Downhill Racer

Downhill Racer (1969) hollywood : Michael Ritchie ♥♥♥♥

ถึงนี่จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ Robert Redford ได้ทำให้เราเห็นว่า คนที่จะคว้าเหรียญทอง Olympic ต้องมีความกล้าบ้าบิ่น ทุ่มเทขนาดไหน กับการแข่งขัน Alpine skiing ประเภท Downhill, นี่เป็นหนังที่ดูค่อนข้างยาก ใช้ภาพ เสียงและการตัดต่อในการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ว่ากันว่านี่อาจเป็นหนังเกี่ยวกับกีฬาที่สมจริงที่สุด

ใครที่รู้จัก Robert Bresson ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่มีสไตล์การทำหนังแบบตรงไปตรงมา สมจริงที่สุด ผมรู้สึกว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ Michael Ritchie ได้ประยุกต์เอาแนวทางของ Bresson มาใช้ในหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ทำให้นักแสดงเล่นฉากเดิมซ้ำๆหลายร้อยเทค แต่เป็นลักษณะการนำเสนอ ภาพแต่ละช็อตที่ไม่ยาวมาก และการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ผู้ชมอาจจับอารมณ์ของตัวละครไม่ได้ แต่จะเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร, นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความสมจริงมากๆ และโดยเฉพาะการใช้มุมมองบุคคลที่ 1 ขณะที่พระเอกสกีลงเขา เราจะเห็นว่าเขาเห็นอะไร เข้าโค้งยังไง เลี้ยวยังไง ฯ เมื่อคิดว่าเป็นหนังที่สร้างปี 1969 นี่เป็นการกระทำที่บ้าบิ่น อันตราย เสี่ยงตายสุดๆ

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Downhill Racers เขียนโดย Oakley Hall ตีพิมพ์เมื่อปี 1963, Hall ที่เคยได้ Pulitzer Prize สาขาวรรณกรรม ในปี 1958 จากเรื่อง Warlock (เคยถูกทำเป็นหนังในปี 1959 นำแสดงโดย Henry Fond), มีผู้กำกับดังหลายคนที่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ อาทิ Mark Robson, Roman Polanski (หนีไปทำ Rosemary’s Baby เสียก่อน) ก่อนตกมาเป็นของ Michael Ritchie ถือเป็นผลงาน debut ของเขาหลังจากทำงานสาย TV Series อยู่หลายปี, ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย James Salter

ว่ากันว่า Salter ไม่ได้อ่านนิยายของ Hall ด้วยซ้ำ เขาใช้โน๊ตที่เป็นไกด์ไลน์ของ Polanski (ก่อนที่จะถอนตัว) มาสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ โดยให้มีลักษณะเป็น modern-day High Noon (ตามคำแนะนำของ Polanski) เริ่มเรื่องจากนายอำเภอถูกฆ่า แล้วมีนายอำเภอคนใหม่มาแทนที่เขา ในหนังนายอำเภอจะคือนักกีฬาสกีที่ได้รับบาดเจ็บตอนต้นเรื่อง และพระเอกถูกเรียกตัวมาแทนที่

เกร็ด: การแข่งขัน Alpine skiing (สกีลงเขา) ในโอลิมปิกปัจจุบัน มีด้วยกัน 4 ประเภท (ตามขนาดของสกี) Downhill, Super G, Giant slalom และ Salalom, มหาอำนาจของกีฬาประเภทนี้มีคือ Austria แต่บางปีก็จะมี Switzerland, อเมริกา, ฝรั่งเศส ฯ สอดแทรกเข้ามา

Robert Redford รับบท David Chappellet ตัวละครนี้ไม่มีอยู่จริงนะครับ ได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 นักสกีของอเมริกา Billy Kid เจ้าของเหรียญเงิน 1964 Innsbruck Winter Olympic, Austria อีกคนหนึ่งคือ Spider Sabich ที่จบอันดับ 5 จากโอลิมปิกปีเดียวกัน ประเภท Slalom (สกีสลาลม) ทั้งสองมีนิสัยหยิ่งผยอง และเป็นคนสันโดษ (arrogant และ aloof)

Redford นำเสนอตัวละครนี้ได้ยอดเยี่ยมมากๆ แต่ตัวละครนี้มีลักษณะนิสัยที่จำกัดไปหน่อย ทำให้ดูเหมือนไม่ได้ใช้ศักยภาพของ Redford ได้อย่างเต็มที่, Chappelleet เป็นคนที่ไม่สนใจอะไรอื่นเลยนอกจากการเล่นสกี ขนาดตอนจีบสาวที่ดูเหมือนเขาหว่านเสน่ห์เอาชนะใจเธอได้ แต่หารู้ตัวไม่ว่าตนเป็นเพียงคนถูกเก็บแต้มจากหญิงสาวเท่านั้น

Gene Hackman รับบทโค้ช Eugene Claire ที่มีความเข้มงวด จริงจัง แม้ในหนังดูเหมือน Claire กับ Chappellet จะไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ มีเรื่องให้ทะเลาะอยู่เรื่อย แต่โค้ชคือคนชี้แนะ ให้ความช่วยเหลือ Chappellet จนเขาประสบความสำเร็จได้, Hackman มักได้รับบทที่ดูเข้มข้น โกรธง่าย หายเร็ว นี่กลายเป็นเอกลักษณ์ติดตัวของเขาไปจนได้ Oscar (จาก The French Connection-1971 และ Unforgiven-1992)

โค้ชต้องการให้ Chappellet อยู่ในกรอบ ร่วมกับคนอื่น แข่งขันกันเป็นทีม แต่เดี๋ยวก่อน Ski Downhill มันคือการแข่งขันทีมตรงไหน? ตัวละครหนึ่งในหนังยังพูดว่า ‘สกีไม่เชิงเป็นกีฬาประเภททีม’ (This isn’t exactly a team sport.) การทำตัวของ Chappellet จึงไม่ถือว่าถูกและผิด เพื่อนร่วมทีมชาติไม่ชอบขี้หน้าเขา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของเขา เพราะเป็นคนสันโดษอยู่แล้ว

ถ่ายภาพโดย Brian Probyn (Badlands-1973) พื้นหลังของหนังใช้การแข่งขัน 1968 Grenoble Winter Olympics, France แต่ใช้การบันทึกภาพ จากการแข่งขัน Skiing World Cup Races ระหว่าง 11 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ ปี 1969, งานภาพของหนังเรื่องนี้ต้องถือว่าเสี่ยงตายมากๆ ผมจินตนาการไม่ออกว่าภาพมุมมองบุคคลที่ 1 ขณะที่นักสกีกำลังแข่งขันนั้นถ่ายยังไง ใช้กล้อง Hand Held คล้องคอนักกีฬาหรือใช้รถลากไถลลงมา ไม่ว่าจะวิธีการไหนถือมีความเสี่ยงสูงมากๆ เพราะถ้าผิดพลาดนิดเดียว พังทั้งคน พังทั้งกล้อง, ที่ต้องเสี่ยงกันขนาดนี้ คงเพื่อให้สะท้อนนิสัยของพระเอกที่ชอบทำอะไรบ้าบิ่น เสียงตาย ไม่สนใจชีวิตตัวเอง, สำหรับฉากอื่นๆ มุมกล้องของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้ชิดกับตัวละครมาก เน้นถ่าย mid-shot กับ medium close-up เยอะมาก ส่วน long-shot จะใช้กับการแข่งขัน หรือฉากที่ต้องการให้เห็นวิวทิวทัศน์

ตัดต่อโดย Richard A. Harris ด้วยความรวดเร็วฉับไวคมกริบ ผมคิดว่า average shot length (ASL) ของหนังเรื่องนี้ต้องต่ำมากๆแน่ จนแทนทำให้เราไม่เห็นอารมณ์ของตัวละครเลย แต่จะเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรจากการกระทำที่ตรงไปตรงมา, ตอนที่พระเอกบีบแตรขณะที่หญิงสาวกำลังพูดจ้อไม่หยุด เราจะไม่เห็นสีหน้าอารมณ์ของทั้งสองเลย แต่รู้ว่านี่เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความไม่พอใจแน่ๆ ประมาณว่า ‘หยุดพูดได้ไหม’

ผมไม่แน่ใจหนังมีการเร่งความเร็วหรือเปล่า หรือขณะสกี นั่นคือความเร็วจริงๆ เพราะมันดูเร็วมากๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน นี่ทำให้เรารู้สึกถึงอันตรายของกีฬาประเภทนี้ และภาพอุบัติเหตุจากการสกีที่ใส่มาอย่างเยอะ ถึงมันจะไม่ได้ทำให้คนไม่เคยเล่นสกีอยากผม รู้สึกกลัวหรือต่อต้านกีฬานี้ แต่กลับรู้สึกถึงความท้าทายและเห็นความสนุกของมัน (เห็นแล้วผมอยากเล่นสกีทันที แต่คิดว่าชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้เล่น …เศร้าใจ)

เพลงประกอบโดย Kenyon Hopkins, เพลงของหนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้าย Sound Effect มากกว่าเสียงเพลงอีกนะครับ ถึงเครื่องดนตรีที่ใช้จะคือ เปียโน กลอง เน้นเครื่องเป่า แต่ทำนอง จังหวะของมัน กลับสร้างความรู้สึกที่ฉงนสงสัย ความท้าทาย การต่อสู้ ตื่นเต้นระทึกขวัญ ชัยชนะ และการเอาตัวรอด, Sound Effect ก็เด่นเช่นกัน ขณะสกีจะได้ยินเสียงลมหายใจดังชัดเลย เสียงสกีไถลพื้น ส่วนเสียงเชียร์มักจะได้ยินใกล้ๆเส้นชัย, ตอนปล่อยตัว จะมี Sound Effect ที่เหมือนเสียงเครื่องอ่านการเต้นของหัวใจในโรงพยาบาล นี่คงหมายถึงการแข่งขันที่มีความอันตราย ถ้าพลาดก็ถึงตายได้ทันที

ฉากจบถือเป็นไฮไลท์เลยนะครับ หลังจากพระเอกแข่งสกีเสร็จ ด้วยเวลาที่เร็วมากที่สุด เขาน่าจะคือผู้ชนะแล้ว มีนักข่าวเข้ามาลุมร้อมสัมภาษณ์ แต่การแข่งขันยังไม่จบ นักกีฬาคนถัดมาได้รับการปล่อยตัว เด็กคนนั้นสามารถทำความเร็วครึ่งแรกได้เร็วกว่าคนอื่น ถ้าเขารักษาความเร็วนี้ได้จนจบ จะถือเป็นม้ามืดเหรียญทอง นั่นทำให้ฝูงชนเริ่มเบี่ยงเบนความสนใจ, ฉากนี้เชื่อว่าคงมีหลายคนลุ้นให้เกิดอะไรสักอย่างขึ้นพระเอกจะได้ชนะ คำแช่งของท่านเป็นจริงซะด้วยสิ เด็กคนนี้แข่งไม่จบเกิดอุบัติเหตุขึ้นก่อน นี่ทำให้พระเอกโล่งใจ แต่เขาเห็นอะไรบางอย่าง เด็กคนนี้ก็คือเขาเมื่อสัก 1-2 ปีก่อน ที่หยิ่งผยองกล้าลองกล้าเสี่ยง และคิดว่าตนทำได้ทุกอย่าง ตอนเขามองเด็กคนนี้ เหมือนเห็นภาพของตัวเองในอดีต นักข่าวสัมภาษณ์ว่าจะทำอะไรต่อไป เขาตอบ ‘ไม่รู้สิ ช้าลงสักนิดกระมั้ง’

นี่เป็นหนังกีฬา ที่ทำการสำรวจตัวเองว่าต้องแลกอะไรบ้างเพื่อชัยชนะ ขณะที่พระเอกกลับบ้านไปหาพ่อ มีคำถามที่แทงใจดำมากๆ พ่อถาม แข่งเพื่ออะไร? ได้เงินไหม? เขาตอบ เพื่อชื่อเสียง จะได้เป็นแชมเปี้ยน เงินทองจะมาหลังจากนี้ พ่อครุ่นคิดพูดเปรยว่า ‘โลกเราเต็มไปด้วยแชมเปี้ยน’ คำพูดประโยคนี้ไปต่อไม่ถูกเลยละครับ

Roger Ebert พูดถึงหนังว่า แชมเปี้ยนของอะไรก็ตาม มักมีระดับของความบ้าคลั่งในการพัฒนาทักษะความสามารถตรงนั้นให้เหนือกว่าคนอื่น และทอดทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปทั้งหมด, หนังได้นำเสนอ อะไรบ้างที่เขาพลาดไปจากการใช้ชีวิตแบบนั้น

ปี 1969 ถือว่าเป็นปีแห่งหนังสกีเลยนะครับ นอกจาก Downhill Racer แล้วยังมีหนัง James Bond อีกเรื่องที่ใช้สกีเป็นไฮไลท์ของหนังคือ On Her Majesty’s Secret Service (1969) [อย่าเล่นสกีตอนกลางคืนนะครับ อันตรายโคตรๆเลย] แต่ในบรรดาหนังของ James Bond ผมว่า The Spy Who Loved Me (1977) มีฉากไล่ล่าสกีตอนจบที่เจ๋งที่สุดแล้ว

หนังเรื่องนี้น่าจะถือว่าดูยาก เพราะไม่ได้มีการเล่าเรื่องแบบอธิบายทั้งหมด หลายอย่างจะตัดข้ามเร็วๆ ไม่ให้เวลาเราคิดหาคำตอบมากนัก บางครั้งก็ไม่มีคำตอบอะไรเลย, ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่ถือว่ามีสไตล์ อาจไม่เหมาะกับนักดูหนังสมัยใหม่นัก และอาจไม่ถูกโฉลกกับผู้ชมทั่วๆไป นั่นทำให้คะแนนใน IMDB ของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างต่ำ, ส่วนตัวผมชอบหนังเรื่องนี้มาก ในแง่ศิลปะถือว่ายอดเยี่ยม ตำหนิเดียวคือ มันไม่ค่อยมีสาระประโยชน์เท่าไหร่

แนะนำกับนักกีฬาทุกประเภท ดูแล้วอาจไม่ได้แรงบันดาลใจเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่าฉันต้องผลักดันตัวเองให้ยอดเยี่ยมกว่าเดิมอีกนิด, แนะนำอย่างยิ่งกับคนทำงานสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังที่เต็มไปด้วยเทคนิค คิดให้ได้ว่าตอนสกีลงเขา หนังถ่ายทำยังไง!

จัดเรต 15+ กับความบ้าคลั่งที่ตรงไปตรงมา และภาพอุบัติเหตุที่ค่อนข้างน่ากลัว

TAGLINE | “Downhill Racer คือหนังที่เต็มเปี่ยมด้วยสุดยอดเทคนิคที่สมจริง ทั้งภาพ ตัดต่อ เสียง และการแสดงของ Robert Redford และ Gene Hackman”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Olympics Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 6. Downhill Racer (1969)  : Michael Ritchie ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: