Driving Miss Daisy (1989) : Bruce Beresford ♥♥♥♡
“When Driving Miss Motherf—ing Daisy won Best Picture, that hurt!” ผู้กำกับ Spike Lee กล่าวถึงชัยชนะของ Driving Miss Daisy มองเป็นความอัปยศของสถาบัน Academy ซึ่งกาลเวลาแทบไม่มีใครจดจำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องนี้สักเท่าไหร่
ถึงกระนั้น Driving Miss Daisy (1989) ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์คุณภาพย่ำแย่เลวร้าย ถึงระดับสมควรถูกเหยียบย่ำยีป่นปี้ปานนี้ อารมณ์ประมาณ How Green Was My Valley (1941) เอาชนะ Citizen Kane (1941) สะท้อนค่านิยมของสถาบันนี้ ที่ใคร่ยกย่องผลงานเข้าถึงจิตวิญญาณฝูงชน มากกว่าเรื่องราวเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว หรือโดดเด่นล้ำด้านเทคนิคเกินความเข้าใจ
Driving Miss Daisy เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับมิตรภาพ ความรักที่ต้องใช้ความอดทน ระยะเวลา 25 ปีที่ชาย-หญิงสูงวัยสองคน เรียนรู้จัก สนิทสนม จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต แทบจะแยกขาดกันไม่ได้ ช่างมีความงดงาม ซาบซึ้ง กินใจ ด้านเทคนิคไม่มีอะไรโดดเด่นเท่าไหร่ แต่การแสดงของ Jessica Tandy และ Morgan Freeman แทบจะสมบูรณ์แบบ
Bruce Beresford (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสัญชาติ Australian เกิดที่ Paddington, Sydney ชื่นชอบภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนต่อคณะวิจิตรศิลป์ University of Sidney มีโอกาสสร้างหนังสั้นหลายเรื่อง จบแล้วมุ่งสู่ประเทศอังกฤษเพื่อหางานทำแต่ก็ไม่มีสตูดิโอไหนรับ เลยไปรับงานตัดต่อยังประเทศไนจีเรีย สะสมประสบการณ์สองปีแล้วหวนกลับอังกฤษอีกครั้งได้กำกับหนังสั้น สารคดี ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เลยกลับบ้านออสเตรเลีย สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Adventures of Barry McKenzie (1972)
สำหรับผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Driving Miss Daisy ดัดแปลงจากละครเวที Off-Broadway แต่งโดย Alfred Uhry (เกิดปี 1936) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama
Uhry ได้แรงบันดาลใจ Driving Miss Daisy จากย่าของตนเอง Lena Fox อาศัยอยู่ Atlanta City ครั้งหนึ่งขับรถเกิดอุบัติเหตุ ทำให้พ่อ(ของ Uhry) ต้องว่าจ้างคนขับรถผิวสี Will Coleman ทำงานด้วยกันยาวนานถึง 25 ปี!
เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Playwrights Horizons Studio Theatre ณ 42nd Street วันที่ 15 เมษายน 1987 กำกับโดย Ron Lagomarsino, นำแสดงโดย Rochelle Oliver/Frances Sternhagen/Dana Ivey ขณะที่นำชายโดย Morgan Freeman รวมทั้งสิ้น 1,195 รอบการแสดง
เกร็ด: Uhry แต่ง Driving Miss Daisy คือเรื่องแรกไตรภาค Atlanta Trilogy อีกสองคือ The Last Night of Ballyhoo (1996) และ Parade (1998)
ความสำเร็จของละครเวที มีหรือไม่เข้าตาโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Richard D. Zanuck กับ Lili Fini Zanuck ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และได้ Uhry เข้ามาดัดแปลงบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง
เริ่มต้นปี 1948, Miss Daisy (รับบทโดย Jessica Tandy) หญิงชราวัย 72 ปี อาศัยอยู่ลำพัง(กับคนรับใช้)ยัง Atlanta, Georgia วันหนึ่งขับรถ 1946 Chrysler Windsor ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ลูกชายวัย 40 ปี Boolie (รับบทโดย Dan Aykroyd) ตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ให้แม่ 1949 Hudson Commodore แล้วว่าจ้างคนขับผิวสี Hoke Colburn (รับบทโดย Morgan Freeman) รับหน้าที่พาเธอไปส่งยังสถานที่ต่างๆตามคำสั่ง
แรกๆ Miss Daisy ก็ไม่พึงพอใจที่ต้องเสียเงินว่าจ้างคนขับรถ แต่ผ่านไปหลายวันเริ่มค่อยๆใจอ่อน โดยไม่รู้ตัวสนิทสนมชิดเชื้อ ประสบพบเจอเหตุการณ์ต่างๆมากมายระหว่างทาง กาลเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว 25 ปีถัดไป…
Jessica Tandy (1909 – 1994) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หนึ่งใน Triple Crown of Acting (คว้ารางวัลการแสดงจากสามถาบัน Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ Hackney, London พออายุ 18 เป็นนักแสดงละครเวทีที่สามารถประกบเข้าคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud ได้อย่างยิ่งใหญ่ หลังจากการแต่งงานครั้งแรกกับ Jack Hawkins ล้มเหลว เดินทางสู่ Hollywood ภาพยนตร์เรื่องแรก The Seventh Cross (1944), ผลงานเด่นๆ The Birds (1963), The World According to Garp (1982), Cocoon (1985), Driving Miss Daisy (1989), Fried Green Tomatoes (1991) ฯ
รับบท Daisy Werthan หรือ Miss Daisy หญิงชราวัย 72 ปี ฐานะร่ำรวย เชื้อสายยิว เป็นหมาย และเกษียนอายุจากอาชีพครูสอนหนังสือ, ด้วยความที่ชีวิตผ่านอะไรมามาก พอแก่ตัวเลยไม่ชอบสุงสิงวุ่นวายกับใคร เวลาลูกชายยัดเยียดอะไรใหม่มาให้ก็ปฏิเสธเสียงขันแข็งไว้ก่อน หรือขณะเกิดเหตุการณ์ร้ายๆรุนแรง กลายเป็นคนไร้เดียงสาอ่อนต่อโลก ไม่สามารถทำความเข้าใจว่าวิถีสังคมสมัยใหม่ดำเนินเดินไปเช่นไร
มีนักแสดงมากมายแสดงความสนใจใคร่รับบทบาทนี้ อาทิ Katharine Hepburn, Bette Davis, Lucille Ball, Angela Lansbury ฯ ซึ่งต่างก็สูงวัย จริตแรง โลกต้องหมุนรอบตัวพวกเธอ ก่อนมาลงเอยยัง Jessica Tandy ที่สองโปรดิวเซอร์ประทับใจการร่วมงานเมื่อครั้ง Cocoon (1985)
Tandy เป็นนักแสดงที่ถูก Hollywood มองข้ามมาโดยตลอด ส่วนใหญ่ได้รับบทแค่ตัวประกอบสมทบ ค่อนข้างโชคร้ายเพราะผลงานแรกๆเล่นหนังคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่กาลเวลาค่อยๆเพาะบ่มสะสมประสบการณ์ จริตจัดจ้านไม่แพ้ Katharine Hepburn, Bette Davis แต่ผมขอเปรียบเทียบกับ Katie Johnson คุณยายจาก The Ladykillers (1955) ถึงจะพูดมาก เรื่องเยอะ แต่น่ารักน่าเอ็นดูเหลือเกิน
แซว: ขณะนั้น Tandy อายุ 79-80 ปี ตอนแรกรับบทตัวละครอายุ 72 แต่ระยะเวลา 25 ปีดำเนินผ่านไป สุดท้ายแก่หงักวัย 97 ต้องชมเลยว่า แต่งหน้าได้สมจริงมากๆ
เกร็ด: Tandy พนันกับผู้จัดการของตนเอง $100 ดอลลาร์ ว่าตนเองจะพลาดรางวัล Oscar: Best Actress แต่หลังจากได้รับชัยชนะ พูดบอกเขาว่า “It was the best bet I had ever lost”.
Morgan Freeman (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Memphis, Tennessee ครอบครัวสืบเชื้อสายจากประเทศ Niger ตอนอายุ 12 ชนะรางวัลประกวดการแสดง แต่ปฏิเสธทุนเรียนต่อ สมัครทหารอากาศทำงานเป็นคนซ่อมเรดาร์ ไต่เต้าจนได้ยศ Airman 1st Class ปลดประจำการมุ่งสู่ Los Angeles เรียนการแสดงยัง Pasadena Playhouse เข้าตาผู้จัดจนได้ออกทัวร์ แสดง Off-Broadway, Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก Who Says I Can’t Ride a Rainbow? (1971), มีชื่อเสียงจากการแสดง Soap Opera เรื่อง Another World (1964), ผลงานเด่นๆ อาทิ Street Smart (1987), Glory (1989), Driving Miss Daisy (1989), The Shawshank Redemption (1994), Seven (1995), Million Dollar Baby (2004), Invictus (2009) ฯ
รับบท Hoke Colburn คนขับรถผิวสี มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต เฉลียวฉลาดรอบรู้ อดทนและประณีประณอม ด้วยเหตุนี้จึงสามารถซื้อใจ Miss Daisy กลายเป็นคนขับรถส่วนตัว สนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนสนิท มิตรภาพยั่งยืนยงอยู่ถึง 25 ปี
เพราะ Freeman เป็นนักแสดงจากต้นฉบับ Off-Broadway จึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ จดจำบทตนเองได้อย่างแม่นยำ (ก็แน่ละ แสดงมาเป็นพันๆรอบเลยนะ!) ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเล่นลีลา เสียงสำเนียง คำพูดสูง-ต่ำ ได้อย่างมีจังหวะ ท่วงทำนอง ลื่นไหลเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด
น้ำเสียงของ Freeman คือจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็ขนาดว่า Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง/CEO Facebook ยังตัดสินใจเลือกมาให้เสียงปัญญาประดิษฐ์ ฟังแล้วเกิดความผ่อนคลาย น่าเชื่อถือ รู้สึกปลอดภัย, หนังเรื่องนี้แทบจะ ‘หวานปาก’ เลยก็ว่าได้
ถ่ายภาพโดย Peter James ตากล้องสัญชาติ Australia ที่ติดตามผู้กำกับ Beresford เดินทางมาถ่ายทำหนังเรื่องนี้ยังสหรัฐอเมริกา, งานภาพไม่ได้มีเทคนิคอะไรหวือหวาเป็นพิเศษ แต่สามารถสังเกตเห็นความฟุ้งๆ เบลอๆ ปรับสว่างให้เจิดจรัสจร้ากว่าปกติ ราวกับเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความเพ้อฝัน ระยิบระยับทอแสงประกาย
ตัดต่อโดย Mark Warner สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Rocky III (1982), Big Trouble in Little China (1986), The Running Man (1987), Lara Croft: Tomb Raider (2001) ฯ หนังเริ่มต้นดำเนินเรื่องในมุมมองของ Miss Daisy แล้วส่งต่อให้ลูกชาย Boolie ตามด้วย Hoke Colburn โผล่มาหลังสุดแต่ลากยาวไปจนจบ
เพลงประกอบโดย Hans Zimmer (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลงสัญชาติ German ที่ขณะนั้นกำลังโด่งดังกับ Rain Man (1988) ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score ครั้งแรก, งานเพลงมีลักษณะเป็น Recurring Theme ผู้ชมจะมักคุ้นกับท่วงทำนองท่อนฮุค คล้ายๆเสียงจากเครื่องเป่า แต่ทั้งบทเพลงใช้เครื่องสังเคราะห์ (Synthesizers) สร้างเสียงขึ้นมาทั้งหมด! มอบสัมผัสอันหอมหวน ตลบอบอวล ฟังสบาย ครึกครื้น ผ่อนคลาย แต่เหมือนจะเฉิ่มเฉยไปตามกาลเวลาสักเล็กน้อย
Driving Miss Daisy เป็นภาพยนตร์นำเสนอความสัมพันธ์ของสองบุคคล โดยปกติคงไม่อาจเข้าพวกอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าฝ่ายใดหนึ่งมีความอดทน ให้ระยะเวลาคือเครื่องพิสูจน์ ‘น้ำหยดลงหิน สักวันหินมันย่อมกร่อน’ มิตรภาพค่อยๆก่อเกิด จนท้ายที่สุดกลายเป็นเพื่อนรัก เพื่อนตาย
มิตรภาพของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเพศ วัย หรือเชื้อชาติพันธุ์ ในมุมคนนอกอาจเห็นว่าหญิงชราชาวยิว-คนขับรถผิวสี ช่างเป็นส่วนผสมอันเลวร้าย แต่ของแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องคนนอกใครอื่นจะมาตัดสินพวกเขา … ความรักก็เฉกเช่นเดียวกัน
เราอาจมองว่า เพราะ Hoke Colburn เป็นคนขับรถ ทำงานรับใช้ ได้เงินทอง จึงสามารถยินยอมอ่อนข้อให้เจ้านาย แต่นั่นไม่ใช่สาสน์สาระสำคัญอะไรของหนัง เพราะต่อให้เจ้านาย-ลูกน้อง มิตรภาพก็ยังเกิดขึ้นได้ด้วยการค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ให้ความสนใจ และเข้าใจตัวตนของอีกฝ่าย
เรื่องราวของ Driving Miss Daisy ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวหมาจิ้งจอก จากวรรณกรรมเจ้าชายน้อย
“เธอจะต้องอดทนให้มาก .. ขั้นแแรกเธอต้องนั่งให้ห่างฉันเล็กน้อย
อย่างที่กำลังนั่งอยู่ตอนนี้นี่แหละ ฉันจะมองเธอด้วยหางตา
แต่เธออย่าเพิ่งพูดอะไรนะ เพราะภาษาคือบ่อเกิดแห่งความเข้าใจผิด
แล้วแต่ละวันเธอก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาเรื่อยๆ
มันจะเกิดผลกว่านี้ ถ้าเธอจะมาในเวลาเดียวกันทุกวัน
สุนัขจิ้งจอกบอก อย่างเช่น ถ้าเธอมาตอนสี่โมงเย็น
พอบ่ายสามโมงฉันก็จะเริ่มมีความสุข ยิ่งเวลากระชั้นเข้ามาฉันก็ยิ่งมีความสุข
พอใกล้สี่โมงเย็นฉันจะกระสับกระส่าย และกระวนกระวายใจ
แล้วฉันก็จะรู้ค่าแห่งความสุข แต่ถ้าเธอมาไม่ตรงเวลา
ฉันก็ไม่รู้ว่าควรจะเตรียมใจไว้ตั้งแต่เมื่อไร มันเป็นเรื่องของประเพณี”
มันมีประเด็นซ่อนเร้นมากมายที่สอดแทรกอยู่ในหนัง แต่ด้วยการนำเสนอผ่านๆทำให้ผู้ชมไม่ใคร่สังเกตรับรู้สนใจสักเท่าไหร่ อาทิ
– การเหยียดผิว (Racism) คนโดนเต็มๆคือ Hoke เมื่อตอนตำรวจขอตรวจใบขับขี่ มองด้วยสายตาเหยียดหยามดูถูก
– การเหยียดยิว (Anti-Semitism) จากเหตุการณ์ระเบิดโบสถ์
– นี่รวมถึงการไปรับประทานอาหารเย็นของ Miss Daisy แล้วรับฟังคำกล่าวสุนทรพจน์ของ Martin Luther King
ฯลฯ
พ่อ-แม่ เมื่อกลายเป็นคนสูงวัย ส่วนใหญ่มักมีความเรื่องมาก ละเอียดอ่อนเล็กๆน้อยๆ ปรับตัวต่อโลกยุคสมัยใหม่อย่างเชื่องช้า เราผู้เป็นบุตรหลานควรทำความเข้าใจ เปิดกว้าง ยินยอมรับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น แสดงออกด้วยความ’กตัญญูกตเวที’ สิ่งทำให้มนุษย์คือสัตว์ประเสริฐ เพราะพวกท่านโหยหาความเอาใจใส่ ขี้งอนง่ายเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ ลูกๆทั้งหลายก็ควรหาจุดสมดุลของชีวิต มอบเวลาให้พวกท่านบ้าง ชีวิตไม่ได้ยั่งยืนยาวนาน จากไปแล้วค่อยมาสำนึกระลึกได้ก็สายเกินหวนคืน
ด้วยทุนสร้าง $7.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $106.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $145.8 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Morgan Freeman)
– Best Actress (Jessica Tandy) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Dan Aykroyd)
– Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Makeup ** คว้ารางวัล
ผู้กำกับ Beresford ให้ความเห็นที่ตนเองพลาดเข้าชิงสาขา Best Director มองโลกในแง่ดีพอสมควร
“No, not at all. I didn’t think it was that well directed. It was very well written. When the writing’s that good, you’ve really just got to set the camera up and photograph it”.
– Bruce Beresford
แม้ว่าคุณภาพของ Driving Miss Daisy จะไม่ได้ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบขนาดนั้น แต่หนังกวาดรางวัลมาตั้งแต่ Golden Globes Award: Best Motion Picture – Comedy or Musical ต่อด้วย PGA Award: Outstanding Producer of Theatrical Motion Pictures นั่นทำให้กลายเต็งหนึ่งจริงๆที่จะคว้ารางวัล Oscar ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผล แสดงว่าถูกใจคณะกรรมการ Academy ปีนั้นจริงๆ
มีนักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตชัยชนะของ Driving Miss Daisy เป็นผลลัพท์เกิดจากการมองโลกในแง่ดี ‘feel good’ ขณะที่ภาพยนตร์เข้าชิงเรื่องอื่นๆ
– Dead Poets Society กับ Field of Dreams หนังตลาดเกินไป,
– Born on the Fourth of July กับ My Left Foot มองโลกแง่ร้ายไปนิด,
– ขณะที่สองเรื่องเด่นแห่งปี Do the Right Thing กับ Sex, Lies, and Videotape ดูจะล้ำยุคสมัยไปสักหน่อย ชุมชน Academy Award ยังไม่สามารถเปิดใจยินยอมรับเรื่องราวพรรค์นี้ได้
กล่าวคือ Driving Miss Daisy เป็นผลงานกลางๆที่ทำให้ผู้ชมดูจบรู้สึกดี มองเห็นความงดงาม ทรงคุณค่า ซาบซึ้งกับมิตรภาพ เพื่อนแท้แห่งชีวิต หนังเลยสั่นสะท้านกึกก้องในจิตวิญญาณของใครๆสมัยนั้น
เกร็ดรางวัล:
– เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียว ดัดแปลงจากละครเวที Off-Broadway และคว้ารางวัล Best Picture
– ลำดับที่สามถัดจาก Wings (1927), Grand Hotel (1932), และอนาคต Argo (2012) สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture แต่ผู้กำกับไม่ได้เข้าชิง Best Director
– Jessica Tandy ขณะอายุ 81 ปี กลายเป็นนักแสดงหญิงอายุมากสุดคว้ารางวัล Best Actress
– เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน (ปี 2018) ที่สาขา Best Picture ได้เรต PG
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ มันฟุ้งๆ งดงาม ซาบซ่าน ประทับใจน้ำเสียง Morgan Freeman, การแสดงของ Jessica Tandy และสงสารเห็นใจหนังเล็กๆ โดนปู้ยี่ปู้ยำเหยียบย่ำทั้งๆมิได้ทำอะไรผิดแม้แต่น้อย
แนะนำคอหนัง Drama-Comedy เกี่ยวกับมิตรภาพ ความสัมพันธ์ของผู้สูงวัย, และแฟนๆนักแสดง Morgan Freeman กับ Jessica Tandy ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศทุกวัน
Leave a Reply