Double Indemnity (1944) : Billy Wilder ♥♥♥♥
ในสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต มักมีเงื่อนไขชดใช้เงินผลประโยชน์ให้เป็นสองเท่า (Double Indemnity) กรณีผู้เอาประกันถึงแก่กรรมเนื่องจากประสบอุบัติเหตุขณะโดยสารรถไฟหรือลิฟต์สาธารณะ เพราะโอกาสแห่งความซวยนั้นน้อยมากๆ นอกเสียจากเกิดเหตุฆาตกรรมอำพราง กลายมาเป็นหนังนัวร์ระดับ Masterpiece, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“the greatest movie ever made”.
– Woody Allen
ผมคงไม่ยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงระดับนั้น แต่ถ้ามองในฐานะ ‘หนังนัวร์’ ต้องถือว่าใกล้เคียงที่สุดของแนว มีความงดงาม ซับซ้อน ลงตัวแทบทุกองค์ประกอบ คลาสสิกเหนือกาลเวลา และแฝงข้อคิดอันทรงคุณค่า
“Double Indemnity has all the elements of film noir – the black-and-white photography, the murder story, the bad woman and all that, but there’s nothing artsy about any of it. It’s photographed simply and correctly: just a good story well told, like that good American writing you find in Mark Twain or Ernest Hemingway. No frills”.
– เหตุผลของ Woody Allen ที่ยกให้ Double Idemnity คือหนังโปรดตลอดกาล
สิ่งที่ทำให้ Double Indemnity กลายเป็นตำนานลือเล่าขาน เสาหลักสำคัญ ‘Milestone’ ของแนวหนังนัวร์ นั่นเพราะคือครั้งแรกแห่งการนำเสนอที่มาที่ไป เบื้องหลังแรงจูงใจ วิธีการคิดอันซับซ้อน และผลลัพท์กรรมสนองของฆาตกรรมอำพราง ซึ่งยังสามารถได้รับการอนุมัติผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ที่โคตรเข้มงวด ตอนออกฉายประสบความสำเร็จทำเงินมหาศาล เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขา เต็งหนึ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี แต่กลับพ่ายให้ Going My Way (1944) อย่างโคตรกังขา!
จุดเริ่มต้นของ Double Indemnity คือนวนิยายแนวอาชญากรรม แต่งโดย James M. Cain (1892 – 1997) นักข่าว/นักเขียน สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ The Postman Always Rings Twice (1934), Mildred Pierce (1941) ฯ
เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อปี 1927, Albert Snyder ถูกฆาตกรรมโดยภรรยา Ruth Brown Snyder และชู้รัก Henry Judd Gray เพื่อหวังเงินประกัน ‘Double Indemnity’ มูลค่าสูงถึง $100,000 เหรียญ สุดท้ายถูกเปิดโปงจับได้ โทษประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าแรกหนังสือพิมพ์ Daily News ฉบับพิเศษ (Extra Edition) วันที่ 13 มกราคม 1928
เกร็ด: ภาพถ่ายการประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้านี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ ได้รับการกล่าวขวัญจดจำสูงสุดในช่วงทศวรรษ 20s เลยก็ว่าได้
Cain เริ่มเขียน Double Indemnity ลงในนิตยสาร Liberty เมื่อปี 1935 – 36 รวมๆแล้วได้ความยาวเพียงร้อยกว่าหน้า เลยรวมกับอีกสองเรื่องสั้นขนาดยาว Career in C Major และ The Embezzler ตีพิมพ์รวมเล่มในชื่อ Three of a Kind (1943)
เสียงตอบรับดีล้นหลามของ Double Indemnity ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Liberty กลายเป็นที่สนใจต่อผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งก็ได้มีการยื่นข้อเสนอไปยัง MGM, Warner Bros., Paramount, 20th Century-Fox และ Columbia Pictures ต่างพร้อมจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงถึง $25,000 เหรียญ แต่ไม่ทันไร Joseph Breen แห่ง Hays Code ได้กล่าวคำเตือนไว้ว่า
“The general low tone and sordid flavor of this story makes it, in our judgment, thoroughly unacceptable for screen presentation before mixed audiences in the theater. I am sure you will agree that it is most important … to avoid what the code calls ‘the hardening of audiences,’ especially those who are young and impressionable, to the thought and fact of crime”.
– Joseph Breen
ด้วยเหตุนี้ทุกสตูดิโอที่ติดต่อมา ถอนกลับสัญญาขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจนหมดสิ้น นั่นสร้างความหงุดหงิด หัวเสียขั้นรุนแรงให้กับ Cain อย่างยิ่งยวด!
หลังจากที่ Double Indemnity ถูกนำมารวมเล่มกลายเป็น Three of a Kind ผู้บริหาร Paramount Pictures ขณะนั้น Joseph Sistrom เชื่อว่าเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับ Billy Wilder สามารถนำมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ให้ออกฉายได้ เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จาก Cain ด้วยเสนอราคาเพียง $15,000 เหรียญ
Samuel ‘Billy’ Wilder (1906 – 2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austria-Hungary เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Sucha Beskidzka (ในอดีตคือ Germany ปัจจุบันคือประเทศ Poland) มีความชื่นชอบสนใจในวัฒนธรรมอเมริกัน โตขึ้นหลังการเรืองอำนาจของ Nazi อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาในปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น Billy เริ่มต้นทำงานใน Hollywood ด้วยการเป็นนักเขียน มีผลงานเด่นคือ Ninotchka (1939), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Major and the Minor (1942), Five Graves to Cairo (1943)
ผลงานลำดับที่สาม Double Indemnity (1944) เมื่อได้รับสนองโปรเจค นักเขียนขาประจำของ Wilder คือ Charles Brackett ปฏิเสธจะร่วมงาน เพราะมองเรื่องราวมีความอื้อฉาวจนเกินไป, ต่อมาชักชวนผู้เขียน James M. Cain แต่ติดงานโปรเจคอื่น, ได้รับคำแนะนำจาก Sistrom ถึง Raymond Chandler (1888 – 1959) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ที่กำลังโด่งดังจากนวนิยาย The Big Sleep (1939) ด้วยเห็นว่าสไตล์คล้ายคลึง เลยน่าจะเข้ามาช่วยอะไรๆได้หลายอย่าง
นี่เป็นงานดัดแปลงบทภาพยนตร์ครั้งแรกของ Chandler ผู้ซึ่งเพิ่งเลิกเหล้าสำเร็จมาได้ไม่นาน แต่เพราะระหว่างการทำงานร่วมกับ Wilder เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกต่างขั้วตรงข้าม (แต่ถือว่าเติมเต็มกันและกัน) เป็นเหตุให้ต้องหวนกลับมาดื่มเหล้าใหม่, บทภาพยนตร์เด่นๆของ Chandler อาทิ The Blue Dahlia (1946), Strangers on a Train (1951) ฯ
เกร็ด: Wilder ได้นำประสบการทำงานครั้งนี้ สร้างสรรค์ The Lost Weekend (1946) อุทิศให้กับ Chandler โดยเฉพาะ!
พื้นหลังปี 1938 ณ Los Angeles, Walter Neff (รับบทโดย Fred MacMurray) นายหน้าขายประกัน วันหนึ่งเดินทางไปหา Mr. Dietrichson เพื่อแจ้งต่ออายุประกันรถยนต์ บังเอิญไม่อยู่บ้านได้พบเจอ Phyllis Dietrichson (รับบทโดย Barbara Stanwyck) เกิดความลุ่มหลงใหลในมารยาเสน่ห์ แต่ไปๆมาๆล่วงรับรู้สิ่งแท้จริงที่เธอสนใจ ต้องการฆาตกรรมสามียักยอกเงินประกัน ทีแรก Neff ไม่เห็นด้วยแต่ต่อมาก็ยอมยอมคล้อยตาม และวิธีการให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสองเท่า (Double Indemnity) คือทำให้ดูเหมือนประสบอุบัติเหตุตกรถไฟ นี่แม้แต่เพื่อนร่วมงาน Barton Keyes (รับบทโดย Edward G. Robinson) ยังมิสามารถค้นหาคำตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นแท้จริง
นำแสดงโดย Frederick Martin MacMurray (1908 – 1991) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kankakee, Illinois, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเล่นดนตรี แซกโซโฟน โตขึ้นเริ่มทำงานเป็นนักร้องประจำวง Gus Arnheim Orchestra ตามด้วยแสดง Broadway ขณะที่ภาพยนตร์เริ่มจากเป็นตัวประกอบ มีชื่อเสียงจาก The Gilded Lily (1935) ประกบคู่ขวัญ Claudette Colbert, ผลงานส่วนใหญ่แนว Comedy ในบท ‘Nice Guy’ จนเมื่อปี 1943 กลายเป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดใน Hollywood, ได้รับการจดจำจาก Double Indemnity (1944), The Caine Mutiny (1954), The Apartment (1960), The Absent Minded Professor (1961) ฯ
รับบท Walter Neff เซลล์แมนขายประกันอันดับหนึ่งของบริษัท เรียกได้ว่าอยู่ในจุดสูงสุดของชีวิต แต่เพราะความที่ยังโสดสนิท พอพบเห็นจริตมารยาเสน่ห์ของ Phyllis Dietrichson เกิดความลุ่มหลงใหลตกหลุมรักโดยทันที กระทั่งเมื่อเห็นตีนงูนมไก่สันดานธาตุแท้เริ่มเปิดเผย ค่อยๆผันตัวสู่ด้านมืดมิด ครุ่นคิดหาวิธีการ ช่องโหว่จากประสบการณ์ทำงานเพื่อมิให้ถูกจับได้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอเพียงฉันอยู่รอดปลอดภัย รักษาหน้ากากเอาไว้เป็นพอ
แรงจูงใจของ Walter Neff ต่อการฆาตกรรมครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องเงินแน่ๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะตกหลุมรักหญิงสาว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของสนองใจเธอ แต่เหตุผลหลักๆผมมองว่าคือแรงผลักดันจากภายใน เพราะความสำเร็จของอาชีพการงานทำให้ขาดสีสันเร้าใจ นี่เป็นสิ่งกระทำให้ขนลุกเนื้อตื่นเต้น และถ้าไม่โดนจับได้รอดตัว ‘Perfect Crime’ ก็แปลว่าฉันคือบุคคลผู้สมบูรณ์แบบ … แต่เมื่อมีบางอย่างเกินคาดเดา ลมหายใจเฮือกสุดท้ายอยากจะพูดบอกสารภาพ อวดอ้างการกระทำของตนเอง
มีนักแสดงหลายคนได้รับการยื่นขอเสนอบทบาทนี้ อาทิ Alan Ladd, James Cagney, Spencer Tracy, Gregory Peck, Fredric March, George Raft ต่างบอกปัดปฏิเสธ จนกระทั่งมาถึง Fred MacMurray ซึ่งมองว่าบทบาทนี้ไม่ได้เข้ากับตนเองเลยสักนิด แต่ Wilder พยายามตื้อไม่เลิกจนเพื่อนนักแสดง Carole Lombard แนะนำให้ตอบรับ เรียกค่าตัวสูงๆจะได้รู้บ้างว่าไผเป็นไผ
แต่กลับกลายเป็นว่านี่คือบทบาทที่ยอดเยียม ได้รับการจดจำสูงสุดในชีวิตของ MacMurray แสดงออกด้วยความ ‘Cynical’ เยือกเย็นชา แข็งกระด้าง ไม่ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น โลกต้องหมุนรอบตัวฉันเพียงคนเดียว
“I never dreamed it would be the best picture I ever made,”
– Fred MacMurray
ผู้ชมส่วนใหญ่คงมองว่า การแสดงของ MacMurray มีความหยาบกระด้าง แข็งทึ่มทื่อ หาความสมจริงไม่ได้เลยสักนิด แต่ผมกลับรู้สึกเหมาะสม เข้ากับตัวละครที่สุดเลย คือเป็นการพยายามทำตัวเย่อหยิ่ง จองหอง หัวสูงส่ง ฉันเป็นราวกับพระเจ้าที่ไม่มีใครสามารถเอาผิด เชื่อมโยงใยข้อเท็จจริงมุ่งเข้าหาตนเองได้
Barbara Stanwyck ชื่อเดิมคือ Ruby Catherine Stevens (1907 – 1990) นักแสดงหญิง โมเดลลิ่ง และนักเต้นสัญชาติอเมริกัน จากเด็กหญิงกำพร้าอายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ ตอนอายุ 14 กลายเป็น Showgirl หาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ จาก Ziegfeld girl สู่วงการภาพยนตร์ยุคหนังพูด The Locked Door (1929), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Ladies of Leisure (1930), Baby Face (1933), Union Pacific (1939), The Lady Eve (1941), Ball of Fire (1941), The Gay Sisters (1942) ฯ ปี 1944 กลายเป็นนักแสดงหญิงค่าตัวสูงสุดใน Hollywood (และคือผู้หญิงรายได้สูงสุดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย)
เกร็ด: Barbara Stanwyck คือนักแสดงหญิงยอดนิยมลำดับที่ 11 จากชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars
รับบท Phyllis Dietrichson จากพยาบาลสาว กลายเป็นภรรยาของเศรษฐีน้ำมัน Mr. Dietrichson แต่กลับมีชีวิตราวกับนกอยู่ในกรงขัง ไร้ซึ่งอิสรเสรีภาพโบยบิน จนกระทั่งเมื่อพบเจอ Walter Neff เกิดความคิดฆาตกรรมสามีเอาเงินประกัน ใช้มารยาเสน่ห์ลวงล่อหลอกจนเขายินยอมคล้อยตาม แต่ระหว่างรอเงินประกันธาตุแท้ของเธอจึงเริ่มเปิดเผย
แรงจูงใจของ Phyllis เกิดขึ้นเพราะความเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจในชีวิต คงตั้งแต่ทำงานเป็นนางพยาบาล ใฝ่สูงต้องการเป็นคุณหญิง/หนูตกถังข้าวสาร แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นนกในกรง ดิ้นรนกระเสือกกระสนต้องการโบยบินเสรี พร้อมทำทุกสิ่งอย่างไม่สนถูก-ผิด เพื่อให้ได้รับอิสรภาพนั้น
Stanwyck คือตัวเลือกแรกของโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ เมื่อได้รับการติดต่อไปอ่านบท เกิดความหวาดหวั่นลังเลใจอย่างมาก เพราะด้านมืดของตัวละครอาจทำให้ชื่อเสียงสะสมมาด่างพร้อย
“I said, ‘I love the script and I love you, but I am a little afraid after all these years of playing heroines to go into an out-and-out killer.’ And Mr. Wilder – and rightly so – looked at me and he said, ‘Well, are you a mouse or an actress?’ And I said, ‘Well, I hope I’m an actress.’ He said, ‘Then do the part’. And I did and I’m very grateful to him”.
– Barbara Stanwyck
แต่จากวิกที่ Stanwyck สวมใส่ในหนัง ช่างมีความน่าเกลียดอัปลักษณ์โดยสิ้นเชิง ขนาดว่าหนึ่งในผู้บริหารของ Paramount ยังให้ความเห็นว่า
“We hired Barbara Stanwyck, and here we get George Washington”.
ผู้กำกับ Wilder เพิ่งมาระลึกได้เมื่อการถ่ายทำล่วงเลยผ่านไปเกินกว่าครึ่ง ให้ย้อนกลับไปแก้ไขคงไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็อ้างว่าเป็นความจงใจ ทำให้ตัวละครดูเหมือนพวกจอมปลอม กลิ้งกลอก หาความจริงใจไม่ได้เลยสักนิด
บทบาทนี้ถือเป็นไฮไลท์การแสดงของ Stanwyck เลยก็ว่าได้ มีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติ เชื่อว่าน้อยคนจะสามารถอ่านสิ่งหลบซ่อนเร้น ภายในความคิด-จิตใจของตัวละครได้แน่ จนกระทั่งบางสิ่งได้รับการเปิดเผย ถึงกระนั้นคำพูดช่วงท้าย ถึงสาเหตุผลการไม่ยอมยิงปืนนัดที่สอง
“No, I never loved you Walter — not you or anybody else. I’m rotten to the heart. I used you, just as you said. That’s all you ever meant to me. Until a minute ago, when I couldn’t fire that second shot”.
– Phyllis Dietrichson
นี่กลายเป็นปริศนาที่ไม่มีวันหาคำตอบได้ข้อสรุป หญิงสาวเกิดความรักต่อชายคนที่กำลังจะเข่นฆ่าเธอตายในวินาทีนั้นได้จริงๆนะหรือ? … ผมว่าได้นะ [เพิ่งดู A Matter of Life and Death (1946) เลยครุ่นคิดว่าเป็นไปได้]
เกร็ด: ตัวละคร Phyllis Dietrichson ได้รับการจัดอันดับ 8 ฝั่งตัวร้าย ชาร์ท AFI’s 100 Years … 100 Heroes and Villains
Edward G. Robinson ชื่อเดิม Emanuel Goldenberg (1893 – 1973) นักแสดงสัญชาติ Romanian เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Bucharest แล้วอพยพสู่อเมริกา ปักหลักที่ New York City มีความชื่นชอบสนใจในการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากละครเวที Yiddish Theater District ตามด้วย Broadway เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ในยุคหนังพูด ผลงานเด่นอาทิ Little Caesar (1931), Double Indemnity (1944), Key Largo (1948), House of Strangers (1949), The Ten Commandments (1956), Soylent Green (1973) ฯ
เกร็ด: Edward G. Robinson คือนักแสดงชายยอดนิยมลำดับที่ 24 จากชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars
รับบท Barton Keyes เพื่อนสนิทของ Walter Neff ทำงานบริษัทประกัน แผนกไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง (Claims Adjuster) หน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลผู้เรียกร้องค่าสินไหมจากรมธรรม์ ว่ามีข้อเท็จจริงหรือกระทำแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว, ด้วยประสบการณ์ทำงานมีมากโข จึงสามารถจับไต๋ใครต่อใครนับไม่ถ้วน ด้วยข้ออ้างเพื่อนสนิท ‘Little Man’ หรือคือสันชาติญาณแม่นยำกว่าใคร ถึงกระนั้นแรกเริ่มกับคดีของ Mr. Dietrichson กลับผ่านฉลุยไร้ข้อกังขา แต่ไปๆมาๆเมื่อข้อเท็จจริงค่อยๆได้รับการเปิดเผย ทั้งนี้ทั้งนั้นใครกันคือฆาตกรตัวจริง กลับอยู่ใกล้เกินกว่าจะมองเห็น
“A claims man is a doctor and a bloodhound and a cop and a judge and a jury and a father confessor all in one”.
– Barton Keyes
เมื่อได้รับการติดต่อไป Robinson มีความลังเลใจจะตอบตกลงรับบท เพราะตัวเขารับบทนำเป็นพระเอกมาตั้งแต่ Little Caesar (1930) มาเรื่องนี้จักกลายเป็นพระรองลำดับสาม แต่ไปๆมาๆก็เริ่มครุ่นคิดได้
“At my age, it was time to begin thinking of character roles, to slide into middle and old age with the same grace as that marvelous actor Lewis Stone”.
– Edward G. Robinson
ถือเป็นบทบาทน่าจะเกือบๆยอดเยี่ยมสุดในชีวิตของ Robinson (แต่ถูก SNUB ไม่ได้เข้าชิง Oscar) ตราตรึงกับท่วงท่าทาง คำพูดจา หนักแน่นตรงไปตรงมา รู้รอบด้าน เฉลียวฉลาดหลักแหลม พบเจออะไรเป็นข้อกังขาเหมือนหมากัดไม่ปล่อย เกือบๆสมบูรณ์แบบ แทบไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์
ถ่ายภาพโดย John F. Seitz (1892 – 7979) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน อยู่ในวงการตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ The Four Horsemen of the Apocalypse (1921), กลายเป็นขาประจำของ Wilder ตั้งแต่ Five Graves to Cairo (1943) เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 7 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล อาทิ Double Indemnity (1944), The Lost Weekend (1945), Sunset Boulevard (1951) ฯ
(ปีนี้ที่เรื่องนี้เข้าชิง พ่ายให้กับ Laura เป็นหนังนัวร์เช่นเดียวกัน)
Wilder อนุญาตให้ Seitz ทดลองการถ่ายภาพอย่างเต็มที่ ก็มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ครั้งหนึ่งทดลองกับความมืด ล้างฟีล์มออกมามองไม่เห็นอะไรสักอย่าง เป็นเหตุให้ต้องถ่ายทำทั้งวันใหม่หมด
แค่ช็อตแรกของหนังตั้งแต่ Opening Credit ก็สร้างความลึกลับพิศวง ชวนให้สับสนอย่างมาก, ภาพเงาของชายขาพิการ กำลังค่อยๆก้าวย่างตรงเข้ามาหากล้อง หลายคนคงครุ่นคิดว่านั่นคือ Walter Neff แต่เดี๋ยวนะ! หมอนี้ถูกยิงที่มือไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมถึงเดินกระเผก? กับคนดูหนังจนจบแล้วก็อาจระลึกได้เพิ่มเติม มีช่วงกลางเรื่องอีกทีที่ Walter Neff ใช้ไม้เท้าเดินค้ำยันแบบนี้อยู่
ผมเรียกว่ากรรมสนอง แต่มุมมองของผู้สร้างคือการสะท้อนย้อนรอย ‘สมมาตร’ เพราะ Walter Neff ทำการฆาตกรรมบุคคลขาเป๋ แล้วยังปลอมตัวเดินกระเผกๆ ผลกรรมของเขาก็คือโดนยิงเข้าที่แขน และตนเองกำลังจะตายจริง
บริษัทประกันของ Walter Neff ประกอบด้วยสองชั้น
– ชั้นล่างเรียงรายไปด้วยโต๊ะลูกจ้างพนักงานกินเงินเดือน ได้แรงบันดาลใจจากหนังเงียบเรื่อง The Crowd (1928) พบเห็นอีกก็ The Apartment (1960)
– ชั้นบนคือหัวหน้า ตำแหน่งสูงกว่า หรือทำยอดขายสูงลิ่วจนได้ห้องฮับของตนเอง
บ้านของ Dietrichson ถ่ายทำภายนอกที่ 6301 Quebec Drive, Hollywood Hills ปัจจุบันหลังนี้ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1927 ไม่รู้เหมือนกันปัจจุบันใครอาศัยอยู่
ส่วนฉากภายในคงสร้างขึ้นที่ Paramount Studios เพื่อให้สามารถจัดวางองค์ประกอบ โดยเฉพาะมู่ลี่ที่เมื่อสาดส่องแสงจากภายนอก มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง (ปลาในโถ ก็สื่อความได้ลักษณะเดียวกัน)
ร้านขายของที่ Walter และ Phyllis นัดพบเจอ มีลักษณะที่… ค่อนข้างผิดธรรมชาติทีเดียว พบเห็นกล่อง/กระป๋อง ข้าวของเครื่องใช้ วางตั้งเรียงรายในลักษณะเหมือน Unit ว่าไปก็คล้ายคลึงกับโต๊ะทำงานชั้นล่างของบริษัทประกัน
สำหรับหนังนัวร์ การจัดวางองค์ประกอบฉากลักษณะนี้ สามารถครุ่นคิดตีความหมาย แทนบางสิ่งอย่างที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร ซึ่งก็หมายถึงความพยายามจัดระเบียบความคิด การกระทำ ทุกสิ่งอย่างให้มีความเรียบร้อย หยิบจับสอยนำมาใช้ได้โดยง่าย
ฉากนี้มีความผิดสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ หลังจาก Barton Keyes เดินออกจากห้อง สิ่งที่ Walter Neff กำลังจะไปกระทำนั่นคือการฆาตกรรม Mr. Dietrichson สัดส่วนของภาพสังเกตว่าเพดานมีความสูงมากกก (กว่าปกติแน่นอน)
มองด้วยนัยยะคงกำลังสื่อถึงอาการฟุ้งซ่าน ‘หัวสูง’ ของ Walter เพราะเขากำลังจะกระทำในสิ่งที่สนองตัณหาทางความคิดของตนเอง
ช็อตที่ผมถือว่าทรงพลังที่สุดในหนัง เพราะข้อจำกัดยุคสมัยนั้นของ Hays Code มิอาจถ่ายทำให้เห็นการฆาตกรรมเกิดขึ้นได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในวิธีนำเสนอ Close-Up ใบหน้าของหญิงสาว จับจ้องมองถนนหนทางเบื้องหน้าอย่างแน่วแน่ แสงไฟ-ความมืดสาดสลับไปมา อะไรจะเกิดขึ้นด้านข้างไม่รู้ละไปจินตนาการกันเอง ค่อยๆเปิดเผยรอยกระยิ่มยิ้ม ภาคภูมิ พึงพอใจ ต่อสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้น
ขากลับของสองฆาตกรเพื่อหลบหนีจากที่เกิดเหตุ ไม่ได้มีในบทแต่สตาร์ทรถไม่ติดจริงๆ กลายเป็นว่านี่เพิ่มความลุ้นระลึก หวาดระแวง สั่นสะพรึง หรือคือลางร้าย อัปมงคลให้กับตัวละครโดยไม่รู้ตัว
จริงๆถ้าใครสังเกตตอนต้นเรื่อง ประตูอพาร์ทเม้นต์ห้อง Walter Neff จะเปิดเข้าข้างใน แต่ฉากนี้ช่างมหัศจรรย์เหลือหลาย สามารถเปิดไปข้างนอกได้ด้วย นี่มองได้ทั้งข้อผิดพลาด และความจงใจ
– ช่วงแรกเปิดเข้าข้างใน เพื่อให้ Phyllis Dietrichson สามารถก้าวเดินข้างมาสู่ห้องหัวใจของเขา
– ช่วงหลังเปิดออก เพื่อปกปิดตัวตนของหญิงสาว ไม่ให้ได้รับการเปิดเผยว่าแท้จริงคือใคร
การพบเจอครั้งสุดท้ายของ Walter และ Phyllis สังเกตว่าพวกเขานั่งลงตำแหน่งเดิมกับตอนต้น แต่กล้องถ่ายคนละมุมมอง (ตอนแรกเห็นด้านหลังของ Walter ขณะนี้จะเห็นด้านหน้า) รอบนี้คงต้องถือว่าเป็นการเปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมา ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรงอีกแล้ว ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’
(เหมือนเวลาก็จะสะท้อนกันด้วยนะครับ ครั้งแรกตอนกลางวัน ครั้งสุดท้ายตอนกลางคืน)
ตลอดทั้งเรื่อง Walter เป็นผู้จุดไม้ขีดให้กับ Barton Keyes จริงๆสามารถมองนัยยะสัมพันธ์ชาย-ชาย แต่ในบริบทนี้ขอเป็น ‘มิตรภาพ’ ผมว่าเหมาะสมกว่านะ เพราะตอนจบเมื่อ Barton จุดไม้ขีดไฟให้ นี่ถือเป็นเมตตา ที่อตีดเพื่อนสนิทจะสามารถทำให้กันได้
ถ้าในต้นฉบับนิยาย พระ-นางจะตัดสินใจฆ่าตัวตายคู่ แต่ข้อบังคับจาก Hays Code (ห้ามมีการฆ่าตัวตาย) หนึ่งในฉากจบใหม่คือประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า (อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง) ซึ่งก็ได้มีการสร้างฉาก ถ่ายทำ หมดเงินไปพอสมควร แต่ Wilder ตัดสินใจปรับเปลี่ยนในช่วงการตัดต่อ เพราะไดเรคชั่นเล่าเรื่องจากความทรงจำของ Walter Neff แค่นั้นถือว่าจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว Sequence ที่เหลือนี้จึงถือเป็นส่วนเกินไม่มีความจำเป็น และดูจะเหี้ยมโหดร้ายเกินไปด้วย
น่าเสียดายฟุตเทจดังกล่าวสูญหายไปแล้ว หลงเหลือเพียงภาพนิ่งให้ดูต่างหน้าเท่านั้นเอง
ตัดต่อโดย Doane Harrison (1894 – 1968) สัญชาติอเมริกัน สังกัดสตูดิโอ Paramount Pictures และเป็นขาประจำของ Billy Wilder เข้าชิง Oscar: Best Film Editing ทั้งหมดสามครั้งไม่เคยได้รางวัล Five Graves to Cairo (1943), The Lost Weekend (1945), Sunset Boulevard (1950)
หนังเล่าเรื่องผ่านการย้อนอดีตความทรงจำของ Walter Neff บรรยายการกระทำของตนเอง สารภาพความผิด บันทึกเสียงผ่านเครื่อง Dictaphone ซึ่งก็จะมีการตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน จนกระทั่งเหตุการณ์มาบรรจบถึงปัจจุบัน
ลักษณะคำพูดของ Walter เต็มไปด้วยการเสียดสี ประชดประชัน ยกยอปอปั้นตนเองสูงส่งเก่งกว่า เพราะว่า Barton Keyes ไม่สามารถจับได้ไล่ทันสักที แถมยังจะป้ายสีความผิดใส่คนอื่นเสียอีก
เพลงประกอบโดย Miklós Rózsa นักแต่งเพลงสัญชาติ Austria-Hungary ขาประจำของพี่น้อง Korda มาจากชาติเดียวกัน โด่งดังไปพร้อมๆกันจาก The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940) แต่ไฮไลท์ในอาชีพของ Rózsa ไปไกลกว่ามาก คว้า Oscar: Best Original Score เรื่อง Spellbound (1945), A Double Life (1947), Ben-Hur (1959) ฯ
ความต้องการของ Wilder คือดนตรีจากเครื่องสายที่บรรเลงลากยาวไปเรื่อยๆ (คล้ายๆท่อนแรกของ Franz Schubert: Symphony No. 8) เพื่อสะท้อนความถลำลึกของ Walter และ Phyllis ค่อยๆตกต่ำทรามจนถึงความมืดมิดสนิท ซึ่งผลลัพท์ของ Rózsa ถือว่าทั้งทรงพลัง ตราตรึง ขนลุกขนพอง สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
คำนิยามของ Rózsa ต่อหนังเรื่องนี้ คือเรื่องราว ‘Love Story’ ของบุคคลผู้โหยหาสิ่งเติมเต็มความต้องการของตนเอง ไม่ใช่แค่หญิงสาวคนรัก แต่คือท้าทายตนเองในหน้าที่การงาน จักสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ … ชิบหายวายป่วนนี้ได้หรือเปล่า
แรงจูงใจการกระทำชั่วใน Double Indemnity ของ Walter Neff และ Phyllis Dietrichson เกิดจากความเบื่อหน่าย อึดอัดอั้น ซ้ำซากจำเจ ทั้งๆชีวิตของพวกเขาต่างมีความสุขสบาย เพรียบพร้อม ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่คืออาการ ‘ไม่รู้จักพอ’ โหยหาบางสิ่ง ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งกับที่ เคยได้เท่าไหร่ต่อไปต้องเบิ้ลสอง
ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด พยายาม ตะเกียกตาย ไขว่คว้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ ต่อให้วิธีการจะดี-ชั่ว ถูก-ผิด ถ้ารอดตัวจับไม่ได้ถือว่าคือชัยชนะ กระหยิ่มยิ้มผยอง จองหองอวดดี ภาคภูมิใจในสิ่งที่ … เมื่อข้อเท็จจริงเปิดโปงเมื่อไหร่ จากหงส์แปรสภาพเป็นหมา ดาวบนฟากฟ้านภาถูกเหยียบย่ำจมมิดดิน
เมื่อไหร่มนุษย์ถึงจะรู้จักคำว่าพอ? ผมไม่คิดว่าจะมีใครสามารถให้คำตอบได้หรอกนะ มันอยู่ที่ตัวของเขา/เราจะเกิดความรู้สึกนั้นขึ้นเมื่อไหร่ มันอาจจะกระทำ-เบื่อหน่าย-กระทำ-เบื่อหน่าย วนซ้ำจนทนไม่ไหวแล้ว ก็คงครุ่นคิดได้เอง เรื่องพรรค์นี้ไม่ต้องไปวิตกจริตแทนผู้อื่นหรอกนะ
Walter Neff: Know why you couldn’t figure this one, Keyes? I’ll tell ya. ‘Cause the guy you were looking for was too close. Right across the desk from ya.
Barton Keyes: Closer than that, Walter.
ความรัก เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มืดบอด มองข้ามการกระทำ ความดี-ชั่ว ของอีกฝั่งฝ่าย พยายามหาข้ออ้างปกปิดซ่อนเร้น ยกโทษให้อภัย เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรคือดอกบัว
พุทธศาสนาไม่มีคำสอน ‘ความรัก’ แต่คือพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แนวธรรมปฏิบัติของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เริ่มจากมีจิตอันเผื่อแผ่ มิตรไมตรี คิดทำประโยชน์, สงสาร ครุ่นคิดช่วยเหลือให้พ้นทุกข์, ยินดีแสดงออกด้วยน้ำใจ และวางตัวเป็นกลางเมื่อพบเห็นผลกรรมดีชั่ว … นี่ต่างหากคือสิ่งที่มนุษย์ควรยึดถือปฏิบัติ ไม่ใช่จมปลักในโลกทัศนคติ ‘ความรักชนะทุกสิ่งอย่าง’ เพราะกฎแห่งกรรมจักตามสนองความมืดบอดของตัวคุณเองด้วย
ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ สามารถการันตีสิ่งที่คุณกระทำในชาตินี้จะได้รับผลตอบสนองโดยทันที เรื่องแห่งกฎแห่งกรรมคือการชดใช้หรือได้รับในสิ่งที่เคยก่อ มันอาจจะจากอดีตช้านาน หรือไม่รู้เมื่อไหร่ยังอนาคต แต่ที่แน่นอนรับประกันได้ “กรรมใดใครก่อ กรรมนั่นย่อมคืนสนอง” คืนทุนแบบไม่มีกำไร-ดอกเบี้ย หรือใครสูญเสียประโยชน์แม้แต่น้อย
เมื่อตอนหนังออกฉาย มีนักร้อง/จัดรายการวิทยุ Kate Smith ออกแคมเปญเรียกร้องไม่ให้ผู้คนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมีเรื่องราวขัดแย้งต่อศีลธรรมจรรยาที่ดี, นักเขียนนิยาย James M. Cain แสดงความคิดเห็นแบบแซวๆว่า
“There was a little trouble caused by this fat girl, Kate Smith, who carried on a propaganda asking people to stay away from the picture. Her advertisement probably put a million dollars on its gross”.
เจ้าของหนังสือต้นฉบับ James M. Cain มีความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก ดูซ้ำหลายรอบ ประทับใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะตอนจบ เคยบอกว่าถ้าตอนนั้นคิดได้แบบนี้ คงให้นิยายลงเอยเฉกเช่นนั้นแน่แท้
“If I had come up with some of the solutions to the plot that screenwriters Billy Wilder and Raymond Chandler did, I would have employed them in my original novel”.
Alfred Hitchcock เมื่อได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ ถึงกับเขียนจดหมายชื่นชม
“Since Double Indemnity, the two most important words in motion pictures are ‘Billy’ and ‘Wilder’.
ด้วยทุนสร้างประมาณ $980,000 เหรียญ ทำเงินได้ $5.72 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Barbara Stanwyck)
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Sound, Recording
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture
แม้ว่าหนังจะเป็นตัวเต็งหนึ่งคว้ารางวัล แต่เพราะปีนั้น Going My Way (1944) ของผู้กำกับ Leo McCarey เป็นอีกเรื่องของ Paramount ที่ออกฉาย ประสบความสำเร็จ ทำเงินสูงสุดแห่งปี และถูกใจผู้บริหารสตูดิโอมากกว่า ถึงขนาดชักชวนกันให้ลงเสียงโหวตจนได้รับชัยชนะคว้ารางวัลใหญ่แห่งปี นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้ Wilder เป็นอย่างมาก ระหว่าที่ McCarey ออกไปรับรางวัล Best Director ยื่นขาขัดให้เดินสะดุดล้ม และหลังงานขณะกำลังเดินทางกลับ ตะโกนให้ทุกคนบริเวณนั้นได้ยินว่า
“What the hell does the Academy Award mean, for God’s sake? After all – Luise Rainer won it two times. Luise Rainer!”
จริงๆแล้ว Luise Rainer ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยในงานค่ำคืนนั้นเลยนะ เธอคือนักแสดงหญิงคนแรกที่คว้า Oscar: Best Actress สองครั้ง แถมยังสองปีติด The Great Ziegfeld (1936) และ The Good Earth (1937)
เกร็ด: ในบรรดาผลงานกำกับของตนเอง Wilder ถือว่า Double Indemnity (1944) คือเรื่องยอดเยี่ยมดีที่สุดของตนเอง
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ อินกับการแสดงของ Barbara Stanwyck อ่านไม่ออกเลยว่าภายในรู้สึกครุ่นคิดอะไร, Edward G. Robinson ก็อีกคนที่แย่งซีน, ภาพถ่ายสวยๆสัมผัสนัวร์, เพลงประกอบกลิ่นอายลายเซ็นต์ของ Miklós Rózsa และไดเรคชั่นผู้กำกับ Billy Wilder ลงตัวสมบูรณ์แบบ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เป็นบทเรียนสอนใจกับบุคคลผู้กำลังครุ่นคิด ต้องการกระทำความชั่วร้าย สิ่งเกิดขึ้นหลังจากนี้จักมีแต่ความลุ่มร้อน คลุ้มคลั่ง หวาดระแวง จิตใจไม่มีทางสงบสุขลงได้ ในที่สุดผลกรรมจักตามทันอย่างเห็นผล (หรือบางคนอาจรู้สำนึกผิดก่อน) และได้ชดใช้อย่างสาสมควร
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอหนังนัวร์ แนวอาชญากรรม หลงใหลนวนิยายของ James M. Cain, ทำงานบริษัทประกัน (ได้ประโยชน์มากแน่ๆ), ตำรวจ นักสืบ จิตแพทย์/นักจิตวิทยา ศึกษาสภาวะทางจิตใจของผู้ร้าย, แฟนๆผู้กำกับ Billy Wilde และนักแสดงนำ Barbara Stanwyck ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับการฆาตกรรม ด้านมืดของจิตใจมนุษย์
Leave a Reply