bifulco มีลูกสองคน ต่อมาสมัครทหารไปสงครามเวียดนาม จับพลัดจับพลูยังไงก็ไม่รู้เข้าร่วม Gay Activists Alliance (GAA) เริ่มเบี่ยงเบนทางเพศตั้งแต่ตอนนั้น
“I was a member of the entertainment committee, so I would meet and greet new gay people coming into the scene. I could have sex with them quicker than anybody else, because they were just coming out.”
– John Wojtowicz
กลับมาจากสงครามอาการติด Sex ยิ่งทรุดหนัก จนต้องหย่าขาดภรรยา ไม่นานพบเจอ Ernie Aron ผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender) ในชื่อ Elizabeth Eden ที่ Feast of San Gennaro, New York City ไม่นานนักก็ได้แต่งงานกัน แต่ชีวิตคู่เต็มไปด้วยความบาดหมาดทะเลาะขัดแย้งบ่อยครั้ง
“He was skeevy. He was obsessed with sex . . . I thought he was pretty stupid.”
หลังฝืนทนอยู่ด้วยกันเป็นปีๆ ครั้งหนึ่ง Eden พูดคุยเรื่องการแปลงเพศแต่ถูกปฏิเสธไม่เห็นด้วย เธอจึงพยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช ทำให้ Wojtowicz เปลี่ยนใจอยากที่จะหาเงินช่วยสนับสนุนผ่าตัด
Wojtowicz พบเจอ Salvatore Antonio ‘Sal’ Naturale (อายุ 18 ปี) และ Robert Westenberg (อายุ 20 ปี) ที่บาร์เกย์แถวๆ Seventh Avenue South, Lower Manhattan ได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารคนหนึ่งของ Chase Manhattan ให้ลองปล้นธนาคารดูสิ เกิดเป็นไอเดียศึกษารับชม The Godfather (1972) สร้างแรงบันดาลใจ ก่อการวันที่ 22 สิงหาคม 1972
ช่วงระหว่างพัฒนาบท Frank Pierson พยายามหาทางติดต่อนัดพบเจอ Wojtowicz แต่เจ้าตัวปฏิเสธไม่สนใจ อ้างว่าจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้น้อยเกินไป ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังจากเจ้าตัวมีโอกาสรับชมหนัง เขียนจดหมายส่งถึงหนังสือพิมพ์ The New York Times เล่าถึงความวิตกกังวลว่าผู้คนจะเกิดความเข้าใจผิดในเหตุการณ์จริง เพราะมีเพียงประมาณ 30% เท่านั้นที่ถูกต้อง
– Wojtowicz เลิกกับภรรยา Carmen Bifulco (ที่ก็ไม่ได้อ้วนฉุขนาดนั้น) ก่อนหน้าพบเจอ Eden (ในหนังเหมือนจะสื่อว่า Eden คือชนวนสาเหตุให้เขาเลิกรากับภรรยา)
– ตัวเขาไม่เคยพูดคุยกับแม่ หรือภรรยาทางโทรศัพท์ แต่กับ Eden พบเจอกันซึ่งๆหน้า ลาจากด้วยการกอดจูบอย่างดื่มด่ำ (Pacino ปฏิเสธที่จะแสดงออกเช่นนั้น เลยเปลี่ยนเป็นแค่คุยโทรศัพท์หากัน)
– Sal ตัวจริงอายุ 18 ปี (John Cazale ขณะนั้นอายุ 39) และเขาไม่เคยคิดขายเพื่อน (ในหนังทำเหมือน Wojtowicz ขาย Sal ให้ตำรวจ)
ฯลฯ
แต่ก็มีที่ Wojtowicz แสดงความชื่นชอบอย่างออกนอกหน้า นั่นคือ Al Pacino และ Chris Sarandon มีความใกล้เคียงตัวจริงมากๆ
ถึงไม่มีโอกาสได้พบตัวจริง Pierson ก็จินตนาการถึง Wojtowicz เป็นคนที่มีลักษณะดั่งคำพูด ขณะเดินเข้าไปปล้นธนาคารยกปืนขึ้นมาพูดว่า
“I’m a Catholic and I don’t want to hurt anyone, understand?”
Sidney Arthur Lumet (1924 – 2011) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ในครอบครัวเชื้อสาย Jews พ่อแม่เป็นนักแสดง-ผู้กำกับในโรงละคร Yiddish Theatre ทำให้เขาตามรอยเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ สมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำการอยู่พม่าและอินเดีย ปลดประจำการกลายเป็นผู้กำกับ Off-Broadway ครูสอนการแสดง กำกับซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่องจนโด่งดัง ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ปฏิวัติวงการโดยนำแนวทางโปรดักชั่นโทรทัศน์มาใช้ถ่ายทำเรื่อง 12 Angry Men (1957), เข้าชิง Oscar: Best Director ถึง 4 ครั้งแต่ไม่เคยได้ จากเรื่อง 12 Angry Men (1957), Dog Day Afternoon (1975), Network (1976), The Verdict (1982), ทำให้ Academy ต้องมอบ Honorary Award เมื่อปี 2005
ความที่เติบโตจากการเป็นนักแสดง และโด่งดังจากยุค Golden Age of Television ทำให้สไตล์ของ Lumet โดดเด่นเรื่องการกำกับนักแสดง (Actor’s Director) มี’พลัง’ในการทำงานเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยใช้เวลาทิ้งขว้างไร้ค่า ทุกสิ่งอย่างต้องมีการเตรียมพร้อม ซักซ้อมการแสดงล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำให้พอถึงเวลาถ่ายจริงทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน
สำหรับ Dog Day Afternoon เพราะความที่เรื่องราวอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง แต่เพื่อไม่ให้ตนเองหมกมุ่นอยู่กับฟุตเทจปริมาณมหาศาล เลยปฏิเสธที่จะรับชม แต่ก็มิได้หักห้ามนักแสดงนะครับ (Pacino สังเกตทุกอากัปกิริยาของ Wojtowicz ขณะเดินออกมาหน้าธนาคาร)
บ่ายวันที่ 22 สิงหาคม 1972, นำโดย Sonny Wortzik (รับบทโดย Al Pacino) ร่วมกับ Salvatore ‘Sal’ Naturale (รับบทโดย John Cazale) และ Stevie ตั้งใจจะปล้น Brooklyn Savings Bank ความวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ Stevie ปอดแหกไม่เอาด้วย เงินในธนาคารมีอยู่แค่ไม่กี่พันเหรียญ และขณะกำลังจะหลบหนีพบเห็นนายตำรวจอยู่ด้านนอกตึกตรงกันข้าม ไม่นานนักก็แห่กันมาเป็นร้อยห้อมล้อมธนาคารแห่งนี้ ตามด้วยนักข่าว กองเชียร์ เมื่อหนีไปไหนไม่ได้เลยต้องใช้การเจรจาตัวประกัน วางแผนขึ้นเครื่องบิน Jet หนีออกนอกประเทศ แต่ใช่ว่าอะไรๆจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้
สำหรับนักแสดงนำ ตอนแรกติดต่อ Al Pacino แต่เจ้าตัวเพิ่งเสร็จจาก The Godfather Part II (1974) ในสภาพหมดเรี่ยวแรงจึงขอพักสักหน่อย ผู้กำกับ Lumet เลยติดต่อ Dustin Hoffman จะให้รับบทแทน แต่พอเรื่องไปเข้าหู Pacino รีบเปลี่ยนใจโดยทันที (เพราะไม่อยากให้คู่แข่งของตนแย่งบทบาทดีๆขนาดนี้ไป)
Alfredo James Pacino (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของ Triple Crown Acting (Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ New York City ครอบครัวมีเชื้อสาย Italian-American ตอนเด็กวาดฝันเป็นนักกีฬาเบสบอล แต่เพราะทำตัวเสเพลกินเหล้าสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ การเรียนก็ไม่ดีชอบสร้างปัญหาต่อยตีเลยหมดอนาคตด้านนั้น ตัดสินใจเลือกการแสดงเข้าเรียน Herbert Berghof Studio ได้อาจารย์ดี Charlie Laughton ช่วยส่งเสริมสี่ปี จนสามารถไปต่อที่ Actors Studio ร่ำเรียน Method Acting จาก Lee Stransberg กลายเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรกสมทบ Me, Natalie (1969), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Panic in Needle Park (1971) เข้าตาผู้กำกับ Francis Ford Coppola เลือกมารับบท Michael Corleone กลายเป็นตำนานกับ The Godfather (1972), ผลงานเด่น อาทิ Serpico (1973), Scarecrow (1973), Dog Day Afternoon (1975), Scarface (1983), Dick Tracy (1990), Glengarry Glen Ross (1992), Scent of a Woman (1992) ** คว้า Oscar: Best Actor, Heat (1995) ฯ
รับบท Sonny Wortzik ผู้นำการโจรกรรมกิ๊กก๊อกครั้งนี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดแต่ไม่ค่อยมาก ไหวพริบพอมีแต่พึ่งพาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ สติสตางค์เหมือนจะไม่ค่อยสมประกอบเท่าไหร่ คงเพราะความลุ่มหลงใหลติด Sex กลายเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้กับชีวิต ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างแต่ทำผิดพลาดไปเสียหมด เนื้อในเป็นคนดีแต่ร่างกายมิอาจตอบสนอง
การบังเกิดขึ้นของชายคนนี้ เป็นผลพวงสืบเนื่องจากความเครียดกดดันอัดอั้น เริ่มจากสถานการณ์โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรคระบาด Great Depression ตามด้วยสงครามเย็น ล่าสุดสงครามเวียดนาม และความคอรัปชั่นของผู้นำประเทศ เหล่านี้คือมลภาวะของประเทศอเมริกาที่ประชาชนสูดดมเข้าไปจนกลายเป็นพิษ เฝ้ารอวันปะทุระเบิดคลั่งออกมา เฉกเช่นเดียวกับความเป็นเกย์ของที่เคยต้องปกปิดไม่เปิดเผย เมื่อถึงวันหนึ่งมิอาจยับยั้งชั่งใจก็จำต้องเปิดเผยออก ผู้คนสมัยนั้นคงยังยินยอมรับไม่ได้เท่าไหร่ แต่ปัจจุบันน่าจะพอไหวแล้วกระมัง
ความโทรมของ Pacino เกิดจากการทรมานตนเองให้ต้องอดหลับอดนอนกินน้อย จนใบหน้าซีดเผือก ทรงผมฟูฟ่องไม่ได้หวีจัดทรง ดวงตาพองโตเหมือนคนติดยา (แต่คือติด Sex มากกว่านะ) เห็นว่าระหว่างถ่ายทำเคยทรุดล้มพับหมดเรี่ยวแรง ต้องนอนโรงพยาบาลพักผ่อนวันสองวันถึงกลับมาถ่ายทำต่อได้ ยอมให้กับความพยายามของพี่แกเลย
แซว: Pacino ตั้งใจไว้หนวดยาวเพื่อให้ดูเหมือนเกย์ แต่การถ่ายทำวันแรกทั้งเขาและผู้กำกับ Lumet รู้สึกว่าไม่เวิร์ค เลยตัดสินใจโกนออกแล้วเริ่มต้นใหม่
ความเจี้ยมเจี้ยม แต๋วตุ๋ด เท้าสะเอว ท่าเดินแรดๆของตัวละคร แรกๆจะทำให้ผู้ชมรู้สึกแปลกทะแม่งๆ แต่เมื่อเปิดเผยกลางเรื่องว่าเป็นเกย์ ถือว่าอธิบายเหตุผลได้แทบทุกสิ่งอย่าง แต่สำหรับไฮไลท์อยู่ช่วงตอนคุยโทรศัพท์กับสองคนรัก แม้จะมิได้เผชิญหน้ากันตรงๆ แต่ Pacino ก็ได้ปะทุระเบิดพลังการแสดงออกมาอย่างมากคลั่งแทบเสียสติแตก จิกกัดหมอนทรมานแทนชิบหาย
มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆของ Pacino เพราะมีนั้นมีอีกโคตรของโคตรการแสดง Jack Nicholson เรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) เป็นก้างขวางคอชิ้นโต ทำให้พลาดรางวัล Oscar: Best Actor แต่ไม่ว่าใครชนะถือว่าสมศักดิ์ศรี
แซว: Pacino ถือครองสถิติกว่าจะคว้า Oscar: Best Actor ก็เมื่อการเข้าชิงครั้งที่ 8 (ของ Leonardo DiCaprio ยังแค่ครั้งที่ 5 เองนะ)
John Holland Cazale (1935 – 1978) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Revere, Massachusetts, ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish-Italian มีความหลงใหลการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Oberlin College ก่อนย้ายไป Boston University มีอาจารย์คือ Peter Kass จบออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Charles Playhouse ตามด้วย Off-Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด The Godfather (1972) ตามด้วย The Conversation (1974), The Godfather Part II (1974), Dog Day Afternoon (1978) และเรื่องสุดท้าย The Deer Hunter (1978)
รับบท Salvatore ‘Sal’ Naturale เป็นคนเงียบๆเคร่งครึมไม่ค่อยพูดจา ทำให้คาดเดาตัวตนไม่ค่อยได้นัก ก็ไม่รู้ร้อนรนขี้หวาดกลัวหรือสงบสุขุมเยือกเย็น แต่เขาแสดงออกบอกเลยว่าเป็นคาทอลิกเคร่งครัด ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่เพราะมันทำร้ายร่างกายตนเองที่พระเจ้าสร้าง แต่กลับมาปล้นธนาคารเนี่ยนะ ตรรกะเพี้ยนสุดๆ
ตัวละครนี้ถือเป็นกระจกสะท้อนตรงกันข้ามกับ Sonny Wortzik รายนั้นพบเห็นออกไปพูดคุยเผชิญหน้า โบกไม้โบกมือออกรายการโทรทัศน์ แต่ Sal กลับอุดอู้คุดคู้หมกอยู่แต่ภายในธนาคาร กลายเป็นตัวละครลึกลับที่สร้างความหวาดสะพรึงกลัวต่อสายตาผู้ชม/ชาวโลก ด้วยสาเหตุนี้เลยทำให้ผมมองว่า Sonny กับ Sal น่าจะมีบุคคลิกภาพตรงกันด้วย กล่าวคือตัวตนของเขาเป็นคนขี้ขลาดหวาดกลัวหัวหด ถ้าได้ขึ้นเครื่องบินคงจะปอดแหกไม่สำเร็จแน่ แต่ถือเป็นความซวยแบบช่วยไม่ได้ ทั้งๆไม่เคยทำร้ายฆ่าใคร ถูกสังหารโหดยิงเข้ากระหม่อมโป้งเดียวจอด (เป็นเสียงปืนครั้งที่สอง ครั้งสุดท้ายของหนัง) น่าสงสารเห็นใจอย่างที่สุด
เป็น Pacino ที่หลังจากอ่านบทแนะนำผู้กำกับ ตัวละครนี้ต้อง Cazale เท่านั้น ใครกันจะไปเชื่อ! แต่หลังจากนำพามาทดสอบหน้ากล้อง Lumet เลยต้องยินยอมสนิทใจ คงเป็นใครอื่นไม่ได้แน่แท้ แม้จะอายุมากกว่าตัวละครเกินสองเท่าก็ตามที
ตัดเรื่องภาพลักษณ์ออกไป สิ่งที่ Cazale สร้างขึ้นกับตัวละครนี้กลายเป็นอิทธิพลอย่างมากให้นักแสดงรุ่นหลังๆ พูดไม่มากแต่ใบหน้ามันแสดงออก เต็มไปด้วยความพิศวงลึกลับยากจะจับทำความเข้าใจ หนักแน่นด้วยหลักการแต่ฟังไม่ขึ้นสักนิด แท้จริงภายในครุ่นคิดรู้สึกอย่างไรก็แล้วแต่ผู้ชมจะจินตนาการต่อเอง
แซว: ตัวละคร Sal มีพูดบอกว่าไม่สูบบุหรี่ “I don’t want to get the cancer.” แต่ตัวจริงของ Cazale สูบหนักจัดจนป่วยเป็นมะเร็ง เสียชีวิตอีกไม่กี่ปีถัดมาด้วยวัยเพียง 42 ปี
Christopher Sarandon Jr. (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Beckley, West Virginia, โตขึ้นเรียนจบสาขาการพูดที่ West Virginia University ตามด้วยปริญญาโทการแสดง The Catholic University of America, Washington, D.C ระหว่างนั้นแต่งงานกับ Susan Tomalin เธอเปลี่ยนชื่อเป็น Susan Sarandon (หย่าร้างปี 1979) จบออกมากลายเป็นนักแสดง สู่วงการภาพยนตร์เรื่องแรก Dog Day Afternoon (1975) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor ได้รับการจับตามองโดยทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Fright Night (1985), The Princess Bride (1987), Child’s Play (1988), ให้เสียง Jack Skellington เรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993)
รับบท Leon Shermer หญิงข้ามเพศ คนรักของ Sonny Wortzik วินาทีที่ปรากฎตัวเชื่อว่าจะสร้างความช็อกตกตะลึงให้กับผู้ชม (ที่ยังไม่เคยรับรู้เรื่องราวมาก่อนอย่างแน่นอน ผมก็คนหนึ่ง) คือก็ไม่ได้อยากเดินทางมาพบเจอ แต่ถูกซี้เซ้าโดยตำรวจที่ไปติดตามตัว พยายามปฏิเสธไม่ยอมพบเจอเผชิญหน้า กระนั้นก็ยินยอมคุยโทรศัพท์ สาธยายเบื้องหลังเหตุผลของการโจรกรรมครั้งนี้ ทั้งรักและเกลียด ก่อนจะพูดลาจากกันด้วยดี
ตัวละครนี้ถือว่ามาขโมยซีนโดยแท้ ทำเอาผมแทบจินตนาการไม่ออกกับผู้ชมยุคสมัยนั้น จะเหวอออกอ้าปากค้างกันกว้างขนาดไหน (ยุคสมัยนั้นการเปิดเผยว่าเป็นเกย์ ยังไม่ได้ยอมรับมากเท่าปัจจุบัน บางคนที่อาจชื่นชอบเชียร์อยู่ดีๆ พอรู้เรื่องนี้คงคลื่นไส้เสียวิงเวียนสติแตกบ้าคลั่งขึ้นมาทันที) ขณะที่ไฮไลท์สุดๆเลยคือคุยโทรศัพท์ แค่ไม่กี่นาทีแต่มีหลากหลายอารมณ์มาก เดี๋ยวดีเดี๋ยวรักเดี๋ยวร้าย ถ้าตบตีกันผ่านโทรศัพท์ได้คงทำไปแล้ว เป็นช่วงขณะที่บางคนอาจคลื่นไส้ บางคนคลั่งไคล้ อย่างน้อยก็ทำให้ Sarandon เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor พ่ายให้กับ George Burns เรื่อง The Sunshine Boys (1975)
โดยปกติแล้ว Lumet จะไม่ชอบให้นักแสดง Improvise บทพูด/การแสดงของตนเอง เว้นเสียแต่เรื่องนี้ที่เขามองว่า มีความจำเป็นต้องให้นักแสดงมีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติ หลายครั้งดั้นสดและสามารถเรียกเสียงฮือฮาได้มาก อาทิ
– Sonny ตะโกนว่า “Attica! Attica!” เห็นว่า Pacino ได้รับแนวคิดจากผู้ช่วยกำกับ Burtt Harris
– Sonny ถาม Sal ว่าอยากขึ้นเครื่องบินไปไหน นั่นไมมีใครรู้มาก่อนว่า Cazale จะตอบ “Wyoming”
– หลังจากเสียงปืนนัดแรกนัดเดียวในธนาคารดังขึ้น บทตะโกนสนทนาระหว่า Sonny กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนั้นดั้นสดทั้งหมด
– การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง Sonny กับ Leon
ฯลฯ
ตัวประกอบในฉากบนท้องถนน ตอนแรกผู้กำกับว่าจ้างไว้ 300 คน แต่ไปๆมาๆผู้คนบริเวณนั้นให้ความสนใจการถ่ายทำอย่างมาก มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกวันโดยเฉพาะยามบ่าย ซึ่งก็ได้เปลี่ยนแผนให้ Extra ที่ว่างจ้างมาควบคุมบริหารจัดการ ให้ตัวประกอบที่ไม่ต้องจ่ายเงินนี้สามารถมีส่วนร่วมกับหนังได้อย่างมีชั้นเชิงมารยาท
ถ่ายภาพโดย Victor J. Kemper สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ …and justice for all. (1979), National Lampoon’s Vacation (1983), Clue (1985) ฯ
แม้สถานที่ถ่ายทำจะคือ Brooklyn, New York City แต่ไม่ใช่ยังบริเวณธนาคารที่ถูกปล้นนะครับ (ธนาคารที่ไหนจะยินยอม) ซึ่งความต้องการของ Lumet คือสามารถถ่ายทำจากภายในธนาคาร มองเห็นท้องถนนและร้านตัดผม (ศูนย์บัญชาการชั่วคราวของตำรวจ) ที่อยู่ตรงกันข้ามในช็อตเดียว (โดยไม่ใช่ Rear Projection) มาลงเอยที่ Prospect Park West ระหว่างซอย 17th กับ 18th ของ Windsor Terrace, Brooklyn
หลายคนอาจคิดว่าหนังถ่ายทำแบบเรียงลำดับไปเรื่อยๆ (Chronological order) แต่ด้วยไดเรคชั่นของ Lumet ประสบการณ์จากวงการโทรทัศน์ ใช้การตัดแบ่งซอยฉากและคิวงาน เริ่มจากถ่ายทำบนท้องถนนให้เสร็จสิ้นไปก่อน จากนั้นค่อยย้ายกองไปถ่ายทำฉากภายใน สร้างขึ้นแถวๆ Warehouse บริเวณซอย 10th ของ Flatbush, Brooklyn นี่ทำให้จากแผน 10 สัปดาห์ ใช้เวลาถ่ายทำเสร็จสิ้นเพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น
เกร็ด: เนื่องจากช่วงเวลาที่ถ่ายทำเป็นฤดูหนาว แต่เรื่องราวของหนังคือบ่ายวันร้อนๆของ Brooklyn ฉากบนท้องถนน นักแสดงต้องอมน้ำแข็งก่อนเริ่มถ่ายทำ เพื่อไม่ให้เห็นควันไอหนาวพ่นออกจากปาก ทรมานดีแท้
การมาถึงของตำรวจ ห้อมล้อมด้วยนักข่าว แถมด้วยประชาชมจำนวนมาก นี่ทำให้ผมระลึกถึง Ace in the Hole (1951) โคตรหนังของ Kirk Douglas สะท้อนสันดานสอดรู้ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อะไรที่มันโดดเด่นดังออกสื่อ/วิทยุ/โทรทัศน์ ก็รีบแจ้นเสนอหน้าเข้าไปตามกระแสสังคม
Attica Prison uprising เหตุการณ์ลุกฮือขึ้นประท้วงของนักโทษที่เรือนจำ Attica Correctional Facility ณ Attica, New York ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน ค.ศ. 1971 เพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานต่อสภาพความเป็นอยู่ ด้วยการจับผู้คุมจำนวน 42 คน เป็นตัวประกัน แม้ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่จะได้รับการตอบรับ แต่เหล่าผู้ต้องขังยังไม่พึงพอใจ ทำให้ผู้ว่าการรัฐสั่งใช้มาตรการรุนแรงเข้าตอบโต้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 43 คน
การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ใช่หนทางออกที่ถูกต้องเสมอไป นี่คือสิ่งที่ตัวละครของ Pacino ต้องการนำเสนอ (ฉากนี้ Improvise ขึ้นนะครับ ไม่ได้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง) ขณะนั้นตำรวจนับสิบร้อยต่างจ่อปืนพร้อมยิงมาที่ตัวเขา แต่เพราะโดยรอบเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าว ประชาชนจำนวนมหาศาลกำลังเฝ้าจับตามองอย่างใจจดจ่อ ชายคนนี้จะกลายเป็นแพะผู้โชคร้ายหรือไม่ ด้วยความกล้าบ้า ตะโกนป่าวประกาศเชิงยั่วยวนเสียดสี ชักชวนตำรวจให้ยิงเลยสิ ฉันจะได้กลายเป็นฮีโร่แบบนักโทษที่ Attica!
“Attica! Attica!”
เกร็ด: ประโยคนี้ของ Al Pacino ติดอันดับ 86 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
ฉากที่ Pacino คุยโทรศัพท์กับ Sarandon เนื่องจากเป็นการ Improvise ขึ้นทั้งหมด โดยไม่รู้ตัวพวกเขาสนทนากันต่อเนื่องเกินสิบนาที ม้วนฟีล์มที่ถ่ายทำความยาวไม่เพียงพอ (ม้วนหนึ่งสมัยนั้นเต็มที่ก็สิบนาที) ซึ่งผู้กำกับ Lumet เมื่อเริ่มเห็นท่าไม่ดีแต่ไม่ต้องการขัดจังหวะทั้งคู่ จึงสั่งให้เริ่มเดินกล้องอีกตัว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างทันท่วงที
และเมื่อฉากนี้เทคแรกถ่ายทำเสร็จ (Lumet เป็นผู้กำกับน้อยเทค ส่วนมาก 1-2-3 มากสุดแล้วไม่เกินกว่านี้) พบเห็นสภาพอันเหนื่อยอ่อนล้าของ Pacino สั่งให้ถ่ายทำอีกเทคต่อทันที ไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่ต้องการสภาพหมดเรี่ยวแรงนี้ออกมาจากภายในจริงๆ
ตัดต่อโดย Dede Allen นักตัดต่อหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ขาประจำของ Arthur Penn และ Warren Beatty มีผลงานสุดคลาสสิกอย่าง The Hustler (1961), Bonnie and Clyde (1967), Dog Day Afternoon (1975), Reds (1981) ฯ
แม้ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นมุมมองของ Sonny Wortzik แต่การเล่าเรื่องจะวนเวียนสลับไปมาอยู่สามสถานที่หลักๆ ในธนาคาร, บนท้องถนน และร้านตัดผมฝั่งตรงข้าม (ศูนย์บัญชาการชั่วคราวของตำรวจ)
มีเพียง Opening Title ที่ใช้บทเพลงประกอบหนัง Amoreena (1970) ขับร้อง/ทำนองโดย Elton John คำร้องโดย Bernie Taupin อยู่ในอัลบัม Tumbleweed Connection, ซึ่งการลำดับภาพผู้คน ท้องถนนเมือง New York City มีความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ไร้ซึ่งจังหวะหรือความสอดคล้องกับทำนองเพลง เดี๋ยวสั้นเดี๋ยวยาวแล้วแต่อารมณ์คนตัดต่อล้วนๆ แต่นั่นมาพร้อมเหตุผลที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของเรื่องราว และความผิดปกติทางจิตของตัวละคร (นี่สะท้อนความเป็นโคตรศิลปินของนักตัดต่อ Dede Allen ได้ชัดเจนมากๆเลยนะ)
วินาทีไคลน์แม็กซ์ที่สนามบิน มีไดเรคชั่นการตัดต่อที่เจ๋งมากๆ, เมื่อทุกคนพร้อมจะลงจากรถ เสียงปืนดังลั่น ตามด้วยปฏิกิริยาของหญิงสาวตัวประกันทุกคนในรถกรี๊ดตกใจ เรียงร้อยต่อเนื่องเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วภายในเสี้ยววินาที สร้างความสับสนอลม่านให้เกิดขึ้นทันควัน ก่อนมาจบลงที่ Sonny กระบอกปืนจ่อศีรษะ ทุกสิ่งอย่าง/ความฝันถึงจุดสิ้นสุด
Dog Day Afternoon คือเรื่องราวของคนไม่สมประกอบ กระทำการอันสิ้นคิด ผลลัพท์เลยออกมาแบบเสียสติแตก ฟังดูเหมือนจะไร้สาระ แต่กลับเป็นข้อคิดสอนใจได้อย่างดี นี่ไม่ได้พูดถึงแค่โจรปล้นธนาคาร 2-3 คนเท่านั้นนะ รวมถึงตำรวจ/FBI กิ๊กก๊อกแก้งแทบไม่ต่างกัน
กระทำการอะไรต้องวางแผนเตรียมตัวอย่างรอบคอบ ไม่ใช่คิดอยากขโมยเงินก็ปล้นธนาคารแม้งเลย อยากจับกุมโจรก็รุมล้อมพวกมากใช้กำลังเข้าห้ำหั่นแก้ปัญหา นั่นไม่เพียงประสบความล้มเหลว แต่ยังทำให้กระต่ายตื่นตูม จากเรื่องเล็กๆกลายเป็นเรื่องใหญ่ (เข้าสำนวน ขี่ช้างจับตั๊กแตน)
สิ่งน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการค้นหาเป้าหมายของหัวขโมย สำหรับ Sal คงไม่มีใครล่วงรู้ตอบได้แน่ แต่กับ Sonny เพื่อเติมเต็มความต้องการของแฟนหนุ่ม/สาว กลายเป็น(เพศ)ที่อยากเป็น แม้นั่นจะคือยัดเยียดบีบบังคับให้ แต่ถ้าสำเร็จได้คงทำให้เขารู้สึกสุขเอ่อล้นพึงพอใจสูงสุด
กระนั่นเมื่อความฝันเฟื่องของการปล้นธนาคารประสบความล้มเหลว จำต้องจับกุมตัวประกันเพื่อปกป้องตัวรอด เกิดความคิดเพี้ยนๆบินหนีไปยังประเทศโลกที่สามแม้งเลย แต่นั่นถือเป็นสิ่งที่ไกลตัวเกินเอื้อม ก็ขนาด Sal ยังรู้จักไกลสุดเพียง Wyoming ทั้งหมดนี้เพียงความเพ้อเจ้อไหลไปตามน้ำก็เท่านั้น
ความล้มเหลวมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวเราเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งคิดเพ้อในสิ่งที่ไกลเกิน เป็นไปถึงไม่ได้ แต่ก็ไม่ผิดอะไรที่มนุษย์เราจะฝันนะครับ ดั่งสำนวนในโฆษณาของกอล์ฟสิงห์
“ตีลูกให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว”
แม้การปล้นธนาคารของ Sonny/Wojtowicz จะประสบความล้มเหลว ได้รับโทษจำคุก 20 ปี อยู่จริง 5 ปีกว่าๆ แต่เรื่องราวของเขาเข้าตาผู้สร้างภาพยนตร์ Hollywood เงินที่ได้ค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลง $7,500 เหรียญ มอบให้กับ Eden สำหรับค่าผ่าตัดแปลงเพศ เติมเต็มฝันของเธอสำเร็จเสียอย่างนั้น ใครกันจะไปคิดว่าตีลูกกอล์ฟนี้ล่องลอยไปไกลถึงดาว Sirius
ชีวิตจริงของ Eden หลังจากแปลงเพศเรียบร้อย เธอก็มิได้หวนกลับมาครองรักกับ Wojtowicz หาคู่ใหม่มั่วไปเรื่อย จนเสียชีวิตปี 1987 ด้วยโรค AIDS, ขณะที่ Wojtowicz ก็พบรักใหม่กับเพื่อนร่วมห้องขัง George Heath ออกจากคุกพร้อมกันปี 1978 ย้ายไปอาศัยแม่อยู่ เคยยื่นขอสมัครงานเป็น รปภ. ที่ Chase Manhattan Bank แน่นอนว่าคงไม่ได้ ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำย่าน Park Avenue สุดสัปดาห์ชอบไปยืนแจกลายเซ็นต์อยู่หน้าธนาคาร พร้อมเสื้อ T-Shirt บนอกเขียนว่า “I Robbed This Bank.”
เรื่องราวของหนังถูกมองว่ามีลักษณะ Anti-establishment โดยเฉพาะตอน Pacino ตะโกน Attica! เป็นการแสดงทัศนคติคิดเห็นอย่างเด่นชัดของนักแสดงและผู้กำกับ (ที่คงไว้ในภาพยนตร์) ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาของรัฐ ซึ่งนี่สะท้อนถึงสงครามเวียดนามที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่กี่ปี และความคอรัปชั่นของปธน. Richard Nixon เพิ่งยินยอมลงจากตำแหน่งเมื่อปีก่อนหน้านี้เอง
อย่างที่ผมอธิบายไปคร่าวๆถึงสาเหตุจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เพี้ยนสติแตกนี้ เปรียบได้กับมลพิษที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางอากาศ สูดดมสะสมเข้าไปบ่อยๆก็จะมีคนป่วยแสดงอาการ ใครทนไม่ไหวคงต้องดิ้นพร่านแสดงความคลุ้มคลั่งออกมา เหล่านี้คงเป็นปัญหาที่ไม่มีใคร/หน่วยงานไหน สามารถแก้ไขได้นอกจากตัวเราเอง มีสติ เรียนรู้จักความพึงพอเพียง หักห้ามใจในกิเลสตัณหาราคะ โทสะ โมหะ … แต่นั่นคงเป็นไปไม่ได้สำหรับโลกตะวันตกสินะ
ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $50 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Al Pacino)
– Best Supporting Actor (Chris Sarandon)
– Best Writing, Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
ถือเป็นปีสายโหดที่สุดของ Oscar เลยก็ว่าได้ ทั้ง 5 เรื่องที่ได้เข้าชิง Best Picture ประกอบด้วย One Flew Over the Cuckoo’s Nest ** ได้รางวัล, Barry Lyndon, Jaws, Nashville ทุกเรื่องกลายเป็นตำนานเหนือกาลเวลาทั้งสิ้น ใครชนะก็ถือว่าสมศักดิ์ศรี
เกร็ด: นักเขียน Frank Pierson ติดพันอยู่กับการกำกับภาพยนตร์เรื่อง A Star Is Born (1976) เลยไม่ได้มารับรางวัล (คงไม่คิดว่าจะได้) เป็นผู้ประกาศ Gore Vidal รับแทบ
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Sidney Lumet ที่สามารถเค้นพลังการแสดงอันโคตรตราตรึงของ Al Pacino ออกมาได้อย่างเปียกโชกโชนชุ่มฉ่ำ เหนื่อยแทนในความอ่อนล้าสีหน้าซีดเผือกแทบหมดลมหายใจตาม
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ทำไมเขาถึงกระทำการสิ้นคิดเช่นนั้น สมมติตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ แต่อย่าหาทางเลียนแบบทำตามก็แล้วกัน
โดยเฉพาะคอหนังอาชญากรรม แนวโจรกรรมปล้นธนาคาร, ตำรวจ-หัวขโมย ศึกษาเรียนรู้ไว้เป็นแบบอย่าง, แฟนๆผู้กำกับ Sidney Lumet และนักแสดงนำ Al Pacino, John Cazale ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับคำพูดหยาบคาย บรรยากาศขัดแย้งตึงเครียดใช้ความรุนแรง
Leave a Reply