Duel

Duel (1971) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥♥

ผลงานเรื่องแรกได้รับโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Steven Spielberg นำเสนอการท้าดวลระหว่างรถเก๋ง vs. รถบรรทุก ที่มีความเสี่ยงอันตราย ท้าความตาย เต็มไปด้วยความตื่นเต้นลุ้นระทึก และแฝงนัยยะลุ่มลึกอย่างคาดไม่ถึง

ดั้งเดิมนั้น Duel (1971) สร้างขึ้นสำหรับฉายรายการโทรทัศน์ Movie of the Week ออกอากาศทางช่อง ABC แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ดีล้นหลาม เลยได้รับทุนเพิ่มเติมจาก Universal Television ขยับขยายกลายมาเป็นฉบับภาพยนตร์ความยาว 90 นาที อาจไม่ได้ทำเงินสักเท่าไหร่ แต่สามารถสร้างกระแส Cult Classic

นั่นเพราะเรื่องราวของ Duel (1971) สามารถตีความได้มากกว่าแค่การดวลกันระหว่างรถเก๋ง vs. รถบรรทุก, มนุษย์ (man) vs. จักรกล (machine), ยังเหมารวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศ สถานะทางครอบครัว ชนชั้นทางสังคม แถมเรื่องราวเกิดขึ้นวันเดียวกับเหตุการณ์ลอบสังหารปธน. John F. Kennedy และยังมีนักวิจารณ์นำการต่อสู้ครั้งนี้ไปเปรียบเทียบปรัมปรา David and Goliath (Jack ผู้ฆ่ายักษ์) … สิ่งเหล่านี้แม้แต่ผกก. Spielberg ก็ยังบอกว่าครุ่นคิดไม่ถึงจริงๆ

It taught me to think a little more in the abstract […] It really instructed me not to just look at something and say, ‘Okay, everybody is bound to see this picture the way I see this picture. We’re going to see the same colors, the same sky and horizon. We’re going to interpret this exactly alike.’ I learned very early on that nobody ever sees the same picture the same way. It’s impossible.

Steven Spielberg

เอาจริงๆผมรู้สึกว่า Duel (1971) อาจเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผกก. Spielberg เสียด้วยซ้ำ! เต็มไปด้วยกลิ่นอาย Clouzot และ Hitchcockian ส่วนผสมระหว่าง The Wages of Fear (1953), Psycho (1960) และ Bullitt (1968) โดยเฉพาะลีลาตัดต่อที่สามารถสร้างความหวาดระแวง วิตกจริต (Suspense) และการใช้เสียง (Sound Effect) ราวกับรถทั้งสองคันสามารถพูดคุยสื่อสาร (ส่งเสียงบรื้นๆ มากกว่าบทพูดตัวละครเสียอีกนะ!)


Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio ในครอบครัว Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชอบเล่าอดีตถึงญาติพี่น้องที่ต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี, ตั้งแต่เด็กค้นพบความสนใจในสื่อภาพยนตร์ Captains Courageous (1937), Pinocchio (1940), Godzilla, King of the Monsters (1956), Lawrence of Arabia (1962), รวมถึงหลายๆผลงานของผู้กำกับ Akira Kurosawa, กำกับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก Firelight (1963) โดยได้ทุนจากครอบครัว $500 เหรียญ

หลังเรียนจบมัธยมปลายมุ่งสู่ Los Angeles เข้าศึกษาต่อ California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานยัง Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้น Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมายจนไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขณะนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ Night Gallery (1969) ตอน Eyes นำแสดงโดย Joan Crawford แม้เสียงตอบรับจะไม่ค่อยดีนัก แต่ได้รับคำชื่นชมจาก Crawford เชื่อเลยว่าไอ้เด็กคนนี้อนาคตไกลแน่ๆ

สำหรับ Duel (1971) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Richard Matheson ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรง หลังเลิกเล่นกอล์ฟกับเพื่อนสนิท ระหว่างทางขับรถกลับบ้าน ถูกรถบรรทุกพยายามจี้ท้ายด้านหลัง พอปล่อยให้แซงกลับแสร้งขับช้าๆ ทำท่าทางยียวนกวนบาทา และที่จดจำไม่ลืมเพราะวันนั้น 22 พฤศจิกายน 1963 เดียวกับปธน. John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเสียชีวิต!

เกร็ด: Richard Matheson (1926-2013) นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง I Am Legend (1954), The Shrinking Man (1956), What Dreams May Come (1978) ฯลฯ

Matheson พยายามนำประสบการณ์ดังกล่าวไปเสนอขายตามสถานีโทรทัศน์ แต่กลับไม่มีใครไหนให้ความสนใจ เลยลงมือเขียนเรื่องสั้น ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Playboy แล้วถูกส่งต่อมาถึงผู้กำกับ Spielberg เข้าไปพูดคุยโปรเจคกับ Universal Television โดยทันที!

เรื่องราวของ David Mann (รับบทโดย Dennis Weaver) เซลล์แมนวัยกลางคน ระหว่างกำลังขับรถไปทำงาน พานผ่านเส้นทาง Mojave Desert พบเจอรถบรรทุกจี้ท้ายด้านหลัง พอปล่อยให้แซงอีกฝ่ายกลับแสร้งขับช้าๆ ท่าทางยียวนกวนประสาทไม่ยอมเลิกรา แวะพักข้างทางยังจอดรอ แถมที่ปั๊ม Snakerama ยังพุ่งชนตู้โทรศัพท์ จนเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าไอ้คนขับรถคันนี้ต้องการเข่นฆาตกรรมตนเอง


William Dennis Weaver (1924-2006) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Joplin, Missouri ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่ยังเด็ก เข้าศึกษายัง University of Oklahoma, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารอากาศ ขับเครื่องบินต่อสู้ Grumman F4F Wildcat, หลังจากนั้นสมัครเข้าเรียน Actors Studio สนิทสนม Shelley Winters ช่วยเหลือให้เซ็นสัญญา Universal Studios, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Redhead from Wyoming (1952), โด่งดังจากสมทบซีรีย์ Gunsmoke (1955-75), ภาพยนตร์ Touch of Evil (1958), Duel (1971) ฯลฯ

รับบท David Mann เซลล์แมนวัยกลางคน แม้แต่งงานมีบุตร แต่ดูแอบๆ ขาดความเชื่อมั่น เหมือนจะให้ภรรยาเป็นผู้นำครอบครัว ระหว่างขับรถไปทำงาน พอถูกรถบรรทุกจี้ท้าย เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดมาก แม้พยายามหลีกเลี่ยง ไม่ต้องการเผชิญหน้าปัญหา แต่เมื่อมิอาจอดรนทนต่อคำท้า จึงต่อสู้กลับ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เอาชีวิตรอดได้อย่างหวุดหวิด

ผู้กำกับ Spielberg พยายามล็อบบี้อยากได้ Weaver เพราะความประทับใจจาก Touch of Evil (1958) แต่อีกฝ่ายก็ยื้อยักเล่นตัว จนกระทั่งก่อนเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำเพียงวันเดียวถึงยินยอมเซ็นสัญญา ขับรถเองทุกฉากยกเว้นไคลน์แม็กซ์ ภายหลังติดอกติดใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ถึงขนาดบอกว่าต้องหวนกลับมาดูอย่างน้อยปีละ 1-2 รอบ

อารมณ์ของตัวละครนี้ราวกับรถไฟเหาะ เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง เดี๋ยวสงบ-เดี๋ยวบ้าคลั่ง เต็มไปด้วยความหลากหลาย ท้าทายการแสดงของ Weaver ที่น่าจดจำก็คือวิธีการ ‘method acting’ ทำให้นำเสนออาการหวาดระแวง วิตกจริต ผ่านทางสีหน้าท่าทาง คำพูดคุยกับตนเอง ผู้ชมสัมผัสถึงความผิดปกติ (ก็ไม่รู้ถึงขั้นป่วยจิตหรือเปล่า) ผสมเข้ากับเทคนิคภาพยนตร์ได้อย่างระทึก ทรงพลัง

ระหว่างรับชมผมไม่รู้สึกถึงความผิดปกติทางเพศใดๆของตัวละคร แต่เพราะมีการชนท้ายรถเก๋ง นั่นสามารถตีความถึงเพศสัมพันธ์ประตูหลัง ช่วงแรกๆ David Mann พยายามจะเร่งความเร็วหลบหนี (เพราะจะบอกว่าฉันไม่ใช่เกย์) แต่ไคลน์แม็กซ์ปล่อยให้อีกฝ่ายประสานงานอย่างเต็มที่ … ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ ผู้กำกับ Spielberg ก็อ้ำๆอึ้งๆ ไม่เคยแสดงความคิดเห็นใดๆออกมา


ถ่ายภาพโดย Jack A. Marta (1903-91) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ในสังกัด Universal Television ผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ What Price Glory (1926), โด่งดังกับหนัง Western เกรดบีนับร้อยๆเรื่องช่วงทศวรรษ 30s-60s อาทิ Dark Command (1940), Hellfire (1949), The Last Bandit (1949), Cat Ballou (1965), ก่อนเปลี่ยนมาถ่ายซีรีย์/ภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์ดังๆอย่าง Batman (1966), Duel (1971), Hawaii Five-O (1978-80) ฯลฯ

โปรดักชั่นซีรีย์โทรทัศน์จะมีความเร่งรีบรวดเร็วกว่าภาพยนตร์หลายเท่าตัว! เตรียมงานสร้างประมาณ 10 วัน ถ่ายทำอีก 10-13 วัน และตัดต่อ/หลังการถ่ายทำอีก 10 วัน รวมๆแล้วโดยเฉลี่ยของยุคสมัยนั้น หนึ่งเดือนตอนหนึ่ง (ตอนถ่ายทำเพิ่มก็ใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น!) ถือเป็นงานไม่ง่ายสำหรับผู้กำกับมือใหม่ แต่สามารถฝึกฝน เรียนรู้งาน สะสมประสบการณ์ได้อย่างดี

แม้หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm แลปสี Technicolor อัตราส่วน Widescreen (1.85:1) แต่เมื่อนำออกฉายทางโทรทัศน์ จำเป็นต้องตัดขอบซ้าย-ขวา (เพื่อให้เหมาะกับจอโทรทัศน์) อัตราส่วน Academy Ratio (1.33:1) นั่นหมายถึงเมื่อตอนถ่ายทำ ต้องพยายามจัดวางองค์ประกอบภาพให้อยู่กึ่งกลางเฟรมเสมอๆ … นั่นถือเป็นข้อจำกัดหนึ่งของสื่อโทรทัศน์สมัยก่อนก็ว่าได้

เห็นว่าตอนแรกโปรดิวเซอร์อยากให้หนังถ่ายทำในสตูดิโอ โดยใช้เทคนิค Rear Projection แต่ผู้กำกับ Spielberg ยืนกรานว่าต้องถ่ายทำบนท้องถนนจริงๆ เริ่มออกเดินทางจากโรงจอดรถบ้านหลังหนึ่งแถวๆ Bloomfield Street ใกล้ๆกับ Universal Studios พานผ่าน South Broadway ออกทางหลวงหมายเลขห้า (Highway 5) แล้วเลี้ยวเข้า Route 14 (ที่พานผ่าน Mojave Desert) จุดหมายปลายทางน่าจะแถวๆ California City (เพราะถ้าจะไป Bakersfield ตรงดิ่งทางหลวงหมายเลข 5 ไม่ง่ายกว่าหรือ?)

ช่วงที่รถแล่นอยู่บน Route 14 จะเฉี่ยวผ่าน Angeles National Forest, ขึ้นทางหลวง Sierra Highway, ก่อนจบลงที่ Vasquez Canyon Road พุ่งตกลง Vasquez Canyon ไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทาง

ผู้กำกับ Spielberg ไม่ได้จำเพาะเจาะจงยี่ห้อรถ แต่เห็นว่ามีการ ‘audition’ โดยเลือกเอาคันที่มองภายนอกดูเหมือนใบหน้ามนุษย์ ประกอบด้วย

  • รถเก๋งของ Mann ยี่ห้อ Plymouth Valiant รุ่นปี 1970 เครื่องยนต์ 318 V-8 engine มีจำนวน 3 คัน
    • ผู้กำกับ Spielberg ขอให้ย้อมรถสีแดง เพื่อความโดดเด่นตัดกับทิวทัศน์ทะเลทรายพื้นหลัง
  • รถบรรทุก Peterbilt 281 รุ่นปี 1955 สภาพโทรมๆ เกรอะกรัง เครื่องยนต์ 260HP 1673 CAT สามารถบรรทุกของหนัก 30 ตัน (แต่ก็ไม่ได้ใส่อะไรไว้ด้านหลัง) สามารถวิ่งเร็วสุด 75-80 ไมล์ต่อชั่วโมง
    • ตอนถ่ายทำรอบแรกซื้อรถบรรทุกได้เพียงคันเดียว และถูกทำลายทิ้งฉากสุดท้าย แต่พอได้งบถ่ายทำเพิ่มรอบหลัง เลยจำเป็นต้องซื้อใหม่อีกคัน

ไม่ใช่แค่ภาพของรถ แต่ยังเสียงเครื่องยนต์ที่ดังกระหึ่มแทรกอยู่แทบตลอดเวลา ทำให้ทั้งสองคันราวกับมีชีวิตชีวา สามารถพูดคุยสนทนา ด้วยอารมณ์ต่างๆ จับต้องได้ สร้างบรรยากาศ ‘suspense’ เป็นอย่างดี! … และการที่บทพูดตัวละครมีน้อยนิด ทำให้หนังมีลักษณะกึ่งๆ ‘Semi-Silent’ หรือจะเรียกว่า ‘Pure Cinema’ ก็ได้เช่นกัน

ความแตกต่างด้านขนาดระหว่างรถเก๋ง vs. รถบรรทุก มีนักวิจารณ์อ้างอิงถึงคัมภีร์ไบเบิล (1 Samuel 17) เรื่องราวของ David and Goliath มนุษย์ตัวเล็กๆที่สามารถล้มยักษ์ Goliath เป็นคำเรียกที่กล่าวถึงสถานการณ์เบี้ยล่าง (underdog) ตัวเล็กกว่า อ่อนแอกว่า แต่กลับได้รับชนะเหนืออีกฝั่งฝ่ายที่ขนาดใหญ่กว่า เข้มแข็งแกร่งกว่า

เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน แทนที่จะเสียเวลาวาด Storyboard ฉากต่อฉาก เฟรมต่อเฟรม, ผู้กำกับ Spielberg ใช้วิธีวาดแผนที่เส้นทางมุมสูง (aerial perspective map) แล้วเขียนรายละเอียดว่าช่วงนี้มีเหตุการณ์อะไร เร่งความเร็ว แซงหน้า เบียดซ้าย ปาดขวา ฯลฯ ถ่ายทำอย่างไร ตั้งกล้องตรงไหน แบบนี้เห็นภาพการทำงานชัดเจนกว่ามากๆ … นี่เป็นภาพที่ผมแคปรูปมาจากคลิปเบื้องหลังถ่ายทำ (Behind the Scene)

ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมและตัวละครต่างไม่เคยพบเห็นใบหน้าตาของคนขับรถบรรทุก มากสุดก็คือโบกมือให้แซงสองช็อตนี้แหละ! จุดประสงค์เพื่อสร้างความลึกลับ ระทึกขวัญ หมอนี่ใครกัน ไม่เคยพบเจอ ไม่รับรู้หน้าตา แต่เราสามารถเหมารวมในเชิงสัญลักษณ์ว่าคือ ‘รถบรรทุก’

การนำเสนอลักษณะนี้ก็เพื่อให้ ‘รถบรรทุก’ คือตัวแทนของผู้ร้าย (The truck as the villain) ใครก็ไม่รู้แต่มีพฤติกรรมแย่ๆ สร้างความหวาดกลัว หวาดระแวง เมื่อได้รับการกลั่นแกล้ง ‘bully’ จึงต้องการแก้แค้นทวงคืน

the effect of not seeing the driver makes the real villain of the film the truck itself, rather than the driver.

Steven Spielberg

แต่ใช่ว่ารถบรรทุกไม่มีคนขับนะครับ คือสตั๊นแมนชื่อ Carey Loftin อายุ 50 ปี ก่อนเริ่มถ่ายทำสอบถามแรงบันดาลใจตัวละครกับ Spielberg ได้รับคำตอบ “You’re a dirty, rotten, no-good son of a bitch.” เมื่อรับฟังเช่นนั้น Loftin ตอบกลับว่า “Kid, you hired the right man.”

ในหนังอาจพบเห็นว่า Loftin ขับรถได้ส้นตีนผีมากๆ แต่ในความเป็นจริงเขาขับไม่เกิน 30 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น! แต่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพอย่างกล้องสั่นๆ, ฝุ่นควันฟุ้งๆ, ถ่ายสูงจากพื้นแค่ 6 นิ้ว, มุมเงยเห็นล้อหมุนๆ, ตัวเลขไมล์สูงๆ, โดยเฉพาะถ่ายความเร็วสัมพัทธ์ (คันหน้าขับช้ากว่าคันหลัง) และให้ติดทิวทัศน์พื้นหลัง (จะพบเห็นเนินเขาเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว) ฯลฯ เหล่านี้สามารถสร้างความหลอกตาให้รู้สึกว่ากำลังการขับรถด้วยความเร็วสูง

เรื่องเล่าจากวิทยุ รวมถึงการโทรศัพท์หาภรรยาของ Mann (ทั้งๆเพิ่งออกจากบ้านไม่นาน) ล้วนเพื่อตั้งคำถามถึงสภาวะผู้นำครอบครัว มันมีความจำเป็นที่บุรุษต้องคือช้างเท้าหน้าหรือไม่? ต่อให้พยายามทำตัวกร่าง ยกเท้าขึ้นมาวางบนโต๊ะ แต่เมื่อมีหญิงขอเดินผ่าน เขาก็ยินยอมเปิดทางให้โดยดี นี่แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตน และมุมกล้องช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังหลบซ่อนตัวอยู่หลังกระจกเครื่องซักผ้า (รวมถึงการหลบหลังพวงมาลัยรถยนต์เช่นเดียวกัน)

โดยปกติแล้วบุรุษผู้มีความเข้มแข็งแกร่ง (ในฐานะผู้นำครอบครัว, Alpha Male) เมื่อถูกท้าทายก็มักกล้าเผชิญหน้า ไม่ยอมสูญเสียเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้ชาย แต่สำหรับ Mann พอโดนรถบรรทุก ‘bully’ ไล่จี้ท้าย กลับมีอาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว หวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดเพ้อคลั่งไปไกล ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับใคร เหล่านี้แสดงถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ไม่ต่างจากเพศหญิง เป็นได้เพียงช้างเท้าหลัง (Beta Male)

ร้านกาแฟ/ขายอาหาร Chuck’s Cafe ตั้งอยู่ยัง Le Chene 12625 บนทางหลวง Sierra Highway, Agua Dulce เห็นว่าปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการ รูปลักษณ์ภายนอกถือว่าค่อนข้างแปลกประหลาด สะดุดตา ก่อสร้างด้วยก้อนหินตะปุ่มตะป่ำ แล้วทาสีขาวทั้งหลัง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในร้านแห่งนี้ นำเสนอช่วงเวลาความครุ่นคิดของตัวละคร เริ่มแสดงอาการสับสน หวาดระแวง จิตใจมีความผิดปกติ

เรื่องราวของรถโรงเรียน สามารถตีความได้อย่างน่าสนใจ

  • แสดงให้เห็นว่ารถขนาดเล็ก (รถเก๋ง) ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือต่อสู้เอาชนะรถขนาดใหญ่
    • มันจะมีช็อตที่เด็กๆแลบลิ้น ทำสีหน้ายียวนกวนประสาท ดูเหมือนการกลั่นแกล้ง ‘bully’ ที่รถคันใหญ่มีต่อรถขนาดเล็ก … ล้อกับการที่ Mann ถูก ‘bully’ โดยคนขับรถบรรทุก
  • คนขับรถบรรทุกไม่ได้มีนิสัยเลวร้าย เพราะยินยอมให้ความช่วยเหลือรถโรงเรียนจนสามารถหลุดจากหล่ม แต่อาจเป็น Mann ที่เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริตไปเอง
    • ขณะที่รถเก๋งดันรถโรงเรียน จะพบเห็นแต่ช็อตระยะประชิดใกล้ ตัดสลับไปสลับมา โดยเฉพาะขณะกันชนหน้ามุดเข้าไปใต้กันชนหลัง
    • แต่ขณะที่รถบรรทุกออกแรงดัน พบเห็นเพียงภาพมุมกว้าง ช็อตเดียวสำเร็จ ไม่ต้องยื้อยักเล่นตัวใดๆ

แซว: เมื่อตอนที่รถบรรทุกจอดในอุโมงค์แล้วเปิดสองไฟหน้า แลดูเหมือนดวงตาอันแดงกล่ำ เต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย

ไม่ได้พูดเป็นเล่นไป Sally’s Snakerama Station นั้นมีอยู่จริง! ตั้งอยู่ยัง 9661 Sierra Highway, Santa Clarita นอกจากเป็นปั๊มน้ำมัน จัดแสดงสรรพสัตว์เลื้อยคลายในทะเลทราย โดยเฉพาะงูหางกระดิ่งความยาว 8 ฟุต ซึ่งถือเป็นสัตว์อันตราย แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความชั่วร้ายของรถบรรทุก ถูกพุ่งชนเสียหายย่อยับเยิน!

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ปิดกิจการไปแล้วนะครับ (Sally ก็คงเสียชีวิตไปแล้วด้วยละ) ถูกขายต่อกลายเป็นปั๊มน้ำมันยี่ห้อ Valero

ผมอ่านเจอในเกร็ดหนังว่า ภาพสะท้อนตู้โทรศัพท์ของช็อตนี้แอบพบเห็นผู้กำกับ Spielberg หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง (ตาดีได้ ตาร้ายเสีย!) เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นความไม่ได้ตั้งใจ แต่ใครหาพบเจอแม้งก็ช่างสังเกตเหลือเกิน!

เพราะมีโอกาสถ่ายทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น! ไคลน์แม็กซ์ของหนังจึงถ่ายทำด้วยกล้อง(สโลโมชั่น)ถึง 6 ตัว วางตามตำแหน่งต่างๆที่คาดว่าจะสามารถบันทึกภาพรถบรรทุกขณะตกลงหุบเหว Vasquez Canyon แม้มันช่วยไม่ได้ที่ประตูด้านคนขับรถเปิดออก (เพราะสตั๊นแมนไม่สามารถปิดประตู ขณะกระโดดออกจากรถ) แต่ผลลัพท์ถือว่าโคตรๆประทับใจ โดยเฉพาะมุมกล้องที่นำมาใช้ในหนัง มีการขยับเคลื่อนติดตามรถบรรทุกจนถึงวินาทีสุดท้าย ผู้กำกับ Spielberg ยังกล่าวชื่นชมเลยว่า “that cameraman deserves a medal”.

เกร็ด: ช่วงระหว่างที่รถบรรทุกกำลังกลิ้งตกภูเขา มันจะมี ‘Sound Effect’ ที่ฟังเหมือนเสียงไดโนเสาร์ นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ Spielberg ต้องการสร้างสัมผัสของสิ่งลึกลับ เหนือธรรมชาติ รวมถึงจักรวาลเดียวกับตอนระเบิดฉลาม Jaws (1975) และแฟนไชร์ Jurassic Park (1993)

ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Spielberg มักลงท้ายด้วยช็อตสวยๆ (น่าจะได้รับอิทธิพลจาก François Truffaut อยู่ไม่น้อย) ซึ่งเรื่องนี้เป็นการซ้อนสองภาพ

  • เริ่มจาก Mann นั่งลงริมหน้าผา จับจ้องมองรถทั้งสองคันที่ตกลงยังหุบเหว
  • ซ้อนภาพเดียวกันแต่ถ่ายจากด้านข้าง ระหว่างพระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า

แม้ว่า Mann ได้รับชัยชนะจากการท้าดวลรถบรรทุก แต่กลับทำให้เขาตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง จิตใจไม่ต่างจากสภาพรถทั้งสองคันเบื้องล่างหุบเหว ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไร? กลับบ้านยังไง? อธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่างไร? แสงสว่างใกล้ลาลับขอบฟ้า ช่วงเวลาแห่งความมืดมิด หนาวเหน็บกำลังคืบคลานมาถึง

ตัดต่อโดย Frank E. Morriss (1927-2013) สัญชาติอเมริกัน เข้าสู่วงการช่วงทศวรรษ 60s จากเป็นนักตัดต่อซีรีย์/ภาพยนตร์โทรทัศน์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Duel (1971), Charley Varrick (1973), Blue Thunder (1983), Romancing the Stone (1984), Short Circuit (1986) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง/สายตาตัวละคร David Mann ระหว่างกำลังขับรถไปทำงาน พานผ่านทะเลทราย Mojave Desert แล้วถูกไล่ล่าท้าดวลโดยรถบรรทุก พยายามจี้ท้าย ชนกระโปรงหลัง จนเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายต้องการเข่นฆาตกรรม

  • อารัมบท เริ่มต้นออกเดินทาง
    • ขับรถกินลม ออกจากเมือง พานผ่านทะเลทราย Mojave Desert และขับแซงรถบรรทุก
  • แวะจอดปั๊มน้ำมัน
    • หลังจากขับแซงรถบรรทุก แวะจอดปั๊มน้ำมัน คุยโทรศัพท์กับภรรยา
    • พอออกเดินทางต่อรถบรรทุกคันนั้นก็ขับจี้ท้าย โบกมือให้แซงแล้วอีกฝ่ายแสร้งขับช้า แถมพยายามกันท่า ท้าดวล จนมาถึง Chuck’s Cafe
  • แวะรับประทานอาหารยัง Chuck’s Cafe
    • เข้าไปในร้าน สั่งอาหาร ขณะเดียวกันก็ครุ่นคิดทบทวนเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
    • เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าลูกค้าในร้านคือคนขับรถบรรทุก
    • เข้าไปพูดคุย ต่อรอง ถึงขนาดใช้ความรุนแรงชกต่อย
  • แวะให้ความช่วยเหลือรถโรงเรียน
    • เมื่อพบเห็นรถโรงเรียนจอดติดหล่ม เลยพยายามเข้าไปช่วยเหลือ
    • จนกระทั่งพบเห็นรถบรรทุกคนนั้น สร้างความหวาดระแวง วิตกจริต จนต้องขับรถหนี
    • หลังจากรถบรรทุกช่วยเหลือรถโรงเรียน ก็ขับไล่จี้ ชนท้ายรถเก๋งของ Mann
  • แวะจอดปั๊มน้ำมัน Snakerama
    • แวะจอดปั๊มน้ำมัน Snakerama ต้องการโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่กลับถูกรถบรรทุกขับพุ่งชน
  • แวะหลบข้างทางรถไฟ
    • แวะหลบข้างทางรถไฟ นอนหลับไปสักงีบ
    • พอตื่นขึ้นมากลับยังพบเห็นรถบรรทุกจอดรออยู่ จึงเกิดการไล่ล่า ท้าชน
    • Mann หยุดจอดรถกลางถนน ขอความช่วยเหลือจากคนขับรถสูงวัย แต่อีกฝ่ายกลับไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวใดๆ
    • จนในที่สุด Mann ก็ตัดสินใจล่อหลอกรถบรรทุก จนอีกฝ่ายพุ่งตกลงเหว

ลีลาการตัดต่อหนังถือว่าไม่ธรรมดา สลับไปสลับมา เก็บรายละเอียดจากแทบทุกมุมมอง ครอบคลุมความเป็นไปได้ระหว่างรถสองคัน (โดยใช้รถเก๋งของ Mann คือจุดศูนย์กลาง) เพื่อสร้างความหวาดระแวง วิตกจริต มีคนนับว่า Mann มองกระจกข้าง 65 ครั้ง และกระจกมองหลังอีก 54 ครั้ง นั่นคือการแสดงออกที่ผิดปกติอย่างแน่นอน!

สำหรับฉากที่ถ่ายเพิ่มจากฉบับฉายทางโทรทัศน์ 74 นาที ให้กลายเป็น 90 นาที ประกอบด้วย

  • เริ่มต้นออกเดินทาง เปิดโรงรถ ขับวนรอบเมือง น่าจะทั้งหมดของ Opening Credit
  • แวะเติมน้ำมัน โทรศัพท์หาภรรยา
  • ให้ความช่วยเหลือรถโรงเรียน ติดหล่มอยู่ตรงอุโมงค์ทางลอด
  • จอดรถตรงทางข้ามรถไฟ แล้ว Mann นอนหลับไปตื่นหนึ่ง

เพลงประกอบโดย William Leon Goldenberg (1936-2020) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เริ่มเล่นเปียโน ไวโอลินตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ตั้งใจอยากเข้าโรงเรียน Juilliard แต่พอบิดาถูกไล่ออกจากงาน เลยเปลี่ยนความสนใจสอบเข้า Columbia College ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่สักพัก แล้วลาออกมาทำตามความฝัน เริ่มจากเขียนเพลงให้การแสดงตลก Broadway ของ Mike Nichols และ Elaine May, จากนั้นเข้าร่วม Universal Television ผลงานส่วนใหญ่คือซีรีย์/ละครโทรทัศน์, เคยร่วมงานผู้กำกับ Steven Spielberg ตั้งแต่กำกับตอน Night Gallery, Columbo, The Name of the Game และ Duel (1971)

ด้วยระยะเวลาโปรดักชั่นที่เร่งรัด Goldenberg เลยตัดสินใจเดินทางมายังกองถ่ายที่ Soledad Canyon เพื่อสังเกตบรรยากาศระหว่างถ่ายทำ ระหว่างนั้นโดนรบเร้าโดยผู้กำกับ Spielberg จนยินยอมขึ้นนั่งบนรถบรรทุก ขับโดยสตั๊นแมน เพื่อให้ได้รับประสบการณ์สุดหวาดเสียว ครั้งเดียวพอ!

นำกลับมาเขียนเพลงในหนึ่งสัปดาห์ ผสมผสานระหว่างเครื่องสาย เครื่องกระทบ และเครื่องสังเคราะห์เสียง (Moog Synthesiser) กลิ่นอายละม้ายคล้าย Bernard Herrmann (Vertigo, Psycho) เต็มไปด้วยท่วงทำนองซ้ำๆ บรรเลงอย่างกรีดกราย วุ่นวายแสบแก้วหู แต่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละคร เมื่อเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต จินตนาการเพ้อคลั่งไปไกล!

สไตล์เพลงลักษณะนี้จะมุ่งเน้นที่การเล่นจังหวะ (rhythmic vocabulary) ให้สอดคล้องการตัดต่อที่ก็สลับไปสลับมา เพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เฉี่ยวเป็นเฉี่ยวตาย วนซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงสถานการณ์อันคลุ้มบ้าคลั่ง และสามารถครุ่นคิดตีความหนังในเชิงนามธรรม

Mann’s Thoughts เป็นบทเพลงที่นำเสนอช่วงเวลาแห่งการครุ่นคิด จมอยู่กับตนเอง พยายามทบทวนความทรงจำ ฉันเคยไปทำอะไรใคร? เหตุไฉนคนขับรถบรรทุกถึงพยายามไล่จี้ ชนท้าย ท้าทายตนเองอยู่ได้? ค่อยๆบังเกิดอาการสับสน หวาดระแวง เห็นผิดเป็นชอบ จินตนาการเพ้อคลั่งไปไกล ว่าอีกฝั่งฝ่ายต้องการเอาชีวิตให้ถึงตาย!

Duel (1971) แค่ชื่อก็อธิบายถึงเรื่องราวการแข่งขัน นำเสนอการท้าดวลระหว่างรถเก๋ง vs. รถบรรทุก แม้พวกเขาไม่เคยมีความขัดแย้ง บาดหมาง ผิดใจอะไรกันมาก่อน แต่ราวกับสุนัขกัดไม่ปล่อย ทำการไล่จี้ ติดตาม ชนท้าย ไม่ยินยอมละเลิกลา จนกว่าจะมีใครบางคนตกตาย ได้รับชัยชนะสุดยิ่งใหญ่

ความตั้งใจของผู้กำกับ Spielberg เพียงครุ่นคิดนำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์ (man) vs. จักรกล (machine) ที่สร้างความตึงเครียด หวาดระแวง วิตกจริต เพราะยุคสมัยนั้นเป็นช่วงก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ถึงขนาดว่ามนุษย์สามารถสร้างยานอวกาศ ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อ ค.ศ. 1969 แล้วประชาชนคนธรรมดาๆ ทำงานหาเช้ากินค่ำ เซลล์แมน/คนขับรถบรรทุก จะต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ตัวละคร David Mann ทำงานบริษัท มีบ้าน มีรถเก๋ง สามารถมองเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง (Middle Class) ขณะที่คนขับรถบรรทุกแม้ไม่เคยเห็นหน้าคาดตา ก็เหมารวมได้อยู่แล้วว่าคือชนชั้นแรงงาน (Working Class) ต้องต่อสู้ดิ้นรน หาเช้ากินค่ำ มีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก ทำได้เพียงวิ่งไล่ล่า ติดตามท้าย เพ้อใฝ่ฝันว่าสักวันจะถูกหวย ร่ำรวย และสุขสบาย! แต่นั่นสร้างความหวาดระแวง วิตกจริตให้พวกชนชั้นสูงกว่า ไม่ต้องการสูญเสียสถานะทางสังคม หรือคือยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม

การที่รถบรรทุกพุ่งชนท้ายรถเก๋ง มันคือสัญลักษณ์ของเพศสัมพันธ์ประตูหลัง รวมๆถึงพฤติกรรมแอบๆของ Mann ทำให้ตัวละครนี้ได้รับการตีความอัตลักษณ์ทางเพศหญิง ตุ๊ดแต๋ว ไม่ใช่ลูกผู้ชาย … นี่สะท้อนความคาดหวัง/โลกทัศน์ทางสังคมยุคสมัยนั้น ‘ชายเป็นใหญ่’ ต้องมีสถานะผู้นำครอบครัว เข้มแข็งแกร่งทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่มันจำเป็นเช่นนั้นเสียที่ไหน!

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 เดียวกับปธน. John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเสียชีวิต! นี่ยังเป็นการสะท้อนบรรยากาศความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต ที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวอเมริกัน (แพร่หลายสู่ผู้คนทั่วโลก) จะว่าไปเหมารวมถึงอิทธิพลจากสงครามเย็นได้ด้วยเช่นกัน

ผู้กำกับ Spielberg อธิบายความสัมพันธ์ของตนเองกับ Duel (1971) ว่าเพราะตนเองเป็นชาวยิว ตั้งแต่เด็กเลยมักถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้ง ‘bully’ อยู่เป็นประจำ ไม่ต่างจากพฤติกรรมรถบรรทุกที่พยายามเร่งความเร็ว ขับจี้ท้าย ท้าทายรถเก๋งคันเล็กๆ ให้เกิดความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต แต่มันก็เป็นบทเรียนสอนไม่ให้ใส่ใจกับคนพรรค์นั้น แม้โดนตีตรา ดูถูกเหยียดหยาม กล่าวหาว่าขี้แพ้ ตุ๊ดแต๋ว ไม่ใช่ลูกผู้ชายแล้วไง ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ไม่จำต้องรับฟังเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่

หลังจากถูกไล่จี้ชนท้ายมานาน ทำให้ Mann มิอาจอดรนทนต่อสถานการณ์บังเกิดขึ้นอีกต่อไป การลุกขึ้นมาทำบางอย่าง เอาชนะอาการขลาดหวาดกลัว เผชิญหน้าต่อสู้ศัตรู หลายคนตีความถึงคือการ ‘พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย’ หรือคือ ‘การเติบโตเป็นผู้ใหญ่’ พอดิบพอดีนี่คือผลงาน ‘breakthrough’ ของผกก. Spielberg ได้รับโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ (แต่ยังไม่ถึงจุดที่ค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเองนะครับ)

แซว: จะว่าไปภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของผู้กำกับ Spielberg ล้วนเกี่ยวกับการ ‘ถูกไล่ล่า’ จากอะไรบางอย่าง อาทิ ฝูงตำรวจ The Sugarland Express (1974), ปลาฉลาม Jaws (1975), ไดโนเสาร์ Jurassic Park (1993), ทหารนาซี Schindler’s List (1993), เอเลี่ยนต่างดาว War of the Worlds (2005), Catch Me If You Can (2002) ฯลฯ

คนขับรถสมัยนี้ย่อมมีโอกาสพบเจอเหตุการณ์อย่าง Duel (1971) อยู่เป็นประจำ! ผมเองก็เคยถูกรถสิบล้อจี้ท้ายขณะเหยียบความเร็ว 120 km/h อดไม่ได้สถบด่าพ่อล่อแม่ มันจะแรงไปไหน คันออกใหญ่โต จำต้องเบี่ยงซ้ายหลบเจ้าพ่อ แต่เรียกว่าควายหลุดถนนน่าจะตรงกว่า … ไม่มีประโยชน์อะไรจะไปแข่งกับรถบรรทุกนะครับ อันตราย เสี่ยงตาย ควายเหมือนกัน!


เมื่อออกฉายรายการโทรทัศน์ Movie of the Week ทางช่อง ABC วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1971 มีส่วนแบ่งผู้ชมสูงถึง 33% คิดเป็นเรตติ้ง 20.9 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีโอกาสลุ้นรางวัล Golden Globe และ Emmy Award ประกอบด้วย

  • Golden Globe Award
    • Best Television Film พ่ายให้ The Snow Goose (1971)
  • Emmy Award
    • Outstanding Achievement in Cinematography for Entertainment Programming – For a Special or Feature Length Program Made for Television พ่ายให้กับ Brian’s Song (1971)
    • Outstanding Achievement in Film Sound Editing ** คว้ารางวัล

ความสำเร็จดังกล่าว Universal Television เลยตัดสินใจให้งบประมาณเพิ่ม เพื่อทำเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว รวมทุนสร้างทั้งหมด $450,000 เหรียญ ไม่มีรายงานรายรับ เพียงกระแส Cult Classic ได้รับความนิยมหลังวางขาย VHS (Video Home System) เสียมากกว่า!

ใครมีงบเยอะแนะนำให้ลองหาซื้อ Steven Spielberg Director’s Collection Blu-ray ทั้งหมด 8 เรื่องที่ผกก. Spielberg เคยร่วมงานกับ Universal Studios หรือถ้าต้องการคุณภาพเน้นๆ ล่าสุดผมเพิ่งเห็นแผ่น 4K Ultra HD กำลังจะวางขายปี ค.ศ. 2023

ปล. ผมบังเอิญพบเจอโปสเตอร์หนังไทย คาดว่าน่าจะนำเข้าฉายหลังจากความสำเร็จของ Jaws (1975) เลยใช้ชื่อ ‘ไอ้จอว์สบก 18 ล้อ’ ใครแม้งคิดว่ะ!

ส่วนตัวมีความโคตรๆประทับใจครึ่งชั่วโมงแรกของหนังอย่างมากๆ คาดไม่ถึงว่าสมัยหนุ่มๆผู้กำกับ Spielberg จะมีความดิบ จัดจ้าน กล้าทดลองผิดลองถูก วิสัยทัศน์ถือว่ากว้างไกล น่าประทับใจกว่าผลงานหลังค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ ตอนเป็น’พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’เสียอีก!

ถ้ามีโอกาสก็อยากแนะนำให้ลองหาผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Spielberg เพื่อศึกษารากเหง้า จุดเริ่ม พัฒนาการก่อนถูกกลืนกินโดย Hollywood โดยเฉพาะคอหนัง Thriller, Suspense, เกี่ยวกับรถยนต์, คนขับรถบรรทุก, และใครที่ชอบการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ไม่ควรพลาด “Greatest Made-for-Television Films Ever Made”

จัดเรต 13+ กับอาการหวาดระแวง (Paranoid) วิตกจริต

คำโปรย | Duel คือท้าดวลที่กลายเป็นตำนานของผู้กำกับ Steven Spielberg พร้อมชัยชนะอันลุ้นระทึก
คุณภาพ | ชั
ส่วนตัว | ระทึก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: