Don't Look Now

Don’t Look Now (1973) British : Nicolas Roeg ♥♥♥♥♡

(16/4/2023) ถ้าใครไม่รู้มาพูดเตือน ‘ให้ระวังตัวกำลังมีอันตราย’ เป็นคุณจะเชื่อหรือเปล่า? ท้าทายผู้ชมจับจ้องมองหาจุดสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์-ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างพิสูจน์ได้ด้วยตาเห็น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเริ่มเอือมละอาชื่อหนังประเภท I Know Where I’m Going! (1945) จริงๆแล้วไม่รับรู้ตัวเองด้วยซ้ำว่ากำลังไปไหน, Hobson’s Choice (1954) บอกว่ามีตัวเลือกแต่ไม่เห็นได้เลือกเสียเมื่อไหร่, Don’t Look Now (1973) ห้ามมอง ใครกันจะไม่อยากมอง … ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษหลายเรื่อง ช่างมีความกลับกลอก ปอกลอก ล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความฉงนสงสัย แต่นั่นอาจคือหนึ่งในเทคนิคโปรโมทหนัง เพื่อสร้างความสนใจกะละมัง!

Don’t Look Now (1973) คือภาพยนตร์ Horror Masterpiece มองผิวเผินคือแนวลี้ลับ (Occult) เหนือธรรมชาติ (Supernatural) มีความตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller) และแฝงจิตวิทยา (Psychological) โดยใช้สถานที่เมืองแห่งสายน้ำ Venice, Italy ระหว่างปลายฤดูใบไม้ร่วง กำลังเข้าสู่หน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงตลาดวาย โรงแรมทั้งหลายใกล้ปิดให้บริการ (เป็นปกติของ Low Season) ตึกรามบ้านช่องมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สร้างบรรยากาศขนหัวลุกพอง และฆาตกรต่อเนื่องกำลังลอยนวล

หวนกลับมารับชมครานี้ แค่อารัมบทผมก็ค้นพบความน่าอึ่งทึ่งบางอย่าง สิ่งที่เด็กๆกำลังละเล่นอยู่นั้น พบเห็นโมเดลบ้าน หุ่นทหารส่งเสียงออกคำสั่ง โยนลูกบอลดูละม้ายคล้ายลูกระเบิด เสียงจักรยานฟังเหมือนรถถัง พานผ่านกิ่งไม้เหมือนรั้วลวดหนาม สงครามสนามเพลาะ (Trench warfare) … อารัมบทของหนังนี้ไม่ใช่แค่นำเสนอการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว แต่ยังอุปมาอุปไมยถึงหายนะจากสงครามโลก(ครั้งที่สอง)ด้วยเช่นกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรื่องราวของหนังนำเสนอแนะวิธีจัดการความโศกเศร้าจากการสูญเสีย (เหมารวมถึงอาการป่วยซึมเศร้า/Shell Shock/PTSD ภายหลังสงครามโลก) สิ่งสำคัญที่สุดคือ “Don’t Look Back” อย่าเหลียวแลหลัง หันกลับไปมอง หรือคือหมกมุ่นยึดติดอยู่กับอดีต เพราะมันอาจทำร้ายตัวเรา/ทำลายจิตวิญญาณ ควรเรียนรู้จักการปล่อยวาง แล้วเหม่อมองไปข้างหน้า อนาคตยังอีกยาวไกล เราสามารถลุกขึ้นก้าวเดิน เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ตลอดเวลา

แซว: เอาจริงๆหนังสมควรชื่อว่า Don’t Look Back มากกว่า Don’t Look Now เสียอีกน่ะ!


Nicolas Jack Roeg (1928-2018) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St John’s Wood, North London บิดามีเชื้อสาย Dutch ทำงานค้าขายเครื่องเพชร, ตรงข้ามบ้านคือสตูดิโอภาพยนตร์ จึงเกิดความสนใจวงการนี้มาตั้งแต่เด็ก พออายุ 19 เข้าทำงานเป็นเด็กชงชา ขนของ แบกกล้อง อยู่แผนกถ่ายภาพ Marylebone Studios, ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ The Sundowners (1960), The Trials of Oscar Wilde (1960), ตากล้องกองสอง Lawrence of Arabia (1962), เคยได้รับโอกาสจาก David Lean ถ่ายทำ Doctor Zhivago (1965) แต่วิสัยทัศน์ไม่ตรงกันเลยถูกขับไล่ออก, จากนั้นมีผลงานถ่ายภาพ The Masque of the Red Death (1964), Fahrenheit 451 (1966), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Performance (1970)

หลังเสร็จจากภาพยนตร์ลำดับที่สอง Walkabout (1971) ผู้กำกับ Roeg ได้รับการติดต่อจากสองโปรดิวเซอร์ Peter Katz และ Anthony B. Unger ชักชวนมาร่วมงานโปรเจคดัดแปลงเรื่องสั้น Don’t Look Now รวมอยู่ในหนังสือ Not After Midnight, and Other Stories (1971) แต่งโดย (Dame) Daphne du Maurier (1907-89) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Jamaica Inn (1936), Rebecca (1938), เรื่องสั้น The Birds (1952)

แซว: ภายหลังภาพยนตร์ออกฉาย หนังสือเล่มนี้จากเคยใช้ชื่อ Not After Midnight, and Other Stories ถูกเปลี่ยนมาเป็น Don’t Look Now, and other stories

จริงๆแล้ว Roeg ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของโปรดิวเซอร์ แต่ผู้กำกับดังๆอย่าง Roman Polanski, Alan Bridges ต่างบอกปัดปฏิเสธ ซึ่งเมื่อมีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ก็ค้นพบความสนใจ ได้รับคำตอบตกลงโดยทันที

I think it’s a really intriguing story. It’s got everything in it that you could possibly want. It’s got love, death, supernatural events, the whole thing. And it’s a good story. It’s got the perfect structure. It’s got a beginning, middle, and end. It’s simple, but it’s got complexity as well. It’s a wonderful short story, and I thought it could make a good film.

Nicolas Roeg

เนื่องจากต้นฉบับคือเรื่องสั้น ความยาวไม่กี่สิบหน้ากระดาษ จึงจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดมากมาย ตั้งแต่อารัมบทนำเสนอเหตุการณ์โศกนาฎกรรม (ในเรื่องสั้นจะเริ่มต้นภายหลังการสูญเสีย) ปรับเปลี่ยนสถานที่พื้นหลังจาก London สู่ Venice ฯลฯ แต่เนื้อหา โครงสร้าง และบรรยากาศของเรื่องราวยังคงความลึกลับ สัมผัสพิศวง ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด, ร่วมพัฒนาบทโดย Allan Scott และ Chris Bryant

The story had to be expanded upon to make it work on screen, but the original atmosphere had to be maintained. The thing about the story that was so strong was the sense of foreboding and the sense of something coming. The feeling that there was some kind of destiny about to unfold. And that had to be captured.

You don’t want to throw away anything that’s in the original, but you have to find a way to expand it. You have to find a way to add layers to it, to make it work as a film. You have to add your own interpretation to it, but you don’t want to destroy what’s already there. You want to build on it, and make it into something new.

ปล. แม้ว่าผู้แต่ง (Dame) Daphne du Maurier จะไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์(ที่ดัดแปลงจากนวนิยายของตนเอง)อย่าง Jamaica Inn (1939), Rebecca (1940) ฯ แต่มีเสียงเล่าอ้างว่า เธอค่อนข้างประทับใจโทนและบรรยากาศของ Don’t Look Now (1973) อยู่ไม่น้อยเลยละ!


หลังเหตุการณ์สูญเสียบุตรสาวคนเล็ก Christine จากอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ สามี John Baxter (รับบทโดย Donald Sutherland) และภรรยา Laura (รับบทโดย Julie Christie) ออกเดินทางสู่ Venice, Italy เพื่อทำการบูรณะโบสถ์เก่าแก่ San Nicolò dei Mendicoli (Church of St. Nicholas of the Beggars)

ระหว่างกำลังรับประทานอาหาร Laura บังเอิญให้การช่วยเหลือฝาแฝด Heather (รับบทโดย Hilary Mason) และ Wendy (รับบทหนึ่ง Clelia Matania) ซึ่งอ้างว่ามีจิตสัมผัส (Psychic) สามารถติดต่อสื่อสาร มองเห็นวิญญาณ ซึ่งเธอได้รับการทักถึงบุตรสาว แล้วเกิดความเชื่อศรัทธา จนทำให้อาการหดหู่สิ้นหวัง มลายหายไปโดยทันที

ผิดกับ John ซึ่งไม่ยินยอมเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติพรรค์นี้ แต่ตัวเขานั้นมีพรสวรรค์ที่สามารถมองเห็นอนาคต ถึงอย่างนั้นกลับยังคงหมกมุ่นครุ่นคิดถึงอดีต เมื่อครั้นพบเห็นใครคนหนึ่งสวมชุดสีแดง แบบเดียวกับตอนที่บุตรสาวจมน้ำเสียชีวิต จึงพยายามออกไล่ล่าติดตาม แม้ถูกทักห้าม “Don’t Look Know!”


Donald McNichol Sutherland (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Saint John, New Brunswick โตขึ้นเข้าเรียน Victoria University จบมาทำงานวิศวกรได้ไม่นาน ออกเดินทางสู่อังกฤษร่ำเรียนการแสดงยัง London Academy of Music and Dramatic Art (LAMDA) จากนั้นใช้เวลาปีครึ่งปักหลักโรงละคร Perth Repertory Theatre ณ Scotland แล้วมาทดสองหน้ากล้องมีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ สำหรับภาพยนตร์เริ่มเป็นที่รู้จักจาก Hammer Films อาทิ Castle of the Living Dead (1964), Dr. Terror’s House of Horrors (1965), Die! Die! My Darling! (1965), โด่งดังจาก The Dirty Dozen (1967), โกอินเตอร์ MAS*H (1970), Klute (1971), Don’t Look Now (1973), Fellini’s Casanova (1976), 1900 (1976), Invasion of the Body Snatchers (1978), Ordinary People (1980), JFK (1991), A Time to Kill (1996), The Italian Job (2003), Cold Mountain (2003), Pride & Prejudice (2005), The Hunger Games (2012–15) ฯ

เกร็ด: ทั้งๆเป็นนักแสดงที่โคตรจะ ‘High Profile’ แต่ Sutherland กลับไม่เคยเข้าชิง Oscar เลยสักครั้งเดียว จนกระทั่งมีการมอบรางวัล Honorary Award เมื่อปี 2018

รับบท John Baxter หลังสูญเสียบุตรสาว แม้ภายนอกพยายามทำตัวเข้มแข็งแกร่ง ฟื้นฟูบูรณะด้วยการทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่สภาพจิตใจยังคงเจ็บปวดรวดร้าว กล่าวโทษตนเองว่าคือสาเหตุการเสียชีวิต (เพราะให้ความช่วยเหลือช้าเกินไป) ด้วยเหตุนี้เมื่อพบเห็นใครคนหนึ่งสวมชุดสีแดง จึงพยายามออกไล่ล่าติดตาม ต้องการเผชิญหน้ากับอดีต แต่มันกลับทำให้เขาต้องประสบเหตุโศกนาฎกรรม

ในตอนแรกโปรดิวเซอร์เสนอแนะสองนักแสดงนำที่เป็นคู่รักในชีวิตจริงอย่าง Robert Wagner และ Natalie Wood แต่ผกก. Roeg มุ่งมั่นอยากจะร่วมงาน Donald Sutherland และ Julie Christie บังเอิญทั้งสองคิวว่างตรงกันพอดิบดี

I’d seen Julie in ‘Darling’ and ‘Petulia’, and thought she had a wonderful openness and honesty. And Donald was coming off the back of ‘Klute’ and ‘M*A*S*H’. He was fantastic. I was really fortunate to have them both.

Nicolas Roeg

Sutherland เคยพยายามปฏิเสธบทบาทนี้ (คล้ายๆตัวละคร John Baxter เต็มไปด้วยอคติต่อเรื่องเหนือธรรมชาติ) เพราะรู้สึกว่ามันยากเกินเชื่อถือ รวมถึงอยากให้หนังมีทิศทาง ‘Educative Film’ โดยตัวละครได้ประโยชน์จากสัมผัสที่หก ESP (Extra-Sensory Perception หรือ Esper) มากกว่ากลายเป็นหายนะ แต่ผกก. Roeg ยืนกรานจะยึดเรื่องราวตามต้นฉบับเปะๆ พูดคุยอธิบายจนเขาเข้าใจเป้าหมายของหนังอย่างแท้จริง

นอกจากอารัมบทที่ส่งเสียงกรีดร้อง แสดงออกอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง หนังตลอดทั้งเรื่องจะเป็นการปั้นแต่ง สร้างภาพภายนอกให้ดูเข้มแข็ง เพื่อปกปิดความอ่อนไหว เศร้าโศกเสียใจ ลูกผู้ชายต้องไม่หลั่งน้ำตา เปิดเผยด้านอ่อนแอออกมา แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ทุกครั้งเมื่อภรรยากล่าวถึงบุตรสาว ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อ แค่ไม่อยากรื้อฟื้น เผชิญหน้าความจริง ยินยอมรับความผิดพลาด (คือเขาพยายามกล่าวโทษตนเองที่ไม่สามารถช่วยชีวิตบุตรสาว)

การที่ John ออกไล่ล่าติดตามบุคคลสวมชุดสีแดง สามารถมองว่าคืออาการหลงผิด หมกมุ่นยึดติดอยู่กับอดีต ครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าบุคคลนั้นอาจคือบุตรสาว (ไม่ว่าจะมีชีวิต หรือในรูปวิญญาณ) ต้องการเผชิญหน้า กล่าวคำขอโทษ รับสารภาพผิด พบเจอกันอีกครั้ง(สุดท้าย) แต่กลับกลายเป็นไม่เพียงไม่ใช่ แปรสภาพสู่นัยยะเชิงสัญลักษณ์ ฆาตกรทำร้ายร่างกาย/ทำลายจิตวิญญาณ … การหมกมุ่นยึดติดอยู่กับอดีต ไม่สามารถปล่อยละวาง มันอาจทำลายทุกสิ่งอย่างในตัวเรา

บทสัมภาษณ์ภายหลัง Sutherland มีความโปรดปรานบทบาท John Baxter น่าจะเป็นตัวละครสลับซับซ้อนที่สุดในอาชีพการงานเลยกระมัง รวมทั้งการร่วมงานผกก. Roeg ประทับใจมากๆถึงขนาดว่าขอมาตั้งชื่อบุตรชาย

Nicolas Roeg is an amazing director. He’s an amazing human being, too. He’s very precise and very, very disciplined. He knows exactly what he wants and he’s never arbitrary. He’s an artist in every sense of the word.

We were just so taken with him, we called our son Roeg. And Roeg was taken with him too. He called him ‘Roeglet’.

Donald Sutherland

Julie Frances Christie (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chabua, Assam บิดาเป็นเจ้าของสวนชาใน British India พออายุหกขวบถูกส่งกลับมาเรียนหนังสือที่อังกฤษ ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าศึกษาต่อยัง Central School of Speech and Drama จากนั้นมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ เคยเกือบได้เป็นสาวบอนด์คนแรกใน Dr. No (1962) แต่โปรดิวเซอร์บอกว่าเธอหน้าอกเล็กเกินไป, ภาพยนตร์แจ้งเกิด Billy Liar (1963), โด่งดังกับ Darling (1965)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Doctor Zhivago (1965), Fahrenheit 451 (1966), The Go-Between (1971), McCabe & Mrs. Miller (1971), Don’t Look Now (1973), Shampoo (1975), Hamlet (1996), Afterglow (1997), Finding Neverland (2004), Away from Her (2006) ฯลฯ

รับบท Laura Baxter หลังสูญเสียบุตรสาว จมปลักอยู่ในความทุกข์โศก ซึมเศร้า ไร้อารมณ์จะครุ่นคิดทำอะไร แต่หลังจากได้รับการพูดทักจากฝาแฝดคนทรง บังเกิดความเชื่อสนิทใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นคนละคน แสดงความร่าเริงสดใส มองโลกในแง่ดี พร้อมร่วมเพศสัมพันธ์กับสามี และพยายามโน้มน้าวให้เขาเห็นพ้องต้องกัน

Julie is an extremely gifted actress. I loved working with her on ‘Don’t Look Now.’ She’s brave, intelligent and versatile. She’s able to be very natural and unaffected, yet at the same time very complex and sophisticated.

Nicolas Roeg

เห็นว่า Christie มองหาโอกาสร่วมงานผกก. Roeg เพราะมีความสนิทสนม ประทับใจวิสัยทัศน์ ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นตากล้อง เคยร่วมงานภาพยนตร์ Fahrenheit 451 (1966), Far from the Madding Crowd (1967) และ Petulia (1968) พอดิบพอดีคิวว่าง เลยตอบตกลงโดยไม่ครุ่นคิดอะไรมาก

เกร็ด: เพื่อเตรียมตัวสำหรับบทบาท ผกก. Roeg นำพา Christie เดินทางไปหาคนทรง Leslie Flint เปิดสำนักอยู่ที่ Notting Hill เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์เหนือธรรมชาติ และนำเอากิจกรรมนั้นมาเป็นต้นแบบปรับใช้ในภาพยนตร์

Nicolas Roeg is a master, and working with him was one of the great experiences of my career. He pushes actors to take risks and do things they might not otherwise do. He’s not afraid of being unconventional or experimental, and I think that’s what makes his films so unique and exciting.

I thought the film was wonderful. It’s an extraordinary piece of work, and it’s one of the films that people remember. It was a very difficult part to play, because I had to be in a state of heightened emotion all the time. But it was a fantastic experience, and I was very happy to have been a part of it.

Julie Christie

ตัวละคร Laura มองมุมหนึ่งอาจดูเป็นพวกงมงาย หลงเชื่อคนง่าย แค่ถูกโน้มน้าวนิดหน่อยก็หัวปลักหัวปลำ ไม่ฟังคำตักเตือนผู้ใด แต่นั่นคือความอ่อนไหวของสตรีที่แตกต่างจากนิสัยดื้อรั้นหัวแข็งของบุรุษ เธอไม่ได้ปิดกั้นตัวตนเอง พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มันผิดอะไรกับความเชื่อว่า วิญญาณบุตรสาวยังคงอยู่เคียงข้าง ไม่ได้เหินห่างไปไหน

ความเจิดจรัสของ Christie ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ Laura ดูส่องสว่าง เปร่งประกาย ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย โลกทั้งใบดูสดใสร่าเริง แม้ร่างกายยังอ่อนแอ เปราะบาง (ตอนเปลือยกายพบเห็นโครงกระดูก ดูผอมบางมากๆ) แต่จิตใจมีความเข้มแข็งแกร่ง เอ่อล้นด้วยพละพลัง ความเชื่อมั่น ไม่มีสิ่งใดสามารถสั่นคลอนความรู้สึกนึกคิด/ศรัทธาเชื่อมั่นของตนเอง … นั่นคือเหตุผลที่ตอนจบเธอยังยิ้มได้ เพราะเชื่อว่าเขาคงไปอยู่(บนสรวงสวรรค์)กับบุตรสาว ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดวิตกกังวล

Julie Christie is a luminous and touching presence in the movie. She is photographed as sensitively as any actress ever has been on the screen, and she is required to make some complex emotional transitions that she handles with rare subtlety.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเอ่ยชมคือเคมีระหว่าง Sutherland กับ Christie ทั้งสองเพิ่งพบเจอในกองถ่าย แล้วฉากแรกร่วมงานคือ Sex Scene ถ่ายทำตั้งแต่เช้าจรดบ่าย พวกเขาต้องสลัดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ปล่อยตัวปล่อยใจ ทำตามท่วงท่าคำสั่งผกก. Roeg หลายคนอาจเพ้อคลั่งว่าพวกเขาร่วมรักกันจริง (Unsimulated Sex) แต่ต่างฝ่ายต่างยืนกรานไม่มีการล่วงเกินเลยเถิดแม้แต่น้อย

Julie is a remarkable actress and a remarkable person. She’s very giving, very open, very intelligent. When we were working on ‘Don’t Look Now,’ there was a real sense of collaboration between us, and I think that’s what makes our scenes together so powerful.

Donald Sutherland กล่าวถึง Julie Christie

Don is a wonderful actor and a wonderful man. He’s very dedicated to his craft, and he brings a lot of integrity and intensity to his performances. I always felt like I was in very good hands when I was working with him.

Julie Christie กล่าวถึง Donald Sutherland

ถ่ายภาพโดย Anthony Barry Richmond (เกิดปี 1942) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ จากเด็กยกของ ตอกสเลท ปรับโฟกัส มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Nicolas Roeg ทำเทคนิคพิเศษ Walkabout (1971), เลยได้รับเครดิตถ่ายภาพ Don’t Look Now (1973), The Man Who Fell to Earth (1976), Bad Timing (1980), ผลงานเด่นอื่นๆ Sympathy for the Devil (1968), Let It Be (1970) ฯ

งานภาพของหนังมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน จัดจ้านด้วยเทคนิคภาพยนตร์ แพนนิ่ง ซูมมิ่ง วิ่งถือกล้อง (Hand-Held) ภาพสะท้อน ซ้อนภาพ สโลโมชั่น ฯลฯ เน้นสร้างบรรยากาศ Venice, Italy ให้มีความหนาวเหน็บ โทนสีหมองหม่น ล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร หดหู่ ซึมเศร้า ยังไม่สามารถทำใจยินยอมรับการสูญเสียบุตรสาว

นอกจากนี้หนังยังพยายามจำกัดเฉดสี เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ชุดกันฝน/คราบเลือดสีแดง (คล้ายๆภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) ที่พยายามลดความเข้มเฉดสีอื่นๆลง เพื่อให้รองเท้าแดงดูโดดเด่นขึ้นมา) และถ้าใครช่างสังเกตก็จะพบเห็นรองเท้า ผ้าพันคอ ฯ สิ่งข้าวของอื่นๆที่มีสีแดง แทรกแซมให้ครุ่นคิดถึงนัยยะแฝงตลอดทั้งเรื่อง

แทบทั้งหมดของหนังถ่ายทำยัง Venice, Italy ยกเว้นเพียงอารัมบท Baas Manor Farm ตั้งอยู่ Broxbourne, Hertfordshire ประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นเป็นบ้านของนักแสดง David Tree ซึ่งร่วมรับเชิญในบทครูใหญ่ (โรงเรียนประจำของบุตรชาย)

ส่วนการถ่ายทำยังเมืองแห่งสายน้ำ Venice เริ่มต้นช่วงเดือนพฤศจิกายน สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น (ถือเป็นช่วง Low Season) พยายามเลือกสถานที่ห่างไกลผู้คน ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวสำคัญๆ เลยไม่ค่อยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม สภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ประกอบด้วย

  • ล็อบบี้โรงแรม Hotel Gabrielli Sandwirth, แต่ใช้ห้องพักยัง Hotel Bauer
  • Ristorante Roma ร้านอาหารที่พบเจอฝาแฝดคนทรง
  • โบสถ์ที่ John ทำการบูรณะ เกือบตกลงมาจากเบื้องบน San Nicolò dei Mendicoli (หรือ Saint Nicholas of the Beggars) เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12th ส่วนบานกระจกเพิ่งสร้างขึ้นศตวรรษที่ 16th
    • เหตุผลที่เลือกใช้โบสถ์หลังนี้ เพราะขณะนั้นกำลังมีการปรับปรุงบูรณะอยู่พอดิบดี
  • San Zanipolo (หรือ Basilica dei Santi Giovanni e Paolo) โบสถ์ที่ Laura จุดเทียนหกดอก
  • Santa Maria Formosa (หรือ The Church of the Purification of Mary) สถานที่ที่ John เผชิญหน้าบุคคลสวมชุดสีแดง
  • San Stae (หรือ Church of San Stae) โบสถ์จัดพิธีศพตอนจบ

วินาทีที่มีการปรากฎชื่อหนัง “Don’t Look Now” (สังเกตว่าจะมีเครื่องหมาย “” รวมอยู่ในชื่อด้วยนะครับ เพื่อเป็นการเน้นย้ำ ข้อความสำคัญ) กล้องทำการซูมเข้าไปยังบ่อน้ำที่บุตรสาวกำลังจะพลัดตกลงเสียชีวิต นี่ทำเหมือนไม่ต้องการให้ผู้ชมจับจ้องมองเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่สันดานมนุษย์เรายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ใครกันจะไปหยุดยับยั้งชั่งใจ … สิ่งที่อยู่ภายใต้พื้นผิวน้ำ สามารถเปรียบเทียบถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร เรื่องราวของหนังก็ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องของบุคคลผู้ประสบความสูญเสีย

หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนภาพมาเป็นแสงสว่างลอดผ่านรูหน้าต่าง/ผ้าม่าน (พบเห็นในห้องพักโรงแรม) นี่ดูราวกับก้นเบื้องบาดาล ห้องแห่งความมืดมิด สภาพจิตใจของบุคคลผู้ประสบความสูญเสีย โดยจุดสว่างเหล่านี้เปรียบดั่งประกายแห่งความหวัง สำหรับนำทางให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อกระมัง (จะมีอยู่สองสามรูที่สว่างจร้าเป็นพิเศษ)

พื้นหญ้าแฉะๆ โมเดลบ้าน หุ่นทหารส่งเสียงออกคำสั่ง โยนลูกบอลดูละม้ายคล้ายลูกระเบิด เสียงจักรยานฟังเหมือนรถถัง พานผ่านกิ่งไม้เหมือนรั้วลวดหนาม … อารัมบทนี้แม้เป็นเพียงการละเล่นของเด็กๆ แต่มันช่างดูไม่ต่างจากสงครามสนามเพลาะ (Trench warfare)

เราสามารถการเปรียบเทียบโศกนาฎกรรมของเด็กสาว ไม่ต่างจากหายนะสงครามโลก(ครั้งที่สอง) ซึ่งสิ่งที่ครอบครัวกำลังต้องเผชิญหน้าหลังจากนี้คืออาการทุกข์โศก ซึมเศร้า แบบเดียวกับ Shell Shock/PTSD รวมถึงยุคสมัย Great Depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่)

นี่ไม่ใช่เทคนิค ‘Split Screen’ แต่คือระหว่าง John กำลังฉายภาพขึ้นโปรเจคเตอร์ ขณะเดียวกันก็จับจ้องมองภรรยาที่อยู่หน้าเตาผิงไฟ … มองผิวเผินเหมือนเป็นช็อตที่ไม่มีอะไร แต่ผมรู้สึกว่ามันคือ ‘ตัวเลือก’ ในอนาคตของ John ว่าจะทำตามคำร้องขอภรรยา หรือหมกมุ่นกับบุคคลสวมใส่ชุดสีแดง (แต่อัตราส่วนภาพก็แอบบอกใบ้ทิศทางการตัดสินใจของตัวละครแล้วละ)

“Nothing is what it seems”. คำพูดประโยคนี้ของ John ถือเป็นหนึ่งในใจความสำคัญของหนัง ลักษณะของ ‘misdirection’ มองเห็นด้วยตาอย่างหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง

คำถามของบุตรสาว, ทั้งๆที่โลกกลม แต่ทำไมเราถึงพบเห็นทะเลสาปเป็นเส้นตรง? นั่นเพราะข้อจำกัดสายตา จุดที่เรายืนมอง และระยะทางที่ใกล้เกินไปจะทำให้ไม่สามารถเห็นความโค้งมน (หนังใช้การอธิบายว่า Lake Ontario มีการพิสูจน์ว่าตั้งแต่ตะวันออกสุดถึงตะวันตกสุด ระยะทาง 311 กิโลเมตร มีความโค้งเพียง 3 องศา)

ผมคงไม่สามารถอธิบายทุกช็อตของหนัง แต่อยากให้สังเกต ‘Match Cut’ ที่ตัดสลับไปมาระหว่างเด็กๆกำลังเล่นสนุกสนานอยู่ภายนอก และผู้ใหญ่ทั้งสองก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ในบ้าน ขณะนี้คือบิดา John กำลังส่องภาพบุคคลสวมชุดแดงในโบสถ์ → เงาสะท้อนบุตรสาวบนพื้นผิวน้ำ … นี่สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างทั้งสอง

มันอะไรหนักหนากับชุดสีแดง? นี่เป็นสิ่งไม่มีอยู่ในต้นฉบับเรื่องสั้น ผมอ่านเจอในบทความของ Criterion กล่าวถึงภาพยนตร์ที่ผกก. Roeg เมื่อครั้นทำงานตากล้องอย่าง The Masque of the Red Death (1964), Fahrenheit 451 (1966), Far from the Madding Crowd (1967) ทั้งสามเรื่องต่างมีการใช้สีแดงปรากฎขึ้นซ้ำๆหลายครั้ง แทนสัญลักษณ์โศกนาฎกรรม ความสูญเสีย เศร้าโศกเสียใจ (tragedy, loss and grief) นั่นกระมังคือแรงบันดาลใจ “everything is connected”

เลือดหยดลงบนสไลด์ เริ่มจากตำแหน่งบุคคลสวมใส่ชุดแดง คาดว่าน่าจะเป็นสารเคมีบางอย่างที่สามารถแห้งติดกระจก ละลายรูปภาพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้เป็นนิมิตของ John ตระหนักว่ากำลังมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นขึ้น แล้วการตัดสลับขณะที่เขากำลังช่วยเหลือบุตรสาวขึ้นจากบ่อน้ำ (เป็นการ ‘Intercuts’ สื่อถึงเลือดอาบนอง ความตายอย่างทรมาน)

เรื่องวุ่นๆของฉากนี้ก็คือนักแสดงเด็ก Sharon Williams ที่รับบท Christine ทีแรกก็ซักซ้อมในสระว่ายน้ำมาเป็นอย่างดี แต่พอจะเข้าฉากจริงกลับเกิดอาการหวาดกลัวตัวสั่น (Hysterical) ปฏิเสธถ่ายทำหน้ากล้อง

ต่อมาเพื่อนบ้านแถวนั้น อาสาให้บุตรสาวที่เป็นนักว่ายน้ำมาเข้าฉากแทน แต่เธอกลับแสดงอาการแบบเดียวกันเป๊ะ! คือซักซ้อมในสระว่าน้ำได้ดี พอเข้าฉากจริงกลับหวาดกลัวหน้ากล้อง

สุดท้ายจึงต้องมองหาเด็กสาวคนที่สาม และถ่ายทำในสระว่ายน้ำซึ่งช็อตที่ Sutherland อุ้มเธอขึ้นมาจากพื้นน้ำ ใช้การถ่ายมุมก้มลงมาจากเบื้องบน เพื่อไม่ให้เห็นรายละเอียดรอบข้าง (เพราะไม่ได้ถ่ายทำยังสวนหลังบ้านอีกต่อไป)

เมื่อครั้น Laura ออกมาพบเห็นโศกนาฎกรรมของบุตรสาว ส่งเสียงกรีดร้อง จากนั้นตัดไปภาพสว่านกำลังเจาะผนังตึก, สองช็อตนี้มองด้วยตาย่อมไม่เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ แต่เสียงกรีดร้อง → เสียงสว่างเจาะผนัง มันมีความดังกึกก้อง (สัมผัสทางเสียง) และสถานที่ที่ John กำลังดูแลงานบูรณะอยู่นี้ ยังบริเวณต่ำกว่าระดับพื้นผิวน้ำ (สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจตัวละครที่กำลังตกต่ำลงก้นเบื้อง)

ผมเพิ่งรับชม Brief Encounter (1945) ไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เลยเกิดอาการ !@#$ เมื่อพบเห็นฝาแฝดคนทรงฝุ่นเข้าตา จากนั้น Laura อาสาเข้าไปช่วยเหลือ … เหมือนเป๊ะขนาดนี้ไม่น่าใช่ความบังเอิญหรอกนะ!

นอกจากนี้ ห้องน้ำยังเต็มไปด้วยกระจกเงา เพื่อสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร ได้รับการพบเห็นโดยฝาแฝดคนทรง (ถึงจะตาบอด แต่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน/สื่อสารจิตวิญญาณ) ส่วนแม่บ้านนั่งหลบมุมเป็นบุคคลน่าสงสัย รู้สึกไม่ปลอดภัย เหมือนมีลับลมคมใน (แต่เธอไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องนะครับ) เป็นการล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดมาก

หลังรับฟังคำบอกเล่าของคนทรง ทำให้ Laura คลายความวิตกกังวล ที่เป็นลมล้มพับไม่ใช่เพราะฮีทสโตรก อาการซึมเศร้าโศก แต่คือความดีใจเอ่อล้น ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนออกมามาก จนทำให้ร่างกายรับไม่ไหว (นี่ก็ถือเป็นลักษณะของ ‘misdirection’ ได้เช่นกัน)

และเมื่อ Laura ฟื้นตื่นขึ้นในโรงพยาบาล เปิดผ้าม่านออกพบเห็นเด็กๆอีกห้องกำลังเล่นสนุกสนาน ภาพสะท้อนกระจกช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเธอได้พบเห็นบุตรสาวในโลกหลังความตาย แม้สัมผัสจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ว่าอยู่สุขสบาย จึงเกิดรอยยิ้มกว้าง หายขาดจากอากาศซึมเศร้าโศกเสียใจ

มหาวิหารแห่งนี้คือ San Zanipolo (หรือ Basilica dei Santi Giovanni e Paolo) สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 15 ด้วยสถาปัตยกรรม Italian Gothic ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีศพของ Doge of Venice (บุคคลชนชั้นสูง/ผู้ปกครอง Venetian) สำหรับการจุดเทียน ถ้าตามความเชื่อคนไทยคือการต่ออายุขัย ในบริบทของหนังน่าจะเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิต (แต่ก็ไม่รู้ทำไมต้องหกเล่ม) และหลังจากพวกเขาเดินออกจากโบสถ์แห่งนี้ มีเทียนเล่มหนึ่งมอดดับลง (หลายคนอาจตีความถึงการจากไปของบุตรสาว แต่เรายังสามารถพยากรณ์ถึงอนาคตได้ด้วยเช่นกัน)

Massimo Serato (1916-89) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน โด่งดังกับภาพยนตร์มหากาพย์ อิงประวัติศาสตร์ Sword & Sandal, รับบทบาทหลวง Bishop Barbarrigo เหมือนจะมีตำแหน่งค่อนข้างสูงใน Venezia เป็นผู้ควบคุมการบูรณะโบสถ์เก่าแก่ แต่ดูแล้วไม่ได้ยี่หร่ากับภารกิจนี้สักเท่าไหร่ เต็มไปด้วยความลึกลับลมคมใน เพียงสัญลักษณ์บุคคลที่พึ่งทางใจ (ตรงกันข้ามกับ Inspector Longhi ถือเป็นที่พึงพิงของประชาชนทางกฎหมาย)

Bishop Barbarrigo แม้เป็นบุคคลของศาสนา แต่ก็มีเพียงความเชื่อศรัทธา องค์ความรู้ที่ได้รับการศึกษา ไร้ซึ่งสัมผัสต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่สามารถเป็นสื่อกลาง พูดคุยกับวิญญาณหรือพระเป็นเจ้า (แต่ชาวคาทอลิกถือว่า บาทหลวงเป็นตัวแทนของพระเยซูและอัครทูตของพระองค์)

one of the frankest love scenes ever to be filmed is likely to plunge lovely Julie Christie into the biggest censorship row since Last Tango in Paris (1972).

นักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ Daily Mail

Sex Scene ถือเป็นไฮไลท์ของหนังที่ได้รับการยกย่อง ‘Masterpiece’ มีการตัดสลับไปมาระหว่าง John & Laura กำลังปลดเปลื้องถอดเสื้อผ้าเพื่อร่วมเพศสัมพันธ์ vs. สวมใส่เสื้อผ้าหลังเสร็จกามกิจ สำหรับตระเตรียมตัวออกจากห้อง ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็เพื่อสื่อถึงทั้งสองเหตุการณ์คือสิ่งหนึ่งเดียวกัน ชาย-หญิง หยิน-หยาง สวมใส่-ถอดเสื้อผ้า ชิดใกล้-พลัดพรากจาก ฯลฯ

The idea was to show that making love and getting dressed were two similar things, both involving the body and touch. One is just as intimate as the other, but we don’t usually see it that way.

Sex is not just a physical act, it’s the most vulnerable thing you can do. When you take your clothes off you’re mentally and physically completely open to the other person. And that’s what grief is too, a complete exposure to your deepest emotions.

Nicolas Roeg

ตั้งแต่ภายหลังการสูญเสียบุตรสาว Laura จมปลักอยู่ในความหดหู่ สิ้นหวัง ปิดกั้นตนเอง นั่นคงทำให้ไม่มีอารมณ์อยากร่วมเพศสัมพันธ์กับ John แต่หลังจากเธอรับฟังคำบอกกล่าวของฝาแฝดคนทรง ทำให้รู้สึกผ่อนคลายกังวล หวนกลับมาสดชื่น ระเริงรื่น สามารถปลดเปลื้อง และยินยอมร่วมเพศสัมพันธ์กับเขา … กล่าวคือ Sex Scene เป็นฉากแสดงให้เห็นถึงสภาพจิตใจของ Laura ราวกับได้รับการปลดปล่อย อิสรภาพโบยบิน หมดทุกข์หมดโศกเสียที

I wanted to show two people who were deeply, passionately in love with each other, to portray that on the screen. I’m not interested in pornography, in showing something just for the sake of it. It’s easy to make something sexy, but to make something sensual and believable is much harder. We wanted to show the extraordinary level of communication between these two people, how they understand each other completely.

แต่เพราะความถึงพริกถึงขิงของการร่วมเพศสัมพันธ์นี้ มันจึงมีความหมิ่นเหม่ บางประเทศสั่งเซนเซอร์ บีบบังคับให้ต้องหั่นหลายๆช็อตออกไป ซึ่งวิธีการของผกก. Roeg ให้ลองสังเกตขณะร่วมรัก เมื่อตัวละครกำลังจะกระแทก โยกเข้า มักตัดควับไปขณะสวมใส่เสื้อผ้า หรือเปลี่ยนท่วงท่า มุมกล้อง … นี่เป็นลีลาการนำเสนอที่ผมรู้สึกว่าโจ่งครึ่มกว่าถ่ายให้ร่วมเพศสัมพันธ์กันตรงๆเสียอีกนะ!

They scrutinised it and found absolutely nothing they could object to. If someone goes up, you cut and the next time you see them they’re in a different position, you obviously fill in the gaps for yourself. But, technically speaking, there was no ‘humping’ in that scene.

รูปปั้นหน้าตาอัปลักษณ์เหล่านี้ ชวนให้ผมระลึกนึกถึง The Scarlet Empress (1934) จงใจถ่ายให้ปรากฎอยู่ในเฟรมร่วมกับตัวละคร เพื่อสร้างสัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ เหมือนว่ามีใครบางคน(เทพเทวดา & ปีศาจ)แอบจับจ้องอยู่อย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถพิสูจน์ด้วยตาเห็น

ลีลาการตัดต่อหนังสามารถเปรียบเทียบได้กับจิ๊กซอว์/กระเบื้องโมเสก หลายครั้งทำการปะติดปะต่อ แทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) พยากรณ์อนาคต (Flashforward) กระโดดไป-กระโดดมา เต็มไปด้วยลวดลายละลานตา … เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบเห็นการบูรณะโดยใช้กระเบื้องโมเสกชิ้นเล็กๆเหล่านี้

ดั้งเดิมนั้นซีเควนซ์นี้มีการว่าจ้างสตั้นแมน แต่กลับปฏิเสธทำการแสดงเพราะติดปัญหาเรื่องประกันอุบัติเหตุ นั่นทำให้ Donald Sutherland ตัดสินใจเข้าฉากด้วยตนเอง โดยมีการใช้ลวดสลิง (kirby wire) มัดติดตัวไว้เผื่อเกิดความผิดพลาด จริงๆมันก็ปลอดภัยระดับหนึ่งแหละ แต่ผู้ช่วยสตั้นดันไปพูดบอกว่า เส้นลวดไม่ได้ออกแบบมาด้วยจุดประสงค์ความปลอดภัย ถ้าถ่วงน้ำหนักมากเกินไป(เวลาดิ้นๆหมุนๆ)ก็มีแนวโน้มขาดสะบั้น ด้วยเหตุนี้ Sutherland จึงจับเส้นเชือกที่ห้อยโหยอย่างรัดแน่น (เพื่อไม่ให้ถ่วงน้ำหนักลวดสลิงมากเกินไป) ทั้งกลัว ทั้งเสี่ยง เทคเดียวผ่าน!

ผมละทึ่งกับการนำเสนอฉากนี้เสียจริงนะ! คาดว่าน่าจะใช้กล้องถ่ายทำพร้อมกันไม่น้อยกว่า 4-5 ตัว เก็บรายละเอียดจากทิศทางต่างๆ ระยะไกล-กลาง-ใกล้ แล้วยังมีทั้งสโลโมชั่น เวลาตัดต่อก็มักฉายภาพซ้ำแต่สลับสับเปลี่ยนมุมมอง (ให้เห็นแบบเน้นๆ) รวมถึง ‘Point-Of-View’ แทนสายตาบุคคลที่หนึ่ง ก้มลงมาแล้วหมุนๆ ชวนเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเฉียดเป็นเฉียดตาย

แม้เพิ่งผ่านผ่านประสบการณ์เฉียดตาย แต่ความครุ่นคิดของ John กลับมองเป็นเรื่องตลกขบขัน จงใจถ่ายติดโปสเตอร์ภาพยนตร์ของ Charlie Chaplin เรื่อง Un Contro Tutti แปลว่า One Against All นี่ไม่ใช่ผลงานใหม่ แต่เป็นการนำเอาหนังสั้นยุคแรกๆความยาว 1-2 Reel มาเรียบเรียง ปะติดปะต่อ สร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ (One Against All) แล้วออกฉายเฉพาะในอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1962

Renato Scarpa (1939-2021) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน รับบท Inspector Longhi เห็นว่าไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ใช้วิธีการอ่านบัตรคิวระหว่างเข้าฉาก … มันอาจฟังดูตลกว่าคัดเลือกนักแสดงแบบนี้มาทำไม? แต่สีหน้าท่าทาง คำพูดจาที่ไม่ยี่หร่า (ในข้อความเอ่ยกล่าวมา) สามารถสร้างความลึกลับ หวาดกังวล เต็มไปด้วยลับลมคมใน ตำรวจนายนี้ดูพึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า หนังจงใจเลือกสถานที่ถ่ายทำในเมือง Venice ที่ห่างไกลผู้คน ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวหลักๆ รวมถึงช่วงเวลา Low Season เลยไม่ค่อยได้รับการปรับปรุงดูแล มีสภาพเสื่อมโทรม ปรักหักพัง ฉากกลางคืนก็ปกคลุมด้วยความมืดมิด ราวกับเขาวงกตไร้หนทางออก … นี่ถือเป็นมุมมืดของ Venice ไม่ใช่ทุกคนจะเคยพบเห็น ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร โดยเฉพาะของ John ระหว่างออกติดตามหาภรรยา รวมถึงค่ำคืนไล่ล่าบุคคลสวมใส่ชุดแดง

ระหว่างที่ John โทรศัพท์ไปยังโรงเรียนประจำของบุตรชาย (จริงๆมันก็น่าจะติดต่อไปตั้งแต่แรกแล้วสิ!) สังเกตว่าด้านหลังจะมีรูปปั้นนักบุญ ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าคือใคร ราวกับอำนวยอวยพร ทำให้เขาพูดคุยภรรยาปลายสาย คลายความวิตกกังวล ไม่ได้ถูกฝาแฝดคนทรงลักพาตัวแต่อย่างใด

John ทำการออกไล่ล่าติดตามบุคคลสวมชุดแดง มาถึงยังเป้าหมายปลายทาง Santa Maria Formosa หรือ The Church of the Purification of Mary ก่อสร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 15th ด้วยสถาปัตยกรรม Renaissance (ก่อสร้างแทนโบสถ์หลังเก่าสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7th) และสังเกตว่าตั้งแต่ตัวละครวิ่งเข้ามาภายใน/ปิดประตูรั้ว มีการใส่เอ็ฟเฟ็กหมอกควัน สร้างความลึกลับ สัมผัสอันตราย ดินแดนแห่งการ ‘ชำระล้างความบริสุทธิ์’

เกร็ด: Formosa มาจากคำว่า Formosus ภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่างดงาม, beautiful แต่บุคคลสวมใส่ชุดแดง เมื่อเปิดเผยใบหน้าออกมากลับอัปลักษณ์พิศดาร (นี่คือลักษณะของ ‘misdirection’ อีกเช่นกัน)

Adelina Poerio อาชีพหลักของเธอคือนักร้อง ความสูงแค่ 127 เซนติเมตร (4’2″) ในเครดิตขึ้นชื่อว่ารับบทคนแคระ, Dwarf แท้จริงคือฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งระหว่างร้อยเรียงชุดภาพวินาทีแห่งความตาย จะปรากฎรูปปั้นโกเลม (Golem) ที่ John เคยติดตั้งยังโบสถ์เก่าแก่หลังหนึ่ง ใบหน้าละม้ายคล้ายกันนักแล

เกร็ด: ในคติชาวยิว โกเลม (Golem‎) คือสัตว์รูปอย่างมนุษย์ ประกอบขึ้นจากวัตถุไม่มีชีวิตแล้วเสกเป่าให้มีชีวิต (พยนต์)

ความตายของ John พยายามทำออกมาให้มีกลิ่นอาย Giallo (ภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า สีเหลือง) เพื่อเป็นการเคารพคารวะแนวภาพยนตร์ Italian Thriller-Horror นำเสนอความตายในรูปแบบงานศิลปะขั้นสูง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม(ในอิตาลี)ขณะนั้น

วินาทีที่ตัวละครถูกปาดคอ จะได้ยินเสียงระฆังดังกึกก้องกังวาล พร้อมมีการร้อยเรียงชุดภาพ ‘วินาทีแห่งความตาย’ ปะติดปะต่อเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ตัดสลับกับปัจจุบัน John ทิ้งตัวลงนอน เลือดไหลนอง ชักดิ้นกระแด่วๆ และใบหน้าของ Laura รวมถึงฝาแฝดคนทรง กำลังส่งเสียงกรีดร้อง (น่าจะรับรู้ได้ด้วยจิตสัมผัส)

เกร็ด: มีนักวิจารณ์ทำการเปรียบเทียบ Don’t Look Now (1973) กับภาพยนตร์เรื่อง Who Saw Her Die? (1972) กำกับโดย Aldo Lado, นำแสดงโดย George Lazenby, Anita Strindberg, ซึ่งเป็นแนว Italian Giallo เรื่องราวเกี่ยวกับการไล่ล่าฆาตกรสวมผ้าคลุมสีดำ ซึ่งได้ทำการเข่นฆาตกรรมบุตรสาวและหญิงสาวอีกหลายคน ก่อนมาพบเจอหลบซ่อนตัวอยู่ในกรุง Venice แห่งนี้

สามสาวสวมชุดสีดำ กำลังโดยสารเรือกอนโดลา นี่คือสิ่งที่ John เคยพบเห็นตั้งแต่ฉากก่อนหน้า (ระหว่างที่เขากำลังจะเดินทางกลับ London แต่พอพบเห็นภาพดังกล่าวเลยเปลี่ยนเป้าหมายไปสถานีตำรวจ) แต่เขาไม่เคยตระหนักว่ามันคือนิมิต (Premonitions) ภาพพยากรณ์อนาคต ในบริบทภาพยนตร์เรียกว่า ‘Flash-Forward’ หรือคือพบเห็นความตายของตนเอง

รอยยิ้มของ Laura คือสิ่งที่ผกก. Roeg ต้องการเปิดกว้างให้ผู้ชมครุ่นคิดตีความ บ้างว่าเธอสามารถยินยอมรับความจริง (Acceptance) คลายความกังวลที่สามีได้ไปอยู่เคียงข้างบุตรสาว รวมถึงแนวโน้มว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ (ร่วมรักกันร้อนแรงขนาดนั้น ก็มีความเป็นไปได้อยู่เล็กๆ) สัญลักษณ์ของสิ้นสุด-จุดเริ่มต้น และการถือกำเนิดจิตวิญญาณ

I wanted the end of Don’t Look Now to be like that because it shows the possibility of the soul, the psyche, to be reborn. It’s a very joyful ending. It’s very simple, but it gives you an idea of the sense of the soul being renewed and reborn.

Nicolas Roeg

ตัดต่อโดย Graeme Clifford (เกิดปี 1942) ผู้กำกับ/นักตัดต่อชาว Australian, เดินทางสู่ London ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 เริ่มต้นทำงานแผนกตัดต่อ จากการเป็นผู้ช่วยตัดต่อในหลายๆผลงานของ Robert Altman, ได้รับเครดิตจากการร่วมงาน Nicolas Roeg เรื่อง Don’t Look Now (1973), The Man Who Fell to Earth (1976), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Rocky Horror Picture Show (1975), The Postman Always Rings Twice (1981) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ John Baxter เป็นหลัก! เริ่มจากอารัมบทการสูญเสียบุตรสาว แล้วเดินทางสู่ Venice, Italy เพื่อทำการบูรณะโบสถ์เก่าแก่ San Nicolò dei Mendicoli แต่ขณะเดียวกันอดีตยังติดตามมาหลอกหลอน และแม้พบเห็นภาพอนาคต กลับเกิดความเข้าใจอะไรผิดๆ

  • อารัมบท, การสูญเสียบุตรสาว
  • ความเปลี่ยนแปลงของภรรยา Laura
    • John และ Laura เดินทางสู่ Venice เพื่อทำการบูรณะโบสถ์เก่าแก่
    • ระหว่างรับประทานอาหาร Laura ได้พบเจอฝาแฝดคนทรง ให้คำแนะนำที่ทำให้เธอคลายความทุกข์โศก
    • Laura คนใหม่ดูสดใส เบิกบาน เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา กลับมาร่วมรักกับสามี
  • อาการหวาดระแวงของ John
    • แม้ว่า John จะดีใจที่ Laura คลายความทุกข์โศก แต่เขากลับเต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อฝาแฝดคนทรง
    • ได้รับโทรศัพท์กลางดึก ครูใหญ่แจ้งว่าบุตรชายประสบอุบัติเหตุ Laura จึงเดินทางกลับอังกฤษ
    • ระหว่างนั้น John ทำการบูรณะโบสถ์เก่าแก่ San Nicolò dei Mendicoli ประสบอุบัติเหตุ รอดชีวิตอย่างหวุดหวิด
  • นิมิตหมายของ John
    • John ตัดสินใจเดินทางกลับอังกฤษ แต่ระหว่างทางดันพบเห็น Laura อยู่กับฝาแฝดคนทรง
    • ครุ่นคิดว่าเธอถูกลักพาตัวเลยออกติดตามค้นหา แจ้งความกับตำรวจ เพราะครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคือฆาตกรต่อเนื่อง
    • แต่หลังจากพูดคุยทางโทรศัพท์ จึงค้นพบว่าเกิดความเข้าใจผิด
  • การเผชิญหน้าอดีต/ไล่ล่าค้นหาความจริงของ John
    • John ให้ความช่วยเหลือฝาแฝดคนทรง, พอดิบพอดี Laura เดินทางกลับมา Venice
    • ค่ำคืนนั้น John ออกไล่ล่าบุคคลสวมชุดสีแดง, Laura ก็ติดตามหาสามีเช่นกัน
    • John เผชิญหน้าฆาตกรต่อเนื่อง
    • Laura และฝาแฝดคนทรง เข้าร่วมงานศพของสามี

ลีลาการตัดต่อของหนัง จัดจ้านด้วยเทคนิค ลวดลีลา ปะติดปะต่อคล้ายกระเบื้องโมเสก พบเห็นอารัมบทคู่ขนาน, ตัดสลับปัจจุบัน-อนาคต (ก่อน-หลังมีเพศสัมพันธ์), ร้อยเรียงชุดภาพย้อนอดีต (Flashback), พบเห็นนิมิตแห่งอนาคต (Flash-Forward) ฯ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อทำการล่อหลอกผู้ชม ‘misdirection’ มองด้วยตาเห็นอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง (แนวคิดดังกล่าวถือเป็นลายเซ็นต์สไตล์ Hitchcockian ก็ว่าได้)

จะว่าไปแทบทุกสิ่งอย่างในหนังล้วนสอดคล้องแนวคิด ‘misdirection’ ขอยกตัวอย่างถึง John ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดๆนับครั้งไม่ถ้วน

  • คำถามของบุตรสาว, ทั้งๆที่โลกกลม แต่ทำไมเราถึงพบเห็นทะเลสาปเป็นเส้นตรง? นั่นเพราะข้อจำกัดสายตา จุดที่เรายืนมอง และระยะทางที่ใกล้เกินไปจะทำให้ไม่สามารถเห็นความโค้งมน
  • John เต็มไปด้วยอคติต่อฝาแฝดคนทรง เพราะครุ่นคิดว่าพยายามล่อหลอกล้างสมองภรรยา แต่แท้จริงแล้วพวกเธอมาดี ต้องการตอบแทนไมตรีเคยมอบให้
  • ระหว่างที่ John แอบติดตามภรรยาเข้าไปห้องพักของฝาแฝดคนทรง ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโจรเลยต้องวิ่งหลบหนีออกมา
  • เข้าใจผิดว่าภรรยาถูกลักพาตัว แต่แท้จริงแล้วนั่นคือนิมิตหมายแห่งอนาคต
  • ออกติดตามบุคคลสวมชุดสีแดง เพราะครุ่นคิดว่าคือบุตรสาว แต่แท้จริงแล้วกลับเป็น …

เพลงประกอบโดย Giuseppe “Pino” Donaggio (เกิดปี 1941) นักร้อง/นักแต่งเพลง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Burano (Venice) ในครอบครัวนักดนตรี ได้รับการฝึกฝนไวโอลินตั้งแต่เด็ก เข้าศึกษายัง Benedetto Marcello Conservatory, Venice ตามด้วย Giuseppe Verdi Conservatory, Milan แต่หลังจากค้นพบความชื่นชอบ Rock and Roll จึงเปลี่ยนมาเป็นนักร้อง แต่งเพลง โด่งดังกับ Io che non-vivo (1965), จากนั้นจับพลัดจับพลูร่วมงาน Nicolas Roeg ภาพยนตร์ Don’t Look Now (1973) เลยผันตัวเข้าสู่การทำเพลงประกอบภาพยนตร์ กลายเป็นขาประจำ Brian De Palma อาทิ Carrie (1976), Dressed to Kill (1980), Body Double (1984) ฯ

ในตอนแรกผกก. Roeg มีความสนใจอยากร่วมงาน Pink Floyd แต่ถูกบอกปัดเพราะกำลังง่วนกับการออกอัลบัมใหม่ ต่อมาคือ John Barry ซึ่งก็ขอถอนตัวออกไปเพราะติดพันอีกโปรเจค ซึ่งระหว่างกำลังมองหานักแต่งเพลงคนใหม่ โปรดิวเซอร์ Ugo Mariotti บังเอิญพบเห็น Pino Donaggio ระหว่างกำลังโดยสารเรือกอนโดลาใน Venice ครุ่นคิดว่าเป็นลางบางเหตุ เลยตัดสินใจติดต่อเข้าหา แน่นอนว่าในตอนแรกย่อมบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาก่อน แต่หลังจากได้พูดคุยผกก. Roeg รับฟังวิสัยทัศน์ จึงยินยอมตอบตกลง

Pino is a genius. He had never done a film score before, but he just got it right. It’s one of the most extraordinary film scores ever made.

Nicolas Roeg

งานเพลงของหนังต้องถือว่าเป็นอีก ‘misdirection’ ล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความหลงเข้าใจผิดๆ เริ่มจากเปียโนท่วงทำนองกล่อมเด็ก (Children Play) แล้วพัฒนาสู่สไตล์ Baroque ต่อด้วย Romanticism แล้วยังมี Choral Music บรรเลงด้วย Church Organ สดับฟังแบบผ่านๆ(หรือคนที่ยังไม่ได้รับชมหนัง)อาจไม่ได้สัมผัสความหลอกหลอน บรรยากาศขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านทรวงในสักเท่าไหร่

บทเพลงเหล่านี้แม้ไม่ได้มีลักษณะเหมือนหนัง Horror ทั่วๆไป แต่มันสามารถสร้างความวาบหวิว สั่นสยิวกาย เหมือนมีบางสิ่งอย่างสูญหาย ระหว่างรับชมหนังจะรู้สึกหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง นั่นคือลักษณะขัดแย้งระหว่างภาพพบเห็น vs. บทเพลงประกอบ … ชวนให้ผมนึกถึง Forbidden Games (1952) และ House (1977) อยู่ไม่น้อยเลยละ!

แซว: Donaggio เป็นนักดนตรีทางฝั่งเครื่องสาย กีตาร์ ไวโอลิน ฯ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเปียโนสักเท่าไหร่ แต่เขาลงมือบรรเลงบทเพลง John’s Theme (Children Play) จงใจกดผิดกดถูก กดคีย์ไม่ตรงจังหวะ มือใหม่หัดเล่น เพื่อให้สอดคล้องแนวคิด ‘Children Play’

บทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ และมีความครบเครื่องสุดในอัลบัม John’s Theme (Love Scene) เริ่มต้นด้วยเปียโน ตามด้วยเครื่องเป่าฟลุต กีตาร์อะคูสติก และกีตาร์อะคูสติกเบส ซึ่งทั้งหมดบรรเลงโดย Donaggio ทำการแยกเล่นแล้วค่อยนำมา Mixed ผสมรวมกัน

ในตอนแรก Donaggio ต้องการจัดเต็ม Sex Scene ให้ถึงสรวงสวรรค์ด้วยออร์เคสตราเต็มวง! แต่ผกก. Roeg รู้สึกว่ามันมากเกิน ‘overkill’ ต่อรองจนเหลือเพียงสี่เครื่องดนตรี (Quartet) แต่ส่วนใหญ่มักได้ยินแค่สองเครื่องดนตรีบรรเลงท่วงทำนองเคล้าคลอเคลีย/ขัดแย้งตรงกันข้าม (สามารถล้อกับเพศสัมพันธ์ชาย-หญิง หรือจะมองถึงลีลาตัดต่อสลับไปมาระหว่างถอดชุดร่วมรัก-เสร็จกิจสวมใส่เสื้อผ้า ก็ได้เช่นกัน)

ปล. หลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นบทเพลง Bach: Minuet in G Major แต่มันแค่ท่อนเริ่มต้นที่เหมือนกันเท่านั้นนะครับ

บทเพลงเกี่ยวกับ Laura อย่าง Laura’s Theme หรือ Searching For Laura มักมีกลิ่นอายสไตล์ Baroque ดนตรีแห่งความขัดแย้ง (มักใช้เครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิด เล่นท่วงทำนองสะท้อนกันและกัน คนละระดับเสียง สลับเสียง หรือย้อนแก่นสาร) ซึ่งสามารถสื่อถึงสภาวะทางอารมณ์ ห้วงความรู้สึกตัวละครขณะนั้นๆ

Searching For Laura สิ่งขัดแย้งภายในจิตใจของ John เกิดจากความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่สายตาพบเห็น (ว่าภรรยาสวมชุดดำขึ้นเรือกอนโดลาไปกับฝาแฝดคนทรง) แต่ลึกๆยังเต็มไปด้วยความลังเล ฉงนสงสัย ไม่ใช่ว่า Laura เดินทางกลับเกาะอังกฤษไปหาบุตรชายหรืออย่างไร??

The Last Farewell เป็นบทเพลงเดียวของหนังที่มีการใช้ออร์เคสตราเต็มวง เพราะความตายหมายถึงได้รับการปลดปล่อย ซึ่งในความครุ่นคิดภรรยาหม้าย Laura การจากไปของสามีไม่ได้หมายถึงสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง แต่จิตวิญญาณชายคนรักจักอาศัยอยู่กับบุตรสาว เคียงข้างตนเองและบุตรชายตลอดไป

แถมท้ายกับบทเพลงขับร้องภาษาอิตาเลี่ยนโดย Iva Zanicchi จากท่วงทำนอง Laura’s Theme แม้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ แต่รวมอยู่อัลบัมเพลงประกอบ … จริงๆน่าจะนำมาใส่ Closing Credit ก็พอได้อยู่นะ

คำร้องอิตาเลี่ยนแปลอังกฤษ
Avere amato te
È la malinconia
È la serenità
Che hanno i colori di dicembre

È quell′incerta verità
Dei suoni all’alba intorno a te
Quando si perdono
Nella caligine

Avere amato te
È la tranquillità
Che scivolava via
Lungo canali quieti

Poi son passate su di noi
Antiche e lugubri magie
Dovevo perderti
Senza difenderti

Amore e morte non si sa
Cosa decidano per te
E i giorni facili
Non si ripetono

La mia malinconia
È avere amato te
Avere amato te
Tanto tempo fa
To have loved you
Is the melancholy
Is the serenity
That the colors of December have

It is that uncertain truth
Of the sounds around you at dawn
When they get lost
In the haze

To have loved you
Is the tranquility
That slipped away
Along quiet canals

Then ancient and mournful spells
Passed over us
I had to lose you
Without defending you

Love and death, one doesn’t know
What they’ll decide for you
And easy days
Won’t repeat themselves

My melancholy
Is having loved you
Having loved you
So long ago.

เท่าที่ผมลองค้นหาในไฟล์ซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ ไม่พบเห็นการใช้คำว่า Don’t Look หรือ Don’t Look Now แต่ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจได้จากเนื้อเรื่องราวเองว่า ต้องการสื่อถึง John Baxter คำตักเตือนว่าอย่าติดตาม ห้ามมองหา ไล่ล่าบุคคลสวมใส่ชุดสีแดง เพราะอาจทำให้บังเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมขึ้นอีกครั้ง!

Don’t Look Now (1973) นำเสนอเรื่องราวการบูรณะฟื้นฟูสภาพจิตใจ ภายหลังโศกนาฎกรรม เหตุการณ์ความสูญเสีย (ความตายของสมาชิกครอบครัว เหมารวมถึงทหารหาญในสงครามโลก) บุคคลที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาดังกล่าว มักแสดงอาการหดหู่ ล้มป่วยซึมเศร้า (Depression) หรือ Shell Shock/PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ยังไม่สามารถหวนกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

สิ่งแรกๆที่ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องตระหนักให้ได้ก่อนเลย คือโศกนาฎกรรม/เหตุการณ์เลวร้ายบังเกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดพลาดของตัวเรา (มันอาจจะใช่หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าโทษว่ากล่าวตนเอง) อุบัติเหตุมันคือความน่าจะเป็น อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ หายนะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่ามัวหมกมุ่นยึดติดอยู่กับอดีต “Don’t Look Back” ตราบยังมีลมหายใจ ชีวิตยังต้องดำเนินอีกยาวไกล

ความหมกมุ่นยึดติดอยู่กับอดีตมากเกินไป หรือคือการที่ John Baxter พยายามออกไล่ล่าบุคคลสวมใส่ชุดสีแดง โดยไม่รู้ตัวมันอาจเป็นฆาตกรต่อเนื่อง หวนย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา ทำลายจิตวิญญาณ มองไม่เห็นนิมิตอนาคตที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้า เสี้ยววินาทีสุดท้ายของชีวิตจึงพบเห็นเพียง ‘Flashback’ ประมวลภาพชีวิต ทุกสิ่งอย่างพานผ่านมา

อีกข้อเสนอแนะของหนังเกี่ยวกับวิธีรักษาผู้ป่วยซึมเศร้า คือการพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติ แม้ไร้ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับความเชื่อศรัทธาส่วนบุคคล แต่ถ้ามันสามารถทำให้เขาฟื้นตื่น ลุกขึ้นยืนด้วยตนเอง ไม่รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวภายในอีกต่อไป ของแบบนี้ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่ … แต่ต้องระวังไม่ให้ถึงขั้นลุ่มหลงงมงาย

การสื่อสารก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ สังเกตว่าบางครั้งหนังจงใจไม่ขึ้นคำแปลภาษาอิตาเลี่ยน นักแสดงบางคนก็พูดอังกฤษแบบตะกุกตะกัก ครูใหญ่คุยโทรศัพท์อะไรก็ไม่รู้เรื่อง อีกทั้งมีการใช้สื่อกลาง/บุคคลกลาง รวมถึงภาษากายระหว่างร่วมเพศสัมพันธ์ … เหล่านี้มองผิวเผินเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไร แต่สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า เขาต้องการใครสักคนสำหรับสื่อสาร ระบายความทุกข์ทรมานที่อยู่ภายใน

แม้พื้นหลังของหนังจะดำเนินขึ้นที่เวนิส, อิตาลี แต่นครสายน้ำแห่งนี้ไม่ต่างจากอังกฤษ (มีลักษณะเป็นเกาะแก่งคล้ายๆกัน) เราสามารถเปรียบเทียบการฟื้นฟูบูรณะสภาพจิตใจตัวละคร = โบสถ์วิหาร = ประเทศชาติภายหลังสงคราม (Post-Wars) เป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถเหลียวแลหลัง (Don’t Look Back) จำต้องมองไปข้างหน้า พานผ่านยุคสมัย Great Depression มาจนถึงทศวรรษใหม่ 60s-70s (Swinging London) ทุกสิ่งอย่างได้พลิกตารปัตร อะไรเคยพบเห็นอาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป “Nothing is what it seems”.

เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผกก. Roeg ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1973 ไม่เคยประสบโศกนาฎกรรม หรือสูญเสียบุตรชาย-สาวก่อนวัยอันควร แต่ตัวเขาเติบโตพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ย่อมตระหนักรับรู้ถึงหายนะบังเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่เขาหันมาเหลียวแลหลังเพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เสร็จแล้วก็ทอดทิ้งมันไว้ตรงนั้น เพื่อที่จะก้าวดำเนินชีวิตต่อไป

I don’t look back on any film I’ve done with fondness or pride. I look back on my films and on the past generally … I can only used the phrase, “Well, I’m damned.”

Nicolas Roeg

เกร็ด: ชื่อหนังในหลายๆประเทศมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข เหมือนไม่ค่อยมีใครอยากใช้ Don’t Look Now สักเท่าไหร่

  • ภาษาอิตาเลี่ยนคือ A Venezia … un dicembre rosso shocking แปลว่า In Venice … a Shocking Red December
  • ภาษาเยอรมัน Wenn die Gondeln Trauer tragen แปลว่า When the Gondolas Wear Grief
  • ภาษาญี่ปุ่น 赤い影 (Akai Kage) แปลว่า Red Shadow

ด้วยทุนสร้าง £566,501 ปอนด์ (ประมาณ $1.3-1.5 ล้านเหรียญ) เข้าฉายช่วงเดือนพฤศจิกายน ในฐานะหนังควบ ‘Double Bill’ คู่กับ The Wicker Man (1973) [ทั้งสองเรื่องต่างคือ Horror Masterpiece ถือเป็นการฉายควบที่คุ้มค่าตั๋วมากๆ] โดยไม่รู้ตัวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีแหล่งข่าวหนึ่งรายงานว่าทำเงินทั่วโลกประมาณ $10 ล้านเหรียญ

ปล. ความสำเร็จของโปรแกรมฉายควบ Don’t Look Now (1973) & The Wicker Man (1973) คาดการณ์ว่าอาจได้รับอิทธิพลจาก The Exorcist (1973) ซึ่งเข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยปลายเดือนธันวาคม ต่างร่วมกันปลุกกระแสความนิยมแนว Horror และพัฒนากลายเป็น Cult Classic

เสียงตอบรับที่ดีมากๆของหนัง ทำให้สามารถเข้าชิง BAFTA Award จำนวน 7 สาขา น่าเสียดายคว้ามาเพียงรางวัลเดียว เพราะปีนั้นมีเต็งจ๋าอย่าง Day for Night (1973) ของผู้กำกับ François Truffaut ตัดหน้าคว้า Best Film และ Best Direction

  • Best Film
  • Best Direction
  • Best Actor (Donald Sutherland)
  • Best Actress (Julie Christie)
  • Best Cinematography **คว้ารางวัล
  • Best Film Editing
  • Best Soundtrack

กาลเวลาทำให้ Don’t Look Now (1973) นอกจากความเป็น ‘Horror Masterpiece’ ยังคือหนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษยอดเยี่ยมตลอดกาล และได้รับการโหวตติดอันดับ “Greatest of All-Times” หลากหลายสำนัก

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 114 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2022 อันดับ 46 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 127 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2012 อันดับ 91 (ร่วม)
  • BFI: Top 100 British films (1999) อันดับ 8
  • TIMEOUT: The 100 Best British Films อันดับ 1

ปล. การที่ Don’t Look Now (1973) ได้รับอันดับสูงขึ้นในชาร์ทของ Sight & Sound นั่นแปลว่าหนังยังคงทรงพลัง และสร้างอิทธิพลให้ผู้ชมในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

I just thought that it was a beautifully shot, really adult look at real-life horror stories, and there was a great degree of sexuality in it that, as a young kid, when I saw it, I remember I was very startled by. It felt very brave to me, and I think it still holds up. Nick Roeg is a brilliant director.

Ryan Murphy ผู้กำกับซีรีย์ American Horror Story (2011-)

Nicolas Roeg’s 1973 film remains one of the great horror masterpieces, working not with fright, which is easy, but with dread, grief and apprehension.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4 และจัดให้เป็น Great Movie

เมื่อปี ค.ศ. 2000 สถาบัน British Film Institute ได้เริ่มต้นทำการบูรณะฟีล์มภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษที่มีสภาพย่ำแย่ ใกล้จะเกินเยียวยา, Don’t Look Now (1973) คือหนึ่งในแปดเรื่องแรก ใช้เวลาปีกว่าๆ เสร็จแล้วตระเวนนำออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์

การบูรณะครั้งถัดมา ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ได้รับการตรวจอนุมัติโดยผู้กำกับ Roeg เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Criterion Collection, StudioCanal, Optimum Home Entertainment ฯลฯ


หวนกลับมารับชมครานี้ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกลุ่มหลงใหล โคตรๆประทับใจหนังยิ่งๆขึ้นกว่าเดิม เพราะสามารถสังเกตรายละเอียด ทำความเข้าใจเหตุผลการนำเสนอของผกก. Roeg ตระหนักถึงอัจฉริยภาพ และศักยภาพของ Don’t Look Now (1973) อยู่ในระดับ Top5 ของประเทศอังกฤษจริงๆ

Don’t Look Now (1973) เป็นภาพยนตร์เหมาะสำหรับคนประสบความสูญเสีย พบเจอเหตุการณ์โศกนาฎกรรม เชื่อว่าน่าจะสร้างพละพลัง กำลังใจ สอนให้รู้จักปล่อยละวางอดีต ‘อย่าเหลียวแลหลัง’ จงหันมองไปข้างหน้า อนาคตยังอีกยาวไกล เราสามารถลุกขึ้นก้าวเดิน เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะตากล้อง นักตัดต่อ นักบูรณะโบราณสถาน และโดยเฉพาะผู้ชื่นชอบนครสายน้ำ Venice, Italy พบเห็นเมืองแห่งนี้ในอีกมุมมองที่แตกต่างจาก Summertime (1955), Death in Venice (1971) ฯ

จัดเรต 18+ กับความโป๊เปลือย โศกนาฎกรรม ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ

คำโปรย | Don’t Look Now คำท้าทายของผู้กำกับ Nicolas Roeg อย่าเหลียวแลหลัง แต่จงหันมองไปข้างหน้า อนาคตยังอีกยาวไหล เราสามารถลุกขึ้นก้าวเดิน เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ตลอดเวลา
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล


Don't Look Now

Don’t Look Now (1973) British : Nicolas Roeg ♥♥♥♥♡

(30/9/2016) ถ้ามีใครไม่รู้มาเตือนว่า ‘ให้ระวังตัวไว้จะมีอันตราย’ เป็นคุณจะเชื่อหรือเปล่า? หนังแนวกึ่งๆ Occult ผสม Thriller เชิงจิตวิทยา โดยผู้กำกับ Nicolas Roeg นำแสดงโดย Donald Sutherland กับ Julie Christie ที่มีฉากเลิฟซีนอันลือลั่น ไปถ่ายทำกันที่ Venice, Italy ภาพสวย ตัดต่อเจ๋งโคตรๆ และตอนจบที่คาดไม่ถึง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมรู้จักหนังเรื่องนี้จากชาร์ท BFI: Top 100 British films (1999) จัดอันดับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษยอดเยี่ยม ของสถาบัน British Film Institute (มีลิ้งค์ใน Professional Meat นะครับ) Don’t Look Now ติดอันดับ 8 ถือว่าสูงมากๆในชาร์ทนี้ ตั้งใจจะดูมาพักใหญ่แล้ว เพราะชื่อหนังที่ยั่วมากๆ และผมไปได้ยินกิตติศัพท์ว่า มีฉาก Sex Scene อันลือลั่น ที่ว่ากันว่านักแสดงอาจ Intercourse กันจริงๆ แบบนี้จะให้พลาดไปได้ยังไง

Nicolas Roeg (1928-ยังมีชีวิตอยู่) ผู้กำกับและตากล้องชาวอังกฤษ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างภาพในกองถ่าย Second-Unit หนังเรื่อง Lawrence of Arabia (1962) ต่อมาเป็นตากล้องให้ Roger Corman ในหนังเรื่อง The Masque of the Red Death (1964) และ François Truffaut เรื่อง Fahrenheit 451 (1966) ถือว่าเป็นคนที่มีเครดิตดีทีเดียว, กำกับหนังเรื่องแรกร่วมกับ Donald Cammell เรื่อง Performance (1970), Don’t Look Now เป็นผลงานในกำกับลำดับที่ 4 ของ Nicolas Roeg ที่ได้รับการพูดถึง โจษจัน และมีชื่อเสียงที่สุด

สไตล์ของ Roeg ขึ้นชื่อในเรื่อง การนำเสนอเรื่องราว พล็อตที่ไม่มีการเรียงลำดับเวลา เป็นการตัดต่อที่ไม่ต่อเนื่อง อยากจะใส่ภาพอะไร ช่วงเวลาก็ใส่เข้ามา ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน อนาคต บางทีก็ใส่เข้ามาพร้อมกันในฉากเดียว, มีคำกล่าวสไตล์ของ Roeg ว่า ‘เปรียบเสมือนเขาทำให้ทุกสิ่งอย่างแตกละเอียดออกเป็นพันๆชิ้น แล้วนำมาเรียงต่อกันใหม่ เข้ารหัสไว้แบบไม่สามารถคาดการณ์ได้ จนบางครั้งทำให้คุณสงสัยว่า มันเกิดบ้าอะไรขึ้นกันเนี่ย’ (to shatter reality into a thousand pieces and are unpredictable, fascinating, cryptic and liable to leave you wondering what the hell just happened. …) คำเปรียบเทียบที่ตรงที่สุดคือ ‘กระเบื้องโมเสก’ (mosaic-like montages) ที่เกิดจากการเอาชิ้นส่วนกระเบื้องเล็กๆหลากสีหลากขนาดมาเรียงต่อกัน มองใกล้ๆอาจไม่เห็นอะไร แต่มองไกลๆจะเห็นเป็นรูปร่างสวยงาม (ในหนังเรื่องนี้ก็จะเห็นกระเบื้องโมเสกเต็มไปหมดเลยนะครับ)

เทคนิคนี้ของ Roeg ถือว่ามีอิทธิพลต่อผู้กำกับหนังในยุคถัดๆมา ต่อผู้กำกับดังๆ อาทิ Steven Soderbergh, Tony Scott, Ridley Scott, François Ozon และ Danny Boyle

ดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของ Daphne du Maurier เรื่อง Not After Midnight ตีพิมพ์เมื่อปี 1971 มีทั้งหมด 5 เรื่องยาว สำหรับเวอร์ชั่นที่ขายในอเมริกาเปลี่ยนชื่อเป็น Don’t Look Now (สลับเอาชื่อตอนอื่นมาเป็นชื่อหนังสือ), ผลงานดังๆของนักเขียนคนนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจรู้จัก อาทิ Rebecca, The Bird สองเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Alfred Hitchcock

Allan Scott และ Chris Bryant เป็นผู้เสนอบทหนังนี้ให้กับ Nicolas Roeg ซึ่งหลังได้อ่านบทแล้วก็ชื่นชอบอย่างมาก ต้องการดัดแปลงให้ออกมาตรงตาม เคารพต้นฉบับมากที่สุด, เรื่องราวของสามี-ภรรยา ที่เสียลูกสาวไปเพราะจมน้ำ ได้รับงานบูรณะฟื้นฟูโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองลอยน้ำ Venice, Italy มันมีอะไรหลายอย่างที่นี่ ที่ทำให้พวกเขาระลึกถึงเหตุการณ์ขณะสูญเสียลูก แต่ภาพนั้นมันคือ Flashback หรือนิมิตของอนาคต ยากที่ใครจะเข้าใจและเชื่อใจได้

สำหรับนักแสดงที่ Roeg มีไว้ในใจตั้งแต่แรกเลยคือ Donald Sutherland และ Julie Christie ให้มารับบท John Baxter และ Laura Baxter

Donald Sutherland ถ้าบอกว่าชายคนนี้ไม่เคยเข้าชิง Oscar สักครั้ง ผมก็แทบไม่อยากเชื่อ แต่จริงครับ หนึ่งในนักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก มีผลงานสุดอมตะมากมาย M*A*S*H (1970), Ordinary People (1980), JFK (1991), A Time to Kill (1996) ฯ คงบารมีไม่ถึงจริงๆ ไม่เช่นนั้นชายคนนี้ควรจะได้ Oscar อย่างน้อย 2-3 ตัวแล้ว, กับหนังเรื่องนี้ การแสดงของ Sutherland คล้ายๆกับ Ordinary People มาก รับบทเป็นพ่อที่เสียลูกสาวไป (แต่ยังเหลือลูกชายอีกคน) หนังทำให้เราเห็นว่าเขามีสัมผัสที่ 6 รับรู้ได้ว่าอาจมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต แต่เจ้าตัวกลับไม่เชื่อ ไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องงมงาย เหนือธรรมชาติ, ในตอนแรกที่ Sutherland อ่านบท เขารู้สึกต่อต้าน (คล้ายๆกับตัวละครที่รับบท) เพราะรู้สึกว่ามันเกินไปหน่อยที่จะไม่เชื่ออะไรเลย และตอนจบที่… เขาอยากให้หนังออกไปทาง educative film ให้ตัวละครได้ประโยชน์จาก ESP มากกว่ากลายเป็นหายนะ แต่ผู้กำกับ Roeg ยืนยันที่จะยึดตามต้นฉบับเปะๆ ผลลัพท์ตอนจบเลยออกมาเหนือความคาดหมายมากๆ

เกร็ด: ESP คือ Extrasensory perception, Esper, หรือสัมผัสที่ 6 บุคคลผู้มีความสามารถพิเศษ รับสัมผัสอื่นนอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์ได้

Julie Christie เธอคือ pop icon แห่งยุค Swinging London ยุคทองของเธอคือ 60s ได้ Oscar: Best Actress จากหนังเรื่อง Darling (1965) หนังดังๆของเธออาทิ Doctor Zhivago (1965), The Go-Between (1971), Afterglow (1997), Away from Her (2006) ฯ กับหนังเรื่องนี้ หลังจากเสียลูกสาวไป เธอกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางจิต ไม่สามารถยอมรับการสูญเสียได้ แต่เมื่อได้รับคำบอกกล่าวจากคนที่มีสัมผัสที่ 6 (เธอเป็นคนที่ไม่มีสัมผัสที่ 6 เลย) กลับเชื่อสนิทใจ มองโลกเปลี่ยนไป ทำให้เธอราวกับกลายเป็นคนละคน, ได้ยินว่าผู้กำกับ Roeg ขอให้ Christie ไปเข้าร่วมพิธีกรรมเข้าทรงผีก่อนเริ่มต้นถ่ายหนัง ซึ่งเธอก็ไปนะครับ กลับมาก็กลายเป็นคนเชื่อเรื่องพรรค์นี้สนิทใจได้แบบในหนังไม่ผิดเพี้ยนเลย

จิตวิทยาที่น่าทึ่งของหนังคือ ตัวละครของ Christie ที่มีปัญหากับการยอมรับเรื่องการเสียลูก อยู่ดีๆพอได้ยินคำบอกกล่าวจาก ESP แล้วเชื่อสนิทใจ เป็นลมฟื้นขึ้นมาแล้วก็ทำใจได้ (ราวกับเกิดใหม่) ผิดกับตัวละครของ Sutherland ที่ไม่ยอมรับโดยสิ้นเชิง แสดงอาการต่อต้าน นี่เป็นอะไรที่น่าฉงนมากนะครับ อาจมีเรื่องของความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมก็อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร

ฉากไฮไลท์… ไม่ใช่สิ ฉากที่ใครๆต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย Sex Scene ระหว่าง Sutherland กับ Christie ที่เป็นที่กล่าวถึง คือมันสมจริงมากๆถ้าจะบอกว่าทั้งสองร่วมเพศ Intercourse กันจริงๆก็อาจเป็นได้ เพราะมันมีท่าของการขยับเอว กระเด้งสะโพก โยกรับส่ง ที่เข้าจังหวะพอดีเลยละ (ปกติฉากพวกนี้กับหนังเรื่องอื่น มันก็แค่บดๆกันหรือเล่นมุมกล้อง), ความจริงเป็นยังไง คงมีแค่นักแสดงกับผู้กำกับและตากล้องเท่านั้นที่รู้ แต่ต้องถือว่าทีมงานและนักแสดงหนังเรื่องนี้มืออาชีพมากๆ ไม่มีใครพูดออกว่า ทำจริง ไม่ทำจริง เพราะมันเหมือนเป็นไม่ให้เกียรตินักแสดงที่เปลืองตัวขนาดนี้ ให้มันเป็นปริศนาต่อไปแบบนี้แหละครับ น่าทึ่งดี นี่ขนาดมีคนเรียกฉากนี้ว่าเป็น Sex Scene สมจริงที่สุดในโลกภาพยนตร์

เกร็ด: ทั้ง Sutherland และ Christie พบกันครั้งแรกในกองถ่าย และฉากแรกของพวกเขาคือ Sex Scene ผู้กำกับบอกว่า มีอะไรใส่ไปไม่ยั้ง!

เกร็ด2: ฉากนี้ไม่มีในนิยายนะครับ เป็นผู้กำกับ Roeg คิดมาเองสดๆ ไม่มีสคริป เวลาถ่ายก็ตะโกนบอกนักแสดง “Lick her nipples” “Put your hand between her legs” “Get on top” ถ่ายกันอยู่ทั้งวันจนตนพอใจ

ถ่ายภาพโดย Anthony B. Richmond (เป็นสาขาเดียวของหนังที่ได้ BAFTA Award: Best Cinematography) หนังถ่ายทำใน Venice, Italy สถานที่ประกอบด้วย Hotel Gabrielli Sandwirth (ในหนังปรับปรุงเปลี่ยนให้ใช้ชื่อ Europa Hotel), สำหรับโบสถ์ San Nicolò dei Mendicoli หรือวิหาร St. Nicholas (of the beggars) ตั้งอยู่บริเวณนอกของเวนิส เห็นว่าตอนนั้นกำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่พอดี ซึ่งบังเอิญเข้ากับเรื่องราวของหนังได้เลย จึงไปขออนุญาติให้ใช้สถานที่ถ่ายทำ ปัจจุบันบูรณะเสร็จสิ้นแล้วนะครับ เผื่อใครไปเที่ยวเวนิส นี่เป็นอีก Hot Spot ไม่ควรพลาดเลย

ความโดดเด่นของการถ่ายภาพ คือการจัดองค์ประกอบ การจัดแสง การเคลื่อนไหวกล้องและความต่อเนื่อง, ผมทึ่งที่สุดคือความต่อเนื่องของงานภาพ มันเหมือนว่าผู้กำกับต้องมีภาพทุกช็อตอยู่ในหัวแล้ว ถึงทำให้สามารถกำหนดทิศทาง การเคลื่อนของกล้อง ที่ถูกต้อง เหมาะสม ขณะที่มีการตัดต่อเพื่อเปลี่ยนฉากได้ เช่น มีฉากซีนหนึ่ง กล้องเคลื่อนเข้าหา(ซูมเข้า)รูปภาพที่มีคนใส่ชุดสีแดง แล้วตัดเปลี่ยนฉากไปเป็น กล้องเคลื่อนออก(ซูมออก)จากผิวน้ำที่เห็นภาพสะท้อนเด็กหญิงใส่ชุดสีแดง ฯ ผมเห็นแล้วอ้าปากค้าง เห้ย เจ๋งว่ะ! น่าทึ่งมากๆ และมันไม่ได้มีแค่ครั้งสองครั้งในหนังนะครับ นับไม่ถ้วนเลยละ

ความสวยงามของเวนิส คนส่วนใหญ่จะจดจำได้จากการล่องเรือ ตึกที่ตั้งอยู่เหนือน้ำ โบสถ์สวยๆ ดนตรีเพราะๆ และเทศกาลสวมหน้ากาก แต่น้อยคนจะได้เห็นระดับรากหญ้า พื้นฐานของเมืองนี้ สภาพคนทำงาน กลางค่ำกลางคืน ถนนหนทาง หรือโรงแรมนอกฤดูท่องเที่ยว ฯ ที่ผมกล่าวมาเราจะได้เห็นทั้งหมดเลยนะครับ มันก็ไม่เชิงเป็นด้านมืดของเวนิส แต่ขอเรียกว่าอีกมุมหนึ่งของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ที่นั่น เชื่อว่าเราคงไม่ได้เห็นวิถีเหล่านี้จากหนังเรื่องอื่นใดอีกเป็นแน่, การเลือกถ่ายหนังช่วงปลาย Autumn ทำให้โทนภาพที่ออกมามีสีเทา จืดๆ เข้ากับบรรยากาศหนังมาก (ใกล้หน้าหนาวก่อนที่ทุกอย่างจะกลายเป็นสีขาว) และการจัดแสงในฉากกลางคืน ทำให้เห็นตรอกซอกซอยที่ซับซ้อน มีความพิศวงเหมือนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกตที่อันตราย

สีเด่นที่สุดของหนังคือ สีแดง ชุดคลุมกันฝนของเด็กหญิงที่ปรากฎให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่รู้อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต (เธอตายไปตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วนะครับ แต่การตัดต่อสไตล์ Roeg จะผสมผสาน อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน), ตอนกลางคืน เราจะเห็นสีแดงนี้เด่นกว่าสีอื่น (เพราะการจัดแสงและองค์ประกอบสีของฉาก) นี่เป็นสีของเลือดและความตาย, มี 2-3 ครั้ง เราจะเห็นเด็กหญิงสวมชุดสีแดงแค่หางตาไกลๆ แล้วเธอก็เดินหายลับไปในมุมตึก ขณะอีกตัวละครเดินเข้ามา นี่คือจุดเริ่มต้นของ Hide-and-Seek แบบที่เราจะได้เห็นในหนัง Horror สมัยนี้ทั่วไป, นอกจากชุดคลุมกันฝนแล้ว ก็มีผ้าพันคอของพระเอกที่เป็นสีแดงเด่น (เอะนี่มัน Death Flag นี่หว่า!)

ในเวนิสมีเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ สีแดง อยู่ด้วยนะครับ ในศตวรรษที่ 16 ชาว Jews ถูกทางการบังคับให้ใส่ชุดสีแดง เพื่อแบ่งแยกฐานะ ชนชั้น นี่ถือเป็นกฎหมายประกาศใช้จริงของเมือง ซึ่งภายหลังแก้กฎใหม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เพราะสีแดงดันไปเหมือนชุดของ Cardinal มากเกินไป, ในหนัง Cardinal ไม่ได้ใส่ชุดสีแดง (แต่ใส่หมวกสีแดง) และไม่ได้มีความหมายถึง Jews แต่มีอีกนัยยะหนึ่งคือ เห็นสีแดงแล้วระลึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต

อาจมีคนคิดว่า มันแปลกเกินไปหน่อยหรือเปล่า ที่เด็กหญิงใส่ชุดคลุมกันฝนสีแดง ทั้งๆที่แดดก็ร้อน ฝนก็ไม่ได้ตก? ผมคิดว่าชุดคลุมสีแดงมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์มากกว่าในทางปฏิบัตินะครับ เช่น ชุดคลุมแห่งความตาย, การปกป้องตนเองจากสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ฯ สาเหตุที่เด็กหญิงจมน้ำ หลายคนคงมโนไปว่า เธอคงพลาดตกน้ำขณะเอื้อมมือเก็บลูกบอล แต่ถ้าคุณสังเกตขณะที่พ่ออุ้มเด็กหญิงขึ้นมาจากน้ำ ใบหน้าของเธอหงายขึ้นไม่ใช่คว่ำลง (ถ้าจมน้ำก็ควรจะคว่ำตัวสิ ไม่ใช่หงายตัว) มีคนวิเคราะห์ว่านี่มีลักษณะเหมือนตำนาน Ophelia (ในนิยาย Shakespear) ใบหน้าของเธอที่เงยขึ้นแสดงถึงความทรงจำที่ผุดขึ้นจากส่วนลึกของจิตใจ (สัมผัสที่ 6) นี่มองฉากแรกของหนังได้อีกอย่าง ว่าเป็นนิมิต การพยากรณ์ล่วงหน้าที่บอกว่า กำลังมีอีกหนึ่งความตายใกล้เข้ามา

ตัดต่อโดย Graeme Clifford นี่คือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนัง แต่ในปีที่ฉายนั้นกลับไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย เป็นไปได้ยังไง! นอกจากการตัดต่อที่เชื่อมความต่อเนื่องระหว่างงานภาพแล้ว หนังยังมีการตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ที่โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะฉาก Sex Scene อันลือลั่น ที่ทำการตัดสลับระหว่างการมี Sex ที่เร่าร้อน กับพวกเขาทั้งสองกำลังแต่งตัวเพื่อออกไปกินข้าวเย็น ความหมายของฉากนี้ Sex คือความใกล้ชิดของคนสองคนที่กลายเป็นหนึ่ง ส่วนการแต่งตัวคือแยกออกจากกัน ความแตกต่าง การเป็นตัวตนของตนเอง

ในฉาก Sex Scene ผมเกิดคำถามขณะดู ว่ามันจำเป็นต้องให้เร่าร้อน รุนแรงขนาดนั้นด้วยหรือ? นี่ต้องดูหนังจนจบถึงจะตอบได้ว่า จำเป็นนะครับ เพราะนี่เป็นฉากที่ทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครของ Sutherland และ Christie มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากๆ สัมผัสได้ราวกับว่าเป็นคู่รักที่แต่งงานกันจริงๆ นี่ทำให้เวลาใครคนหนึ่งมีปัญหา อีกคนจะวิตกกังวล เป็นห่วงเป็นใยอย่างลึกซึ้ง, Sex ที่รุนแรง แสดงถึงความความสัมพันธ์ของทั้งคู่แนบแน่นเป็นที่สุด, มีนักวิเคราะห์มองว่าฉากนี้สามารถมองได้ถึง การมี Sex นับครั้งไม่ถ้วนของพวกเขา เพราะการตัดสลับที่เหมือนว่า เสร็จแล้วเริ่มใหม่ วนเวียนซ้ำๆระหว่างมี Sex กับแต่งตัวอยู่หลายหน ถึงเราจะเห็นเหมือนพวกเขามี Sex กับแค่ครั้งเดียว แต่นัยยะการตัดต่อแบบนี้ หมายถึงตลอดเวลา หลายครั้ง นับไม่ถ้วน

ผลลัพท์ของการต้องมีฉากนี้ ทำให้หนังถูกแบนห้ามฉายในหลายประเทศทันที หรือไม่ก็จัดเรต X, ในอเมริกา MPAA ได้ขอให้ Roeg ตัดฉากที่เห็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนการร่วมเพศออก ซึ่ง Roeg ยอมตัด 4 ฉาก ได้ฉายในเรต R, ผมว่า นี่น่าจะคือเหตุผลหนึ่งที่หนังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไหร่จากงานประกาศรางวัลทั้งหลาย ไม่ได้เข้าชิง Oscar สักสาขา ได้เข้าชิง 7 BAFTA Award แต่ได้แค่ 1 รางวัล ยุคสมัยนั้น กับเรื่องพรรค์นี้ ยังคงเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนไหวมาก

เพลงประกอบโดย Pino Donaggio ที่เป็นชาวเวนิสและเป็นนักร้องชื่อดังในอิตาลีขณะนั้น กระนั้น Donaggio ไม่เคยทำเพลงประกอบหนังมาก่อน, วันหนึ่งระหว่างโปรดักชั่น โปรดิวเซอร์หนังได้พบกับ Donaggio โดยบังเอิญ แล้วเชื่อในโชคชะตาที่จับพลัดพลูมาพบกัน เลยชักชวนให้มาทำเพลงประกอบหนัง, ขณะนั้น Donaggio หาได้สนใจทำเพลงประกอบหนังไม่ จนกระทั้งได้พบกับผู้กำกับ Roeg ที่เห็นด้วยกับโปรดิวเซอร์ และต้องการทำอะไรใหม่ๆที่เพิ่มความท้าทายให้กับหนัง Donaggio เลยยอมตกลง, นอกจากประพันธ์เพลงแล้ว เขายังเป็นคนเล่นเปียโนประกอบเองด้วย แต่ใช่ว่าฝีมือเปียโนจะยอดเยี่ยมเท่าไหร่ กระนั้นผลลัพท์กลับออกมาดีเบิศ เพราะได้สร้างบรรยากาศความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจให้กับหนังได้อย่างลงตัว, ในฉาก Sex Scene เดิมทีนั้น Donaggio วางแผนจะใช้ Orchestral เต็มวง แต่ผู้กำกับ Roeg รู้สึกว่ามันเว่อไป (งบจำกัดด้วย) สุดท้ายจึงเหลือแค่ส่วนผสมของเปียโน ฟลุต กีตาร์ และเบส นี่ทำให้ฉากนี้หวานมากๆ และการไม่มีเสียงซีดซ๊าด โอ๊กอ๊าก (ฉากนี้เพลงประกอบล้วนๆ) คอยขัดจังหวะ มันเลยกลายเป็น Sex Scene ที่มีความ Romantic มากกว่า Erotic (แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่ามันโคตร Erotic ก็เถอะ แต่ผมว่าเป็นมันเป็นศิลปะที่เหนือกว่ากามารมย์)

หลังจากหนังเรื่องนี้ Donaggio ก็ได้ตัดสินใจเลิกอาชีพนักร้อง กลายเป็นนักประพันธ์เพลงประกอบหนังเต็มตัว และได้กลายเป็นคอมโพเซอร์ขาประจำของ Brian De Palma และมักจะให้เครดิต Nicolas Roeg ที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองเสมอ และแสดงความต้องการอยากทำงานกับ Roeg อีก (แต่เหมือนจะไม่ได้รับโอกาสนั้น)

สัมผัสที่ 6, นิมิต, ลางสังหรณ์, สัญชาติญาณ ในมุมหนึ่งคำพวกนี้ก็มีความหมายแบบเดียวกัน ต่อสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่สามารถอธิบายได้ ถ้าฉันทำแบบนี้จะรู้สึกไม่ดีแน่ หรือ ฉันต้องทำแบบนี้ให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น, มนุษย์เรามีการเลือกรับ ตีความกับสิ่งเหล่านี้ต่างกันออกไป บ้างก็เชื่อทันทีและทำไปโดยไม่เคยพิจารณา บ้างก็หัวชนฝาไม่คิดไม่ทำแน่นอน แต่ว่ากันจริงๆ การกระทำกว่า 90% ของมนุษย์ ล้วนโดยสันชาติญาณทั้งนั้น และมักไม่รู้ตัวด้วย เช่น เวลาคันก็ยกมือเกา คงมีน้อยมากๆที่พอคัน จะมาคิดว่า เกาไหม หรือไม่เกา ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีผลกระทบต่อตัวเองหรือบางสิ่งบางอย่าง ก็คงไม่มีใครมาเสียเวลาคิดเรื่องบางเรื่องให้เปลืองสมองหรอก เมื่อยก็ขยับ หิวก็กิน ปวดฉี่ก็เข้าห้องน้ำ นี่ต้องใช้การคิดด้วยเหรอ?

ผมคิดว่าเหตุผลที่พระเอกตามคนสวมชุดแดงไปในช่วงท้าย เพราะความต้องการที่จะหาคำตอบ เพื่อยืนยันความเชื่อ ความคิดของตัวเอง ในความสับสนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ตน อะไรจริงอะไรเท็จ ครั้งนี้ต้องขอพิสูจน์ให้รู้ให้ได้คำตอบ, ถือเป็นความโชคร้ายของเขาที่ได้พบกับ… เรียกว่าโชคชะตาเล่นตลก คงถึงเวลาของเขาจริงๆ ไม่งั้นคงไม่มาเจออะไรแบบนี้แน่, ตอนจบแบบนี้ของหนัง มันกระชากใจคนดูพอสมควร ก็นึกว่าทุกสิ่งอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่กลายมาเป็นว่าหลอน! เลยมีนักวิจารณ์หลายคนมองว่า นี่เป็นต้นแบบหนังประเภท Horror ด้วย (ผมไม่มองเช่นนั้นนะ แต่ก็ใส่ Horror ลงไปใน Tag ด้วย) นัยยะของมัน ผมว่าอาจไม่มีความหมายอะไรเลย เป็นผลลัพท์ของนิมิตที่มีมาตั้งแต่ต้นเรื่องเท่านั้น หรือถ้ามองว่าเป็นการไม่เชื่อใน ESP ของพระเอก ผมว่ามันก็ดูจะโหดร้ายไปหน่อย (แบบที่ Sutherland พูดว่าไม่ชอบตอนจบ เพราะมันเหมือนบอกกลายๆว่า ESP เป็นสิ่งที่ควรเชื่อ มากกว่าให้ตั้งคำถามว่า ควรเชื่อไม่ควรเชื่อ)

กับชื่อหนัง Don’t Look Now นี่เป็นชื่อที่น่าพิศวงมาก ผมคิดว่าคือช่วงนิมิตสุดท้ายของ John ‘อย่าเพิ่งมองในตอนนี้’ นี่น่าจะคือเสียงตะโกนเรียกของ Laura และ Christine ที่พยายามเรียกไม่ให้พ่อตามนิมิตไป เพราะสุดท้ายเขาจะ…

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ต่อแนวคิดของหนังกับคำถาม ถ้ามีใครไม่รู้มาเตือนว่า ‘ให้ระวังตัวไว้จะมีอันตราย’ เป็นคุณจะเชื่อหรือเปล่า? กับคนไทยเชื่อว่าส่วนใหญ่จะ ‘เชื่อ’ ไว้ก่อน เพราะเราเป็นชาวพุทธที่ค่อนข้างเชื่อเรื่องแนวลี้ลับแบบนี้อยู่แล้ว เป็นผมก็เชื่อนะครับ คิดแล้วขนลุก ว่าไปก็เคยเจอกับตัวลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เตือนว่าจะมีอันตราย เป็นเตือนอย่างอื่น กระนั้นนี่ไม่ใช่กับคนยุโรป อเมริกา เรื่องพรรค์นี้คนส่วนใหญ่จะ ไม่เชื่อ ตราบใดที่ไม่เจอเข้ากับตัวเองก็ไม่เอามาคิดให้หนักหัวหรอก, สิ่งหนึ่งที่ผมตระหนักได้จากการดูหนังเรื่องนี้คือ กับคนที่เขาเตือนเรา คงจะต้องมั่นใจว่า เรารับฟังเขาจริงๆ ถ้าไม่เขาคงไม่เตือนให้เสียเวลาหรอก ใครก็ไม่รู้ไม่ใช่เรื่องเขาเรา และเรื่องที่เขาเตือน ก็ควรจะพิจารณาให้มากนะครับ เดี๋ยวนี้คนหลอกลวงมีเยอะ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า กับคนที่อยู่ดีๆมาเตือนเรา เขาไม่หวังอะไรตอบแทนทั้งนั้น (พวกหวังผลตอบแทนนี่แหละ ตัวหลอกลวงเลย) ซึ่งถ้าเราเกิดอันตรายแล้วรอดพ้นหรือตระหนักขึ้นมาได้ นั่นแหละเราถึงค่อยตอบแทนเขา อยากให้เท่าไหร่ก็ตามศรัทธา นี่แหละครับถึงจะเหมาะสมที่สุด

นี่เป็นหนังที่ผมหลงรักตั้งแต่นาทีแรกของหนัง ประมาณการตัดต่อเปลี่ยนซีนครั้งที่สอง สังเกตเห็นการตัดสลับจากช็อตหนึ่งไปอีกช็อตหนึ่ง โดยผ่านวัตถุที่มีความหมาย/ลักษณะคล้ายๆกัน นี่ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งเรื่องจะสุดยอดมากๆ, Sequence แรกผ่านไป ก็ยืนยันความเชื่อนี้เลยว่า หนังทั้งเรื่องต้องเป็นแบบนี้ ถือเป็นความประทับใจแรกต่อหนังที่ดีสุดๆไปเลย น่าเสียดายเรื่องราวของหนัง ไม่ได้ทำให้ผมเกิดความประทับใจไปได้มากกว่านี้ จนพลาดโอกาสกลายเป็นหนังเรื่องโปรดเรื่องใหม่ไปนิดเดียวเอง

คิดว่าหนังดูยากพอสมควรนะครับ เลยจัดระดับความยากที่ Professional ผมดูหนังเรื่องนี้แทบจะเข้าใจโดยทันที ทุกสัญลักษณ์ ภาษาของภาพยนตร์ นี่เป็นสิ่งที่อาจต้องใช้ประสบการณ์ในการดูหนังพอสมควรถึงจะสามารถเข้าใจหนังได้โดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรมาก ซึ่งคงเป็นความท้าทายของผู้ชมโดยทั่วไป ถ้าต้องการดูหนังให้เข้าใจ มันมีอะไรให้ขบคิดเยอะเลย ถ้าดูครั้งแรกแล้วยังเข้าใจไม่ได้ก็อย่าเพิ่งฝืนนะครับ เอาเวลาไปเก็บประสบการณ์ ดูหนังเพิ่มอีกสัก 100-200 เรื่อง เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาก็จะเห็นความน่าสนเท่ห์สุดๆของหนังเรื่องนี้ได้

แนะนำกับคอหนังแนวเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ (Occult) แนวระทึกตื่นเต้น (Thriller) ผสมผสานจิตวิทยา, แนะนำกับจิตแพทย์ นักวิทยา วิเคราะห์ สังเกตพฤติกรรมของครอบครัวที่มีปัญหา, นักปรัชญา ศาสนา นักโบราณคดี และนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในเมือง Venice

แนะนำอย่างอย่างยิ่งกับนักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาโดยเฉพาะการถ่ายภาพและตัดต่อ

จัดเรต 15+ แม้ฉาก Love Scene จะโจ่งครึ่มขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายกว่านี้, ประเด็นความเชื่อใน Occult ต่างหากที่น่าวิตก

TAGLINE | “Don’t Look Now ของ Nicolas Roeg ท้าทายความคิดของมนุษย์กับความเชื่อในสิ่งลึกลับ สุดยอดทั้งงานภาพ ตัดต่อ และการแสดงของ Donald Sutherland กับ Julie Christie”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: