Downpour

Downpour (1972) Iranian : Bahram Bayzai ♥♥♥♥

ห่าฝนที่ตกลงมา ชุ่มฉ่ำเสียงหัวเราะด้วยภาษาภาพยนตร์สุดจัดจ้าน และชอกช้ำคราบน้ำตาเพราะนำเสนอหายนะของประเทศอิหร่าน, แนะนำโดย Martin Scorsese รวบรวมอยู่ใน World Cinema Project

ต้องบอกไว้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์แนวหายนะ (Disaster) ฝนตกจนฟ้าถล่มดินทลายสไตล์ Roland Emmerich แต่คือหนังโรแมนติก ดราม่า คอมเมอดี้ ที่เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ในลักษณะเสียดสีสังคม การเมือง และพยากรณ์การล่มสลายของอิหร่านปาห์ลาวี (Imperial State of Iran หรือ Pahlavi Iran)

ทีแรกผมตั้งใจจะเขียนถึง Bashu, the Little Stranger (1986) หนึ่งในภาพยนตร์ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอิหร่าน แต่พอพบเจอว่าผลงานแรกแจ้งเกิดของผกก. Bahram Bayzai ได้รับการบูรณะอยู่ในคอลเลคชั่น World Cinema Project เลยต้องรีบเอาเรื่องนี้ขึ้นตัดหน้า! แค่นาทีแรกก็ทำให้อ้าปากหวอ เป็นหนังที่โคตรๆจัดจ้าน โดยเฉพาะลีลาการตัดต่อ เต็มไปด้วยภาษาภาพยนตร์ที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะแทบไม่หยุดหย่อน

รับชม Downpour (1972) ทำให้ผมเกิดความตระหนักว่า ภาพยนตร์ที่ซุกซ่อนเร้นนัยยะเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้อย่างแนบเนียนที่สุดก็คือ ‘Comedy’ เสียงหัวเราะมักทำให้ผู้ชมทั่วไปสูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดวิเคราะห์ มองว่าเป็นเพียงความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน ไร้พิษไร้ภัย แต่หารู้ไม่ … ใครบางคนหัวเราะทีหลังดังกว่า!


Bahrām Beyzāêi (เกิดปี 1938), بهرام بیضائی นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที เกิดที่ Tehran เป็นบุตรของนักกวีชื่อดัง Ne’matallah Beyzai แต่ตัวเขามีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ชอบโดดเรียนไปรับชมภาพยนตร์เป็นประจำ แล้วเริ่มหัดเขียนบทละครตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม, โตขึ้นเข้าศึกษาสาขาวรรณกรรม Tehran University โด่งดังจากการตีพิมพ์บทความวิจัย A Study on Iranian Theatre (1965) เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัย ancient Persian, จากนั้นมีผลงานเขียนบท กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จถึงขนาดว่าได้รับการยกย่อง “The Shakespeare of Persia”

ความสนใจของ Beyzai ยังครอบคลุมมาถึงวงการภาพยนตร์ หนึ่งในผู้บุกเบิก Iranian New Wave เริ่มจากสร้างหนังสั้น Uncle Moustache (1969), Safar (1970), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Downpour (1972), ผลงานเด่นๆอื่น อาทิ Ballad of Tara (1979), Death of Yazdgerd (1981), Bashu, the Little Stranger (1986), Killing Mad Dogs (2001) ฯลฯ

สำหรับ Downpour (1972) ผมครุ่นคิดว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากโคตรหนังเพลง Singin’ in the Rain (1952) (เพราะเป็นแนวโรแมนติก คอมเมอดี้ เกี่ยวกับสภาพอากาศ) ขณะที่ความป้ำๆเป๋อๆของพระเอกชวนให้นึกถึง Harold Lloyd (สวมใส่แว่นตาเหมือนกันอีกต่างหาก) เหล่านี้แสดงว่า ผกก. Beyzai รับอิทธิพลจากตะวันตกมาไม่น้อย แล้วทำการปรับประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชาวอิหร่าน

ปล. จริงๆยังมีหนังอีกเรื่องโดดเด่นมากๆกับฉากฝนตกที่อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ นั่นคือ Shree 420 (1955) กำกับโดย Raj Kapoor หลายคนอาจไม่รับรู้จักแต่เรื่องนี้ดังโคตรๆระดับ ‘blockbuster’ ในอินเดีย รัสเซีย และน่าจะไปถึงตะวันออกกลางด้วย

บทหนังมีความยาวเพียง 17 หน้ากระดาษ สำหรับเตรียมงานสร้าง และยื่นของบประมาณ (แต่ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากแห่งหนไหน) เวลาถ่ายทำจริงแทบจะโยนทุกสิ่งอย่างทิ้งไป ส่วนใหญ่เป็นการดั้นสด ‘improvised’ ทดลองผิดลองถูก ภายใต้ทิศทางที่กำหนดเอาไว้

Much of the film was shot without the usual notes, in a very improvised manner, but this does not mean that I did not have any plans in mind. On the contrary, my ideas and plans became real and alive under real conditions. This even helped me to rediscover the meanings of the story.

Bahram Bayzai

เกร็ด: ชื่อหนัง رگبار อ่านว่า Ragbār คำแปลภาษาอังกฤษก็อย่าง Downpour, Shower, Cloudburst, Meteoric Shower, Barrage ฯลฯ ล้วนสื่อถึงสภาพอากาศแปรปรวน ลมพายุรุนแรง ฝนตกหนัก (คำไทยตรงที่สุดก็คือ ห่าฝน)


เรื่องราววุ่นๆของครูหนุ่มโสด Hekmati (รับบทโดย Parviz Fannizadeh) เดินทางมาสอนหนังสือยังโรงเรียนทางตอนใต้กรุง Tehran มีโอกาสพบเจอตกหลุมรักพี่สาวของนักเรียนในชั้น Atefeh (รับบทโดย Parvaneh Massoumi) เลยถูกทั้งเด็กๆและเพื่อนครูนำมาพูดล้อเล่นกันอย่างสนุกสนาน ความทราบถึงคู่หมั้น/เจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์ Rahim (รับบทโดย Manuchehr Farid) เดินทางมาชกต่อย ทำร้ายร่างกาย แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง

ในตอนแรกๆ Hekmati พยายามแสดงออกว่าไม่ได้ชื่นชอบ Atefeh แต่ก็มิอาจปกปิดความต้องการ ยินยอมรับสารภาพความจริงออกไป แม้ไม่ได้รับคำตอบกลับแต่เหมือนว่าเธอก็แอบมีใจ ถึงอย่างนั้นเพราะที่บ้านมากด้วยมีภาระ ไม่สามารถทอดทิ้งมารดาและน้องชาย เลยเกิดความสองจิตสองใจ ระหว่างพ่อค้าผู้มั่งมี Rahim หรือชายคนที่ตกหลุมรัก Hekmati

สำหรับ Hekmati หลังจากโดน Rahim ชกต่อยจนเลือดตกยางออก วันหนึ่งเกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง เริ่มต้นออกกำลังกาย ร่ำเรียนชกมวย ขณะเดียวกันก็เป็นตัวตั้งตัวตี ปรับปรุงหอประชุมให้กลายเป็นโรงละครเวที จนได้รับความนับหน้าถือตาจากเด็กๆ ผู้คนในชุมชน แต่นั่นกลับเป็นการสร้างศัตรู สิ้นภาคการศึกษาเลยถูกใบสั่งย้ายโดยพลัน! ส่วนเรื่องความรักกับ Atefeh ก็ไม่รู้จะลงเอยเช่นไร…


Parviz Fannizadeh (1938-80), پرویز فنی‌زاده, นักแสดงสัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran, โตขึ้นร่ำเรียนการแสดงยัง Iranian Academy of the Dramatic Arts แจ้งเกิดจากละครเวที เห็นว่าเป็นนักแสดงคนแรกๆของอิหร่านที่ใช้เทคนิค ‘method acting’ เมื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์ Sepas (1966) สามารถคว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนัง Fifth Iranian National Film Festival, ผลงานเด่นๆ อาทิ Downpour (1974), Tangsir (1974), The Deer (1976), My Uncle Napoleon (1976) ฯลฯ

รับบท Mr. Hekmati ครูหนุ่มหน้าใส เหมือนเพิ่งจบมาใหม่ ยังครองตัวเป็นโสด เดินทางมาสอนหนังสือยังโรงเรียนทางตอนใต้กรุง Tehran แสดงอาการกลัวๆกล้าๆ อ่อนแอขี้ขลาดเขลา ไม่เข้าใจความต้องการของตนเอง จนกระทั่งถูกหมัดเด็ดของ Rahim ทำให้สามารถฟื้นตื่น คืนสติ ลุกขึ้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง หาญกล้าสารภาพรักกับ Atefeh และครุ่นคิดทำในสิ่งสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม

แม้หนังจะดูตลกขบขัน แต่การแสดงของ Fannizadeh ถือว่าเป็นดราม่าเข้มข้น สีหน้าตึงเครียด เอาจริงเอาจังตลอดเวลา ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่มักทำอะไรป้ำๆเป๋อๆ ท่าทางลุกรี้ลุกรน ร่างกายอ่อนแอ จิตใจขลาดเขลา แต่ถือว่ามีความหนักแน่นมั่นคงในอุดมการณ์ พร้อมเสียสละตนเอง ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สมควรได้รับการยกย่อง และรู้สึกผิดหวังเมื่อได้รับความอยุติธรรมจากสังคม

ผมเสียดายคาแรคเตอร์ตัวละครนี้มากๆ มันสามารถต่อยอด ขยับขยายภาคต่อ แฟนไชร์ กลายเป็นอีก ‘Iconic’ แห่งวงการภาพยนตร์! แต่อิหร่านยุคสมัยนั้นไม่มีใครบันเทิงกับหนังตลก หรือแนวรักๆใคร่ๆสักเท่าไหร่ (ใครรับชมภาพยนตร์จากตะวันออกกลางมาเยอะ มักพบเห็นแต่แนวดราม่า เครียดๆ บันทึกภาพชีวิต สะท้อนปัญหาสังคม)

และอีกความน่าเสียดายก็คือ การจากไปก่อนวัยอันควรของ Fannizadeh เสียชีวิตจากโรคบาดทะยัก (สมัยนั้นเหมือนจะยังไม่วัคซีนป้องกันกระมัง) สิริอายุเพียง 42 ปี ถ้ายังมีชีวิตอยู่เชื่อว่าต้องกลายเป็นตำนานอย่างแน่นอน!


ด้วยงบประมาณอันน้อยนิด ทีมงานในกองถ่ายมีไม่กี่คน เลยไม่มีเงินว่าจ้างตากล้อง โดยเครดิตถ่ายภาพเป็นของ Barbod Taheri (1962-2020) จริงๆแล้วคือโปรดิวเซอร์ของหนัง

ผู้กำกับ Beyzai เคยออกมาให้สัมภาษณ์กล่าวขอโทษ ว่าหลายๆรายละเอียดของหนังที่ดูขาดๆเกินๆ เพราะข้อจำกัดมากมายระหว่างการถ่ายทำ แต่ถึงอย่างนั้นเพราะไม่ได้ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร จึงเต็มไปด้วยการทดลองผิดลองถูก รับอิทธิพลจาก Italian Neorealist ทั้งหมดถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ บันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คนย่านชานเมืองกรุง Tehran พยายามนำเสนอออกมาให้ใกล้เคียงสภาพความจริงมากที่สุด

Each of us did the work of four crew members, and each of us regarded those jobs as belonging to us. No supervisor or nosy censor metamorphosed our story, and the day we began cinematography, I still had to write seventeen pages of the screenplay. We sought assistance from all our friends, and we used all of our own resources.

We are sorry that because of financial and technical deficiencies we were not able to create our mise-en-scène as well as we wished. We shot the film in twenty-four neighborhoods of Tehran, with the aid of, and as witnessed by, the residents, many of whom will find their daily lives reflected in it. We did not have any special equipment to film in the alleys and streets; we filmed very close to our reality.

Bahram Beyzai

หนึ่งในข้อจำกัดที่หลายคนอาจรู้สึกผิดหวังก็คือชื่อหนัง ‘Downpour’ แต่กลับมีเพียงแค่ซีเควนซ์เดียวที่ฝนตกหนัก (แต่ก็ไม่ถึงขั้นเรียกว่า ‘ห่าฝน’ สักเท่าไหร่) แถมยังเป็นฉากตอนกลางคืน มองแทบไม่เห็นอะไร … เอาว่าเราต้องตีความชื่อหนังในเชิงสัญลักษณ์นะครับ คือช่วงเวลาที่ทั้งสุข-ทุกข์ มนุษย์ร่ำร้องไห้เพราะความดีใจ และเศร้าโศกเสียใจ


แทนที่จะใช้ม้าหรือลา กลับเป็นชายสูงวัยกำลังลากเทียมเกวียนอย่างเร่งรีบร้อน โดยมีเด็กๆคอยช่วยผลักดันอยู่ด้านหลัง วิ่งผ่านแอ่งน้ำ กระเด็นกระดอนถูกผู้อื่น ไม่มีแม้แต่คำขอโทษขอโพย … นี่เป็นฉากที่เหมือนจะไม่มีอะไร ใส่เสียงเพลงเต็ม ตัดต่อเร็วๆ เต็มไปด้วยความสนุกสนานครื้นเครง แต่บอกเลยว่าแฝงนัยยะได้อย่างลุ่มลึกล้ำ ทำเอาผมอ้าปากค้างตั้งแต่ซีนแรกนี้!

  • เริ่มจากชายสูงวัยกำลังลากเทียมเกวียน ผมตีความว่าสื่อถึงผู้นำประเทศ หรือคือสมเด็จพระเจ้าชาห์ ที่คอยกำหนดทิศทางของเกวียน=อิหร่าน
  • โดยมีรัฐบาล(แต่งตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าชาห์)ที่ไม่แตกต่างจากเด็กๆ ไร้ตาสีตาสา คอยช่วยผลักดันอิหร่านให้ดำเนินไปข้างหน้า
  • ด้วยความเร่งรีบร้อนรน เหมือนคนตาบอด มองไม่เห็นประชาชนคนรอบข้าง เพียงให้ถึงเป้าหมายปลายทาง และไม่รู้จักเจียมสังขาร

แซว: น้ำที่สาดกระเซ็นโดนหญิงสาวคนนี้ ไม่เชิงว่าเป็น ‘Downpour’ แต่ก็สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ สิ่งที่ทำให้เธอเปียกปอน หรือคือหายนะเกิดจากความเพิกเฉย ไม่สนใจใยดี

ระหว่างกำลังขนย้ายสิ่งข้าวของขึ้นห้อง หญิงสาวที่เปียกปอนเพราะถูกน้ำสาดกระเซ็น เข้ามาพร่ำบ่นกับ Hekmati แต่สังเกตว่าวิธีการพูดคุยของพวกเขา ผ่านกรอบรูปภาพที่มีช่องว่างวงกลมตรงกลาง ให้ความรู้สึกเหมือนกฎกรอบที่ห้อมล้อมอยู่คนละฟากฝั่ง

  • หญิงสาวสนแต่จะพูดว่ากล่าว ตักเตือน แสดงความไม่พึงพอใจ ต้องการเรียกร้องให้อีกฝ่ายเอ่ยคำขอโทษ
  • ตรงกันข้ามกับ Hekmati พยายามแนะนำให้รู้จักการให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง เพราะอีกฝ่ายอาจมีความจำเป็นเลยต้องเร่งรีบร้อน เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างสิ!

ระหว่างที่ Hekmati กำลังรับฟังคำพร่ำบ่นของหญิงสาวคนนี้ จู่ๆถูกเด็กๆกลั่นแกล้ง เป่าลูกดอก ยิงหนังสติ๊ก ทำให้ไม่สามารถตั้งใจรับฟังข้อเรียกร้อง … นี่เป็นการล้อคำพูดตนเองของ Hekmati ที่พยายามแนะนำให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่เขากลับไม่สามารถตั้งใจฟังสิ่งที่เธอพยายามพูดบอก

ภาพแรกของพ่อค้าขายเนื้อสัตว์ Rahim มาถึงในขณะที่ Hekmati กำลังแบกหามกระจกบานใหญ่ สังเกตจากตำแหน่งใบหน้า และภาพสะท้อน(ในกระจก)ของชายคนนี้ แสดงถึงอิทธิพล ความสูงส่ง ชื่นชอบการสร้างภาพให้ดูดี แต่จิตใจเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดร่ำอวดรวย

ขณะที่ Hekmati ยืนอยู่คนละฟากฝั่ง/ด้านหลังบานกระจก พยายามชะเง้อชูหน้าขึ้นมาทักทาย (แถมยังถ่ายย้อนแสงทำให้ภาพออกมามืดๆ ตรงกันข้าม Rahim อาบฉาบด้วยแสงสว่าง) แสดงถึงความต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ชื่อเสียงศักดินา แต่พยายามโหยหา สักวันหนึ่งต้องการได้รับนับหน้าถือตา

แซว: ระหว่างสนทนากับ Rahim ทำให้ Hekmati พลั้งเผลอปล่อยมือ ทำให้กระจกบานนี้ตกแตกลงพื้น ผมมองว่านี่เป็นการบอกใบ้เหตุการณ์ของหนัง ที่พวกเขาทั้งสองกำลังจะมีเรื่องขัดแย้ง แตกหัก ก่อนที่จะสามารถหวนกลับมาคืนดี ยินยอมรับ ให้อภัยกันและกัน (คือสามารถมองนัยยะได้ทั้งการแตกหัก และทำลายสิ่งกีดกั้นขวางความสัมพันธ์)

เรื่องวุ่นๆของโคมไฟตั้งโต๊ะ ของรักของหวงของ Hekmati ได้รับมาจากมารดา แฝงนัยยะถึงสิ่งที่มนุษย์ยึดถือมั่น สืบสานส่งต่อจากอดีตถึงปัจจุบัน อาทิ ขนบประเพณี วัฒนธรรม วิถีความเชื่อ ศรัทธาศาสนา ระบอบการปกครอง ฯลฯ แต่แล้วมันกำลังเคลื่อนไถลลงเนิน จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แสดงถึงความตกต่ำ ละเลือน ด้อยค่าลงด้วยเหตุผลบางอย่าง

หนังเลือกใส่บทเพลงที่มีความสนุกสนาน ตัดต่อให้พบเห็นผู้คนมากมายกรูเข้ามาวิ่งไล่ หยุดยับยั้งอย่างครื้นเครง (นี่เป็นการล้อเลียนถึงผู้คนส่วนใหญ่ ที่ยังคงยึดถือมั่นกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น) แต่ความขบขันดังกล่าวไม่ตลกเลยสักนิดสำหรับ Hekmati เพราะถ้าเจ้าโคมไฟอันนี้ตกแตกหัก มันอาจไม่หลงเหลือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สำหรับหวนระลึกถึงมารดา

แล้วหนังก็ตบมุกด้วยการที่โคมไฟไม่แตกเพราะเกวียนไถล กลับเป็น Hekmati ทำตกแตกด้วยน้ำมือตนเอง หลังจากพบเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง แล้วเกิดอาการตกตะลึง รักแรกพบ! มองผิวเผินเหมือนต้องการล้อตลกๆว่า หญิงสาวสวยทำให้บุรุษหลงลืมมารดา แต่นัยยะแท้จริงคือการทอดทิ้งสิ่งเคยหมกมุ่นยึดติด (การปกครองระบอบราชาธิปไตย) เพื่อสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เราสามารถมองเด็กๆในห้องเรียน คือตัวแทนประชาชนชาวอิหร่าน ต่างคนก็ต่างมีความคิดอ่าน เป็นตัวของตนเอง ไม่ชอบการถูกบีบบังคับ แต่การยื่นคัทเตอร์ชี้หน้าของ Hekmati คือสัญลักษณ์ของความรุนแรง อำนาจเผด็จการ นั่นคือวิถีของระบอบราชาธิปไตย (ในบริบทนี้ต้องมอง Hekmati ในฐานะข้าราชการ (ขี้ข้ารัฐ) ครูสอนหนังสือ เทียบเท่ากับรัฐบาลได้รับการแต่งตั้งโดยครูใหญ่/สมเด็จพระเจ้าชาห์)

หลายคนไม่เข้าใจฉากนี้ว่าทำไมถึงกลายเป็นชนวนเหตุของความเข้าใจผิด ซุบซิบนินทา โดยปกติแล้วศาสนาอิสลาม หญิงสาวต้องสวมใส่ฮิญาบปกปิดบังใบหน้ากับคนที่ไม่รับรู้จัก แต่ Atefeh ครุ่นคิดว่า Hekmati คือครูใหญ่ แต่งงานแล้ว เลยไม่จำเป็นต้องปกปิดอะไร จนกระทั่งรับรู้ความจริงว่าเขาไม่ใช่ เมื่อเด็กๆแอบพบเห็นเลยครุ่นคิดจินตนาการไปไกล ว่าพี่สาวคนนี้ทำตัวไม่เหมาะสมฐานะสุภาพสตรี

นั่นรวมถึงการเหยียบฮิญาบด้วยนะครับ แม้หนังจงใจทำให้ตลกขบขัน แต่ชาวมุสลิมอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่

ชาวมุสลิม(และอิหร่าน)ถือเป็นสังคมปิด จึงเต็มไปด้วยเสียงซุบซิบนินทา พูดจาว่าร้าย ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือผู้ใหญ่ พวกเขาไม่พูดบอก แต่แสดงออกทางสีหน้า หรือสัญญะอย่างภาพวาดบนกระดานดำ รูปหัวใจถูกธนูปักคงไม่ต้องอธิบาย ภาพขวามือผีเสื้อโบยบินเข้าใกล้เปลวเทียน น่าจะล้อกับสำนวน แมงเม่าบินเข้ากองไฟ หมายถึงลุ่มหลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี จึงได้หลงผิดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนทำให้ตนเองได้รับอันตราย

นี่เป็นอีกสัญญะที่ผมเห็นแล้วอึ้งไปเลย แม้เป็นเพียงของเล่นของเด็กชายคนหนึ่ง (น้องชายของ Atefeh) จับเอาแมลงสาปมาผูกเชือกที่ขา แล้วปล่อยให้มันเดินไปเดินมา แต่เราสามารถมองได้หลายๆนัยยะ

  • ถ้าเอาตามที่ Hekmati กล่าวถึงก่อนหน้านี้ เป็นการแสดงความรู้สึกเหมือนตนเองกำลังถูกบงการ ใครบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง
    • I’m fed up. They all have been pulling my leg and hinting at something.
  • หรือจะตีความล้อกับตอนต้นเรื่องที่ชายสูงวัยลากหามเทียมเกวียน แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นแมลงสาป (=สมเด็จพระเจ้าชาห์)
  • ตรงกันข้ามก็คือเหมารวมประชาชนชาวอิหร่าน ที่ถูกรัฐบาล/สมเด็จพระเจ้าชาห์ พันธนาการเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ดิ้นหลุดพ้น

ณ ร้านขายเนื้อสัตว์ของ Rahim จะมีช็อตที่ตัวละครหันด้านข้าง (เหมือนกำลังลับมืด) พบเห็นภาพเล็กๆด้านหลังดูเหมือนสมเด็จพระเจ้าชาห์ (น่าจะเป็นองค์เก่าๆ ไม่ใช่ปัจจุบัน) ไว้หนวดคล้ายๆกัน และรวมถึงความเผด็จการ บ้าอำนาจ ชอบใช้พละกำลังกดขี่ข่มเหงผู้อื่น

ส่วนรูปภาพวาดขวามือ พบเห็นทหารสองฝ่ายกำลังต่อสู้และล้มตาย นัยยะถึงความรุนแรง ชอบใช้พละกำลังในการแก้ปัญหา ซึ่งล้อกับเมื่อตอน Rahim ได้ยินข่าวลือถึง Hekmati เกี้ยวพาราสีคู่หมั้น Atefeh ถึงขนาดเดินทางไปโรงเรียน แล้วหาเรื่องชกต่อยอีกฝ่ายจนเลือดตกยางออก

นี่เป็นช็อตรำลึกอดีตเล็กๆของเพื่อนครูที่ Hekmati ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับข่าวซุบซิบนินทา บอกว่าตนเองเป็นคนรักครอบครัว มีบุตรถึงแปดคน แต่เห็นสภาพนี้ไม่ควรเรียก ‘บุรุษคือช้างเท้าหน้า’ ต้องบอกว่า ‘บุรุษคือช้าง’ ผู้คอยแบกรับภาระทุกสิ่งอย่าง … นี่สะท้อนวิถีทางสังคมของชาวอิหร่านได้อย่างชัดเจน

มันจะมีสองกิจกรรมที่เด็กๆเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่แอบเคลือบแฝงนัยยะอันน่าสนใจ

  • เด็กๆกำลังเล่นยิงเป้า ทิ่งแทงรูปภาพนางแบบเปลือย
    • มองอย่างผิวเผินดูเหมือนอคติ แสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งสะท้อนความยึดถือมั่นต่อขนบประเพณี ศีลธรรมอันดีงามของชาวอิหร่าน (ผู้หญิงสมควรต้องสวมฮิญาบ ไม่ใช่ถ่ายแบบโป๊เปลือยแบบนี้)
    • ขณะเดียวกันลูกดอกก็เหมือนอสุจิ พุ่งเข้าหา … ไปจินตนาการต่อเอาเองนะครับ
  • เด็กๆกำลังก่ออิฐให้เป็นเหมือนป้อมปราการ นี่สามารถสื่อความถึงการก่อร่างสร้างประเทศอิหร่าน แต่ภายหลังมันถูกทำลายลงโดยน้องชายของ Atefeh หลังจากถูกผองเพื่อนรุมกระทำร้าย ไม่พึงพอใจที่พี่สาวถูกตำหนิต่อว่า ซุบซิบนินทา เป็นการแสดงออกว่ายินยอมรับสภาพสังคมลักษณะนี้ไม่ได้อีกต่อไป!

จริงๆแล้วสิ่งที่เป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เสียงซุบซิบนินทา ถ้ามันไม่จริงเราก็ไม่ควรไปแสดงความเดือดร้อนอะไร หาหลักฐาน ท้าพิสูจน์อะไรใคร แต่มนุษย์ที่ไม่รู้จักปล่อยวาง ต้องการการยินยอมรับจากผู้อื่นอย่าง Hekmati เลยประกาศกร้าวว่าจะพูดบอกต่อหน้า Atefeh

ทั้งๆอุตส่าห์ซักซ้อมเตรียมการมาเป็นอย่างดี (ตัดสลับกับการย่ำเท้า แสดงถึงความลุกรี้ ร้อนรนของ Atefeh) แต่สุดท้ายเมื่อถึงช่วงเวลาเผชิญหน้า Hekmati กลับไม่กล้าพูดบอกสิ่งขัดย้อนแย้งความต้องการหัวใจ จู่ๆสารภาพรักออกมา ซะงั้น! พบเห็นโดยเด็กๆ แอบซุกซ่อน ปีนป่ายบนต้นไม้ … นี่ยิ่งกว่าสำนวน “หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง” เพราะแม้แต่ต้นไม้ยังเต็มไปด้วยเด็กๆตั้งใจเสือกเรื่องชาวบ้าน

Downpour

หลังจากพบเห็น Mr. Hekmati ถูกชกต่อยจนเลือดตกยางออก แต่ก็ยังอุตส่าห์พยายามเข้าห้องสอนหนังสือ ทำให้เด็กๆทุกคนปิดปาก เงียบสนิท หยุดการซุบซิบนินทา ขนาดว่ารูปล้อเลียนบนกระดานก็ถูกลบออก นี่คือวินาทีที่พวกเขารับรู้สึกสาสำนึก ตระหนักว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด ต่อจากนี้จะไม่ครุ่นคิดทำอะไรแบบนั้นอีกแล้ว … หวังว่าผู้ชมจะได้รับบทเรียนเช่นเดียวกับเด็กๆ ละเลิกเสียเถิดนะครับการซุบซิบนินทาเรื่องไร้สาระ

หอประชุมในสภาพทิ้งร้าง โต๊ะ-เก้าอี้วางเรียงราย เอกสารกระจัดกระจาย เต็มไปด้วยคราบสกปรก รกรุงรัง ช่างไม่แตกต่างจากอิหร่านยุคสมัยนั้น ถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีใครใส่ใจเหลียวดูแล รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าชาห์ก็สนแต่สิ่งสร้างผลประโยชน์ส่วนตน

จนกระทั่ง Hekmati อาสาเป็นผู้เสียสละ ทำการปัดกวาดเช็ดถู ซ่อมแซมทาสี ทำความสะอาดหอประชุมแห่งนี้จนมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่อม สื่อนัยยะการเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มต้นที่ตัวบุคคล ถ้าเรามีความมุ่งมั่นครุ่นคิดอยากทำอะไร เต็มไปด้วยมุมานะ อุตสาหะ เมื่อแล้วเสร็จย่อมได้รับการยินยอมรับ นับหน้าถือตาจากผู้คนในสังคม … จะตีความเหมารวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเลยก็ยังได้ ถ้าประชาชนลุกฮือขึ้นมา ย่อมสามารถนำพาประเทศชาติให้ถือกำเนิดขึ้นใหม่

เด็กๆกำลังแอบลอกข้อสอบกันอย่างเมามัน เพราะครู Hekmati มัวแต่จับจ้องมอง/นำเสนอเคียงคู่ขนานภาพของ Rahim พยายามเกี้ยวพาราสี Atefeh (นี่เป็นการสะท้อนมุมมองของ Hekmati ครุ่นคิดว่า Rahim กำลังใช้กลโกงบางอย่างลวงล่อหลอก Atefeh)

แต่สังเกตสถานที่พื้นหลังที่ Atefeh และ Rahim เดินพานผ่าน พบเศษลังไม้ อาคารร้าง (ที่มีเศษกระจกแตกหัก) ล้วนเป็นการสะท้อนความรู้สึกอันเปราะบางของหญิงสาวต่อชายคนนี้ ที่ยังคงโล้เล้ลังเลเพราะมิอาจครุ่นคิดตัดสินใจ จะยินยอมเสียสละตนเองเพื่อครอบครัว (ถ้าเลือก Rahim) หรือแสดงความเห็นแก่ตัว กระทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ (ถ้าเลือก Hekmati)

Hekmati มีเหตุให้เดินสวนทางกับ Atefeh อยู่บ่อยครั้ง! แถมเส้นทางก็มีความคับแคบลงด้วย โดยเฉพาะครั้งหลังที่ทั้งสองด้วยความอยากรู้อยากเห็น ต่างเดินตามเส้นสีที่เด็กๆแอบขีดเอาไว้ ให้ความรู้สึกเหมือนด้ายแดง เชื่อมโยงพวกเขาให้มาพบเจอ พูดคุย เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน

Hekmati ได้รับคำชักชวนจากครูใหญ่ให้มารับประทานอาหารเย็นที่บ้าน แต่เหตุผลแท้จริงคือให้มาดูตัวบุตรสาว วางแผนจะหมั้นหมายแต่งงาน ถึงอย่างนั้นพอเดินทางมาถึงพบเห็นภาพในโทรทัศน์ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ เสียงปืนกล น่าจะนำเสนอข่าวสงครามอะไรสักอย่าง … จะว่าไปล้อกับตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ที่ทั้งครูใหญ่และภรรยา ต่างพูดพร่ำราวกับเสียงกระสุนปืน ดังยิ่งกว่าห่าฝนตก ล้วนเต็มไปด้วยคำยนยอปอปั้น พยายามครอบงำ ชี้นำ บีบบังคับให้เขากระทำตามที่ฉันสั่ง

แต่เมื่อ Hekmati อยู่สองต่อสองกับหญิงสาว เขากลับแสดงท่าทีเหนื่อยหน่าย เมื่อฝ่ายหญิงเดินไปปรับจูนโทรทัศน์ แล้วพูดพร่ำอะไรก็ไม่รู้ แถมไม่ยอมหันมาสบตา ไร้ซึ่งสัญญาณสื่อสาร/ความเป็นตัวของตนเอง ทำให้เขาตัดสินใจหนีกลับโดยไม่ร่ำลาใคร สร้างความไม่พึงพอใจต่อครูใหญ่อย่างรุนแรง (ถือเป็นหนึ่งในชนวนเหตุถูกสั่งย้าย)

แม้ว่า Downpour (1972) จะไม่ใช่หนังเพลงแบบเดียวกับ Singin’ in the Rain (1952) หรือ Shree 420 (1955) แต่ผมรู้สึกว่าบรรยากาศของทั้งซีเควนซ์ Hekmati ได้อยู่สองต่อสอง พูดคุย สานสัมพันธ์ เรียนรู้จักกับ Atefeh ช่างเป็นช่วงเวลาสุดมหัศจรรย์ แม้ฝนจะตกแต่กลับเบิกบานหฤทัย

แซว: บทเพลง Singin’ in the Rain จบลงด้วยการเข้ามาขัดจังหวะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ, Downpour (1972) ก็มีฉากทิ้งท้ายค่ำคืนนี้คล้ายๆกัน

Money is the root of evil.
And earthly love leads to destruction.
God, save us from the devil’s temptation.

เท่าที่ผมลองค้นหาข้อมูล ทั้งสามประโยคนี้มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่ชาวอิหร่านนับถืออิสลาม เลยเชื่อว่าน่าจะมีในอัลกุรอาน ซึ่งสะท้อนเข้ากับเรื่องราวของหนัง

  • เงินทอง (ก่อให้เกิดความคอรัปชั่น ทะนงตน หลงตัวเอง)
  • ความรัก (ก่อเกิดความขัดแย้ง แก่งแย่งชิง ต้องการได้เธอมาครอบครองเป็นเจ้าของ)

ชายสวมแว่นคนนี้คือใครกัน จู่ๆก็ปรากฏตัว แทรกขึ้นมาระหว่างทุกคนกำลังยืนปรบมือให้กับ Hekmati? มีการตีความกันว่านี่คืออาจคือตัวแทนของตำรวจลับ SAVAK (Intelligence and Security Organization of the Country) เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงสายตาอันลึกลับที่คอยจับจ้องชาวอิหร่านอยู่ตลอดเวลา ใครมีพฤติกรรมผิดแผก แปลกแยก ขัดแย้งต่อกฎหมายบ้านเมือง ศีลธรรมอันดีงามของสังคม หรือส่งเสริมคณะปฏิวัติ จักถูกควบคุมตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว ติดคุกฟรี

symbolic of the observing and controlling looks of SAVAK’s secret agents in society.

Hamid Naficy นักวิจารณ์จาก Criterion

ซึ่งชายคนนี้ยังกลายเป็นคนลากเทียมเกวียน (แทนที่ชายสูงวัยตอนต้นเรื่อง) ก็ไม่รู้ลากพา Hekmati สู่แห่งหนไหน? แต่นำพาประเทศชาติมุ่งสู่หายนะอย่างแน่นอน

สุราทำให้ Hekmati สามารถหวนกลับมาคืนดี Rahim แต่เมื่อพวกเขามึนเมามาย ฝั่งหนึ่งหยิบมีดอีโต้ขึ้นมาไล่ฟัน อีกฝ่ายหยิบขึ้นมาทิ่มแทง แล้วยังพบเห็นทุบอะไรสักสิ่งอย่าง

ซีเควนซ์นี้ทำออกมาให้ดูเหมือนพวกเขากำลังเล่นละคอน (เพราะมีผู้ชมนั่งบนรถเข็นด้วยนะ) แต่ก็แฝงนัยยะถึงเผด็จการที่มึนเมาในอำนาจ ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด ทุบทำลายสิ่งของไร้ค่า พร้อมกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง

หลังจากถูกใบสั่งย้าย Hekmati ออกทัวร์รอบโรงเรียนครั้งสุดท้าย พูดคุยกับเพื่อนครูคนสนิท แม้เขาพยายามให้กำลังใจ อย่างน้อยได้สรรค์สร้างอะไรบางอย่างเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ (ชวนให้นึกถึง Ikiru (1950) อยู่เล็กๆ) แต่ได้รับคำตอบกลับที่โคตรทิ่มแทงใจดำ

How long you think this hall will last?

Hekmati

เมื่อตอนกลางเรื่องที่ Hekmati ท้าชกต่อ Rahim แล้วถูกหมัดสวนกลับ สลบคาที่ ถูกนำขึ้นเกวียน สภาพไม่ต่างจากคนตาย แต่เรื่องราวหลังจากนั้นคือการถือกำเนิด เกิดใหม่ (ของ Hekmati), ส่วนตอนจบของหนังแม้ว่า Hekmait ไม่ได้ถูกใครน็อคร่วง แต่ระหว่างการลากเทียมเกวียนแล้วมีคนเดินติดตามข้างหลัง นี่ไม่ต่างจากพิธีศพของนิกาย Shia Islam (เปลี่ยนจากสัมภาระเป็นโลงศพก็ใช่เลย)

นั่นแปลว่าการถูกขับไล่ เดินทางออกไปจากสถานที่แห่งนี้ ราวกับเป็นการไว้อาลัยให้กับจุดจบของ Hekmati จุดจบของหนัง และรวมถึงจุดจบของอิหร่านที่กำลังจะมาถึง เต็มไปด้วยคราบน้ำตาที่ ‘Downpour’ ทะลักออกมาราวกับห่าฝน

ช็อตสุดท้ายของหนังเมื่อทั้งเทียมเกวียนและ Hekmati ค่อยๆเลือนลางจางหายไป (สื่อถึง “คนดีไม่มีที่อยู่” บุคคลผู้ทำประโยชน์ให้สาธารณะกำลังหมดสูญสิ้น) จากนั้นจู่ๆได้เสียงระเบิด นัยยะถึงการทำลายล้าง ซึ่งหมายถึงหายนะ จุดจบของตัวละคร ของภาพยนตร์ และรวมถึงคำพยากรณ์อนาคตของอิหร่าน

นักวิจารณ์หลายคนคาดการณ์ปลายทางของ Hekmati ว่าอาจถูกจองจำ ไม่ก็ถึงแก่ความตาย เพราะบุคคลที่ลากเทียมเกวียน นำทางเขาไปคือตัวแทนของตำรวจลับ SAVAK ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ

ตัดต่อโดย Mehdi Rajaian,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Mr. Hekmati ตั้งแต่ขนย้ายข้าวของ เดินทางมาปักหลักอาศัยอยู่ทางตอนใต้กรุง Tehran เพื่อเป็นครูสอนหนังสือโรงเรียนประถม จากคนป้ำๆเป๋อๆ โดนซุบซิบนินทา ถูกชกต่อยตาบวม กลายเป็นบุคคลได้รับความนับหน้าถือตา ทั้งเด็กๆ เพื่อนครู รวมถึงชาวบ้านชาวช่อง แต่เพราะทำสิ่งสร้างศัตรูกับผู้มีอำนาจ สุดท้ายต้องออกเดินทางกลับอย่างระทมขมขื่น

  • การเดินทางมาถึงของ Mr. Hekmati
    • เรื่องวุ่นๆขณะขนย้ายของเข้าสู่ห้องพัก
    • คาบเรียนแรกที่เด็กๆแทบไม่มีความสนใจ Mr. Hakmati
  • ความเข้าใจผิดเล็กๆ ก่อให้เกิดเสียงซุบซิบนินทาที่เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย
    • Atefeh เข้าใจผิดครุ่นคิดว่า Mr. Hekmati คือครูใหญ่ จึงระบายความไม่พึงพอใจที่น้องชายถูกไล่กลับบ้านเพราะไม่ตั้งใจเรียน
    • เด็กๆเมื่อแอบพบเห็น Atefeh อยู่สองต่อสองกับ Mr. Hekmati เลยสร้างเรื่องซุบซิบนินทา
    • ความไปถึงหูบรรดาเพื่อนครู Mr. Hekmati เลยต้องการเผชิญหน้ากับ Atefeh เพื่อบอกปัดความรู้สึก แต่กลับกลายเป็นการสารภาพรัก
    • และพอเรื่องราวไปถึงหูคู่หมั้น Rahim บุกมาถึงโรงเรียน ชกต่อยทำร้ายร่างกาย Mr. Hekmati
  • การพิสูจน์ตนเองของ Mr. Hakmati
    • ครูใหญ่อยากปรับปรุงหอประชุม แต่ไม่มีงบประมาณ Mr. Hekmati เลยขันอาสา ลงมือลงแรง ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง
    • ในค่ำคืนฝนพรำ Mr. Hekmati มีโอกาสพา Atefeh ไปส่งที่ห้องพัก
    • เมื่อหอประชุมได้รับการปรับปรุงเสร็จสรรพ พิธีเปิดพบเห็นเด็กๆทำการแสดง และ Mr. Hekmati ได้รับการยินยอมรับจากผู้คน
  • การร่ำจากลาของ Mr. Hakmati
    • แม้แต่ Rahim ยังแสดงความยินยอมรับ ให้อภัยในความขัดแย้งกับ Mr. Hakmati
    • แต่สุดท้าย Mr. Hakmati กลับถูกสั่งย้ายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เลยรีบเก็บข้าวขนของ ออกเดินทาง หายลับไป

ลีลาการตัดต่อหนังมีความโคตรๆจัดจ้าน เต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา Fast-Cutting, Jump Cut, Montage ฯลฯ ที่สามารถสร้างจังหวะ ความตื่นเต้น เสียงหัวเราะ ไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่ายเลยสักวินาที ซึ่งถ้าใครอ่านภาษาภาพยนตร์เหล่านี้ออก จักพบความลุ่มลึกล้ำ เกิดความประทับใจยิ่งๆขึ้นอีกระดับ


เพลงประกอบโดย Sheida Gharachedaghi, شیدا قرچه‌داغی คีตกวีชาว Iranian เกิดที่ Tehran แล้วมาร่ำเรียนดนตรียัง Vienna Music Academy แล้วกลับมาก่อตั้งแผนกดนตรี Institute for the Intellectual Development of Children and Young Adults มีผลงานออร์เคสตรา โอเปร่า ส่วนใหญ่เป็นเพลงสำหรับเด็ก และประกอบภาพยนตร์ อาทิ Downpour (1972), The Chess Game of the Wind (1976) ฯลฯ

แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ แต่ Gharachedaghi สร้างชื่อให้ตนเองด้วยการประพันธ์บทเพลงสำหรับเด็ก (Music for Children) ซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครื้นเครง อลเวง นั่นน่าจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Bayzai เพราะแนวหนังคือโรแมนติก ดราม่า คอมเมอดี้ สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

สำหรับเพลงประกอบ Downpour (1972) เท่าที่ผมสังเกตไม่ได้มีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Persian แต่เป็นวงดนตรีออร์เคสตรา ซึ่งสร้างความแปลกแยกแบบเดียวกับตัวละคร Hekmati ส่วนท่วงทำนองจะสอดคล้องภาษาภาพยนตร์ เน้นความสนุกสนาน บางครั้งโรแมนติก แต่ตอนเศร้าๆจะแค่เพลาๆ เพียงสัมผัสของ Impressionist (กลิ่นอายคล้ายบทเพลงในหนังยุคคลาสสิก) ไม่บีบเค้นคั้นทางอารมณ์สักเท่าไหร่


มองผิวเผิน Downpour (1972) นำเสนอเรื่องราวรักๆใคร่ๆ โรแมนติก คอมเมอดี้ ของชายผู้ไม่เอาอ่าว เคยถูกตั้งข้อคร ตำหนิต่อว่า ซุบซิบนินทา ไม่ได้รับการยินยอมรับจากสังคม แล้ววันหนึ่งเกิดความต้องการพิสูจน์ตนเอง ลุกขึ้นมาฝึกฝนร่างกายให้เข้มแข็งแกร่ง ทั้งยังยินยอมเสียสละเวลาส่วนตัว กระทำสิ่งสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนอะไรใดๆ ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ขอแค่ทำในสิ่งที่ตนเชื่อมั่น ไม่ย่นย่อท้อแท้ต่ออุปสรรคขวากนาม แล้วสักวันหนึ่งทุกคนย่อมมองเห็นคุณค่าในตัวเรา

แต่เนื้อหาสาระแท้จริงของหนังนั้น ต้องการสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมที่ตัวละคร Hekmati ต้องประสบพบเจอ

  • เด็กๆเอาแต่เล่นสนุกสนาน ไม่มีใครใคร่อยากร่ำเรียนหนังสือ ชอบสร้างเรื่อง สร้างปัญหาไม่เว้นวัน
  • ครูในโรงเรียนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว คอรัปชั่น สนเพียงสร้างภาพให้ดูดี แลเห็นผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง (โดยเฉพาะครูใหญ่ ไม่ยินยอมให้ใครมาขัดขวาง)
  • ผู้คนในสังคมก็ยึดถือมั่นในขนบประเพณี ศรัทธาศาสนา รับไม่ได้กับเสียงซุบซิบนินทา ใครมีเงินทองก็มักได้รับความนับหน้าถือตา

เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้กำกับ Bayzai ต้องการสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมของอิหร่านยุคสมัยนั้น แม้ด้วยการสร้างเสียงหัวเราะ ตลกขบขัน แต่ก็ดูเหมือนพยายามแดกดัน กระแทกกระทั้น เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดสามัญสำนึก เมื่อไหร่จะเลิกเห็นแก่ตัว ครุ่นคิดถึงหัวอกผู้อื่น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นต่างหากคือสังคม(ในอุดมคติ)ที่น่าอยู่ ไม่ใช่สนแต่พวกพ้อง แล้วกีดกันขับไล่คนดีออกไป

สังคมที่คนดีไม่มีที่อยู่ ถูกกล่าวหา ติฉินนินทา ทั้งยังโดนขับไล่ผลักไสส่ง สุดท้ายแล้วก็คงหลงเหลือแต่พวกเห็นแก่ตัว ครุ่นคิดแต่จะคดโกงกิน เพียงสร้างภาพให้ดูดี กระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน เช่นนั้นแล้วชุมชน ประเทศชาติ อนาคตจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร

สำหรับเรื่องราวรักๆใคร่ๆ สามเส้า ก็เพื่อสร้างตัวเลือกแก่ผู้ชมว่าจะเอา Mr. Hekmati คนดีไม่มีที่อยู่ หรือ Rahim พ่อค้าที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น หนังไม่ได้ให้คำตอบว่าสุดท้ายแล้ว Atefeh เลือกใคร? ก็เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ชมครุ่นคิดตัดสินใจ เลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนเราเอง

ตอนจบของหนังหลังจาก Hekmati สูญหายตัวไป ถ้าตั้งใจฟังจะได้ยินเสียงระเบิดดังแว่วมา นั่นคือการพยากรณ์อนาคตที่ทุกสิ่งอย่างคงถึงคราวล่มสลาย อิหร่านภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าชาห์อีกไม่นานก็คงพังทลาย! เหมือนห่าฝนที่ตกลงมาอย่างหนักย่อมสร้างหายนะให้บังเกิดขึ้น


Downpour (1972) ถือเป็นภาพยนตร์ Indy (มาจากคำว่า Independent) สัญชาติอิหร่านเรื่องแรกๆ เพราะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสตูดิโอ หรือหน่วยงานรัฐ แต่เป็นการระดมทุน กู้ยืม ขอจากเพื่อนฝูง ใครก็ตามยินดีให้ความช่วยเหลือ ค่าจ้างนักแสดงยังไม่มี

The day that we lost all hopes [of assistance from others] and we decided to make the film ourselves [. . .] we realized that we had become very powerful,

Bahram Beyzai

ผลลัพท์เมื่อเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Tehran International Film Festival แม้สามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize แต่กลับขาดทุนย่อยยับเยิน จนโปรดิวเซอร์ Barbod Taheri ถูกจับติดคุกเพราะไม่เงินจ่ายคืนหนี้สินที่ไปกู้ยืม

การมาถึงของ Iranian Cultural Revolution (1980-83) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทำลายล้างวัฒนธรรมจากตะวันตก กำจัดสิ่งที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม ทำให้หลายๆผลงานของผกก. Beyzai เลยถูกทอดทิ้ง เผาทำลาย (เพราะถือว่ารับอิทธิพลจากตะวันตก) ฟีล์มหนังเรื่องนี้จึงหลงเหลือเพียงฉบับส่งออกฉายต่างประเทศ

การบูรณะของหนังได้รับการสนับสนุนจาก The Film Foundation ของผู้กำกับ Martin Scorsese เห็นว่าต้องใช้เวลาถึงสองปีเต็มเพราะคุณภาพฟีล์มย่ำแย่มากๆ เต็มไปด้วยริ้วรอย ขีดข่วน (แถมซับตอกก็ลบไม่ได้) แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2013 คุณภาพ 2K สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

I’m very proud that the World Cinema Foundation has restored this wise and beautiful film, the first feature from its director Bahram Bayzaie. The tone puts me in mind of what I love best in the Italian neorealist pictures, and the story has the beauty of an ancient fable – you can feel Bayzaie’s background in Persian literature, theater and poetry. Bayzaie never received the support he deserved from the government of his home country – he now lives in California – and it’s painful to think that this extraordinary film, once so popular in Iran, was on the verge of disappearing forever. The original negative has been either impounded or destroyed by the Iranian government, and all that remained was one 35mm print with English subtitles burned in. Now, audiences all over the world will be able to see this remarkable picture.

คำโปรยของผู้กำกับ Martin Scorsese

ส่วนตัวเริ่มชื่นชอบหนังตั้งแต่นาทีแรกๆ ประทับใจลูกเล่น ลวดลีลา มีความสนุกสนานและแฝงสาระข้อคิด เกิดความตะหงิดๆว่าอาจเกี่ยวข้องการเมือง พอดูจบถึงค่อยตระหนักถึงวิธีการอันแนบเนียบ บทวิจารณ์ต่างประเทศใช้คำว่า ‘slyly’ รู้สึกว่าเหมาะสมยิ่งนัก

เกร็ด: slyly (adv.) แปลว่า in a cunning and deceitful or manipulative manner.

รับชม Downpour (1972) ทำให้ผมใคร่อยากรับชมภาพยนตร์เรื่องอื่นๆในคอลเลคชั่น World Cinema Project เชื่อมือผกก. Marty ได้เลย! เห็นมีอยู่ 60 กว่าเรื่อง ไว้เมื่อมีโอกาสจะค่อยๆทะยอยเขียนถึงนะครับ

แนะนำคอหนังโรแมนติก ดราม่า คอมเมอดี้, นักคิด นักเขียน นักกวี มีนัยยะให้ขบครุ่นคิดมากมาย, นักศึกษาภาพยนตร์ โดยเฉพาะคนทำงานตัดต่อ เต็มไปด้วยลีลาดำเนินเรื่องที่โคตรๆน่าสนใจ

จัดเรต 13+ กับข่าวลือเสียๆหายๆ ความรุนแรง และคอรัปชั่น

คำโปรย | ห่าฝนที่ตกลงมา Downpour สร้างความชุ่มฉ่ำ และชอกช้ำ
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: