Du skal ære din hustru (1925) : Carl Theodor Dreyer ♥♥♥♥
แม้ไม่ได้รับการจดจำมากเท่า The Passion of Joan of Arc (1928) แต่ก็ต้องยอมรับว่า Master of the House (1925) ของ Carl Theodor Dreyer นำเสนอเรื่องราวทรงคุณค่ายิ่งสำหรับครอบครัว เมื่อสามีทำตัวเผด็จการ ภรรยาก้มหัวยอมตามทุกสิ่ง ใครกันแน่คือเจ้าของบ้านหลังนี้แท้จริง?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Kammerspielfilm คือชื่อแนวภาพยนตร์ในยุคหนังเงียบของ Weimar Germany เพราะความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หมดซึ่งงบประมาณสำหรับสร้างภาพยนตร์ระดับอลังการ Epic แบบค่านิยม Hollywood ของ D. W. Griffith หรือ Cecil B. DeMille เลยหันมามุ่งเน้นทุนสร้างต่ำ ขายแนวคิด สร้างบรรยากาศ รับอิทธิพลจากละครเวทีแนว Chamber Drama เรื่องราวมักข้องเกี่ยวกับคนชนชั้น Lower-Middle Class อาศัยอยู่ภายในห้องหับ/อพาร์ทเมนท์ ซึ่งจะสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครออกมา ยกตัวอย่างเช่น The Cabinet of Dr. Caligari (1920), Shattered (1921), The Last Laugh (1924), Berlin: Symphony of a Metropolis (1927), Pandora’s Box (1929) ฯ
Master of the House (1925) ถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆจาก Kammerspielfilm ส่วนใหญ่ถ่ายทำภายในห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์หลังเล็กๆของครอบครัวหนึ่ง ทุกเหตุการณ์กระทำนั้นเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่แฝงความรู้สึกเก็บกดดัน อึดอัดคับข้อง สะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครออกมาได้อย่างทรงพลัง
เอาจริงๆถ้าไม่นับ The Passion of Joan of Arc คงต้องถือว่า Master of the House คือผลงานยุคหนังเงียบดีที่สุดของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer พล็อตเรื่องราวคล้ายคลึง Gertrud (1964) โดยมีโคตรไฮไลท์คือความสมมาตรระหว่างครึ่งแรก-ครึ่งหลัง เมื่อสามีจอมเผด็จการได้ถูกย้อนแย้งโดยมารดาตนเอง ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง’
Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark มารดาเป็นคนรับใช้ตั้งครรภ์กับเจ้านายคลอดเขาออกมา แต่แล้วเมื่อกำลังจะมีคนที่สองพยายามทำแท้งแต่เลือดตกในเสียชีวิต สองปีแรกอาศัยอยู่ยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งว่าได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่บุญธรรม กระนั้นพวกเขาก็ไม่ใคร่สนใจใยดี เสี้ยมสอนสั่งให้รู้จักสำเหนียกระลึกบุญคุณต่ออาหารและหลังคาคลุมกะลาหัว ด้วยเหตุนี้พออายุ 16 จึงหลบหนีออกจากบ้าน ด้วยความเฉลียวฉลาดเรียนเก่งเลยได้ทำงานเป็นนักข่าว ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงหนังเงียบ เป็นนักออกแบบ Title Card ต่อมาพัฒนาบทหนัง กระทั่งได้รับโอกาสสร้าง The President (1919), The Parson’s Widow (1920), Master of the House (1925), แม้เสียงตอบรับดีเยี่ยมแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงิน เลยออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสสร้าง The Passion of Joan of Arc (1928) กลายเป็นตำนานโดยทันที!
Du skal ære din hustru (ชื่อภาษาเดนมาร์ก แปลว่า Thou Shalt Honour Thy Wife) หรือ Master of the House ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง Tyrannens Fald หรือ Fall of the Tyrant (1919) แต่งโดย Svend Rindom (1884 – 1960) นักเขียน/นักแสดงสัญชาติ Danish เปิดการแสดงที่ Det ny Teater, Copenhagen จำนวน 98 รอบ ติดตามด้วยออกทัวร์ทั่วประเทศ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย
Dreyer คงมีโอกาสรับชมแล้วเกิดความสนใจ เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไว้ล่วงหน้า เมื่อของบประมาณทุนสร้างได้จาก Palladium Film จึงเริ่มดัดแปลงบทภาพยนตร์ … แต่ลักษณะของละครเวทีกับภาพยนตร์นั้นแตกต่างกันมาก นอกจากตัดทอนบทพูดสนทนาลดน้องลง ยังต้องเปลี่ยนให้ตัวละครมุ่งเน้นการกระทำ มีความเป็น Minimalist จนแทบจะเรียกได้ว่าบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา
“In the theatre, you have time to write, time to linger on words and feelings, and the spectator has time to perceive these things. In the cinema it is different. This is why I have always concentrated on the purification of the text, which I compress to the minimum. I did this as early as Master of the House … we compressed it, cleaned it, purified it and the story became very clear, very clean”.
– Carl Theodor Dreyer
เรื่องราวของ Viktor Frandsen (รับบทโดย Johannes Meyer) สามีผู้เพิ่งประสบความล้มเหลวจากธุรกิจ นำเอาความหงุดหงิดกลับมาบ้าน วางตัวสูงส่งดั่งพระราชา สั่งโน่นนี่นั่นให้ภรรยา Ida (รับบทโดย Astrid Holm) ต้องคอยเอาอกเอาใจ รับใช้อย่างขี้ข้าทาสบริวาร พานพบเห็นโดยแม่นม Madsen (รับบทโดย Mathilde Nielsen) ทนรับไม่ได้เลยให้แม่ของ Ida มาลักพาตัวไป แล้วตนเองจักคอยเสี้ยมสอนสั่ง ชี้ชักนำ บงการชีวิต Viktor ให้เขาได้ตระหนักรับรู้สึกสาแก่ใจ
เกร็ด: ความหมายชื่อตัวละคร
– Ida ภาษาเยอรมันแปลว่า Labor, Work
– Viktor ภาษารัสเซียแปลว่า Victory
– Madsen ภาษา Danish แปลว่า Son of Mads, ส่วนคำว่า Mads ภาษา Danish ของ Matthew
นำแสดงโดย Johannes Meyer (1884 – 1972) นักแสดงสัญชาติ Danish เกิดที่ Skodsborg, หลังเรียนจบจาก Gymnasium สมัครเข้า Royal Theatre School แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกถึงสองครั้งครา กระนั่นกลับได้ขึ้นแสดงละครเวทียัง Dagmarteatret, Copenhagen ตั้งแต่ปี 1905 สลับไปมากับภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่อง ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Master of the House (1925)
รับบท Viktor Frandsen สามีผู้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เผด็จการ ชี้นิ้วสั่งภรรยา ทุกสิ่งอย่างต้องได้ดั่งใจตน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเธอหายตัวไปจากบ้าน ทำให้เขาโหยหาใคร่ครวญคิดถึง แถมยังถูกกดขี่ข่มเหงโดยแม่นม Mads รู้สึกตนว่าได้กระทำสิ่งชั่วเลวร้าย ค่อยๆสามารถกลับตัวกลับใจได้
ความเผด็จการของ Viktor สะท้อนสภาพจิตใจของเขาหลังประสบความล้มเหลวในธุรกิจ เต็มไปด้วยอาการเครียด เก็บกด กลับมาบ้านเลยต้องการอยู่สบาย อย่างน้อยสถานที่แห่งนี้ฉันก็ไม่ต้องครุ่นคิดทำอะไร … นี่ถือเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจประเภทหนึ่ง
การแสดงของ Meyer แม้ดูเกรี้ยวกราดรุนแรง แต่เขาก็ไม่ได้ทำในสิ่งคลุ้มคลั่งเสียสติแตก พอพบเห็นแนวโน้มสามารถกลับตัวกลับใจ ซึ่งเมื่อถูกแม่นมเสี้ยมสอนสั่ง ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจสักอย่าง ค่อยๆเรียนรู้คุณค่าการเสียสละของภรรยา นี่ฉันกดขี่ข่มเหงเธอมากเกินไปจริงๆด้วย
Astrid Holm (1893 – 1961) นักแสดงสัญชาติ Danish เกิดที่ Sorø Municipality, วัยเด็กร่ำเรียนเต้นที่ Royal Danish Ballet แต่ไปๆมาๆมีความสนใจด้านการแสดงมากกว่า ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้เป็นนักแสดงประจำ Det Ny Teater ติดตามมาด้วย Royal Danish Theatre เข้าตาสตูดิโอภาพยนตร์ Nordisk Film จับเซ็นสัญญา แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติกับ The Phantom Carriage (1921), Häxan (1922), Master of the House (1925) ฯ
รับบท Ida ภรรยาที่ราวกับนางฟ้า อุทิศชีวิตทุกสิ่งอย่างให้สามี Viktor ยินยอมก้มหัวทำตามคำร้องขอเขาทุกสิ่งอย่าง แต่ก็ขี้หลงลืมทำผิดพลาดพลั้งบ่อยครั้ง หลังจากถูกแม่บีบบังคับให้ต้องพลัดพรากจากชั่วคราว นอนซมทุกข์ทรมานกลายเป็นไข้ใจ แต่ไม่นานเมื่อหวนกลับมาเดี๋ยวก็คงหายขาดไปเอง
เพราะรักมากทำให้ Ida ยินยอมก้มหัวให้สามี ถึงวันนี้แม้เขาจะเผด็จการ แต่ก็ด้วยสาเหตุผลที่พอเข้าใจได้ ไม่ยินยอมถ้าต้องพลัดพรากจากไป แล้วใครไหนจะมาดูแลใส่ใจเขาแทนตน!
ภาพลักษณ์ของ Holm ช่างมีความบริสุทธิ์สดใส รูปเอวบางร่างน้อย สามารถพริ้วไหวไปมารอบห้องได้อย่างเชี่ยวชำนาญ แม้แรกเริ่มจะไม่พบเห็นรอยยิ้มร่า สีหน้าเต็มไปด้วยอาการอมทุกข์ สวมหน้ากากความเจ็บปวดรวดร้าวไว้ภายใน แต่พอช่วงท้ายเมื่อได้เดินทางกลับมาบ้าน รอยยิ้มเบิกบานทำให้โลกที่โหดร้ายกลายเป็นมีสีสัน กระชุ่มกระชวยไปด้วยรัก พร้อมให้อภัยสามีไม่ว่าจะเห็นผิดเป็นชอบประการใด
Mathilde Nielsen (1858 – 1945) นักแสดงสัญชาติ Danish เกิดที่ Copenhagen, โตขึ้นเริ่มต้นเป็นนักแสดงยังโรงละคร Casino ต่อด้วย Dagmarteatret, Folketeatret และ Det ny Teater ทั้งยังเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุ เข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่ออายุย่าง 50 ปี เซ็นสัญญากับ Nordisk Film ได้รับความนับหน้าถือตา มักรับบทคนชราสูงวัย คอยชี้ชักนำ เสี้ยมสั่งสอนคนรุ่นหลังให้อยู่ในลู่หนทางที่ถุกต้อง ผลงานโด่งดังสุดคือ Master of the House (1925)
รับบท Miss Madsen ชื่อเล่น Mads แม่นมของ Viktor เลี้ยงดูแลเขามาตั้งแต่ยังแบเบาะ พอพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เลยยินยอมรับไม่ได้ วางแผนการเพื่อจะตบเตือนสติ เรียกตัวตนแท้จริงให้หวนกลับคืนมา ด้วยวิธีการที่เรียกว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
ครึ่งแรกของหนัง Mads จะเพียงสังเกตุการณ์ เหลือบตาขึ้นมองอยู่ห่างๆ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่สามารถอดรนทนต่อไปได้อีกแล้ว ครึ่งหลังค่อยๆแสดงธาตุแท้ ที่แม้เป็นการสวมหน้ากาก บางสิ่งอย่างต้องมาร้ายๆบ้าง เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ตระหนักถึงข้อเท็จจริง ความผิดพลั้งมองไม่เห็นจากมุมมองตนเอง
กลายเป็นว่า Nielsen คือตัวเอกที่แท้จริงของหนัง ด้วยสีหน้ายียวน ท่าทางกวนประสาท มองผิวเผินคือนางมารร้าย ต้องการแก้แค้นเอาคืน ตบหน้าให้สาสม แต่แท้จริงแล้วภายในล้วนคาดหวัง ตั้งใจดี จะยิ้มสักทียังต้องแสร้งกลบเกลื่อนพูดอะไรอย่างอื่น (คือพยายามอยู่ในบทบาทร้ายตลอดเวลา ให้ตัวละครรู้สึกสำนึกตนเองว่าได้กระทำสิ่งผิดพลาดพลั้งไป)
ถ่ายภาพโดย George Schnéevoigt (1893 – 1961) ผู้กำกับ/นักแสดง/ตากล้อง สัญชาติ Danish,
โดยปกติแล้วหนังเงียบก่อนหน้านี้ มักจะไม่สร้างฉากภายในบ้าน/อพาร์ทเม้นท์ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยสมจริงขนาดนี้ แต่เพราะผู้กำกับ Dreyer ต้องการให้ผู้ชมพบเห็นวิถีชีวิต ตื่นเช้ามาภรรยา/แม่ต้องทำอะไรๆบ้างให้ครอบครัว และยังสะท้อนสภาวพจิตวิทยาของสามี ครึ่งแรกทุกสิ่งอย่างจัดวางเป็นระเบียบแบบแผน ครึ่งหลังแม่นมทำทุกสิ่งอย่างให้ระเกะระกะขวางทาง
นับตั้งแต่ The Parson’s Widow (1920) ที่ผู้กำกับ Dreyer ใส่เทคนิคลูกเล่นกับ Iris Shot เพื่อให้ผู้ชมจับจ้องมองเห็นแค่ตัวละครเท่านั้น แต่เรื่องนี้จะใช้การสาดแสงไฟยังบริเวณที่ต้องการให้สว่างจร้า มองดูคล้ายๆแต่ถือว่าแตกต่าง มันเลยไม่ใช่แค่วงกลมๆล้อมรอบอย่างเดียวที่พบเห็น ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพอารมณ์ จิตวิทยา ความเห็นแก่ตนเอง ไม่สนสิ่งอื่นใด ฯ
และที่โดดเด่นกว่านั้นอีกคือระยะภาพ ตำแหน่งเคลื่อนไหว ทิศทางตัวละคร (ต้องคอยสังเกตกันหน่อยนะ) ยกตัวอย่างเช่น
– ครึ่งแรกมุมกล้องสำหรับ Vicktor มักพบเห็น Medium Shot ยืนหันข้าง นั่งหันหลัง เพื่อสร้างช่องว่าง ระยะห่างความสัมพันธ์ ทำให้ไม่ค่อยพบเห็นใบหน้าดวงตา, ครึ่งหลังเมื่อเริ่มตระหนักได้ถึงการกระทำ Close-Up สีหน้าเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
– บนโต๊ะอาหารทั้งๆเป็นโต๊ะกลม แต่ครึ่งแรก Vicktor จะนั่งหันหลังตั้งฉากกับ Ida และบุตรสาว ตรงกันข้ามคือแม่นมมองตากันไม่ติด, ฉากท้ายสุดเท่านั้นที่ทุกคนนั่งล้อมรอบโต๊ะเป็นวงกลม (และ Vicktor หันหน้าเข้าหากล้อง)
– เมื่อตอน Ida นำแอปเปิ้ลเผาให้ Vicktor เขายืนหันหลังให้เธอ บอกว่าบ้านนี้ไม่มีการประจบประแจงเอาใจ
– หลายครั้งของครึ่งแรกที่ Vicktor ยืนค่ำหัวภรรยา วางตัวสูงส่งเหนือกว่า เว้นเพียงช่วงท้ายเมื่อหวนกลับมาพบเจอ เขานั่งคุกเข่าศิโรราบ ครั้งเดียวเลยกระมังที่ศีรษะอยู่ตำแหน่งต่ำกว่า
– ผิดกับ Vicktor และ Mads ทุกครั้งเขาพยายามยืนขึ้นให้ตนเองอยู่ตำแหน่งสูงกว่า แต่แทบทุกครามีเรื่องให้ถูกกดขี่ ข่มเหง สั่งให้นั่งลงแล้วบิดหู ฟาดไม้เรียว -ราวกับเด็กน้อย- มิให้สามารถขัดขืนต่อกรใดๆ
– ตอนที่ Mads หยิบไม้เรียว ต้องการเสี้ยมสอนสั่น Vicktor เธอเดินเข้าหา ตัดสลับกับภาพเขาถอยเขยิบห่าง (แสดงออกถึงความหวาดสะพรึงกลัว)
ช็อตแรกของหนัง Ida เปิดประตูเข้ามา (นี่แทบจะเป็นลายเซ็นต์ผู้กำกับ Dreyer พบเห็นในหลายๆผลงาน) กิจกรรมที่เธอทำยามเช้า อาทิ จุดไฟต้มน้ำ, ทาเนยใส่ขนมปัง, จัดโต๊ะอาหาร, ปลุกสามี, ให้อาหารนก, ขัดรองเท้า, แปรงเสื้อโค้ท ฯ
ใครช่างสังเกตช็อตนี้จะพบเห็นเงาของ Ida สาดลงตรงนาฬิกา(แห่งความรัก)พอดิบพอดี ซึ่งเป็นการแฝงนัยยะถึงตัวตนของเธอขณะนี้ เพียงแค่เงาในสายตาของสามี Vicktor
สิ่งแรกที่พ่อร้องเรียกหายามตื่นขึ้นมาคือ รองเท้า! สัญลักษณ์ของการรับใช้ คุณค่าต่ำต้อย ทั้งแค่อยู่ในตู้ด้านข้างกลับทำตัวอย่างพระราชา
สังเกตภาพช็อตนี้ เพียงตรงกลางเท่านั้นที่สว่างจร้า นี่เกิดจากการสาดส่องแสงไฟสาดส่องเข้าหาตัวละคร แล้วปล่อยให้รอบข้างมืดมิดมิดสนิท มอบสัมผัสที่ตรงกับสภาพมึนๆเพิ่งตื่นนอนของ Vicktor
การเคลื่อนกล้องในยุคสมัยนั้น เป็นความยุ่งยากแต่สามารถมองว่าคือความท้าทาย กล้องไถลจากขวาไปซ้ายแล้วหวนกลับมา พบเห็นความวุ่นวายยามเช้าของ Ida ต้องทำอาหาร แพ็กมื้อกลางวันให้ลูก ไหนยังต้องสอนท่องสูตรคูณ … ทั้งหมดนี้รวมในช็อตเดียว แค่เห็นก็ชวนให้เหน็ดเหนื่อยแทน
ความบ่นของพ่อ ประกอบด้วย
– อาหารมาเสิร์ฟช้า ไม่ได้ดั่งใจ
– รองเท้าเป็นรูไม่ได้รับการซ่อมแซม (ถ้าเปรียบ Ida คือรองเท้า/คนรับใช้ เป็นรูก็คือจิตใจเธอเกิดช่องโหว่แห่งความรัก)
– กาแฟไม่มีช้อนคน (ชีวิตขาดความกลมกล่อม)
– ขนมปังทาแยมน้อยนิด (เรียกร้องให้ชีวิตมีความหวานฉ่ำ)
– เสื้อโค้ทไม่ได้รับการแปรง ปัดฝุ่น (สร้างภาพให้ตนเองดูดี แต่ภายในกลับ…)
– ขาเก้าอี้โยก (ชีวิตคู่/ครอบครัวที่สั่นคลอน)
ฯลฯ
สังเกตแสงไฟสาดส่องหานักแสดงช็อตนี้ มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ สะท้อนได้ถึง
– ความเห็นแก่ตัวของ Vicktor มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
– ความสัมพันธ์ระหว่าง Vicktor กับภรรยา Ida ค่อยๆเจือจางลงจบแทบไม่สนหัว
การมาถึงของ Mads โยงใยที่แขวนผ้าไปทั่วห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์แบบไม่สนความเป็นระเบียบเรียนร้อย ถือว่าสะท้อนสภาพจิตใจแท้จริงของ Vicktor เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เละเทะ ระเกระระกะ แต่เขายังคงแสดงความเห็นแก่ตัวออกมาไม่น้อยทีเดียว
อะไรๆค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีขึ้น เมื่อ Vicktor เริ่มให้อาหารนกในกรง (สัญลักษณ์สุดคลาสสิกของชีวิต/ตัวละคร/สภาพจิตใจ ที่ถูกกักขัง ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไม่ได้รับอิสรภาพโบยบิน) หยอกล้อเล่นกับมัน ทั้งๆก่อนหน้าเคยโกรธเกลียด มีอคติ นี่สะท้อนถึงการเรียนรู้จักดูแล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ครุ่นคิดถึงมุมมองผู้อื่นบ้าง
เป็นช็อตน่ารักสุดแล้วกระมังในหนัง เมื่อ Ida หวนกลับมาบ้าน แต่แม่นมยังไม่ให้พบเจอหน้าสามี จับเธอหลบในตู้เสื้อผ้า (สัญลักษณ์ของจิตใจ) แต่เธอก็เปิดหน้าต่างยื่นหน้ามาแอบมอง พร้อมรอยยิ้มกริ่มเล็กๆ แล้วก็ถูกตบปิดอย่างรวดเร็ว!
ที่โต๊ะรับแขก จะมีรูปภาพหนึ่งซึ่งคือต้นไม้ สัญลักษณ์ของความผ่อนคลาย สงบร่มเย็น ซึ่งสองสามครั้งที่ตัวละครยืนนั่ง ค่อมหัว และคุกเข่า เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจของเขาออกมาว่าได้พบเจอความสุขสงบขึ้นเสียที
ช็อตนี้น่าจะคือครั้งเดียวในหนังที่ศีรษะของ Vicktor อยู่ต่ำกว่า Ida ร่ำร้องรอให้เธอยกโทษอภัยทุกสิ่งอย่างเลวร้ายเคยกระทำมา
และนาฬิกาแห่งความรัก ก็ได้เริ่มเดินหมุนขึ้นอีกครั้ง
ตัดต่อโดย Carl Theodor Dreyer, ให้ห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์หลังนี้คือจุดหมุน เรื่องราวเวียนวนแบ่งออกเป็นสององก์ ซึ่งมีความสะท้อนกันและกัน
– ครึ่งแรก, Vicktor กับ Ida เมื่อสามีเผด็จการกดขี่ข่มเหงภรรยา
– ครึ่งหลัง, Vicktor กับ Mads เมื่อแม่นมย้อนแย้งแผงศรกลับใส่ลูกเต้า
การตัดต่อต้องชมเลยว่ามีความประณีตบรรจง ร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง ลื่นไหล คลอบคลุม ไม่มีอะไรตกหล่นหาย เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ครบถ้วน หลายครั้งตัดสลับไปมาระหว่างอยู่ในบ้าน-ออกไปข้างนอก หรือ Action-ReAction สลับกับ Title Card ได้อย่างเพียงพอดี
ฉากที่ถือเป็นไฮไลท์ของการตัดต่อ ตอนแม่นม Mads เสี้ยมสอนสั่งด้วยคำพูดกับ Vicktor เริ่มต้นจากสั่งให้เขานั่งลง ภาพสลับไปมาระหว่างใบหน้าของเธอกับ Title Card ขึ้นข้อความเน้นๆ
– You men are all alike.
– Foolish
– Stubborn
– Vain
– Conceited!
ซึ่งไม่เพียงสร้างความตกตะลึงงันให้ผู้ชม ตัวละครยังเกิดอาการตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัว ขนาดว่า Mads ก้าวเดินไปหน้าพร้อมไม้เรียว Vicktor แม้นั่งอยู่ยังพยายามถดถอยหลัง ถือเป็นฉากที่มีความทรงพลังในการเล่าเรื่องอย่างเหลือล้น
เกร็ด: มีนักวิจารณ์นั่งนับปริมาณการตัดต่อ มีทั้งหมดกว่า 1,100+ ครั้ง มากกว่าโดยเฉลี่ยของหนัง 90 นาทีเสียอีกนะ! (จริงไหมใครว่างก็ลองนับดูเองนะครับ)
Master of the House ใครกันแน่คือผู้ใหญ่สุดในบ้าน?
– แรกเริ่มหนังนำเสนอ สามี/พ่อ แสดงออกอย่างพระราชา เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ทุกคนต้องกระทำตามคำสั่งเรียกร้องของตนเอง
– ครึ่งหลังเมื่อบุรุษสูญเสียอำนาจ แม่นม/อิสตรี เลยก้าวขึ้นมาแทนที่! ด้วยจิตสำนึกเคยเป็นผู้มีพระคุณ ทำให้สามี/พ่อไม่กล้าหือ ต่อกร กระทำอะไรร้ายรุนแรงโต้ตอบ ยินยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ปล่อยให้เธอควบคุมสั่งการทุกสิ่งอย่าง
เอาจริงๆสรุปแล้วไม่มีใครถือว่าเป็นใหญ่สุดในบ้านนะครับ! กับคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย หรือมีศาสนาคือเครื่องค้ำจุนจิตใจ ย่อมครุ่นคิดเห็นรู้ว่า ‘ทุกคน’ คือ Master of the House เหมารวมทั้งหมดถึง พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ญาติพี่น้อง แม้แต่ลูกหลานเหลน ไม่มีใครยิ่งใหญ่โต สูงศักดิ์กว่า เหนือล้ำค่าใคร
สองสามีภรรยาคู่นี้ ถือว่ามีความ ‘หลงผิด’ ในตนเอง
– Vicktor โหยหาความสะดวกสบายเพราะอีกด้านมุมหนึ่งของชีวิตเต็มไปด้วยวิกฤตการงาน นั่นทำให้เขา ‘หลงผิด’ ครุ่นคิดไปว่า ครอบครัวคือรองเท้า/คนรับใช้ สามารถชี้นิ้วออกคำสั่ง ให้ตอบสนองความต้องการของตนเองทุกสิ่งอย่าง
– Ida รับรู้เข้าใจเหตุผลของสามีที่เป็นเช่นนี้ เลยยินยอมคล้อยตาม เล่นเกมคำสั่งโดยไม่โต้ตอบขัดขืน นั่นคืออาการของคน ‘หลงผิด’ แทนที่จะช่วยเหลือกันแก้ปัญหา กลับทำตัวไร้สมองสติปัญญา โอนอ่อนผ่อนตาม เสียสละตนเองแบบหน้ามืดตามัว
วิธีแก้ไขอาการ ‘หลงผิด’ เริ่มต้นด้วยเผชิญหน้าความจริง และเรียนรู้จักการถูกกระทำเสียบ้าง!
– ครึ่งหลังของ Vicktor ถูกแม่นำ Mads ย้อนแย้งทุกการกระทำในครึ่งแรก ตระหนักรู้ กลายเป็นบทเรียนสอนใจ ฉันไม่ควรแสดงออกแบบนี้เลย
– Ida ลุ่มหลงอยู่ในมโนภาพลวงตา เมื่อลูกชายขอให้อ่านหนังสือเลยเกิดความตระหนักเข้าใจ ใช้เวลาเยียวยารักษาแผลภายใน เรียนรู้จักการเผชิญหน้าความจริง จึงสามารถมีชีวิตก้าวต่อไปได้
ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer อาศัยอยู่กับพ่อเลี้ยงบุญธรรม ที่พยายามควบคุม ครอบงำ ไม่ต่างกับตัวละคร Vicktor ที่มีความเผด็จการ เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ! สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอมุมมองตนเอง อยากมีใครสักคนหาญกล้า กระทำสิ่งย้อนแย้งตลบแตลง โต้ตอบสนอง จะได้เลิกเห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว จักสามารถเข้าใจวิถีทางถูกต้องของชีวิตครอบครัว
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนสถานะของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลายๆประเทศอยู่ในสภาพสั่นคลอน ระบบการปกครองที่เคยเป็นเผด็จการ ราชาธิปไตย กำลังค่อยๆถูกร้องเรียกจากประชาชนให้คืนอำนาจ โหยหาประชาธิปไตย เสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม บุคคลอย่าง Vicktor กำลังได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ … แต่ไม่เห็น ‘หมู’ ประเภทนี้จะสูญพันธุ์หมดไปจากโลกเลยนะครับ!
แม้ได้รับเสียงวิจารณ์ดีเยี่ยม แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทำเงินสักเท่าไหร่ในบ้านเกิด Denmark นั่นคือเหตุผลให้ Carl Theodor Dreyer จำต้องดิ้นรนออกหาโปรเจค/ทุนสร้างต่างประเทศ ติดตามมาด้วย The Bride of Glomdal (1926) [สร้างให้ Sweden] และ The Passion of Joan of Arc (1928) [ทุนจากสตูดิโอฝรั่งเศส]
ในส่วนเนื้อเรื่องราว ผมมีความเต็มอิ่มพึงพอใจ Master of the House มากยิ่งกว่า The Passion of Joan of Arc แง่เทคนิคก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างจักรวาลของ ‘Dreyer’ ขึ้นมา (คือมีความเป็น Dreyer-style มากกว่าเสียอีกนะ) แต่ความยิ่งใหญ่กลับตารปัตรตรงกันข้าม บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเพราะอะไร?
ส่วนตัวมองว่าตำนานที่รายล้อมรอบ The Passion of Joan of Arc ช่วยเสริมส่งให้หนังมีอิทธิพลยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา อย่างเช่น ผู้กำกับบีบบังคับให้นักแสดงนั่งคุกเข่าหลายชั่วโมง คาดเค้นเอาความเจ็บปวด/หยาดน้ำตาหลั่งออกมา, จุดไฟกองฟาง ตั้งใจจะเผาจริงๆเพื่อให้นักแสดงมีสีหน้าตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัว ฯ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” บทเรียนสอนผู้นำครอบครัว (ไม่ว่าจะชาย/หญิง) ควรที่ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” อย่าลุ่มหลงระเริงตนเอง กระทำในสิ่งอีกฝ่ายไม่เห็นพ้อง สอดคล้อง เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เพราะอาจทำให้ทุกสิ่งอย่างปลูกสร้างมา พลันแตกรวดร้าว สูญสลาย จางหายในชั่วข้ามคืน
วิธีการจะตอบโต้เผด็จการได้อย่าเผ็ดลาบ คือต้องมีใครสักคนหาญกล้า กระทำสิ่งย้อนแย้งตลบแตลงให้เขารู้สำนึกเข้ากับตนเอง ซึ่งถ้าไม่ใช่คนมืดบอดสนิท หรือบัวในโคลนตม ก็ย่อมสามารถตระหนักขึ้นได้
จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เผด็จการ และใช้ความรุนแรงโต้ตอบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
Leave a Reply