Drugstore Cowboy (1989) : Gus Van Sant ♥♥♥♡
ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเล่นยาเรื่องแรกๆที่นำเสนอผ่านมุมมองของผู้เสพ (จะหายาเสพติดก็ต้องปล้น ร้านขายยา!) ตอนออกฉายได้รับเสียงฮือฮา ‘Universal Acclaim’ แต่กาลเวลาทำให้แปรสภาพสู่ ‘อเมริกันคลาสสิก’ ถึงอย่างนั้นก็ยังสมควรค่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
100% จากเว็บมะเขือเน่า แสดงให้เห็นว่า Drugstore Cowboy (1989) เป็นภาพยนตร์เหมือนจะยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา ผมเองก็อยากให้คะแนนคุณภาพเต็ม มีความลงตัวกลมกล่อม แฝงสาระข้อคิด คำพูดเฉียบคมคายมากมาย แต่การมาถึงของ Trainspotting (1996), Requiem for a Dream (2000), A Scanner Darkly (2006) ที่มีลีลาจัดจ้าน เทคนิคอันแพรวพราว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Breaking Bad (2008-13) ซีรีย์เกี่ยวกับการค้ายาที่ทำให้ผู้ชมอึ้งทึ่ง ตกตะลึง อ้าปากค้างแทบๆทุกๆเอพพิโสด มันเลยทำให้ผลงานแจ้งเกิดของ Gus Van Sant ดูจืดชืด ธรรมดาๆ แปรสภาพสู่ ‘อเมริกันคลาสสิก’
อีกเหตุผลที่ทำให้ Drugstore Cowboy (1989) ดูกรุเก่าลงมากๆก็คือบริบทรายล้อมรอบข้าง ความโบร่ำราณทศวรรษ 80s ของสถานที่ถ่ายทำ Portland, Oregon ยุคสมัยนั้นยังไม่มีติดตั้งกล้องวงจรปิด การทำงานของตำรวจก็ดูเฟะฟ่ะ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ผู้ชมปัจจุบันไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับช่วงเวลาดังกล่าว มันจึงเหมือนเพียงกำลังรับชมหนังคลาสสิกเก่าๆ ‘Time Capsule’ เก็บบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
โดยส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้นัก เพราะการให้โอกาสพระเอก Matt Dillon กลับตัวกลับใจ สามารถละเลิกเล่นยา แล้วผลกรรมแค่ถูกกระทำร้ายร่างกาย หาได้รับโทษทัณฑ์ทางกฎหมายใดๆ มันช่างไม่สาสมต่อความโฉดชั่วทั้งหมดทั้งปวงเคยก่อการมา … มองอีกแง่มุมหนึ่ง หนังพยายามสร้างสามัญสำนึกต่อผู้เสพ-ค้ายา ให้มีความหาญกล้ากลับตัวกลับใจ เลิกเสียตั้งแต่วันนี้ยังทันท่วงที อย่าปล่อยให้มันสายเกินแก้ไข!
Gus Green Van Sant Jr. (เกิดปี 1952) ผู้กำกับแห่งกลุ่มเคลื่อนไหว New Queer Cinema เกิดที่ Louisville, Kentucky ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการวาดภาพ ระหว่างร่ำเรียนทัศนศิลป์ Rhode Island School of Design ได้มีโอกาสรับชมหนังแนว Avant-Gard อย่าง The Little Shop of Horrors (1960), Pink Flamingos (1972) กลายเป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนจากศิลปะสู่สาขาภาพยนตร์, จากนั้นได้งานเป็นผู้ช่วยกองถ่าย, สรรค์สร้างผลงานอินดี้เรื่องแรก Mala Noche (1986) ต้องตาโปรดิวเซอร์ของ Universal Pictures อาสาออกทุนสร้าง Drugstore Cowboy (1989)
Drugstore Cowboy ต้นฉบับคือนวนิยายอัตชีวประวัติของ James Fogle (1936-2012) อาชญากร หัวขโมย นักค้ายาเสพติด เขียนเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตระหว่างชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำ แต่ใช่ว่าตัวจริงจะสามารถกลับตัวกลับใจเหมือนนวนิยาย เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา สบโอกาสก็ยังออกปล้นร้านขายยา (คาดว่าคงนำเงินค่าลิขสิทธิ์/ขายนวนิยาย เอาไปซื้อเล่นยาอีกนะแหละ!)
เห็นว่า Fogle เขียนเรื่องสั้น/นวนิยายอยู่หลายสิบเรื่อง แล้วส่งมอบให้เพื่อนสนิท Daniel Yost เป็นผู้ดูแลจัดการ แต่แทนที่จะตีพิมพ์จัดจำหน่าย (คงกลัวว่าไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะผู้แต่งคืออาชญากร และยังคงชดใช้โทษทัณฑ์ในเรือนจำ) ติดต่อผู้กำกับ Gus Van Sant โน้มน้าวชักชวนให้ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์
เกร็ด: นวนิยาย Drugstore Cowboy ตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ภายหลังจากหนังออกฉาย ส่วนผลงานเรื่องอื่นๆ Daniel Yost ยังเก็บรักษาไว้จนกระทั่งการเสียชีวิตของ James Fogle ถึงค่อยๆทะยอยนำออกตีพิมพ์จัดจำหน่าย
พื้นหลัง ค.ศ. 1971, เรื่องราวของ Bob Hughes (รับบทโดย Matt Dillon) ผู้นำกลุ่มนักเล่นยา ประกอบด้วยภรรยา Dianne (รับบทโดย Kelly Lynch), เพื่อนสนิท Rick (รับบทโดย James LeGros) และ Nadine (รับบทโดย Heather Graham) ออกเดินทางท่อง Pacific Northwest กระทำการปล้นโรงพยาบาล ร้านขายยา นำสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท มาตอบสนองความต้องการของตนเอง
ด้วยความเฉลียวฉลาดของ Bob Hughes ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากการถูกไล่ล่าโดยนักสืบ Detective Gentry (รับบทโดย James Remar) ตรวจค้นไม่เคยพบเจออะไรใดๆ จนกระทั่งการเสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาดของ Nadine และโรงแรมที่พักวันนั้นมีงานสัมมนาตำรวจ ซึ่งเขามองว่าเหล่านี้คือลางบอกเหตุร้าย สัญลักษณ์เตือนภัยอันตราย เลยตัดสินใจละเลิกเล่นยา เข้าศูนย์บำบัดรักษา กลับตัวกลายเป็นคนใหม่
Matthew Raymond Dillon (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Rochelle, New York ระหว่างร่ำเรียน Hommocks Middle School โดดเรียนออกมาทดสอบหน้ากล้องภาพยนตร์ Over the Edge (1979) ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี กลายเป็น ‘teen idol’ เลยตัดสินใจมุ่งมั่นเอาดีด้านนี้ เริ่มมีชื่อเสียงจาก My Bodyguard (1980), Little Darlings (1980), The Flamingo Kid (1984), Drugstore Cowboy (1989), Wild Things (1998), Crash (2004), The House That Jack Built (2018) ฯ
รับบท Bob Hughes อายุ 26 ปี นิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน เพราะมีความเฉลียวฉลาด(ระดับอัจฉริยะ) รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดคน มากล้นด้วยประสบการณ์ปล้น แต่สันดานธาตุแท้กลับเป็นคนขี้ขลาดเขลา ทั้งยังเชื่อในลางสังหรณ์บอกเหตุ เต็มไปด้วยอคติต่อสุนัข หรือใครก็ตามนำหมวกมาวางไว้บนเตียง พร้อมละทอดทิ้งภรรยาสุดที่รัก เข้าบำบัดโดยไม่รู้สึกสาสำนึกผิดสักเท่าไหร่
ผู้กำกับ Van Sant มีความต้องการนักร้อง/นักแสดง Tom Waits มารับบทนำ แต่ได้รับการตอบปัดจากโปรดิวเซอร์ เพราะอยากได้บุคคลที่มีประสบการณ์ความสามารถอย่าง Jack Nicholson, Sean Penn, Matthew Modine เผื่อจะมีโอกาสลุ้นรางวัลด้านการแสดงปลายปี ก่อนสุดท้ายส้มหล่นใส่ Matt Dillon ถือเป็นนักแสดงฝีมือแต่ถูกตีตรา ‘teen idol’ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสทำลายภาพจำดังกล่าว
one of the great recent American movie performances
นักวิจารณ์ Roger Ebert สรรเสริญการแสดงของ Dillon
เห็นนักวิจารณ์ Roger Ebert สรรเสริญการแสดงของ Dillon เลยแอบคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง แต่พอรับชมก็ไม่ได้รู้สึกว่ายิ่งใหญ่อะไรปานนั้น แค่ยอดเยี่ยมแบบทั่วๆไป ตัวละครมีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม คำพูดเฉียบคมคาย รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดคน น่าประทับใจหน่อยก็ตอนแสดงสีหน้าตึงเครียด เก็บกดดัน เมื่อถูกตำรวจรายล้อมรอบห้องพัก ฉันจะสามารถหลบหนีไปจากสถานที่แห่งนี้อย่างไร
แต่บอกตามตรงว่าผมโคตรจะไม่ชอบตัวละครนี้เลยนะ! เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง สัมผัสไม่ได้ถึงความรู้สึกอยากกลับตัวกลับใจ ที่เข้าบำบัดเลิกยาเหมือนเพียงเล่นละคอนตบตอน อีกทั้งหนังไม่นำเสนอสภาพขณะถอนยา แค่คำพูดบรรยายถึงโชคชะตาด้วยน้ำเสียไม่ยี่หร่าอะไรทั้งนั้น … อย่างที่เกริ่นไปว่าตัวจริงของผู้แต่งนวนิยาย James Fogle เป็นอาชญากรที่ไม่ได้สาสำนึกผิดอะไรเลย
ถ่ายภาพโดย Robert David Yeoman (เกิดปี 1951) ตากล้องชาวอเมริกัน ขาประจำของผู้กำกับ Wes Anderson ผลงานเด่นๆ อาทิ Drugstore Cowboy (1989), The Squid and the Whale (2005), The Darjeeling Limited (2007), Bridesmaids (2011), Moonrise Kingdom (2012), The Grand Budapest Hotel (2014) ฯ
งานภาพของหนังมีการใช้เทคนิคลูกเล่นอยู่พอสมควร เพื่อสร้างโลกบิดๆเบี้ยวๆ เอียงกะเท่เร่ของคนเสพยา และหลายๆครั้งสร้าง Visual Effect แทนจินตนาการอันล่องลอย (แทนฤทธิ์ของการเสพยา) ซึ่งดูเป็นนามธรรม (Abstact) มากกว่าสร้างความสมจริง … เมื่อเปรียบเทียบกับ Trainspotting (1996), Requiem for a Dream (2000) หรือ A Scanner Darkly (2006) ใช้เทคนิคภาพยนตร์เพื่อสร้างอาการมึนเมาระหว่างเสพยาได้สมจริงกว่ามากๆ
สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังก็คือ Portland, Oregon บริเวณย่าน Pearl District ผมไปเจอเว็บนี้ที่ทำการเปรียบเทียบอดีต-ปัจจุบัน พบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรเลยละ
LINK: https://miskowiec.com/about/drugstore-cowboy-filming-locations.php
สำหรับคนที่ช่างสังเกต ช่วงระหว่างที่ Bob เพ้อรำพันถึงความทรงจำในอดีต ตัดสลับภาพถ่ายจากกล้อง Super 8 จะมีช็อตถ่ายเอียงซ้าย-ขวา ซูมเข้า-ออก มุมมองพลิกกลับตารปัตร รวมถึง Dianne ทำมือสวมแว่น (แอบนึกถึง #DeleAlliChallenge) เพื่อเป็นการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ของคนเล่นยาที่มีความแตกต่างจากคนปกติทั่วๆไป
แซว: ช็อตเกย์สุดของหนังก็แอบอยู่ในช่วงนี้นะครับ Bob หอมแก้ม Rick (จะมองแค่ว่าเป็นการแสดงความรักระหว่างเพื่อนสนิทก็ได้เช่นกัน มั้งนะ)
ทุกครั้งที่ Bob เสพยาจะเกิดอาการล่องลอย จินตนาการเห็นภาพหลอน ซึ่งหนังนำเสนอด้วยการซ้อนภาพตัดแปะ (Paper-Cut) อาทิ ช้อน วัว บ้าน ต้นไม้ เข็มฉีดยา เครื่องบิน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่สร้างความหมกมุ่นให้ตัวละคร กลายเป็นคนเชื่อในลางสังหรณ์ สัญญาณเตือนภัยอันตราย
ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้เพื่อต้องการสื่อว่า การเล่นยาสามารถนำพาให้มนุษย์ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์! ฟังดูค่อนข้างจะโลกสวย ‘Positive Thinking’ สะท้อนมุมมองของผู้เสพได้เป็นอย่างดี! … สังเกตว่าหนังไม่นำเสนออาการลงแดง หรือถอนยา นี่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการระลึกถึง ‘นรก’ สักเท่าไหร่
การซุกซ่อนยาเสพติดไว้นอกบ้าน แฝงนัยยะถึงการครุ่นคิด ‘นอกกรอบ’ เพราะบรรดาตำรวจ/สายสืบที่เข้ามาตรวจค้น พังทลายข้าวของทุกสิ่งอย่าง (แม้แต่เสื้อผ้าก็ถูกฉีดขาด) ล้วนจำกัดบริเวณอยู่เพียงภายในบ้าน(กฎกรอบ) จึงไม่สามารถค้นพบเจออะไร
ซึ่งหลังจากพวกตำรวจจากไป พบเห็นสมาชิกทั้งสี่ต่างโพสท่าในสภาพเปลือยเปล่าล่อนจ้อน แลดูเหมือนรูปปั้นงานศิลปะ (ผู้กำกับ Gus Van Sant ร่ำเรียนศิลปะก่อนเปลี่ยนมาสาขาภาพยนตร์) ที่ราวกับถูก(ตำรวจ)กระทำชำเรา แต่ยังมีความบริสุทธิ์จากภายใน (เพราะถึงแก้ผ้าเปลือยกาย กลับยังไม่สามารถพบเจอยาเสพติดซุกซ่อนอยู่แห่งหนไหน)
นี่รวมไปถึงหลายๆแผนการของ Bob ด้วยนะครับ เริ่มต้นจากการสร้างสิ่งเบี่ยงเบน หันเหความสนใจ (เพราะคนเหล่านั้นมักให้ความสำคัญกับสิ่งพบเห็นเบื้องหน้าเท่านั้น) จากนั้นเจ้าตัวก็แอบเข้าไปลักขโมยสิ่งข้าวของ ยาที่มีสารเสพติด แล้วหลบหลีกหนีออกมา กว่าจะรู้ตัวพวกเขาก็สุขอุรา เก็บซุกซ่อนทุกสิ่งอย่างไว้ยังสถานที่ไม่มีใครคาดคิดถึง
ระหว่างการสนทนาหมาๆ จะมีตัดสลับภาพระหว่าง 1) Dianne พูดเล่าเหตุการณ์ 2) ย้อนอดีตเมื่อครั้ง Bob & Dianne ถูกเจ้าแพนด้าตัวโปรดทรยศหักหลัง 3) รายการแสดงโชว์สุนัขในจอโทรทัศน์ … นี่เป็นวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าหลงใหล ชวนให้ติดตาม ผู้ชมและตัวละครรับฟังสามารถเห็นภาพเหตุการณ์ รู้สึกจับต้องได้ จดจำตราฝังใจ!
ผมรู้สึกว่าฉากนี้มันค่อนข้างจงใจให้ไม้กอล์ฟฟาดไปโดนโคมไฟ (ทั้งมุมกล้อง ทิศทางการหวด ค่อนข้างจะชัดเจนมากๆ) แต่ Matt Dillon บอกว่าเป็นความพลั้งเผลอ ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ในบทก็ไม่มีเขียนไว้ … จะเชื่อดีไหมเนี่ย?
แต่นัยยะของฉากนี้ก็ชัดเจน! สื่อถึงความผิดพลาดที่เกิดจากเงื้อมมือตนเองไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เหมือนสำนวน ‘หมองูตายเพราะงู’ คนเล่นยาก็ต้องถูกไล่ล่าจับกุม หรือเสียชีวิตเพราะเสพเกินขนาด ยกเว้นถ้าสามารถบังเกิดสติ หยุดยับยั้งชั่งใจ เหตุการณ์เลวร้ายก็อาจ(ไม่)อุบัติขึ้น
หลังจากที่ Bob ตระหนักว่ามีสายสืบแอบสอดแนมตนเองอยู่นั้น จึงครุ่นคิดแผนการโต้ตอบกลับ เมื่อเตรียมการเสร็จสรรพ ค่ำคืนนี้ให้พรรคพวกเพื่อนมานั่งเก้าอี้รอรับชม สูบบุหรี่ ป๊อปคอร์น และพอเปิดม่านการแสดงก็พบเห็นเหตุการณ์ภายนอกหน้าต่าง
เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ดำเนินไปตามแผนการณ์ Bob แสดงรอยยิ้มพร้อมพบเห็นภาพซ้อนของหิมะ กระบอกปืน ไม้ตีกอล์ฟ ขวดเหล้า และเม็ดยา(เสพติด) ถือเป็นอีกภาพ ‘psychedelic’ สะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละครขณะนั้นๆ
อาจมีคนสงสัยว่า Nadine ทำผิดอะไร? แทนที่จะวางกระบะลงด้านหลัง หรือค่อยๆหยิบใส่หน้ารถ แต่เธอกลับโยนทั้งหมด พร้อมส่งเสียงดัง สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้ Bob กลัวว่าคนแถวนั้นจะได้ยิน มันช่างเป็นการกระทำที่สิ้นคิด โง่เขลา แถมยังพยายามโอ้อวดฉลาด ไม่ยินยอมรับความผิดพลาดของตนเอง
เอาจริงๆพฤติกรรมของ Nadine ดูเป็นปกติของคนเล่นยาที่สุดแล้วนะ เพราะส่วนใหญ่ไม่น่าจะ IQ หรือ EQ สูงส่งสักเท่าไหร่ (ก็อย่างที่บอกไปว่า คนฉลาดและมีสติไม่น่าจะมาคลุกคลีกับเรื่องพรรค์นี้หรอกนะ)
ปล้นชิงทรัพย์ จะว่าไปไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนัน เพราะต้องวัดดวงแพ้-ชนะ วันนี้ได้ของดีหรือธรรมดาทั่วไป ผลลัพท์กับ Dilaudid หรือ Hydromorphone เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง โดยทั่วไปมักใช้ในคนไข้หลังผ่าตัด หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ช่องทางการให้ยาคือฉีดเข้าเส้น ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เหน็บทางทวารหนัก หรือรับประทาน เป็นกลุ่มยาระงับปวด มีผลทางระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทส่วนกลาง
แม้แต่ผู้กำกับ Gus Van Sant ก็หลีกเลี่ยงไม่อธิบายนัยยะความหมาย แรงบันดาลใจของ ‘hat-on-the-bed’ ถ้าใครเอาหมวกวางบนเตียง จักนำพาหายนะบังเกิดขึ้น! แต่ผมครุ่นคิดว่ามันคงมีลักษณะคล้ายๆ MacGuffin เป็นการสร้างสิ่งสัญลักษณ์เฉพาะตัวของหนัง เพื่อให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตั้งคำถาม มันคืออะไร? มีความหมายอย่างไร?
ความเข้าใจส่วนตัว มองในเชิงเปรียบเทียบ หมวก=(สวมลงบน)ศีรษะ ถอดวางบนเตียงเลยดูเหมือนการตัดคอ ฆ่าตัวตาย ปล่อยวางชีวิตแล้วทิ้งตัวลงนอนสู่สุขคติ ซึ่งระหว่างที่ Bob กำลังขุดหลุมฝังศพ Nadine จักพบเห็นหมวกในความเพ้อฝันกำลังล่องลอยปลิดปลิวอยู่บนท้องฟากฟ้า (ราวกับจิตวิญญาณเคลื่อนออกจากร่าง)
จากแค่เพียงพบเห็นหมวกวางอยู่บนเตียง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นหลายอย่าง ปล้นโรงพยาบาลไม่สำเร็จ, ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ, Nadine เสพยาเกินขนาด และเจ้าของโรงแรมขอให้ Bob ทำการ Check-Out เพราะกำลังจะมีงานสัมมนาของตำรวจ เหมาจองห้องพักไว้ล่วงหน้า นั่นเองทำให้เขาครุ่นคิดจินตนาการเห็นภาพ กุญแจมือ กรงขังคุก ฯ ทั้งหมดนี้ราวกับเป็นลางสังหรณ์บอกว่า ชีวิตอาชญากรกำลังมาถึงวันสิ้นสุด
ฉากจากลาของ Bob หลังเสร็จฝังศพ Nadine ผืนป่าแห่งนี้ดูเหมือนอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง สังเกตสีสันของใบไม้ เหลือง-ส้ม-เขียวแก่ สัญลักษณ์ของความแห้งเหี่ยว ร่วงโรยรา เพียงจับจ้องมองกันอยู่ห่างๆ ไร้คำพูดจา แล้วขับรถถอยหลังจากไป
บาทหลวง Tom Murphy (รับบทโดย William S. Burroughs) พบเจอยังสถานบำบัดรักษาผู้ติดยา ทั้งๆก็แก่ชราภาพกลับไม่สามารถละเลิกเสพ สะท้อนคำกล่าวของ Bob ตอนสนทนากับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ‘ต่อให้พูดพร่ำบอกขนาดไหน ก็ไม่มีทางทำให้คนเลิกเล่นยา’
Tom เปรียบดั่งพระบิดา/ครูของ Bob เคยเสี้ยมสั่งสอน คอยหล่อหลอม ชี้ชักนำทางหนีทีไล่ในการเป็นคนค้า-เล่นยา แต่ขณะนี้ดูจากสภาพร่างกายไม่ต่างจาก ‘ความตาย’ ถ้าวันนี้เลิกไม่ได้ย่อมต้องกลายเป็นแบบหลวงพ่อ เสพติดจนวันสุดท้ายของชีวิต
อาชีพเจาะเหล็ก (= เข็มฉีดยาเจาะเข้าเส้นเลือด), ต้มน้ำชา (= ละลายเฮโรอีนในช้อนแล้วต้มให้เดือด) ต่างสามารถสื่อสัญลักษณ์ของการเสพยา แต่นัยยะของฉากนี้เป็นการ ‘redemption’ นำเอาความถนัด(ในการเสพยา)มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ภาพแรก-ช็อตสุดท้ายของหนัง นำเสนอใบหน้าของ Bob Hughes หลังจากถูกกระทำร้ายร่างกาย ตกอยู่ในสภาพปางตาย ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลครุ่นคิดทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเหมือนการสารภาพบาป ยินยอมรับความผิด ถ้าวันนี้ยังสามารถเอาตัวรอด พรุ่งนี้ก็จักสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่
ตัดต่อโดย Mary Bauer, Curtiss Clayton
หนังดำเนินเรื่องผ่านความทรงจำของ Bob Hughes หลังจากถูกพรรคพวกพ่อค้ายากระทำร้ายร่างกาย ระหว่างกำลังถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล จึงเริ่มทบทวนเหตุการณ์ในอดีต (Flashback) เมื่อครั้นร่วมก๊วนภรรยา Dianne, เพื่อนสนิท Rick และ Nadine ออกเดินทางท่อง Pacific Northwest ร่วมกันปล้นโรงพยาบาล ร้านขายยา นำสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท มาตอบสนองความต้องการของตนเอง
- อารัมบท, Bob Hughes พร่ำรำพันถึงความทรงจำในอดีต
- ออกปล้นร้านขายยา
- แสร้างให้ Nadine เกิดอาการช็อค น้ำลายฟูมปาก แล้ว Bob แอบเข้าไปลักขโมยยา
- กลับมาบ้านเช่า เสพยา ค้าโคเคน
- ถูกตำรวจบุกเข้ามาตรวจค้น แต่กลับไม่พบเจออะไรสักสิ่งอย่าง
- ตลบหลังสายสืบที่ไล่ล่า
- Bob แวะเวียนกลับมาที่บ้านของมารดา แต่ก็ถูกขับไล่ผลักไสส่ง
- เช่าอพาร์ทเมนท์หลังใหม่ แต่ยังถูกสายสืบแอบสอดแนม เลยครุ่นคิดวางแผนตลบหลัง
- ลางสังหรณ์บอกเหตุจากการปล้นโรงพยาบาล
- ออกเดินทางต่อมาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง ค่ำคืนนั้นระหว่างปล้นร้านขายยา Nadine ได้ทำบางอย่างผิดพลาดอย่างรุนแรง
- Bob บุกเข้าไปในโรงพยาบาล แต่พบกับความล้มเหลว แถมเมื่อกลับมาห้องพักพบเห็น Nadine เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด
- เช้าวันถัดมาเจ้าของโรงแรมมาร้องขอให้ Bob เตรียมเก็บข้าวของออกจากห้องพัก เพราะจะมีตำรวจมาร่วมงานสัมมนาประจำปี
- หลังสามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จ Bob เลยตัดสินใจจะเลิกเล่นยา บอกร่ำลาภรรยาและเพื่อนสนิทแล้วตีจากมา
- ตัดสินใจละเลิก แล้วเข้าบำบัดรักษาอาการติดยา
- พบเจอกับอดีตบาทหลวง Tom Murphy ที่เคยดูแลเสี้ยมสอน Bob ทุกสิ่งอย่าง
- หวนกลับมาพบเจอ Dianne ที่กลายเป็นคนรักใหม่ของ Rick
- Bob ถูกพรรคพวกพ่อค้ายากระทำร้ายร่างกาย สภาพเหมือนกำลังจะตาย แต่สุดท้ายเสียงบรรยายก็บอกรอดชีวิต
เพลงประกอบโดย Elliot Goldenthal (เกิดปี 1954) คีตกวีสัญชาติอเมริกัน เริ่มแต่งเพลงตั้งอายุ 14, สำเร็จการศึกษาจาก Manhattan School of Music มีผลงาน Concerto, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อาทิ Drugstore Cowboy (1989), Interview with the Vampire (1994), Batman Forever (1995), Michael Collins (1996), Frida (2002) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score
เพื่อเป็นการสร้างโลกอันบิดเบี้ยวผ่านมุมมองคนติดยา Goldenthal ทำการทดลองผสมผสานสไตล์เพลง รวมทั้งเครื่องดนตรีหลากหลาย (แซกโซโฟน, คีย์บอร์ด, แอกคอร์เดียน และโดยเฉพาะเครื่องสังเคราะห์เสียง) ให้มีกลิ่นอาย Avant-Garde คลุกเคล้า Rock, Electronic, Progressive และ Jazz อยู่นิดๆ
งานเพลงของ Goldenthal มอบสัมผัสที่สามารถเทียบแทนสภาวะต่างๆของคนติดยา อาทิ ความตื่นตระหนก (frightening), พบเห็นภาพหลอน (delusional), ล่องลอยราวกับถูกสะกดจิต (hypnotic), บางครั้งหลุดโลกไปเลยก็มี (insanity) ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่ชอบสไตล์เพลงลักษณะนี้ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นการเลือกใช้ที่เหมาะสม เข้ากับบรรยากาศหนังอย่างมากๆ
นอกจากนี้หนังยังเลือกใช้หลายๆบทเพลงชื่อดังจากอดีต สำหรับหวนระลึกความทรงจำ สร้างบรรยากาศในขณะที่ตัวละครไม่ได้กำลังเสพยา
For All We Know (1934) ต้นฉบับแต่งโดย J. Fred Coots, คำร้องโดย Sam M. Lewis, บันทึกเสียงครั้งแรกโดย Hal Kemp และ Isham Jones, แต่ฉบับที่น่าจะได้รับความนิยมสูงสุดขับร้องโดย Abbey Lincoln เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ Drugstore Cowboy (1989) โดยเฉพาะเลยกระมัง
For all we know
We may never meet again
Before we go
Make this moment live again
We won’t say goodbye
Until the last minute
I’ll hold out my hand
And my heart will be in itFor all we know
This might only be a dream
We come and we go
Like the ripples, like the ripples in the stream
So baby, love me, love me tonight
Tomorrow was made for some
Oh, but tomorrow
But tomorrow may never, never come
For all we know
Yes, tomorrow may never, never come
For all we know
นี่เป็นบทเพลงขณะ Bob กำลังเริ่มต้นเพ้อรำพัน หวนระลึกความทรงจำ ร้อยเรียงภาพกับสมาชิกร่วมก๊วนทั้งสี่กำลังล้อเล่นกันอย่างสนุกสนาน นั่นคือช่วงเวลาราวกับความเพ้อฝัน ไม่มีวันที่พวกเขาจะหวนกลับมาพบเจออีกต่อไป
Israelites (1968) บทเพลงแนว Ska & Reggae แต่ง/ขับร้องโดย Desmond Dekker & The Aces ทั้งๆผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องว่าเนื้อคำร้องต้องการสื่อถึงอะไร แต่สามารถไต่สูงสุดอันดับ 9 ชาร์ท Billboard Hot 100
ผมไปอ่านเจอว่า Dekker เกิดแรงบันดาลใจแต่งเพลงนี้ระหว่างทางเดินกลับบ้าน แอบได้ยินคู่รักหนึ่งกำลังโต้ถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับเงินๆทองๆ ตำหนิต่อว่าสามีหาได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายครอบครัว นั่นเลยกลายเป็น Poor me Israelites คำรำพันของคนยากคนจน บุคคลผู้ยากไร้ ไม่ต่างจากชาวอิสราเอลที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนระหว่างเป็นทาสชาวอิยิปต์ สักวันหนึ่งอาจมีโมเสสพาข้ามทะเลแดง มุ่งสู่ดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้า
Get up in the morning, slaving for bread, sir
So that every mouth can be fed
Poor me Israelites, ahMy wife and my kids, they packed up and leave me
Darling, she said, I was yours to be seen
Poor me IsraelitesShirt them a-tear up, trousers is gone
I don’t want to end up like Bonnie and Clyde
Poor me IsraelitesAfter a storm there must be a calm
They catch me in the farm
You sound your alarm
Poor me Israelites
ผมติดใจท่อนคำร้อง “I don’t want to end up like Bonnie and Clyde” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหนังอยู่ไม่น้อย เพราะคณะนั้นก๊วนทั้งสี่กำลังขับรถออกเดินทาง จับจ้องมองหาสถานที่สำหรับปล้นโรงพยาบาล ร้านขายยา (ไม่แตกต่างจาก Bonnie and Clyde สักเท่าไหร่)
Drugstore Cowboy (1989) นำเสนอกระบวนการครุ่นคิด สภาวะทางจิตใจ ‘วงใน’ ของนักเล่นยาเสพติด ผู้มักครุ่นคิดว่าตนเองเฉลียวฉลาด รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดคน สามารถหลบหลีกหนีจากการถูกไล่ล่าจับกุม ค้นพบลางสังหรณ์บอกเหตุ เลยตัดสินใจละเลิกเล่นยา … แต่เอาจริงๆพวกคนเสพยา ถือว่าเก่งในเรื่องโง่ๆเสียมากกว่า! (คนฉลาดจริงๆไม่มีใครเล่นยาหรอกนะ)
สมาชิกในกลุ่มนักเล่นยา ยังเป็นตัวแทนประเภทบุคคล
- Bob Hughes คือบุคคลที่สามารถตระหนักรู้ มีความเฉลียวฉลาดเพียงพอให้สามารถละเลิกเล่นยา เข้าบำบัดรักษาด้วยตนเอง และปฏิเสธหวนกลับสู่วงการ
- Dianne Hughes ภรรยาของ Bob แม้พานผ่านอะไรๆด้วยกันมามาก แต่ปฏิเสธจะละเลิกเล่น เข้าศูนย์บำบัดรักษา เห็นยาเสพติดคือสรวงสวรรค์ สำคัญกว่าเรื่องของความรัก
- Rick จากลูกน้องไต่เต้าเป็นหัวหน้า คือวังวนวัฏจักรของคนเล่นยา ล้อกับบาทหลวง Tom Murphy ผู้เสี้ยมสอน Bob ให้รู้จักทางหนีทางไล่ในวงการ
- Nadine ตัวแทนของวัยรุ่นหนุ่ม-สาว ยังมีความละอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา ครุ่นคิดว่าตนเองเจ๋ง ฉันเก่ง ปฏิเสธรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่ ทำอะไรๆล้วนผิดพลาด สุดท้ายเลยเสพยาเกินขนาด (โดยไม่รับรู้ตนเองด้วยกระมัง) จากไปก่อนวัยอันควร
แม้เรื่องราวจะนำเสนอการกลับตัวกลับใจ ได้รับโอกาสเริ่มต้นใหม่ของ Bob Hughes แต่สุนทรพจน์ระหว่างกล่าวกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บำบัด บอกปัดจะเป็นที่ปรึกษานักเล่นยา นั่นคือมุมมองของผู้แต่งนวนิยาย James Fogle คล้ายคำสารภาพบอกว่าตนเองไม่มีทางละเลิกเล่นยาเสพติด
Well, to begin with, nobody – and I mean nobody – can talk a junkie out of using. You can talk to them for years, but sooner or later they’ll get ahold of something. Maybe it’s not dope. Maybe it’s booze. Maybe it’s glue. Maybe it’s gasoline. Maybe it’s a gunshot in the head. But something. Something to relieve the pressures of their everyday life, like… having to tie their shoes.
Bob Hughes
มาครุ่นคิดดูหนังไม่เล่าพื้นหลัง ที่มาที่ไป เพราะเหตุใดทำไมตัวละครทั้งหลายถึงกลายเป็นนักเล่นยาเสพติด (มันก็พอมีฉากบอกใบ้อยู่บ้าง แต่จะไม่พูดเอ่ยกล่าวออกมาตรงๆ) สุนทรพจน์ของ Bob Hughes คือการอธิบายเหมารวมว่าบังเกิดจาก ‘แรงกดดัน’ ในการใช้ชีวิตประจำวัน
ตั้งแต่ครอบครัว ญาติพี่น้อง พรรคเพื่อนฝูง ผู้คนในสังคม หรือแม้กระทั่งบาทหลวง โชคชะตาชีวิตกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า ล้วนเป็นอิทธิพลที่สร้างแรงกดดันในการดำรงชีวิต เต็มไปด้วยความคาดหวัง ต้องให้เป็นอย่างโน้น ปฏิบัติตามอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าสหรัฐอเมริกาคือดินแดนเสรี อิสรภาพ แต่ทำไมทุกสิ่งอย่างถึงห้อมรายล้อมด้วยกฎกรอบ ข้อบังคับ ควบคุมครอบงำประชาชนให้ต้องอยู่ภายใต้ มีเพียงการเล่นยาเสพติดเราถึงมีโอกาสพบเจอสรวงสวรรค์
ตรรกะเพี้ยนๆของตัวละครทั้งหลายในภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะทำให้ผู้ชมสังเกตเห็นความผิดปกติ “Are you crazy?” ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจ ทำไมพวกเขาถึงครุ่นคิดแบบนั้น ก็จะตระหนักว่าเราไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ คนพรรค์นี้ ไม่มีอะไรดีในการคบหาคนพาล
ผมพยายามหาข้อมูลว่าผู้กำกับ Gus Van Sant เคยมีประสบการณ์เรื่องยาเสพติดหรือเปล่า? แต่ก็ไม่เคยพบเห็นในบทสัมภาษณ์ใดๆเลยนะครับ อาจจะมีหรือไม่เคยมี แต่เจ้าตัวเล่าว่าเคยพบเห็นอะไรๆมากมาย ระหว่างอาศัยใช้ชีวิตอยู่ใน Hollywood ช่วงทศวรรษ 70s-80s หนึ่งในนั้นก็น่าจะรวมถึงการเล่นยาของบรรดานักแสดง/บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ซึ่งสามารถพบเห็นใกล้ตัวมากๆ
I lived in Hollywood for about six years. And I think it’s sort of like the thing that you see: the first thing you see when you hang out or work there is that it’s all like a false front—like in an old western set—that the storefront can fall down, and there’s nothing in back of it. And that it’s all an illusion—that these sort of cinematics or powers are—they’re actual; they’re real people, even though they’re not necessarily acting like real people. I mean, sometimes they—the people that are there, and everywhere else too—it’s true of the rest of society, just sort of more pronounced there.
Gus Van Sant
ไม่รู้ทำไมรับชม Drugstore Cowboy (1989) ทำให้ผมหวนระลึกนึกถึง Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) ว่ากันตามตรงสองเรื่องนี้ละม้ายคล้ายกันมากๆ เกี่ยวกับคาวบอยที่ชอบออกปล้น (ธนาคาร, โรงพยาบาล, ร้านขายยา ไม่ได้แตกต่างสักเท่าไหร่หรอกนะ) แล้วถูกไล่ล่าติดตาม จนบังเกิดความขลาดหวาดกลัว เลยตัดสินใจหลบหนีให้ไกล แล้วขอเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่หวนกลับเป็นอาชญากรอีกต่อไป
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนัง Toronto International Film Festival ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ‘Universal Acclaim’ แต่กลับทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $4.7 ล้านเหรียญ ช่วงปลายปีเลยไม่มีโอกาสลุ้นรางวัลใดๆ
โดยส่วนตัวรู้สึกเสียดาย Drugstore Cowboy (1989) ทั้งๆที่มาก่อนกาลแต่กลับค่อยๆถูกหลงลืมเลือน กลายสภาพเหลือเพียง ‘อเมริกันคลาสสิก’ คนรุ่นเก่าอาจยังชื่นชอบประทับใจ แต่วัยรุ่นสมัยใหม่คงมองว่าเฉิ่มเชยล้าหลัง ผมอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางเลยอ้ำๆอึ้งๆ ชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง แต่เรื่องราวของหนังถือว่า …
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับการเล่นยาที่เน้นการสร้างข้อคิด คติสอนใจ พร้อมด้วยคำพูดเฉียบคมคาย นำเสนอผ่าน’วงใน’ของคนเล่นยา รับชมแล้วน่าจะก่อบังเกิดสติ ให้สามารถหยุดยับยั้ง ครุ่นคิด ชั่งใจ (เหมาะกับคนที่ยังไม่ถลำตัวลึกลงไป)
จัดเรต 15+ กับการเสพยา วางแผนปล้น เต็มไปด้วยความรุนแรง
Leave a Reply