Dragon Inn

Dragon Inn (1967) Taiwanese : King Hu ♥♥♥♥♡

(24/6/2017) โรงเตี๊ยมหลงเหมิน (ประตูมังกร) ตั้งอยู่ ณ ดินแดนอันว่างเปล่าห่างไกลปืนเที่ยง ริมสุดชายแดนประเทศจีน แต่ช่วงวันสองวันนี้กลับเป็นสถานที่พบปะโดยบังเอิญของเหล่าผู้คนและจอมยุทธ์ มันกำลังจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นหรือเปล่า? นี่คือภาพยนตร์คลาสสิกระดับตำนานของประเทศจีน ที่สอดไส้แนวคิด ปรัชญา และการเมือง ได้อย่างลึกล้ำสวยงาม

กับหนังเรื่องล่าสุดที่ผมเห็นพล็อตคล้ายๆกันนี้คือ The Hateful Eight (2015) ผลงานลำดับที่ 8 ของ Quentin Tarantino แต่ถ้าไล่ย้อนเวลากลับไปเรื่อยๆ ไกลสุดที่พออ้างอิงได้คือ Stagecoach (1939) ของผู้กำกับ John Ford, เรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง จัดพลัดจับพลูอยู่ร่วมกันในสถานที่แห่งหนึ่ง ได้ผจญพบเจอกับความวุ่นวายต่างๆ โดยเรื่องราวลักษณะนี้มักมีนัยยะเป็นการจำลองสถานการณ์ในระดับจุลภาค สะท้อนเรื่องราวระดับมหภาคได้อย่างลงตัว

Dragon Inn หรือ Dragon Gate Inn เป็นหนังจีนสัญชาติไต้หวันที่ผมดูมาก็หลายรอบแล้ว ตกหลุมรักหลงใหลในความบันเทิงคลาสสิก แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในใจมานานแล้ว ‘ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา?’

คำตอบนั้นแสนง่าย ก็คล้ายๆกับ Stagecoach (1939), Citizen Kane (1941), Psycho (1960) ฯ คือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆของแนวนั้นๆ ที่ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และรายรับ จนกลายเป็นแม่พิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งกับ Dragon Inn คือแนวหนัง Wuxia, Wu = การต่อสู้, Xia = ผู้กล้า รวมความหมายอาจเรียกว่า ‘จอมยุทธ์’ คงไม่ผิดกระไร

เกร็ด: รู้สึกว่าภาษาไทย จอมยุทธ หรือ จอมยุทธ์ สามารถใช้แทนได้เหมือนกัน

แต่การที่หนังมีเพียงอิทธิพลจุดเริ่มต้นยุคสมัยเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาได้ ซึ่งสิ่งที่ผมค้นพบในการรับชมครั้งนี้มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งก็ได้แอบให้คำใบ้ไปแล้ว, สถานการณ์ความชุนมุนวุ่นวายเล็กๆที่เกิดขึ้น สามารถสะท้อนเปรียบเทียบกับเรื่องราวระดับใหญ่โตมโหฬารได้ แต่มันจะคืออะไรต้องตามอ่านกันต่อ

King Hu, หูจินเฉวียน (1932 – 1997) ผู้กำกับ/เขียนบท/นักแสดงสัญชาติจีน ได้รับสมญานามว่า ‘บิดาแห่งภาพยนตร์จีนกำลังภายในยุคใหม่’, เกิดที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน ตอนเด็กๆมีความชื่นชอบหลงใหลในงิ้ว (Beijing Opera) โดยเฉพาะเรื่องที่มี Martial Arts ผสมอยู่ด้วย อาทิ ไซอิ๋ว ฯ ย้ายมาอยู่ฮ่องกงตอนอายุ 18 เริ่มทำงานเป็นนักวาดภาพออกแบบโฆษณา จัดพลัดพลูได้เป็นนักแสดงหนังเรื่องแรก Humiliation (1954) เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers ในฐานะนักแสดง นักเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่อง The Love Eterne (1963), The Story of Sue San (1964) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Sons of the Good Earth (1965) และผลงานลำดับที่สองเป็นแนว Wuxia เรื่องแรก Come Drink with Me (1966)

สไตล์การกำกับของ King Hu รับอิทธิพลมาจากความหลงใหลในงิ้วปักกิ่ง ทำการปรับประยุกต์วิธีการให้กลายเป็นภาพยนตร์ มี 2-3 อย่างที่สามารถสังเกตได้ อาทิ
– นักแสดงจะลีลาวาทะที่คมคาย การเคลื่อนไหวที่พร้อมเพียงเป็นจังหวะ
– เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แม้จะแต่หน้าไม่เข้มเท่าแต่มีความสมจริง เรียกว่า Costume Period
– เพลงประกอบ ใครเคยฟังงิ้วก็จะรับรู้ได้ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนล้วนๆ
ฯลฯ

นอกจากนี้ King Hu ยังมีความสนใจใน ปรัชญา(ขงจื้อ), ธรรมชาติ(Zen), ศาสนา(พุทธ) และการเมืองของประเทศจีน ฯ ได้ทำการผสมคลุกเคล้าเข้าไป ทำให้หนังมีความลึกซึ้ง ลึกล้ำ และอยู่เหนือกาลเวลา

แต่หลังจาก King Hu สร้าง Come Drink with Me (1966) เสร็จแล้ว ตัดสินใจทิ้ง Shaw Brothers ออกจากฮ่องกงสู่ไต้หวัน ร่วมกับ Sha Rongfeng ก่อตั้งสตูดิโอ Union Film Company โดยมี Dragon Inn เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก

เรื่องราวมีพื้นหลังสมัยราชวงศ์หมิง ปี 1457 เมื่อขันทีเอก Cao Shao-chin ได้อำนาจควบคุมบริหารงานของราชสำนัก ใส่ร้ายป้ายสีขุนนางตงฉินฝ่ายกลาโหม Yu Qian ว่าคบค้าต่างชาติคิดคดทรยศต่อแผ่นดินทำให้ได้รับโทษประหารชีวิต ส่วนลูกหลานถูกเนรเทศออกจากประเทศ, แต่ด้วยความหวาดหวั่นเกรงตราบใดที่ทายาทของนายพล Yu ยังมีชีวิตอยู่อาจเป็นภัยคุกคามในภายภาคหน้า Cao จึงได้สั่งให้ Pi Hsiao-tang และ Mao Tsung-hsien นำกำลังพรรคพวกปลอมตัวเข้าไปดักรอลอบสังหารที่โรงเตี๊ยมหลงเหมิน สถานที่สุดท้ายก่อนข้ามพ้นเขตชายแดน

ขณะเดียวกันนักดาบพเนจร Xiao Shaozi และสองพี่น้อง Zhu ได้เดินทางผ่านมาโรงเตี๊ยมหลงเหมินพอดี ร่วมกับเจ้าของโรงเตี๊ยม Wu Ning ทั้ง 4 ตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือทายาทของนายพล Yu และต่อสู้จัดการกับขันที Cao เพื่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นขึ้นกับประเทศจีน

Chun Shih, ชุนชิห์ (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese ที่เพิ่งเซ็นสัญญากับ Union Film Company เมื่อปี 1965 ได้รับบทนำครั้งแรกกับหนังเรื่องนี้ ทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงกับหนังแนว Wuxia มีผลงานร่วมกับ King Hu อีกหลายเรื่อง อาทิ A Touch of Zen (1971), Raining in the Mountain (1979), Legend of the Mountain (1979) ฯ ภาพลักษณ์ของ Chun Shih มีลักษณะคล้าย Hua Yueh ที่เป็นตัวร้ายรองของ Coma Drink with Me (1966) แต่มีความสงบสุขุม เยือกเย็น เป็นเหตุผลเป็นผลกว่า นี่เลยทำให้เขากลายเป็นพระเอกที่มีความโคตรเท่ห์ ลึกล้ำ น่าหลงใหล ใครๆเห็นย่อมรู้ว่า ‘คมในฝัก’

รับบทนักดาบพเนจร Xiao Shaozi เรื่องฝีมือน่าจะเป็นรองเพียงขันที Cao ส่วนปฏิภาณไหวพริบนั้นรวดเร็วว่องไว ช่างสังเกต มีความรอบคอบรัดกุม ยึดถือคำมั่นซื่อสัตย์ ถือเป็นลักษณะของผู้นำที่ดี

ฉากปรากฎตัว เดินข้ามสะพาน ผ่านสายน้ำไหล พกร่มที่ซ่อนดาบ มีนัยยะแทนด้วย
– สายน้ำลำธารมักเป็นตัวแทนของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไหวไหลตลอดเวลา
– ร่มไว้กันเปียกฝน (สายน้ำที่ไหลลงจากท้องฟ้า) คือการปกป้อง/ปกปิด ตัวตนแท้จริงของตนเอง
– ดาบซ่อนในร่ม ดังสำนวนคมในฝัก บุคคลผู้เฉลียวฉลาดมักไม่เปิดเผยตัวเองเฉพาะยามคับขัน และรู้จักเลือกเข้าข้างฝ่ายที่ถูกได้เสมอ

Lingfeng Shangguan (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติ Taiwanese เพราะ King Hu ต้องการนักแสดงหญิงที่มีบุคลิกแตกต่างไปจาก Cheng Pei-pei (จริงๆคือของตัว Cheng Pei-pei จาก Shaw Brothers ไม่ได้มากกว่า) จึงทำการค้นหาคัดเลือกนักแสดงจนมาเข้าตา Shangguan ซึ่งหลังจากเธอเซ็นสัญญากับ United Film Company ได้เรียนศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ จนมีเชี่ยวชาญ ได้สายดำเทควันโด้ คาราเต้ อีกทั้งยังเชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ของจีนด้วย, หลังจากที่หนังเรื่องแรกของเธอนี้ออกฉาย สถานะของเธอก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นดาวดารา จอมยุทธ์หญิงที่ใครๆก็กล่าวถึง ผลงานอื่นๆ อาทิ The Swordsman of All Swordsmen (1968), The Brave and the Evil (1971), Back Alley Princess (1973) ฯ

การแต่งตัวเป็นชายไม่ได้แปลว่าจะเป็นต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ผู้ชมสมัยนี้น่าจะดูออกโดยทันทีว่าตัวละครนี้เป็นผู้หญิง แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนจีนสมัยก่อนถึงแยกกันไม่ออก, พี่สาว Zhu เป็นนักดาบยอดฝีมือ มีความว่องไว ทัดเทียมเท่ากับผู้ชาย แถมปฏิภาณไหวพริบก็เป็นเลิศ พึ่งพาได้ในทุกสถานการณ์

Hsieh Han รับบทพี่ชาย Zhu เป็นคนเลือดร้อน บ้าพลัง ปากไวใจไว้ ฝีมือปานกลาง ความเฉลียวฉลาดก็แสนต่ำ เหมือนจะพึ่งพาอะไรไม่ได้เท่าไหร่ แต่มีความซื่อตรง จริงใจเป็นที่สุด

การปรากฎตัวของสองพี่น้อง Zhu เปิดตัวด้วยการเดินเลียบภูเขาหินแกร่ง แล้วถูกพบเจอลอบยิงธนูทำร้าย แต่สามารถปกป้องกันภัยตัวเอง, พวกเขาตัดสินใจไม่เร่งรีบที่จะตามติดผู้มาร้ายทั้งสอง แต่เพราะฝนกำลังตก ไม่ว่ายังไงจึงต้องพักโรงเตี๊ยมแห่งนี้ให้จงได้

มันมีขณะพี่สาว Zhu เล่นหูเล่นตากับ Xiao Shaozi แสดงความเป็นห่วงเป็นใย แต่นี่ไม่ได้แปลว่าเธอแอบชอบเขาหรือยังไงนะครับ, หนังของ King Hu จงใจให้ผู้หญิงแต่งตัวเป็นชายเพื่อแฝงแนวคิดปรัชญาของ Zen ที่บอกประมาณว่า เพศสภาพไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกตัวตน (คือเพศชายกับหญิงเท่าเทียมกัน) ดังนั้นการเล่นหูเล่นตาของทั้งคู่จึงเป็นในฐานะสหาย ‘Comrade’ มากกว่ามีอารมณ์ใคร่เสน่ห์หาแฝงอยู่

Cho Kin รับบทเจ้าของโรงเตี๊ยม Wu Ning แม้ไม่ได้มีวิทยายุทธอะไรติดตัว แต่มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้เป็นเลิศ ไม่ถึงขั้นขงเบ้งแต่สามารถวางแผน นำพาพรรคพวกเอาตัวรอดผ่านได้

เจ้าของโรงเตี๊ยม Wu Ning นักปราชญ์ผู้มีความเฉลียวฉลาด มักอาศัยธรรมชาติเป็นที่หลบซ่อนพรางตัวอยู่ในกอไม้, ฉากเปิดตัวละครนี้ ยืนนิ่งกุมไม้เท้านิ่งมั่นคงไม่ไหวติง (เหมือนว่าชีวิตหยุดนิ่ง มั่นคงแล้ว) สวมชุดเหมือนบัณฑิต ถูกพบตัวโดย Xiao Shaozi กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา

Ying Bai, หยิงบาย (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่ Sichuan เริ่มต้นเป็นนักแสดงกับการเซ็นสัญญา 5 ปีกับ Union Film Company มีผลงานดังอย่าง Black Invitation (1969), The Grand Passion (1970), A Touch of Zen (1971), The Orientation (1980) ฯ ถึงหนังเรื่องนี้จะรับบทเป็นตัวร้าย แต่ใช่ว่า Ying Bai จะไม่เคยเล่นฝ่ายดีนะครับ เป็นนักแสดงที่รับบทได้ทั้งสองฝ่าย แต่มักได้รับบทขันที (พี่แกไม่ได้ถูกตอนหรือเป็นเกย์นะครับ)

Cao Shao-chin ขันทีผมขาว มีความหยิ่งผยองยโสโอหัง หลงใหลยึดติดบ้าอำนาจ ด้วยการดำรงตำแหน่งสูงเกือบที่สุดของประเทศ น่าภาคภูมิใจแต่ชีวิตกลับไร้ซึ่งความสุข (คงเพราะถูกตอนตั้งแต่เด็ก) อาการหน้ามืดตามัวเมื่อถูกแดดแรง อาจมีสาเหตุจากการที่อวัยวะเพศถูกตัด (ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนควบคุม ขาดความสมดุลในร่างกาย) สำหรับความคิดตัดไฟตั้งแต่ต้นลม สะท้อนตัวเองที่ก็ถูกตัดตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถมีทายาท/อารมณ์ทางเพศ สืบสกุลได้

ฉากปรากฎตัว เริ่มต้นจากการนั่งเกี้ยวออกมาจากกำแพงเมืองชั้นใน ขึ้นนั่งบนแท่นประธาน อ่านราชโองการตัดสินประหารชีวิต Yu Qian, ทุกอย่างของช็อตนี้มีการจัดวางตำแหน่งกึ่งกลางได้สวยงามยิ่ง

ฝีมือดาบและกำลังภายในของ Cao Shao-chin ถือได้ว่าเป็นอันดับ 1 (ในหนัง) แต่กลับมีจุดอ่อนที่เกิดจากข้อบกพร่องภายในของตนเอง, ถ้าเปรียบตัวละครนี้ดั่งประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ที่ช่วงทศวรรษนั้นพยายามสร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นอันดับ 1 ผู้นำของโลก แน่นอนว่าภายนอกพวกเขาแข็งแกร่งสามารถเป็นได้ แต่ภายในกลับยังเต็มไปด้วยความอ่อนแอ ขัดแย้ง คอรัปชั่น ถ้าศัตรูโจมตีมุ่งเน้นที่จุดอ่อน ก็อาจพ่ายแพ้คอหลุดจากบ่าได้แน่

ให้สังเกตคนที่สามารถปลิดชีพ Cao Shao-chin ตัดคอพยัคฆ์ บัดซบสุดเลยคือข้าทาสผู้ต่ำต้อย แต่มีความทะเยอทะยานใฝ่สูง (แทนด้วยประชาชนตาดำๆ) ใช้การเสียสละตัวเอง แลกกับความสงบสุขสันติของโลก, ในเกมไพ่สลาฟ ถ้าทาสสามารถล้มฆ่าพระราชา นั่นเป็นความอัปยศเลวร้าย รับไม่ได้อย่างยิ่ง!

การต่อสู้ในหนังเรื่องนี้ ออกแบบโดย Han Yingjie ที่เคยร่วมงานกับ King Hu จาก Come Drink with Me ด้วยความต้องการคือ ‘ฉากต่อสู้มีลักษณะเหมือนการเต้นรำ’, ในสายตาผู้ชมสมัยใหม่ ฉากการต่อสู้ของหนังเรื่องนี้มีความเชื่องช้าอืดอาด น่าง่วงหลับ ไม่ตื่นเต้นเหมือนสมัยนี้ที่ทุกอย่างรวดเร็วสมจริง แต่ลีลาจะมีภาษาจังหวะที่สามารถอ่านออกตีความได้ชัด เช่นว่า ก่อนเริ่มโจมตีจะต้องทำท่าง้างดาบแล้วกระโดดพุ่ง, ตอนตายพอโดนแทงก็จะมียืนค้างแข็ง ก่อนถูกผลักดิ้นสองสามทีแล้วค่อยหมดลม ฯ นี่มันอาจดูตลกขาดความสมจริง แต่ต้องถือว่ามีความคลาสิกมากๆ

ถ่ายภาพโดย Hui-Ying Hua ตากล้องยอดฝีมือในตำนานของประเทศจีน ที่ได้ร่วมงานกับ King Hu อีกเรื่อง A Touch of Zen (1971) ซึ่งสามารถคว้ารางวัล Technical Grand Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

จุดเด่นของปรัชญา Zen คือการเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับธรรมชาติ, ฉากภายนอกทั้งหมดจะต้องมีทัศนียภาพสวยงามกว้างไกล พื้นหลังไวๆเห็นเทือกเขาสูงใหญ่ตั้งตระหง่านคงที่ เป็นมนุษย์ที่มักจะเคลื่อนไหว ขณะที่ธรรมชาติจะหยุดนิ่งไม่ค่อยสั่นคลอน

โรงเตี๊ยมหลงเหมิน ด้านหลังพิงภูเขาสูงใหญ่ รอบข้างรายล้อมด้วยก้อนหินขนาดน้อยใหญ่, มองในมุมมหภาค
– โรงเตี้ยม แทนด้วยประเทศ/พระราชวัง
– ภูเขาด้านหลังคือดินแดนอาณาเขต ธรรมชาติ
– ก้อนหินน้อยใหญ่แทนด้วยประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิ์เสียง เคลื่อนไหวยังทำไม่ได้ แต่รายล้อมไปทั่ว

ผมชอบช็อตหนึ่ง ขณะที่ Pi Hsiao-tang กำลังพูดคุยกับ Xiao Shaozi หัวข้อสนทนาเป็นการโน้มน้าวชักชวนให้อีกฝ่ายเปลี่ยนย้ายฝั่ง แต่อุดมการณ์ของชาติชายเปลี่ยนไม่ได้ กล้องจะถ่ายมุมเงยให้พื้นหลังเห็นเฉพาะท้องฟ้า … (อุดมการณ์มนุษย์)เป็นอะไรที่สูงส่งมาก

สำหรับฉากภายใน ความโดดเด่นคือการจัดวางตำแหน่งและการเคลื่อนกล้อง ที่สอดคล้องรับกับการเคลื่อนไหว การกระทำของตัวละคร ให้ผู้ชมมองเห็น เกิดความรู้สึกเหมือนกำลังรับชมการแสดงงิ้ว

การจัดแสงก็เช่นกัน โดยเฉพาะฉากกลางคืนที่มีเพียงแค่แสงเทียนส่องสว่าง แต่ผู้ชมจะสามารถเห็นทุกรายละเอียดที่อยู่ในภาพได้อย่างชัดเจน (และมีบางตำแหน่งของภาพที่จะเห็น แสงไฟสาดส่อง)

ตัดต่อโดย Hung-min Chen, ถึงหนังจะชื่อ Dragon Inn แต่ใช้โรงเตี๊ยมแห่งนี้เป็นแค่จุดหมุนของเรื่องราวเท่านั้น ไม่ได้เล่าจากมุมมองของใครตัวละครใดเป็นพิเศษ, จริงๆถ้ามองแบบนี้จะถือว่าหนังไม่มีพระเอกเลยก็ได้ แต่รวมเรียกว่ากลุ่มของพระเอก ส่วนผู้ร้ายนั้นชัดอยู่แล้วว่าใครเป็นหัวหน้าใหญ่ ใครเป็นลูกน้อง

ฉากการต่อสู้จะมีตัดต่อไล่เลียงตามลำดับ มักเริ่มต้นมักจะประจันหน้าพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนวาทะ เมื่อไม่ได้ความเห็นลงรอยถึงค่อยมีการชักดาบต่อสู้ ตัดสลับแต่ละฝ่ายโจมตี กระโดดถลาเข้าหา ถ้าครั้งไหนสามารถทำให้คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บ ก็มักตัดสลับให้เห็นปฏิกิริยาของทั้งสองฝ่าย ไม่มีการรีบเร่งซ้ำเติมต่อสู้ (คงถือเป็นความจองหองของเหล่าจอมยุทธ์ คือฝ่ายหนึ่งต้องทำท่าเจ็บ อีกฝ่ายหนึ่งต้องแสดงความภาคภูมิ) จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลาดพลั้ง ต้องถือว่าใช้เวลาพอสมควรในการต่อสู้แต่ละครั้ง

ทุกการเคลื่อนไหวต่อสู้ จะมีนัยยะเหตุผลแอบซ่อนอยู่เสมอ เช่นว่า ฝั่งพระเอกสี่คนวิ่งวนรอบ Cao Shao-chin ความตั้งใจของพวกเขาคือให้เกิดความมึนงงสับสน เอาเปรียบคู่ต่อ ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์มองนัยยะได้ว่า คือการสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นข้างใน ฯ

เพลงประกอบโดย Lan-Ping Chow ที่เคยทำเพลงให้หนังเรื่อง The Love Eterne (1963), หนังใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนบรรเลงเล่นบทเพลงงิ้วทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเข้ากับองค์ประกอบการแสดงของหนัง ที่มีกลิ่นอายสัมผัสของ Beijing Opera อยู่

ในหลายครั้งบทเพลงจะมีการทำเสียงคล้าย Sound Effect ไม่แน่ใจเป็นเสียงเครื่องดนตรีสังเคราะห์หรือเปล่า ในฉากที่ Cao Shao-chin เกิดอาการมึนงงโยกตัวไปมาใกล้ล้มลง เสียงหวี่ๆที่ดังขึ้นชวนให้ผู้ชมเกิดอาการมึนงง โลกหมุนตามไปกับตัวละครด้วย

โรงเตี๊ยม คือ สถานที่ซึ่งอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ แหล่งพบปะผู้คนมากหน้าหลากตาหลายระดับชนชั้น ตั้งแต่พระราชายันกระยาจก ซึ่งเราสามารถมองเปรียบเทียบได้กับสังคมขนาดเล็ก (จุลภาค) โดยเจ้าของโรงเตี๊ยมเปรียบได้กับผู้นำ/เจ้าของประเทศ แต่จะมีสถานะเพียงคนรับใช้ ผู้จัดการดูแลความสงบเรียบร้อยเท่านั้น บุคคลที่มีอำนาจจริงเหนือกว่าก็คือลูกค้าที่มาใช้บริการ ต่างร้องเรียกออกคำสั่งให้พนักงาน/เจ้าของโรงเตี๊ยม/ประเทศชาติ ปรนเปรอปรนนิบัติตามความต้องการของตนเอง

เกมแมวไล่จับหนู หรือความพยายามลอบสังหาร/วางยาพิษ/ใส่ร้ายป้ายสี ล้วนเป็นการกระทำสื่อถึงความ ‘คอรัปชั่น’ บ่อนทำลายผู้อื่นภายในโรงเตี๊ยม/ประเทศชาติ, ต่อหน้าพวกเขาสวมหน้ากากพูดคุยสนทนาเป็นมิตรยิ้มแย้ม แต่ลับหลังล้วนเล่นพรรคเล่นพวก แอบวางแผนการชั่วร้าย สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดขึ้น ถ้าบุคคลผู้นั้นอ่อนแอหรือขาดไหวพริบก็คงถูกจัดการสิ้นชีพไปอย่างรวดเร็ว เช่นกันที่ก็ต้องมีบางคนสามารถจับได้ไล่ทันไม่หลงตกเป็นเหยื่อ แต่คงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเอาตัวรอดถึงตอนจบได้

ใจความแฝงของหนัง เป็นการสะท้อนเสียดสีเป้าหมายอุดมการณ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ต้องการเป็นหนึ่งใต้หล้า, เปรียบเทียบตัวละครขันทีผมขาว Cao Shao-chin ผู้นำเด็ดขาดเผด็จการ (เทียบได้กับ ซุนยัตเซ็น) ที่ต้องการตัดตอนทายาทของนายพล Yu (เทียบคงเป็น ลูกหลานของเจียงไคเชก ที่อพยพลี้หนีไปอยู่ไต้หวัน) ถึงจะมีฝีมือเก่งกาจอันดับหนึ่งของปฐพี แต่ภายในกลับมีจุดอ่อนมากมาย (แทนด้วยหน่วยงาน/รัฐบาล ที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น คดโกงกิน)

การเลือกขันทีถูกตอน Cao Shao-chin เป็นตัวร้ายหลัก คือการแสดงทัศนะเปรียบเทียบเสียดสีล้อเลียนที่รุนแรงมาก ประหนึ่งว่า เป็นตัวละครที่ไร้ทายาทลูกหลานสืบสกุล หรือ ‘ไร้อนาคต’ คือบอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของซุนยัดเซ็น ไม่มีทางยิ่งใหญ่สืบทอดต่อไปได้ (สิ้นสกุล/สิ้นชาติ), นี่ทำให้ผมคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่ King Hu ตัดสินใจย้ายไปอยู่ไต้หวันเพื่อสร้างหนังเรื่องนี้ อาจเพราะขณะนั้นเจียงไคเช็ค ได้อพยพลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ กรุงไทเป, สาธารณรัฐจีน ถือเป็นสถานที่เหมาะสม สะท้อนทัศนคติทางการเมืองของตนเอง และหนังมีใจความเสียดสีสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รุนแรง

ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้เผด็จศึก Cao Shao-chin ลูกน้องเก่าที่ถูกตอนสำเร็จ หรือคือตัวแทนประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เมื่อได้เรียนรู้ค้นพบความจริงเบื้องหลังทั้งหลาย ตัดสินใจทรยศเปลี่ยนข้างมาเข้ากับฝั่งพระเอก (เข้ากับฝั่งไต้หวัน ของเจียงไคเช็ก) นัยยะของฉากนี้คือ จุดจบของสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเกิดจากการรู้ตัวเองของประชาชนตาดำๆ วันหนึ่งคงลุกฮือขึ้นต่อสู้ต่อต้าน สักวันจะสามารถกำชัยเด็ดหัวแนวคิดคอมมิวนิสต์/ผู้นำได้ในที่สุด … แต่จนถึงปัจจุบัน นี่เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นนะครับ!

ตอนที่ Dragon Inn ออกฉาย เห็นว่าทุบสถิติหนังทำเงินสูงสุดในไต้หวัน, ประเทศเกาหลี และฟิลิปปินส์ แต่เหมือนว่า Union Film Company จะไม่ได้กำไรเท่าไหร่ เพราะ Shaw Brothers ได้สิทธิ์จัดจำหน่ายหนังใน Hong Kong และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ในเมืองไทยก็เห็นว่า ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทำเงินมหาศาล แต่ไม่มีระบุเป็นตัวเลขว่าเท่าไหร่

การสร้างใหม่เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่เชิงเป็น remake เรียกว่าดัดแปลงตีความใหม่จะตรงกว่า ประกอบด้วย
– New Dragon Gate Inn (1992) กำกับโดย Raymond Lee นำแสดงโดย Brigitte Lin, Tony Leung Ka-fai, Maggie Cheung, Donnie Yen
– Flying Swords of Dragon Gate (2011) ภาพยนตร์ 3 มิติเรื่องแรกของแนว Wuxia กำกับโดย Tsui Hark (ฉีเคอะ) นำแสดงโดย Jet Li, Zhou Xun, Chen Kun, Li Yuchun

ขณะที่ Goodbye, Dragon Inn (2003) ของผู้กำกับ Tsai Ming-Liang ไม่ใช่ยุ่งอะไรกับหนัง แค่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่กำลังปิดตัว จัดฉายหนังเรื่อง Dragon Inn (1967) ทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้าย

พร้อมๆกับ A Touch of Zen (1971) หนังได้รับการบูรณะฟื้นฟู ปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จคุณภาพ 4K (ดีที่สุดขณะนั้น) โดย Chinese Taipei Film Archive ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Classic เมื่อปี 2014 ถูกทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion ใครชื่นชอบสะสมไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

สิ่งที่ผมประทับใจตกหลุมรักหลงใหลหนังเรื่องนี้ที่สุด คือความคมคายในการแลกเปลี่ยนวาทะ-ปะทะ-ต่อสู้ มันเท่ห์ชะมัดเวลาฝั่งพระเอก สามารถแก้ทางเอาตัวรอดจากแผนการกระทำของฝั่งผู้ร้ายได้ ซึ่งหนังก็มีเทคนิคลีลาการนำเสนอ ด้วยการสร้างบรรยากาศ ลุ้นระทึกด้วยจังหวะ คารม ไหวพริบ ที่เฉียบคม, รับชมหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอยากทำเท่ห์ๆแบบนั้นได้บ้าง

แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้ฟันดาบ กำลังภายใน Wuxia, อ้างอิงประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หมิง (แค่เอาพื้นหลังมาใช้นะครับ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์จริงทั้งหมด), ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ตากล้อง นักตัดต่อ, นักคิดนักปรัชญา ชื่นชอบผู้กำกับ King Hu, นักแสดงดังอย่าง Chun Shih, Lingfeng Shangguan, Ying Bai ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบดูงิ้ว เห็นจังหวะการเคลื่อนไหวและเพลงประกอบของหนังแล้ว สัมผัสได้หรือเปล่าว่าหนังได้อิทธิพลมา

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการต่อสู้ และความตาย

TAGLINE | “Dragon Inn ของผู้กำกับ King Hu คือโรงเตี๊ยมของพยัคฆ์ คนดีเข้าไปกลับออกมาได้ไม่ยาก ส่วนคนชั่วก็ต้องมาลุ้นกัน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


Dragon Inn (1967)

(1/12/2015) หนังจีนเรื่องแรกที่จะรีวิว เป็นหนังค่อนข้างเก่าสักหน่อย ไม่ใช่ของ Shaw Brother นะครับ แต่เป็นผลงานระดับ Masterpiece ของปรมาจารย์ King Hu เรื่อง Dragon Inn ชื่อไทย เดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์ ชื่อภาษาอังกฤษนั้นไม่แน่นอน บ้างก็ใช้ชื่อ Dragon Gate Inn มีการ remake ทำใหม่ 2 ครั้ง แต่ก็คงไม่มีฉบับไหนสู้กับต้นฉบับที่แท้จริงได้ และนี่เป็นหนังที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Ang Lee ทำ Crouching Tiger, Hidden Dragon ด้วยนะครับ

ถ้าพูดถึง Wuxia หรือหนังแนวกำลังภายใน โดยใช้หมัดมวยหรือดาบ ถ้าไม่รู้จัก King Hu ก็จะถือว่าแปลกมาก เพราะเราจะเรียกเขาว่า บิดาแห่งหนังแนว Wuxia เลยก็ว่าได้ มีหนัง 3 เรื่องที่ควรจะรู้จักไว้  Come Drink with Me (1966), Dragon Gate Inn (1967), A Touch of Zen (1971) นี่เป็น 3 เรื่องในตำนานที่คนชอบดูหนังจีนต้องรู้จัก น่าเสียดายที่ King Hu ได้ร่วมงานกับ Shaw Brother เพียงเรื่องเดียวในสามเรื่องนี้คือ Come Drink with Me หลังจากนั้นเขาก็ย้ายไปไต้หวัน ทำหนังที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่น ถ้านับกันแล้ว Dragon Inn ถือว่าเป็นหนังไต้หวันนะครับ แต่จีนกับไต้หวันก็ถือประเทศเดียวกัน จะมาเรียกแยกว่าเป็นหนังไต้หวันก็กระไรอยู่

ในยุคสมัยนั้น หนังจีนชอบนิยมให้พระเอกเก่ง และมีตัวร้ายเก่งมากๆ การดวลกันของพระเอกและผู้ร้ายในช่วงไคลน์แม็กซ์ เป็นที่นิยมมากๆ สำหรับ Dragon Inn ก็ไม่ได้ต่างกัน แต่ King Hu มีวิธีการเล่าเรื่องที่สอดแทรกแนวคิด ปรัชญาบางอย่างเข้าไป ทำให้เรื่องราวดูมีมิติมากขึ้น เทียบกับในบรรดาหนังของ Shaw Brother ผมเคยดูจนเลี่ยนอ่ะครับ พระเอกมีความแค้น มีปม เป้าหมายคือเพื่อช่วยนางเอก หลงรักนางเอก ต่อสู้กับผู้ร้าย มันมีแค่นี้นะครับสำหรับหนังจีนยุคนั้น แต่ King Hu ได้เข้ามายกระดับให้หนังมีอรรถรสมากขึ้น โดยเฉพาะ The Touch of Zen ซึ่งถือเป็น Masterpiece ของเขา ได้สอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิตเข้าไปในหนังด้วย ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เลยสำหรับคนจีนยุคนั้น

เรื่องราวของ Dragon Inn ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เล่าเรื่องโดยใช้สถานที่หนึ่ง นั่งคือ Dragon Gate Inn เป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง เราจะเห็นว่า โรงแรมแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่อันแร้งกันดาลสามารถทำอะไรได้บ้าง ผู้คนที่เข้ามาออกไป เขามาทำอะไร มีโอกาสได้เจออะไรบ้าง มิติของเรื่องนี้คือแนวคิดของการปกครอง ฝ่ายหนึ่งปกครองโดยใช้กำลัง ฝ่ายหนึ่งปกครองโดยสันติ จากภาพใหญ่ๆสู่ภาพเล็ก ปมความขัดแย้งใน Dragon Gate Inn มองได้จากภาพเล็กๆกลายเป็นภาพใหญ่ๆ ฉากการต่อสู้สุดท้ายผมชอบมากนะ ไม่ใช่การต่อสู้ที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้อย่างเดียว แต่มีแนวคิดที่น่าสนใจ ไปจนถึงการตายตอนจบยังมีความหมาย King Hu เขียนบทและกำกับเอง ต้องยกนิ้วให้เลยสุดยอดๆ

ผู้กำกับภาพคู่ใจของ King Hu คือ Hui-Ying Hua งานภาพของเขาน่าสนใจนะครับ ผมรู้สึกถึงภาพบรรยากาศรอบๆของ Dragon Inn ที่อยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางพื้นที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี เราจะได้เห็นมุมกล้องที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย หรือเวลาที่จะถ่ายภูเขา เราจะเห็นทัศนียภาพที่เหมือนราวกับเป็นภาพวาด Hui-Ying Hua ได้ Golden Horse มาเพียงตัวเดียวเท่านั้นจากการกำกับภาพหนังขาวดำด้วย น่าเสียดายจริงๆ ฝีมือของเขาน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่านี้

Lan-Ping Chow หนึ่งในนักประพันธ์เพลงชื่อดังของจีน เขาได้ Golden Horse มาแล้ว 3 ครั้ง ฝีมือเขาไม่ธรรมดาแน่นอน สำหรับ Dragon Gate ดนตรีของเขาคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของหนังจีนได้เป็นอย่างดี แม้ทำนองจะไม่ติดหูมาก แต่อารมณ์เพลงก็กินขาด จังหวะนี้จ้องตากัน จังหวะนี้ต่อสู้ ช่วงท้ายๆนี่เร้าอารมณ์มากครับ ดูแล้วใจเต้นตุบๆ ลุ้นว่ากลุ่มพระเอกจะเอาชนะตัวร้ายได้หรือเปล่า

กลุ่มนักแสดงนำ ผมคงต้องพูดถึง Chun Shih ที่เป็นพระเอกของเรื่อง เขาก็เป็นนักแสดงคนสำคัญของ King Hu เลย การแสดงเด่นๆของเขาคือ Dragon Inn และ A Touch of Zen เป็นนักแสดงที่มี Charisma พอสมควรเลย คือดูแล้วรู้ว่าเก่ง มีฝีมือ แตกต่างจากนักแสดงทั่วไป เมื่อแสดงเป็นพระเอกที่มีฝีมือทั้งบู๊และบุ๋น มิติของ Chun Shih ทำให้คนดูรู้สึกได้ว่าเขาเป็นยอดฝีมือจริงๆ

อีกตัวละครที่ต้องพูดถึงคือ Lingfeng Shangguan ในเรื่องเธอเล่นเป็นหญิงที่แต่งชาย จะเรียกว่าเป็นตัวเอกฝ่ายหญิงก็ได้ (ไม่ใช่นางเอกนะ) ตัวละครในเรื่องเป็นหญิงที่ฉลาดทั้งบุ๋นและบู้ แม้จะไม่เท่ากับ Chun Shih แต่ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่เราจะลุ้นตามว่าหน้าที่ที่เธอทำ จะทำได้ดีเทียบเท่ากับพระเอกหรือเปล่า

เราจะได้เห็นทั้ง 2 นักแสดงกลับมารวมตัวกันในหนังของ King Hu อยู่บ่อยๆ และเรื่องที่ทำให้ทั้งสองได้ Golden Horse คือ Legend of the Mountains ก็ในกำกับของ King Hu นี่แหละ

เรื่องนี้จะหาดูได้ยังไง ผมไปเจอเรื่องนี้ในถุง CD ที่ขายสุมๆอยู่กองลดราคานะครับ ในนั้นเราจะเจอหนังดีๆมากมายที่ไม่รู้มันไปอยู่ในกองแบบนั้นได้ยังไง คงเพราะมันเป็นหนังจีนกำลังภายใน ในยุคของของ Shaw Brother ที่เกลื่อนเมืองเต็มไปหมด ในยุคนั้นเอาจริงๆมีที่ผมจะแนะนำไม่กี่เรื่องเท่านั้นเอง นอกนั้นถ้าคนไม่ชอบหนังจีนแนวนี้ ก็ไปหาแนวอื่นดูดีกว่านะครับ แต่ถ้าคนชอบก็เอาเลยนะครับ ผมคงไม่มีปัญญาดูจนหมดแน่ จะหาดูได้หรือเปล่าด้วยนะ

คำโปรย : “Dragon Inn หนังจีนกำลังภายในของปรมาจารย์ King Hu ที่โดดเด่นกว่าหนังอื่นในยุค แฝงแนวคิด ปรัชญา และการต่อสู้ที่ต้องลุ้นจนวินาทีสุดท้าย”
คุณภาพSUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: